งานแปลเกี่ยวกับความคิดของ
Kwame Anthony Appiah
โสกราตีสยุคโลกาภิวัตน์
ผู้รณรงค์ความหลากหลาย: Cosmopolitanism
สฤณี
อาชวานันทกุล : เขียนและแปล
นักวิชาการ
และ นักแปลอิสระ
บทความชิ้นนี้เป็นงานเขียนและแปลเกี่ยวกับความคิดของ
Kwame Anthony Appiah
ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์ onopen (http://www.onopen.com/)
เป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับ Cosmopolitanism
โดยในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะปฏิเสธความหลากหลายได้
การธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่แท้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และไม่เคยเป็นจริง
หากย้อนกลับไปสำรววจดูทุกๆ วัฒนธรรม ล้วนเคยถูกผสมปนเปมาแล้วทั้งสิ้น(contaminated)
มนุษย์ทุกยุคสมัยล้วนมีความสามารถในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆให้กับตนเองตลอดเวลา
สิ่งสำคัญกว่าคือเรื่องของจริยธรรมสากล
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๘๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๘ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
Kwame
Anthony Appiah: โสกราตีสยุคโลกาภิวัตน์ ผู้รณรงค์ความหลากหลาย
คำสำคัญในบทความนี้ : Cosmopolitanism,
โสกราตีสโพสต์โมเดิร์น, อัตลักษณ์ที่เคร่งครัด หรือจริยธรรมสากล, The Case for
Contamination, ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม, Muslim fundamentalist, neofundamentalists,
universal humanity,
ความนำ
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่การผสมปนเปและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
น่าตื่นเต้น และน่ายินดีในแง่ที่มันมีส่วนช่วยลบล้างวัฒนธรรมล้าสมัยบางอย่าง
ที่เคยฉุดรั้งคุณภาพชีวิตและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่นักคิดจากทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายกำลัง
"เบรก" และบิดเบือนกระแสโลกาภิวัตน์ด้านวัฒนธรรม ในทางที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม
และการพัฒนามนุษย์
นักคิดฝ่ายขวาผู้มีชื่อเสียงหลายราย กำลังตีขลุม "เหมารวม" ชาวมุสลิมทั้งโลกว่าล้วนเป็นผู้สนับสนุนสงครามระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงกับ "โลกตะวันตก" เพราะชาวมุสลิมเหล่านี้ "อิจฉา" ความเจริญของประเทศพัฒนาแล้ว. ตรรกะหลักของความคิดแนวนี้คือ ไม่ต้องสนใจหรอกว่ามุสลิมแต่ละกลุ่มในแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างไร? ตีความคัมภีร์อัลกุรอานแตกต่างกันอย่างไร? ขึ้นชื่อว่ามุสลิมแล้วก็คิดเหมือนกันหมดนั่นแหละ วิเคราะห์ไปก็เสียเวลาเปล่า
ในขณะเดียวกัน นักคิดฝ่ายซ้ายหลายรายก็กำลังรณรงค์ให้ประเทศกำลังพัฒนาเร่ง "อนุรักษ์วัฒนธรรมของแท้" ของตนเอง ก่อนที่จะถูกกลืนหายไปในวัฒนธรรมบริโภคนิยมของ "ผู้รุกราน" จากโลกตะวันตก แต่เราต้องย้อนอดีตไปไกลขนาดไหนจนกว่าจะเจอ "วัฒนธรรมของแท้" และเราควรจะตีกรอบพื้นที่ขนาดไหนสำหรับการอนุรักษ์? เช่น ใครบ้างในประเทศไทยที่ควรอนุรักษ์ประเพณีจีน (ซึ่งสำหรับหลายๆ ครอบครัวก็ไม่เคยเป็น "ของแท้" ตั้งแต่พ่อแม่ดัดแปลงและย่นย่อพิธีกรรมให้สั้นลง?) คนจีนโพ้นทะเลย่านเยาวราช? คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่สามที่พูดภาษาจีนไม่ได้แล้ว?
แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือ นักอนุรักษ์ฝ่ายซ้ายหลายคนเชื่อว่า ทุกวัฒนธรรมล้วนมีค่าควรแก่การอนุรักษ์ทั้งนั้น ไม่ว่าวัฒนธรรมนั้นจะจำกัดเสรีภาพมนุษย์มากเพียงใด หรือทำให้คนต้องทนลำบากขนาดไหนในการดำรงชีวิต (เป็นต้นว่า เพราะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ล้าสมัยเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี) และไม่ว่าสมาชิกในวัฒนธรรมเองจะอยาก "อนุรักษ์" มันไว้หรือไม่
Kwame Anthony Appiah
- โสกราตีสโพสต์โมเดิร์น
ในขณะที่นักคิดส่วนน้อยอย่าง เอ็ดวาร์ด ซาอิด ยืนหยัดต่อต้านวาทกรรมเหมารวมของฝ่ายขวาตกขอบ,
นักปรัชญายุคโลกาภิวัตน์นาม ควาเม่ แอนโธนี อัปไปอาห์ (Kwame Anthony Appiah)
ก็กำลังต่อต้านตรรกะอันตรายของกลุ่มนักคิดฝ่ายซ้ายผู้อุปโลกน์ตนเองเป็น "นักอนุรักษ์วัฒนธรรม"
ของประเทศกำลังพัฒนา อยู่อย่างแข็งขันเช่นเดียวกัน
ในโลกที่วัฒนธรรมต่างๆ ผสมผสานปนเปกัน และบางครั้งก็กระทบกระทั่งกันอย่างไม่หยุดหย่อนจนดูเหมือนจะไม่มี "คุณธรรม" หรือคุณค่าทางสังคมใดๆ ที่เป็น "สัจธรรมสากล" แน่นอนตายตัวอีกต่อไป อัปไปอาห์เปรียบเสมือน "โสกราตีสโพสต์โมเดิร์น" ผู้ท้าทายให้เราทุกคนวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนตัวตนหรือ "อัตลักษณ์" ระดับปัจเจกที่เราสร้างขึ้น (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) จากปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนอื่นและสังคมภายนอก อย่างสม่ำเสมอและเปิดกว้าง
ในฐานะนักปรัชญาผู้เจนจัดกับการใช้ตรรกะเชิงอนุมานแบบโสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีกผู้ยิ่งใหญ่, อัปไปอาห์ชี้ให้เราเห็นทั้งโอกาสและอันตรายของกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ในโลกยุคปัจจุบัน คำถามที่เขาตั้ง และบทสรุปที่เขาใช้ตรรกะสืบสาวไปจนเจอนั้น เปิดโปงให้เห็นทั้งสมมุติฐานที่ไม่เป็นจริง อคติ และความผิดพลาดของสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดว่าเป็นสัจธรรม. อัปไปอาห์วิเคราะห์แนวคิดในวัฒนธรรมต่างๆ เกี่ยวกับสีผิว, เชื้อชาติ, เพศ, ชนชั้น, ศาสนา, สมาชิกภาพของรัฐ, และพบว่าแนวคิดบางอย่างไม่เป็นความจริง บางอย่างไม่มีเหตุผล และทั้งหมดไม่สามารถสรุปได้ว่า "ถูก" หรือ "ผิด"
อัตลักษณ์ที่เคร่งครัด
หรือจริยธรรมสากล
อัปไปอาห์วิพากษ์วิจารณ์ "อัตลักษณ์ระดับสังคม" ทั้งหลาย (เช่น "คนไทย"
ในบริบทของเรา) ไม่ใช่เพราะเขาต้องการบอกว่าความคิดเช่นนั้นปราศจากความชอบธรรม
แต่เพราะเขาต้องการชี้ให้เห็นว่าความคิดนั้นมีอันตรายต่อเสรีภาพและสันติภาพของชุมชนอย่างไรบ้าง
เมื่อใดก็ตามที่สังคมเรียกร้องให้สมาชิกแสดงความจงรักภักดีต่ออัตลักษณ์กลุ่มโดยไร้ข้อกังขา
และบังคับให้ดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด อัตลักษณ์แบบนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการนำสังคมไปสู่ภาวะไร้ความยุติธรรม
และความรุนแรง
อัปไปอาห์เสนอว่าสิ่งที่เราต้องการที่สุดในโลกยุคนี้ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่เคร่งครัด หากเป็น "จริยธรรมสากล" (ethical universal) ที่ข้ามพ้นความแตกแยกทางสังคม และเชื่อมความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ จริยธรรมสากลนั้นน่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "ความมีเหตุมีผล" (reasonableness) ที่ยอมรับความเชื่อและพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้ โดยไม่ขับเน้นความแตกต่างให้กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
อัปไปอาห์เชื่อว่า การยอมรับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่ถูกปลดปล่อยจากมโนคติทั้งมวล (pluralism liberated from ideology) เท่านั้นที่จะนำมนุษยชาติไปสู่สังคมแบบ "มนุษยนิยม" (humanism) ที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ (นั่นคือ มีความเป็นโพสต์โมเดิร์น) แต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยวและแข็งแกร่งพอที่จะประณามความโหดร้ายและการทรมานทุกแห่งในโลก
ความสำเร็จของอัปไปอาห์เองในการ "ข้ามพ้น" พรมแดนทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่มักจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง (นอกเหนือจากดีกรีปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริจ และประวัติการสอนปรัชญาตามมหาวิทยาลัยเลื่องชื่อของอเมริกาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น เยล, คอร์เนล, ฮาร์วาร์ด, จนถึงพริ้นซ์ตันในปัจจุบัน) ในฐานะลูกครึ่งที่พ่อเป็นชายผิวดำชาวกานา (Ghana) แม่เป็นหญิงผิวขาวชาวอังกฤษ เกิดในอังกฤษแต่โตในกานา และการที่ตัวเขาเองเป็นเกย์โดยเปิดเผย, มีส่วนช่วยทำให้แนวคิดเรื่อง "จริยธรรมสากล" ฟังดูหนักแน่นและเป็นไปได้จริง ไม่ได้เป็นเพียงความฝันอันเลื่อนลอยเท่านั้น
Cosmopolitanism
ในหนังสือของอัปไปอาห์สองเล่มคือ "จริยธรรมแห่งอัตลักษณ์: หลากหลายนิยมที่ฝังราก"
(The Ethics of Identity: A Rooted Cosmopolitanism) และ "หลากหลายนิยม:
จริยธรรมในโลกแห่งคนแปลกหน้า" (Cosmopolitanism: Ethics in a World of Strangers)
เขาตั้งคำถามว่า "พลเมือง" หมายความว่าอะไรในโลกที่แคบลงเรื่อยๆ ทุกวัน.
โลกที่เบลอเส้นแบ่งระหว่างอัตลักษณ์ต่างๆ และให้เราสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆ อย่างรวดเร็วจนไม่มีใครตามทัน
(เช่น เราสามารถสร้างแอคเค้าท์ใหม่บนเว็บไซด์ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที)?
อัปไปอาห์เสนอว่า ในโลกยุคนี้ เราทุกคนควรวางตัวเป็น "นักหลากหลายนิยม" (cosmopolitan) ผู้แสวงหาสมดุลระหว่างการฉลองความเหมือนระหว่างคนเราในฐานะมนุษย์ด้วยกัน กับความเคารพในความแตกต่างทั้งหลาย. อัปไปอาห์ชี้ว่า หลากหลายนิยมแตกต่างจากแนวคิดในอดีตที่มีความเป็นสากล เพราะ "ความเป็นสากล" ของแนวคิดเหล่านั้นคือความพยายามที่จะทำให้ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด เช่น กลุ่มคาทอลิกผู้เคร่งครัด หรือมาร์กซิสต์หัวรุนแรง ที่คิดแบบคนมีปมเด่นว่า ใครไม่คิดเหมือนกับตนแปลว่าเป็นคนโง่ คนเห็นแก่ตัว หรือมิฉะนั้นก็ต้องตกนรกแน่ๆ
อัปไปอาห์บอกว่า การเป็นนักหลากหลายนิยมนั้นไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเป็น เพราะเราทุกคนเป็นทั้งพลเมืองโลก และสมาชิกชุมชนย่อยระดับต่างๆ เช่น ครอบครัว, โรงเรียน, ละแวกบ้าน, และประเทศ ในเวลาเดียวกัน
บทความต่อไปนี้เป็นงานชิ้นเอกของอัปไปอาห์ เกี่ยวกับคุณค่าของความหลากหลาย วิธีการใช้ "ความมีเหตุผล" เพื่อตีกรอบลักษณะของ "จริยธรรมสากล" และเหตุผลหนักแน่นที่ชี้ให้เห็นว่า การปกป้องวัฒนธรรมใดๆ ให้รอดพ้นจาก "การปนเปื้อน" จากวัฒนธรรมอื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างเดียว แต่ยังเป็นความคิดที่หลงผิดและดูถูกมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย. การผสมปนเประหว่างวัฒนธรรมนั้นนอกจากจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังน่าชื่นชมและน่าติดตามอีกต่างหาก
การที่หนุ่มสาวชนชั้นกลางทั่วโลกกำลังใช้วิถีชีวิตเหมือนกัน
กินแม็คโดนัลด์, นุ่งกางเกงยีนส์, ฟังเพลงฮิปฮอปจากเครื่องไอพ็อต, ไม่ได้แปลว่าพวกเขากำลังคิดเหมือนกันหมดทั้งโลก
และก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรตำหนิติเตียน.
"ผู้ใหญ่" ทั้งหลายในประเทศน่าจะเลิกเป็นห่วงว่าวัยรุ่นไทยกำลังสูญเสีย
"ความเป็นไทย" ได้แล้ว
มาเป็นห่วงว่าพวกเขากำลังสูญเสีย "จิตสำนึกสาธารณะ" กันดีกว่า เพราะนั่นคือหนึ่งใน
"จริยธรรมสากล" ที่สมควรปลูกฝัง ไม่ว่าคนเราจะ "กลายพันธุ์"
เป็นอะไรก็ตาม
++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อสนับสนุนการผสมปนเปในสังคมมนุษย์
สฤณี อาชวานันทกุล : แปลและเรียบเรียงบางตอนจาก The Case
for Contamination
1.
ผมกับแม่นั่งอยู่บนระเบียงของพระราชวัง รับลมเย็นๆ ที่โชยมาจากสวน บัลลังก์ตั้งเด่นอยู่บนเวทีตรงหน้าเรา
ขาและแขนของมันทำจากทองเหลือง พนักและเก้าอี้ทำจากผ้าไหมสีดำขลิบทอง ข้างล่างเวที
คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายนั่งเรียงกันสองแถวบนม้านั่งที่ทำจากไม้แกะสลัก หันหน้าเข้าหากัน
พวกเขาห่มผ้าคาดอกเปลือยไหล่ทั้งสองข้าง คุยซุบซิบกันเงียบๆ ท่ามกลางเสียงกรีดร้องลั่นของนกยูงในสวน
ในที่สุด เสียงแตรเขาแกะส่งสัญญาณว่ากษัตริย์แห่งอาซันเต้ (king of Asante) ได้เสด็จมาถึงแล้ว ทุกคนลุกขึ้นยืนรอพระองค์ทรงขึ้นประทับบนบัลลังก์ เมื่อเรานั่งลง คณะนักร้องประสานเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีคลอไปกับเสียงขลุ่ย วันนี้เรากำลังชมเทศกาลวันพุธในคูมาสี (Kumasi) เมืองเกิดของผมในกานา
คุณคงคิดว่าผมกำลังอธิบายโลกที่คุณไม่คุ้นเคยเลย ยกเว้นว่าคุณจะเป็นหนึ่งในพลเมืองกานาไม่กี่ล้านคน คุณอาจคิดว่าเทศกาลวันพุธนี้หลุดออกมาจากอดีตของแอฟริกา แต่ก่อนที่กษัตริย์จะเสด็จมาถึง หลายคนคุยโทรศัพท์มือถือ และในหมู่คนที่ซุบซิบกันอยู่นั้นก็รวมตัวแทนจากบริษัทประกันประมาณ 12 คนที่มาในชุดสูทเต็มยศ การประชุมเกี่ยวกับประเด็นร่วมสมัยกำลังดำเนินไปในสำนักงานข้างๆ ระเบียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคเอดส์, ความต้องการด้านการศึกษาของเด็กในศตวรรษที่ 21, และหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยท้องถิ่น
เมื่อคิวเข้าเฝ้ามาถึงผม พระราชาตรัสถามเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตันที่ผมสอนอยู่ ผมถามว่าพระองค์จะทรงเยือนอเมริกาเมื่อไหร่ ทรงตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ พระองค์มีนัดประชุมกับธนาคารโลก
ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปที่ไหนในโลกนี้ในปัจจุบัน คุณจะเจอพิธีกรรมแบบที่ผมเล่า ไม่ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา หลายพิธีเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีเก่าแก่หลายร้อยปี แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่คุณจะเผชิญก็คือ ทุกแห่งหนที่คุณไปเยือนมีความเกี่ยวโยงอันลึกซึ้งกับสถานที่อันห่างไกล อาทิเช่น กรุงวอชิงตัน, มอสโคว์, เม็กซิโกซิตี้, หรือปักกิ่ง
ตรงข้ามบ้านที่ผมเคยอยู่ตอนเด็กๆ เคยเป็นที่อาศัยของครอบครัวหลายครอบครัวภายใต้ชายคาเดียวกัน ครอบครัวหนึ่งมีลูกชายหลายคน คนหนึ่งที่รุ่นราวคราวเดียวกับผมตอนนี้ทำงานในลอนดอน น้องชายของเขาอยู่ที่ญี่ปุ่น บ้านเกิดของภรรยา น้องชายอีกคนเคยอยู่สเปน น้องชายอีกสองคนเท่าที่ผมรู้อยู่อเมริกา ที่เหลือยังอยู่คูมาสี หรือไม่ก็ในอัคครา (Accra) เมืองหลวงของกานา, เอ็ดดี้ น้องคนที่อยู่ญี่ปุ่น ตอนนี้พูดภาษาของภรรยาเขาได้แล้ว เพราะเขาจำเป็นต้องหัด แต่เอ็ดดี้ไม่เคยชอบพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาราชการของรัฐบาลและโรงเรียน เวลาเขาโทรหาผมทีไร เขาชอบใช้อาซันเต้-ทวี (Asante-Twi) ภาษาท้องถิ่นของเรา
หลายปีผ่านไป อาคารต่างๆ บริเวณพระราชวังในอาซันเต้ขยับขยายขึ้นตามเวลา ตอนผมยังเด็ก เราเคยไปเข้าเฝ้าพระราชาองค์ก่อน ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของผม ในตึกหลังเล็กๆ ที่พวกอังกฤษยอมให้บรรพบุรุษของพระองค์สร้างเมื่อเสด็จกลับจากการถูกเนรเทศในเมืองเซเชลล์ (Seychelles) เพื่อฟื้นฟูราชวงศ์อาซันเต้. ตึกหลังนั้นตอนนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ดูเล็กจิ๋วเมื่อเทียบกับบ้านหลังมหึมาข้างๆ ที่ลุงผมสร้าง ที่ประทับของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน
พวกอังกฤษ ชนชาติของแม่ผม พิชิตอาซันเต้เมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 20 แต่พอผ่านไปหนึ่งร้อยปี พระราชวังกลับมีกลิ่นอายเดียวกันกับก่อนที่พวกอังกฤษจะบุก - กลิ่นอายของศูนย์รวมแห่งอำนาจ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของกานามาจากโลกใบนี้เหมือนกัน เขาเกิดอีกฟากหนึ่งของถนนหน้าพระราชวัง ในตระกูลโอโยโก้ (Oyoko) ที่มีชื่อเสียง แต่เขาก็เป็นสมาชิกของโลกใบอื่นด้วย - ประธานาธิบดีคนนี้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ และนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และมีรูปถ่ายของเขาเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาประดับห้องรับแขกในบ้าน
เราจะทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร? ในงานเทศกาลวันนั้น ผมเห็นผู้มาเยือนจากอังกฤษและอเมริกานิ่วหน้าใส่สิ่งที่เขามองว่า เป็นการบุกรุกของความสมัยใหม่บนพิธีกรรมเก่าแก่ สิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นหลักฐานอีกชิ้นของการที่โลกสมัยใหม่กำลังกดดันให้ทุกคนคิดและทำเหมือนกันหมด (uniformity) พวกเขาทำตัวราวกับเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลให้ตัวประกอบทั้งหลายถอดนาฬิกาข้อมือออกก่อนเข้าฉากหนังโบราณ ผู้นิยม "ของแท้" เหล่านี้ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
ในสองสามปีที่ผ่านมา สมาชิกของยูเนสโกใช้เวลามากมายไปกับการร่างปฎิญญาว่าด้วย "การปกป้องและส่งเสริม" ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (ซึ่งในที่สุดก็ถูกประกาศใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548) ผู้ยกร่างหลายคนกังวลว่า "กระบวนการของโลกาภิวัตน์... นับเป็นความท้าทายต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในแง่ของความเสี่ยงที่มากับความไม่สมดุลระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน" พวกเขากลัวว่า จริยธรรมและภาพพจน์ต่างๆ ของวัฒนธรรมกระแสหลักในโลกตะวันตก จะบีบเค้นวัฒนธรรมท้องถิ่นให้สำลักอากาศตาย ไม่ต่างจากวัชพืชที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว
ความขัดแย้งกันเองในความคิดแบบนี้หาเจอได้ไม่ยาก เอกสารยูเนสโกชิ้นเดียวกันนี้ใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการตอกย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความคิดโดยเสรี เสรีภาพในการแสดงความเห็น และสิทธิมนุษยชน ซึ่งล้วนเป็นคุณธรรมที่เราทุกคนรู้ว่าจะ "เป็นสากล" ได้ก็ต่อเมื่อเราทำให้มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ฉะนั้นแปลว่าอะไรสำคัญกว่ากันเล่า - วัฒนธรรม หรือคน?
ในโลกที่คูมาสี, นิวยอร์ค, ไคโร, ลีดส์, และอิสตันบูล กำลังถูกเชื่อมให้ใกล้ชิดกันขึ้นทุกที จริยธรรมของโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่ลื่นไหลไม่แน่นอนเอาเสียเลย
ผมคิดว่า วิธีที่ถูกต้องคือเราต้องตั้งต้นที่ปัจเจกชนก่อน ในฐานะศูนย์กลางของจริยธรรม ไม่ใช่ตั้งต้นที่ประเทศ เผ่าพันธุ์ หรือ ชาติพันธุ์ มันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะเรียกแนวคิดแบบนี้ว่าอะไร แต่เพื่อเป็นการระลึกถึง ไดโอจีนีส (Diogenes) นักปรัชญาชาวกรีกสมัยศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตศักราช ซึ่งเป็นคนแรกในโลกที่เรียกตัวเองว่า "พลเมืองโลก" เราอาจเรียกแนวคิดนี้ว่า "หลากหลายนิยม" (cosmopolitan) นักหลากหลายนิยมคิดว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการตัดสินใจของปัจเจกชนแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ได้กังวลเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว พวกเขาจึงสงสัยว่านักวิจารณ์วัฒนธรรมผู้ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์หลายคน กำลังเล็งผิดเป้า
ใช่ โลกาภิวัตน์สามารถหลอมรวมวัฒนธรรมให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneity) ได้ แต่มันก็เป็นอันตรายต่อความเป็นเนื้อเดียวกันนั้นเหมือนกัน คุณจะพบความจริงข้อนี้ในคูมาสี ไม่ต่างจากที่อื่นๆ ทั่วโลก ผมสามารถแนะนำให้คุณรู้จักกับครอบครัวในคูมาสีที่มีเชื้อชาติเหล่านี้ได้ - อังกฤษ, เยอรมัน, จีน, ซีเรีย, เลบานอน, เบอร์กินาเบ้, ไอวอรี, ไนจีเรีย, และอินเดีย. ผมสามารถแนะนำให้คุณรู้จักกับชาวอาซันเต้ เผ่าพันธุ์ที่บรรพบุรุษของเขาอาศัยอยู่ในเมืองนี้มาหลายร้อยปีแล้ว แต่ชาวฮอซา (Hausa) ก็อยู่ที่นี่มาหลายร้อยปีแล้วเช่นกัน
ประชากรของเมืองนี้มาจากทั่วทุกภาคของประเทศ พูดภาษาท้องถิ่นต่างกันหลายสิบภาษา แต่ถ้าคุณขับรถออกไปนอกตัวเมืองคูมาสีเล็กน้อย ประมาณ 20 ไมล์ และเลี้ยวออกจากถนนใหญ่ไปตามถนนฝุ่นสีแดงเส้นเล็กๆ ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ คุณจะพบหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมเดี่ยว (monocultural) ค่อนข้างง่ายตามสองข้างทาง ชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยไปคูมาสี เคยเห็นเมืองใหญ่ที่คนมาจากหลายเชื้อชาติ พูดกันหลายภาษา หมู่บ้านที่พวกเขาอยู่ใช้ภาษาเดียว (ยกเว้นภาษาอังกฤษที่สอนในโรงเรียนรัฐ) และมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกร ปลูกทั้งพืชโบราณ เช่น มันหวาน และพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่นโกโก้ ที่นำเข้ามาในศตวรรษที่ 19 ให้ชาวบ้านปลูกเพื่อส่งออก
บ้านส่วนใหญ่น่าจะมีไฟฟ้าใช้แล้ว เพราะอยู่ใกล้กับคูมาสี แต่บางบ้านอาจยังไม่มี เวลาเราได้ยินคนพูดกันเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันที่เป็นผลผลิตของโลกาภิวัตน์ พวกเขากำลังคุยกันเรื่องนี้ - แม้แต่ในหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านจะฟังวิทยุ คุยกันเรื่องคนดังระดับโลกอย่างโรนัลโด้, ไมค์ ไทสัน, หรือทูแพค, และคุณคงเห็นขวดเบียร์ยี่ห้อกินเนส หรือขวดโค้ก (นอกเหนือจากสตาร์หรือคลับ เบียร์ดีของกานา) การที่ชาวบ้านเข้าถึงสิ่งเหล่านี้แปลว่าหมู่บ้านของเขาเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น หรือน้อยลง? และคุณจะบอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับจิตวิญญาณของพวกเขา จากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาดื่มโค้ก?
จริงอยู่ ชุมชนที่เป็นเนื้อเดียวกันทั่วโลก
ไม่ว่าจะในอาซันเต้หรือรัฐเพนซิลวาเนียของอเมริกา ไม่แตกต่างกันมากเท่ากับเมื่อร้อยปีที่แล้ว
แต่เหตุผลส่วนใหญ่คือข่าวดี คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงยาดี น้ำดื่มที่สะอาด
และไปโรงเรียน ชุมชนไหนไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราควรเสียใจ ไม่ใช่เฉลิมฉลอง
และไม่ว่าแต่ละชุมชนจะสูญเสียเอกลักษณ์อะไรไป พวกเขาก็คิดค้นเอกลักษณ์ใหม่ๆ เองได้ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นทรงผมใหม่ๆ คำสแลงใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งศาสนาใหม่ๆ ไม่มีใครพูดได้ว่าหมู่บ้านต่างๆ
ในโลกนี้กำลังกลายเป็นหมู่บ้านแบบเดียวกันหมด
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดบางครั้งสมาชิกชุมชนหลายคนจึงรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของพวกเขากำลังถูกคุกคาม?
เพราะโลกของพวกเขากำลังเปลี่ยนแปลง และคนบางคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แรงดึงดูดของระบบเศรษฐกิจโลก ดังที่เราเห็นจากต้นโกโก้ วัตถุดิบของช็อกโกแลตที่คนบริโภคทั่วโลก มีส่วนสร้างวิถีชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน ถ้าราคาช็อกโกแลตตกต่ำอีกครั้งเหมือนเมื่อประมาณปี 2533 เกษตรกรชาวอาซันเต้อาจต้องหาพืชเศรษฐกิจใหม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนอาชีพ ความเสี่ยงข้อนี้ทำให้หลายคนไม่สบายใจ แต่อีกหลายคนก็ตื่นเต้น มิชชันนารีมาเผยแพร่ศาสนาแถบนี้นานแล้ว ทำให้ชาวบ้านหลายคนนับถือคริสต์ แม้ว่าพวกเขาจะยังประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อโบราณอยู่ ตอนนี้นักสอนศาสนานิกายเพ็นทาโคสตัล (Pentecostal) กำลังท้าทายโบสถ์ และหาว่าพิธีกรรมของชาวบ้านลบหลู่ศาสนา เรื่องนี้ชาวบ้านบางคนเห็นด้วย แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์ต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไป สมัยพ่อผมยังเด็ก ผู้ชายจะทำการเพาะปลูกบนที่ดินที่หัวหน้าเผ่ามอบให้ และครอบครัวทางแม่ (รวมทั้งน้องชายด้วย) จะช่วยเขาทำนา ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อเติมบ้าน หาอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้กับลูกๆ ส่งลูกไปโรงเรียน และจ่ายค่าจัดงานแต่งงานและงานศพ รุ่นลูกหลานจะสืบทอดที่นาและความรับผิดชอบต่างๆ แต่ตอนนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าราคาโกโก้ ราคาก๊าซทำให้ค่าขนส่งพืชผักแพงกว่าเดิม และคนรุ่นใหม่มีโอกาสมากมายในเมือง
ในภาคอื่นๆ ของประเทศ และในประเทศอื่นๆ บางทีสมัยก่อนคุณอาจสั่งให้ลูกหลานอยู่ในหมู่บ้านได้ แต่ตอนนี้พวกเขามีสิทธิย้ายออก อาจไปหางานทำที่ศูนย์ประมวลข้อมูลเปิดใหม่ในเมืองหลวงทางตอนใต้ และจริงๆ แล้วคุณก็อาจหาเงินไม่พอสำหรับค่าอาหาร เครื่องแต่งกาย และค่าเล่าเรียนของลูกๆ ทุกคนอยู่ดี ทั้งหมดนี้หมายความว่า หมดยุคของครอบครัวเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้ว คนที่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนั้นย่อมรู้สึกเสียใจที่เห็นมันหายไป ไม่ต่างจากครอบครัวชาวนาในอเมริกาที่เห็นที่ดินของพวกเขาถูกบริษัทอาหารเกษตรยักษ์ใหญ่ดูดกลืนไป เราเห็นใจพวกเขาได้ แต่เราไม่สามารถบังคับให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ทำนาต่อไปเพียงเพื่อ "อนุรักษ์วัฒนธรรมของแท้" ของพวกเขา และเราก็ไม่มีเงินพอที่จะอุดหนุนชุมชนเนื้อเดียวกันเป็นพันๆ ชุมชน ที่ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับอีกต่อไป และเราก็ไม่ควรจะอยากทำอย่างนั้นด้วย
นักหลากหลายนิยมมองความหลากหลายของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกคนมีสิทธิเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง. สิ่งที่จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) กล่าวในหนังสือเรื่อง "ว่าด้วยเสรีภาพ" (On Liberty) กว่าร้อยปีที่แล้ว เกี่ยวกับความหลากหลายของสังคม ใช้เป็นข้อสนับสนุนความหลากหลายของโลกได้ด้วย
"ถ้าคนเรามีเพียงความชอบเท่านั้นที่ต่างกัน นั่นก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่เราไม่ควรพยายามปั้นพวกเขาให้ออกมาเป็นโมเดลเดียวกันหมด แต่คนเรายังต้องการเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ พืชพันธุ์ต่างๆ ไม่สามารถเติบโตในสภาวะแวดล้อมและสภาพอากาศเดียวกันได้ฉันใด มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขในกรอบศีลธรรมเดียวกันได้ฉันนั้น อะไรก็ตามที่ช่วยให้คนพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น อาจเป็นเครื่องกีดขวางสำหรับอีกคนหนึ่ง ...มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขตามอัตภาพ หรือพัฒนาจิตใจ มโนธรรม และอารมณ์สุนทรียะ ได้อย่างเต็มศักยภาพของเขา หากพวกเขาไม่มีความหลากหลายในวิถีชีวิตที่สอดคล้อง[กับความหลากหลายของปัจเจกชน]"
หากเราต้องการอนุรักษ์เงื่อนไขต่างๆ ของการดำรงชีวิต เพราะเงื่อนไขเหล่านั้นมอบโอกาสที่ดีที่สุดให้กับเสรีชน ในการใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการ เราก็ไม่สามารถบังคับให้เกิดความหลากหลายด้วยการกักขังผู้คนไว้ในความแตกต่างที่พวกเขาต้องการหลบหนีไปให้พ้น
2.
แม้คุณอาจเห็นด้วยว่าเราไม่ควรบังคับใครให้อนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าแก่ คุณอาจคิดว่านักหลากหลายนิยมควรเข้าข้างนักกิจกรรมที่กำลังง่วนอยู่กับการเดินสายรณรงค์ให้คน
"อนุรักษ์วัฒนธรรม" และต่อต้าน "ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม"
(cultural imperialism) แต่ภายใต้สโลแกนเหล่านี้ เรามักจะพบสมมุติฐานอันน่ากังขา
ขอให้เราลองมาดูการรณรงค์เรื่อง "อนุรักษ์วัฒนธรรม" กันก่อน
การอนุรักษ์วัฒนธรรม
เป็นเรื่องดีถ้าเราจะช่วยคนให้อนุรักษ์ศิลปะที่พวกเขาต้องการจะอนุรักษ์ ผมสนับสนุนศูนย์วัฒนธรรมประจำชาติแห่งกานาในคูมาสี
(Ghana National Cultural Center) ที่ซึ่งคุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเต้นรำและรำกลองพื้นเมืองของเผ่าอาคาน
โดยเฉพาะเมื่อท่วงท่าเหล่านั้นมีชีวิตชีวาและน่าตื่นตาตื่นใจมาก หรือถ้าเราพูดถึงการฟื้นฟูแผ่นฟิล์มเก่าเก็บของหนังฮอลลีวู้ดให้คืนสู่สภาพเดิม
การอนุรักษ์ต้นฉบับเอกสารจีน นอร์เวย์ หรือเอธิโอเปียโบราณ การจดบันทึกและวิเคราะห์ตำนานที่เล่ากันปากต่อปากของชาวมาเลย์
มาไซ และเมารี เรื่องเหล่านี้ทั้งหมดมีคุณค่าอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่การอนุรักษ์วัฒนธรรมในแง่ของการอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรม แตกต่างจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมในตัวของมันเอง นักอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมมักจะเน้นอย่างหลัง เช่น ด้วยการรณรงค์ให้ชนเผ่าฮูลีในปาปัวนิวกินี (หรือแม้แต่ชาวซิกข์ในกรุงโตรอนโต้) อนุรักษ์วิถีชีวิต "ของแท้" ของพวกเขาเอาไว้. แต่ "ของแท้" ทางวัฒนธรรมหมายความว่าอะไร? เราควรจะหยุดการนำเข้าหมวกเบสบอลในเวียดนาม เพื่อชนเผ่าเซา (Zao) จะได้ใส่เครื่องประดับศีรษะหลากสีของพวกเขาต่อไป อย่างนั้นหรือเปล่า? ทำไมเราไม่ถามชาวเซา? สิทธิข้อนี้เป็นของพวกเขามิใช่หรือ?
"พวกเขาไม่มีทางเลือกที่แท้จริง" นักอนุรักษ์วัฒนธรรมจะตอบอย่างนี้ "เราทุ่มเสื้อผ้าถูกๆ จากโลกตะวันตกลงไปในตลาดท้องถิ่น และผ้าไหมที่พวกเขาเคยใส่ก็แพงเกินกำลังซื้อไปแล้ว ถ้าพวกเขาเลือกสิ่งที่ต้องการได้จริงๆ พวกเขาก็จะยังใส่ชุดพื้นเมืองอยู่เหมือนเดิม" แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่อง "ของแท้" เลย การที่ชาวเซาไม่มีกำลังซื้อสิ่งที่พวกเขาต้องการ สิ่งที่เป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ที่พวกเขาให้คุณค่าและต้องการอนุรักษ์เอาไว้นั้น เป็นปัญหาจริงๆ ที่หลายชุมชนกำลังประสบอยู่ กล่าวคือ สมาชิกในชุมชนยากจนเกินกว่าที่จะใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการ แต่ถ้าพวกเขามีรายได้ดีขึ้น และยังใส่เสื้อทีเชิ้ตวิ่งไปมา นั่นก็เป็นสิทธิของพวกเขา การอ้างประเด็นเรื่อง "ของแท้" ตอนนี้ไม่มีอะไรมากกว่าการบอกคนอื่นว่า พวกเขาควรให้คุณค่ากับอะไรบ้างในประเพณีของตัวเอง
นอกจากนั้น ความพยายามที่จะหา "วัฒนธรรมของแท้ดั้งเดิม" อาจไม่ต่างจากการปอกเปลือกหัวหอม เมื่อไหร่คุณคิดว่าพบแล้ว คุณก็จะพบว่ามีชั้นที่ลึกลงไปกว่านั้นอีก ผ้าที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นลายแอฟริกาตะวันตกดั้งเดิมนั้น จริงๆ แล้วมาจากผ้าบาติกของเกาะชวาในคริสตศตวรรษที่ 19 ที่หลายครั้งผลิตในโรงโม่ของชาวดัทช์ ชุดพื้นเมืองของหญิงชาวเฮเรโร่ (Herero) ในประเทศนามิเบีย ดัดแปลงมาจากชุดของมิชชันนารีเยอรมันในศตวรรษที่ 19 แต่ดูเป็นเฮเรโร่ของแท้ เพราะสีสันที่ใช้ไม่ใช่สีของนักบวชนิกายลูเธอร์แน่ๆ
ผ้าเก็นเต้ (kente) ของกานาเองก็เหมือนกัน - ผ้าไหมผลิตโดยชาวเอเชีย นำเข้าโดยชาวยุโรป ประเพณีนี้เคยเป็นนวัตกรรมในอดีต เราควรปฏิเสธมันตอนนี้ว่า "ไม่เป็นของแท้" ด้วยเหตุผลนั้นหรือเปล่า? เราจะต้องย้อนเวลากลับไปนานขนาดไหน? เราควรต่อว่าบัณฑิตหนุ่มสาวจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่กี่ไมล์นอกเมืองคูมาสี เพราะพวกเขาใส่เสื้อครุยแบบยุโรป ผูกแถบผ้าเก็นเต้เป็นริ้วๆ หรือไม่? วัฒนธรรมประกอบด้วยความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ. อัตลักษณ์ของสังคมสามารถรอดพ้นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้, สังคมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ "ของแท้" แต่เป็นสังคมที่ตายแล้วต่างหาก
3.
ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม
นักอนุรักษ์วัฒนธรรมมักอ้างความเลวร้ายของ "ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม"
เป็นเหตุผลสนับสนุนจุดยืนของพวกเขา ภาพกว้างๆ ที่พวกเขามองเห็นคือ โลกเราถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยม
ซึ่งมีจุดศูนย์กลางและอาณาเขตรอบนอก บริษัทข้ามชาติต่างๆ ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง
ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา บริษัทเหล่านี้บางแห่งประกอบธุรกิจสื่อ พวกเขาขายสินค้าที่กระตุ้นความอยากที่เติมเต็มได้ด้วยการซื้อสินค้าเท่านั้น
พวกเขาโฆษณาสินค้าทั้งในสื่อดั้งเดิม และโดยวิธีแอบแฝงในภาพยนตร์จอแก้วและจอเงิน
เฮอร์เบิร์ต ชิลเลอร์ (Herbert Schiller) นักวิจารณ์ผู้ต่อต้าน "ลัทธิจักรวรรดินิยมทางสื่อและวัฒนธรรม" (media-cultural imperialism) อ้างว่า "มุมมองและมโนภาพของกลุ่มผู้มีอำนาจตรงศูนย์กลาง คือสิ่งที่ปั้นแต่งและตีกรอบความรู้สึกนึกคิดของโลกทั้งระบบ" อย่างน้อยนั่นคือทฤษฎี แต่เป็นทฤษฎีที่ไร้ข้อเท็จจริงสนับสนุน
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งท่องโลกกว้างไปติดตามความเห็นของผู้ชมละครทีวีดังเรื่อง "ดัลลัส" ของอเมริกา ในกลุ่มชาวอาหรับในประเทศอิสราเอล, ชาวยิวในโมร็อกโก, และชาวรัสเซียในอิสราเอล, พวกเขาวิเคราะห์เนื้อหาของสื่อโทรทัศน์ ซึ่งยึดครองพื้นที่ในชีวิตประจำวันมากกว่าภาพยนตร์ ในประเทศออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, อินเดีย, และเม็กซิโก ศึกษาว่าศิลปินในเมืองโซเฟียทาวน์ (Sophiatown) ในแอฟริกาใต้รับอิทธิพลวัฒนธรรมป๊อปอเมริกันมาอย่างไร และพูดคุยกับนักศึกษาชาวซูลูเกี่ยวกับละครน้ำเน่าชื่อดังในอเมริกาสองเรื่องคือ "Days of Our Lives" และ "The Bold and the Beautiful"
สิ่งที่นักวิจัยค้นพบคือ วิธีการตอบสนองของผู้ชมต่อวัฒนธรรมนำเข้าเหล่านี้ขึ้นอยู่กับบริบทของวัฒนธรรมเดิมของพวกเขา. เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ แลร์รี่ สเตรลิทซ์ (Larry Strelitz) คุยกับนักศึกษาจากเมืองควาซูลู-นาตัล (KwaZulu-Natal) ในแอฟริกาใต้ เขาพบว่านักศึกษาเหล่านั้นไม่ได้รับวัฒนธรรมนั้นมาเฉยๆ โดยไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ. นักเรียนคนหนึ่งชื่อ ซิโฟ (Sipho) ซึ่งเรียกตัวเองว่า "ชายชาวซูลูผู้บึกบึน" บอกว่า เขาได้บทเรียนจากการดูละครน้ำเน่าเรื่อง "Days of Our Lives" โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว ในความเห็นของซิโฟ ละครเรื่องนี้ตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า "ถ้าผู้ชายสามารถบอกผู้หญิงได้ว่าเขารักเธอ ผู้หญิงก็ควรจะบอกรักผู้ชายได้เหมือนกัน"
ยิ่งไปกว่านั้น ละครเรื่องนี้ทำให้ซิโฟคิดได้ว่าเขาควรจะได้รับอนุญาตให้เปิดอกคุยกับบิดาได้ "พ่อควรจะเป็นเพื่อนของผม แทนที่จะเป็นพ่อบังเกิดเกล้าของผมอย่างเดียว" ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นสารที่ "กลุ่มผู้มีอำนาจ" ใจกลางระบบทุนนิยมข้ามชาติ ต้องการจะสื่อหรือเปล่า แต่ความเห็นของซิโฟสะท้อนให้เราเห็นว่าผู้บริโภควัฒนธรรมไม่ใช่คนโง่ที่ถูกหลอก พวกเขาสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตนเอง และสามารถคิดได้เองว่าชอบอะไรและไม่ชอบอะไร ลองมาฟังซิโฟกันอีกที
"ในวัฒนธรรมของเรา ผู้หญิงจะมีแฟนครั้งแรกตอนอายุประมาณ 20 แต่ในวัฒนธรรมตะวันตก อายุ 15-16 ก็มีแฟนแล้ว ผมว่าเราไม่ควรรับเอาวัฒนธรรมนั้นมา อีกอย่างที่เราไม่ควรรับคือวิธีการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ผมไม่อยากเห็นพ่อแม่ต้องไปอยู่ในบ้านพักคนชรา"
ไม่สำคัญว่า "บ้านพักคนชรา" ในละครน้ำเน่าอเมริกันล้วนเป็นสถานที่ปลอดภัยที่เต็มไปด้วยคนดีมีเมตตา ถึงอย่างไรซิโฟก็ไม่ชอบไอเดียนี้ ในขณะเดียวกัน ผู้ชมชาวดัทช์ที่ดูละครเรื่อง "ดัลลัส" มองไม่เห็นความเพลิดเพลินในการบริโภคแบบสุดโต่งของเศรษฐีพันล้าน (ซึ่งเป็นสารที่นักทฤษฎีด้าน "ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม" บอกว่าแฝงอยู่ในทุกตอนของละครเรื่องนี้) แต่มองเห็นอุทาหรณ์ว่า เงินและอำนาจช่วยให้คนรอดพ้นจากหายนะไม่ได้, ส่วนชาวอาหรับในอิสราเอลมองว่า ละครเรื่องนี้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงที่ถูกสามีรังแกควรกลับไปหาพ่อ, ในขณะที่ละครเม็กซิกันเตือนผู้หญิงชาวกานาว่าพวกเธอไม่ควรไว้ใจผู้ชายเรื่องเซ็กซ์ ถึงแม้ละครเหล่านั้นจะพยายามบอกอะไรอย่างอื่น พวกเธอก็จะไม่มีวันเชื่อหรอก
ข้ออ้างที่ว่าลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมกำลัง "ตีกรอบความรู้สึกนึกคิด" ของคนที่อยู่นอกศูนย์กลางแห่งอำนาจ มองว่าคนอย่างซิโฟเป็นแค่กระดาษเปล่า ที่ระบบทุนนิยมโลกใช้จารึกสารที่ต้องการสื่อ ทำให้เขากลายเป็นเพียงหุ่นยนต์วัฒนธรรมทื่อๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น นี่เป็นความคิดที่ดูถูกมนุษย์ด้วยกันมาก และไม่เป็นความจริงเลย
ในความเป็นจริง วิธีหนึ่งที่ผู้คนตอบสนองต่อการไหลบ่าของไอเดียจากโลกตะวันตก คือหันมันกลับไปสู่แหล่งที่มา มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ศัตรูของโลกตะวันตกในสังคมต่างๆ มักประกอบด้วยกลุ่มคนที่ถูก "ทำให้เป็นตะวันตก" ที่สุด ในกานา ใครคือผู้ต่อต้านนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษ และริเริ่มการต่อสู้เพื่อเอกราช? ไม่ใช่ชาวนาชาวไร่หรือหัวหน้าเผ่า หากเป็นชนชั้นกระฎุมพีผู้จบการศึกษาในโลกตะวันตก ใครบ้างคือผู้ปลุกระดมขบวนการต่อต้านการปกครองของอังกฤษในเอเชียใต้? ทนายชาวแอฟริกาใต้ที่ฝึกวิชาในระบบยุติธรรมของอังกฤษ ผู้มีนามว่าคานธี ชายชาวอินเดียชื่อเนห์รู ผู้ใส่สูทยี่ห้อซาวิล โรว์ (Savile Row) ของอังกฤษ และส่งลูกสาวไปเรียนโรงเรียนประจำในอังกฤษ และบิดาแห่งปากีสถานนาม โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ฝึกงานในกรุงลอนดอนและได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี
ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกขับดันด้วยหลักการชุดเดียวกันกับที่ฝ่ายพันธมิตรใช้รบกับเยอรมันและญี่ปุ่น - เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคุณธรรม หากเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interests) ที่ถูกเคลือบด้วยเปลือกของคุณธรรมเดียวกัน
4.
บางครั้ง แทนที่คนเราจะตอบรับการคุกคามของโลกสมัยใหม่ด้วยการอุปโลกน์เอาคุณธรรมของประชาธิปไตยเสรีนิยมมาใช้
เรากลับเปลี่ยนคุณค่าเหล่านั้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผลที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือการอุบัติขึ้นของขบวนการรณรงค์ระดับโลก
ที่เสนอแนวคิดอันเปรียบเสมือนกระจกด้านมืดของแนวคิดหลากหลายนิยม เราสามารถเรียกคนพวกนี้ว่าเป็น
"ผู้ต่อต้านความหลากหลาย" พวกเขาเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ และมีเครือข่ายหลายภาษาทั่วโลก
ใช้เวิร์ลไวด์เว็บอย่างได้ผล ต่อต้านลัทธิบริโภคนิยมชั้นหยาบของสังคมตะวันตกสมัยใหม่
และตำหนิอิทธิพลของมันในประเทศกำลังพัฒนา แต่พวกเขาก็ต่อต้านลัทธิชาตินิยมแบบคับแคบในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
รวมทั้งความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติด้วย
พวกเขาต่อต้านความจงรักภักดีอันซ้ำซากจำเจเหล่านี้ เพราะความรู้สึกแบบนั้นกีดขวางเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวที่พวกเขาเชื่อว่าสำคัญ นั่นคือ การสร้างชุมชนของหนุ่มสาวผู้รู้แจ้งทั่วโลก คือเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาไม่ยอมรับสถาบันศาสนาอันเก่าแก่ทั้งหลาย บางครั้งพวกเขาท้อแท้ ปรับทุกข์กันว่าอาจไม่สามารถฉุดโลกให้หลุดพ้นจากความเลวร้ายได้ และการต่อสู้ของพวกเขาอาจไม่มีความหวัง แต่พวกเขาก็พร้อมจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น
กลุ่มคนที่เชื่อเช่นนี้ไม่ใช่ผู้สืบทอดปรัชญาของไดโอจีนีส และชุมชนที่พวกเขากำลังสร้างอยู่ก็ไม่ใช่เมืองในฝัน หากเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า อัมมาห์ (ummah) ชุมชนมุสลิมแห่งโลก ชุมชนที่เปิดสำหรับทุกคนที่มีความเชื่อเช่นเดียวกันกับพวกเขา คนกลุ่มนี้คือหนุ่มสาวชาวมุสลิมอนุรักษ์นิยม (Muslim fundamentalist) ผู้เชื่อว่าพวกเขาได้หวนคืนสู่รากเหง้าดั้งเดิมของอิสลาม พวกเขามองว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในโลกรู้จักในนามอิสลามมานานหลายร้อยปีนั้น เป็นของปลอม
นักคิดชาวฝรั่งเศส โอลิเวียร์ รอย (Olivier Roy) ซึ่งขนานนามพวกเขาว่าเป็นพวก "อนุรักษ์นิยมใหม่" (neofundamentalists) มองว่า มุสลิมผู้เคร่งครัดเหล่านี้ ต้องการชำระล้างแก่นสารอันบริสุทธิ์ของอิสลามจากการแปดเปื้อนโดยวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์ธรรมดาๆ, รอยบอกว่า "สำหรับพวกเขา โลกาภิวัตน์ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแยกอิสลามออกจากวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งหมด และสร้างโมเดลที่จะอยู่เหนือวัฒนธรรมทั้งมวล" พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาใช้หลักศาสนาที่เคยเชื่อมติดอยู่กับวิถีชีวิต แต่แล้วก็โยนวิถีชีวิตนั้นทิ้งไป
เนื่องจากชาวมุสลิมอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ไม่เคยคิดที่จะวางระเบิดใคร เราจึงไม่ควรสับสนระหว่างพวกเขากับกลุ่มที่รอยเรียกว่า "อนุรักษ์นิยมใหม่หัวรุนแรง" ผู้ต้องการแปลงจิฮัด (jihad) ที่พวกเขาแปลตามตัวอักษรว่าสงครามกับโลกตะวันตก ให้เป็นเสาหลักต้นที่หกของอิสลาม. การตัดสินใจว่าจะใช้กำลังหรือไม่นั้นเป็นเงื่อนไขทางการเมือง แม้ว่าจะต้องอธิบายการกระทำนั้นด้วยหลักศาสนา
อย่างไรก็ดี นักอนุรักษ์นิยมใหม่ท้าทายแนวคิดหลากหลายนิยม เพราะพวกเขาเสนอแนวคิดที่ตั้งอยู่บนหลักจริยธรรม และสากลนิยมในขณะเดียวกัน. แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ แนวคิดของพวกเขาเป็นสากลนิยมที่ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน และสากลนิยมที่แข็งขืนมักนำไปสู่การฆ่าฟัน ดังที่เราเห็นในประวัติศาสตร์มาแล้วหลายครั้ง เช่นในสงครามศาสนาในฝรั่งเศส ที่ดำเนินไปอย่างดุเดือดโหดร้ายเป็นเวลา 40 ปีจนกระทั่งปี พ.ศ. 2141 เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาแห่งเมืองนานเตส (Nantes) อนุญาตให้ผู้คนนับถือคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ในพระราชอาณาจักรได้
ต่อมา ช่วงเวลาระหว่างสงคราม 30 ปีที่ทำลายล้างยุโรปตอนกลางจนถึงปี พ.ศ. 2191 เชื้อพระวงศ์ที่นับถือคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ต่อกรกับตระกูลอื่นที่นับถือคาทอลิก ตั้งแต่ออสเตรียขึ้นไปจรดสวีเดน ส่งผลให้คนเยอรมันหลายแสนคนล้มตายในสมรภูมิ และอีกหลายล้านคนต้องอดอยากหรืออดตายระหว่างที่กองทัพต่างๆ ปล้นชาวบ้านในชนบทระหว่างทาง
ความขัดแย้งทางศาสนาในหมู่เกาะอังกฤษ ระหว่างกองทัพของฝ่ายโปรแตสแตนท์กับกองทัพของกษัตริย์คาทอลิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่สงครามบาทหลวงในปี พ.ศ. 2182 จนถึงวันสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี พ.ศ. 2194 ทำให้ประชากรประมาณร้อยละ 10 ของทั้งประเทศต้องล้มหายตายจาก. แน่นอน ความขัดแย้งเหล่านี้มีประเด็นมากกว่าหลักคำสอน แต่อย่างไรก็ตาม มันทำให้นักเสรีนิยมยุคแสงสว่าง (Enlightenment) หลายคนสรุปว่า การยัดเยียดวิสัยทัศน์ใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับสัจธรรมสากล (universal truth) มีแต่จะนำโลกกลับไปสู่การนองเลือด
แต่ความโอนอ่อนผ่อนปรนในตัวของมันเอง ไม่ใช่คุณสมบัติที่ทำให้นักหลากหลายนิยมแตกต่างจากนักอนุรักษ์นิยมใหม่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชาวมุสลิมหัวรุนแรงยินดีทน พวกเขาไม่สนใจหรอกถ้าคุณจะกินเนื้อย่าง หรือลูกชิ้น หรือไก่เปรี้ยวหวาน ตราบใดที่เนื้อนั้นเป็นฮาลาล (halal คือตรงตามหลักศาสนา), ชุดฮีแจบ (hijab) ของคุณอาจทำจากผ้าไหมหรือลินิน. ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่นักหลากหลายนิยมจะไม่ยอมทน บางครั้ง เราจะอยากแทรกแซงบางประเทศเพราะเหตุการณ์ที่กำลังปะทุในนั้นขัดแย้งกับหลักการของเราจนสุดจะทานทน เรามองเห็นข้อบกพร่องทางศีลธรรม และเมื่อใดที่มันรุนแรงถึงจุดหนึ่ง ตัวอย่างที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันเช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อนั้นเราจะไม่หยุดแค่คำพูด ความโอนอ่อนผ่อนปรนทุกชนิดมีขีดจำกัด
นอกจากนี้ คุณก็ยังไม่สามารถแยกแยะนักหลากหลายนิยมออกจากนักอนุรักษ์นิยมใหม่ได้ ถ้าคุณบอกว่าฝ่ายหลังเชื่อในสัจธรรมสากล นั่นเป็นเพราะนักหลากหลายนิยมอย่างผมก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน เพียงแต่เรายังไม่แน่ใจว่า เรารู้จักสัจธรรมนั้นครบถ้วนแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อข้อหนึ่งที่เรายึดมั่นคือ มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ต่อคนอื่น ทุกคนล้วนมีความสำคัญ - นี่คือความคิดหลักของเรา ความเชื่อข้อนี้จำกัดขอบเขตของสิ่งที่เราจะยอมโอนอ่อนผ่อนปรนด้วย
ดังนั้น การตอบคำถามว่า นักหลากหลายนิยมแตกต่างจากแนวคิดที่เป็นสากลนิยมอื่นๆ อย่างไรบ้างในหลักการ เราต้องไปไกลกว่าประเด็นเรื่องสัจธรรมและความโอนอ่อนผ่อนปรน หลักการข้อหนึ่งที่นักหลากหลายนิยมยึดมั่นคือ ทุกสังคมย่อมแตกต่างกัน (pluralism - พหุนิยม) นั่นคือ นักหลากหลายนิยมเชื่อว่า มีคุณธรรมต่างๆ มากมายในโลกนี้ที่ควรค่าแก่การใช้ แต่คุณไม่สามารถดำเนินชีวิตตามคุณค่าเหล่านี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงหวังและคาดว่า คนต่างวัฒนธรรมจะบูชาคุณธรรมที่แตกต่างกัน คุณสมบัติอีกอย่างของหลากหลายนิยมคือสิ่งที่นักปรัชญาเรียกว่า การยอมรับความบกพร่อง (fallibilism) นั่นคือ ความเชื่อว่าความรู้ของเราไม่สมบูรณ์ ไม่ตายตัว และถูกแก้ไขปรับปรุงได้ตลอดเวลาเมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ
ตรงกันข้าม วิสัยทัศน์เรื่องอัมมาห์(ummah) โลกของนักอนุรักษ์นิยมใหม่ ยอมรับเฉพาะความแตกต่างเล็กน้อยระดับท้องถิ่น ในประเด็นที่ไม่สำคัญเท่านั้น ผู้ยืนตรงข้ามกับหลากหลายนิยมกลุ่มนี้เชื่อว่า มี "หนทางที่ถูกต้อง" เพียงหนึ่งเดียวสำหรับมนุษย์ทั้งโลก ความแตกต่างทั้งหลายเป็นรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ความคิดเช่นนี้ไม่ต่างจากนักอนุรักษ์นิยมชาวคริสต์หลายคน ดังนั้นถ้าคุณเป็นห่วงเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันระดับโลก มุมมองแบบนี้คือสิ่งที่คุณควรเป็นห่วง ไม่ใช่โลกที่ทุนนิยมกำลังสร้าง
อย่างไรก็ดี แนวคิดที่อิงหลักศาสนาไม่ใช่แนวคิดสากลนิยมเพียงประเภทเดียวที่ยืนตรงข้ามกับหลากหลายนิยม คุณอาจเป็นมาร์กซิสต์ผู้อ้าง "ความสากลของความเป็นมนุษย์" (universal humanity) ในการประกาศลบล้างศาสนาทั้งหมด เหมือนเหมาเจ๋อตุงหรือพอลพต คนเหล่านี้ต้องการให้เราทุกคนยืนอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา เราจะได้มองเห็นวิสัยทัศน์ของเขาในกระจกบานเดียวกัน
"ข้าเป็นที่ปรึกษาที่ท่านไว้ใจได้" โอซามา บิน ลาเดน กล่าวประโยคนี้ใน "สารถึงชาวอเมริกัน" ในปี พ.ศ. 2545 "ข้าขอเชิญท่านแสวงหาความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ไปสู่ความหลุดพ้นจากชีวิตอันน่าหดหู่แห้งผาก วัตถุนิยมไร้วิญญาณ ข้าขอเชิญท่านเข้าสู่อิสลาม ซึ่งเรียกร้องให้เราเดินตามทางของพระอัลเลาะห์เท่านั้น ทางที่เปี่ยมความยุติธรรม ห้ามการกดขี่และอาชญากรรมทุกประเภท" เป็นพวกเดียวกับเราสิ คนเหล่านี้บอก แล้วพวกเราทุกคนจะเป็นพี่น้องกัน แต่พวกเขาวางแผนที่จะทำลายล้างความแตกต่างทั้งมวล รวมทั้งเข่นฆ่าเราด้วยถ้าจำเป็น หากเราไม่ยอมเป็นพวกเดียวกับเขา
การที่นักหลากหลายนิยมผู้รักเสรีจะต่อต้านวิถีชีวิตแบบเผด็จการบางประเภท การที่พวกเราแข็งขืนต่อความแข็งขืนอย่างสุดขั้วนั้น ทำให้บางคนมองว่าเราทำผิดหลักการของตัวเอง แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะคุณสามารถเชื่อว่าเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจด้วยว่ากรอบของเสรีภาพนั้น มีรูปร่างลักษณะต่างกันมากระหว่างสังคมต่างๆ
เราต้องยอมรับว่า ความสำคัญที่เราให้ต่อเสรีภาพส่วนบุคคลนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะชอบเสมอไป การเมืองแห่งวัฒนธรรมย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ นั่นคือสิ่งที่เราควรตระหนักเวลาเราคิดถึงสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เวลาเราเสนอให้องค์กรระหว่างประเทศ บรรจุความห่วงใยต่อชนชาติแปลกหน้าไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้รัฐบาลของเราบังคับใช้กฎหมายนั้น เท่ากับว่าเรากำลังพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมายในทุกๆ ประเทศ
เราประกาศให้การค้าทาสเป็นอาชญากรรมในกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าเราต้องการเห็นการเลิกทาสทั่วโลก นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ถกเถียงกันอีกต่อไปบนเวทีโลก ไม่มีใครแก้ตัวแทนนายทาสอีกแล้ว แต่นิยามของ "ความเป็นทาส" ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศรวมถึงการทำงานใช้หนี้ (debt bondage) ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่แพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียใต้ ผมเองไม่สนับสนุนการทำงานใช้หนี้ แต่เราไม่ควรแปลกใจถ้าคนที่มีรายได้และวิถีชีวิตขึ้นอยู่กับมันจะโกรธแค้น
มันก็เหมือนกับขบวนการข้ามชาติที่รณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เรารู้ว่าชาวมุสลิมหลายคนไม่สบายใจอย่างมากกับพฤติกรรมของหนุ่มสาวในโลกตะวันตก โลกที่เรายอมให้ผู้หญิงใส่ชุดว่ายน้ำบางจ๋อยว่ายน้ำกับชายแปลกหน้า ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่กงการอะไรของใคร แต่มันเป็นเรื่องยากที่จะปิดบังข่าวเรื่องความไม่สำรวมแบบนี้จากสายตาของผู้หญิงและเด็กชาวมุสลิม หรือแม้กระทั่งชายชาวมุสลิมที่ข่าวแบบนี้ปลุกเร้าอารมณ์อย่างไม่ต้องสงสัย และเมื่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ การปิดข่าวก็จะทำได้ยากขึ้นทุกที
ในที่สุดลูกหลานชาวมุสลิม โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ก็จะอยากเรียกร้องสิทธิของพวกเขาในการนุ่งน้อยห่มน้อยด้วย หรือไม่พวกเขาก็จะบอกว่าเราพยายามยัดเยียดความคิดของเราที่ว่า ผู้หญิงและผู้ชายควรทำตัวอย่างไร ให้สังคมอื่นทำตาม เราพูดถึงสิทธิสตรี เราลงนามในสนธิสัญญาที่ยกระดับสิทธิเหล่านั้นให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราก็เรียกร้องให้รัฐบาลของพวกเขาบังคับใช้สนธิสัญญาเหล่านั้นในประเทศของตน
ผมสนับสนุนสนธิสัญญาเหล่านั้น ไม่ต่างจากคนมากมายในทุกๆ ประเทศ ผมเชื่อว่า ผู้หญิงควรมีสิทธิลงคะแนน มีสิทธิทำงานนอกบ้าน และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากทารุณกรรมด้วยน้ำมือของผู้ชาย รวมทั้งพ่อ พี่ชาย น้องชาย และสามีของพวกเธอ แต่ผมก็ตระหนักเหมือนกันว่าเสรีภาพเหล่านั้นจะเปลี่ยนสมดุลอำนาจระหว่างชายหญิงในชีวิตประจำวัน ทำไมผมถึงรู้? เพราะผมใช้ชีวิตตอนโตส่วนใหญ่ในโลกตะวันตก ช่วงที่การเปลี่ยนผ่านนี้กำลังเกิด และผมรู้ว่ากระบวนการนี้ยังไม่จบสิ้นลง
ดังนั้น เสรีภาพและความหลากหลายอาจขัดแย้งกันได้ และความตึงเครียดระหว่างหลักการทั้งสองนี้ก็แก้ไม่ง่ายเสมอไป แต่โวหารสวยหรูของขบวนการอนุรักษ์วัฒนธรรมไม่ช่วยอะไรเราเลย ลองมาดูปฏิญญาของยูเนสโกกันอีกครั้ง ปฏิญญานี้ยืนยัน "หลักการที่ว่าทุกวัฒนธรรมมีเกียรติเท่าเทียมกัน และมีคุณค่าควรแก่การเคารพ" ('ทุกวัฒนธรรม' ที่ว่า รวมลัทธิเหยียดผิวเคเคเค กับตาลีบันด้วยหรือเปล่า?) และยืนยัน "ความสำคัญของวัฒนธรรม ในการผนึกสังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน และศักยภาพในการยกระดับฐานะและบทบาทของผู้หญิงในสังคม" (แต่คำว่า "ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน" ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนคิดแบบเดียวกัน (uniformity) หรอกหรือ? และการยกระดับฐานะและบทบาทของผู้หญิงน่าจะทำได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ไม่ใช่อนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมๆ)
- ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ประชาชนสามารถรับชมละครอเมริกันเรื่อง "Will and Grace" ผ่านจานดาวเทียมได้แบบผิดกฎหมายแต่ทำกันแพร่หลาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าวิล พระเอกของเรื่องนี้ จะต้องถูกตัดคอในที่สาธารณะภายใต้กฎหมายซาอุฯ
- ในตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย มุลลาห์ (ผู้นำศาสนาอิสลาม) ต่อต้านการฉีดวัคซีนโรคโปลิโอ และพิพากษาประหารชีวิตหญิงที่ถูกจับได้ว่ามีชู้ ด้วยการให้คนรุมขว้างปาก้อนหินใส่เธอจนตาย- ในอินเดีย ผู้หญิงหลายพันคนถูกเผาทั้งเป็นทุกปี เพราะไม่สามารถจ่ายค่าสินสอดของพวกเธอได้ตรงเวลา เราควรจะชื่นชมและอนุรักษ์วัฒนธรรมเหล่านี้หรือ? ให้ตายเถอะ
5.
วัฒนธรรมที่มีชีวิต ไม่ได้วิวัฒนาการจากภาวะบริสุทธิ์ผุดผ่องไปสู่การผสมปนเป
ความเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จากส่วนผสมแบบหนึ่งไปสู่ส่วนผสมอีกแบบหนึ่ง
และเกิดขึ้นห่างไกลจากกฎเกณฑ์หรือผู้ปกครองประเทศ เกิดขึ้นในบทสนทนาระหว่างคนที่ข้ามเขตพรมแดนทางวัฒนธรรม
บทสนทนาเหล่านี้ไม่ใช่การถกเถียงกันเรื่องคุณธรรมและประเด็นปัญหา เท่ากับเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง
ผมไม่คิดว่าคนเราเปลี่ยนความคิดไม่ได้ แต่เหตุผลต่างๆ ที่เรายกขึ้นมาใช้ในวงสนทนา
ไม่ค่อยโน้มน้าวใครที่ไม่ได้มีความเห็นขั้นพื้นฐานตรงกับเราอยู่แล้ว
ส่วนใหญ่เวลาเราตัดสินอะไร มันไม่ใช่เพราะเราประยุกต์ใช้หลักการที่คิดมาดีแล้วเข้ากับข้อเท็จจริง แล้ววิเคราะห์หาคำตอบ แต่การแสวงหาความชอบธรรมให้กับการกระทำของเรา มักเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะปกติเราตัดสินใจทำทุกอย่างด้วยสัญชาตญาณ ไม่ใช่ด้วยเหตุผล และเรารู้สึกว่าการกระทำของเรานั้น "ถูก" ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อนไม่ได้
ลองคิดถึงประเพณีการรัดเท้าผู้หญิงในประเทศจีน ซึ่งอยู่ยงคงกระพันนานนับพันปี แต่ถูกลบล้างไปจากประเทศภายในหนึ่งชั่วอายุคน การรณรงค์ต่อต้านประเพณีนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2450 ช่วยตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้หญิงที่ถูกรัดเท้า แต่นี่ไม่น่าจะเป็นข่าวใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ทำให้การรณรงค์ครั้งนั้นได้ผลมากกว่า น่าจะเป็นการป่าวประกาศว่าไม่มีประเทศไหนในโลกอีกแล้วที่มีประเพณีแบบนี้ แปลว่าประเทศจีนกำลัง "เสียหน้า" ชาวโลก
การตอกย้ำจุดนี้กระตุ้นให้เกิดสมาคมเท้าธรรมชาติมากมาย ที่สมาชิกร่วมกันสาบานว่าจะเลิกประเพณีนี้ และจะไม่ยอมให้ลูกชายแต่งงานกับหญิงที่ถูกรัดเท้า เมื่อการรณรงค์แผ่ขยายออกไป ก็เกิดกระแสสังคมที่เหยียดหยามผู้หญิงเหล่านี้ และพวกเธอก็ถูกบังคับให้ต้องทนทรมานกับการคลายผ้าที่รัดเท้าออก ในช่วงเวลาไม่นาน สิ่งที่เคยเป็นความสวยงามกลับกลายเป็นความอัปลักษณ์ การแต่งตัวกลับกลายเป็นการเสียโฉม เหตุผลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายทั้งประเพณีนี้ และการยกเลิกประเพณีนี้ได้
กระแสสังคมก็เช่นเดียวกัน เพียงประมาณสองชั่วอายุคนที่แล้ว คนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกคิดว่าผู้หญิงชนชั้นกลางควรเป็นแม่บ้าน และแม่ที่ดีของลูกๆ ถ้าพวกเธอมีเวลาว่าง ก็ควรทำการกุศลหรือจัดงานเลี้ยงเพื่อนฝูง ผู้หญิงบางคนอาจทำงานด้านศิลปะ, เขียนนิยาย, วาดรูป, ร้องเพลง, เล่นละคร, หรือเต้นรำ, แต่ไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเธอใน "อาชีพที่ใช้การศึกษาชั้นสูง" อย่าง อาชีพทางกฎหมาย, การแพทย์, หรือการสอนศาสนา, ถ้าพวกเธออยากเป็นนักวิชาการ พวกเธอก็ไปสอนหญิงสาวรุ่นใหม่ และก็คงไม่แต่งงาน ผู้หญิงไม่มีทางก้าวหน้าในการเมืองได้เลย ยกเว้นในระดับท้องถิ่น และไม่เป็นที่ต้อนรับอย่างสิ้นเชิงในแวดวงวิทยาศาสตร์
กี่เปอร์เซ็นต์ของความเปลี่ยนแปลงจากสภาพในอดีตเช่นนั้น ที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล? ผมว่าการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลจากการที่เราเคยชินกับสิ่งใหม่ๆ มากกว่า เพราะเหตุผลที่ยืนยันประเพณีแบบแผนในอดีตนั้นฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ ถ้าปัญหาในอดีตอยู่ที่เหตุผล ขบวนการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีก็คงบรรลุภารกิจได้ภายในสองสัปดาห์
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในหลายๆ พื้นที่ซึ่งเพียงหนึ่งชั่วอายุคนที่แล้ว คนที่รักร่วมเพศถูกตราหน้าว่าเป็นกากเดนสังคมและทำผิดกฎหมาย ตอนนี้เกย์และเลสเบี้ยนกลับเป็นที่ยอมรับของครอบครัว สังคม และกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นความจริงแม้ว่าจะมีการต่อต้านอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มเคร่งศาสนา และกระแสการไม่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่ที่เปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำ ทั้งสองข้างอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ บ้างฟังดูดี แต่ส่วนใหญ่ฟังไม่ขึ้น แต่ถ้าคุณไปถามนักวิทยาศาสตร์สังคมว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอะไร พวกเขาจะไม่เริ่มจากเหตุผล แต่จะอธิบายประวัติศาสตร์ที่จบลงด้วยการเปลี่ยนมุมมอง
นั่นคือ การที่คนที่เป็น "เกย์อย่างเปิดเผย" มีพื้นที่ในสื่อและสังคมมากขึ้นนั้น ทำให้นิสัยเราเปลี่ยนไป ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเซ็กซ์ส่วนบุคคลของเกย์ ชาวอเมริกันและชาวยุโรปส่วนใหญ่ก็เริ่มคิดถึงเกย์ในฐานะที่เป็นหัวข้อสาธารณะกันแล้ว
จอห์น วอน นิวแมน (John von Neumann) หนึ่งในอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชอบพูดติดตลกว่า "ในคณิตศาสตร์ คุณไม่เข้าใจอะไรๆ หรอก คุณแค่ชินกับมันก็เท่านั้น" จริยธรรมหรือศีลธรรมก็ไม่ต่างจากคณิตศาสตร์ ผมไม่ปฏิเสธว่าทุกชั่วขณะมีคนคุยกันมากมาย ให้เหตุผลสนับสนุนการกระทำต่างๆ - ให้ยอมรับลูกหลานที่เป็นเกย์ เลิกมองพฤติกรรมรักร่วมเพศว่าเป็นโรค ปฏิเสธการครอบงำของสถาบันศาสนา ให้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ฯลฯ
แต่จริงๆ แล้ว เรื่องราวทั้งหมดก็ย่อได้เหลือแค่นี้ - คนเริ่มชินกับเลสเบี้ยนและเกย์ ผมกำลังบอกว่า เราควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนในที่ต่างๆ สนใจอารยธรรม เหตุผล ความผิดพลาด และความสำเร็จของพวกเขา ไม่ใช่เพราะมันจะทำให้เราเห็นพ้องต้องกัน แต่มันจะทำให้เราคุ้นเคยกัน -
นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ถ้านั่นคือเป้าหมาย ความจริงที่ว่าเรามีโอกาสขัดแย้งกันมากมายเกี่ยวกับจริยธรรมหรือคุณค่าต่างๆ ไม่ควรทำให้เราท้อแท้ ความเข้าใจกันอาจเป็นเรื่องยาก และมันอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่มันไม่ได้หมายความว่าความคิดเห็นของเราต้องตรงกัน
6.
อุดมการณ์เรื่องความบริสุทธิ์และการอนุรักษ์ นำมาซึ่งความแตกแยกมากมายในศตวรรษที่ผ่านมา
แต่มันไม่เคยเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มีชีวิตสักเท่าไหร่ ยุคของเราอาจเป็นยุคแห่งการอพยพย้ายถิ่นฐานในระดับมโหฬาร
แต่การแผ่ขยายและการผสมปนเปของวัฒนธรรม ผ่านการเดินทาง การค้า และการยึดครองระดับประเทศ
ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ อาณาจักรของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชผนึกผสานทั้งพื้นที่และวัฒนธรรมของอียิปต์และอินเดียเหนือ
นักรบชาวมองโกลและมูกัลทิ้งอิทธิพลไว้มากมายในเอเชีย ชาวบันตูอพยพกลายเป็นประชากรกว่าครึ่งของทวีปแอฟริกา
รัฐอิสลามแผ่ขยายจากโมร็อกโกไปจรดอินโดนีเซีย ศาสนาคริสต์แพร่ไปถึงแอฟริกา ยุโรป
และเอเชียภายในไม่กี่ร้อยปีหลังพระเยซูแห่งนาซาเร็ธล่วงลับ
ศาสนาพุทธเดินทางก่อนหน้านั้นจากอินเดียไปยังเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้. ชาวยิวและเชื้อชาติที่บรรพบุรุษมาจากหลายภาคของประเทศจีน คุ้นชินกับการอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่วโลก พ่อค้าแห่งเส้นทางสายไหมเปลี่ยนสไตล์การแต่งกายของชนชั้นสูงในอิตาลี บางคนฝังหม้อไหจากเมืองจีนในหลุมศพชาวซวาฮิลีสมัยศตวรรษที่ 15 ในแอฟริกา และผมเคยได้ยินใครเล่าว่า ชาวอียิปต์เป็นผู้คิดค้นปี่สก็อต ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในสก็อตแลนด์โดยทหารชาวโรมัน เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
ไกด์ที่อาจสามารถอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ให้เราเข้าใจ อาจเป็นชายชาวแอฟริกา. อดีตทาส นามว่า, พูบลิอุส เทเรนเทียส อาเฟอร์ (Publius Terentius Afer) หรือที่เรารู้จักในนาม เทเรนซ์ (Terence) เทเรนซ์เกิดในเมืองคาร์เธจ (Carthage) ถูกนำตัวไปยังกรุงโรมประมาณสองร้อยปีก่อนคริสตศักราช (ราว 2,200 ปีที่แล้ว) แต่งละครตลกมากมายซึ่งเป็นที่โปรดปรานของชนชั้นสูงชาวโรม สไตล์การเขียนของเทเรนซ์คือ เอาละครกรีกหลายๆ เรื่องมาผสมกันเป็นละครโรมันเรื่องใหม่ ผู้รู้ด้านวรรณกรรมในสมัยนั้นเรียกวิธีเขียนของเทเรนซ์ว่า "การผสมปนเป" (contamination)
นี่เป็นคำที่ชวนทะเลาะ เวลาผมได้ยินใครพูดถึง "ความบริสุทธิ์ของวัฒนธรรม" ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมของแท้ของชาวอาซันเต้ หรือฟาร์มอเมริกันแบบดั้งเดิม ผมจะนึกถึงศัพท์คำนี้ในฐานะที่มันอธิบายอุดมการณ์ที่อยู่ตรงกันข้าม. เทเรนซ์เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง - "คนมากเหลือเกิน ความเห็นมากเหลือเกิน" คือประโยคหนึ่งจากปลายปากกาของเขา
ในละครตลกของเทเรนซ์เรื่อง "ผู้ทรมานตนเอง" (The Self-Tormentor) คุณจะพบประโยคที่เปรียบเสมือนวรรคทองของหลากหลายนิยม - Homo sum: humani nil a me alienum puto (ข้าคือมนุษย์ ไม่มีการกระทำใดๆ ของมนุษย์ที่แปลกประหลาดสำหรับข้า) บริบทของประโยคนี้น่าสนใจไม่น้อย เพื่อนบ้านของชาวนาสอดรู้สอดเห็นคนหนึ่งชื่อ เครมีส บอกว่าเขาควรจะหยุด "แส่" เรื่องคนอื่น, เครมีสโต้ตอบด้วยประโยคข้างต้น
ผู้สนับสนุนอุดมการณ์แห่งความผสมปนเปน้อยคนมีคารมคมคายกว่า ซัลมัน รัชดาย (Salman Rushdie) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ยืนยันตลอดมาว่านิยายของเขาล้วน "สรรเสริญการผสมปนเป การปลอมปน และการแปรสภาพที่มาคู่กับการผสมผสานใหม่ๆ อันไม่คาดคิดระหว่างชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ไอเดีย การเมือง ภาพยนตร์ และเพลง [งานเขียนของผม] เกรงกลัวความเป็นเผด็จการของสิ่งบริสุทธิ์ทั้งหลาย" ข้อเท็จจริงที่เราเห็นในโลกล้วนอยู่ข้างการผสมปนเป ซึ่งก็คือกระบวนการลอกเลียนแบบและสังคายนาอันไม่สิ้นสุด
คุณธรรมโลกที่สมเหตุสมผล ต้องบรรเทาขีดความเคารพต่อความแตกต่าง ด้วยความเคารพต่อเสรีภาพของปัจเจกชนที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง นั่นคือสาเหตุว่าทำไมนักหลากหลายนิยมจึงไม่ยืนกรานว่าทุกคนต้องนิยมความหลากหลายด้วย พวกเขารู้ดีว่าไม่มีคำตอบทั้งหมด พวกเขาถ่อมตัวพอที่จะคิดว่า สามารถเรียนรู้จากคนแปลกหน้าได้ แต่ไม่ถ่อมตัวถึงขนาดคิดว่าคนแปลกหน้าเรียนรู้อะไรจากพวกเขาไม่ได้
ไม่ค่อยมีใครจำได้ว่าเครมีส ตัวละครของเทเรนซ์ พูดว่าอะไรหลังจบประโยค "ข้าคือมนุษย์..." แต่ประโยคถัดไปน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน - "ถ้าแกถูก ข้าจะทำตามอย่างแก แต่ถ้าแกผิด ข้าจะแนะทางที่ถูกให้."
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
หลักการข้อหนึ่งที่นักหลากหลายนิยมยึดมั่นคือ ทุกสังคมย่อมแตกต่างกัน (pluralism - พหุนิยม) นั่นคือ นักหลากหลายนิยมเชื่อว่า มีคุณธรรมต่างๆ มากมายในโลกนี้ที่ควรค่าแก่การใช้ แต่คุณไม่สามารถดำเนินชีวิตตามคุณค่าเหล่านี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงหวังและคาดว่า คนต่างวัฒนธรรมจะบูชาคุณธรรมที่แตกต่างกัน คุณสมบัติอีกอย่างของหลากหลายนิยมคือสิ่งที่นักปรัชญาเรียกว่า การยอมรับความบกพร่อง (fallibilism) นั่นคือ ความเชื่อว่าความรู้ของเราไม่สมบูรณ์ ไม่ตายตัว และถูกแก้ไขปรับปรุงได้ตลอดเวลาเมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ (คัดมาจากบทความ)