รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไทย
๒๕๕๐
ส.ส.
สิทธิชุมชน และความรู้สึกผิดหวังประชาธิปไตยไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมข้อเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์, อานันท์
กาญจนพันธุ์, วีรพงษ์ รามางกูร
บทความทั้ง
๓ ชิ้นต่อไปนี้ รวบรวมขึ้นในบรรยากาศของการปฏิรูปการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการตระเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แทนฉบับที่ถูกฉีกโดย คมช.(รัฐประหาร 19 กันยา)
โดยบทความแรกของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอเรื่องเกี่ยวกับแง่มุมที่ต่างไปของ ส.ส.ในฐานะผู้แทนราษฎรที่แท้จริง,
เรื่องที่สอง อานันท์ กาญจนพันธ์ เสนอเรื่องของสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วม,
ส่วนเรื่องที่สามเป็นบทความเกี่ยวกับภาพประชาธิปไตยกับคนไทย นักการเมือง
รวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนในสายตาของต่างชาติ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๕๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๓ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความสามเรื่องในบรรยากาศปฏิรูปการเมือง
๑.
รัฐธรรมนูญใหม่ (ว่าด้วยเรื่องของ ส.ส.)
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: จากมติชน
๒. ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน
กับข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม:่ จากประชาธรรม
๓. คนไทยกับประชาธิปไตย
วีรพงษ์ รามางกูร (คอลัมน์ คนเดินตรอก) จากประชาชาติธุรกิจ
1. รัฐธรรมนูญใหม่
(ว่าด้วยเรื่องของ ส.ส.)
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ความเป็นประชาธิปไตยนั้นขึ้นอยู่กับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่าการเมืองภาคนักการเมือง
แม้กระนั้นสองส่วนนี้ก็เชื่อมโยงกัน อย่างชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ การจัดการเมืองภาคนักการเมืองในลักษณะที่พลเมืองสามารถตรวจสอบควบคุมได้
จึงเป็นแกนหลักของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
จริงอยู่อำนาจและสมรรถภาพที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบควบคุมนักการเมือง ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเครื่องมือที่ดีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย นับตั้งแต่เข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้รอบด้าน (มีสื่อที่ดี) ได้เรียนรู้ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา (มีระบบการศึกษาเรียนรู้ที่ดี) และมีอำนาจจัดการทรัพยากรในระดับที่นักการเมืองต้องต่อรองอย่างจริงจังกับประชาชน (มีการกระจายอำนาจบริหารถึงมือประชาชนจริง) แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก หรือถึงเกิดขึ้นได้ ก็ทำงานถ่วงดุลได้ยาก หากไม่จัดการเมืองภาคนักการเมืองให้ตอบสนองต่อภาคพลเมืองอย่างได้ประสิทธิผล
ส.ส.ควรมีจำนวนรวมเท่าไร และควรแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร ไม่ควรมุ่งเป้าหมายที่ขจัดการซื้อเสียง, ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล หรือประกันความมั่นคงของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่หลักของ ส.ส.คือเป็นผู้สะท้อนปัญหาที่เกิดในชีวิตจริงของชาวบ้านให้รัฐและสังคมรับรู้ จนนำไปสู่การแก้ไข. แทบจะกล่าวได้ว่า หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หน้าที่หลักอันนี้ของ ส.ส.หายไปหรือถูกลดความสำคัญในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ตามมา (ด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ส.ทำงานด้านนี้ได้ยากขึ้น เช่น ให้อำนาจพรรคในการกำหนดการทำหน้าที่ของ ส.ส.มากเกินไป เป็นต้น)
ความเป็น ส.ส.หมายถึงคะแนนเสียงของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายค้าน สำหรับการชิงไหวชิงพริบกันทางการเมืองในสภาเท่านั้น และนี่คือ "ราคาและค่า" ของ ส.ส.ในการเมืองไทย ไม่ใช่ความเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน ที่จะต่อรองกับคนกลุ่มอื่นจากฐานผลประโยชน์และโลกทรรศน์ของประชาชนอีกต่อไป ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ ส.ส.ย่อมกลายเป็นผู้นำของเครือข่ายอุปถัมภ์ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถคุมคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งของตนได้ด้วยเงินหรืออิทธิพล หาก ส.ส.ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ย่อมสามารถดึงทรัพยากรส่วนกลางเข้ามาในท้องถิ่นได้สะดวกและมากกว่า หล่อเลี้ยงเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนให้เติบโตเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ประชาชนย่อมมองไม่เห็นคุณค่าของ ส.ส.มากไปกว่า "ราคา"
น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม, เอฟทีเอ, อุทยานแห่งชาติ, เหมืองโปแตช, เหมืองเกลือ, พนังกันน้ำท่วม, ฯลฯ ไม่เคยมี ส.ส.เข้าไปศึกษาเก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนที่เคลื่อนไหวเลย (นอกจากเข้าไปในฐานะนายหน้าให้แก่โครงการ) ไม่ได้หมายความว่า ส.ส.ต้องเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านเสมอไป แต่ตัวแทนที่จะสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้แก่รัฐหายไปเช่นนี้ จะเหลือช่องทางอะไรให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากการประท้วงสาธารณะ ในขณะที่โครงการของรัฐย่อมถูกตัดสินบนฐานผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และมักเฉพาะกระเป๋าของบุคคลด้วย
การทำหน้าที่เช่นนี้ของ ส.ส.ไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองแต่อย่างใด เราควรมองเสถียรภาพทางการเมืองให้กว้างกว่ามือที่ยกสนับสนุนรัฐบาลในสภา ฐานของเสถียรภาพของรัฐบาลที่แท้จริงอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน รัฐบาลทักษิณทำได้สำเร็จเป็นรัฐบาลแรก ด้วยวิธีทางการตลาดซึ่งมุ่งที่ความนิยมในสินค้าเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งประโยชน์สุขของผู้บริโภคเป็นธรรมดา ถ้าอยากจะลดอิทธิพลของวิธีทางการตลาดในการเมืองลงบ้าง ก็ต้องทำให้ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม และสามารถสะท้อนปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาเพื่อการต่อรองในการวางนโยบายสาธารณะได้จริง
เขตเลือกตั้งควรกว้างแค่ไหน จึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ ส.ส.จะสามารถเข้าไปสัมผัสกับประชาชนได้โดยตรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าเขตเลือกตั้งจะกว้างหรือแคบแค่ไหน การสร้างและรักษาเครือข่ายอุปถัมภ์ในปัจจุบันสามารถครอบคลุมได้เกือบทั้งนั้น (ขนาดสามารถซื้อ ส.ส.ได้เป็นหลายๆ จังหวัด) จึงไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายใดๆ ที่จะขจัดการซื้อเสียง (ทั้งโดยตรงและอ้อม) ได้จริง นอกจากทำให้นักการเมืองเป็นเครื่องมือการต่อรองที่แท้จริงของชาวบ้าน เมื่อนั้นก็ไม่มีใครอยาก "ขายเสียง" ด้วยเงินจำนวนน้อยนิดแค่นั้นอีกต่อไป
ในส่วนการควบคุมพฤติกรรมของ
ส.ส.ในสภา การ "ซื้อเสียง" กับการ "ขายตัว" เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เราฝากการควบคุม ส.ส.ไว้กับพรรคการเมือง
แต่พรรคการเมืองคืออะไร สรุปก็คือเอเย่นต์ของนายทุน หรือนายทุนรวมตัวกันตั้งพรรคขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
พรรคการเมืองนั่นแหละที่เป็นผู้รวบรวมทุนไว้สำหรับการ "ซื้อเสียง"
กับซื้อนักการเมือง และพรรคการเมืองนั่นแหละที่เป็นนายหน้าสำคัญสำหรับการ "ขายตัว"
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะฝากการควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส.ไว้กับพรรคการเมือง
ยิ่งให้อำนาจพรรคการเมืองมาก ก็ยิ่งกีดกันมิให้ ส.ส.น้ำดีบางคนได้ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างได้ผล ในทางตรงกันข้ามไม่ได้ป้องกันมิให้นักการเมือง "ขายตัว" แต่อย่างใด หากกฎหมายบังคับให้ขายขาดในสี่ปี ก็ราคาแพงหน่อย หากกฎหมายอนุญาตให้ขายเป็นเรื่องๆ ได้ ก็ราคาถูกลงมาหน่อย ประเด็นว่ามี ส.ส.อิสระได้หรือไม่ จึงไม่เกี่ยวกับการ "ขายตัว" โดยตรง เพราะถึงอย่างไรก็มีการ "ขายตัว" เหมือนเดิม เพียงแต่ขายเหมาหรือขายปลีกเท่านั้น ฉะนั้นการเปิดให้มี ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคจึงไม่มีอะไรเสียหายมากไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่ยังอาจได้ข้อดีบางอย่างของ ส.ส.อิสระด้วย
อำนาจของพรรคการเมืองเหนือ ส.ส.ควรมาจากของจริง ไม่ใช่บัญญัติของกฎหมายลอยๆ และของจริงที่ว่าก็คือชื่อของพรรคการเมืองต้องมีความสำคัญในการเลือกตั้งมากกว่าตัวบุคคล พรรคประชาธิปัตย์สามารถทำเช่นนั้นได้ในภาคใต้ พรรคไทยรักไทยทำได้ในภาคเหนือและอีสาน แม้ว่าทั้งสองพรรคไม่ได้บริสุทธิ์จากการซื้อเสียงเสียทีเดียวนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของพรรคมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเงิน
ในระยะยาว พรรคการเมืองที่จะเหลือรอดอยู่ได้ต้องพัฒนาไปในทิศทางนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจเขียนรัฐธรรมนูญสนับสนุนให้พรรคการเมืองพัฒนาไปในทางนี้ แต่ไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจพรรคการเมืองประหนึ่งว่าพรรคการเมืองได้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าพรรคการเมืองเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ก็เกิดอำนาจในการควบคุม ส.ส.ของตนได้เอง โดยไม่ต้องมีกฎหมายรับรองสักฉบับเดียว
เราไม่เคยไว้วางใจประชาชนว่าควรเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบ ส.ส.ที่ตนเลือกเข้าไป รัฐธรรมนูญ 2540 เปิดให้ประชาชน 50,000 คนเริ่มกระบวนการพิจารณาไต่สวน ส.ส.ได้ แต่กระบวนการพิจารณาไต่สวนหลุดจากมือประชาชนไปอยู่ในมือขององค์กรอิสระและวุฒิสภา ซึ่งประชาชนควบคุมอะไรไม่ได้เลย
จึงควรคิดกลไกและกระบวนการอันหลากหลายที่ประชาชนจะสามารถเข้ามาคุม ส.ส.ได้โดยตรง และหนึ่งในกลไกกระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นการให้สิทธิการถอนคืนผู้แทน (ที่จริงควรรวมตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด) แก่ประชาชนโดยตรง เช่นประชาชนในเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลงมติถอนคืนผู้แทนของตนได้ หากในการลงมติปรากฏว่า ส.ส.คนนั้นได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น การย้ายพรรค, การ "ขายตัว", การป่วนเพื่อเรียกเงิน ฯลฯ อาจทำได้ยากขึ้น เพราะอาจถูกประชาชนหรือฝ่ายตรงข้าม จัดการให้เกิดการลงมติถอนคืนได้ ในขณะเดียวกันก็บังคับให้ ส.ส.ต้องตอบสนองประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นกว่าเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน
ส.ส.อิสระหรือ ส.ส.สังกัดพรรคจะต้องอยู่ในความควบคุมของประชาชนมากขึ้น ส.ส.พรรคต้องมีภาระรับผิดชอบทั้งแก่ประชาชนและพรรคไปพร้อมกัน เพราะพรรคเป็นพลังช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง และพรรคย่อมมีพลังที่จะบั่นทอนคะแนนเสียงในการลงมติถอนคืนเหมือนกัน และนี่คืออำนาจควบคุม ส.ส.ของพรรคซึ่งโดยตัวของมันเองต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา ไม่ใช่อำนาจที่ได้จากกฎหมายโดยประชาชนไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่า พรรคใช้อำนาจนั้นไปในทางฉ้อฉลหรือไม่เพียงใด
ในทางตรงกันข้าม อำนาจของพรรคในการควบคุมการลงมติของ ส.ส.ในสภาก็ไม่จำเป็น ส.ส.อาจลงมติตามมโนธรรมของตนเอง หากเป็นมโนธรรมที่ดีและมีประโยชน์ต่อประชาชนจริง ส.ส.ก็กล้าที่จะเผชิญกับการลงมติถอนคืนตำแหน่งได้
เราควรเลิกทำให้การเลือกตั้งเป็นการแจกตั๋วให้ไปปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ฟรีสี่ปีเสียที ผู้ได้รับเลือกตั้งไม่มีวันขาดจากการควบคุมดูแลของประชาชนตลอดไป
2. ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน
กับข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"...ผมอยากที่จะฝากความคิดตรงนี้ไว้ว่า เรื่องสิทธิชุมชน อย่ามองเป็นอะไรที่มันยากจนกระทั่งไม่เข้าใจเลย
จริงๆแล้วมันก็คือสิทธิที่อยู่ข้างกายเรา..."
5 กุมภาพันธ์ 2550
ในส่วนที่ผมจะพูดนี่ก็คือเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ซึ่งก็มีก็มีปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าปี 2540 อยู่แล้วบ้าง แต่มันไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังเพราะไปติดตรงที่ว่า "ทั้งนี้ตามแต่กฎหมายกำหนด" เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดก็เลยไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง
จริงๆ แล้วคำว่า"สิทธิชุมชน"ในความเข้าใจของผมมันแปลว่า"สิทธิในการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม"นั่นเอง ซึ่งตรงนี้ผมอยากให้มีความเข้าใจที่ชัดเจน ซึ่งปัญหามันอยู่ที่ว่า คำว่าสิทธิชุมชนหรือว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ว่านั้น มันเป็นเพียงแค่ความคิดที่เวลานี้ทุกคนก็พูดแต่คำนี้กันมากมาย ผมคิดว่าในคณะกรรมการร่างฯ ต่างก็เข้าใจได้ดีว่าเราจะต้องเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งจะมาโยงกับสิทธิชุมชนไม่ได้ แต่ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมกับสิทธิชุมชนมันเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถจะพูดโดยไม่เอามาเกี่ยวพันกันได้
แต่ประเด็นคือว่า สิทธิชุมชนอย่างที่ว่ามันคืออะไร แล้วเราก็พูดอีกว่าเราจะต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ให้ความสำคัญกับสังคมวัฒนธรรมไทย เพราะว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา เรามักจะไปหยิบยืมไปศึกษาของต่างประเทศแล้วก็ไปพยายามจะลอกเอามา โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2540 เน้นเรื่องกลไกอย่างมาก แค่ตอนต้นของรัฐธรรมนูญมันยาวยืด 300 กว่ามาตรา แล้วไม่สามารถที่จะทำได้จริง เพราะว่ามีกลไกซ้อนไปซ้อนมาหลายชั้นมาก ซึ่งกลไกทั้งหมดก็ไปลอกจากรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาทั้งสิ้น หากเราทำแบบนั้นก็จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นจริงได้ในสังคมไทย
ดังนั้นเวลาเราพูดถึงสิทธิชุมชน ผมอยากจะให้มองจากรากฐานที่เป็นจริง ในฐานะที่ผมทำวิจัยเรื่องนี้มาตลอดชีวิตการเป็นนักวิชาการ ผมพบอย่างหนึ่งว่า ความเข้าใจของชาวบ้านเรื่องสิทธิชุมชน เขาเข้าใจว่ามันคือเรื่องของสิทธิการใช้ประโยชน์ คือพื้นฐานของสิทธิที่มันปรากฎอยู่ในชุมชน ของประเพณีไทย มันคือเรื่องการใช้ประโยชน์ อย่างเวลาเขาพูดถึงเรื่องที่ดิน เมื่อมันไม่มีใครเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของ เขาก็ไปใช้ประโยชน์ แต่เขาไม่เคยเอาเป็นเจ้าของ แต่ระบบปัจจุบันของเรามันไปให้สิทธิในที่ดินแล้วก็ไปทำให้ที่ดินมีเจ้าของเป็นของบุคคล มันก็เลยไปขัดแย้งกับความเข้าใจของชาวบ้านที่เขาเน้นสิทธิการใช้ประโยชน์ แต่เราในระบอบราชการบอกว่าไม่ได้ต้องเป็นเจ้าของเท่านั้น
เมื่อเป็นเจ้าของขึ้นมามันก็ไปขัดแย้งกันเรื่องสิทธิที่ชาวบ้านคิดว่าเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ดังนั้นถ้าหากว่าต้องการให้มีความเข้าใจในสิทธิชุมชนปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องใส่ความคิดที่เป็นรูปธรรมเข้าไป แล้วความคิดนั้นต้องมาจากรากฐานความเป็นจริงที่เคยปฏิบัติได้จริงในสังคมไทย ไม่ใช่ไปเอาความคิดที่อ่านมาจากตำรา หรือไปเอามาจากที่เขาเคยใช้ได้จริงในสังคมอื่น
ดังนั้น หากพูดถึงความคิดในชุมชนนี่เขาเน้นเรื่องการใช้หลักเชิงซ้อนทั้งนั้นเลย ตรงนี้ผมเล่ามาหลายครั้งแต่ขอย้ำอีกทีหนึ่ง เพราะผมก็เป็นคนอยู่ในเมือง เมื่อผมมาอยู่เชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้วผมก็ไปมีบ้านอยู่ที่ชนบทซึ่งเมื่อก่อนก็เป็นท้องนาทั้งนั้น ก็อยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ 5 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ผมไปอยู่ที่นั่นใหม่ๆ เมื่อกลับถึงบ้านผมก็ปิดประตูรั้วเลย เพราะผมเป็นคนเมืองเป็นปัจเจกนิยมสูง แต่สักพักมีชาวบ้านเปิดประตูรั้วบ้านผมเข้ามาเก็บโน่นเก็บนี่กันใหญ่เลย ผมก็งงมาก แต่ก็ไม่กล้าพูดอะไรกลัวเขาตีหัวเพราะเพิ่งมาอยู่ใหม่
ตอนหลังนานเข้าผมก็คุ้นกับเขาผมก็ถามลุงเข้ามาทำอะไร เขาก็บอกว่ามาเก็บไข่มดแดง เขาก็อธิบายให้ฟังว่าเขาไม่ได้เก็บลูกมะม่วงของผม เขาเอาแต่ไข่มดแดงเท่านั้น แล้วเขาก็บอกว่าอาจารย์เลี้ยงด้วยเหรอไข่มดแดงเนี่ย ผมก็งงเลย มะม่วงนี่ผมปลูกจริงเขาไม่ได้มาเอา เขามาเอาไข่มดแดงก็ไข่มดแดงมันมาจากธรรมชาติ ตอนหลังผมเลยเข้าใจจุดนี้ หรืออย่างที่นาก็เช่นเดียวกัน ตอนปลูกข้าวก็ไม่มีใครมาเอาต้นข้าว แต่เขาสามารถไปเก็บผักจับปลาในนากันได้ พอเกี่ยวข้าวเสร็จคนอื่นก็เอาควายไปเลี้ยงในนาคนอื่นได้
พูดง่ายๆ ก็คือว่าหลักของที่เรามีอยู่ในสังคมไทย เราไม่ได้บอกว่าเรากีดกันสิทธิ แต่สิทธิปัจเจกนี่เป็นสิทธิที่กีดกัน พอเป็นเจ้าของปุ๊บก็ไม่ให้คนอื่นใช้ ถ้าเข้าไปใช้จะต้องถูกจับ แต่นาของเราเป็นของปัจเจกจริงแต่เขาไม่ได้ห้ามคนอื่นใช้ด้วย เมื่อเราไม่ได้ไปเอาของที่เขาเป็นผู้สร้างขึ้นมา เอาควายไปเลี้ยงในนาคนอื่นหรือไปเก็บผักเก็บหญ้า อันนี้ผมว่ามันเป็นจารีตหรือว่าเป็นการปฏิบัติที่มันมีอยู่ในสังคมไทยเลย เพราะผมไม่เคยเห็นนาใครเขาทำรั้ว
ตรงนี้ผมถึงเข้าใจ พูดง่ายๆ คือว่าปัจเจกก็จะใช้ได้ในข้อจำกัดหนึ่ง แต่ว่าจะเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามามีสิทธิอย่างอื่นใช้ได้ แล้วสิทธิที่ใช้ได้เป็นสิทธิการใช้ทั้งนั้น แต่เป็นเจ้าของไม่ได้ อยู่ดีๆ เขาจะมายึดต้นมะม่วงผมเอาไปไม่ได้ เขามาเอาได้แค่ไข่มดแดงซึ่งผมรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเป็นของธรรมชาติมันจะต้องเป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกัน ส่วนอะไรที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นมาอย่างผมปลูกมะม่วงเองมันเกิดจากแรงงานของผมมันเป็นของผม
อันนี้มันก็ชัดเจนเลยว่ามันสามารถจะใช้สิทธิหลายอย่างซ้อนกันได้ แต่ปัญหาของเราคือเราเข้าใจในเรื่องสิทธิที่คับแคบ หมายถึงสิทธิที่เป็นสิทธิส่วนตัว คือคำว่าสิทธิมันไม่มีในภาษาไทยมาก่อนก็จริง แต่เราก็ใช้คล้ายๆ กับว่าเป็นความเข้าใจที่เราปฏิบัติอยู่มันไม่มีคำเรียก เพราะฉะนั้นจะให้ชาวบ้านมาพูดอย่างที่ผมพูดอยู่เนี่ย เขาพูดไม่ได้ เพราะเขาก็ทำแบบนี้มันเป็นจารีตเป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปสับสนมันเป็นภาษาใหม่ก็จริงแต่มันก็ไม่ได้ผิดได้แปลงไปจากที่เป็นอยู่ แต่เผอิญว่าคนที่นิยามคำว่าสิทธิ เขาหมายถึงสิทธิที่เป็นของปัจเจก มันก็เลยทำให้ความคิดนี้เป็นสิทธิเชิงเดี่ยวที่ครอบคลุมสังคมไทยมา ดังนั้น หากจะทำให้สิทธิชุมชนปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญได้ ต้องปรากฎในลักษณะที่เข้าใจในเรื่องของสิทธิที่ซ้อนกันหลายอย่าง
ขณะเดียวกันความคิดเรื่องชุมชน เราจะไปจำกัดอยู่แค่องค์กรเป็นทางการที่มีอยู่แล้วเป็นไปไม่ได้ หรือจะต้องกำหนดว่าจะต้องมีเท่านั้นคนเท่านี้คนก็เป็นไปไม่ได้ ผมบอกแล้วว่าชุมชนในที่นี้มันไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนที่ติดอยู่กับพื้นที่ๆ นั้น ดังนั้นเราต้องบอกว่าให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คนที่ใช้ประโยชน์ หรือคนที่อาจจะถูกผลกระทบที่สามารถมาเข้าชื่อกันแล้วก็แสดงตัวเป็นชุมชนนั้นได้ถึงจะเป็นไปได้ ดังนั้น ตรงนี้ก็คือการเปิดให้มีการมีส่วนร่วม เมื่อคุณรู้สึกว่ามันกระทบมันก็เป็นชุมชนแล้ว ดังนั้น สิทธิมันจึงไม่ใช่เรื่องของสิทธิของปัจเจกแต่เป็นสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ หรือสิทธิของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตรงนี้แหละเราเ รียกว่าสิทธิชุมชน เพราะมันจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม
ดังนั้นเรื่องของสิทธิชุมชนโดยสรุปแล้วมันก็จะต้องเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมนี้ต้องวางบนรากฐานของจารีตประเพณีซึ่งปฏิบัติมาแล้ว ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการใช้ประโยชน์ร่วมกัน บางคนใช้แล้วเอาเปรียบคนอื่นก็จะสร้างความเสียหายไปกระทบอีกคนหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเสียหายได้รับผลกระทบมันจะเกิดสิทธิชุมชนขึ้นโดยอัตโนมัติ
ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องไปเขียนว่าสิทธิชุมชนคืออะไร เพราะเขียนเท่าไรก็ไม่ครบ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้มันเกิด แล้วเงื่อนไขที่ทำให้เกิดคือสิทธิในการเป็นผู้เสียหาย ถ้าหากอันนี้ไม่มี พูดไปให้ตาย เขียนให้ตาย บัญญัติให้ละเอียดขนาดไหนก็ไม่มีทางเกิด ดังนั้นประเด็นที่ผมพูดก็คือว่า สิทธิชุมชนไม่ใช่เขียนไว้เป็นตัวเขียน ต้องเขียนไว้เป็นเงื่อนไขให้มันเกิด เพราะอย่างนโยบายการพัฒนาของรัฐที่กระทบชุมชนนั้นเวลาที่คุณเรียกร้องไปเขาก็ไม่ฟัง เพราะไม่รู้ว่าคุณเอาสิทธิอะไรมาพูด เพราะมันไม่มีเรื่องของสิทธิผู้เสียหายจากนโยบาย ซึ่งเวลาที่เกิดเรื่องแบบนี้เราไม่สามารถใช้เรื่องของสิทธิชุมชนเข้าไปต่อสู้ได้เลย เพราะว่าไม่ได้เขียนเงื่อนไขเอาไว้
เราไปเขียนว่าสิทธิชุมชนดั้งเดิม แต่ดั้งเดิมสมัยไหนไม่รู้ มันเป็นไปไม่ได้เขียนอะไรที่มันไม่ชัดเจน ฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญต้องเขียนให้มีเงื่อนไขที่ทำให้สิทธิชุมชนเกิดได้ แล้วมันจะเกิดได้ในเรื่องของสิทธิการใช้และการได้รับผลกระทบซึ่งเป็นจุดคิดสำคัญ แล้วเงื่อนไขอีกอันหนึ่งที่จะทำให้ได้คือ ต้องเอาเงื่อนไขของสิทธิเชิงซ้อนอย่างผมบอก ที่ไม่ให้ปัจเจกเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะไม่ใช่สิทธิชุมชนเพราะขนาดบ้านผมคนยังเข้ามาเก็บไข่มดแดงได้เลย ถ้าอย่างนี้เรามีจารีตซึ่งแปลว่าต้องเปิดพื้นที่ให้กับหรือว่าลดจำกัดสิทธิของเอกชนไม่ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรงนี้พูดง่ายๆ คือว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การไปลดอำนาจของรัฐอย่างเดียวแต่ต้องจำกัดสิทธิของปัจเจกลงด้วย
ถ้าเราพูดถึงสิทธิชุมชน แต่เราไม่จำกัดสิทธิของปัจเจกลงมันยากที่จะทำให้สิทธิชุมชนเกิดได้ เพราะสิทธิชุมชนมันคือพื้นที่ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกัน เราอยู่ที่เดียวกันไม่ได้เพราะปัจเจกมันบังคับสิทธิของตัวเองมากเกินไป แล้วกฎหมายก็ไปให้ความชอบธรรมกับการบังคับสิทธิของปัจเจก เพราะฉะนั้นตรงนี้พื้นที่ของปัจเจกเราไม่สามารถไปทำลายมันได้เพราะมันเป็นหลักที่มันต้องมีอยู่ แต่หลักสองอันนี้มันซ้อนกันได้ สิทธิปัจเจกกับสิทธิชุมชนต้องมีอยู่ซ้อนกัน โดยที่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน เพราะการจำกัดสิทธิของปัจเจกมันก็เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับสิทธิชุมชนสามารถทำงานได้
ตรงนี้ผมอยากจะย้ำว่า สิทธิชุมชนมันคือสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และสิทธิในการใช้ประโยชน์นั้นจะต้องซ้อนอยู่กับสิทธิการเป็นเจ้าของได้ แล้วสิทธิที่มันจะปรากฎเป็นจริงได้ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญคือเงื่อนไขของการที่จะทำให้คนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ก็ดี หรือการไม่ได้ใช้ก็ดีเป็นผู้เสียหายได้ 3 เรื่องนี้มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่มันจะต้องใส่เอาไว้ในลักษณะที่เป็นแนวคิดเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญ แล้วหลักการนี้ห้ามใส่ว่าตามที่กฎหมายกำหนดอีก เพราะไม่ต้องเขียนเลยบังคับได้ทันที แล้วใครไม่พอใจก็ไปสู้กันในศาล เอาหลักฐานข้อมูลมายืนยันกัน แล้วเมื่อมีการตกลงขึ้นได้ คำตัดสินของศาลนั้นๆ จะกลายเป็นบัญญัติอันใหม่ที่ใช้ได้ต่อไปในยุคสมัยหนึ่ง เพราะว่ากฎหมายมันไม่มีอะไรตลอดกาล มันจะต้องเข้าใจว่ากฎหมายอันใดอันหนึ่งมันจะใช้ได้แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ดังนั้นผมก็อยากที่จะฝากความคิดตรงนี้ไว้ว่า เรื่องสิทธิชุมชน อย่ามองเป็นอะไรที่มันยากจนกระทั่งไม่เข้าใจเลย จริงๆ แล้วมันก็คือสิทธิที่อยู่ข้างกายเรา ถ้าเรารู้สึกว่าอันนี้มันเสียหาย แล้วเราไม่สามารถจะไปเรียกร้องไม่สามารถจะไปแสดงให้ใครบอกว่าเราเสียหายอะไร เราได้รับผลกระทบอะไรก็แสดงว่ามันยังไม่มีสิทธิชุมชนนั่นเอง แล้วสิทธิชุมชุนมันเป็นสิ่งที่เราได้รับผลกระทบจากการจัดการต่างๆ ดังนั้นตรงนี้อยากให้เข้าใจว่าสิทธิชุมชนมันคือสิทธิที่อยู่รอบตัวเราเวลานี้ การแสดงสิทธิชุมชนของเรามันถูกจำกัดด้วยการที่เราไปให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนตัวมากจนเกินไป
ดังนั้นสองอันนี้ต้องจับเอามาซ้อนกัน ห้ามให้สิทธิปัจเจกเป็นสิทธิที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครอบคลุมทุกเรื่องจนกระทั่งไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบหรือชุมชนเหลืออยู่เลย ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้มันก็ลำบาก มันต้องศึกษาให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นแล้วผมว่ามันทำได้
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากเวทีสัมมนาเรื่อง"ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนกับข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2550 ณ สถานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) และองค์กรพันธมิตร
3. คนไทยกับประชาธิปไตย
วีรพงษ์ รามางกูร (คอลัมน์ คนเดินตรอก)
เพื่อนชาวอเมริกันที่เป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ที่อเมริกา หลังจากหายหน้าหายตาไปเกือบ
2 ปี เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน กลับมาพบกันอีกที่กรุงเทพฯ ได้โอกาสมารับประทานอาหารกันเลยได้คุยกันเรื่องคนไทยกับการเมืองไทย
คราวนี้เขาก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุการณ์การเมืองไทยที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ต้นปี
2549
ข้อแรก เขาตั้งข้อสังเกตคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยที่เป็นคนชั้นกลาง
และคนในระดับสูง รวมทั้งปัญญาชน ครูบาอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยที่สะท้อนออกมาจากปฏิกิริยาต่อกระแสทางความคิดทางการเมือง
ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำทางความคิดในระบอบประชาธิปไตย สังเกตได้จากกระแสความคิดที่ไม่เชื่อขบวนการทางการเมืองประชาธิปไตย
เช่น ขบวนการทางกฎหมาย ขบวนการตัดสินข้อขัดแย้งต่างๆ โดยองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่างๆ หากการชี้ขาดขององค์กรต่างๆ ตัดสินไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน
ข้อที่สอง คนไทยมีอารมณ์ทางการเมืองรุนแรงไม่แพ้ประเทศทางตะวันตก
แต่คนทางตะวันตกนั้น จะดำเนินการตามกรอบของระบบกฎหมาย ในกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่คนไทยระดับสูงและระดับกลาง
ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของตนน้อยมาก จะสังเกตได้จากการรายงาน หรือความคิดเห็น
ที่ออกมาผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องบีบบังคับเป็นไปในทิศทางนอกกรอบรัฐธรรมนูญ
นอกระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
แท้จริงลึกๆ ในใจของคนที่มีการศึกษา แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ทางรัฐศาสตร์และกฎหมาย
ยังนิยมระบบอำนาจนิยม การยึดอำนาจรัฐโดยไม่ผ่านขบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำขบวนการชุมนุมกระทำการเสมือนว่า
ตนได้ยึดอำนาจรัฐสำเร็จแล้ว สามารถออกคำสั่งให้รัฐบาลก็ดี องค์กรอิสระต่างๆ กระทำการหรือตัดสินไปตามทิศทางที่ตนต้องการ
ฟังดูเหมือนกับการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว
คล้ายกับเป็นการยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐโดยกองทัพ
ถ้าเป็นประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกแล้ว ประชาชนจะไม่ยอมรับการออกคำสั่งอย่างนี้ จะยอมรับเฉพาะการชุมนุมเรียกร้องแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ เพื่อให้รัฐบาลหรือรัฐสภา ดำเนินการให้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญและขบวนการยุติธรรม อันเป็นสถาบันที่เขายอมรับนับถือว่าเมื่อเรื่องถึงรัฐบาล ถึงรัฐสภา และสถาบันยุติธรรมแล้วก็เป็นอันยุติ แต่ของเราไม่เป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะประวัติศาสตร์การเมืองของเรา มีปฏิวัติรัฐประหารบ่อย ยกเลิกและร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อยู่เรื่อยๆ รัฐธรรมนูญ และระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับขบวนการประชาธิปไตยจึงไม่มีใครสนใจให้ความสำคัญ ให้ความเคารพเหมือนกับยุโรปหรืออเมริกา
ข้อที่สาม
การเมืองและธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกันมานานแล้ว ในสมัยก่อนตอนที่โลกมีสงครามเย็น
ประเทศไทยก็มีรัฐบาลที่ตั้งโดยทหาร คณะรัฐมนตรีส่วนมากมาจากระบบราชการ เป็นบุคคลที่มีประวัติชื่อเสียงดี
แต่ทหารก็ให้การอุปถัมภ์แก่พ่อค้านายทุน ในการที่จะได้การผูกขาด เพื่อแสวงหากำไรจากการผูกขาด
หรือที่ภาษาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ เรียกว่า "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" หรือ
"Economic rent" ส่วนผู้นำทางทหารทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีธุรกิจของครอบครัว
อย่างมากก็ไปนั่งเป็นประธานธนาคาร หรือธุรกิจใหญ่ๆ ทุกเช้าพ่อค้านายทุนก็ไปนั่งเฝ้าบันไดบ้าน
สังคมรับได้ พ่อค้าตระกูลเก่าๆ ก็เริ่มมาอย่างนั้น รุ่นลูกหลานอาจไม่เคยเห็น
เพราะกำลังไปเรียนหนังสืออยู่เมืองนอก
ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ระบบการเมืองเป็นแบบประชาธิปไตยแบบเปิด ประชาชนผู้ออกเสียงลงคะแนนเรียกร้องเงินทอง
เรียกร้องให้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ นายทุนพ่อค้าแทนที่จะต้องเข้าไปซูฮก
เค้าเต๋า ผู้มีอำนาจ ก็รวมตัวกันตั้งพรรคส่งลูกหลานลงสมัครรับเลือกตั้งเสียเอง
ตระกูลนายทุนเก่าจึงยอมรับได้ สมาชิกสภาผู้แทนจึงเต็มไปด้วยชนชั้นพ่อค้านายทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด
แทบจะไม่มีลูกหลานชนชั้นอื่นเลย กว่าร้อยละ 90 เป็นคนไทยเชื้อสายพ่อต้านายทุนทั้งนั้น
ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรม พฤติกรรมทางการเมืองจึงเปลี่ยนไป ค่านิยมและคุณค่าทางการเมืองก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัดสินรวดเร็วมากขึ้น ไม่ "เชื่องช้า" แบบเก่า ข้าราชการถูกจี้ให้ทำงานเร็วขึ้น มิฉะนั้นจะถูกย้าย ภาพลักษณ์ของผู้นำก็เปลี่ยนไป คนไทยไม่คุ้นเคย คนไทยจึงอยู่ในช่วงสับสน ในหมู่ข้าราชการย่อมไม่ชอบใจแน่ เพราะปลัดกระทรวงเป็นที่พึ่งอย่างเดิมไม่ได้แล้ว รัฐมนตรีเข้ามาตัดสินใจไล่จี้งานเอง
ส่วนคนร่ำรวยตระกูลเก่าก็ยังรับนักการเมืองและผู้นำรุ่นใหม่ไม่ได้ เพราะยังติดกับผู้นำและรัฐบาลที่อ่อนแอ ผสมกันหลายพรรค พูดจามีมารยาท ไม่อหังการ ยังยอมรับการเป็นรัฐบาลที่มาจากชนชั้นพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นเดียวกับตนไม่ได้. เหตุการณ์ที่ผ่านมา ทหารปฏิวัติรัฐประหาร คนในกรุงเทพฯ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาลออกไป ใช้อำนาจปฏิวัติยึดทรัพย์นักการเมือง คนในกรุงเทพฯจะยินดีปรีดา แล้วอีกปีหนึ่งก็ชุมนุมขับไล่รัฐบาลกันใหม่
ข้อที่สี่ คนไทยชั้นสูงยังยึดถือที่ตัวบุคคลมากกว่าระบบ
ซึ่งขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย เมื่อไม่ชอบหรือเกลียดชังเสียแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงระบบ
จะทำอย่างใดก็ได้ขอให้บุคคลผู้นั้นพ้นๆ ไป ถ้าจะอยู่ต่ออีกสักวันหนึ่งก็เหมือนบ้านเมืองจะล่มสลาย
ข้อกล่าวหาบางอย่าง แม้จะรู้ว่าไม่ได้ผิดกฎหมายก็พร้อมจะเชื่อ และข้อกล่าวหาบางข้อที่กล่าวหาว่า
ฝ่ายตรงกันข้ามทำผิดกฎหมาย ก็ไม่สนใจที่จะติดตามให้ได้ข้อมูลลึกเพื่อที่จะสามารถเอาผิดได้ตามกฎหมาย
คนกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด เวลารักทุกอย่างก็ถูกไปหมด เวลาเกลียดเวลาไม่ชอบทุกอย่างก็ผิดหมด
เป็นสังคมแบบไฟไหม้ฟาง
ข้อที่ห้า สังคมชั้นสูงและชั้นกลางมีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวลือมากกว่าข่าวจริง
หลายเรื่องถ้าหยุดคิดแล้วก็จะไม่เชื่อ แต่คนไทยชอบเชื่อข่าวลือที่ถูกใจตัว ข่าวจริงที่ไม่ถูกใจตัวจะไม่ยอมเชื่อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวร้ายและข่าวโจมตีกัน สื่อมวลชนซึ่งเข้าใจจิตวิทยาเช่นว่านี้
ก็ถือโอกาสกระพือข่าวลือเพื่อประโยชน์ทางการค้า เพิ่มยอดขายหนังสือพิมพ์ แล้วผู้จัดรายการวิทยุ
ก็เอาข่าวหนังสือพิมพ์ไปอ่านและขยายข่าวลือต่อ
สื่อมวลชนไทยนั้นมีอิสระเสรีภาพมากที่สุดในโลก แม้จะเทียบกับอเมริกาหรือยุโรป
ไม่ถูกควบคุมโดยใครเลย ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือสมาคมวิชาชีพของตนเอง ผู้คนแม้แต่รัฐมนตรีข้าราชการผู้ใหญ่
นักธุรกิจล้วนแต่เกรงกลัวและเกรงใจ นักข่าวเด็กๆ อายุ 20-30 ปี สามารถนัดพบรัฐมนตรี
ปลัดกระทรวง อธิบดี นายธนาคาร นักธุรกิจใหญ่ๆ ได้ เพราะไม่มีใครอยากขัดใจสื่อมวลชน
ผู้ที่เสียหายจากการลงข่าวที่จริงและไม่จริงหรือจริงเพียงครึ่งเดียวมักจะต้องทำเฉยเสีย หากทำอะไรไป และยิ่งเป็นผู้มีอำนาจก็จะถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงสื่อมวลชน แม้กระทั่งการใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องทางศาล ถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงปิดกั้นสื่อมวลชนทันที ซึ่งสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่มีอภิสิทธิขนาดนี้ การที่สื่อมวลชนไทยมีอิสระเสรีภาพและอภิสิทธิสูงมากอย่างนี้ ประเทศไทยจึงเป็นที่สื่อมวลชนต่างๆ ทั่วโลก ส่งนักข่าวเด็กๆ นักข่าวมือใหม่มาฝึกงานก่อนจะรับเข้าบรรจุ เพราะถ้ามาอยู่เมืองไทยแล้วยังทำข่าวไม่ได้ ก็จะไม่ได้รับการบรรจุ เพราะสังคมไทยเปิดกว้างอย่างที่สุด และสื่อมวลชนมีอภิสิทธิสูงที่สุดในโลกแล้ว
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์, รัฐบาล พล.อ.เปรม, รัฐบาลคุณอานันท์, รัฐบาลคุณบรรหารและคุณชวน, หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา ไม่มีทางเป็นรัฐบาลเผด็จการได้เลย เป็นได้แต่รูปแบบเนื้อหาเป็นไม่ได้ แต่ผลเสียก็มีเพราะหลายคนหลายครั้งก็ถูกหนังสือพิมพ์ละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ หรือไม่กล้าแม้แต่การใช้สิทธิตามกฎหมายทางศาล
ข้อที่หก เพื่อนผมค่อนข้างผิดหวังนักวิชาการ
ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
รวมทั้งสมาคมทนายความ และผู้ที่มีวิชาชีพทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ ซึ่งในประเทศอื่น
จะเป็นผู้ที่เรียกร้องให้ประชาชนยืนหยัดในหลักของการปกครองในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ปัญญาชนไทยทางด้านนี้กลับชี้นำให้สังคมละทิ้งหลักการปกครองตามกฎหมาย โดยการอ้างจริยธรรมบ้าง
ความชอบธรรมบ้าง
หลักความชอบธรรมตามกฎหมายนั้นเป็นหลักที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร มีสถาบันซึ่งจะชี้ขาดเป็นที่ยุติของปัญหาความขัดแย้งได้เป็นรูปธรรม
เนื้อหาของกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี ปกติก็จะสะท้อนจริยธรรม
ขนมธรรมเนียมประเพณีของระบอบการปกครองอยู่แล้ว แต่การไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย
ระบอบการปกครอง รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ก็เท่ากับเป็นการเรียกร้องบีบบังคับตามอำเภอใจ
ส่วนหลักความชอบธรรมที่อ้าง "จริยธรรม" ที่เกินกว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประเพณีขนบธรรมเนียม การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม เลื่อนลอย ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มชน เช่น ชั้นสูง ชั้นกลาง มีมาตรฐาน จริยธรรมอย่างหนึ่ง ชั้นล่างอย่างหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิภาค ภาคใต้ว่าอย่าง ภาคเหนือ ภาคอีสานว่าอย่าง และเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น ปี 2547 ว่าอย่าง ปี 2549 ว่าอย่าง ต่อไปปี 2550 อาจจะว่าอีกอย่างก็ได้
การตัดสินความชอบธรรมบนพื้นฐานของ"จริยธรรม"จึงเลื่อนลอย ไม่เหมือนความชอบธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของ "ระบบ" "หลักการ" และ "กฎหมาย" ซึ่งเป็นรูปธรรม อ้างอิงได้ ถ้าระบบและหลักการควรจะเปลี่ยนเพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป กฎหมายก็เปลี่ยนได้ตามขบวนการ แต่ระหว่างที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงก็ต้องใช้ความชอบธรรมบนพื้นฐานของกฎหมายที่ยังใช้บังคับอยู่
ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่า เรามีรัฐบาลทหาร ที่มีทหารเป็นนายกรัฐมนตรีเองหรือมีนายกรัฐมนตรีที่ทหารแต่งตั้ง ซึ่งไม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ หรือตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข หรือบางครั้งจะชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะปฏิวัติหรือสภาร่างรัฐธรมนูญที่คณะทหารตั้งขึ้นมา การต่อต้านจึงต้องต่อต้านนอกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยอ้างความไม่ชอบธรรมของระบอบหรือระบบได้ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มคน ภูมิภาค และกาลเวลาในโลกสมัยใหม่ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาเที่ยวนี้ไม่เหมือนกัน เป็นการอ้างความไม่ชอบธรรมที่ไม่ใช่ความชอบธรรมของระบอบหรือที่มาของรัฐบาล แต่การอ้างความไม่ชอบธรรมบนพื้นฐานของ "จริยธรรม" ซึ่งเลื่อนลอย ถ้าทำได้สำเร็จก็จะเป็นความเสียหายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวอย่างยิ่ง
ข้อที่เจ็ด เพื่อนอเมริกันตัวแสบของผมยังแสดงความผิดหวังต่อพรรคการเมืองของไทย
ทั้งพรรคการเมืองที่เก่าแก่ พรรคที่เก่ากลาง พรรคที่กลางเก่ากลางใหม่ พรรคการเมืองควรจะเป็นสถาบันที่เป็นผู้นำทางความคิด
เผยแพร่ปรัชญา จิตสำนึก และปฏิบัติตนเป็นนักประชาธิปไตย แต่วิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้
ผู้นำพรรคการเมือง กลับไปร่วมเรียกร้องให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดกฎหมาย
ละเมิดข้อเท็จจริง รวมทั้งปฏิเสธขบวนการรัฐสภา ขบวนการให้กลับไปสู่การตัดสินใจของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
โดยอ้างว่าขบวนการเลือกตั้งนั้นไม่ชอบธรรม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ปฏิเสธกรรมการเลือกตั้ง
รวมทั้งคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ที่เหลือเชื่อก็คือสื่อมวลชนซึ่งควรจะเป็นสถาบันที่ต่อต้านการปฏิเสธขบวนการประชาธิปไตย
กลับไปเห็นด้วยและสนับสนุน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นการสร้างประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตย ระบอบรัฐสภา การเรียกร้องกดดันทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการเรียกร้อง
และกดดันให้มีการดำเนินการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเลย
และที่แปลก "นักประชาธิปไตย" ทั้งหลายกลับรับได้ ไม่ตะขิดตะขวงใจเลย
ข้อที่แปด การกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
โดยอ้างความไม่ชอบธรรมบนพื้นฐานของ "จริยธรรม" นั้น เป็นอันตรายที่สามารถสร้างความแตกแยกในสังคม
เพราะมาตรฐานของจริยธรรม ของผู้คนต่างหมู่เหล่าต่างภูมิภาค จะต่างกัน ไม่เหมือนความชอบธรรม
ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระบบ เพราะกฎหมายและระบบมีอันเดียว
อย่างมากก็อาจจะตีความแตกต่างกันเท่านั้น และยุติได้โดยการยอมรับการตัดสินขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่
ข้อที่เก้า เพื่อนผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบมีสองพรรคใหญ่
ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้พัฒนาไปเร็วมาก แต่ตอนนี้ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้ว
เพราะความไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยตามระบอบรัฐสภา ของพรรคการเมือง ของปัญญาชน
ของครูบาอาจารย์ รวมทั้งสื่อมวลชนที่เป็นกระแสหลักของประเทศที่จะเป็นผู้นำทางความคิด
ที่เห็นชัดก็คือยังชอบระบบการเมืองที่เละๆ มีรัฐบาลที่อ่อนแอ คอยเอาใจคนโน้นคนนี้
อ่อนน้อมถ่อมตนพูดจามีคารมคมคาย จะมีผลงานหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ชอบที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยๆ
ไม่ต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
คุยกับเพื่อนอเมริกันเที่ยวนี้ผมรีบตัดบทแล้วรีบลากลับก่อนเขาจะพูดจบ
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ส.ส.ควรมีจำนวนรวมเท่าไร และควรแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร ไม่ควรมุ่งเป้าหมายที่ขจัดการซื้อเสียง ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล หรือประกันความมั่นคงของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่หลักของ ส.ส.คือเป็นผู้สะท้อนปัญหาที่เกิดในชีวิตจริงของชาวบ้านให้รัฐและสังคมรับรู้ จนนำไปสู่การแก้ไข แทบจะกล่าวได้ว่า หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หน้าที่หลักอันนี้ของ ส.ส.หายไปหรือถูกลดความสำคัญในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ตามมา ด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ส.ทำงานด้านนี้ได้ยากขึ้น เช่นให้อำนาจพรรคในการกำหนดการทำหน้าที่ของ ส.ส.มากเกินไป
Democracy
The Midnight University