โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 23 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 23, 04,.2007)
R

สร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน
รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคม
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : องค์ปาฐก
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทปาฐกถาชิ้นนี้ นำมาจากประชาไทออนไลน์ เรื่อง:
ปาฐกถานิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชำแหละรัฐธรรมนูญ'50 ฉบับไม่ใช่ของเรา
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บรรยายปัจฉิมกถา ในการสัมมนา เรื่อง
'ข้อเสนอสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน'
จัดโดย ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมัชชาคนจน
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2550. ณ ห้องมาลัยหุวนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สมเกียรติ ตั้งนโม : บันทึกภาพ (ถ่ายที่ บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์, ๒๕๔๙)

รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคม
เนื่องในงานสัมนา: 'ข้อเสนอสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน'
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : องค์ปาฐกคนสุดท้าย

ประเด็นสำคัญในเนื้อหาการแสดงปาฐกถาคนสุดท้ายนี้ อ.นิธิ ได้วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคม
และได้เสนอถึงประชาธิปไตยทางตรงที่เป็นไปได,้ เรื่องการปฏิรูปที่ดินที่ประชาชนต้องการ, รวมไปถึงเรื่องของการตีความ
คำว่า"ในพระปรมาภิไธย"ในคำพิพากษาต่างๆ ว่าหมายความถึงอะไร อีกทั้งยังได้วิจารณ์วงการตุลาการที่ตามไม่ทันโลก
สุดท้ายอาจารย์ได้สนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง และควบคุมการทำงานของ ส.ส.

ความนำ : รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคม
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จริงๆ แล้วแทบไม่ต่างจากฉบับอื่นเลย ในแง่ที่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคมจริงๆ โจทย์ที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับพยายามตอบ จริงๆ แล้วเป็นโจทย์ของกลุ่มชนชั้นกลางกับชนชั้นนำที่คิดว่านี่คือโจทย์ แล้วก็พยายามที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อจะตอบโจทย์เหล่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ของสังคมส่วนใหญ่

เวลาพวกเราพูดว่า"ต้องกระจายอำนาจ" รัฐธรรมนูญหลายฉบับก็จะบอกว่าให้กระจายอำนาจตลอดมา แต่มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการบริหารงบประมาณเพิ่มขึ้น คุณก็ตั้ง อบต. แล้วก็จัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้น สำหรับ(รัฐธรรมนูญ)ปี 40 กำหนดด้วยซ้ำไปว่าจะต้องให้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ของเงินรายได้ทั้งหมดของรัฐ

การกระจายอำนาจที่แท้จริง
แต่สิ่งที่เราเรียกร้องในการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การบริหารงบประมาณแต่เพียงอย่างเดียว หัวใจสำคัญกว่าของการกระจายอำนาจ ก็คือการกระจายการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่น แต่เขาจะไม่แตะเรื่องนี้เลย รัฐธรรมนูญทุกฉบับ กฎหมายลูก กฎหมายหลานอะไรก็แล้วแต่ที่ออกมา จะไม่แตะเรื่องของการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นเลย ยังคงกระจุกการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ป่า ดิน อะไรก็ตามแต่ ไว้กับกระทรวง ทบวง กรมในส่วนกลางตลอดเวลา ในขณะที่การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ไปสร้างองค์กรประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย นับตั้งแต่ อบต. ขึ้นมา ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถควบคุมบังคับตัวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

เมื่อเช้านี้พ่อสมเกียรติ (สมเกียรติ พ้นภัย ตัวแทนคณะทำงานปฏิรูปการเมืองสมัชชาคนจน) พูดว่า พรรคพวกด้วยกัน พอได้รับเลือกให้เป็น อบต. กลับมาชี้หน้าด่าประชาชนแทน เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งประเทศไทย พรรคพวกที่ต่อสู้ด้วยกัน ต่อสู้กับโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาทรัพยากรท้องถิ่น พอได้รับเลือกมาเป็นนายกเทศมนตรีกลับไปร่วมกับฝ่ายที่จะเอาโรงไฟฟ้ามาตั้งในพื้นที่ หรือไปแย่งชิงทรัพยากร ไล่พรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นคนจนออกจากเขตพื้นที่สาธารณะของเทศบาลด้วยซ้ำไป อย่างนี้เป็นต้น

ประชาธิปไตยทางตรงที่เป็นไปได้
การที่ประชาชนจะสามารถควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ำกว่าระดับตำบล สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือประชาธิปไตยทางตรง หัวใจของประชาธิปไตยทั้งหลาย จริงๆ ก็คือทางตรง แต่ที่ใช้ประชาธิปไตยทางอ้อม มันเป็นเพราะความจำเป็นในเชิงปฏิบัติ เราไม่สามารถเอาคน 60 ล้านคนมาโหวตในทุกเรื่องได้จึงต้องเลือกผู้แทนมา แต่เมื่อไรที่ไม่ต้องมีผู้แทน เมื่อนั้นพยายามใช้ประชาธิปไตยทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในระดับตำบล ผมว่ามันน่าจะกำหนดลงไปให้ชัดเจนเลยว่า เรื่องในแนวไหนบ้างที่ อบต. สภาตำบล สภาอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีสิทธิที่จะคิดแทนเรา จะต้องให้ประชาชนทุกคนในตำบลเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง ยกตัวอย่างเช่น ระเบิดหิน อยู่ๆ คุณไประเบิดหินอยู่ข้างๆ บ้านเขา ไม่ต้องมีใครมาคิดแทน คุณถามเขาเลยว่าจะให้ระเบิดหรือไม่ให้ระเบิด ถ้าประชาชนลงมติว่าไม่ให้ระเบิด ก็แปลว่าสภาตำบลแห่งนั้นมีมติไม่ให้ระเบิด

หลายเรื่องมากที่สภาตำบล อบต. อะไรก็ตามแต่ ที่ไปตัดสินใจแทนประชาชนทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เพราะว่ากรณีเหล่านั้นคุณสามารถใช้ประชาธิปไตยทางตรงได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเข้าไปในรัฐธรรมนูญสักฉบับเดียว เพราะโจทย์ที่เราตั้งขึ้นมันเป็นโจทย์ของ 'เรา' ไม่ใช่โจทย์ของ 'เขา' เขาในที่นี้ก็คือคนที่มีอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นนำ

การปฏิรูปที่ดินที่เราต้องการ
เวลาที่เขาพูดถึงเรื่องปฏิรูปที่ดิน เมื่อกี้คุณไพโรจน์ (พลเพชร) พูดถึงว่ามันเริ่มเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2517 ฉบับนี้ก็เอาอีก ปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ประชาชน เกษตรกร สามารถเข้าถึงที่ดินได้ สามารถมีที่ดินเป็นของตัวเอง เพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญปี 2517 เขียนอย่างนั้น มันก็เลยมาออกกฎหมายยกที่ป่า เอาป่าเกือบทั้งประเทศมาแจกกัน แล้วในที่สุดพวกมันก็ได้อีก ประชาชนไม่ได้ นั่นไม่ใช่ประเด็นของการปฏิรูปที่ดินที่เราต้องการ

ปฏิรูปที่ดินที่เราต้องการนั้น เนื่องจากมันเกิดการกระจุกตัวของที่ดิน ไม่ใช่กระจุกตัวแล้วมาอ้างบอกว่า คนรวยถือที่ดินแล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไร แม้จะทำประโยชน์ก็ไม่คุ้ม การไปบอกว่าใครถือที่ดินแล้วไม่ทำประโยชน์ให้เก็บภาษีหรือให้คืนก็แล้วแต่ มันจะปลูกกล้วยทันที รับรองเลย. เพราะฉะนั้นจะต้องกำหนดวิธีการที่ชัดเจนว่า การออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน ชัดเจนลงไปอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเพื่อจะให้ประชาชนสามารถมีที่ดินเป็นของตนเอง ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวมันเอาป่ามาแจกอีก แล้วเราก็ไม่ได้ ไอ้คนที่ได้เป็นพวกมันเองอีกนั่นแหละ

นี่คือการเบี้ยวโจทย์ พอโจทย์ไม่ชัด มันเบี้ยวทันที เกิดอยู่ตลอดเวลา

ภาษี และการขจัดความเหลื่อมล้ำ
ภาษีมรดก ภาษีต่างๆ ก็เหมือนกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดถึงเรื่อง "ภาษีที่เป็นธรรม" มันแปลว่าอะไร ผมได้รายได้ปีหนึ่ง 2 หมื่นล้านบาท ผมเสียภาษี 30 เปอร์เซ็นต์นี่ถือว่าเป็นธรรมหรือยัง เขียนกันได้ แต่สิ่งที่เราพูดถึง ภาษีมรดกก็ตาม ภาษีก้าวหน้าอะไรก็แล้วแต่ หัวใจสำคัญคือพยายามขจัดความเหลื่อมล้ำใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ที่เรื่องภาษีแต่เพียงอย่างเดียว มันอยู่ที่นโยบายอื่นๆ อีกร้อยแปดที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม แต่ในตัวทุกฉบับก็จะไม่พูด นอกจากปี 2517 ก็จะไม่พูดชัดเจนว่าระบบภาษีที่เราต้องการคือระบบภาษีที่ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ

ภาษีมรดกที่ทำกันมาในทุกสังคมไม่ใช่เพื่อต้องการเงิน เงินที่ได้จากภาษีมรดกนิดเดียว เพราะมันเก็บกันแค่ประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความหมายเท่าไรหรอก แต่ความหมายที่แท้จริงของมันก็คือว่า สังคมนั้นกำลังบอกว่า มึงเกิดมาแล้วคาบช้อนทองช้องเงินออกมาจากปาก กูไม่ส่งเสริม กูส่งเสริมให้คนทำงานเพื่อจะหารายได้มา มึงรวยด้วยการทำงานมา กูไม่ว่า แต่มึงคาบช้อนทองมา กูเอาทองของมึงมาสักครึ่งหนึ่ง ที่จริงไม่ถึงครึ่ง เอามาเศษนิดเดียว แต่หลักการสำคัญกว่าตัวเงิน

อย่าคิดว่าทำภาษีมรดกแล้วจะมีเงินมาทำสวัสดิการ ไม่ได้หรอก ไม่มีสังคมไหนทำได้สักแห่ง แต่ถามว่าควรมีไหม? ควรมี เพราะควรยึดในหลักการข้อนี้ นอนเฉยๆ แล้วรวย ไม่เอา สังคมเราไม่สนับสนุนคนนอนเฉยๆ แล้วรวย นี่คือหลักการที่สำคัญกว่า และถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่บอกชัดเจนว่า ภาษีเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ มันก็จะเกิดผลว่ายังมีมาตรการอื่นๆ ที่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำได้อีกนอกจากภาษี ภาษีก็เอา และอื่นๆ อีกร้อยแปดที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำ

ระวังนะครับ ในภาคใต้เวลานี้ยิงกันตูมๆ สิ่งที่สภาหอการค้าไทยเสนอกันก็คือว่า เอาสิ ให้ผมไปเปิดโรงงานที่นั่นไหม ยกเว้นภาษี 5 ปี...อย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แล้วมึงยังจะเอาอะไรอีก เขาฆ่ากันตาย มึงก็จะทำกำไรอีก ทำทุกเรื่องเพื่อจะเอากำไรหมด อย่างนี้รัฐธรรมนูญต้องทำให้เห็นชัดเจนว่ามันมีเจตนารมณ์ที่จะขจัดหรือบรรเทาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงในสังคมไทย

การหลอกให้ประชาชนเสนอกฎหมาย
มันจะมีข้อความที่ในทัศนะผมถือว่าหลอกๆ เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ฉบับนี้ฉบับเดียว ฉบับอื่นๆ อีกเยอะแยะไปหมด เช่น เสนอกฎหมาย ลดลงจาก 5 หมื่นรายชื่อ เหลือ 2 หมื่นชื่อ ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ ในทัศนะผม ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้นเลย ถ้าแค่ 2 หมื่นชื่อ ถามว่าให้คุณควักกระเป๋าเองเพื่อให้ได้ 2 หมื่นชื่อ พวกเราซึ่งเรียกตัวเองว่าสมัชชาคนจน ใครมีเงิน ผมให้แค่ 2 พัน ก็ไม่มีเงินที่จะไปเก็บมาแล้ว

สรุปก็คือไม่ว่าจะ 2 หมื่นชื่อ หรือ 5 หมื่นชื่อ คุณต้องระดม คุณต้องทำการรณรงค์ และถ้ารณรงค์แค่ 5 หมื่นชื่อยังทำไม่ได้ เลิก กลับไปนอนกับเมีย ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ผมว่าทำได้ กฎหมายป่าชุมชน คุณจะเอาแสนคนก็เอาได้ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนชื่อ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อคุณเข้าสภา มันเอาไปต่อคิวไว้ท้ายสุด แล้วก็เลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีการพิจารณา กะว่าไฟของพวกคุณเรื่องป่าชุมชนมอดลงสนิทแล้วค่อยเอามาพิจารณา

การเสนอกฎหมาย ไม่ใช่เสนอเสร็จแล้วเรากลับไปนอนกับเมีย เสนอกฎหมายเสร็จก็ต้องมีการผลักดัน การต่อสู้ไม่มีที่สิ้นสุด การเสนอกฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เพราะฉะนั้นพอเสนอเสร็จเราก็ต้องผลักดันกันต่อไป

ฉะนั้น ถ้ามันต้องการให้อำนาจประชาชนจริง ไม่ใช่ลดจำนวน ต้องกำหนดแน่นอนว่าต้องพิจารณากฎหมายที่ประชาชนเสนอให้เสร็จภายในกี่เดือน. ถ้ามันบอกว่า กฎหมายที่เราผ่าน มันไปแปรญัตติกันจนผิดเจตนารมณ์แบบเดียวกับกฎหมายป่าชุมชน เราจะได้เคลื่อนไหวต่อได้เพราะไฟเรายังมีอยู่ ไม่ใช่รอไปสิบปีแล้วไฟเรามอดหมดแล้ว มันแก้ยังไงก็จะไร้ความหมาย

อย่างที่เวลานี้เรากำลังมีกฎหมายป่าชุมชน ที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลเองซึ่งก็เหมือนกับของ ส.ว. ประกบคู่กันไปกับกฎหมายของประชาชนที่จะเข้า สนช. ซึ่งก็จะไม่มีความหมายอะไร เพราะพวกเราหมดไฟไปตั้งนานแล้ว อย่างนี้ผมถือว่าเป็นการหลอก การล็อค 5 หมื่นชื่อ หรือ 2 หมื่นชื่อ เป็นการหลอก นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

เรื่องของตุลาการ : ในพระปรมาภิไธย, วิพากษ์ผู้พิพากษาตามโลกไม่ทัน(กรณีมาตรา 40)
ผมมีเรื่องเกี่ยวกับตุลาการจะพูด 2-3 เรื่องที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ

อันที่หนึ่ง ผมไม่เห็นด้วยว่าเพราะตุลาการไปเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก ผมเห็นด้วยนะครับว่าคนไทยไปหลงคิดว่าตุลาการเป็นพวกบริสุทธิ์ สามารถที่จะเข้ามาแก้ปัญหาพวกมารร้ายได้ ผมว่ามันเป็นความเข้าใจผิด. แต่ที่เข้าใจผิด ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นจากการที่ตุลาการไปเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เกิดจากการสอนกฎหมายแบบเบี้ยวๆ ตลอดมา

ทำไมคำพิพากษาจึงต้องอยู่ในพระปรมาภิไธย เหตุผลนิดเดียวเท่านั้นเอง คำพิพากษาทุกคำพิพากษาย่อมลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ฉะนั้นจึงต้องพิพากษาในนามของอธิปไตยแห่งปวงชนชาวไทย ใครเป็นคนลงชื่อแทนอธิปไตยแห่งปวงชนชาวไทย? พระมหากษัตริย์, ดังนั้น จึงต้องพิพากษาในพระปรมาภิไธย.

ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ "พิพากษาในนามประชาชน" เพราะเมื่อไรก็ตามแต่ที่คุณไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เช่น สั่งจำคุก 3 เดือน ถ้าเสรีภาพมีรับรองไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ สามารถมีคนคนหนึ่งหรือสามคนก็แล้วแต่ขึ้นมานั่งบนบัลลังก์แล้วบอก เอ้า คุณ จำขัง 3 เดือน ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้นอำนาจตรงนี้ถามว่ามาจากไหน ไม่ได้มาจากพระมหากษัตริย์ มาจาก 'อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย' ต้องใช้อำนาจอธิปไตยเท่านั้นจึงจะสามารถสั่งจำคุกคนได้ ปรับคนได้ และอื่นๆ. ดังนั้นจึงต้องพิพากษาในพระปรมาภิไธย เพราะพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแห่งปวงชนชาวไทย

เช่นเดียวกับกฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร ถามว่าทำไมต้องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย ทั้งๆ ที่เป็นผู้แทนราษฎรแท้ๆ คำตอบก็คือกฎหมายทุกฉบับก็ย่อมสามารถที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนไทยได้ด้วยเหมือนกัน เช่น ห้ามแก้ผ้ากลางถนน เป็นต้น นี่ก็เสรีภาพอย่างหนึ่ง แต่เขาห้ามไม่ให้เราแก้ผ้ากลางถนน กฎหมายฉบับนี้จึงต้องลงพระปรมาภิไธยเพราะต้องใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ในการระงับไม่ให้แก้ผ้ากลางถนน ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งสิ้นกับพระเจ้าอยู่หัว

ถ้าเกี่ยวข้อง ถ้าผู้พิพากษาทุกคนพิพากษาคดี ในนามของพระเจ้าอยู่หัวจริง พระเจ้าอยู่หัวต้องมารับผิดชอบในกรณีเชอรี่แอนด้วยอย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่ ท่านไม่เกี่ยว แต่ต้องใช้ในพระปรมาภิไธย เพราะเหตุผลที่ว่ามันเป็นอธิปไตยแห่งปวงชนชาวไทย เพราะฉะนั้นอย่าสับสนว่าศาลทำงานแทนพระเจ้าอยู่หัว, ไม่ใช่

ข้อที่สอง ต่อมาก็คือว่า ถามว่าตุลาการ จริงๆ แล้วโดยวิธีคิด โดยวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ แตกต่างจากข้าราชการทั่วๆ ไปหรือไม่? ผมคิดว่าไม่ เหมือนกันเลย อันนี้ผมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ระบบตุลาการ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา ผมหมิ่นระบบตุลาการในประเทศไทย ไม่ใช่หมิ่นคำพิพากษา

ระบบตุลาการในประเทศไทยกับระบบราชการเหมือนกันหมด ตามประเทศไทยก็ไม่ทัน ตามโลกก็ไม่ทัน 'ตุลาการภิวัฒน์' ที่พูดถึงไม่ได้ภิวัฒน์อะไรเลย ตามประเทศไทยก็ไม่ทัน ตามโลกก็ไม่ทัน

คุณก็รู้อยู่ในประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ให้สิทธิเสรีภาพต่างๆ และเขียนว่าทั้งนี้ตามแต่กฎหมายกำหนด ถามว่าสิทธิเสรีภาพนั้นเกิดขึ้นหรือยัง ผมคิดว่าถ้าตามโลกทัน มันถือว่าเกิดขึ้นไปแล้ว เช่น ในมาตรา 40 ที่บอกว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะ ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลไม่ออกกฎหมายมากำกับควบคุมตรงนี้ให้ผ่านสภา มันไม่ได้หรอก สิทธิในการใช้คลื่นความถี่นั้น ผมว่าเกิดขึ้นไปแล้ว ทันทีเลย

ฉะนั้นกรมประชาสัมพันธ์ไปฟ้องศาลว่า ไอ้หมอนี่เปิดสถานีวิทยุโดยไม่ได้ขออนุญาตกรมประชาสัมพันธ์ ศาลก็ถามว่า แล้วทำไมต้องขอมึง เพราะสิทธินั้นได้เกิดไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงคุณก็รู้อยู่ว่า มีผู้ทำวิทยุชุมชนถูกพิพากษาจำคุกไปกี่รายแล้ว คำถามว่าคุณอ่านกฎหมายกันอย่างนี้ได้ยังไง คุณก็ต้องไปบอกกรมประชาสัมพันธ์ว่า ถ้าจะฟ้องคุณต้องฟ้องว่า ไอ้หมอนี่เปิดใช้คลื่นความถี่ แล้วไปกระทบกระเทือนคลื่นความถี่ที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ใช้อยู่แล้ว จึงขอให้ระงับเสีย แต่จะมาบอกว่าไม่ได้ขออนุญาต ทำไมต้องขออนุญาต ในเมื่อรัฐธรรมนูญบอกแล้วว่าเป็นสมบัติสาธารณะ การที่รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมายมาเอง คำตอบสำหรับผม เรื่องของมึง ไม่ออกกฎหมายไม่ได้แปลว่าสิทธิหายไป

เพราะฉะนั้นคำว่า 'ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด' ผมคิดว่าไม่ได้ขัดขวางอะไรเลย ถ้าระบบตุลาการก้าวตามทันตัวรัฐธรรมนูญ สิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกิดขึ้นทันทีที่คุณมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะมีกฎหมายไม่มีกฎหมาย คนละเรื่อง เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐที่จะต้องสร้างระเบียบให้เกิดขึ้น ในการใช้เสรีภาพ ถ้าคุณไม่สร้าง ก็เรื่องของมึง

นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งให้เห็นว่า ตุลาการไม่ได้เป็นกลุ่มที่ก้าวหน้าไปกว่าระบบราชการ บริสุทธิ์กว่าหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ไม่ได้ก้าวหน้ากว่า คือก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศไทย และก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในโลกที่เกิดขึ้น ผู้นำของกลุ่มเคลื่อนไหวประชาชนถูกตัดสินจำคุกไปกี่รายแล้ว ที่ยังต่อสู้อยู่ในศาลก็มี เยอะแยะไปหมด ถามว่าทั้งหมดเหล่านี้มันมาจากอะไร ทั้งๆ ที่ใช้อำนาจขนาดนั้น

รัฐธรรมนูญเป็นแค่ตัวอักษร ประชาชนต้องเข้มแข็ง
แม้แต่รัฐธรรมนูญ พยายามจะตอบโจทย์ของเราก็ไม่ใช่ง่าย เพราะในความพยายามจะตอบโจทย์ของเรานั้น สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ยังต้องถูกตีความโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย คงจำได้ว่ากลุ่มจะนะที่สงขลาเข้ามาชุมนุมที่หาดใหญ่เพื่อจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่จัดการประชุมที่หาดใหญ่ ปรากฏว่าตำรวจลุยกลุ่มชาวบ้านจะนะที่ต่อต้านการวางท่อก๊าซที่สงขลาหัวล้างข้างแตกกันไปหมด ข้อหาคือจัดการชุมนุมโดยมีอาวุธ

รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคุณมีสิทธิในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ อาวุธนี้ค้นได้จากรถกระบะที่ขนเครื่องเสียงมาด้วย ในนั้นก็มีมีดปอกผลไม้ ในที่สุดหลังจากประมาณสองปีกว่าผ่านมา คนที่ถูกจำกุมในคดีทั้งหมดเหล่านั้นได้รับการปลดปล่อยจากศาล จะเห็นว่า สองปีในการขึ้นศาล คุณมีความสุขดีอยู่หรือ เพราะฉะนั้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญพยายามตอบโจทย์ เราก็ยังเดือดร้อน เพราะว่าผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ตีความกฎหมายตามใจชอบตลอดเวลา

ฉะนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับข้อสรุปของ อ.สุธี (ประศาสน์เศรษฐ์) ว่าคุณต้องสร้างตัวเองให้เข้มแข็ง หรือถ้าพูดอย่างอาจารย์ประภาส (ปิ่นตบแต่ง) กับ คุณไพโรจน์ (พลเพชร) ก็คือถ้าตัวรัฐธรรมนูญก็ตาม การใช้รัฐธรรมนูญก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้สะท้อนการต่อสู้ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ถ้าคุณเป็นกลุ่มพลังที่อ่อนแอ คนอื่นก็จะตีความกฎหมายไปในทางที่ทำให้คุณเสียเปรียบตลอดเวลา ฉะนั้น ชะตากรรมของเราจึงไม่ได้ขึ้นกับรัฐธรรมนูญที่เห็นหัวคนจน ที่กินได้ อะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวรัฐธรรมนูญ เท่ากับขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าเราสามารถที่จะทำให้ตัวเราเป็นกลุ่มพลังที่เข้มแข็งพอที่จะเคลื่อนไหว ผลักดัน กดดัน อยู่ตลอดเวลาหรือไม่ อำนาจที่แท้จริงที่เราเรียกร้องอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษร อย่างที่ผมบอกว่าตัวอักษรเขียนอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ถูกเบี้ยวได้ตลอดเวลา

การเมืองเกี่ยวกับการควบคุม ส.ส.
ประเด็นสุดท้ายที่จะพูดทิ้งไว้ก็คือว่า ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยมันมีตลาดการเมืองของมันอยู่ คือจริงๆ ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการเติบโตของทุนนิยม เติบโตของพ่อค้า แต่เผอิญมันมีผลประโยชน์ต่อพวกเราที่ไม่ใช่พ่อค้าด้วย ฉะนั้นถ้าเรายังใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ เราปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนในทางการเมืองในระบบไม่ได้

ผมได้ยินพวกกลุ่มผู้นำที่สงขลาของสมัชชาคนจนพูดถึงเรื่องตั้งพรรคการเมืองมานานแล้ว คำตอบที่ผมเห็นในเวลานี้ก็คือ ผมคิดว่าเราไม่พร้อม ก็ขนาดเลือกตั้งกันเป็นแค่ อบต. มันยังกลับมาชี้หน้าเราเลย ถ้าเกิดตั้งพรรคการเมืองรับรองกินหัวเราเรียบไม่เหลือเลย ผมเชื่อว่าเราไม่พร้อม แต่สิ่งที่เราพร้อมกว่าเวลานี้น่าจะคือ เราน่าจะคิดถึงการสร้างพลังที่จะคุม ส.ส. ให้ได้ เวลานี้ ส.ส. ก็เหมือนกับ อบต. คือเลือกมันไปเมื่อไรก็เหมือนปล่อยเสือเข้าป่า มันเข้าไปสัมปทานกินหัวเรามาสี่ปี ทำยังไงประชาชนโดยเฉพาะสมัชชาคนจนจะสามารถที่จะคุมมันให้อยู่ ไม่ใช่ไปคุมพรรคอย่างเดียว คือคุม ส.ส. ของเราให้อยู่จะทำอย่างไร

ผมคิดว่าว่าระดับนี้น่าคิด ถ้าพูดภาษาอาจารย์รังสรรค์ คือเราจะต้องเข้าไปมีสัดส่วนในการกำหนดตลาดการเมืองมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ คือผมไม่ปฏิเสธการเมืองในระบบ เป็นแต่เพียงผมว่าเวลานี้เราไม่พร้อมถึงขนาดที่จะเข้าไปตั้งพรรคการเมือง แต่ผมคิดว่าเราพร้อมพอ หรือเราน่าจะพร้อมพอที่จะรวมพลังในการกำหนดพฤติกรรมของ ส.ส. เราเอง เราต้องการอะไรต้องได้สิ่งนั้น คืออย่างที่พวกท่านทราบดี ที่อุบลราชธานีเป็นตัวอย่างก็ได้ เขาสร้างเขื่อนก็ไม่เคยมี ส.ส. คนไหนมาสนใจว่าพวกคุณต่อต้านทำไม เขาจะเป็นตัวแทนของคุณได้ยังไง เขาสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็เหมือนกัน เขาสร้างเหมืองโปแตสที่อุดรฯ ไอ้พวกนี้มันไม่เคยโผล่หัวมาเลย ถ้ามันโผล่หัวมาเมื่อไรมันเป็นนายหน้าของนายทุนอีกที เพราะฉะนั้นเราต้องคุมมันให้อยู่

ขอบพระคุณมากครับ

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

2 หมื่นชื่อ หรือ 5 หมื่นชื่อคุณต้องทำการรณรงค์ และถ้ารณรงค์แค่ 5 หมื่นชื่อยังทำไม่ได้ เลิก กลับไปนอนกับเมีย ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ผมว่าทำได้ กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายป่าชุมชน คุณจะเอาแสนคนก็เอาได้ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนชื่อ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อคุณเข้าสภา มันเอาไปต่อคิวไว้ท้ายสุด แล้วก็เลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีการพิจารณา กะว่าไฟของพวกคุณเรื่องป่าชุมชนมอดลงสนิทแล้วค่อยเอามาพิจารณา… ฉะนั้น ถ้ามันต้องการให้อำนาจประชาชนจริง ไม่ใช่ลดจำนวน ต้องกำหนดแน่นอนว่าต้องพิจารณากฎหมายที่ประชาชนเสนอให้เสร็จภายในกี่เดือน
23-04-2550

Constitution
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.