หมุนให้ทันลัทธิลูกโลก-โลกาภิวัตน์ตะวันตก
นาฬิกาโลกาวิบัติ,
อีคาวโนมิคส์ และนักปรัชญา
รวบรวมงานของ
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม
บทความวิชาการนี้
ประกอบด้วยบทความ 3 ชิ้นคือ
1. ฝันโลกาภิวัตน์กลางโลกร้อน
2. อีคาวโนมิคส์ และ 3. นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลนาน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นนับแต่มีการวัดอุณหภูมิโลกเป็นต้นมา
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นการอธิบายเศรษฐกิจโลกด้วยการเล่นคำระหว่าง
ecnomics กับ ecownomic ซึ่งได้ให้ภาพชัดและสร้างสรรค์
เรื่องสุดท้าย เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก
และผลปรากฏว่า มาร์กซ์คือผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๗.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
นาฬิกาโลกาวิบัติ,
อีคาวโนมิคส์ และนักปรัชญา
ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1. "ฝันโลกาภิวัตน์กลางโลกร้อน"
โลกกำลังนับถอยหลังรอรับภัยพิบัติทางภูมิอากาศ...
นับแต่เริ่มมีการบันทึกอุณหภูมิพื้นผิวโลกเมื่อปี ค.ศ.1860 เป็นต้นมา ปรากฏว่าปีที่โลกร้อนที่สุดถึง
8 ในจำนวน 10 ปีเกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา. ถึงปี ค.ศ.2100 คาดว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกน่าจะสูงขึ้นระหว่าง
1.8-4 องศาเซลเชียส และระดับน้ำทะเลน่าจะสูงขึ้นระหว่าง 18-59 เซนติเมตร. น้ำแข็งในทะเลหดตัวลงถึงปีละ
60,421 ตารางกิโลเมตร คาดว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้ทวีปอาร์กติกทางขั้วโลกเหนือกับแอนตาร์กติกทางขั้วโลกใต้หดตัวลง
ในบางกรณี เป็นไปได้ที่น้ำแข็งปลายฤดูร้อนแถบขั้วโลกเหนือจะหายสาบสูญไปเกือบหมดตอนท้ายคริสต์ศตวรรษที่
21
เมืองชายทะเล 13 แห่งที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกและอาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นดังกล่าว มีคนอยู่รวมกันถึง 100 ล้านคน. คาดว่าลมพายุ, คลื่นความร้อนและฝนตกหนักจะหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทศวรรษถัดๆ ไปข้างหน้า. แน่ใจได้ถึง 90% ว่าปรากฏการณ์โลกร้อนนี้น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์, ผลกระทบของมันมิอาจพลิกย้อนให้กลับคืนดังเดิมได้ และอาจยืดเยื้อยาวนานไปกว่าพันปี
(ข้อมูลจาก Mosarrof Hussain ใน Josh Arnold-Forster, "A Matter of Security," New Statesman, 29 January 2007; และ "Un : People cause warming." Bangkok Post, 3 February 2007, p.7)
นี่เป็นการวิเคราะห์คาดการณ์ของ "Climate Change 2007" อันเป็นรายงานประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 4 ของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC หรือองค์คณะระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ.1988) ยาว 4 เล่มจบ และจัดทำโดยบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้เขียนหลักกว่า 450 คน ผู้เขียนสมทบกว่า 800 คน ผู้เชี่ยวชาญอ่านตรวจอีกกว่า 2,500 คน จากกว่า 130 ประเทศ เป็นเวลานาน 6 ปี ที่เพิ่งเปิดตัวไป ณ กรุงปารีส เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ดูรายงานนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.ipcc.ch/)
ด้วยเหตุนี้เอง "นาฬิกาโลกาวิบัติ" ซึ่งจำลองสร้างขึ้นโดยคณะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญนโยบายนานาประเทศแห่ง Bulletin of the Atomic Scientists เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนชาวโลกให้รู้ถึงหายนภัยที่กำลังคุมคาม จึงถูกหมุนเข็มยาวขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนไปอีก 2 นาที เป็นเวลา 23.55 น. เนื่องจากผลของภาวะโลกร้อนดังกล่าว
และ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นักจักรวาลวิทยาและนักคณิตศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ประวัติย่อของกาลเวลา (ค.ศ.1988) อันโด่งดังไปทั่วโลก ก็ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนร้ายแรงเสียจนบดบังการท้าทายอื่นๆ ที่เผชิญโลกอยู่ทั้งหมด เขาสรุปว่า "การก่อการร้ายอย่างมากก็ฆ่าคนเป็นร้อยเป็นพัน แต่ภาวะโลกร้อนฆ่าคนได้เป็นล้านๆ เราควรทำสงครามต่อต้านภาวะโลกร้อนมากกว่าต่อต้านการก่อการร้ายด้วยซ้ำไป" ("Doomsday Clock Moved forward," Bangkok Post, 19 January 2007, p.10)
ขณะที่นายบันคีมูน เลขาธิการทั่วไปคนใหม่ของสหประชาชาติ ก็ได้ออกคำแถลงแสดงทรรศนะต่อผลการวิจัยในรายงานโลกร้อนของ IPCC ล่าสุดว่า "สิ่งแวดล้อมโลกยังคงเสื่อมโทรมต่อไปไม่ผ่อนเพลา และผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็กำลังเป็นที่รู้สึกได้ทั่วทั้งโลก... ทว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการนี้กลับได้แก่คนยากคนจนในแอฟริกา, ในบรรดารัฐกำลังพัฒนาบนเกาะเล็กๆ ทั้งหลายและในที่อื่นๆ ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะมีส่วนรับผิดชอบน้อยที่สุดในการก่อภาวะโลกร้อนก็ตาม"
โอกาสเดียวกันนี้ นายอาคิม สไตเนอร์ หัวหน้าโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เจ้าภาพการประชุม เปิดตัวรายงานวิจัย "Climate Change 2007" ก็กล่าวว่า "โลกาภิวัตน์กำลังเขมือบกินทรัพยากรของโลกโดยมิได้สนองประโยชน์โภชผลให้ตามที่คาดหวัง" ("Ban : Poor will Suffer most," Bangkok Post, 6 February 2007, p.10) ก็แล้วอะไรคือความฝันที่โลกาภิวัตน์เร่ขายให้ชาวโลกท่ามกลางโลกที่นับวันร้อนรุ่มขึ้นนี้เล่า?
จอห์น ราลสตัน ซอล นักปรัชญาการเมืองและปัญญาชนสาธารณะชาวแคนาดา ได้ประมวลสรุปรายการความฝันโลกาภิวัตน์ดังกล่าวในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ The Collapse of Globalism and the Reinvention of the World (ค.ศ.2005 p.15-16) ว่า
...คำมั่นสัญญาของโลกาภิวัตน์เป็นไปในทำนองนี้คือ
อำนาจของรัฐชาติกำลังเสื่อมถอยลง, บรรดารัฐแบบที่เรารู้จักอาจกำลังล้มหายตายจากไปด้วยซ้ำ,
ในอนาคต อำนาจจะอยู่กับตลาดโลกทั้งหลาย ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จะกำหนดความเป็นไปของมนุษย์
มิใช่การเมืองและกองทัพ เมื่อตลาดโลกเหล่านี้เป็นอิสระจากผลประโยชน์แห่งชาติอันคับแคบและกฎระเบียบที่คอยกีดขวาง
มันก็จะค่อยๆ สถาปนาความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศขึ้นมา และแล้วในที่สุดเราก็จะเติบโตหลุดพ้นจากปัญหาอมตะเรื่องวงจร
เฟื่องฟู-ตกต่ำ ทางเศรษฐกิจ
ตลาดดังกล่าวจะปล่อยระลอกคลื่นการค้าแผ่ขยายออกมา และในทางกลับกันระลอกคลื่นเหล่านี้ก็จะปล่อยกระแสความเติบโตทางเศรษฐกิจแผ่กว้างออกไป กระแสคลื่นที่ว่านั้นจะยกเรือทั้งหมดให้ลอยลำสูงขึ้น รวมทั้งลำของคนจนด้วย ไม่ว่าจะในโลกตะวันตกหรือโลกกำลังพัฒนาก็ตาม ความมั่งคั่งไพบูลย์ที่เกิดขึ้น จะทำให้ปัจเจกบุคคลผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งหลายพลิกเปลี่ยนระบอบเผด็จการให้กลายเป็นประชาธิปไตยได้. แน่ล่ะว่าระบอบประชาธิปไตยเหล่านี้ ย่อมไม่มีอำนาจสัมบูรณ์ดังเช่นรัฐชาติแต่เก่าก่อน และดังนั้น เราก็จะเห็นลัทธิชาตินิยม, เชื้อชาตินิยม และความรุนแรงทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบทั้งหลายฝ่อเหี่ยวไปเอง
ในแง่เศรษฐกิจ ขนาดของตลาดใหม่ๆ เหล่านี้ โดยตัวมันเองย่อมเรียกร้องต้องการบรรษัทที่ใหญ่โตขึ้นทุกที และขนาดของบรรษัทที่ว่านี้นี่แหละ จะยกมันให้หลุดพ้นจากความเสี่ยงที่กิจการจะล้มละลาย สิ่งนี้จะเป็นต้นตออีกประการหนึ่งให้เกิดเสถียรภาพระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้จะอยู่แถวหน้าสุดในภาวะผู้นำของตลาดเหนืออารยธรรม พวกมันจะกลายเป็นเสมือนรัฐ และฐานะครอบงำอันก้าวร้าวของมัน จะทำให้มันไม่สะทกสะท้านต่ออคติลำเอียงทางการเมืองในท้องถิ่นใดๆ
ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดธรรมาภิบาลที่แข็งแรง และดังนั้น เราจะได้เห็นธรรมดารัฐบาลปลอดหนี้ปรากฏขึ้นมา ตลาดจะไม่ยอมรับอะไรที่ด้อยไปกว่านี้เด็ดขาด บัญชีงบดุลสาธารณะที่มีเสถียรภาพเยี่ยงนั้น ย่อมจะทำให้สังคมของเราพลอยมีเสถียรภาพไปด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเป็นอิสระจากพันธนาการของคนที่หัวรั้นเอาแต่ใจตัวแล้ว เราก็จะสามารถดำเนินการตามผลประโยชน์ส่วนตัวของเราเองแต่ละคน ไปสู่ชีวิตที่มั่งคั่งไพบูลย์และเป็นสุขโดยทั่วไปได้ วงจรประวัติศาสตร์จะถูกหักสะบั้นจากกัน และประวัติศาสตร์ก็จะตายลงจริงๆ นั่นแหละ
อนิจจา...ความฝัน (โลกาภิวัตน์+ประชาธิปไตย+ความเป็นธรรมทางสังคม) ดังกล่าวกำลังระเหิดระเหยหายไปกับภาวะโลกร้อน!
2. อีคาวโนมิคส์
จู่ๆ จะด้วยความเครียดหรืออย่างไรไม่ทราบ ครูพักลักจำทางเศรษฐศาสตร์ของผมท่านหนึ่งซึ่งกำลังถูกเรียกตัวไปรับใช้ชาติได้ส่ง
"เศรษฐศาสตร์ประสาวัว" (ECOWNOMICS?) ว่าด้วยโมเดลของระบบเศรษฐกิจต่างๆ
มาให้ พร้อมคำเกริ่นนำว่า อ่านแล้วยิ้มไม่หุบเอาเลยทีเดียว ผมลองอ่านดูก็อดยิ้มไม่ได้เช่นกัน
จึงขออนุญาตขโมย "เศรษฐศาสตร์ประสาวัว" มาแปลต่อสู่ท่านผู้อ่านเพื่อเชิญยิ้มกันทั่วหน้าดังนี้
(อนึ่ง กำลังจะส่งต้นฉบับผมก็พบว่า "วีรกร ตรีเศศ" เจ้าของคอลัมน์ "อาหารสมอง" ในมติชนสุดสัปดาห์ก็หยิบเอา "เศรษฐศาสตร์ประสาวัว" เรื่องเดียวกันนี้ไปถ่ายทอดลงในฉบับล่าสุดโดยบังเอิญ ("เข้าใจระบบเศรษฐกิจจากวัว," มติชนสุดสัปดาห์, 27:1382 (9-15 ก.พ.2550), 20-21) ก่อนที่ท่านจำเป็นต้องหยุดคอลัมน์เพราะถูกเรียกตัวไปรับใช้ชาติอีกคนเช่นกันนาน 9 เดือน เนื่องจากผมจวนตัว เปลี่ยนเรื่องเขียนไม่ทันและดูแล้วสำนวนแปลก็ผิดแผกแตกต่างจากท่านอยู่บ้าง จึงตัดสินใจส่งต้นฉบับเรื่องนี้ตามเดิม ต้องขออภัย "วีรกร ตรีเศศ" และท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้)
โมเดลเศรษฐกิจต่างๆ อธิบายประสาวัว
- สังคมนิยม : คุณมีวัว
2 ตัวแล้วยกให้เพื่อนบ้านไปตัวหนึ่ง
- ลัทธิคอมมิวนิสต์ : คุณมีวัว 2 ตัว รัฐริบไปทั้งคู่แล้วให้นมวัวคุณนิดหน่อย
- ลัทธิฟาสซิสต์ : คุณมีวัว 2 ตัว รัฐริบไปทั้งคู่แล้วขายนมวัวให้คุณนิดหน่อย
- ลัทธินาซี : คุณมีวัว 2 ตัว รัฐริบไปทั้งคู่แล้วยิงคุณทิ้ง
- รัฐราชการ : คุณมีวัว 2 ตัว รัฐริบไปทั้งคู่ ยิงตัวหนึ่งทิ้ง รีดนมอีกตัวหนึ่ง
แล้วเทนมทิ้ง...
- ทุนนิยมแบบเดิม : คุณมีวัว 2 ตัว คุณขายตัวหนึ่งแล้วเอาเงินไปซื้อกระทิงพ่อพันธุ์
ฝูงวัวของคุณเพิ่มทวีขึ้นและเศรษฐกิจก็เติบโต คุณขายฝูงวัวทิ้งแล้วเลิกทำมาหากิน
อาศัยเงินที่ขายวัวได้นั่งกินนอนกินสบายใจเฉิบ
- ลัทธิเหนือจริง : คุณมียีราฟ 2 ตัว รัฐบาลกำหนดให้คุณไปเรียนหัดเป่าหีบเพลงปาก (?)
- บรรษัทอเมริกัน : คุณมีวัว 2 ตัว คุณขายตัวหนึ่งแล้วบังคับเคี่ยวเข็ญอีกตัวให้มันผลิตนมเท่ากับวัว 4 ตัว ต่อมาไม่นาน คุณก็จ้างที่ปรึกษาให้ช่วยวิเคราะห์ว่าทำไมเจ้าวัวตัวนั้นถึงได้หมดแรงตาย
- กิจการร่วมลงทุนแบบทักษิโณมิคส์ : คุณมีวัว 2 ตัว คุณขายวัว 3 ตัว ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของคุณ โดยใช้ตราสารเครดิต (แอล/ซี) ซึ่งเปิดโดยน้องเขยของคุณที่ธนาคาร จากนั้นคุณก็ดำเนินการสลับสับเปลี่ยน (สวอป) หนี้กับหุ้นของบริษัทพร้อมทั้งทำคำเสนอขายหุ้นทั่วไปจนกระทั่งคุณได้วัวทั้ง 4 ตัวคืนมาแถมได้ยกเว้นภาษีสำหรับวัว 5 ตัวด้วย
สิทธิเหนือนมของวัวทั้ง 6 ตัวถูกยักย้ายถ่ายโอนผ่านคนกลางไปให้บริษัทจดทะเบียนบนเกาะเคย์แมน ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทของคุณแอบเป็นเจ้าของโดยลับๆ จากนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ขายสิทธิเหนือนมของวัว 7 ตัวกลับมาให้บริษัทจดทะเบียนของคุณ
รายงานกิจการประจำปีของบริษัทระบุว่า บริษัทมีวัว 8 ตัวบวกตราสารสิทธิเลือกซื้อได้อีก 1 ตัว คุณขายวัวไปตัวหนึ่ง จึงเหลืออยู่อีก 9 ตัว รายงานประจำปีของบริษัทที่เผยแพร่ออกมาไม่ได้แสดงบัญชีงบดุลของบริษัทไว้ ประชามหาชนพากันแห่ไปซื้อ (ขี้) วัว (bullshit) ของคุณ
- โมเดลของบริษัทอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทเอ็นรอน : คุณมีวัว 2 ตัวคุณบดมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมือนเอกสารหลักฐานบัญชี
- บรรษัทฝรั่งเศส : คุณมีวัว 2 ตัว คุณนัดหยุดงานก่อจลาจล ปิดถนน เพราะคุณจะเอาวัว 3 ตัว
- บรรษัทญี่ปุ่น : คุณมีวัว 2 ตัว คุณออกแบบมันใหม่ให้ขนาดเล็กลงเหลือ 1 ใน 10 ทว่าผลิตนมได้เป็น 20 เท่าของวัวปกติ จากนั้นคุณก็สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนวัวเจ้าปัญญาชื่อ "คาวคิมอน" ขึ้นมาแล้วส่งขายตีตลาดทั่วโลก
- บรรษัทเยอรมัน : คุณมีวัว 2 ตัว คุณวิศว (พันธุ) กรรมกันใหม่จนมันอายุยืนถึง 100 ปี กินอาหารเดือนละครั้งและรีดนมตัวเองได้
- บรรษัทอิตาเลียน : คุณมีวัว 2 ตัวแต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ไหน คุณตัดสินใจไปกินมื้อเที่ยงก่อน
- บรรษัทรัสเซีย : คุณมีวัว 2 ตัว คุณนับมันดูแล้วพบว่าคุณมีวัว 5 ตัว คุณนับมันใหม่แล้วพบว่าคุณมีวัว 42 ตัว คุณนับมันอีกรอบแล้วพบว่าคุณมีวัว 2 ตัว คุณเลิกนับวัวแล้วหันไปเปิดเหล้าวอดก้าดื่มอีกขวด
- บรรษัทสวิส : คุณมีวัว 5,000 ตัว ไม่มีตัวไหนเป็นของคุณเลย คุณเรียกเก็บค่าฝากวัวจากเจ้าของมัน
- บรรษัทจีน : คุณมีวัว 2 ตัวคุณมีคน 300 คนคอยรีดนมมัน คุณอ้างว่าในประเทศของคุณทุกคนมีงานทำ และผลิตภาพของโคกระบือสูง แล้วคุณก็ไล่ขับนักข่าวที่รายงานสภาพความเป็นจริง
- บรรษัทอินเดีย : คุณมีวัว 2 ตัว คุณกราบไหว้บูชามัน
- บรรษัทอังกฤษ : คุณมีวัว 2 ตัว มันบ้าทั้งคู่
- บรรษัทอิรัก : ใครๆ ก็คิดว่าคุณมีวัวเยอะ คุณบอกพวกเขาว่าคุณไม่มีวัวเลย แต่ไม่มีใครเชื่อคุณ ดังนั้น พวกเขาก็ขนระเบิดมาถล่มจนคุณขี้แตกขี้แตนและบุกตะลุยประเทศของคุณ ถึงกระนั้นคุณก็ยังไม่มีวัวอยู่ดีแต่อย่างน้อยตอนนี้คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกประชาธิปไตยแล้ว
- บรรษัทสัญชาติเวลส์ : คุณมีวัว 2 ตัว เจ้าตัวทางซ้ายดูน่าพิสมัยมาก
- บรรษัทออสเตรเลีย :
คุณมีวัว 2 ตัว กิจการดูจะไปได้สวย คุณก็เลยปิดร้าน ไปดื่มเบียร์ฉลองสักหน่อย
3. นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลนาน
- ปี ค.ศ.1989 กำแพงเบอร์ลินล้มทลาย
- ปี ค.ศ.1991 สหภาพโซเวียตล่มสลาย
"สิ่งที่เรากำลังพบเห็นเป็นประจักษ์พยาน อาจมิใช่เพียงการผ่านพ้นไปของยุคสมัยเฉพาะยุคหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่
2 เท่านั้น หากเป็นอวสานของประวัติศาสตร์เลยทีเดียว กล่าวคือมันเป็นจุดอวสานของวิวัฒนาการทางอุดมการณ์ของมนุษยชาติ
และการปกแผ่ไปครอบคลุมทั่วสากลโลกของระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก ในฐานะรูปแบบสุดท้ายของการปกครองของมนุษย์"
("The End of History?" Summer 1989, Francis
Fukuyama รองผู้อำนวยการกองวางแผนนโยบายกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา)
ทว่า 16 ปีหลังจากนั้น...
มิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ.2005 รายการสารคดีประวัติความคิดชื่อ In Our Time ของผู้จัด
Melvyn Bragg ทางสถานีวิทยุ BBC Radio 4 ประเทศอังกฤษได้เปิดโปรแกรมพิเศษให้ผู้ฟังโหวตผ่านเว็บไซต์ของรายการเพื่อเลือกว่า:-
ใครเป็นนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลนาน? (The Greatest Philosopher of
all time)
ช่วง 5 สัปดาห์ของการโหวต ปรากฏว่าเว็บไซต์รายการ In Our Time ได้รับความสนใจเพิ่มสูงกว่าปกติเป็นเท่าตัว มีผู้ดาวน์โหวดรายการไปฟัง 30,000 ครั้ง/สัปดาห์ (เท่ากับครึ่งหนึ่งของการดาวน์โหลดรายการวิทยุ BBC ทั้งหมด) มีผู้เปิดเว็บไซต์เข้ามาชมถึง 300,000 ครั้ง/สัปดาห์ ทำให้ In Our Time กลายเป็นรายการยอดนิยมอันดับ 2 ของสถานีไปทันที
การโหวตเลือกนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลนาน
แบ่งเป็น 2 รอบ
- รอบแรกเปิดกว้างให้ผู้ฟังรายการเสนอชื่อนักปรัชญาที่ตนเลือกเข้ามาได้อย่างเสรี
จากนั้นคัดรายชื่อให้เหลือเพียงนักปรัชญาผู้ได้รับการเสนอชื่อมากที่สุด 20 อันดับแรกเป็น
shortlist. เชิญนักคิดนักเขียนนักวิชาการผู้สนับสนุนนักปรัชญาใน shortlist ท่านละ
1 คนมากล่าวป่าวร้องชวนเชียร์ออกอากาศอย่างสั้นกระชับว่าทำไมนักปรัชญาท่านนั้นจึงควรได้รับยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลนาน?
เปิดโหวตรอบใหม่จากนักปรัชญาใน shortlist เพื่อตัดสินขั้นสุดท้าย
ผลการโหวตรอบตัดสินจากผู้ฟังทั้งสิ้น 3 หมื่นราย ปรากฏว่า...
- อันดับ 10 Karl Popper ได้คะแนน 4.20%
- อันดับ 9 Aristotle ได้คะแนน 4.52%
- อันดับ 8 Socrates ได้คะแนน 4.82%
- อันดับ 7 St.Thomas Aquinas ได้คะแนน 4.83%
- อันดับ 6 Immanuel Kant ได้คะแนน 5.61%
- อันดับ 5 Plato ได้คะแนน 5.65%
- อันดับ 4 Friedrich Nietzsche ได้คะแนน 6.49%
- อันดับ 3 Ludwig Wittgenstein ได้คะแนน 6.80%
- อันดับ 2 David Hume ได้คะแนน 12.67%
นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลนาน
ได้คะแนนโหวตสูงลิ่วถึง 27.93% ได้แก่...
คำป่าวร้องชวนเชียร์ Karl Marx
นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ
ผู้ประพันธ์ชีวประวัติ Karl Marx อันลือลั่น
Francis Wheen เชียร์ Marx
จงลืมมาร์กซ์ที่เรารู้จักจากรูปเคารพโซเวียต และรูปปั้นที่ดูเครียดขรึมน้อยกว่าหน่อยในยุโรปตะวันออกเสีย แล้วกลับไปหามาร์กซ์ตัวจริงที่เป็นมนุษย์ปุถุชน เป็นปัญญาชนผู้ถูกถอนรากไปอยู่ลอนดอนสมัยวิคตอเรีย และดูว่าจริงๆ แล้วเขาเขียนหรือคิดอะไรมากกว่าจะถือตามสิ่งที่คนอื่นอวดอ้างในนามของเขา นับแต่นั้นมาแล้วคุณจะพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างในนั้นมันช่างทันสมัย สดใหม่และมีชีวิตชีวาอย่างพิเศษสุดเสียนี่กระไร และบางทีตอนนี้มันอาจจะมีกังวานเร้าใจเสียยิ่งกว่าสมัยที่เขาเขียนมันด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ จังหวะก้าวการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มันทำอะไรให้เกิดกับสังคมบ้าง ผลสะเทือนของมันต่อความสัมพันธ์ทางสังคม ดังที่เขาเขียนไว้ในคำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์ถึงสังคมที่มีการปฏิวัติถาวรอยู่ตลอดเวลา ที่ซึ่งเทคโนโลยีถึงแก่ล้าสมัยแทบจะทันทีที่มันถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และสรรพสิ่งแข็งแกร่งมั่นคง หลอมละลายลง เป็นอากาศสุญตา
Francis Wheen เชียร์
Marx (ต่อ)
หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย มักจะทึกทักกันทั่วไปว่ามาร์กซ์ตายแล้ว และถูกกลบฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังที่นั่น
อันที่จริงผมคิดว่าเขาถูกฝังมาตั้งนานก่อนหน้านั้นแล้วต่างหาก เรียกได้ว่าตลอดเวลาส่วนใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่
20 เลยทีเดียว โดยถูกฝังอยู่ภายใต้รูปเคารพที่แย่มาก ซึ่งถูกติดตั้งขึ้นมาในนามของเขา
ก็เลยทำให้เขาถูกมองแบบไม่ใช่มนุษย์ปุถุชน หรือไม่ได้การยอมรับนับถือว่าเป็นนักคิดจริงจัง
โหวตเลือกมาร์กซ์เถอะครับ เพราะเขาเพิ่งจะเริ่มถูกค้นพบว่ายิ่งใหญ่รุ่งโรจน์เพียงใด
คริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้นมองข้ามเขาหรือมองดูมาร์กซ์ผิดตัวไป ตอนนี้เป็นโอกาสของเราแล้ว
ที่จะทำให้เขาได้เป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 สมดังที่เขาคู่ควร
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
เนื่องจากผลของภาวะโลกร้อนดังกล่าว และ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นักจักรวาลวิทยาและนักคณิตศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ประวัติย่อของกาลเวลา (ค.ศ.1988) อันโด่งดังไปทั่วโลก ก็ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนร้ายแรงเสียจนบดบังการท้าทายอื่นๆ ที่เผชิญโลกอยู่ทั้งหมด เขาสรุปว่า "การก่อการร้ายอย่างมากก็ฆ่าคนเป็นร้อยเป็นพัน แต่ภาวะโลกร้อนฆ่าคนได้เป็นล้านๆ เราควรทำสงครามต่อต้านภาวะโลกร้อนมากกว่าต่อต้านการก่อการร้ายด้วยซ้ำไป" ("Doomsday Clock Moved forward," Bangkok Post, 19 January 2007, p.10) (คัดลอกมาจากบทความ)