บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๑๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๘สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙
28-08-2547

Midnight's People Politics

การก่อการร้ายที่มีเหตุผล
สงครามไร้ที่สิ้นสุด : กรณี ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑
วอลเดน เบลโล : เขียน
ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาและบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส มะนิลา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล

นักแปลและนักวิชาการอิสระ

บทความชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้แปล
เนื่องจากใกล้ครบรอบปีที่ 5 วันเกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยา ๒๐๐๑
สหรัฐอเมริกายังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของตนในตะวันออกกลาง
ทั้งในกรณีเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานและการสนับสนุนอิสราเอล
ด้วยเหตุนี้สงครามระหว่างผู้ก่อการร้ายกับสหรัฐฯ จึงไม่มีวันสิ้นสุด
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1019
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 

สงครามไร้ที่สิ้นสุด : กรณี ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ

สงครามไร้ที่สิ้นสุด : วอลเดน เบลโล
ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาและบริหารรัฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา
ผู้อำนวยการ Focus on the Global South และเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม อาทิเช่น The Siamese Tragedy: Development and Disintegration in Modern Thailand (Zed Books, 1998)

ความนำ
การโจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์เป็นการก่อการร้ายที่น่าสยดสยอง สมควรถูกประณามและอภัยให้ไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญเช่นกันคือ เราอย่าละเลยการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในทางประวัติศาสตร์ ส่วนปฏิกิริยาตอบโต้ที่หน้ามืดตามัวไปด้วยความโกรธแค้น อย่างที่นักการเมืองอเมริกันบางคนแสดงออกมานั้น แม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่อย่างมากก็เป็นเพียงตัวอย่างอีกอันหนึ่งที่ยืนยันวาทะของซันตายานาที่ว่า "ใครที่ไม่จดจำประวัติศาสตร์ย่อมทำซ้ำรอยเสมอ"

สมการทางศีลธรรม
ความรุนแรงและผลกระทบของการโจมตีตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ นับเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ แต่นี่ไม่ใช่การก่อการร้ายต่อประชาชนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างที่สื่อมวลชนอเมริกันบางสื่อพยายามนำเสนอ ชีวิตที่สูญเสียไปในนิวยอร์คกว่า 5,000 ชีวิตเป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ แต่เราต้องไม่ลืมการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งฆ่าคนไปถึง 210,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ส่วนใหญ่เสียชีวิตในทันที

แต่อาจมีคนคัดค้านว่า อย่าเอาการวินาศกรรมตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ไปเปรียบเทียบกับการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ เพราะฮิโรชิมากับนางาซากิเป็นเป้าหมายในการทำสงคราม แต่ทำไมจะเปรียบเทียบไม่ได้ล่ะ ในเมื่อเป้าหมายของการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำลายเป้าหมายทางการทหารหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องการขู่ขวัญและทำลายประชากรที่เป็นพลเรือนด้วย?

อันที่จริง การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กระทำต่อเยอรมันและญี่ปุ่นในช่วงปี 1944-45 ซึ่งก่อให้เกิดระเบิดเพลิงครั้งใหญ่ในเดรสเดน ฮัมบูร์ก และโตเกียว ฆ่าคนไปหลายหมื่นคน ก็มีเป้าหมายหลักที่ต้องการฆ่าและทำร้ายพลเรือนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในทำนองเดียวกัน ระหว่างสงครามเกาหลี การทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายพลเรือน เป็นนโยบายของกองบัญชาการภาคตะวันออกไกลของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งมีคำสั่งให้บดขยี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้ในอาณาเขตของศัตรู นโยบายนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจนในฤดูร้อนของปี 1951 ผู้บังคับบัญชาสามารถรายงานได้ว่า "ไม่มีโครงสร้างใด ๆ เหลืออยู่ให้เป็นเป้าหมายอีกแล้ว"

ระหว่างสงครามเย็น การทำลายประชาชนพลเรือนจำนวนมาก พร้อมๆ กับการทำลายกองทัพหรืออุตสาหกรรมของศัตรู เป็นยุทธวิธีที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ที่ถือเป็นหัวใจของสงครามเย็น. ในเวียดนาม เมื่อสหรัฐฯ อึดอัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่สามารถหาความแตกต่างระหว่างนักรบเวียดกงกับพลเรือนได้ การฆ่าพลเรือนโดยไม่มีการแยกแยะกลายเป็นหัวใจสำคัญของ "สงครามปราบจลาจล" ที่มีพลเรือน 20,000 คนถูกสังหารหมู่อย่างเป็นระบบ ภายใต้ปฏิบัติการฟินิกซ์ของซีไอเอในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

หรือเราต้องมองว่า ปฏิบัติการต่อพลเรือนเช่นนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในบริบทของเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ที่ต้องการบ่อนทำลายกำลังใจในการสู้รบของศัตรูเพื่อเผด็จศึกให้เร็วขึ้น? ถ้าเช่นนั้น มันแตกต่างอะไรจากเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการบ่อนทำลายเสียงสนับสนุนของประชากรพลเรือนในประเทศสหรัฐเองล่ะ?

การที่ผมยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ผมไม่ได้ต้องการที่จะมานั่ง "คำนวณหาหน่วยความชั่วร้าย" ว่าใครชั่วกว่าใคร แบบนักปรัชญาอย่างเจอเรมี เบนแธม แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเมื่อวัดจากสมการทางศีลธรรม. อันที่จริง เราพูดได้ด้วยซ้ำไปว่า ผู้ก่อการร้ายอย่างโอซามา บิน ลาเดน ซึ่งเป็นอดีตสานุศิษย์ของซีไอเอ พวกเขาเรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับการถือเอาประชากรพลเรือนเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ มาจากยุทธศาสตร์การทำสงครามที่ผ่านมาทั้งหมดของวอชิงตัน ซึ่งถือว่าการทำลายประชากรพลเรือน ไม่เพียงเป็นความสูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่เป็นหัวใจสำคัญในการเอาชนะสงครามด้วย

การคำนวณแบบเคลาส์วิตซ์ (นักพิชัยสงครามชาวปรัสเซียที่มีอิทธิพลสูงสุดในตะวันตก)
หลังจากการโจมตีตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ ผู้ก่อการร้ายถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก "ไร้เหตุผล" หรือ "เสียสติ" หรือคนที่เป็นร่างทรงของความชั่วร้าย เราเข้าใจได้ว่านี่เป็นปฏิกิริยาที่คุกรุ่นไปด้วยอารมณ์ร้อนแรง แต่มันอันตรายมากถ้าถือเอามาเป็นพื้นฐานของการวางนโยบาย ความจริงก็คือ ผู้ก่อการร้ายครั้งนี้กระทำการอย่างมีเหตุผลมาก หากพวกเขาเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโอซามา บิน ลาเดน จริงแล้วไซร้ เป้าหมายของพวกเขา น่าจะเป็นการส่งสารให้สหรัฐอเมริการู้ว่า การรักษานโยบายของสหรัฐในตะวันออกกลางจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม และนี่คือวิธีที่พวกเขาจะใช้ต่อต้าน

พวกเขาเลือกเป้าหมายและอาวุธอย่างมีเหตุผลมาก ให้ความสนใจไม่เพียงแต่การสร้างความเสียหายสูงสุด แต่รวมไปถึงการสำแดงสัญลักษณ์สูงสุดด้วย การเลือกตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์และเพนตากอนเป็นเป้าหมาย และใช้เครื่องบินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์กับยูไนเต็ดแอร์ไลน์เป็นทั้งพาหนะควบคู่กับหัวรบ ต้องถือเป็นการคิดและการวางแผนที่เลือดเย็นมาก การยอมพลีชีพเป็นตัวแปรหนึ่งที่ใส่ไว้ในการคำนวณแล้ว

สิ่งที่เราได้เห็นคือ การคำนวณอย่างมีเหตุผลเพื่อหาวิธีการบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในทัศนะของคนเหล่านี้ การก่อการร้ายก็เหมือนสงคราม มันเป็นการขยายขอบเขตของการเมืองด้วยมรรควิธีต่าง ๆ นี่คือวิธีคิดแบบเคลาส์วิตซ์ และความผิดพลาดที่สุดที่คนเราจะผิดพลาดกันได้ คือการไปมองว่าผู้ก่อการร้ายพวกนี้เป็นคนบ้า

เพิร์ลฮาร์เบอร์หรือเท็ท? (เท็ทคือวันปีใหม่ของชาวเวียดนาม)
การเปรียบเทียบที่วอชิงตันใช้เพื่อให้ความหมายแก่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดคือ วินาศกรรมครั้งนี้เปรียบเสมือนเพิร์ลฮาร์เบอร์ครั้งที่สอง โดยมีนัยว่า เช่นเดียวกับครั้งแรก โศกนาฏกรรม 11 กันยายนจะปลุกเร้าประชาชนชาวอเมริกันให้เกิดความสามัคคีสูงสุด เพื่อเอาชนะสงครามกับศัตรูที่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร

ส่วนในฝ่ายปรปักษ์ของสหรัฐอเมริกานั้น เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า พวกเขาอาจปฏิบัติการด้วยข้อเปรียบเทียบที่แตกต่างออกไป นั่นคือ การรุกในวันเท็ทเมื่อปี 1968 เป้าหมายของชาวเวียดนามคือปลุกให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อให้ถูกตีพ่ายไปบางส่วน แต่ก็ยังถือเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ กล่าวคือทำให้ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะฐานทางด้านพลเรือน (หมายถึงพลเรือนชาวอเมริกัน) ปักใจเชื่อว่าสงครามครั้งนี้ไม่มีทางเอาชนะ เป้าหมายคือทำให้สหรัฐอเมริกาหมดกำลังใจที่จะเอาชนะสงคราม และในครั้งนั้นชาวเวียดนามประสบความสำเร็จ

ผู้ก่อการร้ายที่วินาศกรรมตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ อาจกำลังปฏิบัติการโดยคิดคำนวณในทำนองนี้ แม้ว่าจะมีคำคุยเขื่องในวอชิงตันมากมายก็ตาม ก็ไม่แน่นักหรอกว่าผู้ก่อการร้ายจะคำนวณผิด ชาวอเมริกันจะยอมทนแบกรับและจ่ายราคาในการต่อสู้ที่อาจยืดเยื้อไปในอนาคต โดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้ชัยชนะ แถมยังไม่รู้ชัดเจนว่าใครคือศัตรูและ "ชัยชนะ" ที่ว่านั้นคืออะไร?

สื่อมวลชนเต็มไปด้วยข่าวเกี่ยวกับการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย สร้างภาพให้รู้สึกว่าการร่วมมือกันในหมู่ประเทศที่เป็นกุญแจสำคัญ บวกกับความขุ่นเคืองของประชาชนทั่วโลก จะช่วยให้กลุ่มพันธมิตรที่มีวอชิงตันเป็นแกนนำอยู่ในฐานะที่ไม่มีทางแพ้ อาจเป็นไปได้ในระยะสั้น ซึ่งยังไม่แน่ด้วยซ้ำไป เพราะปัญหาก็คือ เช่นเดียวกับสงครามกองโจรทุกครั้งที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่สงครามที่จะเอาชนะได้แน่นอนด้วยวิธีการทางทหารเป็นหลัก

ปัญหาที่ฝังอยู่ข้างใต้
หากเครือข่ายของบิน ลาเดนเป็นตัวการในการโจมตีตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์จริง ถ้าเช่นนั้น ปัญหาที่ฝังตัวอยู่ข้างใต้คือเสาสองต้นที่เป็นนโยบายของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง เสาหนึ่งคือการที่สหรัฐฯ สนับสนุนอาณาจักรน้ำมันในตะวันออกกลาง เพื่อเป็นหลักประกันว่าตนเองจะไม่มีอุปสรรคในด้านพลังงาน โดยไม่แยแสหรือสนใจผลประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาคนั้นเลย

เพื่อเป้าหมายนี้ สหรัฐฯ ล้มรัฐบาลชาตินิยมของ Mossadegh ในอิหร่านเมื่อปี 1953 และแต่งตั้งรัฐบาลชาห์แห่งอิหร่านที่กดขี่ขึ้นเป็นตำรวจประจำอ่าวเปอร์เซีย สนับสนุนการปกครองแบบศักดินาที่ต่อต้านประชาธิปไตยในคาบสมุทรอาหรับ และตั้งฐานทัพถาวรขนาดใหญ่ไว้ในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นดินแดนของเมืองและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม

สงครามที่ทำต่อซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก มีข้ออ้างว่าเป็นสงครามเพื่อต่อต้านการรุกราน แต่ทุกคนรู้ดีว่า แรงจูงใจหลักของวอชิงตันคือ การสร้างหลักประกันว่า แหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ จะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นปกครองที่นิยมตะวันตก

เสาอีกต้นหนึ่งคือการสนับสนุนอิสราเอลสุดตัว ความรู้สึกที่อาหรับมีต่ออิสราเอลเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก คงเถียงไม่ได้ว่า ประเทศอิสราเอลเกิดมาจากการแย่งประเทศและที่ดินไปจากชาวปาเลสไตน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสราเอลเป็นรัฐที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นของชาวยุโรป เป็นประเทศที่เกิดมาจากการย้ายเอาความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ-วัฒนธรรมในสังคมยุโรป ออกมาจากดินแดนในทวีปยุโรป การสังหารหมู่ชาวยิวเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่สุดจะบรรยายได้ แต่เป็นสิ่งที่ผิดอย่างสิ้นเชิงที่ยัดเยียดผลพวงทางการเมืองอันนี้ให้แก่ประชาชน (ชาวปาเลสไตน์) ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ โดยสร้างประเทศอิสราเอลขึ้นมา

ไม่มีทางปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาวอาหรับที่ว่า เป็นเพราะการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกานี่เองที่ทำให้เกิดประเทศอิสราเอลขึ้นมา เป็นเพราะการช่วยเหลือทางทหารอย่างมโหฬารของสหรัฐฯ ที่ทำให้อิสราเอลยืนหยัดมาได้ในช่วงครึ่งศตวรรษหลัง และเป็นเพราะความเชื่อมั่นในการสนับสนุนทางทหารและการเมืองของสหรัฐฯ นี่เอง ที่ทำให้อิสราเอลขัดขวางการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์มาตลอด

นอกเสียจากสหรัฐยกเลิกนโยบายสองเสาหลักนี้ มิฉะนั้น จะมีผู้ก่อการร้ายอาสาสมัครอีกหลายพันคนยินดีก่อวินาศกรรมอย่างที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด แม้ว่าเราขอประณามการก่อการร้าย ซึ่งเราต้องประณามอย่างแข็งขัน แต่มันเป็นคนละเรื่องกันที่คิดว่าคนที่สิ้นหวังจะไม่ใช้วิธีการนี้ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาสามารถชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า วิธีการที่มุ่งเป้าพลเรือนเท่า ๆ กับทหารแบบนี้ บวกกับการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ ที่บีบให้อิสราเอลจำต้องยอมรับข้อตกลงออสโลในปี 1993 ที่นำไปสู่การรับรองสถานภาพของชาวปาเลสไตน์

ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่สมการทางยุทธศาสตร์อาจไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐอเมริกามากนัก นั่นคือ มีประชาชนจำนวนมากในโลก ที่รู้สึกสองจิตสองใจเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตรงกันข้ามกับยุโรป ซีกโลกใต้มีปฏิกิริยาที่ค่อนข้างเงียบงันต่อเหตุการณ์ที่เวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ การสำรวจความคิดเห็นอาจแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในโลกที่สาม ตื่นตระหนกกับวิธีการของผู้ร้ายจี้เครื่องบิน พวกเขากลับไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจเป้าโจมตีสักเท่าไรนัก

ดังที่ผู้ประกอบการชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนคนหนึ่งพูดว่า "น่าขนลุก แต่จะว่าไป สหรัฐก็สมควรโดนอยู่หรอก" หากปฏิกิริยาเช่นนี้มีร่วมกันในหมู่ชนชั้นกลาง ก็ไม่น่าแปลกใจที่ความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดการก่อการร้ายครั้งนี้ จะแพร่สะพัดในหมู่ประชากร 80% ของโลก ที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

มีความหวาดระแวง ความไม่พอใจ ไปจนถึงความเกลียดชังต่อประเทศที่แสวงหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างไร้น้ำใจ หยิ่งจองหองในความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทหารกับประเทศอื่น ๆ ในโลก และไม่มียางอายแม้แต่น้อย ในการประกาศความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมต่อพวกเรา ในสมการของสงครามกองโจร ความรู้สึกสองจิตสองใจของพลเรือนบนเวทีการต่อสู้ ในทางยุทธศาสตร์ถือว่า มันมีความหมายเป็นลบต่อฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ และเป็นบวกต่อฝ่ายผู้ก่อการร้าย

กล่าวโดยสรุป ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เราแน่ใจได้ก็คือ การตอบโต้ของสหรัฐฯ ไม่มีทางยุติการก่อการร้ายได้ มันรังแต่จะขยายความรุนแรงให้บานปลายออกไป เพราะอีกฝ่ายจะยิ่งใช้วิธีการที่ดุเดือดยิ่งขึ้น โดยมีอาสาสมัครหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดยั้ง โศกนาฏกรรม 11 กันยายนคือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของความล้มเหลวในนโยบายที่ใช้มานานถึง 30 ปี นโยบายที่ใช้กำปั้น ใช้การตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการก่อการร้าย นโยบายนี้มีแต่จะส่งผลให้การก่อการร้ายมีความเป็นมืออาชีพขึ้นมาอย่างที่สุด

การตอบโต้เพียงอย่างเดียวที่จะช่วยให้โลกมีความมั่นคงและสันติภาพ ก็คือวอชิงตันต้องไม่วินิจฉัยแค่อาการ แต่ลงไปให้ถึงรากของการก่อการร้าย สหรัฐอเมริกาสมควรทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายในตะวันออกกลางและโลกที่สาม สนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบที่จะไม่ขัดขวางหนทางไปสู่ความเสมอภาค ความยุติธรรม และอำนาจปกครองตัวเองอย่างแท้จริงของประชาชนผู้เสียเปรียบในปัจจุบัน

หนทางอื่นมีแต่จะนำไปสู่สงครามไร้ที่สิ้นสุด

วอลเดน เบลโล : ๑๘ กันยายน ๒๐๐๑

+++++++++++++++++++++++++++++

Walden Bello
Director of Focus on the Global South

Walden Bello is Director of Focus on the Global South in Bangkok, a project of Chulalongkorn University's Social Research Institute and Professor of Public Administration and Sociology at the University of the Phillipines.

He is also chairman of the board of Greenpeace Southeast Asia - and serves on the boards of Transnational Institute (Amsterdam) and Food First (Oakland). Mr. Bello serves on the Program Board of the International Centre for Trade and Sustainable development in Geneva, which provides NGOs with information on the WTO.

Mr. Bello had regular columns in Phillipine and Thai newspapers, Focus on Trade - and the Far Eastern Economic Review.

From 1990-94, he served as executive director of the Institute for Food and Development Policy (Food First) in Oakland, California. Earlier, Mr. Bello worked in Washington, D.C. as a lobbyist for democratic rights in the Phillipines.

He obtained his Ph.D. in sociology from Princeton University in 1975 - and taught at the University of California.

Mr. Bello is the author of 13 books, the latest of which is "Deglobalization: Ideas for a New World Economy" (London: Zed, 2002).

Recent work:
The Crisis of the Globalist Project and The New Economics of George W. Bush (July 2003).

Areas of interest
Regionalism and Globalization, International Financial Institutions, WTO, Alternative Security in the Asia-Pacific


Recent contributions:
The Reemergence of Balance-of-Power Politics





 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
หลังจากการโจมตีตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ ผู้ก่อการร้ายถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก "ไร้เหตุผล" หรือ "เสียสติ" หรือคนที่เป็นร่างทรงของความชั่วร้าย เราเข้าใจได้ว่านี่เป็นปฏิกิริยาที่คุกรุ่นไปด้วยอารมณ์ร้อนแรง แต่มันอันตรายมากถ้าถือเอามาเป็นพื้นฐานของการวางนโยบาย ความจริงก็คือ ผู้ก่อการร้ายครั้งนี้กระทำการอย่างมีเหตุผลมาก หากพวกเขาเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโอซามา บิน ลาเดน จริงแล้วไซร้ เป้าหมายของพวกเขา น่าจะเป็นการส่งสารให้สหรัฐอเมริการู้ว่า การรักษานโยบายของสหรัฐในตะวันออกกลางจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม และนี่คือวิธีที่พวกเขาจะใช้ต่อต้าน
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.