โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 9 April 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๐๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 09,04,.2007)
R

ความเป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทย
คนตานี: อัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็งในโลกของยาวี
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : เขียน

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามที่จะสะท้อนภาพความเข้าใจที่สับสนของคนไทย
ต่อภาพพจน์ของชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่ถูกกักขังหรือมองอย่างเป็นภาพนิ่ง
จนอาจกล่าวได้ว่า "ความเป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทย"
คืออัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็งไว้ (Frozen Identity) มายาวนาน
ทั้งนี้เนื่องมาจากอุดมการณ์ในการสร้างชาติไทย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คนตานี: อัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็ง
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

อัตลักษณ์ที่ถูกแช่แข็ง
ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งในกระแสโลก [Globalization] การก้าวไปสู่ความทันสมัยของมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้าน กระแสการฟื้นฟูศาสนา [Religious Revivalism] โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม เศรษฐกิจทุนนิยมแบบไทยที่เสาะแสวงหาทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้อย่างเต็มที่ และสภาพการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่านี้คือภาพของความเปลี่ยนแปลงรายรอบ แต่ภาพของ "คนตานี" ก็ยังถูกกักขังหรือมองอย่างเป็นภาพนิ่ง

ชาวมลายูที่ถูกทิ้งไว้ในโลกของยาวี
การเน้นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แทนการอยู่ร่วมกันบนพื้นที่อย่างหลวมๆ ของรัฐสมัยใหม่ มีตัวอย่างที่ควรพิจารณาเพราะ เกี่ยวข้องกับความเป็นมลายูของผู้คนส่วนใหญ่ในสี่จังหวัดภาคใต้อย่างแยกกันไม่ออก และส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อพื้นที่นี้เป็นอย่างมากคือ "ความเป็นมาเลย์" [Malayness]

ความเป็นมาเลย์เกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายูเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๙ เริ่มจากอิทธิพลของอังกฤษในยุคอาณานิคมที่กล่าวถึงผู้คนในกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีชียน [Austronesian] อย่างรวมๆ ว่าเป็น "พวกมาเลย์" แม้ว่าจะเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น บูกิส, อาเจ๊ะห์, อิบัน, ราวาส์ ฯลฯ (1) ดังนั้น ความเป็นมาเลย์จึงเป็นคำสะสม [Collective Term] เมื่อจะอธิบายถึงคนที่พูดภาษามาเลย์และยึดถือจารีตธรรมเนียมหรือ adat แบบมาเลย์ที่เป็นเนื้อเดียวกับความเป็นมุสลิม ส่วนในหมู่เกาะของอินโดนีเซียความเป็นมาเลย์ก็มีลักษณะกลางๆ เช่นเดียวกัน เพราะภาษามาเลย์ใช้เป็นภาษาสื่อสารกลางมานับศตวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว (2)

ความเป็นมาเลย์ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นในมาเลเซีย. "มลายู" คือคำในภาษามาเลย์มาตรฐาน [Standard Malay] (3) ที่อ้างอิงถึงความเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในประเทศมาเลเซียที่พูดภาษามาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม ยึดถือและปฏิบัติตามจารีตประเพณีแบบมาเลย์ เริ่มต้นโดยการเขียนบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมาเลเซีย และส่งอิทธิพลต่อมุสลิมที่พูดภาษามาเลย์ในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน หรือไทย ก็ใช้คำอธิบายแบบมาเลเซียนี้ อธิบายความเป็นมลายูของตนเองเช่นเดียวกัน (4)

มาเลเซียคือตัวอย่างที่น่าสนใจของการสร้างชาติหรือสหพันธรัฐและความเป็นมาเลย์ [Malayness] ให้กลายเป็นวัฒนธรรมหลัก และส่งอิทธิพลแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันไม่น้อย นโยบายของพรรคอัมโน ที่เน้นประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่คนมาเลย์ ทำให้มีการแยกความชัดเจนระหว่างกลุ่มที่เรียกว่า ภูมิบุตรา [Bumiputra] กับพวกไม่ใช่ภูมิบุตรา [Non-Bumiputra]

ภูมิบุตรา
คำว่า "ภูมิบุตรา" หมายถึงบุตรแห่งแผ่นดิน เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นคนพื้นถิ่น [Indigenous]ก่อนจะมีพวกเจ้าอาณานิคม อินเดีย และจีน ที่อพยพเข้ามาภายหลัง (5) (แต่ก็แปลกที่ชนกลุ่มน้อย เช่น เซมัง เซนอยด์ที่เรียกว่า Orang Asli อาจได้รับสิทธิไม่เท่ากับชาวมลายู ทั้งที่เป็นกลุ่มพื้นเดิมที่อยู่มาก่อนชาวมลายูก็กล่าวได้)

ภูมิบุตราส่งผลให้เกิดความมั่นคงแข็งแกร่งทางการเมืองและรัฐบาล ทั้งในกระบวนการพัฒนา การสร้างชาติ และการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย เกิดความพยายามที่จะทำให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรมมลายู และศาสนาอิสลาม จนถึงขั้นเปิดให้ผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษา วัฒนธรรม และศาสนาเดียวกันเข้ามาในประเทศมาเลเซียได้ เช่น ชาวจามอพยพจากเวียดนามก็สามารถได้สิทธิเป็นภูมิบุตราได้

นโยบายภูมิบุตราเป็นผลสำเร็จของรัฐบาลมหาธีร์ ในการยกเอาคนเชื้อสายมลายูให้มีบทบาททางเศรษฐกิจทัดเทียมชาวจีน แต่ผลของนโยบายนี้คงต้องอภิปรายถึงผลเสียที่พบได้หลายประเด็น แต่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเสนอเรื่องอัตลักษณ์ของชาวมลายูตานีเท่าใดนัก นอกจากจะเปรียบเทียบว่า "ความเป็นมาเลย์" นั้น ด้านหนึ่งเท่ากับ "ความเป็นมุสลิมที่ทันสมัย" นั่นเอง

เรื่องของภาษา
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรชาวมลายูเป็นส่วนใหญ่และพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของชาวตานี. "ความเป็นมาเลย์" ถูกบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ อินโดนีเซีย บรูไน และมาเลเซีย ใช้ภาษามาเลย์มาตรฐาน อินโดนีเซียรับการใช้อักษรโรมันมาเป็นตัวเขียน [Bahasa Indonesia] เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑, มาเลเซียใช้ภาษามาเลเซีย [Bahasa Malaysia] เป็นภาษาราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ โดยเปลี่ยนการใช้อักษรยาวีมาเป็นอักษรรูมี (6)

การปรับเปลี่ยนในมาเลเซียก็เพื่อมุ่งพัฒนาด้านภาษาและหนังสือ สร้างคำศัพท์มลายูด้านต่างๆ เพื่อการศึกษาในระดับสูง เป็นส่วนสำคัญทำให้ชาวมลายูมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ภาษากลายเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิตของคนมลายูในมาเลเซีย (7)

สิ่งเหล่านี้คนตานีในสามจังหวัดไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ในขณะที่การสื่อสารระหว่างคนมลายูในโลกของมาเลย์ สามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษามาเลย์มาตรฐานและอักษรรูมี เอกสารตำราและหนังสือจำนวนมากพิมพ์เผยแพร่ความรู้สู่ชาวมลายูในประเทศเหล่านั้น แต่คนตานียังคงใช้อักษรยาวี ซึ่งเคยใช้กันอยู่ในโลกมาเลย์ยุคก่อน ยังพูดภาษายาวีแบบปาตานี

มีนักวิชาการสมัครเล่นที่เป็นคนตานี ได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาขั้นสูงแบบไทย ใช้ภาษายาวีท้องถิ่นเมื่ออยู่บ้าน แต่รู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องไปประชุมในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาวมลายูในมาเลเซีย ทั้งที่ทราบข้อมูลเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถสื่อสารได้ดั่งใจ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า "คนตานี" ขาดโอกาสในการสื่อสารและการศึกษาที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในโลกของมาเลย์ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลเพื่อปรับตัวเองให้ทันโลกและวิทยาการสมัยใหม่แบบมาเลเซีย

การศึกษาในทางศาสนาคงไม่เพียงพอ ความภาคภูมิใจใน กีตาบยาวี [Kitab Jawi] ซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นโดยอุลามะห์ชาวปาตานี และกลายเป็นหนังสือพื้นฐานความรู้ของศาสนาอิสลามที่สำคัญในอดีตที่โด่งดังและแพร่หลายในหมู่ชาวมลายูที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ (8) คงไม่เพียงพอสำหรับการนำพาคนตานีไปสู่โลกแห่งการศึกษาที่เท่าทันโลกการศึกษาของชาวมลายู

คนอาหรับที่เมกกะจะเรียกคนมุสลิมที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า "คนยาวี" และในอดีต คนมาเลย์มุสลิมเรียกตัวเองว่า "คนยาวี" แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องพ้นสมัยไป ก่อนปัจจุบันราวสักยี่สิบปี "คนยาวี" (9) เป็นที่รู้กันว่าคือคนจากปัตตานี ประเทศไทยและได้กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นเรียกตนเองว่า "คนนายู" ในทุกวันนี้

คนตานี คนยาวี คนนายู
การเปลี่ยนการเรียกตนเองจาก "คนยาวี" ซึ่งหมายถึงคนที่พูดภาษายาวี ใช้ตัวอักษรยาวีและเป็นคนจากปัตตานี มาเป็น "คนนายู" หรือคนมลายูในภาษามาเลย์มาตรฐาน มีผู้สังเกตและให้ความเห็นว่า น่าจะเริ่มเมื่อสยามแยกรัฐในปาตานีเดิมบางส่วนให้กับอังกฤษ ในพ.ศ.๒๔๕๒ เป็นต้นมา จนถึงเมื่อราวยี่สิบปีที่ผ่านมา อาจจะพร้อมๆ กับกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามที่ผ่านมาจากมาเลเซีย เริ่มจากคนที่มีฐานะเป็นคนชั้นกลางและมีการศึกษาอาศัยอยู่ในเมือง และพอใจจะเรียกตนเองว่า "คนนายู"มากกวา "คนยาวี" เพราะคำว่าอาแฆยาวีค่อนข้างจะรู้สึกว่าเป็นพวกบ้านนอกหรือคนชนบทคล้ายๆ กับคำว่าชาวเขา (10) ทุกวันนี้ คนนอกจะรู้จัก "คนตานี" ในนาม "คนนายู" มากกว่า "คนยาวี" ที่แทบไม่เคยมีใครอ้างถึงแล้ว เพราะต่างเรียกตนเองว่า "คนนายูหรือออแฆนายู" เพื่อให้ต่างไปจาก "ออแฆซีแยหรือคนสยาม"

ในขณะเดียวกัน "คนตานี" ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นพลเมืองที่กรุงเทพฯ และอาศัยอยู่ในปริมณฑลตามจังหวัดรอบนอก เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา แม้บางส่วนจะกลับไปสู่ปัตตานีในรุ่นต่อมา แต่ชุมชนเหล่านี้ยังคงอยู่เป็นจำนวนมาก ยังคงนับถือศาสนาอิสลามและบางส่วนยังคงพูดภาษายาวีอยู่ (เช่นที่ชุมชนท่าอิฐ) แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีสถานภาพแตกต่างไปจากชาวมลายูมุสลิมที่เป็นคนตานี เพราะสภาพสังคมในเมืองสามารถซ่อนเร้นอัตลักษณ์ของตนเองให้พ้นไปจากสายตาของคนกลุ่มใหญ่ได้ นอกจากในสายตาของผู้คนละแวกใกล้เคียงแล้ว พวกเขาแทบไม่มีตัวตนในสังคมของกรุงเทพมหานคร

การดำรงอยู่ทางศาสนาก็กลายเป็นบุคคลชั้นสอง คือพวกที่ไม่นับถือพุทธ ซึ่งอาจจะถูกกำหนดจากทางรัฐให้แตกต่าง แต่คนเชื้อสายตานีในปัจจุบันถูกมองจากคนในพื้นที่ว่า พวกเขาได้หลงลืมอดีตไปหมดแล้ว มาตุภูมิในปัจจุบันก็คือ หนองจอก, ลาดกระบัง, นนทบุรี, ปทุมธานี, ไม่ใช่ "ปาตานีดารุสลัม" หรืออีกนัยหนึ่ง มุสลิมที่กรุงเทพฯ หรือภาคกลาง ไม่ใช่คนตานีอีกต่อไป แต่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่เป็นมุสลิม

ดังนั้น คนมลายูในมาเลเซีย, คนตานีที่กรุงเทพฯ, และคนตานีที่ปัตตานี, จึงถูกตัดขาดออกจากกันโดยพื้นที่ทางสังคม [Social Space] (11) นับแต่กระบวนการสร้างรัฐชาติเกิดขึ้น ขอบเขตพื้นที่แน่นอนจึงกลายเป็นพื้นที่ทางสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกันอย่างน้อยที่สุด และแน่นอนที่สุด ได้ตัดขาดชีวิตของคนตานีไว้ในโลกของยาวี ซึ่งหมายถึง โลกของมาเลย์ที่พ้นสมัยและแช่นิ่งโดยขาดการพัฒนาและด้อยโอกาส ไม่ทัดเทียมคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่นๆ

ความต้องการแบ่งแยกดินแดน
คนตานีสามจังหวัด ถูกทิ้งไว้กับปัญหาลักษณะเดียวมาตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้งดังกรณี เต็งกู อับดุลกอเดร์ กอมารุดดีน กษัตริย์ปาตานีองค์สุดท้าย ที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่กลันตันเพราะเรียกร้องเอกราชคืนในปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีการสู้รบที่อำภอมายอ โดยถูกจับข้อหาเป็นกบฎ. กรณีหะยีสุหรงและดุซงญอ ใน พ.ศ.๒๔๙๐ และ ๒๔๙๑ โดยมี "ผี" ของการเรียกร้องเอกราชเพื่อปลดแอกจากรัฐไทยและสร้าง "อาณาจักรหรือชาติ" ของตนขึ้นมาใหม่ เป้าหมายเพื่อรวมกับกลุ่ม (ชาติพันธุ์) เดิมของตนเอง เป็นแม่แบบของปัญหา และถูกมองอย่างเป็นภาพนิ่งมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้อยู่ภายใต้การจองจำของ การสร้างประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี ที่มักจะนำมาใช้อ้างอิงจนกลายเป็นข้อสรุปสำเร็จรูปสำหรับเหตุผลในการเรียกร้องรัฐอิสระ ทั้งจากกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ หรือกลุ่มต่อต้าน และนักวิชาการของรัฐที่มองภาพความไม่สงบในพื้นที่นี้ แล้วมักสะท้อนสาเหตุสำคัญว่า มาจากรากเหง้าปัญหาทางประวัติศาสตร์เป็นการอารัมภบทกันอยู่เสมอ

ดังข้อสรุปเรื่อง "ลัทธิการแบ่งแยกดินแดน" ของอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ โดยย่อว่า ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทยเกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยาม ที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน

กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้อง และสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่า เป็นภยันตราย และข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาล จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสถานการณ์ในยุคสงครามเย็น ได้มีการสนับสนุนวาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ซึ่งกลายมาเป็นความชอบทำที่จะจัดการผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง (12)

จนปัจจุบันนี้ การมอง "คนตานี" ยังเป็นการใส่แว่นเดิมนับจากสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕ ที่รู้สึกรำคาญและต้องการ "จัดการ" กับพื้นที่แห่งความแตกต่างอย่างเบ็ดเสร็จ แม้รัฐไทยมีโอกาสเผชิญปัญหาอื่นๆ เช่น ในยุคสงครามเวียดนามหรือต่อมาในยุคสงครามเย็น การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความซับซ้อนของปัญหามากเช่นกัน รัฐไทยมีประสบการณ์จากการเข้าจัดการปัญหาทั้งในเขตอีสานและเหนือที่มีความซับซ้อนของปัญหา แต่การมองปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ก็ยังมีโจทย์อยู่ในประเด็นเดิม คือ "การแบ่งแยกดินแดน" (หมายถึงคนมลายูมุสลิมต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อไปรวมกับมาเลเซีย?) เห็นได้จากการแสดงความคิดของผู้รับผิดชอบในบ้านเมืองและการแสดงความเห็นของประชาชนในเวบบอร์ดต่างๆ รวมทั้งบทความ-หนังสือจากทหารเก่า ผู้เคยรับผิดชอบในการแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มาหลายยุค

ในความเป็นจริงจะมีที่ทาง (พื้นที่) เหลือให้คนตานีปัจจุบันในสังคมของรัฐชาติไทยและสังคมของโลกมลายูสักเท่าใด ในกระบวนการสร้างรัฐชาติให้ความสำคัญกับอาณาเขตหรือพื้นที่ การสูญเสียดินแดนสำหรับคนไทยเท่ากับเสียอธิปไตยและเป็นเรื่องใหญ่ การผนวกดินแดนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเงื่อนไขทำได้ยากอย่างยิ่งในสังคมโลกปัจจุบัน

เงื่อนไขของสาเหตุแห่งความรุนแรงของปัญหาในภาคใต้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เป้าหมายเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอาจจะเป็นรองต่อความคับแค้นที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ปัญหาในเรื่องความรุนแรงของแนวคิดทางศาสนา อาจจะเป็นปัจจัยโดยอ้อมที่กระตุ้นให้การแบ่งแยกเพื่ออุดมการณ์ทางศาสนาด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งไม่ใช่สาเหตุหลักเท่ากับการเปลี่ยนของระบบคุณค่าและโครงสร้างสังคมภายในที่ถูกทำลายไป

ทุกวันนี้การสงครามเปลี่ยนไป เป็นสงครามชนิดพิเศษ [Guerrilla Warfare - สงครามกองโจร, กองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับกองกำลังที่เข้มแข็งกว่าด้วยการลอบทำลาย] ที่กลายเป็นสงครามกลางเมืองแทรกซึมไปทั่วทั้งสังคมในพื้นที่รุนแรงสามจังหวัด ในขณะที่รัฐบาลยังใช้การจัดรบจากกองทัพและประสบการณ์ปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอดีตให้เห็นอย่างชัดเจน

ความโกลาหลครั้งนี้ คือสงครามภายใน สังคมตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวเพราะการสู้รบนั้นเป็นการก่อการร้ายที่ไม่มีรูปแบบและยุทธวิธี ไม่เห็นศัตรูที่ชัดเจนเพราะแฝงเร้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง และชาวบ้านทุกคนอาจถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงนี้ได้ตลอดเวลา คนบริสุทธิ์หลากหลายที่ผ่านมาคือเหยื่อของสถานการณ์ และเมื่อเริ่มก่อรูปเป็นขบวนการเช่นนี้แล้วก็ยากจะยุติ

มีเพียงการเรียนรู้ ประนีประนอม ปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความคับแค้น และทำความเข้าใจต่อสังคมอันหลากหลายภายใต้เอกภาพของชาวมุสลิมในท้องถิ่นท่านั้น จึงจะเป็นวิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ก้าวเข้าสู่สงครามแบบที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่เคยมีรัฐแห่งใดในโลกนี้ สามารถยุติปัญหาดังกล่าวโดยวิธีปราบปรามด้วยความรุนแรงได้สำเร็จ

ความเป็นมุสลิมคือปัญหา?
นับวันในโลกของข้อมูลข่าวสารนับแต่เหตุการณ์วินาศกรรมที่ ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา มุสลิมทั่วโลกก็ถูกมองว่าเป็นผู้นิยมความรุนแรง เป็นการติดภาพลักษณ์ทางศาสนา จนทำให้ผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นประชากรชั้นสอง ไม่เว้นแม้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีผู้ให้ความเห็นว่าความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงโดยชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม แต่เหตุการณ์นี้ส่งผลสะเทือนต่อประชากรทุกคนในโลกของเรา

ในโลกทุกวันนี้ "กระแสการฟื้นฟูศาสนา" [Religious Revivalism] คือขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีความสำคัญซึ่งควรนำมาพิจารณา เพื่อทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมและศาสนาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมชาวมุสลิมทุกวันนี้

การฟื้นฟูศาสนาคือ ความพยายามไปสู่โครงสร้างเดิมในอดีตในรูปแบบที่สัมพันธ์กับยุคสมัยปัจจุบัน บางมุมมองว่า เกี่ยวข้องกับการตีความพระคัมภีร์ใหม่ การย่อหย่อนทางศาสนา การเป็นโลกวิสัย [Secularism] ความเป็นเหตุผล และอิสรภาพ สิ่งเหล่านี้ก็คือการปรับความคิดทางศาสนาและการปฏิบัติไปสู่วัฒนธรรมแบบทันสมัยโดยการใช้รูปแบบของความทันสมัยในการปรับตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การไปสู่หลักพื้นฐานเพื่อพลักดันแนวโน้มแบบทันสมัยให้ถูกต้องกับหลักธรรมเนียมประเพณี การฟื้นศาสนาเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อพยายามอยู่เหนือแรงกดดันของความทันสมัย หรือเป็นการต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านผู้มีอิทธิพลเหนือกว่า (13)

การฟื้นฟูศาสนาเกิดขึ้นได้กับศาสนาต่างๆ ทั่วโลก เช่น การฟื้นศาสนาฮินดูในชุมชนอินเดียทั่วทั้งเอเชีย ความเคลื่อนไหวของการฟื้นศาสนาพุทธที่ทำให้เกิดสภาพุทธศาสนาโลก ส่วนกระแสหรือความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเป็นอิสลาม [Islamization] เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นความเคลื่อนไหวทางศาสนา. ดาวะห์ [Dakwah] เป็นคำศัพท์ที่รับมาจากภาษาอารบิค คือ da'wah หมายถึงการเชิญชวนให้มีศรัทธาต่ออิสลาม และแสดงปฏิกิริยาต่อต้านแนวคิดและการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักศาสนา

ดาวะห์ (da'wah) และวาฮาบี
ดาวะห์ เป็นขบวนปฏิรูปของสุหนี่ เริ่มที่อินเดียแล้วแพร่ไปทั่วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเคลื่อนไหวในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ระหว่าง ค.ศ.๑๙๐๐-๑๙๔๒ สำหรับกลุ่มเพื่อฟื้นอิสลามเกิดขึ้นในช่วงหลังการเรียกร้องเอกราชในมาเลเซีย และแพร่เข้ามาสู่สังคมในสามจังหวัดภาคใต้ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการสร้างอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมอย่างแข็งขัน

วาฮาบีเป็นขบวนการของผู้ปฏิบัติเคร่งครัดทางศาสนาตามแนวทางท่านวาฮาบี แพร่หลายในอาหรับ ปัญญาชนทางศาสนาที่จบจากอาหรับจึงรับอิทธิพลเหล่านี้แล้วแพร่ไปทั่วโลก กลับไปปฏิรูปการศาสนาในบ้านเมืองตนเองให้ถูกต้องตามแนววาฮาบี ในสามจังหวัดก็เช่นกันมีผู้ไปเรียนศาสนาจำนวนมาก

เมื่อได้พูดคุยกับชาวบ้านอยู่ใกล้ๆ ปอเนาะภูมี ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในหมู่โต๊ะปาเกหรือนักเรียนปอเนาะที่ฐานะไม่ดีนัก พบว่าการออกไปดาวะห์ยังอินเดียเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของเด็กหนุ่ม เพื่อที่จะได้เรียนรู้โลกภายนอกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะศูนย์ดาวะห์ยังต่างประเทศจะช่วยเหลือออกค่าใช้จ่ายอยู่กินให้ แต่ต้องหาค่าเดินทางสำหรับตนเองและใช้เวลานานนับปี

Isamization มีผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เริ่มหันมาประพฤติปฏิบัติตามวัฒนธรรมที่เชื่อว่าจะถูกหลักศาสนามากกว่า เคร่งครัดต่อการเป็นอิสลามิกที่แท้มากขึ้น การไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักศาสนา การตีความใหม่ๆ ทำให้เกิดเอกลักษณ์ในหมู่ชาวมลายูมุสลิมแบบใหม่ที่เน้นศรัทธา และความเคร่งครัดมากขึ้นกว่าในอดีตมาก สร้างความรู้สึกแปลกแยกและหวาดระแวงในหมู่คนไทยที่นับถือพุทธศาสนา และมุสลิมที่ไม่มีท่าทีเคร่งครัดหรืออยู่ในกระแสการฟื้นฟูศาสนาแต่อย่างใด เมื่อผสมกับกระแสโลก ทำให้คนไทยและรัฐไทยในปัจจุบันลงความเห็นในใจทันทีว่า ปัญหาของสามจังหวัดภาคใต้คือการเป็นมุสลิมของคนในพื้นที่

นี่อาจเป็นสาเหตุของช่องว่างที่ถ่างออกจากการกันระหว่างชาวมุสลิมต่อชาวมุสลิมในท้องถิ่น หรือชาวพุทธและมุสลิม ที่นับวันจะกลายเป็นความไม่เข้าใจและขยายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้อีกมาก

ชีวิตที่สับสน
อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ควรจะเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ใช้คำว่า "มลายูมุสลิม" เพื่อหลีกเลี่ยงและแสดงความนับถือในการเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ในขณะที่รัฐพึงพอใจจะเรียกว่า "ชาวไทยมุสลิม" ที่เป็นการแสดงการไม่ยอมรับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โดยวัฒนธรรม เพียงนี้ก็พอจะมองเห็นนโยบายที่รัฐมีต่อปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ได้พอสมควร

หนทางของชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยถูกบีบรัดเข้ามาในทุกด้าน คำถามที่ตอบไม่ได้ในขณะนี้คือ "คนตานี" จะไปเดินไปสู่หนใด

การละทิ้งความเป็นมลายูสู่ความเป็นอิสลาม
รัฐไทยไม่รับรู้หรือให้ความสนใจที่คนสามจังหวัดไปเรียนต่อกันตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสไปโดยเปล่า หลายคนกลับมาเคว้งคว้าง "สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่รักการศึกษา" มีระบบการศึกษาของตนเองที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก การที่รัฐไทยระแวงและแทรกแซงการจัดการศึกษามาโดยตลอด ไม่ส่งเสริมระบบการศึกษาตามแนวทางที่ชาวมุสลิมในท้องถิ่นต้องการ คือการทำลายความคาดหวังในอนาคตของชาวมุสลิมอย่างสิ้นเชิง

จากกระแสการฟื้นฟูศาสนาของกลุ่มวาฮาบี ซึ่งมีนักศึกษาจากประเทศไทยไปเรียนเป็นจำนวนมาก มักได้รับการบริจาคเงินเพื่อการกุศล โดยผู้บริจาคนี้คือคนในตะวันออกกลางและการอุปถัมภ์ของกลุ่มออธอดอกซ์แก่โรงเรียนศาสนาไม่น้อย การเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เป็นแบบออธอดอกซ์ เช่น วาฮาบี และ Fundamentalist สร้างอุสตาสรุ่นใหม่ที่ผลิตนักเรียนซึ่งมีแนวคิดทางการเมือง (14) ผลก็คือการขยายตัวของความแตกแยกห่างเหินของเยาวชน ที่ละทิ้งความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบมลายูหรือแบบดั้งเดิม กลายเป็นกลุ่มคนเคร่งศาสนาที่ขาดความเข้าใจในมิติทางสังคม

ความขัดแย้งของกลุ่มเดิมที่ปฏิบัติแบบจารีต และกลุ่มวาฮาบีที่น่าสนใจ ปรากฏในเอกสาร ที่เป็นปฏิกิริยาของนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อการขยายตัวของแนวคิดวาฮาบีในวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแห่งนี้ กล่าวว่าสร้างความอึดอัดใจแก่นักศึกษาที่ไม่ใช่วาฮาบี สร้างความหนักใจแก่ผู้ปกครองที่จะส่งลูกหลานมาศึกษาต่อในสถาบันแห่งนี้ เพราะกลัวการครอบงำบุตรหลานของตน เพราะแนวคิดของวาฮาบีต่างไปจากการประพฤติและปฏิบัติของมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้อย่างมาก และดูถูกระบบการศึกษาแบบปอเนาะดั้งเดิม (15)

การสนับสนุนของมุสลิมจากตะวันออกกลาง ซึ่งได้บริจาคเงินนำมาใช้สร้างมัสยิดแทนที่สุเหร่าไม้เก่าๆ ที่ดูเหมือนกับอาคารแบบคนมาเลย์พื้นถิ่นทั่วไป มากกว่าที่จะเป็นสถานที่สำหรับอิสลามมิกชน รวมถึงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือกับครูสอนศาสนาบางกลุ่ม ได้สร้างความขัดแย้งในหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มแบบดั้งเดิม เพราะการสร้างมัสยิดขึ้นมาสักหลังหนึ่งโดยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านใช้เวลานาน เน้นความสามัคคีรวมพลัง แต่การบริจาคเงินจำนวนมากสู่สังคมหมู่บ้านเพื่อมีมัสยิดเพิ่มอีกหลังหนึ่ง อาจถูกมองจากคนกลุ่มใหญ่ว่าไม่จำเป็นเพื่อปฏิบัติศาสนากิจที่แตกต่างกัน กลายเป็นรอยร้าวในสังคมหมู่บ้านเล็กๆ ได้

ในขณะที่กลุ่มดาวะห์เน้นศรัทธาเข้าถึง และได้รับการยอมรับจากชาวบ้านอย่างไม่มีปัญหา จากคนที่เรียนศาสนาในชุมชน ในปอเนาะ เน้นการเชื่อโต๊ะครู การร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันในสังคม หลังการละหมาดจะมีการประชุมกันไต่ถามทุกข์สุข หาทางช่วยเหลือกัน คนส่วนใหญ่จึงยอมรับได้เร็ว เพราะสร้างความสามัคคีในชุมชน ดึงเยาวชนออกจากอบายมุขได้ ปัจจุบันมักจะเห็นการแต่งกายแบบดาวะห์เข้ามาแทนการแต่งการแบบมลายูมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็เห็นความต่างกันระหว่างการแต่งกายของกลุ่มวาฮาบีที่แต่งกายคล้ายชาวอาหรับ และ การแต่งกายแบบดาวะห์ที่แต่งกายด้วยชุดคลุมยาวสีขาว สวมหมวกกาปิเยาะ และ ในกลุ่มวาฮาบีที่มีบทบาทอยู่ในสังคมระดับมหาวิทยาลัยหรือเรียกว่าเป็นปัญญาชนทางศาสนา

ทั้งสองกลุ่มคือการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีต่อสังคมในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีแนวโน้มตัดขาดวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมแบบจารีตตามประเพณีมุสลิมดั้งเดิมที่มีรายละเอียดมากมาย เพื่อมุ่งไปสู่หลักศาสนาเพียงด้านเดียว ข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้อาจจะผิดก็ได้ เพราะผู้เขียนเป็นคนนอกที่ไม่ได้ทราบในทุกรายละเอียด เพราะยังพบผู้ที่นับถือการปฏิรูปทางศาสนาแบบสายใหม่ที่ยังใช้ชีวิตตามปกติในวัฒนธรรมแบบมลายู โดยไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

อัตลักษณ์นี้กลายเป็นเครื่องหมายของการต่อสู้บางอย่างด้วย ผู้นำในการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อโครงการของรัฐในพื้นที่บางคนมักใส่ชุดดาวะห์อยู่เสมอ และใช้เป็นอัตลักษณ์เพื่อแสดงความเป็นเฉพาะตนเมื่อออกนอกพื้นที่หรืออยู่ในหมู่คนไทยพุทธ แสดงออกถึงความเคร่งด้วยการปฏิบัติด้วยการแต่งกาย การสนทนา การละหมาด การรับประทานอาหารที่เคร่งครัดมากกว่าชาวมุสลิมโดยทั่วไป

การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มักมีผู้เลื่อมใสติดตามมากมาย สถานภาพเช่นนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า คล้ายๆ โต๊ะครูผู้มีชื่อเสียงจากปอเนาะ ซึ่งถือเป็นเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ หรือได้รับการยอมรับในสังคมของคนตานีอย่างแท้จริง

ทรัพยากรที่เหลือ กับคนที่ยังอยู่
หากลงไปในอ่าวปัตตานี ก็จะรับรู้ได้ว่ามีความคุกรุ่นของความขัดแย้งสะสมและตกตะกอนมาอย่างยาวนาน ปัญหาที่หนักหนาสาหัสคือ การแย่งชิงทรัพยากรจากขบวนการทุนนิยมที่รัฐเอื้อเฟื้อและสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยชอบ เพราะสามารถทำลายล้างสังคมมุสลิมที่ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ให้ย่อยยับไปถึงระดับครอบครัวที่เป็นรากฐานแห่งชีวิต

การรุกไล่ยึดชิงทรัพยากรไปจากบ้านเกิดกลายเป็นแรงกดทับมหาศาลแก่ เรืออวนลากอวนรุนที่ลากกันทั้งคืนและคงเหลือไว้เพียงผืนน้ำที่ว่างเปล่า เรือกอและเล็กๆ เทียบไม่ได้เลยกับเรือประมงจากในเมืองปัตตานี ทางฝั่งปัตตานีเห็นปล่องไฟจากโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเป็นกลุ่มๆ คือเขตอุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริมและกำลังรุกที่ถมทะเลเข้ามาเรื่อยๆ และแน่นอนโรงงานเหล่านี้ปล่อยมลพิษสู่อ่าวปัตตานีสะสมต่อเนื่องกันมาหลายปี ส่วนนาเกลือแห่งเดียวในแหลมมลายูคือบริเวณปากน้ำปัตตานีมาจนถึงบ้านบางปู นาเกลือโบราณส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุจึงให้เช่าใช้ทำนากุ้งและโรงงานอุตสาหกรรม และสงวนพื้นที่ไว้ทำนาเกลือเพียงเล็กน้อยพอที่จะได้ชื่อว่าเคยเป็นนาเกลือแห่งเดียวเท่านั้นในภาคใต้

อ่าวปัตตานีที่เคยได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแหลมมลายู เปลี่ยนไปหวังประโยชน์เฉพาะหน้าโดยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง และกำลังทำลายชีวิตวัฒนธรรมของชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีอย่างรุนแรง ทุนนิยมในประเทศไทยมีผลต่อชุมชนของชาวประมงและชาวนาหรือสังคมแบบดั้งเดิมของชาวมลายู เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการดำรงชีวิต ที่ดินเปลี่ยนมือ เริ่มมีกรรมสิทธิ์และสูญเสียกรรมสิทธิ์นั้นไปอย่างง่ายดาย

การสูญเสียอาชีพการทำมาหากินที่สมบูรณ์ไป และปรับตัวไม่ได้กับการรุกไล่ของทุนนิยมที่ขัดกับหลักศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การค้นหาพื้นที่ของตนเองแบ่งออกเป็นหลายๆ กลุ่มคน กลุ่มที่มีโอกาสมากกว่า เช่น สถานภาพสูง มีฐานะ มีรากฐานหรือเครือญาติในกรุงเทพฯ ก็จะไปแสวงหาโอกาสทางการศึกษาหรือเพื่อหางานทำ คนกลุ่มนี้สามารถปรับตัวได้และมีความยืดหยุ่นมากกว่า

อีกกลุ่มด้อยโอกาสกว่า แต่ต้องการเริ่มต้นมี "ทุน" เพื่อใช้ในการเริ่มกิจการของตัวเอง หลังจากเปลี่ยนจากอาชีพทางเกษตรกรรมแล้ว เช่น ไม่มีที่ดินเพียงพอ ไม่มีสวนผลไม้ หรือ สวนยาง การมองไปที่มาเลเซียคือคำตอบ เพราะเมืองหลวงของเราไม่สามารถตอบสนองความเป็นอยู่แบบชาวมุสลิมด้วยกัน หรือค่าตอบแทนที่คุ้มค่าให้ได้

ในสามจังหวัดภาคใต้ ปัจจุบันไม่อาจกล่าวได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่ เพราะการรุกคืบของทุนนิยมทำได้ช้า ปัจจุบันทราบกันแล้วว่า สภาพแวดล้อมที่คิดกันว่ายังไม่เปลี่ยนแปลงนั้น เปลี่ยนไปเสียจนชาวบ้านธรรมดาคงปรับตัวได้ยาก เกิดปัญหาสำหรับชีวิตแบบพออยู่พอกินแต่ดั้งเดิม โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลง การปรับตัวได้ช้า และโอกาสในการทำงานสำหรับผู้มีการศึกษาและด้อยการศึกษามีน้อย ในท่ามกลางชีวิตและความสับสนนี้จะทำอย่างไรต่อไป

การออกไปทำงานมาเลเซีย ความหวังสุดท้าย
จากการพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านบางแห่ง ประเมินคร่าวๆ ได้ว่า คนในหมู่บ้านเคยไปทำงานที่มาเลเซียในช่วงหนึ่งของชีวิตเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า ๖๐ % บางหมู่บ้านหนุ่มสาวที่จบการศึกษาโดยมากในชั้นประถมหรือมัธยมต้น อายุเพียง ๑๕-๑๖ ก็ออกไปทำงานที่มาเลเซียกันจนเกือบหมดแล้ว
ส่วนใหญ่ไปทำงานร้านต้มยำที่มาเลเซียที่มีอยู่ทุกรัฐ ไม่ทราบว่ามีจำนวนแน่นอนเท่าไหร่ ที่นิยมมากที่สุดคือทำงานร้านต้มยำ มีคนทำงานแบบถูกกฎหมายขึ้นทะเบียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน ส่วนที่ไม่มีใบอนุญาต ไปทำงานประมง เกี่ยวข้าว ตัดปาล์ม กรีดยาง ก่อสร้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไม่ถึงน่าจะมากพอๆ กันหรือมากกว่า ดังนั้น จึงมีแรงงานนับหลายแสนคนที่ออกไปทำงานในมาเลเซีย

นิยา, วัยต้นสามสิบมาจากบาโงยซิแย อำเภอยะหา จังหวัดยะลา. เด๊าะ อายุอ่อนกว่านิดหน่อยมาจากปัตตานี พบรักกันที่ร้านต้มยำ หลังแต่งงานทั้งคู่มีลูกคนหนึ่ง ตอนนี้อยู่กับย่าที่บาโงยซิแน ทั้งสองคนต้องทิ้งลูกไว้ให้เข้าโรงเรียนที่เมืองไทยเพราะเข้าโรงเรียนที่นี่ไม่ได้ ทั้งร้านมีลูกน้องอยู่ ๑๕ คน ส่วนใหญ่เป็นญาติเกี่ยวดองกันทั้งนั้น

นิยาเป็นลูกจ้างอยู่นาน เก็บเงินเพื่อเปิดร้านซึ่งเป็นความหวังของคนหนุ่มสาวที่มาทำงานมาเลเซีย หลังจากนั้นก็ชักชวนพี่น้องให้มาทำงานและกลายเป็นเจ้าของร้านไปด้วยกัน คือ นิเฮง นิโมะ และน้องสาวของเด๊าะ ทั้งหมดรวมเป็น ๔ ร้าน ลักษณะร้านก็ไม่ใหญ่มากมาย ส่วนใหญ่อยู่บริเวณนอกเมืองในส่วนที่ขยายตัว มีพื้นที่มากพอจะตั้งโต๊ะอาหารได้หลายโต๊ะ

ทำเลร้านของนิยา อยู่ตรงสี่แยกนอกเมืองมะละกา ในย่านที่เริ่มมีตึกสูงของที่พักตากอากาศเข้ามา เพราะไม่ไกลจากหาดชายฝั่งทะเลนัก ทำเลค่อนข้างดีเพราะเห็นได้ง่าย มีที่จอดรถกว้างขวาง นิยาลองเช่าดู ค่าเช่าเฉพาะที่ดินเดือนละหมื่นเจ็ดพันบาท นิยาใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างงานไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๗ หมื่นบาท เริ่มจากหกพันบาทจนถึงพ่อครัวได้มากที่สุดหมื่นสี่พันบาท แต่นิยาก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแบบถูกกฎหมายเฉลี่ยคนละสองพันบาทต่อเดือน โดยแบ่งจ่ายคนละครึ่งกับลูกน้อง

นิยามาเซ้งตึกแถวเพื่อเป็นที่พักอาศัยอยู่ แบ่งๆ กันกับลูกน้องทั้งหมด ต้องจ่ายเดือนละสามหมื่นบาท นิยามีรถขับสองคัน ทิ้งไว้ที่บ้านยะลาคันหนึ่งและนำมาใช้ที่มะละกาคันหนึ่ง ค่าใช้จ่ายที่นิยาและเด๊าะต้องใช้จ่ายหมุนเวียนต่อเดือนในร้านต้มยำร้านเดียวไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท

หากนิยาอยู่บ้าน ด้วยการศึกษาไม่จบ ป.๔ และเด๊าะที่จบเพียงมัธยมต้น คงไม่พ้นรับจ้างกรีดยาง ทั้งๆ ที่นิยาและเด๊าะเป็นคนฉลาดและมีศักยภาพในการบริหารจัดการอย่างดีเยี่ยม ดังที่เห็น ครอบครัวของนิยาฐานะไม่ดีและไม่มีที่ดินของตัวเอง แต่นิยาส่งพ่อแม่ไปฮัจห์ได้และซื้อที่ดินซึ่งเป็นสวนยางไว้ให้ทำด้วยได้แล้ว

บุคคลสองสัญชาติคืออะไร ไม่มีความแน่ชัด. สำหรับแรงงานถูกกฎหมายการถือบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องถูกตรวจตราอย่างเคร่งครัด การเชื่อมโยงแรงงานที่ไปทำงานในมาเลเซียกับคนสองสัญชาติ และขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดูเป็นสมมุติฐานที่เลื่อนลอยเกินไป

วันนี้ นิยาในวัยต้นสามสิบ กลายเป็นความมุ่งหวังของคนในชุมชนที่ผู้ใหญ่ต้องการให้ดูเป็นตัวอย่าง และเป็นอุดมคติของคนรุ่นหนุ่มสาวที่อยากจะสร้างฝันให้ได้เหมือนนิยา แต่ความฝันเหล่านี้ไล่หาในประเทศไทยไม่ได้ และไม่มีโอกาสที่เด็กหนุ่มสาวจากชายแดนในสามจังหวัดจะมีโอกาส นอกเสียจากที่มาเลเซีย

สรุป
การที่รัฐไม่สนใจที่จะ "เห็น" ความเปลี่ยนแปลงของสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน การเปลี่ยนแปลงจากกระแสของมุสลิมโลก กระแสเรื่องความทันสมัย หรือไม่เข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดแก่ชาวมลายูมุสลิมปัตตานี ทำให้เกิดการแก้ปัญหาไปที่จุดเดิม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน

ในขณะที่รัฐสนับสนุนให้เกิดการทำลายพื้นที่ ทรัพยากร ทุนทางศีลธรรม และวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากศาสนาของชาวมลายูมุสลิมไปจนหมด (เป็นการสร้างอาณานิคมภายในเพื่อที่ดึงดูดทรัพยากรเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นเพื่อการบูรณาการทางการเมืองเพียงเท่านั้น) และปล่อยให้พวกเขาผจญปัญหาที่เกิดขึ้นจากโจทย์ปัญหาใหม่ๆ ด้วยตัวเอง อาจเป็นเหตุให้คนถูกฆ่าตายไปราวใบไม้ร่วงไปทุกวัน เพราะการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด รัฐยังคงมองภาพความเป็นคนตานีในต้นแบบทางประวัติศาสตร์ ที่เห็นเป็นกลุ่มคนที่สร้างแต่ปัญหาและไม่คุ้มในการเกี่ยวข้องด้วย หนทางไปสู่สันติสุขและสันติภาพไม่ได้รับการพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา การแก้ปัญหาของรัฐโดยตำรวจหรือกองทัพรวมทั้งพลังสมานฉันท์จึงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เข้าใจบริบทของปัญหาที่เปลี่ยนไปแล้ว

ข้อเขียนของอิบรอฮิม ชุกรี ในหน้าสุดท้ายกล่าวว่า

"ในจำนวน ๑๐๐ ล้านคนของประชากรของชนชาติมลายูทั้งหมดนั้น ชาวมลายูปะตานีถือว่าเป็นผู้โชคร้ายที่สุด ถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบประชาธิปไตยเป็นเวลาที่ยาวนาน แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็นประชาธิปไตยที่แบ่งชนชั้นของเชื้อชาติซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลสยาม โชคชะตาของชาวมลายูปะตานีจึงเปรียบได้กับต้นไม้เล็กๆ ชนิดหนึ่งที่ไม่มีวันที่จะเจริญเติบโตได้" (16)
เราจะยอมให้เพื่อนร่วมประเทศเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว ดังคำทำนายของนักประวัติศาสตร์เมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้วเชียวหรือ?

+++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปทบทวนบทความเกี่ยวเนื่อง

คำขอบคุณ
ขอขอบคุณอาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ในความกรุณาให้ข้อคิด และชี้ให้เห็นความบกพร่องของการใช้ภาษาในบทความนี้ และขอขอบคุณนักวิจัยท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้ ที่ดูแลเอาใจใส่ความปลอดภัย และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเข้มข้น ตลอดช่วงเวลาแห่งความหวดกลัวในห้วงสองปีที่ผ่านมา

++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) Anthony Reid. Understanding Melayu (Malay) as a Source of Diverse Modern Identities. Journal of Southeast Asian Studies. Vol 32: 3, 2001.

(2) การอธิบายถึงลักษณะความเป็นมลายูทางวัฒนธรรม และเกี่ยวข้องกับสภาพการณ์ทางประวัติศาสตร์ในคาบสมุทรมลายู ดู "บทสรุป: บางสาระในประวัติศาสตร์" ใน ประวัติศาสตร์มาเลเซีย บาร์บาร่า วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย. อันดายาม พรรณี ฉัตรพลรักษ์ แปล, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, ๒๕๔๙.

(3) ภาษามาเลย์มาตรฐาน [Standard Malay] หมายถึงการภาษามาเลย์อย่างถูกต้อง วลีในภาษามาเลย์คือ Bahasa Melayu Baku ซึ่งมีการตกลงร่วมกันระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ว่าใช้ภาษาบาฮาซารีเยา (Bahasa Riau) เป็นมาตรฐาน เพราะภาษาของหมู่เกาะรีเยาถือว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษามลายู

(4) ปรากฏคำนิยามในบทนำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Saroja Devi Dorairajoo. "No Fish in the Sea: Thai Malay Tactics of Negotiation in a Time of Scarcity" Ph.D. dissertation, Dept. of Social Anthropology, Harvard University. (2002)

(5) David Brown, THE STATE AND ETHNIC POLITICS IN SOUTH EAST ASIA, Routledge, London and New York, 1994., pp. 206-265. ภูมิบุตรา กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แบบหนึ่งที่เป็นทั้งคำเรียกตนเอง การอ้างสิทธิเหนือแผ่นดิน โดยมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญของการแยกแยะความเป็นกลุ่ม ภูมิบุตรากลายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว มีการเกิดขึ้นของสภาเศรษฐกิจภูมิบุตรา [Bumiputra Economic Congress] ในปี ๑๙๖๕ โดยข้าราชการ นักการเมืองและชนชั้นกลางโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาระบบการเงินของคนมาเลย์ เพื่อถ่วงดุลกับนักลงทุนชาวจีนที่เข้ามาในประเทศและที่อยู่ในประเทศแต่เดิม

มีการสถาปนาธนาคารภูมิบุตรา (Bank Bumiputra) พร้อมกับ MARA (Council of Trust for the Indigenous People) เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินและโครงการต่างๆ ที่เกิดจากชาวมาเลย์ การเกิดขึ้นของภูมิบุตราจึงกลายเป็นสิ่งที่นักวิชาการตะวันตกหลายคนมองว่า เป็นมายาคติ [myth] ของคนชั้นกลาง พ่อค้า และนักการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อธำรงเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเมือง และการสร้างชาติ มากกว่าการอธิบายถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตนเอง ภูมิบุตราจึงกลายเป็นทั้งการเมืองเรื่องชาติพันธุ์และอุดมการณ์ทางชาติพันธุ์ ที่ถูกสร้างขึ้นและกีดกันคนหรือเชื้อชาติอื่นออกไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การสร้างชาติในยุคหลังอาณานิคม

(6) จารึกภาษายาวีที่เก่าที่สุดพบที่ตรังกานู ในช่วงราวปลายศตวรรษที่ ๑๔ เขียนโดยใช้อักษรยาวี ซึ่งหมายถึงตัวอักษรอารบิคที่ยืมและปรับมาใช้ในภาษามาเลย์ ซึ่งไม่มีตัวอักษรของตนเอง นำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวอาหรับตั้งแต่ศาสนาอิสลามแพร่เข้ามาในศตวรรษที่ ๑๔

(7) ประวัติศาสตร์มาเลเซีย บาร์บาร่า วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย. อันดายาม พรรณี ฉัตรพลรักษ์ แปล, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, ๒๕๔๙. (หน้า ๔๘๒-๔๘๗)

(8) Hasan Madmarn. The Pondok & Madrasah in Patani. PENERBIT UNIVERSITI KEBANGSAAN MALAYSIA, 2001 [pl.49-50]

(9) คำว่า "ยาวี" มีบริบทในการใช้คือ Sura Jawi คือการเขียนภาษายาวี Baso Jawi เรียกภาษาพูด และ Ore Jawi คือคนยาวี

(10) ข้อสังเกตนี้น่าสนใจที่จะตรวจสอบอัตลักษณ์การเรียกชื่อมักจะเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์ Pierre Le Roux. To Be or Not to Be ... the Cultural Identity of the Jawi. Asian Folklore Studies. Vol 57: 2, 1999.

(11) "Social space" คือ พื้นที่ที่กำหนดโดยระบบของลักษณะร่วมของผู้คน หมายถึงรูปลักษณ์ความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกำหนดมา, ibid., อ้างจากงานของ CONDOMINAS, Georges. L'Espace social. A propos de l'Asie du Sud-Est, 1980

(12) กำเนิดและความเป็นมาของ "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ของมลายูมุสลิมในภาคใต้ไทย แปลและเรียบเรียงจาก งานวิจัยของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง Origins of Malay Muslim "Separatism" in Southern Thailand โดยได้รับทุนจาก Asian Research Institute (ARI) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ [National University of Singapore] ใน พ.ศ. ๒๕๔๗

(13) Khun Eng Kuah. Maintaining Ethno-Religious Harmony in Singapore. Journal of Contemporary Asia. Vol 28: 1, 1998.

(14) ความเห็นเหล่านี้ไม่ถูกยืนยันในพื้นที่จากการสอบถามบุคคลในระดับปัญญาชน หลังจากผู้เขียนเฝ้าสังเกตและหาคำตอบก็ยังไม่ชัดเจน แต่ถูกนำเสนอในบทความของ Aurel Croissant. Unrest in South Thailand: Contours, Causes, and Consequences since 2001. Contemporary Southeast Asia. Vol 27: 1, 2005.

(15) เสียงโต้จากกลุ่มส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เซาดารอ) สำนักข่าวประชาไท [www.prachathai.org] เปิดพื้นที่ให้'กลุ่มส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้' หรือเซาดารอ ชี้แจงและตอบโต้รายงานเรื่อง 'เจาะวงใน 'นักศึกษามุสลิม' กับสถานการณ์ร้ายชายแดนใต้' ที่มีผลกระทบต่อนักศึกษามุสลิมในวงกว้าง ๑๖/๘/๒๕๔๙ ความขัดแย้งเช่นนี้ เมื่อสอบถามบุคคลในระดับปัญญาชนจะเห็นว่า ไม่ใช่ปัญหามากนัก เป็นความขัดแย้งระหว่างสำนักคิด แต่สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านที่มองเห็นความขัดกันดังกล่าว พบว่ามีปฏิกิริยาเช่นเดียวกับนักศึกษาที่ออกแถลงการณ์

(16) อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี แปลโดย ดร.หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ. ซิลค์เวอร์ม บุ๊ค, ๒๕๔๙ (หน้า ๙๕)

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การเปลี่ยนการเรียกตนเองจาก "คนยาวี" ซึ่งหมายถึงคนที่พูดภาษายาวี ใช้ตัวอักษรยาวีและเป็นคนจากปัตตานี มาเป็น "คนนายู" หรือคนมลายูในภาษามาเลย์มาตรฐาน มีผู้สังเกตและให้ความเห็นว่า... เริ่มจากคนที่มีฐานะเป็นคนชั้นกลาง และมีการศึกษาอาศัยอยู่ในเมือง และพอใจจะเรียกตนเองว่า "คนนายู"มากกวา "คนยาวี" เพราะคำว่าอาแฆยาวีค่อนข้างจะรู้สึกว่าเป็นพวกบ้านนอกหรือคนชนบทคล้ายๆ กับคำว่าชาวเขา. ทุกวันนี้ คนนอกจะรู้จัก "คนตานี" ในนาม "คนนายู" มากกว่า "คนยาวี" ที่แทบไม่เคยมีใครอ้างถึงแล้ว เพราะต่างเรียกตนเองว่า "คนนายู"

 

09-04-2550

Malay Muslim
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com