บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
เรื่องสั้นร่วมสมัย ในประเด็นความขัดแย้งและความรุนแรง
ความขัดแย้งและความรุนแรงร่วมสมัยในงาน
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ผศ.
ธัญญา สังขพันธานนท์
: เขียน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทความเชิงงานวิจัยชิ้นนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน จากเดิมชื่อ
ความขัดแย้งและความรุนแรงในเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย:
ศึกษาจากเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
เขียนโดย ผศ.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือนามปากกาที่รู้จักกันดีว่า
ไพฑูรย์ ธัญญา ปัจจุบันสอนหนังสืออยู่ที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สำหรับบทความชิ้นนี้ประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้:
- เรื่องสั้น : บันทึกความทรงจำทางสังคมและการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์
- ความขัดแย้งและความรุนแรงในเรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้
- ปัจเจกบุคคล : เหยื่อของความขัดแย้งและความรุนแรง
- มุสลิมภาคใต้ : อคติ ความเป็นอื่นและความรุนแรง
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เรื่องสั้นร่วมสมัย
ในประเด็นความขัดแย้งและความรุนแรง
ความขัดแย้งและความรุนแรงร่วมสมัยในงาน
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ผศ.
ธัญญา สังขพันธานนท์
: เขียน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทนำ
ฟาริดาหัวเราะอีก แล้วบอกว่านั่นเป็นความคิดที่ดีที่สุดเท่าที่เห็นในตัวผม เธอบอกว่าเธอเหนื่อยที่จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ แห่งบูเกร๊ะกรือซอเดินไปในหนทางที่ถูกต้อง เธอจะสอนให้พวกเขารักสันติได้อย่างไร ในเมื่อเพียงหันหน้าออกนอกห้องเรียน พวกเขาก็เห็นผู้ใหญ่ถือปืนอยู่เต็มสนาม เธอเคยจนต่อคำถามของพวกเด็กๆ เมื่อพยายามปลูกฝังให้พวกเขารักผืนแผ่นดินไทย ด้วยการพยายามอธิบายความหมายเนื้อเพลงชาติให้ฟัง เธอจะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจได้อย่างไรว่า "ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี" ขณะเด็กๆ ถามว่า "ทหารไทยมาทำไม?--จะให้เธอตอบว่ามาเพื่อต่อสู้กับอับดุลกาเดร์กระนั้นหรือ? นั่นเป็นป๊ะของเด็กบางคนที่นี่ เป็นสูเป็นหวาของเด็กแห่งบูเก๊ะกรือซอ จะให้เธออธิบายให้พวกเขาเข้าใจและยอมรับได้อย่างไรว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่ทหารไทยต้องฆ่า อับดุลกาเดร์?
แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ : กนกพงศ์ สงสมพันธ์ หน้า 133
นี่เป็นตอนหนึ่งในเรื่องสั้น "แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ" จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (1) เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้นำปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอภิปราย และนำเสนอโดยวิธีการของการเขียนเรื่องสั้น บทบรรยายในเรื่องสั้นตอนนี้ เป็นการสนทนาระหว่างทหารคนหนึ่งในชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ที่ทางการส่งเข้าไปปฏิบัติการในหมู่บ้าน"บูเก๊ะ- กรือซอ" กับครูสาวชื่อ "ฟาริดา" ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ในความรู้สึกของครูสาวผู้นี้ ดูเหมือนคำว่า "สันติ" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในดินแดนของ "อับดุลกาเดร์" และเธอไม่สามารถอธิบายให้ลูกศิษย์ตัวน้อยๆ ที่เป็นลูกหลานของอับดุลกาเดร์เข้าใจได้เลยว่า ทำไมทหารไทยต้องมาที่หมู่บ้านของพวกเขา
กนกพงศ์เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ.2534 ในขณะที่ความขัดแย้งและความรุนแรงของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่หนักหน่วง และขยายผลอย่างที่เห็นอยู่ในวันนี้ หากพิจารณาเนื้อหาสาระ เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ไม่ต่างไปจาก "เรื่องเล่า" ในรูปแบบอื่นๆ เช่น รายงานข่าว หรือบทวิเคราะห์สถานการณ์ประจำวันที่เราหาอ่านได้ในหนังสือพิมพ์และวารสารรายสัปดาห์ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ เรื่องสั้นไม่ได้เพียงหยิบยกข้อเท็จจริงทางสังคมมาตีแผ่เพียงอย่างเดียว หากได้นำเสนอให้เห็น "คน" ในมิติที่ลึกซึ้ง และแนวความคิดหรือ"มุมมอง"ของผู้เขียนที่มี่ต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ดังกล่าว ความอับจนทางปัญญาของครูสาวอย่างฟาริดาในการที่จะตอบคำถามแก่ลูกศิษย์ ต่อกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ดูเหมือนจะเป็นความอับจนทางความคิดของคนในสังคมที่จะหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในภาคใต้อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราคงไม่เห็นการลุกลามบานปลายของปัญหาที่เป็นไปอย่างรุนแรงจนยากแก่การควบคุมดังที่เห็นในวันนี้
บทความนี้เป็นการศึกษาและสำรวจอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงที่ปรากฏในเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย ผู้เขียนตั้งใจหยิบยกเอาเฉพาะผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา โดยมีสมมุติฐานว่า ภาคใต้เป็นสังคมที่มีลักษณะเฉพาะบางประการซึ่งแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่น ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในเรื่องของความเชื่อ อุดมการณ์และความขัดแย้งทางการเมือง ขณะเดียวกันคนใต้ก็มีอัตลักษณ์เฉพาะตนที่ต้องทำความเข้าใจกันมากเป็นพิเศษ
นักเขียนชาวใต้ในฐานะสมาชิกหนึ่งของสังคมเป็นผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางสังคม และในฐานะที่พวกเขาเป็น "คนใน" หรือ "นักเขียนพันธุ์พื้นเมือง" ย่อมมองและตีความสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาที่อาจแตกต่างไปจาก "เรื่องเล่า"ประเภทอื่นๆ ซึ่งเขียนขึ้นโดยสายตาของ "คนนอก" ดังความเห็นของ Taine ที่ว่า วรรณกรรมชิ้นหนึ่งๆ อาจอธิบายได้ด้วยปัจจัย ๓ ประการคือ เชื้อชาติของผู้ประพันธ์, สภาพแวดล้อม, และสมัยทางประวัติศาสตร์ของเขา (ทองสุก เกตโรจน์. หน้า 330) โดยกรอบแนวคิดนี้ จึงอาจนำมาวิเคราะห์และตีความวรรณกรรมของนักเขียนภาคใต้ได้เช่นกัน
เรื่องสั้น : บันทึกความทรงจำทางสังคมและการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์
เรื่องสั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในวงวรรณกรรมไทย และพัฒนาการมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยปี
ในฐานะที่เป็นวรรณกรรมประเภท "เรื่องเล่า" (narrative) แน่นอนที่สุดว่าหน้าที่ประการหนึ่งของเรื่องสั้น
คือ "การเล่าเรื่อง" แต่การเล่าเรื่องในเรื่องสั้นนั้น ย่อมแตกต่างจากการเล่าเรื่องในรายงานข่าวประจำวัน
หรือบทความและสารคดี หรือแม้แต่นักปรัชญาและนักวิชาการ เพราะเรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมแห่งจินตนาการ
มีฐานะเป็น "เรื่องแต่ง" หรือเรื่อง "สมมุติ" (fiction)
ที่เป็นการนำเสนอความจริงชุดหนึ่งโดยผ่านประสบการณ์ มุมมองและจินตนาการของผู้แต่ง
หากเปรียบเทียบบทบาทและการทำงานของกลุ่มคนทั้งสามกลุ่ม ก็จะเป็นดังที่ Hamilton และ Matthews กล่าวว่า นักสังคมศาสตร์มีหน้าที่ค้นหา 'ความจริง' (truth) ที่ซ่อนอยู่ในข้อเท็จจริง (fact) หรือ 'ปรากฏการณ์ทางสังคม' โดยอาศัยกระบวนการรวบรวม หาความรู้ในรูปแบบต่าง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ ฯลฯ ส่วนนักปรัชญามีหน้าที่ ทำความเข้าใจและตีความ ความจริง ที่ถูกค้นพบนั้นให้เป็นความจริงเชิงนามธรรม ส่วนนักเขียนที่เขียนงานประเภทบันเทิงคดีนั้น กระทำในสิ่งที่ย้อนรอยหรือสวนทางกัน คือ เมื่อยอมรับความจริงที่ค้นพบโดยนักสังคมศาสตร์ ซึ่งถูกทำให้เป็นความจริงเชิงนามธรรมโดยนักปรัชญาแล้ว เขาก็จะนำสิ่งต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งอาจเรียกรวมได้ว่า "ความจริงทางสังคม" (public truth) ไปผสมผสานกับ "ความจริงส่วนตัว" (private truth) อันอาจเป็นเรื่องราวและประสบการณ์ของตนเองและคนใกล้ชิด รวมถึงความคิดและจินตนาการ ก่อนจะถ่ายทอดออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ห่อหุ้มไว้ด้วย "ข้อเท็จจริงเชิงประดิษฐ์" (invented fact) ดังที่ปรากฏในเรื่องสั้นหรือนวนิยาย (Hamiton and Matthews.1920)
แม้ว่าความจริงที่ปรากฏในนวนิยายและเรื่องสั้นจะเป็นความจริงเชิงประดิษฐ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ตาม แต่หากเรายอมรับในความเห็นของ Hough ที่ว่า วรรณคดีเป็นเรื่องสมมุติที่มีความหมาย แม้จะเป็นการสร้างสรรค์อย่างมีจินตนาการ แต่ก็มีความสัมพันธ์อย่างมีความหมายกับโลก (Hough แปลโดย อุษา กาญจนฑัต. 2532 ) เราก็ควรจะยอมรับว่าทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายหาใช่งานเขียนที่เหลวไหลหรือเป็นเรื่องเพ้อฝันไปทั้งหมด แต่อาจมองเรื่องสั้นในฐานะที่เป็นหลักฐานบันทึกความทรงจำของสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักเขียนเป็นผู้ทำหน้าที่จดบันทึกแทนสมาชิกสังคมคนอื่นๆ ในรูปแบบและวิธีการของนักเขียน เช่น การใช้ภาษาพรรณนาอย่างประณีต การนำเสนอผ่านรูปสัญญะบางประการ เพื่อที่จะโน้มน้าวผู้อ่านให้เห็นด้วยตามความเห็นที่นักเขียนนำเสนอ
การบันทึกทางสังคมของนักเขียนอาจจะแตกต่างจากการบันทึกหลักฐานและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการบันทึกที่มาจากการผสมผสานระหว่างจินตนาการของนักเขียนและความจริงทางสังคม เพราะไม่ว่าเหตุการณ์ในเรื่อง ตัวละคร หรือสถานที่ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประสมประสานองค์ประกอบทั้งสองส่วนอย่างกลมกลืนและแนบเนียน จนกลายเป็น"ความสมจริง"ที่ทำให้ผู้อ่านได้มองเห็นและคล้อยตามหรือยอมรับได้
ด้วยเหตุนี้เองที่นักวรรณกรรมแนวสังคมวิทยาและมาร์กซิสต์
ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาบริบททางสังคมกับตัวบทของวรรณกรรมได้ยืนยันอย่างหนักแน่น
ดังเช่น การยืนยันของ อัศนี พลจันทร์ ที่ว่า "วรรณคดีเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกและไม่มีวันแยกได้ตามความเป็นจริงจากภาวะทางด้านการเมือง
เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของแต่ละยุคที่วรรณคดีนั้นๆ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมา (อัศนี
พลจันทร์ 2522 : 106) ซึ่งเป็นการยอมรับว่า วรรณกรรมได้สร้างความจริงขึ้นมาชุดหนึ่ง
และความจริงดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับได้ในระดับเดียวกับการบันทึกทางประวัติศาสตร์
จนเป็นที่มาของวาทกรรมหลักที่ว่า "ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี"
และ หรือ "วรรณกรรมคือกระจกเงาสะท้อนภาพทางสังคม"
เมื่อพิจารณาเรื่องราวที่ได้รับการบันทึกไว้ในวรรณกรรมในรูปแบบของงานเขียนบันเทิงคดี
จะเห็นได้ว่ามีหลายลักษณะ บางครั้งนักเขียนอาจบันทึกเรื่องราวที่ผ่านพ้นไปแล้ว
เรื่องที่กำลังเกิดขึ้น หรือการคาดทำนายเหตุการณ์ในอนาคต ในเรื่องสั้น "ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง"
ของ อัศศิริ ธรรมโชติ นำเอาเหตุการณ์ความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องในเหตุการณ์
6 ตุลาคม 2519 มานำเสนอ โดยชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เกิดอะไรขึ้น
และส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในสังคมไทยอย่างไรบ้าง การนำเสนอของอัศศิริในเรื่องสั้นเรื่องนี้
จึงเป็นการผลิตซ้ำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในช่วง
พ.ศ.2519 นั่นเอง
อย่างไรก็ตามการผลิตซ้ำในวรรณกรรมนั้น อาจต่างกับการผลิตซ้ำของงานทางวิชาการหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ เพราะนักเขียนสามารถเขียนถึงสิ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์ "ไม่ได้พูด หรือพูดไม่ได้" หรือในบางครั้งนักเขียนอาจคาดการณ์และพยากรณ์เหตุการณ์ไว้ล่วงหน้าก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอ
ความขัดแย้งและความรุนแรงในเรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้
เนื่องจากการศึกษาในครั้งนี้ มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและเนื้อที่ในการนำเสนอในรูปบทความ
การนำเรื่องราวของนักเขียนภาคใต้มาศึกษาอย่างทั่วถึงจึงกลายเป็นปัญหาประการหนึ่ง
ผู้เขียนแก้ปัญหานี้ด้วยการเลือกรวมเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้เพียงคนเดียวมาเป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษา
คือรวมเรื่องสั้น ชุด "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน
(รางวัลซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2539 และเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับว่า "บันทึกความขัดแย้งของสังคมในอดีต
ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมถึงปัญหาของสังคมร่วมสมัย คือการเผชิญหน้ากันระหว่างพัฒนาการของเมืองกับคุณค่าด้านมนุษยธรรม"
(2)
และหรือ "โดยนัยแห่งสาระของแผ่นดินอื่น เรื่องสั้นทั้งหมดดูมีเจตจำนงที่จะประกาศว่า โลกและชีวิตของเราที่เคยมีอยู่และเป็นอยู่ กำลังเดินทางเข้าสู่วิกฤตแห่งความเปลี่ยนแปลงขั้นหายนะ กำลังเดินทางบนถนนแห่งความดีงามที่เป็นของปิศาจชั่วร้าย นับแต่การรับรู้และการดำรงชีวิตอยู่ของชีวิตกับโลกแห่งธรรมชาติถูกทุบทำลาย ด้วยความหลงผิดที่มนุษย์ยุคใหม่หลงไหลได้ปลื้มกับอำนาจแห่งผีร้าย ที่มาจากระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี อำนาจของเงินตราที่ก่อให้เกิดพลังผิดบาปขึ้นในจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างฝังแน่นจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งอำนาจแห่งการล้างผลาญอย่างฝังแน่นของเหล่าผู้กระหายสงคราม..." (สกุล บุณยฑัต 2547 : 534)
เรื่องสั้นในหนังสือชุด "แผ่นดินอื่น" มีทั้งหมด 8 เรื่องด้วยกัน คือ บนถนนโคลีเซี่ยม, บ้านเกิด, แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ, บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น, ผีอยู่ในบ้าน, แม่มดในหุบเขา, แพะในกุโบร์ และน้ำตก เรื่องสั้นทั้งหมดที่มีขนาดค่อนข้างยาวนี้ อัดแน่นด้วยปมปัญหาและความขัดแย้งระหว่างตัวละคร ในฐานะปัจเจกบุคคลกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รายรอบตัวเขาอยู่ เป็นการปะทะและกระทบกระทั่งทั้งในระดับของความนึกคิด และปฏิบัติการทางสังคมที่นำไปสู่ความรุนแรงและโศกนาฏกรรม โทนเรื่องทั้งหมดจึงออกจะเคร่งเครียด ชวนอึดอัดและหม่นหมอง แต่ก็มีพลังทางความคิดที่น่าสนใจยิ่ง และทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านฉากเหตุการณ์ และพื้นที่ที่มีกลิ่นอายของสังคมในชนบทภาคใต้
ความขัดแย้งในเรื่องสั้น ในความหมายที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ไม่ได้หมายถึง "ความขัดแย้ง" (conflict) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงเรื่อง (plot) ซึ่งเป็นแง่มุมทางเทคนิคและกลวิธีในการเขียนบันเทิงคดี แต่เป็นการพูดถึงความขัดแย้งในฐานะเป็นปัญหาหนึ่งของสังคมในความหมายและมุมมองทางสังคมวิทยา
ยอร์ช ซิมเมล (Georg Simmel) กล่าวถึงความขัดแย้งในสังคมว่า ความขัดแย้งคือการต่อสู้และถกเถียง เป็นรูปแบบการกระทำที่มีความสัมพันธ์ในวิธีการเหมือนกัน แต่ในเป้าหมายที่แตกต่างกันและมีตำแหน่งในกลุ่มสังคม โดยสามารถครอบงำและไม่เป็นอิสระ แข่งขันและพ่ายแพ้ การแบ่งงานกันทำเป็นกลุ่มการเมืองและเป็นตัวแทนขององค์กรจากภายในและภายนอก นอกจากนี้แล้ว ซิมเมล ยังเห็นว่า ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานระหว่างรูปแบบของปัจเจก และรูปแบบของการขัดเกลาระหว่างปัจเจกบุคคลและวัฒนธรรม
ในความคิดของ ซิมเมล เห็นว่า แหล่งที่มาของความขัดแย้งในสังคมคือความขัดแย้ง ระหว่าง"ชีวิตสังคม"กับ"ชีวิตส่วนตัว"ที่เกิดขึ้นอันเนื่องจาก
1. สังคมนั้นมีผู้ส่งผ่านและองค์กรในตัวมันเอง ซึ่งเป็นคนนอกที่เรียกร้องให้คนในสังคมปฏิบัติตามอย่างเร่งรีบ รูปแบบการขัดเกลาเช่นนี้ได้สร้างให้เกิดการคุกคามความเป็นส่วนตัว เป็นที่มาของความขัดแย้งและกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม
2. เมื่อมนุษย์ในสังคมได้พิจารณาว่า ตนเองเป็นสังคมหนึ่ง ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กับผลประโยชน์ที่อาจก่อให้เกิดศัตรูและมิตร จึงพยายามที่จะกำหนดและพัฒนาตนเองโดยขึ้นกับข้อเรียกร้องของสังคม และทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งในที่สุดก็ต้องใช้พลังเพื่อให้บรรลุหน้าที่. ความขัดแย้งระหว่างสังคมและส่วนตัว ได้พัฒนามาจากความเป็นปัจเจกในรูปของการต่อสู้เพื่อให้ตนเองอยู่รอด
ความขัดแย้งจึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและผลผลิตของบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน เป็นรูปแบบของการต่อสู้เพื่อปกป้องและพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของปัจเจกบุคคลกับฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม ในสายตาของซิมเมล ความขัดแย้งเป็นพลังในเชิงบวก มันสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกได้ แม้จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บหรือถูกทำลาย แต่ความขัดแย้งก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยแก้ปัญหาความตึงเครียดระหว่างฝ่ายตรงข้าม และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เขาเห็นว่า ความเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกันในสังคมไม่เป็นไปอย่างที่เราเห็น และไม่ใช่กระบวนการที่แท้จริงของชีวิต เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า ยิ่งมีลักษณะเหมือนกลุ่มอื่นมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้บ่อยและรุนแรง ซึ่งจะขัดกับภาพที่ดูว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Wolff. 950: 13-17)
ในการศึกษาวรรณกรรม ความขัดแย้งอาจดำรงอยู่ในสองสถานะ
สถานะแรก เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมและถูกจ้องมองโดยสายตาของนักเขียน ในกรณีนี้นักเขียนจึงทำหน้าที่บันทึกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผ่านความคิดและจินตนาการของตนถ่ายทอดออกมาในงาน
สถานะที่สอง คือความขัดแย้งที่มาจากตัวนักเขียนเอง เมื่อนักเขียนมีความรู้สึกขัดแย้งกับสังคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความขัดแย้งนั้น ก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขานำเสนอและถ่ายทอดออกมาในงานเขียนเช่นกัน (3)
ความขัดแย้งที่ปรากฏในเรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้สะท้อนให้เห็นความจริงตามคำกล่าวข้างต้นทั้งสองประการ ในประการแรกเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริง นักเขียนเป็นเพียงนำมานำเสนอเป็นภาพตัวแทนโดยรูปแบบและวิธีของเรื่องสั้น ส่วนประการหลังเป็นการนำเสนอแนวคิดของนักเขียนโดยตรงต่อกรณีความขัดแย้งหรือความรุนแรงนั้นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นักเขียนได้ใช้เรื่องสั้นเป็นพื้นที่ในการแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ของตนก็ว่าได้
ในประเด็นเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงในเรื่องสั้นร่วมสมัยของนักเขียนภาคใต้ ซึ่งศึกษาผ่านรวมเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น"ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มีคำถามหลักที่สำคัญอยู่สองประการคือ
(1) นักเขียนมองปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างไร
(2) ความขัดแย้งและความรุนแรงที่นำเสนอนั้นสื่อแสดงความหมายอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ผู้เขียนจะไม่ให้ความสำคัญมากนักต่อประเด็นเกี่ยวกับเทคนิคกลวิธีหรือวิธีการทางวรรณศิลป์ของผู้แต่ง เพราะงานเขียนชิ้นนี้ไม่ได้เป็นบทวิจารณ์วรรณกรรมโดยเฉพาะ กล่าวโดยสรุปคือ ผู้เขียนต้องการศึกษาเฉพาะ "แนวคิดความขัดแย้ง" ในเรื่องสั้นร่วมสมัยของนักเขียนภาคใต้นั่นเอง
ปัจเจกบุคคล : เหยื่อของความขัดแย้งและความรุนแรง
ประเด็นที่ดูเหมือนจะพบได้ค่อนข้างมากในงานเขียนของนักเขียนภาคใต้ คือการมองว่า
เมื่อโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป แบบแผนในการดำเนินชีวิตของผู้คนในฐานะปัจเจกบุคคลก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสาเหตุนำมาสู่ความแตกแยกในสังคม อย่างน้อยก็เป็นความแตกแยกทางความคิด
ทำให้เกิดการแยกกลุ่มและ "ความเป็นอื่น" หรือ ความเป็น "พวกเขา/พวกเรา"
อันนำไปสู่ภาคปฏิบัติและการกระทำของคนในสังคมนั้นๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
และผู้ที่พลอยได้รับชะตากรรมอันเลวร้ายก็คือมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลนั่นเอง
ความขัดแย้งและความรุนแรง ส่งผลต่อชะตากรรมของปัจเจกบุคคล เป็นแนวคิดสำคัญที่กนกพงศ์นำเสนอ เรื่องสั้นหลายเรื่องในชุด "แผ่นดินอื่น" ดูเหมือนจะบอกกล่าวถึงนัยนี้ กนกพงศ์คล้ายจะบอกผู้อ่านว่า "เมื่อแผ่นดินเปลี่ยนไป ผู้คนก็พลอยเปลี่ยนและผิดเพี้ยนไปด้วย" การเปลี่ยนแปลงนำมาสู่ความแปลกแยกและแปลกต่าง ระหว่างฝ่ายที่เลือกปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนและฝ่ายที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ฝ่ายหลัง (ซึ่งอาจรวมตัวของผู้แต่งไว้ด้วย) ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายที่ตกอยู่ในภาวะทุรนทุราย ตึงเครียด
เรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นำเสนอผ่านฉากและเหตุการณ์ในสังคมภาคใต้ ทั้งในชุมชนของมุสลิมและไทยพุทธ ดูเหมือนนักเขียนจะมีสมมุติฐานบางอย่างอยู่ในใจแล้วว่า "รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และสังคมในอดีตนั้นเป็นรูปแบบที่ดีงาม แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่เป็นสิ่งชั่วร้าย" เรื่องสั้น "บนถนนโคลีเซี่ยม" เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่กนกพงศ์ใช้ตรวจสอบและตอกย้ำสมมุติฐานนี้ ถนนสายเล็ก ๆ ที่มีนามตามชื่อของโรงภาพยนตร์ว่า "ถนนโคลีเซี่ยม" เป็นพื้นที่ซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น และแยกความคิดของคนในสังคมออกเป็นสองฝั่งฟาก ระหว่างฟากที่ดีงามและฟากของความชั่วร้ายอัปลักษณ์ที่เราไม่อาจเข้าใจได้ จนดูเสมือนเป็นดินแดนของปิศาจที่ลี้ลับและยากแก่การเข้าถึง
ในเรื่องสั้นเรื่องนี้กนกพงศ์ใช้ตัวละครที่เป็นหญิงชราผู้มีชีวิตลึกลับนาม "แม่เฒ่าเราะบูร์" เป็นภาพแทนความชั่วร้าย นางเป็นผู้ยึดครองถนนโคลีเซี่ยมซึ่งเต็มไปด้วยความโสมม นานาประการ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นคาวของกามารมณ์ของโสเภณีปลดระวาง ยาเสพติด การพนัน มือปืนรับจ้าง ซึ่ง "ถนนโคลี เซี่ยมทำนุบำรุงสิ่งเหล่านี้ให้เติบโตก่อนขว้างไปทั่วทิศทาง นั่นยังไม่นับพวกเด็ก ๆ ซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างลูกน้ำในแอ่งน้ำครำ พร้อมจะบินออกไปจากถนนสายนี้เยี่ยงยุงร้าย มนต์ปีศาจของแม่เฒ่าเราะบูร์ช่างน่าหวาดหวั่นอะไรเช่นนี้ (หน้า 37)
ถนนโคลีเซี่ยมของกนกพงศ์ เป็นพื้นที่สัญลักษณ์มากกว่าสถานที่ที่เป็นจริง การนำเสนอในท่วงทำนองของงานเขียนแบบสัจนิยมมายา (magical realism) ทำให้ถนนสายนี้เหมือนดินแดนของแม่มด เป็นที่เพาะเลี้ยงอาชญากรรมและความรุนแรง แต่แล้ววันหนึ่งถนนโคลีเซี่ยมก็ถูกทำลายพร้อมการสิ้นสุดชีวิตของแม่เฒ่าเราะบูร์ แต่ใช่ว่าทั้งหมดจะจบสิ้นตามไปด้วย การสิ้นสุดของถนนโคลีเซี่ยมจึงเป็นเพียงปฐมบทของความเลวร้ายที่พร้อมจะก่อตัวขึ้นมาใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ดังที่ "ผม" ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกล่าวว่า "เมื่อวุฒิภาวะเติบใหญ่ขึ้นตามวัย ผมได้ผ่านไปพบเห็นถนนโคลีเซี่ยมอีกมากมายกระจัดกระจายกันอยู่แทบทุกเขตปริมณฑลของแผ่นดิน" (หน้า 47)
เช่นเดียวกับที่ถนนโคลีเซี่ยมแห่งเดิมกลายเป็นถนนโอเชี่ยน ซึ่งเป็นสถานที่ของความชั่วร้ายยิ่งกว่าถนนที่เป็นชื่อเดิมของมันมากนัก นั่นคือ "สิบห้าปีให้หลัง เมื่อได้หวนกลับมาเยือนถนนโคลีเซียมอีกครั้ง บัดนี้มันกลายเป็นถนนโอเชี่ยนตามชื่อศูนย์การค้า ผมได้เพลงบทใหม่ของถนนซึ่งยาวเพียงสี่ร้อยเมตรสายนี้กลับมีอำนาจดึงดูดเด็กๆ และผู้ใหญ่ให้มุ่งมาสู่วิถีชีวิตอันสำราญหยาบช้ายิ่งกว่าเวทย์มนตร์ของแม่เฒ่าเราะบูร์เป็นร้อยๆ เท่า ศูนย์การค้า ดิสโกเธค ผับ และสถานเริงรมย์ต่างๆ ในรูปแบบทันสมัย สิ่งเหล่านี้กำลังดึงดูดผู้คนมาจากทั่วสารทิศ ถนนโอเชี่ยนกลับมีมนต์ขลังอย่างรุนแรงสำหรับผู้ใหญ่ทั้งที่นิยมความศิวิไลซ์และไม่ศิวิไลซ์ อีกทั้งเป็นสถานที่สุดยอดปรารถนาในความรู้สึกของเด็กๆ ทุกพวกทุกเหล่า (หน้า 48)
ความขัดแย้งที่นำเสนอในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ได้สะท้อนถึงความขัดแย้งในระดับโครงสร้างของสังคม เป็นความขัดแย้งระหว่างค่านิยมและวิถีชีวิตแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งในเรื่องสั้นที่มีวิธีการนำเสนอในท่วงทำนองที่คล้ายกันอีกเรื่องคือ "แม่มดแห่งหุบเขา" กนกพงศ์ นำเสนอให้เห็นภาพของความขัดแย้งและความรุนแรงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่มีต้นเหตุมาจากการเข้าไปของความเจริญ การเข้ามาของกลุ่มทุนอิทธิพลที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในชนบท
"แม่มดในหุบเขา" เป็นเรื่องของแม่เฒ่าหมา หญิงชราที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นแม่มดและ "อย่าไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าในทางใดกับแม่เฒ่าหมา จงรับฟัง หากว่าชาวบ้านเล่าขานเกี่ยวกับตัวแก แต่อย่าวิพากษ์วิจารณ์ อย่าลบหลู่ดูหมิ่น" (หน้า 262) นี่คือความเชื่อดั้งเดิมของคนในหมู่บ้าน พอๆ กับที่เชื่อในอำนาจของนางพรายตะเคียนที่อยู่ประจำต้นตะเคียน แต่ความเชื่อดั้งเดิมเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับพวกนายทุน อิทธิพลของเงินตราและผลประโยชน์จากการตัดไม้ ขุดดินลูกรังและการเผาถ่านไม้ยางพารา นำมาซึ่งความขัดแย้งและการก่ออาชญากรรม หญิงชราถูกรุกต้อนให้ไปอยู่มุมอับ คือกระท่อมที่ตั้งอยู่บนแท่งดินสี่เหลี่ยมกลางหุบเขาที่ถูกพวกนายทุนขุดดินรอบๆ กระท่อมเอาไปขาย ในขณะที่ความเชื่อถือในอำนาจลึกลับของชาวบ้านที่มีต่อนางก็พลอยสั่นคลอนไปด้วย แม่เฒ่าหมาจึงต้องอยู่ในภาพที่ "แกต้องต่อสู้กับคนทั้งหมู่บ้านที่เคยเชื่อถือแก" (หน้า 272)
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่ชาวบ้านต่างเชื่อว่าแกเป็นแม่มดมีปาฏิหาริย์และมั่นคงยิ่งกว่าขุนเขา แต่พวกเขากลับปล่อยให้แกต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ก่อนจะจบสิ้นลงด้วยบ้านของแกก็ถูกเผาไล่ที่พร้อมๆ กับจุดจบของหญิงชราและปาฏิหาริย์ทั้งหลายทั้งปวงที่ชาวบ้านเคยเชื่อว่ามีพลังอำนาจ เป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อและคุณค่าดั้งเดิมที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและแบบแผนชีวิตของชาวบ้าน ที่ดูเหมือนพร้อมจะเลือกข้างฝ่ายผลประโยชน์ แทนที่จะยอมอยู่ข้างฝ่ายขัดแย้งกับแม่เฒ่าหมาและหลานสาว จะมีก็แต่เด็กหนุ่มคนงานเผาถ่านที่ชื่อ "เล็ก" เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเขายังหลงเหลือความมีมนุษยธรรมอยู่บ้าง ดังที่เพื่อนของเขาสรุปว่า
"แม้ผมจะไม่รู้ว่าแม่เฒ่าหมาจะมีสภาพชีวิตที่แท้จริงอย่างไร แต่ก็พอจะวาดภาพได้ว่าเหตุใดเล็กจึงเอาตัวเข้าไปผูกพันเหมือนดั่งโดนเวทย์มนตร์ ผมเข้าใจแล้วละว่านี่ไม่ใช่เรื่องแม่มด ทว่าเป็นเรื่องของคนแก่ คนแก่ตาบอดกับหลานกำพร้าคนหนึ่งในดินแดนไร้กฎเกณฑ์" (หน้า 288)
ในเรื่องสั้น "บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น" ซึ่งเป็นเรื่องที่นำเสนอให้เห็นความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างน่ากลัวของคนในครอบครัวกรรมกรโรงรมยางแห่งหนึ่ง ที่พัฒนาไปสู่ชะตากรรมอันเลวร้ายถึงขั้นมีการฆาตกรรมและข่มขืนคนในสายเลือดเดียวกัน เรื่องสั้นเรื่องนี้ดูเหมือนจะเด่นชัดที่สุดในแง่ของการนำเสนอให้เห็นชะตากรรมของปัจเจกบุคคล ผู้ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งและความรุนแรง เรื่องราวของเด็กสาวใจแตกผู้ล้มเหลวจากการเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ และถูกเหวี่ยงเข้าไปเป็นพนักงานในโรงงานรมยาง ที่ครอบครัวและญาติของเธอทำงานอยู่ก่อนแล้ว เด็กสาวผู้มีความคิดฝังลึกในจิตใต้สำนึกว่าเธอเป็นเด็กที่ "เกิดจากโพรงหมา" และมีสิ่งชั่วร้ายบางอย่างแฝงฝังอยู่ในตัว "ในนั้นมีแต่ความชั่วร้ายใช่ไหมพ่อ และฉันก็เติบโตขึ้นมาในท่ามกลางความชั่วร้ายนั้น มันค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปในตัวฉัน ฝังอยู่ในกระโหลก ผังเข้าไปในหัวใจ" (หน้า 167)
และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอสามารถทำสิ่งเลวร้ายได้โดยปราศจากความหวั่นเกรง นับตั้งแต่การไปทำแท้ง และยอมตกเป็นเมียของยามรักษาความปลอดภัยเพียงเพราะเธอสิ้นหวังต่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอนาคต เธอมีสัมพันธ์กับเขาเพียงเพราะ "เซ็กส์เป็นเพียงความรื่นรมย์เดียวที่ฉันมี มันคือสิ่งเดียวที่ช่วยปลอบประโลมให้ฉันมีชีวิตอยู่ เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต เหมือนแม่ที่จมอยู่กับละครหลังข่าว หรือเหมือนเหล้าที่พ่อดื่มอยู่ทุกวัน" (หน้า181)
พฤติกรรมเช่นนี้เองที่ทำให้เธอกลายเป็นเหมือนวัตถุทางเพศที่ใครๆ ต่างอยากลิ้มลอง ไม่เว้นแม้แต่ลุง พี่ชายผู้พิการ การที่ลุงเข้ามาในชีวิตของเธอทำให้เรื่องมันเลวร้ายหนักขึ้น และถูกโยงเข้าไปสู่ความขัดแย้งระหว่างม็อบคนงานกับเจ้าของโรงรมยาง ที่ฝ่ายคนงานมีลุงเป็นแกนนำและพ่อของเธอถูกผลักให้อยู่ข้างนายจ้าง บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กสาวทำให้ครอบครัวของเธอเต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง เช่น พ่อฆ่าลุงเพราะทนรับสภาพที่ลุงทำกับเธอซึ่งเป็นลูกสาวไม่ได้ พี่ชายที่ติดยาใช้กำลังทำร้ายแม่ จนเป็นสาเหตุให้เธอต้องติดคุกเพราะฆ่าพี่ชาย อันเป็นชะตากรรมที่เลวร้ายและชวนสลดใจ
ทั้งหมดเป็นวงวัฏที่ผู้เขียนมองว่า
มันเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ทั้งในระดับโครงสร้างของสังคม มาจนถึงปัญหาของปัจเจกบุคคล
ดังที่เด็กสาวคนนั้นสรุปว่า "ยิ่งสำหรับฉันต้องยอมจำนนมากกว่าใครทุกๆ คน
ก็เพราะฉันคือที่สุดของชีวิตซึ่งเลวทรามไงล่ะพ่อ ฉันเองต่างหากที่เป็นลูกโซ่สุดท้าย
ไม่ใช่ปัญหาราคายาง ไม่ใช่ปัญหาของโรงรม ไม่ใช่ปัญหาของคนงาน ปัญหาของพี่วัฒน์
พี่ชาติ พ่อ - ปัญหาของแม่หมาตัวนั้นไงล่ะพ่อ พ่อเข้าใจฉันไหม ฉันคือปัญหาของวิทยาลัย
ฉันคือปัญหาของหมอเถื่อน ฉันคือปัญหาของพวกที่มีชีวิตดีงามทั้งหลาย. (หน้า 194-195)
ในหลายกรณีความขัดแย้งมีสาเหตุมาจากปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสงครามแย่งชิงประชาชนที่เกิดขึ้นในอดีต
เหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนดังกรณีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี
2535 มีเรื่องสั้นอย่างน้อยสองเรื่องที่เปรียบเสมือนการผลิตซ้ำทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนนำมาเสนอและชี้ให้เห็นว่า
ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลต่อชีวิตและชะตากรรมของมนุษย์ในฐานะปัจเจกอย่างไม่น่าเชื่อ
ในเรื่องสั้น "บ้านเกิด" กนกพงศ์ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนที่เคยสุขสงบโดยเฉพาะในครอบครัวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีพ่อเป็นนักดนตรีและมีแม่เป็นครู ต้องพลิกผันและประสบชะตากรรมอันเลวร้ายก็เนื่องมาจากสงครามนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร สงครามทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด เสียงแซกโซโฟนของพ่อที่เคยร้อยรัดหัวใจของคนทั้งหมู่บ้านเอาไว้กลายเป็นเสียงปืน ความรักกลายเป็นการกระทำผิดบาปซึ่งกันและกัน นี่คือประสบการณ์ที่เลวร้าย
มนุษย์ในฐานะปัจเจกทำได้เพียงคิดปลงว่าเป็นเรื่องของ "เวรกรรม" สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ "เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเรามีวิธีจัดการกับมันเพียงวิธีเดียวคือ ลืมมันเสีย...(หน้า 106 ) แม้ว่า "มีเด็กอีกมากมายที่เติบโตขึ้นมาในพื้นที่ซึ่งสงครามระอุร้อนเช่นฉัน และความโหดร้ายจากวันวานยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของเขาจนบัดนี้ อาจมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ลืมมันได้ แต่การลืมก็เป็นเพียงทางแก้เมื่ออะไรๆ มันเกิดขึ้นแล้ว ซ้ำยังเป็นทางแก้ซึ่งยากแสนเข็ญ ทางที่ดีที่สุดก็คืออย่าให้ความผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นอีก" (หน้า 107)
ในเรื่องสั้น "ผีอยู่ในบ้าน" ซึ่งเป็นเรื่องที่กนกพงศ์ เล่าผ่านชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" โดยไม่ได้ตั้งใจ ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้บูรณาการความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างสามีภรรยา อันเนื่องมาจากความหึงหวงหวาดระแวงกับความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในเดือนพฤษภาคม 2535 ผ่านโครงเรื่องและการเล่าเรื่องที่เน้นให้เห็นเหตุการณ์ประจวบเหมาะระหว่าง ปัญหาความหึงหวงของสามีภรรยา กับ เหตุการณ์รุนแรงบนถนนราชดำเนิน จนปัญหาพัฒนาไปสู่จุดร้ายแรงนำมาสู่การฆาตกรรม
นับเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่ตอกย้ำแนวคิดที่ว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม ปัจเจกบุคลย่อมพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยเสมอ ความรุนแรงที่ถูกนำเสนอในเรื่องสั้นเรื่องนี้มีอยู่ ๒ ระดับ คือความรุนแรงในชีวิตครอบครัว (สามีฆ่าภรรยาเพราะถูกกดดันรุมเร้าอย่างหนักหน่วง) กับภาพความรุนแรงในเหตุการณ์จลาจลที่ทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอย่างเหี้ยมโหด ความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งสองส่วนนี้โถมกระหน่ำเข้าใส่ชายหนุ่มซึ่งเป็นตัวละครเอกอย่างหนักหน่วง ทำให้เขาต้องฆ่าภรรยาโดยไม่เจตนา ส่งผลให้ชีวิตครอบครัวที่กำลังก่อร่างสร้างตัวต้องพังพินาศไปในชั่วเวลาเพียงคืนเดียว ในขณะที่เขาเพิ่งผ่านพ้นความเป็นความตายมาอย่างหวุดหวิด เพราะพลัดหลงเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงบนท้องถนน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เขารู้สึกว่า "ผมแพ้ทั้งในบ้าน แพ้ทั้งบนถนน แม่ง- แพ้ไปเสียทุกอย่าง" (หน้า 246) และนี่คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขาต้องประสบความหายนะ โดยที่ไม่มีรู้จะไปร้องขอความเป็นธรรมได้จากใคร
โศกนาฏกรรมของปัจเจกบุคคลในเรื่องสั้นเรื่องนี้หนักหน่วงและรุนแรง
กนกพงศ์เล่าเรื่องนี้ได้อย่างมีพลัง ทำให้ผู้อ่านพลอยรับรู้สภาพอันชวนกระอักกระอ่วน
อเนจอนาถและพะอืดพะอมไปกับชีวิตของตัวละครในลีลาการเล่าเรื่องแนวสัจนิยม ดังเช่น
"ตอนนั้นตีสามกว่าแล้วพวกทหารเริ่มยิงแบบหวังผลทีละนัด ทีละนัด กับปืนพกนะครับ
ปังร่วง ปังร่วง พวกที่แหลมไปหน้าๆ ติดกับแนวทหารนั่นก็โดนพวกนั้นเก็บใส่กระสอบ
มีคนที่ล้มอยู่ข้างหลังๆ นั่นแหละที่พวกเราแย่งมาได้ ช่วยกันหามไว้ในโรงแรมรอยัลฯ
โห
ตอนนั้นในโรงแรมนี่กองเป็นร้อยแล้วละครับ พวกหมอ พวกพยาบาลก็หงุดหงิด คนเจ็บคนตายเยอะขึ้นแต่รถพยาบาลเข้ามาไม่ได้เลย
ก็มันยิงตลอด ถึงอย่างนั้นคนก็ยังสู้ ยังตะโกน เหี้ยสุ เหี้ยสุออกไป เหี้ยสุออกไป
ตีสามครึ่งแหละครับ เห็นทหารยังยิงไม่หยุด เลยเผากรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์เสียเลย
มันแค้นนะครับ... (หน้า 243)
ภาพความรุนแรงที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองของชายหนุ่มที่ประสบชะตากรรม จึงตอกย้ำแนวคิดที่ว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล มันตกเป็นเหยื่อและเครื่องเล่นของความรุนแรงเสมอให้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก
มุสลิมภาคใต้ : อคติ ความเป็นอื่นและความรุนแรง
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของวรรณกรรมคือการสื่อสารทางสังคม เมื่อผู้เขียนสร้างวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา
นั่นแสดงว่าเขาต้องการที่จะ "สื่อ" หรือ "บอกความหมาย" บางอย่างต่อผู้อ่านซึ่งเป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกับเขา
ไม่ว่าจะเรียกสิ่งที่สื่อผ่านวรรณกรรมว่า "สาร" หรือแนวทัศนะก็ตามแต่
นักเขียนผู้สร้างงานเขียนชั้นดี มักจะมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยสายตาที่ต่างไปจากนักบอกเล่าข่าวสารอื่นๆ
อยู่เสมอ. ข้อได้เปรียบของนักเขียนก็คือ เขามีวิธีการที่แตกต่างไปจากนักเล่าเรื่องจริงกลุ่มอื่นๆ
ตรงที่ "นำเรื่องจริงมาเล่าผ่านเรื่องแต่งเพื่อนำเสนอ 'ความเป็นจริง'ที่เกิดขึ้นในสังคม"
โดยวิธีการทางวรรณศิลป์ ซึ่งมันทำให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์ในรูปของความสะเทือนใจและความตราตรึงได้มากกว่างานเขียนที่นำเสนอแต่
'ข้อเท็จจริง' ล้วนๆ
เรื่องสั้น "แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ" ของกนกพงศ์
สงสมพันธุ์ เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำมาสนับสนุนข้อสรุปข้างต้น ในเรื่องสั้นเรื่องนี้
กนกพงศ์ นำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับชุมชนชาวมุสลิมในภาคใต้ ในมุมมองและมิติที่ลึกซึ่งถึงระดับของความเชื่อและโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากรายงานข่าวหรือบทวิเคราะห์อื่นๆ
เรื่องสั้นเรื่องนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อและวิถีชีวิตระหว่างไทยพุทธและมุสลิม
อันเป็นที่มาของอคติ การแบ่งแยกและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน
และในน้ำเสียงของผู้เขียนแล้ว ดูเหมือนว่า ตราบใดที่ฝ่ายของทางการยังไม่สามารถเรียนรู้
ยอมรับ และตระหนักถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์อย่างถ่องแท้แล้ว ตราบนั้นอย่างหวังเลยว่า
สันติและความสงบสุขจะเกิดขึ้นในดินแดนแถบนี้
"แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ" เป็นเรื่องราวของทหารหนุ่มในชุดปฏิบัติการพิเศษที่ถูกทางการส่งไปคุ้มครองหมู่บ้าน
"บูเก๊ะกรือซอ" ชุมชนชาวมุสลิมในเทือกเขาสันกาลาคีรีอันซับซ้อน ให้รอดพ้นจากการคุกคามของกลุ่มโจรก่อการร้ายบนยอดเขาโต๊ะโม๊ะ
แต่สุดท้ายก็ต้องถอนกำลังกลับมาด้วยความล้มเหลว พร้อมๆ กับสัญญาณแห่งความรุนแรงกำลังจะเริ่มต้น
ตัวละครสำคัญในเรื่องสั้นเรื่องนี้มี มี "ผม" (ผู้เล่าเรื่อง) เวง ฮาราน (ทหารหนุ่มชาวมุสลิมเพียงคนเดียว) ในชุดปฏิบัติการ และฟารีดา ครูสาวในโรงเรียนที่หน่วยปฏิบัติการไปคุ้มครอง เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขาในพื้นที่อันแปลกต่างทางวัฒนธรรม ทำให้ทหารหนุ่มที่เป็นไทยพุทธส่วนใหญ่รู้สึกไม่สนุก "จริง ๆ แล้วเราต่างอาจรู้สึกพ้องกับเวงที่ว่า หมู่บ้านมุสลิมไม่สนุก แน่ละ เพราะเราจะหาเหล้าจากที่นี่ไม่ได้แม้เพียงหยด บูเก๊ะกรือซอยามค่ำคืนจึงเต็มไปด้วยความว้าเหว่และหดหู่...ว้าเหว่ด้วยตกอยู่กลางวงล้อมของขุนเขา ขณะหดหู่ด้วยเสียงขับอาซานซึ่งพลิ้วล่องอยู่ในสายลมเมื่อถึงเวลาละหมาด" (หน้า128)
ในขณะที่ชาวมุสลิมในพื้นที่เองก็รู้สึกว่า
ชุดปฏิบัติการที่มาคุ้มครองเป็น "คนนอกศาสนา" "บางทีอาจถูกที่ชาวมุสลิมเรียกเราว่า
'คนนอกศาสนา' ความหมายของมันคล้ายพวกเราเป็นคนนอกรีต เลวทรามต่ำช้า" (หน้า
128) ความแปลกแยกและการมองว่าแต่ละฝ่าย "เป็นอื่น" นี่เอง ที่ผู้เขียนค่อยๆ
ชี้ให้เห็นว่ามันได้ก่อสร้างรูปรอยของความขัดแย้งให้เกิดขึ้นทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของพวกทหาร
การใช้วาจาเยาะเย้ยล้อเลียน "ฮาราน"-ทหารมุสลิมเพียงคนเดียวอย่างสนุกของเวงและคนอื่น
ๆ จนกระทั่งพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง คือการตายของครูสาวฟารีดากับเด็กหนุ่มวัยสิบสองขวบ
ที่อุทิศตนเองเพื่ออัลเลาะห์ของพวกเขา จนทำให้ชุดปฏิบัติการต้องถอนกำลังออกมากระทันหัน
พร้อมๆ กับการจบชีวิตของฮารานจากการซุ่มโจมตี
วิธีคิดที่แตกต่างระหว่างฝ่ายรัฐกับคนมุสลิม เป็นอีกประเด็นที่มีส่วนให้เกิดความขัดแย้งขึ้น
ในขณะที่ทางรัฐคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องส่งทหารเข้าไปคุ้มครองหมู่บ้าน แต่คนมุสลิมเองคิดว่าไม่จำเป็น
ขณะที่ฝ่ายทางการเรียกคนที่อยู่บนภูเขาว่า "โจรแขก" แต่เด็ก ๆ ชาวมุสลิมที่นั่นกลับเรียกว่า
"อับดุลกาเดร์" และเห็นว่า ฝ่ายทหารไทยไม่มีทางสู้อับดุลย์กาเดร์ของพวกเขาได้เลย
วิธีคิด และมุมมองที่แตกต่างนี่เอง ที่ช่วยตอกย้ำให้ "ความเป็นอื่น"
ยิ่งชัดเจนมากขึ้น และดูเหมือนว่าช่องว่างของมันยิ่งห่างไกลออกไปทุกขณะ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของกนกพงศ์ยังเป็นไปได้มากที่จะประสานความขัดแย้งดังกล่าวให้ลดน้อยลง
ฮาราน และแมวสามสีของเขา คือกลไกสำคัญที่จะช่วยประสานช่องว่างนี้ ฮาราน เป็นทหารมุสลิมเพียงคนเดียวที่อยู่ด้วยและดูเหมือนเป็น
"พวกเดียว" กับฝ่ายทหารไทย "เขาคือหนึ่งในกองทัพและหนึ่งในมุสลิม"
(หน้า 151) ขณะที่แมวซึ่งเขาเอามาด้วยก็เป็นสัญลักษณ์ของชาวมุสลิม แต่น่าเสียดายที่พวก
"ทหารไทย" ด้วยกันกลับปฏิบัติต่อฮารานและแมวของเขา ไม่ต่างจากที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกและปฏิบัติต่อคนมุสลิม
การฆ่าแมวซึ่งเป็นสัตว์แห่งโชคลางของฮารานโดยความหุนหันของผม
(ผู้เล่าเรื่อง) เหมือนกับเป็นนัยบอกให้รู้ว่า อคติและความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมไม่มีวันแก้ไขเยียวยาได้อีกแล้ว
และเมื่อมันถูกตอกย้ำโดยปมปัญหาที่เกิดจากการฆ่าเด็กชายวัยสิบสองขวบ โดยทหารไทยและการจบชีวิตอย่างเป็นปริศนาของครูสาวฟารีดา
ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้น แต่สิ่งที่ผู้เขียนบอกเราก็คือ การจบชีวิตของฮารานในคืนที่ถูกซุ่มยิงนั้น
คือการจบสิ้นของประตู่สู่สันติสุขและความสมานฉันท์ กำแพงแห่งอคติและความขัดแย้งจึงยังคงดำเนินต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด
"แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ" จึงเป็นเรื่องสั้นที่ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้ได้อย่างน่าสนใจ
เพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่สื่อความหมายสำคัญให้เห็นก้นบึ้งปัญหาที่แท้จริง เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้นำเราดิ่งลึกลงไปในมิติปัญหาที่บอบบางและละเอียดอ่อนของชุมชนชาวมุสลิม
ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็น "วิธีคิด" ที่หยาบกระด้างและตื้นเขินของฝ่ายรัฐ
อันนำไปสู่ "วิธีการ"ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความรุนแรงมาโดยตลอด ผลที่เกิดตามมาจึงไม่ผิดอะไรกับการขว้างลูกบอลเข้าหาผนังกำแพงนั่นเอง
บทสรุป
ความขัดแย้งและความรุนแรงในเรื่องสั้นร่วมสมัยของนักเขียนภาคใต้ ซึ่งได้รับการนำเสนอผ่านงานเขียนเรื่องสั้นชุด
"แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า
ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ความขัดแย้งเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ มีพลังมากพอที่จะทำให้ชีวิตของมนุษย์พลิกผันไปในทางที่ดีหรือเลว
ในฐานะของนักเขียนท้องถิ่น ซึ่งรับรู้และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง
ทำให้งานเขียนดังกล่าวเสนอทัศนะและมุมมองเกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงในมิติที่ละเอียดอ่อน
และแสดงอัตลักษณ์ของนักเขียนภาคใต้ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้านและเชื่อมโยง
ผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเด็นความขัดแย้งที่นำเสนอมีพลัง
และสะท้อนความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมได้โดยไม่ด้อยกว่างานเขียนในรูปแบบอื่นๆ
ธัญญา สังขพันธานนท์ (นามปากกา:
ไพฑูรย์ ธัญญา)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) นักเรียนเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ.2539 จากรวมเรื่องสั้นชุดแผ่นดินอื่น
(2) คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน(ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2539
(3) ในกรณีนี้ ความขัดแย้งมักจะกลายเป็นแนวคิดและทัศนะสำคัญของผู้เขียน เราอาจเห็นได้ในวรรณกรรมที่นำเสนอแนวคิดทางการเมือง ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมือง
เอกสารอ้างอิง- กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. แผ่นดินอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 9 ปทุมธานี : สำนักพิมพ์นาคร,254
- ทองสุก เกตุโรจน์, ผู้แปล. อธิบายศัพท์จากวรรณคดี กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ,กระทรวงศึกษาธิการ
- สกุล บุณยฑัต. "แผ่นดินอื่น เบื้องลึกแห่งการถกเถียงเสวนาระหว่างตัวตนแห่งความคิดกับ สังคมความลึกลับในโลกและชีวิตมวลมนุษย์" ใน . 25 ปีซีไรต์ รวมบทวิจารณ์ คัดสรร. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2547.
- อัศนี พลจันทร์. ข้อคิดจากวรรณคดี. โดย อินทรายุธ (นามแฝง) พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองศิลป์, 2522 .
- Clayton Hamilton and Brander Matthews. A Manual of the art of fiction.New York : Doubleday.page &company.1920.
- Graham Hough. ว่าด้วยหลักวรรณคดีวิจารณ์ แปลโดย นฤมล กาญจนทัตและอุบล วรรณโชติวิสิทธิ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.2532.
- Kurt H. Wolff, (Trans.), The Sociology of Georg Simmel. Glencoe, IL: The Free Press, 1950,
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com