โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 02 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๔๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 02,02.2007)
R

ดุลพินิจเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์+ประชาธิปไตย+ความเป็นธรรมทางสังคม???
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบน นสพ.มติชน
เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ทางวิชาการ ซึ่งผู้เขียนอยู่ฝ่ายที่เห็นว่าโลกาภิวัตน์แบบข้างบน
ไปกันไม่ได้กับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งหมายรวมถึง ประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
โดยมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งสนับสนุนแนวคิดนี้ ดังที่ผู้เขียนได้ยกมาอ้างอิงจำนวนมาก
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

๑. โลกาภิวัตน์+ประชาธิปไตย+ความเป็นธรรมทางสังคม??? (ตอนต้น)

เกริ่นนำ
คำอภิปรายของ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "ธงชาติไทยสามผืนในกระแสโลกาภิวัตน์" ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.

"ในยามนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องชูธงชาติไทยสามผืน และโบกสะบัดให้สูงเด่นคือ ธงประชาธิปไตย ธงโลกาภิวัตน์ และธงความเป็นธรรมทางสังคม ธงสามผืนนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เกื้อกูลสนับสนุนและเป็นเงื่อนไขให้แก่กัน เพราะไม่อาจมีประชาธิปไตยถ้าไม่มีโลกาภิวัตน์ และไม่อาจมีโลกาภิวัตน์ถ้าไม่มีประชาธิปไตย แต่ทว่าทั้งประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และก่อเป็นดอกผลแห่งการพัฒนาก้าวหน้าที่ยั่งยืนได้นั้น ก็จะต้องสามารถสนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของประชาชนได้ สามารถแจกจ่ายประโยชน์ของประชาธิปไตย และโลกาภิวัตน์ไปในหมู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม"(7 ตุลาคม พ.ศ.2549)

World Economic Forum
- World Economic Forum หรือ WEF เป็นเวทีสำคัญของพันธมิตรทุนข้ามชาติอันประกอบด้วย [ปีกโลกาภิวัตน์ของชนชั้นนายทุนนานาชาติใต้การนำอเมริกา, ผู้จัดการรัฐ, ข้าราชการ, นักหนังสือพิมพ์, ปัญญาชนระดับสากล] เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ประสานงาน และนำเสนอวิสัยทัศน์ทางอุดมการณ์และการเมืองของทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่างเป็นปึกแผ่น; WEF = แหล่งจัดตั้งอำนาจนำของชนชั้นปกครองโลกนั่นเอง

- WEF พัฒนามาจาก European Management Forum ซึ่งก่อตั้งโดย Klaus Schwab ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจชาวสวิส เมื่อปี ค.ศ.1971 มีสมาชิกเป็นบริษัทใหญ่ระหว่างประเทศกว่าพันแห่ง

- จัดประชุมทุกปีที่เมือง Davos แหล่งท่องเที่ยวเล่นสกีในสวิตเซอร์แลนด์

"GLOBALIZATION WITH A HUMAN FACE"
โดย Klaus Schwab กับ Claude Smadja ผู้จัด WEF

- "เราเผชิญกับสิ่งที่กำลังกลายเป็นความขัดแย้งที่จะปะทุลุกลาม ในยามที่เราเน้นเรื่องเสริมสร้างอำนาจประชาชน เรื่องประชาธิปไตยที่กำลังคืบหน้าไปทั่วโลก เรื่องการที่ผู้คนลุกขึ้นมายืนกรานจะกำกับควบคุมชีวิตของตนเองนั้น โลกาภิวัตน์ก็ได้สถาปนาอำนาจเหนือกว่าของตลาดขึ้นมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน...

- "เราต้องสำแดงให้ประจักษ์ว่าโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เป็นแค่รหัสที่บอกถึงการใส่ใจแต่มูลค่าของผู้ถือหุ้นถ่ายเดียวโดยไม่ไยดีต่อเรื่องอื่น ว่าการไหลเวียนของสินค้าและเงินทุนอย่างเสรี มิได้พัฒนาไปในทางที่เป็นภัยต่อประชากรส่วนที่อ่อนเปราะที่สุด และต่อบรรทัดฐานทางสังคมและมนุษยธรรมบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับกัน... หากแม้นเราไม่คิดประดิษฐ์สร้างหนทางทำให้โลกาภิวัตน์รองรับผู้คนมากขึ้นแล้ว เราก็ต้องเตรียมเผชิญหน้ากับการประจันหน้ากันทางสังคมอย่างแหลมคมในอดีต ที่จะฟื้นคืนขึ้นมาใหม่โดยแผ่กว้างไปในระดับสากล" (พ.ศ.2542)

รายงานของกลุ่มบุคคลระดับสูง
สังกัดโครงการ "พันธมิตรนานาอารยธรรม" แห่งสหประชาชาติ

- "โลกของเราเป็นโลกแห่งความไม่เสมอภาคและปฏิทรรศน์: มันเป็นโลกที่รายได้ของคนที่รวยที่สุด 3 คนบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ยังมากกว่ารายได้ของบรรดาประเทศด้อยพัฒนาที่สุดทั้งหลายของโลกรวมกันเสียอีก"
(ศาตราจารย์ Frederico Mayor ชาวสเปน ประธานร่วมของกลุ่มบุคคลระดับสูงส่งรายงานแก่โคฟี อันนาน เลขาธิการสหประชาชาติ - 13 พฤศจิกายน 2549)

รายงานวิจัยเรื่อง "การกระจายทรัพย์สินของครัวเรือนทั่วโลก"
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจการพัฒนาของโลก, มหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ

- "พูดง่ายๆ ถ้าหากโลกมีคนแค่ 10 คน คนหนึ่งจะมีเงิน 99 ดอลลาร์จากทั้งหมด 100 ดอลลาร์ ส่วนอีก 9 คนต้องแบ่ง 1 ดอลลาร์ที่เหลือ"
(Anthony Shorrocks ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการพัฒนาของโลก แถลงผลการวิจัย "การกระจายทรัพย์สินของครัวเรือนทั่วโลกฯ" - 5 ธันวาคม 2549)

หนังสือที่ได้รับยกย่องจาก The Financial Times ให้เป็นหนังสือธุรกิจดีที่สุดเล่มหนึ่งของปี ค.ศ.2005
เรย์มอนด์ เบเกอร์ นักธุรกิจ นักพัฒนาและนักวิชาการอเมริกันผู้มีประสบการณ์กว่า 40 ปีในกว่า 60 ประเทศ, เชี่ยวชาญการไหลเวียนของเงินผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

คำกล่าวนำเสนอหนังสือของเรย์มอนด์ เบเกอร์ ณ ที่ทำการใหญ่ของธนาคารโลกจัดโดย World Bank InfoShop
- "ผมประเมินว่าอย่างน้อยที่สุดมีเงินผิดกฎหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกลักลอบโอนถ่ายข้ามพรมแดนประเทศต่างๆ ทั่วโลกในแต่ละปี โดยใช้ช่องทางโครงสร้างเงินสกปรกดังกล่าว... ราวกึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้หรือ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกมาจากเหล่าประเทศที่กำลังพัฒนา หรือที่อยู่ในระยะผ่านทางเศรษฐกิจ หรือยากจนนั่นเอง...

- "เป้าหมายหลักของโครงสร้างเงินสกปรกคือ การเคลื่อนย้ายเงินจากคนที่อยู่ข้างล่างไปให้คนที่อยู่บนสุด, จากมือ 80% ของประชากรโลกผู้มีรายได้ต่ำเพียง 10-20 กว่า % ของรายได้มวลรวมของโลกไปสู่มือ 20% ของประชากรโลกผู้มีรายได้สูงถึง 70 กว่าถึง 90% ของรายได้มวลรวมของโลก, จากบรรดาประเทศที่ 80% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ ไปยังบรรดาประเทศที่ 20% ของประชากรโลกอาศัย....

- "นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราได้สร้างระบบโครงสร้างการเงินที่บูรณาการระดับโลกทั้งชุดขึ้นมา ซึ่งมีเป้าหมายพื้นฐานคือการโอนย้ายถ่ายเงินจากคนจนไปให้คนรวย" (31 มีนาคม 2549)

ธงโลกาภิวัตน์ โบกสะบัดควบคู่กันไปได้กับธงประชาธิปไตย และธงความเป็นธรรมทางสังคม จริงหรือ?


๒. โลกาภิวัตน์+ประชาธิปไตย+ความเป็นธรรมทางสังคม??? (ตอนจบ)
"ใช่ว่าทุนนิยมลูกโลกจะต้องนำความก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองมาสู่ดินแดนชายขอบของโลกก็หาไม่... ทุนต่างชาติมักรู้สึกสะดวกใจกับระบอบอัตตาธิปไตยยิ่งกว่าประชาธิปไตย ทุนต่างชาติยังเป็นต้นตอบ่อเกิดอันทรงพลังของการทุจริตติดสินบนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์"
(จอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรทางการเงินและปั่นหุ้นระดับโลก)
The Crisis of Global Capitalism Revisited, 2000

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศกก่อน อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเสวนาเรื่อง "พัฒนาการสังคมไทยจากวิกฤต 6 ตุลาคม 2519 จนถึงวิกฤตกุมภาพันธ์ 2549 สังคมไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสนั้นอาจารย์พิชิตได้นำเสนอข้อเขียนเรื่อง "ธงชาติไทยสามผืนในกระแสโลกาภิวัตน์" เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายประชาธิปไตยชู [ธงประชาธิปไตย+ธงโลกาภิวัฒน์ (โลกาภิวัตน์?)+ธงความเป็นธรรมทางสังคม] ขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ด้วยความเคารพ ผมเกรงว่าธง 3 ผืนของอาจารย์พิชิตมันจะพัวพันนัวเนียอีนุงตุงนังและตีกันเองนะครับ!

ก่อนอื่น ในความเป็นจริงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "โลกาภิวัตน์" หรือ globalization อันเกิดจากเงื่อนไขเทคโนโลยีแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ, เงื่อนไขการเมืองแห่งการสิ้นสุดของสงครามเย็นด้วยชัยชนะของค่ายทุนนิยมที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ และเงื่อนไขเศรษฐกิจแห่งการแผ่ขยายครอบโลกของระบบทุนนิยมนั้น เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่าไม่เป็นเอกพจน์ หากเป็นพหูพจน์ (not singular but plural), ไม่ได้กลมกลืนเป็นเอกภาพหรือเป็นเนื้อเดียวกัน หากขัดแย้งกันเอง (not uniform or harmonious but contradictory), อาทิ มันมีทั้งโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม/บรรษัท vs โลกาภิวัตน์จากรากหญ้า/ชนชั้นล่าง, มีทั้งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา vs อิสลามโลกาภิวัตน์ เป็นต้น

"ธงโลกาภิวัตน์" ที่ชูขึ้นโบกสะบัดในมืออาจารย์พิชิตนั้น ได้ถูกนิยามแบบลดทอนความหมายอันหลากหลายและขัดแย้งกันเองจนหมดเกลี้ยง (reductionism) และเรียวลงเหลือเพียงโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม/บรรษัท (capitalist/corporate globalization) เท่านั้น

ทว่า "ธงโลกาภิวัตน์" ขนานนี้นี่เอง ที่ในรอบหลายปีหลังนี้ได้ถูกวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์โดยนักรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ทั้งไทยและเทศว่าขัดแย้ง ไปกันไม่ได้กับทั้งประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม ผมขอยกตัวอย่างงานทางวิชาการและกึ่งวิชาการที่นำเสนอข้อวิเคราะห์วิจารณ์ดังกล่าวมาประกอบบางชิ้น

1) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (2548) ซึ่งชี้ว่าโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม/บรรษัทนั้นนำไปสู่

-"ประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตย" โดยตีกรอบจำกัดและกร่อนเซาะอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ ในการดำเนินนโยบายบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคและสวัสดิการสังคม, และยังนำไปสู่สภาวะ -"หนึ่งรัฐ สองสังคม" ทำให้เกิดทวิภาวะทางเศรษฐกิจสังคม (economic & social dualism) ที่ผู้คนแตกต่างเหลื่อมล้ำทั้งฐานะ รายได้ อำนาจ การเข้าถึงทรัพยากร การบริโภค วิถีชีวิตและค่านิยมวัฒนธรรม ราวกับแบ่งแยกเป็นสองสังคมภายในรัฐเดียวประเทศเดียว

2) Noreena Hertz, The Silent Takeover:Global Capitalism and the Death of Democracy (2001) ผู้เขียนเป็นรองผู้อำนวยการ Centre of International Business and Management, Judge Institute, University of Cambridge และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นเหมือนอาจารย์พิชิต

เธอได้วิเคราะห์วิจารณ์อำนาจของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่และผู้บริหาร หรือ CEOs ของบรรษัทเหล่านั้นว่าเป็นศูนย์อำนาจและชนชั้นปกครองใหม่ของโลก คอยกำกับควบคุมเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนทั้งหลาย ส่วนอำนาจฝ่ายค้านที่ทรงพลังพอจะต่อต้านถ่วงดุลอำนาจของบรรษัทข้ามชาติดังกล่าวได้ในทุกวันนี้ ก็เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยโดยตรงของประชาชนนั่นเอง

3) Arthur MacEwan, Neo-Liberalism or Democracy? Economic Strategy. Markets and Alternatives for the 21st Century (1999) ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์แห่ง University of Massachusetts Boston เรียนจบ University of Chicago และ Harvard University งานเขียนเคยได้รางวัล Wells Prize จากคณะเศรษฐศาสตร์แห่ง Harvard University

แก่นสารของหนังสือเล่มนี้ชัดเจนในชื่อเรื่อง กล่าวคือจะเลือกเอาสิ่งใด ระหว่างลัทธิเสรีนิยมใหม่ (ที่มากับโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม/บรรษัท) กับ ประชาธิปไตย? ที่ต้องเลือก เพราะมันไปกันไม่ได้ในทรรศนะของผู้เขียน

4) Benjamin R.Barber, บทความ "Can Democracy Survive Globalization?" ในวารสาร Government and Opposition (2000)

ผู้เขียนเป็นนักรัฐศาสตร์ที่โด่งดังจากหนังสือ Jihad vs McWorld (1995) เป็นผู้อำนวยการ Walt Whitman Center for the Culture and Politics of Democracy และ Whitman Professor of Political Science, Rutgers University, New Jersey

บทความชิ้นนี้เป็นปาฐกถา Leonard Schapiro Lecture ที่เขาแสดงต่อ London School of Economics and Political Science เมื่อปี ค.ศ.2000 โดยชี้ว่า เดิมทีทุนนิยมตลาดเสรีอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยโดยถ่วงดุลกันและกันภายในกรอบรัฐชาติ ทว่าพอทุนนิยมตลาดเสรีข้ามรัฐชาติออกไปครอบโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) มันก็นำไปสู่ Wild Capitalism หรือระบบทุนนิยมป่า ที่หลุดพ้นจากการกำกับควบคุมของประชาธิปไตยในระดับรัฐชาติ และกลายเป็นพลังอำนาจไร้เทียมทานในระดับลูกโลกที่ข้ามทับสถาบันประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ และเบียดยื้ออธิปไตยของรัฐชาติไป

- Privatization หรืออุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ที่ลดความสำคัญภาครัฐ / สาธารณะความเป็นพลเมืองลง และเชิดชูบูชาภาคเอกชน / ตลาด / ความเป็นผู้บริโภคขึ้นแทน

- Commercialization หรือการแปรรูปสถาบันสังคมต่างๆ ให้เป็นไปเพื่อการค้า

- Infantilization หรือทาริกานุวัตร หมายถึงการดัดแปลงอุปนิสัยผู้บริโภคให้กลายเป็นเด็กทารกไม่รู้จักโตในทางวัฒนธรรม และ

- Totalization หรือการที่ทุกภาคส่วนของชีวิตสังคม กระทั่งเอกลักษณ์ของบุคคลต่างตกอยู่ใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของตลาดในที่สุด

5) Hans-Peter Martin & Harald Schumann ในหนังสือเล่มแรกๆ ที่ค้นคว้านำเสนอข้อมูลและกรณีปัญหาต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจทุนนิยมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ของทุนิยม/บรรษัทอย่างกว้างขวาง โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรียและเยอรมัน Hans-Peter Martin & Harald Schumann ชื่อเรื่องในฉบับแปลภาษาอังกฤษว่า The Global Trap (1996) นั้น ปรากฏว่า ชื่อดั้งเดิมของหนังสือเล่มนี้ในภาษาเยอรมัน ซึ่งชี้ให้เห็นแก่นปัญหาชัดเจนคือ "Die Globalisierungsfalle:der Angriff auf Demokratie und Wohlstand" หรือ "โลกาภิวัตน์ : การโจมตีประชาธิปไตยและความรุ่งเรืองไพบูลย์"

6) William Greider, One World, Ready or Not? The Manic Logic of Global Capitalism (1997) ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ "แข่งกันลงก้นเหว" (race to the bottom) ที่เกิดขึ้นในรัฐชาติต่างๆ ทั่วโลกเนื่องจากแรงกดดันด้วยอำนาจต่อรองเหนือกว่าของระบบทุนนิยมโลก นานารัฐชาติต่างพากันส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน ควักงบประมาณหลวงอุดหนุนนักลงทุนเอกชนต่างชาติ ตัดทอนบ่อนเบียนกฎเกณฑ์มาตรฐานที่กำกับควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุข ค่าจ้างแรงงาน เงื่อนไขการทำงาน สิทธิก่อตั้งสหภาพของคนงาน สวัสดิการสังคม ฯลฯ ลงไปต่ำสุด เพื่อแข่งกันประจบเอาใจดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

ในสภาพเช่นนี้ จะมี "ความเป็นธรรมทางสังคม" ได้อย่างไร?

7) Naomi Klein แม้แต่ในขบวนการที่เรียกกันว่าต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรือ anti-globalizaticn movement นั้น นักคิดหลายคนในขบวนนี้เช่น Naomi Klein ผู้เขียน No Logo : Taking Aim at the Brand Bullies (2000) อันเป็นบทวิเคราะห์วิจารณ์ปรากฏการณ์บริโภคนิยมปัจจุบันอันลือชื่อ ก็ยืนกรานในระยะหลังไว้ในหนังสือ Fences and Windows : Dispatches from the Front Lines of the Globalization Debate (2002) ว่าพวกเธอไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์อย่างเหมารวมเบ็ดเสร็จ

ทว่าอันที่จริงแล้ว พวกเธอมุ่งคัดค้านโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม/บรรษัทที่กำลัง "ล้อมรั้วประชาธิปไตย" ("Fencing in Democracy") ต่างหาก เพราะเห็นว่ามันไม่ใช่ TINA หรือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ด้วยไม่มีทางเลือกอื่น (มาจากอักษรตัวแรกของทุกคำในประโยค There Is No Alternative. อันเป็นคำขวัญสมัยรัฐบาลอนุรักษนิยมขวาจัดของนายกรัฐมนตรีนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ของอังกฤษ)

พวกเธอต้องการเสนอโลกาภิวัตน์แบบอื่นที่เป็นทางเลือก (alternative globalization) นอกเหนือจากโลกาภิวัตน์แบบของทุนนิยม/บรรษัท พร้อมทั้งขนานนามของขบวนการของตนว่า Global Justice Movement หรือ "ขบวนการเพื่อความเป็นธรรมระดับโลก" แทน และเห็นว่าขบวนการประชาธิปไตยโดยตรงในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ต่างหากที่เป็น "หน้าต่างสู่ประชาธิปไตย" ("Windows to Democracy")

ทั้งหมดที่นำเสนอมาเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ท่านผู้อ่านลองใช้วิจารณญาณ ตั้งข้อสงสัย และทบทวนตรวจสอบว่า ธงโลกาภิวัตน์แบบที่อาจารย์พิชิตชูโบกสะบัดนั้น ไปกันได้ตลอดปลอดโปร่งกับธงประชาธิปไตยและธงความเป็นธรรมทางสังคมจริงหรือ?

ในส่วนตัวผมเห็นว่าถ้าเรามุ่งหวังจะสมาน "ธงสิทธิเสรีภาพ" แห่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เข้ากับ "ธงความเป็นธรรมทางสังคม" แห่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็อาจทำได้ผ่าน "ธงประชาธิปไตย" ที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นใหม่จากอุดมการณ์เดือนตุลาฯ กล่าวคือ

เราคงต้องคิดถึง "ประชาธิปไตย" ที่ข้ามปริมณฑลทางการเมือง-ไปสู่ปริมณฑลทางเศรษฐกิจสังคม, และข้ามขอบเขตรัฐชาติเดียว-ไปสู่ขอบเขตภูมิภาค/ข้ามชาติ เพื่อทัดทานต่อรองกับพลังโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติและแนวร่วมของพวกเขาในประเทศ

ในอดีต หลักการ "สังคมนิยมในประเทศเดียว" (socialism in one country) ของลัทธิสตาลินและความคิดเหมา เจ๋อ ตุง แห่งยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งอาจารย์พิชิตจัดเจนช่ำชองดีนั้นผิดพลาดล้มเหลวเป็นไปไม่ได้ฉันใด ทุกวันนี้หลักการ "ประชาธิปไตยในประเทศเดียว" (democracy in one country) ก็คงยากจะเป็นไปได้แล้วฉันนั้น

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปาฐกถา Leonard Schapiro Lecture ที่เขาแสดงต่อ London School of Economics and Political Science ปี ค.ศ.2000 โดยชี้ว่า เดิมทีทุนนิยมตลาดเสรีอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยโดยถ่วงดุลกันและกันภายในกรอบรัฐชาติ ทว่าพอทุนนิยมตลาดเสรีข้ามรัฐชาติออกไปครอบโลกในยุคโลกาภิวัตน์ มันก็นำไปสู่ Wild Capitalism (ระบบทุนนิยมป่า) ที่หลุดพ้นจากการกำกับควบคุมของประชาธิปไตยในระดับรัฐชาติ และกลายเป็นพลังอำนาจไร้เทียมทานในระดับลูกโลกที่ข้ามทับสถาบันประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ และเบียดขับแย่งยื้ออธิปไตยของรัฐชาติไป

02-02-2550

Globalization
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com