ทำไมโลกาภิวัตน์จึงหยุดชะงัก,
ทำไมโลกาภิวัตน์จึงเกยตื้น
Globalization
in Retreat: โลกาภิวัตน์ล่าถอย
วอลเดน เบลโล : เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
กองบรรณาธิการนำมาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เดิมชื่อ วอลเดน
เบลโล: โลกาภิวัตน์ล่าถอย เขียนโดย Walden Bello
เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพของโลกาภิวัตน์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นภาพของคลื่นแห่งอนาคต
ในแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ รัฐจะลดบทบาทลง บรรษัทต่างๆจะยิ่งใหญ่กว่ารัฐ
ทั้งหมดนี้หวนคืนไม่ได้แล้ว แต่นับถึงวันนี้ เหตุการณ์กลับกลายเป็นไปในทางตรงข้าม
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
Walden Bello, "Globalization in Retreat,"
http://www.focusweb.org/globalization-in-retreat.html,
03 Jan., 2007.
เกริ่นนำ
เมื่อคำว่า "โลกาภิวัตน์" กลายเป็นคำๆ หนึ่งในศัพทานุกรมภาษาอังกฤษเมื่อต้นทศวรรษ
1990 คนจำนวนไม่น้อยทึกทักว่า มันหมายถึงคลื่นของอนาคต. สิบห้าปีก่อน งานเขียนของนักคิดฝ่ายโลกานิยม
อาทิ เคนอิชิ โอมาเอะ (Kenichi Ohmae) และโรเบิร์ต ไรช์ (Robert Reich) ร่วมกันเฉลิมฉลองการอุบัติของปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า
โลกไร้พรมแดน กระบวนการที่ระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศของชาติต่างๆ ถูกผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจโลก
ได้รับเสียงไชโยโห่ร้องว่าเป็น "สิ่งที่ย้อนคืนไม่ได้" ส่วนประชาชนที่คัดค้านโลกาภิวัตน์ถูกมองข้ามอย่างดูแคลน
เหมือนเป็นแค่การกลับชาติมาเกิดในยุคใหม่ของขบวนการลัดไดท์ (Luddites) (1) ที่ทำลายเครื่องจักรระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม
สิบห้าปีให้หลัง ถึงแม้จะมีการย้ายฐานการผลิตและการจ้างงานข้ามพรมแดนเกิดขึ้น สิ่งที่อ้างกันว่าเป็นระบบเศรษฐกิจนานาชาติ ที่จริงก็ยังเป็นแค่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มารวมกันเท่านั้น จริงอยู่ ระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหลายต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย แต่ตัวแปรภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดพลวัตของระบบเศรษฐกิจอยู่ดี
ในความเป็นจริง กระแสโลกาภิวัตน์ขึ้นถึงจุดสูงสุดไปแล้ว และตอนนี้กำลังลดถอยลง
คำทำนายที่สดใส
ผลลัพธ์อันหดหู่
ระหว่างช่วงเฟื่องฟูสุดขีดของโลกาภิวัตน์ พวกเขาบอกเราว่า นโยบายของรัฐไม่สำคัญอีกต่อไปและบรรษัทต่างๆ
จะยิ่งใหญ่กว่ารัฐในไม่ช้าไม่นาน ในความเป็นจริง รัฐยังคงมีบทบาทสำคัญ สหภาพยุโรป,
รัฐบาลสหรัฐอเมริกา, รวมทั้งรัฐจีน, มีบทบาททางเศรษฐกิจในวันนี้อย่างเข้มแข็งยิ่งกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้วเสียอีก
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน บรรษัทข้ามชาติเดินตบเท้าตามจังหวะที่รัฐกำหนด หาใช่ในทางตรงกันข้ามไม่
ยิ่งกว่านั้น นโยบายรัฐที่แทรกแซงตลาดเพื่อส่งเสริมโครงสร้างอุตสาหกรรมหรือปกป้องการจ้างงาน ยังคงส่งผลให้เกิดความแตกต่าง อันที่จริง ตลอดสิบปีที่ผ่านมา นโยบายแทรกแซงของรัฐบาลก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างการพัฒนากับด้อยพัฒนา ความมั่งคั่งกับความยากจน การใช้มาตรการควบคุมเงินทุนของประเทศมาเลเซีย ระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียในปี ค.ศ. 1997-98 (พ.ศ. 2540-41) ช่วยปกป้องมาเลเซียให้พ้นจากความล่มสลาย ดังเช่นประเทศไทยหรืออินโดนีเซีย การควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวดช่วยคุ้มครองประเทศจีน ให้พ้นจากการพังทลายทางเศรษฐกิจที่ถล่มท่วมประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน
สิบห้าปีก่อน พวกเขาบอกให้เราคอยดูการอุบัติของชนชั้นนำทุนนิยมข้ามชาติ ซึ่งจะเข้ามาบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโลก โลกาภิวัตน์กลายเป็น "ยุทธศาสตร์อันยิ่งใหญ่" ของรัฐบาลคลินตัน ซึ่งวาดวิสัยทัศน์ว่าชนชั้นนำของสหรัฐฯ จะเป็น primus inter pares -แถวหน้าในกลุ่มผู้นำ-ของพันธมิตรระดับโลกที่กรุยทางไปสู่ระเบียบโลกใหม่อันชื่นมื่น มาถึงวันนี้ โครงการนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า ในยุคครองอำนาจของจอร์จ ดับเบิลยู บุช กลุ่มผู้นำเศรษฐกิจชาตินิยมมีชัยเหนือฝ่ายข้ามชาติ รัฐที่เปลี่ยนท่าทีไปเป็นแบบชาตินิยมหันมาแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย มุ่งมั่นหาทางซ้ำเติมเศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่งให้ล่มจม
เมื่อสิบปีที่แล้ว องค์การการค้าโลก (WTO) ถือกำเนิดขึ้น เข้าร่วมวงกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เล่นบทบาทเป็นเสาหลักของระบบกำกับดูแลเศรษฐกิจระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ ด้วยอาการวางก้ามของผู้ชนะ เจ้าหน้าที่องค์กรทั้งสามที่มาประชุมกันในสิงคโปร์ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกของ WTO ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1996 มองว่า ภารกิจของ "การกำกับดูแลโลก" ที่ต้องทำให้สำเร็จก็คือ การบรรลุ "ความสอดคล้องต้องกัน" นั่นคือ การประสานนโยบายเสรีนิยมใหม่ของทั้งสามสถาบัน เพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดบูรณาการของระบบเศรษฐกิจโลกที่ราบรื่น และเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ
แต่ตอนนี้เล่า เซบาสเตียน มัลลาบี (Sebastian Mallaby) นักเขียนนักวิจารณ์ที่ทรงอิทธิพลของ วอชิงตันโพสต์ ซึ่งสนับสนุนโลกาภิวัตน์ ถึงกับคร่ำครวญว่า "การเปิดเสรีการค้าชะงักงัน ความช่วยเหลือไม่สอดประสานกันเท่าที่ควร และอัคคีภัยทางการเงินครั้งต่อไปจะมีแต่พนักงานดับเพลิงบาดเจ็บมาคอยรับมือ" อันที่จริง สถานการณ์ย่ำแย่กว่าที่เขาบรรยายเสียอีก
IMF นั้นหมดน้ำยาไปแล้ว เมื่อรู้แล้วว่า IMF รังแต่ซ้ำเติมและทำให้วิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียเลวร้ายลง ประเทศกำลังพัฒนาที่ค่อนข้างก้าวหน้าจึงปฏิเสธไม่ยอมกู้ยืมเงินจากสถาบันนี้อีก หรือไม่ก็ชำระหนี้คืนก่อนกำหนด พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ยอมกู้ยืมเงินจากสถาบันอีกแล้ว ประเทศเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ นับตั้งแต่ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, บราซิลและอาร์เจนตินา เนื่องจากงบประมาณของ IMF จำต้องอาศัยการชำระหนี้จากผู้ยืมรายใหญ่เหล่านี้ การคว่ำบาตรดังกล่าว จึงแปลความได้ตามที่ผู้สันทัดกรณีรายหนึ่งระบุว่า นี่คือ "การบีบคั้นงบประมาณของสถาบันอย่างรุนแรง"
ธนาคารโลกอาจดูเหมือนมีสุขภาพแข็งแรงกว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ แต่การที่ธนาคารโลกยืนอยู่ตรงใจกลางในความพินาศ ที่เกิดจากนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งทิ้งให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่กำลัง อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจำนวนมากที่ใช้นโยบายปรับโครงสร้างนี้ ต้องจมปลักอยู่กับความยากจนที่เลวร้ายกว่าเดิม ความไม่เท่าเทียมที่รุนแรงกว่าเดิม และตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ธนาคารโลกจึงประสบวิกฤตความน่าเชื่อถือเช่นกัน
วิกฤตศรัทธายิ่งทรุดต่ำลงจากการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ซึ่งมีอดีตหัวหน้าเศรษฐกรของ IMF นายเคนเนธ โรกอฟ (Kenneth Rogoff) ที่เปิดโปงว่า ธนาคารโลกจงใจปรุงแต่งตัวเลขข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันแนวทางส่งเสริมโลกาภิวัตน์และปิดบังผลกระทบในด้านลบของโลกาภิวัตน์
แต่วิกฤตการณ์ของลัทธิพหุภาคีนิยม (multilateralism) (2) ที่สาหัสที่สุดน่าจะอยู่ที่ WTO ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว(2006) การเจรจารอบโดฮาเพื่อเปิดเสรีการค้าโลกให้มากขึ้นต้องล่มลงอย่างฉับพลัน เมื่อการเจรจาในกลุ่มที่เรียกว่า Group of Six (3) ต้องแตกหักกันไปอย่างขมขื่น เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ยอมทำอะไรทั้งสิ้นกับการอุดหนุนเงินจำนวนมหาศาลแก่ภาคเกษตรกรรมของตน
เฟรด เบิร์กสเตน (Fred Bergsten) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้สนับสนุนการค้าเสรี เคยเปรียบเทียบการเปิดเสรีทางการค้าและ WTO ว่าเหมือนกับจักรยาน: มันจะล้มลงทันทีถ้าไม่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า การล่มสลายขององค์กร ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO คนหนึ่งเคยเปรียบเปรยเป็น "อัญมณีบนยอดมงกุฎของลัทธิพหุภาคีนิยม" อาจใกล้เข้ามามากกว่าที่หลายคนคิดก็ได้
ทำไมโลกาภิวัตน์จึงหยุดชะงัก, ทำไมโลกาภิวัตน์จึงเกยตื้น?
ประการแรก เหตุผลสนับสนุนโลกาภิวัตน์นั้นมีแต่ราคาคุยมากเกินไป ปริมาณการผลิตและการค้าของบรรษัทข้ามชาติส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ หรือภูมิภาคที่เป็นต้นกำเนิด มีบรรษัทระดับโลกเพียงหยิบมือเท่านั้น ที่การผลิตและการค้ากระจายอย่างค่อนข้างเท่าเทียมระหว่างภูมิภาคต่างๆ
ประการที่สอง แทนที่จะผนึกกำลังร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตการณ์ระดับโลก ทั้งในด้านภาวะการผลิตล้นเกิน, สภาพชะงักงันทางเศรษฐกิจ และการทำลายสิ่งแวดล้อม ชนชั้นนำทุนนิยมระดับชาติกลับแข่งขันกันผลักภาระการปรับตัวออกไป ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลบุชหันมาใช้นโยบายค่าเงินดอลลาร์อ่อน เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวและความเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยปล่อยให้ผลเสียตกอยู่กับยุโรปและญี่ปุ่น
สหรัฐอเมริกายังไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโต เพื่อผลักให้ยุโรปและญี่ปุ่นต้องแบกรับต้นทุนส่วนใหญ่ ในการปรับตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมสหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การร่วมมืออาจเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่สมเหตุสมผล เมื่อมองจากจุดยืนของระบบทุนนิยมโลก แต่กลุ่มผลประโยชน์ทุนนิยมระดับชาติ มัวแต่กลัวว่าจะเสียเปรียบคู่แข่งในระยะสั้นประการที่สาม เป็นผลกระทบทางลบที่เกิดจากมาตรฐานเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาแสดงออกอย่างไม่อาย ในขณะที่รัฐบาลคลินตันพยายามผลักดันสหรัฐอเมริกาไปสู่การค้าเสรีอย่างจริงจัง รัฐบาลบุชกลับปากว่าตาขยิบ ปากก็พร่ำเทศนาถึงการค้าเสรี แต่ในทางปฏิบัติกลับดำเนินนโยบายแบบลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) นโยบายการค้าของรัฐบาลบุชจริงๆ ดูเหมือนจะเป็นการบีบให้ทั่วโลกเปิดการค้าเสรี แต่ใช้นโยบายปกป้องการค้ากับประเทศของตัวเอง
ประการที่สี่ มีความผิดเพี้ยนไปมากระหว่างคำมั่นสัญญาของโลกาภิวัตน์และการค้าเสรี กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีแต่ความยากจน ความไม่เท่าเทียมและความซบเซาทางเศรษฐกิจหนักข้อกว่าเดิม ประเทศหนึ่งในจำนวนน้อยมากที่ความยากจนลดลงในช่วง 15 ปีหลัง ก็คือประเทศจีน แต่นโยบายแทรกแซงของรัฐที่เข้าไปจัดการกลไกตลาดต่างหาก หาใช่ใบสั่งยาแบบเสรีนิยมใหม่ไม่ ที่ช่วยอุ้มชูชาวจีนถึง 120 ล้านคนให้พ้นจากความยากจน
นอกจากนั้น ประเทศที่สนับสนุนการยกเลิกการควบคุมเงินทุนและระบบเศรษฐกิจที่ยึดมั่นนโยบายนี้ กลับต้องเผชิญกับความล่มสลายลงจริงๆ โลกาภิวัตน์ด้านการเงินก้าวหน้าไปเร็วกว่าโลกาภิวัตน์ด้านการผลิตมาก แต่มันพิสูจน์แล้วว่าเป็นหัวหอกของความปั่นป่วน ไม่ใช่ความมั่งคั่ง วิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียและการพังทลายของระบบเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ซึ่งเคยเป็นสาวกที่ปฏิบัติตามลัทธิการเปิดเสรีบัญชีทุนอย่างเคร่งครัดที่สุด คือสองเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความเป็นจริงคัดง้างกับทฤษฎีประการที่ห้า ปัจจัยอีกอย่างที่ทำลายโครงการโลกาภิวัตน์ลง เกิดมาจากการหมกมุ่นอยู่กับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเติบโตอย่างไม่มีขีดจำกัดคือจุดศูนย์รวมของโลกาภิวัตน์ เป็นแกนกลางสำคัญของความชอบธรรมของมัน ในขณะที่รายงานธนาคารโลกในระยะหลังยังคงเชิดชูความเติบโตอย่างรวดเร็วว่า เป็นกุญแจที่ไขไปสู่การขยายตัวของชนชั้นกลางในโลก แต่ปัญหาโลกร้อน, การผลิตน้ำมันเลยขีดสูงสุด (peak oil) และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทำให้ประชาชนมองเห็นชัดว่า อัตราและแบบแผนของความเติบโตที่มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ คือใบสั่งยาสูตรมรณะที่จะนำไปสู่สงครามอาร์มาเกดดอนในเชิงนิเวศวิทยา
ประการสุดท้าย ที่อย่าได้มองข้ามก็คือ การต่อต้านขัดขืนของประชาชนที่มีต่อโลกาภิวัตน์ การต่อสู้นับตั้งแต่ที่ซีแอตเติลในปี ค.ศ. 1999, ปรากฏในปี ค.ศ. 2000 และเจนัวในปี ค.ศ. 2001 การเดินขบวนต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ในโลกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 เมื่อขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ผันตัวไปเป็นขบวนการต่อต้านสงครามระดับโลก การอับปางของการประชุม WTO ระดับรัฐมนตรีในเมืองแคนคูน เมื่อปี ค.ศ. 2003 และเกือบล่มลงในฮ่องกงในปี ค.ศ. 2005 การที่ชาวฝรั่งเศสและชาวดัทช์พร้อมใจกันปฏิเสธรัฐธรรมนูญยุโรป ที่มีแนวทางเสรีนิยมใหม่และสนับสนุนโลกาภิวัตน์ในปี ค.ศ. 2005
ทั้งหมดนี้คือจุดบรรจบที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการต่อสู้ระดับโลกที่ยาวนานเป็นทศวรรษ จนรุกให้โครงการเสรีนิยมใหม่ต้องม้วนเสื่อกลับไปเหมือนกัน แต่เหตุการณ์อันลือลั่นเหล่านี้เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นผลรวมของการต่อสู้ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ นับพันๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในชุมชนนับพันๆ แห่งทั่วทั้งโลก เป็นผลจากการร่วมแรงร่วมใจของเกษตรกร, คนงาน, นักศึกษา, ชนพื้นเมืองและชนชั้นกลางในหลายภาคส่วน เป็นจำนวนหลายล้านคน
ตกต่ำแต่ยังไม่ตกยุค
แม้ว่าโลกาภิวัตน์ที่บรรษัทขับเคลื่อนอาจตกต่ำลง แต่มันยังไม่ตกยุค ถึงจะหมดสิ้นความน่าเชื่อถือ
แต่นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ยังดำเนินอยู่ในระบบเศรษฐกิจของหลายๆ
ประเทศ ทั้งนี้เพราะขาดนโยบายทางเลือกอื่นที่น่าเชื่อถือในสายตาของเหล่าเทคโนแครท
เมื่อไม่มีความคืบหน้าใน WTO มหาอำนาจด้านการค้าจึงหันไปให้ความสำคัญแก่ข้อตกลงการค้าเสรี
(FTA) และข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) กับประเทศกำลังพัฒนาแทน ข้อตกลงเหล่านี้ในหลายๆ
แง่เป็นอันตรายยิ่งกว่าการเจรจาพหุภาคีใน WTO เสียอีก ทั้งนี้เพราะมันมักเรียกร้องเงื่อนไขที่สูงกว่าเดิมในแง่ของการเข้าถึงตลาด
และบังคับใช้สิทธิบัตรทางปัญญาอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกต่อไปสำหรับบรรษัทและมหาอำนาจทางการค้า นักลัทธิเสรีนิยมใหม่เคร่งคัมภีร์กำลังหลุดออกจากตำแหน่งสำคัญ หลีกทางให้เทคโนแครทแนวปฏิบัตินิยมที่มักเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายเสรีนิยมใหม่ ไปตามแรงกดดันของภาคประชาชน
ในส่วนที่เกี่ยวกับ FTA, ซีกโลกใต้ค่อยๆ ตระหนักถึงภยันตรายและเริ่มต่อต้านขัดขืน ภายใต้แรงกดดันจากพลเมือง รัฐบาลในประเทศใหญ่ๆ ของอเมริกาใต้คว่ำข้อตกลงการค้าเสรีทวีปอเมริกา (FTAA) จนตกราง ระหว่างการประชุมที่มาร์ เดล ปลาตา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ซึ่งเท่ากับคว่ำทำลายแผนการอันยิ่งใหญ่ที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช วาดหวังไว้สำหรับซีกโลกตะวันตกไปด้วย
เช่นกัน หนึ่งในเหตุผลหลายประการที่ชาวไทยต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลายาวนานหลายเดือน ก่อนจะเกิดเหตุรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย ก็สืบเนื่องจากการที่ทักษิณรีบร้อนจะลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา ในเดือนมกราคมปีที่แล้วนี่เอง ผู้ประท้วงราว 10,000 คน พยายามบุกเข้าไปในอาคารที่เจ้าหน้าที่ไทยกับสหรัฐฯ กำลังเจรจากันอยู่ในเชียงใหม่ รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยชะลอ FTA ไทย-สหรัฐฯ ไว้ก่อน ขบวนการประชาชนที่พยายามหยุดยั้ง FTA ในประเทศอื่นๆ ได้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของภาคประชาชนไทย
การถอยห่างจากโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่โดดเด่นน่าจับตามองที่สุด
ก็ต้องในละตินอเมริกา
หลังจากเสียเปรียบบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานมายาวนาน
- ประเทศโบลิเวียภายใต้ประธานาธิบดีเอโว โมราเลส จัดการโอนทรัพยากรพลังงานกลับมาเป็นของชาติอีกครั้ง
- ประธานาธิบดี เนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์ของอาร์เจนตินาทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาสามารถแข็งข้อต่อทุนการเงินได้เหมือนกัน เมื่อเขาบีบให้เจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรประกันการชำระหนี้ในซีกโลกเหนือ ต้องยอมรับการชำระเงินคืนเพียง 25 เซนต์ จากทุก 1 ดอลลาร์ ที่อาร์เจนตินาเป็นหนี้
- ประธานาธิบดี อูโก ชาเวซ เปิดตัวแผนการอันทะเยอทะยานที่จะรวบรวมภูมิภาคละตินอเมริกาเข้าด้วยกัน นั่นคือ "ทางเลือกตามแนวทางโบลิวาร์เพื่อทวีปอเมริกา" (Bolivarian Alternative for the Americas-ALBA) ซึ่งตั้งอยู่บนความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แท้จริงแทนการค้าเสรี และบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายมีส่วนร่วมน้อยมากหรือไม่มีเลย โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากสิ่งที่ชาเวซเองเรียกว่า "ตรรกะที่พ้นจากระบบทุนนิยม"
ส่องตามองโลกาภิวัตน์
จากมุมมองที่กว้างไกลในวันนี้ ดูเหมือนโลกาภิวัตน์ไม่ใช่ขั้นตอนใหม่ที่ไต่ระดับสูงขึ้นในพัฒนาการของระบบทุนนิยม
แต่เป็นแค่การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์เชิงโครงสร้างที่แฝงอยู่ในระบบการผลิตแบบทุนนิยม
นับตั้งแต่สิบห้าปีก่อนที่มันประโคมตัวเองเป็นคลื่นของอนาคต ดูท่าโลกาภิวัตน์จะไม่ใช่
"ขั้นตอนใหม่ที่กล้าหาญ" ในการบุกเบิกของระบบทุนนิยม แต่เป็นแค่ความพยายามอันสิ้นหวังของทุนโลก
ที่จะดิ้นรนให้รอดพ้นจากภาวะชะงักงันและความไร้ดุลยภาพที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจโลกในทศวรรษ
1970 และ 1980 การพังทลายของระบอบสังคมนิยมรวมศูนย์ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
หันเหจุดสนใจของประชาชนจากความเป็นจริงนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 1990
คนจำนวนไม่น้อยในแวดวงฝ่ายก้าวหน้ายังคิดว่า ภารกิจเฉพาะหน้าคือ ทำให้โลกาภิวัตน์ "มีความเป็นมนุษย์" แต่อันที่จริง โลกาภิวัตน์เป็นพลังที่ใช้หมดไปแล้ว ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังทวีคูณขึ้นในวันนี้ กล่าวไปแล้วก็คล้ายกับช่วงเวลาหลังจากสิ้นยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ยุคแรกของโลกาภิวัตน์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราว ค.ศ. 1815 ไปจนถึงการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914
ภารกิจเร่งด่วนไม่ใช่คัดท้ายโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยบรรษัทให้หันเหไปสู่ทิศทางของ
"สังคมประชาธิปไตย" แต่เราต้องรุกให้มันถอยร่นไป อย่าได้ปล่อยให้โลกาภิวัตน์นำมาซึ่งกลียุคและความขัดแย้งที่ควบคุมไม่ได้
แบบเดียวกับตอนที่มันถึงกาลอวสานลงในยุคก่อน
...................................................
วอลเดน เบลโล เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และเป็นผู้อำนวยการบริหารของ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) (http://www.focusweb.org/) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ภาคขยายของบทความชิ้นนี้มีชื่อว่า "The Capitalist Conjuncture: Overaccumulation, Financial Crises, and the Retreat from Globalization" ตีพิมพ์เผยแพร่ในฉบับล่าสุดของวารสาร Third World Quarterly (Vol. 27, No. 8, 2006)
+++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) Luddites กลุ่มคนงานชาวอังกฤษที่ก่อหวอดประท้วงด้วยการทำลายเครื่องจักร เพราะพวกเขาเชื่อว่าเครื่องจักรคือค้นเหตุของความแร้นแค้นในการหาเลี้ยงชีพ ขบวนการนี้เริ่มต้นขึ้นในเมืองนอตติงแฮมเชียร์ ในปี ค.ศ. 1811 เมื่อคนงานถักทอถุงเท้าลงมือทำลายอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตถุงเท้าคุณภาพต่ำ ซึ่งทำให้ช่างฝีมือถูกตัดค่าแรงลง คนงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่ากระทำการภายใต้ผู้นำชื่อ "เนด ลัดด์" หรือ "คิงลัดด์" แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าคนๆ นี้มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ การประท้วงขยายวงไปอย่างรวดเร็ว คนงานกลุ่มใหญ่บุกเข้าไปในโรงงานทอผ้าฝ้ายและทอผ้าขนสัตว์เพื่อทำลายเครื่องทอ รัฐบาลอังกฤษตอบโต้อย่างแข็งกร้าว คาดโทษการทำลายเครื่องจักรถึงขั้นประหารชีวิต ยังมีการประท้วงเป็นระยะๆ ต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1816 หลังจากนั้น ขบวนการนี้จึงค่อยๆ สลายตัวไป (ผู้แปล)(2) พหุภาคีนิยม - ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งต้องการให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น ทุกๆ ประเทศมีความเสรีในการซื้อขาย ไม่มีภาษีนำเข้า ไม่มีการควบคุมการนำเข้า และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมเงินตราและอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (ผู้แปล)
(3) Group of Six หมายถึง สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินเดีย, บราซิลและออสเตรเลีย
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
คนจำนวนไม่น้อยในแวดวงฝ่ายก้าวหน้ายังคิดว่า ภารกิจเฉพาะหน้าคือ ทำให้โลกาภิวัตน์ "มีความเป็นมนุษย์" แต่อันที่จริง โลกาภิวัตน์เป็นพลังที่ใช้หมดไปแล้ว ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังทวีคูณขึ้นในวันนี้ กล่าวไปแล้วก็คล้ายกับช่วงเวลาหลังจากสิ้นยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ยุคแรกของโลกาภิวัตน์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราว ค.ศ. 1815 ไปจนถึงการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914 ภารกิจเร่งด่วนไม่ใช่คัดท้ายโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยบรรษัทให้หันเหไปสู่ทิศทางของ "สังคมประชาธิปไตย" แต่เราต้องรุกให้มันถอยร่นไป