ปฏิรูปการเมือง
- หลายมิติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย
จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม
- ศาสนากับรัฐธรรมนูญ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: รวบรวม
นำมาจากประชาไทออนไลน์
และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
บทความต่อไปนี้
คัดลอกมาจากสื่อดิจิตอลและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ประกอบด้วย
๑. รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์ : จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม
๒. บทบัญญัติว่าด้วยศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
๓. ศาสนากับการเมือง
โดยเรื่องแรกเป็นกฎกติการัฐธรรมนูญซึ่งมิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
และไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แต่มีผลต่อการผลิตรัฐธรรมนูญ เป็น "มือที่มองไม่เห็น"
ในการเขียนกำกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องที่สองเป็นการเสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประกาศแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน และให้ศาสนาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์
และเรื่องที่สามเป็นการอธิบายถึงเรื่องรัฐฆราวาส
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๗๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๐ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๙.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
1. รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์ : จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม
(ปรับปรุงมาจากบทความในประชาไทออนไลน์)
ประชาไท - 9 มีนาคม 2550 เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และคณะเศรษฐศาสตร์ จัดปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 ในเรื่อง "จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม"
โดยได้เรียนเชิญ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นองค์ปาฐก
ศ.รังสรรค์ กล่าวว่า จารีตรัฐธรรมนูญ เป็นกฎกติการัฐธรรมนูญซึ่งมิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แต่มีผลต่อการผลิตรัฐธรรมนูญ เป็น "มือที่มองไม่เห็น" ในการเขียนกำกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญไทยที่ ศ. รังสรรค์ กล่าวถึง ประกอบด้วย 8 จารีต ได้แก่
จารีตที่ 1 คือ'การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง'
จารีตที่ 2 คือ 'การเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อสงวนและแบ่งปันอำนาจในหมู่ชนชั้นปกครอง'
จารีตที่ 3 คือ 'การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อก้าวก่ายอำนาจ และลดทอนการถ่วงดุลอำนาจ'
จารีตที่ 4 คือ 'การลิดรอนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ'
จารีตที่ 5 คือ'ดำรงธรรมนูญการคลัง และธรรมนูญการเงิน ไว้ในรัฐธรรมนูญ'
จารีตที่ 6 คือ'การธำรงหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ'
จารีตที่ 7 คือ'การยึดกุมกฎการลงคะแนนเสียงข้างน้อย'
จารีตที่ 8 คือ'การใช้บริการเนติบริกร'
จารีตที่ 1 'การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง'
ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวว่า ประชาชนไม่เคยมีสิทธิในการเขียนรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง แต่โดยธรรมเนียมการปฏิบัติ
การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิของชนชั้นปกครอง
ขณะที่การรับฟังความเห็นของประชาชน เริ่มมีในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 เป็นครั้งแรก แต่ไม่มีหลักฐานว่าทำอย่างไร ด้านการรับฟังความเห็นของประชาชนในเชิงรุก ปรากฏครั้งแรกในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่
ศ.รังสรรค์กล่าวว่า แต่การฟังกับการได้ยินเป็นคนละเรื่องกัน
ประชาชนมีสิทธิที่จะส่งเสียง ที่จะ Voice ชน
ชั้นปกครองจะได้ยินหรือไม่ได้ยินนั่นอีกเรื่องหนึ่ง. ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2540
สร้างมายาภาพว่าประชาชนมีสิทธิในการร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไปดูในรายละเอียด
กระบวนการคัดเลือก ส.ส.ร.เป็นกระบวนการเล่นปาหี่ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ศ.รังสรรค์กล่าวว่า นี่เป็นจารีตที่เราเห็น ไม่มีกฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ปฏิบัติตามมาในอดีตก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม เป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งอ้างกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เวลาที่จะขอความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นอะไรบ้างที่ควรแก่การแก้ไข เมื่อบังคับใช้มาแล้ว 5 ปี ไม่มีบทบัญญัติที่จะให้ประชาชนสามารถส่งเสียงได้ แล้วกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ สิทธิในการเสนอเป็นของ ครม. (คณะรัฐมนตรี) และเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา
จารีตที่ 2 คือ 'การเขียนรัฐธรรมนูญ
เพื่อสงวนและแบ่งปันอำนาจในหมู่ชนชั้นปกครอง'
จารีตนี้ก็จะปรากฏในประเด็นความขัดแย้ง 4 ประเด็น คือ
1) รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
2) รัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.
3) นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
4) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นประธานรัฐสภา
ทั้งนี้ สังคมการเมืองไทยเสียเวลากว่า 50 ปี ในการต่อสู้ 4 ประเด็นนี้
ความขัดแย้งในเรื่อง 'รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำในขณะเดียวกัน' และเรื่อง 'นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง' อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญของวัฏจักรรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าหากว่าผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่สามารถเป็นข้าราชการประจำในเวลาเดียวกัน หรือว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ปิดช่องทางผู้นำฝ่ายทหารในการขึ้นสู่อำนาจ และนี่อาจเป็นชนวนของการก่อเกิดวัฏจักรรัฐธรรมนูญ
จารีตที่ 3 คือ 'การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อก้าวก่ายอำนาจ
และลดทอนการถ่วงดุลอำนาจ'
มีความเข้าใจผิดโดยทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญไทยเขียนโดยให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง
Separation of power การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ซึ่งในความหมายของการแยกอำนาจ แบ่งเป็น
การแยกหน้าที่ (Separation of Function) การแยกตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจอธิปไตย (Physical
Separation of Persons) และการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย (Checking and
Balancing)
เรื่องการแยกหน้าที่นั้น ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวว่า ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่มีการแยกหน้าที่ออกจากกัน เป็นอิสระต่อกันโดยชัดเจน โดยไม่ก้าวก่ายกัน ประเทศไทยมีการก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายบริหารก้าวล่วงไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยการมีอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยทั่วไป มีอำนาจผูกขาดในการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน กฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงินฝ่ายบริหารเป็นคนเสนอ ส.ส. ไม่สามารถเสนอได้ ถ้าจะเสนอต้องมีหนังสือรับรองจากนายกรัฐมนตรี
การแยกอำนาจที่ไม่เด็ดขาดก็มีด้วย
ในกรณีอำนาจตุลาการ การตั้งศาลใหม่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ
เพราะฉะนั้น ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็มีบทบาทในการตั้งศาลใหม่ วุฒิสภาก็มีบทบาทในการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ
มีบทบาทในการแต่งตั้งประธานศาลปกครอง
การแยกตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจอธิปไตย มีกฏกติกาที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2 เรื่องใหญ่ คือ
- การห้ามผู้พิพากษา และตุลาการเป็นข้าราชการการเมือง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ
- การห้าม ส.ส. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่กำหนดห้ามผู้พิพากษา ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รัฐธรรมนูญเผด็จการทุกฉบับไม่มีข้อห้ามนี้ มีรัฐธรรมนูญอยู่เพียง 2 ฉบับที่ห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็คือรัฐธรรมนูญ 2511 และ รัฐธรรมนูญ 2540
จารีตที่ 4 ก็คือ 'การลิดรอนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ'
พัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยระหว่างปี 2475-2549 เป็นไปในทิศทางลิดรอนอำนาจนิติบัญญัติ
ในด้านหนึ่ง อำนาจบริหารรุกคืบเข้าไปมีอำนาจนิติบัญญัติ ขณะที่อำนาจนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบและคานอำนาจบริหารได้น้อยลง
ฐานะสัมพัทธ์ของสภาผู้แทนราษฎรเสื่อมทรุดเมื่อเทียบกับวุฒิสภา
แนวความคิดว่าด้วยรัฐบาลเข้มแข็ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีส่วนเสริมอำนาจบริหารและทอนอำนาจนิติบัญญัติอย่างสำคัญ การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อลดรอนอำนาจนิติบัญญัติค่อยๆ "พัฒนา" เป็นจารีต ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ ที่มีบทบัญญัติว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปในทางทอนอำนาจนิติบัญญัติ จารีตนี้ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่พัฒนาการรัฐธรรมนูญบ่งชี้ว่า รัฐธรรมนูญจากปี 2475 - 2549 เดินตามจารีตนี้ ผู้ที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญมิได้ใส่ใจว่าหากจารีตการเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อทอนอำนาจนิตบัญญัติยังคงอยู่ กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจย่อมง่อยเปลี้ยเสียขา เปิดช่องให้อำนาจกระจุกตัวและฉ้อฉลได้ง่าย
จารีตที่ 5 'ดำรงธรรมนูญการคลังและธรรมนูญการเงิน
ไว้ในรัฐธรรมนูญ'
ธรรมนูญการคลังและการเงินตามพื้นฐานรัฐธรรมนูญไทย แตกต่างจาแนวคิดของสำนัก Public
Choice และ Constitutional Political Economy ที่สร้างธรรมนูญการคลังและการเงินเพื่อจำกัดอำนาจของรัฐบาล
เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลอสูร หากปล่อยให้มีอำนาจล้นเหลือย่อมสร้างหายนภัยแก่สังคม
แต่ใต้รัฐธรรมนูญไทยมีเข็มมุ่งที่จะจำกัดอำนาจนิติบัญญัติ หาได้ต้องการจำกัดอำนาจบริหารไม่
กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 และปรากฏต่อมาในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ โดยบทบัญญัติให้อำนาจฝ่ายบริหารในการเสนอร่างกฎหมาย เกี่ยวด้วยการเงินต่อรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินได้ ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง มิเช่นนั้น ส.ส.มิอาจนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภาได้ ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรทำหน้าที่นิติบัญญัติแต่กลับต้องขออนุญาตฝ่ายบริหาร
จารีตที่ 6 คือ 'การธำรงหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ'
บทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญไทย เป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ
ทำให้รัฐธรรมนูญมีจำนวนมาตรามากเกินไป และทำให้มีการสถาปนาองค์กรของรัฐเกินกว่าความจำเป็น
อันก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรแผ่นดิน อีกทั้งการบังคับให้รัฐบาลนำเมนูนโยบายในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไป
ดำเนินการ ซึ่งย่อมขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย
พรรคการเมืองและรัฐบาลควรมีเสรีภาพในการเสนอเมนูนโยบาย จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญโดยธำรงหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพราะองคาพยพของสังคมไทยต่างเคลี่อนไหวผลักดัน "เมนูเด็ด" ของตนเองบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมิได้เข้าใจว่าเมนูเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ว่าจะดำเนินการหรือไม่ การอ้างว่านโยบายหนึ่งใดอยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเพื่อกดดันให้รัฐบาลดำเนิน หามีประสิทธิผลไม่ ในเมื่อไม่สามารถกำหนดบทลงโทษรัฐบาลในรัฐธรรมนูญ
จารีตที่ 7 คือ 'การยึดกุมกฎการลงคะแนนเสียงข้างน้อย'
การยึดกุมกฎคะแนนเสียงข้างน้อยกลายเป็นจารีตการเขียนรัฐธรรมนูญไทย กฎการลงคะแนนเสียงไม่เคยปรากฏเป็นวาระการประชุมที่สำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
หรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จารีตที่ 8 คือ 'การใช้บริการเนติบริกร'
ด้วยเหตุที่สังคมการเมืองไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ / คณาธิปไตยมายาวนาน ตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน
2490 จนมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2511 ผู้นำฝ่ายทหารซึ่งยึดกุมอำนาจ รัฐได้ขาดความรู้ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย
จึงต้องพึ่งขุนนางนักวิชาการเพื่อขอคำปรึกษา และขอให้ช่วยร่างกฎหมายที่สำคัญ
รวมทั้งระดับอนุบัญญัติ โดยขุนนางนักวิชาการผู้ให้เนติบริการเหล่านี้ เบื้องต้นมาจากกระทรวงยุติธรรม
และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ภายใต้ระบอบเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตย เนติบริกรให้เนติบริการแก่ผู้นำรัฐบาล "ค่าจ้าง" ที่เนติบริกรได้รับปรากฏในรูปผลตอบแทนจากการดำรงตำแหน่ง และอาจมีส่วนร่วมในการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนดนโยบาย
อาชีพเนติบริกรอยู่คู่สังคมไทย ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีเนติบริกรเผยโฉมเป็นที่ปรึกษา และมีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญ ผลประโยชน์ที่ได้รับรูปแบบต่างๆ ทำให้นักกฎหมายมหาชนจำนวนไม่น้อยต้องการเดินตามเส้นทางเนติบริกรเหล่านั้น ความข้อนี้มิได้มีนัยว่า นักกฎหมายมหาชนทุกคนมีประพฤติกรรมรับใช้ผู้ทรงอำนาจเผด็จการ นักกฎหมายมหาชนที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมีอยู่หาน้อยไม่
จารีตสำคัญอีกประการหนึ่งคือการละลายบทบัญญัติว่าด้วยการตรากฎหมายใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้อนุวัตรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแม้จะร่างอย่างดีเลิศอย่างไร เมื่อยังคงบังคับใช้ในโครงสร้างกฎหมายเก่า และในโครงสร้างวัฒนธรรมการเมืองอย่างเดิม ก็มิอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเจตนารมณ์ได้
จากการสำรวจได้ข้อสรุปสำคัญว่า จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม โดยที่อิทธิพลของวัฒนธรรมประชาธิปไตยมีเพียงส่วนน้อย จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้มิอาจนำสังคมไทยไปสู่สันติประชาธรรมได้
(หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านผลงานการศึกษาฉบับเต็ม
เรื่อง "จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม" ได้ที่เว็บไซต์คณะเศรษฐศาสตร์
ธรรมศาสตร์ ที่ http://www.econ.tu.ac.th/seminar/ )
2. บทบัญญัติว่าด้วยศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ : ภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(ผลงานชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรับมาจากผู้เขียน
และเคยเผยแพร่แล้วในมติชนรายวัน
วันอาทิตย์ที่
11 กุมภาพันธ์ 2550)
ขณะนี้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร) กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปประกอบการร่างรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2550 นี้ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม หรือภายใน 180 วันนับแต่การแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับ "บทบัญญัติว่าด้วยศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" แด่ท่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและประชาชนไทยทุกท่าน
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น ศาสนาได้แสดงบทบาทที่เป็นคุณอนันต์ต่อมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นโทษมหันต์ต่อมนุษยชาติเช่นเดียวกัน ถ้าเกิดความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น เกิดสงครามระหว่างศาสนา (ดังเช่น สงครามครูเสด) หรือแม้กระทั่งสงครามระหว่างต่างนิกายในศาสนาเดียวกัน (ดังเช่น สงครามอิรัก-อิหร่าน และสงครามกลางเมืองในอิรักปัจจุบัน) หรือถ้าเกิดความเห็นหรือการตีความที่ผิดในหลักการของศาสนาก็อาจนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หรืออาจเกิดการฆาตกรรมหมู่ เช่น ลัทธิโอมชินริเคียวในญี่ปุ่น หรือถ้าเกิดความเห็นหรือการตีความที่แตกต่างกันแม้ในศาสนาเดียวกัน ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชน เช่น กรณีวัดพระธรรมกาย หรือแม้กระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างเชื้อชาติที่นับถือศาสนาต่างกัน เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในโคโซโว เป็นต้น
ตะวันตกเป็นดินแดนที่เรียนรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างศาสนา หรือระหว่างนิกายในศาสนามายาวนาน จากประวัติศาสตร์อันขมขื่นของสงครามศาสนา การครอบงำของศาสนจักรต่อการแสวงหาความรู้ใหม่ของมนุษย์ หรือความขัดแย้งระหว่างนิกายในศาสนา ทำให้ในที่สุดแล้วประเทศตะวันตกได้แยกรัฐและศาสนาออกจากกัน โดยรัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของศาสนา (secular state) ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล รัฐจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนทุกคน ตราบเท่าที่การนับถือศาสนานั้นไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และความสงบสุขของสังคมโดยรวม ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ปัจจุบันประเทศที่รุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น เป็นต้น มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่แยกรัฐและศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน
พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิมาเป็นเวลากว่า 2,000 ปี พุทธศาสนาจึงฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่ครั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมายาวนานเกิดจากความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างประชาชน พระสงฆ์ และพระเจ้าแผ่นดิน โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนามาโดยตลอด ส่วนพระสงฆ์มีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม สั่งสอนประชาชนในด้านศีลธรรมและสัจธรรม และเป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่ประชาชน ส่วนประชาชนก็ควบคุมพระสงฆ์ในเชิงชีวิตความเป็นอยู่ทางร่างกาย (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) รวมทั้งการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุ และเป็นผู้กลั่นกรองพระสงฆ์ที่จะมาพำนักอยู่ในวัดหรือสำนักสงฆ์ในชุมชนของตน นับเป็น "ความสัมพันธ์ 3 เส้า" ที่ลงตัว ทำให้เกิดระบบตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2475 นั้น ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและทรงเป็นผู้นำแห่งรัฐในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น อำนาจทางการเมืองตกไปอยู่ที่นักการเมืองซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาล ประจวบกับเมื่อมีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์" ทั้ง 3 ฉบับ ทำให้คณะสงฆ์ทั้งคณะตกอยู่ภายใต้ระบบราชการไทย ราชการในคณะสงฆ์เป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่พระสงฆ์ มิใช่ประชาชนดังเช่นในอดีต ระบบการควบคุมซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนกับพระสงฆ์ กล่าวคือ ประชาชนควบคุมพระสงฆ์ในเชิงวัตถุ และพระสงฆ์ควบคุมประชาชนในเชิงจิตใจได้ค่อยๆ หมดไป
นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมาจากพื้นฐานที่หลากหลาย และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ ความรู้ความเข้าใจและความใส่ใจในพุทธศาสนาจึงมีไม่มาก และไม่ลึกซึ้งเท่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อนักการเมืองซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจรัฐเข้ามาทำหน้าที่ทำนุบำรุงพุทธศาสนา และแก้ไขปัญหาในวงการพุทธศาสนาแทนองค์พระมหากษัตริย์ในอดีต ความไม่ลงตัวในเชิงโครงสร้างจึงได้เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและทันกาล
เพราะนักการเมืองเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ย่อมตัดสินใจและแก้ปัญหาไปตามแรงกดดันทางการเมือง นอกจากนี้นักการเมืองไทยยังมิได้เป็นพุทธศาสนิกชนเพียงอย่างเดียว แต่มีศาสนิกจากศาสนาอื่นเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ภารกิจในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา (รวมทั้งศาสนาอื่น) และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพุทธศาสนา (รวมทั้งศาสนาอื่น) เกิดความสับสนยิ่งขึ้น
ทางออกของเรื่องนี้น่าจะได้แก่การกลับไปหา "ความสัมพันธ์ 3 เส้า" ที่ลงตัวดังเช่นครั้งในอดีต โดยการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แยก "การเมือง" กับ "ศาสนา" ออกจากกันให้ชัดเจน และสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ และเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ควรจะเป็นผู้ทำนุบำรุงพุทธศาสนา แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะต่างๆ และแก้ไขปัญหาของพุทธศาสนาต่อไป (โดยปัจจุบันครอบคลุมถึงศาสนาอื่นด้วย) ดังนั้นบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรจะคงมาตราที่ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก" ไว้เพียงมาตราเดียว นอกเหนือจากการให้หลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน และการบัญญัติให้แยกรัฐ (ทางการเมือง) ออกจากศาสนาให้ชัดเจน
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แยกการเมืองกับศาสนาออกจากกันแล้ว ศาสนาก็จะเป็นเรื่องของภาคประชาชนโดยสมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักชัยของศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าและทุกศาสนา รัฐทางการเมือง (หรืออำนาจทางการเมือง) จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับศาสนาไม่ได้อีกต่อไป ศาสนาจะกลับคืนไปสู่ประชาชนและชุมชน ระบบราชการในคณะสงฆ์ก็จะสิ้นสุดลง
"พระราชบัญญัติคณะสงฆ์", "พระราชบัญญัติการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา" ในพุทธศาสนา, และ "พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม", "พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์", "พระราชบัญญัติธนาคารอิสลาม" ในศาสนาอิสลาม, ก็ควรจะถูกยกเลิกพร้อมกันไป รวมทั้งหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา เป็นต้น
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติที่แยกการเมืองกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ศาสนา กับพระมหากษัตริย์ ก็จะยังคงอยู่ตามราชประเพณีโบราณ อันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมไทย ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีลักษณะที่ก้าวหน้า สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศอีกด้วย
3. ศาสนากับการเมือง
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(ผลงานชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนำมาจากมติชนรายวัน
วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550)
หมู่นี้ได้ยินเรื่องศาสนากับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะต้องลงประชามติอยู่บ่อยๆ พร้อมกับศัพท์คำว่า "รัฐฆราวาส (Secular State)" ซึ่งก็มีคนโทรศัพท์มาถามผู้เขียนหลายคนว่า ทั้งศัพท์ที่ใช้ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้นดูแปลกๆ, จริงๆแล้ว มันแปลว่าอะไร?
เรื่องของเรื่องก็คือคำว่า Secular State นี่ทางรัฐศาสตร์นั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของวิชารัฐศาสตร์เลยทีเดียว เนื่องจากวิชารัฐศาสตร์ที่เราเรียนเราสอนกันในเมืองไทยทุกวันนี้ มาจากทางยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ และในภูมิภาคยุโรปตะวันตกนี้เป็นภูมิภาคที่มีเหตุการณ์อปกติในช่วงของยุคกลาง หรือยุคมืดของประวัติศาสตร์ยุโรป (ช่วงเวลานับคร่าวคือระหว่าง ค.ศ.476-1300)
กล่าวคือสถาบันศาสนา ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นเครื่องมือของสถาบันการเมืองเสมอ (1) แต่ที่ว่าในภูมิภาคยุโรปตะวันตกนั้นเกิดเหตุการณ์อปกติก็เพราะว่า ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้ใช้ระบบการบริหารปกครองของจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ล่มสลายไปนั้น ขยายอำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิกไปทั่วยุโรปตะวันตก โดยสถาบันศาสนาได้รวมเอาหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองเข้าครอบงำสถาบันทางการเมือง ซึ่งกินเวลานานร่วมพันปีทีเดียว
ดังนั้นนักปรัชญาการเมืองของยุโรปตะวันตกจำนวนมาก เริ่มจาก มาร์ซิลเลียส แห่งพาดัว (Marsilius of Padua) ในศตวรรษที่ 14, และ มาคิอาเวลลี่ (Machiavelli) ชองโบแดง (Jean Bodin) ในศตวรรษที่ 16, ที่ได้เสนอเรื่องอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของกษัตริย์แทนที่จะเป็นของพระสันตะปาปา. ตามมาด้วย ฮ็อบ, ล็อค, และรุสโซ, ซึ่งพวกที่เรียนรัฐศาสตร์ท่องกันนั่นแหละ ที่ได้เริ่มเบนเอาอำนาจอธิปไตยมาเป็นของประชาชนที่เรียกว่าประชาธิปไตยของทุกวันนี้นั่นเอง
คำว่า Secular State ก็คือรัฐที่มีคนสามัญธรรมดาไม่ใช่นักบวชเป็นผู้ปกครอง ทำนองแบ่งกันว่า ทางด้านวัตถุนั้นให้เป็นหน้าที่ของคนสามัญธรรมดา ส่วนทางด้านจิตใจให้เป็นหน้าที่ของนักบวช
อย่างพระพุทธศาสนานั้นนักบวชต้องสละความยึดมั่นในวัตถุนิยมตั้งแต่แรกแล้วโดยการเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาเริ่มต้นก็ต้องเป็น "อนาคาริก" แปลว่าผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบ้าน (อน-ไม่+อาคาริก-เกี่ยวกับบ้านอาคาร) แบบว่าทิ้งทางโลก และวัตถุนิยมไปแล้วหันไปมุ่งทางจิตแต่อย่างเดียว. ส่วนฆราวาส คือผู้ที่ครองเรือน ผู้ที่ไม่ใช่นักบวช (พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าคนที่มีครอบครัว จะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต้องปฏิบัติฆราวาสธรรม 4 ข้อ คือ สัจจะ, ทมะ, ขันติ, จาคะ (2). ดังนั้นการแปล Secular State มาเป็นคำไทย (แขก) ว่า รัฐฆราวาส ฟังดูก็เข้าท่าดีเหมือนกันนะ!
ในเรื่องกระบวนการยึดอำนาจอธิปไตยจากสันตะปาปาแห่งกรุงโรม ประมุขของศาสนจักโรมันคาทอลิกนั้น จึงเป็นเรื่องยาวโยงไปถึงสหรัฐอเมริกาที่ชาวยุโรปตะวันตกอพยพไปอยู่ด้วย มีสงครามภายในศาสนาคริสต์กันเองในยุโรปตะวันตกที่ฆ่าคนและสร้างความเสียหาย. ครั้นคนไทยไปเรียนมาจากบรรดาประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาก็เลยเอามาสอนกันในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเรานั้นสถาบันการเมืองคุมสถาบันศาสนาได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย
(ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเองที่มีศาสนาคริสต์นิกายอีสเตอร์น ออธอด๊อกซ์ หรือกรีกออธอด๊อกซ์ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องสถาบันศาสนามาครอบงำสถาบันการเมืองแต่อย่างใดเหมือนกัน เพราะสถาบันศาสนานั้นมุ่งเรื่องจิตวิญญาณมากกว่าเรื่องอำนาจการปกครองบ้านเมือง)
การจะเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกฎหมายคณะสงฆ์ที่โวยวายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องทางการเมืองทั้งนั้นแหละ ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณอะไรเลย
แล้วก็พวกนักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลแนวความคิดเรื่อง Secular State มาจากมหาวิทยาลัยของทางยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาก็คงจะร้อนวิชาด้วย เรื่องอย่างนี้ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากันก็ได้ ที่สำคัญคือจะเริ่มกันก็ต้องตั้งตัวให้ถูกทางเสียก่อนตามมงคล 38 ประการ ข้อที่ 6 (อัตตะสัมมา ปณินิจะ) เสียก่อน ก็คงจะดี
อย่าได้โกรธเคืองเคียดแค้นกันเลย
+++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
1. สถาบันทางสังคมตามวิชาสังคมวิทยามี 7 สถาบัน คือ 1.สถาบันครอบครัว
2.สถาบันการเมือง 3.สถาบันเศรษฐกิจ 4.สถาบันศาสนา 5.สถาบันการศึกษา 6.สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7.สถาบันนันทนาการ
2. ฆราวาสธรรม 4 ข้อ คือ 1.สัจจะ-ความจริงความตรง, 2.ทมะ-รู้จักอดกลั้นไม่ฉุนเฉียวหุนหัน,
3. ขันติ-อดทน และ 4.จาคะ-การรู้จักให้
โดยเฉพาะการให้อภัย
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ไม่มีกฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ปฏิบัติตามมาในอดีตก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม เป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งอ้างกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เวลาที่จะขอความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นอะไรบ้างที่ควรแก่การแก้ไข เมื่อบังคับใช้มาแล้ว 5 ปี ไม่มีบทบัญญัติที่จะให้ประชาชนสามารถส่งเสียงได้ แล้วกระ บวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ สิทธิในการเสนอเป็นของ ครม.