บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๐๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙
19-12-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Thai Political Issues
The Midnight University

การเมืองไทยร่วมสมัย ปลายปี ๒๕๔๙
ความเป็นไทยสองแนวทาง ประชาธิปไตยสองแนวทาง
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการต่อไปนี้ เป็นงานที่เคยได้รับการเผยแพร่แล้วใน นสพ.มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความเป็นไทยและการเมืองไทยร่วมสมัย ประกอบด้วย
๑.
การวิพากษ์ความเป็นไทยสองแนวทาง
๒. การวิพากษ์ความเป็นไทย:วิจารณ์แห่งวิจารณ์
๓. กระบวนท่าประชาธิปไตยสากลนิยม

๔. กระบวนท่าประชาธิปไตยสัมพัทธ์นิยม
midnightuniv(at)gmail.com


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๐๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)



ความเป็นไทยสองแนวทาง ประชาธิปไตยสองแนวทาง
รศ.ดร.โดย เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. การวิพากษ์ความเป็นไทยสองแนวทาง
มีความแตกต่างที่สำคัญน่าสนใจอยู่ระหว่างการวิพากษ์การเมืองเรื่อง "ความเป็นไทย" ตำรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและสหาย กับ ของธงชัย วินิจจะกูล

มันเป็นความแตกต่างที่ทำให้นิธิ เอียวศรีวงศ์ เอาธุระจริงจังกับบทความ "Whose Democracy Lessons?" ของ Rudrani Fakir (Bangkok Post, 8 October 2006, Perspective, p. 3, 5) ดอกเตอร์หญิงนักมานุษยวิทยาผู้เกิดในแคนาดา เรียนจบฝรั่งเศส เชี่ยวชาญชนบทแคว้นเบงกอลของอินเดียและบังกลาเทศ และน่าจะมีเชื้อสายแขก (ดูจากชื่อเสียงเรียงนาม) ที่แก้ต่างปกป้องรัฐประหาร 19 กันยายน ด้วยแนวคิดสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) อย่างพิสดาร

เพราะบทความดังกล่าว "ทำให้ผม (หมายถึงนิธิ - ผู้เขียน) คิดหนักในการทบทวนจุดยืนของตนเอง" โดยเฉพาะ "น่าประหลาดที่ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของเธอทุกข้อ หากทว่ามีข้อแม้หรือมี "แต่" ที่ทำให้ความเห็นพ้องของผมไร้ความสำคัญไปหมด" ("มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ," มติชนรายวัน, 16 ต.ค. 2549, น.6). ขณะที่ธงชัยบอกปัดบทความน้ำท่วมทุ่งนี้อย่างรวบรัดไม่แยแสเมื่อถูกถามความเห็น

อีกนั่นแหละ ความแตกต่างดังกล่าวยังทำให้อรรถรสของการอ่านบทความ:-"สัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549" และ "เริ่มต้นประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย หรืออภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย" ของ ธงชัย วินิจจะกูล (กรุงเทพธุรกิจ, 9 และ 13 พ.ย. พ.ศ.2549) กับ -"ความเป็นไทยกับวิกฤตมนุษยศาสตร์" ของ สายชล สัตยานุรักษ์ (มติชนรายวัน, 24 พ.ย.2549, น.34) แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะรสชาติที่เหลือติดปลายลิ้นหลังอ่านจบ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเคยวิเคราะห์จำแนกการวิพากษ์ความเป็นไทยสองแนวทางข้างต้นไว้เมื่อปีที่แล้ว ขออนุญาตนำมาดัดแปลงแสดงประกอบซ้ำในที่นี้:-

จุดยืนของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แสดงชัดว่าวิพากษ์วิจารณ์ "ความเป็นไทย" เพื่อเลือกรักษา ปรับเปลี่ยน สร้างใหม่ซึ่งองค์ประกอบของ "ความเป็นไทย" เพื่อนิยาม "ความเป็นไทย" เสียใหม่ให้กว้างพอที่จะมีพื้นที่รองรับคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและสมศักดิ์ศรีมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งมันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ "ความเป็นไทย" จากจุดยืนข้างใน "ความเป็นไทย" นั้นเอง, อาจเพื่อยกระดับ ปรับเปลี่ยนคุณภาพ แต่มิใช่เพื่อข้ามไปให้พ้นหรือหลุดไปจาก "ความเป็นไทย" ไปเป็นอื่น. ซึ่งต่างจากอีกธรรมเนียมทางเลือกหนึ่งที่เลือกวิพากษ์วิจารณ์ "ความเป็นไทย" จากจุดยืนที่ประจันหน้ากับ "ความเป็นไทย" และเพื่อโละทิ้ง "ความเป็นไทย" ไว้ข้างหลังโดยไม่ต้องเหลียวกลับมาดูอีกได้ก็จะดี

นี่เป็นหนึ่งในเส้นแบ่งสำคัญขั้นมูลฐานที่จำแนกนักวิพากษ์วิจารณ์ "ความเป็นไทย" จากข้างในหรือ internal critics อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ และสหายแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกจาก totalizing critics หรือนักวิพากษ์ "ความเป็นไทย" แบบเบ็ดเสร็จอย่างธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

อาจารย์สายชลจึงวิพากษ์วิจารณ์ "ความเป็นไทย" ด้วยท่าทีท่วงทำนองแบบ "วิจารณ์เพราะรักเพราะอยากให้มันได้ดี เพราะเชื่อว่ามันดีกว่านี้ได้" หรือ erotic irony (หมายถึง the love for that which you are killing with your cruel, analytical words - รักสิ่งที่คุณกำลังสังหารด้วยถ้อยคำวิเคราะห์อันโหดร้ายเชือดเฉือนของคุณ) ดังที่นักประพันธ์ชาวเยอรมัน Thomas Mann (ค.ศ.1875-1955) บรรยายท่าทีของตัวละคร Tonio Kroger นักวิจารณ์ศิลปวรรณกรรมพลัดถิ่นต่อบ้านเกิดของเขาในเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน

หรือเป็นไปในทำนองที่ Theodor Adorno (ค.ศ.1903-1969) นักปรัชญาทฤษฎีวิพากษ์แห่งสำนักแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนีชี้ว่า "One must have tradition in oneself, to hate it properly." ("เราต้องมีประเพณีอยู่ในตัวเองเรา ถึงจะเกลียดชังมันได้อย่างที่ควร") ซึ่งชวนให้นึกถึงนักวิพากษ์ "ความเป็นไทย" ที่อิ่มอาบซึมซาบประเพณี "ความเป็นไทย" อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ และนายผี หรืออัศนี พลจันทร

หรือดังที่ศาสตราจารย์ Benedict Anderson อดีตอาจารย์ประจำคณะการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์แนล เล่าถึงสองศรีพี่น้องชาวชวา ผู้เป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมชวาให้แก่เขา ได้แก่:- ศาสตราจารย์ Poerbatjaraka นักชวาวิทยาผู้ได้รับการฝึกอบรมจากดัตช์คนแรกที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไลเดน ในเนเธอร์แลนด์ ทว่ากลับดูหมิ่นถิ่นแคลนวิชาการอาณานิคมของดัตช์ส่วนมาก รวมทั้งบรรดาองครักษ์พิทักษ์มรดกศักดินาของชวาทั้งหลายเองอย่างครึกครื้น

เขาผู้นี้เคี้ยวหมากหยับๆๆ ปากแดงแจ๋พลางบอกทั้งคนชวาและต่างชาติที่เขาพบและรู้สึกว่า ออกจะนับถือยำเกรงศาสนาเกินพอดีว่า ไม่ว่าศาสนาไหนๆ มันก็เป็นการหลอกตัวเองเหมือนกันทั้งนั้นแหละเฟ้ย! และ Pak Kodrat ผู้น้องที่สอนดนตรีชวาให้ครูเบ็นและเป็นหนึ่งในสามนักดนตรีชวาเดิมที่เก่งที่สุด แต่ทว่าก็หักแขนเทวรูป "ประเพณี" ไม่แพ้กัน

ครูเบ็นตั้งข้อสังเกตว่า "ทั้งคู่ภักดีต่อประเพณีของตน แต่ก็มองมันด้วยสายตาวิเคราะห์วิจารณ์อย่างแหลมคมทั่วถ้วน" ก่อนจะตบท้ายว่า กว่าเขาเองจะเริ่มเข้าใจและชื่นชมจุดยืนดังกล่าวก็เป็นเวลาให้หลังนานทีเดียว

หรือล่าสุด Jacqueline Rose อาจารย์ประจำสำนักวิชาภาษาอังกฤษและการละคร วิทยาลัย Queen Mary, University of London ก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง The Question of Zion (Princeton, 2005) ออกมาโดยพยายามสืบสาวราวเรื่องลัทธิฟื้นชาติยิว (Zionism) และให้ความสำคัญแก่บรรดานักคิดนักเขียนเชื้อสายยิวเองที่เห็นต่าง และวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสังกัดเอกลักษณ์ชาตินิยมยิวจากภายใน (internal dissent, internal critics, internal critique of a nationalist identification)

เธออธิบายความพยายามของตัวเองเองในหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นไปดังที่ Antonio Gramsci (ค.ศ.1891-1937) ปัญญาชนปฏิวัติชาวเกาะซาร์ดิเนียและเจ้าทฤษฎีการเมืองวัฒนธรรมมาร์กซิสต์เคยบรรยายเป้าประสงค์ของการคิดวิพากษ์วิจารณ์ (critical thinking) ไว้ว่า:- "เพื่อสร้างความแตกต่างขึ้นในที่ๆ ก่อนหน้านี้มันไม่เคยมีอยู่" ("to make differences where previously there were none")

แม้ผู้เขียนจะเห็นอกเห็นใจและเห็นด้วยกับท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวข้างต้น แต่ก็มีข้อทบทวนชวนคิดบางประการที่ใคร่จะนำเสนอในตอนต่อไป

2. การวิพากษ์ความเป็นไทย:วิจารณ์แห่งวิจารณ์
ในหนังสือ Minima Moralia: Reflections from Damaged Life (ค.ศ.1951) Theodor Adorno (ค.ศ.1903-1969) นักปรัชญาและวิจารณ์วัฒนธรรมแห่งสำนักแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนีได้กล่าวถึงนักศึกษาชาวสยาม ณ มหาวิทยาลัย Oxford ว่า พวกเขาแสดง "ความโน้มเอียงที่พร้อมจะซึมซับรับเอาสิ่งใหม่ๆ ควบคู่ไปกับเคารพยำเกรงสิ่งต่างๆ ทั้งหลายแหล่ที่สถาปนามาแล้ว, เป็นที่ยอมรับและได้การรับรอง" (ฉบับแปลภาษาอังกฤษ หัวเรื่องที่ 32 "Savages are not more noble.")

กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาดอร์โนสังเกตเห็นทั้ง (ความหลงใหลได้ปลื้มตื่นตาตื่นใจความทันสมัยที่สัมฤทธิ์ผลของตะวันตก)+(การเกล้าก้มประนมกรเชิดชูบูชาธรรมเนียมประเพณีของตน) ในหมู่คนไทยผู้มีการศึกษาเหล่านั้น

การติดกับดักทับซ้อนสองชั้นของทั้ง (ความทันสมัยของตะวันตก) และ (ธรรมเนียมประเพณีไทย) อย่างไม่วิพากษ์วิจารณ์จึงน่าจะเป็นอาการทางวัฒนธรรมที่เรื้อรังของปัญญาชนไทยแต่ไหนแต่ไร นับแต่เปิดประเทศรับลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เพิ่งผ่านพ้น

และเหนืออื่นใด มันสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งแยกย้อนที่เป็นปฏิทรรศน์ (paradox) ระหว่าง "ความไม่อยากเป็นไทย" VS. "ความอยากเป็นไทย" พร้อมๆ กันไปในสังคมเดียว วัฒนธรรมเดียว และกระทั่งในใจดวงเดียว กล่าวคือ... ในส่วนลึกที่สุดแล้ว เราไม่อยากเป็นไทย เพราะถ้าเป็นไทยเราจะแข่งไม่ชนะในตลาดโลก, เพราะถ้าเป็นไทยเราจะไม่ได้บริโภค เราเป็นปลื้มเสียไม่มีเวลาได้ยินชาวโลกกล่าวขวัญถึงเราว่า... "LITTLE JAPAN", "NIC รุ่น 2", "มังกรตัวถัดไป", "ห่านตัวใหม่" (ตามกระสวนการพัฒนาแบบ "ขบวนห่านบิน" ที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง)

รัฐมนตรีท่านหนึ่งเปรยว่าอยากให้ไทยเป็น FREE PORT ทั้งประเทศอย่าง SINGAPORE ผู้บริหารซีพี อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยประกาศเปรี้ยงทางทีวีว่า เศรษฐกิจไทยจะพุ่งโลกโดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรมาก ขอเพียงดำเนินนโยบายทุกอย่างตามแบบ HONG KONG. กำนันเป๊าะฝันเห็นพัทยาเป็น SWITZERLAND

เราไม่อยากเป็นไทยเพราะเรากลัวว่าถ้าเรามัวแช่นิ่งเป็นไทยต่อไป สักวันเราอาจต้องกลายเป็นอย่างเวียดนาม ลาว เขมร พม่าทุกวันนี้ ซึ่งเราไม่อยากเป็น. ลึกๆ แล้ว เราอยากติดปีกบินหนีเพื่อนบ้านยากจนล้าหลังร่วมวัฒนธรรมเหล่านี้ไปให้สุดไกล บินออกจากอุษาคเนย์ บินออกจากตัวเรา. บินไปไหน? ไปเป็นไม่ไทย, ไปเป็นโลกานุวัตร

ในส่วนลึกที่สุดแล้ว เราอยากเป็นไทย เพราะถ้าไม่เป็นไทย อำนาจจะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ เพราะถ้าไม่เป็นไทย ผู้คนจะคิดว่าคนเราเสมอภาคกัน นั่นจะก่อให้เกิดปัญหามากแก่ระบบอุปถัมภ์ ถ้าผู้คนเริ่มทำตามที่คิด ผู้ใหญ่จะไม่อาจยืนค้ำหัวผู้น้อย ผู้น้อยจะเริ่มหัวแข็งกระด้างกระเดื่องกับผู้ใหญ่ ผู้คนจะเริ่มมองต่างมุม แทนที่จะว่าอะไรว่าตามกันและตามผู้นำ

ผู้คนจะเริ่มแตกต่างขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ที่เป็นจริง แทนที่จะรู้รักสามัคคีกันตามภาพลักษณ์ในอุดมคติ
และตาสียายสาที่ควรจะหัวอ่อนว่านอนสอนง่ายเซื่องๆ ซึมๆ จะหันไปก่อม็อบ, ปิดถนน, ขวางรถ, ต้านเขื่อน. โสเภณีจะเต็มบ้าน, โจรจะเต็มเมือง, พระอลัชชีไม่ยอมเปลื้องผ้าเหลือง, เด็กจะเลิกเรียก "พ่อ", "แม่" หันไปเรียก "ป่าป๊า", "หม่าม้า", "แด๊ดดี๊", "มอมมี่" แทน. คนไทยจะพูดไทยไม่ชัด คนไม่ไทยจะพูดไทยชัด คนไทยคนไม่ไทยจะพูดไทยคำไม่ไทยคำ จนแยกคนไทยกับคนไม่ไทยไม่ออก

นั่นเป็นสิ่งที่ลึกๆ แล้วเราเกลียดกลัวขยะแขยงที่สุด ไม่ยอมรับและไม่อยากเป็นที่สุด ไม่ใช่เพราะมันไม่ตรงกับความเป็นจริงดังที่เป็นอยู่ในเมืองไทย แต่เพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ความเป็นไทยในอุดมคติของเรา และสำหรับเรา อุดมคติสำคัญกว่าความเป็นจริง (ถึงต้องสั่งแบนดิคลองแมนไง)[Longman Dictionary - กรุงเทพฯ: เป็นเมืองโสเภณี]

ถ้าเป็นได้ เราจึงทั้งอยากเป็นไทยและไม่อยากเป็นไทยไปพร้อมกัน เราอยากไม่เป็นไทยแบบไทยๆ และอยากเป็นไทยแบบไม่ไทย

เราอยากร่ำรวยและเป็นกระฎุมพีเยี่ยงขุนช้าง แต่เราก็อยากเป็นทหารหาญและเจ้าขุนมูลนายอย่างขุนแผน ความอยากที่แยกแย้งยอกย้อนในใจดวงเดียวนี้ ทำให้เราตกอยู่ในสภาพเหมือนวันทองผู้มีสองใจคืออยากได้มันทั้งคู่พร้อมกันไป อนิจจา...ในที่สุดนางก็ต้องสังเวยชีวิตให้แก่ความอยากนั้น

จึงไม่แปลกที่สังคมไทยทุกวันนี้จะเกิดอาการ "วัฒนธรรมเภท" (cultural schizophrenia) ระบาดลุกลาม โดยที่ใครต่อใครพากันลุกขึ้นมาป่าวร้องสารภาพความอยากที่ขัดแย้งกันเอง สำแดงบุคลิกภาพที่แยกส่วน (split personality) ทางการเมืองวัฒนธรรม คือทั้งไม่อยากเป็นไทย ("อยากเป็นประชาธิปไตยว่ะ") และอยากเป็นไทย ("แต่ในแบบภูมิปัญญาไทยนะเว้ย") ไปพร้อมกัน แหะๆ...

เราจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรดี?
ผมคิดว่าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว เอาเข้าจริงไม่มีใครอยากเป็นไทยขนานแท้และดั้งเดิมล้วนๆ ตลอดทั้งแท่ง อยากเป็นไทยชนิดที่ไม่มีอะไร ไม่ไทยแปดเปื้อนปะปนเลยแม้แต่น้อยนิดดอก ไม่มีใครอยากเช่นนั้น ไม่ว่าธีรยุทธ บุญมี หรือไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ หรือประเวศ วะสี!. ในทางกลับกัน ผมก็คิดว่าไม่มีใครไม่อยากเป็นไทยได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อยากเป็นไทยชนิดที่โละล้างเค้ารอยความเป็นไทยออกไปจากทุกซอกหลืบแง่มุมได้อย่างผุดผ่องเกลี้ยงเกลา เพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ย่อมทราบดี!

ฉะนั้น จุดยืนประเภท "ภูมิปัญญาไทย" ล้วนๆ กับ "หลักการสากล" เพียวๆ จึงเป็นเพียงตำแหน่งแห่งที่ในอุดมคติที่ไม่มีใครปรารถนาหรือสามารถเข้าไปสวมสอดได้สนิทในความเป็นจริง

ฐานะบทบาทของภาพพจน์ (figures of speech) เหล่านี้มีลักษณะเป็นชัยภูมิทางการเมืองวัฒนธรรม (cultural political positioning) ที่จัดวางปั้นแต่งขึ้นเป็นที่มั่นสำหรับต่อต้านหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์ในสถานการณ์เฉพาะเจาะจงหรือการณ์จร (contingency) หนึ่งๆ ต่างหาก และในความหมายนั้น มันจึง pragmatic (สัมฤทธิผลนิยม) ด้วยกันทั้งคู่!

ในกรณี "ภูมิปัญญาไทย" มันกำลังถูกยึดเหนี่ยวไว้เป็นที่มั่นต่อต้าน อำนาจครอบงำผูกขาดของชนชั้นนายทุนใหญ่ (capitalist domination) ที่ผูกพ่วงมากับระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง (electoral democracy) ในสมัยรัฐบาลทักษิณ. คำว่า "ประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทย" จึงอาจแปลความได้ว่า "ประชาธิปไตยที่ทำอย่างไรจะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของทุนใหญ่"

ส่วนกรณี "หลักการสากล" มันกำลังถูกใช้เป็นกำบังต้านทาน ระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย (a non-democratic regime of government with the King as Head of the State) ที่สืบเนื่องมากับการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐประหารของ คปค.

และคำว่า "ประชาธิปไตยตามหลักการสากล" ในที่นี้ก็อาจแปลความได้ว่า "ระบอบที่ต้องเป็นประชาธิปไตยเหนืออื่นใด..."

อย่างไรก็ตาม ในการขยับเคลื่อนเข้ายึดชัยภูมิทางการเมืองวัฒนธรรมข้างต้น ต่างฝ่ายต่างก็ต้องร่ายรำกระบวนท่าความคิดที่จำเป็นออกมา กล่าวคือ กระบวนท่าสากลนิยม (universalizing move) เพื่อยึดหลักการสากล และกระบวนท่าสัมพันธ์นิยม (relativizing move) เพื่อยึดภูมิปัญญาไทย โดยที่ทั้งสองกระบวนท่าต่างก็มีปัญหาเฉพาะของมันตามมา

3. กระบวนท่าประชาธิปไตยสากลนิยม
ในการขยับเคลื่อนเข้ายึดชัยภูมิทางการเมืองวัฒนธรรม เพื่อต่อต้านหรือหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์ในสถานการณ์เฉพาะหน้า บรรดาปัญญาชนต่างฝ่ายต่างก็ต้องร่ายรำกระบวนท่าความคิดที่จำเป็นและสอดคล้องกับเป้าประสงค์ออกมา ได้แก่

- กระบวนท่าประชาธิปไตยสากลนิยม (democracy-universalizing move) เพื่อยึดหลักการสากล ไว้เป็นที่มั่นต่อต้าน ระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย และ
- กระบวนท่าประชาธิปไตยสัมพัทธ์นิยม (democracy-relativizing move) เพื่อยึด ภูมิปัญญาไทย ไว้เป็นที่มั่นต่อต้าน ระบอบประชาธิปไตยภายใต้อำนาจครอบงำของทุนใหญ่

โดยที่ทั้งสองกระบวนท่าต่างก็มีปัญหาเฉพาะของมัน กล่าวคือ ถ้าไม่ระวังให้ดี มันอาจโน้มเอียงไถลเลื่อนไปสำแดงออกซึ่ง กลุ่มอาการยึดมั่นถือมั่นหลักมูลฐาน (fundamentalist symptoms) ตาม "ความคิดฝรั่งตะวันตก" หรือตาม "ความเป็นไทย" ก็เป็นได้แล้วแต่กรณี

ผมขอยกตัวอย่าง กลุ่มอาการยึดมั่นถือมั่นหลักมูลฐานอันเนื่องมาจากกระบวนท่าประชาธิปไตยสากลนิยม ที่ได้ประสบพบเจอมากับตนเองเมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้ ผมได้รับเชิญจาก The Japan Foundation กับ East-West Center (USA) ให้ไปสัมมนาและอภิปรายในเวทีสาธารณะเรื่อง "The State of Democracy in Asia" ที่เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ร่วมกับปัญญาชนสาธารณะและนักเคลื่อนไหวประชาสังคมจากประเทศเอเชียอื่นๆ ในฐานะสมาชิกรุ่นบุกเบิกแห่งโครงการ Asia Leadership Fellow Program ของญี่ปุ่นที่บัดนี้มีอายุครบรอบ 10 ปี

ระหว่างเตรียมการ ผมแจ้งหัวข้อคำอภิปรายของผมไปทางเจ้าภาพฝ่ายญี่ปุ่นว่าผมจะพูดเรื่อง "Signification of Democracy" หรือ "การให้ความหมายกับประชาธิปไตย"

มิช้านานให้หลัง เจ้าภาพฝ่ายญี่ปุ่นก็แจ้งกลับมาว่า ทางเจ้าภาพร่วมฝ่ายอเมริกันได้แทงความเห็นทักท้วงหัวข้ออภิปรายของผมมา โดยเธอแนบอี-เมลต้นฉบับของผู้จัดชาวอเมริกันมาให้ดูว่า :-"ผมคิดว่าถ้าใช้ถ้อยคำที่ฟังง่ายกว่าคำว่า "การให้ความหมาย" จะดีกว่าเพราะคนที่ได้รับใบประกาศรายการอาจไม่เข้าใจความหมายสมบูรณ์ของคำนี้กระจ่างนัก ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าผู้พูดต้องการเฉดความหมายไหน ผมคิดว่าเราน่าจะใช้คำว่า "Consolidation" ("การสร้างความมั่นคง") หรือ "Realization" ("การทำให้ประจักษ์เป็นจริง") หรือ "Expression" ("การแสดงออก") แทน บางทีคุณอาจจะลองเช็คเรื่องนี้กับดอกเตอร์เตชะพีระดูแล้วแจ้งให้ผมทราบว่าเขาชอบคำไหน"

ผมอ่านแล้วก็ค่อนข้างแปลกใจเพราะน้อยนักที่จะเคยพบเห็นกรณีผู้จัดงานทักท้วงหัวข้ออภิปรายของวิทยากรและขอให้แก้ไข แม้ผมจะค่อนข้างเชื่อว่าเขามีเจตนาดี แต่ก็อดรู้สึกรำคาญไม่ได้ จึงตอบผู้จัดชาวอเมริกันทางอี-เมลผ่านเจ้าภาพฝ่ายญี่ปุ่นแบบขวานผ่าซากว่า :-

"ผมเกรงว่าคำต่างๆ ที่ผู้ร่วมจัดงานฝ่าย East-West Center ของคุณเสนอแนะมาให้เลือกใช้แทนนั้น เอาเข้าจริงมันไม่ได้ยึดกุมเจตจำนงในหัวข้อเดิมของผมเลย ทั้งนี้ เพราะประเด็นหลักโดยรวมของคำอภิปรายของผมอยู่ตรงที่ว่า "ประชาธิปไตย" มิใช่อุดมคติหยุดนิ่งที่บรรจุหีบห่อมาเรียบร้อยอย่างดีสำหรับส่งออกไปยังประเทศอื่นแล้วรอให้ใครสักคนที่นั่นมาช่วย "สร้างความมั่นคง" หรือ "ทำให้ประจักษ์เป็นจริง" หรือ "แสดงมันออก" ตามที่ตั้งใจปรารถนาไว้แต่ต้น

"ตรงกันข้าม พอ "ประชาธิปไตย" เดินทางมาถึงบริบททางสังคมวัฒนธรรมใหม่ ผู้คนที่นั่นต่างก็ต่อสู้ช่วงชิงกันให้นิยามความหมายแก่มัน และฉะนั้นก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ "ประชาธิปไตย" ย่อมไม่สามารถบรรทุกเจตจำนงและความหมายดั้งเดิมของมันข้ามเข้าไปยังบริบทใหม่อย่างสำเร็จรูปสมบูรณ์แบบทั้งชุดได้ มันล้วนถูกตีความใหม่, เอาไปใช้ทำหน้าที่ใหม่, หยิบมาขับเคลื่อนเดินเครื่องใหม่เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ "ประชาธิปไตย" ถูกทำให้หมายถึงสิ่งของและการปฏิบัติอื่นๆ นอกเหนือจากความหมายดั้งเดิมของมัน

"เรื่องราวที่แท้จริงของ "ประชาธิปไตย" ในประเทศเอเชียหนึ่งๆ จึงเป็นเรื่องราวของการช่วงชิงต่อสู้และประชันขันแข่งเกี่ยวกับความหมายและการปฏิบัติ "ประชาธิปไตย" โดยกลุ่มสังคมเศรษฐกิจทั้งหลายนั่นเอง"

สรุปก็คือ "การส่งออกประชาธิปไตย" ที่นักประชาธิปไตยสากลนิยมอเมริกัน/ตะวันตกทั้งหลายมุ่งทำด้ายความปรารถนาดีแก่ชาวโลกนั้น มิอาจเป็นอื่นไปได้นอกจากจะเละเทะเลอะเทอะ (Hence, the necessary messiness of the export of democracy!) หากมิเชื่อ ก็ลองเบิ่งตาดูกรณีอัฟกานิสถานและอิรักปัจจุบันเถิด

หลังจากนั้น ผู้จัดชาวอเมริกันก็มิได้ทักท้วงอะไรกลับมาอีกเลย

จากกรณีข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระบวนท่าประชาธิปไตยสากลนิยมอาจโน้มนำไปสู่ จุดยืนสัมบูรณนิยม (absolutist standpoint) - ซึ่งถือ "ประชาธิปไตย" เป็นประดุจชุดบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์สัมบูรณ์แบบประเสริฐสุดยอดแล้ว หยุดนิ่งแล้ว ไม่มีอะไรให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาอีกแล้ว ฉะนั้นจึงเปลี่ยนแก้ละเมิดมิได้อีกต่อไป - อันบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วได้เผยประกาศจากเบื้องบนลงมาโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ในประเทศที่กำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนาข้างล่าง ให้ได้น้อมเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ

เหล่าประเทศที่พัฒนา "ประชาธิปไตย" ล่าช้าล้าหลังกว่าทั้งหลายจึงพึงถูกบังคับขับไสเคี่ยวเข็ญให้เปลี่ยนศรัทธาปสาทะหันไปนับถือ "ประชาธิปไตย" ทันสมัยของตะวันตกแทน (มิฉะนั้นก็อาจถูกหาว่าเป็นอเวไนยสัตว์ไป)

ในกระบวนการนี้ มิอาจปล่อยให้ชนพื้นถิ่นท้องที่ใดตีความ "ประชาธิปไตย" ในแบบฉบับของตนตามใจชอบ หากต้องยืนหยัดยืนยันใน "ประชาธิปไตย" ขนานแท้และดั้งเดิม ตรงตามลายลักษณ์อักษรตายตัวถ้วนทั่วทุกประการ ไม่อาจอดออมยอมรับขอบเขตจำกัดหรืออดกลั้นต่อความแตกต่างแผกผันของท้องที่ต่างถิ่นแต่อย่างใด

บ่อยครั้ง ท่าทียึดหลักมูลฐานประชาธิปไตยฝรั่งตะวันตกดังกล่าวก็ละม้ายคล้ายคลึงคณะพระมิสซังในอดีต ที่เผยแผ่การตีความพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ฉบับของสำนักนิกายตนว่า เป็นสัจธรรมสัมบูรณ์สากล พร้อมอุปกรณ์ประกอบการอบรมบ่มสอนครบครัน เช่น คำปรามาสขู่เข็ญผู้เห็นต่างว่าเป็นลัทธินอกรีตอิ๊ซึ่มนี่อิ๊ซึ่มโน่น, ให้ทุนอุดหนุนงานวิจัยทางวิชาการ, ปล่อยเงินกู้พ่วงเงื่อนไขบังคับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นต้น

ด้วยน้ำเสียง "คุณพ่อรู้ดี" (patronizing), ด้วยอากัปกิริยาปัดปฏิเสธไม่ฟังอีร้าค่าอีรมเยี่ยงเจ้าจักรวรรดิ (imperially dismissive tone), หรือกระทั่งด้วยการทึกทักเหมาโมเมว่า [ความแตกต่างทางวัฒนธรรม] หรือ [ระยะทางกายภาพ] มีค่าเท่ากับ [ความเหลื่อมล้ำทางสติปัญญา] (Cultural differences of physical distanceimply intellectual hierarchy,) ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้กลุ่มอาการยึดมั่นถือมั่นหลักมูลฐานตาม "ความคิดฝรั่งตะวันตก" กลับยิ่งเป็นตัวชักดึงเหนี่ยวนำให้กลุ่มอาการยึดมั่นถือมั่นหลักมูลฐานตาม "ความเป็นไทย" ปรากฏสำแดงออกมาและผลักไสไล่ต้อนผู้เห็นต่างให้เข้าไปสู่มุมนั้น จนดูเหมือนว่า One kind of fundamentalist symptoms tends to draw out the other.

4. กระบวนท่าประชาธิปไตยสัมพัทธ์นิยม
อะไรหรือคือปัญหาของกระบวนท่าประชาธิปไตยสัมพัทธ์นิยม (democracy-relativizing move) ?
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การปัดปฏิเสธลักษณะสากลและสัมบูรณ์ (universal & absolute) ของประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยว่ามีประชาธิปไตยสัมบูรณ์แบบขนานแท้และดั้งเดิมตำรับเดียว ที่ใช้ได้และต้องใช้ตรงกันทั่วสากลโลกตามซีกโลกตะวันตก หากถือว่าประชาธิปไตยย่อมมีลักษณะสัมพัทธ์ (relative) หรือผันแปรหลากหลายไปตามกาละเทศะ ประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมต่างๆ โดยไม่มีประชาธิปไตยของใครจริงแท้หรือดีวิเศษกว่าของคนอื่น เพราะต่างก็ล้วนเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของตัวเอง

อาทิ ประชาธิปไตยในเอเชียก็ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับ "ค่านิยมเอเชีย" (Asian Values) ตามคำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีลี กวน ยิว แห่งสิงคโปร์, อดีตนายกฯ มหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย, และอดีตนายกฯ นายพลขิ่น ยุ้นต์ แห่งเมียนมาร์

หรือประชาธิปไตยในเมืองไทยก็ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยฉบับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือรัฐธรรมนูญและโครงสร้างการเมืองแบบภูมิปัญญาไทย ฉบับธีรยุทธ บุญมี หรือประชาธิปไตยที่งอกจากดินของเราเองฉบับ เอนก เหล่าธรรมทัศน์

หรือล่าสุด ดอกเตอร์ โจนา เสนีลากาคาลี อดีตแพทย์ทหารวัย 77 ปี ผู้อ้างว่าได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการไบนิมารามา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการเกาะฟิจิ ก็ได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ ABC (ออสเตรเลีย) ว่า: "พวกคุณก็เป็นเสียอย่างนี้แหละ - เอะอะอะไรก็ประชาธิปไตยอยู่เรื่อย ประชาธิปไตยอาจจะใช้ได้กับบางที่ในโลก แต่ผมไม่คิดว่าประชาธิปไตยแบบที่ฟิจิต้องการเป็นแบบเดียวกับที่ประชาชนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ชมชอบหรอกนะจะบอกให้ ผมคิดว่าในฟิจินี่เราต้องการประชาธิปไตยแบบที่แตกต่างออกไป" (สำนักข่าว FRANCE24, 7 ธ.ค. 2006)

กระบวนท่าทีทรรศน์เช่นนี้มีจุดอ่อนข้อบกพร่องและความโน้มเอียงที่สุ่มเสี่ยงล่อแหลมตรงไหนอย่างไรบ้าง?
ผมใคร่วิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาข้างต้นโดยยกตัวอย่างปฏิกิริยาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ต่อบทความ "Whose Democracy Lessons?" ของดอกเตอร์หญิง Rudrani Fakir (Bangkok Post, 8 October 2006, Perpective, p. 3, 5) ที่แก้ต่างปกป้องรัฐประหาร 19 กันยาฯ ด้วยแนวคิดสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) ดังปรากฏในบทความของเขาเรื่อง "มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ," มติชนรายวัน, 16 ต.ค. 2549, น.6

นิธิชี้แจงเกริ่นนำว่าบทความของ Rudrani Fakir "ทำให้ผมคิดหนักในการทบทวนจุดยืนของตนเอง" โดยเฉพาะ "น่าประหลาดที่ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของเธอทุกข้อ หากทว่ามีข้อแม้หรือมี "แต่" ที่ทำให้ความเห็นพ้องของผมไร้ความสำคัญไปหมด"

ส่วนที่นิธิเห็นด้วยกับ Rudrani Fakir มี 3 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่:

1)
ประชาธิปไตยมีความหลากหลายและเป็นสัมพัทธะ กล่าวคือขึ้นอยู่กับยุคสมัยและสังคมแม้แต่ในสังคมฝรั่งเองก็แปรผันไปตามกาลเวลา ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เทคนิคตายตัวว่าต้องประกอบด้วยโน่นด้วยนี่" สรุปคือ นิธิเห็นด้วยว่าประชาธิปไตยมีลักษณะสัมพัทธ์ (RELATIVIZATION OF DEMOCRACY)

2) สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญแก่มิติทางศาสนาและลำดับชั้นของตน สองมิตินี้ขัดกับสังคมเสมอภาคในหลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตก บางส่วนของมันย่อมไม่ดีแน่ เช่น การกดขี่ทางเพศเพราะถือว่าหญิงอยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่ต่ำกว่าชาย แต่บางส่วนของมันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สังคมดำเนินไปโดยสงบได้ โดยเฉพาะเมื่อคนที่อยู่ในลำดับขั้นที่สูงถูกกำกับด้วยหลักศาสนา ในกรณีของไทยพระเจ้าอยู่หัวซึ่งไม่ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองในกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วทรงอยู่ในสถานะสูงสุดของลำดับขั้นทางสังคม จึงทรงเป็นผู้นำในทางปฏิบัติ และพระราชจริยาวัตรของพระองค์คือเชื่อมต่ออุดมคติของไทยและความเป็นจริงที่คนไทยต้องเผชิญเข้าหากันได้อย่างเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน นัยยะก็คือ เมื่อระบบนี้เข้ามาแทนที่ระบบเลือกตั้งที่ไม่เป็นคุณต่อประชาชน ย่อมดีแก่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยกว่าไม่ใช่หรือ"

สรุปคือ นิธิเห็นด้วยอีกนั่นแหละว่าประชาธิปไตยในเมืองไทยย่อมจะมีลักษณะไทย (THAIFICATION OF DEMOCRACY)

3) ...ประชาธิปไตยคือการสร้างอำนาจประชาชน (empowerment) และการสร้างอำนาจประชาชนอาจไม่ได้เกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ได้ เช่น โครงการพระราชดำริก็เป็นการสร้างอำนาจประชาชนทางเศรษฐกิจ เช่นโครงการฝนหลวง อีกทั้งไม่ปล่อยให้มิติทางเศรษฐกิจครอบงำมิติด้านความเป็นมนุษย์และวัฒนธรรมอีกด้วย"

สรุปคือ นิธิออกจะเห็นคล้อยว่าโครงการพระราชดำริก็อาจมีคุณูปการต่อการสร้างอำนาจประชาชนทางเศรษฐกิจอันเป็นสาระของประชาธิปไตยได้ (ROYALIZATION OF DEMOCRACY)

ทว่าส่วนที่นิธิมีข้อแม้หรือ "แต่" กับข้อเสนอของ Rudrani Fakir ได้แก่:

ก)
แม้ประชาธิปไตยจะหลากหลายและสัมพัทธ์อย่างไร แต่กระนั้นลักษณะสัมพัทธ์หรือหลากหลายของประชาธิปไตยก็มีขีดจำกัด ถึงอย่างไรก็ยังมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานบางอย่างที่ระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยต้องมีร่วมกันอยู่มิไยว่าบริบททางสังคม-วัฒนธรรมจะเป็นอย่างไรก็ตาม มิใช่จะมามัวอ้างว่ามันเป็นจังหวะก้าวที่ต่างกันในลำดับขั้นตอนการพัฒนาอยู่ร่ำไป

และคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประการหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ การสืบทอดอำนาจบริหารอย่างแน่นอนสม่ำเสมอผ่านการเลือกตั้งที่แม้จะบกพร่องไม่น่าศรัทธา แต่กระนั้นมันก็เป็นกลไกแสดงออกซึ่งความยินยอมพร้อมใจของพลเมือง และสะท้อนอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบ และกำกับฝ่ายบริหารชนิดที่รัฐประหารทำไม่ได้

กล่าวคือ มันมี LIMITS ต่อ RELATIVIZATION OF DEMOCRACY

ข) นิธิสงสัยว่าจริงหรือที่คนชั้นสูงในสังคมไทยถูกศาสนากำกับ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน? เพราะอย่างน้อยมันก็คงไม่จริงในกรณีคนชั้นสูงในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จึงได้เกิดรัฐประหารขับไล่คนเหล่านั้นด้วยข้อหาว่าโกงหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าส่วนรวม

นิธิยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่คณะรัฐประหารอ้างเหตุหนึ่งในการยึดอำนาจว่าเพราะรัฐบาลเก่าแสดงท่าทีหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบันกษัตริย์นั้น สะท้อนปัญหาในข้อวิเคราะห์ของ Rudrani Fakir ที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงควบคุมพฤติกรรมของผู้บริหารให้เป็นไปในทางชอบธรรมได้ด้วย

กล่าวคือ นิธิตั้งคำถามถกเถียงโต้แย้งท้าทายการพยายามทำประชาธิปไตยให้เป็นไทย (THAIFICATION OF DEMOCRACY) ฉบับ Rudrani Fakir ว่าที่เธอตีความออกมานั้นมันใช่ "ความเป็นไทย" แม่นแล้วหรือไม่?

ค) สุดท้าย นิธิสงสัยว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฝังรากลึกอยู่กับการจัดลำดับชั้นทางสังคม (power relationship rooted in social hierarchy) จะช่วยสร้างอำนาจประชาชนได้อย่างไร?

นิธิตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประชาชนไม่แน่ว่าจะนำไปสู่อำนาจทางการเมืองหรือพลังเชื่อมโยงทางสังคมที่สูงขึ้นเสมอไป ดังกรณีนโยบาลเศรษฐกิจ "ประชานิยม" ของรัฐบาลที่แล้วเป็นตัวอย่าง เพราะมันกลับผูกมัดให้ประชาชนกลายเป็นผู้พึ่งพาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่นายกฯ ทักษิณ เป็นศูนย์กลางอย่างดิ้นไม่หลุด ฉะนั้นผลลัพธ์ในเชิงการสร้างอำนาจประชาชนของโครงการพระราชดำริต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้าวิจัย มิใช่ด่วนสรุปง่ายๆ

กล่าวคือ ข้อสันนิษฐานของ Rudrani Fakir เกี่ยวกับ ROYALIZATION OF DEMOCRACY ควรเป็นโจทย์ (problematized) เพื่อคิดค้นต่อ มิใช่ข้อสรุปโดยอัตโนมัติ


ตัวอย่างข้างต้นนี้สะท้อนว่ากระบวนท่าประชาธิปไตยสัมพัทธ์นิยมนั้นทั้งกำกวมและล่อแหลมสุ่มเสี่ยง
กล่าวคือ ในการโต้ต้าน [แนวคิดสากลนิยม + กระบวนท่าสากลนิยม] (universalism + universalization) ด้วยกระบวนท่าสัมพัทธ์นิยม (relativization) นั้น

ใช่หรือไม่ว่าด้านกลับของมันที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามคือ เราประหนึ่งกำลังร่ายรำสำแดง กระบวนท่าสากลนิยม (universalization) ในขอบเขตเล็กลงไปด้วยพร้อมๆ กัน? เช่น

- เวลาเราอ้างว่าประชาธิปไตยไม่สากลสัมบูรณ์ หากสัมพัทธ์กับ "ความเป็นไทย" นั้น ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังเหมารวมว่ามี "ความเป็นไทย" ที่สากลสัมบูรณ์ในสังคมไทยไปพร้อมกัน?

- เวลาเราเปิดกว้างขอบข่ายนิยามความหมายของ "ประชาธิปไตย" ออกไปในระดับสากล ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังปิดแคบขอบข่ายนิยามความหมายของ "ประชาธิปไตย" ลงมาในระดับชาติ?

- เวลาเรายืนกรานว่า "ประชาธิปไตย" ต้องแตกต่างหลากหลายในระดับสากล ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังบอกเป็นนัยว่า "ประชาธิปไตย" ย่อมจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวในระดับชาติ?

- เวลาเราปฏิเสธอำนาจนำของ "ประชาธิปไตยสากลตะวันตก" ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังสร้างเสริมอำนาจนำของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ฉบับใดฉบับหนึ่งในประเทศไปด้วย?

- เวลาเรายืนกรานว่า "ประชาธิปไตยสากลตะวันตก" มีที่มาที่ไปและลักษณะเฉพาะตัวทางประวัติศาสตร์ ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังยก "ประชาธิปไตยแบบไทย" ให้ลอยพ้นเหนือที่มาที่ไปและลักษณะเฉพาะตัวทางประวัติศาสตร์ของมันเองบางส่วน?

- เวลาเราปลดปล่อยตัวเองจากอำนาจวาทกรรมของ "ประชาธิปไตยสากลตะวันตก" ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังยอมตนอยู่ใต้อำนาจวาทกรรมของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" อันใดอันหนึ่ง?

- และในที่สุด เวลาเรายืนกราน "ความเป็นไทย" ของประชาธิปไตยแบบหนึ่งในสังคมไทย ใช่หรือไม่ว่าเราประหนึ่งกำลังตราหน้ากล่าวหาประชาธิปไตยแบบอื่นฉบับอื่นในสังคมไทยว่ามัน "ไม่ไทย"?

ฤาว่าเบื้องลึกเบื้องหลังคำกล่าวแก้เกี้ยวประเภท "แล้วแต่มุมอง" และ "ของใครของมัน" นั้นคือความขี้ขลาดทางจริยธรรม, อาการอัมพาตทางปัญญา, ตายด้านทางวัฒนธรรม, และกระดองเต่าที่เราเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาในนาม "เอกลักษณ์แห่งชาติ" เพื่อไว้หดหัวหลบคำวิพากษ์วิจารณ์ แล้วจะได้ใช้อำนาจเป็นธรรมตามอำเภอใจไง?

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

ในกระบวนการนี้ มิอาจปล่อยให้ชนพื้นถิ่นท้องที่ใดตีความ "ประชาธิปไตย" ในแบบฉบับของตนตามใจชอบ หากต้องยืนหยัดยืนยันใน "ประชาธิปไตย" ขนานแท้และดั้งเดิม ตรงตามลายลักษณ์อักษรตายตัวถ้วนทั่วทุกประการ ไม่อาจอดออมยอมรับขอบเขตจำกัดหรืออดกลั้นต่อความแตกต่างแผกผันของท้องที่ต่างถิ่นแต่อย่างใด บ่อยครั้ง ท่าทียึดหลักมูลฐานประชาธิปไตยฝรั่งตะวันตกดังกล่าวก็ละม้ายคล้ายคลึงคณะพระมิสซังในอดีต ที่เผยแผ่การตีความพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ฉบับของสำนักนิกายตนว่า เป็นสัจธรรมสัมบูรณ์สากล พร้อมอุปกรณ์ประกอบการอบรมบ่มสอนครบครัน เช่น คำปรามาสขู่เข็ญผู้เห็นต่างว่าเป็นลัทธินอกรีตอิ๊ซึ่มนี่อิ๊ซึ่มโน่น, ให้ทุนอุดหนุนงานวิจัยทางวิชาการ, ปล่อยเงินกู้พ่วงเงื่อนไขบังคับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นต้น