Media Art & Design
The Midnight University
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา
กระแส
K-POP เกาหลีฟีเวอร์ในงานภาพยนตร์ ๒
(เกี่ยวกับภาพยนตร์เอเชีย)
มาลิน
ธราวิจิตรกุล : นักวิจัย
นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง
การวิเคราะห์การเล่าเรื่องในภาพยนตร์เอเชียแนวโรแมนติกในมุมมองการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ
โดยได้ตัดตอนมาบางส่วนจากงานวิจัยฉบับสมบูรณ์
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องกระแสความนิยมภาพยนตร์เอเชีย
โดยเฉพาะภาพยนตร์เกาหลีที่ประสบความสำเร็จในโลกร่วมสมัย
ซึ่งอยู่ในความสนใจของวงวิชาการปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมของภาครัฐ
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1061
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
14.5 หน้ากระดาษ A4)
กระแส
K-POP เกาหลีฟีเวอร์ในงานภาพยนตร์ ๒ : เกี่ยวกับภาพยนตร์เอเชีย
มาลิน ธราวิจิตรกุล : นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มช.
กลับไปอ่านบทความเดียวกันนี้ตอนที่
๑
4. เกี่ยวกับกระแสภาพยนตร์เอเชีย
จากอิทธิพลของบริบททางสังคม อาทิ วัฒนธรรมทางสายตา ประกอบกับภาพยนตร์ที่เข้าถึงผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ผ่านภาษาภาพในการสื่อความหมาย อารมณ์ และความรู้สึก รวมทั้งวัฒนธรรม ขนบประเพณีที่มีความเหมือนและความต่างเป็นส่วนสำคัญ
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพยนตร์ จะจูงใจให้ผู้คนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจอย่างมาก
ทั้งผ่านทางสื่อโทรทัศน์และตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ
ในส่วนของภาพยนตร์เอเชียถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสายตาบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งในปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลพลต่อสังคมไทยไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์เกาหลี สำหรับในหัวข้อนี้ เราจะมาสำรวจดูว่าภาพยนตร์เอเชียและกระแสภาพยนตร์เกาหลี ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย โดยมีเนื้อหาสำคัญดังต่อไปนี้
4.1 กระแสภาพยนตร์เอเชีย
4.2 แรงสนับสนุน
4.3 การนำมาสร้างใหม่
4.4 ความซ้ำซาก
4.5 ความใส่ใจในการผลิต
4.6 กระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี
4.7 การตลาดเชิงวัฒนธรรม
4.1 กระแสภาพยนตร์เอเชีย
ดังที่กล่าวมาแล้ว ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ครองตลาดและกวาดเอาเม็ดเงินไปเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
เท่าที่ผ่านมาก็คือ ภาพยนตร์จากกลุ่มประเทศตะวันตก และที่เด่นชัดที่สุดก็คือ
ภาพยนตร์จากฮอลลีวูด (Hollywood) แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกระแสตลาดและธุรกิจด้านนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
โดยได้มีการให้ความสนใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แถบเอเชียมากขึ้นและปรากฏอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ให้ภาพยนตร์เอเชียของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก
กล่าวโดยสรุปได้ว่า 4-5 ปีหลังมานี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกอ้าแขนรับการ "โก อินเตอร์" ของวงการภาพยนตร์จากเอเชีย แม้ฮอลลีวู้ดก็เปิดพื้นที่ให้ชนผิวเหลืองพิสูจน์ศักยภาพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน งานที่คว้ารางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์อย่าง "Crouching Tiger, Hidden Dragon" ของผู้กำกับอั้ง ลี่ และงานชิ้นเยี่ยม "The Road Home" ของจาง อี้ โหมว. ในส่วนของเกาหลีเองก็ได้มีการขยายวัฒนธรรมด้วยสื่อหลายรูปแบบ ทั้งทางด้านภาพยนตร์, ซีรี่ส์ทางทีวี, หรือ การก้าวสู่ระดับโลกของวงการแฟชั่น (http://rdd.mcot.net, 2006)
คล้ายกับข้อมูลเรื่องความเคลื่อนไหวของวงการภาพยนตร์และเอนิเมชั่นของญี่ปุ่นที่มีการเร่งพัฒนาโปรเจ็คด้านเอนิเมชั่นทั้งทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ของญี่ปุ่น ที่มีว่า ค่ายโชชิกุ กำลังเร่งพัฒนาโปรเจ็คเอนิเมชั่นทั้งทางทีวี และโรงหนัง แต่จะเกี่ยวกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเผยแพร่วัฒนธรรมป๊อปสายอนิเมะไปสู่เวทีโลกเพื่อสู้กับเกาหลีด้วยหรือเปล่า ข่าวไม่ได้บอก (วารสาร Bioscope 55, 2549: 20)
การเร่งพัฒนาโปรเจ็คเอนิเมชั่นของญี่ปุ่นทั้งทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่ผ่านมาข้างต้น สอดคล้องกับข้อมูลที่กล่าวถึง การจัดตั้งองค์กร KOCCA (Korea Cultural Content Agency) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรมของเกาหลีที่ว่า บนยอดคลื่นกระแสความคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลี ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ได้เดินอย่างโดดเดี่ยว การตลาดนอกประเทศถูกกระหน่ำซ้ำเป็นดาบสองจากการจัดตั้งองค์กร KOCCA ในปี 2541 เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์, เกม, ศิลปะ, ดนตรี, และแอนิเมชัน (www.bcm.arip.co.th, 2006)
จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เอเชียนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขันอันนำมาซึ่งพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ปรากฏการเหล่านี้จึงก่อให้เกิดการจับตามองจากหลาย ๆ ด้าน อาทิ ผู้ชม ตลอดจนสถาบันภาพยนตร์ต่างๆ ในระดับนานาชาติ ที่มีการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลที่ภาพยนตร์ไต้หวันได้รับจากเทศกาลต่างๆ ว่า
"ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนังไต้หวันผงาดเต็มตัวบนเวทีนานาชาติด้วยการกวาดรางวัลสำคัญต่างๆ มานักต่อนัก ตั้งแต่ Yi Yi ของ เอ็ดเวิร์ด หยาง ที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศการภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2000 ... ถัดจากนั้นก็เป็น Betelnut Beauty ของหลินเชิงเซิง ซึ่งรับรางวัลหมีเงินผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเบอร์ลิน รวมถึง Millennium Mambo ของ โหวเซี่ยวเสียน และ What Time Is It There ของ ไฉมิ่งเหลียง ที่กวาดรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วนจากเทศกาลหนังต่างๆ เช่นกัน" (สุนทร มณีรัตนาศักดิ์, 2546: ฉ. 17 หน้า 42)
กระแสการตอบรับภาพยนตร์เอเชีย
แพร่หลาย ทวีความแรงอย่างเห็นได้ชัด ดังข้อมูลที่ว่า
ยิ่งไม่น่าเชื่อว่า ประเทศคู่สงครามของเกาหลี อย่างญี่ปุ่น ก็คลั่งไคล้ละครเกาหลี
จนรัฐบาลเกาหลีระบุว่า อาจใช้ดาราและละครเป็นสื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
และแม้แต่สถานี โทรทัศน์ จากสหภาพพม่า ก็ยังยอมรับว่า ละครเกาหลี ได้รับความนิยมอย่างสูงในพม่า
(www.jkdramas.com, 2006)
พัฒนาการของบางประเทศในกลุ่มเอเชียที่นำหน้าหลายๆ ประเทศไปอย่างรวดเร็วนั้น มิได้ปรากฏเพียงในด้านของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ด้านการศึกษา และเทคโนโลยีต่างๆ ก็ช่วยให้เกิดการพัฒนาในด้านธุรกิจทางวัฒนธรรมอย่างไม่คาดคิดเช่นกัน อันนำไปสู่การส่งออกภาพยนตร์เอเชียสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก่อให้เกิดกระแสการตอบรับที่แพร่หลายสู่นานาประเทศอันนำมาซึ่งเม็ดเงินที่หลั่งไหลอย่างมหาศาลในปัจจุบัน
4.2 แรงสนับสนุน
นอกจากนี้ข้อมูลอีกส่วนได้กล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเอเชียว่า
มาจากแรงสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ ข้อมูลของ สุนทร มณีรัตนาศักดิ์ เกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ของรัฐบาลไต้หวันที่ว่า
"มาตรการสนับสนุนวงการหนังที่รัฐบาลไต้หวันทำอยู่และทำมานานแล้วก็คือ
การมอบทุนให้กับคนทำหนังเป็นประจำทุกปี โดยจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 1990 และจำนวนเงินที่มอบให้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ"
ด้าน Choe Rak-Gwon ตัวแทนบริษัทบันเทิง NOON ของเกาหลีใต้ ได้ให้ข้อมูลเรื่องการสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลี ไว้ในบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับตลาดภาพยนตร์เกาหลีและจีนในปัจจุบันว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเติบโตเกินหน้าจีนเนื่องจากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทางการด้วย ดังเช่น การออกกฎระเบียบให้แต่ละปี โรงภาพยนตร์โรงหนึ่งๆ ต้องฉายภาพยนตร์เกาหลีทั้งสิ้น 146 วัน ขณะที่การฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ก็จะมีสัดส่วนกำหนดแน่ชัดเช่นกัน(www.manager.co.th, 2006)
คล้องจองกับข้อมูลที่นำเสนอไปแล้ว เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรในการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรมเกาหลีของทางภาครัฐ จากเว็บไซต์ www.bcm.arip.co.th ที่ได้กล่าวถึงการจัดตั้งองค์กร KOCCA หรือ Korea Cultural Content Agency ในปี 2541 เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์, เกม, ศิลปะ, ดนตรี, และเอนิเมชั่น
เช่นเดียวกับข้อมูลเกี่ยวกับการที่ภาครัฐของเกาหลีได้ออกนโยบาย ตลอดจนให้การสนับสนุนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม อันกล่าวโดยสรุปได้ว่าระหว่างปี 2001-2002 ธุรกิจภาพยนตร์ซีรีส์ บูมขึ้นอย่างมากในเอเชีย รัฐบาลเกาหลีมีนโยบายสร้างภาพยนตร์ควบกับละครออกขายต่างประเทศ อุตสาหกรรมภาพยนตร์มาถึงช่วงเวลาสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อนโยบาย 3s ที่เน้นเรื่อง sex, show, และ scene (รายการทีวี) แตกดอกออกผล สร้างรายได้มากมายต่อเกาหลี...ความสำเร็จนี้ทำให้รัฐบาลเกาหลีกระตือรือร้นอย่างมาก ส่งผลให้สื่อและหน่วยงานสำรวจความคิดเห็นพยายามสานต่อความสำเร็จ
กลางปี 2003 เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนมากคือ การจัดงานรวมวัฒนธรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโซล และเชิญนักข่าวทั่วโลกเข้ามาทำข่าว (www.jkdramas.com, 2006) การตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นฐานในการส่งออกวัฒนธรรมไปทั่วโลก ประกอบกับกระบวนการเชิงรูปธรรม อาทิ นโยบายของรัฐ การออกกฎระเบียบการฉายภาพยนตร์ การจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ ในการดูแลอย่างใกล้ชิด และตลอดจนการมอบทุนให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงการเอาใจใส่และความรับผิดชอบอย่างจริงจังของภาครัฐ นอกจากทุนทรัพย์ในการผลิตแต่ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่านั้นคือ กำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ อันนำไปสู้สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาลในเวลาต่อมา
4.3 การนำมาสร้างใหม่
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ปรากฏการการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เอเชียไปสร้างใหม่ (Remake)
ของฮอลลีวูด มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นทุกที สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า
หลายปีมานี้ หนังญี่ปุ่นและเกาหลีหลายเรื่อง เป็นสินค้าส่งออกชั้นดีที่ได้ถูกเอาไปทำใหม่โดยทีมงานฝรั่ง
หรือเราเรียกง่ายๆว่า "รีเมค" แต่เท่าที่สังเกต มีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ทำออกมาได้ดีเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับต้นฉบับ
เช่นเรื่อง The Grudge ที่รีเมคใหม่มาจาก "จูออน" ที่คิดว่าทำได้น่ากลัวพอๆ
กับของเดิม แต่มีหลายเรื่องก็ต้องขาดทุนไปตามระเบียบ ไม่ใช่แต่หนังแนวผีๆ หนังรักก็มี
อย่างเช่น The Lake House ซึ่งเรื่องนี้ก็เข้าข่ายอย่างแรก PULSE ก็เป็นอีกเรื่องที่นำหนังญี่ปุ่น
Kairo ผีอินเตอร์เน็ต (2001) มารีเมคใหม่ในเวอร์ชั่นฝรั่ง (http://movie.sanook.com,
2006)
คล้ายคลึงกับข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธ์ภาพยนตร์เกาหลีไปสร้างใหม่ของฮอลลีวูดที่ว่า
"ครั้งหนึ่ง เกาหลีเคยหยิบไอเดีย ของฮอลลีวูดมาสร้าง แต่ปัจจุบันฮอลลีวูดซื้อลิขสิทธิ์หนังเกาหลีไปรีเมค
(remake) หลายต่อหลายเรื่อง หนังใหม่ของควีน ลาติฟาห์ คือ อดีตหนังยอดฮิตจากเกาหลี
My Wife is a Gangster, มาฟเวอริด ฟิลม์ส ของมาดอนนาก็กำลังรีเมค หนังสยองขวัญ
Phone หรือแม้แต่ Dream Work เองก็ซื้อลิขสิทธิ์หนังสยองขวัญแนวจิตวิทยา A
Tale of Two Sister มาสร้างใหม่" (นคร โพธิไพโรจน์, 2547: 50)
อันนี้ไปด้วยกันกับการนำภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมอดีที่ประสบความสำเร็จของเกาหลีมาสร้างใหม่อีกครั้งที่ว่า ภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl เป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมอดีจากประเทศเกาหลีที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐฯ และประเทศไทย โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม" และมีข่าวตลอดมาว่าเป็นภาพยนตร์เอเชียหลายเรื่องที่ถูกบริษัท Dream work ซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อนำมา "รีเมค" ใหม่ (www.thaitownusa.com, 2006)
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว นำไปสู่การตั้งคำถามถึงที่มาของกระแสความสนใจภาพยนตร์เอเชียเหล่านี้ จากการศึกษาค้นคว้าได้พบข้อมูลที่สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว อันได้แก่ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขยายตลาดภาพยนตร์ออกไปนอกอเมริกาของฮอลลีวูด ที่ว่า "ฮอลลีวูดกำลังมีเป้าหมายในการขยายตลาดออกไปนอกอเมริกาโดยเร็วที่สุดและกว้างที่สุด การทำหนังที่ถูกปากถูกใจคนดูชาติอื่นๆ ไม่น้อยไปกว่าคนอเมริกันเองจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจมากในเวลานี้" (วารสาร Bioscope, 2545: 78)
การให้ความสนใจในการขยายตลาด "โดยเร็วที่สุดและกว้างที่สุด" ของฮอลลีวูด อาจมีความเชื่อมโยงกับผลกำไรที่ไม่สู้ดี หรือรายรับที่ไม่สูงเท่าที่ควรในประเทศ ดังนั้นจึงมีการขยายตลาดออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วน
4.4 ความซ้ำซาก
การนำภาพยนตร์ของอีกซีกโลกหนึ่งกลับมาสร้างใหม่ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหาทางออกของฮอลลีวูด
เพื่อหลีกหนีจากกรอบกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ ที่ตนสร้างขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูจะสัมพันธ์กับข้อมูลที่กล่าวถึงประเด็นเรื่องการหาไอเดีย
หรือพล็อตเรื่องที่น่าสนใจของฮอลลีวูดในการสร้างภาพยนตร์ได้ยากในปัจจุบันที่ว่า
บางคนบอกว่า การที่ฮอลลีวูดขยันสร้างหนัง "รีเมค" กันอยู่ในตอนนี้นั้น สาเหตุคือ หมดมุก หาไอเดียหรือพล็อตเรื่องที่น่าสนใจและเป็น "ออริจินัล" ได้ยากขึ้นทุกที เลยจำเป็นต้องหยิบเอาหนังเก่าๆ ที่เคยสร้างเอาไว้มาปัดฝุ่นสร้างใหม่ (The Omen, Poseidon ฯลฯ) หรือไม่ก็ซื้อลิขสิทธิ์หนังดีๆ จากประเทศอื่นๆ มาแก้ไขดัดแปลงนิดหน่อยแล้วสร้างขึ้นใหม่ (www.thaitownusa.com, 2006)
ข้อมูลข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับลักษณะของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "cliche" ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ กล่าวถึง cliche โดยสรุปไว้ดังนี้
ความซ้ำซากหรือที่ฝรั่งเรียกว่า 'cliche' นี้ เป็นสิ่งที่คนดูหนังสุดแสนเบื่อหน่าย และเป็นสิ่งที่คนทำหนังทุกยุคทุกสมัยพยายามต่อสู้เอาชนะมาตลอด แต่ส่วนใหญ่ก็พ่ายแพ้ หลายครั้งพวกเราคาดเดาตอนจบของหนังได้ตั้งแต่ดูไปแค่ 10 นาทีแรก ก็เพราะทั้งเหตุการณ์, ฉาก, ตัวละคร, ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เราเคยดูกันมาแล้วทั้งทางทีวี, หนัง, ละคร, หนังสือ ฯลฯ นับครั้งไม่ถ้วน (วารสาร Bioscope, 2545: ฉ.13 น. 54)
สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับการทุ่มเงินมหาศาลอันนำไปสู่ผลกระทบและปัญหาของแนวคิดนี้ ที่เกิดกับภาพยนตร์ของฮอลลีวูด คือ
1. หนังดราม่าทุนปานกลางเน้นขายคนดูผู้ใหญ่เริ่มไม่มีใครอยากสร้างเพราะทำเงินไม่มาก
2. นักแสดงเริ่มบ่นว่าไม่มีบทดีๆ ลึกๆ ให้เล่น
3. ผลจากข้อที่ผ่านมาทำให้นายหน้าดาราทะเลาะกับค่ายหนัง
4. เมื่อเน้นทุนสูง ค่ายหนังก็เน้นทำแต่หนังภาคต่อเป็นหลัก เพราะขายได้แน่นอนกว่า
5. ในเวลาเดียวกันหลายค่ายเริ่มรู้สึกว่า การทุ่มเงินเกินเหตุจะนำมาซึ่งการเจ็บตัวได้ง่าย บางค่ายใช้การตัดงบ อีกหลายค่ายแก้ปัญหาด้วยการหาทุนร่วม (วารสาร Bioscope, 2545: ฉ.19 น. 11)
องค์ประกอบแบบเดิม ๆ อย่าง เหตุการณ์, ฉาก, ตัวละคร, บทสนทนา, และการดำเนินเรื่องที่คาดเดาได้ ตลอดจนการเน้นทำหนังในแนวที่ขายได้ ความซ้ำซากเหล่านี้ ประกอบกับความสมบูรณ์แบบและมาตรฐานในแบบเดิม ๆ ที่ฮอลลีวูดได้สร้างไว้ เสมือนกรงทองที่กักขังตนเองให้ไร้ซึ่งอิสรภาพในการสร้างสรรค์ ในที่สุด cliche อาจเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับฮอลลีวูดในช่วงขาลง ก็เป็นได้
4.5 ความใส่ใจในการผลิต
กระแสความนิยม ตลอดจนการมุ่งความสนใจของฮอลลีวูดมาที่ภาพยนตร์เอเชีย ก่อให้เกิดคำถามและสมมติฐานที่แตกต่างกันออกไป
ซึ่งสัมพันธ์กับมุมมองที่ว่า
"ผมมองเรื่อง "หมดมุก" เป็นเพียงส่วนประกอบเล็ก ๆ เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฮอลลีวูด "ตาลุก" กับหนังประเทศอื่นๆ มาจากคุณภาพของภาพยนตร์ของประเทศต่างๆ เริ่มพัฒนาเทียบเท่า หรือเกินหน้าฮอลลีวูดไปแล้ว ทำให้เกิดการ "อิมพอร์ต" ผู้กำกับต่างชาติ ให้พาเหรดกันเข้ามาทำหนังทุนฮอลลีวูดพร้อม ๆ กับการ "รีเมค" ผลงานผู้กำกับเหล่านั้นให้เป็นเวอร์ชั่นอเมริกัน...โดยการหยิบเอาโครงเรื่องดีๆ ของหนังต่างชาติมาดัดแปลงหรือตกแต่งนิดๆ หน่อยๆ ให้ถูกคอคนอเมริกันมากขึ้น แล้วใช้ดาราอเมริกันดังๆ สวมทับลงไปเลย (www.thaitownusa.com, 2006)
คุณภาพของภาพยนตร์ของประเทศต่างๆ ที่พัฒนาเทียบเท่า หรือเกินหน้าฮอลลีวูดไป บ่งบอกได้ถึงพัฒนาการในด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี ตลอดจนการใส่ใจรายละเอียดในการผลิตสอดคล้องกับที่ Choe Rak-Gwon ตัวแทนบริษัทบันเทิง NOON ของเกาหลีใต้ แสดงทัศนะต่อตลาดภาพยนตร์เกาหลีและจีนว่า ผู้สร้างภาพยนตร์ของจีนควรพิจารณาสภาพความเป็นจริงของตลาดให้มากขึ้น "เกาหลี ก่อนถ่ายทำภาพยนตร์ ต้องสำรวจตลาดอย่างละเอียด ไม่เพียงในด้านเนื้อหาและนักแสดง แต่รวมไปถึงการวิจัยด้านจิตใจของผู้ชมด้วย" (www.manager.co.th, 2006)
ด้าน กนกพร เศรษฐธนบดี อดีตนักศึกษาภาพยนตร์ ที่ได้รับเลือกไปถ่ายทำหนังสั้นที่เกาหลี ได้แสดงทรรศนะถึงสาเหตุที่ภาพยนตร์เกาหลีครองใจผู้ชม อันมีเนื้อหาที่สรุปได้ดังนี้
"จุดเด่นของหนังเกาหลี
นอกจากฉากสวย โรแมนติกแล้ว คือ การโฟกัสเนื้อเรื่องอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอก
นางเอก ซึ่งต่างจากละครไทยที่แจกบทให้ตัวประกอบหลายๆ คน บทหนังใส่ใจกับรายละเอียด
โดยผูกปมระหว่างทางแต่มาเฉลยตอนท้าย คือทุกอย่างออกแบบไว้ให้มีความหมายแฝง
หลายเรื่อง นางเอกเป็นคนธรรมดา สวยสู้นางร้ายไม่ได้ แต่นี่ก็คือตัวแทนของคนดูส่วนใหญ่
ที่เป็นคนเดินดิน ที่มีฝันอยากจะประสบความสำเร็จ หรือไต่เต้าข้ามชนชั้นได้"
เอกลักษณ์อีกอย่างของหนังเกาหลี
คือ มักจะพูดถึงเรื่องความบังเอิญ การข้ามเวลา พรหมลิขิต ซึ่งอาจสะท้อนส่วนลึกของชาวเกาหลี
ที่ถึงแม้เพิ่งรุ่งเรืองมาไม่กี่ปี แต่ก็มียังปมขัดแย้งที่สำคัญ คือ การแบ่งแยกเกาหลีเหนือ-ใต้
ที่คนเกาหลีส่วนใหญ่หวังให้มีพรหมลิขิต หรือย้อนเวลากลับไปในช่วงที่ประเทศปรองดองกัน
ความสำเร็จของหนังเกาหลีอีกส่วนมาจากการทำการตลาด "ไม่ว่าโปสเตอร์ แม้แต่ปกซีดี ทุกอย่างถูกออกแบบอย่างใส่ใจ รูปที่ใช้ถูกถ่ายขึ้นใหม่ บางเรื่องทำกล่องซีดีเป็นกล่องไม้ ทุกอย่างทำมาเพื่อการสะสม" แต่ก็ย้ำว่า ความจริงหนังละครเกาหลีมีหลากหลายทุกแนวตั้งแต่หนังอาร์ต, เซ็กซ์, สงคราม, หรือศาสนา แต่ที่หนังรักและโรแมนติกยึดกระแสหลักได้ เพราะความดูง่าย เข้าใจง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่นั่นเอง (www.jkdramas.com, 2006)
4.6 กระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี
ความใส่ใจในการผลิต จึงนำไปสู่ความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า
การแทรกซึมเข้ามาของกระแสญี่ปุ่น (J-POP) และเร็วๆ นี้คือ กระแสเกาหลี (K-POP)
โดยเฉพาะสื่อประเภทเอ็นเตอร์เทน และงานโฆษณาที่มีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ Chemistry
หรือส่วนผสมที่เรียกว่าคนดูนั่นเอง ด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน ทำให้การใช้ชีวิต
วัฒนธรรมต่าง ๆ มีความใกล้เคียงกัน คนไทยจึงสามารถรับงานที่มาจากวัฒนธรรมของเอเชียได้เร็วกว่า
ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หรือละคร (www.bcm.arip.co.th, 2006)
คล้ายกับข้อมูลเกี่ยวกับมูลเหตุของความแรงของกระแสค่านิยมเกาหลีที่มีต่อคนไทยว่า
ความแรงของกระแสค่านิยมเกาหลีนั้น เนื่องจากวัฒนธรรมและรสนิยม รวมทั้งวิธีคิดที่สื่อสารออกมา
สินค้าเกาหลีสามารถตอบโจทย์คนไทยได้ดีกว่าญี่ปุ่น จนแซงกระแสเจเทรนด์ และกลายเป็นความนิยมที่เด็กรุ่นใหม่ฮิตกันอย่างกว้างขวาง
(www.bcm.arip.co.th, 2006)
เช่นเดียวกับข้อมูลที่กล่าวถึง ที่มาของความนิยมวัฒนธรรมเกาหลี อันได้แก่ภาพยนตร์และซีรี่ส์ทีวีที่มีการเจือปนวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลี ดังข้อมูลที่ว่า ในสินค้าทางวัฒนธรรมอย่าง ภาพยนตร์และซีรี่ส์ทีวีนั้น เป็นสื่อใหญ่ไปสู่คนดูตลาดที่กว้างขวาง เมื่อลองค่อยๆ สำรวจหนังและ ดราม่าเหล่านี้ เราจะพบว่าเกาหลีได้ 'แอบใส่' วัฒนธรรมป๊อปของเขาลงไปในหนังและรายการทีวี (www.asian-ent.com, 2006)
วัฒนธรรมเกาหลีซึ่งเป็นที่นิยมขณะนี้
แท้จริงถูกสร้างขึ้นอย่างมีจุดประสงค์ ดังข้อมูลที่ว่า
รัฐบาลเกาหลีได้วิจัย สิ่งที่เรียกว่า 'ฮัลริล' หรือ วัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างเป็นระบบ
มีการตั้งกรมวัฒนธรรมร่วมสมัย สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยจุดประสงค์เริ่มต้น
คือสร้างวัฒนธรรมสมัยใหม่ให้กับวัยรุ่นเกาหลี เพื่อคานอำนาจกับการครอบงำของวัฒนธรรมตะวันตก
ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซ็กซ์ และความรุนแรง...ที่สำคัญเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นที่เกาหลีเรียกว่า
ผู้ปกครองทรราชย์ ...โดยห้ามนำเข้าสื่อทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นอย่างยาวนาน ...เจตนารมณ์ของรัฐได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน
(www.jkdramas.com, 2006)
นันทขว้าง
สิรสุนทร ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ของเจตนารมณ์ดังกล่าวต่อไป อีกว่า
เด็กเกาหลีรุ่นใหม่ ถือเป็นเจ้าของวัฒนธรรมป๊อปตัวจริง พวกเขาฟังเพลงที่ผลิตในเกาหลี
ใช้ภาษาเกาหลีเล่นอินเทอร์เน็ต เด็กเกาหลีรุ่นเน็ตเวิร์คบริโภควัฒนธรรมป๊อปเกาหลีด้วยความ
คุ้นเคยและภูมิใจ ไม่รู้สึกว่าวัฒนธรรมเกาหลีด้อยกว่าใคร และไม่มีแรงผลักดันที่จะสร้างวัฒนธรรมเกาหลีให้เป็นศูนย์กลางโลก
เหมือนคนรุ่นเก่า (www.jkdramas.com, 2006)
วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่รัฐบาลเกาหลีได้ตั้งใจสร้างไว้ให้แก่วัยรุ่นของประเทศนั้น บัดนี้ได้แพร่หลายกระจายไปทั่วภาคพื้นเอเชีย โดยปะปนไปกับสื่อประเภทเอ็นเตอร์เทน อาทิ สินค้าทางวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์และซีรี่ส์ทีวีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
4.7 การตลาดเชิงวัฒนธรรม
จากโลกที่การผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนเกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต
อันนำไปสู่วงจรการผลิตที่ไม่มีสิ้นสุด การแข่งขันกันด้วยประโยชน์ใช้สอย ตลอดจนการบริโภคด้วยเงื่อนไขแห่งความจำเป็นของมนุษย์
ไม่สามารถทำให้ระบบอยู่รอดได้อีกต่อไป รูปแบบการบริโภคแนวใหม่จึงถูกผลิตขึ้น
ผ่านการครอบงำทางสัญญะในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริโภคอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน
ในยุคสมัยที่ทุกอย่างสามารถก่อให้เกิดการบริโภคได้ในปัจจุบัน แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมก็ยังสามารถขายได้ ที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นกระแสนิยมอยู่ขณะนี้ก็คือ วัฒนธรรม (Culture) กระบวนหรือกลยุทธ์การตลาดที่ใช้วัฒนธรรมเป็นจุดขาย (Cultural marketing) ที่ปรากฏผ่านกระแส Asian Culture นี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้มาก่อนแล้วโดยชาติตะวันตก ดังข้อมูลที่กล่าวถึง การครอบงำทางวัฒนธรรมที่ไหลผ่านสินค้าและบริการ ที่กล่าวโดยสรุปได้ว่า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรในภาคพื้นยุโรป ได้มีวิวัฒนาการในการครอบงำสังคมโลก จากการเมือง การต่างประเทศ การเศรษฐกิจ มาจนถึงกระบวนการที่ความสำคัญมากที่สุด คือการ "ครอบงำทางวัฒนธรรม" ที่ไหลบ่าผ่านสินค้าและบริการ ...เมื่อทุกคนเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ "กินอยู่อย่างตะวันตก-คิดอย่างอเมริกา" เมื่อนั้นการแทรกแซงในมิติอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การค้า การเงิน กฎหมาย และอื่นๆ ก็จะเข้ามาใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น (www.bcm.arip.co.th, 2006)
และในยุคสมัยที่มีแนวคิดในการต่อต้านตะวันตก ที่ส่งผลให้กระแสความนิยมในความเป็นตะวันตกลดลง และตามมาด้วยยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ อย่างไร้พรมแดน จึงก่อให้เกิดการพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อาทิ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนความรู้ความสามารถของมนุษย์ ในซีกโลกที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่ศักยภาพในการแข่งขันในวงการธุรกิจโลกได้อย่างทัดเทียมกันในที่สุด
เมื่อความนิยมในความเป็นตะวันตกลดลง กระแสรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น เป็นการผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แล้วเปลี่ยนไปเป็นปรากฏการณ์แบบเอเชียนิยมในที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสวัฒนธรรมเกาหลีซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ดั่งข้อมูลที่ว่า
เพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสเกาหลีฟีเวอร์ แพร่สะพัดไปในหลายประเทศ ทั้งจากภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ เพลง วัยรุ่นทั่วเอเชียต่างหลงใหลวัฒนธรรมใหม่จากเกาหลี หลายคนแต่งหน้า ทำผมแบบเกาหลี บางคนลงทุนเรียนภาษาเกาหลี เพียงเพื่อให้สามารถทักทายกับดาราคนโปรดของเขา วัยรุ่นจีนบางคนถึงขนาดไปศัลยกรรมใบหน้าให้คล้ายกับดาราเกาหลี (www.jkdramas.com, 2006)
จากความสำเร็จของละครและภาพยนตร์เกาหลี นำไปสู่ธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี ระบุว่า ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไปเกาหลีมากกว่า 5, 800,000 คน สร้างรายได้ถึงกว่า 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักได้แก่ ชาวญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ส่วนคนไทยเราก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ปีที่แล้วไปเยือนประเทศเกาหลีถึง 1 แสนกว่าคน นับเป็นจำนวนที่สูงสุดในรอบ 42 ปี ซึ่งโปรแกรมท่องเที่ยวสุดฮิต ก็คือ การตามรอยละครรัก (www.jkdramas.com, 2006)
สัมพันธ์กันกับข้อมูลที่ว่า กระแสดังกล่าวเกิดการต่อยอดธุรกิจอาหารเกาหลี, สินค้าภาคเกษตร, เสื้อผ้า, เครื่องแต่งกาย, เครื่องสำอางและโรงเรียนสอนภาษาเกาหลี, จะเห็นว่าวัฒนธรรมตะวันออกเป็นกระแสที่อยู่ยาวนานและลึกซึ้ง ใช้ระยะเวลาในการสร้างวัฒนธรรมและสื่อสารสู่วงกว้างช่วงระยะเวลานานกว่าเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตก (www.bcm.arip.co.th, 2006)
จากความเสื่อมถอยของกระแสตะวันตกนิยม ประกอบกับการส่งผ่านข้อมูลและความรู้แบบไร้ขีดจำกัด นำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ได้อย่างทัดเทียมกัน โอกาสในการแข่งขันของฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะกระแสเอเชียจึงเพิ่มมากขึ้น กระแสวัฒนธรรมที่มาแรงของเกาหลี โดยมีความสำเร็จของละครและภาพยนตร์ ที่เป็นดั่งโชว์รูมสินค้า นำไปสู่การงอกงามของธุรกิจด้านต่างๆ ในเวลาต่อมา อาทิ การท่องเที่ยว, อาหาร, ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ, ดนตรี, ดารา, แฟชั่น, เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง, ภาษา, นวนิยาย, เอนิเมชั่น, และเกมออนไลน์
คล้องจองกับข้อมูลทีว่า ภายใต้ละครรักสุดฮิตนั้น ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า สถานที่ถ่ายทำสุดโรแมนติกนั้นอยู่ในเกาหลี รถยนต์ที่ใช้ คือ ฮุนได โทรศัพท์มือถือของพระเอกยี่ห้อซัมซุง แม้แต่เพลงประกอบละครก็ยังเป็นภาษาเกาหลี ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของรัฐบาลเกาหลีที่จะใช้วัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เรียกว่า Pop Culture เพื่อหารายได้เข้าประเทศ (www.jkdramas.com, 2006)
จากความใส่ใจรายละเอียดในกระบวนการผลิต
พัฒนาการในเชิงคุณภาพของภาพยนตร์ ตลอดจนแรงสนับสนุน การเอาใจใส่ และการผลักดันจากภาครัฐของเกาหลี
ชัยชนะที่เป็นมาแห่งความสำเร็จเหล่านี้ มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับมุมมองของ
Asian Culture ที่ว่า
ชัยชนะของ Asian Culture หรืออาจเรียกว่า East Culture ที่งดงามในตลาดเมืองไทย
บทสรุปย่อมไม่แตกต่างกับกลุ่มโลกตะวันตก หรืออเมริกา ที่จะใช้กระแสดังกล่าวต่อยอดการสื่อสาร
แบรนด์สินค้าจากประเทศนั้นๆ เพื่อครอบงำค่านิยมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ
ให้มาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ภักดีต่อแบรนด์ (www.bcm.arip.co.th, 2006)
อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความสำเร็จดังกล่าว คือปรากฏการณ์ซึ่งมาจากกระบวนการทางธุรกิจที่ใช้วัฒนธรรมเป็นจุดขาย อันนำไปสู่การต่อยอดเพื่อขยายฐานสู่ธุรกิจรูปแบบอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ดังกลไกทางธุรกิจที่เรียกว่า การตลาดเชิงวัฒนธรรม
5 แนวคิดเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง
จากข้อมูลข้างต้น ภาพยนตร์ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่างๆ อยู่เสมอ การดำรงอยู่ในสังคมแห่งการสื่อสารจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ
เพราะความจริงที่ซ่อนภายใต้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะรู้ได้ เช่นเดียวกับศาสตร์ภาพยนตร์
การศึกษาเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง ถูกนำมาใช้ตีความให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
(ฉลองรัตน์ ทิพย์พิมาน, 2539: 10-19)
5.1 โครงเรื่อง
(Plot)
ในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ นวนิยาย รวมทั้งการเล่าเรื่องเกือบทุกชนิด โครงเรื่องเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำมาศึกษาเสมอ
โดยมีการลำดับเหตุการณ์ไว้ 5 ขั้นตอน
5.1.1 การเริ่มเรื่อง (Exposition) เป็นการชักจูงความสนใจติดตามเรื่องราว แนะนำตัวละคร ฉาก หรือสถานที่ ให้ชวนติดตาม โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตมลำดับเหตุการณ์ก็ได้
5.1.2 การพัฒนาเหตุการณ์ (Rising Action) คือ การที่เรื่องราวดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสมเหตุผล ปมปัญหาหรือข้อขัดแย้งเริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
5.1.3 ภาวะวิกฤติ (Climax) จะเกิดเมื่อเรื่องราวกำลังถึงจุดแตกหัก และตัวละครอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ
5.1.4 ภาวะคลี่คลาย (Falling Action) คือ สภาพหลังจากที่จุดวิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว เงื่อนงำและประเด็นปัญหาได้รับการเปิดเผย
5.1.5 การยุติของเรื่องราว (Ending) คือ การสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมด
5.2 ความขัดแย้ง
(Conflict)
นอกจากการศึกษาโครงเรื่องแล้ว ความขัดแย้งก็เป็นอีกส่วนที่ได้รับการนำมาศึกษาอยู่เสมอ
เพราะจะทำให้เข้าใจเองราวได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งแท้จริงแล้วเรื่องเล่าคือการสานเรื่องราวบนความขัดแย้ง
ซึ่งความขัดแย้งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
5.2.1 ความขัดแย้งระหว่างคนกับคน คือ การที่ตัวละครสองฝ่ายไม่ลงรอย ต่อต้าน หรือพยายามทำลายล้างกัน
5.2.2 ความขัดแย้งภายในจิตใจ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน ตัวละครจะทีความสับสนหรือยุ่งยากลำบาก ในการตัดสินใจ เพื่อกระทำการอย่างที่คิดเอาไว้
5.2.3 ความขัดแย้งกับพลังภายนอก เช่นขัดแย้งกับสภาพแวดล้อม หรือธรรมชาติที่โหดร้าย
5.3
ตัวละคร (Character)
ลอเรนซ์ เพอร์รีน (Laurence Perrine 1978: 1491) ให้ความหมายตัวละครว่า "คือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องราวในการเล่าเรื่อง...นอกจากนี้ยังหมายถึงบุคลิกลักษณะของตัวละคร
ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาหรืออุปนิสัยใจคอของตัวละครด้วย"
ดไวน์
วี. สเวน (Dwight V. Swain 1982: 95-114) กล่าวว่า แต่ละตัวละครต้องมีองค์ประกอบ
2 ส่วน คือส่วนที่เป็นความคิด และส่วนที่เป็นพฤติกรรม. ความคิดของตัวละคร (Conception)
โดยปกติจะเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงยากจนกว่าจะมีเหตุผลที่สำคัญเพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลง
ส่วนพฤติกรรมของตัวละคร (Presentation) จะเป็นผลอันเกิดจากความคิดและทัศนคติของตัวละคร
นอกจากนี้คุณสมบัติของตัวละครยังมักได้รับการนำมาวิเคราะห์อยู่เสมอ โดยจำแนกตัวละครตามคุณสมบัติของตัวละครได้เป็น 2 ชนิด
5.3.1 ตัวละครผู้กระทำ คือตัวละครที่มีลักษณะเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ถูกคุกคามหรือครอบงำจากผู้อื่นโดยง่าย มักมีเป้าหมายและการตัดสินใจเป็นของตน
5.3.2 ตัวละครผู้ถูกกระทำ คือตัวละครที่มีลักษณะอ่อนแอ ต้องพึ่งพา อยู่ภายใต้การดูแลหรือควบคุมของตัวละครอื่น
5.4
แก่นความคิด / แนวเรื่อง (Theme)
การวิเคราะห์ภาพยนตร์โดยทั่วไปแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจับใจความสำคัญของเรื่องไว้ให้ได้
มิฉะนั้นจะไม่อาจรู้ถึงแนวคิดที่ผู้เล่าต้องการถ่ายทอดให้ทราบ
5.5 ฉาก
ฉากมีความสำคัญเพราะทำให้มีสถานที่รองรับเหตุการณ์ต่าง บ่งบอกความหมายของเรื่องและมีอิทธิพลต่อความคิดหรือการกระทำของตัวละครอีกด้วย
(ปริญญา เกื้อหนุน 2537: 70)
ธัญญา สังขพันธานนท์ (2539 : 191-193) สรุปประเภทของฉากไว้ 5 ประเภทดังนี้
5.5.1 ฉากที่เป็นธรรมชาติ ได้แก่สภาพแวดล้อมธรรมชาติที่แวดล้อมตัวละคร เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า หรือบรรยากาศในแต่ละวัน
5.5.2 ฉากที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ ได้แก่ บ้าน เครื่องใช้ หรือสิ่งประดิษฐ์ไว้ใช้สอย
5.5.3 ฉากที่เป็นช่วงเวลาหรือยุคสมัย ได้แก่ยุคสมัย หรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์
5.5.4 ฉากที่เป็นการดำเนินชีวิตของตัวละคร หมายถึง สภาพแบบแผน หรือกิจวัตรประจำวันของตัวละคร ชุมชน หรือท้องถิ่นที่อาศัย
5.5.5 ฉากที่เป็นสภาพแวดล้อมเชิงนามธรรม คือสภาพแวดล้อมที่จับต้องไม่ได้ แต่มีลักษณะเป็นความเชื่อ หรือความคิด เช่น ค่านิยม ธรรมเนียม ประเพณี
5.6 สัญลักษณ์ต่างๆ
สำหรับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์มักมีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ (Symbols) เพื่อสื่อความหมายอยู่เสมอ
สัญลักษณ์ทั้งหลายที่มักพบในภาพยนตร์มี 2 ชนิดคือ สัญลักษณ์ทางภาพและสัญลักษณ์ทางเสียง
5.6.1 สัญลักษณ์ทางภาพ คือ องค์ประกอบของภาพยนตร์ที่ถูกนำเสนอซ้ำ ๆ อาจเป็นวัตถุ สถานที่ หรือสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ หรือบุคคล ก็ได้ สัญลักษณ์อาจเป็นภาพเพียงภาพเดียว หรือเป็นกลุ่มของภาพที่เกิดจากการตัดต่อ
5.6.2 สัญลักษณ์ทางเสียง คือเสียงต่างๆ ที่ถูกใช้เพื่อแสดงความหมายอื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบความหมาย หรือเพื่อแสดงวัตถุประสงค์ของตัวละคร ไม่ใช่การใช้เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมกับตัวละคร และเรื่องราวของภาพยนตร์
5.7 จุดยืนในการเล่าเรื่อง (Point of View)
คือการมองเหตุการณ์ การเข้าใจพฤติกรรมตัวละครผ่านสายตาของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง
หรือหมายถึงการที่ผู้เล่ามองเหตุการณ์จากวงในใกล้ชิด หรือจากวงนอกในระยะห่าง
ๆ ซึ่งแต่ละจุดยืนมีความน่าเชื่อถือต่างกัน และมีผลต่อการชักจูงอารมณ์ของผู้เสพเรื่องเล่า
หลุยส์ จิอันเน็ตตี (Louis Giannetti) ศาสตราจารย์ทางภาพยนตร์มหาวิทยาลัยคลีฟแลนด์
แบ่งจุดยืนการเล่าเรื่องภาพยนตร์ไว้ 4 ประเภท (ฉลองรัตน์ ทิพย์พิมาน, 2539:18)
5.7.1 เล่าเรื่องจากจุดยืนบุคคลที่หนึ่ง (The First-Person Narrator) คือการที่ตัวละครตัวเอกของเรื่องเป็นผู้เล่าเรื่องเอง การเล่าเรื่องชนิดนี้ตัวละครมักเอ่ยคำว่า "ผม" หรือ "ฉัน" อยู่เสมอ ข้อดีของการเล่าเรื่องชนิดนี้ ทำให้ใกล้ชิดกับกับเหตุการณ์ แต่มีข้อเสียตรงอาจมีอคติปะปนอยู่ด้วย
5.7.2 เล่าเรื่องจากจุดยืนบุคคลที่สาม (The Third-Person Narrator) คือการที่ผู้เล่ากล่าวถึงตัวละครตัวอื่น เหตุการณ์อื่น ที่ตัวเองพบเห็นหรือเกี่ยวพันด้วย
5.7.3 การเล่าเรื่องจากจุดยืนที่เป็นกลาง (The Objective) เป็นจุดยืนที่ผู้สร้างพยายามให้เกิดความเป็นกลาง ปราศจากอคติในการนำเสนอ จึงไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากเป็นการสังเกตหรือรายงานเหตุการณ์ ให้ผู้ชมตัดสินเรื่องราวเอง
5.7.4 การเล่าเรื่องแบบรู้รอบด้าน (The Omniscient) คือการเล่าเรื่องที่ไม่มีข้อจำกัด สามารถรู้จิตใจตัวละครทุกตัว, ย้ายเหตุการณ์, สถานที่, ข้ามพ้นข้อจำกัดด้านเวลา, ย้อนอดีต, ก้าวไปในอนาคต, และสำรวจความคิดฝันตัวละครได้อย่างไร้ขอบเขต
++++++++++++++++++++++++
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ภาพเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดของโลกยุคหลังสมัยใหม่ แม้ว่าภาพอาจไม่ได้เข้ามาแทนที่ภาษา (คำพูดและตัวหนังสือ) ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดในโลกยุคสมัยใหม่ ความต่างของภาพในโลกยุคสมัยใหม่กับหลังสมัยใหม่อยู่ที่ว่า ในโลกยุคสมัยใหม่ ภาพถูกถือว่าเป็นตัวแทนของความจริง ในขณะที่โลกยุคหลังสมัยใหม่ถือว่าภาพก็เป็นเหมือนความเรียงหรือนวนิยาย คือมีความหมายที่ผู้สร้างใส่ลงไว้ โดยไม่เกี่ยวกับวัตถุที่ปรากฏในภาพแต่อย่างเดียว. ความหมายที่แฝงไว้ในภาพนั้นจะสื่อถึงผู้อื่นได้ ก็ต้องอาศัยกระแสของความคิด, ขนบธรรมเนียม, ค่านิยม, ความรู้ความเข้าใจ, ฯลฯ ที่มีอยู่ในสังคมเป็นฐาน ไม่ต่างจากกาพย์กลอนหรือวรรณกรรมก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการสื่อความหมายเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่ง การสื่อความหมายย่อมต้องอาศัยวัฒนธรรมเป็นฐานในการสื่อ