Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การปฏิวัติของชาวพื้นเมืองแห่งป่าลากันดอน
โลกใหม่ของชาวซาปาติสต้า : โลกที่รองรับคนทุกคน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของกองทัพพื้นเมืองซาปาติสต้า ซึ่งทำการแข็งข้อกับรัฐบาลเม็กซิโก
ในบทความชิ้นนี้ยังได้พูดถึงบทบาทของผู้หญิงในกองทัพ
การเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของผู้หญิงในท่ามกลางชาวพื้นเมือง
และจบลงด้วยภาคผนวกที่ทีมฟุตบอลดังอิตาเลียน "อินเตอร์มิลาน"
บริจาคเงินสนับสนุนซาปาติสตา

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1022
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)





โลกใหม่ของชาวซาปาติสต้า : โลกที่รองรับคนทุกคน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

ปกครองโดยเชื่อฟัง: ประชาธิปไตยชุมชนของซาปาติสต้า
ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2003) ครบรอบปีที่ 10 ของการก่อกบฏของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า (EZLN) ในรัฐเชียปาส ประเทศเม็กซิโก กองทัพกบฏของชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองประกาศเขตอิสระไม่ขึ้นต่อรัฐบาลเม็กซิกัน ประกอบด้วยเขตเทศบาลอิสระ 38 เขต กินเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของรัฐเชียปาส ครอบคลุมประชากรกว่า 500,000 คน ส่วนใหญ่เป็นอินเดียนแดงเผ่ามายา แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ถึง 5 ภาษา

ท่ามกลางพื้นที่ที่มีแต่เทือกเขาสูงชัน ป่าดงดิบ เส้นทางคมนาคมทุรกันดาร การปิดล้อมและรังควานจากกองทัพรัฐบาล ไม่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความช่วยเหลือจากนอกประเทศ ซึ่งต้องฝ่าด่านกีดกันมากมายหลายชั้น แต่ไม่เพียงเขตอิสระของซาปาติสต้ายังรักษาความเข้มแข็งไว้ได้ ดังที่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ก้าวหน้า La Jornada ของเม็กซิโกกล่าวว่า ซาปาติสต้ายังคงเป็น "ความน่าตื่นเต้นทางการเมือง" ที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวในเม็กซิโก

หลังจากเงียบหายไปนาน เมื่อวันที่ 8, 9 และ 10 สิงหาคม ค.ศ. 2003 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าประกาศ "สละอำนาจ" การปกครองในเขตอิสระของตน โดยยกอำนาจการปกครองให้เป็นของชุมชน ซึ่งมีชื่อว่า "คณะกรรมการของรัฐบาลที่ดี" หรือ Caracoles

ข้อเรียกร้องของชาวพื้นเมืองที่ต้องการสิทธิในการปกครองตนเองมีมานานแล้ว แม้ว่ารัฐบาลเม็กซิกันรับรองสิทธินี้ในข้อตกลงซาน อันเดรส ที่เกิดจากการเจรจาระหว่างซาปาติสต้ากับรัฐบาลมานับจากปี ค.ศ. 1996 แต่รัฐบาลไม่เคยยอมปฏิบัติตามข้อตกลง มิหนำซ้ำรัฐสภาเม็กซิกันยังแก้ไขข้อตกลงนี้จนไม่เหลือเค้าเดิมในปี ค.ศ. 2001 จนทำให้คณะผู้บัญชาการของกองทัพซาปาติสต้า ที่เดินทางไกลครั้งประวัติศาสตร์เข้ามาในเม็กซิโกซิตี้ ประกาศยกเลิกการเจรจากับรัฐบาล และถอยคืนกลับป่าลากันดอนที่เป็นฐานที่มั่นทันที ปีกลายนี้ กองทัพซาปาติสต้าได้นำเนื้อหาในข้อตกลงนี้มาใช้เอง โดยไม่รอคอยรัฐบาลเม็กซิกันอีกต่อไป

ตัวแทนที่ได้รับเลือกให้มาอยู่ในคณะกรรมการของรัฐบาลที่ดี ได้รับมอบอำนาจที่มีขอบเขตชัดเจนจากประชาชนในชุมชนที่เลือกเขาเข้ามา และตัวแทนคนนั้นอาจถูกเพิกถอนอำนาจได้ในทันที หากเขาไม่ปฏิบัติตามมติของสมัชชาชุมชน คณะกรรมการยังต้องประสานงานและขอคำปรึกษาจากสภาผู้เฒ่าผู้แก่และหัวหน้าชุมชนตามจารีตดั้งเดิมด้วย ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการนี้ครอบคลุมในด้านความยุติธรรม การเกษตร สาธารณสุข การศึกษาและการบันทึกทะเบียนราษฎร์ (การเกิด การตายและการแต่งงาน) คณะกรรมการยังต้องรับผิดชอบความสัมพันธ์กับภาคประชาสังคมอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมหน้าที่นี้เป็นของคณะกรรมการใต้ดินปฏิวัติของชาวพื้นเมือง (CCRI) ที่เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการของกองทัพซาปาติสต้าที่มีรองผู้บัญชาการมาร์กอสเป็นโฆษก

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ซาปาติสต้าพยายามทำให้อุดมคติเป็นความจริง อีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาหันหลังให้ทัศนคติแบบแมคเคียเวลลี ที่มุ่งแสวงหาอำนาจเพื่อรักษาอำนาจ การปกครองโดยประชาธิปไตยชุมชนเช่นนี้ ไม่ใช่ของแปลกใหม่ในวิถีชีวิตของชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง มันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนเผ่ามายามาตั้งแต่ก่อนตกเป็นอาณานิคมของสเปน และมันเป็นวิถีทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

สูตรผสมที่ผิดคาด: มาร์กซิสต์กับประชาธิปไตยชุมชน
จากคำให้สัมภาษณ์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส เขาเล่าว่าเมื่อเขาเดินทางเข้าสู่รัฐเชียปาสในปี ค.ศ. 1983 เพื่อจัดตั้งกองทัพจรยุทธ์ตามอุดมคติของเช เกวารา เขาคิดจะเข้าไปเผยแผ่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่ชาวนาพื้นเมือง แต่เมื่อเขาเอ่ยคำว่า "เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ" ชาวอินเดียนแดงมองเขาด้วยสายตาว่างเปล่าและตอบว่า พวกเขาเป็นอินเดียนแดง เป็นชาวนา และสิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการคือที่ดินทำกินและการดำรงชีวิตตามจารีตดั้งเดิม

เพื่ออยู่รอดให้ได้ในป่าลากันดอนและทำงานการเมืองต่อไป กลุ่มปัญญาชนจากในเมืองจึงต้องประนีประนอมกับชาวพื้นเมือง ชาวอินเดียนแดงต้องการป้องกันตัวเองจากการรุกรานของพวกเจ้าของปศุสัตว์ ปัญญาชนจึงเสนอความรู้ทางด้านอาวุธและการทำสงครามให้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการร่วมมือที่กลายเป็นกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า

แต่ระหว่างชาวเมสติโซผิวขาวที่มุ่งหวังเป็นนักรบจรยุทธ์กับชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ยังมีช่องว่างประการหนึ่งที่แตกต่างกัน นั่นคือ กระบวนการตัดสินใจ แน่นอน กองทัพของนักรบจรยุทธ์ยังดำเนินตามแบบแผนเดิม ๆ ของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้ายทั้งหลาย กล่าวคือ พวกเขามีโครงสร้างการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น มีลักษณะอำนาจนิยมและไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับกองทหารทั่ว ๆ ไป

"กองทัพคืออะไรที่เผด็จการที่สุดในโลก และเป็นอะไรที่ไร้สาระที่สุดด้วย เพราะมันปล่อยให้คนเพียงคนเดียวตัดสินชีวิตและความตายของผู้ใต้บังคับบัญชา"

ส่วนจารีตการปกครองของชาวพื้นเมืองนั้น กระบวนการตัดสินใจจะกระทำกันในชุมชน ทุกคนในชุมชนมีส่วนในการตัดสินใจใด ๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม แม้จะมีผู้นำก็จริง แต่ผู้นำชุมชนมีลักษณะเป็นหมู่คณะและถูกถอดถอนได้ตลอดเวลา

"ถ้าคุณมีตำแหน่งในชุมชน (คุณต้องได้รับการแต่งตั้งจากชุมชนเสียก่อนโดยไม่มีการสืบทอดอำนาจทางการเมือง) ชุมชนสามารถถอดถอนคุณออกเมื่อไรก็ได้ ไม่มีวาระแน่นอน ทันทีที่ชุมชนเริ่มมองเห็นว่า คุณชักจะทำหน้าที่ล้มเหลว คุณกำลังมีปัญหา พวกเขาจะจับคุณมานั่งต่อหน้าชุมชน และตั้งต้นบอกให้คุณรู้ว่าทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง คุณแก้ต่างให้ตัวเองได้ แต่สุดท้ายแล้ว ชุมชน คนส่วนรวม คนส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับคุณ คุณจะต้องออกจากตำแหน่งและคนอื่นเข้ามารับผิดชอบแทน"

รองผู้บัญชาการมาร์กอสเล่าว่า เขาเองก็บอกไม่ถูกว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร แต่กระบวนการตัดสินใจแบบชนพื้นเมืองแทรกซึมเข้ามาในกองทัพซาปาติสต้าทีละน้อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่กองทัพต้องปรึกษาชุมชนเพื่อตัดสินใจ ตอนแรกกองทัพเพียงแต่ถามความเห็นว่า หากพวกเขาทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ นักรบจรยุทธ์เหล่านี้เริ่มเข้าร่วมการประชุมและการหารือของผู้คนในชุมชน กระบวนการนี้ดำเนินไปพร้อมกับชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองเข้ามาเป็นสมาชิกกองทัพซาปาติสต้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จนกระทั่งเส้นแบ่งระหว่างกองทัพกับชุมชนชาวพื้นเมืองแทบจะเลือนหายไปโดยสิ้นเชิง และกองทัพไม่สามารถทำอะไรได้หากไม่ได้รับฉันทานุมัติจากชุมชน "มันเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน พวกเขาเชื่อใจว่าเราจะไม่ทำอะไรโดยไม่หารือพวกเขาก่อน และเราเข้าใจดีว่า หากเราทำอะไรลงไปโดยไม่หารือพวกเขา เราจะสูญเสียการสนับสนุนจากพวกเขาทันที"

ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองสามารถเข้าร่วมกับกองทัพซาปาติสต้าได้สามวิธี

วิธีแรก
คือเป็นนักรบประจำการที่เข้าไปอยู่ในป่าลากันดอนอย่างถาวร
วิธีที่สอง คือเป็นนักรบไม่ประจำการ โดยอาศัยและทำงานอยู่ในชุมชนต่อไป และ
วิธีที่สาม คือเป็นกองหนุนซึ่งประกอบด้วยคนแก่กับเด็ก

"เมื่อนึกมาถึงตอนนี้ มันไม่ใช่ปัญหาของ เรา กับ พวกเขา อีกแล้ว แต่ เรา คือชุมชนทั้งหมด...การตัดสินใจทางด้านยุทธศาสตร์ การตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ทั้งหมด ต้องทำตามประบวนการประชาธิปไตยที่มาจากเบื้องล่าง ไม่ใช่จากเบื้องบน ถ้าหากจะมีปฏิบัติการหรือยุทธการใด ๆ ก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งองค์กร อำนาจที่ชอบธรรมต้องมาจากเบื้องล่างเท่านั้น"

กระนั้นก็ตาม การเป็นกองทัพก็ยังต้องมีแกนนำในการตัดสินใจ แกนนำของกองทัพซาปาติสต้าคือคณะกรรมการใต้ดินปฏิวัติของชาวพื้นเมือง แต่ "แม้กระทั่งคณะกรรมการนี้ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ทุกเรื่อง คุณพูดได้ว่า EZLN ไม่เหมือนใคร เพราะในองค์กรทหาร-การเมืองส่วนใหญ่ มีผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว ส่วนใน EZLN คณะกรรมการใต้ดินประกอบด้วยคนตั้ง 80 คน 100 คนหรือ 120 คนก็ตาม แต่นี่ยังไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สุด

ข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดคือ กระทั่งคณะกรรมการใต้ดินก็ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญที่สุด การตัดสินใจของพวกเขามีข้อจำกัด ถึงขนาดที่คณะกรรมการใต้ดินไม่สามารถตัดสินใจว่าองค์กรจะดำเนินไปตามเส้นทางไหน จนกว่าจะหารือกับทุกคนในชุมชนเสียก่อน"

การตัดสินใจในชุมชนซาปาติสต้าใช้วิธีลงคะแนนเสียงโดยตรง ผู้มีสิทธิออกเสียงคือผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กทุกคนที่อายุเกิน 12 ขวบ ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมด แต่ไม่ใช่แค่นั้น ประชาธิปไตยชุมชนของอินเดียนแดงยังก้าวข้ามการเป็นเผด็จการเสียงส่วนใหญ่

"มันไม่ใช่กระบวนการแบบที่คุณมาถึงแล้วก็ถามประชาชนว่า จะเลือกสงครามหรือสันติภาพ? คนนี้บอกเลือกสงคราม แล้วคนนั้นล่ะ? เลือกสันติภาพ เสร็จแล้วคุณก็นับคะแนนรวมทั้งหมด

ไม่ใช่ ผมบอกแล้วว่ามันต้องเป็นผลลัพธ์จากการหารือกันในชุมชนอย่างมีเหตุผล ประชาชนมาชุมนุมในสมัชชาและตัวแทนก็ออกมานำเสนอ ยกตัวอย่างเช่น...ข้อเรียกร้องของ EZLN กับปฏิกิริยาของรัฐบาล ตัวแทนก็จะอธิบาย เราเรียกร้องอะไรไปบ้างและรัฐบาลตอบมาว่าอย่างไร? แล้วประชาชนก็เริ่มอภิปราย เออ ตรงนี้แย่ ตรงนี้ดี หลังจากชุมชนกล่าวว่า เราอภิปรายกันเรียบร้อยแล้ว เราเข้าใจทั้งหมดแล้ว ตอนนี้เราจะลงคะแนนเสียงล่ะ นี่อาจใช้เวลาเป็นวัน อันที่จริง การหารือเกือบทุกครั้งมักยืดเยื้อไปสองหรือสามวัน บางทีก็ยังลงคะแนนเสียงไม่ได้ด้วยซ้ำ...มันไม่ใช่แค่ยกมือหรือกากบาทเลือกข้อใดข้อหนึ่ง คุณต้องอภิปรายและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียจนทะลุปรุโปร่งก่อน"

แม้ว่าการตัดสินใจไม่จำเป็นต้องมีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ แต่คะแนนเสียงส่วนน้อยจะได้รับการพิจารณาและเทียบสัดส่วน หากยังไม่พอใจก็อภิปรายกันต่อไป ดังที่มาร์กอสเคยพูดอย่างมีอารมณ์ขันว่า "ประชุม นั่นแหละที่พวกเราถนัดที่สุด" จุดเด่นของวิธีการแบบนี้ก็คือ เนื่องจากทุกคนที่ลงคะแนนเสียงเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเลือกอย่างถ่องแท้ พวกเขาจึงผูกมัดตัวเองกับการเลือกนั้นอย่างแนบแน่น วิธีการแบบนี้อาจดูชักช้าไม่ทันใจสำหรับสังคมยุคใหม่ โดยเฉพาะรัฐบาลเม็กซิกันมักไม่พอใจเสมอที่ซาปาติสต้าใช้เวลานานในการตัดสินใจข้อเสนอของรัฐบาล

แต่ดังที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสบอกว่า เวลาของรัฐบาลคือเวลาของนาฬิกาแบบตอกบัตร ส่วนเวลาของซาปาติสต้าคือเวลาของนาฬิกาทราย ซาปาติสต้าเลือกเวลาของตัวเองและเลือกที่จะกบฏแม้แต่กับเวลาในนิยามของโลกทุนนิยม

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดว่ากองทัพซาปาติสต้าต้องปฏิบัติตามเจตจำนงของชุมชน ก็คือการลุกขึ้นก่อกบฏเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 การก่อกบฏครั้งนั้นเป็นไปตามมติของชุมชนชาวพื้นเมือง โดยที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสและผู้บังคับบัญชาของกองทัพ EZLN ไม่เห็นด้วยสักเท่าไร เพราะเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอ น่าจะรอไปอีกหนึ่งปี แต่ในเมื่อชุมชนมีมติเช่นนั้น กองทัพก็ไม่มีทางอื่นนอกจากปฏิบัติตาม

ลักษณะเด่นอีกประการของซาปาติสต้าคือ การที่ผู้ดำรงตำแหน่งสามารถถูกถอดถอนได้เสมอ หนังสือพิมพ์ La Jornada ของเม็กซิโกเคยสัมภาษณ์ไอแซค สมาชิกชาวพื้นเมืองคนหนึ่งของคณะกรรมการใต้ดิน CCRI เขาอธิบายว่า

"ถ้าประชาชนบอกว่า กอมปันเญอโร (หมายถึง สหายหรือเกลอ) ที่เป็นสมาชิกของ CCRI ไม่ทำหน้าที่ ไม่เคารพประชาชนหรือไม่ทำตามที่ประชาชนบอก เมื่อนั้นประชาชนก็จะบอกเราว่า พวกเขาต้องการถอดถอนเราล่ะ...

ในกรณีนั้น ถ้าสมาชิกของ CCRI ไม่ทำงาน ไม่เคารพประชาชน เอาล่ะ เกลอ นายก็ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งนั้น เอ้อ โทษทีนะ แต่เราต้องแต่งตั้งคนอื่นทำหน้าที่แทนนายแล้วล่ะ"
นี่คือหลักการปกครองของซาปาติสต้าที่นิยามว่า "ปกครองโดยเชื่อฟัง" (leading by obeying)

ในจดหมายเปิดผนึกของรองผู้บัญชาการมาร์กอส ลงวันที่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003 เกี่ยวกับการสละอำนาจของกองทัพให้แก่ชุมชน เขาเขียนว่า:

"ในฐานะผู้บัญชาการทหารของกองทัพซาปาติสต้า ผมขอแจ้งให้ทราบว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป สภาชุมชนปกครองตนเอง (Autonomous Councils) จะไม่สามารถอาศัยกำลังกองทัพเพื่อทำงานด้านการปกครองอีกต่อไป ดังนั้น สภาเหล่านี้ควรพยายามทำอย่างที่รัฐบาลที่ดีทั้งหลายพึงกระทำ นั่นคือ ปกครองด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยกำลัง"

หรืออย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี ค.ศ. 2001 ว่า
"...แน่นอน ทหารคนไหน ๆ ก็ตาม รวมทั้งตัวผมด้วย ล้วนแต่เป็นคนไร้สาระและไร้เหตุผล เพราะทหารมักใช้ความรุนแรงเพื่อชักจูงให้คนอื่นคล้อยตาม นั่นแหละคือสิ่งที่ทหารทำเวลาออกคำสั่ง มันคือการชักจูงด้วยกำลังอาวุธ นั่นคือเหตุผลที่เราบอกว่า ทหารไม่ควรเป็นผู้ปกครอง และนั่นรวมทั้งตัวเราด้วย เพราะใครก็ตามที่ต้องอาศัยอาวุธเพื่อทำให้ความคิดของตนได้รับการปฏิบัติตาม คน ๆ นั้นมักไม่ค่อยมีความคิดเท่าไรหรอก"

ก้าวที่กล้าของผู้หญิง: สิทธิและบทบาทของผู้หญิงในกองทัพซาปาติสต้า
สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลก ที่แวะเวียนไปเยือนกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าในรัฐเชียปาสก็คือ กองทัพซาปาติสต้าประกอบด้วยทหารหญิงเป็นจำนวนไม่น้อย (รองผู้บัญชาการมาร์กอสระบุไว้ในปี ค.ศ. 1994 ว่า ประมาณ 1 ใน 3) และมีทหารหญิงหลายคนที่เป็นถึงระดับผู้บัญชาการ บทบาทของผู้หญิงในกองทัพซาปาติสต้าโดดเด่นไม่แพ้ผู้ชาย คนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี อาทิเช่น ผู้บัญชาการเอสเธอร์ ผู้บัญชาการอนา มารีอา และโดยเฉพาะผู้บัญชาการราโมนา หญิงสาวร่างเล็กแบบบางที่เป็นทั้งทหารระดับผู้บังคับบัญชาและเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้หญิง

หากว่าชาวอินเดียนแดงในรัฐเชียปาสถูกกดขี่ข่มเหงและตกอยู่ในสภาพชีวิตที่เลวร้าย ผู้หญิงชาวพื้นเมืองยิ่งเผชิญชะตากรรมเป็นสองเท่า เพราะเธอต้องถูกกดขี่จากผู้ชายและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ในวัฒนธรรมของอินเดียนแดงเผ่ามายา ผู้หญิงเป็นแค่สมบัติอย่างหนึ่งของพ่อและสามี ผู้บัญชาการอนา มารีอา เคยให้สัมภาษณ์ว่า

"ผู้หญิงต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยมาก แค่ 13 หรือ 14 และมักต้องแต่งงานทั้งที่ไม่เต็มใจ...ถ้าหากชายหนุ่มชอบหญิงสาวสักคน เขาไม่ไปถามเธอหรอกว่า เธอชอบเขาหรือเปล่า แต่เข้าไปหาพ่อของหญิงสาวและขอลูกสาวเลย ชายหนุ่มแค่หิ้วเหล้ารัมไปสักลิตรหนึ่งและบอกว่า "ข้าอยากได้ลูกสาวของท่าน" กว่าฝ่ายหญิงจะรู้ตัว เธอก็ถูกขายไปแล้ว...ผู้หญิงหลายคนร้องไห้ตลอดทางไปบ้านเจ้าบ่าวหรือไปโบสถ์... ผู้หญิงจะมีแฟนหรือนัดเที่ยวกับผู้ชายอย่างในเมืองไม่ได้ นั่นถือเป็นข้อห้ามทางประเพณี"

เมื่อแต่งงานไปอยู่บ้านผู้ชาย ผู้หญิงกลายเป็นเสมือนทาสในบ้าน เธอตกอยู่ใต้อำนาจของสามีและคนในครอบครัว การตบตีทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องธรรมดา เธอต้องรับภาระงานบ้านทุกอย่าง หน้าที่สูงสุดคือการมีลูก ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกว่าต้องการมีลูกหรือไม่หรือมีกี่คน เธอไม่รู้จักความสุขทางเพศ เพราะนั่นถือเป็นบาป ผู้หญิงที่มีลูกไม่ได้คือสิ่งมีชีวิตที่ไร้ค่า สถิติในปี ค.ศ. 1997 บอกว่า ประชากรในเม็กซิโกเป็นผู้หญิง 52% แต่มีผู้หญิงเพียง 19% เท่านั้นที่จบการศึกษาระดับประถม

ผู้หญิงที่เข้าร่วมกองทัพซาปาติสต้าไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นกองหนุนอยู่ในโรงครัว หรือคอยพยาบาลผู้บาดเจ็บ พวกเธอเป็นทหาร ทำหน้าที่ทุกอย่างอย่างทหาร ปฏิบัติงานทุกอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชายโดยไม่มีข้อยกเว้น การไต่เต้าสู่ระดับผู้บังคับบัญชาเป็นไปตามขั้นตอนเหมือนกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย แต่ไม่ใช่ว่าความเท่าเทียมนี้เป็นสิ่งที่ผู้ชายหรือ EZLN หยิบยื่นให้ มันเป็นสิ่งที่พวกเธอต่อสู้จนได้มา

เพราะดังคำกล่าวของรองผู้บัญชาการมาร์กอส แม้แต่ในกองทัพซาปาติสต้า "ความที่มีรากเหง้ามาจากชาวพื้นเมือง สิ่งที่ EZLN พาติดตัวมา ไม่ได้มีแค่ความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าสำหรับคนทุกคน แต่มันยังพาปัญหาและความมืดบอดของโลกที่เราอยากทิ้งไว้ข้างนอกติดมาด้วยเช่นกัน"

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1993 ขณะที่ชาวซาปาติสต้ากำลังหารือกันว่า กฎหมายของชุมชนปฏิวัติควรมีอะไรบ้าง ผู้บัญชาการซูซานาได้รับมอบหมายให้รวบรวมความคิดเห็นและความต้องการของผู้หญิง เมื่อคณะกรรมการปฏิวัติมาประชุมกันเพื่อลงคะแนนเสียง พวกเขาพิจารณาไปทีละเรื่อง เมื่อถึงคราวของเธอ ผู้บัญชาการซูซานาลุกขึ้นอ่านข้อเสนอกฎหมายของผู้หญิงดังนี้:

"เราไม่ต้องการถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่เราไม่รัก เราต้องการมีลูกเท่าที่เราต้องการและสามารถดูแลได้ เราต้องการสิทธิที่จะมีตำแหน่งหน้าที่ในชุมชน เราต้องการสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่เราคิดและได้รับการยอมรับ เราต้องการสิทธิในการศึกษาและแม้กระทั่งเป็นคนขับรถบรรทุก..."

ข้อเสนอของฝ่ายหญิงสร้างความปั่นป่วนขึ้นในสมัชชาไม่น้อย มีเสียงกระซิบกระซาบในหมู่ผู้ชาย ทั้งในภาษาชนเผ่าอินเดียนแดงและภาษาสเปน หลังจากผู้บัญชาการซูซานาอ่านข้อเสนอจบ มีแต่ความเงียบน่าอึดอัด พวกผู้ชายมองตากัน กระสับกระส่าย แล้วทันใดนั้นเอง เสียงปรบมือของผู้หญิงดังกึกก้องขึ้น ตามมาด้วยเสียงร้องเพลงและเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม กฎหมายของผู้หญิงผ่านการรับรองด้วยมติเอกฉันท์

รองผู้บัญชาการมาร์กอสกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
"สิ่งที่กอมปันเญอรา (เกลอหญิง) พูดก็คือ พวกเธอไม่ยอมให้ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ประกาศิตมาจากเบื้องบน พวกเธอได้มันมาด้วยการต่อสู้ พวกเธอบอกว่า พวกนายจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ตอนนี้เราจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างล่ะ...นั่นคือเหตุผลที่ในรายการข้อเรียกร้องที่เรายื่นต่อรัฐบาล ไม่มีข้อเรียกร้องที่เอ่ยถึงเรื่องเพศเลย กอมปันเญอราบอกว่า เราจะไม่อ้อนวอนรัฐบาลให้มอบเสรีภาพแก่เรา เราจะไม่ขอร้องพวกนายผู้ชายหน้าโง่ด้วย เราจะรับประกันเสรีภาพของเราด้วยตัวเราเอง เสรีภาพ ความนับถือ และศักดิ์ศรีของเราในฐานะผู้หญิงและในฐานะมนุษย์...พวกเธอวิพากษ์วิจารณ์พวกเราผู้ชาย ทั้งในเรื่องกีดกันทางเพศและทัศนะแบบเผด็จการ...

"มีอะไรหลายอย่างที่เปลี่ยนไปซึ่งแตกต่างจากในชุมชนของพลเรือน ยกตัวอย่างเช่น ในชุมชนชาวพื้นเมือง เมื่อผู้หญิงแต่งงาน เธอไม่ได้รับอนุญาตให้เต้นรำอีก เพราะงานเต้นรำเป็นสถานที่ที่หนุ่มสาวโสดมาเจอกันและตัดสินใจแต่งงาน ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้ว เธอก็เต้นรำไม่ได้เพราะเธอเป็น สมบัติ ของคนอื่น... แต่ในชุมชนของนักรบซาปาติสต้า ผู้หญิงสามารถเต้นรำได้ไม่ว่าแต่งงานแล้วหรือยังเป็นโสด และเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือกคู่เต้นรำ พวกเธอเต้นรำเพียงเพื่อเต้นรำ เพื่อสนุกสนาน ไม่มีแรงจูงใจอื่นใด เช่น อยากหลับนอนหรือมีความสัมพันธ์กับใคร"

มาร์กอสกล่าวว่า หากการเป็นผู้หญิงเป็นเรื่องยาก ภาระหนักของการเป็นทหารหญิงยิ่งยากกว่า แต่ที่ยากที่สุดคือการเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ชายมักไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะรับคำสั่งจากผู้หญิง ไม่เว้นแม้แต่ในกองทัพปฏิวัติอย่างซาปาติสต้า "มีกอมปันเญอโรหลายคนที่มีความคิดปฏิวัติทางการเมืองมาก แต่เป็นไอ้บัดซบตัวจริงในด้านความสัมพันธ์ ในการแต่งงาน ในความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง"

แต่ความขัดแย้งนี้ค่อยคลี่คลายไปในบางส่วน นับตั้งแต่การลุกขึ้นก่อกบฏเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1994 เพราะ "เมื่อพวกผู้ชายเห็นผู้หญิงต่อสู้ พวกเขาเห็นแล้วว่า กอมปันเญอรารู้จักวิธีสู้รบ พวกผู้ชายเริ่มมองดูพวกเธอด้วยความนับถือ... พวกเขาเห็นพวกเธอเผชิญหน้ากับความตาย... ในชั่วขณะเช่นนั้น ไม่มีนักรบผู้หญิงหรือนักรบผู้ชายอีก ทุกคนคือทหาร เท่าเทียมกัน"

ชีวิตรักของทหารหญิงใน EZLN แตกต่างจากในชุมชนพื้นเมืองโดยสิ้นเชิง อนา มารีอาเล่าว่า
"ใน EZ ถ้าเราชอบพอกับกอมปันเญอโรคนไหน เราได้รับอนุญาตให้ทำความรู้จักกัน ออกไปไหนต่อไหนด้วยกันและอาจตัดสินใจแต่งงานกัน"

ทำไมต้องได้รับอนุญาต? กัปตัน (เทียบเท่าร้อยเอก) มาริเบล ทหารหญิงอีกคนหนึ่งใน EZLN อธิบายว่า "ทำไมต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนน่ะหรือ? วิธีนี้จะทำให้รู้ว่ามีกอมปันเญอโรคนอื่นพัวพันอยู่ก่อนหรือเปล่าน่ะสิ"

รองผู้บัญชาการมาร์กอสอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ทหารหญิงและทหารชายในกองทัพซาปาติสต้าสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องแต่งงานกันหรือไม่ แต่มีข้อแม้ว่า พวกเขาจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับรู้เมื่อจะไปมีเพศสัมพันธ์ เพราะถึงอย่างไร ที่นี่คือค่ายทหาร! "ตอนกลางวันคุณมีเซ็กส์ไม่ได้ คุณอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะหลับนอนกันตอนกลางคืน คุณต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารู้ว่าจะไปมีเซ็กส์กันที่ไหน เพราะถ้าเกิดถูกโจมตีขึ้นมา ผู้บังคับบัญชาจะได้ไปตามหาคุณถูกที่...และผมจะได้หาคนมาประจำการแทนคุณ... เราจะปล่อยให้แนวป้องกันไปมีเซ็กส์กันหมดได้อย่างไรล่ะ"

ทหารหญิงส่วนใหญ่ในกองทัพซาปาติสต้าเลือกที่จะไม่มีลูก บางคนตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า เธอมีลูกแล้ว "ปืนเอ็ม-16 นี่ไงล่ะ" รองผู้บัญชาการมาร์กอสบอกว่า เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะต้องจัดหาอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ให้แก่ทหารชายและหญิง รวมทั้งแนะนำเรื่องเพศศึกษาด้วย เพราะชาวพื้นเมืองมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก ไม่ว่าฝ่ายชายหรือหญิง เขาเล่าว่าในเมืองของอินเดียนแดงนั้น โรงงานไฟฟ้ามักไม่ค่อยทำงาน มีครั้งหนึ่งที่มันจ่ายไฟฟ้าได้สองสามวัน หลังจากนั้นมีชายชาวพื้นเมืองมาพูดกับเขาอย่างตื่นเต้นว่า เขาเพิ่งเคยเห็นร่างเปลือยของเมียเป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่ผู้ชายคนนี้มีลูก 10 คนแล้ว!

ในกรณีที่ทหารหญิงตั้งครรภ์ขึ้นมา เธอมีสิทธิเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่ ถ้าเธอตัดสินใจว่าจะทำแท้ง เป็นหน้าที่ของกองทัพที่ต้องจัดหาวิธีการทำแท้งที่ดีที่สุดโดยไม่เป็นอันตรายต่อตัวเธอ แต่ถ้าเธอตั้งครรภ์หลายเดือนเกินกว่าจะทำแท้งโดยไม่เป็นอันตราย หรือเธอตัดสินใจว่าจะมีลูก เงื่อนไขที่เป็นข้อบังคับของกองทัพซาปาติสต้าคือ ทหารหญิงคนนั้นต้องกลับไปอยู่ในชุมชนจนคลอดลูก แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะทิ้งลูกไว้กับแม่หรือญาติ ๆ และกลับมาเป็นทหารในกองทัพหรือไม่ ทั้งนี้เพราะสภาพชีวิตในเทือกเขาของป่าลากันดอนลำบากเกินไปสำหรับผู้หญิงมีครรภ์ เคยมีหลายกรณีที่ทหารหญิงแท้งและเป็นอันตราย เพราะการเดินทางไกลและการทำงานหนัก

กฎหมายรับรองสิทธิของผู้หญิงไม่ได้บังคับใช้เฉพาะในกองทัพซาปาติสต้า แต่บังคับใช้ทั่วไปในเขตรัฐอิสระของซาปาติสต้า มีกฎหมายข้อหนึ่งที่ผู้หญิงเสนอและได้รับการรับรองเช่นกัน นั่นคือ ในเขตรัฐอิสระของซาปาติสต้าห้ามขายสุรา (น่าจะรวมถึงยาเสพย์ติดทุกชนิด เมื่อดูจากคำบอกเล่าของชาวต่างชาติที่ไปร่วมการประชุมที่ EZLN จัด พวกเขาจะถูกตรวจค้นและขอร้องไม่ให้นำสิ่งเสพย์ติดไม่ว่าชนิดใดเข้าไปในเขตซาปาติสต้า) กลุ่มผู้หญิงให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า สุราทำให้ผู้ชายตบตีเมียและลูก การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน

ในทัศนะของรองผู้บัญชาการมาร์กอส การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงไม่ต่างจากการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวพื้นเมือง "ความเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งที่มอบลงมาจากเบื้องบน คุณพูดไม่ได้ว่า ฉันในฐานะผู้ชายจะให้เสรีภาพแก่เธอและเราจะเท่าเทียมกัน แน่นอน นั่นไม่มีทางเป็นจริง ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลไม่มีทางหยิบยื่นสิทธิในฐานะชาวพื้นเมืองให้เรา เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา ผู้หญิงเองก็กำลังต่อสู้เช่นกัน และหลายต่อหลายครั้งที่พวกเธอต่อสู้ในวิถีทางที่ถึงรากถึงโคนอย่างที่สุดด้วย"

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เรียบเรียงจาก:

Subcomandante Insurgente Marcos, Our Word is Our Weapon, (edited by Juana Ponce de Le?n), New York: Seven Stories Press, 2002.

Tom Hayden (edit.), The Zapatista Reader, New York: Thunder's Mouth Press/Nation Books, 2002.

Gloria Munoz Ramirez, "A Time to Ask, a Time to Demand, and a Time to Act," January 16 2004, http://www.americaspolicy.org/

Interview Between Julio Scherer Garcia and Subcomandante Marcos, Proces,o 11 March 2001.

Interview with Major Ana Maria of the EZLN, February 1994, http://flag.blackened.net/revolt/mexico.html

Interview with Subcomandante Marcos, May 11 1994, http://flag.blackened.net/revolt/zapatista.html

Luis Hernandez Navarro, "Zapatismo Today: Five Views of the Bridge," January 16 2004, http://www.americaspolicy.org/

Subcomandante Insurgente Marcos, Communique dated August of 2003.

"The Zapatistas, Anarchism and 'Direct Democracy'," Anarcho-Syndicalist Review, #27 Winter 1999.

Troy Skeels, "Zapatistas take control, http://www.zmag.org/altmediawatch.htm

ข้อมูลภาษาไทยเกี่ยวกับซาปาติสต้าสามารถหาอ่านได้จาก

1. นิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2546
2. นาโอมี ไคลน์, "ขบถในเชียปาส" รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส (พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แปล) สนพ.โกมลคีมทอง, 2546.
3. อภิวัฒน์ วิลาวดีไกร, ซาปาติสต้า กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก, สนพ.กลุ่มเพื่อนประชาชน มกราคม 2547.


ภาคผนวก :
ทีมดังอิตาเลียน "อินเตอร์มิลาน" บริจาคเงินสนับสนุนซาปาติสตา
จาก "Soccer stars support guerrillas", The Guardian Tuesday October 19, 2004

ฟุตบอลได้ชื่อว่าเป็นกีฬาของคนจนอยู่แล้ว แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่ทีมฟุตบอลชื่อดังของยุโรป จะก้าวหน้าขนาดบริจาคเสื้อประจำทีมและเงินสดให้กองทัพจรยุทธ์ที่สร้างเขตปกครองตนเองขึ้นมาในอีกประเทศหนึ่ง

สโมสรฟุตบอลอินเตอร์มิลานของอิตาลีบริจาคเงินจำนวน 5,000 ยูโร หรือ 3,475 ปอนด์ รวมทั้งเสื้อประจำทีมสีฟ้าดำหมายเลข 4 ของกัปตันทีมให้แก่กองทัพซาปาติสตา เพื่อเป็นกำลังใจให้การต่อสู้ของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในรัฐเชียปาสของประเทศเม็กซิโก

ฆาเบียร์ ซาเนตติ กัปตันทีมชาวอาร์เจนตินาของอินเตอร์มิลาน เกลี้ยกล่อมจนทีมฟุตบอลของเขานำเงินที่ได้จากค่าปรับนักฟุตบอลที่มาสาย หรือแอบใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ให้บริจาคเงินจำนวนนี้เพื่อสมทบทุนแก่ชาวพื้นเมืองในหมู่บ้านซินาคันตัน ซึ่งมีรายงานว่าถูกกองกำลังทหารของรัฐบาลเม็กซิกันโจมตีอย่างหนักในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

"เราเชื่อมั่นในโลกที่ดีกว่านี้ โลกที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ โลกที่มั่งคั่งด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของทุกชนชาติ นี่คือเหตุผลที่เราต้องการสนับสนุนพวกท่านในการดิ้นรนเพื่อรักษารากเหง้าและต่อสู้เพื่ออุดมคติ" ซาเนตติเขียนในบันทึกถึงหมู่บ้านที่ส่งไปพร้อมเงินบริจาคก้อนแรกเป็นจำนวน 2,500 ยูโร

"เรารู้ดีว่า เราไม่เคยโดดเดี่ยวบนเส้นทางของการต่อสู้" คือคำตอบจากฝ่ายซาปาติสตา พร้อมกับเชื้อเชิญทีมฟุตบอลอิตาเลียนให้มาเป็นอาคันตุกะในป่าดงดิบเขตเทือกเขาของรัฐเชียปาส

สำนักประธานาธิบดีเม็กซิกันที่ดูแลความสัมพันธ์กับชาวซาปาติสตากล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเงินบริจาคจากทีมฟุตบอลอิตาเลียน

ในเดือนมิถุนายน บรูโน บาร์โตลอซซี ผู้จัดการทีมของอินเตอร์มิลาน เดินทางมาถึงหมู่บ้านคาราโกล เด โอเบนติก พร้อมกับเงินบริจาคที่เหลือ คำอวยพรจากทีมฟุตบอลและเจ้าของสโมสรราชาน้ำมัน มาสซิโม โมราตติ เงินบริจาคก้อนนี้จะนำไปช่วยชาวพื้นเมืองสร้างบ้านและวางท่อส่งน้ำ สโมสรยังเสนอที่จะบริจาคชุดนักกีฬาและลูกฟุตบอล แก่นักฟุตบอลรุ่นกระเตาะชาวซาปาติสตาด้วย "ทีมนักฟุตบอลของเราไม่ได้รู้จักแค่เล่นเกมเพลย์สเตชั่นกับคอมพิวเตอร์" มร.บาร์โตลอซซีกล่าว "เราอ่านเจอเรื่องการโจมตีในหนังสือพิมพ์เม็กซิกัน เราต้องการช่วย เงินจำนวนนี้อาจไม่มากมายนัก แต่แรงสนับสนุนของเราจะไม่เหือดหาย"

มีข่าวว่า รองผู้บัญชาการมาร์กอสแสดงความขอบคุณผ่านทางแถลงการณ์ฉบับหนึ่งในอินเตอร์เน็ต พร้อมกับภาพถ่ายที่เขาใส่เสื้อกัปตันทีมอินเตอร์มิลาน "พี่ชายน้องชายและพี่สาวน้องสาวแห่งทีมฟุตบอลอิตาเลียน ผมขออวยพรให้ทีมของคุณประสบความสำเร็จสูงสุดในการแข่งขัน"

แต่กล่าวกันว่า มาร์กอสและชาวซาปาติสตาส่วนใหญ่ชอบเล่นบาสเก็ตบอลมากกว่าฟุตบอล

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



310849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
โลกใหม่ของชาวซาปาติสต้าสำหรับทุกคน
บทความลำดับที่ ๑๐๒๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ

จากคำให้สัมภาษณ์ของรองผู้บัญชาการมาร์กอส เขาเล่าว่าเมื่อเขาเดินทางเข้าสู่รัฐเชียปาสในปี ค.ศ. 1983 เพื่อจัดตั้งกองทัพจรยุทธ์ตามอุดมคติของเช เกวารา เขาคิดจะเข้าไปเผยแผ่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่ชาวนาพื้นเมือง แต่เมื่อเขาเอ่ยคำว่า "เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ" ชาวอินเดียนแดงมองเขาด้วยสายตาว่างเปล่าและตอบว่า พวกเขาเป็นอินเดียนแดง เป็นชาวนา และสิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการคือที่ดินทำกินและการดำรงชีวิตตามจารีตดั้งเดิม

เพื่ออยู่รอดให้ได้ในป่าลากันดอนและทำงานการเมืองต่อไป กลุ่มปัญญาชนจากในเมืองจึงต้องประนีประนอมกับชาวพื้นเมือง ชาวอินเดียนแดงต้องการป้องกันตัวเองจากการรุกรานของพวกเจ้าของปศุสัตว์ ปัญญาชนจึงเสนอความรู้ทางด้านอาวุธและการทำสงครามให้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการร่วมมือที่กลายเป็นกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้า

แต่ระหว่างชาวเมสติโซผิวขาวที่มุ่งหวังเป็นนักรบจรยุทธ์กับชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ยังมีช่องว่างประการหนึ่งที่แตกต่างกัน นั่นคือ กระบวนการตัดสินใจ แน่นอน กองทัพของนักรบจรยุทธ์ยังดำเนินตามแบบแผนเดิม ๆ ของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้ายทั้งหลาย กล่าวคือ พวกเขามีโครงสร้างการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น มีลักษณะอำนาจนิยมและไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับกองทหารทั่ว ๆ ไป "กองทัพคืออะไรที่เผด็จการที่สุดในโลก และเป็นอะไรที่ไร้สาระที่สุดด้วย เพราะมันปล่อยให้คนเพียงคนเดียวตัดสินชีวิตและความตายของผู้ใต้บังคับบัญชา"