เว็บไซต์ใช้เวลาพัฒนามาตลอดเวลา ๖ ปี กว่า ๒,๑๙๐ วัน แต่ละวันใช้เวลากว่า ๖ ชั่วโมง รวมเวลากว่า ๑๓,๐๐๐ ชั่วโมง เพื่อสร้างอุดมศึกษาทางเลือกสำหรับทุกคนที่อ่านไทย















บทความลำดับที่ ๑๑๑๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ภายใต้ลิขซ้าย ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาและสมาชิกได้รับอนุญาตให้คัดลอกไปได้คำต่อคำ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
H
030150
release date
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น... midnight's
ร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้และความเสมอภาคเพื่อเตรียมตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
สำหรับผู้ที่สนใจบทความวิชาการก่อนหน้า ท่านสามารถคลิกที่ภาพประกอบ เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความที่เพิ่งผ่านมาได้จากที่นี่

นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกเพื่อค้นหาบทความต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จากแถบสีฟ้า
โดยใส่คำค้นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ต้องการค้นหา
midnightuniv(at)gmail.com

Introduction to Anthropology
The Midnight University

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมานุษยวิทยา
อิทธิพลของอีมิล เดอร์ไคม์ และมานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

บทความแปลและเรียบเรียง ๒ ชิ้นนำมาจากเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ซึ่งเป็นงานแปลและเรียบเรียงของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ประกอบด้วย
๑. อิทธิพลของอีมิล เดอร์ไคม์ และ ๒. สิทธิมนุษยชน
เรื่องแรกเป็นการแนะนำและทำความรู้จักกับอีมิล เดอร์ไคม์ รวมถึง เลวี่ สเตราสส
ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับมานุษยวิทยากับสิทธิมนุษย์ชน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๑๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘ หน้ากระดาษ A4)

 

อิทธิพลของอีมิล เดอร์ไคม์ และมานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ : นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

1. อิทธิพลของอีมิล เดอร์ไคม์

Emile Durkheim (15 April, 1858 - 15 November, 1917) was a French sociologist and anthropologist who was decisive in shaping modern sociology. His work, lectures, and editorship of the first journal of sociology helped establish it within the academy as an accepted "science sociale" (social science). During his lifetime, Durkheim gave many lectures, and published numerous sociological studies on subjects such as education, crime, religion, suicide, and many other aspects of society.

จาก http://en.wikipedia.org/wiki/%C3%89mile_Durkheim

ในขณะที่โบแอสและลูกศิษย์กำลังเผยแพร่วิชามานุษยวิทยาในทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษกำลังได้รับอิทธิพลความคิดของอีมิล เดอร์ไคม์ ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส. เดอร์ไคม์เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญต่อมานุษยวิทยาอังกฤษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอัลเฟร็ด เรจินัลด์ แรดคลิฟฟ์-บราวน์ ซึ่งสร้างทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ อาจกล่าวได้ว่าเดอร์ไคม์คือผู้ริเริ่มสกุลความคิดสำคัญในยุโรป 2 สกุล คือ สกุลโครงสร้างแบบฝรั่งเศส และ สกุลมานุษยวิทยาสังคมของอังกฤษ

ทฤษฎีของเดอร์ไคม์เกิดขึ้นจากหนังสือ 4 เล่ม คือ

- Division of Labour in Society (1893)
- The Rules of Sociological Method (1895)
- Suicide (1897) และ
- The Elementary Forms of The Religious Life (1912)

หนังสือแต่ละเล่มเป็นส่วนผสมให้เกิดแนวคิดแบบอังกฤษและฝรั่งเศส ในเรื่อง Division of Labour in Society เดอร์ไคม์อธิบายความหลากหลายและส่วนประกอบของวัฒนธรรม โดยแบ่งวัฒนธรรมเป็นสองแบบ คือ

1. วัฒนธรรมชนเผ่า วัฒนธรรมแบบนี้ไม่มีการแบ่งแรงงาน คนแต่ละคนจะเหมือนกัน และกลมเกลียว วัฒนธรรมแบบนี้เรียกว่า mechanical solidarity

2. วัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งคือวัฒนธรรมที่เจริญแล้ว มีการแบ่งแรงงาน คนแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างกัน คนในสังคมจะเป็นอิสระต่อกันและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เหมือนกับอวัยวะในร่างกายที่ทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้, เดอร์ไคม์เรียกแบบแผนนี้ว่า organic solidarity

ความคิดหลักของเดอร์ไคม์ คือ ความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้สองแนวทาง เดอร์ไคม์สนใจการร่วมมือกันทางสังคม ซึ่งออกัส คอมท์เรียกว่าสังคมที่คงที่ มากกว่าการเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ ความคิดเกี่ยวกับสังคมของเดอร์ไคม์แตกต่างจากคาร์ล มาร์กซ์ เพราะมาร์กซ์เชื่อว่าความเป็นปึกแผ่นทางสังคมจะหายไปเมื่อมีความขัดแย้งทางชนชั้น มาร์กซ์เชื่อว่าความเป็นรัฐจะค่อยๆ หมดไปและกลายเป็นคอมมิวนิสต์, ส่วนเดอร์ไคมเชื่อว่าสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสภาพที่กลมเกลียวแบบประสานงานกัน รัฐบาลจะทำหน้าที่จัดระเบียบสังคม คนแต่ละคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง

เดอไคม์สร้างทฤษฎีทางสังคมวิทยา โดยอธิบายว่า ปฏิสังสรรค์ทางสังคมเป็นความจริงทางสังคม เดอไคม์เชื่อว่าสังคมมีแก่นแท้ของตัวเอง ความจริงทางสังคมเป็นการแสดงออกแบบหมู่คณะ หรือ collective representations เป็นการแสดงออกของจิตสำนึกรวมหมู่ หรือจิตใจของหมู่คณะ แนวคิดนี้เป็นของเรเน่ เดคาร์ต ด้วยเหตุนี้ทำให้เดอไคม์เป็นนัคิดแนวเหตุผลนิยม และตกทอดมาสู่แนวคิดในมานุษยวิทยาฝรั่งเศส

ในเรื่อง Suicide เดอไคม์ อธิบายเกี่ยวกับความจริงทางสังคม โดยยกตัวอย่างการฆ่าตัวตาย เพราะการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีมิติทางสังคม. เดอไคม์กล่าวว่า ในสังคมชนเผ่า การฆ่าตัวตายเป็นการทำเพื่อคนอื่น เพราะสังคมเป็นเรื่องของคนหมู่มาก แต่ในสังคมที่เจริญแล้ว การฆ่าตัวตายเป็นการฆ่าตัวเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น คนที่ฆ่าตัวตายเป็นการแสดงออกส่วนตัว เมื่อความกลมเกลียวของสังคมเริ่มคลอนแคลน บุคคลก็จะคิดฆ่าตัวตายเพราะรู้สึกแปลกแยก เนื่องจากสังคมขาดระเบียบกฎเกณฑ์

ในเรื่อง The Elementary Forms of the Religious Life เดอร์ไคม์อธิบายว่า กำเนิดศาสนามาจากจิตใจของปวงชน รูปแบบของศาสนาในระยะแรกคือการแสดงออกของหมู่ชน เป็นจิตสำนึกร่วมของคนจำนวนมากที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และหลักศีลธรรม คนจำนวนมากจะนำหลักศีลธรรมมาเป็นหลักทางสังคม เพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ. เดอไคม์เชื่อว่าความรู้เป็นการสังเกตที่อิสระ มานุษยวิทยาฝรั่งเศสนำความคิดเรื่องศาสนาของเดอไคม์มาอธิบายเรื่องโครงสร้างของระบบเครือญาติ เช่น การศึกษาของคล้อด เลวี่-สเตราสส์

ต้นกำเนิดของศาสนา หรือสังคมในความคิดของเดอไคม์ เกิดขึ้นในพิธีกรรมทางสังคมที่กระทำต่อบุคคล ทฤษฎีของเดอไคม์อธิบายว่า "คนที่ไร้ความเจริญ" (เช่นคนพื้นเมือง) จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับ "ความแจ่มใส" เมื่อได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ามีอำนาจบางอย่างอยู่นอกตัวมนุษย์ เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง คนจำนวนมากก็แยกย้ายออกไปเพื่อไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ

เดอร์ไคม์แบ่งแยกโลกในชีวิตประจำวัน (profane) กับโลกที่ศักดิ์สิทธิ์(sacred) ออกจากกัน โลกในชีวิตประจำวันเป็นโลกของการทำงานแบบจำเจและมีความสกปรก ส่วนโลกศักดิ์สิทธิ์จะเกิดในพิธีกรรม มีความสะอาดบริสุทธิ์และมีอำนาจ ในพิธีกรรมจะมีความรู้สึกแบบแจ่มใสเบิกบาน รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม หรือ โทเทม จะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและทำให้เกิดความรู้สึกเบิกบาน โทเทมเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกลุ่มและความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งจะเกิดในพิธีกรรม

การเปลี่ยนผ่านทางความคิดจากเดอไคม์มาสู่เลวี่-สเตราสส์ และมานุษยวิทยาสกุลฝรั่งเศส เห็นได้จากงานศึกษาของมาร์เซล มอสส์ (ค.ศ.1872-1950) ซึ่งเป็นหลานของเดอร์ไคม์. มอสส์คิดเหมือนเดอร์ไคม์ ในบทความเรื่อง The Gift (1924) มอสส์อธิบายเกี่ยวกับสภาวะจิตใจของบุคคล กล่าวคือโครงสร้างพื้นฐานทางจิตใจของบุคคล จะเป็นตัวทำให้เกิดโครงสร้างจิตใจของกลุ่ม และโครงสร้างของโลก

มอสส์สนใจโครงสร้างพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนของกำนัล เพราะการให้ของกำนัลเป็นการแลกเปลี่ยน หรือ reciprocity ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้หลักการพื้นฐาน คือการให้ การรับ และการตอบแทน การแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทนเกิดขึ้นในโครงสร้างของจิตใจที่ทุกๆ คนมีเหมือนกัน นักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่ยังไม่มีระบบการค้า แต่มอสส์เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้เป็นสิ่งสากล

เลวี่-สเตราสส์เป็นผู้รู้เกี่ยวกับทฤษฎีโครสร้างในมานุษยวิทยาฝรั่งเศส และเป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องมากคนหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20, ในระหว่างที่ยังเป็นนักเรียน เลวี่-สเตราสส์สนใจการเมืองและชาติพันธุ์วิทยา รวมทั้งสนใจแนวคิดของมอสส์. เลวี่-สเตราส์เก็บข้อมูลในประเทศบราซิลและนำข้อมูลมาเขียนหนังสือเรื่อง The Elementary Structures of Kinship (1949) และ Structural Anthropology (1958) หนังสือทั้งสองนี้เป็นการวิเคราะห์ระบบเครือญาติซึ่งวางอยู่บนพฤติกรรมของการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน หรือการแลกเปลี่ยนผู้หญิง

การศึกษาของเลวี่-สเตราสส์ เป็นไปตามแนวทางของเดอร์ไคม์ นั่นคือการแสวงหาความเป็นปึกแผ่นทางสังคม. เลวี่-สเตราสส์เสนอว่า การแลกเปลี่ยนสิ่งของจะทำให้เกิดพันธมิตร ทำให้สังคมมีปฏิสัมพันธ์กันและเป็นปึกแผ่น พันธมิตรจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนผู้หญิง ผู้หญิงเปรียบเสมือน "ของกำนัล". เลวี่-สเตราสส์อธิบายว่า โครงสร้างของการแลกเปลี่ยนของกำนัลจะมีอยู่ในความคิดของมนุษย์ และเป็นสิ่งสากล โครงสร้างนี้มีลักษณะเป็นการจัดระเบียบสิ่งที่แตกต่างกันสองด้าน หรือเรียกว่า binary oppositions

เลวี่-สเตราสส์นำความคิดเรื่องนี้มาจากนักภาษาศาสตร์ที่ชื่อ โรมัน จาค็อบสัน (ค.ศ.1896-1982) ซึ่งเป็นผู้สร้างแนวคิดเรื่อง "phonemes" หรือระบบเสียงในคำต่างๆ โครงสร้างภาษาอธิบายว่า ระบบเสียงจะมีความแตกต่างกันทำให้เกิดคำที่มีความหมายแตกต่างกัน เมื่อมาใช้ในมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างจะอธิบายว่าสิ่งตรงข้ามจะเกิดเป็นคู่ๆ เนื่องมาจากโครงสร้างจิตใจ

เลวี่-สเตราสส์ยกตัวอย่างเรื่อง"ชีวิต"ตรงข้ามกับ"ความตาย", "วัฒนธรรม"ตรงข้ามกับ"ธรรมชาติ" และ"ตัวเรา"ตรงข้ามกับ"ตัวเขา" คู่ตรงข้ามนี้เป็นคู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกัน เช่น คู่ตรงข้ามระหว่างกลุ่มเครือญาติ จะมีการเชื่อมโยงกันด้วยการแลกเปลี่ยนผู้หญิง. ในทฤษฎีโครงสร้างนิยมอธิบายว่า คู่ตรงข้ามจะเป็นส่วนประกอบของระบบที่มีชุดความหมายต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดโครงสร้างของกิจกรรมทางสังคมและการสร้างความหมายให้กิจกรรมเหล่านั้น

เลวี่-สเตราสส์ วิเคราะห์การจัดระเบียบทางสังคมในแนวทางเดียวกับนักภาษาศาสตร์วิเคราะห์ภาษา. เลวี่-สเตราสส์อธิบายว่า โครงสร้างพื้นฐานของเครือญาติจะมีการแลกเปลี่ยนผู้หญิง ระบบการแลกเปลี่ยนผู้หญิงจะทำให้เกิดโครงสร้างภายในกลุ่มญาติและนอกกลุ่มญาติ ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้กลุ่มคนต่างๆ มาพบเจอกัน การแลกเปลี่ยนผู้หญิงทำให้เกิดความสัมพันธ์ 4 ลักษณะ คือ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชายกับน้องสาว
2. พ่อกับแม่
3. พ่อกับลูกชาย และ
4. พี่ชายของแม่กับหลานชาย

ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้เกิดความกลมเกลียวและความสุขในกลุ่ม แต่ในแง่ลบอาจทำให้เกิดการเป็นศัตรู. เลวี่-เสตราสส์ อธิบายว่า จิตใจของมนุษย์จะรักษาดุลยภาพระหว่างด้านบวกและลบ ในระบบการแลกเปลี่ยนจะต้องมีความสัมพันธ์ทั้งบวกและลบเช่นกัน แต่ในวัฒนธรรมแต่ละแห่ง ความสัมพันธ์นี้อาจเปลี่ยนไป แต่รูปแบบและโครงสร้างยังคงเหมือนเดิม

ความคิดของเลวี่-สเตราสส์ในเรื่องการแลกเปลี่ยนผู้หญิง อาจแบ่งได้เป็นสองชนิด คือ

- การแลกเปลี่ยนแบบมีข้อจำกัด และ
- การแลกเปลี่ยนแบบทั่วไป

การแลกเปลี่ยนแบบมีข้อจำกัดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มญาติสองกลุ่ม ซึ่งมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มแบบสมดุล กล่าวคือผู้ชายและผู้หญิงของแต่ละกลุ่มจะแต่งงานกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง. ส่วนการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มญาติหลายๆ กลุ่ม ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามกลุ่มแบบไม่สมดุล. เลวี่-สเตราสส์อธิบายว่าการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปนี้ จะทำให้สังคมเป็นปึกแผ่นมากกว่าการแลกเปลี่ยนแบบมีข้อจำกัด เพราะจะเกิดพันธมิตรหลายกลุ่ม

เลวี่-สเตราส์แยกชนิดการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปเป็น 2 ชนิด ได้แก่ การแต่งงานกับญาติข้างแม่ และการแต่งงานกับญาติข้างพ่อ. การแต่งงานกับญาติข้างแม่เป็นการแต่งงานของลูกๆ ของพี่ชายแม่ ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผู้หญิงต่อเนื่องยาวนาน ส่วนการแต่งงานกับญาติข้างพ่อ เป็นการแต่งงานกับลูกๆ ของพี่สาวพ่อ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนแบบสั้นๆ การแต่งงานกับญาติข้างแม่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นมากกว่า เพราะจะทำให้เกิดพันธมิตรและญาติจำนวนมาก

นอกจากนั้นเลวี่-สเตราสส์ยังสร้างทฤษฎีโครงสร้างนิยมเพื่อใช้ศึกษามิติทางวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารและตำนาน. เลวี่-สเตราสส์วิเคราะห์ตำนานเรื่อง " tricky coyote" ของชนพื้นเมืองในอเมริกาโดยแบ่งแยกคู่ตรงข้าม คือ"เกษตรกรรมกับสงคราม", เกษตรกรรมหมายถึงชีวิต สงครามคือความตาย, การล่าสัตว์เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและสงคราม, เพราะการล่าสัตว์ช่วยให้มนุษย์มีอาหาร ในขณะที่ทำให้สัตว์ต้องเสียชีวิต

สัตว์ที่กินซากสัตว์เช่น หมาป่าโคโยตีจะเกี่ยวข้องกับคู่ตรงข้ามระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่า หมาป่าโคโยตีจึงเป็นเล่ห์อุบาย. ในปี ค.ศ.1969 เลวี่-สเตราสส์เขียนหนังสือเรื่อง The Raw and the Cooked อธิบายความแตกต่างระหว่างอาหารดิบ อาหารที่ปรุงสุกและอาหารเน่าเสีย, กล่าวคืออาหารที่ปรุงสุกเป็นการเปลี่ยนจากสภาพธรรมชาติมาสู่วัฒนธรรม อาหารต้มจะมีไว้สำหรับญาติพี่น้องเพราะหารต้มหมายถึงวัฒนธรรม ส่วนอาหารย่างมีไว้สำหรับแขกต่างแดน เพราะอาหารย่างหมายถึงธรรมชาติ. เอ็ดมันด์ ลีช นำแนวคิดของเลวี่-สเตราสส์ไปวิเคราะห์เรื่องศาสนาว่าเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างชีวิตและความตาย

แนวคิดที่เป็นนามธรรมที่สุดในสกุลมานุษยวิทยาฝรั่งเศส คือแนวคิดเรื่องมาร์กซิสต์เชิงโครงสร้าง แนวคิดนี้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 เพื่อที่จะทำให้ทฤษฎีมาร์กซิสต์ลดความเป็นวัตถุวิสัยมากขึ้น และหันมาเน้นเรื่องโครงสร้างความคิด กล่าวคือความคิดตรงข้ามกับการกระทำ. ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ในวงการมานุษยวิทยามีข้อถกเถียงระหว่างนักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ สองกลุ่ม คือกลุ่ม formalist และ substantivist กลุ่มฟอร์มัลลิสต์อธิบายว่า ทรัพยากรจะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตกหรือสังคมชนเผ่า, ในขณะที่กลุ่มซับสแตนติวิสต์เชื่อว่า สังคมชนเผ่าไม่คิดว่าทรัพยากรเป็นเงิน เพราะสังคมชนเผ่าผูกพันธ์ด้วยระบบเครือญาติและประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าการแสวงหากำไรส่วนตัว. นักคิดแนวซับสแตนติวิสต์บางคนเชื่อว่า การเอาเปรียบจะไม่เกิดขึ้นถ้าบุคคลคิดว่าเขาไม่ถูกเอาเปรียบ

โจนาธาน ฟรีดแมน ซึ่งเป็นนักคิดแนวมาร์กซิสต์เชิงโครงสร้างนิยมพยายามศึกษาโครงสร้างของ "ความจริง" ซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีความสำคัญ. ฟรีดแมนพบว่า วัตถุที่สำคัญของระบบทุนนิยมคือเงินตรา ส่วนเศรษฐกิจของชนเผ่าให้คุณค่ากับศาสนาและสังคม. ซาลินส์เขียนหนังสือเรื่อง Islands of History (1987) โดยชี้ว่า "โครงสร้าง" เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีมิติประวัติศาสตร์ ทฤษฎีมาร์กซิสต์แนวโครงสร้างพยายามอธิบายว่า โครงสร้างการกระทำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางความคิด

แปลและเรียบเรียงโดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Paul A. Erickson.
A History of Anthropological Theory. Broadview Press, New York. 2001. Pp.91-99.


2. สิทธิมนุษยชน
ถึงแม้ว่าวิชามานุษยวิทยามีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และมีนักมานุษยวิทยาหลายคนที่ทำงานทางด้านนี้ แต่การศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของนักมานุษยวิทยาก็ยังมีน้อย การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน เนื่องจากเหตุผล 5 ประการ คือ

1) หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สังคมโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
2) ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องทางกฎหมายและอำนาจรัฐ
3) วิชามานุษยวิทยาเติบโตมาพร้อมกับลัทธิอาณานิคม ซึ่งมีบรรยายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
4) นักมานุษยวิทยาหลายคนเริ่มตระหนักว่า วัฒนธรรมของชนเผ่ากำลังสูญหายไป หรือถูกวัฒนธรรมอื่นเข้ามาครอบงำ และ
5) วิทยาศาสตร์ต้องการสร้างความเป็นกลาง และแยกส่วนสิ่งต่างๆ ออกจากกัน

จากเหตุผลที่กล่าวมา มานุษยวิทยาเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ สิทธิมนุษยชนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและชีววิทยา ซึ่งมีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และสิทธิของมนุษย์ เช่น เรื่อง การฆาตกรรมในสภาวะสงคราม เป็นต้น

สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า วิชามานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาความหลากหลายและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์ วิชามานุษยวิทยาเป็นวิชาที่ต้องการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ ดังนั้นสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกาจึงจำเป็นต้องดำเนินภาระกิจดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดกีดกันสิทธิของมนุษย์

ในหลายประเทศพยายามที่จะต่อสู้เพื่อมิให้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการอ้างว่าประเทศของตนมีนโยบายของตนเอง เช่นประเทศกำลังพัฒนามักอ้างว่า ต้องการเวลาสำหรับการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรืออ้างว่า แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดของตะวันตก ซึ่งใช้ไม่ได้กับประเทศโลกที่สาม เพราะตะวันตกใช้อำนาจในการล่าเมืองขึ้นและแสวงหาอาณานิคม

ตามธรรมเนียมดั้งเดิมของมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาความแตกต่างทางวัฒนธรรม และบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็ศึกษาความเหมือนกันของมนุษย์ เพื่อเสาะหาสิ่งสากลที่มีร่วมกัน มานุษยวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับการแสวงหาสิทธิมนุษยชน ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน กับเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยังเป็นประเด็นที่นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาและโต้เถียงกันต่อไป

คำว่า"สิทธิมนุษย์" เป็นคำที่บ่งบอกให้รู้ถึงคุณค่าของมนุษย์ คำนี้เป็นแนวคิดที่อยู่เหนือขอบเขตความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในหลายประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันกับองค์การสหประชาชาติ และกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนสากล ในบางประเทศอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนและอ้างความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อมิให้ถูกตำหนิ ถ้าวัฒนธรรมเป็นตัวขัดขวางสิทธิก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งเช่นกัน เช่น การขลิบอวัยวะเพศของผู้หญิงในสังคมแอฟริกาและตะวันออกกลาง ความแตกต่างและเงื่อนไขทางวัฒนธรรม อาจถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลของการไม่ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน แต่นักวิชาการบางคนกล่าวว่า เหตุผลทางวัฒนธรรมไม่ควรนำมาอ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามสิทธิเกี่ยวกับบุคล กลุ่มทางสังคม และประเทศชาติยังคงเป็นสิ่งที่มีปัญหา

ตามธรรมเนียมเดิม นักมานุษยวิทยาจะลงไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้านและชุมชนของชาวพื้นเมือง ซึ่งเป็นสังคมที่ไร้อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ นักมานุษยวิทยาที่ทำงานภาคสนาม มีโอกาสที่จะเห็นและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษย์ในหมู่บ้าน แต่นักมานุษยวิทยาก็อยู่ไม่นาน ตัวอย่างเช่น นักมานุษยวิทยาเข้าไปเรียกร้องเสรีภาพให้กับชาวบ้าน ซึ่งอาจถูกรัฐบาลสั่งห้ามมิให้เข้าไปทำงานในหมู่บ้านนั้นอีก นักมานุษยวิทยายังมีทางเลือกเพื่อไปทำงานในที่อื่นๆ แต่ชาวบ้านยังต้องอยู่ที่นั่นต่อไป ดังนั้นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นอันตราย หรืออาจถึงตายได้ ไม่ว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยา ชาวบ้าน หรือผู้ที่ให้ข้อมูล

นักมานุษยวิทยาที่อยู่ในหมู่บ้านต้องเป็นผู้ที่ทำงานเชิงรุก ยืดหยุ่น และรู้จักป้องกันตัวเอง นอกจากนั้นยังต้องรักษาจรรยาบรรณของการทำงานด้วย สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกาเคยกล่าวว่า ความรับผิดชอบอันดับแรกของนักมานุษยวิทยาก็คือ ชีวิตของชาวบ้านที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา นักมานุษยวิทยาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีชาวบ้าน นักมานุษยวิทยาต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในร่างกาย สังคม และความรู้สึกของชาวบ้าน นักมานุษยวิทยาต้องปกป้องสิทธิ ผลประโยชน์ และจิตใจของชาวบ้านอย่างเต็มเปี่ยม และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง

นักมานุษยวิทยาที่ทำงานเป็นปากเสียงแทนชาวบ้านจะต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีกว่า ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาจะทำหน้าที่ตัวแทนของชาวบ้าน แต่เป็นการกระทำจากเหตุผลส่วนตัว หลังจากสงครามโลกครั้งที่2 เป็นต้นมา เมื่อสิ้นสุดระบบอาณานิคมและมีการปลดปล่อยประเทศต่างๆ เป็นอิสระ นักมานุษยวิทยาก็เริ่มต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวบ้านเช่นเดียวกัน. กรณีสงครามเวียดนามทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาทบทวนบทบาทของตัวเองมากขึ้น ทั้งในเรื่องวิชาชีพ ศีลธรรม จริยธรรม และการเมือง ในช่วงเวลานั้นก็เริ่มมีรายงานเกี่ยวกับการฆ่าหมู่และฆ่าชนกลุ่มน้อยในอเมซอน และที่อื่นๆ ของโลกมากขึ้น นักมานุษยวิทยาจากลาตินอเมริกาได้จัดประชุมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อวิจารณ์การทำงานของนักมานุษยวิทยา

สาระจากการประชุมครั้งนั้นก่อให้เกิดสัตยาบรรณของนักมานุษยวิทยา ที่จะต้องทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชนพื้นเมือง นักมานุษยวิทยาประเภททำงานเพื่อมวลชนจึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยมีประเด็นที่สนใจคือเรื่องปัญหาสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การรักษาวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย และสิทธิพลเมืองของชนพื้นเมืองในส่วนต่างๆ ของโลก

ในช่วงทศวรรษที่ 60 นักมานุษยวิทยาจำนวนมากได้มาร่วมสัมมนา และจัดตั้งกลุ่มทำงานเพื่อสังคมภายใต้หัวข้อเรื่อง "การอยู่รอดของวัฒนธรรม" (Cultural Survival) การสัมมนาในแนวนี้จัดที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ตต์ กรุงโฮเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ค และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การจัดสัมมนาดังกล่าวไม่เพียงแต่พูดถึงเรื่องสิทธิของคนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ยังมีการผลักดันไปสู่การวิจัยด้วย

ถึงแม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน จะเป็นขบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางสังคมและวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 20 แต่ความยุ่งยาก ซับซ้อนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิก็ยังคงมีอยู่ สถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกำลังเลวร้ายลง ท่ามกลางสังคมที่เน้นการบริโภค ซึ่งต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร มีการแย่งชิงที่ดิน แรงงานซึ่งเป็นของชนพื้นเมือง ประกอบกับอำนาจรัฐที่เข้ามาควบคุมและกดขี่ชนพื้นเมืองมากขึ้น

นอกจากนั้น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิยังมีเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย เช่น การสู้รบในยูโกสลาเวีย หรือเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในที่อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์และศาสนา ความขัดแย้งดังกล่าวนี้กำลังแผ่ขยายออกไปภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ สิ่งท้าทายสิทธิมนุษยชนที่สำคัญก็คือ การสร้างสภาพสังคมที่เหมาะสม มากกว่าที่จะไปขจัดหรือต่อต้านการละเมิดสิทธิ นักมานุษยวิทยาจะต้องเข้าไปมีส่วนในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการตระหนัก ป้องกัน และรณรงค์ให้เกิดสิทธิมนุษยชนสำหรับคนพื้นเมืองและประชาชน ชาวบ้านต่างรู้ว่านักมานุษยวิทยาคือส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา หรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านปิดกั้นมิให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกเขา และนับวันชาวบ้านก็ยิ่งปิดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

นักมานุษยวิทยาต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น สิทธิมนุษยชนอาจเป็นทั้งขุมทรัพย์หรือหลุมระเบิดทางการเมืองและศีลธรรม แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหาความรับผิดชอบที่เต็มเปี่ยม รวมทั้งความรับผิดชอบที่มาจากนักมานุษยวิทยาด้วย อาจกล่าวได้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนทำให้นักมานุษยวิทยา หันกลับมาตรวจสอบความรู้และการทำงานของตัวเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องทำงานตามภาระหน้า ที่ซึ่งมุ่งหวังที่จะเป็นศาสตร์ที่ยกระดับจิตใจมนุษย์

แปลและเรียบเรียงโดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก David Levinson and Melvin Ember (eds.)
Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996, pp.603-606.

++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ
สำหรับผู้ที่สนใจเว็บไซต์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร http://203.185.130.68/
Copyright Disclaimer (ประกาศสละเรื่องลิขสิทธิ์)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 Tel. +66 2 8809429 Fax. +66 2 8809332

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

ต้นกำเนิดของศาสนา หรือสังคมในความคิดของเดอไคม์ เกิดขึ้นในพิธีกรรมทางสังคมที่กระทำต่อบุคคล ทฤษฎีของเดอไคม์อธิบายว่า "คนที่ไร้ความเจริญ" (เช่นคนพื้นเมือง) จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับ "ความแจ่มใส" เมื่อได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ามีอำนาจบางอย่างอยู่นอกตัวมนุษย์ เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง คนจำนวนมากก็แยกย้ายออกไปเพื่อไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ เดอร์ไคม์แบ่งแยกโลกในชีวิตประจำวัน (profane) กับโลกที่ศักดิ์สิทธิ์(sacred) ออกจากกัน โลกในชีวิตประจำวันเป็นโลกของการทำงานแบบจำเจและมีความสกปรก ส่วนโลกศักดิ์สิทธิ์จะเกิดในพิธีกรรม มีความสะอาดบริสุทธิ์และมีอำนาจ ในพิธีกรรมจะมีความรู้สึกแบบแจ่มใสเบิกบาน รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม หรือ โทเทม จะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและทำให้เกิดความรู้สึกเบิกบาน โทเทม เป็นสัญลักษณ์ของการรวมกลุ่มและความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งจะเกิดในพิธีกรรม