โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 23 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๘๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 23, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

เมื่อหลักการสิทธิเสรีภาพที่เคยตราไว้ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันว่าขบวนการ 14 ตุลาฯ แสดงให้เห็นความต้องการที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมของรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในจดหมายของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนในนามนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เพื่อให้มีกติกาหมู่บ้านโดยเร็ว. อนุสนธิจากจดหมายนายป๋วย ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นนายป๋วย ยังได้เขียนบันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ
23-06-2550

Thai History
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บรรยากาศเหตุการณ์การร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: บทเรียนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ : เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บทความบริบทเหตุการณ์การร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ นี้ กองบรราธิการฯ ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: การเมืองภาคประชาชน บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศแวดล้อมทางการเมืองในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
อันเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ และไปสิ้นสุดเหตุการณ์ในช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ซึ่งผู้เขียนได้มีการลำดับเหตุการณ์ก่อนหน้า อันเป็นที่มาของบริบทแวดล้อมที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา
ด้วยเหตุที่บทความต้นฉบับนี้มีความยาวประมาณ ๓๗ หน้า จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ หัวเรื่องคือ
๑๒๘๔. ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
๑๒๘๕. ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : บริบทการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



บรรยากาศเหตุการณ์การร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: บทเรียนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ : เขียน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗
(บทความนี้ต่อจากบทความลำดับที่ ๑๒๘๔)

3. วิวาทะสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ
ได้กล่าวมาแล้วว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ตกอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้แต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียรเป็น ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ29 คณะกรรมการฯ ชุดนี้ร่างถึงหมวดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ของชนชาวไทยเท่านั้น (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) แต่เมื่อเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 และตั้ง รัฐบาลใหม่ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ยังคงต้องยึดตามหลักการของธรรมนูญการปกครองฯ 30

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ในการประชุม คณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2516 มีนายประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการอีก 17 คน31 คณะกรรมการชุดนี้ยึดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 และ พ.ศ. 2511 เป็นต้นแบบ และเพิ่มเติมลักษณะระบอบการปกครองที่ต้องเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ การกำหนดเสรีภาพของประชาชนและการปกครองท้องถิ่น (ประชาชาติ, 1:14, 21 กุมภาพันธ์ 2517)

แต่ในส่วนของสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยังไม่หมดวาระ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสภาตรายาง เป็นมรดกเผด็จการ ไม่สมควรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดนี้ลาออก เมื่อสมาชิกสภาฯ ลาออกจนมีสมาชิกเหลือน้อย ไม่สามารถเรียกประชุมได้ครบองค์ประชุมจึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสีย โดยอาศัยอำนาจตามธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 22 ซึ่งระบุว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.14-18) จากนั้นสมัชชาแห่งชาติจึงได้เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

3.1 กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีดังนี้

1. ขั้นตอนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการร่างฯ ซึ่งจะยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และ 2511 เป็นแนวทาง คณะกรรมการฯ จะตกลงในหลักการ ถ้ามีปัญหาก็จะให้คณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ฯ ไปค้นคว้าเสนอต่อกรรมการฯ บางครั้งมอบหมายให้เลขานุการ หรือกรรมการบางท่านยกร่างมาเสนอต่อที่ประชุม แล้วจึงมอบให้คณะอนุกรรมการยกร่าง ทำการยกร่างมาเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

2. การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะทำการตรวจและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 1

3. สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 1 แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง รัฐธรรมนูญจำนวน 35 คน เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2

4. สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 3 ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อผ่านร่างแล้วจึงทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้ต่อไป

3.2 ขั้นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีการถกเถียงในประเด็นสำคัญดังนี้

1. ในหมวดพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มีการเสนอให้พระมหากษัตริย์ ดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของทหารทั้งปวง กรรมการบางคนเห็นว่าจะเป็นการทำให้กษัตริย์ต้องมาพัวพันกับการบริหาร จึงตัดข้อความในส่วนที่ว่า "ทรงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของทหารทั้งปวง" ออก, การแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และสมุหราช องครักษ์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย จึงไม่ควรให้องคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช โองการ และการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลจากเดิมระบุว่า จะแก้ไขหรือยกเลิกมิได้ คณะกรรมการตกลง แก้ไขให้สามารถแก้ไขได้โดยกระทำโดยวิธีเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้ไขให้มีผลยกเลิกไม่ได้

2. หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย คณะกรรมการเห็นว่า ควรเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ ไว้ในบทบัญญัติและมีเงื่อนไขน้อยที่สุด ได้บรรจุข้อความว่าด้วยสิทธิขั้นมูลฐานไว้ในคำปรารภ เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการตีความเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญโดยตุลาการรัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมในส่วนของการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา

3. หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ คณะกรรมการได้เพิ่มเติมหลักการมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และ 2511 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐ และมีกรรมการบางท่านเสนอว่า การอนุญาตให้กองกำลังทหารต่างชาติมาตั้งฐานทัพในประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนั้นยังได้เพิ่มเติมหลักการที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คุ้มครองผลประโยชน์ของชาวนา และให้สวัสดิการแก่ประชาชน ตลอดจนการแยกอำนาจเพื่อประกันความเป็นอิสระของศาล

4. หมวดรัฐสภา คณะกรรมการฯส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีสองสภาเพื่อเป็นการถ่วงดุลกัน และควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งสองสภา โดยเฉพาะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยปรารภว่า ทรงไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก เพราะไม่ทรงทราบว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ การที่จะให้มีสภาจากการเลือกตั้งจะทำให้สภาทั้งสองเป็นที่รวมของประชาชนทั้งประเทศ กรรมการบางท่านเห็นว่าหากวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งก็ควรมีอำนาจใกล้เคียงกับสภาผู้แทนราษฎร แต่กรรมการบางท่านยังเห็นว่าวุฒิสภาควรมีที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงควรให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในที่สุดได้มีข้อสรุปว่า ควรมีสองสภาและมาจากการเลือกตั้งทั้งสองสภาโดยมีวิธีการต่างกัน

มีผู้เสนอว่าสภาผู้แทนราษฎรควรใช้ระบบด๊องท์ (d' Hondt) แบบเยอรมันตะวันตก เข้ามาผสม คือ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งที่สมัครเป็นรายบุคคลกับ ส.ส.ที่ใช้ระบบบัญชีรายชื่อโดยคิดคะแนนรวมจากการเลือกพรรค คือมีลักษณะเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional representative system) นั่นเอง แต่ระบบนี้มีความยุ่งยากและอาจทำให้ประชาชนสับสน ในที่สุดที่ประชุมจึงมีมติให้คงระบบสองสภา โดยสมาชิกวุฒิสภาให้องคมนตรีพิจารณาเลือก 100 คนจากรายชื่อ 300 คน กำหนดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์และ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ และต้องสังกัดพรรคการเมือง

ส่วนจำนวนผู้แทนราษฎรกำหนดจำนวนไว้ตายตัวระหว่าง 240- 300 คน แต่จะเป็นสมาชิกทั้งสองสภาในเวลาเดียวกันไม่ได้ มีการกำหนดอำนาจวุฒิสมาชิกให้สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ ตั้งกระทู้ถาม และเข้าชื่อเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปได้ ทั้งนี้ให้รัฐสภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา นอกจากนี้ยังให้สิทธิในการเสนอขอถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 25 คน เสนอขอถอดถอน ให้คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นหลักการให้สมาชิกควบคุมกันเอง สำหรับการเลือกผู้แทนราษฎร ให้แบ่งเป็นเขตๆ ละ 3 คน

5. หมวดคณะรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีมาจากสมาชิกของทั้งสองสภาเท่านั้นและต้อง ไม่เป็นข้าราชการประจำ และคณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายโดยได้รับความไว้วางใจไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา การประกาศกฎอัยการศึกและทำสนธิสัญญาทางทหารต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา. กรรมการบางท่านเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิเศษโดยที่ต้องไม่ใช่อำนาจตุลาการ เพื่อใช้แก้ปัญหากรณีวิกฤต แต่ที่ประชุมมีมติให้ตัดออก.
ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการฯ ได้จัดทำขึ้นมีความยาวถึง 225 มาตรา นับว่ายาวที่สุดเท่าที่เคยมีมา และได้เพิ่มหลักการใหม่ๆ ไว้ จนถูกวิจารณ์ว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์หรือฉบับปัญญาชนศักดินา (ประชาชาติ, 1:17, 14 มีนาคม 2517)

3.3 ขั้นคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2517 โดยแก้ไข 3 มาตรา ตัดออก 1 มาตรา ดังนี้

1. แก้ไขมาตรา 24 วรรค 2 แก้ไขเป็น "การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยมีการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 จะกระทำมิได้"

2. มาตรา 100 อนุ 1 วรรคท้าย ตัดข้อความที่ว่า "ต้องไม่รับตำแหน่งหรือหน้าทีใดจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือดำรงตำแหน่งหน้าที่เช่นว่านั้น ทั้งนี้นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น หรือตำแหน่งที่รัฐมนตรีต้องดำรงโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาชั้นอุดมศึกษาอื่น". แก้ไขเป็น "สมาชิกวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัยหรือ สถานศึกษาชั้นอุดมศึกษาไม่ได้"

3. มาตรา 146 เดิม "ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เว้นแต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่เป็นผลทำให้เพิ่มรายได้ของแผ่นดิน". แก้ไขเป็น "ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิก วุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี"

4. และมาตรา 216 ความว่า "สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกของแต่ละสภา ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติ กล่าวหารัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนว่าได้กระทำการ ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการเกินขอบเขตหน้าที่ อันก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ราชการแผ่นดิน หรือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ หรือประชาชน สมควรให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการตุลาการเพื่อพิจารณา วินิจฉัย". ถูกตัดออกทั้งมาตรา (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.55-56 และประชาชาติ, 1:14, 21 กุมภาพันธ์ 2517) จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในขั้นวาระที่ 1 ต่อไป

3.4 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 1
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เตรียมการเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มจากความพยายาม ของนายบุญชู โรจนเสถียร เพื่อแก้ไขข้อบังคับการประชุมเพื่อให้ประธานสภาฯ จัดเรื่องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องด่วน แทนที่จะกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน และกำหนดให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สมาชิกสภาฯ ไม่น้อยกว่า 30 วัน, แก้ไของค์ประชุมให้มีสมาชิก 2 ใน 3 แทนที่จะเป็น 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.60-61)

ในการพิจารณาวาระที่ 1 เป็นการพิจารณาในขั้นรับหลักการ จึงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยรัฐสภา ซึ่งมีผู้อภิปรายในทำนองที่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีสองสภา แต่ก็มีบางคนที่ ไม่เห็นด้วยกับการมีวุฒิสภา เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ที่มีในคำปรารภ โดยเฉพาะการให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งตามรายชื่อที่องคมนตรีเป็นผู้เสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกวุฒิสมาชิกเป็นการดึงพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความเห็นเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง กล่าวคือเป็นสมาชิกพรรคเสียงข้างมากในสภา หรือเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง. แต่อีกแนวทางหนึ่งเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระแรกด้วยคะแนน เสียง 209 ต่อ 3 เสียง ผู้ที่ไม่เห็นด้วย คือนายประคอง เทวารุธ, นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร และ ม.ร.ว.จักรทอง ทองใหญ่ (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น. 64-76) เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการเสนอญัตติให้เลื่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญไปในวันถัดไป กลุ่มที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการกำหนดตัวกรรมาธิการฯ คือกลุ่มดุสิต 99 และถูกโจมตีอย่างรุนแรง32

3.5 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 2
ในการพิจารณาวาระที่ 2 เป็นการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการและแปรญัตติ อันเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากการพิจารณาในขั้นนี้จะขึ้นอยู่กับความเห็นของ คณะกรรมาธิการวิสามัญ33 ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา โดยถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ หากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็สามารถสงวนคำแปรญัตติเพื่อ อภิปรายและขอมติจากสภาฯ ได้

ในขั้นตอนดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. นายใหญ่ ศวิตชาติ เสนอให้เพิ่มข้อความว่า กรณีที่ไม่มีพระราชโอรส ให้รัฐสภาตั้งพระราชธิดาสืบราชสมบัติได้ (มาตรา 23) ซึ่งกรรมาธิการมีมติคงตามร่างเดิม นายใหญ่จึงขอสงวนความเห็น นอกจากนี้กรรมาธิการยังมีมติให้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 สามารถกระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

2. คณะกรรมาธิการเพิ่มสิทธิหญิงชายให้เท่าเทียมกัน (มาตรา และสิทธิในการออกเสียงลงประชามติ ทั้งยังเพิ่มข้อความเกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ หรือหมู่คณะอื่นๆ ซึ่งการจำกัดเสรีภาพจะทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ (มาตรา 42, 44 - 47)

3. ในหมวดรัฐสภา ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการมีสองสภา แต่มีอีกหลายคนที่ขอสงวนความเห็นให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว สำหรับที่มาของวุฒิสภามีความเห็นหลากหลายออกไป บางคนเห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้ง, บางคนเห็นว่าควรมาจากการแต่งตั้ง หรือใช้วิธีผสมผสาน. ที่ประชุมฯ มีมติให้มาจากการแต่งตั้ง 13 เสียง, มาจากการเลือกตั้ง 5 เสียง, แบบผสม 9 เสียง ดังนั้นในเบื้องต้นจึงสรุปว่าให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งวุฒิสภาโดยมีประธานองคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

สำหรับอำนาจวุฒิสภา ที่ประชุมพิจารณาตามโครงร่างของ น.ต.กำธน สินธวานนท์ ให้วุฒิสมาชิกสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ โดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจยับยั้งเด็ดขาด แต่ไม่มีสิทธิเสนอพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน. วุฒิสภาสามารถยับยั้งแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้วได้ วุฒิสภาสามารถขอเปิดประชุมสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไป สามารถตีความร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรได้ และแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา

ส่วนการเลือกตั้งนั้นที่ประชุมกำหนดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ส่วนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังเห็นชอบตามข้อเสนอที่จะให้มีผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเสนอโดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากหัวหน้าพรรคที่มีสมาชิกพรรคเป็น ส.ส. จำนวนมากที่สุด และมิได้เป็นรัฐมนตรีและไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา

คณะกรรมาธิการยังเพิ่มเติมในส่วนของผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญตามที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียรเสนอ เนื่องจากเป็นประเด็นใหม่จึงมีความเห็นแย้งจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการไปศึกษาค้นคว้า และคณะกรรมาธิการมีมติว่า ควรมีผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภา แต่ไม่มีอำนาจฟ้องร้อง และยังได้กำหนดให้มีผู้ตรวจเงินแผ่นดินขึ้นตรงต่อรัฐสภาอีกส่วนหนึ่งด้วย

4. คณะรัฐมนตรี กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังกำหนดให้รัฐมนตรีต้องแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานรัฐสภาอีกด้วย

5. หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้เป็นการปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น ที่มีอิสระทางภาษีอากรและการเงินแห่งท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอสระในการกำหนดนโยบาย และยังให้การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่นมีสภาผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

6. สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมกรรมาธิการกำหนดว่าควรจะทำให้แก้ไขได้โดยง่าย ใช้คะแนนเสียง 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎรหรือจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ และใช้เสียงข้างมากธรรมดาจากสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา และไม่ควรให้วุฒิสมาชิกมีสิทธิเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังได้ระบุต่อไปว่า ให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.81-103)

กล่าวโดยสรุป ในขั้นตอนของกรรมาธิการวิสามัญมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างเดิมของคณะรัฐมนตรีดังนี้

1.เพิ่มบทบัญญัติให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ก็มีบทเฉพาะกาล กำหนดเวลาแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติกฎหมายใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี

2. ให้มีสองสภา วุฒิสภามีวาระคราวละ 6 ปี และมีอำนาจน้อยลง ทำหน้าที่ยับยั้งกฎหมาย ตั้งกระทู้ถาม และให้ความเห็นในการอภิปรายทั่วไป ไม่สามารถเสนอพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

3. กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
และวุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน

4. ให้สมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานรัฐสภาตามรายการ วิธีการและกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ

5. ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

6. ให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละ 1 คน

7. ให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยและถือสัญชาติอื่นมีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเงื่อนไข

8. ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์

9. ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่ต้องมีมาตรฐานการศึกษา

10. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถเสนอกฎหมายการเงินที่มีผลทำให้เพิ่มรายได้แผ่นดิน โดยไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรอง

11. ให้มีผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อสอบสวนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของรัฐสภา

12. ให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินขึ้นต่อรัฐสภา

13. นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีจะมาจากผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรี

14. ให้มีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านโดยพระมหากษัตริย์ โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

15. ข้าราชการประจำจะเป็นข้าราชการการเมืองไม่ได้

16. ให้มีข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร

17. ให้มีศาลปกครองและศาลสาขาอื่นเป็นศาลฝ่ายยุติธรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้นๆ และให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาล

18. การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่นและนครหลวง มีสภาและฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้ง

19. การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้โดยง่าย ใช้เสียงข้างมากกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา
(อ้างจาก สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.106-109)

หลังจากนั้นได้มีการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในส่วนที่มีผู้สงวนความเห็นซึ่ง ประเด็นสำคัญได้แก่ การให้พระราชธิดาสืบสันตติวงศ์ได้ กรณีที่ไม่มีพระราชโอรส, การยืนยันให้มี 2 สภา34 และให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งซึ่งในประเด็นนี้ต้องมีการนับคะแนนถึงสองครั้ง.35 การให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยให้ประธานองคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ36 แต่ไม่อนุญาตให้วุฒิสมาชิกเสนอร่างพระราชบัญญัติ37 กำหนดให้วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายใน 60 วัน ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน สามารถยับยั้งร่างพระราชบัญญัติได้ 180 วัน แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติต้องพิจารณาให้เสร็จใน 15 วัน หากพ้นกำหนดถือว่าอนุมัติให้ความเห็นชอบ วุฒิสมาชิกมีสิทธิตั้งกระทู้ถาม แต่ไม่มีสิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไป

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้กลับไปใช้วิธีการแบ่งเขต38 โดยตามร่างของคณะรัฐมนตรีคือเขตละ 3 คน ส่วนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงนั้น แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับการให้สิทธิแก่ผู้มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ แต่เมื่อลงมติกลับยืนตามร่างของกรรมาธิการ39 เช่นเดียวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่มีมติให้มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ 40 และต้องสังกัดพรรคการเมือง41

ส่วนที่ 6 หมวดผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภาถูกเสนอให้ตัดออก42 แต่ให้คงส่วนที่ 7 ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภา43 ส่วนที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นวุฒิสมาชิกหรือสมาชิกสภาผู้แทนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ที่ประชุมมีมติให้คงตามร่างของ กรรมาธิการ. สำหรับหมวดอื่นๆ เช่นการปกครองท้องถิ่น, ตุลาการรัฐธรรมนูญ, การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อย

การพิจารณาในวาระที่ 2 นี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อ 116 จะต้องมีการพิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้ง แต่จะแก้ไขเนื้อความสำคัญไม่ได้ นอกจากเนื้อความที่ขัดแย้งกันเท่านั้น ประธานสภานิติบัญญัติฯ ได้กำหนดวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 ให้เป็นวันพิจารณาสรุปในวาระที่ 2 ก่อนจะลงมติในวาระที่ 3 (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.109-132) ในระหว่างนั้น สภานิติบัญญัติได้รับแรงกดดันอย่างหนักจาก ศนท. ให้ทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น แต่สถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจจนนายสัญญา ธรรมศักดิ์ต้องลงมาไกล่เกลี่ยให้ ศนท.เลิกชุมนุม และให้ความหวังว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ก็อาจจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ดี สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาตามขั้นตอน ของข้อบังคับการประชุม ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังจะถูกพิจารณาในวาระที่ 3

3.6 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 3
ศูนย์นิสิตนักศึกษา หรือ ศนท. ยังคงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็น ได้แก่

- การตัดสิทธิของผู้มีอายุ 18 ปี มิให้ลงคะแนนเลือกตั้ง,
- การตัดสิทธิของผู้มีอายุ 23 ปี มิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง,
- การมีสองสภา และ
- การยอมให้ทหารต่างชาติเข้ามาประจำในประเทศไทย โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
แต่พุ่งเป้าหมายมาที่การเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติ ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 5 ตุลาคม 2517 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 3 เป็นการพิจารณาลงมติว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญได้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติได้ลงมติโดยวิธีการขานชื่อสมาชิกเรียกตามตัวอักษร ผลของการลงมติ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 280 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง

สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยได้แก่นายธวัช มกรพงษ์, นายประคอง เทวารุธ, นายไพจิตร เอื้อทวีกุล, นายระวี ภาวิไล, นายสุวิทย์ รวิวงศ์ และนายเสน่ห์ จามริก

- โดยนายประคอง เทวารุธ ให้เหตุผลว่าได้พยายามคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น และขอแปรญัตติหลายมาตรา แต่ไม่ได้ผล เนื้อหาของรัฐธรรมนูญบางส่วนก้าวหน้า บางส่วนล้าหลัง ไม่สัมพันธ์กัน
- นายเสน่ห์ จามริกให้เหตุผลว่า คัดค้านในเรื่องอายุของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง และควรจะมีสภาเดียว
- นายระวี ภาวิไลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิการศึกษาและสิทธิของประชาชนไว้ดีพอ
- นายธวัช มกรพงศ์ให้เหตุผลว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามที่นิสิตนักศึกษา จึงแสดงความไม่เห็นด้วยและเพื่อเป็นพื้นฐานการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.53)

ในวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีบันทึกพระราชกระแสเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 พระราชทานมายังประธานสภานิติบัญญัติ ผ่านราชเลขาธิการ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า ทรงไม่เห็นด้วยกับมาตรา 107 วรรค 2 ที่ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรีตามความในมาตรา 16 จึงเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ทั้งจะทำให้องคมนตรีเหมือนองค์กรทางการเมือง ซึ่งขัดกับมาตรา 17 นอกจากนี้ทรงเห็นปัญหาด้านอื่นอีก แต่ย่อมสุดแล้วแต่วิถีทางรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 ถูกนำทูลเกล้าถวายเพื่อให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ได้รับการประกาศใช้ ทรงมีพระราชปรารภว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติพอเพียงที่จะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วตามความต้องการของประชาชน สภานิติบัญญัติอาจแก้ไขเองในบางมาตรา แต่ถ้าเห็นว่าสภานิติบัญญัติ เป็นผู้ร่างไม่สมควรที่จะเป็นผู้แก้ไข ก็ควรรอให้มีสมาชิกสภาผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน มาทำการแก้ไขต่อไป44 (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น. 155-158)

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นหลักการใหม่ ได้แก่ การประกาศอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ในคำปรารภการถวายสิทธิในการสืบราชสมบัติแก่พระธิดา (มาตรา 23), การให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาย-หญิงเท่าเทียมกัน (มาตรา 43), การวางแนวทางสร้างความเป็นธรรมในสังคม (มาตรา 79) การกระจายรายได้ การปฏิรูปที่ดิน (มาตรา 81) การจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อแก่ชรา (มาตรา 89, การสร้างนักการเมืองระดับท้องถิ่น (มาตรา 103 วรรค 1), การป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมือง (มาตรา 104 และ 181), การส่งเสริมพรรคการเมืองและการสนับสนุนให้มีผู้นำพรรคฝ่ายค้าน (มาตรา 117 และ 126), การส่งเลริมให้รัฐสภาการตรวจสอบการทำงานของรัฐ การใช้จ่ายของข้าราชการโดยให้มีผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภา (มาตรา 168), การเพิ่มมาตรการควบคุมสมาชิก (มาตรา 164), การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 117), การห้ามคณะรัฐมนตรีใช้กฎอัยการศึกตามอำเภอใจ โดยต้องขออนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน , การกำหนดให้มีศาลปกครอง ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากรและสังคม (มาตรา 212), การให้อิสระในการปกครองตัวเองและท้องถิ่น (มาตรา 214) และการสร้างเกราะป้องกันรัฐธรรมนูญ (มาตรา 4) และการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้โดยง่าย (มาตรา 228) (กระมล ทองธรรมชาติ, 2524, น.46-49)

4. การแก้ไขรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517
หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2517 มีผลบังคับใช้ แต่ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ. นายนิสสัย เวชชาชีวะ กล่าวว่าจะเตรียมเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นคือ

1. ควรมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว หากมีสองสภา วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง
2. มาตรา 115 อนุ 2 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ขอแก้จากอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์
3. มาตรา 117 อนุ 2 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขอแก้จากอายุ 25 ปีบริบูรณ์ เป็น 23 ปีบริบูรณ์

ส่วนการส่งทหารออกนอกประเทศและให้ทหารต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ต้องให้ รัฐสภาให้ความเห็นชอบนั้นยังไม่แก้ไข เพราะเห็นว่ามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญครอบคลุมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาที่ถกเถียงกันว่า สภานิติบัญญัติมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะตามมาตรา 228 อนุมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตามบทเฉพาะกาล มาตรา 237 ที่ให้สภานิติบัญญัติทำหน้าที่รัฐสภา

สภานิติบัญญัติได้มีการประชุมลับเกี่ยวกับบันทึกพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 10 ตุลาคม 2517 แต่ไม่มีมติใดๆ ออกมา จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับบุคคลสำคัญในรัฐบาล เช่น นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายประกอบ หุตะสิงห์ ว่าสมควรให้แก้ไข รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน. รัฐบาลได้เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแต่งตั้งคณะกรรมการร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีนายประกอบ หุตะสิงห์ นายกิตติ สีหนนท์ นายสมภพ โหตระกิตย์ และ พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร เป็นกรรมการ

เมื่อรัฐบาลเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของสภาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รวมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมของ นายอมร จันทรสมบูรณ์ เข้าพิจารณาด้วย. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้แถลงต่อสภาฯ ว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่วุฒิสภามีอำนาจจำกัดเพียงการยับยั้งร่างกฎหมายในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น กับควบคุมฝ่ายบริหารได้เพียงการตั้งกระทู้ถาม วุฒิสภาจึงไม่อาจทำหน้าที่นิติบัญญัติได้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง จึงสมควรให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสะดวกรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์45

ในการพิจารณาวาระที่ 1 มีความเห็นเป็นสองฝ่าย

- ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า จะขาดความศักดิ์สิทธิ์ ผิดหลักการประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงข้างมาก อีกทั้งสภานิติบัญญัติยังเป็นผู้ลงมติให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้มีสองสภา ตลอดจน กำลังจะพ้นวาระหน้าที่จึงไม่ควรจะแก้ไข ควรรอให้มีสภาที่มาจากกการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ ประกอบกับในบันทึกพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไม่เห็นด้วยกับวิธีการแต่งตั้งวุฒิสภา แต่ไม่ทรงระบุว่าทรงไม่เห็นด้วยกับการให้มีวุฒิสภา

- ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน และวุฒิสภาก็ไม่มีบทบาท ทั้งยังไม่ควรนำวุฒิสภาไปเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงสมควรยกเลิกวุฒิสภาเสีย

เมื่อมีการลงมติได้มีการขอมติว่าจะใช้คะแนนเสียงเท่าใดในการรับหลักการ ที่ประชุมสภาฯวินิจฉัยให้ยึดตามจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ขณะนั้น คือ 292 คน ผลการลงมติขั้นรับหลักการมีสมาชิกเห็นควรรับหลักการจำนวน 121 เสียง ไม่เห็นด้วยในหลักการ 54 เสียง งดออกเสียง 35 เสียง (ขาดประชุม 82 คน) จึงเท่ากับว่าสภานิติบัญญัติไม่รับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับ ความพยายามแก้ไข รัฐธรรมนูญครั้งแรกจึงล้มเหลว

ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 มีผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ คือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมของนายสิงห์โต จ่างตระกูล กับคณะ 68 คน ขอแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก กับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมของนายสมพร เทพสิทธา กับคณะ 65 คน ขอแก้ไขให้คณะองคมนตรีจัดทำรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 300 คน เป็นบัญชีลับและให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2517 นายสิงห์โต ชี้แจงว่า ไม่ควรให้ประธานองคมนตรีต้องมีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมือง และควรให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพราะนายสัญญา ธรรมศักดิ์มีความสุจริต ยุติธรรม เหมาะสมที่จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก

ส่วนนายสมพรชี้แจงว่า เชื่อว่าองคมนตรีเป็นบุคคลที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อลับของผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก และให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้เลือกวุฒิสมาชิก เท่ากับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม

เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสองฉบับมีหลักการต่างกัน จึงต้องแยกกันลงมติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมแต่ละฉบับ แต่มีสมาชิกเกรงว่าหากแยกลงมติรับหลักการจะมีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงขอปรึกษาให้ท่านใดท่านหนึ่งถอนญัตติเพื่อให้มีโอกาสได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง นายสิงห์โตจึงขอถอนญัตติของตน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยนายสมพร เทพสิทธาด้วยคะแนน 182 ต่อ 8

ในวาระที่ 2 พิจารณาขั้นกรรมาธิการเต็มสภา โดยเลือกตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 คน คือ นายสมภพ โหตระกิตย์, นายอมร จันทรสมบูรณ์, นายสมพร เทพสิทธา, นายใหญ่ ศวิตชาติ, และนายเฉลิมชัย วสีนนท์

ในวันที่ 27 ธันวาคม เป็นการประชุมวาระที่ 2 โดยกรรมาธิการเต็มสภา มีผู้ขอแปรญัตติ 3 คน ได้แก่ นายสุธน ชื่นสมจิตร ขอแปรญัตติให้สมาชิกสภาจังหวัดแต่ละจังหวัดๆ ละ 1 คน เป็นผู้คัดเลือกรายชื่อผู้ทรงคุณวิฒิที่จะเป็นวุฒิสมาชิก, นายเรณู สุวรรณสิทธิ์ ขอแก้ไขให้ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอรายชื่อ แต่ละบัญชี จำนวน 300 คน แล้วให้ผู้มีรายชื่อดังกล่าวทำการคัดเลือกกันเองโดยการลงคะแนนลับ และนายมานะ พิทยาภรณ์ขอแปรญัตติแก้ไขให้มีข้อความว่า

"วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการ หรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีคุณสมบัติตามมาตรา 117 (1) และมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ตามมาตรา 116, 118 วรรค 2 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา"

โดยตัดคำว่า "ทรงเลือกและแต่งตั้ง" ให้เหลือ "ทรงแต่งตั้ง" และจากการที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ที่ประชุมเห็นด้วยกับคำแปรญัตติของนายมานะ พิทยาภรณ์ จำนวน 110 คน เห็นด้วยกับคำแปรญัตติของนายสุธน ชื่นสมจิตร 12 คน และนายเรณู สุวรรณสิทธิ์ 25 คน ดังนั้นจึงสมควรให้แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง วุฒิสมาชิก

ในการพิจารณาในวาระที่ 3 จะต้องรอเวลา 15 วัน คือวันที่ 16 มกราคม 2518 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ประชุมเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 3 ด้วยวิธีเรียกชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 199 ต่อ 28 เสียง มีผู้งดออกเสียง 12 เสียง

จากนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2517 โดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.157-173)

5. พัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517
นับแต่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจนถึงทศวรรษ 2510 กล่าวได้ว่า พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มพูนมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม (สมพร ใช้บางยาง, 2519, น.205) ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ถวายพระราชอำนาจไว้หลายส่วน แต่โดยที่พระองค์เองก็ไม่ปรารถนาเช่นนั้น ทรงมีพระราชปรารภอันนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันสะท้อนความเป็นนักประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.155-157)

ระบอบราชประชาสมาศัย
ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า "ระบอบราชประชาสมาศัย" ซึ่งเกิดขึ้นมานานโดยสภาพการณ์ซึ่งสั่งสมทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ วิกฤตการณ์ที่มีต่อตัวผู้นำ ในยุคเผด็จการและความรุนแรงของสถานการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พลังทางสังคมขณะนั้นฝากความหวังไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยธรรมชาติ และเป็นจังหวะที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจ และทรงให้มี "รัฐบาลพระราชทาน" และได้พระราชทานให้มีสมัชชาแห่งชาติ, ซึ่งเป็นที่มาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่ 2)

เสน่ห์ จามริก ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ถวายพระราชอำนาจแบบราชประชาสมาศัย ในขณะที่ทรงพระราชทานคำบอกกล่าวและให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเป็นการภายในอยู่แล้ว จะเป็นการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาสู่การรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ เพราะทรงดำรงราชประชาสมาศัยตามสภาพการณ์ที่เป็นจริงอยู่แล้ว (เสน่ห์ จามริก, 2541, น.23-25)

สถานะและพระราชอำนาจตามแนวคิดราชประชาสมาศัยเริ่มถูกกล่าวถึงเมื่อราว พ.ศ. 2515 เพื่อต้องการผ่าวงกลมทางการเมืองหรือวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย ซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญ ใช้รัฐธรรมนูญ เกิดความขัดแย้งระหว่างระบบราชการกับคนนอกระบบราชการจนนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นภาพสะท้อนซึ่งความกลัวของสังคมราชการที่รู้สึกตัวว่ากำลังถูกคุกคามจากภายนอกระบบราชการ (เสน่ห์ จามริก, 2530, น.69-147)

แนวคิดราชประชาสมาศัยได้รับการสนองตอบหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นจังหวะที่มีการปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจ และมีคำอธิบายชัดเจนมากขึ้นว่า - ราชประชาสมาศัย คือ "ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์และประชาชนร่วมกันปกครองประเทศ โดยมีรากฐานแห่งความชอบธรรมจากปวงชน ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน"

ระบบใหม่นี้จะใช้เฉพาะวุฒิสภา โดยคณะองคมนตรีที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นผู้เลือกสรร (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2517ก, น. 377-384) ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติ แสดงให้เห็นแนวโน้มที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการให้องคมนตรีเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 105) การถวายพระราชอำนาจ ในอันที่จะพระราชทานให้ประชาชนได้แสดงประชามติ (มาตรา 94) และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 220) (เสน่ห์ จามริก, 2530, น.180-182)

อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนดังจะเห็นได้จากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยึดหลักการที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ (อันรวมไปถึงองคมนตรี) ควรจะอยู่เหนือการเมือง

ปรีดี พนมยงค์ กับการวิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญ 2517
นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้วิจารณ์ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญว่า ในการตราพระราชกฤษฎีกาและพระบรมราชโองการต่างๆ จะต้องเขียนให้ชัดว่าได้กระทำการโดยบุคคลใด คณะใด เพื่อป้องกันการแอบอ้างหรือเข้าใจผิด ดังกรณีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกจะต้องระบุว่า องคมนตรีหรือประธานองคมนตรีเป็นผู้เสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง

นายปรีดียังกล่าว ต่อไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 มีลักษณะเป็นกึ่งประชาธิปไตย เพราะมีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก เหมือนกับการให้มี ส.ส.ประเภทที่ 2 แต่แย่กว่า และถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เจริญรอยตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ก็เป็นไปได้ว่า อาจมีการรื้อฟิ้นการให้ฐานันดรศักดิ์ (มาตรา 12 แห่ง รัฐธรรมนูญ 2492) และการยกเอาวุฒิสมาชิกจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกึ่งหนึ่ง มาเป็นวุฒิสมาชิกตามแบบรัฐธรรมนูญ 2492 หรือไม่ (ปรีดี พนมยงค์, 2516, น.1-81)

อำนาจถ่วงดุลทางฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีหัวใจอยู่ที่การสร้างเสถียรภาพของระบอบรัฐสภา อันพุ่งตรงไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ก็เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่าง ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในลักษณะที่สมดุลกัน กล่าวคือให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอย่างน้อยกึ่งหนึ่งต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา ทั้งยังต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ และกำหนดคุณสมบัติของส.ส.และรัฐมนตรีเป็นพิเศษตามแบบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2492

นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐบาลแถลงนโยบายและได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าบริหารประเทศ และให้สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจ ขณะที่รัฐบาลสามารถยุบสภาได้ จึงเป็นการสร้างอำนาจถ่วงดุลทางฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร. สำหรับวุฒิสภามีอำนาจที่จำกัดเพียงการตั้งกระทู้ถาม แต่ไม่มีสิทธิที่จะเสนอร่างกฎหมาย หรือลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2521, น.11-12)

อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักนิติศาสตร์กลับเห็นว่า สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 เป็นความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพให้ฝ่ายบริหาร โดยกำหนดกรอบให้มีพรรคการเมืองใหญ่ แต่มีน้อยพรรค กล่าวคือกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค โดยที่พรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังกำหนดให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ผูกพันกับพรรคการเมือง และการเสนอกฎหมายต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมือง เป็นการสร้างสถานะของพรรคเหนือกว่า ส.ส.

นักนิติศาสตร์ท่านนั้นยังกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะมุ่งสร้างเสถียรภาพให้ฝ่ายบริหารเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าวิธีการและแนวคิดบางส่วนจะไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยก็ตาม แต่ผู้ร่างฯ ก็ยอมรับให้มีหลักการดังกล่าวใน รัฐธรรมนูญ (ดู สมยศ เชื้อไทย ใน รัฐศาสตร์สาร 17:1, น.105-115)

จากสภาพการเมืองแบบเปิดหลัง 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง สูงจนกล่าวได้ว่ามีการประท้วงรายวัน ความวุ่นวาย สับสน อันเกิดจากการปะทะกันของกลุ่มพลังทางสังคมเป็นช่องทางให้คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอ้างว่า รัฐบาลไม่สามารถรักษาสถานการณ์บ้านเมืองด้วยวิถีทางรัฐธรรมนูญได้ (กระมล ทองธรรมชาติ, 2524, น.52) จึงต้องก่อการรัฐประหาร ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 สิ้นสุดลงเนื่องจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 รวมระยะเวลาประกาศใช้สองปี

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.)

หจช. ก/ป.1/2517/1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติและการพิจารณาร่างกฎหมายบางฉบับ (2 มกราคม - 22 ธันวาคม 2517)
หจช. ก/ป.1/2517/2 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (วาระ 1-3), (1 มกราคม - 22 ตุลาคม 2517.)
หจช. ก/ป.1/2517/10 สารคดีเบื้องหลังรัฐสภา

หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ (หจมธ.)

เอกสารส่วนบุคคล ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
สบ.1.6 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
(2) สบ. 1.9 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เอกสารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(2) 2.15/17-23 กองกลาง เบ็ดเตล็ด

บทความในหนังสือพิมพ์
เดลินิวส์, 12 เมษายน 2517, 7 มิถุนายน 2517
ไทยรัฐ, 18 เมษายน 2517, 23 กันยายน 2517
ชาวไทย, 4 เมษายน 2517, 9 เมษายน 2517 , 30 เมษายน 2517, 5 มิถุนายน 2517
ประชาชาติ, 26 กันยายน 2517
ประชาชาติ, 1:12, 7 ก.พ. 2517
1:13, 14 ก.พ.2517
1:14, 21 กุมภาพันธ์ 2517
1:15, 28 กุมภาพันธ์ 2517
1:17, 14 มีนาคม 2517
1:22, 18 เมษายน 2517
1:23, 25 เมษายน 2517
1:24, 2 พฤษภาคม 2517
1:26, 16 พฤษภาคม 2517
1:28, 30 พฤษภาคม 2517
1:34, 11 กรกฎาคม 2517
1:36, 25 กรกฎาคม 2517
1:37, 1 สิงหาคม 2517
1:46, 3 ตุลาคม 2517
1:47, 10 ตุลาคม 2517
1:48, 17 ตุลาคม 2517

รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 17:1

รัฐสภาสาร,

21:5, 4 เมษายน 2516
21:10, กันยายน 2516
22:1, ธันวาคม 2516
22:2, 2 มกราคม 2517

หนังสือ
กระมล ทองธรรมชาติ. วิวัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ:สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2524.

กองทุนเกษม จาติกวณิช การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. เกษม จาติกวณิช (ซุปเปอร์เค). กรุงเทพ:อมรินทร์, 2530.

โกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์ "เรื่องรัฐธรรมนูญ" วิทยาสาร (8 พ.ย.2516)

คำนูณ สิทธิสมาน. 14 ตุลาฉบับสามัญชน:ความทรงจำจาก 'ผู้รู้จริง'. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์สามัญชน, 2541.

จำรัส รจนาวรรณ และวีระ มุสิกพงศ์. ยุครัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ประชารัฐ, 2516.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (ก). "ราชประชาสมาสัย" ใน ความคิดอิสระ. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์พิฆเณศ, 2517.
(ข). โต้ท่านปรีดี:บทวิจารณ์ข้อสังเกตเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2517. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์พิฆเณศ, 2517.
. รัฐธรรมนูญ เอกสารจากการสัมมนา. กรุงเทพ:กลุ่มวิเคราะห์กิจการและนโยบายสาธารณะสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2521.
. การเมือง. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2523.
. ปัญหาการพัฒนาทางการเมืองไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ:สำนักพิมพ์จุฬาลง-กรณมหาวิทยาลัย, 2536.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ). จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541.

เชาวนะ ไตรมาศ. ขอดเกล็ดรัฐธรรมนูญ.กรุงเทพ:สถาบันนโยบายศึกษา, 2541.

ถนอม กิตติขจร, จอมพล. "ระลึกถึง พลเอกสำราญ แพทยกุล". ใน ประวัติและผลงานพลเอกสำราญ
แพทยกุล. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ 20 ตุลาคม 2529.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (แต่ง), พรรณี ฉัตรพลรักษ์และ ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข (แปล). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

นเรศ นโรปกรณ์. "วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับตัวอย่าง) " ใน จรัส รจนาวรรณ และวีระมุสิกพงศ์ (ผู้จัดทำ). ยุครัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ประชารัฐ, 2516.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. "รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีกับเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย" ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 17:1, น.90-104 .

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ก). "ระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ไทย", ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่า ด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ มติชน, 2538.

(ข). "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่า ด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

(ค). "ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตยไทย" ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. การเมืองวัฒนธรรมเรื่องการสร้างความหมายของประชาธิปไตย. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.

เบ็น แอนเดอร์สัน. "บ้านเมืองของเราลงแดง:แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม", ใน ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ (2541, น.97-162)

ป๋วย อึ๊งภากรณ์. สันติประชาธรรม. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2528.
. "ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519" ใน ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์, (บรรณาธิการ), 2541.

ปรีดี พนมยงค์. "รวมปาฐกถา บทความและข้อสังเกตของนายปรีดี พนมยงค์" ใน วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม.
กรุงเทพ:เจริญวิทย์การพิมพ์, 2516.
. ปรีดี พนมยงค์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2517. กรุงเทพ:คณะบรรณาธิการมหาราษฎร์, ม.ป.ป.
. "ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ" ใน ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526.

พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย. "ประวัติรัฐธรรมนูญไทย จาก 2475-2514" ใน ศนท. . รัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ:ม.ป.ท., 2516.

โพธิ์ แซมลำเจียก. ชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองนายกฯ สัญญา, ประธานสภาฯ คึกฤทธิ์. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์อำนวยสาส์น, 2517.

มานิตย์ นวลละออ. การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย. กรุงเทพ:รุ่งเรืองรัตน์พรินท์ติ้ง, 2541.

มีชัย ฤชุพันธุ์. "งานการเมืองของ ศาสตราจารย์ ดร. สมภพ โหตระกิตย์", ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ดร. สมภพ โหตระกิตย์, 20 กันยายน พ.ศ. 2540.

วัลยา (ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย). คือชีวิตและความหวัง เกษม จาติกวณิช. กรุงเทพ: อมรินทร์พรินติ้งกรุ๊พ, 2535.

ศรพรหม วาศสุรางค์. "ใครก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา" ใน กุลภา วจนสาระ (บรรณาธิการ). อย่าเป็นเพียงตำนาน. กรุงเทพ:สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2535.

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) . รัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ: ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2516.
. ขบวนการตุลาคม 2516. กรุงเทพ: ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2517.

สมชาติ รอบกิจ. การร่างรัฐธรรมนูญ 2517. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2523.

สมพร ใช้บางยาง. สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 พ.ศ. 2516. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2519.

สมยศ เชื้อไทย. "ความพยายามในการสร้างเสถียรภาพให้ฝ่ายบริหาร:ศึกษาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ" ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 17:1, น.105-115.

เสน่ห์ จามริก. การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพ:สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2529.
(ก). "บทสนทนาว่าด้วยการเมืองไทย" ใน เสน่ห์ จามริก:รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย. กรุงเทพ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530.
(ข). "การเมืองไทยกับการปฏิวัติตุลาคม" ใน เสน่ห์ จามริก:รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย. กรุงเทพ:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530. (และ ใน ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์, 2541, น.1-48)

อมร จันทรสมบูรณ์. คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism): ทางออกของประเทศไทย. กรุงเทพ:สถาบันนโยบายศึกษา, มปป.

Anek Laothammatas. Business Associations and the New Political Economy of Thailand: From Bureaucratic Polity to Liberal Corporatism. Singapore:Westview Press, 1992.

Riggs, Fred. Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. Honolulu: East-West Cemter Press, 1966.

กลับไปทบทวนบทความลำดับที่ ๑๒๘๔

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com