Thai Political Issues
The Midnight University
การเมืองไทยร่วมสมัย
ปลายปี ๒๕๔๙
จากการเมืองเรื่องน้ำท่วม
ถึงประชาธิปไตยอันมีกองทัพอยู่ข้างบน
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการต่อไปนี้
เป็นงานที่เคยได้รับการเผยแพร่แล้วบน นสพ.มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยร่วมสมัย ประกอบด้วย
๑.
การเมืองเรื่องน้ำท่วม (กรณีกรุงเทพกับต่างจังหวัด)
๒. ด่านหน้าของรัฐชาติ (เกี่ยวกับการครูและการศึกษา ๓ จังหวัดชายแดนใต้)
๓. ประชาธิปไตยอันมีกองทัพอยู่ข้างบน (กอ.รมน.)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๐๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
จากการเมืองเรื่องน้ำท่วม
ถึงประชาธิปไตยอันมีกองทัพอยู่ข้างบน
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
1. การเมืองเรื่องน้ำท่วม
เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ตอนที่กรุงเทพฯ เพิ่งเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ดร.มนตรี เจนวิทย์การ
เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ฝรั่งในกรุงเทพฯ ว่า มีการเมืองอยู่ในน้ำท่วม เพราะน้ำไม่ได้ไหลเอ่อไปตามความลาดชันของผิวโลก
หากถูกแนวของกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำผลักให้ไปท่วมอยู่ในบริเวณของคนที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองลาดชันต่ำต่างหาก
ต้องสารภาพว่า บทความนี้ทำให้ผมตาสว่างจากความมืดมิดของอุทกภัยที่กลายเป็นปรากฏการณ์ประจำปีของประเทศไปแล้วเป็นครั้งแรก และเพราะถูกสอนให้มองอุทกภัยให้มากกว่าน้ำตาม ดร.มนตรีนี้เอง จึงได้เห็นอะไรอื่นๆ มากกว่ากระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำเป็นอันมาก เพราะในบัดนี้น้ำท่วมประจำปีนี้ได้ผ่านพ้นชาวกรุงเทพฯ ไปอย่างแน่นอนแล้ว เราจึงแทบไม่ได้เห็นข่าวคราวของคนที่จมน้ำอยู่รอบกรุงเทพฯ อีกต่อไป ไม่ว่าในคำแถลงของหน่วยงานรัฐหรือในสื่อ แต่ในความเป็นจริงยังมีเรือกสวนไร่นาบ้านเรือนของผู้คน ที่จมน้ำอยู่จนถึงปัจจุบันอีกหลายท้องที่
ดูเหมือนมีวงจรบางอย่างที่หาจุดเริ่มต้นไม่ได้ในความเฉยชาต่อชะตากรรมของผู้คนเช่นนี้ สื่อลำเอียงเข้าข้างคนที่ซื้อสื่อหรือซื้อสินค้าในโฆษณาของสื่อ แต่ที่สื่อจะลำเอียงอย่างออกหน้าเช่นนี้ได้ก็เพราะสังคมซึ่งอุปถัมภ์สื่อเอง หาได้ไยดีต่อชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติมากไปกว่าการบริจาคไม่ รัฐบาลจึงไม่ถูกบีบบังคับให้เอาใจใส่แก้ไขความเดือดร้อนของผู้ที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองต่ำ (โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งไม่ได้เสียงสนับสนุนจากใครนอกจากประชากรเมือง) แล้วก็วนกลับมาที่สื่อ, สังคม, รัฐบาลอีกหนหนึ่ง ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ซ้ำวงจรนี้ไม่ได้หมุนอยู่ในขนาดและกำลังเท่าเดิมด้วย หากขยายความรุนแรงเข้มข้นขึ้นตลอดมา เช่นน้ำท่วมปีนี้เป็นปีแรกที่ไม่ต้องกระดากปากอีกต่อไป ที่จะผลักน้ำไปยังคนซึ่งความลาดชันของอำนาจต่อรองทางการเมืองต่ำ เพราะเขาบอกชัดเจนเลยว่า ต้องผลักน้ำเข้าเรือกสวนไร่นาในภาคกลางเพื่อช่วยกรุงเทพฯ ไว้จากอุทกภัย ด้วยพื้นที่กี่แสนกี่ล้านไร่, ด้วยชะตากรรมของผู้คนอีกกี่แสนกี่ล้านครอบครัว, ด้วยเศรษฐกิจครอบครัวอีกกี่แสนกี่ล้านบาท, ด้วยชีวิตที่สูญเสียไปโดยไม่จำเป็นอีกไม่รู้กี่สิบกี่ร้อย ฯลฯ ก็ไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจน...เมื่อไม่ต้องต่อรองแล้ว จะรู้ไปทำไม
รวมทั้งไม่ต้องรู้หรือคิดไว้ก่อนด้วยว่า จะต้องชดเชยให้แก่ความเสียสละที่ไม่เจตนาของผู้คนเหล่านั้นกันเท่าไร และอย่างไร ด้วยเงินหรือทรัพยากรที่คนกรุงเทพฯ จะต้องรับผิดชอบร่วมด้วยสักเท่าไรและอย่างไร หลังจากนี้ไปอีก 5 ปี เราก็จะได้ยินข่าวอย่างที่เคยได้ยินจากโครงการบำเรอคนกรุงเทพฯ อื่นๆ ว่า มีชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สัญญาเลยสักบาทอีกหลายครอบครัว
ส่วนความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แทนที่จะมีโครงการรูปธรรมใดๆ ของรัฐที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ในการเข้าไปช่วยบรรเทาและเยียวยา ก็มีเพียงระดมการบริจาคกันอย่างขนานใหญ่ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีการจัดการที่ดีพอสำหรับการกระจายของและเงินบริจาคให้ทั่วถึง ผู้คนถูกกล่อมให้ลืมความอยุติธรรมที่ตัวได้รับด้วยการร้องรำของดาราทีวี แล้วก็กลับไปนอนบนหลังคาตามเดิม ในขณะที่คนกรุงเทพฯ และสื่อรู้สึกว่าตัวได้ล้างบาปไปแล้วด้วยสิ่งของและเงินที่จบขอขมาก่อนหย่อนลงกล่องบริจาค
เมื่อวงจรได้หมุนมาถึงระดับนี้ ความลำเอียงเชิงทัศนคติและความลำเอียงเชิงนโยบายก็สามารถทำงานของมันได้อย่างเต็มที่และเปิดเผย ไม่ต้องซ่อนเงื่อนของมันไว้ในเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมอีกต่อไป ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และคุณค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร ควรมีศักดิ์ศรีและคุณค่าเท่าไร สิ่งเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องแฝงไว้อย่างคลุมเครือในประโยคเช่น "รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยอาศัยกลไกตลาด..." ดังในมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญ 2540
ใช่ว่าน้ำท่วมจะเกี่ยวกับน้ำอย่างเดียวไม่ น้ำจะท่วมหรือไม่ จะขังหรือไม่ ท่วมใครและขังใคร ยังสัมพันธ์กับการตัดสินใจเชิงนโยบายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำอีกมาก การศึกษาขององค์การสหประชาชาติชี้ว่า สภาพน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นมากทั่วไปทั้งโลกนั้น สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในทำเลน้ำท่วม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ น้ำก็หลากลงมาในพื้นที่เหล่านี้มาแต่โบราณ แต่เดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่ได้ถูกมนุษย์ใช้สอย คนก็ไม่รู้สึกว่าเกิด "น้ำท่วม" ขึ้น (อย่างเดียวกับที่คนอีสานไม่รู้สึกว่าบุ่งทามถูก "อุทกภัย")
แต่อย่าเพิ่งสรุปง่ายๆ เพียงว่า คนมีมากขึ้น ก็ต้องบุกเบิกเข้าไปทำเกษตรและตั้งบ้านเรือนในเขตน้ำท่วมเป็นธรรมดา ฉะนั้นจึงเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในกรณีเมืองไทย การใช้สอยพื้นที่น้ำท่วมล้วนกระทำไปด้วยความลำเอียงเชิงทัศนคติและนโยบายตลอดมา แรงกดดันด้านประชากรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบาย การตั้งถิ่นฐานในเขตน้ำท่วมโดยไม่มีการสร้างสาธารณูปการรองรับได้
ประเทศไทยเกือบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าบริสุทธิ์ ไม่ต่างจากก๋วยเตี๋ยวและเครื่องเสียง ทั้งๆ ที่ที่ดินเป็นทรัพยากรการผลิตขั้นพื้นฐานของทุกสังคม-ไม่ว่าจะเป็นสังคมเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม-ฉะนั้นที่ดินจึงถูกนำไปใช้เก็งกำไรได้เหมือนสินค้าอื่น หรืออย่างน้อยก็ถือครองไว้เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงเป็นธรรมดาที่ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ในมือคนจำนวนหยิบมือเดียว ในขณะที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงที่ดิน ซึ่งเหมาะแก่การประกอบการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับกำลังของตน
หนทางเดียวคือบุกเบิกไปยังที่ "ชายขอบ" ทั้งหลาย รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่น้ำท่วมถึง ซึ่งแต่เดิมไม่มีเศรษฐีคนไหนต้องการถือครอง เกิดไร่นาสาโทและหมู่บ้านชุมชนขึ้นทั่วไป โดยรัฐไม่เคยลงทุนปรับสภาพให้รองรับน้ำหลากประจำปีได้
วิธีป้องกันน้ำท่วมจำเป็นต้องมีหลากหลาย แต่วิธีซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้ผู้คนสามารถถอยออกมาจากพื้นที่ชายขอบน้ำท่วมถึง ในขณะที่การลงทุนปรับสภาพให้คืนธรรมชาติก็ทำได้ในราคาถูกลง เพื่อให้เกิดพื้นที่รองรับน้ำหลายประเภทในช่วงที่มีน้ำหลาก แต่วิธีนี้ไม่เคยได้รับความใส่ใจจากรัฐบาลชุดใดทั้งสิ้น เพราะเท่ากับบั่นรอนธนสารสมบัติของผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล ทั้งที่อยู่ในและนอกวงการเมือง แม้แต่คนชั้นกลางในเมืองเองก็ไม่กระตือรือร้นกับนโยบายนี้ เพราะเกรงว่าจะกระทบผลประโยชน์ของตนเอง หรือไม่เห็นว่านโยบายที่ดินของไทยเป็นพิษเป็นภัยต่อตนเอง
ด้วยเหตุดังนั้นจึงได้แต่เน้นการจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด ถูกบ้างแพงบ้าง พร้อมกับคำโฆษณาที่ลงทุนกันมโหฬารเพื่อให้ผู้รับสื่อเชื่อว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นแก้ปัญหาให้ได้ แม้แต่น้ำท่วมอยู่เต็มตาและเต็มตีน ก็ยังอุตส่าห์โฆษณาคุณวิเศษของเทคโนโลยีเหล่านั้น
มิติทางสังคมที่ถูกละเลยในการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังมีอีกมาก เช่นไม่เคยมีการวางระเบียบเกี่ยวกับการถมที่ จนกระทั่งน้ำไม่เคยไหลสู่ที่ต่ำได้สะดวก พื้นที่สาธารณะซึ่งเคยมีหน้าที่ตามธรรมชาติในการบรรเทาน้ำหลาก เช่นพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ถูกบุกรุกทั้งจากเอกชน และหน่วยราชการเอง จนไม่มีขนาดเพียงพอที่จะชะลอน้ำหลากจากภาคเหนือได้ ยังไม่พูดถึงการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นผลมาจากความทุจริตของเจ้าหน้าที่ต่อการละเมิดกฎหมายของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ-การเมือง
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจไม่มีสมรรถภาพพอจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่อย่างน้อยก็มีความหวังว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องโอนอ่อนต่อแรงกดดันทางการเมืองของผู้เลือกตั้งบ้าง หากประชาชนซึ่งไร้อำนาจและไร้เสียงต่อรองทางการเมืองในปัจจุบัน สามารถรวมกลุ่มสร้างแรงกดดันนักเลือกตั้งได้ ก็อาจไม่มีใครกล้าปล่อยน้ำเข้านาใครง่ายๆ เพื่อช่วยกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องปรึกษาหารือและทำสัญญาการชดเชยอย่างจริงจังก่อน
รัฐบาลของคนดียิ่งแก้ไม่ได้มากขึ้น เพราะนี่เป็นเรื่องของการเลือกจะให้ใครได้ และให้ใครเสีย คนที่ได้และเสียต้องต่อรองกันเอง ลงท้ายก็ไม่มีใครได้หมด แต่ก็ไม่มีใครเสียหมด ไม่ว่าคนดีจะดีสักแค่ไหนก็ไม่มีปัญญาพอที่จะคิดแทนคนอื่นได้ทุกฝ่ายอย่างนั้น ยกเว้นแต่พระอรหันต์
แต่พระอรหันต์ย่อมไม่ทำรัฐประหาร และไม่ยุหรือใช้ใครทำรัฐประหาร
2. ด่านหน้าของรัฐชาติ
ด้วยความเห็นใจคุณครูในภาคใต้อย่างที่สุด เพราะการทำงานของท่านกลับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ท่านและครอบครัวได้ถึงชีวิต
ไม่ว่าท่านจะทำงานอย่างคนหาเลี้ยงชีพตามปกติ หรือทำงานด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นและเสียสละ
ก็ล้วนมีอันตรายเท่าๆ กัน
แต่ด้วยความหมั่นไส้โฆษกทีวี เพราะการก่นประณามผู้ทำร้ายคุณครูในภาคใต้ว่า ครูเสียสละไปให้การศึกษาแก่ลูกหลาน ยังมีจิตใจเหี้ยมโหดทำร้ายครูผู้เสียสละได้ลงคอ ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร นอกจากทำให้โฆษกเป็นวีรบุรุษในสังคมไร้เดียงสา ซึ่งก็เหมือนสังคมไร้เดียงสาโดยทั่วไปคือ มีเครื่องมือจัดการความขัดแย้งอยู่อย่างเดียว คือการก่นประณาม
เหตุใดคนที่เขาบอกอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ไม่ต้องการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับโฆษกทีวี จึงต้องหวั่นไหวต่อการก่นประณามของโฆษกทีวีด้วย เหตุใดมาตรฐานของโฆษกทีวีจึงต้องเป็นมาตรฐานของเขาด้วย
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาคือด่านหน้าของรัฐชาติ วิธีเดียวที่รัฐชาติจะผนวกเอาคน "อื่น" ก็ตาม คนที่เพิ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาก็ตามให้เข้ามาเป็นพลเมืองของรัฐชาติได้อย่างมั่นคงถาวรที่สุด ก็คือให้การศึกษาที่รัฐชาติกำหนด ยิ่งกว่าการผนวกเข้ามาเฉยๆ ก็คือ การศึกษาทำให้ผู้คนยอมรับการถูกผนวกเข้ามาสู่สถานภาพ, โอกาส, และอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในรัฐชาติด้วย
ฉะนั้นการศึกษาจึงไม่ได้สร้างพลเมืองเฉยๆ แต่สร้างพลเมืองที่สมยอมกับทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐชาติ ทั้งที่ยุติธรรมและไม่ยุติธรรมต่อเขา การศึกษาจึงเป็นด่านหน้าเสียยิ่งกว่าหน่วยทหารที่ยกกันออกไปตั้งในท้องที่ การก่อวินาศกรรม, การทำร้ายราษฎร, การทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ เป็นเพียงการทำให้อำนาจของรัฐชาติถูกสั่นคลอนจนไม่เป็นที่วางใจของใคร แต่การทำร้ายครูหรือโรงเรียนคือการทำให้รัฐชาติหมดอนาคต เปิดพื้นที่สำหรับการเกิดขึ้นของรัฐชาติ (หรือรัฐชาติ-ศาสนา) ใหม่
ถ้าเข้าใจตามนี้ การป้องกันสวัสดิภาพของครูคือการรักษาด่านหน้าของรัฐชาติเอาไว้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ครูอาจถูกทำร้ายเหมือนราษฎรอื่นๆ ในพื้นที่ได้ แต่ครูไม่ควรถูกทำร้ายเพราะเขาทำหน้าที่ครู ฉะนั้นการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยของครูจึงต้องคิดกันให้ได้ผลจริง และแม้จะต้องทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังคนลงไปเท่าไร ก็ต้องทำ อย่าคิดง่ายๆ แต่เพียงติดอาวุธให้ครู เพราะนั่นคือการปัดภาระและทำให้งานของครูซึ่งมีมากกว่าชอล์กและกระดานเสียหายอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ได้ผลคงต้องมีหลายมิติกว่าการใช้กำลังตำรวจ-ทหารเพียงอย่างเดียว การที่รัฐบาลสนับสนุนให้โรงเรียนและชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ควรทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โรงเรียนควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชุมชน เป็นตัวกลางของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชาวบ้านมากกว่าการเป็นผู้ปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐถ่ายเดียว โรงเรียนควรมีส่วนร่วมในฐานะที่เท่าเทียมกับชาวบ้านในการพัฒนาของชุมชน
จำเป็นต้องกลับมาคิดเรื่องการป้องกันสวัสดิภาพของครูกันใหม่ทั้งระบบ โดยไม่แยกมาตรการด้านลบออกจากมาตรการด้านบวก และมาตรการด้านบวกอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรคิดให้มากก็คือ การศึกษาในฐานะด่านหน้าดังกล่าว รุกล้ำเข้าไปในปริมณฑลที่ชาวบ้านรับได้ยากบ้าง เช่น รู้สึกว่าไปบั่นทอนอัตลักษณ์ของเขา หรือทำให้วิถีชีวิตที่เขาชื่นชอบขาดความมั่นคง
การซอยเขตพื้นที่การศึกษาให้เล็กลงเพียงอย่างเดียว อาจไม่ตอบปัญหาข้อนี้ได้ จนกว่าจะเปิดให้ชาวบ้านหรือผู้ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตร, วิธีการเรียนการสอน, ตลอดจนถึงการบริหารโรงเรียนในระดับที่อาจให้เกิดความวางใจแก่ชาวบ้านได้ว่า ด่านหน้าของรัฐชาติไม่ได้คุกคามสิ่งที่เขาเห็นว่ามีคุณค่าและความสำคัญในชีวิตของเขา
ดังเช่นข้อเสนอของ กอส.ที่ว่า การศึกษาในกลุ่มเด็กปฐมวัยน่าจะจัดในภาษาท้องถิ่นมากกว่าภาษาไทย จนกระทั่งเด็กมีอายุมากขึ้น จึงใช้ภาษาถิ่นที่เขาเชี่ยวชาญขึ้นนั่นแหละเป็นพาหะนำมาสู่ความรู้ความเข้าใจภาษาไทย อันเป็นภาษาที่เขาน่าจะได้ประโยชน์ในสังคมนี้ ในขณะที่ความพยายามจะยัดเยียดภาษาไทยซึ่งเด็กไม่มีโอกาสใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากทำให้การศึกษากลายเป็นเรื่องยากโดยไม่จำเป็น และเด็กไม่ได้ความรู้ทั้งภาษาไทยหรือความรู้อื่นๆ ซึ่งใช้ภาษาไทยเป็นสื่อการสอนในโรงเรียนเลย
ประชาชนในท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า จะใช้ภาษาอะไรเป็นสื่อการสอนในระดับใด อย่ากลัวว่าเขาจะเลือกไม่เรียนภาษาไทยเลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ การสำรวจความเห็นของผู้ปกครองในสามจังหวัดภาคใต้หลายครั้งหลายหน โดยหลายหน่วยงานได้ผลตรงกันอย่างหนึ่งว่า ผู้ปกครองวิตกกังวลว่า ลูกหลานที่เข้าเรียนในโรงเรียนไม่รู้ภาษาไทย แม้แต่จบชั้น ป.6 แล้วยังเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยไม่ได้
แน่นอนว่ามาตรการเชิงลบและบวกซึ่งควรคิดให้เป็นระบบดังกล่าว คงไม่สามารถทำให้แกนกลางของกลุ่มที่ปฏิบัติการเพื่อแยกตัวจากรัฐชาติไทยยุติการก่อความไม่สงบ แต่ไม่ควรลืมด้วยว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนน้อยมาก ที่สามารถปฏิบัติการอยู่ได้ในทุกวันนี้ก็เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งแม้มีเหตุที่ไม่พอใจรัฐอยู่มาก ก็ไม่ได้คิดจะแยกตัวจากรัฐไทย เพียงแต่ไม่เห็นเหตุที่จะต้องเสี่ยงอันตรายเข้ามาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
ความปลอดภัยของครูจึงอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าอื่นใด นอกจากการปฏิบัติตัวของครูแต่ละคนแล้ว งานที่ครูทำในฐานะด่านหน้าของรัฐชาติก็ควรจะเป็นที่รับได้ของประชาชนด้วยเช่นกัน
ปราศจากฐานของประชาชนที่ไม่ยอมเลือกข้างเช่นทุกวันนี้ อย่างไรเสียกลุ่มปฏิบัติการแยกตัวจากรัฐ ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักย่อมไม่อาจปฏิบัติการก่อความรุนแรงอย่างได้ผล
การยืนยันทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายทหารที่จะใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่สันติวิธีไม่ได้หมายความเพียงไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้ปฏิบัติการเท่านั้น ควรรวมถึงการปรับแก้สิ่งที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่างๆ ในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งประชาชนมองว่าคุกคามและบั่นรอนอัตลักษณ์ของเขามาเป็นเวลานาน (ซึ่งก็คือความรุนแรงในอีกลักษณะหนึ่ง)
3. ประชาธิปไตยอันมีกองทัพอยู่ข้างบน
ภายใต้นิติบัญญัติของสภาแต่งตั้งจำเป็นต้องรีบติเรือทั้งโกลน นอกจากนี้ ยังมีเรือสับปะรังเคที่กองอยู่กลาดเกลื่อนในสังคมไทยซึ่งต่อมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหาร
เป็นบทเรียนว่าปราศจากการตรวจสอบของกระบวนการประชาธิปไตย อำนาจจะไม่คิดทำอะไรอื่นมากไปกว่ารักษาอำนาจของตัว
ประธาน คมช.กล่าวว่า กฎหมายใหม่เพื่อปรับโครงสร้าง กอ.รมน.กำลังจะออกมา ซึ่งโดยสรุปก็คือโอนอำนาจทั้งหมดของ กอ.รมน. กลับมาอยู่กับฝ่ายทหาร ผบ.ทบ.จะกลับมาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ กอ.รมน.ใหม่แทนนายกรัฐมนตรี แม้กระนั้นภารกิจของ กอ.รมน.ก็ไม่ใช่เรื่องทหารเพียงอย่างเดียว แต่รวมกิจการอีกหลายอย่างของฝ่ายพลเรือน รวมแม้กระทั่งสิ่งที่น่าจะจัดว่าเป็น "การเมือง" แท้ๆ
เช่น คอยติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลเก่า แปลว่าเราทุกคนต้องเสียภาษีเพื่อให้เขาใช้ในการต่อสู้กับศัตรูทางการเมืองของเขานั่นเอง
ส่วนกิจการซึ่งดูเป็น "พลเรือน" ที่ยกขึ้นมาคือ การปราบปรามยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ประธาน คมช.ยังกล่าวว่า ภัยคุกคามความมั่นคงในโลกยุคปัจจุบันที่สุดคือภัยการก่อการร้าย ขึ้นชื่อว่า "ก่อการร้าย" แล้ว ไม่อาจแยกได้เลยระหว่าง "พลเรือน" และ "ทหาร" ซ้ำภารกิจของฝ่าย "ทหาร" ยังเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามการตัดสินใจที่พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านของฝ่าย "พลเรือน" อีกด้วย
และเพราะ กอ.รมน.ใหม่ไม่ได้แยกให้ทหารเป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่กลับเป็นผู้กำหนดและจัดการเรื่องความมั่นคงทั้งหมดเอง จึงต้องเชื่อมโยง กอ.รมน.ใหม่เข้ากับราชการฝ่ายพลเรือน โดยอำนาจอยู่ในมือของผู้อำนวยการ กอ.รมน.หรือผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคนั่นเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจต้องทำงานร่วมกับ กอ.รมน. ในสมัยสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ยังมีคำสั่งให้หน่วยราชการทุกแห่งที่อยู่ในส่วนภูมิภาค อยู่ในการกำกับควบคุมของ กอ.รมน.(หรือ กอ.ปค.) จังหวัดและภาคด้วย (หรือของ ผบ.กรมหรือกอง ของหน่วยทหารและแม่ทัพภาคนั่นเอง)
แขนขาของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในภายหน้าจึงไม่ได้เป็นอวัยวะของรัฐบาล หากเป็นอวัยวะของกองทัพ
หนังสือพิมพ์ฝรั่งบอกว่า โครงสร้างใหม่ของ กอ.รมน.นี้เอารูปแบบมาจากกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐ อันเป็นมาตรการที่ละเมิดสิทธิประชาธิปไตยของอเมริกันอย่างโจ่งแจ้งหลายประการ ผ่านสภามาได้ก็ด้วยความตระหนกของสังคมอเมริกันในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11
ในสังคมที่ประเพณีประชาธิปไตยไม่ได้หยั่งรากลึกอย่างไทย ก็ยิ่งชัดว่ากฎหมายใหม่ที่จะปรับโครงสร้าง กอ.รมน.นี้คงไม่ต่างจากการสถาปนาอำนาจของกองทัพไว้ในการเมืองไทยอย่างมั่นคงถาวร ไม่ต่างจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งคณะทหารพม่ากำลังร่างอยู่ในเวลานี้
การที่มองยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมืองว่ากระทบต่อความมั่นคง ก็แสดงอยู่แล้วว่าความมั่นคงไม่ได้มีความหมายแคบๆ เพียงอธิปไตยหรือบุรณภาพทางดินแดนของรัฐ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ระมัดระวัง จนเป็นผลให้เกิดวิกฤตอย่างรุนแรงขึ้นใน 2540 กระทบต่อความมั่นคงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซ้ำวิถีทางแก้ปัญหาก็ยังอาจยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหนักขึ้นไปอีกก็ได้ แล้วแต่จะเลือกวิถีทางไหน
กล่าวโดยสรุป การจรรโลงความมั่นคงนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเลือก ไม่ใช่มีหนทางอยู่อย่างเดียว เพราะแต่ละหนทางล้วนมีคนได้คนเสียในหนทางนั้นๆ ทั้งสิ้น การระงับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อาจช่วยยับยั้งการก่อการร้ายได้ในบางกรณี แต่ในขณะเดียวกันก็เสริมให้การก่อการร้ายมีความชอบธรรมมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อตอบโต้ "การก่อการร้าย" ของรัฐเอง จึงช่วยกระพือให้การก่อการร้ายกระทำได้ง่ายขึ้นไปพร้อมกัน ฉะนั้นจึงต้องเลือกระหว่างการยับยั้งกับการกระพือ ได้แค่ไหน เสียแค่ไหน เมื่อเลือกแต่ละหนทาง
แม้ฝ่ายทหารเข้าใจความหมายของความมั่นคงกว้างขึ้น แต่ก็ยังคิดว่าความมั่นคงเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะ เหมือนการสร้างสะพานหรือการเย็บปักถักร้อย จึงเป็นภาระของผู้เชี่ยวชาญต้องตัดสินใจเอง แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าหนทางที่จะรักษาความมั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องเลือก และต้องเลือกจากปัจจัยที่หลากหลายกว่ากำลังมากนัก เลือกทั้งวิธีการและเลือกทั้งผลที่จะเกิดจากวิธีการนั้นๆ ปัจจัยทางทหารย่อมเป็นส่วนหนึ่งอย่างแน่นอนในการตัดสินใจเลือก แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ซ้ำไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดด้วย
ในสภาพเช่นนี้ ใครจะเป็นคนเลือกที่ดีที่สุด คำตอบคือสังคมทั้งหมดต้องเข้าใจปัญหา และเข้าใจผลของทางเลือกให้ดี จะทำให้สังคมทั้งหมดเป็นผู้เลือกได้ ขึ้นอยู่กับ "กระบวนการ" คือต้องมีกระบวนการที่จะทำให้สังคมรับรู้ สังคมมีโอกาสคิด สังคมมีโอกาสโต้เถียงอภิปราย และสังคมมีอำนาจหรือเครื่องมือทางการเมืองที่จะลงมติเลือก (นับตั้งแต่สื่อ, สภา, ฯลฯ ขึ้นไปจนถึงประชามติ)
"กระบวนการ" อย่างนี้ เขาเรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งเป็นน้ำเนื้ออยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนอยู่แล้วแม้แต่ในสังคมไทยโบราณ ไม่เกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง
ถ้าว่าในทางรูปธรรม การเอา กอ.รมน.มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีจึงถูกต้องแล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งควรต้อง "รับผิด" (accountable) ต่อกระบวนการทางการเมือง การที่นายกรัฐมนตรีเอา กอ.รมน.ไปใช้ในทางผิดๆ เช่น เอาไปเล่นงานศัตรูทางการเมือง และไม่นำเอาการเลือกหนทางของการรักษาความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีก็คิดอย่างเดียวกับประธาน คมช.ในปัจจุบัน คือมองไม่เห็นว่าความมั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องเลือก ไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญ มองเห็นแต่มิติของการบริหาร กอ.รมน. แต่มองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองมิติทางการเมืองของ กอ.รมน.
จึงเป็นธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีย่อมใช้หน่วยงานนี้ไปในการรักษาอำนาจของตนเอง และไม่ประหลาดที่ควรจะระแวงประธาน คมช.ว่าจะลงเอยด้วยการใช้ กอ.รมน.เพื่อประโยชน์อย่างเดียวกัน ตรรกะของการจัดการย่อมนำไปสู่จุดสรุปเดียวกัน
อนึ่ง การชี้ว่าการก่อการร้ายเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น ควรเข้าใจการก่อการร้ายให้ดีกว่ารับฟังอเมริกันเพียงฝ่ายเดียว ในความพยายามสถาปนาภาวะการนำอย่างโดดเดี่ยวของสหรัฐให้มั่นคงถาวร สหรัฐใช้การก่อการร้ายสากลเป็นเครื่องมือสำหรับกำกับควบคุมรัฐอื่นๆ ให้อยู่ภายใต้ภาวะการนำของตัว เจ้าหน้าที่อเมริกัน "เดินตลาด" ขายการก่อการร้ายสากลไปทั่ว
แต่การก่อการร้ายแบบที่อเมริกันเผชิญกับแบบที่อีกหลายประเทศ เช่น พม่า หรือจีน หรือเลบานอนเผชิญนั้นต่างกัน ภาวการณ์นำของสหรัฐกำลังถูกท้าทาย ทั้งในเวทีการเมืองระดับโลก ในท้องถนน ในการประชุมขององค์กรระหว่างประเทศ และในเวทีการก่อการร้ายด้วย หากไทยต้องเผชิญกับการก่อการร้าย ก็ไม่เกี่ยวกับภาวการณ์นำของไทยในโลกกว้าง ยกเว้นแต่เราไปทำตัวเป็นด่านหน้าให้แก่ภาวการณ์นำของอเมริกัน
การก่อการร้ายที่เราเผชิญอยู่นั้น ที่จริงแล้วก็เหมือนกับที่เกิดในประเทศอื่นๆ อีกมาก ส่วนหนึ่งคือการตอบโต้กับการก่อการร้ายที่รัฐกระทำก่อน (เช่น ในปาเลสไตน์และเลบานอน - รวมถึงการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็เป็นการก่อการร้ายอีกชนิดหนึ่ง) อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเวทีการต่อสู้อื่นไม่เปิดสำหรับผู้ก่อการได้ใช้ หรือใช้อย่างได้ผลในการต่อรองทางการเมือง (ไม่ว่าจะเป็นกรณีสามจังหวัดภาคใต้ หรือกรณีเผาโรงเรียนในภาคเหนือและอีสาน) ทั้งสมรรถภาพและเป้าหมายของผู้ก่อการในประเทศไทยก็ค่อนข้างจำกัด ทำให้แทบไม่กระทบกับคนและพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
การต่อสู้กับการก่อการร้ายในประเทศไทยจึงไม่อาจจำกัดอยู่กับยุทธวิธีทางการทหารแต่อย่างเดียว ตรงกันข้ามยุทธศาสตร์ทางการเมืองกลับมีความสำคัญกว่า และน่าจะเป็นตัวกำหนดยุทธวิธีทางการทหารด้วยซ้ำ การระดมกำลังราชการทั้งหมดมาดำเนินการภายใต้ทหาร กลับชี้ให้เห็นทัศนวิสัยที่คับแคบและไร้เดียงสาเกินกว่าจะเผชิญกับการก่อการร้ายในโลกปัจจุบันได้
กฎหมายใหม่ของ กอ.รมน.ที่อาจผ่านฉลุยจากสภาแต่งตั้ง เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะอาจมีผลกำหนดอนาคตของการเมืองไทยไปอีกนาน (ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างไร เพราะในเมืองไทยนั้น เขาฉีกรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ แต่ไม่เคยฉีกกฎหมายสักฉบับ) สังคมควรเฝ้าระวังและเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในทุกขั้นตอน... ตั้งแต่ขึ้นโกลนเพื่อต่อเรือเลยทีเดียว
ศ.ดร นิธิ
เอียวศรีวงศ์ :
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การก่อการร้ายที่เราเผชิญอยู่นั้น ที่จริงแล้วก็เหมือนกับที่เกิดในประเทศอื่นๆ อีกมาก ส่วนหนึ่งคือการตอบโต้กับการก่อการร้ายที่รัฐกระทำก่อน (เช่น ในปาเลสไตน์และเลบานอน - รวมถึงการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็เป็นการก่อการร้ายอีกชนิดหนึ่ง) อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเวทีการต่อสู้อื่นไม่เปิดสำหรับผู้ก่อการได้ใช้ หรือใช้อย่างได้ผลในการต่อรองทางการเมือง (ไม่ว่าจะเป็นกรณีสามจังหวัดภาคใต้ หรือกรณีเผาโรงเรียนในภาคเหนือและอีสาน) ทั้งสมรรถภาพและเป้าหมายของผู้ก่อการในประเทศไทยก็ค่อนข้างจำกัด ทำให้แทบไม่กระทบกับคนและพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ. การต่อสู้กับการก่อการร้ายในประเทศไทยจึงไม่อาจจำกัดอยู่กับยุทธวิธีทางการทหารแต่อย่างเดียว ตรงกันข้ามยุทธศาสตร์ทางการเมืองกลับมีความสำคัญกว่า และน่าจะเป็นตัวกำหนดยุทธวิธีทางการทหารด้วยซ้ำ การระดมกำลังราชการทั้งหมดมาดำเนินการภายใต้ทหาร กลับชี้ให้เห็นทัศนวิสัยที่คับแคบและไร้เดียงสาเกินกว่าจะเผชิญกับการก่อการร้ายในโลกปัจจุบันได้