บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๘๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
30-11-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Politics and Culture
The Midnight University

การเมืองและวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย
ในการเมืองมีวัฒนธรรม ในวัฒนธรรมมีการเมือง
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
ประกอบด้วยบทความ ๔ เรื่องของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดังนี้
๑. ยุทธวิธีขึ้นกับยุทธศาสตร์
๒. ลอยหน้าท้าความเสื่อม
๓.
นักเลงในวัฒนธรรมการเมืองไทย
๔. วุ้นหน้าศีลธรรม
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1086
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)



ในการเมืองมีวัฒนธรรม ในวัฒนธรรมมีการเมือง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. ยุทธวิธีขึ้นกับยุทธศาสตร์
ผมได้รับชวนจากชุมชนประมงชายฝั่งแห่งหนึ่ง ให้ไปคุยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย... ครับ ผมถามย้ำแล้วว่า เรื่องประวัติศาสตร์แน่นะ เขาก็ยืนยันว่าแน่ ซึ่งทำให้ผมออกจะแปลกใจ เพราะตั้งแต่สอนประวัติศาสตร์มากว่าสามสิบปี ยังไม่มีนักศึกษาชวนผมคุยนอกรอบอย่างนี้เลย นี่ไม่ใช่ความผิดของนักศึกษานะครับ ความสัมพันธ์ระหว่างผมในฐานะครูกับเขา คงไม่มีลักษณะสร้างสรรค์พอที่จะทำให้เขาใฝ่รู้ก็ได้

เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่ชาวบ้านคุยกับเอ็นจีโอเกี่ยวกับ"การรัฐประหาร" เอ็นจีโอเท้าความกลับไปถึงการเมืองตั้งแต่สมัย 14 ตุลา (2516) ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับ 14 ตุลานัก ตลอดจนไม่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของการเมืองไทยหลังจากนั้นด้วย ทำให้คำอธิบายของเอ็นจีโอเกี่ยวกับการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาจึงชวนผมไปคุยประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผมร่ายยาวมาตั้งแต่การยึดอำนาจของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนโยบายพัฒนามาเรื่อยจนถึงคลื่นใต้น้ำที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำในนามของ คปค.ในวันที่ 19 ก.ย. (2549). ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมเสนอความเห็นว่า เราหนีสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิรูปการเมือง" ไม่พ้น ไม่ว่าจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม แม้แต่คุณทักษิณเองก็ปฏิเสธแรงกดดันเพื่อการปฏิรูปการเมืองไม่ได้ ปัญหาคือจะปฏิรูปไปอย่างไร เป็นผลให้ชาวบ้านได้อำนาจเพิ่มขึ้นหรือเสียอำนาจเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น ชาวบ้านต้องกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนจะร่วมด้วยกระบวนการอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือต้องร่วมในกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านต่อรองได้ ไม่ใช่กระบวนการที่เขา "จัดให้" และด้วยเหตุผลดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้อง "จัดเอง"

เช่น ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าปล่อยให้เนติบริกรและสมัชชาร่างทรงว่ากันไปตามใจชอบ(ของนาย) ต้องกดดันเรียกร้องสิ่งที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ดีของการต่อรองเชิงอำนาจของตัว ไม่อย่างนั้นแล้ว เขาจะร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างเวทีการเมืองไว้กับสถาบันระดับชาติเพียงอย่างเดียว เช่น สภา, ศาล หรือ อปท. ซึ่งชาวบ้านอาจเข้าไม่ถึง

ชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นถามเชิงท้วงว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมิเท่ากับรับรองการยึดอำนาจของ คปค. ไปหรือ? ผมควรกล่าวด้วยว่า ชุมชนนี้ไม่ใช่แฟนทักษิณ ตรงกันข้าม ออกจะไม่ชอบเอามากๆ เสียด้วย แต่ก็ไม่พอใจที่ทหารยึดอำนาจ ผมเตือนเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า คนที่มีจุดยืนอย่างนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงนักวิชาการไม่กี่คนหรอกครับ ผมพบคนบนจุดยืนอย่างนี้เยอะแยะ และไม่จำกัด "ชนชั้น" ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะอึ้งกับคำถามของชาวบ้าน ไม่ใช่เพราะไม่มีคำตอบนะครับ (ส่วนตอบแล้วถูกหรือผิดคนละประเด็น) แต่อึ้งเพราะนี่เป็นข้อถกเถียงของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์ในระยะนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าชาวบ้านไม่ได้อ่าน แต่ก็มีปัญหาในทำนองเดียวกัน นั่นคือ เพื่อบรรลุสิ่งที่เราได้ต่อสู้ผลักดันมายาวนาน หากมีโอกาสจะบรรลุผลสำเร็จภายใต้คณะรัฐประหาร เราควรช่วงชิงโอกาสนั้นหรือไม่ หรือบรรลุอะไรก็ไม่สำคัญไปกว่าบรรลุระบอบที่ไม่จำกัดและละเมิดสิทธิประชาธิปไตยของประชาชน นั่นเป็นภารกิจที่ใหญ่กว่าข้อเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น

ผมเห็นเหตุผลของทั้งสองฝ่าย และเห็นจนรู้สึกว่าไม่ง่ายเลยที่กระโดดไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

กรณีที่ตัดสินได้ง่ายๆ ก็มีนะครับ เช่นไปรับใช้คณะรัฐประหารในตำแหน่งต่างๆ ในทัศนะของผมก็คิดว่าตัดสินได้ง่ายคือไม่ควร ไม่ว่าคุณจะมั่นใจในความสามารถของคุณแค่ไหนก็ตาม เพราะในตำแหน่งทางการเมือง ความสามารถของคุณไม่ได้ใช้โดดๆ แต่ใช้บนฐานของอำนาจ ซ้ำเป็นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเสียอีก การรับตำแหน่งจึงไม่สมควรแน่

ตรงกันข้ามนะครับ คุณเป็นเอดส์ เงินรักษาตัวก็แทบไม่มี ทำความเดือดร้อนแก่ครอบครัวอย่างหนัก คุณร่วมกับขบวนผลักดันให้รัฐช่วยผสมยาตำรับค็อกเทลชนิดใหม่ ที่ให้ผลดีกว่าเดิม และจำหน่ายในราคาถูก ยังไม่สำเร็จ บังเอิญเกิดรัฐประหารเสียก่อน คุณควรผลักดันเรื่องนี้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้นเสียด้วย เพราะรัฐบาลไม่มีพันธมิตรที่เข้มแข็งนอกจากทหาร

ผมคนหนึ่งละครับที่เห็นว่าควร เพราะบอกคนเป็นเอดส์ว่าก้มหน้าก้มตาทุกข์ทรมานไปจนกว่าเราจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคงเถิด คงไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าประชาธิปไตยเรียกร้องจากผู้คนอย่างไม่มีหัวใจเช่นนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไรต่างจากระบอบอื่นนะครับ

กรณีสุดโต่งทั้งสองนี้ผมคิดว่าตัดสินใจได้ง่ายสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และต้องการเร่งให้ประเทศกลับคืนสู่รระบอบเปิดแก่ทุกกลุ่ม แต่มีกรณีกลางๆ อย่างเช่น การมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ในฐานะพลเมืองนะครับ ไม่ใช่ฐานะสมาชิกสมัชชาร่างทรง), กรณีเอฟทีเอ, กรณีป่าชุมชน, ฯลฯ ย่อมมีความสลับซับซ้อนขึ้นไปกว่านั้น

เพื่อทำให้ประเทศหลุดพ้นจากเผด็จการทหาร และหลุดพ้นไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยุติธรรมแก่คนทุกกลุ่ม อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นที่จะต้องขจัดอำนาจของคณะทหารกลุ่มนี้ออกไปเสีย. จะขจัดออกไปอย่างไร ผมคิดว่ามีหลักอยู่สองข้อที่ต้องยึดไว้ให้มั่น

- หนึ่ง คือต้องเป็นไปในทางสันติ และมีผลยั่งยืน คือทำให้โอกาสที่จะใช้อำนาจนอกกฎหมายเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเป็นไปได้น้อยที่สุด

- สอง ประชาธิปไตยที่จะได้มาในที่สุด ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้นจึงต้องอาศัยกลไกทางสังคมอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญอีกมาก และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องใช้เวลา อีกทั้งไม่ได้เกี่ยวกับคณะทหารที่ยึดอำนาจเวลานี้อย่างเดียว เพียงแต่ว่า เราควรหวังว่าการขจัดอำนาจของคณะทหารกลุ่มนี้ ต้องนำมาซึ่งบรรยากาศและโอกาสที่ประชาธิปไตยไทยจะได้พัฒนาต่อไปด้วย ไม่ใช่แค่ไล่พวกนี้ออกไปเฉยๆ

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของบ้านเมืองในทุกวันนี้ กลุ่มคนที่ต่อต้านหรืออยากขจัดอำนาจของคณะรัฐประหารออกไปนั้นมีหลายกลุ่ม แต่ไม่มีกลุ่มไหนที่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งสักกลุ่มเดียว ยกเว้นแต่กลุ่มที่ถูกเรียกว่า "คลื่นใต้น้ำ" (ซึ่งผมเชื่อน้อยมากว่ามีกลุ่มนี้จริง หรือถึงมีจริงก็ไม่ค่อยได้จัดตั้งกว้างขวางอย่างที่พูด)

ฉะนั้น หลักการทั้งสองข้อนั้นจึงมีความสำคัญ การขจัดอำนาจของคณะทหารออกไปจึงไม่จำเป็นว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือโอกาสที่ประชาธิปไตยจะได้รับการพัฒนาต่อไป ยิ่งกว่านั้น สภาพทางการเมืองหลังจากที่อำนาจของคณะทหารถูกขจัดออกไปแล้วยังดูจะปั่นป่วนอย่างยิ่ง เพราะว่าที่จริงแล้ว เวลานี้เราแทบจะไม่มีรัฐบาลอยู่แล้ว หอยที่อยู่ในเปลือกซึ่งไม่มีกำลังแม้จะป้องกันตัวเองได้ในทางอื่นนอกจากความรุนแรง (และไม่มีอำนาจอะไรในโลกหรอกครับที่อยู่ได้ด้วยความรุนแรงเพียงอย่างเดียว)

ฉะนั้น สภาพทางการเมืองเมื่อคณะทหารชุดนี้ล้มไปแล้ว จึงจะยิ่งหาความสงบเรียบร้อยได้ยาก เพราะจะไม่มีใครยึดกุมอำนาจได้อีก (เพราะไม่รู้จะสร้างความชอบธรรมจากอะไร) ที่บางคนเชื่อว่าทางเลือกมีเพียงสอง คือไม่เผด็จการทหารก็เผด็จการทักษิณนั้น ผมไม่เชื่อ ผมคิดว่าจะเละกว่านั้นมาก คือประกอบด้วยอำนาจจากหลายกลุ่มซึ่งล้วนหาความชอบธรรมทางการเมืองไม่ได้ แต่แก่งแย่งแข่งอำนาจกันเองอย่างบ้าเลือด

ความชอบรรมทางการเมืองจะเหลืออยู่จุดเดียว คือสถาบันพระมหากษัตริย์ จากฐานความชอบธรรมทางการเมืองที่เหลืออยู่จุดเดียวนี้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ แต่ผมแน่ใจว่าย่อมไม่เอื้อต่อประชาธิปไตยและการพัฒนาประชาธิปไตยแน่

(และผมอยากเตือนนัก "ราชานิยม" ทั้งหลายด้วยว่า กลุ่มที่สามารถช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองตามประเพณีของสถาบันมาใช้ประโยชน์ได้ ย่อมต้องระวังมิให้ฐานความชอบธรรมเพียงจุดเดียวที่เหลือในสังคมถูกกลุ่มอื่นช่วงชิงไป บังคับให้ต้องใช้อำนาจเด็ดขาดกับกลุ่มอื่นทั้งหมดและ "ปกป้อง" สถาบันจนกระทั่งกลายเป็น "ปฏิวัติเมจิ" ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งนัก "ราชานิยม" คงไม่ชอบ)

ผมจึงคิดว่าการขจัดอำนาจของคณะทหารที่ยึดอำนาจบ้านเมืองไปครั้งนี้ ต้องทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเกิดความชอบธรรมทางการเมืองด้วย ไม่ใช่อำนาจที่ส่งทอดมาจากคณะทหาร และไม่ใช่อำนาจที่เก็บตกจากสภาพความปั่นป่วนวุ่นวาย

การเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยการเคลื่อนไหวกดดันจึงควรทำ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปโดยสันติ และเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเอื้อต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อไป และนี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของเรา เพราะเราปล่อยให้สมัชชาร่างทรงทำไปตามใจชอบไม่ได้

โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าต้องวางยุทธศาสตร์ให้ละเอียดและกว้างกว่าแค่ขจัดอำนาจของคณะทหารออกไป คือต้องรวมอนาคตทางการเมืองในระยะยาวของประเทศไว้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจะสามารถตัดสินใจในเรื่องยุทธวิธีที่เหมาะสมได้ในแต่ละกรณี

2. ลอยหน้าท้าความเสื่อม
ผมเคยตั้งข้อสังเกตตั้งแต่วันแรกที่ คปค.ยึดอำนาจว่า มีอะไรบางอย่างของคณะทหารชุดนี้ ที่คล้ายกับการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บัดนี้ความคล้ายอีกอย่างก็ตามมา นั่นคือการตั้งทหารชั้นผู้ใหญ่ไปคุมรัฐวิสาหกิจ ซ้ำยังไม่ใช่ด้วยคำสั่งของรัฐบาล (ที่คณะทหารตั้งขึ้นเองด้วย) แต่เป็นคำสั่งของคณะทหารที่ยึดอำนาจได้โดยตรง

ไม่มีใครเข้าใจว่ากลุ่มรัฐประหารทำสิ่งนี้ทำไม เสียงจากข้างนอก (ซึ่งไม่ใช่สื่อกระแสหลักนัก) คือบ้างก็ว่า เป็นบำเหน็จความเหนื่อยยาก, บ้างก็ว่าเป็นการซื้อใจ, บ้างก็ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์เชลย แต่หัวหน้าคณะทหารที่ทำรัฐประหารอธิบายว่า นายทหารเหล่านั้นล้วนมีความสามารถเหมาะกับงานที่ถูกส่งไปคุม มีความซื่อสัตย์สุจริต จึงอาจช่วยทำให้ รสก.เหล่านั้นปลอดพ้นจากการทุจริต

สมมติฐานก็คือ รสก.เหล่านั้นเต็มไปด้วยการกระทำทุจริต และการดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตอย่างนั้นได้ อยู่ที่ต้องเลือกประธานบอร์ดที่มีความสามารถและซื่อสัตย์. โลกกลับไปง่ายเหมือน พ.ศ.2500 เมื่อสฤษดิ์ยึดอำนาจ และ รสก.ของไทยยังเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ผู้บริหารยังสามารถเดินสั่งภารโรงเก็บกวาดสำนักงานได้อยู่

แต่ธุรกิจของ รสก.ในปัจจุบันมีขนาดมหึมากว่านั้นเป็นอันมาก และการทุจริตใน รสก.หากจะมี ก็ย่อมมีความสลับซับซ้อนกว่ากันมาก จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร หากเชื่อว่ามี "หัวหน้า" ที่ซื่อสัตย์สักคนเดียวแล้วจะแก้ไขได้ ก็ต้องมีใครสักคนหรือสักกลุ่มเป็นผู้ชี้นิ้วให้คนซื่อสัตย์เข้าไปบริหารหรือคุมบอร์ดเสมอไป เช่นเดียวกับความสามารถ ต้องมีใครสักคนหรือกลุ่มหนึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่า คนมีความสามารถคือคนไหนตลอดไป. คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกกล่าวหาว่าแต่งตั้งสมัครพรรคพวกเข้าไปเป็นผู้บริหารทั้ง รสก.และหน่วยงานอื่นๆ ก็อาจใช้เหตุผลเดียวกันนี้แหละได้ด้วยความชอบธรรมเท่าๆ กัน

หากคณะทหารกลุ่มนี้ยึดอำนาจ เพื่อแก้ไขปัญหาที่คุณทักษิณก่อเอาไว้อย่างที่อ้าง ไม่ใช่เพียงเพื่อเข้าไปมีอำนาจเป็นผู้วินิจฉัยเสียเอง สิ่งที่ต้องคิดก็คือ จะสร้างระบบอะไรที่ทำให้คนอื่นๆ (สภา, ป.ป.ช., และที่สำคัญคือสื่อและสังคม) สามารถตรวจสอบการทำงานของ รสก.ได้ตลอดเวลา มีระบบคัดเลือกอะไรที่ทำให้เราได้คนมีความสามารถและซื่อสัตย์ ในขณะที่ป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมือง (ไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร)

รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พวกเขาฉีกทิ้งไปนั่นแหละ ที่พยายามจะออกแบบให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุจริต กลไกที่ออกแบบไว้อาจทำงานได้ไม่เต็มที่หรือถูกทำลายลง ด้วยเหตุใดจำเป็นต้องศึกษากันให้รอบคอบ และปรับปรุงแก้ไขกลไกเหล่านั้นให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่กลับไปใช้การคัดเลือกบุคคลหรือพรรคพวกของผู้มีอำนาจอย่างที่เคยทำมาครั้งสฤษดิ์

อันที่จริง เพราะประสบการณ์อันเลวร้ายของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจ (ไม่ว่าจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร) คัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งตามใจชอบนี่แหละ ที่ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 พยายามสร้างกระบวนการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่งที่โปร่งใสขึ้น ในที่สุดคณะรัฐประหารชุดนี้ก็กลับไปหาประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นใหม่อีก ด้วยเหตุผลเดียวกับผู้มีอำนาจในอดีตเคยอ้างมาแล้วด้วย คือความสามารถและความซื่อสัตย์ของบุคคลที่ตัวเลือกมา

ที่ผ่านมาในอดีตก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เหตุผลเหล่านี้ล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น นอกจากบุคคลเหล่านั้นไม่มีความสามารถแล้ว ยังฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวอย่างล้นเหลือ เพราะเขาไม่ต้องรับผิด (accountable) ต่อใคร นอกจากผู้มีอำนาจที่ตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ จะเชื่อได้อย่างไรว่า ครั้งนี้จะต่างจากที่เคยผ่านมานับเป็นหลายทศวรรษในการเมืองไทยเล่า

ยิ่งคิดว่าคณะทหารที่ยึดอำนาจบ้านเมืองกลุ่มนี้ หวงอำนาจการแต่งตั้งไว้ในมือของตนหลายอย่าง นับตั้งแต่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, คณะบุคคลที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ, ฯลฯ การแต่งตั้งนายทหารไปดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด รสก.ในครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้การปฏิรูปการเมืองที่คณะรัฐประหารเป็นผู้กำกับอย่างออกหน้าครั้งนี้ จะน่าไว้วางใจได้น้อยลงเพียงใด

ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่า ใครจะสามารถยับยั้งขัดขวางการตัดสินใจที่สายตาสั้นของคณะรัฐประหารได้ สังคมขยับเขยื้อนไม่ออก ส่วนหนึ่งเพราะกฎอัยการศึก แต่อีกส่วนที่สำคัญกว่าคือการสร้างความกลัวให้แก่ผู้คนในสังคมว่า คลื่นใต้น้ำกำลังก่อตัวรุนแรง อันจะนำไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อที่ไม่จำเป็น (ถ้าจริงตามนั้น สิ่งที่น่าจะถามก็คือแล้วผู้มีอำนาจ "ติดอาวุธ" อะไรให้แก่ประชาชนในการต่อสู้กับคลื่นใต้น้ำนั้นบ้าง)

เมื่อไรที่ผู้ปกครองเฝ้าสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน จงรู้ไว้เถิดว่า เมื่อนั้นผู้มีอำนาจกำลังลิดรอนอำนาจของประชาชนลง เพื่อไม่ให้ประชาชนหือกับพวกเขาเท่านั้น... (ถ้าคุณปอดแหกขนาดนั้น ก็กลับไปนอนบ้านเถิด)
ถ้าไม่พึ่งสังคม ก็เหลือแต่เพียง ครม.และสภานิติบัญญัติฯ คำถามคือคนเหล่านี้ขยับเขยื้อนทำอะไรบ้างที่จะยับยั้งมิให้คณะรัฐประหารเริ่มเดินเข้าสู่การยึดอำนาจถาวรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้

เมื่อก่อนที่คุณทักษิณ ชินวัตร จะถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร เพื่อนนักธุรกิจของผมคนหนึ่งชอบพูดเสมอว่า ครม.และคนที่คุณทักษิณแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งหลายนั้น ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของคุณทักษิณด้วย จะมาอ้างว่าเป็นแค่ลูกน้องเขาไม่ได้

ผมก็อยากพูดอย่างเดียวกันบ้างกับ ครม.ของคณะรัฐประหาร และสภานิติบัญญัติฯซึ่งล้วนได้รับการแต่งตั้งจากคณะทหารชุดนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า คนเหล่านี้มีส่วนต้องรับผิดชอบ เพราะเขามีโอกาสที่จะหยุดยั้งกระบวนการที่อำนาจกำลังผันแปรไปสู่ทรราช แต่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะความแหย, ความโลภ, หรือความเขลาก็ตามที

3. นักเลงในวัฒนธรรมการเมืองไทย
ความเป็นนักเลงเคยใช้อธิบายการเมืองไทยสมัยสฤษดิ์ เพราะว่ากันที่จริงแล้ว สฤษดิ์มีบุคลิกภาพ (อย่างน้อยก็ที่ปรากฏแก่สาธารณชนสมัยที่มีอำนาจ) ที่ไม่เหมือนผู้นำไทยที่เคยมีมาก่อน... ยกเว้นพระเจ้าเสือ หรือมีมาหลังจากนั้นอีกเลย... จนกระทั่งถึงคุณทักษิณ ชินวัตร

นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาพูดถึงนักเลงในวัฒนธรรมและสังคมไทยมานานและมากแล้ว ว่าเป็นบุคลิกภาพของผู้นำที่คนไทยให้ความเคารพเชื่อถือ. แต่ก็เหมือนสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลก บุคลิกภาพของผู้นำไม่ได้มีอยู่อย่างเดียว สังคมไทยยังนับถือผู้นำที่แสดง "บารมี" ให้ปรากฏอีกด้วย ทั้งบารมีในความหมายทางธรรมคือความดีที่ได้สั่งสมมา จึงนับถือพระภิกษุบางรูปเป็นพิเศษ และบารมีในทางโลกย์ หมายถึงอำนาจและสัญลักษณ์ของอำนาจในทางโลกย์ นับตั้งแต่รถเบนซ์, บ้านทรงวิปลาสที่เรียกว่ากรีก, ไปจนถึงตำแหน่งหน้าที่สูงๆ ซึ่งทำให้พึ่งพาได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผู้นำในสองลักษณะนี้อาจแบ่งแยกผู้ศรัทธาเชื่อถือออกตามสถานภาพทางสังคมได้ค่อนข้างเด็ดขาด นักเลงเป็นเรื่องของคนบ้านนอก ผู้มีบารมีเป็นเรื่องของคนในเมืองหรือผู้ลากมากดี. ว่าที่จริงแล้ว พวกผู้ดีไม่รู้จักนักเลงเลยก็ว่าได้ เพราะคิดว่านักเลงต้องหัวไม้ เที่ยวตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก สรุปก็คืออันธพาลนั่นเอง

ผมโตมาในแถบสุขุมวิท ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกกันว่าบางกะปิ เป็นทำเลชานเมืองที่มีลักษณะผสมของบ้านนอกและกรุงอยู่ด้วยกัน ตรงกลางซอยเป็นที่อยู่ของคนที่แม่เรียกว่า "นักเลง" และสั่งว่าอย่าไปสุงสิงหรือคบหาสมาคมกับลูกหลานของเขา ผมก็เชื่อนะครับ และโตมาด้วยความงุนงง เพราะคนที่ถูกระบุว่าเป็นนักเลงนั้น คือชายชราที่นุ่งโสร่งโดยไม่สวมเสื้อทั้งวัน เดินสูบบุหรี่ไปมาและไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเลี้ยงไก่ชน แกทำมาหากินอะไรผมก็ไม่ทราบ เห็นว่ามีผู้คนเข้าออกบ้านแกอยู่มากเป็นประจำ แต่ก็ไม่เคยเห็นแกตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กสักที

ผมยิ่งงงมากขึ้น เพราะเมื่อพี่สาวผมเข้าโรงเรียน มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกสาวตำรวจใหญ่ขนาดรองอธิบดี แต่เขาเป็นหลานของนักเลงคนนั้น และเรียกนักเลงคนนั้นว่าคุณตา อ้าว นักเลงก็เป็นพ่อตาตำรวจใหญ่ได้หรือนี่?

ตรงกันข้ามกับมโนภาพของคนชั้นกลางในเมือง นักเลงในสายตาของคนบ้านนอกคือคนน่านับถือ และไม่ใช่อันธพาลอย่างแน่นอน เพราะนักเลงจริงจะไม่มีวันไปตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กเป็นอันขาด. ผมขอสรุปความเป็นนักเลงในทัศนะของชาวบ้านตามที่ผมเข้าใจดังนี้

- นักเลงแหกกฎความสัมพันธ์ทางสังคมที่ชาวบ้านเคยชิน เช่น นักเลงพูดตรงไม่อ้อมค้อม แม้ในเรื่องที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ อันเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมักหลีกเลี่ยงที่จะทำอย่างนั้น

- นักเลงเป็นคนเด็ดขาด คำไหนคำนั้น ทั้งที่ตัวพูดหรือคนอื่นพูดกับตัวก็ต้องคำไหนคำนั้น ความเด็ดขาดก็ไม่ใช่วัฒนธรรมชาวบ้านอีกเหมือนกัน เพราะในความสัมพันธ์กัน ชาวบ้านชอบเหลือพื้นที่สำหรับการประนีประนอมได้ มากกว่าเด็ดขาดตายตัว

- นักเลงไม่มีญาติ หรือพูดกลับกันคือนักเลงถือทุกคนเป็นญาติหมด ชาวบ้านนั้นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็จริง แต่เอื้อเฟื้อแก่ญาติมากกว่าคนอื่น ในขณะที่นักเลงเอื้อเฟื้อไม่เลือกหน้า ทั้งนี้ รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่คนไม่เลือกหน้าเหมือนกัน และลงให้ความคุ้มครองแล้ว เป็นไรเป็นกัน

การอยู่นอกกฎของความสัมพันธ์ทางสังคมปกตินั้น ในแง่หนึ่งก็น่ารังเกียจ แต่ถ้าอยู่ได้จริงก็แสดงว่ามีอำนาจเหนือกฎนั้น แค่นี้ก็น่านับถือแย่แล้วนะครับ. แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ นักเลงไม่อยู่นอกกฎทางศีลธรรม เช่นเป็นนักเลงแล้วต้องไม่ขโมยเขากิน ไม่เป็นชู้เมียเขา (แต่เจ้าชู้ได้) และส่วนใหญ่ของนักเลงที่ผมเคยพบในชีวิตก็มักมีเมียเกินหนึ่งเสมอ) ไม่รังแกคนอื่น ไม่เอาเปรียบคู่ต่อสู้ แน่นอน นักเลงย่อมใจกล้าไม่กลัวเจ็บกลัวตาย และพร้อมจะใช้กำลังเพื่อผดุงสิ่งที่นักเลงเห็นว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรม

นักเลงกับอันธพาลในวัฒนธรรมไทยจึงใกล้กันมาก แล้วแต่จะมองจากมุมของสถานภาพทางสังคมตรงไหน คนชั้นกลางในเมืองซึ่งรับทัศนคติของผู้ดีมา มองนักเลงเป็นอันธพาล ในขณะที่ชาวบ้านมองนักเลงเป็นคนที่น่านิยมนับถือ เหมาะจะเป็นผู้นำ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ปฏิเสธว่า ชาวบ้านก็ยอมรับอำนาจของเจ้าใหญ่นายโต หรือผู้มีบารมีเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รักเหมือนนักเลง ได้แต่ระย่อด้วยความกลัวเกรงบารมี

ปัญหาของนักการเมืองก็คือ เขาอยากเป็นผู้นำทั้งของคนชั้นกลางในเมือง เท่ากับเป็นผู้นำของคนบ้านนอกซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ไร้อำนาจของประเทศ และเพราะส่วนใหญ่ไร้อำนาจนี่แหละครับที่ทำให้นักการเมืองนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา มักเลือกจะเป็นผู้มีบารมีมากกว่าเป็นนักเลง อันที่จริงปูมหลังของพวกเขาก็ไม่อำนวยให้เป็นนักเลงได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะดูจากครอบครัว, การศึกษา หรือแวดวงของผู้คนที่เขาคบหาสมาคมอยู่ด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น เขาจึงสร้างบารมีให้แก่ตนเองตามวิถีทางเดียวกับที่เจ้านายสมัยก่อนได้ทำมาแล้ว เช่นแสวงหาสายสะพาย, เหรียญตรา, เป็นจอมพล, เป็นรัฐบุรุษ (โดยการแต่งตั้ง) และขี่รถเบนซ์, นอน "ทำเนียบ" เป็นต้น. นักการเมืองที่ถนัดใช้กำลัง เช่นยุคอัศวิน ไม่มีใครคิดว่าเป็นนักเลงนะครับ คนชั้นกลางมองว่าเป็นอันธพาล ซึ่งคนบ้านนอกก็เห็นว่าอย่างนี้เป็นพวกหัวไม้แหง (แง๋)ๆ

จนกระทั่งถึง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้เลือกที่จะเสนอภาพของนักเลงเป็นจุดขายทางการเมือง สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาซึ่งสฤษดิ์ใช้เป็นความชอบธรรมในการเผด็จอำนาจของตัว เพราะสฤษดิ์ก็อ้างเหมือนทักษิณนี่แหละครับว่า จะทำให้ความยากจนหมดไปจากบ้านนอกของไทย

มีภาพความเป็นนักเลงของสฤษฎิ์ ที่ผมคิดว่าสะท้อนการมองหัวหน้าหรือผู้นำที่คนชั้นกลางในเมืองเข้าไม่ถึงเลย เขาพูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องหรอกครับ ก็เหมือนนักเลงทั่วไปที่ไม่น่าจะพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ข้อนี้เป็นความวิตกของคนชั้นกลางในเมืองยุคนั้นว่า ท่านนายกฯ จะติดต่อกับฝรั่งมังค่าซึ่งเราคบหาใกล้ชิดขึ้นได้อย่างไร แต่สฤษดิ์ก็ไม่ได้สนองตอบความวิตกกังวลอันนี้ของคนชั้นกลางเลย เช่นไม่ได้ไปจ้างฝรั่งมาสอนภาษาเหมือนนายกฯ สมัยหลังบางคน

เคยเห็นนักเลงที่พูดจีนไม่ได้, พูดลาวไม่ได้, พูดเขมรไม่ได้ ฯลฯ บ้างไหมครับ หากจำเป็นต้องติดต่อพูดจากับคนเหล่านั้น เขาก็จะบอกด็อกเตอร์ในหมู่บ้านซึ่งพูดภาษานั้นได้ว่า มึงบอกมันไปว่ากูจะเอาอย่างนี้จะได้เมื่อไร นี่แหละครับสฤษดิ์ทำอย่างนี้ หรืออย่างน้อยทำให้คนไทยตามบ้านนอกเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ และก็มีด็อกเตอร์ด็อกตีนวิ่งไปทำงานให้สฤษดิ์เยอะแยะ น่าประทับใจกว่าไปเรียนภาษาอังกฤษเสียอีก

แต่ภาพของนักเลงอย่างที่สฤษดิ์แสดงนั้น ไม่มีนักการเมืองไทยคนไหนเลือกอีกเลย อาจเป็นเพราะหุ่นไม่ให้ด้วยก็ได้ จนกระทั่งถึงคุณทักษิณ. หลายคนคงเลิกคิ้วว่า คุณทักษิณนี่เรอะนักเลง? ครับ ใช่เลย อย่างน้อยแกก็เลือกที่จะสร้างภาพนั้นผสมอยู่ด้วย เพราะคุณทักษิณรู้มาแต่ต้นแล้วว่า การเมืองระบอบเลือกตั้งนั้นต้องอาศัยเสียงของคนบ้านนอก คุณทักษิณจึงสร้างตัวเป็นวีรบุรุษของคนบ้านนอกมาแต่ต้น วีรบุรุษของคนบ้านนอกคืออะไรเล่าครับ ถ้าไม่ใช่นักเลง

คุณทักษิณแสดงความเด็ดขาดในนโยบายปราบยาเสพติดด้วยสองพันกว่าศพ ความเด็ดขาดในนโยบายภาคใต้ด้วยหลายร้อยศพ และยังอาจเด็ดขาดกับคนที่ลบหลู่ศักดิ์ศรีอีกไม่รู้จะอีกเท่าไหร่ คุณทักษิณอาจไม่ได้ทำเอง แต่ก็เท่ากันแหละครับในสายตาของคนบ้านนอก ไม่มีนักเลงใหญ่ที่ไหนลงมือเตะไอ้กระจอกเองหรอกครับ

คุณทักษิณนั้นไม่อยู่ในกฎความสัมพันธ์ทางสังคมที่คนในเมืองคุ้นเคยหรอกนะครับ เช่น มีใครเคยเห็นนายกฯ นุ่งผ้าขะม้าบ้าง ถ้าไม่มีนายกฯ คนนี้ก็ไม่มีใครเคยเห็นหรอก คุณทักษิณแสดงตัวเป็นผู้ให้ความคุ้มครองแก่คนเล็กๆ นะครับ ฟังเรื่องของชาวบ้านแล้ว คุณทักษิณก็สั่งข้าราชการซึ่งชาวบ้านไม่ชอบอยู่แล้ว ให้ไปหาที่ดินหรือเงินหรืออะไรก็ตามมาให้ชาวบ้านคนที่ได้มีโอกาสพูดกับคุณทักษิณได้ทันที นี่มึงรู้หรือยังว่าใครเป็นลูกพี่กู

ไม่เฉพาะชาวบ้านที่ได้มีโอกาสปรับทุกข์กับคุณทักษิณโดยตรงเท่านั้นนะครับ คนอื่นซึ่งไม่ได้อะไรเลยก็รู้สึกอุ่นใจที่มีลูกพี่อย่างนี้ด้วย เราคบนักเลงเพื่อความอุ่นใจครับ ไม่ใช่เพื่อจะไถลูกพี่เสียเมื่อไร

แต่หากวิเคราะห์พฤติกรรมนักเลงของคุณทักษิณให้ละเอียด ก็มีข้อทะแม่งๆ กับความเป็นนักเลงของแกอยู่ไม่น้อย เช่นในการแสดงความกล้าของคุณทักษิณ ด้วยการไปนอนในวัดของยะลาท่ามกลางการก่อการร้ายนั้น เพื่อนคนชั้นกลางของผมคนหนึ่งพูดว่า ก็มีทหารตำรวจล้อมอยู่ถึงสามชั้น ทำไมจะนอนไม่ได้ แน่จริงเขาท้าว่าไปเดินรอบเมืองยะลาตอนตีสองกันคนละรอบไหมล่ะ ไม่ต้องมีหน่วยคุ้มกันสักคนเลยนะ

แต่ผมอยากเตือนว่า นักเลงก็เหมือนแนวคิดทั้งหลายในโลกซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าบุคลิกของนักเลงในทัศนะของชาวบ้าน เปลี่ยนไปมากเพราะหนังไทยยุคคุณมิตร ชัยบัญชา และ คุณสมบัติ เมทะนี (ก่อนที่แผ่นจะเป็นรอย) คือข้ามาคนเดียว, บู๊ล้างผลาญ, ปริ่มไปข้างอันธพาลมากขึ้น, และมีปานที่ก้นทุกคน เพราะที่จริงแล้วเป็นลูกหลานเศรษฐีทั้งนั้น

คุณทักษิณเป็นนักเลงแบบนี้แหละครับ ซึ่งก็ประทับใจชาวบ้านไม่แพ้ คุณมิตร ชัยบัญชา และ คุณสมบัติ เมทะนี เหมือนกัน. ผู้นำคณะรัฐประหารซึ่งหวาดระแวงคนบ้านนอกไม่เลิกเสียทีนี้ ไม่ได้มีบุคลิกของนักเลงเอาเลย และผมเชื่อว่าจะหาความรักจากชาวบ้านได้ยาก แม้ชาวบ้านอาจยอมรับในฐานะผู้มีบารมีก็ตาม แต่ไม่รักหรอกครับ

ยิ่งแสดงความขี้ขลาดให้เห็นมากๆ นับตั้งแต่ตั้งด่านคอยตรวจตราคนเดินทางจากภาคเหนือและอีสาน ห้ามไม่ให้คุณทักษิณกลับบ้านหรือไม่ยอมเลิกกฎอัยการศึก คนบ้านนอกยิ่งหมดความนับถือ เพราะไม่มีความเป็นนักเลงเหลือให้เห็นบ้างเลย แม้แต่นักเลงแบบ มิตร ชัยบัญชา ก็ไม่เห็นเค้า. อย่าลืมนะครับว่า การล้มคุณทักษิณด้วยการรัฐประหาร ก็ปริ่มๆ กับการเป็นหัวไม้ในทัศนะของชาวบ้านอยู่แล้ว ยิ่งหากใช้วิธีแบบไม่นักเลงจริง เช่น อุ้มฆ่าหรือซ้อมสั่งสอนผสมไปด้วยเมื่อไร ก็กลายเป็นอันธพาลร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย

จากความรู้ (ซึ่งไม่ทราบว่าผิดหรือถูก) ของผมเกี่ยวกับนักเลงในวัฒนธรรมการเมืองไทย ผมมีข้อแนะนำให้คณะรัฐประหารชุดนี้อย่างเดียวแหละครับ คือถ้าอยากได้ชาวบ้านบ้านนอกมาเป็นพวก ก็ต้องเป็นนักเลงจริงหน่อย เลิกตาขาวเสียที จะได้ฝ่าคนแหยๆ ที่แวดล้อมตัวออกไปพบคนอื่นๆ ซึ่งเขาไม่นับถือคุณบ้าง

4. วุ้นหน้าศีลธรรม
ในสังคมที่ศีลธรรมไร้ความสำคัญ ศีลธรรมมักถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาการรับรองจากสังคมเสมอ

ปัญหาเชิงสังคมสามประการที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังแก้ไขอย่างขะมักเขม้น คือการพนันหวย, การเสพสุรา, และการนุ่งน้อยห่มน้อยในที่สาธารณะ. ทั้งสามปัญหานี้ จะมองในแง่ศีลธรรมก็ได้ เพราะล้วนเป็นการบ่ายหน้าไปสู่สภาพที่ไม่เอื้อต่อความสิ้นทุกข์ทั้งสิ้น หรือจะมองในแง่สังคมก็ได้ หมายความว่าเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การกระทำที่ไม่ดีเหล่านี้ เป็นเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือตัวบุคคลอยู่มาก จึงมีความสลับซับซ้อน และไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการสั่ง "งด" เพียงอย่างเดียว

อันที่จริงมุมมอง "เชิงศีลธรรม" และมุมมอง "เชิงสังคม" นั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่โชคร้ายที่ศีลธรรมในสังคมไทยถูกทำให้มีความหมายแคบลง เพียงการกระทำหรือไม่กระทำของบุคคลซึ่งมีอิสระเสรีที่จะเลือกเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เหตุปัจจัยทางสังคมอันสลับซับซ้อนทั้งหลายไม่ได้ถูกแก้ไข พอใจที่จะเน้นย้ำกันอยู่แต่คำสอนและข้อห้าม

แท้จริงแล้ว เงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติศีลธรรมเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาให้ความสำคัญ การได้อยู่ในถิ่นฐานแดนดินที่เอื้อต่อการปฏิบัติศีลธรรมจึงเป็นมงคล

เงื่อนไขสำคัญที่จะเน้น "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ของภูฏาน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในไทยเวลานี้ อยู่ตรงที่จะสร้างสมดุลระหว่าง"ปัจจัยทางสังคมที่เอื้อต่อศีลธรรม"และ"การพัฒนาในแนวทางทุนนิยมอย่างไร" ใครๆ ก็หวังว่าภูฏานจะประสบความสำเร็จ แม้หนทางที่เป็นไปได้ไม่สุกสว่างนักก็ตาม แต่แนวทางนั้นไม่ง่ายเพียงบุคคลพึงทำหรือไม่ทำอะไร

จริงเลยที่คนไทยเสพแอลกอฮอลมาก และกำลังมากขึ้นตลอดเวลา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ผมเชื่อว่ามีปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนอีกหลายอย่างมากกว่าการโฆษณาอย่างแน่นอน ฉะนั้นการแบนโฆษณาเพียงอย่างเดียว คงแก้ปัญหาได้ไม่มาก เพราะปัจจัยอื่นๆ ที่เร่งเร้าการบริโภคสุราก็ยังคงทำงานต่อไปตามเดิม. แม้กระนั้น ผมก็ยอมรับว่าโฆษณาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เร่งเร้าให้มีการบริโภคสุรา และบริโภคสิ่งอื่นซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นหรืออาจเป็นโทษเหมือนกัน ดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เพิ่งพูดเมื่อเร็วๆ นี้ว่าโฆษณาเป็นผู้ให้การศึกษารายใหญ่สุดในสังคมปัจจุบัน

แต่โฆษณาให้การศึกษาที่บิดเบือนความจริง และไม่ให้อิสระแก่นักเรียนที่จะคิดเอง ไม่มีโฆษณาเหล้ายี่ห้ออะไรที่บอกแต่ยี่ห้อ,ปริมาณบรรจุ, และคุณสมบัติที่อาจวัดเป็นตัวเลขได้ (ซึ่งคือการแจ้งข่าวเกี่ยวกับตัวสินค้า) แต่โฆษณาเหล้าจะใช้สัญญะ เพื่อผูกพันการบริโภคเหล้ายี่ห้อนั้นกับสถานภาพทางสังคม, รสนิยม, การยอมรับของสังคม, หรือแม้แต่คุณธรรมที่สังคมยกย่อง ฉะนั้นเพียงแต่บังคับให้โฆษณาเหล้า-เบียร์แจ้งข่าวเกี่ยวกับสินค้าอย่างตรงไปตรงมา ทำเกินนี้ (อันเป็นภาษาทางสายตาที่ต้องอ่านให้ออกด้วย) ถือว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง หลอกลวงประชาชน มีโทษอาญาอยู่แล้ว

แต่จะยุติธรรมหรือ หากทำอย่างนี้เฉพาะสินค้าเหล้า เพราะที่จริงแล้วโฆษณาสินค้าอื่นก็ทำอย่างเดียวกัน ฉะนั้นจึงต้องควบคุมการโฆษณามิให้ใช้สัญญะสื่อความที่เกินจริงทั้งหมด

แต่จะเอาจริงหรือ? ธุรกิจโฆษณาไทยมีวงเงินต่อปีหลายแสนล้านบาท อีกทั้งเป็นธุรกิจที่ก้าวหน้ารวดเร็ว จนเริ่มเป็นสินค้าออกที่ทำเงินให้ประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัทโฆษณาข้ามชาติ หากควบคุมโฆษณาดังที่กล่าว ก็จะทำลายล้างธุรกิจนี้ไปในพริบตา นอกจากมีคนตกงานจำนวนมากแล้ว เงินจำนวนมากหายไปจากตลาดซึ่งกระทบสื่ออย่างหนัก และเงินที่จะเข้ากระเป๋ารัฐก็หายไปก้อนใหญ่

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า คำถามทางศีลธรรมใดๆ นั้นมีสองคำถามเสมอ คือใช้ถามคนอื่นแล้ว ต้องถามตัวเองด้วย การเสพสุราเมรัยผิดศีลธรรมแน่ แต่การมองเห็นเงินหรือวัตถุว่ามีคุณค่ายิ่งกว่ามนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภค ก็ผิดศีลธรรมเหมือนกัน. นี่แหละครับคือปัญหาของคำถามเชิงศีลธรรม กล่าวคือศีลธรรมแยกคำตอบออกด้วยเส้นดำชัดเจนระหว่างผิดกับถูกเท่านั้น

ฉะนั้นแทนที่จะมีตัวเลือกแต่เพียงดื่มหรือไม่ดื่ม ตั้งปัญหาให้เป็นเพียงลดหรือคุมปริมาณการบริโภคแอลกอฮอลให้ไม่สูงเกินไปไม่ดีกว่าหรือ สอดคล้องกับความสำเร็จในสังคมอื่นๆ ในเรื่องนี้ คือไม่ตั้งปัญหาจากฐานทางศีลธรรมเพียงอย่างเดียว และโดยมุมมองที่กว้างขึ้นเช่นนี้ ก็จะเห็นมาตรการอื่นๆ ในการลดปริมาณการบริโภคได้อีกหลายอย่าง เช่น ระบบภาษีน้ำเมา ให้เก็บตามปริมาณของแอลกอฮอล์ ยิ่งมีมากก็ยิ่งต้องเสียมากขึ้น สะกัดกั้นมิให้ผู้ริเริ่มจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อ่อนๆ ขยับสูงขึ้นไปได้มากนัก ทำให้การบริโภคยากลำบากขึ้น เช่น จำกัดเวลาซื้อขาย จำกัดอายุผู้ซื้อ (อย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้)

ในขณะเดียวกันควรคิดถึงมาตรการทางบวกให้มากขึ้น การรณรงค์ต่อต้านสุราในสถานศึกษาที่ได้ผลมากกว่ามาตรการทางลบคือมาตรการทางบวก มีคำสอนคำชี้แนะที่ฉลาดอะไรบ้างในการแก้ปัญหาชีวิตของคนในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ใช่เหล้า วิธีประคองตัวให้ไม่ชื่นชมกับเหล้าในการสมาคมของคนปัจจุบันอย่างไรบ้าง ฯลฯ จะจัดการอย่างไรกับครูใหญ่ของเราในสังคมปัจจุบันคือสื่อ เพื่อให้สื่อสามารถให้การเรียนรู้ที่ดีในการเผชิญกับการบริโภคแอลกอฮอล์

ผมคิดว่าแทนที่จะแบนโฆษณาโดยสิ้นเชิง (ซึ่งในที่สุดก็ทำไม่ได้) คุมไม่ให้ใช้สัญญะหลอกลวงผู้บริโภค และบังคับให้บริษัทเหล้าต้องเช่าเวลาโทรทัศน์ให้รัฐเท่ากับเวลาที่ตัวใช้ในการโฆษณาดีกว่า โฆษณา 30 วินาที ก็ต้องซื้อเวลาให้รัฐ 30 วินาทีเหมือนกัน รัฐนำเวลานี้ไปสร้างโฆษณารณรงค์ต่อต้านหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอลได้ เป็นการเก็บภาษีทางอ้อม ซึ่งดีที่ทำให้ภาษีที่ได้มาถูกใช้ไปกับการรณรงค์โดยตรง แน่นอนเหล้าเบียร์ย่อมมีราคาแพงขึ้น ซึ่งก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ

อันที่จริงกฎหมายควบคุมหรือปราบปราม "บาป" ทั้งหลายในเมืองไทย ไม่ได้มุ่งจะควบคุบคุม "บาป" เหล่านั้นไม่ให้มากเกินไปทั้งนั้น แต่กลับเปิดช่องทางทำมาหากินให้กับเจ้าหน้าที่มากกว่า ห้ามตั้งซ่องโสเภณีเพื่อขายสิทธิการตั้งซ่องในรูปแบบอื่น ห้ามขายเหล้าแก่เยาวชนเพื่อทำให้ต้องจ่ายสินบนแก่การขายเหล้าแก่เยาวชน ห้ามโป๊เพื่อจะโป๊ ห้ามการพนันเพื่อให้เจ้าพ่อตั้งบ่อนหรือโรงหวยด้วยสินบน

ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเพราะเราไม่ค่อยคิดถึงมาตรการทางบวกในการรณรงค์กับ "บาป" และเราตั้งปัญหากับ "บาป" เหล่านี้ในเชิงศีลธรรมอย่างเดียวตลอด มิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจึงหายไป และทำให้เราไม่เคยประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับ "บาป" อะไรได้สักอย่างเดียว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดคนเข้าร่วมขับไล่คุณทักษิณ ชินวัตร กับพันธมิตรก็คือประเด็นทางศีลธรรม และทั้งสามเรื่องที่รัฐบาลนี้หยิบขึ้นมาทำท่าจัดการ -เหล้า,หวย, และโป๊ผิดที่- ล้วนถูกพิจารณาจากแง่มุมทางศีลธรรมค่อนข้างจะโดดๆ ในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีได้แสดงบทบาททางศีลธรรมกันยกใหญ่ นับตั้งแต่อย่าขายเหล้าใกล้สถาบันการศึกษา (ประหนึ่งนักเรียนนักศึกษาไม่มีขา) ไปจนถึงเป็นเด็กอย่าเพิ่งโป๊ หรือแจ๊คพ็อตหวยทำให้โลภ (แทนที่โลภทำให้เกิดแจ๊คพ็อตหวย) ฯลฯ

ตรงกับภาพที่คนไทยอยากเห็นศีลธรรมกลับมาสู่ผู้บริหาร ดังที่เรียกร้องกันมาในการประท้วงคุณทักษิณ
สิ่งที่น่าหวั่นวิตกก็คือ ครม.ชุดนี้สามารถลอยไปตามคลื่นข้างบนได้แน่ แต่จะฝืนกับคลื่นข้างล่างรวมทั้งคลื่นใต้น้ำได้ละหรือ

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

กรณีที่ตัดสินได้ง่ายๆ ก็มีนะครับ เช่นไปรับใช้คณะรัฐประหารในตำแหน่งต่างๆ ในทัศนะของผมก็คิดว่าตัดสินได้ง่ายคือไม่ควร ไม่ว่าคุณจะมั่นใจในความสามารถของคุณแค่ไหนก็ตาม เพราะในตำแหน่งทางการเมือง ความสามารถของคุณไม่ได้ใช้โดดๆ แต่ใช้บนฐานของอำนาจ ซ้ำเป็นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมเสียอีก การรับตำแหน่งจึงไม่สมควรแน่. ตรงกันข้ามนะครับ คุณเป็นเอดส์ เงินรักษาตัวก็แทบไม่มี ทำความเดือดร้อนแก่ครอบครัวอย่างหนัก คุณร่วมกับขบวนผลักดันให้รัฐช่วยผสมยาตำรับค็อกเทลชนิดใหม่ ที่ให้ผลดีกว่าเดิม และจำหน่ายในราคาถูก ยังไม่สำเร็จ บังเอิญเกิดรัฐประหารเสียก่อน คุณควรผลักดันเรื่องนี้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือไม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้นเสียด้วย เพราะรัฐบาลไม่มีพันธมิตรที่เข้มแข็งนอกจากทหาร