โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 08 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 08, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ภายใต้สปิตเซอร์ สำนักงานอัยการนิวยอร์คเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากหน่วยงานซึมกะทือที่เคยถูกเรียกว่า "เสือกระดาษ" เป็นหน่วยงานปราบปรามที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในประเทศ สปิตเซอร์สืบสวนและลงโทษบริษัทวาณิชธนกิจที่ทุจริตจากผลประโยชน์ทับซ้อน กองทุนรวมที่ส่งคำสั่งซื้อขายแบบเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่น และบริษัทประกันที่ล็อคประมูล เป้าหมายหลักของสปิตเซอร์ไม่อยู่ที่การบังคับให้บริษัทฉ้อฉลชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย (แม้ว่าเขาจะทำเรื่องนั้นได้ดีอย่างยิ่ง) หากอยู่ที่ "เป้าหมายระยะยาว" เช่น การยกระดับธรรมาภิบาล
08-07-2550

Elliot Spitzer
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

Crusader of the Year - ทนายของประชาชน
Elliot Spitzer ยอดอัยการผู้รู้ทันกลโกงนักธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน / แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

บทความชิ้นนี้ กองบรรณาธิการฯ มุ่งนำเสนอเพื่อเป็นการแนะนำ
วิทยากรรับเชิญ: สฤณี อาชวานันทกุล ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาบรรยายในหัวข้อ
ทางรอดของทุนนิยม ทางเลือกสังคมแห่งการร่วมมือ
ซึ่งมีกำหนดการบรรยายในวันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๔.๐๐ น.
สำหรับในบทความที่นำเสนอ มีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้

- สปิดเซอร์ : Crusader of the Year - ทนายของประชาชน

- 2541 สปิตเซอร์: อัยการสูงสุดของมลรัฐนิวยอร์ค
- เบื้องหลังประสบการณ์ของ สปิตเซอร์
- อำนาจตามกฎหมายมาร์ติน (Martin Act)
- ลงโทษผู้ผิด เยียวยาผู้เสียหาย และเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ
- วิพากษ์การทำงานของสปิตเซอร์
- รัฐต้องควบคุมดูแลภาคธุรกิจอย่างเข้มแข็ง
(บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์คนชายขอบ และโอเพ่นออนไลน์)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Crusader of the Year - ทนายของประชาชน
Elliot Spitzer ยอดอัยการผู้รู้ทันกลโกงนักธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน / แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

สิ่งที่เคยเรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ตอนนี้ถูกเรียกว่า "ประโยชน์จากการร่วมมือกัน"
(What used to be called conflict of interest is now called synergy)

แจ็ค กรับแมน (Jack Grubman) นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ผู้ถูกสั่งแบนตลอดชีวิต

เกริ่นนำ
ในบรรดาธุรกิจทั้งหมดในกระแสโลกาภิวัตน์ การเงินเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ มากที่สุด ในด้านหนึ่ง ตลาดเงินและตลาดทุนที่เชื่อมถึงกันทั้งโลกช่วยให้คนจำนวนมากที่ต้องการระดมทุนเพื่อนำไปปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่หรือขยายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา ผู้ประกอบการรายย่อย หรือบริษัท มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต, แต่ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกว่า "ด้านมืด" ของการเงิน การพัฒนาเทคนิค ผลิตภัณฑ์ และตลาดทางการเงินใหม่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนสูง ก็กลายเป็นเครื่องมือให้นักการเงินไร้จรรยาบรรณ ใช้ในการช่วยให้นักธุรกิจฉ้อฉล ปกปิด หลอกลวง และเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย คู่แข่ง พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นๆ ที่ไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลภายในของบริษัทเท่ากับผู้บริหารระดับสูงและผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ปัญหาการเอาเปรียบและฉ้อฉลจากการใช้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน (asymmetric information) เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจบ่อยเสียจนไม่ควรเรียกว่าเป็น "ความล้มเหลวของตลาด" (market failure) ในนิยามของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอีกต่อไป เพราะนัยยะของ "ความล้มเหลว" คือปรากฏการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ในความเป็นจริง ปัญหาที่เกิดจากข้อมูลไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นบ่อยจนน่าจะเรียกว่าเป็น "ลักษณะปกติ" ของตลาดมากกว่า (แต่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก [ซึ่งปัจจุบันความหมายคือ สำนักเสรีนิยมใหม่] คงทำใจเปลี่ยนนิยามนี้ได้ยาก เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับว่า ระบบตลาดเสรีนั้นไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบและทำงานเต็มประสิทธิภาพเป็นปกติอย่างที่พวกเขาเชื่อ หากมีข้อบกพร่องบางประการเป็นคุณสมบัติของระบบ)

เมื่อกิจกรรมของ "พ่อมดการเงิน" สมัยใหม่กลายเป็น "แดนสนธยา" ที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งย่อมไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดคนเก่งๆ ได้ดีเท่ากับภาคการเงิน ก็ย่อมประสบปัญหาในการ "ตามทัน" กลโกงที่สลับซับซ้อนของนักการเงินที่รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดนิ่ง จึงนับเป็นโชคดีของนักลงทุนและประชาชนชาวอเมริกัน ที่มีอัยการนิวยอร์คนาม เอลเลียต สปิตเซอร์ (Elliot Spitzer) ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดนักการเงินขี้โกงอย่างแข็งขัน ไม่ใช่นั่งเฉยๆ รอให้มีผู้เสียหาย (ที่รู้ตัวว่าได้รับความเสียหาย) มาร้องเรียนก่อน และพอรับเรื่องไปแล้วก็รับเงินใต้โต๊ะจากผู้ถูกกล่าวหา แลกกับการเก็บเรื่องไว้ในลิ้นชักไม่ดำเนินการต่อ เหมือนกับอัยการสูงสุดในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ

ภายใต้สปิตเซอร์ สำนักงานอัยการนิวยอร์คเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากหน่วยงานซึมกะทือที่เคยถูกเรียกว่า "เสือกระดาษ" เป็นหน่วยงานปราบปรามที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในประเทศ สปิตเซอร์สืบสวนและลงโทษบริษัทวาณิชธนกิจที่ทุจริตจากผลประโยชน์ทับซ้อน กองทุนรวมที่ส่งคำสั่งซื้อขายแบบเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่น และบริษัทประกันที่ล็อคประมูล เป้าหมายหลักของสปิตเซอร์ไม่อยู่ที่การบังคับให้บริษัทฉ้อฉลชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย (แม้ว่าเขาจะทำเรื่องนั้นได้ดีอย่างยิ่ง) หากอยู่ที่ "เป้าหมายระยะยาว" เช่น การยกระดับธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ ด้วยการกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เข้มงวดและละเอียดมากขึ้น และผลักดันให้มีการปฏิรูปวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง

ประโยชน์สูงสุดที่สังคมได้รับจากการแกว่งดาบกายสิทธิ์ของสปิตเซอร์ ไม่ใช่การจับกุมและลงโทษคนโกง หากเป็นการสร้าง "องค์ความรู้" ในสังคม เกี่ยวกับกลวิธีการโกงแบบเหนือเมฆของนักธุรกิจและนักการเงินฉ้อฉล ตลอดจนสนามแข่งขันที่ผู้เล่นอยู่ภายใต้กฎกติกาที่เท่าเทียมกัน (level playing field) มากขึ้น และภาคเอกชนที่มีความรับผิดและความโปร่งใสมากกว่าเดิม

สปิดเซอร์ : Crusader of the Year - ทนายของประชาชน
ผลงานการปราบปรามอันลือลั่นของสปิตเซอร์ ทำให้เขาได้รับชื่อเสียงและรางวัลมากมาย วารสาร TIME ยกย่องให้เขาเป็น "มือปราบแห่งปี" (Crusader of the Year) รายการทีวีชื่อดังของอเมริกา 60 Minutes เรียกเขาว่า "นายอำเภอแห่งวอลล์สตรีท" ในขณะที่นิตยสาร Reader's Digest บอกว่า สปิตเซอร์คือ "ข้าราชการที่ดีที่สุด" ของอเมริกา แต่สมญานามที่สปิตเซอร์ภูมิใจมากที่สุดคือ "ทนายของประชาชน" เพราะคดีที่มีความหมายที่สุดสำหรับสปิตเซอร์ คือคดีเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานและผู้บริโภค เช่น คดีฟ้องนายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ และจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่พอเพียงให้กับแรงงานอพยพในธุรกิจบริการ และคดีเปิดโปงคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ

ความนิยมที่สปิตเซอร์ได้รับจากประชาชนนิวยอร์ค ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงนิวยอร์คในเดือนพฤศจิกายน 2549 ในนามพรรคเดโมแครต ด้วยคะแนนเสียงขาดลอย
......

2541 สปิตเซอร์: อัยการสูงสุดของมลรัฐนิวยอร์ค

ตั้งแต่วันที่เขาชนะการเลือกตั้งเป็นอัยการสูงสุดของมลรัฐนิวยอร์คในปี พ.ศ. 2541 สปิตเซอร์นำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่สำนักอัยการ ภายใต้การนำของเขา สำนักงานอัยการเริ่มสื่อสารและให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น ตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทเอกชนอย่างละเอียดและรู้เท่าทันกลโกงมากขึ้น และดำเนินคดีกับผู้ผิดในเชิงรุกมากขึ้น

ก่อนสมัยของสปิตเซอร์ อัยการระดับมลรัฐส่วนใหญ่เน้นเฉพาะคดีฉ้อฉลผู้บริโภคระดับท้องถิ่น ปล่อยคดีใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบระดับชาติให้เป็นเรื่องของรัฐบาลกลางแทน แต่สปิตเซอร์มองว่า ในเมื่อรัฐบาลกลางไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเข้มงวดเท่าที่ควร เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (โดยเฉพาะรัฐบาลพรรครีพับลิกัน ซึ่งภาคธุรกิจให้เงินสนับสนุนมาช้านาน) อัยการระดับมลรัฐก็ควรเพิ่มบทบาทของตัวเองให้แข็งขันยิ่งขึ้น สปิตเซอร์เป็นอัยการนิวยอร์คคนแรกที่ติดตามสอบสวนคดีฉ้อฉลของพนักงานหรือผู้บริหารบริษัท ในธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์ ประกัน คอมพิวเตอร์ และสิ่งแวดล้อม

อาจกล่าวได้ว่าอัยการนิวยอร์คเป็นสำนักงานอัยการที่สำคัญที่สุดของประเทศ เพราะนิวยอร์คเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดของสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า วอลล์สตรีท (Wall Street) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทด้วย นี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่กฎหมายธุรกิจทั่วไปของนิวยอร์ค (General Business Law) มอบอำนาจในการสอบสวนและดำเนินคดีให้กับอัยการสูงสุด มากกว่ากฎหมายมลรัฐอื่นๆ เช่น ในกรณีที่การสอบสวนของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือรัฐสภาไม่เป็นผล. สปิตเซอร์สามารถใช้อำนาจของสำนักงานอัยการ ยึดเอกสารสำคัญต่างๆ และสืบพยานได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล

ในช่วง 9 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง 2549 สปิตเซอร์ชนะคดีสำคัญๆ มากมาย ในหลากหลายธุรกิจดังต่อไปนี้ (แปลและขยายความบางตอนจาก วิกิพีเดีย):

ธุรกิจวิเคราะห์หลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจ
- การ "ปั่นหุ้น"และวิเคราะห์หลักทรัพย์อย่างมีอคติ (2545): สปิตเซอร์ฟ้องบริษัทวาณิชธนกิจ (investment bank) ยักษ์ใหญ่หลายราย ในข้อหาให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของตนเขียนบทวิเคราะห์อย่างไม่เป็นกลาง (เช่น เขียน "เชียร์" ให้ลูกค้าซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าใหญ่ของฝ่ายวาณิชธนกิจ ทั้งๆ ที่หุ้นนั้นมีราคาสูงเกินไป นักลงทุนควรขายมากกว่าซื้อ) และ "ปั่นหุ้น" (spin - หมายถึงการ "ดัน" ให้ราคาหุ้นสูงเกินจริง) ในการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (initial public offering หรือ IPO) ด้วยการจัดสรรหุ้น IPO ให้กับซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ ที่พวกเขาต้องการทำธุรกิจด้วย

ผลการสอบสวนของสปิตเซอร์ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ดังๆ หลายราย ถูกแบนจากธุรกิจนี้ตลอดชีวิต บริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำของโลก 10 แห่ง ได้แก่ Bear Stearns, Credit Suisse First Boston, Deutsche Bank, Goldman Sachs, J.P. Morgan Chase, Lehman Brothers, Merrill Lynch, Morgan Stanley, Salomon Smith Barney และ UBS Warburg ตกลงยอมความกับสำนักงานอัยการนิวยอร์ค จ่ายค่าปรับรวมกันสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (56,000 ล้านบาท) ยอมแยกธุรกิจวิเคราะห์หลักทรัพย์ออกจากวาณิชธนกิจ และตกลงทำตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เช่น มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ออกมาควบคุมพฤติกรรมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และกระบวนการทำ IPO ของวาณิชธนกิจ

ธุรกิจกองทุนรวม
- การส่งคำสั่งซื้อขายนอกเวลา (late trading) และการเล่นตามเวลาตลาด (market timing) (2546): การสอบสวนของสปิตเซอร์ในปี พ.ศ. 2546 พบว่า โบรกเกอร์ของกองทุนรวมส่วนใหญ่ให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้ารายสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น (ที่เรียกว่า hedge fund หรือ เฮดจ์ฟันด์) ในทางที่เอาเปรียบนักลงทุนคนอื่นๆ อย่างผิดกฎหมาย เช่น ยอมให้ลูกค้าบางรายมีสิทธิส่งคำสั่งซื้อขายนอกเวลา หลังจากที่ตลาดปิดไปแล้ว ("late trading") โดยใช้ราคาปิดของวันก่อนหน้า (เรียกว่า "ราคาบูด" หรือ stale price) ทำให้พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากข่าวด่วนในตลาดหุ้นอื่นๆ ได้ ในขณะที่นักลงทุนรายอื่นๆ ไม่สามารถซื้อขายหุ้นนอกเวลาตลาดได้. นอกจากนี้ สปิตเซอร์ยังเปิดโปงการทุจริตอีกวิธีหนึ่ง ที่กองทุนรวมนิยมใช้คือ ยอมให้นักลงทุนบางราย "เล่นตามเวลาตลาด" (market timing) คือให้ซื้อขายหุ้นถี่กว่าที่ระบุในกฎของกองทุน

พฤติกรรมทั้งสองแบบ คือ late trading และ market timing เป็นการให้ "สิทธิพิเศษ" กับนักลงทุนบางราย มากกว่านักลงทุนรายอื่นๆ ที่ลงทุนในกองทุนรวมเดียวกัน จึงนับเป็นการเอาเปรียบที่ผิดกฎหมาย

หลังจากการสืบสวนสิ้นสุดลง สปิตเซอร์และ ก.ล.ต. พบว่า กว่าครึ่งของกองทุนรวม 88 แห่งที่เรียกมาให้ปากคำ ซึ่งรวมกันทำธุรกิจมูลค่ากว่าร้อยละ 90 ของกองทุนรวมทั้งหมด ยอมให้ลูกค้า "เล่นตามเวลาตลาด" (market timing) และประมาณหนึ่งในสี่ของโบรกเกอร์ที่ขายกองทุนรวม ยอมให้ลูกค้าบางรายส่งคำสั่งซื้อขายหลังตลาดปิด (late trading)

ปีเตอร์ ฟิตซ์เจอร์รัลด์ (Peter Fitzgerald) วุฒิสมาชิกมลรัฐอิลลินอยส์ ถึงกับเรียกธุรกิจกองทุนรวมว่าเป็น "สถาบันต้มตุ๋นที่ใหญ่ที่สุดในโลก" สปิตเซอร์สรุปการสอบสวนของเขาว่า รากเหง้าของปัญหาทั้งหมดคือโครงสร้างจอมปลอมของกองทุนรวม และคณะกรรมการบริษัทที่ไม่ได้ทำงานเพื่อนักลงทุนทุกรายอย่างจริงจัง เขาฟ้องร้องกองทุนรวมหลายราย เรียกค่าชดเชยคืนให้กับนักลงทุนผู้เสียหายเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (40,000 ล้านบาท) และผลักดันการปฏิรูปธุรกิจที่นำไปสู่การล้มเลิกพฤติกรรมผิดกฎหมายทั้งสองแบบ

ธุรกิจประกัน
- การ "ฮั้ว" ราคาประมูล (2547): หลังจากที่เขาจัดการกับการทุจริตในธุรกิจวาณิชธนกิจและกองทุนรวม เป้าหมายต่อไปของสปิตเซอร์คือธุรกิจประกัน โดยเฉพาะพฤติกรรม "ล็อคประมูล" (bid rigging) ของบริษัทนายหน้าค้าประกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Marsh and McLennan ที่ "ฮั้ว" กับบริษัทประกันหลายราย รวมทั้ง American Insurance Group (AIG) บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ด้วยการขอให้ส่งราคาประมูลจอมปลอมในอัตราสูงๆ เพื่อให้ลูกค้าอีกรายชนะประมูลด้วยราคาต่ำกว่าที่ตกลงกันก่อนแล้วล่วงหน้า พฤติกรรมนี้เป็นการหลอกลวงให้ลูกค้าคนอื่นๆ เข้าใจผิด คิดว่ากรมธรรม์และเบี้ยประกันที่พวกเขาต้องจ่ายนั้นเป็นผลจากการแข่งขันที่แท้จริง ทั้งๆ ที่พวกเขากำลังจ่ายเบี้ยประกันที่สูงกว่าความเป็นจริง อันเป็นผลมาจากการ "ล็อคประมูล" นั่นเอง

- การประกันขอบเขต (2547): นอกเหนือจากการล็อคประมูล การสอบสวนของสปิตเซอร์ยังเปิดโปงพฤติกรรมที่เรียกว่า "การประกันขอบเขต" (finite insurance) คือสัญญาที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทำกับบริษัทประกัน โดยบริษัทประกันสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนออกมาต่ำกว่าที่คาด วิธีการนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นประเมินผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทยากยิ่งขึ้น (เพราะบริษัทจะเอาค่าชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันไป "โปะ" รายได้ ให้ผลการดำเนินงานดูดีดังคาด) ผลจากการสอบสวนของสปิตเซอร์ทำให้ ก.ล.ต. อเมริกาสั่งดำเนินคดีกับ AIG ในข้อหาทำการตลาดเพื่อขายผลิตภัณฑ์ "ลดผลขาดทุน" และ "นิติบุคคลเฉพาะกิจ" (Special Purpose Vehicles) นอกงบดุล ซึ่งสามารถใช้ปกปิดหนี้เสียและหนี้สินอื่นๆ ของบริษัทที่ไม่พึงประสงค์ จากสายตาของนักลงทุน

นอกเหนือจากคดีสำคัญๆ ข้างต้นในธุรกิจการเงิน สปิตเซอร์ยังฟ้องร้องบริษัทต่างๆ ขึ้นศาลระดับมลรัฐและระดับประเทศในคดีอื่นๆ ในประเด็นมลพิษ ธุรกิจบันเทิง เทคโนโลยี ความปลอดภัยในการทำงาน สุขอนามัย และประเด็นอื่นๆ ที่มลรัฐนิวยอร์คมีส่วนร่วมในการเขียนและดูแลรักษามาตรฐานระดับประเทศ อาทิเช่น คดีต่อไปนี้

ธุรกิจบันเทิง
- ค่าลิขสิทธิ์เพลงค้างจ่าย (2547): การสอบสวนธุรกิจดนตรีของสปิตเซอร์ นำไปสู่การเปิดโปงว่า ค่ายเพลงใหญ่ๆ ค้างจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักดนตรีเป็นมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,000 ล้านบาท) เพราะค่ายเพลงเหล่านั้นขาดการติดต่อกับนักดนตรี สปิตเซอร์ขู่ผู้บริหารค่ายเพลงเหล่านั้นว่า ภายใต้กฎหมายทรัพย์สินที่ถูกละเลย (Abandoned Property Law) ของมลรัฐนิวยอร์ค ค่าลิขสิทธิ์ที่ค่ายเพลงไม่ยอมส่งไปให้นักดนตรีผู้มีกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง จะต้องตกเป็นของรัฐ คำขู่ของสปิตเซอร์ทำให้ค่ายเพลงเหล่านั้นยอมความ ตกลงว่าจะติดต่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เร็วที่สุด

- สัญญาประนีประนอมเรื่อง "ค่าเปิดเพลง" (2548): สปิตเซอร์สอบสวนเรื่อง "ค่าเปิดเพลง" (payola) - เงินที่ค่ายเพลงจ่ายให้กับสถานีวิทยุต่างๆ เพื่อจ้างให้เปิดเพลงของพวกเขา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย สปิตเซอร์ค้นพบว่า ดีเจหลายรายได้รับ "ของขวัญ" จากโปรโมเตอร์เป็นการตอบแทนที่เปิดเพลงบางเพลงหลายครั้งต่อวัน. ในปี 2548 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ Sony BMG และ Warner Music เซ็นสัญญายอมความกับสปิตเซอร์ ตกลงว่าจะหยุดการทุจริตนี้ลง

ธุรกิจคอมพิวเตอร์
- การร่วมมือกันฮั้วราคา (2549): การสอบสวนบริษัทผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์ 5 ราย นำไปสู่การยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 730 ล้านเหรียญสหรัฐ (29,000 ล้านบาท) และการยอมรับผิดของบริษัท Samsung Electronics, Elpida Memory Inc., Infineon Technologies AG และ Hynix Semiconductor Inc. บริษัทผู้ผลิตรายที่ห้าที่ถูกสอบสวน คือ Micron Technology ได้รับยกเว้นโทษเพราะถูกกันไว้เป็นพยานในการดำเนินคดี คดีนี้มีความสำคัญในแง่ที่มันเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการฮั้วราคาที่ยาวนานที่สุด ของผู้เล่นมากรายที่สุด (ระหว่างปี 2541 - 2545)

ธุรกิจอื่นๆ
- สิ่งแวดล้อม: สปิตเซอร์ฟ้องบริษัท Midwest ในข้อหาปล่อยมลพิษที่ทำให้เกิดฝนกรดและควันพิษ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

- ธุรกิจยา: สปิตเซอร์เปิดโปงว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับผลการทดลอง (clinical trial) ของยาใหม่ๆ ไม่ให้สาธารณชนรับรู้ การสอบสวนของเขานำไปสู่นโยบายการเปิดเผยข้อมูลในธุรกิจยาที่โปร่งใส และละเอียดมากขึ้น
......

เบื้องหลังประสบการณ์ของ สปิตเซอร์
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้สปิตเซอร์สามารถ "รู้ทัน" กลโกงของวอลล์สตรีท คือการที่เขามีพื้นเพ ประสบการณ์ และชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกับนักการเงินผู้มั่งคั่ง สปิตเซอร์เกิดมาในตระกูลร่ำรวยที่ทำรายได้มหาศาลจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เขาจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ทั้งปริญญาตรีจาก Princeton University ในปี พ.ศ. 2524 และปริญญาโทด้านกฎหมายจาก Harvard Law School ในปี พ.ศ. 2527 และทำงานให้กับผู้พิพากษาและสำนักงานทนายความที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นอัยการ

แต่สปิตเซอร์ทำอย่างไร จึงทำให้บริษัทที่ถูกเขาสอบสวนส่วนใหญ่มักจะยอมความ ยอมจ่ายค่าปรับสูงๆ และทำตามข้อเรียกร้องทุกประการ แทนที่จะไปสู้คดีในชั้นศาล? บทความในนิตยสาร Slate ซึ่งอธิบายให้เห็นวิธีคิดและกระบวนการทำงานของสปิตเซอร์ อาจให้คำตอบระดับหนึ่ง:

…[สปิตเซอร์]อาจเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดนอกกรุงวอชิงตัน เขาปลุกผีหน่วยงานที่ซึมเซาให้กลายเป็นผู้คุมกฎที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ และเป็นวิศวกรผู้รื้อสร้างธุรกิจการเงิน - ทั้งหมดในนามของการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค

สปิตเซอร์ไม่ "หมู" เหมือนรูดี้ กิวลีอานี (Rudy Giuliani) สมัยที่เขาเป็นมือปราบ สปิตเซอร์ไม่ชอบส่งคดีขึ้นศาล เขาคิดค้นแท็กติกที่มีพลังกว่านั้นมาก นั่นคือ การใช้ความกลัวว่าราคาหุ้นจะตกและธุรกิจจะขาดทุน เป็นเครื่องมือบังคับให้เอกชนเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ คำถามคือ เขาทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

เมื่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อันไร้ประสิทธิภาพจัดการกับการฉ้อฉลต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนแบบขอไปที ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องโหว่ให้สปิตเซอร์อุด สปิตเซอร์ทำงานด้วยความมุ่งมั่นที่เข้มข้นไม่ต่างจากนักการเมืองอาชีพ และไม่ต่างจากกิวลีอานีสมัยที่เขาเป็นมือปราบ แต่สปิตเซอร์มีความได้เปรียบสองข้อที่คนมักจะมองข้าม

ข้อแรก กฎหมายมอบอำนาจให้เขามากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ทุกคนในประเทศ
ข้อสอง ความมั่งคั่งของตระกูลทำให้สปิตเซอร์สามารถต่อกรกับวอลล์สตรีท ไม่ใช่ในฐานะฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น
แต่ในฐานะลูกค้าความรู้สูงอีกด้วย

สปิตเซอร์ไม่เหมือนกับทนายภาครัฐคนอื่นๆ ที่ต้องทำงานกับวอลล์สตรีท ตรงที่เขาเข้าใจนักการเงินและธุรกิจของพวกเขา เพราะตลอดชีวิตเขารู้จักคนเหล่านี้ ถ้าสปิตเซอร์กำลังทำสงครามชนชั้น เขาก็กำลังต่อสู้กับชนชั้นของตัวเอง

ที่ผ่านมา อัยการนิวยอร์คมักไม่กล้าท้าทายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวอลล์สตรีท จนกว่าตลาดหุ้นจะตกเหว เมอร์ริล ลินช์ (Merrill Lynch), มอร์แกน สแตนเลย์ (Morgan Stanley) และคู่แข่งของพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้จ้างงานรายใหญ่ของนิวยอร์คเท่านั้น หากยังเป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองรายใหญ่อีกด้วย แต่เมื่อไหร่ที่ภาวะตลาดหุ้นบูมสิ้นสุดลง และผลประโยชน์ทับซ้อนโผล่ขึ้นมา อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

อำนาจตามกฎหมายมาร์ติน (Martin Act)
สปิตเซอร์อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะต่อกรกับวอลล์สตรีท เขามีหน้าที่ เพราะสถาบันการเงินส่วนใหญ่และลูกค้าของพวกเขาจำนวนมากตั้งอยู่ในมลรัฐนิวยอร์ค เขามีแรงจูงใจ เพราะชาวนิวยอร์คหลายคนประสบความเดือดร้อนเมื่อตลาดหุ้นตกต่ำ และที่สำคัญที่สุดคือ เขามีอำนาจ โดยเฉพาะตามกฎหมายมาร์ติน (Martin Act) [ซึ่งรัฐประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2464 หลังจากประชาชนนับหมื่นคนต้องเสียเงินเก็บทั้งหมดให้กับแชร์ลูกโซ่ของ ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi)] นิโคลัส ธอมสัน (Nicholas Thompson) อธิบายในบทความที่เขียนลงวารสาร Legal Affairs ว่า กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจอันมหาศาลกับอัยการของรัฐในคดีเกี่ยวกับการฉ้อฉลทางการเงิน อัยการมีอำนาจ "ออกหมายเรียกเอกสารอะไรก็ได้ที่ต้องการ จากใครก็ตามที่ทำธุรกิจในนิวยอร์ค", สอบสวนแบบลับหรือเปิดเผยตามความพอใจ และ "เลือกว่าจะฟ้องจำเลยในคดีแพ่งหรือคดีอาญาเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ"

ธอมสันชี้ว่า เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ "ใครก็ตามที่ถูกอัยการเรียกมาสอบสวนภายใต้กฎหมายมาร์ติน จะไม่มีสิทธิจ้างทนายที่ปรึกษา หรือสิทธิในการไม่ให้การในทางที่จะชี้ว่าตัวเองมีความผิด (right against self-incrimination) ทั้งหมดนี้แปลว่า อำนาจ[ของอัยการนิวยอร์ค]สูงกว่าอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ทุกคนในประเทศ" [กฎหมายนี้ยังให้อำนาจอัยการตรวจค้นสำนักงานทุกบริษัทในนิวยอร์คได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้รู้ล่วงหน้า]

สปิตเซอร์ยังมีความได้เปรียบเหนืออัยการของมลรัฐอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. อีกข้อหนึ่ง หน่วยงานรัฐระดับประเทศ (federal agencies) ถูกจำกัดขอบเขตอำนาจไว้แคบๆ [ตามประเด็นใหญ่ๆ] เช่น

- ก.ล.ต. ดูแลประเด็นเกี่ยวกับหลักทรัพย์,
- กรรมาธิการการค้า (Federal Trade Commission) ดูแลประเด็นเกี่ยวกับการใช้อำนาจผูกขาด, และ
- กระทรวงยุติธรรมดำเนินคดีเกี่ยวกับการฉ้อฉล

แต่สปิตเซอร์ทำงานเสมือนเป็นหน่วยงานสอบสวนสืบสวนและหน่วยงานกำกับดูแลในสำนักงานเดียวกัน เขาสามารถกล่าวหาผู้บริหารบริษัทในคดีอาญา บังคับให้บริษัทคืนกำไรให้กับผู้เสียหายในคดีแพ่ง และฟ้องบริษัทในข้อหาใช้อำนาจผูกขาด - ทั้งหมดนี้ในการสอบสวนคดีเดียวกัน และขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตัวเอง [สปิตเซอร์ต้องการ] ลงโทษผู้ผิด เยียวยาผู้เสียหาย และเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ

ลงโทษผู้ผิด เยียวยาผู้เสียหาย และเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ
สปิตเซอร์เข้าใจดีว่าเขาต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง เมื่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัทถูกกล่าวหา พวกเขามักจะต่อสู้ แต่สปิตเซอร์ไม่ได้มองเป้าหมายของเขาในฐานะอาชญากรที่ต้องถูกขังคุก หากมองในฐานะมืออาชีพและบริษัทเอกชนที่มีสินทรัพย์ อาชีพการงาน และชื่อเสียงที่ต้องปกป้อง ฉะนั้น สปิตเซอร์จึงไม่กล่าวหาเฉยๆ แต่ออกข่าวสารนิเทศ (press release) ให้สื่อมวลชนไปประโคมด้วย

ในปี พ.ศ. 2545 เขาไล่ล่าธุรกิจวาณิชธนกิจและวิเคราะห์หลักทรัพย์ของเมอร์ริล ลินช์ เมื่อสปิตเซอร์ออก press release ที่ประโคม "การหักหลังที่น่าตกใจโดยหนึ่งในสถาบันการเงินที่คนเชื่อใจที่สุด" หุ้นของเมอร์ริล ลินช์ ตกอย่างรุนแรง มูลค่าตลาดหายไปกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 200,000 ล้านบาท) ภายในช่วงเวลาไม่กี่วัน บริษัทตกลงยอมความอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะเกลี้ยกล่อมบริษัทวาณิชธนกรยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ให้ทำตามสัญญาประนีประนอมในคดีประวัติศาสตร์ เรื่องความไม่เป็นกลางของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เมื่อเดือนธันวาคม 2545 ระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ 10 แห่งตกลงจ่ายค่าปรับจำนวน 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 56,000 ล้านบาท) แยกฝ่ายวิเคราะห์และฝ่ายวาณิชธนกิจออกจากกันอย่างเด็ดขาด ห้ามไม่ให้นักวิเคราะห์ปั่นหุ้น IPO (spinning) และสัญญาว่าจะซื้อบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์อิสระเป็นเวลา 5 ปี สปิตเซอร์ประกาศว่า "ข้อตกลงนี้จะเปลี่ยนวิธีทำงานของวอลล์สตรีทอย่างไม่มีวันหวนคืน" นั่นคือการลงโทษผู้ผิด เยียวยาผู้เสียหาย และเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ

เป้าหมายต่อมาของสปิตเซอร์คือธุรกิจกองทุนรวม เขาเริ่มการสืบสวนที่เอ็ดวาร์ด สเติร์น (Edward Stern) ผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น (เฮดจ์ฟันด์) ที่ให้บริการซื้อขายหลังเวลา (late-trading) และเล่นหุ้นตามเวลาตลาด (market-timing) กับกองทุนรวมบางแห่ง (สปิตเซอร์รู้ว่ากองทุนรวมทำงานอย่างไร เพราะเขาเป็นลูกค้าเฮดจ์ฟันด์ของเจมส์ เครเมอร์ (James Cramer)) ครั้งนี้ก็เช่นกันที่สปิตเซอร์หว่านล้อมให้เป้าหมายของเขายอมให้ความร่วมมือ นำไปสู่สัญญาประนีประนอมมูลค่าสูงระหว่างรัฐและกองทุนรวมชั้นนำ เช่น Janus, MFS, และ Strong Capital ในแทบทุกกรณี ผู้บริหารระดับสูงต้องตกงาน และบริษัทของพวกเขายินยอมจ่ายค่าปรับและลดราคาให้กับนักลงทุนในอนาคต เห็นชัดว่านี่เป็นการลงโทษผู้ผิด เยียวยาผู้เสียหาย และเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ - [นั่นคือ "แบรนด์" ของสปิตเซอร์]

เมื่อสปิตเซอร์หันมาเพ่งเล็งการทุจริตในธุรกิจประกัน ซีอีโอของบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ Marsh & McLennan และ AIG ก็ได้เรียนรู้จากคดีก่อนหน้านี้แล้วว่า อันตรายของสปิตเซอร์ไม่ใช่ความเสี่ยงที่จะต้องติดตะราง หากเป็นความเสี่ยงที่หุ้นจะดิ่งเหว ลำพังคำประกาศของสปิตเซอร์ว่า จะเริ่มดำเนินการสอบสวนใครก็เป็นเหตุผลพอแล้วที่นักลงทุนจะขายหุ้นบริษัทนั้นทิ้ง เปรียบเสมือนคำเชื้อเชิญให้ผู้ถือหุ้นเตรียมตัวฟ้องบริษัท และเริ่มแคมเปญขอรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นในการลงคะแนนเสียง (proxy vote)

สปิตเซอร์ได้รับส่วนที่ดีที่สุดจากโลกทั้งสองใบ เขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับนักธุรกิจบนวอลล์สตรีท สมบัติส่วนใหญ่ของสปิตเซอร์เป็นมรดกตกทอด แต่เขากำลังทำให้คนที่เขาเจอในงานเลี้ยงศิษย์เก่าพริ้นซ์ตันและงานพบผู้ปกครอง ทำงานหนักกว่าเดิมในการเพิ่มพูนสมบัติของพวกเขา
......

วิพากษ์การทำงานของสปิตเซอร์

หากบทความใน Slate ข้างต้นจะฟังดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับสปิตเซอร์นัก โดยเฉพาะตอนจบที่ทำให้เขาดูเหมือนเป็น "ลูกเศรษฐีเคยตัว" ที่ใช้อำนาจกดขี่คนอื่นที่ต้องทำงานหนัก ผู้เขียนบทความนี้ก็ไม่ใช่คนเดียวที่แคลงใจในวิธีทำงานของสปิตเซอร์. มีนักธุรกิจ นักหนังสือพิมพ์ และประชาชนทั่วไปจำนวนมากที่ปักใจเชื่อว่า สปิตเซอร์ไม่ได้ทำงานอย่างเป็นกลาง แต่ทำเพื่อหวังตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะหลังจากที่เขาประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงนิวยอร์ค (และชนะเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2549) และเริ่มเปิดเผยความทะเยอทะยานทางการเมือง - สปิตเซอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขา "สนิทมาก" กับอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) และไม่เคยปฏิเสธว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีในอนาคต

กระบวนการสอบสวนธุรกิจประกัน ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่เขากำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงนิวยอร์ค เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความแคลงใจนี้ "มีมูล" ไม่น้อย เพราะแทนที่จะจำกัดขอบเขตการสอบสวนของเขาอยู่แค่การล็อคประมูล ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการทุจริตและผิดกฎหมาย สปิตเซอร์กลับขยายขอบเขตข้อกล่าวหาของเขาไปถึงการจ่าย "ค่านายหน้าแบบขึ้นอยู่กับผลงาน" (contingent commission) ซึ่งเป็นกระบวนการทำธุรกิจปกติในธุรกิจประกัน ที่ให้เงินพิเศษกับนายหน้าขายประกันที่ "ทำยอด" เก่ง

สปิตเซอร์มองว่า โครงสร้างการจ่ายค่านายหน้าแบบนี้ทำให้นายหน้าอยากขายกรมธรรม์แพงๆ ให้กับลูกค้า มากกว่าจะขายกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับลูกค้า จึงเข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ดี ลำพังผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย การจ่ายค่านายหน้าแบบนี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการ "ล็อคประมูล" และมีสัดส่วนเพียง 5-7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของนายหน้าค้าประกัน

อำนาจอันมหาศาลของสปิตเซอร์ ซึ่งแปลว่าไม่มีกลไกถ่วงดุลใดๆ ที่จะสามารถคานอำนาจของเขา ทำให้เป็นเรื่องไม่ง่ายที่เราจะแยกแยะว่า การกระทำของเขาในแต่ละกรณีนั้น "แรงเกินไป" หรือไม่ แต่ตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนว่า สปิตเซอร์ใช้อำนาจ "มากเกินไป" คือเมื่อเขากล่าวหาประธานตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คในสมัยนั้นคือ ดิค กราสโซ (Dick Grasso) และกรรมการตลาดหลักทรัพย์คนหนึ่งคือ เคน แลงกอน (Ken Langone) ว่าได้ร่วมมือกัน "หลอกลวง" กรรมการตลาดหลักทรัพย์คนอื่นๆ ให้จ่ายเงินเดือนและโบนัสพวกเขาสูงๆ

สปิตเซอร์ใช้แท็คติกโปรดของเขา นั่นคือ เปิดโปงข้อกล่าวหาในงาน press release ใหญ่โต และเรียกร้องให้กราสโซและแลงกอน "คืน" เงินค่าตอบแทนจำนวนมากให้กับตลาดหลักทรัพย์ แทนที่จะทำคดีส่งศาล
แต่กราสโซและแลงกอนไม่ "หมู" เหมือนเป้าก่อนๆ ของสปิตเซอร์ ทั้งสองยืนกรานว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่เคยหลอกลวงคณะกรรมการตลาดฯ แต่ค่าตอบแทนอันมหาศาลของกราสโซ คือ 189 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,500 ล้านบาท) ในปี 2548 ก็ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจในหมู่นักลงทุนและประชาชนจำนวนมาก และทำให้กราสโซถูกคณะกรรมการตลาดฯ "บีบ" ให้ลาออกจากตำแหน่งในที่สุด

หลังจากนั้น กรรมการตลาดฯ หลายคนก็ออกมายอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติจ่ายค่าตอบแทนสูงลิบลิ่วให้กับกราสโซจริงๆ ไม่ได้ถูกหลอกหรือปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด
......

รัฐต้องควบคุมดูแลภาคธุรกิจอย่างเข้มแข็ง

ถึงแม้ว่าสปิตเซอร์อาจใช้ตำแหน่งอัยการเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองจริงๆ จนเป็นเหตุให้ใช้อำนาจอัยการ "เกินเลย" ในบางกรณี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีต่างๆ ที่สปิตเซอร์ไล่กวดอย่างไม่ลดละจนนำไปสู่การยอมความของคู่กรณีนั้น ส่วนใหญ่เป็น "การทุจริต" ที่สมควรถูกลงโทษ ผลงานของเขาทำให้โลกเรียนรู้ว่า "ความล้มเหลวของตลาด" ที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้งนั้น ที่จริงแล้วเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่อง "ปกติธรรมดา" ในแวดวงธุรกิจการเงิน

สปิตเซอร์เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของผู้คุมกฎภาครัฐ ที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐต้องควบคุมดูแลภาคธุรกิจอย่างเข้มแข็ง เพราะถ้าปล่อยให้นักธุรกิจดูแลกันเองแล้ว คนที่ไม่อยากใช้กลโกงเหมือนคู่แข่งก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา จนทำให้ท้ายที่สุดแล้วนักธุรกิจที่อยู่ได้ในสนามแข่งขัน จะมีแต่นักธุรกิจที่โกงผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นๆ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ผู้บริโภค และสังคมส่วนรวมซึ่งไม่มีข้อมูลภายในที่จะล่วงรู้ได้ว่ากำลังถูกเอาเปรียบอย่างไรบ้าง ถ้ารัฐไม่ควบคุม ในที่สุดภาคธุรกิจก็จะกลายเป็น "การวิ่งแข่งไปสู่จุดเสื่อม" (race to the bottom) ที่ผู้เล่นทุกรายต่างใช้คำว่า "อย่างน้อยฉันก็ไม่เลวเท่ากับคนอื่น" เป็นข้ออ้างในการทุจริต

บางส่วนจากสุนทรพจน์ของสปิตเซอร์ ที่ไปพูดที่ชมรมสื่อแห่งชาติ (National Press Club) เมื่อเดือนมกราคม 2548 ในช่วงที่เขากำลังถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากนักธุรกิจและพรรคริพับลิกัน ว่าใช้ตำแหน่งอัยการเป็นเครื่องมือในการหาเสียง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บทบาทของภาครัฐมีความสำคัญเพียงใด ในภาวะที่คำว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" และ "ธรรมาภิบาล" กลายเป็นศัพท์ยอดฮิตที่ติดปากประชาชนทั่วไป แต่ยังมีน้อยคนที่จะเข้าใจความหมายและความสำคัญอย่างถ่องแท้:

"ในบรรดาเสียงที่โจมตีสำนักงานของผมว่าทำอะไรรุนแรงเกินไป หรือไม่เข้าใจธุรกิจ ผมว่ามีสองเรื่องที่สำคัญนะครับ

- เรื่องแรก ไม่มีเลยสักครั้งที่ฝ่ายต่อต้านจะบอกว่าเราผิด เราไม่เคยใช้ข้อมูลผิด อีกฝ่ายเซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความกับเราตลอดมา พวกเขายอมรับว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทุกบริษัทเลยนะครับ เพราะพวกเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่คนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของภาคเอกชน เป็นตัวแทนของตลาดเสรี กำลังหดหัวเข้าไปอยู่ในกระดอง แกล้งทำเป็นว่าไม่ควรมีใครพูดถึงประเด็นเหล่านี้

- ทีนี้มาถึงเรื่องที่สอง ผมจะตั้งเป็นคำถามนะครับ มีใครบ้างที่เชื่อว่าตลาดจะทำงานได้ดีกว่าเดิมถ้าเราไม่ทำอะไรเลย? ปัญหาต่างๆ มีมานานก่อนที่เราจะเปิดโปงมันออกมา มีใครอยากกลับไปสู่โลกเก่าใบนั้นไหมครับ? เหมือนกับถามว่า มีใครอยากย้อนเวลาไปอยู่ในยุคก่อนเท็ดดี้ รูสเวลท์ ก่อนที่เราจะทำลายกลุ่มผู้ผูกขาด? (Teddy Roosevelt อดีตประธานาธิบดีอเมริการะหว่างปี พ.ศ. 2444-2452 ได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานาธิบดี "หัวก้าวหน้า" คนแรกของประเทศ) ผมคิดว่าไม่มี

ฉะนั้น ถึงแม้ว่าคนที่แกล้งเป็นตัวแทนของตลาดเสรีจะเตะเราหนักขนาดไหน เมื่อเราเปิดโปงปัญหาเหล่านี้ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะแกล้งทำเป็นว่าเรานั่นแหละที่ทำรุนแรงเกินไป ความจริงก็คือ ตลาดเสรียังดำรงอยู่ได้เพียงเพราะว่าเราเปิดโปงปัญหาเหล่านี้ อธิบายให้คนเห็นปัญหาอย่างชัดแจ้ง และพยายามเผชิญกับมันในทางที่เป็นรูปธรรมมากๆ ความจริงข้อนี้นำมาสู่กฎประจำใจผม - รัฐบาลเท่านั้นที่จะสามารถบังคับความซื่อสัตย์ และความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในตลาดเสรีได้"



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com