ทฤษฎีแบ่งแยกจากข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์
ความเป็นมาของทฤษฎี
"แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย
(๒)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยกองบรรณาธิการจะทะยอยนำออกเผยแพร่ในลักษณะชุดบทความว่าด้วย
-ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกในภาคใต้ไทย-
เพื่อประโยชน์แห่งความรู้ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ความเข้าใจ
ในปัญหาภาคใต้จากความจริงจากชุดคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์
สำหรับในส่วนที่สองนี้ ประกอบด้วย
๕) การศึกษาเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน
๖) ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์: จาก "กบฏหะยีสุหลง" ถึง "กบฏดุซงญอ"
๗) กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย
๘) การเมืองกับประวัติศาสตร์
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๖ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่
๑
๕) การศึกษาเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน
ที่ผ่านมาการศึกษาในเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่าง คนมลายูมุสลิม กับ
อำนาจรัฐไทย มักมองข้ามกำเนิดและความเป็นมาของมโนทัศน์แบ่งแยกดินแดน และข้ามไปรวมศูนย์การศึกษาที่พัฒนาการช่วงหลังๆ
ของความขัดแย้ง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าและมีการประโคมข่าวกันมาก แต่ราคาที่เราต้องจ่ายไปให้กับความโง่เขลา
และการหลงลืมทางประวัติศาสตร์ในเรื่องกำเนิดของความขัดแย้งการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ก็คือ
การทำให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และก็เท่ากับให้การยอมรับการศึกษาที่เป็นอัตวิสัยและที่กระทำอย่างหยาบๆ
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย
กลับมาที่การศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ อาจแบ่งงานเขียนหลักๆ ในปัญหานี้ออกเป็นสองกลุ่มที่ตรงข้ามกัน
กลุ่มแรก ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ชาวต่างชาติ(ตะวันตก) แห่งยุคทศวรรษ ๑๙๔๐ ซึ่งมีท่าทีค่อนข้างวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลและวิธีการจัดการกับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ กลุ่มนี้มีแนวโน้มสนับสนุนสิทธิอัตวินิจฉัยของชนชาติต่างๆ เช่นมลายูมุสลิมที่จะเป็นอิสระในการดำเนินและปฏิบัติวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา
กลุ่มที่สอง เป็นนักเขียนและนักวิชาการส่วนใหญ่มาจากวงการวิชาการไทยและข้าราชการ กลุ่มหลังนี้ทรรศนะและท่าทีของพวกเขาถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของความภักดีต่อรัฐไทย และสำนึกของชาตินิยมไทย
ผู้สังเกตการณ์ต่างชาตินับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมาจนถึงปีทศวรรษ ๑๙๖๐ มีความเห็นอกเห็นใจในสิทธิของชนชาติส่วนน้อยทั้งหลายในการตัดสินใจเพื่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง คนเหล่านี้จึงมักกล่าวหารัฐไทยว่ามีอคติต่อคนมลายูมุสลิม ด้วยการจัดกลุ่มให้พวกเขาว่าเป็นพวก "แขก" ซึ่งนัยก็คือพวกเขาเป็น "คนนอก" หรือเป็น "คนกลุ่มน้อย" และในที่สุดก็ให้ป้ายยี่ห้อล่าสุดว่าเป็น "โจรแบ่งแยกดินแดน"
ความรู้สึกที่รังเกียจรัฐบาลไทยของชาวบ้านขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม(๑) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๗ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาอาเซียบูรพา และต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (๒) ซึ่งอยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๐ ครั้งหลังนี้จอมพล ป. ก้าวสู่อำนาจด้วยการเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งนำไปสู่การล้มและกวาดล้างรัฐบาลเสรีนิยมภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์
โดยทั่วไปคนเข้าใจและเชื่อกันว่า คนมลายูมุสลิมภาคใต้ถูกกระทำทารุณกรรมทางการเมืองอย่างมากก็ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนี้เอง เช่นกรณีการจับกุมฮัจญีสุหลง และ "กบฏดุซงญอ" เป็นต้น ในความเป็นจริง เมื่อศึกษาจากข้อมูลสมัยนั้นอย่างละเอียด ปรากฏว่าการปะทะและใช้ความรุนแรงต่อคนมลายูมุสลิมภาคใต้นั้น เริ่มขึ้นแล้วก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒
เมื่อคิดถึงความซับซ้อนและความอ่อนไหวในประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาดังกล่าว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมการศึกษาในเรื่องดังกล่าวจึงทำอย่างภววิสัยได้ยาก ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นการศึกษาอย่างถูกต้องตามหลักฐานภายนอก ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบอัตวิสัยที่เอาความเชื่อของผู้ศึกษาเป็นที่ตั้ง บทความวิจัยชิ้นนี้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวพันกันของเหตุการณ์หลายๆ เรื่องในช่วงเวลาของทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ อันนำไปสู่การปะทะและปราบปรามบรรดาผู้นำมุสลิมด้วยความรุนแรงเป็นครั้งแรก โดยฝีมือของรัฐบาลไทยที่ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็น "ประชาธิปไตย"แล้ว
การศึกษาครั้งนี้วางจุดหนักไว้ที่การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ (อันรวมวิสัยทัศน์)ทั้งของคนมลายูมุสลิมภาคใต้ และของรัฐไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พร้อมกับนำรูปแบบการปกครองของประชาธิปไตยเข้ามาแทน มีการใช้นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่อำนาจรัฐบาล และการควบคุมบริเวณที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและมีสำนึกในวัฒนธรรมของตนเองสูงมาก นั่นคือภูมิภาคในอีสานและภาคใต้
กล่าวในทางการเมือง การกระทำของรัฐไทยในระยะนั้น เท่ากับเป็นการผนึกและรวมศูนย์รัฐประชาชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้จินตนาการของไทยภาคกลางเป็นแกนนำ บทความนี้จึงแย้งว่าจริงๆ แล้ว ข้อกล่าวหาว่าด้วยการกระทำ "แบ่งแยกดินแดน" นั้น เป็นการประดิษฐ์สร้างขึ้นมาของอำนาจรัฐไทย และบังคับใช้ให้เป็นจริง เพื่อที่จะปราบปรามและข่มขู่ดินแดนในบริเวณเหล่านั้นจากการอ้างสิทธิทางการเมืองในอัตลักษณ์ และความใฝ่ฝันของพวกเขา
กล่าวอย่างกว้างๆ การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในทางการเมืองนั้น ถือว่าเป็นแบบเฉพาะอย่างหนึ่งของการกบฏต่อรัฐ โดยกลุ่มคนที่สมาชิกของรัฐหรือคนที่อาจจะเป็นสมาชิกของรัฐที่ไม่พอใจในรัฐบาลที่ปกครองพวกเขาอยู่ (1) ขบวนการดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ก่อรูปขึ้นบนอัตลักษณ์ของพวกเขาที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งถูกทำให้เป็นคนกลุ่มน้อยในรัฐไป
ภายหลังการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีการเคลื่อนไหวที่สำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้แก่ "ขบวนการโมโร"ในฟิลิปปินส์, "ขบวนการมลายูปัตตานี"ในภาคใต้ของไทย, "ขบวนการไทยใหญ่และกะเหรี่ยงและโรฮิงยา"ในพม่า, และสุดท้ายคือ "ขบวนการอะเจะห์"ในอินโดนีเซีย
Clive J. Christie ในงานศึกษาเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอุษาคเนย์ อธิบายอย่างกะทัดรัดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์และการเมือง ในการเกิดขึ้นและคลี่คลายขยายไปของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เหตุการณ์สำคัญที่จุดประกายให้และในระดับหนึ่งก็ช่วยสร้างรูปแบบและเนื้อหาของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ให้กับขบวนการแต่ละขบวนการในภูมิภาคนี้ก็คือ กระบวนการของการล้มล้างระบบอาณานิคม ซึ่งเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ประสบการณ์ร่วมกันที่เป็นปัจจัยผลักดันของบรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้คือ การเกิดขบวนการชาตินิยม ที่ต่อต้านอำนาจลัทธิอาณานิคม การค้นหาอัตลักษณ์ที่เป็นของประชาชาติต่างๆ การพังทลายของการบุกและยึดครองของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ และท้ายที่สุดคือ การประกาศเอกราชของประเทศเหล่านี้ (2)
มีงานศึกษาที่พยายามจะอธิบายขบวนการแบ่งแยกดินแดนในเชิงโครงสร้าง ได้แก่งานของเดวิด บราวน์ เรื่อง "From Peripheral Communities to Ethnic Nations: Separatism in Southeast Asia" (1988) (3) บราวน์เถียงว่ากรณีของการแบ่งแยกดินแดนของชาติพันธุ์นั้น จะเข้าใจได้ดีกว่าหากศึกษาผ่านคุณลักษณะและผลสะเทือนของรัฐ(the state) ซึ่งเป็นกุญแจสำหรับการอธิบายกำเนิดของขบวนการแบ่งแยกต่างๆ เหล่านี้ เขาระบุไว้ในข้อโต้แย้งของเขาว่ามี ๓ ขั้นตอนในปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนที่อยู่รอบนอกๆ
ขั้นที่หนึ่ง การเกิดขึ้นของลักษณะรัฐที่เป็นเชื้อชาติเดียว (mono-ethnic state) แน่นอนว่าย่อมทำให้การแทรกแซงเข้าไปในชุมชน ย่อมนำไปสู่การทำลายโครงสร้างของอำนาจอันยอมรับนับถือทั้งหลาย (communal authority structures) ของชนกลุ่มน้อยลงไป การทำลายนี้เกิดขึ้นในสองระดับ
- ในระดับมวลชน(หรือรากหญ้า) เกิดวิกฤตในอัตลักษณ์และความไม่มั่นคงของชุมชน
- ในขณะที่ในระดับผู้นำ เกิดวิกฤตของความชอบธรรม(crisis of legitimacy)ขั้นที่สอง บรรดากลุ่มผู้นำทั้งหลายในชุมชนรอบนอกเหล่านี้ พยายามหาทางแก้ไขวิกฤตเหล่านั้นด้วยการสรรค์สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ขึ้นมา และดำเนินการปลุกระดมให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐขึ้น การกระทำดังกล่าวสร้างพื้นฐานอันใหม่สำหรับการมีเอกภาพและอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา และก็สร้างพื้นฐานใหม่ให้กับความชอบธรรมแก่บรรดาผู้นำเหล่านั้นอีกด้วย
ขั้นที่สาม ในขบวนการชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์นั้น มักมีจุดอ่อนแฝงอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มผู้นำต่างๆ มีความต้องการและความใฝ่ฝันที่แข่งขันกัน เช่นผู้นำตามประเพณีกับผู้นำรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสมัยใหม่ แต่ละกลุ่มก็แสวงหาความชอบธรรมในฐานะแห่งการเป็นผู้นำของพวกตนภายในชุมชนเหล่านั้น ผลกระทบที่สำคัญอันหนึ่งของการแข่งขันกันก็คือ นำไปสู่ความไม่สามัคคีของกลุ่มและพวก และจุดอ่อนในขบวนการชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ที่ก่อรูปขึ้นมา
จุดสำคัญในทฤษฎีนี้ก็คือการสร้างมโนทัศน์ว่าด้วยรัฐที่เป็นเชื้อชาติเดี่ยว แม้สังคมเหล่านี้ล้วนเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์มาแต่ในประวัติศาสตร์แล้ว แต่ในแต่ละกรณีสภาพแวดล้อมที่รัฐสมัยใหม่ก่อกำเนิดขึ้นมา กลับนำไปสู่การส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐกับชุมชนเชื้อชาติใหญ่แต่กลุ่มเดียว, ชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกกีดกันออกไปจากการเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของรัฐ จากการเข้าไปมีตำแหน่งที่มีอิทธิพลในรัฐบาล และจากการมีส่วนร่วมในลักษณะทางอุดมการณ์ของรัฐด้วย อัตลักษณ์แห่งชาติจึงกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับภาษา วัฒนธรรมและคุณค่าของชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เท่านั้น ปัญหาจุดอ่อนของทฤษฎีนี้อยู่ที่แนวคิดว่าด้วยรัฐ "ชาติพันธุ์เดียว" ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเทศที่ศึกษาและทั้งหลายทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย
ตามทางที่บราวน์ศึกษาและเสนอนั้น การผสมกันระหว่าง รัฐ "ชาติพันธุ์เดียว" และสังคมพหุชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งนับรวมประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น พม่า เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไม่นำไปสู่การเร่งความขัดแย้งทางการเมืองหรือความรุนแรงทางการเมือง ตราบเท่าที่รัฐบาลกลางขาดเจตจำนงและความต้องการในการเข้าไปแทรกแซงชุมชนชาติพันธุ์รอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่ว่านั้นเกิดได้เมื่อความต้องการทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ผลักดันให้รัฐบาลทำการขยายบทบาทออกไปนอกเหนือเขตใจกลางเข้าไปสู่ชุมชนส่วนน้อย บริเวณที่โครงสร้างและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ถูกกระทบอย่างแรงจนทำให้เกิดการเผชิญหน้าของชาตินิยมชาติพันธุ์ขึ้นมา
ความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงระหว่างชุมชนส่วนน้อยกับรัฐที่ดำเนินต่อมา จึงเป็นผลมาจากลักษณะและการปฏิบัตินโยบายผสมกลมกลืนและการรวมศูนย์ของรัฐ ด้วยการแทรกแซงชุมชนส่วนน้อยทั้งหลายนั้นเอง ความพยายามของรัฐแสดงออกในรูปแบบของการพยายามนำเสนอคุณค่า และสถาบันของกลุ่มชนส่วนข้างมากเข้าไปในชุมชนรอบนอกทั้งหลาย อันนี้มีนัยว่าคุณค่าของชุมชนรอบนอกนั้นด้อยกว่าของศูนย์กลาง และมีแต่ต้องรับเอาวัฒนธรรมที่ก้าวหน้ากว่าของคนส่วนข้างมากเท่านั้น ชุมชนรอบนอกเหล่านั้นจึงจะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของชาติได้
การศึกษาแทบทั้งหมดที่ทำในกรณีภาคใต้ของไทย ก็ใช้สมมติฐานทำนองนี้เหมือนกันทั้งนั้น นั่นคือรัฐไทยที่เป็น "เชื้อชาติเดียว" ดำเนินนโยบายที่นำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางมาโดยตลอดในหลายยุคหลายสมัย ในแต่ละยุคสมัยของการปกครองแบบรวมศูนย์นั้น และเป็นเวลาที่ผู้นำดั้งเดิมของปัตตานี ได้ถูกถอดจากตำแหน่งและอำนาจแล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการประท้วงและการกบฏ เพราะ "สมาชิกของผู้นำประเพณีที่ถูกโค่นอำนาจหาทางที่จะกลับมามีอำนาจอีกในบริเวณนั้น" (4)
การก่อความไม่สงบเล็กๆ และไม่เป็นเอกภาพในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ เปลี่ยนมาเป็นการประท้วงต่อต้านที่ยาวและมีการจัดตั้งมากขึ้น เมื่อผู้นำท้องถิ่นถูกแทนที่มากขึ้นโดยข้าราชการไทย โดยเฉพาะภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งมีการปรับรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่อีกครั้ง ระบบปกครองนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่มากขึ้นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยที่หนึ่ง
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งนี้ ได้แก่ การกบฏของมลายูมุสลิมใน พ.ศ. ๒๔๙๑ หลังจากที่จอมพลป. พิบูลสงครามกลับขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ กบฏครั้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลไทยปฏิเสธคำเรียกร้องที่นำโดย ฮัจญีสุหลง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคนมลายูมุสลิมเป็นผู้นำสูงสุดในสี่จังหวัดภาคใต้ และให้เป็นข้าราชการได้ถึงร้อยละ ๘๐ ในบริเวณนั้น และให้มีคณะกรรมการอิสลามดำเนินการดูแลกิจการของคนมุสลิมเป็นต้น การจับกุมฮัจญีสุหลงกระตุ้นให้เกิดการก่อความไม่สงบอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งหลังจากการหายสาปสูญไปของฮัจญีสุหลง และคาดว่าคงถูกฆาตกรรมแล้วโดยตำรวจไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ความไม่สงบก็ปะทุขึ้นอีก
ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการ "กบฏ" โดยคนมลายูมุสลิมในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คำเรียกร้อง ๗ ข้อก็ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการจับกุมและการดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลง ตามที่นักวิชาการและสาธารณชนเข้าใจกันต่อๆมา อย่างไรก็ตาม ได้มีสิ่งที่เรียกว่า "ความไม่สงบ" และ "การประท้วง" โดยคนมุสลิมในบริเวณ "สามจังหวัดภาคใต้สุด" (ไม่ใช่ "สี่จังหวัด" ตามที่เรียกกันทั้งหน่วยงานรัฐและสื่อมวลชน) ในช่วงก่อนที่จะมีการจับกุมฮัจญีสุหลงเสียอีก และความรุนแรงก็ยิ่งทวีมากขึ้นภายหลังที่เขาถูกจับกุมไปแล้ว
การลุกฮือที่ลุกลามใหญ่และรุนแรงที่สุดสมัยนั้นคือ เหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ ๒๖-๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ จากการปะทะกันในหมู่บ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส การปะทะกันครั้งนั้นภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีใน "กบฏดุซงญอ" และคนทั่วไปเข้าใจว่า เหตุการณ์นั้นเกิดมาจากการที่ฮัจญีสุหลงถูกจับ หลังจากนั้น "กบฏดุซงญอ" ก็ถูกทำให้เลือนและอยู่ภายใต้โครงเรื่องของ "กบฏหะยีสุหลง" ในที่สุดกงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนมาบรรจบอีกครั้ง เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหัวรุนแรงมลายูมุสลิม กับกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดภาคใต้อีก ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เหตุการณ์ล่าสุดนำไปสู่การรื้อฟื้นและทบทวนความทรงจำที่ลบเลือนไปเมื่อ ๕๖ ปีก่อนโน้น นำมาสู่การเล่าเรื่องและทวนความจำใหม่ ว่า "กบฏดุซงญอ" ในปี ๒๔๙๑ นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร
๖) ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์:
จาก "กบฏหะยีสุหลง" ถึง "กบฏดุซงญอ"
การอุบัติขึ้นของคลื่นความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้สุดครั้งล่าสุด มาจากการบุกเข้าปล้นปืนในค่ายกองพันทหารพัฒนาที่
๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มคนที่ไม่อาจระบุได้ ในวันที่ ๔ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๔๗ กรณี "ปล้นปืน ๔ มกราคม" เป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดกว่าเหตุการณ์อื่นๆ
ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางการเมืองชาติพันธุ์ที่มีมายาวนานในพื้นที่นั้น
จากรายงานของทางการบอกว่า มีกลุ่มคนประมาณ ๖๐ คนบุกเช้าไปในค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ยิงทหารตายไป ๔ นาย ก่อนจะหลบหนีไปพร้อมกับปืนไรเฟิล ๔๐๐ กระบอก, ปืนพก ๒๐ กระบอก, และปืนกลอีก ๒ กระบอก. การบุกครั้งนี้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเรียกว่า "เป็นปฏิบัติการที่มีการวางแผนอย่างดี" นั้น เริ่มด้วยการวางเพลิงโรงเรียน ๒๐ แห่งใน ๑๐ อำเภอในนราธิวาสในเวลา ตี ๑ ครึ่ง โรงเรียน ๕ หลังถูกเผาราบไปกับพื้นดิน ผู้ก่อการยังได้วางเพลิงป้อมยามตำรวจที่ไม่มีคนอยู่ด้วยอีก ๒ แห่ง ในจังหวัดยะลา กลุ่มคนดังกล่าวได้เผายางรถยนต์บนถนนหลายสาย และมีการพบระเบิดปลอมถูกวางอยู่ในที่ต่างๆ ถึง ๗ จุดในจังหวัด ตำรวจสันนิษฐานว่าทั้งหมดนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อดึงความสนใจของเจ้าหน้าที่จากการบุกปล้นค่ายทหารในนราธิวาส
ไม่ต้องสงสัยว่า การจู่โจม "๔ มกรา" นี้ทำให้รัฐบาลเสียหน้าอย่างมาก และทำให้นายกฯทักษิณ ชินวัตรหัวเสียอย่างหนักด้วย เขากล่าวตำหนิทหารที่ขาดความระมัดระวัง และถึงกับอารมณ์เสียด้วยการหลุดคำพูดออกมาว่า ทหารที่ถูกฆ่านั้นสมควรตายแล้ว "ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั้น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย" (5)
ภายหลังการบุกปล้นปืน รัฐบาลได้เร่งการควบคุมสถานการณ์เพื่อจะยุติความปั่นป่วน และการโจมตีอย่างลี้ลับของคนเหล่านั้น ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัด และส่งกองกำลังลงไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น นอกจากนั้นฝ่ายตำรวจก็เพิ่มมาตรการแน่นหนาขึ้นในการจัดการกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนมลายูมุสลิม ด้วยการใช้กลยุทธที่หนักข้อขึ้นกับคนเหล่านั้น
วิธีการหนึ่งก็คือการอุ้มผู้ต้องสงสัยและทำให้พวกนั้นหายไป ตำรวจจะมายังบ้านและบอกผู้ต้องสงสัยให้ตามไปที่สถานีตำรวจเพื่อทำการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจมักมาเรียกตัวชาวบ้านไปโดยไม่มีหมายจับ แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางขัดขืนตำรวจได้ หลายวันผ่านไปก่อนที่ลูกเมียของผู้ต้องสงสัยเริ่มสงสัยว่า มีอะไรไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า "ถ้าผู้ต้องสงสัยถูกอุ้มไปโดยทหาร โอกาสรอดกลับมาบ้านยังมี แต่ถ้าหากเขาถูกตำรวจอุ้มไป โอกาสรอดกลับมาไม่มี" (6)
ในช่วงหลายเดือนก่อนถึงเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ มีรายงานจำนวนมาก ทั้งจากคนในพื้นที่และในหนังสือพิมพ์ ว่าชาวบ้านมลายูมุสลิมในบริเวณนั้นอาจถึง ๒๐๐ คน ถูกอุ้มหายไปโดยตำรวจท้องถิ่นและทหาร แต่ข่าวการถูกอุ้มของชาวบ้านในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มันจมอยู่ในรายงานข่าวความไม่สงบที่นับวันเพิ่มมากขึ้น ที่เรียกว่า "ฆ่ารายวัน" จนไม่มีความหมายอะไร รัฐบาลเชื่อว่าการฆ่ารายวันเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
หลังกรณี "๔ มกรา" การฆ่ารายวันและความรุนแรงที่ตอบโต้โดยกำลังของรัฐในภาคใต้สุด ได้ขยายเป้าหมายคลุมไปถึงชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ด้วย นอกเหนือไปจากกำลังฝ่ายความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ทางการ เหตุการณ์ที่ประชาชนสะเทือนใจและน่าตระหนกมากที่สุดได้แก่ การฆ่าพระและการมุ่งโจมตีทำลายวัด
ต่อมาในเวลาเช้ามืดของวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ กลุ่มมุสลิมกล้าตายกว่าร้อยคนบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจ ที่ทำการของรัฐและป้อมยาม ๑๒ จุด ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี, ยะลา, และสงขลา (น่าสังเกตว่าไม่มีปฏิบัติการในจังหวัดนราธิวาสในเช้าวันนั้น ทั้งๆ ในอดีตนราธิวาสเป็นจุดของการปะทะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐมากสุด) กลุ่มผู้ก่อการมีอาวุธเช่นมีดขวานและปืนนิดหน่อย กระทั่งนำไปสู่การยึดมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย ก่อนถูกกองกำลังทหารและตำรวจและอื่นๆ ที่ลงมาประจำเตรียมรับมือความรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้นตอบโต้ และปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างเต็มที่. ฝ่ายกลุ่มมุสลิมเสียชีวิตไป ๑๐๗ คน โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะตายไป ๓๒ คน อายุเฉลี่ย ๓๐ ปี ในบรรดาผู้เสียชีวิตในจุดอื่นมีกลุ่มเยาวชนที่ยังเป็นนักเรียนระดับมัธยมในอำเภอสะบ้าย้อยถึง ๑๐ กว่าคน. ที่มัสยิดกรือเซะเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บสาหัส ๘ นาย ฝ่ายผู้ก่อการไม่มีผู้บาดเจ็บเลย
แม้คำชี้แจงของทางรัฐบาลกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่าการโจมตีเหล่านั้นเป็นฝีมือของพวกติดยาเสพย์ติด แต่ความหมายของกรณี ๒๘ เมษา ไม่ได้เงียบหายไป. ทันทีภายหลังการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาอธิบายและย้ำถึงความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ "การกบฏวันที่ ๒๘ เมษายน" ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งชาวบ้านมลายูมุสลิมเรียกว่า perang หรือ kebangkitan Dusun Nyior หรือสงครามหรือการลุกขึ้นสู้ของดุซงญอ ในขณะที่ทางการไทยและวาทกรรมไทยเรียกเหตุการณ์นั้นว่า "กบฏดุซงญอ" (7)
๗) กบฏดุซงยอในวาทกรรมประวัติศาสตร์ทางการไทย
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆ
กับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคมต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย
เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆ กันทำนองนี้ วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด
พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น
"คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย
ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น
คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และ เป็น "ผู้ร้าย"ในประวัติศาสตร์ไทยไป
กล่าวได้ว่านับจากปีพ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา เหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ตกอยู่ในสภาพและฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้นมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านเหล่านั้นถูกเปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม
ที่ผ่านมาการบรรยายและอธิบายเหตุการณ์ที่ทางการเรียกว่า "กบฏดุซงยอ" ดำเนินไปบนกรอบโครงหรือพล๊อตเรื่องของการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกจัดวางไว้ต่อจากการจับกุมฮัจญีสุหลง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ดังตัวอย่างงานเขียนนี้จากหนังสือเรื่อง ไทยมุสลิม โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (แพร่พิทยา, ๒๕๑๙) ซึ่งเล่าว่า
"นับแต่ได้มีการจับกุมนายหะยีสุหรงกับพรรคพวก เมื่อเดือนมกราคม ๒๔๙๐(ที่ถูกคือ ๒๔๙๑-ผู้เขียน) ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะจับกลุ่มมั่วสุมกัน ส่อไปในทางก่อการร้ายขึ้น ทางการได้พยายามติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวตลอดมา บรรดาผู้ที่หวาดระแวงซึ่งเกรงว่าจะถูกจับกุมก็หลบหนีออกนอกประเทศไป คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีก็ได้ยุบเลิกไป ขณะเดียวกันพรรคการเมืองของมลายูบางพรรค ตลอดจนหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวยุยงปลุกปั่นสนับสนุนเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปรวมกับมลายูให้ได้
ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ สถานการณ์ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีเดียวกันนั้นเอง คือเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายหะยี ติงงาแม หรือมะติงงา ตั้งตนเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวก เข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ. การปะทะได้ดำเนินไปเป็นเวลานานถึง ๓๖ ชั่วโมง เหตุการณ์จึงได้สงบลง หลังจากนั้นได้ทำการจับกุมนายขหะมะ กำนันตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ และนายมุสตาฟา ในข้อหากบฎ ส่วนนายมะติงงาหลบหนีไปได้ ต่อมาประมาณปี ๒๔๙๗ จึงทำการจับกุมตัวได้ และถูกส่งไปคุมขังไว้ที่จังหวัดนราธิวาสได้ประมาณปีเศษ ก็หลบหนีจากที่คุมขังไปร่วมกับโจรจีนคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน"(หน้า ๒๖๓-๒๖๔)
น่าเสียใจที่เชิงอรรถของหลักฐานข้อมูลและการตีความ"กบฎดุซงยอ" นี้ ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ไม่ทราบที่เกิดความผิดพลาด ไม่ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของเชิงอรรถ มีแต่เลขเชิงอรรถที่ ๑๗ แต่ไม่มีชื่อเอกสารหนังสือหรือที่มาของข้อมูลดังกล่าว หลังจากจบย่อหน้าสุดท้ายของคำบรรยาย หากจะคาดคะเนโดยดูจากเอกสารและหนังสือที่ผู้เขียนนำมาใช้อ้างอิง ในการเขียนบทว่าด้วย "การวางแผนแบ่งแยกดินแดนในสมัยเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒" จากหน้า ๒๕๘-๒๖๖ ก็มีมาจากหนังสือจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เอกสารชั้นต้นเลยสักชิ้นเดียว ดังต่อไปนี้
พ.ต.ท. ลิมพิช สัจจพันธ์, ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้, (เอกสารโรเนียว)
พ.ต.อ. วิชัย วิชัยธนพัฒน์, ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา, กองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนเขต ๙, ๒๕๑๖)
พ.ต.อ. กัมปนาท จินตวิโรจน์, ขบวนการโจรแยกดินแดนภาคใต้, (กรุงเทพฯ, โพธิ์สามต้นการพิมพ์, ๒๕๑๗)
พรรณาความของเหตุการณ์ "กบฎดุซงยอ" จึงเป็นความจริงตามทรรศนะและความเชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาศัยเอกสารรายงานและคำสอบสวนผู้ต้องหาโดยวิธีการและสมมติฐานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเกณฑ์ ดังนั้นวิธีการเขียนและผูกเรื่องจึงเหมือนวิธีการของพงศาวดารอย่างหนึ่ง คือผลของเรื่องเป็นตรรกและแนวในการสร้างเรื่อง ในกรณีนี้คือชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งจะต้องสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้นในภาคใต้สุด นั่นคือ "สถานการณ์ ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ" เมื่อมีน้ำหนักของเหตุที่จะเกิดความไม่สงบแล้ว ก็ทำให้ "ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส"
ที่น่าสงสัยคือ ทำไมทางการจึงส่งกำลังตำรวจไปเพิ่มเติมเฉพาะที่นราธิวาสแห่งเดียวเท่านั้น ราวกับจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่นราธิวาส ทั้งๆ ที่ฮัจญีสุหลงถูกจับที่ปัตตานี และกลุ่มผู้นำมุสลิมที่นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อยู่ที่ปัตตานีเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางการกลับส่งกำลังตำรวจเพิ่มไปที่นราธิวาสตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งก็ไล่ๆ กับเวลาที่ทางการจับกุมฮัจญีสุหลง น้ำหนักของการวางความไม่น่าไว้วางใจที่นราธิวาสแต่เนิ่นๆ นั้น ทำให้ข้อสรุปของทางการว่า การเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนนั้นดำเนินไปในหลายจังหวัด และโดยหลายกลุ่มมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากอ่านและตีความตามคำบรรยายข้างต้นนี้ แสดงว่ากบฏดุซงยอไม่ได้เกิดเพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมฮัจญีสุหลง หากจริงๆ แล้วเป็นการก่อกบฏโดยความตั้งใจมาก่อนแล้วของคนมุสลิม ทำให้การโยนความผิดหรือความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการจับกุมฮัจญีสุหลงว่า นำไปสู่ความวุ่นวายและการตอบโต้ของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ลดน้ำหนักและไม่เป็นจริงไป
ต่อจากนั้นคือ การทำให้กบฎเป็นเรื่องจริงที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ การพรรณาของทางการก็อาศัยประวัติศาสตร์นิพนธ์กบฏชาวนาและกบฏผีบุญในอดีตมาใช้ นั่นคือ ทันใดนั้นใน "วันที่ 27 เมษายน ได้เกิดกบฏขึ้นที่บ้านดุซงญอ โดยมีนายหะยี ติงงาแมหรือมะติงงาตั้งตนเป็นหัวหน้านำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ" การเกิดเหตุการณ์ในวันอันแน่นอน แสดงว่าฝ่ายกบฏได้วางแผนมาก่อนแล้วอย่างแน่ชัด จึงสามารถ "นำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะ" ยิงฝ่ายตำรวจก่อน ไม่มีความบังเอิญหรือความประจวบกันเข้าของปัจจัยต่างๆ หากเป็นการกบฏ เรื่องทั้งหมดต้องแน่นอน ชัดเจน นั่นคือ การมีหัวหน้ากบฏ และมีวันเวลาของการลงมือ เรื่องทั้งหมดจึงไม่มีเนื้อที่ให้กับคำถามและความสงสัยอันใดสำหรับผู้อ่าน กลายเป็น "ความจริง" อีกอันหนึ่งไปในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในบทความ "มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่นกบฏชาวนา"(๒๕๔๗) นิธิ เอียวศรีวงศ์วิเคราะห์ว่า "กรณีดุซงญอนั้นเป็น "กบฏชาวนา" ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, ๕ พ.ค. ๒๕๔๗ ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่ (8)
ในขณะที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองกลับไปยังกบฏดุซงญอว่า " ตามประวัติศาสตร์แล้ว กรณีกบฏดุซงญอเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ดุซงญอ จ.นราธิวาส และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งสมัยนั้นมีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการต่อสู้กันแล้วแต่ยังมีข้อถกเถียงในสรุปตัวเลขคนตาย แต่อย่างน้อยประมาณ ๔๐๐ คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔๐ คน ซึ่งคนไทยรู้จักกันในนามของกบฏดุซงญอ แต่นักประวัติศาสตร์มลายูมุสลิม หรือมาเลเซียเรียกว่า เคบังอีตัน แปลว่า การลุกขึ้นสู้ (9)
"กบฏดุซงญอ" เป็นตัวอย่างอันดีของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดและเป็นเรื่องเป็นราวของมันเองโดดๆ หากแต่มันจะต้องเกี่ยวพันผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมาย นี่เองที่ทำให้ความหมายคลาสสิคดั้งเดิมของคำว่า "historia" ซึ่งเฮโรโดตัสเป็นผู้ริเริ่มใช้ จึงหมายถึงการสืบสวนหรือเจาะหาเข้าไปถึงเรื่องราวในอดีต นอกจากการจัดการกับหลักฐานข้อมูลหลากหลายแล้ว เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสร้างและทำความเข้าใจความนึกคิดของอดีตในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้บ้าง นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บริบท" ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์
ในด้านของการนำเสนอ ถ้าจะใช้ศัพท์แบบการเขียนนิยาย ก็คือในแต่ละเหตุการณ์จะมีพล๊อตเรื่อง มีทั้งพล๊อตเรื่องหลักและรอง การจะเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงพล๊อตเรื่องทั้งหมดด้วย จึงจะทำให้สามารถวินิจฉัยเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด และจึงจะบรรลุการเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์นั้นๆ ได้อย่างดีมากที่สุดด้วย
ท้องเรื่องใหญ่ของกรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นอยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และสิทธิของประชาชนชาวมลายูมุสลิมใน ๔ จังหวัดภาคใต้สุด อันได้แก่ ปัตตานี,นราธิวาส, ยะลา(ในอดีตคืออาณาจักรปตานี), และสตูล ซึ่งดำเนินมายาวนาน แต่ในพล๊อตเรื่องนี้ เราจะจำกัดเพียงแค่การเคลื่อนไหวของประชาชนมลายูมุสลิม ในปัญหาการเมืองการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก, ผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงรัฐบาลยุคเสรีไทยหลังสงครามโลก, กรณีรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้วมาจบลงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่สอง, กินเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ราวสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษ
เนื้อหาสำคัญของเรื่องราวในตอนนั้น ไม่ยุ่งยากและลำบากต่อการเข้าใจมากนัก หากไม่เอาอคติและอัตวิสัยไปจับเสียก่อน ที่สำคัญคือความรู้สึกและความเชื่อในลัทธิชาตินิยมไทย ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ในช่วงเวลาที่กำลังก่อรูป และสร้างฐานรากในสังคมและความคิดของสังคมไทยอยู่ ยังไม่ได้เป็นวิธีคิดและรับรู้ที่คนไทยทั่วไปรับมาเหมือนกันหมดดังเช่นปัจจุบัน หากพิจารณาจากพล๊อตเรื่องหลักแล้ว กรณีกบฏดุซงญอจะเป็นพล๊อตเรื่องรอง ในเรื่องหลักนั้นจะได้แก่เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏหะยีสุหลง"
๘) การเมืองกับประวัติศาสตร์
ความเกี่ยวพันและโยงใยกันอย่างแนบแน่นระหว่างประวัติศาสตร์ของ "กบฏหะยีสุหลง"
กับ "กบฏดุซงญอ" มีส่วนอย่างมากต่อความรับรู้และเข้าใจของเราต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูมุสลิม
จุดสำคัญที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ตระหนักคือ มันมีสิ่งที่เรียกว่า ความแตกต่าง หลากหลาย
และซับซ้อนแม้ในระหว่างชุมชนและขบวนการมุสลิมกันเอง
สำหรับคนนอกโดยเฉพาะรัฐและหน่วยงานราชการทั้งหลาย บรรดาชุมชนมุสลิมในประเทศไทยถูกมองว่าเหมือนกันหมดและหยุดอยู่กับที่ ทรรศนะและการมองแบบด้านเดียวที่ผิดพลาดนี้ได้รับการตอกย้ำและทำให้ชัดเจนขึ้นโดยประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ ประวัติศาสตร์ที่อาศัยหลักฐานที่มีอยู่ และความสามารถและความเที่ยงธรรมของนักประวัติศาสตร์ในการบอกผู้อ่านในที่สุดว่าเรื่องราวที่เต็มนั้นคืออะไร ในกรณีของสองประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ ปัจจัยทางการเมืองระดับชาติที่มีผลต่อการรับรู้ความจริงของประวัติศาสตร์นั้น ได้แก่การเข้ามาพบกันของเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ ในปี ๒๔๙๑ ซึ่งมีผลกระทบต่อทิศทางของการเมืองและรัฐบาลไทยและรวมไปถึงมลายาที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษขณะนั้นด้วย
ในประเทศไทย เหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงนั้นที่มีผลต่อการเมืองระดับชาติคือ การสิ้นพระชนม์อย่างลี้ลับของรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ ตามมาด้วยการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ส่วนในมลายาซึ่งเพิ่งก่อตั้งสหพันธรัฐมลายาภายใต้การปกครองของอังกฤษ คือการประกาศภาวะฉุกเฉินในปี ๒๔๙๑ โดยอ้างว่าพรรคคอมมิวนิสต์มลายากำลังจะก่อการลุกฮือ
ในทศวรรษปีพ.ศ. ๒๔๘๐ กล่าวได้ว่า ฮัจญีสุหลงคือผู้นำประชาชนมุสลิมภาคใต้ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ที่คนมุสลิมภาคใต้เคารพนับถือมากในสมัยนั้น เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมในบริเวณปัตตานี ทั้งยังเป็นผู้นำมุสลิมรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูงสำเร็จจากเมืองมักกะฮ์ จากนั้นกลับมาฟื้นฟูการศึกษาอิสลามในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง จนกระทั่งเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนมุสลิม โดยเฉพาะการนำการต่อสู้ประท้วงนโยบายเชื้อชาตินิยมของรัฐไทย และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ราชการ จนกระทั่งเขาถูกจับกุมในปี ๒๔๙๑ ถูกพิพากษาลงโทษ จนได้รับการปลดปล่อยกลับมาในปี ๒๔๙๗ ก่อนที่จะถูกฆาตกรรมอย่างลึกลับในที่สุด. ในประวัติศาสตร์การเมืองฉบับทางการ การเล่าเรื่องเหตุการณ์ในช่วงนั้น ระบุว่าฮัจญีสุหลงคือหัวหน้าของการกบฏทั้งหลายในภาคใต้รวมทั้ง การลุกฮือที่ดุซงญอด้วย
ในทศวรรษปี ๒๕๑๐ ความรับรู้เรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ได้เลือนไปจนกระทั่งหาสาเหตุและรูปร่างของความขัดแย้งเหล่านั้นไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการเริ่มการเจรจาระหว่างผู้นำมุสลิมกับรัฐบาลไทยสมัยนั้น ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับสร้างเนื้อเรื่องที่วางอยู่บนการลุกฮือก่อกบฏ และในที่สุดนำไปสู่การเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นในบริเวณดังกล่าว ทั้งหมดเป็นความผิดของฝ่ายมลายูมุสลิมเองที่ลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านกระทำการรุนแรงต่อรัฐไทยเอง ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลไทยจึงต้องทำการควบคุมความสงบด้วยการใช้กำลังปราบปราม การใช้กำลังของรัฐจึงเป็นความชอบธรรมมาแต่ต้น
การปราบการกบฏเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่รัฐบาลจะได้ทำการปกครองดินแดนดังกล่าวได้อีกต่อไป วาทกรรมประวัติการเมืองดังกล่าว จึงอธิบายปัญหาและเรื่องราวความไม่สงบในขณะนั้นได้อย่างชัดเจนและสมเหตุสมผล เพื่อบรรลุเป้าหมายของวาทกรรมนี้, ฮัจญีสุหลงจึงต้องถูกทำให้เป็นหัวหน้าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และกิจกรรมที่ร้ายแรงที่สุดคือ การทำการแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นออกจากรัฐไทย ในขณะที่ "กบฏดุซงญอ" ก็กลายเป็นพล๊อตเรื่องรองของ "กบฏหะยีสุหลง" ไป ด้วยวาทกรรมและการปฏิบัติทางการเมืองบนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง ที่บริเวณสามจังหวัดภาคใต้กลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง
+++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ(1) ดูบทความของ Ruth McVey, "Identity and Rebellion among the Southern Thai Muslims,' ใน Andrew D.W. Forbes. Ed., The Muslims of Thailand Vol. II (Gaya, Bihar: India, 1989; idem, "Separatism and the paradoxes of the nation-State in Perspective," in Armed Separatism in Southeast Asia, ed., Lim Joo-Jock and S. Vani (Singapore, ISEAS, 1984).
(2) Clive J. Christie, A Modern History of Southeast Asia: Decolonization, Nationalism and Separatism (London & New York, 1996), vii.
(3) David Brown, "From Peripheral Communities to Ethnic Nations: Separatism in Southeast Asia", Pacific Affairs, Vol. 16, No. 1 (Spring, 1988), 51-77.
(4) เพิ่งอ้าง, หน้า 58.
(5) The Nation, January 5, 2004, p. 1.
(6) จรัฐ มะลูลีม เล่าถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ ที่สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗.
(7) อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ วิจัยเรื่อง "ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง" : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ" (โครงการวิจัยการจัดการความจริงในสังคมไทย สกว. สิงหาคม ๒๕๔๕) โดยมีบทหนึ่งพูดถึง "ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน, ดุซงญอ-นราธิวาส, ๒๔๙๑) หน้า ๙๐
(8) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่นกบฏชาวนา" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๑๑๐ - ๑๒๕.
(9) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ "เปิดแผนโจรใต้"28 เมษา" ปลุกผี"กบฏดุซงญอ" มติชนรายวัน วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗.
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ว่านี้ เป็นเพียงผลอันเกิดแต่มูลเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มูลเหตุ" จากแบบแผนวิธีคิดและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรมการเรียนรู้" อันเป็นสมบัติแนบเนื่องอยู่กับสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ สมบัติทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ว่านี้ นับเป็นผลพวงของเหตุผลและความจำเป็นตามเงื่อนไขสถานการณ์แห่งยุคสมัย ครั้นเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการเรียนรู้ชุดเดียวกันนั้นเอง ก็มักกลายเป็นโทษสมบัติและมิจฉาทิฐิ บั่นทอนความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของสังคม (คำนำ โดยเสน่ห์ จามริก)
Thai
History
The Midnight University