โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 28 January 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๓๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 28,2007)
R

Reforming Thailand
The Midnight University

การเมืองไทยหลังรัฐประหารของ คปค.(คมช.)
ปาฐกถา ส.ศิวรักษ์ : ๔ เดือนหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปาฐกถาของอาจารย์สุลักษณ์ เกี่ยวกับเหตุการณ์หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยาชิ้นนี้
ครอบคลุมเนื้อหาจากยุค รสช. ย้อนกลับไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
และกล่าวถึงการปฏิวัต-ิรัฐประหารตลอดมา จนล่วงเข้าปีที่ ๗๕ แล้ว
ที่สยามประเทศเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เรายังคงมีการทำรัฐประหารกันอยู่
นอกจากนี้ยังได้มีการพูดถึงกับนำเอาหลักพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับการเเมืองและสถาบันกษัตริย์
ตลอดรวมถึงการวิพากษ์นักวิชาการในปัจจุบัน

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


ปาฐกถา ส.ศิวรักษ์ : ๔ เดือนหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ปาฐกถาโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์
งานสัมมนาวิชาการเรื่อง ' การเมืองไทย ๔ เดือนหลังรัฐประหาร'
จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๐)


เกริ่นนำ
การแสดงปาฐกถานำ ดูจะเป็นทางการเกินพอดีไป จึงขอใช้คำว่า 'กถามุข' ซึ่งแปลว่าพูดทีแรก โดยขอย้อนไปกล่าวว่า เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจการเมืองการปกครองจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้น อีกห้าวันต่อมา Asia Wall Street Journal มาขอสัมภาษณ์ข้าพเจ้า ในขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยขยาด ไม่กล้าสัมภาษณ์ข้าพเจ้า คำสัมภาษณ์ข้าพเจ้าที่ลงพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษนั้น แปลได้ความดังนี้

"การล้มรัฐบาลเก่านั้น สำหรับคนไทยในระยะแรก ย่อมเห่อคณะใหม่เสมอ และมักไม่เห็นเป็นบาปที่มีการยึดอำนาจการปกครองอย่างปราศจากความชอบธรรม พอเวลาล่วงไปสัก 3 เดือน คนก็จะเริ่มไม่พอใจรัฐบาลใหม่ พอสัก 6 เดือนก็เริ่มมีปฏิกิริยาด่าว่าจนหวนเห็นความดีของรัฐบาลเก่า ซึ่งแม้จะเลวร้ายอย่างไรก็ลืมความเลว เพราะรัฐบาลใหม่มักจะเลวกว่ารัฐบาลเก่า หรือรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ มักเป็นรัฐบาลที่เลวกว่ารัฐบาลนอกอำนาจ หรือรัฐบาลเก่าที่ไร้อำนาจ แทบเสมอไป"

เมื่อ รสช.ยึดอำนาจได้ 1 เดือน เผอิญข้าพเจ้าผ่านไปเมืองลอสแองเจลีส ในสหรัฐฯ หนังสือภาษาไทยที่เมืองนั้น ชื่อ 'สยามมีเดีย' และสมาพันธ์ชาวหนังสือพิมพ์ไทยแห่งรัฐคาลิฟอร์เนีย ขอให้ข้าพเจ้าปาฐกถาเรื่องการเมืองในเมืองไทย ณ คืนวันที่ 22 มีนาคม 2534 ข้าพเจ้าได้ไปพูดให้เขา และตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าทางมติชนในกรุงเทพฯ ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่าไม่ควรไปบริภาษ รสช.ในต่างประเทศ แม้ก่อนหน้านั้น คนโตในมติชนซึ่งใกล้ชิดกับคนโตใน รสช.ก็ให้คนมากระซิบข้าพเจ้าว่า ไม่ควรเคลื่อนไหวต่อต้าน รสช. ซึ่งข้าพเจ้าก็ตอบขอบใจเขาไป และบอกเขาไปด้วยว่ายังไม่ตาย จะไม่ให้เคลื่อนไหวกระไรได้

ครั้นคณะ รสช.ยึดอำนาจครบสามเดือน สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้เชิญให้ข้าพเจ้าไปอภิปราย ณ ห้องเอที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับนายภูวดล ทรงประเสริฐ ดูเหมือนมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียวที่ลงถ้อยคำของข้าพเจ้าอย่างคร่าวๆ โดยที่นายภูวดลพูดดีกว่า มีน้ำหนักมากกว่า และให้ข้อมูลมากกว่า กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงเอาเลย ดูเหมือนต่อมาเขาก็ถูกตีจนหัวน่วมไป

ก่อนหน้านั้น ข้าพเจ้าเป็นนักเขียนประจำของมติชน ซึ่งประกาศว่าการยึดอำนาจของ รสช.เป็นเผด็จการโดยธรรม หากข้าพเจ้าเห็นว่าพวก รสช.เป็นพวกมารที่อยู่ฝ่ายอธรรม จึงถอนตัวออกมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น แม้จะยังชอบพอกับนายใหญ่ในแวดวงของนิตยสารฉบับดังกล่าวก็ตามที

ครั้น รสช.ยึดอำนาจได้หกเดือน ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากองค์การนิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ให้ไปแสดงปาฐกถา ณ หอประชุมเล็ก เรื่อง "6 เดือน รสช. ความถดถอยของประชาธิปไตยไทย" อันเป็นเหตุให้ สุจินดา คราประยูร ฟ้องข้าพเจ้าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหมิ่นประมาทตัวเขา ดูเขาจะเผยอตัวขึ้นในระดับสูงเลยทีเดียว

อนึ่ง เมื่อรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ภายในกำกับของ รสช.ตั้งมาครบ 100 วัน ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2534 มีผู้สื่อข่าวนิตยสาร Time รายสัปดาห์ของสหรัฐฯ มาสัมภาษณ์ข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้ามีความเห็นประการใดเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ข้าพเจ้าแจกแจงแสดงมติไปเป็นข้อๆ เป็นเวลานาน เขาว่าน่ารับฟัง แต่คงเขียนลงพิมพ์ไม่ได้ เพราะเท่าที่ฟังคนอื่น ดูเป็นนัยบวกทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลซื่อสัตย์ สุจริตและจริงใจ หากข้าพเจ้าบอกว่าความซื่อความสัตย์ เป็นเพียงรากฐานแห่งการปกครอง โดยผู้ปกครองต้องสามารถด้วย จะมาช่วยเหลือเกื้อกูลให้คงสภาพเดิมไว้ ก็เท่ากับช่วยให้คนรวยได้รวยขึ้น คนจนก็ยิ่งจนลง แถมปล่อยให้มีการทำลายระบบนิเวศวิทยาอย่างเลวร้ายลงเรื่อยๆ นั้น จะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ดีได้ละหรือ

ยิ่งนายกฯ ไม่ต้องการเป็นที่เกลียดชัง ไปไหนก็ยิ้มและแสดงความจริงจังในการแก้ปัญหา แต่แก้ปัญหาหลักไม่ได้เลย โดยสยบยอมกับ รสช.แทบทุกเรื่อง และ รสช.กร้าวขึ้นทุกที แถมโกงกินยิ่งกว่ารัฐมนตรีและผู้แทนราษฎรที่ทุจริตในรัฐบาลก่อนเสียอีก แล้วยังจักให้ได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำในระดับโลกอีกละหรือ

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของอดีต แล้วข้าพเจ้าต้องต่อสู้คดีกับสุจินดา คราประยูร ถึง 4 ปี จึงได้ชัยชนะ และที่เขาว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนั้น อยากถามท่านทั้งหลายว่าเหตุการณ์เมื่อปี 2534-35 มีอะไรเหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2549 - 2550 บ้างไหม

อนึ่ง อยากให้ตราไว้ด้วยว่า ปี 2534 นั้น ข้าพเจ้าวางแผนจัดงานฉลอง 60 ปี ประชาธิปไตยไทย โดยที่ไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดหรือพรรคการเมืองใดสนใจในเรื่องนี้เอาเลย แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะร่วมวางแผนกับข้าพเจ้ามาตั้งแต่ต้น จนเขาเรียกข้าพเจ้าว่า The Great Su ซึ่งเขาบอกว่ายิ่งใหญ่กว่า Big Su คือ สุจินดา คราประยูร ครั้นเขาเข้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เขาก็ถอนตัวจากโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตยไป ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์คือปัจจัยหลักในการร่วมกับคณะรัฐประหาร 2490 ในการฆ่าเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยไทย ข้าพเจ้าเองต้องหนี Big Su ไปอยู่นอกประเทศ จนได้ไปจัดงานฉลองดังกล่าวที่เมืองชิคาโกในสหรัฐ โดยมีคนไทยและเทศมาร่วมจากแทบทุกรัฐ รวมถึงจากแคนาดาและเมืองไทยด้วยบ้าง โดยที่ปีนี้ ประชาธิปไตยก็จะมีอายุครบ 75 ปีจะมีงานฉลองอะไร ในทางที่เป็นอนุสติแค่ไหน น่าสงสัยอยู่

ข้าพเจ้าเองก็ถูกรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สั่งให้ฟ้องเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2549 ทั้งยังมีการเตรียมฟ้องในคดีทำนองเดียวกันอีก หนึ่งวันก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการรัฐประหารคราวนี้ มีข้ออ้างหนึ่งใน 4-5 ข้อว่าทักษิณหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่จนบัดนี้แล้ว ก็ไม่เห็นทักษิณถูกรัฐบาลใหม่ฟ้องร้องในเรื่องนี้ ยังผู้ที่ถูกทักษิณเล่นงานด้วยคดีดังกล่าว รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ก็ไม่เห็นทำอะไรให้เป็นรูปธรรม แม้ข้าพเจ้าจะเขียนจดหมายตรงถึงนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับแล้วก็ตาม โดยได้รับคำตอบจากสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงได้รับทราบ และส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับทราบเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

ที่น่าห่วงยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่ข้าพเจ้าชนะคดีสุจินดามาแต่ พ.ศ.2538 แล้วก็ตาม แต่แม้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 นี่เอง ข้าพเจ้าก็ยังถูกกักตัวอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะมีหมายจับข้าพเจ้าจากคดีดังกล่าวขึ้นที่จอคอมพิวเตอร์ของพนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานผู้ต้องหา จะว่านี่เป็นการไม่เอาไหนของระบบราชการไทย ซึ่งปฏิวัติรัฐประหารกันมากี่ครั้งแล้ว ก็ยังคงเป็นไปอย่างสุกเอาเผากิน อย่างกึ่งดิบกึ่งดีอยู่นั่นแล หรือจะให้แปลไปว่าทักษิณยังมีอิทธิพลอยู่

ที่ข้าพเจ้าเล่ามาทั้งหมดนั้น อย่าหาว่าเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บเลย โดยหวังว่าท่านที่อดใจฟังมาแต่ต้น คงไม่เสียเวลาเปล่า กระมัง และนี่ก็เกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดมาถึงสี่เดือนเข้านี่แล้ว ข้าพเจ้าพูดเสร็จแล้ว จะถูกจับอีกหรือไม่ ไม่ทราบ ดังพรรคพวกข้าพเจ้าที่ไปสังกัดอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีก็เตือนไม่ให้ข้าพเจ้าเคลื่อนไหว ซึ่งดูจะเป็นอีหรอบเดียวกับคำเตือนในสมัย รสช.แรกเรืองอำนาจนั้นแล จะอย่างไรก็ตาม ขอให้ถือว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงอารัมภบท ดังจะขอเอ่ยถึงเนื้อหาสาระต่อแต่นี้ไป

รัฐประหาร ๑๙ กันยา
'รัฐประหาร' คำนี้แปลมาจาก Coup d'etat ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึงการยึดอำนาจการปกครองของรัฐ เข้าใจว่าใช้คำๆ นี้ในภาษาไทย เมื่อคราวที่ผิน ชุณหะวัน นำคณะทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 จะถือว่าวันเดือนปีดังกล่าว เป็นการเริ่มศักราชแห่งการทำลายล้างประชาธิปไตยเอาเลยก็ว่าได้ แม้จะยังคงรูปแบบอยู่จนเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้มล้างรัฐสภาและรัฐธรรมนูญเอาเลย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501

ก็การทำลายล้างประชาธิปไตยนั้น จำต้องใช้อาสัตย์มาแทนที่สัจจะ สังหารผู้ที่ทรงคุณธรรม โดยเฉพาะผู้คนที่ต้องการรับใช้ราษฎรส่วนใหญ่ ทำร้ายป้ายสีคนดีๆ ที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายธรรมะให้กลายเป็นตัวเลวร้าย และถ้าปลิดชีวิตใครได้ จะโดยกระบวนการยุติธรรมหรือหาไม่ก็กระทำลงไปอย่างไร้หิริโอตตัปปะใดๆ สิ้น พฤติกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้

6 พฤศจิกายน 2490 และ 20 ตุลาคม 2501 เป็นวันอัปยศอย่างสุดๆ ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประชาธิปไตยไทย ซึ่งเริ่มถือกำเนิดมาแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยที่จะถือเอาวันดังกล่าวเป็นรัฐประหารเพื่อราษฎรเป็นครั้งแรกของสยามก็ยังได้ หากในเวลานั้น ใช้คำว่าเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือจากระบอบประชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่การปกครองของสยามก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงธนบุรี ตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าไม่เป็นการสืบสันตติวงศ์ ก็เป็นการแย่งชิงราชบัลลังก์กัน คือเพื่อประโยชน์ของชนชั้นบนเท่านั้นเอง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแทบทุกรัชกาล แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็เพื่อให้ชนชั้นบนครอบงำชนชั้นล่าง ใช้ลัทธิศาสนาและวัฒนธรรมทางชนชั้น สะกดให้ชนชั้นล่างยอมรับความไม่เสมอภาค จะอย่างเต็มใจหรือไม่ก็สุดแท้

ความข้อนี้ สายชล สัตยานุรักษ์ ได้อธิบายไว้อย่างน่าฟังว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา…
"ปัญญาชนกระแสหลักสร้างความเชื่อว่า สังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นเป็นสังคมที่ดี มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง กับการเสนอว่า 'การปกครองแบบไทย' ที่อำนาจรัฐรวมศูนย์อยู่ในมือของคนๆ เดียว เป็นการปกครองที่ดี โดยที่การเลือกตั้ง ก็คือการเลือก 'คนดี' ที่สามารถ (ผู้ที่มีสิทธิในการเลือกก็คืออภิชนหรือชนชั้นนำ ในทางชาติวุฒิหรือคุณวุฒิทางการเมืองการปกครอง) แล้วให้อำนาจสูงสุดเด็ดขาดแก่ 'คนดี'

ปัญญาชนกระแสหลักอธิบายว่า ชาติกำเนิดและพุทธศาสนา ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีกระบวนการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือถ้าจะมี ก็จะให้พระมหากษัตริย์นั้นเองทรงทำหน้าที่แทนราษฎรในการควบคุมดูแล 'แขนขาแห่งรัฐ' คือฝ่ายบริหารและข้าราชการ มิให้ใช้อำนาจกดขี่เบียดเบียนราษฎร หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

ปัญญาชนกระแสหลักเน้นเรื่อง 'ความยุติธรรม' มากทีเดียว แต่เป็น 'ความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค' คำว่า 'เสมอภาค' ที่ปัญญาชนบางท่านในกลุ่มนี้ใช้อยู่เสมอ หมายถึงทุกๆ คนมีส่วนได้ส่วนเสียเท่าเทียมกัน แต่เป็นความเท่าเทียมกันในระหว่างคนชั้นเดียวกัน ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม อีกทั้งยังเน้นด้วยว่า 'ผู้นำแบบไทย' เป็นแหล่งที่มาของ 'ความยุติธรรม' ส่วน 'เสรีภาพ' ก็มิได้หมายถึงเสรีภาพทางความคิดและในความสัมพันธ์กับรัฐ หรือในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ปัญญาชนกระแสหลักจะเน้นว่า ใน 'ความเป็นไทย' ก็มีเสรีภาพอยู่แล้ว นั่นคือเสรีภาพทางใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุธรรมะขั้นสูงของพุทธศาสนา

วิถีคิดที่ปัญญาชนนี้ปลูกฝัง ยังคงเป็นวิธีกระแสหลักสืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาที่น่าคิดก็คือ พุทธศาสนาแบบโลกกิยธรรมที่คนกลุ่มนี้หวังว่าจะทำให้ 'คนในที่สูง' ให้ความเมตตากรุณาต่อ 'คนในที่ต่ำ' นั้น ยังมีพลังอยู่เพียงใด และการที่สังคมไทยฝากความหวังไว้ที่คนๆ เดียว หรือสถาบันใดสถาบันเดียว ให้ทำหน้าที่ดูแล 'ผู้ปกครองแบบไทย' แทนสังคมนั้น ถูกต้องหรือไม่ เพราะสังคมไทยซับซ้อนขึ้นมาก การจัดการทรัพยากรโดยคนๆ เดียว หรือโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่ผูกขาดอำนาจไว้ในมือ ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมได้เลย จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ ทั้งอำนาจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของทุกสถาบัน"

ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้นำในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็มีแนวคิดในทำนองนี้ และเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2501 ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยและรัฐสภา เป็นรูปแบบที่ไทยเราเอามาจากฝรั่ง อย่างไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เผด็จการคนนั้นประกาศว่าเมืองไทยควรปกครองตามรอยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ถึงกับกุนซือคนสำคัญของเขาที่เป็นปลัดบัญชาการของรัฐบาลอยู่ในเวลานั้นได้ประกาศกับผู้คนในวงในว่า เผด็จการผู้นั้นคือในหลวงรัชกาลที่ 5 กลับชาติมาเกิดเอาเลยทีเดียว

หากกับสาธารณชนกุนซือผู้นั้นประกาศว่า การปกครองของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นไปตามระบอบพ่อขุน คือโยงกลับไปสู่รัฐในอุดมคติแต่สมัยกรุงสุโขทัย กล่าวคือการโยงอดีตและมหาราชจากอดีตมาสร้างความชอบธรรมให้ผู้นำของบ้านเมืองนั้น จะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงอย่างไรไม่สำคัญ ที่สำคัญคือใช้สื่อสารมวลชนและอื่นๆ รวมทั้งระบบการศึกษา สะกดให้มหาชนเชื่อเป็นใช้ได้ หรือจะว่าได้ผลตามทฤษฎีของมาคิเวลลี ก็สุดแท้ ดังภาพยนตร์เรื่อง 'พระนเรศวร' และ 'พระศรีสุริโยทัย' ก็เป็นการมอมเมาอีหรอบนี้

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่กี่ปี พระปกเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือพระบรมราชาธิบายของพระราชบิดาของพระองค์ท่าน ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่ทรงยอมให้มีธรรมนูญการปกครองตามที่มีผู้กราบบังคมทูลในปี ร.ศ.103 นั้นแล แม้กระนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงยืนยันว่าพระราชบิดาของพระองค์ท่านทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างที่เรียกว่า 'พลิกแผ่นดิน' เลยทีเดียว ทรงใช้คำภาษาอังกฤษว่า Revolution ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังทรงใช้ภาษาอังกฤษว่า Evolution

'พลิกแผ่นดิน' ในที่นี้ มองในแง่ดีหมายถึงการเลิกทาส พร้อมๆ กับการสร้างรัฐสมัยใหม่ให้สถาบันกษัตริย์เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยก็จำเดิมแต่กำจัดวังหน้าและอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้คณะสงฆ์ก็หมดความเป็นธรรมจักรที่คอยคานอำนาจอาณาจักรแต่รัชกาลนั้นเป็นต้นมา มีก็แต่การล่าอาณานิคมของฝรั่งเท่านั้น ที่คอยสกัดกั้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ไม่ให้เกินขอบเขตไป

แม้วัฒนธรรมและศาสนธรรมจะเคยมีคุณอยู่กับการเมืองการปกครอง ตรงที่ชนชั้นปกครองเคยได้รับการศึกษามาจากวัด เฉกเช่นไพร่บ้านพลเมือง แต่คุณธรรมดั้งเดิมได้ลดน้อยถอยความสำคัญลงไปเรื่อยๆ จำเดิมแต่เมื่อพวกนักเรียนนอกจากยุโรปเข้ามามีอำนาจมากขึ้นในทางการเมืองการปกครอง โดยชนชั้นปกครองรุ่นใหม่มองเห็นพุทธศาสนาว่ามีคุณค่าแต่ในทางพิธีกรรม หรืออาจช่วยปัจเจกบุคคลได้บ้างในทางขจัดความทุกข์ส่วนตนเป็นกรณีๆ ไป ยิ่งกว่าที่คนเหล่านี้จะเข้าได้ถึงเนื้อหาสาระของพุทธธรรม ที่ควรนำมาประยุกต์ได้กับการเมืองการปกครอง ในขณะที่ผู้ซึ่งเข้าใจเนื้อหาสาระของพุทธธรรม ก็ไม่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงทางโลกสันนิวาสอย่างที่มีลัทธิจักรวรรดินิยมและทุนนิยมเข้ามาเป็นตัวกำกับ นอกเหนือองคาพยพของสยามรัฐราชสีมาอาณาเขต

ใช่แต่เท่านั้น พุทธศาสนิกสมัยใหม่ที่ถือตัวว่าพุทธศาสนาเข้าได้กับหลักวิทยาศาสตร์ของฝรั่งนั้น ก็เลยละเลิกที่จะเข้าใจถึงมิติที่ลึกซึ้งเกินกว่าตรรกวิทยาและแนวคิดของตะวันตกจะเข้าถึงได้ไปอย่างน่าเสียดาย จนไตรสิกขาเป็นเรื่องของคนที่หันออกจากโลก ออกจากการเมือง เพื่อปลีกวิเวกไปเอาเลย ทั้งๆ ที่ไตรสิกขานั้นแลคือเนื้อหาแห่งความเป็นปกติของแต่ละคนและของสังคม (ศีล) ซึ่งเป็นพื้นฐานทางการเมืองการปกครองด้วย โดยที่ศีลสิกขาจะบ่มเพาะขึ้นได้อย่างเป็นปกติ ย่อมมาจากจิตสิกขาหรือสัมมาสมาธิ ซึ่งโยงหัวใจให้เข้าได้ถึงหัวสมอง โดยที่แต่ละคนจะมีความเชื่อทางลัทธิศาสนาและอุดมการณ์ใดหรือไม่ ไม่สำคัญ

นี้นับว่าขัดกับหลักการศึกษากระแสหลักของตะวันตกอย่างฉกรรจ์ ที่เน้นเพียงเรื่องความคิดทางหัวสมองและการหาเหตุผลเพื่อความยิ่งใหญ่ของอัตตา จนเกิดปัจเจกนิยม เพื่อเอาชนะคนอื่น สัตว์อื่น เพศอื่น ชนชาติอื่น ชนชั้นอื่น แม้จนธรรมชาติ

จิตสิกขาช่วยให้เกิดความเป็นปกติของแต่ละคนและสังคมอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบกัน (ศีล) และการเจริญจิตสิกขาในทางสัมมาสติ ย่อมช่วยลดความเห็นแก่ตัวลง จนเกิดจิตสำนึกในการรับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ยิ่งกว่าการทะเยอทะยานเพื่อไต่เต้าไปเอาดีทางทรัพย์สิน ยศศักดิ์ อัครฐาน ยิ่งเห็นแก่ตัวน้อย โดยรู้จักโยงหัวใจกับสมองให้สัมพันธ์กัน ย่อมสามารถแลเห็นสภาวะสัตย์ตามความเป็นจริง (ปัญญา) อย่างเป็นองค์รวม อย่างไม่เป็นเสี่ยงๆ และอย่างโยงใยถึงกันและกันในทางอิทัปปัจจยตา จนอาจแลเห็นความอยุติธรรมทางโครงสร้างของสังคม และระบบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมในโลกอีกด้วย

ข้าพเจ้ายังแลไม่เห็นเลยว่า นักการเมืองของไทยที่อ้างถึงความเป็นพุทธมามกะของเขาจะเข้าใจประเด็นนี้ และถ้าเข้าถึงประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน เขาก็จะแลเห็นได้ด้วยว่าสาระของพุทธศาสนาที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีอยู่ในสังคมไทยแต่ไหนแต่ไรมา ยิ่งสังคมบ้านด้วยแล้ว มีความเป็นพุทธยิ่งกว่าสังคมเมือง แม้การนับถือผีและไสยเวทจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่อุบายวิธีฝ่ายพุทธก็สามารถสะกดดิรัจฉานวิชาได้อย่างแยบคาย โดยเฉพาะผู้นำทางฝ่ายสงฆ์นั้นสามารถอาจหาญมาโดยตลอด แม้กับการแนะนำชนชั้นปกครองอย่างเป็นมโนธรรมสำนึก และเป็นห้ามล้อให้กลายๆ ก่อนที่อาณาจักรจะเข้าไปทำลายศาสนจักรหรือธรรมจักร แม้สมณศักดิ์ตามหัวเมืองต่างๆ แทบทั่วทั้งสยามประเทศ ย่อมเกิดขึ้นจากพลังของราษฎรในทางธรรมแทบทั้งสิ้น

ดังกรณีของครูบาศรีวิชัย จะถือว่าท่านเป็นพระสังฆราชของราษฎรในภาคเหนือก็ยังได้ แต่แล้วท่านก็ถูกอำนาจของราชาธิปไตยทำลายล้าง เฉกเช่นการที่สิริจันโทภิกขุ ถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ในเวลาใกล้ๆ กัน แต่นั่นราชาธิปไตยยังเห็นคุณค่าทางไตรสิกขาของพระคุณท่าน จึงต้องถวายสมณศักดิ์คืน ทั้งยังเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นไปอีกด้วย ส่วนกรณีของอาสโภภิกขุนั้น ถูกถอดจนถึงถูกจับสึก แล้วนำไปขังคุกอีกด้วย เพราะอย่างน้อยในสมัยราชาธิปไตย ชนชั้นนำยังมีธรรมประจำใจอยู่ มากน้อยตามส่วน

ครั้นมาถึงสมัยเผด็จการ ส. ธนะรัชต์ ย่อมมีแต่ความกักขฬะและเลวร้ายอย่างสุดๆ เอาเลย ผนวกกับความเหลวแหลกของสถาบันสงฆ์ชั้นสูงรวมอยู่ด้วย โดยที่สถาบันสงฆ์ยังไม่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเลย แม้พระคุณท่านรูปนั้นจะได้รับสมณศักดิ์คืน และได้รับเลื่อนยศศักดิ์ให้สูงส่งขึ้นไปก็ตาม

พระภิกษุสยามรูปเดียวที่เห็นชัดว่าประชาธิปไตยที่ไปพ้นรูปแบบของฝรั่งมีอยู่ในธรรมิกสังคมนิยม คือ พุทธทาส อินทปัญโญ และฆราวาสคนเดียวที่เข้าใจได้ชัดเจนว่าจำต้องพัฒนาประชาธิปไตยที่เราเอาอย่างฝรั่งมา ให้มีสาระในทางธรรมยิ่งๆ ขึ้นก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำความคิดคนสำคัญของคณะราษฎรแต่ พ.ศ.2475. ท่านทั้งสองได้สนทนากันที่ทำเนียบท่าช้างเป็นเวลาห้าวันติดๆ กัน วันละราวๆ สามชั่วโมง เพื่อประยุกต์พุทธธรรมให้มานำผู้คน ให้ได้ใช้วัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อเกิดความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ (สันโดษ) และเพื่อเอาชนะตัณหา ซึ่งเป็นต้นที่มาของทุนนิยมและบริโภคนิยม

การสนทนาวิสาสะของปราชญ์ทั้งสอง ทั้งทางธรรมและทางโลกนี้ เกิดขึ้นก่อนพระมติในเรื่อง Gross National Happiness ของพระราชาธิบดีภูฐานกว่า 60 ปี และถ้าท่านรัฐบุรุษอาวุโสไม่ถูกเบียดเบียนบีฑาให้กลายเป็นมารร้ายไปในทุกๆ ทาง พุทธทาสภิกขุก็อาจมีบทบาททางธรรมจักร เพื่อนำอาณาจักรไปสู่ประชาธิปไตยในรูปแบบธรรมิกสังคมนิยมอย่างสมสมัยก็ได้

จะอย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำในบัดนี้ ไม่ว่าจะในคณะรัฐมนตรี ในรัฐสภา หรือในคณะ รสช. (ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ไม่มีทางเข้าใจเนื้อหาสาระที่ปราชญ์ทั้งสองสนทนากันนั้นเลย อะไรๆ ที่ปรากฏออกมาหลัง 19 กันยายน 2549 จึงเต็มไปด้วยรูปแบบและพิธีกรรม หาไม่ก็มุ่งที่ตัวบทกฎหมายอย่างเข้าไม่ถึงความยุติธรรม ที่ร้ายกว่านั้นก็คือการเห่อความทันสมัย จนถึงกับให้นายกรัฐมนตรีเป็นวินสตัน เชอร์ชิล โดยแทบไม่รู้เลยว่าคนๆ นั้นเลวร้ายอย่างไรบ้าง

อนึ่ง การยึดอำนาจนอกบริบทของกฎหมายนั้น แม้ผู้ชนะจะหวังดีอย่างไร ก็จำต้องตอบแทนพวกที่มีส่วนในการใช้กำลังทหาร โดยคนพวกนี้ไม่ตระหนักเอาเลยก็ว่าได้ว่าเงินเดือนและเบี้ยประชุมที่รับๆ กันนั้นผิดหรือถูก ตนมีความรู้อะไร จึงไปรับเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนต่างๆ ที่รัฐถือหุ้นใหญ่อยู่

ยิ่งการที่จะมีประชาธิปไตยในระบอบรัฐธรรมนูญ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยแล้ว จำต้องใช้กุศโลบายอันสุขุม ประกอบกับความรู้เรื่องอดีตของเราเอง และของประเทศอื่นๆ อันผ่านร้อนผ่านหนาวมากับการรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้อย่างไร เพื่อให้สถาบันดังกล่าว เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่ใช่เพื่ออภิสิทธิ์ของชนชั้นบน ความข้อนี้ คนที่มีอำนาจอยู่ในบัดนี้ก็ดูจะไม่เข้าใจ

การเข้าใจซึ้งถึงประเด็นเช่นนี้นับว่ายากอยู่แล้ว และยิ่งจะหาคนที่ปฏิบัติได้ตามความเข้าใจดังกล่าว เพื่อความเสมอภาคอย่างเป็นภราดรภาพ ให้เข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง ยิ่งเท่ากับเป็นการงมเข็มในมหาสมุทรเอาเลยทีเดียว โดยเฉพาะก็เมื่อมองไปในแวดวงอันจำกัดของนักวิชาการที่ขาดกระดูกสันหลัง หรือชนชั้นนำที่ปราศจากความกล้าหาญทางจริยธรรม แต่ถ้าลงไปยังขบวนการของประชาราษฎร โดยเฉพาะชนชั้นล่าง แม้จนชนเผ่าต่างๆ รวมถึงชนชั้นกลางที่ต่อสู้มาอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เพื่อพวกเขา หากเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เราก็จะมีหวังในทางสร้างสรรค์สันติประชาธรรมอย่างสำคัญยิ่งนัก ที่น่าสงสัยก็คือคนที่กุมบังเหียนอำนาจอยู่ในเวลานี้ จะแลเห็นเส้นผมที่บังภูเขาอยู่ละหรือ

เดิมเจ้าภาพในงานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าปาฐกถาว่าด้วยพระราชอำนาจกับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าตราบที่ชนชั้นนำยังเข้าไม่ถึงซึ่งความละเอียดอ่อนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วไซร้ การพูดไปก็เท่ากับสองไพเบี้ย เพราะจะอนุรักษ์สถาบันอันสูงสุดนี้ไว้ได้ภายในระบอบประชาธิปไตย ชนชั้นนำในสังคมต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และกล้าขัดทัศนคติในทางที่เป็นประชานิยม ถ้าประชานิยมไม่ชอบธรรม

ข้าพเจ้าไม่มองไปแต่ที่นักการเมือง นักการทหาร หากมองไปที่ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย แล้วก็ยังมองไม่เห็นว่ามีใครสักกี่คนที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายธรรมะอย่างอาจหาญ และอย่างกล้าขัดมติที่ว่าของสิ่งไรเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงไว้หลายคราวแล้ว ดังขอเอ่ยถึงบ้างก็ได้ว่าคือ

(1) คำกล่าวปิดการอภิปรายทางวิชาการ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ
(2) บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย
(3) สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ

โดยมีแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ใครที่สนใจคำพูดและข้อเขียนของข้าพเจ้า ย่อมหาอ่านเอาได้ ไม่จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้องมาจาระไรอะไรอีกในเรื่องที่ว่านี้ อย่างน้อยคำแปลภาษาอังกฤษของข้าพเจ้านั้น นักเขียนมีชื่อเช่น จอห์น รอสตัน ซอล สามีผู้สำเร็จราชการประเทศคานาดาคนก่อน ยังเขียนมาถึงข้าพเจ้าว่า

'ได้อ่านปาฐกถาของคุณที่แสดง ณ เดือนเมษายน 2006 เรื่องพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว ขอบอกว่าเป็นปาฐกถาที่ดีมาก เพราะวางมาตรการทางด้านความยุติธรรม ที่หลายประเทศและหลายระบบพยายามไปให้ถึง ทางด้านประวัติศาสตร์ คุณให้เหตุผลอย่างวิเศษสุด สำหรับสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผู้คนในประเทศอื่นๆ อาจเรียนรู้ได้จากถ้อยคำของคุณ'

ยิ่งเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือทางวิชาการที่จัดพิมพ์ขึ้นในวาระแห่งการเฉลิมฉลองการสถาปนาครบรอบ 72 ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีคณบดีคณะรัฐศาสตร์เป็นบรรณาธิการ และอธิการบดีเป็นผู้เขียนคำนำด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็สรุปได้เลยว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งยืนหยัดอยู่ในทางความเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมา 15 ปีนั้น ครั้นถูกเผด็จการเอาคำว่าการเมืองออกจากชื่อมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแห่งนั้นก็ได้ลดบทบาททางการเมืองลงเรื่อยๆ แม้จะมีครูบาอาจารย์และนักศึกษาหลายคนแสดงบทบาทอย่างน่าทึ่ง ไม่แต่ในกรณีตุลาคม 2516 และตุลาคม 2519 ตลอดจนพฤษภาคม 2535 เท่านั้น แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เสื่อมทรามลงจนถึงที่สุดเอาในปีที่สถาบันดังกล่าวมีอายุครบ 6 รอบนักษัตร

แท้ที่จริง ตั้งแต่ชื่อธรรมศาสตร์ตัดขาดไปจากชื่อการเมือง พร้อมๆ กับการยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ อธิการบดีแทบทุกคน ถ้าไม่เป็นนักการเมือง ก็รับใช้นักการเมือง หรือชนชั้นบนด้วยกันทั้งนั้น ยกเว้นเพียงนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งยืนหยัดอยู่ข้างผู้ยากไร้ และต้องการความเป็นเลิศในทางวิชาการ โดยเขาได้รับการเนรคุณจากอภิชนอย่างเห็นได้ชัด มีอธิการบดีอีกคนที่พยายามเอาเยี่ยงนายป๋วย แต่ก็ถูกสกัดกั้นให้ต้องสละตำแหน่งดังกล่าวไปภายในเวลาอันสั้น

ข้าพเจ้าขอเสนอว่า ถ้าจะเอาชื่อเดิมที่มีคำว่าการเมืองกลับเข้ามาอีก ผู้บริหารและครูอาจารย์จักต้องมีกึ๋นมากกว่าที่แล้วๆ มา หาไม่ควรเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้ตามพระอภิไธยของเจ้านายต่างๆ ซึ่งแทบทุกมหาวิทยาลัยของรัฐใช้ชื่อเช่นว่านี้มาแล้ว โดยจะยุบวิทยาเขตที่ท่าพระจันทร์เสียก็ยังได้ เพื่อเพิ่มความสง่างามให้พระบรมมหาราชวัง ยิ่งจะออกนอกนระบบราชการไปด้วยแล้ว ก็ขอให้เป็นไปในแนวทางของทุนนิยมอย่างสุดๆ หากใช้ยี่ห้อในทางขัตติยาธิปไตยไว้ด้วย ว่าของเราไม่เหมือนใคร จะเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั้งหลายก็ตรงไม่มีความเป็นเลิศในทางวิชาการปานๆ กัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมักใหญ่ใฝ่สูงในทางส่วนตัว อย่างพร้อมที่จะประจบประแจงผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์ตามๆ กัน และพร้อมจะหลับตาเจริญรอยตามความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ อย่างไม่จำต้องคำนึงถึงสัจจะเอาเลยก็ได้

ขอกล่าวโดยสรุปว่ารัฐประหารทุกครั้ง เป็นโทษกับประชาธิปไตยและประชาชนพลเมือง ตลอดจนสถาบันกษัตริย์ (เว้นครั้งแรกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ) แม้รัฐประการครั้งที่ 2 ในรัชกาลที่ 7 จะยุติการคืนไปสู่ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่นั่นกางทางให้ ป.พิบูลสงคราม ได้เริ่มเถลิงอำนาจในทางเผด็จการ. รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น แม้จะอ้างว่ากระทำไปเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ตาม

ดังได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า ชนชั้นนำที่มีอำนาจอยู่ในเวลานี้ ไม่เข้าใจถึงประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ในกำกับของรัฐธรรมนูญ จะดำรงอยู่ได้อย่างสอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของราษฎรและมนุษยชาติ ตลอดจนความสมดุลทางธรรมชาติ พร้อมๆ ไปกับความยุติธรรมทางสังคม ชนชั้นนำไม่แต่ต้องเข้าใจถ้อยคำทั้งสามนี้ให้ชัดเจนเท่านั้น หากยังต้องประกอบไปด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม พร้อมทั้งอุดหนุนการวิพากษ์วิจารณ์ในระดับต่างๆ อย่างอิสระเสรีอีกด้วย เพราะนี่คือรากฐานของประชาธิปไตย

นอกไปจากนี้แล้ว ชนชั้นปกครองต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างจริงใจ พร้อมที่จะเรียนรู้จากประชาชนพลเมืองในระดับต่างๆ นอกเหนือผู้คนในแวดวงของระบบราชการ ธุรกิจการค้า และผู้ที่อ้างตนว่าเป็นอภิชน ที่สำคัญก็คือคนยากคนจน คนในระดับรากหญ้า คนที่ถูกเอาเปรียบ ชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพราะคนพวกนี้เผชิญกับทุกขสัจทางสังคมมาโดยตรง โดยที่เราอาจเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แล้วขจัดทุกข์นั้นๆ ได้โดยสันติประชาธรรม

ที่น่าสนใจยิ่งก็คือคนชายขอบเหล่านี้ได้เติบโตจนบรรลุนิติภาวะ รวมถึงชนชั้นกลางที่รวมตัวกันต่อสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ ก็ขยายตัวขึ้นอย่างน่าสังเกต แต่คนที่รับผิดชอบกับรัฐหรือกับคนที่บริหารการศึกษาในกระแสหลักไม่รู้จักประเด็นที่สำคัญนี้กันเลย ไม่แต่ไม่ให้ความสนใจ หากยังเหยียดหยามและเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย จะด้วยจงใจหรือไม่ก็สุดแท้

อนึ่ง สถาบันกษัตัริย์กับองค์พระราชาธิบดีนั้น ก็แตกต่างกันอย่างฉกรรจ์ ดังคำในภาษาอังกฤษมีว่า The King is Dead, Long Live the King แม้องค์พระประมุขจะสวรรคตไปแล้ว แต่การสืบสันตติวงศ์ย่อมดำรงอยู่ต่อไปอย่างไม่ขาดหาย หมายความว่าสัญลักษณ์ของประเทศชาติคือสถานภาพของพระมหากษัตริย์ ที่มีความเป็นกลาง อย่างที่ทุกๆ ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ให้ความเคารพนับถือ และในยามวิกฤต อาจใช้พระราชอำนาจในทางธรรม ภายในกรอบของกติกาอันตราไว้อย่างชัดเจน

องค์พระประมุขในระบอบประชาธิปไตยนั้นย่อมปราศจากอำนาจ โดยเฉพาะก็ทางกองทัพ ซึ่งก็คือตัวแทนของโทสจริต โดยที่อำนาจในการบริหารย่อมอยู่กับรัฐบาล แต่ก็ต้องมีมาตรการในการตรวจสออำนาจนั้นๆ ให้โปร่งใส และมาตรการที่ว่านี้ไม่ได้ตราไว้ในทางตัวบทกฎหมายเท่านั้น หากต้องมีคนที่กล้าหาญทางจริยธรรมคอยตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม หาไม่ บ้านเมืองย่อมเป็นไปในทางเผด็จการ ซึ่งรวมถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้องค์พระประมุขจะทรงเป็นจอมทัพ ก็เป็นไปในทางสัญลักษณ์เท่านั้น

อำนาจเป็นตัวแทนของโทสจริตฉันใด ทรัพย์ศฤงคารต่างๆ ก็เป็นตัวแทนของโลภจริตฉันนั้น องค์พระประมุขในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องตั้งพระองค์ให้ห่างไว้จากราชทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์หรืออื่นใด ราชเลขาฯ ก็ต้องไม่ดำเนินธุรกิจการค้านอกเหนือการรับใช้องค์พระประมุข ถ้าโลภจริตติดอยู่กับสถาบันกษัตริย์หรือผู้ที่รับใช้ใกล้ชิด ย่อมจะทำให้สถาบันดังกล่าวเข้าไปเกลือกกลั้วกับทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งนักการเมือง นักการทหาร และนักธุรกิจในระดับชาติและนานาชาติ ย่อมมีทางเข้ามาทำลายสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่ช้าก็เร็ว

สมดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ที่ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกว่า ถ้าอยากรวย ให้เป็นเศรษฐี การเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องจน และรักราษฎรยิ่งกว่าพระองค์เอง จึงจะรักษาแผ่นดินไว้ได้ โดยได้รับคำสรรเสริญจากอนุชนในภายภาคหน้า

ที่ร้ายยิ่งกว่าโลภะและโทสะคือ"โมหะ" ถ้าสังคมเต็มไปด้วยความกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จ ยกยอปอปั้นสรรเสริญเยินยอไปในทางศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์อย่างแพร่หลาย ถึงขนาดบ้าคลั่งอย่างปราศจากมโนธรรมสำนึก เราย่อมออกจากโมหจริตไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่กับแสงสว่างในทางปัญญา ให้เกิดความรู้รอบ รู้จริง ไม่ใช่รู้อย่างเป็นเสี่ยงๆ และความรู้หรือความจริงที่ว่านี้ ย่อมพร้อมที่จะให้คนเห็นแย้ง ต้องไม่ให้สถาบันใดมีความศักดิ์สิทธิ์จนจับต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นที่จะลดอภิสิทธิ์ต่างๆ ลง ก่อให้เกิดความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อมหาชน

การเมืองการปกครอง แม้ในระบอบประชาธิปไตยย่อมเกี่ยวข้อง จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตามกับความโลภโกรธหลงที่ว่านี้ ยิ่งชนชั้นนำในบัดนี้เห่อตามตำราฝรั่งที่ตนไปเรียนรู้มาอย่างที่ตนนึกว่าตนแม่นอย่างเป็นเสี่ยงๆ และไม่รู้จักภูมิธรรมของไทยเราเอง คนกึ่งดิบกึ่งดีพวกนี้จึงมีโทษมากกว่าคุณ

ถ้ารักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้นอกเหนือการเมือง ให้ห่างจากโลภะ โทสะ โมหะ ได้เท่าไหร่ นั่นคือธงชัยในทางธรรม หรือต้นไม้ใหญ่ในการให้ร่มเย็นแก่พสกนิกร ตลอดจนสรรพสัตว์ แม้ต้นไม้นี้จะมีกาฝาก หรือโอนเอียงไป ก็ควรช่วยกันค้ำจุนไว้ให้ดำรงอยู่อย่างเหมาะสมกับกาลสมัย กล่าวคือสถาบันกษัตริย์ต้องการผู้กล้าหาญทางจริยธรรม คอยค้ำจุน ตามกระแสของสันติประชาธรรม คือปราศจากความรุนแรงทั้งทางอำนาจและทางการเงินหรือทางอุดมการณ์ใดๆ

การธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ไม่ได้หมายถึงการยกย่องเชิดชูองค์พระมหากษัตริย์อย่างสุดๆ ว่าทรงไว้ซึ่งพระอัจฉริยภาพนานาประการ เป็นต้น แม้นั่นจะเป็นความจริง ก็ยากที่พระราชาองค์ต่อไป จะทรงพระสถานะดังกล่าวได้ ยิ่งถ้าคำสรรเสริญเยินยอดังกล่าว เกินเลยความจริงไป และถ้าสถาบันดังกล่าวเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจ (โทสะ) และทรัพย์ศฤงคาร (โลภะ) นั่นนับว่าเป็นอันตรายยิ่งนัก และไม่ปรับสถาบันที่ว่านี้ให้เป็นไปในทางรับใช้ราษฎรอย่างโปร่งใส หากทรงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์สำหรับพระราชาและคนจำนวนน้อยแล้วไซร้ นี่คือโมหจริตโดยแท้

องค์ประมุขในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญนั้น ถ้ามีความเป็นสามัญชนมากเท่าไร มีความเรียบง่ายมากเท่าไร เปิดกว้างอย่างรับฟัง ยิ่งกว่าตั้งตนเป็นสัพพัญญู สถาบันกษัตริย์ย่อมอยู่ได้ยืนนานเท่านั้น ขอเพียงให้ท่านที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งพระองค์เป็นกลาง อย่างไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สถาบันดังกล่าวก็ดำรงคงอยู่ได้ เช่นพระเจ้ายอร์ชที่หกของอังกฤษนั้น ทรงขาดความเป็นผู้นำเอาเลยก็ว่าได้ ทั้งยังทรงติดอ่างด้วย หากทรงมีพระราชินีเคียงข้างพระองค์อย่างไม่อ้าขาผวาปีกไปในทิศทางอันมิชอบ โดยที่ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ฝ่ายราษฎรจริงๆ จึงทรงได้รับความเคารพนับถือจากมหาชน ในขณะที่พระเชษฐานั้น ทรงนึกว่าพระองค์เองฉลาดเฉลียวยิ่งกว่านักการเมือง จนมีฝักฝ่ายมากมาย เคราะห์ดีที่ทรงสละราชสมบัติไปเสีย

ส่วนพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบันของอังกฤษนั้นแม้จะทรงอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากเกินไป แต่เมื่อรู้พระองค์ว่าถ้าไม่ทรงรับฟังมติมหาชน สถาบันกษัตริย์อาจปลาสนาการไปก็ได้ จึงยอมปรับปรุงเปลี่ยนพระมติ แม้จะล่าช้าไปบ้าง ก็ยังทันท่วงที พร้อมๆ กันนี้ ผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ยังหาทางให้ทรงรับฟังจากบุคคลต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการอยู่เนืองนิตย์ การรับฟังมติต่างๆ นั้นจำเป็น ยิ่งกว่าการพระราชทานพระราโชวาทเป็นไหนๆ

พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเล่า แม้บ้านเมืองจะถูกฮิตเลอร์ยึดครอง และพวกนาซีจะจับยิวชาวเดนมาร์กไปฆ่า ก็รับสั่งว่าจะทรงติดตราเดวิดอันเป็นเครื่องหมายของความเป็นยิวที่พระอุระ คือเยอรมันต้องจับพระองค์ไปด้วย และแล้วฮิตเลอร์ซึ่งมีอำนาจอันล้นเหลือ ก็แพ้พระราชาประเทศเล็กๆ ซึ่งมีธรรมเป็นอำนาจ เฉกเช่นพระเจ้าแผ่นดินสเปนในบัดนี้ ที่ทรงอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่เข้าข้างทหารที่ทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ประเทศนั้นเพิ่งเป็นประชาธิปไตยหลังเมืองไทยช้านาน นับว่าทรงรักษาสาระของประชาธิปไตยไว้ได้ พร้อมๆ กับสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในกรณีของกัมพูชานั้น เห็นได้ชัดว่ากษัตริย์สีหนุทรงมีบทบาทในทางอัจฉริยภาพแทบทุกๆ ทาง และบทบาทของพระองค์เป็นไปทั้งในทางลบและบวก มีคนชอบและชังปานๆ กัน แม้จะทรงรักษาสถาบันกษัตริย์ของเขมรไว้ได้จนพระราชโอรสสืบราชสมบัติแทน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสถาบันกษัตริย์ของประเทศนั้นจะไปพ้นรัชกาลนี้ หรือพ้นพระชนม์ชีพของสมเด็จพระสีหนุด้วยซ้ำไป

ที่ยกตัวอย่างจากอื่นมาบรรยายให้ฟัง ก็หวังว่าท่านคงหาข้อสรุปได้กับกถามุขในวันนี้


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

พระภิกษุสยามรูปเดียวที่เห็นชัดว่าประชาธิปไตยที่ไปพ้นรูปแบบของฝรั่งมีอยู่ในธรรมิกสังคมนิยม คือ พุทธทาส อินทปัญโญ และฆราวาสคนเดียวที่เข้าใจได้ชัดเจนว่าจำต้องพัฒนาประชาธิปไตยที่เราเอาอย่างฝรั่งมา ให้มีสาระในทางธรรมยิ่งๆ ขึ้นก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำความคิดคนสำคัญของคณะราษฎรแต่ พ.ศ.2475. ท่านทั้งสองได้สนทนากันที่ทำเนียบท่าช้างเป็นเวลาห้าวันติดๆ กัน วันละราวๆ สามชั่วโมง เพื่อประยุกต์พุทธธรรมให้มานำผู้คน

28-01-2550