linguistics and its structure
The Midnight University
ภาษาภาพ
ภาษาพูด และภาษาเขียน
จากการมองของทารกสู่ความตายของนักประพันธ์
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการชิ้นนี้เป็เรื่องเกี่ยวกับภาษา
ทั้งภาษาภาพ ภาษาพูด และภาษาเขียน
ในฐานะที่เป็นตัวแทนของความจริง ซึ่งมีพัฒนาการมาในประวัติศาสตร์ตามลำดับ
การทำความเข้าใจความจริงผ่านการมองก็ดี หรือผ่านภาษาพูด หรือภาษาเขียน มีมิติที่ซับซ้อนเกินกว่าตัวผู้กระทำเอง
การจะเข้าถึงความจริงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะการบินเข้าสู่ "กองไฟแห่งความจริง" อันยิ่งใหญ่ ทำให้ตัวตนต้องมลายไป
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๒๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๗ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)
จากการมองของทารกสู่ความตายของนักประพันธ์
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความนำ
การรับรู้ทางสายตาของเด็กเมื่อแรกคลอด รวมถึงการใช้สายตาที่ต้องคอยจับจ้องเมื่อวัตถุต่างๆ
รอบตัวที่ผ่านเข้ามาในสนามการมองเห็น(field of seeing) เด็กจ้องมองและเบือนหน้าหนีวัตถุเหล่านั้นอย่างไม่ตั้งใจ
เนื่องด้วยยังไม่สามารถควบคุมอวัยวะต่างๆ ของเขาได้ การปรากฏตัวของวัตถุ (presence)
และการเลือนหาย (absence) ของวัตถุต่างๆ แม้กระทั่งร่างกายของเขาเอง เช่น มือ
เท้า ที่กวัดแกว่งเข้ามา ทำให้ทารกรับรู้ถึงสภาพความเป็นส่วนๆ ไม่ใช่ความสมบูรณ์พร้อมแม้กระทั่งตัวตนของเขาเอง
(1)
หลักการเกี่ยวกับทัศนียวิทยา(perspective)
ในช่วงยุคตอนต้นของเรอเนสซองซ์ (Renaissance ราวคริสตศตวรรษที่ 14-16) การมองแบบขาดๆ
หายๆ ไม่ครบถ้วนในตอนเด็กนั้น ถูกชดเชยความบกพร่องนี้ของมนุษย์ผ่านแนวคิดการมองแบบ
"perspective" ที่ทำให้ตาข้างเดียวของเราเป็นศูนย์กลางของการมองเห็นของโลก
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบรวมกันบนสายตาเหมือนกับจุดที่ไม่มีที่สิ้นสุด (vanishing
point of infinity) โลกที่มองเห็น (the visible) ถูกตระเตรียมสำหรับให้คนดู (spectator)
ประหนึ่งเป็นจักรวาลที่ครั้งหนึ่งถูกคิดว่าตระเตรียม (arranged) ไว้เพื่อพระเจ้า
(2)
แต่เรื่องราวของ "perspective" นั้น ไม่ใช่การมองเห็นกันและกัน (visual reciprocity) แต่เป็นการมองเห็นแต่เพียงฝ่ายเดียว คล้ายกับพระเจ้า ที่ว่าไม่จำเป็นที่พระเจ้าจะตั้งตัวเองในการที่จะสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวของพระองค์เอง
ความขัดแย้งที่สืบเนื่องจากมุมมองแบบ "perspective" ก็คือการที่มันถูกจัดสร้างให้ทุกๆ ภาพของความจริง (all images of reality) ไปอยู่ที่ตัวคนมองเพียงคนเดียว (single spectator) ไม่ใช่แบบพระเจ้า ตัวภาพแบบ "perspective" เองจึงเป็นเพียงสถานที่หนึ่งๆ ในเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น (3)
และด้วยเหตุที่ตัวประธานของเรา (subject) มีลักษณะ "we are actively, not passively receptive" คือเวลาเราไปสังเกตสิ่งต่าง ๆ เรากระทำอย่าง "active" ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้รับรู้อย่างเดียว เราจึงมีบทบาทในการสร้างภาพสิ่งที่เรารับรู้ (4) และเช่นเดียวกับสิ่งที่เราจ้องมอง ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้แบบ "active" เช่นเดียวกัน ดังนั้นหลังจากที่เราสามารถ "เห็น" เราจะตระหนักได้ว่าเราสามารถที่จะ "ถูกเห็น" ได้ด้วยสายตาของคนอื่นและของเรา ทำให้เชื่อได้อย่างเต็มที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งการมอง (visual world) (5) ภาพและเวลาที่ปรากฏในมุมมองแบบ "perspective" จึงเป็นเพียงภาพเชิงจินตนาการข้างเดียวของมนุษย์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
ในบทความที่ชื่อ "Aggressivity in Psychoanalysis" (ความก้าวร้าวในจิตวิเคราะห์) ของ ฌากส์ ลากอง (Jacques Lacan, 1901-1981) ความเข้าใจสภาพร่างกายที่ถูกแบ่งแยก (fragmented body) ด้วยการมองเป็นเศษเสี้ยวของทารกนี้ ปรากฏตัวออกมาในรูปแบบการละเล่นของเด็กในช่วงวัยสองถึงห้าปีแรก ในการเล่นกับของเล่นที่เด็กมักจะดึงหรือทำลาย จับแยกชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากกัน เช่นการดึงหัวตุ๊กตาให้หลุดหรือการแหวกพุงตุ๊กตาล้วงไส้ ( the pulling off of the head and ripping open of the belly ) ซึ่งจินตนาการอันก้าวร้าวเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครเสี้ยมสอน (Lacan, 1999: 11) (6)
การที่เด็กมองเห็นไม่ครบถ้วนและรับรู้ถึงความรู้สึกสูญเสีย
ที่ก่อเกิดเป็นความรู้สึกไม่เพียงพอ (insufficiency) ที่แสดงออกทางจินตนาการอันก้าวร้าวแบบจิตวิเคราะห์เชิงโครงสร้างนิยมของลากอง
คือการที่เด็กขาดความสามารถในการรับรู้ "ความเลื่อมล้ำ" (Parallax)
ในการมองวัตถุ เพื่อที่จะให้วัตถุสามารถที่จะประกอบกันขึ้นภายในการรับรู้ในแบบสามมิติ
(Parallax - the apparent difference in the position
of an object when viewed from different positions, e.g. through the viewfinder
and the lens of a camera.)
เนื่องจากลักษณะการมองภาพที่เป็นสามมิติเหมือนวัตถุจริง นอกจากที่เราจะมองเห็นภาพที่มีลักษณะความกว้าง ยาว และความลึก ครบสามมิติแล้ว เรายังจะต้องมองเห็นความเลื่อมล้ำของวัตถุต่างๆด้วย (7) การต้องมองเห็นความเลื่อมล้ำ(parallax)เป็นลักษณะของการมองวัตถุจริงในธรรมชาติที่เมื่อเราเปลี่ยนตำแหน่งการมองแล้วก็จะเห็นตำแหน่งของวัตถุนั้นเปลี่ยนไป แม้ว่ามนุษย์เราจะไม่สามารถมองได้ทีเดียวครบทั้งสามมิติก็ตาม (8)
และเพราะการมองเห็นวัตถุต่างๆ เกิดจากการเลือกที่จะมองของเราเอง ขณะที่เรามองเราไม่ได้มองดูเฉยๆ แต่เราสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เรามองรอบตัว (9) การมองเห็นของเราจึงแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่เราเลือกที่จะมองและตามการตีความของเรา
เราจึงไม่เคยมองไปยังสิ่งๆ เดียว แต่เรามองไปรอบๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ กับตัวของเรา สายตาเราจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว โดยยึดเอาสิ่งต่างๆ และบรรดาที่อยู่รอบๆ ตัวมัน ก่อตัวขึ้นมาเป็นปัจจุบันเพื่อให้รู้ว่าเราเป็นเรา และเมื่อเรา "เห็น" พื้นที่แห่งหนึ่ง (landscape) ก็เท่ากับเป็นการบอกตำแหน่งของตัวเราเองในพื้นที่แห่งนั้นไปด้วย (10)
ภาษาภาพ - ภาษาพูด
"การมอง" เราอาจให้เหตุว่า "ถูกทำให้เป็นภาษา" เทียบกับภาษาในตัวมันเองที่มีมิติของภาพร่วมอยู่ด้วย
(language itself has a visual dimension) (11) และภาษาภาพที่เกิดจากการมองนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีการเข้ารหัสและถอดรหัส
(encoding/decoding) ระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร ไม่ต้องอาศัยสัญลักษณ์ มากมายเท่าภาษาถ้อยคำ
ผู้ที่จะเข้าใจภาษาภาพได้จึงไม่จำเป็นต้องผ่านการศึกษาอบรมในระบบการศึกษา แต่ใช้เพียงประสาทสัมผัสตามสัญชาตญาณที่มีมาแต่กำเนิดก็สามารถเข้าใจได้
(หน้า 71) (12)
เราเรียนรู้จากการมองเห็นก่อนที่จะรู้คำต่างๆ
เวลาเราใช้ศัพท์อธิบายอะไรรอบตัว ต้องยอมรับความจริงที่ว่า คำศัพท์เหล่านั้นเราเรียนรู้จากสังคมรอบตัวเรา
แต่คำศัพท์ที่เราเรียนรู้นั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับภาพที่เราเห็นโดยตรง ไม่ใช่ว่าเราเห็นภาพแล้วเราจะรู้เองโดยธรรมชาติว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร
(13)
การใช้ภาษาของเราจึงเพื่อบรรยายถึงสรรพสิ่งภายนอก ก็เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งต่างๆ
ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของวัฒนธรรม หมายถึงการเปลี่ยนธรรมชาติให้กลายมาเป็นวัฒนธรรม
(culturalization of nature) ในทางตรงกันข้าม การนำความรู้ที่มีกระบวนการเป็นวัฒนธรรมมาเปรียบเทียบด้วยการสร้างโดยผ่านการอุปมาอุปมัย
ก็เป็นการทำให้โลกแห่งวัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่แห่งธรรมชาติ (naturalization of
culture) (14)
การใช้ภาษาจึงเป็นการสร้างบางสิ่งที่เป็นภาพแทนของธรรมชาติ (language construct
representation of nature) ขึ้นมาตามความเข้าใจของเรา และปัจจัยสำคัญในการสร้าง/อธิบาย/ให้ความหมาย/เข้าถึงความรู้ของมนุษย์นั้นผ่านกลไกทางภาษาและสัญลักษณ์เป็นตัวกำหนดการ
(15)
ภาษาในฐานะที่เป็นเกม
นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) มองว่า ภาษาเป็นก้าวแรกของการสร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสัจจะ
หรืออีกนัยหนึ่งความแตกต่างระหว่างความจริง ความเท็จ
เริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์เปล่งวาจาเป็นคำพูด
เป็นภาษา ภาษาดูจะมากับความสามารถในการสร้างภาพของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้นิทเช่ถึงมองว่า
กำเนิดของภาษามีจุดหมาย (16) สอดคล้องกับแนวคิดของฌอง ฟรังซัว เลียวทาร์ (Jean-Francois
Lyotard) ที่ว่าภาษาและคำพูดที่ปรากฏในรูปของการพรรณนา การบรรยาย การเล่าเรื่อง
การบอกกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างคำและความหมายเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่นเดียวกับการเล่นเกมส์
(17)(heterogeneity of language games)
ซึ่งแนวคิดนี้เลียวทาร์ได้หยิบยืมมาจากหนังสือของลุดวิก วิตต์เกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein) (18) ที่มองการใช้ภาษาว่าเป็นเหมือนกับเกม (game) เราจะเข้าใจเกมได้ดี ถ้ารู้กฎเกณฑ์ของเกมนั้นๆ และรู้จักอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น (19) ซึ่งก็คือคำ ซึ่งคำแต่ละคำเปรียบเหมือนอุปกรณ์แต่ละชนิด สามารถสนองความต้องการของเราได้หลายประการ และความหมายของภาษามิได้อยู่ที่การนิยามคำ (words) หรืออยู่ที่การใช้คำเพื่อแทนหรือระบุถึงวัตถุ-สิ่งของ แต่ความหมายของภาษาอยู่ที่การใช้ในแต่ละบริบทในชีวิตประจำวันของคนเรามากกว่า
เราไม่สามารถทำความเข้าใจภาษาด้วยการอธิบายหรือการสังเกตเชิงประจักษ์ แต่ต้องเรียนรู้จากการใช้จริง (20) และการใช้ภาษาอย่างจริงจังอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์นำมาใช้สื่อสารซึ่งกันและกันเบื้องต้นระหว่างคนในชุมชนก็คือ "การพูด" (speaking)
ปิแอร์ บูดิเออร์ (Pierre Bourdieu) กล่าวว่า "การพูดที่เป็นเหมือนการแสดงออกเฉพาะตัวนั้นถูกนำมาอยู่ในระบบการแบ่งแยกความแตกต่างของสังคม มีการเปรียบเทียบจัดลำดับขั้นด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้พูดในลักษณะนี้จะอยู่ในสังคมระดับไหน (the hierarchy of corresponding social group) และเพื่อให้การใช้ภาษามีความเป็น "สาธารณะ" ซึ่งหมายถึงสามารถที่จะใช้ได้ทั่วไป นักภาษาศาสตร์ระบุว่า เมื่อพูดถึงความสามารถทางการพูดก็จะต้องหมายถึง ความสามารถทางการพูดที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมด้วย
ภาษาทางการได้รับการยอมรับ เพราะมันเป็นภาษาที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่างภาษาเฉพาะท้องถิ่น และตัวภาษาท้องถิ่นเองก็ไม่ได้รับการเรียนรู้หรือพัฒนาให้ท้องถิ่นอื่นๆ ได้เรียนรู้อย่างเดียวกันกับภาษาทางราชการ" (21)
ภาษาราชการ และสัทศาสตร์
ภาษาราชการ (legitimate language) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นมาตราฐาน และเพื่อคงความเป็นปกติ
(normalization) มากที่สุด จะต้องเป็นภาษาที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก และสามารถรับรู้ได้ในเชิงการรับรู้
(perception) เทคนิคอย่างในการทำให้ภาษาทางการคงความแน่นอนโดยผ่านการเขียน (writing)
แม้กระทั่งการออกเสียงของภาษาก็ถูกทำขึ้นมาผ่านระบบสัญลักษณ์ที่เรียกว่า อักขระแบบสัทศาสตร์
(phonetic alphabet)
อักขระแบบสัทศาสตร์ได้ลด (reduce) ทุกส่วนของความรู้สึกลงไปเป็นคำพูดปากเปล่า (oral speech) ลงไปสู่รหัสที่มองเห็นได้ด้วยตา (22) และการเขียนแบบสัทศาสตร์ (phonetic writing) ถูกพัฒนาในการที่ทำเสียงให้กลายเป็นสัญลักษณ์ (23) ซึ่งทุกๆ การเขียนแบบสัทศาสตร์จะเป็นรหัสภาพ (visual code) เพื่อการใช้เป็นคำพูด (speech) และคำพูดก็คือเนื้อหา (content) ของการเขียนแบบสัทศาสตร์ และมันก็ไม่มีเนื้อหาสาระอื่นใดนอกการเขียนนั้น (24)
ผู้ใช้ภาษาไม่เพียงแต่ใช้ภาษาในฐานะที่เป็นผู้พูด
ผู้เขียน ผู้ฟัง หรือผู้อ่าน แต่พวกเขายังใช้ภาษาในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสังคม
กลุ่มอาชีพ องค์กร ชุมชน สังคม หรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ในขณะที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
พวกเขาไม่เพียงแต่สื่อสารกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่พวกเขายังสื่อสารกันในฐานะที่เป็นคนผิวขาวกับคนผิวดำ,
คนที่มีอายุมากกับคนที่มีอายุน้อย, ผู้ชายกับผู้หญิง, คนรวยกับคนจน, หมอกับคนไข้,
ครูกับนักเรียน, นักการเมืองสังกัดพรรคการเมืองหนึ่งและนักการเมืองที่สังกัดอีกพรรคการเมืองหนึ่ง
เป็นต้น ในการศึกษาวาทกรรม เราจึงไม่เพียงเห็นโครงสร้างและลักษณะของภาษาแต่ยังได้รับทราบบทบาทและอัตลักษณ์
(identity) ต่าง ๆ ของผู้ใช้ภาษาด้วย (25)
ภาษามีเป้าหมาย - ภาษามีอำนาจ
การใช้ภาษานั้นมีเป้าหมาย ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดขึ้นในสถานการณ์อย่างไร
ภาษาจึงเป็นเรื่องของการสร้างอำนาจในการตีความของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทำให้สิ่งที่ถูกรู้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างผ่านการใช้ภาษา
แต่เมื่อมนุษย์รับรู้ได้เพียงส่วนหนึ่งของความจริง การใช้ภาษาในการอธิบายหรือตีความ
จึงเป็นไปได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของการรับรู้ความจริงของมนุษย์ ที่มนุษย์มีส่วนสร้างมันขึ้นมา
และการที่จะพยายามเก็บความจริงอันเป็นส่วนๆ นั้นไว้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการยืนยันการค้นพบคุณค่าและความเป็นตัวตนของมนุษย์อย่างเป็นเสี้ยวเล็กๆ
(fragmented identities)
แต่ด้วยการรวบรวมความจริงให้ครบทุกแง่ทุกมุมนั้น เป็นเรื่องเกินความสามารถเพียงลำพังคนเดียว การตะหนักถึงความจริงในข้อนี้จึงถูกส่งผ่านมายังการบันทึกความจริง "แห้งๆ" ในรูปแบบต่างๆ ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต เราจะเข้าไปถึงภาพรวมของความจริงอันสมบูรณ์ (totality) นั้นให้ได้
การกล่าวภายใต้แนวคิดแบบเฮเกลเลียน-มากซิสต์ (Hegalian-Marxist) เช่นนี้ทำให้มนุษย์มีความหวัง มีเป้าหมาย (talos) เป็นการเสพติดความหวัง เพราะด้วยการยืนยันตามเวลาเชิงเส้นแล้ว (chronicle time) ตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีคนที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงความจริงทั้งหมดเพียงหยิบมือเดียว (26) และไม่ได้ทำให้คนส่วนใหญ่ทั้งหมดได้เข้าถึงความจริงแบบองค์รวมตามความคาดหวังแต่อย่างใดในเวลาต่อมา
What is an Author?
การดำเนินการสั่งสมความรู้ ความจริง จึงดำเนินอยู่ตลอดมาภายใต้ความสงสัยกังขา
(skeptic) พาฉงน กระแสธารความคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่มีต่อการแสวงหาและรวบรวมความจริงของมนุษย์
อันปรากฏในการแสดงออกของฟูโกต์ที่มีต่อเทคโนโลยีการ "แช่แข็ง" (freeze)
ความรู้ ความจริง ภายใต้กฎเกณฑ์ภาษาชนิดหนึ่ง อย่าง "การเขียน" (writing)
ในการตั้งชื่อบทความ (ของฟูโกต์?) ในลักษณะคำถามว่า 'What is an Author?' ที่ตัวผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์
(author) ไม่สามารถหรือไม่มีวันเข้าถึงความจริงที่พยายามรวบรวม หรือแม้แต่เข้าถึงในข้อเขียนของตนเองก็ตาม
ฟูโกต์ได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วย กฎเกณฑ์พื้นฐานของงานเขียนร่วมสมัย (contemporary writing) (27) ซึ่งเขาเรียกว่า "ecriture" โดยลักษณะเด่นชัดที่สุดของ "ecriture" ก็คือการมีบทบาทซึ่งกันและกันของรูปสัญญะ (interplay of signifiers) กล่าวคือภาษาในงานเขียน (writing) ตามความหมายดังกล่าว ไม่ได้มีการอ้างอิงกับความหมายสัญญะ(signified) แต่กลับเป็นการ 'play' กันในหมู่รูปสัญญะ (signifiers)
งานเขียนมิได้เป็นตัวกลางที่จะสื่อสารจากผู้ประพันธ์ (author) ไปยังผู้อ่าน (reader) แต่งานเขียนเป็นการโคจร (circulation) ของตัวภาษาเอง ไม่ว่าจะมีผู้ประพันธ์หรือผู้อ่านหรือไม่ก็ตามที
ความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้ประพันธ์ ได้ถูกทำให้สูญสลายไปโดยเนื้อหา (text) และตัวงานเขียน เนื่องจากผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ล้วนแต่เป็นเพียง "ร่างทรง" ของภาษา (function of language) ไม่ต่างจากงานเขียนและผู้อ่านในฐานะที่เป็นวัตถุหนึ่งในโครงสร้างของภาษา โดยแนวความคิดเกี่ยวกับความตายของของผู้ประพันธ์นั้น ฟูโกต์ได้หยิบมาจากนักคิดในสำนักหลังโครงสร้างนิยมที่มีชื่อเสียงอีกคนคือ โรลองด์ บารธส์ (Roland Barthes) (28)
author function - subjectivity
is dead
"ชื่อ" (name) ของผู้ประพันธ์นั้น ได้แสดงบทบาทในฐานะที่เป็นวาทกรรมว่าด้วยผู้บรรยาย
(narrative discourse) เป็นการตอกย้ำแนวคิดว่า ผู้ประพันธ์เป็นร่างทรงของงานเขียน
และการสูญสลายไปของผู้ประพันธ์หลังจากงานเขียนเสร็จสิ้น ฟูโกต์เรียกผู้ประพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ผู้เขียน(ผู้ประพันธ์)
หรือ "author function" อย่างไรก็ตาม ฟูโกต์ชี้ว่า "author function"
ไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่สากลหรือแน่นอนตายตัวที่ต้องปรากฏอยู่ในทุกๆ งานเขียน
บรรดานิทานปรัมปรา เทพนิยาย นิทานพื้นบ้าน ตำนาน เรื่องเล่าตลกขบขัน เหล่านี้ล้วนไม่จำเป็นต้องปรากฏนามผู้ประพันธ์ ตรงข้ามกับงานเขียนในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ต้องผูกมัดอยู่กับ "author function" แต่สำหรับในยุคสมัยใหม่ สถานการณ์ได้ปรับเปลี่ยนไป งานเขียนด้านวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายตัวมันเองโดยไม่จำเป็นต้องมีการอ้างถึงผู้เขียน (29)
นับได้ว่าเป็นการตายของภาวะผู้กระทำ (subjectivity is dead) ในทางกลับกัน ก็เป็นการตายของภาวะถูกกระทำด้วย (objectivity is dead) ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมีความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ตัวเองขึ้นมา (self creation) ตามแนวทางของตน และการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเขียนหรือการอ่านก็คือ การหลุดลอยของสัญญะที่ปรากฏในตัวบทของหนังสือ ทำให้เกิดการตีความได้อย่างไม่รู้จบ และไม่ขึ้นกับสิ่งใด การอ่านผิดมีคุณค่าพอๆ กับการอ่านถูก สิ่งที่ตามมาก็คือ การสูญสลายคุณค่าระบบการอ้างอิง (reference system) ที่เคยยืนยันถึงความถูกต้องของตัวบท
นับได้ว่าแนวคิดฟูโกต์นี้ท้าทายระบบการจัดการในเขียนที่มีกรอบแบบสมัยใหม่เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะงานเขียนในเชิงวิชาการ (academic genres) อย่าง "วิทยานิพนธ์"
(thesis/dissertation) เป็นต้น
++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ(1) นภาพร หงษ์ทอง, (2547). อัตบุคคลในทัศนะของฌากส์ ลากอง. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: หน้า 17.
(2) Berger John, Ways of Seeing. P. 16.
(3) Berger John, Ways of Seeing. P. 16.
(4) Nietzsche : The Pedestal of Postmodern Thinking นิทเช่ : ในฐานะรากฐานแนวคิดปรัชญาหลังสมัยใหม่ บรรยาโดย Hans de Crop ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 19 กันยายน 2544 / เวลา 17.00 - 19.00 น. บรรยายที่ห้อง 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช. / กระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(5) Berger John, Ways of Seeing. Pp. 7-9. บทความนี้ผู้แต่งจอห์น เบอเกอร์ (John Berger) ได้รับความคิดต่างๆ จากงาน "The Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction" ของนักปรัชญาวิพากษ์ชาวเยอรมัน วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin)
(6) นภาพร หงษ์ทอง, (2547). อัตบุคคลในทัศนะของฌากส์ ลากอง. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: หน้า 18.
(7) อเนก วุฒิเจริญ , การถ่ายภาพสามมิติ โดยวิธีโฮโลกราฟี. สาขาการสอนฟิสิกส์. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2529. หน้า 1.
(8) ในแง่มุมฟิสิกส์ทฤษฎีแล้ว จาคอบ ดี. เบเคนสไตน์ (Jocob D. Bekenstein) ได้เล่าถึงสิ่งที่เราสังเกตถึงความเป็น 3 มิตินั้น อาจจะถูกเขียนขึ้นบนพื้นผิว 2 มิติเช่นเดียวกับโฮโลแกรม (hologram) การรับรู้ของเราในทุกวันเกี่ยวกับโลก 3 มิติ อาจจะเป็นภาพมายาอันลึกซึ้งหรือเป็นเพียงหนึ่งในสองทางเลือกของความจริงในการมอง (viewing reality) และเนื้อหาข้อมูลทุกๆ ส่วนของที่ว่างนั้น ถูกกำหนดโดยพื้นผิว(surface area)ไม่ใช่จากปริมาตร(volume) ของมัน
แนวความคิดอันมหัศจรรย์นี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงแนวคิดทฤษฎีฟิสิกส์หลังยุคไอน์สไตน์ (post- Einstein) อีกมากมาย อาจจะเริ่มศึกษาแนวคิดเชิงฟิสิกส์แบบ "popular science" ภาคภาษาไทยได้ที่รอฮีม ปรามาส แปล, ก้าวพ้นกรอบไอน์สไตน์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548. หากสนใจเกี่ยวกับภาพโฮโลกราฟฟิกโปรดดู Bekenstein Jocob D. Information in the Holographic Universe. Scientific American. August, 2003. P.48-54. และดูหลักการทำงานของภาพโฮโลแกรมอย่างง่าย ได้ที่ ฮอว์คิง สตีเฟน, แปลโดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล. จักรวาลในเปลือกนัท. กรุงเทพมหานคร: บริสุทธิ์การพิมพ์, 2546, หน้า 63. และหากจะเจาะลึกทฤษฎีฟิสิกส์ของหลักการโฮโลกราฟฟิก (The holographic principle) ของราฟาเอล บอสโซ (Raphael Bousso) ดาว์นโหลดได้จาก http://citebase.eprints.org/cgi-bin/citations?id=oai%3AarXiv%2Eorg%3Ahep%2Dth%2F0203101 เข้าเมื่อ 23 April 2005.
(9) ดูความพยายามที่จะทำให้การมองสร้างความจริงเสมือน (VR-Virtual Reality) ขึ้นมา ใน นิคคอลัส เนโกรป็อนเต้, (2540). จำนง วัฒนาเกส แปล. ชีวิตยุคดิจิตอล. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์ผู้จัดการ. กรุงเทพฯ: น.142-154.
(10) Berger John, Ways of Seeing. P. 11.
(11) สมเกียรติ ตั้งนโม, ศิลปะและสุนทรียศาสตร์ . รวบรวมโดย รัฐพล พรหมมาศ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิงหาคม 2547. กระดาษอัดสำเนา. หน้า 215.
(12) บาหยัน อิ่มสำราญ, ไวยากรณ์ของภาษาภาพ. (2544).ภาษาและวัฒนธรรม ปีที่ 20 ฉบับที่2.สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล. หน้า 71.
(13) Berger John, Ibid. Pp. 7-9.
(14) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 156.
(15) ธงชัย วินิจจะกูล "ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย: กรณีพระมหาธรรมราชา: ผู้กลับใจหรือถูกใส่ความโดย plot ของนักประวัติศาสตร์, "ใน ไทยคดีศึกษา สุนทรีย อาสะไวย์และคณะ, บก. (กรุงเทพฯ: บริษัท อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 1990) หน้า 196. อ้างใน ทวีศักดิ์ เผือกสม, โครงเรื่องในประวัติศาสตร์นิพนธ์ วรรณกรรมกับประวัติศาสตร์. วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ 16 เล่มที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 2540 ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก กรุงเทพฯ. หน้า
(16) อู่ทอง โฆวินทะ , ความปราดเปรื่องของสัตว์ที่พูดได้: นิทเช่กับกำเนิดของภาษา. วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 มกราคม - มิถุนายน 2544. ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: น. 65.
(17) Jean-Francois Lyotard, J.F. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge, trans. Geoff Bennington and Brian Massumi, Minneapolis; University of Minnesota Press, 1999. pp.9-11.
(18) Philosophical Investigations sec. 23 อ้างใน Jean-Francois Lyotard, J.F. Ibid., p. 88.
(19) ประทุม อังกูรโรหิต, (2519). การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความคิดของวิตต์เกนสไตน์ เกี่ยวกับความหมายของปรัชญา. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: หน้า 24.
(20) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, (2539). เปรียบเทียบวิธีการหาความรู้ของสำนักประจักษ์นิยมแนววิเคราะห์ภาษา และสำนักปรากฏการณ์วิทยา. วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 22 ฉบับที่1. โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: หน้า 15. อ่านแนวคิดภาษาของสำนักปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะ (logical positivism) เพิ่มเติมที่หน้า 15-6.
(21) Bourdieu, Pierre, Language and Symbolic Power. P. 54.
(22) Mcluhan Marshell. The Gutenberg Galaxy. p.45.
(23) Mcluhan Marshell. Ibid. p.46.
(24) Mcluhan Marshell. Ibid. p.46.
(25) van Dijk, Teun A. 1997. Discourse as interaction in society. In Discourse as social interaction. Discourse Studies: A Multidisciplinary Introduction, Vol. 2, van Dijk, ed. Pp. 1-37. London, Thousand Oaks & New Delhi: Sage Publications. อ้างใน กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์, (2543). ความเป็น "พวกเรา" และ "พวกเขา" ในสังคมไทย: การรายงานข่าวเกี่ยวกับชาวเขาในวาทกรรมหนังสือพิมพ์ไทย. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 19-20 ฉบับที่3 .สนพ. ต้นตำรับ บ.เคล็ดไทย . กรุงเทพฯ: หน้า 15.
(26) บรรดาผู้รู้แจ้ง ในศาสนาต่างๆ และการรับรู้ถึงสภาพการมีอยู่ของบุคคลเหล่านี้เป็นความหวังอันริบหรี่ของปุถุชน ซึ่งอาจเปรียบได้เหมือนกับ รู้ว่ามีอยู่ รู้ว่ามีวิธี แต่การที่จะเข้าถึงหรือเพียงเข้าใกล้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการบินเข้าสู่ "กองไฟแห่งความจริง" อันยิ่งใหญ่ ทำให้ตัวตนต้องมลายไป (de-configured) ในสภาวะอนัตตาเช่นนี้
(27) Foucault,Michel,"What is an author?." 142-148 .In Textual Strategies, 1979. ดูในไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2543) วาทกรรมการพัฒนา:อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิภาษา. หน้า399.
(28) ดู Barthes,Roland ,"The death of the author",in Image Music Text,1977.
(29) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, มิเชล ฟูโกต์ : ประวัติศาสตร์ และการเมือง. บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 456 หัวเรื่อง แนวคิดหลังสมัยใหม่ของฟูโกต์
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในบทความที่ชื่อ "Aggressivity in Psychoanalysis" (ความก้าวร้าวในจิตวิเคราะห์) ของ ฌากส์ ลากอง (Jacques Lacan, 1901-1981) ความเข้าใจสภาพร่างกายที่ถูกแบ่งแยก (fragmented body) ด้วยการมองเป็นเศษเสี้ยวของทารกนี้ ปรากฏตัวออกมาในรูปแบบการละเล่นของเด็กในช่วงวัยสองถึงห้าปีแรก ในการเล่นกับของเล่นที่เด็กมักจะดึงหรือทำลาย จับแยกชิ้นส่วนต่างๆ ออกจากกัน เช่นการดึงหัวตุ๊กตาให้หลุดหรือการแหวกพุงตุ๊กตาล้วงไส้ ( the pulling off of the head and ripping open of the belly ) ซึ่งจินตนาการอันก้าวร้าวเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครเสี้ยมสอน (Lacan, 1999: 11)