โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 19 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๕๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (Mayl, 19, 05,.2007)
R

วิกฤติโลกาภิวัตน์ นำเสนอผ่านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
วิกฤติโลกาภิวัตน์ในสังคมไทย มองผ่านรวมเรื่องสั้นหลัง "แผ่นดินอื่น"(๒)
ธัญญา สังขพันธานนท์ : เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

บทวิเคราะห์วรรณกรรมชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจตราวรรณกรรมไทยร่วมสมัยภายใต้วิกฤติโลกาภิวัตน์
โดยได้เลือกผลงานของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จำนวน ๓ เล่มมาวิเคราะห์ ประกอบด้วย
โลกหมุนรอบตัวเอง, นิทานประเทศ, รอบบ้านทั้งสี่ทิศ ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๘-๔๙
เหตุผลที่เลือกวรรณกรรมร่วมสมัยของกนกพงศ์ มานำเสนอ นอกจากจะสะท้อนภาพวิกฤติดังกล่าวแล้ว
ยังจะเป็นการรำลึกถึงการจากไปครอบรอบหนึ่งปีของนักเขียนหนุ่มตลอดกาล
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๕๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วิกฤติโลกาภิวัตน์ นำเสนอผ่านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
วิกฤติโลกาภิวัตน์ในสังคมไทย มองผ่านรวมเรื่องสั้นหลัง "แผ่นดินอื่น"(๒)
ธัญญา สังขพันธานนท์ : เขียน

การสูญเสียอัตลักษณ์ :
ในความหมายของนักวัฒนธรรมศึกษา อัตลักษณ์คือความพยายามที่จะสร้างขอบเขตที่ชัดเจนของบุคคล ด้วยการตอบคำถามให้ได้ว่า "เราเป็นใครและแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร"(1) อัตลักษณ์จึงไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยสังคมและวัฒนธรรม ดังความเห็นของ สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) ที่ว่า อัตลักษณ์เป็นผลผลิตทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นเชิงกระบวนการ เกิดจากสังคม (สังคมกำหนด ปัจเจกถูกกำหนดภายใต้บริบทของสังคม) และการตีความของปัจเจก(ปัจเจกมองตัวเองในลักษณะที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม) ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์และสังคมในแต่ละช่วงสถานการณ์" หรือ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ห่างไกลจากสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างไม่สิ้นสุดในแก่นสารสำคัญของอดีต

เช่นเดียวกับความเห็นของเจนกินส์ (Richard Jenkins.) ที่ว่า อัตลักษณ์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับบุคลหรือสิ่งของ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา (2) ดังนั้นอัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล ไม่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางประวัติศาสตร์และสังคม

การไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีอุดมการณ์สำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างกลายเป็นหนึ่งเดียว ส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์โดยตรง โดยทั่วไปแล้วผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่ออัตลักษณ์จะเป็นผลกระทบในทางลบ. แคสเทลส์ (Castells) เห็นว่าโลกาภิวัตน์ทำลายอัตลักษณ์ของบุคคลและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ดังนั้นเราอาจมองได้ว่า อัตลักษณ์คือเหยื่อของโลกาภิวัตน์ โลกของเราและชีวิตของเราเกิดขึ้นและก่อรูปโดยความขัดแย้งระหว่างโลกาภิวัตน์และอัตลักษณ์ (3)

วรรณกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ ดังความเห็นของโจนาธาน คูลเลอร์ (Jonathan Culler) ที่ว่า วรรณคดีมักจะมีความเกี่ยวพันกับคำถามที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์อยู่เสมอ และวรรณคดีก็มักให้คำตอบเป็นภาพร่างอย่างคร่าวๆ โดยการบอกอย่างเป็นนัยหรืออย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ โดยเฉพาะในวรรณคดีเรื่องเล่า ซึ่งเดินตามโชคชะตาของตัวละครที่นิยามตนเองโดยการเชื่องโยงกับอดีตของพวกเขา วิถีทางที่พวกตัวละครเลือกทำ และพลังทางสังคมที่มีอำนาจเหนือกว่า (4)

แนวความคิดนี้ สามารถนำมาใช้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ในเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ได้เช่นเดียวกัน เรื่องสั้นหลัง"แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ทั้ง 3 เล่ม ไม่เพียงแต่นำเสนอภาพแทนความจริงของปัญหา อันเนื่องมาจากวิกฤติโลกาภิวัตน์ในประเด็นที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องสั้นบางเรื่องของเขา คือประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ เราอาจกล่าวได้ว่า ตัวละครในเรื่องสั้นของกนกพงศ์ไม่เพียงแต่ตกอยู่ในภาวะอึดอัด คับข้องใจต่อบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่พวกเขายังวุ่นวายอยู่กับการแสวงหาอัตลักษณ์ใหม่ๆ พอๆ กับความยุ่งเหยิงทุรนทุรายกับอัตลักษณ์เดิมที่สูญเสียไป ภาพของตัวละครบางตัวจึงไม่ต่างอะไรกับการตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "เสียศูนย์"

"ปัญหาของหล่อน" เป็นเรื่องสั้นที่โดดเด่นที่สุดในการเล่นกับอัตลักษณ์ กนกพงศ์เล่าเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งในหมู่บ้านเชิงภูเขาหลวง ที่กำลังถูกรุกเร้าโดยคลื่นความเจริญและวิถีชีวิตแบบใหม่ อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าไม้และน้ำตก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสินค้าสำคัญให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ตามสูตรสำเร็จของลัทธิบริโภคนิยม) ที่ดิน เรือกสวนเปลี่ยนมือจากคนท้องถิ่นไปสู่มือนายทุนจากภายนอกพร้อมราคาที่สูงลิ่ว การเกิดขึ้นของรีสอร์ตและการเข้ามาของนักท่องเที่ยว รวมถึงระบบสาธารณูปการอำนวยความสะดวกต่อชีวิตสมัยใหม่ นำความตื่นตาตื่นใจมาสู่คนในท้องถิ่นไม่ต่างอะไรกับแมงเม่าตื่นไฟ

พวกเขาตื่นเต้นกับชีวิตแบบใหม่ ที่ผูกโยงอยู่กับเงินตรา การบริโภคและรสนิยมหรูหรา ในขณะตัวตนดั้งเดิมของพวกเขาคือชาวสวน ที่ยังดำเนินชีวิตอยู่โดยวิถีเก่าแก่ การพึ่งพิงธรรมชาติ การเข้าป่าล่าสัตว์และการเก็บผักกูดตามชายคลอง แต่ชีวิตแบบใหม่ก็หอมหวนและกระตุ้นให้อยากเข้าไปลิ้มลอง ดังนั้น ในขณะที่กำลังเก็บผักกูดเพื่อเอาไปปรุงอาหารอยู่ในคลองริมถนน "หล่อนจึงครุ่นคิดต่างๆนานา

- "รถโฟร์วีล หล่อนคิด สวยจริง ฉันอยากมีรถแบบนี้ คันหนึ่งเป็นล้าน เขาว่ามันไปได้ทุกที่ แม้ในโคลน ฉันจะมีได้ไหม คันหนึ่งเป็นล้าน บางคันก็ล้านกว่า ป๋าของอังคณามีตั้งสองคัน หล่อนคิดถึงลูกสาว อังคณาบอกว่าเขายังมีรถชนิดอื่นอีก ฉันจะมีสักคันหนึ่งไหม?

ฉันจะหัดขับรถ หล่อนก้าวต่อและคิด ฉันจะขับรถให้เป็น แล้วบอกอังคณา ฉันอยากมีรถสักคัน ไว้ไปซื้ออะไรต่อมิอะไร ไว้ไปในเมือง"

-หล่อนก้มลง เด็ดผักต่อ พลางคิด หากมีโทรศัพท์ หล่อนคงได้คุยกับอังคณามากกว่านี้ หล่อนคุยได้บ่อยตามที่ใจต้องการ หล่อนคุยได้ทันทีที่นึกห่วง เพียงแต่เดินมาที่สะพานนี่ ตอนค่ำๆ ยืนบนสะพานก็ยังมีคลื่น และหากหล่อนนึกห่วงอังคณาขึ้นมาตอนกลางวัน หล่อนก็เดินลงใต้สะพาน หล่อนจะเดินลงมา ลุยดงหญ้าข้อ เสี่ยงกับงูเงี้ยวบ้าง หรือบางทีอาจต้องคอยระวังวัวชน แต่ดีไปกว่าที่ตู้โทรศัพท์...หล่อนไม่อยากใช้โทรศัพท์ที่บ้านคุณนายมะลิอีกแล้ว..ที่บ้านหลังใหญ่นั้น ขึ้นจานดาวเทียมไว้ในสนามหญ้าหน้าบ้าน.."

ดูเหมือนกนกพงศ์กำลังบอกว่า "หล่อน"กำลังสับสนต่ออัตลักษณ์ของตนเอง ระหว่างความเป็นชาวสวนกับความเป็นชาวเมือง หล่อนไม่อาจนิยามและกำหนดได้ว่า "ฉันเป็นใคร" หรือ "ฉันอยากเป็นอะไร" อำนาจของพลังทางสังคมมีเหนือชีวิตหล่อน มันบงการและชี้นำหล่อน และทำให้หล่อนตกอยู่ในภาวะอึดอัด ทุรนทุราย กับร่องรอยของอัตลักษณ์เดิมๆ ที่น่ารังเกียจและน่าอาย (ในความคิดของหล่อน) และเหมือนเป็นโรคอะไรสักอย่าง

"หล่อนเหนื่อยเหลือเกิน เหนื่อยจนลุกไม่ไหว หล่อนเหนื่อย ร้อน และคัน หล่อนไม่เคยเหนื่อยแบบนี้ หรือหล่อนจะเป็นโรคอะไรสักอย่าง? โรคหัวใจ? หล่อนหวาดหวั่น หล่อนเหนื่อยเพราะหล่อนเครียด หล่อนเครียดเพราะ...หล่อนคิดขึ้นมาแล้วตกใจจนสะท้านเยือก บัดนี้หล่อนรู้แล้ว หล่อนเหนื่อยเพราะหล่อนอาย แต่อายอะไร อายทำไม? หล่อนไม่รู้" (6)

"หล่อน" ในเรื่องสั้น "ปัญหาของหล่อน" จึงคือภาพแทนที่เด่นชัดของคนที่สับสนทางอัตลักษณ์ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ในหุบเขาแห่งนั้น ชาวบ้านจึงเหมือนงูที่กำลังสลัดคราบเก่า เพื่อไปอยู่ในคราบใหม่ของวิถีทุนนิยม แต่การลอกคราบมันไม่ง่ายเหมือนการเปลี่ยนเสื้อ ในเมื่อตัวตนเก่ากับตัวตนใหม่ไม่สามารถสวมทับกันได้แนบสนิท ชีวิตแบบ"หัวมังกุท้ายมังกร" ชักนำปัญหาต่างๆ ให้ถั่งโถมเข้ามาในชีวิต จนพากัน "เสียศูนย์" ไปตามๆ กัน

การนำเสนอปัญหาวิกฤติอัตลักษณ์ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ค่อนข้างชัดตรงและเข้าใจได้ง่าย ด้วยข้อมูลและสัญญะหลากหลายที่ถูกนำนำมาเทียบเคียงแบบคู่ตรงข้าม คือ ชุดของสัญญะที่แสดงอัตลักษณ์เดิม (การยิงหมูป่า/การเก็บผักกูด/) กับชุดของสัญญะที่แสดงอัตลักษณ์ใหม่ (รถโฟร์วีล/โทรศัพท์มือถือ การไปชอบปิ้งในห้างสรรพสินค้า/จานดาวเทียม/เพลงป๊อบของนักร้องยอดนิยม) แต่ในเรื่องสั้น "ซูเปอร์สตาร์มาเยี่ยม" กนกพงศ์นำเสนอประเด็นการสูญเสียอัตลักษณ์ได้ลุ่มลึกและแยบยลกว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้ เขาแปรรูปประสบการณ์จริงในชีวิตมาเป็นเรื่องสั้นได้อย่างน่าสนใจ (7)

"ซูเปอร์สตาร์มาเยี่ยม" เล่าเหตุการณ์ตอนสำคัญที่เกิดขึ้นจริงในหุบเขาฝนโปรยไพร นั่นคือ การที่ "แอ๊ด คาราบาว" เดินทางไปเยี่ยมกนกพงศ์ถึงบ้านพักในหุบเขา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ "ข้าพเจ้า" (ผู้เล่าเรื่อง) กลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาทันที และทำให้ชาวบ้านที่เคยมอง "ข้าพเจ้า" ว่าเป็นคนลึกลับ น่าสงสัย ต้อง"มองใหม่"ในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้ากลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาในชั่วไม่ทันข้ามวัน ใครต่อใครอยากรู้จัก และพูดคุยด้วย

หากอ่านแบบผิวเผิน เรื่องสั้นเรื่องนี้คล้ายจะเสนอสาระสำคัญว่า การอ้างอิงบุคคลสำคัญ มักทำให้คนที่อ้างอิงพลอยเป็นคนสำคัญขึ้นมาด้วย แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกๆ จะพบว่า กนกพงศ์กำลังใช้เรื่องสั้นเรื่องนี้ เย้ยหยันต่อภาวะการสูญเสียอัตลักษณ์ของชาวบ้านในหุบเขาได้อย่างฉลาด งดงาม เขาสร้างตัวละครขึ้นมาสองตัว นั่นคือ "บ่าวน้อง" กับ "คนฆ่าเสือ" ทั้งสองมีอัตลักษณ์และตัวตนที่โดดเด่นในฐานะชาวบ้านป่า คนหนึ่งมีตำนานการต่อสู้กับเสืออย่างกล้าหาญจนได้สมญานามว่า "คนฆ่าเสือ" ที่เปรียบเสมือนป้ายฉลากบอกตัวตนของแกกับร่องรอยประวัติศาสตร์ของชุมชน. "บ่าวน้อง" เป็นตัวแทนของเด็กหนุ่มชาวสวนรุ่นใหม่ ที่เป็นส่วนผสมค่อนข้างลงตัวของรากเหง้าเก่าแก่กับวิถีชีวิตแบบใหม่ ทั้งสองมี "ตัวตน/อัตลักษณ์และสถานะที่ชัดเจนจนกลายเป็นป้ายยี่ห้อประจำตัว และต่างก็เป็น "คนสำคัญ"ของข้าพเจ้า แต่เมื่อซูเปอร์สตาร์มาเยือนในครั้งนั้น ป้ายฉลากทั้งสองก็หมดความหมาย เพราะเจอ"ป้ายฉลาก" ที่ใหญ่กว่า ดังกว่านั่นเอง

เหตุการณ์ที่น่าสนใจก็คือ การที่กนกพงศ์ให้ "บ่าวน้อง" มาเยี่ยมข้าพเจ้าก่อนกำหนด เพียงเพื่ออยากมาเลียบเคียงถามข่าวเหตุการณ์วันที่ "ซูเปอร์สตาร์มาเยี่ยม"

"เมื่อชวนกันนั่งลงอีกครั้ง สายตาของบ่าวน้องบ่งว่ากำลังอดรนทนไม่ไหว แม้กระนั้น, ข้าพเจ้ายังอ้อยอิ่งโดยเฉไปเชื้อชวนให้ลองกินผลไม้ ทั้งสี่ห้าประเภทที่คนบ้านใกล้เอามาฝากซูเปอร์สตาร์ของเขายังคงวางกองอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ บ่าวน้องหัวเราะ บ้านเขามีสวนร่วมสองร้อยไร่ แบ่งส่วนปลูกครบทุกชนิดประเภท

"แอ๊ดมา...เป็นไงมั่ง?"
..................................
"ไหนลองเล่าให้ฟังหน่อย แอ๊ดมาเป็นไงมั่ง" (8)

ในสายตาของข้าพเจ้าเห็นว่าพฤติกรรมของบ่าวน้องในตอนนี้คือ "การยอมเปลื้องเปลือยตัวเอง" ซึ่งหมายถึงการยอมสูญเสียสถานะและตัวตนของตัวเอง เพื่อแลกกับการรับรู้เรื่องราวของซูเปอร์สตาร์คนนั้น ส่วนในกรณีของ "คล้อยฆ่าเสือ" กลับเจ็บปวดและน่ากระอักกระอ่วนยิ่งกว่า เมื่อแกยอมลดฐานะของ "นักฆ่าเสือ" (ที่ข้าพเจ้านับถือ ชื่นชม) มากลายเป็นตัวตลกตัวหนึ่ง เพื่อหาช่องทางให้หลานสาว-เด็กหญิงตัวเล็กๆ ได้มาเห็นซูเปอร์สตาร์ที่ลานบ้านของข้าพเจ้า

"ข้าพเจ้าและแขกคนพิเศษนั่งหันหน้าเข้าหากัน บนเก้าอี้ไม้ไม่มีพนัก มีเข่งเงาะกั้นขวางตรงหน้า คนขับรถนั่งบนเก้าอี้ถัดไป และเพื่อนบ้านใกล้ของข้าพเจ้านั่งบนรองเท้าแตะ เรียงเป็นแถวบนพื้นทรายอีกฟากของกระบะไฟ บทสนทนาสะดุดลง สายตาทุกคู่หันไปทางแขกมาใหม่ เด็กหญิงยังคงนั่งคร่อมเบาะและยิ้มขวยเขิน คล้อย คนฆ่าเสือ ลงมายืนบนพื้น ร่างโงนนิดหน่อย แล้วค่อยปรับตัวให้ตรง เดินตัดลานทราย ตรงดิ่งมาทางข้าพเจ้า ข้าพเจ้าร้องทักอะไรออกไปสักคำ ตะแกยังคงก้าวด้วยจิตใจแน่วแน่ ทีละก้าว ทีละก้าว เลียบขอบกระบะไฟ สายตาของแกไม่สนใจใดอื่น จ้องตรงมาทางข้าพเจ้า แขนทั้งสองทิ้งดิ่งและแข็งทื่อ ฉุดให้ท่าเดินออกประหลาด ข้าพเจ้านึกเห็นตอนตะแกถอยหนีเสือทีละก้าว ทีละก้าว เพียงแต่ครั้งครั้งนี้แกถอยหนีด้วยการสืบเท้ามาข้างหน้า" (9)

สำหรับผู้อ่านที่ซึมซับรับรู้ตัวตนของคนฆ่าเสือมาก่อน ภาพที่กนกพงศ์นำเสนอข้างต้น ช่างเป็นภาพที่ชวนให้เวทนาและกระอักกระอ่วน แต่คนอ่านจะยิ่งรู้สึกแย่ยิ่งกว่านั้น เมื่อสุดท้าย สิ่งที่คล้อยคนฆ่าเสือพยายามบอกแก่ข้าพเจ้าก็คือ การถามหาต้นกล้วยไม้ป่าต้นหนึ่งที่แกเคยออกปากขอไว้ ในเวลานั้น คนฆ่าเสือได้สูญเสียตัวตนและอัตลักษณ์ของแกไปแล้วโดยสิ้นเชิง ภาพของคนฆ่าเสือจึงไม่ต่างอะไรจากตัวตลกตัวหนึ่ง

กนกพงศ์เหมือนจะชี้ให้เห็นว่า ทั้งบ่าวน้องและคนฆ่าเสือซึ่งเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือ "อัตลักษณ์ของคนพื้นเมือง" ได้ยอมจำนนและศิโรราบให้กับอัตลักษณ์แบบใหม่ในคราบของซูเปอร์สตาร์ ซึ่งเป็นสัญญะบ่งชี้ถึง ความเป็นอัตลักษณ์แบบประชานิยม/บริโภคนิยม (บริวารของกระแสโลกาภิวัตน์) ที่มีพลังอำนาจยิ่งใหญ่ เพื่อสื่อความหมายในระดับลึก ถึงการพ่ายแพ้ของท้องถิ่นต่อกระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง

บทสรุป
หากเราเชื่อว่า วรรณกรรมคือการประกอบสร้างทางสังคม โดยใช้ภาษาเป็นสื่อ และการนำเสนอภาพแทนคือการประกอบสร้างความจริงขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อแสดงความหมายและความจริงบางประการที่ดำรงอยู่ในสังคมและชีวิตที่เป็นจริง เรื่องสั้นทั้ง 3 เล่มที่เขียนขึ้นหลังเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ผู้เขียนบทความนี้หยิบยกขึ้นมาเป็นหน่วยในวิเคราะห์ ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างความหมายดังกล่าวในบางระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อปัญหาที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ดังที่ได้ทดลองนำเสนอให้เห็นในบางประเด็นของการวิเคราะห์ข้างต้น

ความหมายและความจริงที่เรื่องสั้นจำนวนหนึ่งใน "โลกหมุนรอบตัวเอง, นิทานประเทศ, และรอบบ้านทั้งสี่ทิศ" ได้บอกแก่เรา ก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยการรุกคืบของกระแสโลกาภิวัตน์นั้น ได้ส่งผลกระเทือนอย่างมากต่อชีวิตของผู้คนร่วมสมัย โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่น ผลกระทบนั้นมีอำนาจในการสั่นคลอนและทำลายโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม ระบบคุณค่าและแบบแผนชีวิตของปัจเจกบุคคลอย่างกว้างขวาง เรื่องสั้นของกนกพงศ์เป็นเพียงการเสนอภาพแทนความเป็นจริงดังกล่าวเพียงบางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อวรรณกรรมคือการผลิตซ้ำของความจริง ที่ผ่านกระบวนการและวิธีการทางวรรณศิลป์ ความจริงและความหมายใดๆ ก็ตาม ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีคิดและโลกทัศน์ของผู้เขียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า "การผลิตซ้ำความจริง" ของนักเขียนโดยผ่านวิธีการของวรรณกรรม จะมีพลังทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดและเข้าถึงความจริงได้มากน้อยเพียงไรมากกว่า และเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ยังท้าทายให้คนอ่านตรวจสอบพลังทางปัญญาของมันอยู่เสมอ

คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

++++++++++++++++++++++++++++++++++


เชิงอรรถ

(1) กาญจนา แก้วเทพ. (2549) "สตรีนิยมและวัฒนธรรมศึกษา" อยู่ชายขอบมองลอดความรู้.อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ)
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน หน้า 99-138.

(2) Richard Jenkins. 1996. pp.4

(3) Tomlinson, John. 2003

(4) Culler,1997. pp. 110-112

(5) รอบบ้านทั้งสี่ทิศ หน้า 40

(6) เล่มเดิม หน้า 61

(7) ก่อนเสียชีวิตประมาณปีกว่า ๆ แอ๊ด คาราบาว (ยืนยง โอภากุล) เคยเดินทางไปเยี่ยมกนกพงศ์ที่บ้านพักในหุบเขาฝนโปรยไพร กนกพงศ์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแอ๊ด เขาเคยชักชวนแอ๊ดให้มาเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสาร "ไรเตอร์" เมื่อครั้งที่รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับนั้น เมื่อกนกพงศ์ถึงแก่กรรม แอ๊ดส่งพวงหรีดไปคารวะศพ พร้อมบทเพลงที่แต่งไว้อาลัยให้กับเขา

(8) โลกหมุนรอบตัวเอง หน้า 62-63

(9) โลกหมุนรอบตัวเอง หน้า 67

เอกสารอ้างอิง

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (2548). โลกหมุนรอบตัวเอง.กรุงเทพฯ: นาคร.
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (2549). นิทานประเทศ.กรุงเทพฯ: นาคร.
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (2549). รอบบ้านทั้งสี่ทิศ.กรุงเทพฯ: นาคร.

กาญจนา แก้วเทพ. (2549) "สตรีนิยมและวัฒนธรรมศึกษา" อยู่ชายขอบมองลอดความรู้.อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน หน้า 99-138.

เกศินี จุฑาวิจิตร. (2550) ภาพสะท้อนสังคมและโลกทัศน์นักเขียน จากเรื่องสั้นยุควิกฤตเศรษฐกิจ.นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

บรรจง บรรเจิดศิลป์. (2524). ศิลปวรรณคดีกับชีวิต (พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพฯ: ประดิษฐการ พิมพ์.

วิทย์ ศิวะศริยานนท์. (2544). วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: แพร่ พิทยา.

เสนาะ เจริญพร. (2548). ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่. กรุงเทพฯ: มติชน.

Culler,Jonathan. (2002). Literary Theory: A verry Short Introduction.Oxford: Oxford University

Hall,Stuart."Cultural Studies; Two Paradimes" In John Storey (ed.) What is Cultural Studies? A Reader.London: Edward Arnold.31-48.

Hall, S (ed.) (1997), Cultural representations and signifying practice, Open University Press, London

Lye,John ,(2003) On the Uses of Studying Literature. http://www.brocku.ca/english/jlye/uses.html

Mitchell, W .(1994), Picture theory, Chicago.: University of Chicago Press,
O'Shaughnessy, M & Stadler, J (2002). Media and society: an introduction, 2nd edn, Oxford University Press, South Melbourne.

Rothokop,David (1997) In Praise of Cultural Imperialism Effect of Globalization on Culture http:// Globalpolicy.org/globalize/cultural/globcult.htm

Tomlinson,John. Globalization and Cultural Identity.http://www.polity.co.uk/global/pdf/GTReader2e Tomlinson.pdf.

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การนำเสนอภาพแทน เป็นแนวทางการศึกษาด้านวัฒนธรรมของสำนักปรากฏการณ์นิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิด การประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคม ภาพตัวแทนหรือภาพแทน ไม่ใช่สิ่ง/ผลผลิตที่เคยเป็นอยู่/มีอยู่ หากแต่เป็นผลผลิตที่มีการประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ หากนำแนวคิดนี้มาใช้ในการพิจารณาวรรณกรรม การเสนอภาพแทนในวรรณกรรมก็คือ ความสามารถของตัวบทในการวาดภาพลักษณะหน้าตาของโลก และนำเสนอออกมาให้เห็น การเสนอภาพแทนไม่เหมือนกับการสะท้อนภาพ แต่เป็นมากกว่านั้น คือเป็นการประกอบสร้าง
19-05-2550

Thai Literature
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.