บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
24-11-2549

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Coup d' etat
The Midnight University

คำชี้แจงในการทำรัฐประหารของ คปค.
การเมือง: เปิดสมุดปกขาว คมช.แจงรัฐประหาร ๑๙ กันยา
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
นำมาจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือไทยโพสต์
เป็นคำชี้แจงเกี่ยวกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
โดยคณะ
ปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ภายหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้บันทึกไว้เพื่อวัตถุประสงค์
ให้ใช้เป็นหลักฐานการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย
midnightuniv(at)gmail.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1079
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)


การเมือง : เปิดสมุดปกขาว คมช.แจงรัฐประหาร 19 กันยา
22 พฤศจิกายน 2549 กองบรรณาธิการไทยโพสต์

หมายเหตุ : ส่วนสำคัญของสมุดปกขาว เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทยจำนวน 2,000 ฉบับ ภาษาอังกฤษ 1,000 ฉบับ ความหนา 35 หน้า เพื่อชี้แจงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อสาธารณชน

เหตุแห่งการยึดอำนาจ
ข้อที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองเมื่อคืนวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 ก็คือ สาเหตุแห่งการยึดอำนาจดังกล่าว อันที่จริงข้อนี้ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ชี้แจงในประกาศ คำสั่ง และแถลงการณ์มาแล้วเป็นระยะ ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เหตุผลที่ควรอธิบายขยายความ ณ บัดนี้ คือ

1. ความแตกแยกอย่างหนักในสังคมจนลามถึงแทบทุกสถาบันในชาติ นับแต่ปลายพุทธศักราช 2547 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบปัญหาบอบช้ำอย่างหนัก ทั้งในเรื่องภัยธรรมชาติร้ายแรง และการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเวลาที่ชาวไทยน่าจะสมัครสมานสามัคคีให้มากได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วงเวลาเดียวกัน อันประจวบกับปลายวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้น ประเทศไทยกลับเริ่มตกอยู่ในภาวะตึงเครียดทางการเมืองขึ้นเป็นลำดับ เริ่มจากการชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งครั้งแรกก็เป็นการรวมกลุ่มคนไม่มากนัก และเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ต่อมาได้แพร่ออกไปทางสื่อสารมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี วิดีโอ วีซีดี และยังแพร่หลายออกไปในต่างประเทศอีกด้วย การชุมนุมขยายตัวกว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้นจนเป็นกลุ่มใหญ่และแตกแยกเป็นหลายหมู่หลายพวก แพร่ไปในหลายพื้นที่เกือบทั่วประเทศ

ในเวลาใกล้เคียงกัน สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างหมดวาระลง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จึงเป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนอย่างเข้มข้น แต่แม้การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงแล้วอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง การวิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาลและบุคคลในคณะรัฐบาลด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่ประชาชาชนผิดหวังอย่างหนักคือ รัฐบาลมิได้อธิบายชี้แจงข้อกล่าวหาให้ครบถ้วนถ่องแท้เป็นที่พอใจ รวมทั้งมิได้มีการนำผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดี

ในระหว่างนั้นยังมีการพูดจาพาดพิงจาบจ้วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบข้ออ้างข้อเถียงหรือเหตุผลของตน จนนำไปสู่การผลัดกันกล่าวโทษเป็นคดีอาญาหลายคดีและในหลายท้องที่ว่า อีกฝ่ายหนึ่งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีเหล่านั้นยังค้างอยู่ในชั้นสอบสวนและศาลเป็นอันมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในประเทศที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และในปีมหามงคลที่ทุกคนสวมเสื้อสีเหลือง โบกธงสัญลักษณ์งานพระราชพิธีทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จะแตกแยกความคิดในเรื่องนี้ได้ถึงปานนี้ ทั้งที่ควรจะยึดมั่นอยู่ในหลักความรู้รักสามัคคี

ขณะเดียวกันก็เกิดความรู้สึกขึ้นในหมู่ประชาชนว่า รัฐบาลมิได้ดำเนินการเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพเท่าที่ควร และไม่ได้กระตือรือร้นที่จะสนองพระราชปรารภในการเร่งแก้ไขคลี่คลายปัญหานอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ รวมทั้งวงศาคณาญาติกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง การริเริ่มโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การหลีกเลี่ยงกฎหมาย และการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายระดับ

การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมากล่าวพาดพิงถึงในที่ลับและที่แจ้ง ในลักษณะที่หมิ่นเหม่หรือแอบอ้างเช่นนี้ เหมือนจะหยั่งเชิงให้เกิดความเคลือบแคลงใจ และกระทบกระเทือนต่อความจงรักภักดีในสถาบันที่ดำรงมายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย กรณีดังกล่าวนี้เป็นที่อึดอัดและขัดเคืองอย่างยิ่งในหมู่ทหารและพสกนิกรผู้มีความจงรักภักดี จนมีการวิพากษ์วิจารณ์จากปากต่อปากทั่วไป โดยหวังจะได้ยินคำชี้แจงที่ชัดเจนกอปรด้วยหลักฐาน แต่ก็ไม่ปรากฏ

ส่วนการเปิดเวทีประชุม อภิปราย สัมมนาในที่สาธารณะ ซึ่งควรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในระบอบประชาธิปไตย กลับกลายเป็นเวทีที่แบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักฝ่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ นักเรียน นิสิต นักศึกษาร่วมชั้นเรียนเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา และญาติ ข้าราชการในที่ทำงานเดียวกัน พนักงานหรือผู้ใช้แรงงานในบริษัทห้างร้านหรือโรงงานเดียวกัน สมาชิกสมาคมหรือชมรมเดียวกันที่เคยสังสรรค์กันเพื่อความบันเทิงหรือกระทำสาธารณประโยชน์ ต่างเกิดความแตกแยกในความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระ เพราะบางหมู่บางเหล่าก็ใช้อารมณ์และความเชื่อถือในตัวบุคคลเป็นใหญ่กว่าหลักการ

ถ้ายกเว้นช่วงเวลามหามงคลที่ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในเดือนมิถุนายนเสียแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ตลอดปี 2548 และปี 2549 เป็นช่วงเวลาแห่งการแตกร้าวความสามัคคีครั้งใหญ่ของคนในชาติ บางครั้งเกิดการประจัญหน้า บางครั้งเกิดความหวาดระแวง มีการแบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา บางครั้งฝ่ายที่มีอำนาจและไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายก็ใช้อำนาจกลั่นแกล้งในการปกครองบังคับบัญชา การจัดทำบริการสาธารณะ การจัดสรรความช่วยเหลือ จนแม้แต่การลอบทำร้ายอีกฝ่ายดังที่ปรากฏข่าวกรณีลอบสังหารนายกรัฐมนตรีด้วยการวางระเบิด แต่มีการจับได้เสียก่อน เป็นต้น จนน่าวิตกว่า ถ้ารอยร้าวนี้บาดลึกไปนานจะยากสุดแก้ไข ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกก็มีความเปราะบางทางการเมือง การก่อการร้าย ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมมากพอยู่แล้ว

2. ความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรต่างๆ ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ลำพังความแตกแยกร้าวฉานดังกล่าวเพียงประการเดียว อาจเยียวยาได้ด้วยความอดทนตามกาลเวลาที่ทอดยาวนานออกไป และโดยกลไกการทำหน้าที่ของรัฐ อันได้แก่ สถาบันรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่หลายองค์กร และถือกำเนิดขึ้นด้วยเจตนาจะให้เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่แล้วเหตุอันมิคาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อปรากฏว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.2548 รัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน สามารถชนะการเลือกตั้งและมีที่นั่งข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วยจำนวนท่วมท้นยิ่งกว่าเดิม จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว

ในขณะที่ฝ่ายค้านทุกพรรคที่เหลืออยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แม้รวมกันก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิและทำหน้าที่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ (ตามรัฐธรรมนูญต้องมีสมาชิกเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายไม่น้อยกว่าสองในห้า หรือ 200 คน ในขณะที่ฝ่ายค้านทุกพรรครวมกันมีจำนวนเพียงหนึ่งร้อยคนเศษ) ข้อนี้อาจเป็นเรื่องของกติกาตามรัฐธรรมนูญ และประชามติที่แสดงออกโดยผลการเลือกตั้ง แต่เสียงที่ไม่ไว้วางใจองค์กรกลางผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งก็มีอยู่ทั่วไป รวมทั้งความเข้าใจของคนไม่น้อยว่ามีการทุ่มใช้เงินมหาศาลในการเลือกตั้งโดยผิดกฎหมายและการครอบงำเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้นยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเมินเสียงข้างน้อยในสภา เช่น นายกรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถาม และการทำหน้าที่ตรวจสอบของรัฐสภาไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายบริหารเท่าที่ควร

ขณะที่วุฒิสภาเองซึ่งเป็นอีกสภาหนึ่งและควรปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบได้ในระดับหนึ่งก็ครบวาระลง สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมที่อยู่มาครบวาระ 6 ปีแล้วไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ก็ยืดเยื้อมานานโดยยังประกาศรายชื่อได้ไม่ครบ องค์กรนิติบัญญัติจึงอยู่ในลักษณะไม่สมประกอบหรือที่อุปมาในต่างประเทศว่าเป็น "เป็ดง่อย" ซึ่งทำให้นักคิด ปัญญาชน และนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงบางคนถึงกับออกมาปรารภในที่สาธารณะและทางสื่อมวลชนว่า หมดความหวังหรือความเชื่อมั่นในสถาบันรัฐสภา และเมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว นักคิด ปัญญาชน และนักวิชาการบางคนได้ให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความว่า ระบบรัฐสภาของไทยถูกทำลายไปก่อนหน้านี้แล้ว จะมีประโยชน์อันใดที่จะกอดกลไกไว้ และคร่ำครวญเสียดายกลไกที่ถูกยกเลิกไป ในขณะที่เนื้อหาสาระอันนับว่าสำคัญยิ่งกว่ากลไกได้ถูกทำลายไปก่อนแล้ว นักวิชาการบางท่านถึงกับเสนอความเห็นด้วยซ้ำว่า มนุษย์มีสิทธิธรรมชาติที่จะก่อการรัฐประหารในสภาพที่บ้านเมืองเป็นเช่นนี้

ข้างฝ่ายองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่หลายองค์กรก็ดูจะมีปัญหาไปแทบทุกองค์กร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก็ว่างเว้นไม่มีมาเป็นเวลานานเพราะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่ง เรื่องที่ค้างและรอการพิจารณามีจำนวนนับหมื่นเรื่องจนคาดว่าต้องใช้เวลาสะสางร่วมสิบปี ในขณะที่เรื่องใหม่ก็ยังคงทยอยหลั่งไหลเข้ามา ในจำนวนนี้มีเรื่องทุจริตสำคัญมูลค่านับพันนับหมื่นล้านที่กำลังจะหมดอายุความดำเนินคดี การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองและข้าราชการก็พลอยชะงัก เพราะไม่มีคณะกรรมการตามกฎหมาย และน่าเชื่อว่ายังจะว่างเว้นไปอีกนาน อันเป็นช่องว่างที่น่าวิตกยิ่ง องค์กรอื่นแม้จะมีตัวบุคคลทำหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควร เช่น มีการกล่าวหาว่าตกอยู่ในการครอบงำทางการเมือง เพราะกระบวนการสรรหาผ่านทางพรรคการเมือง และการเลือกสรรที่มีข่าวการวิ่งเต้นให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกตามบัญชีที่มีผู้จัดทำขึ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมก็ถูกเพ่งเล็งจนไม่เป็นที่ไว้วางใจของบรรดาพรรคการเมือง ที่จะต้องเข้ารณรงค์ในการเลือกตั้ง

3. วิกฤตการณ์เลือกตั้งที่ต่อเนื่อง ในขณะที่เกิดปัญหาดังกล่าว เหตุการณ์ก็ซ้ำร้ายหนักลงเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เจตนารมณ์ก็คงเพื่อยุติปัญหาสองข้อข้างต้น แล้วกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจใหม่นั่นเอง ทั้งที่เพิ่งจะผ่านพ้นการเลือกตั้งมาเพียงหนึ่งปี แต่การยุบสภาอันแม้จะเป็นวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาก็มิได้คลี่คลายปัญหาใดๆ ซ้ำร้ายกลับทำให้สถานการณ์ทรุดหนักลง เพราะเมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยของรัฐบาลเป็นพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคการเมืองเล็กๆ ลงสมัครบ้างในบางเขตเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ามีการว่าจ้างให้บางพรคการเมืองเหล่านั้นลงสมัครเพื่อผลทางการสร้างภาพ และการนับคะแนนเสียงเปรียบเทียบสัดส่วนกัน

พรรคการเมืองสำคัญที่เคยเป็นฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (เคยจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2535-2538 และ 2540-2541) พรรคชาติไทย (เคยจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2538-2538) และพรรคมหาชน ไม่ส่งผู้สมัครแม้แต่คนเดียว ซึ่งเป็นธรรมดาที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่แม้กระนั้นก็ยังมีปัญหาในบางเขตเลือกตั้ง เพราะกฎหมายกำหนดว่า ในกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ผู้นั้นต้องได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น แต่เมื่อได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายระบุ เพราะประชาชนจำนวนหลายล้านคนพร้อมใจกันมาลงคะแนนเสียง แต่กาช่องที่แสดงว่าไม่ต้องการเลือกผู้สมัครรายใดหรือพรรคการเมืองใด จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเป็นที่มาแห่งการกล่าวหาว่า มีการจ้างบางพรรคการเมืองให้ส่งคนลงสมัครเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงปัญหาผู้สมัครเพียงคนเดียวจากพรรคเดียว

ในเวลาเดียวกันก็มีการกล่าวหาและขอให้ดำเนินคดีกับพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็ก ในข้อหาว่า มีการว่าจ้างผู้สมัครซึ่งอ้างว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย พรรคไทยรักไทยก็มีการขอให้ดำเนินคดีต่อพรรคประชาธิปัตย์บ้างว่ามีการใส่ร้ายป้ายสี คำขอจากผู้กล่าวหาทั้งสองฝ่ายคือขอให้ยุบพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหา ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (เดิมอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ)

ทางฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ มีการชุมนุมต่อต้านคัดค้านคณะกรรมการดังกล่าว การปิดล้อมที่ทำการของคณะกรรมการ จนกรรมการผู้หนึ่งจากห้าคนต้องขอลาออก ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตไปก่อนแล้วหนึ่งคน จึงเหลือคณะกรรมการเพียงสามคน ซึ่งการดูแลจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศให้เรียบร้อยเป็นเรื่องยากลำบากมาก ที่ควรกล่าวถึงคือ ในส่วนของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งจัดการเลือกตั้งมานานแรมปีแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังมิได้ประกาศผลรับรองครอบคลุมทั่วถึงทุกแห่ง สภาพ "การง่อยเปลี้ยเสียขาไม่สมประกอบ" จึงลามลึกลงไปนับแต่การเมืองระดับชาติจนถึงการเมืองระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

ในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ว่า การจัดการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองใหญ่ลงสมัครเพียงพรรคเดียว และใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งไปแล้วหลายพันล้านบาท ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และแม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ก็มีผู้ไม่เชื่อถือว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะต้องใช้งบประมาณอีกหลายพันล้านบาทนี้ สามารถดำเนินการเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรมได้ ข้อสำคัญคือขณะเดียวกัน กรรมการการเลือกตั้งสามคนที่เหลืออยู่และจะต้องจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ให้ลงโทษจำคุกกรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคนโดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเท่ากับจะต้องรับโทษจำคุกจริง แต่ต่อมากรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคนขอลาออกจากตำแหน่ง และอ้างความเจ็บป่วย เช่น บางคนต้องรับการฟอกไต จึงได้รับการปล่อยชั่วคราว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่างลง ได้มีการสรรหาใหม่โดยศาลฎีกาเข้ามาทำหน้าที่ในการสรรหา และได้เลือกสรรส่งไปให้วุฒิสภาเห็นชอบ ซึ่งวุฒิสภาก็ให้ความเห็นชอบจนได้จำนวนครบถ้วนห้าคนเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ยังมีผู้ไม่วางใจว่า ถ้าการเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไปภายใต้กติกาเดิม แม้จะมีคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ที่พอเป็นที่น่าเชื่อถือได้แล้ว ความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้น การเลือกตั้งจะเป็นไปได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และแม้แต่วันเลือกตั้งที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว ก็ดูจะไม่เป็นที่เชื่อมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ตามนั้น และเมื่อมีการยึดอำนาจ ก็ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าคนที่ได้รับการคัดเลือกใหม่นี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเตรียมกำกับดูแลการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ข้อนี้แสดงให้เห็นวิกฤติทางการเมืองที่ชุลมุนและอลเวงอย่างยิ่งจนแทบจะกล่าวว่า ไม่ว่าจะแตะลงไปที่จุดใดก็ดูจะเป็นปัญหาไปหมด และทุกปัญหามีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ การสั่นสะเทือนต่อความเชื่อมั่นศรัทธาในรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง รัฐบาล รัฐสภา ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ และระบอบประชาธิปไตยในที่สุดหลายเรื่องต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ก็ไม่บังเกิดผล หลายเรื่องใช้เวลาอันยาวนานในการแก้ไข หลายเรื่องต้องใช้ความอุตสาหะพากเพียรพยายามเป็นอันมากจากบุคคลหลายฝ่าย ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง โดยหวังจะเห็นความสงบสุข ความปรองดองกลับคืนมาโดยเร็ว แต่ก็ไร้ผล

สถาบันที่ดูจะเป็นหลักได้มากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวคือสถาบันตุลาการ ซึ่งมิใช่สถาบันทางการเมือง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสต่อประธานศาลปกครองสูงสุดและคณะ และประธานศาลฎีกาและคณะ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่า เหตุการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่นี้เป็นวิกฤติร้ายแรง จึงมีพระราชประสงค์ให้สถาบันศาลร่วมกันทำหน้าที่แก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาโดยมาตรการทางตุลาการมีข้อจำกัดเพราะต้องใช้ระยะเวลานาน ในเบื้องต้นต้องมีคดีเกิดขึ้นเสียก่อน และกว่าคดีจะถึงที่สุดต้องใช้เวลายาวนาน ทั้งต้องอาศัยกลไกวิธีพิจารณาความซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงได้ผลทันทีในระดับหนึ่งเท่านั้น

4. ช่องว่างทางการเมืองขยายห่างออกไปทุกทีจนเนิ่นนานกว่าครึ่งปี โดยไม่มีรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่สมบูรณ์ วิกฤติที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นวิกฤติในทางการเมืองโดยตรง แต่ส่งผลกระทบต่อสังคมมหาศาล ดังที่ได้กล่าวแล้วในเรื่องการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย จนน่าวิตกว่าอาจมีการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ขณะเดียวกันก็กระทบต่อเศรษฐกิจด้วย แม้แต่การบริหารราชการแผ่นดินก็พลอยชะงักงัน เพราะนับแต่เมื่อมีการยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 คณะรัฐมนตรีเป็นอันสิ้นสุดลง จึงไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน คงมีก็แต่รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปดังที่มีผู้เรียกว่า "รัฐบาลรักษาการ" (Caretaker Government) โดยไม่อาจกำหนดนโยบายใหม่ได้ สภาผู้แทนราษฎรเองก็สิ้นสุด จึงไม่มีองค์กรที่จะทำหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้ วุฒิสภาก็หมดวาระไปก่อนแล้ว ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ก็ยังประกาศไม่ครบถ้วน นับเป็นช่องว่างทางการเมืองที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย

ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 อันเป็นการเริ่มต้นปีงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายจะไม่สามารถออกมาใช้บังคับได้ทัน ซึ่งก็ต้องรอจนการเลือกตั้งครั้งใหม่สิ้นสุดลงและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วเสร็จ เป็นที่คาดหหมายว่า ถ้าปล่อยไปเช่นนี้กว่าจะมีกฎหมายงบประมาณใช้คงเป็นในราวเดือนพฤษภาคม 2550 อันเป็นเวลาที่ปีงบประมาณล่วงพ้นไปกว่าครึ่งปี และปกติแล้วกฎหมายงบประมาณปีถัดไปจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วด้วยซ้ำ

5. แนวโน้มการก่อความไม่สงบและความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขีดสุด ความรุนแรงสุดท้ายของปัญหาที่ประดังเข้ามาจนเหมือนตัวเร่งคือ รายงานข่าวอันเป็นที่แน่ชัดในช่วงสองสามวันก่อนหน้าวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า ในวันพุธที่ 20 กันยายน 2549 ราษฎรสองฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ดังสาเหตุข้อ 1 จะนัดชุมนุมใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร แม้บางคนบางฝ่ายจะชุมนุมด้วยความสงบโดยปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยชอบ แต่บางฝ่ายจะมีการนำประชาชนจากต่างจังหวัดจำนวนมากเคลื่อนเข้ามาชุมนุมด้วยเสมือนหนึ่งการประลองกำลัง ซึ่งตามการข่าวที่ได้รับคือ ได้จัดยานพาหนะ เสบียงอาหาร และอาวุธตามที่ฝึกปรือกันมาแล้ว

เป็นที่เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้น่าจะรุนแรงหวังผลแตกหัก โดยเกิดการยั่วยุถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน อันจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนอย่างใหญ่หลวง หากมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือสลายการชุมนุม ก็จะยิ่งยากต่อการดำเนินการในภาวะที่มีการเผชิญหน้ารุนแรงเสียแล้ว จนอาจมีการใช้กำลังจากฝ่ายที่ไม่พึงปรารถนาสอดแทรกเข้าปฏิบัติการโดยปราศจากการควบคุมได้

สาเหตุทั้งหมดนี้ได้สรุปไว้แล้วในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ที่ว่า "เหตุที่ทำการยึดอำนาจ...ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย จนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ อันเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงทางสังคม"

คณะทหารและตำรวจซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผู้ที่เคยถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์และต่อหน้าธงไชยเฉลิมพลแล้วว่า จะจงรักภักดีและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้ายิ่งชีวิต ทั้งจะดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยและประเทศชาติให้เกิดความสงบเรียบร้อย แม้เรื่องราวที่ดำเนินมาจะเป็นเรื่องทางการเมืองการปกครอง แต่บัดนี้ลุกลามถึงขั้นเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป เป็นภัยคุกคามความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และเป็นพระราชปริวิตกจนมีพระราชกระแสต่อผู้นำตุลาการว่าเป็นวิกฤติที่สุด คณะทหารเป็นผู้ดูแลรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศย่อมไม่อาจเพิกเฉยอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องเข้าคลี่คลายปัญหาและระงับยับยั้งภยันตรายอันใกล้จะถึงโดยด่วนที่สุด เมื่อเห็นชอบร่วมกันจนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กราบบังคมทูลถวายรายงานเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงเหตุผลและความจำเป็นตามข้อ 5 ข้างต้นนี้ รวมทั้งได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงแนวทางที่จะจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย เรียกความสามัคคีปรองดองให้กลับคืนมาโดยเร็ว

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและออกคำสั่งต่างๆ ได้ตามความจำเป็น ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ก็ได้มอบอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ให้แก่องค์กรและกลไกการปกครองตามปกติต่อไป

การมีพระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นการนำคณะปฏิรูปการปกครองฯ เข้ามาอยู่ในระบบภายใต้การปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการยืนยันความจงรักภักดีของคณะปฏิรูปการปกครองฯ และการได้รับพระราชทานอำนาจภายใต้เงื่อนไขและกรอบเวลาอันจำกัด มิให้ประพฤติปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ได้กราบบังคมทูล อันเป็นวิธีปฏิบัติที่เคยดำเนินมาเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.กระทำการยึดอำนาจใน พ.ศ.2534 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเช่นเดียวกัน

คณะมนตรีความั่นคงแห่งชาติขอยืนยันในความสุจริตและความประสงค์จะแก้ปัญหาที่สำคัญของชาติ โดยเฉพาะในระยะเฉพาะหน้า เพื่อให้เหตุการณ์คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด และเรียกความสามัคคีปรองดองกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด สิ่งใดที่ต้องมีการตรวจสอบ สอบสวนหรือดำเนินการ เพื่อขจัดสิ่งอันเป็นเงื่อนไขหรือสาเหตุของการยึดอำนาจและค้างคาอยู่ในใจของประชาชน หรือแม้แต่จำเป็นต้องใช้วิธีกำหนดกฎเกณฑ์กติกาใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันมิให้เกิดซ้ำขึ้นอีก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะเร่งแก้ไขหรือประสานการดำเนินการร่วมกับผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ได้คำตอบโดยเร็ว

แต่ทั้งนี้ ขอให้เป็นที่เข้าใจว่า เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ไปแล้ว อำนาจหน้าที่และบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมีขีดจำกัดอยู่เพียงมาตรา 34 ที่ว่า "เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ" อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปเท่านั้น ไม่อาจเข้าไปแทรกแซงกลไกขององค์กรอิสระที่แม้จะตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ตาม ไม่อาจแทรกแซงการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และศาลทั้งหลาย

บทบาทที่มีอยู่จึงเป็นการติดตาม ประสาน และขอความร่วมมือเท่านั้น และตระหนักดีว่า การดำเนินการทุกอย่างขอให้ทุกฝ่ายมีความอดทน เพราะจำเป็นต้องให้อยู่ในกรอบแห่งกฎหมายบ้านเมือง เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าลุแก่อำนาจ หรือกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรม เพราะการลุแก่อำนาจหรือการกลั่นแกล้งผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม เป็นพฤติการณ์ที่ประชาชนเคยรังเกียจและหวาดหวั่นมาแล้ว และบัดนี้เป็นที่จับตาดูอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่บัดนี้การพยายามดำเนินการ มีผลคืบหน้าและเป็นที่เข้าใจแล้วในระดับหนึ่งตามสมควรแก่เวลา และขอขอบคุณในความเข้าใจ ความปรารถนาดี และคำแนะนำหลากหลายที่ประชาชนหลายท่านได้แจ้งให้ทราบ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติขอยืนยันว่า การบริหารประเทศนับแต่นี้ไปเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะ การทำหน้าที่นิติบัญญัติเป็นเรื่องของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเฉพาะ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะไม่เข้าไปแทรกแซง จะปฏิบัติหน้าที่เท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด ซึ่งมีกรอบการปฏิบัติที่ไม่มากนัก จะช่วยรัฐบาลดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ภายในกรอบกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะตามกรอบอำนาจบังคับบัญชาในฐานะผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มีอยู่แล้วแต่เดิม และจะให้การสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจหรือรักษาอำนาจใดๆ ต่อเนื่องยาวนานออกไปเป็นอันขาด

ด้วยเหตุว่าประเทศไทยมีบทเรียนในเรื่องเหล่านี้มากพอที่จะเป็นอนุสติควรแก่การหลาบจำได้อย่างดีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะไม่ยอมให้บุคคลหรือคณะบุคคลใดอาศัยข้ออ้างใดๆ เพื่อสร้างสถานการณ์กัดเซาะ หรือทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ และพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าเป็นอันขาด.

22 พฤศจิกายน 2549

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นำมาจาก : http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&post_date=22/Nov/2549&news_id=133691&cat_id=500

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติขอยืนยันว่า การบริหารประเทศนับแต่นี้ไปเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะ การทำหน้าที่นิติบัญญัติเป็นเรื่องของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเฉพาะ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะไม่เข้าไปแทรกแซง จะปฏิบัติหน้าที่เท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด ซึ่งมีกรอบการปฏิบัติที่ไม่มากนัก จะช่วยรัฐบาลดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ภายในกรอบกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะตามกรอบอำนาจบังคับบัญชาในฐานะผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มีอยู่แล้วแต่เดิม และจะให้การสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจหรือรักษาอำนาจใดๆ ต่อเนื่องยาวนานออกไปเป็นอันขาด