Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

เกี่ยวกับการใช้สื่อและการควบคุมสื่อ
อริสโตเติลสั่งสอนนักพูดปากพล่อย - ยุทธศาสตร์การควบคุมสื่อ
ผศ. เมินรัตน์ นวะบุศย์ - จรัล มานตรี
จักรวาลงานวิจัย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ทางกองบรรณาธิการเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นบทความ ๒ เรื่อง ซึ่งเขียนขึ้นมาต่างกรรมต่างวาระ แต่มีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกัน
ซึ่งได้พูดถึงการใช้สื่อและการควบคุมสื่อ ประกอบด้วย
เรื่องที่ ๑ : การใช้ตรรกะกับวาทกรรมทางการเมือง - โดย ผศ.เมินรัตน์ นวะบุศย์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
เรื่องที่ ๒ : ยุทธศาสตร์การควบคุมจัดการสื่อโดยรัฐ ฯ - โดย จรัล มานตรี
นักศึกษาปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
หมายเหตุ : ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1032
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)





Aristotle สั่งสอนนักพูดปากพล่อย - ยุทธศาสตร์การควบคุมสื่อ
ผศ.เมินรัตน์ นวะบุศย์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
จรัล มานตรี : นักศึกษาปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. การใช้ตรรกะกับวาทกรรมทางการเมือง
ผศ.เมินรัตน์ นวะบุศย์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ในบริบททางการเมืองของสังคมไทยร่วมสมัย นอกจากหัวข้อที่มีการกล่าวถึงและถามหากันมากที่สุดคือ "จริยธรรม" (Morality) ของผู้นำแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญและน่าสนใจในเชิงวิชาการไม่น้อยไปกว่านั่นคือ "วาทกรรม"(Discourse) ทางการเมือง โดยเฉพาะวาทกรรมของผู้นำที่เป็นนักวาทศิลป์(Rhetoric) และมีสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นเครื่องมือ

ดังเช่นที่ นางสาวจิราภรณ์ เจริญเดช ทำวิจัยเรื่อง การแปลงสิทธิอำนาจเป็นอำนาจ ผ่านรายการวิทยุนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน : ศึกษากรณีวิกฤติการความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 15 วิทยานิพนธ์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2548 มีสาระสำคัญจากการสัมมนา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 โดยผู้ทำวิจัยได้กล่าวเอง ดังนี้

"สิ่งที่ชัดเจนในรายการวิทยุ นายกทักษิณคุยกับประชาชน คือนายกฯ ชอบพูดยืนยันและรับรองว่าสามารถทำได้ แก้ปัญหาได้ รวมทั้งการให้คำมั่นสัญญาต่างๆ เพื่อเป็นการปลอบประโลม ... เพื่อวิเคราะห์ว่าท่านได้ใช้อำนาจอย่างล้นฟ้าจริงๆ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่านายกฯ คนนี้พูดมากที่สุดเท่าที่มีหลักฐานมา"

"วาทกรรม" หมายถึงคำพูดหรือข้อเขียนของใครก็ตาม ที่มีอิทธิพลต่อความคิดคำนึงและพฤติกรรมของมวลชน เช่น วาทกรรมที่ว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เป็นข้อความที่หาที่มาไม่พบ แต่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสำนึกทางจริยธรรม และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทย

จากงานวิจัยดังกล่าว พบว่าคำพูดของผู้นำ ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ รายการ "นายกทักษิณพบประชาชน" มีผลต่อวิธีคิด จิตสำนึก และพฤติกรรมของประชาชนที่ฟังรายการได้จริง แสดงว่าการใช้ "คำพูด" ที่อาจถูกใจแม้ว่าจะไม่ถูกต้อง จะเปรียบเสมือนดาบสองคมเสมอ

คำพูดประเภท "ถูกใจ แม้ไม่ถูกต้อง" เป็นที่มาของวิชา "ตรรกศาสตร์" (Logic) ตั้งแต่สมัยเมื่อ 2,000 กว่าปีที่ผ่านมา Aristotle(384-322 BC.) ได้เขียนหนังสือ Organum เป็นแนวทางการใช้หลักเหตุผลในคำพูด หรือ หลักการพูดอย่างมีเหตุผล เพราะความสับสนของนักพูดและนักการเมืองในสมัยนั้น ที่เน้นการพูดจาน่าฟัง โน้มน้าวจิตใจ อาศัยแต่คำพูดที่สละสลวย จึงมีคนเรียนวิชาวาทศิลป์ และใช้หลักวิชานั้นมากมาย แต่ก็แทบจะหาความหมายจากคำพูดไม่ได้ นักพูดสามารถพูดให้ผู้ฟังเพลิดเพลินได้ 3 ชั่วโมง ทั้งที่อาจมีสาระทางตรรกะเพียง 3 ประโยค

วิชาตรรกศาสตร์ มีความเก่าแก่แต่ไม่ล้าสมัย.. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ได้วิเคราะห์สถานการณ์การลอบสังหารนายกรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น 3 ตอนคือ

1)หากสถานการณ์เป็นความจริง
2)หากเป็นการสร้างสถานการณ์ และ
3)ข้อเสนอแนะสำหรับนายกทักษิณ

สิ่งที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นทางตรรกศาสตร์ คือตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 มีสาระสรุปว่า

1)หากมีคนลอบสังหารนายกจริง แสดงว่านายกคนนี้เป็นที่เกลียดชังของประชาชน
ถึงขั้นรุนแรงรับไม่ได้ ดังนั้นนายกไม่ควรปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
2)หากเป็นการสร้างสถานการณ์ แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์ หลอกลวงประชาชน หมดความน่าเชื่อถือ
ซึ่งก็แสดงว่านายกไม่ควรปฏิบัติหน้าที่อยู่ดี

บทความของอาจารย์หมอประเวศในลักษณะนี้ ทางตรรกศาสตร์เรียกว่า "ทวิบถ" (Dilemma) กรณีที่ใช้นี้เรียกว่า ทวิบถยืนยันธรรมดา(Simple Constructive Dilemma) ลักษณะของการใช้เหตุผล เป็นการกล่าวถึงข้อความ 3 ข้อความ ที่เป็นเงื่อนไขกัน กล่าวคือ สาเหตุที่ 1 ทำให้เกิดผลที่ 1 และสาเหตุที่ 2 ทำให้เกิดผลที่ 1 หรือกล่าวได้ว่าสองสาเหตุก่อให้เกิดผลเดียวกัน เมื่อนำมาใช้เหตุผลโดยวิธี "ตรรกบท" (Syllogism) จะเป็นหลักการว่า สาเหตุที่ 1 หรือสาเหตุที่ 2 ทำให้เกิดผลที่ 1 เมื่อมีสาเหตุ 1 หรือ 2 อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็ตาม ผลที่ 1 ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย แสดงเป็นข้อความได้ดังนี้

"หากมีคนเกลียดชังถึงขั้นคิดลอบสังหารนายกแล้ว นายกควรลาออก และหากเป็นการสร้างสถานการณ์ ซึ่งแสดงการหลอกลวงประชาชนจนหมดความน่าเชื่อถือแล้ว นายกก็ควรลาออก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือสร้างสถานการณ์ก็ตาม นายกก็ควรจะลาออกอยู่ดี"

หรือเขียนเป็นสัญลักษณ์ทางตรรกศาสตร์ ได้ดังนี้

[(P ฎ R) ู (Q ฎ R)], (PฺQ) \ R ...หรือ
[(PฺQ) ฎ R)], (PฺQ) \ R

[(เหตุ 1 เกิด ผล 1) และ (เหตุ2 เกิด ผล 1)], (มี เหตุ 1 หรือ เหตุ 2) ดังนั้น มี ผล 1 ...หรือ
[(เหตุ 1 หรือ เหตุ 2) เกิด ผล 1], (มี เหตุ 1 หรือ เหตุ 2) ดังนั้น มี ผล 1

บางท่านที่รู้จัก Logic มาบ้าง อาจเห็นว่าการใช้เหตุผลลักษณะนี้ เป็นการใช้เหตุผลเข้าข้างตนเอง ในลักษณะ "เหตุผลวิบัติ" (Fallacy) ชนิดหนึ่ง (ในกลุ่ม Material Fallacy) แต่การใช้ Dilemma แบบที่เป็น Fallacy เป็นไปเพื่อการโน้มน้าวจิตใจให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าผลการเลือกจะไม่มีสาระตามข้อสรุปที่สมเหตุผล(Valid)ใดๆ ก็ตาม ส่วนการใช้เหตุผลของอาจารย์หมอประเวศ เป็นข้อความตรงไปตรงมา ไม่โน้มน้าวจิตใจ หรือบังคับให้ใครต้องเลือก ในขณะที่ผลสรุปก็สมเหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์ทุกประการ

บางท่านอาจเถียงอีกว่า บทความของท่านอาจมีบางส่วนที่เป็นเท็จ ขอให้เข้าใจว่า หลัก "ตรรกบท" ทางตรรกศาสตร์ที่กล่าวถึงในที่นี้ ยืนยันการใช้เหตุผลที่สมเหตุผลเท่านั้น ส่วนเรื่องจริงหรือเท็จ เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินโดยหลักและวิธีการอย่างอื่นอีกที

จากงานวิจัยของคุณจิราภรณ์ เจริญเดช ได้ยืนยันปรากฏการณ์การสร้างวาทกรรมของผู้นำ ที่นำสู่ความแตกแยกในสังคม เพื่อประโยชน์ตน ใช้คำกล่าวที่ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง ใช้วาทศิลป์ที่ไร้สาระทางตรรกศาสตร์ ก่อความสับสนวุ่นวาย ไม่ต่างจากสังคมกรีซโบราณสองพันกว่าปีที่แล้ว

น่าสนใจว่า ตอนนั้น Aristotle สร้างตำราทางตรรกศาสตร์ เพื่อสั่งสอนนักพูดปากพล่อย ให้รู้จักเคารพกฎเกณฑ์การพูดอย่างมีเหตุผล ส่วนตอนนี้ในสังคมไทย อาจารย์หมอประเวศ นำเสนอความเห็นต่อสังคม ตามหลักตรรกศาสตร์ชั้นสูง เพื่อสั่งสอนนักการเมือง ที่ชอบใช้วาทศิลป์สร้างวาทกรรม ที่นำไปสู่ผลประโยชน์แต่พวกตน ไม่สนใจความถูกต้องตามหลักเหตุผล

น่าสนใจว่า ตรรกศาสตร์ของ Aristotle สมัยนั้น ส่งผลให้มาตรฐานการพูดสูงขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น นักพูดระมัดระวังมากขึ้น ..แตนักการเมืองพูดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยนี้ จะมีสำเหนียกสำนึก ต่อตรรกศาสตร์ของอาจารย์หมอประเวศ ได้มากน้อยสักเพียงใด ?

ภาคผนวกประกอบบทความ 1.

2. ยุทธศาสตร์การควบคุมจัดการสื่อโดยรัฐ : จาก "ระบบอุปถัมภ์" สู่ "The Reporter"
จรัล มานตรี : นักศึกษาปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากยึดหลักการเป็นที่ตั้ง สื่อมวลชนจะต้องเป็นอิสระ ไร้การครอบงำและแทรกแซงจากกลุ่มพลังใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอำนาจจากรัฐ ทั้งนี้เพื่อบรรลุภาระหน้าที่อันพึงมีต่อสังคมส่วนรวม สื่อมวลชนที่ถูกพันธนาการ จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของสุนัขเฝ้าบ้าน (watchdog) นายประตูข่าวสาร (gate keeper) ผู้กำหนดวาระข่าวสาร (agenda -setting) และสุดท้ายในฐานะกระจก (mirror) ให้กับสังคมได้เลย ด้วยเพราะสื่อมวลชนเหล่านั้นจะเป็นได้เพียงแค่ทาส สมุนบริวารของผู้มีอำนาจที่คอยบอกกล่าวความคิดความอ่านของผู้เป็นนายเท่านั้น

จากบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ พบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว รัฐบาลเกือบทุกยุคทุกสมัยมีมาตรการซ่อนเร้นในการควบคุมจัดการสื่อใน 3 ลักษณะด้วยกันคือ ระบบอุปถัมภ์ในวงการสื่อ การครอบงำและแทรกแซงสื่อโดยรัฐในรูปแบบต่างๆ และการสร้างสื่อเฉพาะกิจด้วยวัตถุประสงค์บางประการ ซึ่งสภาพการณ์เหล่านี้ยังคงปรากฏให้เห็นได้ตราบเท่าทุกวันนี้

1. ระบบอุปถัมภ์ในวงการสื่อ ระบบดังกล่าวอยู่คู่กับวงการสื่อมวลชนไทยมาตั้งแต่เมื่อครั้งในยุคก่อร่างสร้างตัวของกิจการหนังสือพิมพ์ - สื่อมวลชนชนิดแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศ สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสในอดีต เรียกหนังสือพิมพ์ที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนักการเมือง ผู้มีอำนาจ และรัฐบาลในยุคเดียวกับเขาว่า "หนังสือพิมพ์โสเภณี" (journalistic prostitutes) พฤติกรรมดังกล่าวได้ดำเนินควบคู่ไปกับพัฒนาการของหนังสือพิมพ์และแผ่ขยายไปยังสื่อมวลชนแขนงอื่น และยังคงดำรงอยู่ต่อไปแม้แต่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ปรากฏอยู่ในงานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง "วิเคราะห์หลักการประเมินคุณค่าข่าวเพื่อการลงตีพิมพ์ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยส่วนกลาง 12 ฉบับ พ.ศ.2549" ของ ชัยนันท์ นันทพันธ์ (2549, หน้า 25-35) นักประชาสัมพันธ์ผู้คลุกคลีอยู่กับวงการหนังสือพิมพ์มายาวนานนับสิบปี ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกบรรณาธิการหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ 12 ฉบับที่วางขายบนแผงหนังสือปัจจุบัน

ผลของการวิจัยบ่งชี้ว่า สายสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ ระหว่างบรรณาธิการกับนักการเมืองซีกรัฐบาล ยังคงปรากฏอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์เหมือนดังที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต ซึ่งสิ่งนี้คลอนแคลนต่อหลักการประเมินคุณค่าข่าว (News Evaluation) เพื่อการพิจารณาลงตีพิมพ์ในหน้า 1 อยู่ไม่น้อย บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้สัมภาษณ์ ความตอนหนึ่งว่า

"ข่าวที่คนใหญ่คนโตฝากมา หรือนักการเมืองที่มีเส้นใหญ่กับเจ้าของหนังสือพิมพ์ เราก็ต้องลงให้ จะพิจารณาไม่ลงให้ก็คงไม่ได้ เพราะผมเองก็เป็นลูกจ้างเขา กินเงินเดือนเขา เรื่องของอุดมการณ์ คุณก็ว่ากันไป หากขัดแย้งกับนโยบายของผู้บริหารหนังสือพิมพ์แล้ว เราจะทำงานต่อไปได้อย่างไร เรื่องของวิชาการพวกคุณก็ว่ากันไป เรื่องปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดของผมและครอบครัวก็สำคัญเหมือนกัน

ส่วนที่คุณถามว่า การขอให้ลงข่าวและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้มีไหม? ผมยอมรับว่า "มี" ผมเองก็เคยรับ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่อาจเป็นตั๋วเครื่องบินและพ็อกเก็ตมันนี่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศก็มี บางครั้งก็เป็นเรื่องสิ่งตอบแทน ผมเองบอกคุณตรงๆ ว่า ผมส่งลูกเรียนเมืองนอกได้ 2 คน ก็เพราะรัฐมนตรีท่านหนึ่งช่วยเหลือหาที่ทางให้ และออกค่าใช้จ่ายให้ ผมช่วยท่านให้เป็นข่าวได้ แต่ว่าอย่าให้น่าเกลียดจนเกินไป นี่หากคุณไม่สนิทและเป็นเพื่อนผมแล้ว ผมก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้ และบอกก่อนว่าอย่าเอ่ยชื่อผมก็แล้วกัน อ่อ ... เกือบลืมบอกคุณไปว่า มีนักธุรกิจบ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ผมซื้อบ้านหลังหนึ่งพร้อมที่ดินครึ่งไร่ นักธุรกิจคนนี้ก็สร้างบ้านแถมให้ผมด้วยอีก 1 หลัง อย่าพูดไปนะ เพราะผมช่วยเขียนเชียร์ท่านอยู่อย่างสม่ำเสมอนั่นแหละ

คุณก็รู้ใช่ไหมว่า อุดมการณ์มันกินไม่ได้ แต่ก็อย่าให้น่าเกลียดจนผู้อ่านจับได้ก็แล้วกัน เราเรียนมาแล้วเรื่องการเขียนข่าวที่ดี แต่บางทีข่าวที่ดีก็มีอยู่มากที่ไม่ลงตีพิมพ์ เพราะมันอยู่ที่ความพอใจของผม"

2. การครอบงำและแทรกแซงสื่อโดยรัฐในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกันกับระบบอุปถัมภ์ในวงการสื่อมวลชน สภาวะการครอบงำและแทรกแซงโดยรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในทุกๆ รัฐบาลแม้แต่ในปัจจุบัน ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2547, หน้า 1-30 ) บันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2544-2547 รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด และการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ด้วยการใช้อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองควบคุมและแทรกแซง สามารถแยกพิจารณาในแต่ละสื่อได้ ดังนี้

2.1 หนังสือพิมพ์ รัฐบาลได้ใช้งบโฆษณาและวิธีการอื่นๆ เพื่อเข้าครอบงำและแทรกแซงสื่อเอกชนชนิดนี้

"เรามันเป็นเพียงระดับผู้ปฏิบัติการ ทำในสิ่งที่เป็นข่าว แต่ถ้าข้างใน เขาไม่เล่นด้วยก็จบ มันขึ้นอยู่กับนายทุนและบรรณาธิการ ปัจจุบันข่าวที่ออกมามันก็เลยเป็นอย่างนี้ หากหนังสือพิมพ์เราด่าทักษิณ รุ่งขึ้นหน้าขาวจั๊ว ไม่มีโฆษณาสักหน้า มันตัดน้ำเลี้ยงกันอย่างนี้ครับ เพราะโฆษณามาจาก ปตท. การบินไทย บางส่วนที่รัฐเขาดู ไม่รวมถึงกิจการของคนในรัฐบาล" ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (สัมภาษณ์ 20 ส.ค.2549) ที่ไม่ยินยอมให้เปิดเผยชื่อระบุ

ขณะที่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (สัมภาษณ์ 20 ส.ค.2549) ขอสงวนนาม เล่าถึงการคุกคามของรัฐในอีกรูปแบบหนึ่งว่า

"เมื่อครั้งที่น้องช่างภาพของ "แนวหน้า" ไปถ่ายม๊อบมอเตอร์ไซค์ที่ตามเชียร์นายกฯ ช่วงหาเสียงที่สนามหลวง เขาไปถ่ายรูปวินมอเตอร์ไซค์กำลังเซ็นชื่อรับเงินกัน ภาพอย่างนี้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางหัวหน้าข่าวใจถึงหรือเปล่า? ปรากฏว่า หัวหน้าข่าวเขาถึง เขาก็ลงตีพิมพ์ข่าวนี้ แต่ปรากฏว่า รุ่งขึ้น วินมอเตอร์ไซค์ก็ไปปิดหน้าหนังสือพิมพ์แนวหน้าเต็มพรืดไปหมด"

2.2 วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในทางกฎหมายสื่อทั้งสองตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐมาเป็นเวลาช้านาน ทำให้ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มากนัก ความสัมพันธ์ของรัฐบาลและสื่อมวลชนมีลักษณะทับซ้อนกันแนบสนิท โดยประชาชนจะถูกกันออกไปจากพื้นที่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง ทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชนต่างร่วมมือกัน เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างในการเสนอข่าวสารไปยังสาธารณชน (สุรัตน์ เมธีกุล, สัมภาษณ์ 8 ส.ค.2549)

3. การสร้างสื่อเฉพาะกิจด้วยวัตถุประสงค์บางประการ หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเผด็จการพลเรือนในขณะนั้น โดยการนำของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา รัฐบาลได้มีการออกหนังสือพิมพ์เองชื่อ "เจ้าพระยา" เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐในการครอบงำประชาชน ในรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้มีการนำเอาวิธีการเช่นนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน หากแตกต่างกันในด้านวัตถุประสงค์เท่านั้น

แม้ว่า จะเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ครอบครองสื่อไว้ในกำมือมากมาย ทั้งฟรีทีวี 6 ช่อง สถานีวิทยุทั่วประเทศอีกกว่า 200 สถานี เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับ หากคิดเฉพาะฟรีทีวีเพียงอย่างเดียวสามารถเข้าถึงประชาชนได้กว่า 90% แต่มีรายงานข่าวแจ้งว่า ท่ามกลางสภาวการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง บ้านเมืองแบ่งออกเป็นพวกที่รัก และพวกที่เกลียดชังผู้นำรัฐบาล โดยมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งพุ่งเป้าโจมตีไปที่ตัวผู้นำโดยอาศัยสื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เว็บไซต์ ทีวีดาวเทียม และอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการรุกฆาตเอาคืนบ้างด้วยยุทธศาสตร์เดียวกัน "ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน"

ความคิดดังกล่าวผุดพรายเป็นจริงขึ้นมา พร้อมๆ กับการปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในห้วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ของ "เว็บไซต์รีพอร์ตเตอร์" (www.reporter.co.th), หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "เดอะ รีพอร์ตเตอร์" รวมทั้งทีวีดาวเทียม "MV 1" ที่แพร่ภาพผ่านระบบดาวเทียมดวงเดียวกับที่เอเอสทีวี ของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำต่อต้านรัฐบาลคนสำคัญใช้อยู่ ทั้งนี้ โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นจุดขาย

สื่อใหม่ทั้งหมดเป็นของบริษัท เดอะ รีพอร์ตเตอร์ (The Reporter) จำกัด ร่ำลือกันมาว่าหนึ่งในทีมผู้บริหารเป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล จึงกล่าวได้ว่า บริษัท เดอะ รีพอร์ตเตอร์ จำกัด ก็คือสื่อเอกชนภายใต้ร่างทรงของรัฐบาลนั่นเอง

สำหรับเว็บไซต์รีพอร์ตเตอร์ สื่อออนไลน์น้องใหม่ ตั้งอยู่ที่ 23/3 ชั้น 2 โครงการรอยัลซิตี้ (บล็อกอี) ถนนพระรามที่ 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง เนื้อหานำเสนอข่าวสารที่เป็นแง่บวกกับรัฐบาลโจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐ ขณะที่นิตยสารรายสัปดาห์ เดอะรีพอร์ตเตอร์ มีทั้งหมด 64 หน้า ราคาขาย 15 บาท มีเนื้อหาทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศ กีฬา และบันเทิง วางคอนเซ็ปต์ว่า เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร

เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นการปกป้องการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และดิสเครดิตข่าวของฝ่ายตรงกันข้าม เช่นเดียวกับกับเว็บไซต์ในเครือเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากขณะที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ประชาชาติธุรกิจ มติชน ผู้จัดการ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ปีกตรงข้ามรัฐบาล พยายามขุดคุ้ย และตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลของบริษัทกุหลาบแก้วว่า เป็นนอมินีของต่างชาติ แต่ทว่าหนังสือพิมพ์ เดอะรีพอร์ตเตอร์ ฉบับปฐมฤกษ์กลับเป็นฉบับเดียวที่ชี้ประเด็นว่า "คลี่กลีบกุหลาบแก้ว สายเลือดไทยพันเปอร์เซ็นต์"

บทสรุป
ตลอดเวลาที่ผ่าน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้พยายามสร้างวงจรอุบาทว์ให้เกิดขึ้นในวงการสื่อมวลชนไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระบบอุปถัมภ์ การครอบงำและแทรกแซงสื่อด้วยรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการสร้างสื่อเฉพาะกิจขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์หมุนเวียนที่เกิดขึ้นซ้ำซากไม่รู้จักจบสิ้น เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในรัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่ในขณะนี้

เป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษมาแล้วที่รัฐบาลได้ยื่นมือเข้ามาแทรกแซง และครอบงำสื่อมวลชนในแนวทางแห่งอำนาจนิยม (Authoritariannism Theory) (สมควร กวียะ,2536,หน้า 95-100) ยึดโยงไปกับทฤษฎี Hegemony ของ Antonio Gramsic ด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน (สมเกียรติ ตั้งนโม, สัมภาษณ์ 2 ส.ค.2549) มีเพียงหนังสือพิมพ์เพียงไม่กี่ฉบับและเว็บไซต์ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นอิสระ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ได้กลายเป็นเครื่องมือ เพื่อควบคุมหลอมรวมความคิดคนในชาติ ให้เป็นไปในทิศทางที่รัฐมุ่งหวัง ด้วยการสร้างมายาคติ (Myth) อันหลากหลายให้เกิดขึ้นในสังคมไทย รัฐบาลพอใจกับเนื้อหาของสื่อมวลชนที่มีแต่ความเพ้อฝัน เรื่องรักใคร่ กามารมณ์และนวนิยาย เพื่อกล่อมเกลาประชาชนให้หลงอยู่แต่โลกของความเป็นเด็ก ไร้การต่อต้าน ขณะที่วาทกรรม (discourse) ต้องห้าม อันได้แก่ การโจมตีและเรื่องราวในด้านลบที่มีต่อรัฐไม่ปรากฏผ่านสื่อใด ๆ

แนวคิดรัฐดังกล่าวขัดแย้งรุนแรงกับฐานคติในทำหน้าที่บทบาทของสื่อ เพราะในความเป็นจริงดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า สื่อมวลชนจะต้องเป็นอิสระจากข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งปลดแอกตัวเองจากแรงกดดันของกลุ่มอิทธิพล เพื่อบรรลุภาระหน้าที่ที่มีต่อสาธารณชน หากสื่อมวลชนถูกรัดตรึงด้วยโซ่ตรวนเช่นนี้แล้ว สื่อมวลชนก็จะเป็นได้เพียงแค่ทาส ที่ทำได้เพียงบอกกล่าวความคิดของนาย และสื่อก็จะมิใช่สื่อมวลชนอีกต่อไป แต่จะเป็นได้แค่เพียง "สื่อของนายทาส" เท่านั้นเอง !

ภาคผนวกประกอบบทความ 2.
..............................................................................................................................

บรรณานุกรม
หนังสือและบทความในหนังสือ
- ภูษณ ปรีย์มาโนช. (2543). หลักคิดใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ภัคธรรศ.
- สมควร กวียะ. (2536). การสื่อสารมวลชน บทบาทหน้าที่ เสรีภาพและความรับผิดชอบ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
- สุรัตน์ เมธีกุล. (2548). อำนาจรัฐ อำนาจทุนกับเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย. เอกสารประกอบคำสอนในรายวิชาในรายวิชา วส. 811 การสื่อสารและแนวคิดทางการเมือง (Communication and Political Thoughts).

- อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (บก.). (2543). การสื่อสารมวลชนเบื้องต้น (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ:
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บทความ
- รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ . "ทักษิณาธิปไตยในมุมมอง "รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" ระบอบการเมืองของทักษิณ โดยทักษิณ เพื่อทักษิณ."
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (25-31 กรกฎาคม 2546): 10-12.

- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. "รัฐไทยในศตวรรษที่ 21: ปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 46 ปี." สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (2543): 28.
วิทยานิพนธ์

- อรรถพร กงวิไล. (2547). สถานภาพองค์ความรู้ของการสื่อสารทางการเมืองในประเทศไทย . วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เอกสารอื่นๆ

- ชัยนันท์ นันทพันธ์ (2549) งานวิจัยเชิงคุณภาพ "วิเคราะห์หลักการประเมินคุณค่าข่าวเพื่อการลงตีพิมพ์ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยส่วนกลาง 12 ฉบับ พ.ศ.2549" หลักสูตรปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .

- รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2547).

สัมภาษณ์
- ช่างภาพหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (สงวนนาม). 20 สิงหาคม 2549.
- ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (สงวนนาม) . 20 สิงหาคม 2549.
- สมเกียรติ ตั้งนโม. อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. 2 สิงหาคม 2549.

- สุรัตน์ เมธีกุล. อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในฐานะประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ( ส.ส.ม.ท.). 8 สิงหาคม 2549.


Reference
- Baran, S., and Davis, D. (2000). Mass communication theory: foundations, ferment and future. Belmont, CA: Wadsworth.

- Grossberg, Lawrence, Wartella, Ellen, and Whitney, D. Charles. (1998). Media making : Mass media in a popular culture. CA: Sage.

- LittleJohn, S.W. (1995). Theories of Human Communication. 5th ed. Belmont: Wadsworth.

- O'Shaughnessy, Michael and Stadler, Jane. (2005) media and society: an introduction. Oxford: Oxford University Press.

Articles
- McCombs, M.E., & Shaw, D.L. (1972). "The Agenda-Setting Function of Mass Media." Public Opinion Quarterly, 36 (Summer), 176-187.

ข้อมูลจากเว็บไซต์
- ผู้จัดการ. "Mc Journalism ภายใต้ระบบทักษิณาธิปไตย." <http://www.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9480000065569>.17 พฤษภาคม 2548.

- Raphael, Chad. "Theory of Hegemony and Ideology." Santa Clara University. <http://www.dangerouscitizen.com/Articles/244.aspx>. 3 March 2003.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวกประกอบบทความ 1.
ฆาตกรรมทักษิณ เรื่องจริงหรือสร้างสถานการณ์
ประเวศ วะสี - กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2549

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เหตุการณ์พยายามลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ด้วยวัตถุระเบิดในรถยนต์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 มีผู้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงก็มี เชื่อว่าเป็นเรื่องสร้างสถานการณ์ก็มี ความจริงจะเป็นอย่างไรต้องพิสูจน์กันด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ ถ้าตำรวจทำฝ่ายเดียว ก็จะมีปัญหาเรื่องความเชื่อถือได้ตามมาอีก ควรคำนึงถึงประเด็นนี้ไว้ด้วย

ขณะนี้ยังต้องถือว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องสร้างสถานการณ์ เป็นเพียงสมมติฐานที่รอการพิสูจน์ ในที่นี้จะขอวิเคราะห์ที่มาที่ไปหรืออิทัปปัจจยตาของทั้งสองสมมติฐานและข้อเสนอแนะ

ก. สมมติฐานที่ 1 - การลอบสังหารเป็นเรื่องจริง
(1) ที่มา มีผู้เกลียดชังนายกรัฐมนตรีมากจนถึงขั้นพยายามลอบสังหาร
เรื่องความเกลียดชังคุณทักษิณนั้น ต้องยอมรับว่ามีจริง การมีทั้งคนรักและคนชังก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในกรณีคุณทักษิณ เรื่องนี้เป็นไปอย่างรุนแรง ยังไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนที่มีปริมาณของความเกลียดชังมากถึงขนาดนี้ ทั้งจำนวนคนที่เกลียดและดีกรีของความเกลียดชังที่ขึ้นสูงแบบสุดๆ เพราะบุคลิกที่แก้ไม่หายของคุณทักษิณที่ก้าวร้าว เหยียดหยาม ท้าทาย ไม่รู้จักทำตนให้เป็นที่รัก ผิดวิสัยคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องสมานไมตรี รวมพลังผู้คนไปช่วยกันแก้ปัญหาประเทศ การทำให้คนเกลียดนั้นอันตราย

แต่คนไทยถึงจะเกลียดผู้นำอย่างไร การคิดสังหารนั้นมีน้อย ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่เขาสังหารประธานาธิบดีไปหลายคนแล้ว ถ้าคราวนี้เป็นเรื่องจริง ก็แปลว่าสังคมไทยมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว คือเปลี่ยนจากปริมาณไปสู่คุณภาพ หมายความว่าปริมาณความเกลียดชังเพิ่มมากขึ้น จนถึงจุดเดือด ทำนองเดียวกันเมื่อความร้อนของน้ำในกาเพิ่มมากขึ้น จนถึงขนาดน้ำก็เดือด

นั่นเป็นการพูดถึงการทำด้วยอารมณ์เกลียด แต่การทำอาจทำด้วยความคิด คือความคิดที่ว่าคุณทักษิณเป็นปัญหาของบ้านเมือง เป็นชนวนของความแตกแยกและรุนแรงอาจนำไปสู่การนองเลือด ถ้าขจัดเสียได้ก็จะเป็นการป้องกันชีวิตของคนอื่นๆ จำนวนมาก

(2) ที่ไป ถ้าที่มาคืออารมณ์เกลียดที่มีปริมาณมาก หรือด้วยความคิดดังกล่าวข้างต้นก็จะมีการทำอีก การเมืองก็จะวุ่นวายไปด้วยฝ่ายหนึ่งพยายามลอบสังหาร อีกฝ่ายหนึ่งต้องป้องกันตัวหรือตอบโต้ ไม่เป็นอันทำงาน กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมโหฬารจะถูกใช้ไปในการคุ้มครองคนคนเดียว แทนที่จะได้ดูแลประชาชนทั่วไป บ้านเมืองจะหยุดชะงักและเต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหล จับผิดจับถูก ในที่สุดฝ่ายที่พยายามจะประสบความสำเร็จจนได้ แบบที่ว่า "ที่ไหนมีความพยายาม ที่นั่นมีความสำเร็จ"

(3) ข้อเสนอแนะ
3.1 ควรใช้สันติวิธี ไม่ควรฆ่าแกงกัน
3.2 คุณทักษิณควรยุติการสร้างความเกลียดชัง
3.3 ถ้าคำแนะนำตาม (3.1) และ (3.2) ไม่สำเร็จ ยังมีความพยายามลอบสังหารอีก ต้องอย่าให้คนอื่นพลอยโดนลูกหลงไปด้วย
3.4 คนใกล้ชิดเป้าต้องป้องกันตัวเองหรือหนีห่างจากเป้า

ข. สมมติฐานที่ 2 - การลอบสังหารเป็นการสร้างสถานการณ์
(1) ที่มา ผู้มีอำนาจต้องการกลบเกลื่อนบางเรื่อง จึงเบนความสนใจของสังคมหรือต้องการใช้เป็นเครื่องมือขจัดศัตรูบางคน หรือปูทางไปสู่การยึดอำนาจเพื่อปกป้องตัวเองจากการถูกดำเนินคดี เช่น อาจถูกศาลตัดสินจำคุก

(2) ที่ไป สุดแล้วแต่ระดับของวัตถุประสงค์ของผู้สร้างสถานการณ์ เช่น ถ้าต้องการกลบเกลื่อนบางเรื่อง ถ้าสังคมจับได้ไล่ทันก็จะเสื่อมความเชื่อถือลงไปอีก รัฐบาลจะเหมือนเด็กเลี้ยงแกะพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ ถึงจริงก็ไม่เชื่อ แล้วก็ถูกเสือกัดตาย ถ้าทำเพราะต้องการป้ายสีหรือขจัดศัตรู ความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นให้คนเกลียดเกลียดมากขึ้น คนเป็นศัตรูเป็นศัตรูมากขึ้น และคิดขจัดผู้มีอำนาจด้วยวิธีรุนแรงมากขึ้น ถ้าทำเพราะปูทางไปสู่การยึดอำนาจ เพื่อหลบเลี่ยงการตัดสินของศาล ประชาชนจะรวมตัวกันต่อสู้เช่นที่เคยต่อสู้กับเผด็จการในอดีต จะเกิดการนองเลือด และในที่สุดผู้เผด็จการจะพ่ายแพ้ภัยตนเอง

(3) ข้อเสนอแนะ
3.1 หยุดการสร้างสถานการณ์
3.2 สังคมและสื่อมวลชนต้องระแวดระวังอย่าให้ถูกหลอกด้วยการสร้างสถานการณ์
3.3 ทุกฝ่ายต้องหยุดยั้งป้องกันการนองเลือดด้วยการถอดชนวนที่จะนำไปสู่การนองเลือด

ค. คำแนะนำต่อคุณทักษิณ
ถ้าในอนาคตคุณทักษิณมีโอกาสอยู่ในความสงบ และทบทวนเรื่องอดีตที่ผ่านมา จะทราบว่าผมไม่ใช่ศัตรู หรือขาประจำของคุณแต่อย่างใด แต่พยายามแนะนำในเรื่องต่างๆ เมื่อปี พ.ศ.2544 ผมเตือนว่าต้องระวังอย่าตกไปสู่ "โครงสร้างมรณะ" แต่คุณก็ถลำลึกตกเข้าไปสู่ "โครงสร้างมรณะ" แล้ว วันนี้ผมจะแนะนำวิธีออกจากโครงสร้างมรณะ

กรณีลอบสังหารไม่ว่าจะเป็นไปตามสมมติฐานที่ 1 หรือสมมติฐานที่ 2 ล้วนจะพาคุณเข้าไปสู่โครงสร้างมรณะทั้งสิ้น เวลาที่คุณจะทำประโยชน์ในฐานะนายกรัฐมนตรีหมดลงแล้ว คุณได้ผ่านจุดยอดที่มีอำนาจสูงสุด และมีผู้คนสนับสนุนสูงสุดไปแล้ว แม้ในจุดที่สูงสุดนั้นคุณยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ของบ้านเมืองได้ ถ้าจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ท่ามกลางความขัดแย้ง ท่ามกลางความเกลียดชัง ท่ามกลางความไม่เชื่อถือ จะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างไร ในทางตรงข้าม จะเกิดความแตกแยกและรุนแรงมากขึ้น และอาจนำไปสู่การนองเลือด

ไม่ต้องนับข้อหาฉกรรจ์ๆ ที่มีต่อคุณ ซึ่งคุณอาจปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือในฐานะนายกรัฐมนตรี คุณไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และไม่สามารถระงับการสูญเสียชีวิตของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แค่นี้ก็เพียงพอที่นายกรัฐมนตรีคนใดหรือในประเทศใดจะแสดงความรับผิดชอบได้แล้ว การคงอยู่ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์และดับไฟใต้ได้ ให้คนอื่นมารับหน้าที่นี้ จะเป็นทางออกของบ้านเมืองได้มากกว่า

คุณอาจจะกลัวว่าถ้าลงจากอำนาจ จะถูกดำเนินคดี ซึ่งอาจมีโทษถูกจำคุกและยึดทรัพย์ ไม่มีใครมีอำนาจที่จะไปขัดขวางกระบวนการทางกฎหมายได้ แต่อย่าลืมว่าสังคมก็เช่นเดียวกับคนที่มีความสามารถในการอภัยอย่างยิ่งใหญ่ ถ้ามีการยอมรับผิดหรือขอโทษ ที่แอริโซนา การที่บิดาของเด็กวัยรุ่นที่ถูกฆ่าให้อภัยและไปดูแลเด็กที่ฆ่าลูกของตน เรียกน้ำตาของผู้รู้เห็นทั้งหมด ที่แอฟริกาใต้ตำรวจคนขาวยอมรับในที่ประชุมใหญ่ของคนผิวดำว่าตนไปฆ่าคนผิวดำ แทนที่คนผิวดำจะกรูกันมาฉีกเนื้อตำรวจผู้นั้น แต่ทั้งห้องประชุมระงมไปด้วยน้ำตาและการให้อภัย

หัวใจของความเป็นมนุษย์และอภัยวิถี เมื่อถึงเวลา เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสุดประมาณ
ทางออกจาก "โครงสร้างมรณะ" ด้วยสันติวิธี คือคุณทักษิณต้องตัดความกังวลด้วยประการทั้งปวง มีความกล้าหาญที่จะประกาศข้อความดังต่อไปนี้

(1) พูดว่า "ผมพอแล้ว" แล้ววางมือทางการเมืองทั้งหมดเด็ดขาดทันที

(2) ขอร้องให้ประชาชนผู้สนับสนุนตน จงร่วมมือสมัครสมานในการแก้ปัญหาประเทศด้วยสันติวิธี และสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

(3) จะออกไปทำงานทางมนุษยธรรมแบบบิล เกตส์
ถ้าทำได้ดังนี้ จะเกิดความสงบเย็นทันที ทั้งตัวคุณทักษิณเองและประเทศ ถ้าไม่ทำคงหนีการนองเลือดไม่พ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยสรุปก็คือ ประเทศจะพ้นการนองเลือด จากวิกฤตการณ์การเมือง อยู่ที่ทักษิณเสียสละ หรือเสียสละทักษิณ

คลิกกลับไปอ่านต่อบทความเรื่องที่ 2.

ภาคผนวกประกอบบทความ 2.
รายงาน:ศึกสื่อแท้ vs สื่อเทียม สังคมแตกร้าวและแหลมคม
กรุงทพธุรกิจ 7 กันยายน 2549 19:42 น.

บริษัท เดอะ รีพอร์ตเตอร์ฯ เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่รัฐบาล"ทักษิณ" ตกต่ำอย่างมาก และมีสื่อในมืออย่างครบวงจร อย่างก้าวกระโดด สวนทางกับความยอมรับจากสังคมวงกว้าง ที่สำคัญผู้บริหารถูกมองโยงไปถึง "เนวิน ชิดชอบ" โยงไปหากลุ่มเคลื่อนไหวต้านพันธมิตรฯ และสื่อโดยทั่วไป
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ประชุม ประทีป
----------------------------------------------

มองสถานการณ์บ้านเมือง ผ่านการเสนอข่าวในรอบครึ่งปีหลัง ดูแหลมคมน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง!
น่าเป็นห่วง กระทั่ง 3 องค์กรสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม พอสรุปความได้ว่า

"..ขณะนี้มีเครือข่ายนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ อาทิ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต และสื่อข้อความสั้น (SMS) เพื่อใช้สนองประโยชน์เป้าหมายทางการเมืองตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรง"

โดยระบุปรากฏการณ์นี้คือ "สื่อเทียม"

ยุคเผด็จการในโลกนี้ ต่างก็ใช้สื่อของรัฐสนองเป้าหมายทางการเมืองตัวเองทั้งสิ้น

"ฮิตเล่อร์" เผด็จการชื่อกระฉ่อนโลก ก็ใช้ทุกสื่อในมืออำนาจรัฐ ทั้งครอบงำสื่อเอกชนให้ต้องสนองรัฐบาล เพื่อปลุกระดมด้วยลัทธิคลั่งชาติ สร้างภาพผู้นำเข็มแข็ง กระทั่งนำประเทศเยอรมันแพ้สงคราม พลเมืองล้มตายเป็นมหาศาล

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เองก็เคยสร้างภาพลักษณ์ตัวเองผ่านสื่อรัฐ และหนังสือ ถูกสร้างอิมเมจเป็นผู้มีบุญบารมี

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ นอกจากใช้สื่อของรัฐแล้ว ยังให้น้องชายต่างมารดาออกหนังสือพิมพ์ "สารเสรี" เป็นกระบอกเสียงให้ พร้อมกับใช้ ม.17 ในธรรมนูญการปกครอง สั่งจับกุม คุมขัง และยิงเป้าได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ฝ่ายอำนาจรัฐ 3 ทรราชย์ และฝ่ายขวาก็ใช้สื่อของรัฐถล่มฝ่ายซ้ายจนนำไปสู่การฆาตกรรมกลางเมือง

พ.ศ.ปัจจุบัน การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออย่างเสรี และรวดเร็ว ไม่ว่าในรูปแบบข้อความสั้น(SMS) ผ่านรายการทีวี หรือโพสต์ความเห็นในเว็บไซต์ มีทั้งเชียร์รัฐบาล และด่ารัฐบาลเช็ด ชิงพื้นที่เหมือนขยะความเห็น

จนกระทั่ง www.reporter.co.th เปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในชื่อบริษัท เดอะ รีพอร์ตเตอร์ จำกัด พร้อมๆ กับแท็บลอยด์การเมือง"เดอะรีพอร์ตเตอร์รายวัน" มี ทองเจือ ชาติกิจเจริญ เป็นผู้บริหาร

เป็น "ทองเจือ"จากบัณฑิตคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ผู้ก่อตั้งบริษัท ทราฟฟิก คอนเนอร์

เป็น"ทองเจือ" ที่เคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ กรุงเทพธุรกิจ และผู้จัดการ

เมื่อพ้นจากนักข่าวลูกจ้าง"ทองเจือ" หันไปทำงานให้กับคนในพรรคชาติไทย และไปร่วมกับ "สุรพงษ์" ่ก่อตั้งทำหนังสือพิมพ์ "บางกอกทูเดย์" โดยเขาเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดรีมมีเดีย ในเครือของทราฟฟิกฯ สยายปีกไปบริหารงานข่าวช่อง 11 ด้วย และวิทยุในเครือกรมประชาสัมพันธ์ถึง 5 คลื่น

เป็น"ทองเจือ" ที่เคยร่วมกับ สุภาพ คลี่ขจาย ทำรายการ"เที่ยงวันทันข่าว" ทางช่อง 11

ต่อมา "สุรพงษ์"ยอมทอยจากทราฟฟิกฯ มีตระกูล"วงศ์สวัสดิ์" และพ.ต.ท.รวมนคร ทับทิมธงไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อาร์เอ็นที เข้ามาเทคโอเวอร์

ก่อน"บางกอกทูเดย์" ปิดตัวไม่นาน ก็เกิดแท็บลอยด์"เดอะรีพอร์ตรายสัปดาห์" เนื้อหาครบเครื่อง แต่เน้นที่การเมือง และเศรษฐกิจ

ส่วนทิศทางการเสนอเห็นได้ชัดว่า ปกป้องรัฐบาล ปกป้อง"ทักษิณ" โดยลดทอนข่าวฝ่ายตรงกันข้าม พลิกประเด็นสวนทางในทุกเรื่อง ทุกประเด็นฮ็อต

ต่อมา รีพอร์ตเตอร์ฯ จับมือ "พ.ต.ท.รวมนคร" เข้าไปทำข่าวในยูบีซี 9 โดยใช้บริการ สมัคร สุนทรเวช ่(คู่หู"ดุสิต ศิริวรรณ"ที่พ้นรายการ "เช้าวันนี้...ที่เมืองไทย" ช่อง5 และ"สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ช่องโมเดิร์น ไนน์) รวมทั้ง เอฟเอ็ม 105 กรมประชาสัมพันธ์ ที่โต้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อย่างแรงและเผ็ดร้อน

แต่"สมัคร"ได้วิพากษ์วิจารณ์ในรายการ"รีพอร์เตอร์"ยูบีซี 9 เพียง 4 วัน ก็ต้องปิดตัวลง แล้วกลับมาจัดวิทยุ เอฟเอ็ม 96.5 "คลื่นความคิด" อสมท. และ100.5 เมกะเฮิร์ตซ ของสำนักข่าวไทย เพียง 3 วันก็ต้องระเห็จออกไปอีก เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท. ออกมาคัดค้าน

"สมัคร"ไปจัดรายการวิทยุชุมชน "คุยปัญหา ภาษาสมัคร" เอฟเอ็ม 89.75 ยูนิตี้เรดิโอ และโชว์ออฟใน MV1 รายการ "สนทนาปัญหาบ้านเมือง" ตั้งแต่ 1 กันยายน 2549

บริษัท เดอะ รีพอร์ตเตอร์ฯ มีสื่อในมืออย่างครบวงจร อย่างก้าวกระโดด สวนทางกับความยอมรับจากสังคมวงกว้าง

นี่เป็นปรากฏการณ์สื่อ ในสถานการณ์ ภาพลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกต่ำอย่างมาก

ที่สำคัญ"ทองเจือ"มักถูกโยงไปถึง เนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และโยงต่อไปหากลุ่มแท็กซี่ สามล้อ รถตู้ และจักรยานยนต์รับจ้าง มีแกนนำคือ ชินวัฒน์ หาบุญพาด นายกสมาคมผู้พิทักษ์ผลประโยชน์แท็กซี่ฯ

โยงไปหา ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ สหายใกล้ชิด นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกฯ ที่เข้าสายในรายการฝ่ายเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ

แหลมคมหรือไม่แหลมคม เมื่อ"ทองเจือ"เขียนบทนำ ในเว็บรีพอร์ตเตอร์ ประกาศชนกับ 3 องค์กรสื่อว่า

"สมาคมวิชาชีพจะเลือกข้างความเลวครบเครื่อง ก็บอกมาให้ชัดๆ ดีเหมือนกันจะได้ถึงเวลาสะสางปัญหาเสียที พวกกูไม่ผิดทั้งที่แผลเต็มตัว แบบนี้ต้องเจอกันสักตั้ง ตั้งที่ว่าคือ คงจะเป็นต้องตั้งสมาคมวิชาชีพใหม่ ที่มีมาตรฐานดีกว่านี้ขึ้นมาอีกสัก 3-4 องค์กร จะดีไหม"

นี่คือ"ยุคทักษิณ" ยุคที่กลุ่มคนแตกแยกกัน และสื่อแตกขั้วกันอย่างชัดเจน.

คลิกกับไปส่วนบนสุดของเว็บเพจ

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard (1)
webboard (2) ธนาคารนโยบายประชาชน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



110949
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be w rought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
เกี่ยวกับการใช้สื่อและการควบคุมสื่อ
บทความลำดับที่ ๑๐๓๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ระบบอุปถัมภ์ในวงการสื่อ ระบบดังกล่าวอยู่คู่กับวงการสื่อมวลชนไทยมาตั้งแต่เมื่อครั้งในยุคก่อร่างสร้างตัวของกิจการหนังสือพิมพ์ - สื่อมวลชนชนิดแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศ สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสในอดีต เรียกหนังสือพิมพ์ที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนักการเมือง ผู้มีอำนาจ และรัฐบาลในยุคเดียวกับเขาว่า "หนังสือพิมพ์โสเภณี" (journalistic prostitutes) พฤติกรรมดังกล่าวได้ดำเนินควบคู่ไปกับพัฒนาการของหนังสือพิมพ์และแผ่ขยายไปยังสื่อมวลชนแขนงอื่น และยังคงดำรงอยู่ต่อไปแม้แต่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ปรากฏอยู่ในงานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง "วิเคราะห์หลักการประเมินคุณค่าข่าวเพื่อการลงตีพิมพ์ในหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยส่วนกลาง ๑๒ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๙" ของ ชัยนันท์ นันทพันธ์... ผลของการวิจัยบ่งชี้ว่า สายสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ ระหว่างบรรณาธิการกับนักการเมืองซีกรัฐบาล ยังคงปรากฏอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์เหมือนดังที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต ซึ่งสิ่งนี้คลอนแคลนต่อหลักการประเมินคุณค่าข่าว (News Evaluation)

น่าสนใจว่า ตอนนั้น Aristotle สร้างตำราทางตรรกศาสตร์ เพื่อสั่งสอนนักพูดปากพล่อย ให้รู้จักเคารพกฎเกณฑ์การพูดอย่างมีเหตุผล ส่วนตอนนี้ในสังคมไทย อาจารย์หมอประเวศ นำเสนอความเห็นต่อสังคม ตามหลักตรรกศาสตร์ชั้นสูง เพื่อสั่งสอนนักการเมือง ที่ชอบใช้วาทศิลป์สร้างวาทกรรม ที่นำไปสู่ผลประโยชน์แต่พวกตน ไม่สนใจความถูกต้องตามหลักเหตุผล... น่าสนใจว่า ตรรกศาสตร์ของ Aristotle สมัยนั้น ส่งผลให้มาตรฐานการพูดสูงขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น นักพูดระมัดระวังมากขึ้น ..แตนักการเมืองพูดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยนี้ จะมีสำเหนียกสำนึก ต่อตรรกศาสตร์ของอาจารย์หมอประเวศ ได้มากน้อยสักเพียงใด