บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๘๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
25-11-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Integrating Speech
The Midnight University

บันทึกปาฐกถาสุลักษณ์ ศิวรักษ์
ปาฐกถา ส.ศิวรักษ์
ก้าวให้ถึงประชาธิปไตย:ราษฎรไทยจะทำอย่างไรดี

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์
อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปาฐกถานำบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการเผยแพร่แล้วโดย
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ปาฐกถาครั้งนี้มีขึ้นในเวทีปาฐกถาและสนทนาประชาธิปไตย
ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา และชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย
วันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1080
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)


ปาฐกถา ส.ศิวรักษ์ "ก้าวให้ถึงประชาธิปไตย: ราษฎรไทยจะทำอย่างไรดี"
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(นำมาจาก: สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

ความนำ
นับเป็นปาฐกถาครั้งแรก หลังรัฐประหาร 19 กันยา ของ "ปัญญาชนสยาม" อย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ "ส.ศิวรักษ์" ซึ่งทุกครั้งที่ความคิดของเขาปรากฏในที่สาธารณะ มักจะนำมาซึ่งประเด็นชวนคิด และหลายครั้งนำมาซึ่งข้อถกเถียงทางปัญญาแก่สาธารณชน

ปาฐกถาครั้งนี้มีขึ้นในเวทีปาฐกถาและสนทนาประชาธิปไตย หัวข้อ "ก้าวให้ถึงประชาธิปไตย: ราษฎรไทยจะทำอย่างไรดี" ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา และชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (วันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙)

-๑-
คำว่า ประชาธิปไตย นั้น ปรากฎในแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ของคณะราษฎร ซึ่งประกาศและแจกจ่ายในที่สาธารณะเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ความว่า เป็นการจำเป็น ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศต้องเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธี ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด

คำว่า ประชาธิปไตย ดังกล่าว ในบัดนี้ย่อมหมายถึง มหาชนรัฐ หรือสาธารณรัฐ เพื่อไม่ให้ตระหนกตกใจกัน จึงจำต้องขยายความต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

แท้ที่จริง คำว่าประชาธิปไตย นี้เอง ก็ถูกนำมาใช้อย่างไขว้เขวและสับสนมาก หลายประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย เน้นให้ราษฎรไปออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้แทนของตนเข้าไปในรัฐสภาทุกสี่ปี หรือระยะกาลทำนองนี้ (โดยไม่เอ่ยถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะนั่นย่อมเป็นระบอบมหาชนรัฐ) ก่อนที่ราษฎรจะไปลงคะแนนเสียง มีการหาเสียงกันด้วยวิธีฉ้อฉลต่างๆ ไม่ว่าจะใช้คำหลอกลวง หรือใช้เงินตราซื้อเสียง แม้จนเล่ห์เพทุบายอื่นๆ มากบ้างน้อยบ้าง ครั้นหมดการเลือกตั้งแล้ว การปกครองบ้านเมืองก็สิทธิขาดอยู่ที่ผู้แทนหรือนักการเมือง โดยราษฎรไม่มีสิทธิอะไรอีกเลย บางประเทศ แม้สิทธิในการแสดงทัศนะทางสื่อมวลชน ก็ถูกจำกัด ทั้งนี้ มิได้หมายถึงรัฐเผด็จการในนามประชาธิปไตยอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย

แต่ประเทศประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ ซึ่งสมาทานลัทธิทุนนิยมอย่างเต็มตัว หากใช้คำว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ย่อมเปิดโอกาสให้นายทุนหรือบรรษัทข้ามชาติเข้ามาก้าวก่ายกับสื่อมวลชนต่างๆ จนครอบงำราษฎรส่วนใหญ่ให้เข้าไม่ถึงข้อเท็จจริงที่แท้ ได้แต่แลเห็นประเด็นต่างๆ ตามที่ชนชั้นปกครองครอบงำในกระแสหลักของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม ซึ่งรวมเรียกว่าโลกาภิวัตน์ การอภิปรายปัญหาต่างๆ จึงเป็นไปอย่างผิวเผิน และผู้คนก็เอือมระอากับระบบที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเช่นนี้กันยิ่งๆ ขึ้นทุกที ในหลายต่อหลายประเทศ เราคงไม่ต้องการก้าวไปให้ถึงประชาธิปไตยดังที่ว่านี้กันกระมัง

ขอให้ย้อนกลับมาดูประชาธิปไตยในสยามที่เริ่มแต่เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กันอีกครั้ง ว่าภายในสามวัน เราก็มีรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่ตราไว้ชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร หมายความว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ไม่มีใครได้อภิสิทธิ์ใดๆ พระราชาเป็นเพียงประมุขของประเทศ และถ้าเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่ได้ถูกขัดขวางโดยพวกปฏิกิริยานิยม ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้า ราษฎรย่อมมีโอกาสได้รับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจอีกด้วย

เสมอภาค ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเหมือนกันหมด หากหมายความว่ามีสิทธิและศักดิ์ศรีอย่างไม่ต่างกัน บางคนอาจมีมากกว่าบางคน เช่นนิ้วทั้งห้าก็ไม่เท่ากัน แต่นิ้วนั้นๆ ไม่ต่างกันมากนัก ที่สำคัญคือคนด้อยโอกาสต้องได้โอกาสมากกว่าคนอื่นๆ คนอ่อนแอ และคนทุพพลภาพหรือคนชรา รวมถึงชนกลุ่มน้อย ย้อมต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ

พร้อมกันนั้น เราก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้น แม้คณะราษฎรจะเป็นแกนนำ แต่คณะดังกล่าวก็มีราษฎรตาดำๆ รวมอยู่ด้วยน้อยมาก โดยที่คนของคณะดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ หรือเป็นคนที่มีการศึกษาเหนือราษฎรทั่วไป โดยเฉพาะก็ในต่างจังหวัด ด้วยเหตุนี้มันสมองของคณะราษฎรจึงเน้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักหกประการที่ประกาศไว้ในแถลงการณ์ฉบับแรก เพื่อราษฎรส่วนใหญ่จะได้มีบทบาทอย่างแท้จริงกับประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระยิ่งกว่าที่รูปแบบ

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในอีก ๒ ปีต่อมา จึงเป็นก้าวสำคัญทางด้านอุดมศึกษา เพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของราษฎรส่วนใหญ่ ให้เข้าถึงการเมืองการปกครอง ที่มีธรรมเป็นศาสตรา จะได้เกิดความหล้าหาญทางจริยธรรม ในอันที่จะรับใช้ประเทศชาติ ดังเราอาจกล่าวได้ว่าสถาบันการศึกษาที่ว่านี้ได้ผลเกือบจะเต็มที่ทางด้านประชาธิปไตย จนผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยแห่งนั้นถูกขจัดออกไป โดยอำนาจของเผด็จการ และสถาบันการศึกษาแห่งนั้นถูกตัดชื่อลง ไม่ให้มีคำว่าการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

๑๕ ปี แรกของประชาธิปไตยไทยเป็นช่วงที่ควรตราไว้ให้ชัดเจน ว่าในบรรดาคณะราษฎรเอง โดยเฉพาะก็แกนนำฝ่ายทหาร ต้องการเพียงขจัดเจ้านายในระบอบราชาธิปไตยเดิมให้หมดอำนาจลง เพื่อพวกตนจะได้ขึ้นมาครองอำนาจแทน แม้จนเป็นเผด็จการอย่างสุดๆ ซึ่งเป็นสมัยนิยมอยู่ในเวลานั้น โดยเฉพาะรูปแบบที่ประจักษ์ชัด ณ ประเทศเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น โดยเราต้องไม่ลืมว่าราชาธิปไตยแต่สมัยรัชการที่ ๕ ก็มองไปที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปเป็นแบบอย่าง จนมาถึงกาลอวสานในเวลาราวๆ กึ่งศตวรรษเท่านั้นเอง และถ้าไม่มีการคานอำนาจกันในคณะราษฎร โดยเฉพาะก็จากฝ่ายพลเรือน เราอาจเป็นประชาธิปไตยตามความหมายในแถลงการณ์ฉบับแรกนั้นก็ได้

ลึกๆ ลงไปแล้วแกนนำทางฝ่ายทหารที่กุมอำนาจได้สำเร็จ ไม่ต้องการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เว้นเสียแต่ว่าเขาจะมาเป็นกษัตริย์เสียเอง ในขณะที่ฝ่ายขัตติยาธิปไตยเดิม พยายามทำทุกๆ อย่าง ให้คงไว้ซึ่งบรมเดชานุภาพ แม้จะโดยสัญลักษณ์ ในขณะที่ฝ่ายขัตติยราชอ่อนแอลงทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้กระนั้นก็ต่อรองจนรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ กลายเป็นเพียงฉบับชั่วคราวไป โดยที่ฉบับถาวรซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑o ธันวาคม ๒๔๗๕ นั้น แปรสภาพไปเป็นว่าทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีรัฐธรรมนูญ โดยที่คณะราษฎรเป็นเพียงส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยบ้างเท่านั้นเอง แม้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะถูกล้มเลิกไปแล้ว และเรามีฉบับอื่นๆ อีกมากหลาย วันที่ ๑o ธันวาคม ก็ยังคงเป็นวันรัฐธรรมนูญ ที่มีความหมายในทางสัญลักษณ์อย่างชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้นแล โดยที่การแปลความหมายทั้งหมดนี้ก็มักเป็นไปในทางอนุรักษ์นิยมหรือปฏิกิริยานิยมยิ่งกว่าอะไรอื่น

ทั้งๆ ที่มันสมองของคณะราษฎร ได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้สมศักดิ์ศรีและเหมาะกับกาลสมัย ดังใช้คำว่า"ปรมิตสิทธิราชย์" ซึ่งผูกศัพท์ขึ้นจากคำว่า Constitutional Monarchy แต่เพราะเขาผู้นี้เป็นคนร่างแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรก ที่มีถ้อยคำอันรุนแรงต่อฝ่ายเจ้า ทั้งมิหนำยังเป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมอีกด้วย เขาจึงเป็นบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ของฝ่ายขัตติยาธิปไตย โดยใช้กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ เป็นอกุศโลบายอย่างเลวร้ายที่สุด จนคนบริสุทธิ์อีกมิใช่น้อยต้องพลอยถูกสังหาร ทั้งโดยกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและนอกกฎหมาย

นี่คือการขจัดเนื้อหาสาระทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปพร้อมๆ กันกับการเชิดชูบรมเดชานุภาพในทางเทวราช ซึ่งเป็นไปอย่างลึกลับมหัศจรรย์ ผิดกับสมมติเทพทางฝ่ายพุทธ และรหัสนัยดังกล่าวนี้เป็นไปได้ด้วยดีกับมอมเมา กับความกึ่งจริงกึ่งเท็จ กึ่งดิบกึ่งดี ที่เหมาะกับปกครองในระบบเผด็จการทหาร ซึ่งต่อมาระบบดังกล่าวก็สยบยอมกับจักรวรรดิอเมริกัน จนสมาทานลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม ในคราบของโลกาภิวัตน์

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า มันสมองของคณะราษฎรซึ่งนำประชาธิปไตยมายื่นให้ราษฎรสยามนั้น ท่านย่อมรู้ดีกว่าใครๆ ว่า

๑) ประชาธิปไตยต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุด และรัฐธรรมนูญต้องมีธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่ให้อำนาจเป็นธรรม

๒) ราษฎรต้องได้รับการศึกษาจนมีความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่ออุทิศตนในการรับใช้ประเทศชาติและมนุษยชาติ

๓) ประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระนั้น ไม่จำต้องมีรูปแบบมาจากอัสดงคตประเทศเท่านั้น ควรจะหยั่งรากลึกลงไปที่ภูมิธรรมดั้งเดิมของเราเอง โดยเฉพาะก็ในทางพุทธศาสนา หากไม่ใช่เป็นการนำเอาลัทธิทางฝ่ายพุทธ มากระพือให้เหนือลัทธิอื่น ศาสนาอื่น หากคณะสงฆ์เป็นแบบอย่างในทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทั้งทางด้านความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง ดังเมื่อท่านผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ท่านได้อาราธนาพุทธทาสภิกขุ ไปสนทนาธรรมที่ทำเนียบท่าช้าง ถึงห้าวันซ้อน สนทนากันวันละราวๆ สามชั่วโมง เพื่อให้เกิดธรรมิกสังคมนิยม ในทางที่ขจัดตัณหา อย่างเป็นรูปธรรมกับสังคมร่วมสมัย และเพื่อหาสาระในทางธรรม มาร้อยกรองเป็นธรรมสังคีต เพื่อประยุกต์พิธีกรรมให้สมสมัยอีกด้วย

ความหวังของท่านอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นมันสมองของคณะราษฎรในการนำประชาธิปไตยมายื่นให้ราษฎรในปี ๒๔๗๕ ได้พยายามปลุกปั้นให้ราษฎรก้าวไปในทางประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระยิ่งๆ ขึ้น แม้จะเผชิญอุปสรรคจากเผด็จการและจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงกับต้องตั้งขบวนการเสรีไทยร่วมกับราษฎร ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร โดยรักษาเอกราชไว้ได้ด้วยศักดิ์ศรีที่ควรแก่ความภูมิใจ

ทั้งยังร่วมมือกับขบวนการกู้ชาติของประเทศเพื่อนบ้าน จนตั้งสมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์ขึ้นได้ ให้เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ อย่างมีทีท่าว่าจะก้าวไปข้างหน้ากับมิตรประเทศนั้นๆ เพื่อรวมตัวกันในทางประชาธิปไตยสังคมนิยม และเพื่อขจัดอิทธิพลจากจักรวรรดิ ไม่ว่าจะจากสหรัฐอเมริกา (ซึ่งจะมาแทนที่อังกฤษ) หรือจากสหภาพโซเวียต พร้อมๆ กันนั้น การรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคอย่างเป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสในการต่อรองกับประเทศใหญ่นอกภูมิภาคออกไป ซึ่งเพิ่งจะได้เอกราชอย่างอินเดีย หรือเพิ่งจะฟื้นตัวขึ้นอย่างจีน เป็นต้น

แม้ภายในประเทศเอง ประชาธิปไตยในปลายรอบของ ๑๕ ปีนั้น ก็มีแนวทางของการกระจายอำนาจออกไปยิ่งๆ ขึ้น ในสามสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสทางด้านความเป็นตัวของตัวเอง ในทางมลายูและอิสลาม อย่างเป็นเอกเทศในหลายๆ ทาง หากรวมอยู่ด้วยกันในราชอาณาจักรสยามอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ เฉกเช่น ภาคอีสานก็จักมีความเป็นตัวของตัวเองในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอย่างไม่น้อยหน้าภาคกลาง หากรวมอยู่ด้วยกันในราชอาณาจักรหนึ่งเดียวกัน

ความฝันที่จะให้ราษฎรสยามก้าวให้ถึงประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ ปลาสนาการไปเมื่อหกสิบปีมาแล้ว แม้เราจะขจัดเผด็จการได้ไปเป็นระลอกๆ เช่น ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แม้จน ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเราจะก้าวไปให้ถึงประชาธิปไตยได้เลย เพราะเหตุการณ์แต่ละครั้ง เป็นเพียงการเปลี่ยนตัวแสดงทางการเมือง ที่ลึกๆ ลงไปแล้วชนชั้นปกครอง (ไม่จำเพาะนักการเมือง หากรวมถึงข้าราชการ บริษัทห้างร้าน สื่อมวลชน และสถาบันการศึกษาแทบทั้งหมด) ยังคงพอใจกับแนวคิดแบบบนลงล่าง แบบผู้ใหญ่อยู่เหนือผู้น้อย แม้ชาติวุฒิก็ยังมีอิทธิพลอยู่มิใช่น้อย หรือจะมากกว่าสมัยราชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ

และเราจะเข้าถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าไม่มีการตรวจสอบกันได้ในทุกระดับ ไม่มีความโปร่งใสในทุกระดับ ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยไปยอมรับว่าอะไรที่วิเศษมหัศจรรย์หรือลี้ลับจนจับต้องไม่ได้ด้วยเหตุผล และไม่เน้นไปที่แนวคิดแบบสามัญสำนึก ซึ่งเป็นไปตามครรลองคลองธรรม โดยมิใยต้องเอ่ยถึงการสร้างประชานิยมอย่างหาสาระมิได้ ดังที่สัญลักษณ์ในทางประชานิยมที่ว่านี้ บางทีก็ไปสยบอยู่กับระบบทุนนิยมอีกด้วย ดังกรณีของแฟชั่นเสื้อเหลืองเป็นตัวอย่าง (แต่นี่อาจเป็นขัตติยนิยมอย่างสุดๆ ยิ่งกว่าประชานิยมก็ว่าได้) มองไม่เห็นกันเลยหรือผลร้ายจากมิติที่ตื้นเขินเช่นนี้กันเอาเลย

-๒-
ข้าพเจ้าจะไม่ออกความเห็นในเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ และจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่กุมอำนาจอยู่ในบัดนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งยังเคยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) อีกด้วย และจะไม่ขออภิปรายเกี่ยวกับรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รวมถึงรัฐสภาซึ่งใช้ชื่อว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลายคนเป็นคนดี หรืออย่างน้อยก็เป็นคนที่ต้องการทำอะไรๆ ให้เป็นประโยชน์โสตถิผลแก่บ้านเมืองด้วย นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ส่วนตน มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นคนๆ ไป ตามวิสัยของปุถุชน แต่ว่าโดยระบบแล้ว คนที่กุมอำนาจอยู่ในกระแสหลัก ไม่มีทางที่จะเข้าถึงราษฎรได้ ตราบที่ระบบชนชั้นยังดำรงอยู่ ราษฎรย่อมไม่มีทางเงยตาอ้าปากได้อย่างเท่าเทียมกับคนข้างบน และเท่าที่แลเห็น ก็ไม่ปรากฎว่าคนธรรมดาสามัญได้เข้ามามีส่วนร่วมกับฐานอำนาจอย่างจริงจัง แม้จนเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยก็ยากที่คนข้างบนเหล่านี้จะเข้าได้ถึง อย่างเก่งก็ลอกตำราฝรั่งที่ตนเคยเรียนรู้มา แล้วนำเอามาประยุกต์ใช้กับเมืองไทยอย่างผิดมากกว่าถูก ยิ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยแล้ว อยากถามว่ากี่คนที่เข้าใจในประเด็นนอกเหนือจากการตีฝีปากนี้อย่างจริงจัง ยังสดมภ์หลักในทางอภิชนด้วยแล้ว แสดงทัศนะออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าประชาธิปไตยเป็นของฝรั่ง ซึ่งเข้ากับวัฒนธรรมไทยไม่ได้

ความข้อนี้ ข้าพเจ้าเห็นต่างออกไป และขอยืนยันว่าขบวนการประชาธิปไตยมีอยู่ในหมู่ราษฎรไทยมิใช่น้อย หรือจะว่ามีมากกว่าประชาชนชาติอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้เอาเลยก็ว่าได้ แม้ในสมัยโบราณ ชาดกต่างๆ ที่พระภิกษุสงฆ์เรียบเรียงขึ้นนั้น ก็ล้วนท้าทายอำนาจอันไม่ชอบธรรมของชนชั้นบนแทบทุกกรณี สำหรับสมัยปัจจุบันนั้นเล่า ก็ขอยกตัวอย่างให้เห็นอย่างเด่นชัดได้ว่า สมัชชาคนจนนั้นเป็นพลังประชาธิปไตยของชนชั้นล่าง ที่มีพื้นภูมิปัญญาของชาวบ้านในทางสันติประชาธรรม ที่ควรแก่การสำเหนียกยิ่งนัก และนั่นก็เป็นเพียงกลุ่มชนเดียว โดยที่คนยากคนจนที่รวมตัวกันในทางประชาธิปไตย ยังมีกระจัดกระจายไปอีกหลายต่อหลายจังหวัด โดยเฉพาะก็พี่น้องชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูทางชายแดนใต้

สำหรับชนชั้นกลางที่ตื่นตัวทางประชาธิปไตยก็มีมากขึ้นทุกที และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากชมรมอนุรักษ์จังหวัดกาญจนบุรี ไปจนชุมชนบ่อนอก บ้านกรูด อุดรธานี สงขลา เชียงใหม่ ฯลฯ หากชนชั้นปกครองมองไม่เห็นศักยภาพที่ว่านี้ โดยที่ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างรวมตัวกันอย่างผนึกกำลังทางประชาธิปไตย ที่ลดช่องว่างทางชนชั้นลงด้วย

ยังนักธุรกิจการค้าที่หันมาสนใจปัญหาทางการเมือง ซึ่งโยงไปยังเศรษฐกิจอันชอบธรรมก็รวมตัวกันอย่างมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นแม้จะยังเป็นส่วนน้อย โดยเฉพาะก็ในแวดวงของนักธุรกิจเพื่อสังคม

แม้สถาบันการศึกษาในกระแสหลักจะอ่อนแอทางด้านประชาธิปไตย เช่นเดียวกับระบบราชการและสื่อสารมวลชนกระแสหลัก รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทรงสมณศักดิ์ด้วย แต่ก็มีพระและฆราวาสในสถาบันนั้นๆ ที่หันมาสนใจในแนวทางของประชาธิปไตยและการศึกษาทางเลือกมากยิ่งๆ ขึ้น นี่คือความหวังที่สำคัญ แม้สมาชิกทั้งหมดนี้จะไม่ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว แต่แทบทุกคนมองเห็นโทษของทุนนิยม บริโภคนิยม ในรูปแบบของโลกาภิวัตน์ รวมทั้งแลเห็นความหายนะของศักดินาขัตติยาธิปไตย ที่ปราศจากความโปร่งใสชนิดที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อีกด้วย

แม้แกนนำของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยจะมีอะไรๆ ในทางที่บกพร่องอยู่มิใช่น้อย แต่ถ้านำเอาแง่บวกของขบวนการนี้มาผันไปรับใช้ราษฎรวงกว้าง ด้วยการเรียนรู้จากชุมชนต่างๆ ยิ่งกว่าการไปให้การศึกษากับเขา แต่เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมีเนื้อหาสาระของความเป็นประชาธิปไตยนอกกรอบของฝรั่งอย่างน่าทึ่ง ทั้งยังมีศาสนธรรมในทางสันติวิธีที่สำคัญ รวมถึงการพึ่งตนเอง และการรู้จักพอ (สันโดษ) โดยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอีกด้วย นอกเหนือไปจากทานการให้ ซึ่งเป็นเจ้าเรือนอยู่เดิมในสังคมชนบท รวมถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริง แม้ศีลาจารวัตรจะบกพร่องไปบางข้อ แต่ความเป็นในสังคมบ้าน ที่ยังไม่ถูกทำลายโดยระบบโลกโลกาภิวัตรนั้น ก็มีความเป็นปกติอยู่มิใช่น้อย นี่ถือว่าเป็นผลได้อย่างสำคัญในอันที่จะช่วยกันพลิกผันกันและกันไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยนอกระบบ

ถ้ารู้จักปรับทาน ปรับศีล ให้สมสมัย นี่จะเป็นการประยุกต์ศาสนามาใช้ในทางการเมืองอย่างที่สมัยหนึ่ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์พยายามกระทำมาแล้วกับการเมืองนั่นเอง โดยที่เราอาจใช้ทานมัยเป็นพาหะได้อย่างดีทางด้านสังคมสงเคราะห์ และศีลมัยเป็นพาหะทางด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยุติธรรมและสันติ คณะสงฆ์เป็นต้นแบบในทางประชาธิปไตยมาแต่ไหนแต่ไร เป็นแต่ยศช้างขุนนางพระได้กัดกร่อนความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ จากโลภโกรธหลง ให้ค่อยๆ จางหายไปจนเกือบถึงที่สุด ที่สำคัญก็คือสังคมพุทธไทยขาดจิตสิกขา ย่อมเข้าไม่ถึงศีลสิกขา (ความเป็นปกติสุขส่วนตนและสังคม) และปัญญาสิกขา (ความรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาพความเป็นจริง ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม ซึ่งมีโครงสร้างอันรุนแรงและอยุติธรรม)

น่ายินดีที่ชนชั้นนำในสมัชชาคนจนก็ดี และในชนชั้นกลาง แม้แต่แวดวงเอกชนต่างๆ ซึ่งอยู่ในราชการหรือมหาวิทยาลัย เช่นกลุ่มวงล้อ และกลุ่มจิตวิวัฒน์ในกรุงเทพฯ รวมถึงกลุ่มขวัญเมืองทางเชียงราย ฯลฯ รวมถึงเสมสิกขาลัยและเสขิยธรรม ได้หันเข้าหาจิตสิกขากันยิ่งๆ ขึ้น ถ้าเข้าถูกทาง การภาวนาจักไม่ใช่การหลีกลี้ไปจากสังคม หากก่อให้เกิดสันติภาวะภายในตน เพื่อลดความติดยึดในตัวตน ให้ได้ศักยภาพเท่าที่มีอยู่ร่วมกันกับกัลยาณมิตรในหมู่ศาสนิกต่างๆ แม้จนคนที่ไม่นับถือศาสนา ฝึกจิตใจให้เปลี่ยนทัศนะพื้นฐานจากอัตตาธิปไตย (ถือตนเป็นใหญ่) มาเป็นโลกาธิปไตย (ถือตามมติคนส่วนมากยิ่งกว่ามติของตนเอง) แล้วฝึกจิตใจไปได้จนถึงธรรมาธิปไตย (มุ่งความถูกต้องดีงามที่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มน้อยที่ไร้สิทธิไร้เสียง ว่าบางทีดูจะมีความสำคัญยิ่งกว่ามหาชนเสียด้วยซ้ำ)

ฝึกตนให้อ่อนน้อมถ่อมตน (ไม่ใช่แต่ในทางรูปแบบ) ให้ลดความโลภโกรธหลง แม้จะยังไม่ได้หมด ก็ฝึกสติให้รู้เท่าทันความคิด คำพูดและการกระทำต่างๆ อย่างมุ่งประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ อย่างรู้จักรับฟังทัศนะที่ต่างออกไปอย่างจริงจังและอย่างเคารพในทัศนะนั้นๆ โดยพร้อมที่จะขอขมาลาโทษ ในกิจกรรมที่เรา หรือชนชาติเรา ชนชั้นเรา ได้ล่วงเกินคนอื่น เพศอื่น ฯลฯ จนเกิดการให้อภัยได้อย่างแท้จริง นั่นก็คือฝึกปรือจนหายกลัว (ภัย) จนรู้ว่าศัตรูไม่ได้มาจากภายนอก หากมาจากภายใน คือความโลภโกรธหลงนั้นแล รวมถึงการติดยึดในตัณหา (ความทะยานอยาก) มานะ (ความถือตัว) และทิฐิ (ทฤษฎีต่างๆ) ที่สำคัญคือการเจริญพรหมวิหารธรรมให้ถูกต้อง จนตัดอคติได้ในทางต่างๆ แล้วใช้วัชชีธรรมเป็นแกนกลางในทางประชาธิปไตย ที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล คือ อปริหานิยธรรม๗ อันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม หากเป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง คือ

๑) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ

๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามหลักการที่วางไว้ (เช่น ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นต้น)

๔) ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง (ผู้ใหญ่คือผู้ที่ประกอบไปด้วยพรหมวิหารธรรม ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นประธานองคมนตรีแล้วจำจะต้องเป็นผู้ใหญ่ได้เสมอไป)

๕) บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ

๖) เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป (เนื้อหาของการอนุรักษ์ศิลปกรรมและธรรมชาติอยู่ในข้อนี้เอง)

๗) จัดให้การอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่ผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป (ซึ่งรวมถึงฆราวาสด้วย โดยไม่ต้องไปอุดหนุนพวกสัทธรรมปฏิรูปอย่างคณะพระธรรมกาย หรืออลัชชีทั้งหลายในคราบของผ้ากาสาวพัตร์)

แม้ทศพิธราชธรรมทั้ง ๑o (1) หรือจักรวรรดิวัตรทั้ง ๔ หมวด(2) ก็ไม่ได้มีไว้ให้ตีฝีปากอวดกัน หากนำมาใช้ได้ เพื่อให้ราษฎรก้าวไปถึงประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

เราไม่จำต้องเอาตำราฝรั่งในทางประชาธิปไตยไปโยนทิ้ง แต่ถ้าจะอ่านหนังสือฝรั่ง ขอแนะนำสักเล่มหนึ่งได้ไหม คือ Mindful Politics : A Buddhist Guide to Making The World A Better Place ซึ่งควรแปลเป็นไทยด้วยว่า การเมืองอย่างมีสติ วิธีทางของฝ่ายพุทธเพื่อช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น หรือถ้าจะร่วมกับเพื่อนมุสลิมของเรา ก็แนะนำให้อ่าน Ghaffar Khan : Nonviolent of the Pakhtuns โดย ราชโมหัน คานธี (หลานท่านมหาตมะ) ยังข้อเขียนของ Eqbal Ahmad ชาวปากีสถานที่ Noam Chomsky เขียนคำนำ ก็ช่วยให้เราเข้าใจการครอบงำของตะวันตกได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังเข้าใจอิสลามิกธรรมทางการเมืองอย่างสันติอีกด้วย ที่สำคัญคือบทความของเขาเรื่อง Islam and Politics ทั้งนี้ไม่ต้องกล่าวถึงหนังสือทางการเมืองของเอเชียเรา และที่คนของเราผลิตขึ้นเองเพื่อพยายามไปให้พ้นการครอบงำของตะวันตกอีก คือ The Asian Future by Prahca Hutanuwatr and Ramu Manivannan ซึ่งมีแปลเป็นไทยแล้วด้วยในนาม จิตสำนึกใหม่แห่งเอเชีย

ทางรัฐบาลธิเบตนอกประเทศ ก็จัดการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบพุทธ อย่างน่าสนใจยิ่ง ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นพระ และเคยมาปาฐกถาให้เสมสิกขาลัยแล้วในเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธ ทางราชอาณาจักรภูฐานนั้น ท้าทายแนวคิดกระแสหลักในเรื่อง Gross National Products หากเสนอ Gross National Happiness ขึ้น แนวคิดนี้มีการยอมรับมากขึ้นทุกทีในระดับสากล ดังอาจจัดสัมมนานานาชาติขึ้นที่เมืองไทยในปลายปีหน้านี้ด้วยก็ได้ โดยมูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป ร่วมเป็นเจ้าภาพ

นี่ยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น โดยที่จะให้อ่านมากไปกว่านี้ก็ได้ ในทางสุตมัยปัญญา แต่ที่สำคัญคือต้องมีเวลาเดินลมหายใจอย่างมีสติ เพื่อเข้าถึงภาวนามัยปัญญา และใช้ความงามความไพเราะ มาเป็นตัวเกื้อในทางจินตมัยปัญญาอีกด้วย นี้แลคือสาระสำหรับพวกเราที่เป็นราษฎรไทยจะได้ก้าวไปให้ถึงประชาธิปไตยที่แท้

ถ้าจะถามว่าอย่างไร จึงจะให้เกิดประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ ก็น่าจะมองดูสังคมไทยและเทศให้ชัดเสียก่อน ดังนี้คือ

๑) สังคมแบบขัตติยาอำมาตยาธิปไตย ที่ครอบงำสังคมไทยมาแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ โดยมีความกึ่งจริงกึ่งเท็จ กึ่งดิบกึ่งดีครอบงำอยู่ อย่างผูกสนิทอยู่กับลัทธิโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีจักรวรรดิอเมริกันเป็นแกนกลาง ใช้ค่านิยมผิดๆ ทั้งทางการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างที่สื่อมวลชนและกลไกในทางเทคโนโลยีล่าสุดมีอำนาจเป็นอย่างยิ่งนั้น กำลังลดน้อยถอยกำลังลงทุกๆ ที เพราะขาดความชอบธรรมขั้นพื้นฐานด้วยประการทั้งปวง

๒) สำหรับพวกเราที่เข้าใจความในข้อ ๑ นี้ยังไม่ชัด จำต้องศึกษาหาความรู้ให้กระจ่างชัดยิ่งๆ ขึ้น และช่วยกันหาทางกระจายความรู้ที่เป็นจริงเช่นนี้ออกไปยังชุมชนต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาจอาศัยสื่อมวลชนกระแสหลักและการศึกษากระแสหลักได้บ้าง แม้คนมีอำนาจในทางธุรกิจการเมือง ที่พอจะเข้าใจความในข้อนี้ก็มีอยู่บ้าง น่าจะสร้างความเข้าใจในทางสัมมาทิฏฐิให้มากยิ่งๆ ขึ้น ที่สำคัญคือความคิดที่ว่ามนุษย์นั้นมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ต้องหาทางเกื้อกูลกัน รับใช้กันและกัน สร้างกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ โดยลดความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความหลงลงอย่างเป็นผู้ตื่นจากการครอบงำนั้นๆ ยิ่งๆ ขึ้น

๓) พวกเราในองค์พัฒนาเอกชนต่างๆ และที่ต้องการสร้างรากฐานทางประชาธิปไตย ต้องฝึกฝนตนเองและผู้อื่นในแวดวงของเรา ให้เข้าถึงความเสมอภาค อย่างเป็นภราดรภาพ และฝึกให้เดินทางไปในทางของเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง กล่าวคือ ให้มีการตรวจสอบได้ในทุกๆ ทาง กิจการงานต้องเปิดเผย โปร่งใส วิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้จะจากถ้อยคำที่รุนแรงและมีอคติ ก็ต้องฝึกขันติธรรมไว้

ถ้าเราฝึกตนจนเกิดสันติภาวะภายในตน ในชุมชนหรือหน่วยงานที่เราประกอบกิจการนั่น จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้เราเรียกร้องความชอบธรรมเช่นนี้ ขึ้นจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ หากการเรียกร้องต้องเป็นไปอย่างสันติวิธี ด้วยความเมตตากรุณา แม้จะใช้ภาษารุนแรงไปบ้างก็ตาม แต่ควรให้โอกาสกับอีกฝ่ายหนึ่งเสมอไป เพื่อความใจกว้าง เพื่อการรับฟังซึ่งกันและกัน

๔) ควรถามตัวเราว่ามีข้อเด่นข้อด้อยตรงไหน เราเป็นชนชั้นบนมากเกินไปหรือไม่ หรือติดอยู่ในวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง อย่างไม่รู้จักชนชั้นล่างเอาเลย เราเป็นคนไทยอย่างจอมปลอมขนาดไหน เราควรเป็นมนุษย์ยิ่งกว่าเป็นชนชาติหรือไม่ ควรเคารพคนต่างชาติ ต่างศาสนา อย่างจริงใจได้มากน้อยเพียงไร เราพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อคนส่วนใหญ่ อย่างลดความเห็นแก่ตัวลงไปได้เรื่อยๆ หรือไม่

๕) พวกเราชาวกรุง จำต้องออกไปเรียนรู้จากคนในชนบทยิ่งๆ ขึ้น ให้เห็นทุกขสัจในสังคมอย่างแท้จริง ว่าบางวิถีชีวิตอันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยของเรานั้นแล เป็นต้นเหตุให้เกิดโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมรวมอยู่ด้วย อย่าโทษเพียงอภิชนและบรรษัทข้ามชาติ โดยกันพวกเรากันเองออกไป

๖) การเรียนรู้จากผู้ยากไร้ จักช่วยให้เราเข้าถึงภูมิธรรมชาวบ้าน ให้เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมพุทธ และวัฒนธรรมอิสลาม ตลอดจนของชนเผ่าต่างๆ อย่างน่าทึ่ง ถึงขนาดที่เราอาจนำเอาวัฒนธรรมนั้นๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม จนไปพ้นวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งเป็นไปในทางทุนนิยมและบริโภคนิยมอย่างเลวร้าย

ที่เสนอมานี้เป็นเพียง ๖ ประการหลักเท่ากับของคณะราษฎรในปี ๒๔๗๕ โดยที่ใครจะเพิ่มเสริมเติมต่อหรือย่นย่อลงก็สุดแท้ แต่ถ้าเริ่มได้ชัดที่หัวสมอง โดยมีหัวใจช่วยกำกับให้รู้จัก ลด ละ ให้เป็นไปในทางความสงบ อย่างสะอาดและสว่างแล้วไซร้ ความปกติสุขจักมีในตัวเราและสังคมอย่างบรรสานสอดคล้องกัน อย่างโปร่งใส อย่างไม่ใช่ทิศทางของบนลงมาล่าง หากอาจเป็นไปในทางล่างขึ้นไปบน หรือเสมอๆ กันก็ได้ ใครจะไปรู้

ที่สำคัญคือเมื่อเห็นสภาพของทุกขสัจทางสังคมแล้ว ต้องร่วมกันแสวงหาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้ อย่างเป็นไปในทางรูปธรรม แล้วปรึกษาหารือกัน หาทางออกจากทุกข์ และเหตุแห่งทุกข์นั้นๆ โดยสันติวิธี ตราบใดที่ยังติดอยู่ในวิธีวิทยาของกระแสหลักจากตะวันตก นั่นคือมิจฉาทิฏฐิ ที่มาถึงจุดอุดตันแล้ว เราต้องไปพ้นมายากลนั้น ให้เข้าถึงสัมมาทิฏฐิให้จงได้ เพื่อสันติสุขในตนและในสังคม อย่างมีความสมดุลทางธรรมชาติอีกด้วย

+++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) ทศพิธราชธรรม๑๐ ได้แก่ ทาน (การให้), ศีล(ความประพฤติดีงาม), ปริจจาคะ(การบริจาค), อาชชวะ(ความซื่อตรง), มัททวะ(ความอ่อนโยน มีอัธยาศัย), ตปะ(การแผดเผากิเลส), อักโกธะ(ความไม่โกรธ), อวิหิงสา(ความไม่เบียดเบียน บีบคั้นกดขี่), ขันติ(ความอดทน ยอกตรากตรำ), อวิโรธนะ(ความไม่คลาดธรรม)

(2) จักรวรรดิวัตรทั้ง ๔ หมวด ได้แก่ ธรรมาธิปไตย(ยำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นใหญ่), มา อธรรมการ(มิให้มีการกระทำอันผิดธรรมเกิดขึ้นในราชอาณาเขต), ธนานุประทาน(ปันทรัยพ์เฉลี่ยแก่ผู้ไร้ทรัพย์), สมณพราหมณปริปุจฉา(ปรึกษาสอบถามสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ)

 

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

เราไม่จำต้องเอาตำราฝรั่งในทางประชาธิปไตยไปโยนทิ้ง แต่ถ้าจะอ่านหนังสือฝรั่ง ขอแนะนำสักเล่มหนึ่งได้ไหม คือ Mindful Politics : A Buddhist Guide to Making The World A Better Place ซึ่งควรแปลเป็นไทยด้วยว่า การเมืองอย่างมีสติ วิธีทางของฝ่ายพุทธเพื่อช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น หรือถ้าจะร่วมกับเพื่อนมุสลิมของเรา ก็แนะนำให้อ่าน Ghaffar Khan : Nonviolent of the Pakhtuns โดย ราชโมหัน คานธี (หลานท่านมหาตมะ) ยังข้อเขียนของ Eqbal Ahmad ชาวปากีสถานที่ Noam Chomsky เขียนคำนำ ก็ช่วยให้เราเข้าใจการครอบงำของตะวันตกได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังเข้าใจอิสลามิกธรรมทางการเมืองอย่างสันติอีกด้วย ที่สำคัญคือบทความของเขาเรื่อง Islam and Politics ทั้งนี้ไม่ต้องกล่าวถึงหนังสือทางการเมืองของเอเชียเรา และที่คนของเราผลิตขึ้นเองเพื่อพยายามไปให้พ้นการครอบงำของตะวันตกอีก คือ The Asian Future by Prahca Hutanuwatr and Ramu Manivannan ซึ่งมีแปลเป็นไทยแล้วด้วยในนาม จิตสำนึกใหม่แห่งเอเชีย