บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๒๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
05-09-2549

Midnight's theatre

ภาพยนตร์แนวอิตถีพิโรธ
หญิงร้าย: ในภาพยนตร์เฟมินิส ๕ เรื่องของฝรั่งเศส
จักริน วิภาสวัชรโยธิน : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการศึกษา สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(โครงการแปลตามอำเภอใจ)

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้แปล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ฝรั่งเศส ๕ เรื่อง ประกอบด้วย
- Les Voleurs ภาพยนตร์ปี ค.ศ.1996
- Regarde la Mer
ภาพยนตร์ปี ค.ศ.1997
- Dreamlife of Veronica ภาพยนตร์ปี ค.ศ.1998
-- Rosetta ภาพยนตร์ปี ค.ศ. 1999
- Baise Moi ภาพยนตร์ปี ค.ศ.2000

ซึ่งผู้หญิงมีบทบาทนำในการดำเนินเรื่อง
ที่สะท้อนถึงการออกนอกกรอบและจารีตของสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้วางบรรทัดฐานไว้
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1026
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)

 

หญิงร้าย: ในภาพยนตร์เฟมินิส ๕ เรื่องของฝรั่งเศส
อิตถีพิโรธ: แย้มกลีบโหด ๕ หนังดอกไม้เหล็ก
จักริน วิภาสวัชรโยธิน : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการศึกษา สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพโศกนาฏกรรมอันน่าตระหนกที่เกิดแก่อาคารเวิร์ลด์เทรด เซ็นเตอร์ ไม่เพียงสะกดสายตาทุกคู่ให้ตะลึงงัน แต่ ณ วินาทีที่เครื่องบินพุ่งถลาจมหายไปในตัวตึก หัวใจคนอเมริกันและคนทั้งโลกก็เหมือนถูกทิ่มแทงด้วยเข็มปริศนาร้อนฉ่าของต้นสายปลายเหตุความฉิบหาย ก่อนตามมาด้วยการระเบิดตัวเป็นลูกไฟขนาดมหึมา ปะทุสะเก็ดเปลวเพลิงความวิบัติออกมาจนแสบตาในกาลต่อมา

แต่เดิมคงมีเพียงมนตราฮอลลิวูดเท่านั้นที่จะเนรมิตภาพอันชวนขวัญหายเช่นนี้ได้ แต่สำหรับความวินาศสันตะโรของวันที่ 11 กันยายน 2001 ฮอลลิวูดไม่ได้มีเอี่ยวแต่ประการใด ด้วยเหตุดังนี้ เมื่อพิจารณาผลที่ทำให้อเมริกันชนและพลโลกเสรีนิยมงงเป็นไก่ตาแตก เพราะความล้มเหลวในการลำดับสืบสาวที่มาแห่งชนวนวิบัติได้อย่างชัดแจ้ง นับว่าผู้วาดแผนการได้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะต่อให้ทอดตาเพ่งหาต้นตอปัญหาจนทั่วปฐพีก็ไม่มีใครจินตนาการไปได้ไกลเกินกว่าทัศนภาพที่ฮอลลิวูดเคยกล่อมเกลา ผ่านบรรดาปมขัดแย้งและเทคนิคพิเศษอันลงตัวกับค่านิยม และยังความตระการตา

แต่พวยลูกไฟแดงฉานจากเบื้องสูงของตึกเวิร์ลด์เทรด ฯ ก็เจิดจ้าพอที่จะส่องให้เห็นร่องรอยอันนำไปสู่การมุ่งร้ายหมายขวัญครั้งนี้ สายตาหลายคู่อาจหันขวับไปยังตะวันออกกลาง ฐานที่ได้ชื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรง แต่หากฝ่าแหวกเงื่อนไขทางดินแดน ศาสนา และเชื้อชาติ จะพบว่าธาตุแท้ของความรุนแรงไม่ได้ผูกอยู่กับเงื่อนไขที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น แต่กลับตั้งอยู่บนอารมณ์พื้นฐานในตัวมนุษย์ คือ ความโกรธขึ้ง และความรู้สึกคับข้องอันเนื่องมาจากการสูญเสียที่มั่นทางกายและใจชนิดไม่อาจเรียกร้องกลับคืนมาได้อีกเลย

อารมณ์พื้นฐานอันมีฤทธิ์ชี้นำมนุษย์ให้ตกอยู่ในภาวะฉุนขาด บ้าเลือดและลงมือกระทำสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนดังกล่าว ยิ่งก่อตัวและลุกโชนได้ง่าย ด้วยผลจากกระแสโลกานุวัตรที่แผ่อานุภาพเข้ากุ้มรุมและบงการชีวิตผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในซอกหลืบใดของโลก ผลพลอยได้ของการเร่งกระบวนการคือ ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างในระดับสากล ซึ่งทำให้คนที่อยู่ในภาคส่วนที่เสียเปรียบอยู่เป็นทุนเดิม ยิ่งสูญเสียสัดส่วนแห่งโอกาสและทรัพยากรที่พึงมีพึงได้จนกระทั่งแทบจะเหลือแต่ตัว อับจนหนทาง และถูกรุกไล่จนจวนเจียนจะไร้ที่ยืนในสังคมเข้าไปทุกที และ ผู้หญิง ก็เป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพแห่งการตั้งรับต่อผลกระทบดังที่กล่าวมาแล้วอย่างจัง

ในรอบครึ่งทศวรรษก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 มีหนังฝรั่งเศส 5 เรื่องที่พร้อมใจกันทยอยสะท้อนภาพผู้หญิงในสภาวะขณะสูญเสียความมั่นคงในชีวิต และสถานภาพทางสังคมได้ชัดแจ้งและแรงในความรู้สึก หนัง 5 เรื่องประกอบด้วย

- Les Voleurs งานเมื่อ ค.ศ.1996 ของผู้กำกับอังเดร เตชีน(Andre Techine)
- Regarde la Mer หนังในค.ศ.1997 โดย ฟร็องซัวส์ โอช็อง(Francois Ozon)
- ติดตามด้วยงานในปีถัดมา(1998)ของเอริค ซองคา(Erich Zonca) คือ Dreamlife of Veronica
- Rosetta หนังปี 1999 โดยพี่น้องผู้กำกับตระกูลดาร์ดอน(ฌ็อง ปิแอร์ - Jean-Pierre Dardenne และ ลุก - Luc Dardenne)
- ปิดท้ายศตวรรษโดยงานสุดร้อนแห่งปี 2000 คือ Baise Moi โดยผู้กำกับหญิง วีร์ชินี่ เดสปองต์ (Virginie Despentes)

หนังทั้ง 5 เรื่องนอกจากจะมีผู้หญิงเป็นตัวละครเอกแล้ว พวกเธอทั้งหมดต่างมีจุดร่วมเชิงบุคลิกภาพที่สำคัญ คือ การเป็นหญิงไร้ราก ขวางโลก จนถึงขั้นเป็นตัวระรานระบบดั้งเดิม หนังเหล่านี้เลือกถ่ายทอดปฏิกิริยาในช่วงที่คลื่นอารมณ์ของเธอทั้งหลายทะยานสู่จุดอิ่มตัว และพร้อมหยิบฉวยความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาในทุกขณะจิต และผู้หญิงทั้งหมดต่างเลือกเดินบนเส้นทางอันตราย ที่นำพาทั้งความวิบัติและเจ็บปวดมาสู่ตนเองและผู้อื่นมากน้อยแตกต่างกันไป และความแตกต่างเชิงคุณภาพระหว่างแรงขับจากฤทธิ์แค้นของสาวพันธุ์เหี้ยม กับของผู้ก่อการร้ายใจทมิฬมีอยู่น้อยเต็มที เมื่อพิจารณาจากความวายป่วงอันเป็นผลจากการอาละวาดต่างกรรมต่างวาระของเธอทั้งหลายมาเทียบบัญญัติไตรยางค์กับเหตุวินาศกรรมที่สหรัฐอเมริกา

สิ่งที่พวกเธอต้องผจญในชีวิตหล่อหลอมให้กลายเป็นนางปีศาจมีอยู่ไม่กี่อย่าง อาทิเช่น ในแง่เศรษฐกิจพวกเธอตกงาน หรือไม่ก็ต้องจมปลักอยู่กับหน้าที่งานการอันซ้ำซากจำเจ ไม่มีรายได้แน่นอน กล่าวโดยย่อ คือ พวกเธอปราศจากความมั่นคงในการหาเลี้ยงชีวิต ในแง่ครอบครัวและภาวะผูกพัน เยื่อใยใด ๆ ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน กลับเป็นเหมือนนรกที่คอยหลอกหลอน บั่นทอนน้ำอดน้ำทน แทนที่จะเป็นแหล่งฟูมฟักให้พวกเธอมีพลานามัยทางอารมณ์ที่สมบูรณ์

เมื่อภูมิคุ้มกันทางอารมณ์บกพร่องและไม่อาจปลูกเพาะกลับคืน จึงเป็นการง่ายที่พวกเธอจะถูกครอบงำโดยความเชื่อที่บิดเบี้ยว และพร้อมจะสังเวยพลีตนเพื่อบรรลุความเชื่อนั้นโดยไม่ยี่หระต่อกฎเกณฑ์ทางสังคม ก็สังคมเคยเหลียวแลหรือแม้แต่ปรายตามายังชีวิตเธอเสียเมื่อไหร่กัน ชีวิตไม่มีวันคืนที่สวยงามรออยู่ข้างหน้าอีกแล้วสำหรับพวกเธอ ถึงแม้จะมี แต่สติก็เตลิดเปิดเปิงเกินกว่าจะทนรอให้ถึงวันนั้นได้ ดังนั้น จึงมีก็แต่วันนี้ที่ต้องแข็งขืนฝ่าฟันอุปสรรคและพาตัวเองให้รอด

ควรกล่าวด้วยว่า เบ้าหลอมแห่งสภาพไร้งานทำหรือต้องทำงานราวกับหุ่นยนต์ รวมไปถึงสภาพอันไม่พึงปรารถนาในครอบครัวและความพิกลพิการในสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อันเป็นผลข้างเคียงจากกระบวนการโลกานุวัตรเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสามัญในสายตาโลกานุวัตร ทั้งที่สภาพความตกต่ำเหล่านี้มีศักยภาพล้นเหลือที่จะผลิตบรรดาตัวแสบระดับหัวกะทิมาสร้างความปั่นป่วนแก่สังคม เหตุจากโลกานุวัตรเพิกเฉยที่จะบรรเทาหรือหาทางกำจัดเบ้าหลอมดังกล่าว โลกานุวัตรก็ควรทำใจที่จะอุทิศบางองคาพยพเพื่อบูชายัญเป็นครั้งคราว ให้แก่แรงระเบิดของผลผลิตจากอุทรที่จนแล้วจนรอดโลกานุวัตรยังบ่ายเบี่ยง ไม่กล้ายอมรับอย่างออกหน้าออกตาเสียที

ในตลาดหนังอเมริกันที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นโลกานุวัตรเอง แม้จะผลิตหนังที่เพียรจะยกฐานะตัวละครฟากฝ่ายหญิงจนถึงขั้นมีบทบาทครอบคลุมความเป็นไปของหนังทั้งเรื่อง แต่ยังมีข้อที่แตกต่างอย่างสำคัญจากหนังฝรั่งเศส 5 เรื่องที่กล่าวชื่อไปข้างต้นหลายประการ

ข้อแรก คือ ความหมายของชะตากรรมในบั้นปลายของตัวละครหญิง ในหนังอเมริกัน เช่น Erin Brockovich หรือ Norma Rae รวมไปถึง Thelma & Louise ทุกนางล้วนประสบความสำเร็จเพราะต่างก็เอาชนะอุปสรรคได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพการงาน หรือในการเรียกร้องต่อสู้ที่มีเงื่อนไขทางสังคมขวางกั้นอยู่ ในรายของคู่สาวห้าว เท็ลมา กับ หลุยส์ แม้จะแหกคอกก็ยังเป็นการแหกคอกอันน่ารื่นรมย์ ความตายที่มาเยือนเธอทั้งสองถูกลดทอนคุณค่าลงด้วยกรอบที่สังคมชายเป็นใหญ่เจาะทะลวงไว้ให้ สำหรับสตรีที่พยายามไปให้ถึงที่สุดแห่งบทบาท นั่นหมายความว่าที่สุดแล้วผู้หญิงทั้งคู่ไปได้ไม่ไกลเกินกว่าขอบเขตที่เพศชายตระเตรียมไว้ให้ กล่าวให้ถึงที่สุด วาระสุดท้ายแห่งการเป็นหญิงนอกคอกมาถึงเท็ลมาและหลุยส์ ก่อนที่ร่างของเธอทั้งสองจะร่วงละลิ่วลงสู่หุบผาเบื้องหน้าด้วยซ้ำไป

ภาพมรณกรรมของสองสาวจึงเป็นเพียงทางออกอันน่าประทับใจสำหรับหญิงร้ายที่เผลอไผลไปทำเลวเอาไว้ เมื่อพวกเธอสมัครใจที่จะตายอย่างสวยงาม ด้วยเหตุดังนั้น สังคมเองก็ไม่ต้องพะอืดพะอมกับการเฟ้นหาคำอธิบายแก่คำถามที่ว่า สังคมควรจะแสดงความรับผิดชอบในการปัดกวาด หรือชำระความให้แก่ทายาททรพีที่ถูกกล่อมเกลามาโดยสภาพเลวร้ายภายในสังคมเอง หรือไม่อย่างไร ภาพของคนมือเปื้อนเลือดที่เลือกขอตัดช่องน้อยเช่นนี้ ดูจะเป็นอุทาหรณ์บทยอดนิยมของสังคม เพราะเมื่อเจ้าตัวแสบด่วนพิพากษาตัวเองไปแล้ว สังคมและคนที่อิงอาศัยและได้ประโยชน์จากโครงสร้างและกระแสหลักของสังคม ก็ไม่ต้องเปลืองแรงมาไต่สวนซักฟอกหาความชอบธรรมและจริยธรรมอันใดอีก

เช่นเดียวกับภาพการหลั่งเลือดและล่มสลายของเหล่าคนดีเหยียบฟ้า ขาใหญ่ และ จอมอิทธิพลที่มักปรากฎในหนังทำนองเดียวกัน ทั้งหมดเป็นการสิ้นสุดบทบาทของคนไม่รักดีผ่านระบบบำบัดของเสียช่องทางพิเศษที่สังคมกรุยเปิดไว้ให้เป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นโฉ่หวนย้อนกลับเข้าสร้างความพะอืดพะอมทางศีลธรรมแก่บรรดาคนดีที่กอดอิงค่านิยมหลักของสังคมอยู่อย่างเหนียวแน่น ไม่มีใครต้องหลั่งน้ำตาอาลัยให้กับการจากไปของไม่รักดีพวกนี้ ในการเก็บรับบทเรียนก็มักอยู่ในอีหรอบที่ว่า เขาและเธอเหล่านี้เพียงแต่อยู่ในสังคมไม่ได้และเลือกที่จะปลดปล่อยตัวเองแลกกับการคืนกลับสู่ดุลยภาพของสังคม วีรกรรมคนเหล่านี้มี แค่ไว้ให้คนอื่น ๆ ดูเป็นอุทาหรณ์

จะเห็นได้ว่าแม้ใน Thelma & Louise ตัวละครหญิงจะไม่ได้จบบทบาทในฐานะผู้ชนะ ในทุกมิติดุจเดียวกับ Erin Brockovich และ Norma Rae แต่พวกเธอก็ยังแพ้ตามท่าบังคับ เป็นตัวละครหญิงคนนอกที่ขาดทุนยับเยิน ค่าที่สังคมได้กำไรจากเธอทั้งสองในรูปชีวิตที่พวกเธอยอมใช้หนี้ให้ (อย่างดูเหมือนจะเต็มอกเต็มใจและภาคภูมิ) ในฐานะผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะที่สังคมไม่ได้มาใส่ใจคำนวณหักต้นทุนความเลวร้ายที่หมักหมมอยู่ภายใน ซึ่งเป็นตัวผลักไสให้เธอทั้งสองออกนอกลู่นอกทาง เท่ากับว่า สังคมไม่ยอมให้เข้าเนื้อตัวเองแม้แต่แดงเดียวเพื่อเจียดชดเชยแก่เธอทั้งคู่ (ความคิดในส่วนหน้าที่เชิงประเพณีของบรรดาตัวละครประเภทคนดีเหยียบฟ้า ขาใหญ่และจอมอิทธิพลที่มีให้เห็นเจนตาในภาพยนตร์แนวองค์กรอาชญากรรมและนักเลงโต ที่ยกมากล่าวถึง อิงตามมุมมองอันแหลมคมของ โรเบิร์ต วอร์ชอว(Robert Warshow) จากข้อเขียนชื่อ The Gangster as tragic hero ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1948)

การประนีประนอมและลดทอนเพื่อกลืนเก็บความร้ายกาจของเพศแม่ ให้อยู่ในร่องในรอยดังที่ฮอลลิวูดกระทำ เป็นสิ่งที่ไม่มีให้เห็นในหนังฝรั่งเศสที่มีเพศหญิงเป็นแกนเดินเรื่องในยุคปัจจุบัน ที่จริงแม้เมื่อเปรียบกับบทบาทผู้หญิงฝรั่งเศสด้วยกันในหนังยุคก่อน ก็ยังนับว่าโฉมหน้าพวกเธอเปลี่ยนไปแทบไม่เหลือเค้าเดิม

กล่าวให้จำเพาะเจาะจง ระดับความระห่ำหัวชนฝาของนางตัวแสบรุ่นใหม่ของหนังฝรั่งเศส แม้เมื่อนำไปเทียบกับนางเอกประเภทหญิงชั่วในยุคก่อนที่เป็นฝรั่งเศสด้วยกันไม่ว่าจะเป็น จีน ซีเบิร์ก(Jean Seberg) ใน Breathless ของผู้กำกับโกดาร์(ฌ็อง ลุก - Jean Luc Godard) อิซาเบล โครี่ย์(Isabel Corey) ในหนังของเมลวิลล์(ฌ็อง ปิแอร์ - Jean Pierre Melville) เรื่อง Bob le Flambeur หรือแม้แต่ ฌานน์ มอโร(Jeanne Moreau) ใน Elevator to the Gallows ของหลุยส์ มาลล์(Louis Malle) สาวรุ่นหลังยังดูจะมีความเข้มข้นกว่าหลายช่วงตัว

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ยังมีกรอบโครงในส่วนของความรักและสำนึกต่อที่เกิดที่โตคอยห้อมล้อม และหน่วงรั้งหรือเจือจางภาพรวมความกระด้างกระเดื่องก้าวร้าวของบรรดาหญิงร้ายรุ่นเก่าเอาไว้ ครั้นพอล่วงเข้าทศวรรษท้ายของศตวรรษที่ 20 สำนึกและความรู้สึกดังกล่าวหลงเหลืออิทธิพลต่อชีวิตสาว ๆ อยู่น้อยเต็มที จนถึงขั้นเหือดหายไปจากหนังโดยสิ้นเชิงก็มี เพียงสองชั่วรุ่นนางเอกเท่านั้น ภาพลักษณ์และพฤติกรรมของสตรีที่ปรากฎในหนังฝรั่งเศส กลับทวีความร้ายกาจและซับซ้อนจนน่าขวัญหาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง หนังเหล่านี้ก็ทำหน้าที่สะท้อนและปอกเปลือกสถานะของผู้หญิงในสังคมให้เห็นชนิดตบหัวแล้วไม่ต้องตามลูบหลังกันอีกต่อไป

องค์ประกอบหนึ่งในสังคมที่จะต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ กว่าใครในหนังฝรั่งเศสยุคนี้คงหนีไม่พ้น เพศชาย เพราะในหนังทั้ง 5 เรื่องดังกล่าวไม่มีตัวละครหญิงคนใด ที่จะให้ค่าหรือคาดหวังต่อผู้ชายในฐานะเพศผู้ปกป้อง และบันดาลความสุขสบายแก่ชีวิต แม้แต่นางเอกของ Regarde La Mer ซึ่งตามเนื้อเรื่องเจริญวัยถึงขั้นเป็นแม่คนแล้วก็ตาม

สภาพสังคมในหนังทั้ง 5 เรื่องล้วนอยู่ในสภาวะการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงนั้นส่งผลเขย่าคลอนความมั่นคงในชีวิตลูกผู้หญิงอย่างแรง ความไม่มั่นคงในชีวิตที่รุกเร้าพวกเธอจึงเป็นเหมือนประกายไฟที่กระเด็นมาต้องเชื้อเพลิงแห่งความเกรี้ยวกราดและสับสน ที่สะสมเก็บกักอยู่ในตัวพวกเธอ ส่งผลเป็นระเบิดไฟเผาผลาญตัวเองและสิ่งที่อยู่รายรอบ และยากแก่การกำราบ

สภาพฉากหลังดังกล่าวในหนัง 5 เรื่องผิดกับสภาพพื้นฐานของสังคมในหนังหญิงร้ายที่ออกฉายในช่วงสามทศวรรษที่แล้ว ตรงที่ไม่ได้มีการกรุมุงหนังด้วยปัจจัยแวดล้อม ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อชีวิตตัวละครหญิงยุคนั้นมากมายดังหนังยุคนี้ เหตุดังนี้พฤติกรรมและการคลี่คลายสู่บทสรุปที่มีให้ จึงพอจะกล้อมแกล้มเข้าทำนองว่า พวกเธอเป็นพจมานที่เผลอพาตัวเองถลำออกไปนอกกรอบศีลธรรม ทว่าป้า ๆ เหล่านั้นที่สุดแล้วก็ยังประคองตัวให้อยู่ในบทบาทแห่งการเป็นผู้หญิงแห่งบ้านทรายทองอย่างไม่บกพร่องมากมาย จนกระทั่งสมควรถูกสาปส่ง

หน้าที่ต่อโครงสร้างหนัง ของตัวละครหญิงร้ายในคราบพจมาน ผู้เผลอไผลขบถต่อสถาบันดั้งเดิมปรากฎให้เห็นชัดเจนผ่านบทบาทและการคลี่คลายสู่บทสรุปของตัวละครรุ่นป้าอย่าง ฌานน์ มอโร ใน Mademoiselle ของผู้กำกับ ริชาร์ดสัน(โทนี - Tony Richardson) หรือ แคเธอรีน เดอเนอฟ(Catherine Deneuve) ใน Belle de Jour ของผู้กำกับบุนเยล(หลุยส์ - Luis Bunuel) การปะทะสังสันทน์ระหว่างตัวตน บทบาท และ สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ค่อนข้างอะลุ้มอะล่วยต่อกันดังกล่าว ไม่มีเหลือให้เห็นแม้แต่ร่องรอย เมื่อมาถึงยุคสาวแสบรุ่นหลาน

ขนบทั้งหลายแหล่ที่ผูกติดอยู่กับความเป็นเพศแม่ ถูกสาวแสบในหนังรุ่นใหม่สลัดทิ้งอย่างไม่ใยดี หนำซ้ำเธอบางคนยังใช้ประโยชน์จากความเป็นหญิงไปในทางไม่สมควร(ในสายตาของสังคม) ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์เพื่อล้างแค้น หรือ บ่อนทำลายอะไรก็ตามซึ่งไม่เป็นที่สบอารมณ์ แม้แต่พรหมจรรย์ของอาณาจักรการใช้ความรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟันที่เคยสงวนไว้เฉพาะเพศชาย ก็ถูกพวกเธอล่วงล้ำเข้ายัดเยียดความเป็นหญิงให้ และบดขยี้เสียจนยับเยิน นับเป็นการเปลี่ยนบทบาทชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินที่ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วรุ่นนางเอกของวงการหนังฝรั่งเศส

นอกจากนี้การที่หนังทั้ง 5 เรื่อง ให้รายละเอียดสภาพการเปลี่ยนผันทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลในทางคุกคามความมั่นคงในชีวิตตัวละครแต่เพียงผ่าน ๆ แทนที่จะระดมมรสุมเงื่อนไขเข้ามาบีบรัดตัวละครซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อความรันทดไร้ทางถอย ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สิ่งที่พวกเธอกระทำดูแรงเกินหน้าเกินตาหญิงชั่วรุ่นที่แล้วมา

ในราย Rosetta ของสองพี่น้องผู้กำกับ ฌ็อง ปิแอร์ และ ลุค ดาร์ดอน ใช้สภาพความทุกข์ทนในยามฝรั่งเสศสู่สงครามเป็นฉากหลัง ร่วมด้วยภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด และความพลัดพรากของผู้คนซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องสามัญ เช่นเดียวกัน หนังอีก 4 เรื่องแม้จะไม่ได้อาศัยสภาวะสงครามเป็นฉากหลัง แต่ตัวละครหญิงก็ล้วนอยู่ในสภาพที่อับจนสิ้นไร้หนทาง และชีวิตขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานบางอย่าง ทำให้ต้องกระโจนเข้ายื้อแย่งทรัพยากรไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งอย่างดุเดือด

สถานที่และฉากหลังของ Les Voleurs ไม่ได้ผิดแปลกไปจากหนังทั่วไป และหนังก็ไม่ได้เน้นไปที่ภาวะขัดสนหรือความลงตัวทางกายภาพ เพราะทรัพยากรอันเป็นชนวนสงครามส่วนตัวระหว่างตัวละครเอกเพศหญิง 2 คนก็คือ ความรัก ซึ่งเหนี่ยวนำให้ให้เธอทั้งสองต้องเดินหมากเข้าเสียดสี และฉากชิ่งกันตามแนวทางของงานพิศวาสอาฆาต ตัวละครแกนหลักของ Les Voleurs ประกอบด้วย จูเลียตต์(รับบทโดย โลร็องต์ คอเตอร์ - Laurence Cote) อเล็กซ์( ดาเนี่ยล โอเทลล์ - Daniel Auteuil) มารี(แคเธอรีน เดอเนอฟ - Catherine Deneuve) จูเลียตต์ เป็นนางเสือสาวที่ถลำตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการอาชญากรรมครั้งใหญ่ และ อเล็กซ์คือมือปราบที่ทางการส่งมาคอยประกบเพื่อเด็ดเขี้ยวเล็บนางเสือสาว อเล็กซ์มีฝีมือเหนือชั้นกว่าภารกิจที่ได้รับมอบเสียอีก เพราะเขายังร่ำ ๆ จะคว้ากุมหัวใจเธอไว้ได้อีกด้วย แต่แล้วอเล็กซ์ก็มีศัตรูหัวใจเข้าจนได้ คือ มารี มารีเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่จูเลียตต์เรียน และ คบหาอยู่กับเธอฉันท์รักร่วมเพศ

การพบกันโดยบังเอิญของอเล็กซ์กับมารี เป็นเหมือนการเผชิญหน้าระหว่างคู่สงครามในศึกชิงนางซึ่งก็คือ ตัวจูเลียตต์ ยิ่งรักจูเลียตต์มากเท่าไหร่ทั้งคู่ก็ยิ่งตั้งป้อมเข้ายื้อแย่งเธอ นับเนื่องแต่นั้นมา คราใดก็ตามที่อเล็กซ์และมารีอยู่ร่วมฉากกัน คนดูจะได้สัมผัสรังสีอำมหิตที่ชายหญิงคู่นี้กระหน่ำเข้าเชือดเฉือนกัน ความแตกต่างทางเพศไม่ได้มีผลได้เสียต่อการเดินเกมของมารีแม้แต่น้อย ทั้งคู่เหมือนสัตว์โทนที่พร้อมจะตรงเข้าขย้ำอีกตัวที่เป็นคู่แข่ง นิ่งลึก เต็มไปด้วยไหวพริบ และต่างก็สามารถเก็บอาการได้หมดจด จนยากที่อีกฝ่ายจะหาช่องว่างเข้าเล่นงาน ท่วงทีการเคลื่อนไหวแต่ละจังหวะของตัวละครคู่นี้เป็นไปอย่างรู้เท่าทัน โอเทลที่รับบท อเล็กซ์และ เดอเนอฟกับการเล่นเป็นมารีต่างประชันบทบาทกันอย่างถึงพริกถึงขิง ในทำนองไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่ และทำให้บุคลิกตัวละครทั้งสองเปี่ยมล้นด้วยสัญชาติญาณระแวงภัยและคุมเชิงกันอยู่ทุกขณะจิต

โลร็องต์ คอเตอร์ สวมบทจูเลียตต์ ได้จัดจ้านมากกับพฤติกรรมเหยียบเรือสองแคม ซึ่งประเดี๋ยวก็ไปเข้ากับฝ่ายอเล็กซ์ ไม่ทันไรก็โผมาเออออห่อหมกกับมารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์กดดันเข้าทุกขณะ เป็นผลให้การปรากฏตัวของเธอแต่ละครั้ง ยิ่งเพิ่มความล่อแหลมแก่สงครามรักจนยากจะคาดเดาผลลงเอย กล่าวอีกนัยหนึ่งพฤติกรรมแสนป่วนชวนลุ่มหลงของเธอ เปรียบดั่งหินลับมีดที่คอยขัดลับเพิ่มความคมแก่ดาบที่มืออเล็กซ์และมารีจะให้ฟาดฟันกันและกัน

ควรกล่าวด้วยว่า การกำกับศิลป์ของ Les Voleurs มีความโดดเด่นยิ่งในการสร้างบรรยากาศอันไม่เป็นมิตรแก่ลูกผู้หญิงตามสถานที่ หรือ สถาบันที่เพศชายเป็นผู้วางรากฐาน แม้แต่บ้านพักตากอากาศซึ่งภายนอกดูอบอุ่นสบาย แต่เมื่อกล้องพาเขาไปสัมผัสเข้าจริง กลับวังเวงและชวนขนลุกขนชัน หนังเหมือนจะตระเตรียมบรรยากาศและโครงสร้างของสถาบันที่ผู้ชายให้กำเนิดและชี้นำบทบาทไว้เสียดิบดีเพื่อรอรับพายุป่วนของจูเลียตต์ ในฐานะตัวแทนของเพศหญิง ทุก ๆ ที่ที่เธอคนนี้เข้าไปข้องแวะ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถานีตำรวจ แม้แต่กลุ่มอาชญากรรม มักไม่แคล้วโดนพายุป่วนจนเกราะแห่งความแข็งแกร่ง มีวินัย มีอันต้องปลิวกระเจิง จนไม่เหลือสภาพที่จะปิดป้องจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ภายใต้สถาบันความเป็นชาย

ทั้งที่ปฏิบัติการรังควานดังกล่าวไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางหลักของหนัง แต่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยตามรายทางชีวตที่จูเลียตต์เฉียดกรายไปใกล้ และหนังก็ไม่ได้ให้บทสรุปอันเป็นท่อตรงของความกระเจิงที่เกิดขึ้น การที่จูเลียตต์ปลดปล่อยความร้ายออกมาโดยปราศจากจุดมุ่งหมาย ยิ่งทำให้กลายเป็นพฤติกรรมสามัญที่น่าครั่นคร้ามโดยธรรมชาติ หากหนังย้ำเน้นหรือติดอาวุธพฤติกรรมจูเลียตต์เสียให้เป็นเรื่องเป็นราว เธอคงน่าพรั่นพรึงกว่านี้หลายเท่า

หากบทบาทของผู้หญิงใน Les Voleurs ยังไม่หนักแน่นพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ความเกรี้ยวกราดในความเป็นหญิงจะก่อให้เกิดความครั่นคร้ามแก่ผู้คนและสังคมได้ คงต้องมองไปที่พฤติกรรมโคตรดุของสองสาวแห่ง Baise Moi เพื่อเป็นตะปูอีกตัวที่จะย้ำฝาโลงแห่งการดูเบาแรงพิโรธของผู้หญิง

หากความนองเลือดและฉิบหายที่มีให้เห็นเกินพิกัดจะไม่ตะเพิดให้คนดูเผ่นแน่บไปเสียก่อน หากไม่นับว่านี่คืองานที่ดำเนินตามรอยปฏิบัติการทวงแค้นเปลื้องแค้นของคนที่เลือดและน้ำตาเกราะนองเบ้าตา ดุจเดียวกับ ตัวละครแกนหลัก(แต่เป็น)เพศชายใน Bad Lieutenant ของผู้กำกับ อเบล แฟร์เรร่า(Abel Ferrara) เมื่อปอกเปลือกที่อาจนับเป็นข้อด้อยรอยตำหนิที่เกริ่นมาออกไป จึงจะได้สัมผัสเนื้อแท้เรื่องราวว่าด้วยความพยายามของสองลูกผู้หญิงในการต่อลมหายใจแก่ชีวิต ที่เต็มตื้นด้วยความขมขื่นเพื่อสามารถดั้นด้นไปบนเส้นทางที่พวกเธอเห็นเป็นความรื่นรมย์ และความรื่นรมย์แบบวันต่อวันที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเธอ ก็คือ การท้าทายระบบในทุกวิถีและระนาบเท่าที่พวกเธอเจอะเจอ และหาช่องทางเข้าเล่นงานได้

ไม่มีการครุ่นคำนึงถึงหัวอกคนอื่น ไม่เปิดโอกาสให้เวลาทำหน้าที่สมานแผลใจ ในทางตรงกันข้ามพวกเธอกลับร่นระยะเวลาในชีวิตให้งวดเข้า ๆ จนกลายเป็นช่วงชีวิตที่แสนสั้นแต่ข้นคลั่ก และเป็นวิถีแห่งการดำรงตนที่เด็ดเดี่ยวและกักขฬะ กระทั่งบรรลุสู่สภาพแห่งการผจญภัยชนิดไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

ผู้กำกับวีร์ชีนี เดสป็องต์ จุดชนวนความเจ็บแค้นและแปลกแยกแก่ตัวละครหญิงจากเหตุการณ์ที่มานู(Manu เล่นโดย ราเฟลล่า แอนเดอสัน - Rafaella Anderson) หนึ่งในสองตัวละครเอก ถูกข่มขืน 2 ครั้งซ้อนในเวลาที่ห่างกันไม่กี่อึดใจ มานูซมซานไปหา นาดีน(Nadine แสดงโดย แคเร็น ลังโกม-Karen Lancaume)เพื่อนรักเพื่อนเกลอซึ่งเพิ่งได้ลิ้มรสการเป็นฆาตกร อันเป็นผลจากการแตกหักกับพ่อเจ้าประคุณตัวดี เชื้อความคับแค้นโคจรมากับไฟโมหะที่เพิ่งลุกโชนหยก ๆ ประกอบกับที่แต่ละวันของชีวิตที่ผ่านมาของพวกเธอ ก็มีแต่เรื่องอิดหนาระอาใจจนเสียแบกต่อไม่ไหวแล้ว

ในคืนที่ร้ายแรงนั่นเองที่สองสาวปลงใจหันหลังให้กับทุกสิ่ง และมุ่งหน้าออกเดินทางในฐานะยมทูตพเนจร จากหนึ่งศพสู่หลายศพ ผลลัพธ์ความอาฆาตของนาดีนและมานู ไม่ได้ปรากฏแต่เฉพาะในแง่จำนวนชีวิตที่ดาหน้าเข้ามาสังเวยความโหด แต่พฤติกรรมของทั้งคู่ยังถูกถ่ายทอดสู่พื้นที่สาธารณะโดยสื่อมวลชน กลายเป็นการเสริมสร้างแรงเหวี่ยงให้แก่พฤติกรรมและภาพพจน์ของสองพยัคฆ์สาว จนกระทั่งหลุดกรอบและกลายเป็นคนอื่นของสังคมชนิดกู่ไม่กลับ จากจุดเริ่มต้นที่พวกเธอเพียงออกเร่เลหลังที่นาผืนน้อยแลกกับเงินเพื่อประทังชีวิต สลับกับการเชือดคนเล่นเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นน้ำจิ้มแก่ชีวิต

ชั่วเพียงไม่นาน กามคุณและฆาตกรรมได้พัฒนาตัวเองจากกิจกรรมเพื่อตอบสนองแรงกดดันทางเศรษฐกิจและภารกิจทางประวัติศาสตร์สู่การเป็นพิธีกรรมและวิถีชีวิต Baise Moi ไต่ระดับขึ้นสู่เพดานแห่งความถ่อยดิบเมื่อการเสพสังวาสและการลวงล่อผู้คน กดลงเป็นทาสบำเรออารมณ์ ก่อนจะจบลงด้วยการสังหารอย่างทารุณแปรสภาพเป็นกิจวัตรประจำวันของนาดีนและมานู ในสายตา Baise Moi เพศรสจึงเป็นทั้งที่สุดแห่งการเร้าอารมณ์ให้แก่ชีวิต อีกด้านหนึ่งก็เป็นทรัพยากรที่ผู้ครอบครองอุปทานสามารถบงการความเป็นไปทั้งมวลในตลาด

พิจารณาในส่วนการเล่าเรื่อง Baise Moi โดยสังเขปก็คือ การนำฉากทวงแค้นที่แต่ละฉากมีการเริ่มต้นและคลี่คลายในกระบวนท่าซึ่งไม่แตกต่างกันนัก หลาย ๆ ฉากมาเรียงต่อ ๆ กัน วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ร่ำไป จวบจนถึงตอนสุดท้ายซึ่งมีข้อแตกต่างจากฉากเหตุการณ์อื่น ๆ อยู่ตรงเพียงความสลดหดหู่ขณะที่นาดีนบรรจงจุมพิตร่างไร้ลมหายใจของมานู

อย่างไรก็ตามหากกรองร่อนบรรดาภาพความเถื่อนทมิฬและบ้าระห่ำออกไปจากตัวหนังให้หมด สิ่งที่เป็นตะกอนละเอียดหลงเหลืออยู่ใต้กองกรวดชะโลมเลือดของ Baise Moi หนีไม่พ้นปฏิกิริยาของลูกผู้หญิงต่อสังคมต่ำทราม ผิดกันแต่เพียงความอ่อนไหวของพวกเธอในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปในท่วงทีดังที่พบเห็นมาในหนังเรื่องก่อน ๆ แถมยังสร้างความตระหนกมากกว่าหลายต่อหลายเท่า

นอกจากความโผงผาง กำแหงลำพองแล้ว ความขึ้งแค้นของลูกผู้หญิงยังมาในรูปแบบลึกซึ้งสุดหยั่งคาด จากหนังทั้ง 5 เรื่อง ซาช่า(Sasha รับบทโดยซาช่า เฮลส์-Sasha Hails) แห่ง Regarde la Mer เป็นตัวละครหญิงหนึ่งเดียวที่เจริญวุฒิภาวะถึงขั้นเป็นแม่คนแล้ว หนังกล่าวถึงแม่ลูกคู่หนึ่งที่เดินทางมาพักผ่อนกันตามลำพัง ในกระท่อมชายทะเลห่างไกลผู้คนแห่งหนึ่ง แค่เพียงเริ่มต้นหนังซึ่งบันทึกภาพในลักษณะเดียวกับหนังสารคดี ก็สร้างความกระวนกระวายใจแก่คนดูแทบบ้าด้วยภาพพฤติกรรมทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ลูกในวัยทารกให้แผดเสียงร้องแทบขาดใจ ขณะที่ชาซ่าผู้เป็นแม่เอาแต่เอนกายทอดหุ่ยอยู่ในอ่างอาบน้ำ จนกระทั่งสุดทนกับเสียงตะเบ็งร้อง ไม่ใช่เพราะความสงสารลูกเธอถึงดึงลูกมาปลอบอย่างขอไปที

แต่อีกเพียงชั่วประเดี๋ยว เธอก็ปล่อยให้ลูกน้อยให้เกลือกทรายอยูบนชายหาดตามยถากรรม ส่วนตัวเองก็เที่ยวเดินย่ำหายเข้าไปในป่า เห็นได้ชัดว่าซาช่าคงเบื่อชีวิตแม่ลูกอ่อนเสียเต็มประดา และเธอก็ทำหน้าที่แม่ได้อย่างหาดีแทบไม่ได้

แล้วอีกหนึ่งชีวิตก็ก้าวเข้ามามีบทบาทในชายหาดแห่งนั้น ทาเทียน่า(Tatiana รับบทโดย มาริน่า เดอ วอง-Marina de Van) สาวนักเดินทางขออนุญาตเข้ามากางเต้นท์พักแรมในบริเวณลานกระท่อม ซาช่าไม่ขัดข้อง โดยไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า การมาถึงของสาวนักเดินทางจะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการรังควานชีวิตของของเธอให้ยิ่งเปิดเปิงขึ้นไปอีก

ทาเทียน่าไม่เสียเวลาแม้แต่น้อยที่จะตอกลิ่มลงไปในซอกรอยปริความรู้สึกของซาช่า ดังที่หนังได้ตีแผ่สภาพอับเฉาของการเป็นแม่ไว้แต่แรก ทำให้คนดูพอจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ในใจเธอน่าจะเป็นด้านที่กลับกันของชีวิต นั่นคือ การได้โผบินไปในโลกกว้าง สลัดแอกแห่งพันธะและภาระทั้งหลายแหล่ไว้เบื้องหลังอย่างไม่ใยดี และบัดนี้ภาพจำลองที่มีเนื้อหนังจับต้องได้ได้มาปรากฏอยู่เบื้องหน้า

เฮลส์ ถ่ายทอดภาพความแม่ลูกอ่อนที่จิตใจใกล้จะเตลิดได้อย่างมีชีวิตชีวา ส่วนเดอ วอง ก็ทำหน้าที่ได้ไม่แพ้กัน เดอ วอง เจ้าของใบหน้ารูปไข่ ยาวรี อันเป็นโครงหน้าที่เคยเป็นพิมพ์นิยมของเหล่าจิตรกรเฟลมมิชในช่วงศตวรรษที่ 17 ทว่าอิทธิพลของใบหน้าในการสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินค่อย ๆ คลายลงเมื่อเข้าสู่ยุคหลัง ๆ มานี้ ครั้งสุดท้ายที่สัณฐานโครงหน้านี้แผลงฤทธิ์สะกดสายตาคนดูในโลกภาพยนตร์ก็เมื่อครั้ง อัลเฟรด ฮิทช์ค๊อกเลือกใช้บริการใบหน้าของ จูดิธ แอนเดอร์สัน(Judith Anderson)มารับบทมิสซิสแดนเวอร์ หนึ่งในตัวละครของ Rebecca ด้วยเค้าหน้ายาวรีที่ไม่เคยฉายแววความรู้สึกใด ๆ ผ่านการเปลี่ยนแปลงกล้ามเนื้อบนใบหน้า

คุณลักษณ์ข้อนี้หนุนส่งให้ทาเทียน่าดูลึกลับ ไม่ยินดียินร้ายและออกจะเหยียดหยันในทุกสิ่ง แต่เมื่อเนื้อในบางส่วนของเธอผงาดออกมา ก็ทำเอาอกสั่นขวัญแขวนกันไปตามกัน ดังในฉากที่เธอสำเร็จความใคร่ในอ่างอาบน้ำ ยามที่ห้วงอารมณ์ซึ่งถูกเก็บกักไว้ถูกปลดเปลื้องออกมานั่นเอง กล้องก็จับภาพอยู่ที่ใบหน้าทาเทียน่า ใบหน้านั้นเหมือนมีฝูงปีศาจผุดพรายยุ่บยั่บอยู่ทุกซอก ทุกร่องของมัดกล้ามเนื้อบนใบหน้า ดูไปไม่ต่างกับผู้ชายในยามที่แรงปรารถนาทะยานใกล้จุดแตกดับ

เมื่อเธอก้าวเข้ามาใช้ชีวิตร่วมชายคากับซาช่าที่กำลังเบื่อหน่ายและสับสน ความสัมพันธ์ในแบบผู้ล่าและเหยื่อก็ก่อตัวขึ้นทีละเล็กละน้อย ฝ่ายแรกนั้นสุขุมรอบคอบ ฝ่ายหลังอ่อนล้าและว้าวุ่น ทาเทียน่าใช้ความประพฤตินอกลู่นอกทาง ซึ่งล้วนแล้วแต่แสวงหาความสุขใส่ตัวเป็นที่ตั้ง และเป็นสิ่งที่ซาช่าอยากลิ้มลองแต่ก็กล้า ๆ กลัว ๆ มาโดยตลอด เป็นอาวุธในการไล่ต้อนความรู้สึกของแม่ลูกอ่อน นับเป็นเกมไล่บดขยี้ที่เต็มไปด้วยการยั่วยุและความหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม สงครามส่วนตัวจากการเชือดเฉือนกันระหว่างลูกผู้หญิงกับลูกผู้หญิง อาจดูไม่โลดโผน แต่หากวัดในแง่เจตนาที่มุ่งทำลายล้างอีกฝ่ายถึงระดับพื้นฐานอารมณ์ และบ่อนทำลายสำนึกแห่งตัวตนให้แหลกราญกันไปข้าง ต้องถือว่า Regarde la Mer มีความรุนแรงคมเข้มกว่า Baise Moi หลายเท่าตัว

สามีของซาช่าซึ่งถูกกล่าวถึงเพียงผ่าน ๆ ในหนังช่วงแรก มาโผล่อีกอีกครั้งในตอนท้ายหลังจากสงครามระหว่างภรรยากับหญิงแปลกหน้าสงบราบคาบลงแล้ว เป็นการปรากฏตัวในทำนองเดียวกับการมาถึงของตำรวจหลังจากพระเอกกำราบผู้รายได้สำเร็จอันเป็นท่าบังคับในหนังทั่ว ๆ ไป แต่โดยเหตุที่ Regarde คือ เวทีวัดใจระหว่างหญิงต่อหญิง การมาถึงช้าจึงทำให้พระเอก(ตำแหน่งซึ่งได้มาในฐานะที่เป็นสามีของนางเอกเท่านั้น) มีค่าเพียงไอ้ตัวงุ่มง่ามที่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง นัยยะนี้ถูกยื้อต่อไปกระทั่งหนังจบลงด้วยการที่ จนแล้วจนรอดคนดูก็ไม่ได้รู้แม้กระทั่งชื่อเสียงเรียงนามของเขา

ในเบื้องต้น เอมิลี ดูเควน(Emilie Duquenne)ผู้รับบทเป็นตัวละครซึ่งมีชื่อเดียวกับชื่อหนังคือ Rosetta ดูเปี่ยมไปด้วยภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกบีบรัดด้วยพันธกิจ ในฐานะกลไกหนึ่งเดียวของครอบครัวที่ยังคงถูลู่ถูกังทำหน้าที่ต่อไปได้ ภาระที่กดหัวเธอไว้ชนิดแทบไม่มีโอกาสเงยหน้าขึ้นมองเห็นเดือนเห็นตะวัน ยิ่งกลายเป็นแอกที่หนักหนาสาหัสเข้าไปอีกเมื่อประกอบเข้ากับสภาพครอบครัวที่หาสายใยความผูกพันยากเต็มที มิใยต้องกล่าวอีกด้วยว่าเงื่อนไขการเป็นครอบครัวที่โรเซ็ตต้าเป็นเสาหลักโดยพฤตินัยอยู่ ก็คลายตัวจนจับต้องไม่ได้อีกแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่หนังแทนความหมายของคำว่าบ้านด้วยการลดคุณค่าให้เหลือเพียงในรูปบ้านรถพ่วง เธอมีแม่ขี้เมาที่ต้องคอยดูแลอย่างเสียไม่ได้

โรเซ็ตต้ากลายเป็นคนตกงานตั้งแต่ฉากแรกของหนัง หลังการต่อสู้หัวชนฝาเพื่อปกป้องตำแหน่งงานไม่เป็นผล เธอได้แต่หัวฟัดหัวเหวี่ยงเก็บสัมภาระออกไปจากสำนักงาน เธอไม่ยอมให้มีทรัพย์สินส่วนตัวหลงเหลืออยู่ที่นั่นแม้แต่แม่กุญแจ จึงสู้อุตส่าห์ใช้ปากงับเอาไว้ขณะที่สองมือสองแขนพะรุงพะรังไปด้วยข้าวของ ใครที่ไม่เชื่อว่าคนเราเวลาดวงตกอะไรต่อมิอะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด ถ้าได้มาเห็นบทบาทของดูเควนน์ในฉากดังกล่าวจะต้องเปลี่ยนความคิด

กรณีโรเซ็ตต้าอาการเดือดดาลควันออกหูไม่เพียงสะท้อนถึงความผิดหวังอย่างรุนแรง แต่ยังเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติเพื่อปิดบังความรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเธอคือหญิงเหล็กที่ไม่อาจมีรอยรั่วความอ่อนแอปรากฏแก่สายตาตนเองและคนอื่น ๆ แม้ว่าตลอดเวลาเธอจะพร่ำโทษตัวเองอยู่ในใจมากพอ ๆ กับฉุนกึกจนหัวใจแทบทะลักออกมาทางปาก ภาพการนำเสนอถึงสถานที่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรเซ็ตต้าแทบทั้งหมด มักออกมาในบรรยากาศแห้งแล้งมนุษยธรรม ราวกับว่าโลกนี้ไม่มีที่สำหรับเธอ แม้แต่น้ำก็ยังเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากยิ่ง จากภาพแกลลอนพลาสติกเก่าคร่ำที่โรเซ็ตต้าใช้เป็นภาชนะเก็บกักสำหรับคนบ้านเธอได้ใช้ ซึ่งดูไปก็คล้ายสภาพอัตคัตที่มักพบเห็นตามค่ายผู้อพยพ

ด้วยบุคลิกที่ดูเป็นคนมีลับลมคมใน น่าเคลือบแคลง และมักมีพฤติกรรมในลักษณะลักลอบ ทำให้คนดูอดเฉลียวใจไม่ได้ว่าโรเซ็ตต้ากำลังซุ่มเตรียมการบางอย่างอยู่ เมื่อนำมาปะติดปะต่อเข้ากับการดำรงอยู่ของเธอซึ่งคล้ายจะเป็นเพียงสภาวะชั่วคราวหรือทางผ่าน คนดูจึงยิ่งปริวิตกไปในทำนองไม้แคล้ว โรเซ็ตตาเสือซุ่มย่อมรู้แก่ใจดีว่า ไม่คราใดก็คราหนึ่ง เมื่อศรัทธาในใจแห้งเหือดถึงที่สุด หรือมีคลื่นสัญญาณมากระตุ้นเธอ ทุกอย่างที่เป็นอยู่อาจถึงคราวพินาศลง ดังนั้นจึงต้องเตรียมการลับไว้รองรับวาระสุดท้ายนั้น

ปฏิกิริยาเร้นลับของอิสตรีต่อความคาดหวังที่บิดเบี้ยวไปยังเป็นพลังหลักของหนังเรื่องสุดท้าย คือ Dreamlife of Angels ด้วยเช่นกัน Dreamlife เป็นเรื่องราวสองสาว คือ อิซา(Isa รับบทโดย เยลอดี บูเชส-Elodie Bouchez) และ มารี(Marie แสดงโดย นาตาชา เรนิเยร์-Natacha Regnier) ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มต้นจากมิตรภาพอันอบอุ่นก่อนจะเสื่อมทรามกลายเป็นความระแวงและชิงชัง อิซ่าและมารี อาศัยอยู่ร่วมกันในห้องเช่า เธอทั้งสองเป็นผู้เช่าที่เจ้าของจ้องจะอับเปหิไปเสียจากตึกเร็วที่สุดได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

สองสาวแม้จะสนองต่อแรงกดดันดังกล่าวไปสุดโต่งคนละทาง แต่ทั้งคู่ก็ยังคงตากหน้าอยู่ต่อ เทียบกับอิซาแล้วมารีเปราะบางกว่า เธอจองหอง มองชีวิตเป็นเรื่องน่าเย้ยหยัน และมองปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเพียงระดับตื้น ๆ การแสดงของเรนิเยร์ทำให้บุคลิกมารีดูเป็นคนยอมจำนนต่อปัญหา มักง่ายและใช้โอกาสอย่างสิ้นเปลือง ดูได้จากกระทั่งเวลาเธอยิ้มก็ยังเป็นการแสยะหยันเสียมากกว่า และการที่เธอแสดงความไม่ยี่หระครั้งสัมพันธ์รักกับหนุ่มไฮโซสะบั้นลง รักที่ล้มเหลวไม่ได้ทำเธอหลาบจำ แต่กลับยิ่งถีบส่งให้เธอด่วนหันไปซบอกหนุ่มที่พบในงานปาร์ตี้ เพราะยังยึดติดกับความหวังที่จะมีรักไว้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงประโลมใจ

ในทางตรงหันข้ามกันอิซ่ามีบุคลิกลุ่มลึกกว่ามารีหลายชั้น ด้วยประสิทธิผลในการบ่มเพาะและช่วงชิงโอกาสเมื่อสุกงอมได้ที่ ที่อิซ่ามีอยู่ในสัญชาตญานมากเหลือคณานับ เธอจึงเป็นตัวละครที่มีความซับซ้อน และทรงไว้ซึ่งปริศนามากที่สุด ในบรรดาตัวละครหญิงจากหนัง 5 เรื่อง อิซ่ามีธรรมชาติในการดำรงชีวิตดุจเดียวกับไวรัสตรงที่ความเยี่ยมยอดในการหาโอกาสแทรกซึม และฝังตัวเองเข้าไปมีชีวิตอยู่ร่วมกับเหยื่อ

Dreamlife เริ่มต้นด้วยภาพอิซ่าขณะออกเรี่ยไรให้องค์กรการกุศล ซึ่งเธออุปโลกขน์ขึ้นมาเองเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า ต่อมาหนังให้ภาพมารีกับการใช้ชีวิตตามวิถีปัญญาชนกบฎ ผู้ดื่มด่ำกับการอุทิศตนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์บางอย่างที่ล่องลอยอยู่ในห้วงคำนึง อิซ่ากลับเป็นปุถุชนที่พร้อมจะรีดเค้นข้อด้อยออกมาเพื่อแย่งชิงแต้มต่อของตนเอง และสร้างเงื่อนไขให้คนอื่นรู้สึกว่ากำลังเป็นฝ่ายเอาเปรียบ เพื่อเธอจะฉกฉวยประโยชน์จากภาพความเหลื่อมล้ำที่ปรุงแต่งขึ้น

บุคลิกภาพที่ดูเอาจริงเอาจังจากการแสดงของบูเชส ทำให้อิซ่าแตกต่างกับมารีอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายหลังดูไปคล้ายสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรง แต่ฝ่ายแรกเป็นคนมีใจโอบอ้อมอารีต่อคนอื่นในแบบหว่านพืชหวังผลและซ่อนเคียวไว้ในท้องอีกต่างหาก อิซ่าหมั่นไปเยี่ยมไข้ลูกสาวเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่ชังน้ำหน้าเธอ คนดูยังจะเห็นเธอช่วยเขียนไดอะรี่ให้เด็กน้อยที่ป่วยเข้าขั้นตรีทูตคนนี้ด้วยซ้ำ แต่ครั้นอาการป่วยของเด็กสาวทุเลาลงอิซ่ากลับหายหน้าหายตาไป ความเคลือบแคลงเริ่มก่อเค้าเมื่อนางพยาบาลแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับอาการป่วยของเด็กแก่อิซ่า

หนังเผยให้เห็นความกังวลฉายแววขึ้นราง ๆ ในสีหน้าของเธอ บูเชสทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครอิซ่าในฉากนี้ได้ดีเกินกว่าที่คนในวัยเธอพึงจะทำได้ คนดูจึงได้เห็นทั้งอารมณ์ความสงสารและความเคียดแค้นคละเคล้าต่อสู้กันอยู่บนใบหน้าของอิซ่า และส่อความเจ้าเล่ห์ของตัวละครออกมาอย่างเยือกเย็น พอดิบพอดี เมื่อเหยื่อแคล้วคลาดเธอคงต้องอดทนรอต่อไปจนกว่าโอกาสใหม่จะสุกงอม

Les Voleurs (อังเดร เตชีน: 1996) Regarde La Mer (ฟร็องซัวส์ โอช็อง: 1997) Dreamlife of Veronica เอริค ซองคา: 1998) Rosetta (ลุก และ ฌ็อง ปิแอร์ ดาร์ดอน: 1999) และ Baise Moi (วีร์ชินี่ เดสปองต์: 2000 )มีจุดร่วมประการแรก ตรงที่ ทุกเรื่องไม่ได้ระบุหรืออ้างถึงชื่อของเมือง หรือ สถานที่ที่เป็นบ่อเกิดเรื่องราว ซึ่งย่อมหมายว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นที่ใดในโลกก็ได้

จุดร่วมประการต่อมา คือ การที่หนังมีนัยยะของภาวะการเกิดโรคระบาดเชิงสังคม ดังจะเห็นได้จากที่ตัวละครหลักทุกตัวในหนังทั้ง 5 เรื่อง ประหนึ่งล้วนตกอยู่ในฐานะผู้ติดเชื้อ หรือเป็นพาหะของโรคร้ายบางอย่าง ทั้งนี้เมื่อสังเกตจากปฏิกิริยาของตัวละครอื่นๆ รวมถึงบรรยากาศและท่าทีที่หนังสร้างห้อมล้อมตัวละครหลัก ทุกองค์ประกอบล้วนปฏิบัติต่อตัวละครหลักเหมือนเป็นตัวประหลาด และน่าชิงชังรังเกียจ

รายละเอียดที่พ้องกันอีกประการ คือ รูปแบบการบริโภคของตัวละคร ตัวละครหลักทุกคนในหนังเหล่านี้ ฝากท้องไว้กับอาหารฟาสต์ฟูดและขนมกินเล่น ซึ่งไม่เพียงแต่จะผิดหลักโภชนาการ ทุกครั้งที่กินยังต้องตาลีตาเหลือกสวาปามให้อิ่ม ๆ ไปโดยเร็ว บางครั้งถึงกับต้องเดินกินหรือกินอยูในรถที่กำลังแล่นฉิว

ลักษณะด้านภาพของหนังทั้ง 5 เรื่องเน้นหนักไปที่การใช้ภาพในระยะกลางและใกล้ นอกจากนี้ก็มักจะเป็นฉากในพื้นที่ปิด โดยจะถ่ายภาพออกมาดูคล้ายหนังสารคดี จุดร่วมในส่วนของบทหนังอยู่ที่การมุ่งตีแผ่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ผ่านการผูกปมขัดแย้งเสมือนจริงที่คนเดินดินกินข้าวแกงอาจเคยประสบและพึงเข้าใจได้ การฉายภาพลงละเอียดจนถึงระดับปัจเจกรากหญ้า ชี้ให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างอย่างขนานใหญ่ ลึกล้ำของโลก ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอันหนักหน่วงแก่ผู้คนในทั่วทุกหัวระแหง

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จักริน วิภาสวัชรโยธิน : แปลและเรียบเรียงจาก

- La Vie En Rage: Rampaging Women in Five French-Language Films
- Les Voleurs / Regarde la Mer / Dreamlife of Veronica / Rosetta / Baise Moi

By Megan Ratner

Megan Ratner's work has appeared in Filmmaker, the New York Times, Senses of Cinema, Art on Pape
October 2001 | Issue 34

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

Les Voleurs มีความโดดเด่นยิ่งในการสร้างบรรยากาศอันไม่เป็นมิตรแก่ลูกผู้หญิงตามสถานที่ หรือ สถาบันที่เพศชายเป็นผู้วางรากฐาน แม้แต่บ้านพักตากอากาศซึ่งภายนอกดูอบอุ่นสบาย แต่เมื่อกล้องพาเขาไปสัมผัสเข้าจริง กลับวังเวงและชวนขนลุกขนชัน หนังเหมือนจะตระเตรียมบรรยากาศและโครงสร้างของสถาบันที่ผู้ชายให้กำเนิดและชี้นำบทบาทไว้เสียดิบดี เพื่อรอรับพายุป่วนของจูเลียตต์ ในฐานะตัวแทนของเพศหญิง ทุก ๆ ที่ที่เธอคนนี้เข้าไปข้องแวะ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถานีตำรวจ แม้แต่กลุ่มอาชญากรรม มักไม่แคล้วโดนพายุป่วนจนเกราะแห่งความแข็งแกร่ง มีวินัย มีอันต้องปลิวกระเจิง จนไม่เหลือสภาพที่จะปิดป้องจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ภายใต้สถาบันความเป็นชาย

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R