โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 12 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 12, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

พ.ร.บ.ฉบับนี้อ้าง Homeland Security Act ผู้ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อ้างว่า ลอกเลียนมาจากรัฐบัญญัติความมั่นคงภายใน (Homeland Security Act) ของสหรัฐ แต่รัฐบัญญัตินั้นออกมาหลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านสภาที่กำลังตระหนกและในทางการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ (ยังไม่พูดถึงว่าเป็นสภาที่ล้วนมาจากการเลือกตั้ง) มาในภายหลัง เมื่อรัฐบัญญัติถูกนำไปใช้จริง ทั้งนักการเมืองและสังคมอเมริกันเองก็พบช่องโหว่มากมาย โดยเฉพาะการละเมิดรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองของสหรัฐอเมริกา
12-07-2550

Homeland Security Act
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

วิพากษ์การปฏิวัติเงียบ วิจารณ์การกลับสู่รัฐราชการที่พ้นสมัย
พระราชบัญญัติความมั่นคง : พระราชบัญญัติความบ้าคลั่ง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ

บทความต่อไปนี้รวบรวมจากผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้ว โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มีวัตถุประสงค์ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สีดำอีกหน้าหนึ่งของสังคมไทย
เกี่ยวกับการร่าง พรบ.ความมั่นคง ฉบับสืบทอดอำนาจ ที่อยู่ภายใต้บรรยากาศของการรัฐประหาร
โดย คปค. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คมช. และจัดให้มีการเสนอร่างดังกล่าวขึ้น

สำหรับบทความและข้อมูลที่รวบรวมบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วย
1. ปาหี่รัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
2. รัฐราชการอาญาสิทธิ์เพื่อความมั่นคง และการสอดส่องเบ็ดเสร็จ
โดย รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาคผนวก: สาระสังเขป ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ....
(นำมาจาก http://www.thaigov.go.th/Download/591_19%2006%2050.doc หน้า 6-7)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วิพากษ์การปฏิวัติเงียบ วิจารณ์การกลับสู่รัฐราชการที่พ้นสมัย
พระราชบัญญัติความมั่นคง : พระราชบัญญัติความบ้าคลั่ง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ

1. ปาหี่รัฐธรรมนูญ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับรอนสิทธิทางการเมืองของประชาชนจะได้รับความเห็นชอบโดยการลงประชามติ คณะรัฐประหาร (รัฐบาล+คมช.) ก็ได้อนุมัติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ......ในวันที่ 19 มิถุนายน ศกนี้ เพื่อเข้าสู่สภานิติบัญญัติฯ ซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้นเอง ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

พ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับเชยๆ
ร่าง พ.ร.บ.รวบอำนาจ (และเชยๆ) ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายจะสถาปนาอำนาจของกองทัพขึ้นเหนือการเมืองไทยอย่างถาวร ไม่ต่างอะไรจากเป้าหมายของเผด็จการทหารพม่า แตกต่างกันเพียงที่ว่าพม่าบัญญัติอำนาจของกองทัพลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ขณะนี้ ในขณะที่ไทยออกกฎหมายพิเศษที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่งเท่านั้น (และนี่เป็นความเชยอย่างที่หนึ่ง)

สภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ อ้างว่าความมั่นคงของประเทศกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จำเป็นต้องจัดองค์กรเพื่อรักษาความมั่นคงภายในกันใหม่ อันที่จริงนับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง (พร้อมกับสงครามร้อนกับ พคท.ด้วย) ไม่เคยมีครั้งใดที่ประเทศไทยปลอดพ้นจากภัยคุกคามยิ่งไปกว่าเวลานี้ ประเทศไทยมีความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกยิ่งกว่าที่บรรพบุรุษเราเคยเผชิญมาใน 200 กว่าปี (นี่เป็นความเชยอย่างที่สอง)

ปัญหาภาคใต้ที่ดำเนินมากว่าสามปีแล้วนั้น จะไม่ถูกแทรกแซงจากภายนอกเด็ดขาด แม้ไม่มีสมรรถภาพที่จะจัดการให้เกิดความสงบ แต่ก็จะจำกัดอยู่ในพื้นที่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงที่คุกคามรัฐอย่างหนัก ปัญหานี้แก้ได้ด้วยความรู้ความสามารถของทุกฝ่าย ไม่ใช่ด้วยอำนาจพิเศษของทหาร (ซึ่งก็มีล้นเหลืออยู่แล้วด้วย พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก)

และด้วยข้ออ้างเชยๆ เช่นนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สถาปนาอำนาจของ ผบ.ทบ.ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.ให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือเหนืออำนาจการบริหารของรัฐบาล, เหนืออำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา และแม้แต่เหนืออำนาจของฝ่ายตุลาการจะเข้าไปแทรกแซงควบคุมได้

อำนาจล้นฟ้า
จริงอยู่ประธานของ กอ.รมน.คือนายกรัฐมนตรี (ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และฉบับ พ.ศ.2540 ล้วนมาจาก ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง) แต่ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจแก่ ผอ.ของ กอ.รมน.ในการปฏิบัติการได้กว้างขวาง จนกระทั่งคำสั่งห้ามปฏิบัติของประธานเสียอีก ที่จะขัดกับกฎหมาย อำนาจดังกล่าวของ ผบ.ทบ.ก็คือรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ หมายความว่าถึงจะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลกันขึ้นอย่างไร ก็มีอำนาจของ ผบ.ทบ.ในฐานะ ผอ.รมน.ค้ำหัวนักการเมืองอยู่ จะวินิจฉัยว่าอะไรกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรก็ได้

เพราะอะไรที่อาจกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรตามที่ร่าง พ.ร.บ.นี้เขียนไว้กว้างขวางมาก แล้วแต่จะตีความอย่างไรก็ได้ นั่นก็คือการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรหมายถึง "การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ประชาชนและทุกๆ องค์กรมีความสามัคคี เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญภยันตรายต่อความมั่นคงของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ"

จะมีการกระทำอะไรเหลืออยู่ซึ่งไม่อาจถูกตีความว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงภายในได้บ้าง ฉะนั้น ผบ.ทบ.ย่อมใช้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้บังคับพฤติกรรมของใครก็ได้หมด เพื่อรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรตามหน้าที่ของตัว

กฎหมายเหนือกฎหมาย
กฎหมายที่เขียนไว้กว้างสุดลูกหูลูกตาเช่นนี้ คือกฎหมายที่เขียนเพื่อทำลายกฎหมาย เพราะถ้าเขียนเจาะจง ก็คือจำกัดอำนาจของผู้ปฏิบัติ เขียนให้กว้างเข้าไว้ คือจำกัดอำนาจของคนอื่นหมด ยกเว้นผู้ปฏิบัติหรือผู้ได้อำนาจตามกฎหมายนั้น เท่ากับมีกฎหมายแก่ทุกคน ยกเว้น ผบ.ทบ. นั่นคือทำให้กฎหมายกลายเป็นกฎของซ่องโจร

สิทธิของพลเมืองไทยซึ่งร่างรัฐธรรมนูญรับรองไว้ถูกเพิกถอนได้หมด ด้วยอำนาจของ ผบ.ทบ.ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะ ผอ.รมน.สามารถออกกฎเพิกถอนสิทธิเหล่านั้นได้ตามอำเภอใจ เช่นห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยานพาหนะ, ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน, ห้ามการแสดงมหรสพ, ห้ามการโฆษณา เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ยังมีอำนาจประกาศให้เจ้าหน้าที่จับกุม, ควบคุมตัว, ปราบปราม, เรียกมารายงานตัว, ค้นเคหสถาน, ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน บุคคลใดก็ได้ ผอ.รมน.ยังมีอำนาจตั้งเจ้าพนักงานไปร่วมฟังการสอบสวนคดีอาญา, เรียกสำนวนการสอบสวนมาตรวจดู หรือให้ความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีใดก็ได้

แม้ร่างรัฐธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของ ผบ.ทบ. แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วางรูปแบบของการคานอำนาจกันระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยต่างกัน (ไว้อย่างเลอะเทอะสักหน่อย) แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยกให้ ผบ.ทบ.คนเดียวใช้อำนาจอธิปไตยทุกประเภทได้ โดยไม่ต้องถ่วงดุลคานกันเองเลย เพราะทั้งหมดอยู่ในมือของคนคนเดียว

อำนาจที่ไร้ขีดจำกัดนี้ ผอ.รมน.และเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งจะใช้อย่างไรก็ได้ เพราะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบทุกอย่าง ไม่ว่าทางแพ่ง, ทางอาญา, ทางวินัย, รวมทั้งเป็นอำนาจ "ปกครอง" ที่อยู่นอกขอบเขตวินิจฉัยของศาลปกครองด้วย เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ได้เขียนยกเว้นไว้ให้หมดแล้ว

พ.ร.บ.ฉบับนี้อ้าง Homeland Security Act
ผู้ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อ้างว่า ลอกเลียนมาจากรัฐบัญญัติความมั่นคงภายใน (Home Security Act) ของสหรัฐ แต่รัฐบัญญัตินั้นออกมาหลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านสภาที่กำลังตระหนกและในทางการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ (ยังไม่พูดถึงว่าเป็นสภาที่ล้วนมาจากการเลือกตั้ง) มาในภายหลัง เมื่อรัฐบัญญัติถูกนำไปใช้จริง ทั้งนักการเมืองและสังคมอเมริกันเองก็พบช่องโหว่มากมาย โดยเฉพาะการละเมิดรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองของสหรัฐ

เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่า รัฐบัญญัตินี้จะถูกแก้ไขเพิ่มเติมอย่างแน่นอน ไม่โดยสภาเอง ก็อาจจะโดยคำพิพากษาของศาลสูง พูดอีกอย่างหนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ของไทยซึ่งอ้างว่าลอกมาจากอเมริกัน กำลังลอกสิ่งที่เขารู้แล้วว่าบกพร่องและกำลังจะหาทางแก้ไขเพิ่มเติมให้รัดกุมขึ้น (เป็นความเชยอีกอย่างหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.นี้) ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อำนาจตามรัฐบัญญัตินั้นยังกระทำโดยคนที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือประธานาธิบดี ไม่ใช่จากประธานเสนาธิการทหาร และประธานาธิบดีอเมริกันนั้น แม้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาโดยตรง แต่ก็หนีความรับผิดชอบทางการเมืองจากกลไกอื่นๆ ของระบบการเมืองและสังคมไม่ได้ ในขณะที่ ผบ.ทบ.ไทยนั้น ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองกับใครสักคน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอำนาจที่จะตัดสินใจทำรัฐประหารเมื่อไรก็ได้ ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้คำรับรองโดยนัยไว้ในมาตรา 299 [มาตรา 309 ของร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ฉบับลงประชามติล (นี่ก็เป็นความเชยอีกอย่างหนึ่ง ที่เอากฎหมายปกครองมาเทียบกันนอกบริบททางการเมือง)

อำนาจบาตรใหญ่ของ กอ.รมน. กรณีปิดประตูเขื่อนปากมูล
ยังไม่ทันที่ร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่าน สนช.เป็นกฎหมายเลย กอ.รมน.ก็เริ่มสำแดงอำนาจบาตรใหญ่และความไร้เดียงสาให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ในวันที่ 29 พ.ค.2550 ครม.รับทราบและอนุมัติให้กระทรวงพลังงานเปิดประตูเขื่อนปากมูล ในวันที่ 7 มิ.ย. เพราะมีกำลังไฟฟ้าเพียงพอ และฝนเริ่มตกในลุ่มน้ำมูลตอนบน จึงไม่มีผลเสียต่อการทำเกษตรของประชาชนในลุ่มน้ำมูล นอกจากนี้ยังเป็นไปตามมติ ครม.ที่มีอยู่ให้เปิดประตูเขื่อนแบบ "สุดบาน" ปีละ 4 เดือนในฤดูน้ำหลาก แต่ถัดมาอีกเพียง 13 วัน ครม.ก็กลับมีมติให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูลไว้ที่ 106-108 ม.รทก. ซึ่งเท่ากับไม่ได้เปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ได้ตามธรรมชาตินั่นเอง (หรือเท่ากับไม่ได้เปิดเลย เพราะเขื่อนอะไรๆ ก็ต้องปล่อยให้น้ำไหลออกได้ในปริมาณหนึ่งทั้งนั้น)

ปัญหาเขื่อนปากมูลทำให้เกิดการรณรงค์เคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมานาน ผ่านมาหลายรัฐบาล จนในที่สุดก็ได้ทางออกที่แม้ไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายนัก แต่ก็พออาศัยพึ่งพิงกันไปได้ คือเปิดประตูเขื่อน "สุดบาน" ปีละ 4 เดือนในฤดูปลาวางไข่ ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมากพอดี แต่คณะรัฐประหารมองคนจนด้วยความหวาดระแวงว่าเป็นพวกทักษิณเสมอ คนจนจึงคุกคาม "ความมั่นคง" (ของพวกเขา ไม่ใช่ของรัฐ) ฉะนั้นจึงนำเอาปัญหาการขจัดความยากจนมาไว้กับ กอ.รมน. (นี่ก็เชยอีกแล้ว) และ กอ.รมน.นี่แหละที่เสนอให้กลับมาปิดเขื่อนปากมูลใหม่ ด้วยข้ออ้างที่ขัดแย้งกับข้อเสนอของกระทรวงพลังงานโดยสิ้นเชิง คือให้รักษาระดับน้ำในเขื่อนไว้ที่ 108 ม.รทก.

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ครม.ซึ่งเพิ่งรับทราบและอนุมัติให้เปิดเขื่อนปากมูลไปเมื่อ 13 วันก่อน ก็พร้อมกลับมติของตัวใหม่ให้เป็นไปตามข้อเสนอของ กอ.รมน. นี่ขนาดเป็นรัฐบาลที่กองทัพเป็นผู้ตั้งขึ้นเองแท้ๆ ยังต้องอยู่ในโอวาทขนาดนี้ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กองทัพไม่ได้มีส่วนตั้ง (อย่าง 100%) จะยังเหลือสติปัญญาอะไรสำหรับคิดเองได้อีกเล่า

หากร่าง พ.ร.บ.นี้ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อไร ร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกร้อง (แกมบังคับ) ให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบฉบับนี้ ก็เป็นเพียงปาหี่เท่านั้น

2. รัฐราชการอาญาสิทธิ์เพื่อความมั่นคง และการสอดส่องเบ็ดเสร็จ
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อพลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำกำลังทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐไปจากปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นั้น ได้กล่าวย้ำคำมั่นสัญญาท้ายแถลงการณ์ คปค. ฉบับแรกว่า :- "ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด"

ทว่าหลังจากที่หัวหน้า คปค. ผู้กลายมาเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ปฏิรูปการปกครองมาเป็นเวลาร่วม 10 เดือน บัดนี้กลับเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นทุกทีว่า เส้นทางที่ท่านนำพาประชาชนไทยรุดหน้ามานั้น จะไม่นำไปสู่ที่นัดพบของเราตามที่ท่านให้สัญญาไว้นับแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นั้นเลย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบอบการปกครองอะไรก็แล้วแต่ที่กำลังถูก คมช.และรัฐบาล "ปฏิรูป" ให้เกิดขึ้นมานั้น แม้จะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้จะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแน่นอน!

จะตระหนักเห็นความจริงข้อนี้ได้ เราต้องไม่มัวเพ่งมองยึดติดถือมั่นอยู่แต่เพียงบางหมวดบางมาตราที่มีสีสันเสรีประชาธิปไตยจัดจ้านขึ้นบ้างในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะนั่นรังแต่ชวนให้ไขว้เขวหลงผิดเหมือนต้องมนต์สะกด หากต้องมองกว้างออกไปให้เห็นภาพรวมของ [แพคเกจนิติบัญญัติทั้งชุด] ที่คณะรัฐประหาร [หรือนัยหนึ่ง คมช.+รัฐบาลสุรยุทธ์] กำลังผลักดันเสนอให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ-ที่ซึ่งสมาชิกผู้มีเกียรติแห่งสภานั้นแต่ละท่านแต่ละคนล้วนถูกประธาน คมช. คัดเลือกลงนามแต่งตั้งมาเองกับมือ

ก็แล้ว [แพคเกจนิติบัญญัติทั้งชุด] ของคณะรัฐประหาร ประกอบด้วยอะไรบ้างเล่า?
มันประกอบไปด้วย :-

-ร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ..... (ผ่าน ครม. 15 พ.ค.50)
-ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. .... (ผ่าน ครม. 29 พ.ค.50)
-ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ... (ผ่าน ครม. 19 มิ.ย.50)
-ร่างพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. ... (ผ่าน ครม. 19 มิ.ย.50)
-ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (ผ่าน ส.ส.ร. 6 ก.ค.50)

[แพคเกจนิติบัญญัติทั้งชุด] ของคณะรัฐประหาร ทำงานประสานกันอย่างไรหรือ?

1) ร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
จะริบสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเคยเป็นห่วงเชื่อมสื่อประสานอำนาจฉันทามติของชาวบ้าน จากการเลือกตั้งตามวาระเข้ากับอำนาจกำกับบังคับบัญชาของรัฐราชการส่วนกลาง อันเป็นพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่นแต่เดิมมา ให้กลายเป็นกลไกอำนาจของรัฐราชการส่วนกลางล้วนๆ โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งต่อจนอายุ 60 ปี อันเท่ากับปลดพวกเขาให้พ้นพันธะและอาณัติคะแนนเสียงของชาวบ้าน ไม่ต้องขึ้นต่อการเลือกตั้งตามวาระอีกต่อไป

- ทำให้อำนาจรัฐราชการแผ่ซ่านเข้ายึดกุมครอบงำการปกครองระดับรากหญ้าท้องถิ่นเหนียวแน่นขึ้น ถ่วงทานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเลือกตั้งต่างๆ เช่น อบต.

2) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
จะเพิ่มอำนาจให้ราชการระดับจังหวัดด้านงบประมาณ การวางแผนพัฒนาและการบริหาร

- ทำให้อำนาจรัฐราชการส่วนภูมิภาคอิสระและกว้างขวางขึ้น เหมือนมีคณะซีอีโอระดับจังหวัดที่ไม่ตกอยู่ใต้การนำแบบรวมศูนย์เด็ดขาดของฝ่ายการเมืองดังสมัยรัฐบาลทักษิณอีกต่อไป เพราะนายกฯซีอีโอระดับชาติจะถูกบั่นทอนให้อ่อนเปลี้ยลงตามร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่แล้ว

3) ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (ดูภาคผนวก-เพิ่มเติม)
จะสร้างโครงข่ายกลไกรักษาความมั่นคงภายในตั้งแต่ระดับชาติ-ภาค-จังหวัดและกรุงเทพมหานครขึ้น อยู่ภายใต้การกำกับบริหารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ที่มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ โดยรวมศูนย์อำนาจทั้งด้านการอนุมัติแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ ออกข้อกำหนดประกาศ คำสั่ง มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวกับความมั่นคงและฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน กระทั่งร่วมใช้อำนาจระดับสอบสวนและสั่งดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม

อำนาจที่ ผบ.ทบ.ในฐานะ ผอ.รมน. มีตามกฎหมายนี้ล้วนเป็นอำนาจที่เข้าไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลพลเมืองเหนือชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน เช่น ห้ามพกพาอาวุธ, ห้ามใช้ถนนเส้นทาง, ห้ามชุมนุม, ห้ามออกนอกบ้าน, ขอข้อมูลส่วนตัวลูกจ้างพนักงานเอกชนจากนายจ้าง, ห้ามซื้อขายครอบครองสินค้า, เข้าจับกุม คุมตัว ปราบปราม, เรียกตัวสอบถาม เรียกเอกสาร, ตรวจค้นยานพาหนะและเคหสถาน, ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเอกสารพยานหลักฐาน เป็นต้น

เนื่องจาก "ความมั่นคง" ในกฎหมายนี้ได้ถูกนิยามให้มีความหมายครอบจักรวาลอย่างแท้จริงคือ คลุมเหนือเรื่องอะไรต่อมิอะไรจิปาถะในชีวิตปกติสามัญของประชาชน ที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงมาแต่ก่อนให้กลายเป็นเรื่อง "ความมั่นคง" ไปเสียหมด อาทิ ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย, ความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย, ความสามัคคีเข้มแข็ง, การโฆษณาชวนเชื่อ, การยุยง, การปลุกปั่น เป็นต้น

ฉะนั้น อำนาจเหล่านี้ ผอ.รมน. หรือผู้ได้รับมอบหมายจึงสามารถใช้ได้ทุกเวลาทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ, ใช้ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศทุกภาคทุกจังหวัดรวมทั้งเขตกรุงเทพมหานคร และใช้ได้เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ต่อบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้นเป็นพอ โดยมิต้องมีพยานหลักฐานพิสูจน์ชัดจนสิ้นความสงสัยที่มีเหตุผลดังในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด โดยผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางวินัย อีกทั้งไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของศาลปกครองด้วย

- ทำให้อำนาจรัฐราชการสถาปนาโครงสร้างรักษาความมั่นคงภายในขึ้นเป็นรัฐซ้อนรัฐ และสถาปนา ผบ.ทบ. ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในขึ้นเป็นผู้กุมอำนาจบริหารรัฐซ้อนผู้กุมอำนาจบริหารรัฐ (นายกรัฐมนตรี) เพื่อใช้อำนาจครอบจักรวาลทุกกาละ เทศะและภาวการณ์ในนามของ "ความมั่นคง" ขอเพียงแต่เป็นภัยที่ต้องสงสัยหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้นโดยไม่ต้องรับผิดทางใดๆ

4) ร่างพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ
จะให้อำนาจรัฐราชการดำเนิน "การข่าวกรอง" หรือนัยหนึ่งแอบลักลอบแฝงตัวติดตามสืบล้วงข่าวสารข้อมูลของ "บุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสนอให้รัฐบาลนำมาใช้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพิ่มขีดความสามารถ ศักยภาพและพลังอำนาจของชาติ ป้องกันปัญหาหรือผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ"

- ทำให้รัฐราชการมีอำนาจสืบล้วงล่วงรู้ข้อมูลข่าวสารของทุกคน ทุกสถาบันเอกชนในสังคมทั้งสังคมได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นปกติตลอดเวลาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

5) ร่างรัฐธรรมนูญ 2550
จะทำให้อำนาจของสถาบันฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้งอ่อนแอลงอย่างทั่วด้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง, รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เช่น

- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบรวมเขตเรียงเบอร์ จะทำให้ได้ ส.ส.ผสมต่างพรรคหลากหลาย

- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 8 เขตกลุ่มจังหวัด จะทำให้อำนาจอิทธิพลท้องถิ่นในพรรคเด่นชัดขึ้น
อำนาจการนำระดับชาติของแกนนำพรรคอ่อนด้อยลง

- วุฒิสภาแบบกึ่งเลือกตั้งกึ่งสรรหา และการเพิ่มสัดส่วนข้าราชการตุลาการในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ จะเพิ่มอำนาจข้าราชการประจำมากขึ้นในองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมือง

เหล่านี้เมื่อรวมกับมาตราที่ตอกย้ำการลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการพรรคที่ถูกยุบ ทว่าในทางตรงข้ามกลับรับรองความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาการที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 (ฉบับรัฐประหาร) ด้วยแล้ว ทำให้ดุลอำนาจของสังคมการเมืองไทยพลิกเปลี่ยน อำนาจรัฐราชการกลับขึ้นเป็นฝ่ายครอบงำเหนือพลังการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีพรรคการเมืองเป็นตัวแทน ด้วยการบั่นทอนกร่อนเซาะบรรดาสถาบันที่เป็นช่องทางในการใช้อำนาจอธิปไตยโดยประชาชนผ่านการเลือกตั้งตัวแทนลงไป

ผลลัพธ์โดยรวมของ [แพคเกจนิติบัญญัติทั้งชุด] ของคณะรัฐประหาร จึงจะพลิกเปลี่ยนโฉมหน้าโครงสร้างการเมืองการปกครองของไทย ด้วยการสถาปนาและทำให้เป็นภาวะปกติซึ่งรัฐแห่งความมั่นคงและการสอดส่องเบ็ดเสร็จใต้อำนาจราชการอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์ (Institutionalization & Normalization of the Totalizing Security & Surveillance State under Absolute Brueaucratic Rule)

หรือพูดง่ายๆ ก็คือทำให้สภาพของเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้อำนาจบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกวันนี้กลายเป็น --> สภาพของประเทศไทยทั้งประเทศภายใต้อำนาจบริหารในสถานการณ์ปกติในอนาคตนั่นเอง

ฉะนั้น ไม่ว่าผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะออกมาเช่นไร ประเทศไทยก็ยังคงจะลงเอยเป็นรัฐราชการอาญาสิทธิ์เพื่อความมั่นคงและการสอดส่องเบ็ดเสร็จนี้ ด้วยอานุภาพของ [แพคเกจนิติบัญญัติทั้งชุด] ของคณะรัฐประหารดังกล่าวข้างต้นอยู่ดี

แต่อย่างน้อย การลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแสดงพลังของประชาชนในกระบวนการพยายามต้านทานถอดรื้อมันอย่างสันติวิธี เพื่อเห็นแก่อนาคตของเราทั้งปวง

+++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ:

1. สำหรับผู้สนใจอ่าน Homeland Security Act สามารถคลิกไปอ่านได้ในรูป pdf. ที่
http://www.whitehouse.gov/deptofhomeland/bill/hsl-bill.pdf

2. สำหรับผู้สนใจสาระเกี่ยวกับ "ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. " ดูได้จากเว็บไซต์
http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=2246&Itemid=47&lang=

ภาคผนวก:
เพื่อการค้นคว้าทางวิชาการและเพื่อเป็นข้อมูลสาธารณะในการพิจารณาเกี่ยวกับร่าง พรบ.ความมั่นคง และ เรื่องเกี่ยวเนื่องที่ถูกวิจารณ์ว่าริดลอนสิทธิ์เสรีภาพของพลเมืองไทย กองบรรณาธิการฯ จึงได้นำเอา ร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าว(บางส่วน) ที่ถูกกล่าวถึงในบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนดังต่อไปนี้
(นำมาจาก http://www.thaigov.go.th/Download/591_19%2006%2050.doc หน้า 6-7)

ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 6-ร่างมาตรา 8)

2. ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกชื่อย่อว่า "กอ.รมน." เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และให้ กอ.รมน. มีบทบาท ภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 9- ร่างมาตรา 12)

3. ให้จัดตั้งสำนักเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกโดยย่อว่า "สน.ลธ.รมน." เป็นหน่วยงานภายใน กอ.รมน. โดยมีเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และให้ สน.ลธ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ตามกำหนด (ร่างมาตรา 13)

4. ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค ประกอบด้วย แม่ทัพภาค เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค เรียกโดยย่อว่า " กอ.รมน.ภาค." ขึ้นในทุกภาค เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับ กอ.รมน. โดยมีแม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค และให้ กอ.รมน.ภาค. มีอำนาจหน้าที่ตามกำหนด (ร่างมาตรา 15-ร่างมาตรา 17)

5. ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามกำหนด รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เรียกโดยย่อว่า "กอ.รมน.จว." เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดและให้ กอ.รมน.จว. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 18-ร่างมาตรา 20)

6. ให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า "กอ.รมน.กทม." เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.ภาค 1 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร และให้ กอ.รมน.กทม. มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 21-ร่างมาตรา 23)

7. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 24-ร่างมาตรา 31)

8. กำหนดให้การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด โดยให้คำนึงถึงการปกป้องคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นหลัก (ร่างมาตรา 32)

9. การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการลบล้างอำนาจของฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก หรือตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ประกาศไว้ (ร่างมาตรา 33 )

10. ให้ ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จว. ผอ.รมน.กทม. โดยความเห็นชอบของ ผอ.กอ.รมน. มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรออกจากพื้นที่ตามที่กำหนด และห้ามมิให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขตามที่กำหนด และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไปรายงานตัวตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 34)

11. ในกรณีที่ปรากฏว่า มีการกระทำที่อาจกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือการกระทำผิดอาญาที่อาจเชื่อมโยง หรือเกี่ยวพันกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้เจ้าพนักงานมีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว (ร่างมาตรา 35)

12. ให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ร่างมาตรา 36)

13. ให้เจ้าพนักงาน และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (ร่างมาตรา 37)

14. กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ได้สิทธิประโยชน์ตามคำสั่ง ระเบียบ และประกาศของ กอ.รมน.โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 38)

15. กำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 39)

(หมายเหตุ : สำหรับนักศึกษา ประชาชน ที่สนใจรายละเอียด "ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ....." ทั้ง 39 มาตรา โปรดคลิก http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,4236.0.html)



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com