Media Art & Design
The Midnight University
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา
กระแส
K-POP เกาหลีฟีเวอร์ในงานภาพยนตร์ ๑
(บทนำเกี่ยวกับภาพยนตร์)
มาลิน
ธราวิจิตรกุล : นักวิจัย
นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง
การวิเคราะห์การเล่าเรื่องในภาพยนตร์เอเชียแนวโรแมนติกในมุมมองการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ
โดยได้ตัดตอนมาบางส่วนจากงานวิจัยฉบับสมบูรณ์
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องกระแสความนิยมภาพยนตร์เอเชีย
โดยเฉพาะภาพยนตร์เกาหลีที่ประสบความสำเร็จในโลกร่วมสมัย
ซึ่งอยู่ในความสนใจของวงวิชาการปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมของภาครัฐ
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1060
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
9 หน้ากระดาษ A4)
กระแส
K-POP เกาหลีฟีเวอร์ในงานภาพยนตร์ ๑ : บทนำเกี่ยวกับภาพยนตร์
มาลิน ธราวิจิตรกุล : นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มช.
แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
การค้นคว้าเกี่ยวกับกระแส K-POP เกาหลีฟีเวอร์ในงานภาพยนตร์ ในส่วนบทนำนี้
ได้นำทฤษฎี แนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อประกอบการทำความเข้าใจ
ดังต่อไปนี้
1. แนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์
2. แนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์แนวโรแมนติค
3. แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาสื่อและการสื่อความหมาย
4. เกี่ยวกับกระแสภาพยนตร์เอเชีย
5. แนวคิดเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง
6. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1 แนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์
ในหัวข้อเกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์นี้ จะกล่าวในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.1 บทบาทและความสำคัญของภาพยนตร์
1.2 สุนทรียภาพของภาพยนตร์
1.1 บทบาทและความสำคัญของภาพยนตร์
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป "ภาพยนตร์" เป็นเพียงแค่โลกมายาที่ฉาบฉวย
หรือเป็นเพียงแค่ความบันเทิงแต่สำหรับการศึกษาด้านสื่อและวัฒนธรรมศึกษา (Media
and Cultural Studies) แล้ว กลับให้ความสำคัญต่อการศึกษา "ภาพยนตร์"
โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก บรรดาการวิเคราะห์ในภาคเอกสาร หรือการลงพื้นที่ศึกษาอาจเป็นสิ่งไกลตัวของคนทั่วไป ในทางตรงข้าม โลกมายาภาพยนตร์กลับใกล้ชิดและอยู่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งในเชิงปริมาณภาพยนตร์มาบ่อย มากกว่าบรรดาเอกสารต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนจำนวนมากจะชมภาพยนตร์มากว่าหยิบหนังสืออ่าน
ประการถัดมา ภาพยนตร์มีทั้งภาพและเสียงอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในศตวรรษที่ 20 ที่ทรง พลานุภาพ ซึ่งมีความสำคัญทั้งในแง่การดึงดูดใจผู้ชม และสื่อสารสำหรับคนทุกเพศทุกวัยเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ยิ่งกว่านั้นในบางยุคสมัย ภาพยนตร์กลายเป็นเครื่องมืออุดมการณ์ทางการเมืองอีกด้วย (กำจร หลุยยะพงศ์, 2547: 94)
จะเห็นได้ว่า อีกบทบาทที่สำคัญของภาพยนตร์ ก็คือ การถ่ายทอดสภาพสังคมและสะท้อนวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น คติ แนวคิด และความเชื่อ รวมถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของคน สอดคล้องกับทรรศนะที่ว่า
"โดยความจริงแล้วหนังในแต่ละยุคสมัย จะสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้นออกมาได้เหมือนกัน อย่างในช่วงที่เรียกว่ายุคแสวงหา ก็จะมีหนังลักษณะที่คนดูต้องแสวงหาความหมายของมันออกมาเยอะ หนังที่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ หรือวิธีการสื่อความหมายในลักษณะต่างๆ จะมีเยอะ คนดูดูแล้วต้องตีความตามไปด้วย มันคือภาพสะท้อนของยุคนั้น" (กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, 2541: 13)
นอกจากสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ภาพยนตร์ยังมีบทบาทที่น่าสนใจอื่นอีก สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า "ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสำคัญสิ่งหนึ่งในฐานะสื่อที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ" (สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย, 2544: 31-35) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ก) ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากสามารถนำภาพและเสียงของศิลปวัฒนธรรมจากแหล่งหนึ่งไปสู่ประชาชนในแหล่งอื่นๆ
ข) มีความสำคัญด้านการศึกษา โดยถ่ายทอดความรู้ เนื่องจากภาพยนตร์สามารถนำความรู้ที่อยู่ไกล หรือไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เช่นการศึกษาอวกาศ หรือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วหรือช้า ให้ช้าหรือเร็วขึ้นพอที่จะศึกษาได้ชัดเจน
ค) มีความสำคัญต่อกิจการทหารและความมั่นคงของประเทศ ทางการทหารเพื่อบันทึกวิธีการรบ ภูมิประเทศ และที่ตั้งของข้าศึก เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการใช้ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เพื่อประเมินกำลังข้าศึกและผลการปฏิบัติการรบของฝ่ายตน
ง) มีความสำคัญต่อกิจการแพทย์ นอกจากเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ ยังใช้ในการบันทึกอาการเพื่อวินิจฉัยโรค และถ่ายทอดการปฏิบัติทางการแพทย์จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง
จ) เพื่อกิจการสารสนเทศ เปลี่ยนแปลงสังคมในการค้นคว้าข้อมูลและการตัดสินใจของประชาชน เช่น หาข้อมูลได้จากศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติของประเทศไทย เป็นต้น
ฉ) มีความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่เหตุการณ์หรือองค์กรขนาดเล็กจนถึงประชาสัมพันธ์ระดับชาติ ซึ่งให้ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ ใกล้เคียงสถานการณ์จริงมากกว่า
ช) มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคม ภาพยนตร์ที่มีผู้ชมมาก สามารถโน้มน้าวพฤติกรรมของสังคม ตั้งแต่การแต่งกาย บุคลิกตัวแสดงทำให้ผู้ชมกระทำตาม โดยเฉพาะภาษาในภาพยนตร์มักมีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาของประชากรในสังคม
ด้วยคุณสมบัติอันหลากหลาย ทำให้กระแสอุตสาหกรรมภาพยนตร์กลายเป็นเป้าสนใจแก่วงการธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบัน สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับการข้ามสายของธุรกิจคอมพิวเตอร์เข้าสู่วงการภาพยนตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ Intel ดังที่ เควิน คอร์เบ็ตต์ รองประธานฝ่าย Digital Home Group และผู้จัดการทั่วไปฝ่าย Content Service Group ของ Intel กล่าวถึงการที่ Intel ข้ามสายธุรกิจคอมพิวเตอร์เข้าสู่วงการภาพยนตร์ ทั้งด้วยการทำสัญญากับค่ายภาพยนตร์และค่ายโทรทัศน์เพื่อซื้อคอนเทนท์ มหาศาลป้อนให้แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์รุ่น Viiv ของพวกเขา และเปิดบริษัททำภาพยนตร์อีกด้วย (วารสาร Bioscope 55, 2549: 57)
ประกอบกับคุณลักษณะอันโดดเด่นทางสุนทรียภาพที่ดึงดูด ตลอดจนเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ที่สะกดให้เกิดการคล้อยตามของผู้รับสารได้อย่างไม่ยากนัก ด้วยความเคลิบเคลิ้ม และความประทับใจที่ฝังลึกในสุนทรียะที่ปรากฏ
1.2 สุนทรียภาพของภาพยนตร์
จากบทบาทและความสำคัญข้างต้น ทำให้รับรู้ได้ถึงคุณค่าของภาพยนตร์ที่มีต่อสังคมโดยรวม
ส่วนระดับปัจเจกที่เล็กที่สุด ก็ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้คุณค่าของภาพยนตร์
ด้วยเช่นกัน ดังทรรศนะของผู้ใช้นามปากกา วลัยกร ที่มีว่า
"หนังสือบางเล่มและภาพยนตร์บางเรื่องทำให้เราร้องไห้ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่านหรือดูมัน และอีกครั้งนั่นคงเป็นเพราะเรารักมันเข้าไปแล้ว และภาพยนตร์บางเรื่องที่เราไม่ได้ร้องไห้ตั้งแต่ตอนที่ดูครั้งแรก แต่กลับร้องไห้อย่างหยุดไม่ได้ในตอนที่ดูเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ... ภาพยนตร์ที่อยู่ในดวงใจบางเรื่องไม่ได้ทำให้ร้องไห้ ภาพยนตร์ที่ดูแล้วร้องไห้บางเรื่องก็ไม่ได้ติดอยู่ในดวงใจนานนัก"
ความซาบซึ้งในคุณค่าของความงาม บ่งบอกได้ถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ที่มีต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ว่าด้วยการรับรู้ถึงสุนทรียภาพของปัจเจก และเมื่อกล่าวถึงสุนทรียภาพ พจนานุกรมศัพท์ศิลปะให้ข้อมูลเรื่องความหมายของสุนทรีภาพไว้ว่า "สุนทรีภาพ" (Aesthetics) หมายถึง ความซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่งาม ไพเราะ หรือรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือศิลปะ (พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ. 2530: 6)
ส่วนนิยามของสุนทรียภาพ กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ "สุนทรียภาพ" หรือ สุนทรีย์ เป็นความรู้สึกบริสุทธิ์ที่เกิดในห้วงเวลาหนึ่ง ลักษณะอารมณ์หรือความรู้สึกนั้นเราใช้ภาษาแทนความรู้สึก ซึ่งได้ความหมายไม่เท่าที่รู้สึกจริง เช่น พอใจ ไม่พอใจ เพลิดเพลินใจ ทุกข์ใจ กินใจ ... อารมณ์หรือความรู้สึกดังกล่าวจะพาให้เกิดอาการลืมตัว (Attention span) และเผลอใจ (Psychical distance) ลักษณะทั้งหมดนี้เรียกว่า สุนทรีย์ หรือสุนทรียภาพ (http://www.school.net.th, 2006)
แนวคิดเกี่ยวกับห้วงแห่งความรู้สึกที่ก่อให้เกิดอาการลืมตัวและเผลอใจ ดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึกที่มีความซาบซึ้งในความงาม สอดคล้องกับทรรศนะของมหากวีท่านหนึ่ง ที่แสดงเกี่ยวกับการเข้าถึงศิลปะไว้อย่างน่าสนใจว่า "ยิ่งเข้าถึงงานศิลปะนั้นด้วยปัญญาได้น้อย งานศิลปะจะยิ่งทวีความยิ่งใหญ่" (เกอเธย์ อ้างใน สนธยา ทรัพย์เย็น, 2547: 14)
จากข้อความข้างต้นทำให้รับรู้ได้ว่า ในการเข้าถึงศิลปะให้ลึกซึ้งเป็นเรื่องของการใช้จินตนาการ และอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าวุฒิปัญญาและความรอบรู้ อาจกล่าวได้ว่า สุนทรียภาพ คือความรู้สึกบริสุทธิ์ที่แสดงถึงความซาบซึ้งต่อคุณค่าของธรรมชาติหรือศิลปะ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง โดยเหตุนี้จึงพูดได้ว่า แม้เหตุผลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ แต่ในบางครั้งเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึกนั้น ก็ช่วยให้ชีวิตมนุษย์ไม่ดำเนินอยู่อย่างแห้งแล้งจนเกินไป
2 แนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์แนวโรแมนติค
ในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์แนวโรแมนติคนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
2.1 ประเภทของภาพยนตร์
2.2 ภาพยนตร์แนวโรแมนติค
2.1 ประเภทของภาพยนตร์
หลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของภาพยนตร์มีหลายอย่าง เช่น แบ่งตามขนาด ตามสี เสียง
มิติ วัตถุประสงค์ที่ใช้ และอื่น ๆ ในการแบ่งตามวัตถุประสงค์ที่ใช้ อาจแบ่งได้
5 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
2.1.1 ภาพยนตร์บันเทิง (Entertainment Film) เป็นภาพยนตร์ที่มุ่งเฉพาะความบันเทิงแก่ผู้ชม ซึ่งมีฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป
2.1.2 ภาพยนตร์การศึกษา (Educational Film) เป็นภาพยนตร์สำหรับประกอบการสอน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ใช้ประกอบการสอนเฉพาะวิชา ในห้องเรียนเรียกว่า Instructional Film หรือ Classroom Film
- ภาพยนตร์ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เรียกว่า Educational Film
2.1.3 ภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film) เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง มุ่งให้ความรู้ทั่วไป และข่าวสารแก่ผู้ชม
2.1.4 ภาพยนตร์ข่าว (News Film) เป็นภาพยนตร์ที่เสนอข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประชาชนสนใจ นำออกฉายให้ประชาชนในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่เหตุการณ์เกิดขึ้น
2.1.5 ภาพยนตร์โฆษณาสินค้า (Advertising Film หรือ Commercial Film) สร้างขึ้นเพื่อชักจูงให้ซื้อสินค้าหรือสนับสนุนธุรกิจการค้า โฆษณาธุรกิจโดยตรงเรียกว่า Advertising Film แต่ถ้าประชาสัมพันธ์เพื่อให้นิยมผลิตภัณฑ์และธุรกิจ เรียกว่าภาพยนตร์การค้า (Commercial Film) (www.nrru.ac.th, 2006)
แต่ภาพยนตร์ประเภทที่คุ้นเคย พบได้บ่อยและมีการผลิตอย่างต่อเนื่องที่สุดเห็นจะได้แก่ ภาพยนตร์บันเทิง สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งแนวภาพยนตร์ในปัจจุบัน ที่มีการรวบรวมไว้ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ ดังต่อไปนี้ แนวแอคชั่น (Action), แนวผจญภัย (Adventure), แนวเอนิเมชั่น (Animation), แนวตลก (Comedy), แนว Coming-of-Age Drama, แนวอาชญากรรม (Crime), แนวชีวิต (Drama), แนวสารคดี (Documentary), แนวอีโรติก (Erotic), แนวแฟนตาซี (Fantasy), แนวครอบครัว (Family), แนวสยองขวัญ (Horror), แนวเพลง (Musical), แนวลึกลับ (Mystery), แนวรักโรแมนติก (Romance), แนวไซไฟ หรือ นวนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction: Sci-Fi), แนวระทึกขวัญ (Thriller), และ แนวสงคราม (War) (www.pappayon.com, 2006)
2.2 ภาพยนตร์แนวโรแมนติค
จากการจำแนกแนวของภาพยนตร์ที่มีหลากหลายในปัจจุบัน ดังข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น
ในบรรดาภาพยนตร์ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง หนึ่งในนั่นก็คือ
ภาพยนตร์แนวโรแมนติค และปัจจุบันภาพยนตร์แนวโรแมนติคของเกาหลีในสังคมไทยค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ผู้คนจำนวนมาก
สอดคล้องกับที่ กนกพร เศรษฐธนบดี อดีตนักศึกษาภาพยนตร์ ที่ได้รับเลือกให้ไปถ่ายทำหนังสั้นที่เกาหลีกล่าวถึงสาเหตุที่ภาพยนตร์เกาหลีครองใจผู้ชมไว้ว่า ความจริงหนังละครเกาหลีมีหลากหลาย ทุกแนวตั้งแต่หนังอาร์ต เซ็กซ์ สงคราม หรือศาสนา แต่ที่หนังรักและโรแมนติกยึดกระแสหลักได้ เพราะความดูง่าย เข้าใจง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่ (www.jkdramas.com, 2006)
คล้ายคลึงกับทรรศนะที่ว่า ภาพยนตร์ที่มีแก่นความคิดเกี่ยวกับความรักจะใช้สัญลักษณ์มากกว่าภาพยนตร์ที่มีแก่นความคิดประเด็นอื่น เพราะเรื่องความรักเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ทำให้ภาพยนตร์มีการใช้สัญลักษณ์มากเป็นพิเศษ ...หรือหากต้องการให้เกิดการตีความภาพยนตร์จะใช้สัญลักษณ์ทางภาพ ส่วนสัญลักษณ์ทางเสียงไม่ได้รับการนำมาสื่อความหมายเท่าที่ควร เพราะเสียงโดยมากจะใช้เพื่อบอกกล่าวความหมายโดยตรง (ฉลองรัตน์ ทิพย์พิมาน, 2539: 124)
การเข้าถึงผู้ชมของภาพยนตร์โรแมนติค มีความสอดคล้องกับความคิดเกี่ยวกับภาษาภาพ กล่าวคือ ภาพยนตร์รักโรแมนติค จะเน้นอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาพสัญลักษณ์ที่สามารถตีความเพื่อทำความเข้าใจได้ และการที่มนุษย์สามารถทำความเข้าใจผ่านภาพได้ง่ายขึ้น มีความเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่า ภาพเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของกลไกการทำความเข้าใจเรื่องราวของสมอง ดังข้อมูลที่เกี่ยวกับการอธิบายเรื่องที่ยากและซับซ้อนให้ง่ายขึ้น ที่กล่าวโดยสรุปได้ว่า
โดยปกติระบบความจำจะบันทึกประสบการณ์ที่เราเคยประสบไว้ ทั้งในลักษณะของมโนทัศน์ (Concepts) และลักษณะของภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อสมองรับข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาสิ่งที่เข้ามาใหม่จะถูกนำมาเทียบกับมโนทัศน์หรือเหตุการณ์เดิมที่มีอยู่ หากข้อมูลใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกัน จะทำให้เข้าใจเรื่องนั้นได้ทันที ... ภาพที่เราเปรียบจะไปตรงกับกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ทำให้ความเข้าใจเรื่องที่เราต้องการอธิบายมีความแจ่มกระจ่างมากขึ้น
จากข้อมูลข้างต้น เมื่อภาพเป็นองค์ประกอบหลักในการทำความเข้าใจของมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจผ่านภาษาภาพได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นสื่อที่เน้นการนำเสนอภาพสัญลักษณ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน อย่างภาพยนตร์โรแมนติค ซึ่งนำไปสู่การตีความให้เกิดความเข้าใจได้ไม่ยาก จึงสามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างหลากหลายนั่นเอง
3. แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาสื่อ
และการสื่อความหมาย
หลักการเรื่องภาพที่มีส่วนสำคัญต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์ สอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ
(Media studies) ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture)
ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง "มองหาเรื่อง:
วัฒนธรรมทางสายตา" ดังนี้
ภาพเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดของโลกยุคหลังสมัยใหม่ แม้ว่าภาพอาจไม่ได้เข้ามาแทนที่ภาษา (คำพูดและตัวหนังสือ) ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดในโลกยุคสมัยใหม่ ความต่างของภาพในโลกยุคสมัยใหม่กับหลังสมัยใหม่อยู่ที่ว่า ในโลกยุคสมัยใหม่ ภาพถูกถือว่าเป็นตัวแทนของความจริง ในขณะที่โลกยุคหลังสมัยใหม่ถือว่าภาพก็เป็นเหมือนความเรียงหรือนวนิยาย คือมีความหมายที่ผู้สร้างใส่ลงไว้ โดยไม่เกี่ยวกับวัตถุที่ปรากฏในภาพแต่อย่างเดียว
ความหมายที่แฝงไว้ในภาพนั้นจะสื่อถึงผู้อื่นได้ ก็ต้องอาศัยกระแสของความคิด, ขนบธรรมเนียม, ค่านิยม, ความรู้ความเข้าใจ, ฯลฯ ที่มีอยู่ในสังคมเป็นฐาน ไม่ต่างจากกาพย์กลอนหรือวรรณกรรมก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการสื่อความหมายเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่ง การสื่อความหมายย่อมต้องอาศัยวัฒนธรรมเป็นฐานในการสื่อ
ในทางกลับกัน การเข้าถึงความหมายของภาพหรือวรรณกรรมจึงต้องอาศัยวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ผู้"อ่าน"ต้องเข้าถึงวัฒนธรรมของสังคมที่สร้างภาพหรือวรรณกรรมนั้นๆ ขึ้นมาเพียงพอ จึงสามารถจับความหมายที่แฝงอยู่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น การวิจารณ์หรือการรู้ทันความหมายที่แฝงอยู่ในภาพจึงเรียกว่า"วัฒนธรรมทางสายตา" อันเป็นศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นจากหลายสาขาวิชา และกำลังจะกลายเป็นศาสตร์แขนงใหม่ของวิชาการในโลกยุคหลังสมัยใหม่
ท่ามกลางการสื่อความด้วยภาพของโลกปัจจุบัน ความสามารถในการ"อ่าน"ภาพจึงมีความสำคัญสำหรับผู้คนในโลกยุคนี้ อย่างเดียวกับความสามารถในการ"อ่านออกเขียนได้"กับภาษา - ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือข้อเขียน - เคยมีความสำคัญสูงสุดในโลกยุคสมัยใหม่มาแล้ว
นอกจากนี้ สมเกียรติ ตั้งนโม เคยพูดเอาไว้ในบริบทสังคมไทยว่า สมัยก่อนการเดินทางในสังคมเรามักใช้วิธีการเดิน หรือถีบรถจักรยาน ดังนั้นวัฒนธรรมแบบ Text culture จึงเหมาะกับการเคลื่อนที่ของผู้คนในสมัยนั้น แต่เมื่อมีการผลิตรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ สังคมได้ปรับการเคลื่อนที่ของตนเองให้เร็วขึ้น การสื่อสารโดย text culture จึงไม่เอื้อต่อการสื่อสารอีกต่อไป ดังนั้น ความสำคัญของภาพจึงได้เข้ามาแทนที่ เพื่อสื่อกับผู้บริโภคได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่เปลี่ยนตามเงื่อนไขหรือบริบทสังคมที่ที่มีการปรับเปลี่ยนและเคลื่อนตัวไป (www.tja.or.th, 2006)
กระแสโลกอุตสาหกรรมการผลิต ที่ใช้สื่อในการส่งผ่านข้อมูลมหาศาล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่ไม่สิ้นสุด ประกอบกับจังหวะชีวิตที่เร็วขึ้นของมนุษย์ จากพัฒนาการด้านการสื่อสารคมนาคม ระบบทุนนิยมจึงต้องไล่ตามวงจรชีวิตมนุษย์ที่มีการรับรู้แบบจำกัดลงให้ทัน เพื่อส่งสารให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด การส่งสารผ่านตัวหนังสือในแบบเดิมจึงไม่เอื้อกับชีวิตมนุษย์ในรูปแบบใหม่ ภาษาภาพจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าจับตามองในการส่งสารถึงผู้รับในเวลาที่จำกัด
และจากข้อมูลที่นำเสนอไปแล้วเกี่ยวกับการที่ภาพเป็นองค์ประกอบหลักในการทำความเข้าใจของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อผ่านภาพ ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture) จึงเข้ามามีบทบาทและช่วงชิงพื้นที่ในการสื่อสารไปจากวัฒนธรรมตัวหนังสือ (Text Culture) ดังที่เคยเป็นมา และภาษาภาพซึ่งถูกนำมาใช้มากขึ้นนี้จำเป็นต้องมีการรื้อสร้าง ผ่านการอ่านและถอดระหัส ในการตีความเพื่อทำความเข้าใจสื่อ
จากการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา ได้มีการนำเสนอวิธีการอ่านและการตีความภาพแบบคร่าวๆ เอาไว้คือ การนำเอาศาสตร์ที่เรียกว่า Semiotics (สัญศาสตร์) มาใช้ในการทำความเข้าใจภาพ เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ ส่วน Visual literacy หมายถึง การอ่านภาพ หรือ Image reading ไม่ใช่แค่มองเห็นภาพ แต่ต้องอ่านให้ออกและถอดระหัสสารที่ส่งมากับภาพได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ประยุกต์มาจากนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสส์ ชื่อว่า แฟร์ดิน็อง เดอ โซซู (Ferdinand de Saussure ) ที่แบ่งการวิเคราะห์ด้านภาษาออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนแรกเรียกว่า Signifier ถ้าเป็นภาษาเท่ากับ Word
- อีกส่วนเรียกว่า Signified เท่ากับ Concept ของคำ
เช่น คำว่า "ค้อน"จะไม่มีความหมาย ถ้าไม่บวกเข้ากับ concept. "ค้อน"คำเดียวจะไม่มีความหมายจนกว่าจะรวมกับ Concept ของคำว่าค้อน
นักทฤษฎีด้าน
Visual Culture ได้ประยุกต์คำว่า Signifier มาใช้กับ Image คือ ภาพ, ส่วน Signified
เท่ากับ Meaning หรือ Concept ได้แก่ แนวคิด/มโนทัศน์ที่มีความหมายของภาพ กล่าวคือ
เมื่อเรามองเห็นภาพค้อนจะรู้ทันทีว่าค้อนใช้ทำหน้าที่อะไร นอกจากนี้ ภาพเดียวกันอาจมีความหมายซ้อนทับในเชิงมายาคติเข้าไปอีกชั้นหนึ่งก็ได้
ซึ่งทำให้การถอดความหมายและการตีความเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ภาพของค้อนในสมองกับความหมายของคำว่าค้อน จึงไม่ใช่ภาพของความเข้าใจที่ง่ายๆ
ธรรมดาอีกต่อไป
(ผู้สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจดูเพิ่มเติมได้จากงานเรื่อง "มายาคติ"
สรรนิพนธ์จาก Mythologies ของ Roland Barthes โดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ /
แปลจากภาษาฝรั่งเศส)
คลิกไปที่
กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ภาพเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดของโลกยุคหลังสมัยใหม่ แม้ว่าภาพอาจไม่ได้เข้ามาแทนที่ภาษา (คำพูดและตัวหนังสือ) ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มีความสำคัญที่สุดในโลกยุคสมัยใหม่ ความต่างของภาพในโลกยุคสมัยใหม่กับหลังสมัยใหม่อยู่ที่ว่า ในโลกยุคสมัยใหม่ ภาพถูกถือว่าเป็นตัวแทนของความจริง ในขณะที่โลกยุคหลังสมัยใหม่ถือว่าภาพก็เป็นเหมือนความเรียงหรือนวนิยาย คือมีความหมายที่ผู้สร้างใส่ลงไว้ โดยไม่เกี่ยวกับวัตถุที่ปรากฏในภาพแต่อย่างเดียว. ความหมายที่แฝงไว้ในภาพนั้นจะสื่อถึงผู้อื่นได้ ก็ต้องอาศัยกระแสของความคิด, ขนบธรรมเนียม, ค่านิยม, ความรู้ความเข้าใจ, ฯลฯ ที่มีอยู่ในสังคมเป็นฐาน ไม่ต่างจากกาพย์กลอนหรือวรรณกรรมก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการสื่อความหมายเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่ง การสื่อความหมายย่อมต้องอาศัยวัฒนธรรมเป็นฐานในการสื่อ