โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 04 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๔๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 04,02.2007)
R

ทฤษฎีแบ่งแยกจากข้อเท็จจริงประวัติศาสตร
ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (๑)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยกองบรรณาธิการจะทะยอยนำออกเผยแพร่ในลักษณะชุดบทความว่าด้วย
-ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกในภาคใต้ไทย-
เพื่อประโยชน์แห่งความรู้ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ความเข้าใจ
ในปัญหาภาคใต้จากความจริงจากชุดคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์
สำหรับในส่วนที่หนึ่งนี้ ประกอบด้วย คำนำโดย เสน่ห์ จามริก, บทนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ,
ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

คำนำโดย เสน่ห์ จามริก

มีคำพังเพยหนึ่งของฝรั่งเศส กล่าวเอาไว้ชวนให้คิดว่า "เรื่องยิ่งเปลี่ยนไปเท่าไร ก็ยิ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องๆ เดียวกันมากขึ้นเท่านั้น" ข้อสังเกตที่ว่านี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงกฎความจริงประการหนึ่งในชีวิตความเป็นไปของสังคมมนุษย์เรา เข้าทำนองที่พูดกันถึงกันบ่อยๆ ว่า "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" ความข้อนี้ แม้จะยังไม่ถึงกับมีอะไรมาเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงความแน่ชัดแน่นอนกันในเชิงทฤษฎีทีเดียวนัก

แต่จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในระดับหนึ่ง ก็คงพอจะพูดได้ว่า ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ว่านี้ เป็นเพียงผลอันเกิดแต่มูลเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มูลเหตุ" จากแบบแผนวิธีคิดและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรมการเรียนรู้" อันเป็นสมบัติแนบเนื่องอยู่กับสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ สมบัติทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ว่านี้ นับเป็นผลพวงของเหตุผลและความจำเป็นตามเงื่อนไขสถานการณ์แห่งยุคสมัย ครั้นเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการเรียนรู้ชุดเดียวกันนั้นเอง ก็มักกลายเป็นโทษสมบัติและมิจฉาทิฐิ บั่นทอนความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของสังคม

ประเด็นอยู่ที่ว่า สังคมวัฒนธรรมนั้นๆ จะมีปัญญาสามารถคิดค้นและสร้างสรรค์ ในอันที่จะปรับเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาก้าวหน้าเทียบทันกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่เพียงใด หรือว่าจะเอาแต่เสพย์ติดจำเจอยู่กับวัฒนธรรมการเรียนรู้เก่าๆ ล้าสมัย ตั้งตนเป็นอริกับอนาคตความมั่นคงและการดำรงอยู่ของสังคมของตนเอง อย่างเช่นที่กำลังเป็นไปในสถานการณ์วิกฤตความรุนแรงตามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเราขณะนี้

ความจริงแล้ว สถานการณ์วิกฤตความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งของปัญหาความรุนแรงระส่ำระสายที่เป็นมาช้านานในทำนองเดียวกันในหมู่ชนชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลายตามพื้นที่ชายขอบโดยทั่วไป เพียงแต่ว่าภาคใต้เป็นกรณีที่โดดเด่นในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี วิถีชีวิต และความคิดความเชื่อ ในประการสำคัญ ประกอบเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่รู้ๆ กัน

แบบแผนวิธีคิดและแนวทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ดำเนินการ ต่อปัญหาวิกฤตความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องพิสูจน์แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยเรายังคงเสพย์ติดจำเจอยู่กับวัฒนธรรมการเรียนรู้ในลักษณะที่เป็นอริต่ออนาคตความมั่นคงของสังคมของตนเอง ความคิดความอ่านที่จะแก้ไขสถานการณ์วิกฤต จึงเป็นเหตุกระตุ้นให้ปัญหาความรุนแรงสูญเสีย และอารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังหวาดระแวงยิ่งขยายวงกว้างขวางออกไปโดยลำดับ ทั้งหมดเป็นปัญหาท้าทายและทดสอบระบบและสถานะความเป็น "รัฐประชาชาติไทย" อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่อาจแก้ไขคลี่คลายไปได้ ตราบเท่าที่ลัทธิและแบบแผนความคิดความเชื่อ "เชื้อชาตินิยม" อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากยุคสมัยของเผด็จการ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ดังที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ภายใต้การครอบงำของมิจฉาทิฐิ "เชื้อชาตินิยม" ที่ว่านี้เอง สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยพฤติการณ์เรื่องราวของ "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" ตลอดมา แล้วยิ่งมามีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้" ขึ้นตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ ด้วยการครอบงำทางเศรษฐกิจและฐานทรัพยากรท้องถิ่น อันเป็นปัจจัยการดำรงชีวิตของชุมชนรากหญ้า ปัญหาก็ยิ่งจะตีบตัน ปิดช่องทางมวลความพยายามที่จะแก้ไขปัญหากันอย่างเป็นมรรคเป็นผลและสร้างสรรค์ เพราะถ้าหากเป็นไปเช่นนั้นแล้วไซร้ "เชื้อชาตินิยม" ในภาพจำแลงของ "ชาตินิยม" ก็เท่ากับเป็นอาวุธเพื่อการขูดรีดทางเศรษฐกิจนั่นเอง เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ภายใต้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ความพยายามกดดันเรื่อง "เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้" ก็ดูจะไม่ได้เบาบางลงไปเลย

บทศึกษาเรื่อง "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย" โดย ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ออกมาในช่วงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อันเป็นผลจากการยึดอำนาจของ "คณะปฏิรูปการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ปัญหาจึงไม่ใช่เป็นเพียงแต่การระงับเหตุการณ์รุนแรงสูญเสียเท่านั้น หากยังเป็นสถานการณ์ท้าทาย และทดสอบทัศนวิสัยและภูมิปัญญาความสามารถของผู้นำไทย ในภารกิจการปฏิรูปการเมืองไปด้วยในขณะเดียวกัน นั่นก็คือ เรื่องของประเด็นปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อันเป็นหัวใจและเนื้อหาสาระของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งแต่สถานเดียว ซึ่งตกเป็นเหยื่อการแสวงอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ "นักเลือกตั้ง" มาโดยตลอด และกลายมาถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จ ภายใต้ระบอบทุนนิยมทักษิณ

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่บทศึกษาเรื่องนี้ออกมาในช่วงนี้พอดีที่ นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แสดงความจริงใจและจริงจังที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้กระทั่งถึงขั้นแสดงท่าทีเปิดช่องทางให้มีการเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการ ต้องยอมรับกันว่า ปัญหาและสถานการณ์ได้ขยายตัวทวีความซับซ้อนขึ้นหลายต่อหลายเท่า แต่ถ้าจะมีบทเรียนอะไรจากอดีต พอที่จะเป็นหลักการและแนวทางอันมีคุณค่าควรแก่การนำมาทบทวนเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหากันอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนจริงๆ ก็เห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องราวของขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาคมมุสลิมภาคใต้ จนในที่สุดปรากฏเป็น "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในช่วงเดือนเมษายน ๒๔๙๐ หากแต่ได้รับการสนองตอบด้วยนโยบายและมาตรการใช้อำนาจความรุนแรงถึงขั้นเข่นฆ่ากันจากรัฐบาล ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นโยบายมาตรการและเหตุการณ์ต่างๆ คงจะเป็นที่จดจำ ก่อความหวาดระแวงฝังรากลึกในหมู่ประชาคมมุสลิมภาคใต้ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นบทเรียนที่จะต้องตระหนักกันให้มากๆ เพื่อว่า ประวัติศาสตร์จะไม่ต้องซ้ำรอยอย่างเช่นในกรณีของกรือเซะและตากใบ สดๆ ร้อนๆ ซึ่งเป็นชนวนกระพือความรุนแรงยืดเยื้อหาทางออกไม่ได้จนบัดนี้

เสน่ห์ จามริก
พฤศจิกายน ๒๕๔๙

บทนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

หนังสือ ประวัติศาสตร์และการเมืองของ "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย เป็นงานวิจัยปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งทำความเข้าใจในเหตุการณ์เหล่านั้นจากประวัติศาสตร์ การให้ความสำคัญไปที่ประวัติศาสตร์ ไม่ได้เกิดมาเพราะผู้เขียนทำงานด้านประวัติศาสตร์มากกว่าด้านอื่น หากจริงๆ แล้วมาจากการพบว่า ข้อมูลและการอธิบายของผู้คนทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน ทั้งสถาบันและปัจเจกชน ในปัญหาจังหวัดมลายูมุสลิมภาคใต้นั้น ขัดแย้งและไม่ตรงต่อหลักฐานชั้นต้นเป็นอันมาก ที่สำคัญคือการมีอคติในประวัติศาสตร์เรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่มาก จากประสบการณ์เหล่านี้เอง ทำให้ผู้เขียนต้องการค้นคว้าว่าเราจะสามารถหาและสร้างประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่

ประเด็นสำคัญในหนังสือเล่มนี้คือ การศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจาก และก็ทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ"ด้วย

ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยาม ที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน

กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปราม และสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน

หนังสือเล่มนี้ มุ่งสร้างความกระจ่างแจ้งในพัฒนาการและความเป็นมาของการเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อที่จะช่วยทำให้มโนทัศน์เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" มีบริบทอันถูกต้องขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยอำนาจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐแต่ฝ่ายเดียว

จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆ ของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฏ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆ นั้นคือ การเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิของพลเมืองในรัฐที่ควรเคารพวัฒนธรรมความเชื่อของคนกลุ่มน้อย ไปจนถึง "การทำสงคราม"หากจำเป็น เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

กล่าวให้ถึงที่สุด งานศึกษาทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายนั้น จะมีความหมายและคุณูปการต่อประชาชนและสังคมรวมทั้งรัฐด้วย ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์สามารถพูดความจริงได้ สังคมและประเทศที่อยู่และยึดถือประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริง หรือจริงสำหรับคนฝ่ายเดียว ย่อมไม่อาจสร้างบูรณาการและความเป็นอารยธรรมของตนขึ้นมาได้ ไม่อาจอาศัยประวัติศาสตร์เป็นแสงนำทางให้แก่การเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคนที่ดีและก้าวหน้าขึ้นมาได้ ก็จะจมปรักอยู่กับอดีตและความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นคือคนที่ไม่อาจเรียนจากประวัติศาสตร์ได้ ก็มีแต่จะถูกสาปจากประวัติศาสตร์สถานเดียว

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙
หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (1)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในส่วนที่หนึ่งของบทความชุดนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญคือ

๑) ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
๒) รัฐประชาชาติคืออะไร?
๓) ใครคือคนมลายูมุสลิม

๔) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูมุสลิมกับรัฐไทยก่อนสมัยใหม่

๑) ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง
ความเชื่อทางการเมืองที่มีมานานอันหนึ่ง ซึ่งสรุปว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมคือการแบ่งแยกดินแดน เป็นตัวอย่างหนึ่งของ "ข้อเท็จจริง" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นและได้รับการตอกย้ำจากทรรศนะทางการตลอดมาจนกลายเป็น "ความเป็นจริง" ไปในความรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไปจนถึงชาวบ้านทั่วประเทศ

ในความเชื่อและข้อเท็จจริงนี้ กล่าวคือ คนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนที่ไม่อาจไว้วางใจได้ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่มักเป็นกบฏหรือไม่ก็ต่อต้านการปกครองของทางการสยามหรือไทยมาโดยตลอด อย่างน้อยก็นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่งในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ๆ ในไม่กี่ทศวรรษมานี้ คนไทยภาคอื่นๆ ยิ่งเห็นความพยายามของพวกเขาในการ "แบ่งแยก" ออกจากอาณาจักรไทยหรือประเทศไทย ด้วยการใช้กำลังอาวุธที่จะแยกสามจังหวัดภาคใต้สุดคือปัตตานี ยะยาและนราธิวาส (2) ออกไปจากรัฐไทย

ที่ผ่านมาแทบไม่มีคนไทยภาคอื่นๆ ที่ตั้งคำถามว่า ความรับรู้ดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นความจริงที่ถูกต้องหรือเปล่า ทำไมคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงต้องการจะแยกตัวเองออกจากการปกครองของรัฐไทย ที่เป็นเช่นนี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือเพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยบอกเรามาอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งเป็นวาทกรรมประวัติศาสตร์หลักที่ครอบงำประเทศนี้ มานับแต่การก่อรูปของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (สมัยรัชกาลที่ ๕ มา) ยืนยันตลอดมาว่าอาณาจักรไทยเป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของเหนือรัฐมลายูในภาคใต้ อันได้แก่เมืองปัตตานีเดิม ซึ่งรวมยะลาและนราธิวาสด้วย เมืองไทรบุรี(รัฐเคดาห์) ซึ่งรวมสะตูล เมืองกลันตัน ตรังกานู และปะลิส ทว่าการรุกเข้ามาอย่างหนักของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในช่วงเวลานั้น บีบบังคับให้สยามจำต้องยอมสูญเสียอำนาจ(อันรวมผลประโยชน์)และเมืองประเทศราชเหล่านั้นบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชของสยามประเทศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ในสมัยนั้น เมื่อพูดถึงเป้าหมายของการศึกษา สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอว่าหนึ่งคือ "ความรักอิศรภาพแห่งชาติภูมิ..."(3) พระราชนิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่าน จึงตั้งอยู่บนสมมติฐานของการก่อสร้างสยามให้เป็นรัฐประชาขาติสมัยใหม่ ที่มีอาณาเขตอันแน่นอน และมีประชากรที่เป็นคนพวกเดียวกันคือไทยเหมือนกัน (4) แม้จะต่างชั้นวรรณะและภาษากันก็ตาม ด้วยเหตุของการเผชิญอันตรายจากลัทธิอาณานิคมตะวันตกดังกล่าวนี้ การสร้างและเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยนับแต่เริ่มต้น จึงผูกพันอยู่กับจุดหมายของความเป็นเอกราชของชาติ

ประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงถูกจดจำและตีความต่อมา บนโครงเรื่องหลักๆสองเรื่องคือการปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ ๕ และของการเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษในรัชสมัยเดียวกัน (5) นั่นคือกรณีวิกฤตปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ สยามยอมเสียดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ในทำนองเดียวกัน ภายใต้สนธิสัญญาอังกฤษและสยามในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) สยามก็ต้องเสียดินแดนอีก ๑๕,๐๐๐ ไมล์ในบริเวณ ๔ รัฐมลายูให้แก่จักรวรรดินิยมอังกฤษไปอีก

ธงชัย วินิจจะกูลได้วิพากษ์วิธีการและความคิดในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญได้รื้อโครงกรอบของประวัติศาสตร์ชาติออก ทำให้เห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์ คือการปฏิรูปประเทศและการเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นสองด้านของเรื่องเดียวกัน คือกระบวนการที่รัฐและระบบการเมืองแบบใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ระบบปกครองแบบโบราณ ซึ่งแสดงออกในภูมิศาสตร์แบบใหม่ที่มีแผนที่เป็นอาวุธ ด้านหนึ่งสยามแพ้ฝรั่งเศสและอังกฤษ อ้างอำนาจเก่าไม่ได้ จึงเรียกว่า "การเสียดินแดน" อีกด้านหนึ่งสยามชนะ (บรรดาหัวเมืองและประเทศราช) ผนวกดินแดนที่เคยคลุมเครือให้กลายเป็นของสยามแต่ผู้เดียว ก็เรียกว่า "การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองของสยาม" ไม่เคยเรียกว่าการได้ดินแดน (6) กระบวนการทั้งหมดนั้นทำให้บรรดาหัวเมืองและเมืองประเทศราชของสยาม แต่ไหนแต่ไรมา ล้วนถูกมองว่าเคยเป็นดินแดนภายใต้รัฐสยามใหม่อย่างสมบูรณ์

การเกิดขึ้นของข้อกล่าวหาเรื่อง "การแย่งแยกดินแดน" ในทศวรรษปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงกล่าวได้ว่าเป็นความต่อเนื่องเชิงตรรกทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์ "ราชาชาตินิยม" อันเป็นทฤษฎีที่เสนอโดยธงชัย วินิจจะกูล (7) จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นกระจ่างชัดว่า มโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจากความเชื่ออันไม่สงสัยเลยว่า ดินแดนที่เคยเป็นอิสระในบริเวณชายเขตแดนสยามมาก่อนนั้น ก็ไม่เคยเป็นอิสระมาก่อน หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของอาณาจักรที่มีกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลาง ที่มีสถาบันและวัฒนธรรมไทยเป็นหลักมาโดยตลอด

คงไม่ต้องกล่าวให้มากกว่านี้ ว่าสมมติฐานที่ว่านี้เป็นมโนทัศน์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยใหม่ไม่เกินสองร้อยปี และก็ห่างไกลจากความเป็นจริงของการดำรงอยู่ของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ทั้งหลายรวมทั้งไทยด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากความเป็นจริงของรัฐประชาชาตินั้น ต่างก่อรูปขึ้นมาจากชุมชนที่มีหลายเชื้อชาติและภาษา มีการปฏิบัติวัฒนธรรมที่หลากหลายต่างๆ กันไป

๒) รัฐประชาชาติคืออะไร?
การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มักเข้าใจและตีความว่า เป็นการสร้างรัฐชาติไทยที่เป็นรัฐประชาชาติหรือ nation-state ขึ้นมาตามแบบอย่างของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายในยุโรปและอเมริกา คุณลักษณะใหญ่ๆ ของความเป็นรัฐชาติ ได้แก่การมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ประชาชนและพลเมืองแห่งรัฐนั้นๆ การมีอาณาเขตของรัฐที่แน่นอนดังปรากฏในแผนที่สมัยใหม่ กับการที่ประชากรในรัฐนั้นๆ ซึ่งแม้มีหลากหลายเชื้อชาติและภาษาวัฒนธรรม ก็จะถูกทำให้กลายมาเป็นพลเมืองพวกเดียวกัน โดยมีอุดมการณ์ใหม่ เช่น สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในรัฐนั้นๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แทนการขึ้นต่อเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์แบบเดิม แต่ที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือการที่รัฐ(สมัยใหม่) ก้าวขึ้นมาเป็นพลังขับดันการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่สังคมหรือภาคประชาชนและชุมชน จินตนาการของชาตินั้นมีพลังและดูเหมือนว่าเป็นความจริงที่มีชีวิตก็เพราะมันรองรับด้วยรัฐและอำนาจรัฐสมัยใหม่นั่นเอง

รูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่ดังกล่าว เกิดมาจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิของประชาชนและชุมชนการเมืองใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น จุดหมายใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงออกในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ซึ่งหากจะระบุให้ชัดเจนลงไปก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี หรือการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน อันเป็นผลมาจากพัฒนาการภายในรัฐนั้นๆ เป็นหลัก พลังการเมืองใหม่มาจากชนชั้นกระฎุมพีและนายทุนต่างๆ ทำลายพันธนาการของระบบฟิวดัลและระบบปกครองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงไป เช่นการปฏิวัติของอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖) และการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙) ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ก็ได้แก่ กรณีกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้น

ลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองในข้อแรกนี้ แสดงออกโดยการให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่รัฐ การสร้างรัฐและประชาชาติสมัยใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐเก่าที่เป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้นหรือกึ่งศักดินา ในสมัยนั้น ปัจเจกชนและชุมชนย่อย ๆ เล็ก ๆ ยังไม่ใช่และไม่อาจเป็นจุดหมายของการปฏิวัติเหล่านี้ได้

อีกกระบวนหนึ่งมาจากการต่อสู้เพื่อปลดแอกลัทธิอาณานิคมตะวันตก กล่าวอีกอย่างก็คือได้แก่ กระบวนการและการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเป็นเจ้าของอัตลักษณ์ของประชาชนและกลุ่มคนต่าง ๆ การเคลื่อนไหวเหล่านี้แม้เกิดในระยะแรกของการปฏิวัติทางการเมืองประชาธิปไตย แต่ประชาชนหรือกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยอมขึ้นต่อขบวนการส่วนกลาง ด้วยมีความเชื่อมั่นว่า หากสร้างรัฐใหม่ได้สำเร็จ พวกตนก็จะได้อิสระและความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยโดยอัตโนมัติ เช่น อาเจะห์ ในสมัยที่อินโดนีเซียทำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากดัตช์ ก็ยินดีร่วมกับขบวนการส่วนกลางทุกอย่าง แต่ปัจจุบันก็กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิปกครองตนเองจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคในด้านต่าง ๆ อย่างพอเพียงและเหมาะสม

การปฏิรูปของสยามภายใต้การนำของรัชกาลที่ 5 หากมองในบริบทของประวัติศาสตร์โลกสมัยดังกล่าว ก็ต้องพูดว่าเป็นลูกผสม(ลูกครึ่ง)อยู่ในระหว่างสองรูปแบบของสองกระบวนข้างบนนี้ คือมีทั้งกำเนิดมาจากปัจจัยและพลังการเมืองของชนชั้นใหม่ในประเทศ ซึ่งในที่สุดถูกกลืนจากชนชั้นนำตามประเพณีและขบวนการชาตินิยมแบบทางการ อีกด้านก็มีปัจจัยอิทธิพลที่มาจากมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมภายนอกบีบบังคับ และทำให้ต้องปรับเอาแนวทางบางอย่างที่ทันสมัยเข้ามาใช้โดยมีจุดหมายที่จำกัด ผลก็คือรัฐชาติสมัยใหม่ของสยาม กลับสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เข็มแข็งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน พลังการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีได้รับการกระตุ้นและก่อตัวขึ้น แต่ก็ไม่สามารถยกระดับพัฒนาให้เป็นพลังการเมืองที่อิสระมีอุดมการณ์และการปฏิบัติของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะทหารขึ้นมาเป็นพลังต่อรองทางการเมืองระยะผ่านที่จะผ่านอย่างยาวนาน

เป้าหมายทางการเมืองโดยทั่วไป แม้จะอยู่ที่ความเป็นเอกราช แต่ก็เป็นเอกราชของชนชั้นนำมากกว่าที่จะเป็นของราษฎร เพราะรัฐและจินตนาการเรื่องรัฐยังเป็นของชนชั้นนำอยู่ หาได้เป็นของหรือมาจากราษฎรไม่ เนื้อหาของประชาธิปไตยแม้จะพูดกันมาก แต่ก็ถูกหดลงและค่อยหายไปในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการนำระหว่างชนชั้นนำเก่ากับใหม่ ระหว่างกลุ่มทหารกับพลเรือน และในที่สุดระหว่างท้องถิ่นกับศูนย์กลาง (8)

หากจับเอาสองข้อใหญ่คือการมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน และการที่พลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐนั้นๆ โดยไม่ขึ้นต่อปัจจัยอื่นใดแล้ว ก็ต้องกล่าวลงไปว่า การปฏิรูปการปกครองและแม้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมา ก็ยังไม่ได้สร้างรัฐประชาชาติไทยที่สมบูรณ์ตามนิยามข้างต้นขึ้นมาเป็นผลสำเร็จไม่ ตรงกันข้ามรัฐไทยในระยะดังกล่าว กลับสร้าง "ชนส่วนน้อย" ขึ้นมาตามชายแดนและในบริเวณที่รัฐบาลกลางไม่อาจบังคับ และทำให้คนส่วนนั้นยอมรับแนวคิดและการปฏิบัติของการเป็นไทย ตามภาพลักษณ์ที่รัฐบาลกลางเชื่อและต้องการเห็นได้

ข้อคิดสำคัญอันหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ รัฐประชาชาติสมัยใหม่ ก่อตั้งขึ้นบนหลักการความเชื่อของความเป็นเอกภาพในวัฒนธรรมและชนชาติ กล่าวคือในสมัยนั้นมีความคิดและเชื่อกันว่า รัฐชาตินั้นสามารถสร้างชุมชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จักกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อมต่อผูกพันซึ่งกันและกัน โดยผ่านประสบการณ์ในชีวิตประจำวันที่มีร่วมกัน เช่นการอ่านหนังสือพิมพ์ยี่ห้อเดียวกันทั้งประเทศ ฟังเพลงและละครวิทยุเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกันทั้งประเทศ หลงใหลนางเอกและพระเอกคนเดียวกันทั้งประเทศเป็นต้น

นี่คือสิ่งที่เบน แอนเดอร์สันเรียกว่า "กาลอันว่างเปล่าที่เป็นหนึ่งเดียวกัน" (homogeneous empty time) ซึ่งช่วยทำให้จินตนาการของความเป็นชาติเดียวกันในหมู่คนที่ไม่ใช่คนเชื้อชาติศาสนาภาษาเดียวกันสามารถเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ (9) จินตนาการเช่นนี้ทำให้เกิดมีแนวคิดเรื่องเวลาที่เป็นเส้นตรง ซึ่งเชื่อมเอาอดีต ปัจจุบันและอนาคตไว้ อันช่วยทำให้จินตนาการทางประวัติศาสตร์ของอัตลักษณ์ ความเป็นชาติ ความก้าวหน้าและอื่นๆ เป็นจริงขึ้นมาได้

ในทางปฏิบัติ ความคิดเรื่องรัฐประชาชาติสมัยใหม่ดังกล่าวนี้ นำไปสู่ปฏิบัติการทางการเมือง ที่พลเมืองของรัฐมีหน้าที่ในการ "พัฒนาอัตลักษณ์ของพวกเขาตามการปฏิบัติทางการเมืองในรัฐร่วมกัน ไม่ใช่พัฒนาผ่านภูมิหลังทางเชื้อชาติของแต่ละกลุ่ม" (10) เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐชาติจึงสร้างพลเมือง ข้าราชการ กรรมกร และ ครูอาจารย์ที่เป็นสากลหรือทั่วไป

อีกด้านเหนึ่ง เทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก็ช่วยทำให้พลเมืองแต่ละคน สามารถจินตนาการว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ใหญ่กว่าตาเห็นได้ ทำให้พวกเขาสามารถกระทำการอะไรในนามของกลุ่มนิรนามนั้นได้ จินตนาการทางการเมืองเหล่านี้ทำให้พวกเขาก้าวพ้นข้อจำกัดของความคิด และการปฏิบัติตามประเพณีเดิมๆ ลงไปได้ (11)

อย่างไรก็ตามมโนทัศน์และความคิดเรื่องรัฐชาติดังกล่าวแล้วนั้น มาบัดนี้ถูกวิพากษ์และวิจารณ์จากการเปลี่ยนแปลงในบรรดารัฐและประเทศทั่วโลก ว่าความเชื่อเรื่องเอกลักษณ์และเอกภาพของเชื้อชาติในรัฐชาตินั้นไม่เป็นความจริง และไม่เป็นผลดีต่อความเป็นชาติของพลเมืองทั้งหลาย การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชนชาติและวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น นำไปสู่การเกิดของรัฐที่เป็นพหุลักษณ์และหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น อันจะเป็นทิศทางใหม่ของประสบการณ์การสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อไป

ข้อพึงสังวรคือ ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการสร้างรัฐชาติที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องมีสองส่วนอยู่เสมอ คือ

- ส่วนที่เป็นการปฏิบัติใช้กลไกรัฐของรัฐบาล และ

- ส่วนที่เป็นการเข้าร่วมและตอบสนองของประชาชนทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆไปจนถึงการประท้วงไม่ว่าในรูปแบบอะไรก็ตาม ที่ไม่ใช่เป็นการใช้ความรุนแรง ก็ต้องถือว่าเป็นการเข้าร่วมสร้างรัฐชาติประชาธิปไตยของประชาชน ไม่ใช่มองแต่เพียงว่าเป็นการทำลายรัฐชาติที่เป็นเอกภาพของผู้นำเท่านั้น

๓) ใครคือคนมลายูมุสลิม
คนไทยเชื้อสายต่างๆ อาจไม่มีความยากลำบากในการเป็นไทยตามนิยามและการปฏิบัติของรัฐไทย แต่สำหรับชาวมุสลิมในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ส่วนสตูลนั้นอยู่แยกจากสามจังหวัด มีสงขลาคั่นกลางและเอียงไปฝั่งทางตะวันตก แต่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงมักถูกเหมาให้เป็นปัญหาชายแดน 4 จังหวัด) การเป็นไทย ไม่ใช่แค่การมีสัญชาติในทางกฎหมายเท่านั้น หากที่เป็นปัญหาและนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐไทย อยู่ที่การเป็นไทยในทางวัฒนธรรม หรือให้เจาะจงก็คือ การเป็นไทยในทางความคิด ในทางความเชื่อและในทางวิถีชีวิต ซึ่งหมายถึงความเชื่อและการปฏิบัติในทางศาสนาและประเพณีของประชาชนและชุมชนนั้นๆ ด้วย

ทว่าลำพังการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนเสมอไป หรือแม้ระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็ตาม ปัญหาทางการเมืองระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกันจะปรากฏและรุนแรงขึ้น ก็ต่อเมื่อมีพลังการเมืองที่นำไปสู่การบีบบังคับเพื่อให้ไปบรรลุเป้าหมายร่วมกันของรัฐ การบังคับดังกล่าวและจุดหมายของมัน จึงก่อและนำไปสู่ปฏิกิริยาจากผู้ถูกบีบและบังคับ ในรูปแบบตามบริบทและคุณค่าความเชื่อทั้งในและนอกประเทศ

ชาวมุสลิมในประเทศไทยก่อนอื่นไม่ใช่กลุ่มคน "กลุ่มน้อย" ในทางชาติพันธ์ (ethnic minority group) หากแต่เป็นคนไทยที่อยู่ทั่วไปในประเทศ(national group) แม้ว่าพื้นที่บริเวณที่มีคนมุสลิมอยู่มากที่สุดและเป็นกลุ่มก้อนแน่นหนามากสุด อยู่ในบริเวณสี่จังหวัดภาคใต้สุด(ประมาณว่ามีราวร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งประเทศ) แต่เมื่อนับจำนวนประชากรมุสลิมแล้ว ก็เป็นเพียงประชากรราวครึ่งหนึ่งของประชากรมุสลิมทั้งประเทศ อีกราวครึ่งหนึ่งนั้นกระจายกันอยู่ไปทั่วประเทศ โดยมีภาคกลางที่มีประชากรมุสลิมรวมกันมากรองจากภาคใต้สุด

หากนับจากชาติพันธ์แล้ว คนมุสลิมส่วนใหญ่เป็นคนมลายู ร้อยละ 80 อยู่ในจังหวัดภาคใต้สุด ส่วนมุสลิมที่ไม่ใช่มลายูมีเพียงร้อยละ 20 และอาศัยอยู่ในภาคอื่นๆ มุสลิมที่ไม่ใช่มลายูประกอบไปด้วยคนเชื้อชาติไทย อินเดีย ปากีสถาน จีน อาหรับ ชวา จามและอื่นๆ

ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมภาคกลางกับรัฐไทย ก็แตกต่างไปจากของชาวมุสลิมภาคใต้สุด แม้คนมุสลิมภาคกลางมีความเห็นอกเห็นใจในปัญหาและความเดือดร้อนของมุสลิมภาคใต้ แต่พวกเขาส่วนใหญ่มีจินตนาการในเรื่องความเป็นชาติ และเป็นพลเมืองไทยเหมือนกับคนไทยทั่วไปมากกว่า เว้นแต่ในเรื่องทางศาสนาและการปฏิบัติเฉพาะเรื่องเท่านั้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งของชาวมุสลิม จึงมีทั้งลักษณะของปัญหาที่เป็นเฉพาะและปัญหาที่เป็นเรื่องทั่วไป แม้ความเป็นมุสลิมที่ประทับอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่งตายตัว หากแต่ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา มีพลวัตและพลังในตัวเอง ที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทยดำเนินไปในทิศทางและความหมายที่ร่วมกันหรือขัดกันได้ เช่นเดียวกับประชากรกลุ่มและชาติพันธ์อื่นๆ ทั้งหลายในประเทศไทย

น่าสังเกตว่าคนมุสลิมก็มีคำเรียกที่ทำให้แตกต่างไปจากคนเชื้อชาติไทย เช่นเดียวกับคนเชื้อชาติจีน ลาวและอื่นๆ คำที่คนไทยทั่วไปใช้ระบุถึงความเป็นชาวมุสลิมที่แพร่หลายมานานพอสมควรคือคำว่า "แขก" ส่วนคนที่มีการศึกษาและภาครัฐราชการนิยมใช้คำว่า "ไทยอิสลาม" และ "ไทยมุสลิม" การสร้างคำว่า "ไทยอิสลาม" และ "ไทยมุสลิม" กำเนิดมาในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ในนโยบายการสร้างชาติไทยหรือที่รู้จักกันดีว่าสมัย "รัฐนิยม"

คำว่า "แขก" หมายถึงคนแปลกหน้า คนต่างถิ่นหรือผู้มาเยือนก็ได้ ในสมัยแรกที่มีการใช้คำนี้ อาจไม่ได้เจาะจงแต่คนมุสลิม หากใช้เรียกเครื่องแต่งกาย ภาษาและขนบธรรมเนียมที่ไม่ใช่แบบคนไทย เพราะโลกของคนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีคนเชื้อชาติและชาติพันธ์ต่างๆ มากมายที่เข้ามาตั้งรกรากหรือทำงานและราชการต่างๆ ทำให้เกิดมีคำนามที่ใช้ในการระบุและเรียกกลุ่มคนหลากหลายเหล่านั้นขึ้นมา กระทั่งในที่สุดคำว่า "แขก" ค่อยๆ สร้างความหมายใหม่ของมันที่ระบุเฉพาะคนนับถือศาสนาอิสลามและคนอาหรับและอินเดียไป (12)

กษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่แน่ๆ คือสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้คำว่า "แขก" เรียกคนมลายูมุสลิม เช่นในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เรื่องพระราชกรัณยานุสรในปีพ.ศ. 2420 ว่าด้วยเรื่องการถือน้ำพระพัฒสัตยา บรรดาขุนนางหัวเมืองที่ลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ ถือน้ำในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม "ที่เป็นแขกประเทศราช ถือน้ำที่ท่าศาลาลูกขุน สาบาลอย่างแขก พวกเขมรแลญวณเข้ารีด มีบาดหลวงมากำกับด้วย" (13)

ในช่วงยุคสมัยดังกล่าว คำว่า "แขก" ยังไม่มีนัยของการดูถูกและเหยียดหยามทางเชื้อชาติ (racism) คือยังไม่เป็นศัพท์การเมืองที่มีนัยของการแบ่งแยกและดูถูกระหว่างเชื้อชาติกันขึ้น แต่ก็มีนัยของความไม่เข้าใจและของความเหนือกว่าทางอำนาจที่เป็นทางการ ของความเป็นผู้ใหญ่ที่มีสิทธิในการเรียกและพูดถึงคนที่อยู่ใต้อำนาจ และฐานะได้ตามความถนัดของตนเอง ดังเห็นได้จากทรรศนะของเจ้าพระยายมราช เมื่อไปตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2466 พบว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อราษฎรมุสลิม จึงทำหนังสือสมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยขึ้น

ในคำปรารภเจ้าพระยายมราชกล่าวถึงนโยบายของพระเจ้าอยู่หัว ที่มิได้รังเกียจในศาสนาที่ต่างกัน "เพราะฉะนั้นเจ้าน่าที่ผู้ปกครองราษฎร ซี่งมีคตินิยมต่างจากคนไทยแลต่างศาสนาดังเช่นมณพลปัตตานีเปนต้น ควรต้องรู้จักหลักพระราชประสงค์ และรัฐประศาสน์ของรัฐบาลไว้เป็นอารมย์ เพื่อดำเนินทางราชการให้ถนัดชัดเจน…การปกครองของราษฎรที่ถืออิสลาม(มหหมัด) จะเข้าใจเอาอย่างที่เราเข้าใจกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ว่าแขกเกลียดหมูและไม่กินหมูเท่านั้นหามิได้ ยังมีบางสิ่งบางอย่าง แขกถือเปนของสำคัญยิ่งกว่าหมูก็มี" (14)

เห็นได้ว่าเจ้าพระยายมราชและคนไทยทั่วไป กล่าวถึงคนมุสลิมโดยใช้คำว่า "แขก" อย่างไม่ถือสาและไม่คิดว่าเป็นการกระทบกระเทือน เพราะอาจคิดว่าเป็นการพูดกันภายในระหว่างเจ้าหน้าที่ข้าราชการไทยกันเอง ในคำนำหัวข้อของสมุดคู่มือฯดังกล่าว อำมาตย์โท พระรังสรรค์สารกิจ (เทียม กาญจนประกร) ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติศาสนาอิสลามเป็นผู้เขียนในหัวข้อสำคัญอันเกี่ยวกับชาวอิสลามและการปฏิบัติ ก็ใช้คำว่า "แขก" เรียกคนมุสลิมในทุกหัวข้อ เช่น "คัมภีร์โกราน เป็นคัมภีร์การสั่งสอนที่พวกแขกถือว่าเปนคำสั่งของพระเจ้า และมีบัญญัติว่าถ้าไม่เรียนรู้เปนบาป", "ประเพณีแขก", "หนังสือแขก" เป็นต้น

สังเกตว่าเมื่อถึงเนื้อหารายละเอียดของแต่ละเรื่อง เช่นพระคัมภีร์โกราน ประเพณี การถือบวช การทำละหมาด การไหว้พระและฟังเทศน์วันศุกร์ เรื่องใส่รองเท้าเข้าในสะเหร่ามัสยิด และอื่นๆนั้น ผู้เขียนจะใช้คำว่า "ชาวอิศลาม" หรือ "ชายหญิงอิศลาม" ในทุกหัวเรื่อง ไม่มีการใช้คำว่า "แขก" อีกเลยแม้แต่คำเดียว แสดงว่าเมื่อเป็นการเขียนที่เป็นทางการและเป็นสาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่ไทยยังต้องละเว้นไม่กล่าวคำอันเป็นศัพท์ชาวบ้าน แต่มีนัยของการสร้างค่านิยมที่ไม่เท่ากัน จนนำไปสู่การสร้างอคติระหว่างกันขึ้น และทำให้เกิดระยะห่างทางสังคมของกลุ่มคน นอกเหนือจากความแตกต่างทางชนชั้นขึ้นมาได้

เมื่อได้มีการพูดถึง "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" นี้มามากแล้ว ขอเพิ่มรายละเอียดที่สำคัญและช่วยทำให้ประเด็นที่กำลังอภิปรายอยู่นี้กระจ่างแจ้งขึ้นด้วย ในการพิมพ์ใหม่ (เข้าใจว่าคงเป็นครั้งที่ 2) นี้ ผู้เขียนคือนายประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ได้ขอให้อาจารย์ดลมนรรจน์ บากา แผนกอิสลามศึกษา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ทำเชิงอรรถอธิบายและแก้ความเข้าใจผิดพลาดในความหมายของศาสนาอิสลามตามที่ อำมาตย์โท พระรังสรรค์สารกิจ (เทียม กาญจนประกร)ได้เขียนขึ้นมา

ยกตัวอย่างที่สำคัญเช่น "ศาสนาอิสลาม(มหหมัด) เป็นชื่อศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งในโลก ซึ่งพระเจ้า(อัลลอฮ์)ได้ทรงคัดเลือกศาสดา ซึ่งมีจำนวนมาก ให้ทำการเผยแพร่ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ศาสดาท่านแรกคือนบีอาดัม และท่านสุดท้ายคือนบีมุหัมมัด ศ็อลฯ(ขอความโปรดปรานจากอัลลอฮ์และขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ศาสนาอิสลามมิใช่ศาสนาที่มุหัมมัดเป็นผู้ก่อตั้ง ท่านเป็นผู้ประกาศตามคำสั่งของอัลลอฮ์ จึงไม่ควรที่จะเขียนในวงเล็บว่า มหหมัด เพราะจะทำให้ว่า เป็นศาสนามหหมัดตามความเข้าใจของชาวตะวันตก"(เชิงอรรถที่ 4 หน้า 290)

"แขก ที่ถูกต้องคือมุสลิม มิใช่แขก, มุสลิมหมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางราชการให้เรียกชาวไทยมุสลิมว่า "คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม" และ "โกราน ที่ถูกต้องเรียกว่าอัล-กุรอานหรือกุรุอาน (Qur'an) ไม่ใช่โกรานหรือโก้หร่าน…" "หนังสือแขกควรใช้คำว่าภาษายาวี" "พระมหหมัด ที่ถูกต้องคือ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลอัลลอฮ์อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งมักย่อเป็น มุหัมมัด ศ็อลฯ"

๔) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูมุสลิมกับรัฐไทยก่อนสมัยใหม่
สมเด็จฯกรมพระยาดำรง ทรงอธิบายแก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ในเรื่องหัวเมืองปักษ์ใต้ว่า "เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เมืองตรังกานูพึ่งตั้งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี และมายอมเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ส่วนเมืองกลันตันนั้นเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองปัตตานี..."

การเป็นเมืองขึ้นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองในสมัยโบราณหรือสมัยจารีต ที่เรียกว่าระบบบรรณาการ ในยุคนั้นก็คล้ายกับสังคมจารีต ที่รัฐและคนสัมพันธ์กันโดยดูที่อำนาจว่าของใครใหญ่กว่ากัน เมื่อตกลงรับรู้กันได้แล้ว ทั้งรัฐใหญ่และเล็กก็สามารถดำเนินการปกครอง การผลิต การค้าแลกเปลี่ยนของตนเองไปได้อย่างสงบเรียบร้อย จนกว่าจะมีปัจจัยเงื่อนไขใหม่เข้ามากระทบ อันทำให้ความสัมพันธ์เดิมนั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็จะนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงเข้าบีบบังคับ ซึ่งในที่สุดก็จะดำเนินไปตามกรอบใหญ่คือรัฐใหญ่ก็จะเป็น "เจ้าพ่อ" เหนือรัฐเล็กๆอีกต่อไป

เมืองขึ้นในรัฐจารีตไม่ใช่เมืองขึ้นแบบเจ้าอาณานิคมฝรั่งสมัยใหม่ หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องภายในดินแดนของรัฐเล็กๆ นั้นเลย ดังนั้นเมืองปัตตานีสมัยโน้นจึงปกครองตนเองมาตลอด กระทั่งมาถึงสมัยแห่งการปฏิรูปของสยาม ที่อำนาจมีนัยถึงการเป็นเจ้าของดินแดนนั้นๆ ด้วย

ปัญหาอีกข้อคือความเชื่อว่า รัฐปัตตานีในอดีตมักก่อกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์บ่อยๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างรัฐสุลต่านปัตตานี กับรัฐอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์. รัฐปัตตานีกำเนิดมาจากเมืองท่าที่ทำการค้ากับภายนอก เป็นชุมชนปากแม่น้ำในบริเวณคาบสมุทรมลายูที่เล็กกว่าชุมชนเกษตรกรรมในภาคพื้นทวีป ชุมชนปากแม่น้ำเกิดง่ายและสลายตัวง่าย มีความเป็นอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มเดียวกัน สัมพันธ์กับการอพยพย้ายถิ่นของชุมชนหลายระลอก. ในทางการเมืองหมายความว่าอำนาจและผู้นำของรัฐมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงบ่อย ในกรณีของรัฐปตานีมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างราชสำนักกับกลุ่มโอรังกายาหรือพวกชนชั้นนำ ซึ่งทำให้กระเทือนต่อความสัมพันธ์กับรัฐเจ้าพ่อใหญ่กว่าบ่อยด้วยเหมือนกัน

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงในความสำคัญของการค้าก็มีผลต่อฐานะของรัฐปตานีด้วย. ในสมัยจารีต สยามมีความสัมพันธ์กับปตานีบนผลประโยชน์ของการค้าร่วมกัน "มีความยืดหยุ่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่มาก ไม่มีความตึงเครียดที่ถาวร จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างที่จะหลวม ซึ่งลักษณะตรงนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อระบบรัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้น" (15) การเปลี่ยนไปของเศรษฐกิจในอุษาคเนย์ในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะการเข้ามาตั้งสถานีการค้าของอังกฤษในคาบสมุทรมลายู ที่สำคัญปตานีลดความสำคัญของเมืองท่าการค้าไปสู่การเป็นแหล่งผลิตพริกไทย ดีบุกกับยางพาราให้แก่ตลาดโลก จากจุดนี้เองที่ทำให้สยามเริ่มทำการควบคุมปตานีอย่างแข็งแรงขึ้น มีการจัดการกับดินแดนและผลประโยชน์จากดินแดนเหล่านั้นมากขึ้น แน่นอนการเปลี่ยนจุดหนักในความสัมพันธ์ของสยามย่อมนำไปสู่ปฏิกิริยาจากรัฐปตานีเองด้วย

นับจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ของสยาม เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและจุดหมายทางการเมืองการปกครองมาตลอด จากอาณาจักรกษัตริย์แบบอยุธยาเก่า ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาสู่การเป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเองและอัตลักษณ์ของสยาม มีผลต่อการปฏิบัตินโยบายต่อเมืองประเทศราชและรัฐประเทศราชอีกอย่างต่างจากสมัยก่อนด้วย ในระยะยาวจุดหมายและความต้องการทางการเมืองของรัฐไทย มีน้ำหนักเหนือความเข้าใจและเหนือนโยบายขันติธรรมทางศาสนา เพราะความรู้และความเข้าใจในศาสนาอิสลาม และความเป็นคนมลายูของผู้นำรัฐไทยในระยะปฏิรูปประเทศเป็นต้นมา เป็นความรับรู้ที่ไทยรับมาจากองค์ความรู้ของตะวันตกที่มีต่ออิสลามเป็นหลัก เห็นได้จากการที่รัฐไทยสมัยรัชกาลที่ 5 มาเรียกศาสนาอิสลามว่า "ศาสนามะหะหมัด" หรือมหหมัด และมองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีความรุนแรงทางการเมืองและรังเกียจคนต่างศาสนา ดังคำอธิบายใน สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น (16)

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองมุสลิมปักษ์ใต้กับกรุงเทพฯ นับแต่แรกจึงแสดงออกถึงแรงต้านจากรายา(ราชา)ปัตตานีมากกว่าด้านอื่น นำไปสู่การต่อสู้ขัดขืนการที่สยามเข้ามาครอบงำเหนือท้องถิ่นและสะท้อนความต้องการอิสระของตนเองถึง 6 ครั้ง คือกรณีตนกู ลัมมิเด็น (พ.ศ.2329), ระตูปะกาลัน(พ.ศ.2349), นายเซะและเจะบุ(พ.ศ.2364 และ พ.ศ.2369), เจ้าเมืองหนองจิก(พ.ศ.2370), เจ้าเมืองปัตตานี(ตนกูสุหลง พ.ศ.2374) และตนกูอับดุลกาเดร์(พระยาวิชิตภักดีฯ) พ.ศ.2445 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการมีรายาปัตตานี

หลังจากนั้นสยามไม่แต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะอีก 4 ปีต่อมา รัฐบาลสยามก็แก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้เป็น 4 เมืองคือ ปัตตานี, ยะลา, สายบุรี, และระแงะ แล้วตามมาด้วยการทำสัญญากับจักรภพอังกฤษใน "สัญญากรุงเทพฯ"(พ.ศ.2452) เป็นการตกลงกันของมหาอำนาจในการแบ่งดินแดนและเขตอิทธิพลกันในแบบฉบับของจักรวรรดินิยมตะวันตก ที่ใช้กันทั่วในดินแดนที่เป็นอาณานิคมทั่วโลกสมัยนั้น

ตามสัญญากรุงเทพฯ สยามยกเลิกสิทธิการปกครองและอำนาจควบคุมเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ ในทางกลับกันสยามได้รับสิทธิอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและคนในรัฐไทยทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ที่สำคัญรวมทั้งอธิปไตยของสยามเหนือรัฐปตานี ซึ่งเปลี่ยนจากเมืองประเทศราชมาเป็นจังหวัดหนึ่งของสยามไป

อีกด้านอธิปไตยของสยามที่อังกฤษคืนให้คือ การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอำนาจกงสุลของอังกฤษในสยาม นักประวัติศาสตร์ไทยตีความสนธิสัญญานี้เป็นผลดีแก่ไทย ในแง่ของความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ แม้จะต้อง "เสียดินแดนมลายู 4 รัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมล์ และพลเมืองกว่าห้าแสนคนให้อังกฤษก็ตาม แต่(ถึงอย่างไร) ก็ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นคนไทยแท้ๆ" (17)

หากเราให้ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายพูดบ้าง ก็จะได้อีกภาพหนึ่ง กล่าวคือสุลต่านที่กลันตันและตรังกานูโกรธเคืองมาก จนปรารภกับนายอาเธอร์ แอดัมส์ ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจำไทรบุรีว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้" (18)

แท้ที่จริงแล้วในทางประวัติศาสตร์ รัฐชาติสยามก็ไม่ได้ "สูญเสีย" ดินแดนของตนแต่ดั้งเดิมไป หากแต่ "จะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก" แต่ที่สำคัญในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๕ ต่อการเสียดินแดนดังกล่าวก็คือ "การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้" (19)

และนี่คือความยอกย้อนผันผวนของประวัติศาสตร์ชาติสยามสมัยใหม่ ที่พัวพันกับชะตากรรมและอนาคตของคนมลายูมุสลิมภาคใต้อย่างลึกซึ้ง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อ ตอนที่ ๒

เชิงอรรถ

(1) บทความขนาดยาวนี้แก้ไขเพิ่มเติมจาก งานวิจัยเรื่อง Origins of Malay Muslim "Separatism" in Southern Thailand ระหว่างที่ผู้เขียนได้รับทุนจาก Asian Research Institute (ARI) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ฉบับแปลภาษาไทยนำเสนอในการสัมมนาวิชาการเรื่องปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา วันที่ ๑๖-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้นฉบับล่าสุดนี้แก้ไขและเพิ่มเติมมากกว่าฉบับก่อนนี้หลายเรื่อง - ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

(2) นับตั้งแต่ความขัดแย้งและรุนแรงในบริเวณภาคใต้สุดปรากฏเป็นข่าวออกมา บริเวณดังกล่าวถูกเรียกจากทางการและสื่อมวลชนว่า "สี่จังหวัดภาคใต้" ซึ่งรวมเอาปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลไว้ด้วยกัน

(3) วารุณี โอสถารมย์, การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๗๕ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๒๔, หน้า ๑๐๖.

(4) ชัชชัย คุ้มทวีพร, สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพและประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่: การวิเคราะห์เชิงปรัชญา (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๔), หน้า ๒๒๕.

(5) Thongchai Winichakul, Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation (Chiangmai: Silkworm Books, 1994), p. 145.

(6) ธงชัย วินิจจะกูล, "เรื่องเล่าจากชายแดน" ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ บก., รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๗), หน้า ๑๔-๑๕.

(7) ธงชัย วินิจจะกูล, "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม" ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๒๓, ฉบับที่ ๑ (พย. ๒๕๔๔), หน้า ๕๖-๖๕.

(8) ดูการวิเคราะห์ของ Tamara Loos, Subject Siam: Family, law, and colonial modernity in Thailand (Ithaca, NY: Cornell University Press, 2006) ซึ่งมองว่าการปฏิรูปการปกครองของสยามนั้นเป็นไปแบบ "ความทันสมัยของอาณานิคม" (colonial modernity) เป็นความต้องการจะพัฒนาตามแบบยุโรปซึ่งเป็นแบบจำลองในทางความคิดเท่านั้น จึงทำได้อย่างจำกัดและรับสิ่งใหม่แต่ที่ไม่กระเทือนอำนาจเก่า ดังนั้นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย จึงไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ ผู้เขียนยังใช้กรณีของจังหวัดมลายูมุสลิมภาคใต้ เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นความจำกัดและไม่ทันสมัยจริงของรัฐบาลกรุงเทพฯ ในการปฏิรูปฯ

(9) Benedict Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (London: Verso, 1983).

(10) Maris Pia Lara, "Democracy and Cultural Rights: Is There a New Stage of Citizenship?", Constellations, Vol. 9 No. 2, (2002): p. 208.

(11) Partha Chatterjee, "The nation in heterogeneous time, in Futures, Vol. 37 (2005): p. 926.

(12) A.V.N. Diller, "Islam and Southern Thai Ethnic Reference" in Andrew D.W. Forbes, ed., The Muslims of Thailand Volume I, Historical and Cultural Studies. (Gaya, India: Centre for South East Asian Studies, 1988), pp. 134-155.

(13) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ, พระราชกรัณยานุสร พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2541) หน้า 118.

(14) ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, มุสลิมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ โครงการหอสมุดกลางอิสลามสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน, 2539) หน้า 275-292.

(15) ชุลีพร วิรุณหะ, "เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ๓ จังหวัดภาคใต้" ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์และคณะ, ความรู้และความไม่รู้ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ (กรุงเทพฯ, คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๑๕-๓๑.

(16) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อธิบายว่าชาวมุสลิมไม่เรียกศาสนาอิสลามว่า "ศาสนามะหะหมัด" เพราะไม่ใช่ศาสนาของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลฯ นอกจากนั้นชาวมุสลิมไม่กล่าวอ้างชื่อของท่านนบีโดยลอยๆ เนื่องจากเป็นการไม่แสดงความเคารพ หมายความว่าคนที่เรียกดังกล่าว ยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อศาสนาอิสลามนั่นเอง

(17) เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, (กรุงเทพฯ ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)

(18) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง": ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (กรุงเทพฯ 2545, น. 60. ในหนังสือ A History of Malaysia (McMillan 1982) โดย ฺBarbara Andaya and Leonard Andaya ผู้พูดคือสุลต่านไทรบุรี หน้า 197.

(19) Barbara W. Andaya and Leonard Andaya, A History of Malaysia (McMillan, 1982), p. 195.

 

คลิกไปอ่านต่อ ตอนที่ ๒

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ว่านี้ เป็นเพียงผลอันเกิดแต่มูลเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มูลเหตุ" จากแบบแผนวิธีคิดและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรมการเรียนรู้" อันเป็นสมบัติแนบเนื่องอยู่กับสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ สมบัติทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ว่านี้ นับเป็นผลพวงของเหตุผลและความจำเป็นตามเงื่อนไขสถานการณ์แห่งยุคสมัย ครั้นเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการเรียนรู้ชุดเดียวกันนั้นเอง ก็มักกลายเป็นโทษสมบัติและมิจฉาทิฐิ บั่นทอนความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของสังคม (คำนำ โดยเสน่ห์ จามริก)

04-02-2550

Thai History
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com