Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

บทบาทของสื่อกับการเมืองร่วมสมัย
สัมภาษณ์ ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ : เมื่อสื่อเลือกข้าง
กองบรรณาธิการไทยโพสต์
บทสัมภาษณ์นี้ กองบรรณาธิการเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รับมาจาก
Campaign for Popular Media Reform (CPMR)

[email protected]

บทสัมภาษณ์นี้สะท้อนถึงบทบาทของสื่อกับสังคมและการเมืองไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
ผู้ให้สัมภาษณ์ได้จำแนกให้เห็นภาพคัวแทนสื่อทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ
ตลอดรวมถึงได้วิเคราะห์ให้เห็นบทบาทพรรคกการเมือง นักวิชาการ ชนชั้นกลาง และประชาชน
ในโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจและประชาธิปไตยใหม่
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์
ที่ไม่อาจโดดเดี่ยวตัวเองได้
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
หมายเหตุ : ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1033
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)





สัมภาษณ์ ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ : เมื่อสื่อเลือกข้าง
โดยกองบรรณาธิการไทยโพสต์ - ๑๐ กันยายน ๒๕๔๙

รศ.ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"โดยกระบวนประชาธิปไตย สื่อยังไม่สามารถเป็น commercial press มันมีความลักลั่นเชิงพัฒนาการ ลึกๆ แล้วสื่อก็ยังเป็น political press เพราะประชาชนเรายังไม่สามารถมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยในทุกระดับและทุกสถาบัน ส.ส.ไม่สามารถเป็นตัวแทนเราได้ในสภา ตรวจสอบรัฐบาลแทนเราไม่ได้ ก็ไปฝากสื่อ ฝากไปฝากมา สื่อก็รับหน้าเสื่อไปหมดเลย ไม่สามารถทำหน้าที่ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าตัวเองเป็นกลาง"
"ตอนนี้ลูกตุ้มมันแกว่ง มันมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านทักษิณแล้วกลับไปหาอำนาจเก่า แต่มีเสียงคนที่ไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย แต่ไม่มีพื้นที่ ทำอย่างไรให้สื่อเปิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา คนที่ไม่เอากับคุณทักษิณและคุณสนธิไม่มีพื้นที่จะพูด"

ไทยโพสต์ - หลังจาก 5 ปีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลครอบงำแทรกแซงสื่อ ถึงตอนนี้ รัฐบาลก็โวยวายบ้างว่าสื่อเอียงข้าง ไม่ให้ความเป็นธรรม กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการไล่ทักษิณ ไม่ว่าหัวสี หัวดำ ดูเหมือนจะกลายเป็นกระบอกเสียงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปหมดแล้ว คงเหลือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลน้อยมาก กระทั่งกองเชียร์รัฐบาลต้องหนีไปเปิดวิทยุชุมชนและเว็บไซต์ แต่ก็ถูกสถาบันสื่อตามไปประณามว่าเป็น "สื่อเทียม"

นั่นทำให้เกิดคำถามว่า สื่อควรเลือกข้างหรือไม่ หรือควรเป็นกลาง หรือถ้าเลือกข้างแล้ว จะคงจรรยาบรรณของวิชาชีพไว้อย่างไร ในเมื่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยังเรียกร้องมาตรา 7

ต้องยอมรับว่าการสนทนากับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้เรามีทัศนะที่ดีขึ้นต่ออาจารย์นิเทศศาสตร์-ในฐานะที่เมื่อก่อนมักจะได้ฟังอาจารย์นิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์บ่นว่า หนังสือพิมพ์ควรจะเป็นกลางไม่ควรจะชี้นำ หนังสือพิมพ์ไทยส่วนใหญ่ผิดหลักวิชากันทั้งสิ้น

แต่อาจารย์อุบลรัตน์ชี้ชัดว่า หนังสือพิมพ์ต้องมีบทบาทนำสังคม โดยเฉพาะในพัฒนาการประชาธิปไตยของเราขั้นนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าหลายๆ ครั้งมาจากการที่หนังสือพิมพ์เลือกข้าง เพียงแต่เลือกข้างแล้วจะคงความเป็นวิชาชีพและความเชื่อถือไว้ได้อย่างไร

อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่น่าดีใจว่าหลังจากถูกแทรกแซงครอบงำมาตลอด 6 ปี สื่อยังมีวิญญาณเสรีมีความก้าวหน้าอยู่

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ " ถ้ามองดูช่วงต้นจะเห็นว่ามีสื่อกระแสหลักบางฉบับที่วิพากษ์วิจารณ์(นายกทักษิณ) แต่เหมือนกับเมื่อเข้ามาใหม่ผลงานที่จะให้วิจารณ์มีน้อย ในช่วงนั้นข้อวิจารณ์หลักก็จะเป็นเรื่องซุกหุ้น ถ้าเราดูย้อนหลังไปทุกๆ รัฐบาล ช่วง 6-7 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่ทุกๆ ฝ่ายให้โอกาสแสดงผลงาน ยอมรับมติ เลือกเขามาแล้วให้เป็นรัฐบาล ฉะนั้นที่วิพากษ์วิจารณ์อาจจะมีกลุ่มน้อย. สอง ถูกแทรกแซงเยอะ เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของรัฐบาลชุดนี้ก็ว่าได้ ในการควบคุมกำกับสื่อด้วยหลายๆ วิธี ซึ่งเราก็ติดตามและทำหนังสือ ว่ามีกลยุทธ์ทั้งการซื้อโดยตรง เข้าไปให้โฆษณา เปลี่ยนตัวบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางข่าว ถ้าเปลี่ยนได้ขนาดนั้นก็มีผลเยอะ ทุกปีที่เป็นรัฐบาลก็ขยับเปลี่ยนอยู่เรื่อย"

"ถามว่าทำไมช่วง 2 ปีหลังเสียงวิจารณ์เยอะขึ้น คงไม่ใช่เพราะแทรกแซงน้อยลง เพราะฟ้องหนักขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งเพราะว่าสื่อทั้งในกองบรรณาธิการและตัวเจ้าของกิจการ มองเห็นภาพชัดขึ้นว่าการวางนโยบายต่างๆ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง หลายๆ อย่างขาดประสิทธิภาพ เมื่อสื่อมวลชนพบเห็นสัจธรรมข้อนี้ เราก็ยังเชื่อในความเป็นมืออาชีพ เมื่อเห็นความจริงก็จะต้องตั้งหลักใหม่ ไม่ยอมให้ชักพาไป แม้ว่าจะมีส่วนหนึ่งที่ยังเห็นด้วยในจุดนั้นบ้าง พอมาเป็นรัฐบาลรอบสอง เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ นี่อาจจะตอบคำถามว่าทำไมสื่อจำนวนมากย้ายมาสู่ซีกที่คัดค้านรัฐบาล"

"แน่นอนที่สุด รอยต่อเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม (ขายชินคอร์ป) ที่สาหัสมากคือเรื่องไม่เสียภาษี ขายกิจการสาธารณะ ซ้อนทับกับกลุ่มที่ขัดแย้งผลประโยชน์กัน เหล่านี้ทำให้สื่อมวลชนตัดสินใจ"

"ถ้าถามในเชิงวิชาการที่สื่อเข้าข้างใดข้างหนึ่ง อาจจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของข่าวสารซึ่งก็ลงตามปกติ แต่สอง ทัศนะที่คอลัมนิสต์ทั้งหลายพร้อมใจกันเจาะลึกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งแต่ก่อนจะมี balance กัน ในฉบับเดียวกันก็มีคอลัมน์ที่เห็นต่าง ข่าวแต่ละฉบับก็มีทิศทางของตัว ตอนนี้ข่าวใหญ่เริ่มใช้อุดมการณ์วิชาชีพเข้ามาเต็มรูป ก่อนนั้นหย่อนไปหน่อย (หัวเราะ) พาดหัวให้รัฐบาลเยอะ การวิพากษ์วิจารณ์จะเกรงใจหน่อย ตอนหลังทุกฉบับเริ่มขึ้นมาเป็นพาดหัวใหญ่"

"ระบบข่าวแบบไทยต้องยอมรับว่ารัฐคุมเยอะ แต่หนังสือพิมพ์เป็นต้นสายของสายพาน พอเสร็จเช้าวิทยุก็อ่าน เหมือนไมโครโฟน ลำโพงหลายช่อง ทีวีก็อ่านตั้งแต่เช้า มันเป็นลักษณะของไทย ที่อื่นวิทยุโทรทัศน์เขาก็มีกองข่าวต่างๆ กันไป ของเรากลายเป็นว่าหนังสือพิมพ์เป็นต้นแหล่งของข้อมูลข่าวสาร แล้วมันก็จะพาสายพานนี้นำไปสู่หูคนฟัง ในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด พาไปสู่ National TV พร้อมกัน ฉะนั้นอาจจะฟังดูแล้วเสียงวิจารณ์มันดัง อันนี้กระมังที่ทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าที่เคยคุมทำไมคุมไม่ได้เสียแล้ว ผิดไปจากยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ว่า สื่อมวลชนน่าจะเขียนส่งเสริมนโยบายรัฐ มันก็พิสูจน์ถึงความล้มเหลวของยุทธศาสตร์ที่จะคุมสื่อ"

ตอนนี้ก็เหมือนกับสื่อเลือกข้างไปแล้วว่าไม่เอาทักษิณ

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "เลือก เพราะคอลัมนิสต์ก็บอกแล้วว่าคัดค้านด้วยเหตุผลอะไร position ของสื่อตอนนี้ถามว่าแต่เดิมมีไหม ก็มี แต่อาจจะไม่มีการประกาศ แต่มันมีอยู่ในที หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะมีจุดยืน ที่แบบ conservative หน่อยก็เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ conservative ก็มี 2 กลุ่มที่เป็น mass เน้นข่าวอาชญากรรม อีกกลุ่มคือไม่ค่อยรายงานหรือไม่ค่อยเป็นผู้นำการรายงานข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ที่เสรีนิยมหน่อยก็อย่างกรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ที่ค่อนข้างหัวก้าวหน้า เอียงซ้าย มีน้อยมาก เคยมีในช่วง 14 ตุลา แต่ตอนหลังอย่างดีก็ประมาณอนุรักษ์กับก้าวหน้านิดหน่อย ในแวดวงนักวิชาการก็รู้ แต่ประเทศเราไม่ค่อยเรียกอย่างนั้น

ต่างประเทศเขาเรียก เวลาบอก The Gardian เขาจะรู้ว่าหัวก้าวหน้าหน่อย Daily Mirror แต่เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรค Labour ตอนหลังถูกซื้อไป ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ประกาศว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นตัวแทนคนชั้นไหน แทนอุดมคติแนวไหน ไม่ประกาศ แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก หลัง 2475 ก็ชัดเจน มีหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลใหม่ มีหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลเก่า คือเป็น royalist กับนักวิชาชีพที่เป็นกลาง ใช้คำว่า objectivity คืออยากได้ประชาธิปไตย อยากได้รัฐบาลแบบใหม่แต่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรจนไม่ลืมหูลืมตา"

อาจารย์อุบลรัตน์บอกว่าความเป็น Political Press สื่อที่เลือกข้างหรือเลือกจุดยืนทางการเมือง มีอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับ Commercial Press สื่อเสรีเชิงพาณิชย์ที่เป็นกลาง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "หนังสือพิมพ์ทุกยุคทุกสมัยต้องมีจุดยืน ต้องเป็นตัวแทนความคิดทางการเมือง สิ่งที่เป็น commercial press สิ่งพิมพ์ที่เป็นเชิงพาณิชย์ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมก็จะเป็นตัวถ่วงดุล เพราะต้องตอบรับกับทุกๆ แนวความคิดการเมือง มีคำถามว่าจากที่เคยต้องขายตลาดกว้าง ต้องมาเลือกข้าง แบบนั้นตอบโจทย์สังคมไหม

หนังสือพิมพ์เป็นคนที่นำสังคม ตลอดมาหนังสือพิมพ์เป็นสถาบันที่ก้าวหน้าที่สุดของสังคมเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามทำตัวไม่ก้าวหน้าจะถูกทวงถาม เหมือนตอน 6 ตุลา เพราะฉะนั้นคุณค่าของสื่อมวลชนอยู่ที่ความก้าวหน้าของการนำสังคมนั้นมีหรือเปล่า การนำสังคมในเรื่องความคิดประชาธิปไตย การนำสังคมโดยเอาความคิดที่เป็นประชาธิปไตยแบบฝ่ายซ้ายหลัง 14 ตุลา เหล่านี้ใช่ทั้งนั้น"

"ปัจจุบันเมื่อพบแล้วว่าทุนนิยมที่เคยเชื่อว่าเป็นเสรีนิยมกลับไปผูกขาดเป็นระบอบทักษิณ สื่อมวลชนก็บอกไม่ได้สิ ต้องตรวจสอบ ไม่เหมาะกับสังคม ที่น่าดีใจคือหนังสือพิมพ์ยังมีจิตวิญญาณของความก้าวหน้าอยู่ แม้ถูกครอบงำ เมื่อมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจก็ยังสามารถตัดสินใจในภาวะที่เชื่อว่าสังคมต้องก้าวไปในทางที่ดี ยอมที่จะเลือก ไม่กังวลที่จะมีการชี้ชัดลงไปเพื่อคลี่คลายสถานการณ์"

"political press ก็มีอยู่ตลอด คู่ขนานไปกับ commercial press ที่เป็นพลังหลัก ในสมัยหนึ่งเราจะพูดว่าหนังสือพิมพ์"แนวหน้า"มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง หนังสือพิมพ์"บ้านเมือง"ใครบ้างเกี่ยวข้อง มันก็ชัดเจน แต่ในช่วงที่การเมืองเผชิญหน้าก็จะเป็นส่วนเล็กๆ ฉบับที่เป็นเชิงพาณิชย์ก็จะเป็นฉบับนำ เมื่อมีปัญหาวิกฤติ ฉบับที่ชัดเจนว่าต้องก้าวนำสังคมก็จะเสียงดัง ประชุมคุยกัน"

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะเมืองไทยหรือเปล่า ในต่างประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วจะไม่ค่อยมีปรากฏการณ์ที่สื่อล้มรัฐบาล

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "อาจจะใช่ แต่ถามว่าเกิดขึ้นไหมในกระแสพัฒนาประชาธิปไตย ในทฤษฎีย้อนไปในประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยอังกฤษก็มี political press ทุกพรรคการเมืองจะมีหนังสือพิมพ์ แล้วก็คลี่คลายมาเป็นกิจการหนังสือพิมพ์ในกระแสทุน. ที่สหรัฐฯสื่อมวลชนก็พยายามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ว่าสื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงรัฐบาลบุช สื่อเป็นทุนในตัวของมันเอง ไม่พยายามที่จะตั้งคำถามกับระบอบการเมืองของเขาแล้ว

สหรัฐฯอยู่ในภาวะคล้ายๆ ไทยคือเสียงประชาชนก้ำกึ่งระหว่างรับและไม่รับรัฐบาลบุช 2-3 ปีมานี้มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ปฏิเสธสงครามอิรัก แต่สื่อก็ถูกควบคุมและครอบงำ มันก็แบ่งฝ่าย สื่อที่วิจารณ์ก็วิจารณ์ ฝ่ายเชียร์ก็อยู่ในการให้ผลประโยชน์โดยรัฐ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติของเขาพยายามที่จะให้ผลประโยชน์เพิ่มกับวิทยุโทรทัศน์ ปี 2003 พยายามจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ถือครองข้ามสื่อ ก็โดนต่อต้าน ไปรษณียบัตรส่งเข้าไปหลายล้านฉบับ จนเขาต้องยับยั้งการแก้ระเบียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เดินหน้า แค่ชะงักไปชั่วคราว มันก็เห็นว่าตั้งแต่สงครามอิรักประชาชนไม่มีทางออก รัฐพยายามเข้ามาเอื้อเฟื้อให้ประโยชน์ สื่อก็รู้ว่าจะตอบแทนอย่างไร ก็คือไม่ไปวิจารณ์

ถามว่าต่างประเทศคล้ายๆ เราไหม ตอนนี้ทุกประเทศมีปัญหาเรื่องการถูกแย่งชิงสื่อ อ.เกษียรใช้คำว่า manufacture of vertual consense ประชามติที่เป็นประชามติเสมือนจริง ไม่ใช่ประชามติที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เรารู้สึกเสมือนว่ามีประชามติเห็นชอบด้วยกับรัฐบาล เราก็เข้าไปในความเชื่ออันนั้นด้วย เพราะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยในข้อดีหลายประการ นี่คือ อ.เกษียรบอกว่ากลไกรัฐบาลทักษิณต่อต้านกระแสประชาธิปไตย โดยใช้สื่อในด้านนี้ ฉะนั้นเราก็มองตรงข้ามว่าตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 2 เป็นต้นมาก็ค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางมาเป็นสภาวะที่ก้าวหน้าขึ้น สื่อเองเริ่มตาสว่าง"

ลูกตุ้มแกว่ง แต่ตอนนี้เมื่อตาสว่างแล้ว ใช่หรือไม่ว่ามีลักษณะที่ถลำเข้าไป

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ก็คือเหวี่ยงไง เหมือนตุ้มนาฬิกา คล้ายๆ โห-เพิ่งจะรู้นะนี่ ไปแรง ไม่เอาแล้ว ถ้าอยู่ต่ออีก 4 ปีจะไม่ไหว ที่ผ่านมานึกได้ว่าโอ๊ยตายแล้ว ก็เลยเกิดความรู้สึกที่เร่าร้อน วิตกว่าถ้ารัฐบาลนี้อยู่ต่อจะเกิดอะไรขึ้น และคล้ายๆ เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เดือนมกราคม มันเห็นชัดเหลือเกินเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ก่อนหน้านั้นอาจจะเป็นเรื่องๆ ปฏิกิริยามันเลยเหวี่ยงกลับ"

มันจะทำให้สื่อเสียเครดิตไหม?

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "เสียความเป็นวิชาชีพใช่ไหม-ก็ถูก เรียกว่าพลิกโต๊ะเป็น political press แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สื่อจะต้องกลับมายืนในที่ตั้งใหม่ของความเป็นนักวิชาชีพ"

ตอนนี้คนกลางๆ จะรู้สึกว่าสื่ออคติกับทักษิณ เช่นเมื่อเกิดคาร์บอมบ์ จริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ สื่อพยายามตีโต้กลับตั้งแต่วันแรกว่าไม่จริง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "อันนี้สื่อเองก็ต้องตกที่นั่งฟื้นฟูเครดิตนะ (หัวเราะ) ถ้าหากว่าลูกตุ้มมันแกว่งมาก เมื่อประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้ทำหน้าที่ให้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก็เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าสื่อกระโดดข้ามไปเร็ว หน้าที่สื่อคือต้องไปหาข้อมูลมาช่วยในการตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจทำงานเร็วอย่างนี้ๆ เพื่อตรวจสอบ แต่ถ้าเราคัดค้านโดยที่ไม่มีข้อมูล สุดท้ายก็ตกที่นั่งต้องแก้ตัวให้ตัวเองด้วย คงจะคล้ายๆ ช่วงที่สื่อเอียงขวามากในโทรทัศน์ช่อง 9 จส.100 ตอนพฤษภา ที่ต้องมาฟื้นฟูภาพลักษณ์ จริงๆ สิ่งที่เราจะเรียกร้องคือทำหน้าที่ข่าวหน้า 1 ให้ดีที่สุด ส่วนความคิดเห็นข้างในมันมีพื้นที่อยู่แล้ว"

ประเด็นนี้ก็น่าคิดว่า สื่อเมืองนอกจะพาดหัวเรียบๆ ข่าวเป็นข่าว แต่ที่ผ่านมาสื่อไทยไม่ใช่เลย

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ที่จริงสื่อแทบลอยด์ในต่างประเทศก็เหมือนกัน ใส่สีสันพาดหัวก็เอาอารมณ์เข้าไปใส่ คล้ายๆ กัน ถ้าพูดอย่างนั้นก็หมายความว่าสื่อไทยมีความเป็นแทบลอยด์สูง สื่อไทยที่เป็นแนวการเมือง เศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วในช่วง 8-9 เดือนมานี้ ก็พิสูจน์ว่ายังอดไม่ได้ที่จะใช้อารมณ์สื่อสาร ถ้าจะบอกว่าเป็นบุคลิก เป็นธรรมเนียมสื่อไทยจำนวนหนึ่งได้ไหม-อาจจะใช่ เพราะอะไร

สาเหตุส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่ที่สงสัยว่าสื่อลำเอียง แต่ว่ายังมีประเด็นที่สื่อในอดีตถูกกดดันไม่ให้เสนอข่าวการเมืองอย่างเปิดเผย สอง.คนไทยอ่านหนังสือน้อย การพาดหัวมีสีสันก็เพื่อให้ประชาชนอยากซื้อหนังสือ ถ้าวันไหนพาดหัวเรียบๆ คนก็ไม่ควักกระเป๋าซื้อหนังสือพิมพ์ ยอดตีพิมพ์ทั้งประเทศของเราไม่เกิน 2 ล้าน แต่ถามว่าคนติดตามข่าวสารไหม-มี ก็มีโทรทัศน์เข้ามาช่วยอุด นี่ก็เป็นสภาวะที่ตอบว่าเศรษฐกิจสังคมของไทยยังไม่เข้มแข็งพอที่ทุกบ้านจะควักกระเป๋าซื้อหนังสือพิมพ์ นี่เป็นตัวสะท้อนถึงสภาวะการเสพสื่อบ้านเรา เป็นภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สะท้อนถึงฐานะทางเศรษฐกิจของสังคมไทย"

สื่อไทยต่างจากต่างประเทศที่เหมือนกระโดดเข้าไปเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองแล้ว

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ถ้าถามเรื่องนี้ ก็มีตระกูลทฤษฎีสื่อที่มองว่า สื่อไม่ควรจะวางตัวเป็นกลาง เยือกเย็นในสภาวะที่มีวิกฤติ หรือว่ามีการเผชิญหน้าที่คลี่คลายไม่ได้ กับตระกูลสื่อที่เป็นกลางคือตระกูลทุนนิยมอุตสาหกรรม. ตระกูลสื่อเสรีนิยม commercial press ซึ่งเชื่อว่าซีกหนึ่งของเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมแล้ว ซีกของประชาธิปไตยเป็นเสรีนิยม ก็เชื่อว่าตลาดจะเป็นตัวตัดสิน. แต่ที่จริงแล้วถ้าเราสอนกันให้ครบ มันก็มีกระแสสื่อที่ขวาจัด-ซ้ายจัด และก็เป็นกลาง อย่างในสหรัฐเขาบอกว่า คุณก็รับหลายๆ สื่อสิ มันจะ balance ตัวมันเองออกมา อันนั้นถามว่าสื่อเลือกข้างหรือไม่เลือก-ก็เลือกชัดเจน เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย มีแนวการเมืองอยู่แล้ว"

"สถาบันสื่อของเรามีลักษณะเหมือนสถาบันศาสนา การศึกษา ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่ง สถาบันอื่นเขาร่วมเหมือนกันแต่เขาไม่ออกมาป่าวประกาศ สถาบันศาสนาร่วมแบบไหน-วางเฉย ร่วมกับกลุ่มอำนาจเดิมใช่ไหม วางเฉยนี่ สถาบันการศึกษาแสดงออกแล้ว ชัดเจน นักวิชาการแทบทุกมหาวิทยาลัยชัดเจน ตอนนี้ทุกๆ ฝ่ายแสดงออก เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่สามารถแสดงออกได้ในพรรคการเมือง เอาเข้าจริงแล้ว มันสะท้อนว่าสื่อมวลชนเป็นตัวแทนความคิด เป็นลักษณะทางอ้อม

ในประเทศอื่นที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยกว่า อาจจะเป็นไปได้ที่ทัศนะ จุดยืนทางการเมือง และการแสดงออก สามารถเข้าไปอยู่ในพรรคการเมือง. นักวิชาการ พ่อค้า ประชาชนเป็นสมาชิกพรรค เข้าไปมีส่วนร่วมในพรรค. แต่ขณะนี้พวกเราไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย และก็ไม่มีส่วนร่วมกับเขาได้ ก็เลยมีส่วนร่วมแบบผ่านสื่อ พรรคการเมืองบ้านเรายังไม่เป็นตัวแทนของทุกชนชั้นมากพอ จุดอ่อนอยู่ตรงนี้ เพราะทุกคนต้องแสดงออกทางการเมือง ก็เลยต้องพึ่งสื่อ"

แต่สื่อไทยโดดเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองโดยเอาหัวข่าวลงไปเล่นด้วย ไม่ใช่แค่ครั้งนี้ กรณี สปก.4-01 มีการจับกระจง กรณีบรรหาร เล่นถึงสัญชาติพ่อ สื่อโค่นรัฐบาลแบบนี้มาหลายครั้ง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ที่จริงก็คือทุกครั้งเลย เรื่องคุณบรรหารอาจจะมีต้นเรื่องมาจากในสภาฯ และสื่อก็ร่วมด้วย สื่อเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่ไม่เลือกคุณบรรหาร ก็มี position การเมือง คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีการเมืองอยู่ในนั้น เราเคยเชื่อว่า commercial press จะช่วยทำให้การเมืองมีความเป็นเสถียรภาพของมัน เราคิดว่าเราจะเป็นเหมือนสถาบันการศึกษา คือเป็นกลางๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ มันก็เป็นมายาภาพ มันก็สะท้อนว่าสื่อยังเป็นตัวแทนทางการเมืองในบางลักษณะ และตอนนี้ถ้าคุณพูดให้ชัด มันเหมือนเป็นพรรค เป็นพรรคพวกที่ค้านรัฐบาล"

เป็นพันธมิตรของพันธมิตร

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "แล้วทุกคนก็ตั้งคำถามว่าเราแฟร์หรือเปล่า (หัวเราะ) รัฐบาลก็เลยบอกไหนๆ ก็ไหนๆ เลยตั้งสื่อของตัวเองมาด้วย มีกระบอกเสียงผ่านสื่อของรัฐแล้วก็ยังไม่พอ เลยต้องตั้งตัวแทนขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่เป็นสื่อที่มาสู้กับสื่อที่คัดค้านรัฐบาล มันก็มีสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก"

เราบอกว่าไม่ค่อยแคร์เรื่องสื่อเทียม คนมีสติอ่านเว็บไซต์นั้นแล้วคงไม่เชื่อ แต่สื่อเราเองสิ มีคำถามว่านี่เราแฟร์หรือเปล่า

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ก็ถึงจุดที่บอกว่าเป็นเพราะโดยกระบวนประชาธิปไตย สื่อยังไม่สามารถเป็น commercial press มันมีความลักลั่นเชิงพัฒนาการ ลึกๆ แล้วสื่อก็ยังเป็น political press เพราะเหตุว่าประชาชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยในทุกระดับและทุกสถาบัน. 500 เสียงในสภาฯ ก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนเราได้ ตรวจสอบรัฐบาลแทนเราไม่ได้ ก็ไปฝากสื่อ ฝากไปฝากมาสื่อก็รับหน้าเสื่อไปหมด ไม่สามารถทำหน้าที่ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าตัวเองเป็นกลางกับทุกฝ่าย ก็ทำไม่ได้อีก ก็แปลว่าเรามีจุดอ่อนของกระบวนการประชาธิปไตยสูงมาก ไม่มีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเพียงพอ

ตัวแทนทางการเมืองต้องมี shade ที่หลากหลาย ในรัฐสภาก็ไม่มี เป็นภาพใหญ่ภาพเดียว เอาเข้าจริงแล้วมันถูกปิดกั้น สื่อก็กลายเป็นเหมือนที่ระบาย และสื่อเองก็รู้สึกสะทกสะท้าน เอ๊ะเราไม่ใช่ที่ เราทำผิดหรือเปล่า"

กรณีบรรหารสื่ออาจจะไม่ถึงกับเจตนา แต่เล่นตามทันทีเพราะเลือกข้างอยู่แล้ว

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "จำได้ว่าไม่แฟร์มากเลย มีคอลัมนิสต์น้อยมากที่วิจารณ์ประชาธิปัตย์ว่าเอาเรื่องซึ่งมันเกินเลยจากความเป็นบุคคลสาธารณะมาเล่น เพราะการเล่นงานอย่างนี้ก็เหมือนต่อยใต้เข็มขัด ซึ่งเกินเลยจากผลงานคุณบรรหาร ช่วงนั้น อ.เอนกเพิ่งเขียนสองนคราประชาธิปไตย มันก็จริง ตอนนี้สังคมไทยเจอปัญหาว่า ถ้าเป็นผู้นำที่มาจากท้องถิ่นเราก็รู้สึกว่าเราไม่รับไม่สง่างาม พอเป็นผู้นำที่เรียกว่าเจ้าพ่อระดับอินเตอร์อย่างคุณทักษิณ เราก็รู้สึกไม่สง่างาม มันเหวี่ยงอยู่ คุณชวนก็พิสูจน์ว่าทำงานช้า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็พิสูจน์มาเรื่อยๆ แต่ละผู้นำเป็นอย่างไร"

"บทเรียนสำหรับสื่อและสังคมไทยก็กลับมาที่กระบวนการประชาธิปไตย ว่ามันคงไม่ใช่เรื่องผู้นำ สังคมไทยจะชินกับการจ้องไปที่ผู้นำ ซึ่งก็คือประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ เราเชื่อว่าผู้นำดีแล้วก็จะจบ ความจริงมันเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง สื่อต้องกลับมาเข้าที่ตั้ง ตรงเรื่องช่วยกระบวนประชาธิปไตย อำนาจอยู่ที่กระบวนการ ถ้าหากเรามุ่งไปที่ผู้นำอย่างเดียว เราลืมองค์ประกอบอื่น ไม่ให้ความสำคัญมากพอ มันก็จะอยู่ในวังวนอย่างนี้ เราต้องการฮีโร่มาแก้ปัญหา เราก็ยังอยู่ในกระบวนทรรศน์เดิมของการที่ต้องมีผู้นำ ตั้งแต่คุณสฤษดิ์เป็นต้นมาเราก็ยังมองหา และเราก็ทิ้งเขา แล้วก็มาหาใหม่"

ไม่ใช่ทิ้งอย่างเดียว แต่ใช้ทุกวิธีที่จะเหวี่ยงลง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "คือไม่เชื่อมั่นในตัวเขา ลึกๆ ก็เบื่อแล้ว อยากได้คนใหม่ ถ้ามองในแง่บวกเราเริ่มกล้าที่จะใช้สื่อ เริ่มกล้าที่จะบอกว่าผู้นำพิสูจน์ให้เราเห็นและเราไม่เอา แต่โครงสร้างของเราจะต้องเข้มแข็งพอ คือไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนผู้นำ โครงสร้างอื่นเราต้องเข้มแข็ง เช่น เห็นว่าเราพบว่าพรรคการเมืองรวมศูนย์เกินไป การเมืองในท้องถิ่นไม่เข้มแข็งพอ โอ.เค.สื่อก้าวหน้า สื่อก็ต้องมีสติของตัวเองด้วย"

ภาพสื่อที่เสียไปส่วนหนึ่งเพราะสนธิโดดลงมาเองหรือไม่

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "เว่อร์เลย ตอนนี้หลุดเลย ก่อนนั้นถึงแม้สื่อประกาศตัวก็ยังมีเส้นแบ่งตามวิชาชีพชัด ตัวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหลายคนก็บอกการรายงานข่าวยังพออ่านได้ แต่ 70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่คัดค้านหมด เป็นเพราะเจ้าของเข้าไปอยู่ในพันธมิตรโดยไม่ปิดบังเลย ไม่ได้ยืนตรงที่เรียกว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วตอนนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ที่ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน จากที่สื่อถือหางรัฐ มันเหมือนการพลิก"

มองอย่างไรที่สู้กันมา 7-8 เดือนแล้วรัฐบาลทักษิณยังไม่ลงง่ายๆ เมื่อเทียบกับรัฐบาลอื่น เช่น สปก.แค่เดือนสองเดือนสื่อก็เอาลง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ไม่กี่ม้วนก็จบ ม้วนนี้ยาวมาก" อาจารย์อุบลรัตน์เห็นด้วยว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิด

"จะลองวิเคราะห์ต่อว่า เอาเข้าจริงแล้วสื่อกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถรวบรวมและจัดตั้งความเห็นได้มากที่สุด จุดอ่อนเพราะพรรคการเมืองไม่เป็นตัวแทน สื่อจึงกลายเป็นตัวแทนของภาคประชาชน แต่ก็ไม่ใช่ภาคประชาชนรากหญ้า ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ คนชั้นกลาง คนที่อยู่นอกระบบการเมือง เป็นแหล่งข่าวในกระแสของสื่อ มันกลายเป็นเหมือนองค์กรจัดตั้งโดยธรรมชาติ

ในสังคมไทยองค์กรอะไรบ้างที่มีการจัดตั้งสูงสุดก่อนหน้านี้-ทหาร ขณะนี้อยู่ในสภาวะที่จะต้องรวบรวมกำลังให้มั่นคงที่สุด เพราะถูกตั้งคำถามว่าการจัดตั้งนั้นทำไปเพื่ออะไรในอดีต ถัดมาคือราชการ พรรคราชการที่เขาเรียกกัน มีอำนาจต่อเนื่องยาวนาน ถัดมาในภาวะข้างหน้าน่าจะเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชน ที่รวมตัวกันเพราะความคิด วิธีอบรม สื่อมวลชนก็เป็นปัญญาชนของสังคม ตรงนี้เชื่อว่าจะเข้ามาทดแทน"

"ถามว่าการต่อสู้ครั้งนี้ก้าวหน้ากว่าเดิมไหม ก็ก้าวหน้า ต้องยอมรับว่าการโต้แย้งกันอย่างเอาเป็นเอาตายดีกว่าการใช้อาวุธ ใช้กำลังรัฐประหาร คราวนี้ก็เป็นตัวพิสูจน์ว่าบนข้อจำกัดและการตั้งคำถามว่า สื่อเป็นกลางหรือไม่ มันกลายเป็นเวทีช่วยยับยั้งการใช้ความรุนแรง แต่สภาพตรงนี้จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายไหม ต่อไปข้างหน้าถ้าตั้งสติได้ ก็ต้องเชิญชวนทุกฝ่ายมาคุยกัน โอ.เค.นั่นคือโครงสร้างของพรรคการเมืองต้องพร้อม เอาข้อเท็จจริงจากพรรคการเมืองมาพูด สื่อเป็นตัวถ่ายทอด"

สภาพตอนนี้คือคนไทยไม่ได้คิดพึ่งพรรคการเมืองในการเปลี่ยนแปลงอำนาจ เช่นไม่มีใครคิดพึ่งประชาธิปัตย์

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ใช่ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของพรรค พรรคการเมืองไม่ใช่พรรคมหาชนที่จะให้เราทุกคนไปเป็นสมาชิก เรียกร้องผ่านเขา, ไม่ว่าในยามเลือกตั้งหรือไม่, ไม่ทำตัวเป็นที่พึ่งมากพอของคนชั้นกลาง, เขาเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เวลาเดือดร้อนชาวบ้านพึ่งได้, แต่ชนชั้นกลางไม่มีตัวแทนเข้ามา ก็เลยต้องพึ่งสื่อมวลชน ก็กลายเป็นปัญหา"

มองสื่อมองสังคม, อย่าหวังพึ่งขั้วอำนาจ, มองข้ามไปยุคหลังทักษิณ การปฏิรูปสื่อจะเดินไปอย่างไร?

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "สื่อกระแสหลักก็ยังเห็นว่ายังมีนักหนังสือพิมพ์ที่ค่อนข้างก้าวหน้า สนใจว่าจะต้องมีประชาธิปไตย ด้วยเหตุหนึ่งก็เป็นปัญญาชนของสังคมนั่นเอง ส่วนที่เรียกว่าสื่อพาณิชย์ คือหวังที่จะทำกำไรเยอะๆ ก็จะมี แต่เชื่อว่าก็จะมีสื่อขนาดเล็กเกิดขึ้นในเชิงประชาธิปไตย ไม่แสวงหากำไรมาก เช่น ในเว็บไซต์ ช่วงนี้ก็เห็น แต่พลังที่แน่นอนต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง อย่างไทยโพสต์ก็อยู่มาปีที่ 10 แล้ว"

อยู่อย่างไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อีกนานไหม เพราะสื่อก็เป็นองค์กรธุรกิจที่ทนขาดทุนไม่ไหว

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "คนที่ไม่ยอมก็จะอยู่ในโครงสร้างของทุนที่เล็กกว่า อิสระกว่า จนกว่าเราจะมีพรรคการเมืองแนวใหม่ สื่อที่ตอบรับกับเสรีใหม่ ต้องมีแนวคิดใหม่เข้ามา เมื่อพิสูจน์แล้วว่าทุนนิยมแบบนี้ผูกขาด ไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคน มันก็ต้องรวบรวมความกล้าหาญที่จะบอกว่า ต้องมีทั้งพรรคใหม่และสื่อใหม่เกิดขึ้น โจทย์ขณะนี้พรรคการเมือง 3 พรรคใหญ่ไม่ตอบโจทย์ พรรคเกิดใหม่อีก 2 พรรคแนวก็จะคล้ายๆ กัน คือเป็นพรรคที่เกิดมาเพื่อตอบโต้เหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ไม่มีทิศทางที่จะตอบว่า ทางออกของโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมใหม่ จะเป็นอย่างไรสำหรับสังคมไทย ก็เป็นโจทย์ที่ยาก ชาวบ้านรวมตัวกันอยู่เยอะนะ ที่ต่อต้านเอฟทีเอ ต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ แต่เขาไม่สามารถจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง"

"ให้ตอบว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ตอบยากนะ แต่คิดว่าระบบทุนนิยมแบบอุปถัมภ์คงจะต้องมีเส้นทางไปอีกสักพักหนึ่ง จนกว่าภาคประชาชนจะมีความเข้มแข็ง และจัดตั้งกันได้มากกว่านี้ ถ้าให้ใจคิดอยากเห็นการกระจายสื่อสู่ท้องถิ่น มีภาพของการมีส่วนร่วมสูง เมื่อเป็นภาพนั้นแล้วประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้น กระบวนการจะขับเคลื่อนในรูปลักษณ์ใหม่ ขณะนี้การขับเคลื่อนมันอยู่ศูนย์กลางมากเกินไป ทำอย่างไรจะให้เกิดสื่อท้องถิ่นเป็นชุดเลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ ก็จะเป็นหน้าใหม่ของประชาธิปไตย"

"ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้น ถ้าเราเชื่อมั่นว่ากระบวนการประชาธิปไตยจะเดินไปข้างหน้าได้ อาจจะใช้เวลาสัก 7 ปี 10 ปี ขึ้นกับวัฏจักรแต่ละรอบ ที่เราสามารถปฏิรูปตกลงกันได้ ถ้ารอบนี้ผ่านไปได้โดยไม่มีรัฐประหาร เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่ามันก็มีวุฒิภาวะ และชนชั้นกลางเองก็ต้องเปิดใจกว้าง ให้อำนาจกับท้องถิ่น เราต้องไม่หมางเมิน เราต้องไม่เชื่อว่าเรามีอำนาจเพราะการศึกษาดีกว่า เราเป็นชนชั้นกลางมีทุนสูงกว่า เราเสียงดังกว่า"

อาจารย์อุบลรัตน์อธิบายว่าที่มองเป็นรอบ รอบก่อนคือ 2535 แล้วต่อเนื่องมาแก้รัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนหน้านั้นคือ 14 ตุลา แต่พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่ได้ 3 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงช้าๆ มาจนมีรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย อาจารย์ย้ำว่า ครั้งนี้หวังว่าจะไม่มีรัฐประหาร

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ทุกครั้งก็หวังว่าไม่มีรัฐประหาร เพราะการแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้ายก็ต้องมาคลี่คลายด้วยการจัดการด้วยสันติวิธีจนได้ มันเป็นลักษณะชั่วคราว ทุกคนรู้แล้วว่าวันหนึ่งต้องหายบ้ากัน มาตั้งสติตอบโจทย์ด้วยกัน แต่แน่นอนที่ผ่านมามันก็มีช่องว่างในอำนาจ ฉะนั้นอีกฝ่ายก็ใช้อารมณ์ที่รุนแรง เพราะไม่มีความสามารถในการต่อรอง"

เลยเกิดการเรียกร้องให้รัฐประหาร

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ก็เป็นการเรียกร้องที่ล้าหลัง เราไปเพ่งที่ผู้นำ เบ็ดเสร็จคนเดียว เรียกว่ามีก้นตะกอนของกระบวนทรรศน์เก่า ถ้าเราจะเรียกร้องรัฐบาลเผด็จการโดยเชื่อว่าจะจัดการเขาได้ มันก็มีบทสรุปซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่ได้ ตอน รสช.มีประชาชนจำนวนมากที่แซ่ซ้องขอบคุณคณะ รสช. แต่เราก็รู้ว่าสุดท้ายแล้วแก้ไม่ได้ ฉะนั้นคราวนี้ก็เหมือนกัน ก่อนหน้านั้นจะมีช่วงการเรียกร้อง และก็ซาไปเพราะมีพันธมิตรฯ ทุกคนก็รู้สึกว่าโอ.เค.เราจัดการกันได้ เราลองแสดงความคิดเห็นดูซิ รัฐน่าจะฟัง แต่มันสะท้อนว่าการเดินขบวน การแสดงความคิดเห็น เรารู้สึกว่าเป็นขบวนที่ใหญ่โตมโหฬาร เสียงยังไปไม่ถึง ยังสู้กับอำนาจไม่ได้

มันเหมือนจะล้มรัฐบาลแต่จริงๆ ไม่ได้ มันเหมือนการเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเดินขบวนก็ยังเจอปัญหาทางตัน จนใช้อำนาจที่สาม อำนาจอธิปไตยมี 3 อำนาจ เพราะฉะนั้นลองอีกอำนาจหนึ่งซิว่าจะเข้ามาคลี่คลายได้ไหม ทุกๆ อำนาจนำมาใช้ ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขได้ มันก็หมายความว่าสถาบันบริหารมีอำนาจค่อนข้างสูง เกินกว่าที่สถาบันอื่นจะสร้างดุลยภาพได้ อำนาจเอียง ช่องว่างเยอะ"

สื่อบางส่วนก็เลยถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐประหาร

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "เป็นการเรียกร้องที่ล้าหลัง อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ ไม่ว่าอำนาจไหนก็ล้าหลัง มันก็เจ็บปวดที่เราต้องบอกว่า เราต้องหาทางจัดการให้ได้ หันหน้าเข้าเจรจาให้ได้ หรือรวบรวมอำนาจให้มากพอที่จะต่อรองให้ได้ เรายังหาวิธีไม่ออก ไม่เคยมีการรวบรวมได้มากพอ ตอนเดินขบวน 14 มี.ค.นึกว่าเยอะแล้ว แปลว่ามันยังเยอะไม่พอที่จะกดดันให้รัฐบาลยอมรับข้อบกพร่อง"

ที่จริงเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าจะกลับมาเป็นนายกฯ กลุ่มต่างๆ ในพรรคเริ่มมีปฏิกิริยา

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "การเมืองไม่นิ่งเลย แท้ที่จริงการเลือกตั้งคราวที่แล้วก็ชี้ให้เห็นว่า การหย่อนบัตรไม่ได้ชนะขาด แต่เป็นเพราะอำนาจหลายๆ อย่างของรัฐบาลนี้มีสูง จึงสามารถอยู่ในสถานภาพที่ยังไม่ต้องรับฟังเสียงเรียกร้อง และไม่มีตัวคลิก วันนี้คุณถึงถามว่ารบกัน 8 เดือนแล้วทำไมถึงยังอยู่ - ไม่มีตัวคลิกไง รัฐบาลอื่นพิสูจน์แล้วว่าเสียงวิจารณ์มีผล รัฐบาลนี้พิสูจน์แล้วเสียงวิจารณ์ไม่มีผล สุดท้ายจึงมีเสียงเรียกร้องทหาร แต่อย่างที่บอกเป็นอำนาจที่ล้าหลัง ถึงแม้จะไม่มีคนตายก็ตาม ก็ยังถือว่าเป็นการใช้กำลัง"

เราบอกว่าตอนนี้พันธมิตรฯ (และสื่อบางส่วน) ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะอยากกดดันให้ทักษิณไปก่อน

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะยังเชื่อมั่นกับระบบเลือกตั้ง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย การเดินขบวน การจัดตั้งภาคประชาชนเป็นทางออกชั่วครั้งชั่วคราว มันก็จะเทกลับมาในการเมืองในระบบ พันธมิตรฯ ก็อาจจะกดดันไม่ได้แล้ว จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ"

"แต่จะว่าทางตันตลอดก็ไม่ใช่ ทุกๆ หัวเลี้ยวมันก็มีวิธีตามธรรมชาติ เราจะเห็นภาพจากคราวนี้ เหมือนจะบอกว่าประชาธิปไตยช้า เราก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่ากว่าจะผ่านแต่ละยก ต้องช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหา ทุกวันทุกคืนอยู่อย่างนี้ มันไม่เหมือนเดิมที่ได้เร็วๆ ปัญหาที่ว่าประชาชนเบื่อหน่ายเพราะเราต้องมีส่วนร่วมตลอด ยกให้ใครทำไม่ได้ ยกแล้วเขาก็ขโมยไปในที่สุด ตอนนี้มันเหมือนแอบๆ ว่าจะยกให้ใครช่วยสักทีเถอะ เพราะเหนื่อยแล้ว"

"แต่ถ้าสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้อีกสักพักหนึ่ง เราก็จะเริ่มรู้ว่าโครงสร้างของระบบที่ค่อนข้างเปิดกว้าง สถาบันต่างๆ มีที่ทางพอสมควร มันฝ่าข้ามไปได้ แต่เราไม่ค่อยเชื่อโครงสร้างสถาบันสังคม สถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ว่าจะพาเราไปได้ ทั้งที่เราเริ่มรู้แล้วว่าแม้ไม่มีผู้บริหาร ระบบมันก็เดินหน้าไปได้ ถ้าเราสร้างระบบดี ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำ ระบบจะพยุงให้อยู่ได้"

อาจารย์อุบลรัตน์ชี้ว่า ตอนนี้ที่จริงก็อยู่ในสภาพที่เหมือนไม่มีรัฐบาล ไม่มีผู้นำ มาตั้งแต่ต้นปี

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "แล้วทำไมมันอยู่ได้ แต่นี่เราไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะระบอบมันรวมศูนย์ เป็นมายาในระบอบ เรารู้สึกว่าถ้าไม่มีผู้นำเราเวิ้งว้าง เราไม่มีความมั่นใจ ไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวในใจเรา ทุกคนหาที่พึ่ง ทางใดทางหนึ่ง"

"คราวนี้มันแสดงว่าทุกๆ คนช่วยประคับประคอง สื่อก็ประคับประคองจนตัวเอียงไปข้างหนึ่ง จนถูกต่อว่า ถ้าเราดึงชาวบ้านออกมาประคับประคองมากขึ้น มันก็ไม่ต้องเอียงมาก ถ้าเราคิดเชิงบวก ทุกคนประคับประคองเศรษฐกิจอยู่นะ น้ำมันแพงขนาดนี้ยังไม่เกิดการเดินขบวน สังคมไทยเป็นสังคมที่แปลกมาก น้ำมันแพงช่วงต้นคนอึดอัดมาก จำได้ว่า 14 ตุลา คนเข้าแถวซื้อข้าว น้ำตาล รัฐบาลอยู่ไม่ได้ อันนี้ยังไม่ได้วิเคราะห์ว่าสาเหตุคืออะไร แต่ทุกคนประคับประคองไม่ให้มันหนักหนากว่านี้ มันเลยยังไม่เกิดการเผชิญหน้าจนเสียหลัก

ภาคการเมืองเสียอีกที่ร้อนใจ แต่ภาคประชาชนเสียอีกที่ยังอดกลั้น รับภาระเศรษฐกิจด้วยตัวเอง พวกเราทุกคนเงินเริ่มไม่มี ตกงาน คล้ายปี 2540 นิดหน่อยแล้ว ความจริงสังคมไทยชาวบ้านมีความอดกลั้นสูง ส่วนการเมืองเป็นการเมืองชนชั้นนำ เล่นกันเกินเลย และทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน"

หลังจากทักษิณไป การเปลี่ยนแปลงจะไปทางไหน

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "สองด้านนะ ถ้าโลกาภิวัตน์เข้ามามาก ถ้ารัฐบาลใหม่เปิดช่องให้เข้ามา และไม่สามารถทัดทานได้เลย อาจจะทั้งเห็นด้วยหรือยอมจำนน เศรษฐกิจรากหญ้าบางส่วนจะถูกทำลาย อีกด้านคือถ้าเราสามารถจัดตั้งได้มากขึ้น ช่วงตั้งแต่ปีนี้เรื่อยไป ยังมีโอกาสที่พลังประชาธิปไตยจะขึ้นมาทัดทานโลกาภิวัตน์ได้ ก็จะช่วยให้เรายืนและสร้างกระแสประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม ความมั่นคงของเศรษฐกิจภายในประเทศ และดึงพลังโลกาภิวัตน์ได้ระดับหนึ่ง

เพราะตอนนี้พลังประชาสังคมก้าวหน้าทั่วโลกก็พยายามไม่ให้ทุนโลกมาครอบงำ จนกระทั่งการผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรม กลายเป็นการแสวงหากำไรลักษณะทุนผูกขาดมากเกินไป หรือมองในแง่บวกใน 7-8 ปีข้างหน้า อยากเห็นพลังประชาธิปไตยเรากับประเทศพันธมิตรสามารถยืนอยู่บนกระแสประชาธิปไตย และถอดสลักกระบวนโลกาภิวัตน์ได้ระดับหนึ่ง"

"หลายประเทศเขาทำ ข้อดีที่เราเห็น ตัวอย่างที่ละตินอเมริกา เวเนซุเอลา โบลิเวีย มีการเลือกตั้งใหม่ ระบบการเมืองใหม่กำลังพยายามจะทัดทานระบบเสรีนิยมใหม่ เขาผูกพันธมิตรกัน การเมืองรูปแบบใหม่นี้เราไปดูแล้วรู้สึกมีความหวัง แต่ของเรายังไกล อาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 7-8 ปีที่จะตั้งหลัก สร้างพรรคการเมืองที่มีรากฐานเป็นมหาชน จนกระทั่งส่งให้มีการเลือกตั้งที่เรียกร้องให้มีผู้นำ ที่แนบแน่นกับกระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างเป็นจริง เราไม่เห็นเลยนะในเอเชียอาคเนย์ แต่การเคลื่อนไหวในภาคประชาชนในเอเชียอาคเนย์ก็ร่วมมือกัน ก็เชื่อว่าจะต้องอาศัยจังหวะใหม่รวบรวมจัดตั้งกำลังกันพอสมควร"

ดุลอำนาจในสังคมจะเป็นอย่างไร ภายหลังการไล่ทักษิณ

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "เราเหมือนจะแกว่ง ทุกคนเรียกร้องสถาบัน เหมือนกับแกว่ง ต้องกลับมาที่ตั้งแล้วต้องหาเข็มประชาธิปไตยให้เจอ ถ้าเรากลับมาแล้วถอยหลังไปไกลมากเกินไป โอกาสที่เราจะสู้กับโลกาภิวัตน์มันจะไม่ทัน เพราะเราไม่ใช่ถอยหลังกลับไปเพื่อปิดประตู เศรษฐกิจมันผูกพันกับเศรษฐกิจโลกไปแล้ว การเมืองก็ผูกพันกับการเมืองโลกไปแล้ว ฉะนั้นต้องถอยเพื่อตั้งรับ ไม่ใช่ถอยเพื่อกลับไปสู่ยุคเก่า เป็นไปไม่ได้ การถอยคราวนี้น่าจะเป็นการถอยชั่วคราว แต่ต้องหาทางออกของระบอบประชาธิปไตยใหม่ให้เจอ ไม่แน่ใจว่าจะหาอย่างไร แต่คิดว่าทุกคนก็ต้องคุยกัน สื่อก็ยังเป็นที่พึ่ง

ที่จริงทุกครั้งเหมือนช่วง 2540 สื่อก็พร้อมใจกันเปิดเวทีเรื่องของการเมือง และก็ได้ความเห็นทุกวัน คิดว่าคราวนี้ก็เช่นกัน ต้องพยายามเปิดให้มีการถกเถียง เราจะเห็นว่าตอนนี้ทุกฝ่ายเริ่มขยับซ้าย-ขวา-กลาง-กลางขวา-กลางซ้าย มันก็เป็นสีสันประชาธิปไตย สื่อก็ต้องไปทบทวนและตั้งหลักว่า ถ้าจะนำ-พร้อมที่จะนำไปข้างหน้าเลย เมื่อสื่อเปิดพื้นที่บอกว่าเราจะไปทางไหน เราจะได้คนที่เข้ามาช่วยกันถกเถียง"

แต่สื่อเองตอนนี้ก็แกว่งแบบที่ต้องถอยกลับเยอะ

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ตอนนี้ลูกตุ้มมันแกว่ง มันมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่บอกว่าต่อต้านทักษิณแล้วกลับไปหาอำนาจเก่า ที่จริงก็มีเสียงคนที่ไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย แต่ไม่มีพื้นที่ ทำอย่างไรให้สื่อเปิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา คนที่ไม่เอากับคุณทักษิณและคุณสนธิไม่มีพื้นที่จะพูด เพราะถ้าพูดก็จะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าอย่างนั้นเอาทักษิณใช่ไหม แม้ปฏิเสธเสียงนั้นก็ไม่ได้รับความไว้วางใจ ที่ว่าเอียงที่ว่าต้องวิพากษ์ ก็ตรงจุดนี้ ลองระดมความเห็นสิว่าทางออกอีกหลายๆ อย่างมีเหตุมีผลหรือเปล่า"

เราบอกว่าคนไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย หรือคนเสนอสันติวิธีพูดแล้วไม่เป็นประเด็นข่าว

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "อย่าง อ.ธงชัย ขยับกึกกักๆ ไม่รู้จะพูดตรงไหน มันยากมากที่จะมีความเห็นที่แตกต่างและเสียงดังๆ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะบอกว่าเป็นเสียงค้านพันธมิตรฯ แต่ไม่ใช่ เป็นเสียงของเพื่อนไม่ใช่เสียงของศัตรู"

ใช่ไหมว่า พอทักษิณไปแล้ว ยังไงกลุ่มทุนก็ยังมีอำนาจครอบงำเหมือนเดิม พัฒนาการสังคมไทยเคยปกครองด้วยทหาร ด้วยนักการเมือง แล้วตอนนี้ก็เป็นยุคที่กลุ่มทุนโดดลงมาเอง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ถึงได้บอกว่า หลังจากนี้ไปภาคประชาชนต้องพยายามสู้กับ globalization นี่คือทุนโลก เราต้องหาทางออกให้ได้ว่าต้องไม่เอียงไปข้างหนึ่ง จนกระทั่งขาดความเป็นประชาธิปไตย มันเป็นทุนก็จริงแต่ยังมีกระแสความเป็นประชาธิปไตย มีโครงสร้างระบบที่ให้ความเป็นธรรมกับคนที่อยู่ในช่องว่างอำนาจ เราปฏิเสธความเป็นทุนไม่ได้แล้ว แต่ก่อนบอกว่าเป็นทหาร แต่ว่าทุนก็ใช้ทหาร ทุนมันเข้ามาตั้งนานแล้ว

14 ตุลาเป็นการเปิดเสรีให้ทุนเติบโต เลิกการผูกขาดจากทหาร ทุนใช้เวลาเติบโตมา 30 ปีแล้วนะ แต่ใช้นายหน้า ตอนนี้ทุนเข้ามาตรง ต่อไปก็จะเป็นต้นแบบให้เข้ามาตรงแล้วนะ การเมืองอาจจะถอยกลับไปสู่การเป็นตัวแทนแบบประชาธิปัตย์สักพักหนึ่ง ต่อไปกลุ่มทุนที่มีกำลังกล้าแข็งในอนาคต อาจจะมองว่าโมเดลนี้เป็นโมเดลที่ดีสำหรับพวกเขา ฉะนั้นในช่วงเวลานี้ภาคประชาชนจะต้องกดดัน ให้มีพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาถ่วงดุลให้ได้ ในสภาฯ ต้องมี หรือแม้กระทั่งในพรรคเดียวกันก็ต้องมีปีกที่เป็นประชาธิปไตย

อย่างพรรค Social Democrat เขาพยายามถ่วงดุล พรรคไทยรักไทยเป็นประชาธิปไตยหรือยัง สุ้มเสียงตรงนี้มันหาไม่มี ถ้ามองในแง่ดีพรรคไทยรักไทยจะปฏิรูปตัวเองไหม ในช่วงนี้ไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า ถ้ายังมีอำนาจต่อไป ให้มีลักษณะความเป็นฐานมหาชนมากขึ้น มีหลายๆ ปีกที่เป็นประชาธิปไตย จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ประชาธิปัตย์เองก็ต้องปรับกลไกพรรคอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน ถ้าจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารในยุคหน้า เพราะคนก็มองว่าไม่มีพลัง ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเผชิญกับปัญหา"

เราบอกว่าถ้า ปชป.เป็นรัฐบาลแบบตัวแทน อ่อนแออยู่สักพัก ก็อาจจะมีทักษิณ 2 ผู้นำคนใหม่จากกลุ่มทุนผูกขาด

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ "ใช่ แต่ถ้าดูในเชิงผู้นำ บุคลิกอาจจะแตกต่างเพราะได้เรียนรู้จากโมเดลนี้ โมเดลนี้อาจจะให้เรื่องโครงสร้าง แต่ก็ให้บทเรียนว่าบุคลิกผู้นำแบบนี้ใช้ไม่ได้กับสังคมไทย การไม่รับฟังคนอื่น ผู้นำคนใหม่อาจจะต้องเรียนรู้ด้านกลับด้วยว่าต้องเปิดกว้างกว่านี้ ถ้าจะเป็นบุคคลสาธารณะ เราก็หวังอย่างนั้น"

"ประชาธิปัตย์ที่คุณกรณ์มาก็ใช่ ตอนนี้ได้คัดเลือกคนที่ดีที่สุดของทุนมาแล้ว ดีในเชิงภาพลักษณ์"

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard (1)
webboard (2) ธนาคารนโยบายประชาชน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



120949
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be w rought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทบาทของสื่อในการเมืองร่วมสมัย
บทความลำดับที่ ๑๐๓๓ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ในสังคมไทยองค์กรอะไรบ้างที่มีการจัดตั้งสูงสุดก่อนหน้านี้-ทหาร ขณะนี้อยู่ในสภาวะที่จะต้องรวบรวมกำลังให้มั่นคงที่สุด เพราะถูกตั้งคำถามว่าการจัดตั้งนั้นทำไปเพื่ออะไรในอดีต ถัดมาคือราชการ พรรคราชการที่เขาเรียกกัน มีอำนาจต่อเนื่องยาวนาน ถัดมาในภาวะข้างหน้าน่าจะเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชน ที่รวมตัวกันเพราะความคิด วิธีอบรม สื่อมวลชนก็เป็นปัญญาชนของสังคม ตรงนี้เชื่อว่าจะเข้ามาทดแทน"

"ถามว่าการต่อสู้ครั้งนี้ก้าวหน้ากว่าเดิมไหม ก็ก้าวหน้า ต้องยอมรับว่าการโต้แย้งกันอย่างเอาเป็นเอาตายดีกว่าการใช้อาวุธ ใช้กำลังรัฐประหาร คราวนี้ก็เป็นตัวพิสูจน์ว่าบนข้อจำกัดและการตั้งคำถามว่า สื่อเป็นกลางหรือไม่ มันกลายเป็นเวทีช่วยยับยั้งการใช้ความรุนแรง แต่สภาพตรงนี้จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายไหม ต่อไปข้างหน้าถ้าตั้งสติได้ ก็ต้องเชิญชวนทุกฝ่ายมาคุยกัน โอ.เค.นั่นคือโครงสร้างของพรรคการเมืองต้องพร้อม เอาข้อเท็จจริงจากพรรคการเมืองมาพูด สื่อเป็นตัวถ่ายทอด"

 

ต่างประเทศเขาเรียก เวลาบอก The Gardian เขาจะรู้ว่าหัวก้าวหน้าหน่อย Daily Mirror แต่เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรค Labour ตอนหลังถูกซื้อไป ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ประกาศว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นตัวแทนคนชั้นไหน แทนอุดมคติแนวไหน ไม่ประกาศ แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก หลัง 2475 ก็ชัดเจน มีหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลใหม่ มีหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลเก่า คือเป็น royalist กับนักวิชาชีพที่เป็นกลาง ใช้คำว่า objectivity คืออยากได้ประชาธิปไตย อยากได้รัฐบาลแบบใหม่แต่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรจนไม่ลืมหูลืมตา"