Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
การก่อการร้ายที่ไม่ต้องการอำนาจรัฐ
มหาอำนาจกับโลกมุสลิม การเมืองของการก่อการร้าย
คณะทำงานวาระทางสังคม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความถอดเทปชิ้นนี้ได้รับมาจาก
คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องมหาอำนาจกับโลกมุสลิม การเมืองของการก่อการร้าย
โดยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยดังนี้
๑. บทบาทและอิทธิพลของมหาอำนาจในไทย เชื่อมโยงกรณี ๓ จังหวัดภาคใต้
๒. การเมืองการก่อการร้าย การวางตัวของประเทศเล็กๆ
๓. มหาอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ
๔. การเมืองการก่อการร้ายในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนักวิชาการตามลำดับหัวข้อเสวนาดังนี้ : ปณิธาน วัฒนายากร
ศุภมิตร ปิติพัฒน์, อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้ดำเนินรายการ
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1005
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
25 หน้ากระดาษ A4)
มหาอำนาจกับโลกมุสลิม การเมืองของการก่อการร้าย
งานเสวนาโครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน ชุด ๓ จังหวัดภาคใต้
ครั้งที่ ๒
วันพุธที่ ๒๘ กันยายน
๒๕๔๘
ห้องประชุมจุมภฏ - พันทิพย์ ชั้น ๔ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยคณะทำงานวาระทางสังคม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.)
ความนำ
มหาอำนาจกับโลกมุสลิม การเมืองของการก่อการร้าย
โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน ชุด ๓ จังหวัดภาคใต้ ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเปิดมุมมองการเรียนรู้ต่อปัญหาใหญ่ ที่สลับซับซ้อนของสังคมไทย ในครั้งที่
๒ นี้ เป็นการคลี่ขยายให้เห็นความซับซ้อนของของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมือง
การใช้อำนาจและอิทธิพลในช่องทางต่างๆ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกภาคส่วน
ปณิธาน วัฒนายากร
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. บทบาทและอิทธิพลของมหาอำนาจในไทย
เชื่อมโยงกรณี ๓ จังหวัดภาคใต้
ตลอดเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เราได้เรียนรู้ว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง
และทราบถึงบทบาทอิทธิพลของมหาอำนาจในเรื่องการก่อการร้าย ซึ่งอาจเชื่อมโยงมาถึงประเทศไทยอย่างไร
โลกใน ๔ ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เราได้เรียนรู้ว่าการก่อการร้ายเป็นกระแสและสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบอย่างมาก เราต้องเข้าสู่สงคราม ๒ ครั้งใหญ่ ๆ คืออัฟกานิสถาน และอิรัก โดยที่ยังมองไม่เห็นว่าจุดจบของมันจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้นแล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างให้เกิดความแตกแยกอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก บนความแตกแยกนั้นตามมาด้วยความรุนแรง แม้ว่าสถิติของความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก
ก่อนวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ การก่อการร้ายทั่วโลกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ ๔,๓๐๐ กว่าครั้ง แต่หลังจากวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ มาแล้ว การก่อการร้ายได้ลดลงเหลือประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าครั้ง นี่คือตัวเลขของการก่อการร้ายสากลเท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมถึงการก่อความไม่สงบในท้องถิ่น ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยายนเกิดขึ้น ในหลายๆ ประเทศก็ได้ให้ความสนใจในการต่อต้านการก่อการร้ายมากขึ้นจึงทำให้สถานการณ์ลดลง แต่เราจะเห็นได้ว่าการก่อการร้ายนั้นมีมานานมากแล้ว
ตลอดเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีความรุนแรงใหม่เกิดขึ้นทั่วโลก มีการจัดตั้งขบวนการ หรือองค์การเข้าไปก่อความไม่สงบในหลายประเทศ เริ่มต้นที่ตึกเวิร์ลเทรดครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และตามด้วยที่เยเมน, แทนซาเนีย, ซาอุดิอาระเบีย, ปากีสถาน, เรื่อยมาจนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ และกระจายไปที่บาหลี, ฟิลิปปินส์, จนปัจจุบันก็มีการก่อการร้ายที่อังกฤษและที่สเปนด้วย และแม้แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีความไม่สงบก่อความรุนแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ ลักษณะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทั้งหมดไม่อาจตอบได้ว่ามันมาจากไหน
การก่อการร้ายแม้จะเริ่มลดลงนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ แต่ความรุนแรงกลับเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน นั่นคือสภาวะใหม่ที่เกิดขึ้นที่เราต้องเผชิญกับมันอีกนาน เป็นที่ชัดเจนว่าเราเริ่มเข้าสู่ ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุคใหม่ของความรุนแรง และยุคใหม่ของความขัดแย้ง ซึ่งมีที่มาอย่างหลากหลาย มันมิใช่เป็นเพียงแนวความคิดที่รุนแรงเพียงอย่างเดียว มันมีความขัดแย้งที่มาจากบทบาทของมหาอำนาจ ความขัดแย้งที่มาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันในท้องถิ่น ความขัดแย้งดั้งเดิมในเรื่องชาติพันธุ์ ชาตินิยม ความขัดแย้งสมัยใหม่ในเรื่องทุนนิยม ความขัดแย้งในเรื่องของการบริหารการจัดการ การอำนวยความยุติธรรมต่าง ๆ
ความขัดแย้งดังกล่าวเหล่านี้ได้กลายมาเป็นพลังปัจจัยทวีคูณที่ทำให้ยุคใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า Age of a New War หรือยุคความขัดแย้งใหม่หรือสงครามใหม่ ซึ่งเป็นสงครามที่แตกต่างจากสงครามในอดีต
Age of a New War
ยุคสงครามใหม่ มันเป็นสงครามที่อาจจะไม่ได้ประกาศ อาจเป็นสงครามที่ผสมอุดมการณ์
ผสมความเป็นชาตินิยม ผสมความขัดแย้งที่มาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด และขยายตัวลุกลามเป็นความขัดแย้งอย่างกว้างขวางจนถึงในระดับที่ก่อให้เกิดสงครามย่อยๆ
ระหว่างกลุ่มต่างๆ ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ระหว่างรัฐกับรัฐ
เหล่านี้เป็น Age of a New War
ในส่วนของมหาอำนาจได้ให้ความสนใจกับประเด็นปัญหานี้มาก ที่เขาสนใจเพราะคิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของความขัดแย้งหรือการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรต่างก็รู้สึกว่าตนเองตกเป็นเป้าหมายอย่างรุนแรง ในช่วงหลังวันที่ ๑๑ กันยายน จึงได้พุ่งเป้าไปที่ประเทศที่คิดว่าน่าจะเป็นแกนในการสนับสนุนการก่อการร้าย พุ่งเป้าไปยังองค์การที่คิดว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย และพุ่งเป้าไปยังตัวบุคคลที่สนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์แรกเริ่มของประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก
ประการต่อมา ก็คือว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้ก็มีการพัฒนาไปพอสมควรทีเดียวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ณ วันนี้มันไม่ได้ให้ผลอย่างชัดเจนนัก มันทำให้เกิดภาวะชะงักงันไปชั่วขณะ ทำให้ลดจำนวนการก่อการร้ายสากลลงมาได้ระดับหนึ่งในภาพรวม ด้วยความมุ่งมั่นของประเทศสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรที่จะระบุว่าภัยเหล่านี้มาจากกลุ่ม มาจากบุคคลใดบ้าง เช่น โอซามา บินลาเดน ผู้นำของกลุ่มอัลกออิดะห์ และบุคคลอื่นๆ อีก ทั่วโลก รวมทั้งได้ระบุถึงองค์การก่อการร้ายสากลอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ เจมาอิสลามียา และอื่นๆ รวมทั้งได้ระบุถึงประเทศที่เป็นแกนปีศาจ (Axis of Evil) ที่สนับสนุนประเทศเหล่านั้น ก็คือ ประเทศอิหร่าน ประเทศอิรัก และประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งได้เชื่อมโยงให้เห็นว่าในอนาคตประเทศดังกล่าวนั้นสามารถที่จะส่งอาวุธ หรือสนับสนุนเทคโนโลยีบางอย่าง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำลายล้างได้
นับเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากจนเกิดความแตกแยกในองค์การสหประชาชาติเอง โดยคณะมนตรีความมั่นคงของอังกฤษกับอเมริกานั้นเชื่อว่า หากในอนาคตประเทศตะวันตกถูกคุกคาม ก็น่าจะมาจากอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างจากประเทศที่เป็นภัยร้ายแรงตามที่เขาได้ระบุมา. สำหรับประเทศฝรั่งเศส ประเทศจีน และประเทศรัสเซีย โดยมีประเทศเยอรมันสนับสนุนอยู่นอกคณะมนตรีความมั่นคงไม่เชื่อว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะมีขีดความสามารถในการนำอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างร้ายแรงมาโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกาได้ จึงกลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสหประชาชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังคงเดินหน้า ดำเนินนโยบายปราบปราบกลุ่มองค์การก่อการร้ายและประเทศเหล่านี้อย่างรุนแรง ด้วยการใช้กำลังทางการทหารเข้าไปปราบปราม
ในยุค ๒-๓ ปีแรกก่อนที่ประธานาธิบดีบุชจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ ๒ เขาได้ใช้นโยบายทางการทหารเข้าไปตัดตอนองค์การเหล่านี้ และในทุกวันนี้ก็ยังคงทำอยู่เป็นหลัก แม้กระทั่งเมื่อวาน (๒๖ กันยายน ๒๕๔๘) ก็ยังมีรายงานออกมาว่า ผู้นำเบอร์ ๒ ขององค์การอัลกออิดะห์ในอิรักถูกสังหารแล้ว นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการใช้กำลังในการเข้าตัดตอนและโจมตีกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้
ใน ปิรามิดสามเหลี่ยมใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับผู้นำอยู่บนยอดของความรุนแรง ให้องค์กรที่สนับสนุนผู้นำและให้รัฐที่สนับสนุนองค์กรเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยได้ใช้กำลังเข้าไปตัดตอนและใช้การปราบปรามอย่างรุนแรง เข้าไปทำการยุบเลิกองค์การเหล่านี้และดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศเหล่านี้ด้วย ด้วยยุทธศาสตร์ Preemption และด้วยยุทธศาสตร์ Roughen Change โดยที่ไม่ต้องดำเนินการขอมติจากสหประชาชาติแต่อย่างใด นี่คือในอดีต ๒ ปีแรกที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่งจากมุมมองของประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรว่าได้ทำให้ลดตัวเลขของการก่อการร้ายลง
ผู้นำของอัลกออิดะห์ ๒ - ๓ คนถูกจับ ทั้งองค์การอัลกออิดะห์และองค์กรอื่นๆ ต่างแตกตัวออกเป็นกลุ่มย่อยๆ มากขึ้น กลายเป็นขบวนการย่อยๆ ไม่ใช่องค์การที่เข้มแข็งเหมือนเดิม บินลาเดนหมดสภาพไม่สามารถสั่งการได้อย่างเมื่อก่อน สวาเอรีต้องเดินทางหลบหนีตลอดเวลาไม่สามารถสั่งการได้อย่างสะดวก แต่หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ผู้นำองค์การอัลกออิดะห์จะถูกจับถูกสังหารถึง ๒ ใน ๓ คนก็ตาม ตัวเลขการก่อการร้ายโดยรวมลดลง แต่ก็ทำให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่มากมายกลายเป็นขบวนการก่อการร้ายย่อยๆ มากขึ้น และยังทำให้เกิดอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านเผด็จการจักรวรรดินิยมใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ในแง่การใช้กำลังปราบปราม จึงทำให้สถานการณ์ต่อต้านการก่อการร้ายชะงักงันในรอบ ๒ ปีแรก หลังจากที่ประธานาธิบดีบุชได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในอีกสมัยที่ ๒ จึงได้พยายามเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ไปสู่ยุทธศาสตร์การป้องกันจาก Preemption ไปสู่ Prevention จากภาษาที่ค่อนข้างก้าวร้าวรุนแรง ในเมื่ออเมริกันเห็นว่ามีการต่อต้านจากทั่วโลกอย่างเข้มแข็ง ก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงจึงไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่คือยุทธศาสตร์ป้องกันที่จะไม่ให้เกิดความแตกแยกมากกว่านี้ ยุทธศาสตร์ที่จะพูดภาษาที่นุ่มนวลมากขึ้น ยุทธศาสตร์ใหม่ซึ่งจะแยกแยะออกเป็นแนวนโยบายใหม่ๆ อยู่ประมาณ ๘ - ๙ ประการ และพยายามที่จะผลักดัน แต่ก็ต้องใช้เวลา
นโยบายแรก
ยุทธศาสตร์แรกที่อเมริกันคิดป้องกันหรือ Prevention ในอนาคตก็คือ จะต้องเข้ามาเพื่อที่จะสนับสนุนกลุ่มแนวความคิดหัวปานกลางในการถ่วงดุลเผชิญหน้ากับกลุ่มหัวรุนแรง
เนื่องจากอเมริกันคิดว่ากลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา กลุ่มหัวรุนแรงทางอุดมการณ์นิยมเป็นแกนนำในการต่อต้านอเมริกันกับพันธมิตร
ยุทธศาสตร์ใหม่ก็คือ เข้ามาสนับสนุนให้กลุ่มเสรีนิยมสมัยใหม่ กลุ่ม Moderate
ทั้งหลายรวมทั้ง Moderate Muslim ซึ่งยังไม่ได้รวมตัวกันอย่างชัดเจนนัก ให้มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนขึ้น
และอาจมีการให้เงินสนับสนุนและหนุนแนวคิดให้กับกลุ่มต่างๆ เหล่านี้
นโยบายที่สอง คือพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา
ปฏิรูปมัสยิด ปฏิรูประเบียบการเรียนการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนตาดีกา
และโรงเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเหล่านี้ที่อเมริกันมองว่าจะเป็นภัยในอนาคต
เหล่านี้เป็นเรื่องที่อเมริกันให้ความสนใจ และเป็นเรื่องที่อเมริกันได้สรุปจากโครงการวิจัยหลายโครงการ
รวมทั้งโครงการวิจัยของสถาบัน Land Corporation
นโยบายที่สาม คือจะเข้ามาเพื่อที่จะขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ
ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ยากจนที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และไม่สามารถปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของตนเองตามความเหมาะสม
ตามเอกลักษณ์ ตามวัฒนธรรมของตนเองในอดีต เพราะโดนกดดันจากทุนนิยม สามารถที่จะพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถทางเศรษฐกิจได้
นโยบายที่สี่ คือพยายามที่จะสกัดกั้นลดบทบาทของพวกหัวรุนแรงตามกลุ่มชุมชนต่าง
ๆ ที่เข้าไปยึดสถาบันทางศาสนา หรือยึดกิจกรรมทางการเมืองของท้องถิ่นหลายประเทศและในหลายพื้นที่
ซึ่งเป็นแนวความคิดอีกแนวความคิดหนึ่ง
นโยบายที่ห้า แนวความคิดคือจะพยายามสนับสนุนให้เกิด
Civil Islam ก็คือมุสลิม Civil Society Group ที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วแต่อาจยังไม่เข้มแข็ง
และยังไม่เป็นระบบมากนัก อเมริกันก็พยายามจะเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า
เมื่ออเมริกันเข้ามาแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ และเข้าใจหรือไม่ และนี่เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนทำให้เกิด
Securer หรือ Moderate Muslim Organization ทำให้องค์กรเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในประเทศต่างๆ
เหล่านั้น รวมทั้งการที่จะผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้นำเอาประชาธิปไตย นำเอาแนวคิดสิทธิเสรีภาพเข้าไปพัฒนาท้องถิ่นในหลายประเทศ
นโยบายที่ห้า คือการเข้ามาเพื่อที่จะสกัดกั้นทรัพยากร
และการระดมเงินและความคิดของกลุ่มเหล่านี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนปีละประมาณ
๖ - ๗ พันล้านในกลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ นั่นเป็นช่องทางที่อเมริกันพยายามเข้ามาหาทางสกัดกั้นเงินทุนเหล่านี้
โดยใช้ทุนตนเองเข้ามาสกัดกั้นทุนกลุ่มอื่น ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มทุนที่มาจากซาอุดิอาระเบีย
โดยมีการพูดกันว่ากลุ่มทุนที่ซาอุดิอาระเบีย กลุ่มทุนที่กาตาร์ กลุ่มทุนที่โอมาน
พวกนี้ได้ให้การอุดหนุนแต่ละปีถึง ๖ - ๗ พันล้านเหรียญ ซึ่งอเมริกันจะเข้ามาทดแทนหรือเข้ามาสกัดกั้นอย่างไรก็ต้องรอดูกันต่อไป
นโยบายส่วนที่เหลือ จะเป็นเรื่องของการสร้างขีดความสามารถทางการทหารกับประเทศที่เป็นพันธมิตรหลักๆ
ของประเทศสหรัฐอเมริกา ขยายขีดความสามารถทางการทหารในรูปแบบที่สมดุล ถ่วงดุลกันระหว่างการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง
กับการยกระดับของกลุ่มหัวปานกลางต่าง ๆ ด้วยการใช้การทหารที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม
การทหารที่มีการฝึกฝน โดยเพิ่มโครงการฝึกฝนทางการทหารให้กับประเทศหลายประเทศในพื้นที่หลายพื้นที่
ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
อย่างโครงการ IMAT ที่จะมีความยืดหยุ่นขึ้นทำให้นักการทหารในกลุ่มโครงการเหล่านี้
เข้าใจโลกที่แตกต่างจากตนเองออกไป อย่างเช่นโลกมุสลิมและอื่น ๆ เพื่อที่จะให้ทหารเหล่านั้นทำงานได้ดีขึ้น
และยืดหยุ่นมากขึ้นในพื้นที่ โดยการใช้ข้อมูลทางด้านข่าวกรองทั้งทางสงครามจิตวิทยามวลชน
และนำเอาภาคประชาชนมาช่วยในเรื่องของการทหาร อย่างเช่นเรื่องของการสร้างแพทย์ทหาร
ทหารพัฒนาต่างๆ ซึ่งผมฟังดูแล้วว่าดูดีแต่ไม่ทราบว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ แต่หลายส่วนแม้แต่ในประเทศไทยก็ทำอยู่แล้ว
อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ซึ่งอเมริกันคิดว่าต่อไปจะต้องทำในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผมเคยพูดถึงการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดของอเมริกันแบบนี้ และได้มีความพยายามที่จะชี้ให้อเมริกันเห็นว่า
ถ้าจะเข้ามีบทบาทมากขึ้นจากยุทธศาสตร์ใหม่ที่ปรับจาก Preemption มาเป็น Prevention
ควรจะต้องทำอะไรบ้าง เอเชียตะวันนออกเฉียงใต้ไม่เหมือนโลกมุสลิมอื่นๆอย่างไร
และหากเข้ามาแล้ว มีประเด็นอะไรบ้างที่อเมริกันควรจะต้องทราบและปรับตัว แต่สรุปโดยรวมก็คือ
น้ำหนักทางด้านการใช้กำลังก็ยังคงเห็นได้ชัดอยู่พอสมควร
ยุทธศาสตร์ Preemption ก็ยังเห็นอยู่จนทุกวันนี้ แต่ได้เริ่มคลายตัวและพัฒนาไปสู่แนวโน้มที่ดีขึ้นพอสมควร แต่กำลังทหารอเมริกันก็ยังคงอยู่ในหลายประเทศ ที่อิรักก็ยังมีประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าคน ความสูญเสียทางด้านการทหารก็ยังสูงอยู่ ก็ยังไม่แน่ใจว่าบทบาทจะได้เปลี่ยนแปลงไปเร็วอย่างที่พวกเราต้องการหรือไม่ หรือว่าอย่างที่พวกเราเป็นกังวลหรือไม่ แต่มันก็ยังมีทิศทางที่ดีบ้างก็รอดูไปว่าในอนาคตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยจะมีสิทธิ์ มีบาทบาท มีอำนาจในการชี้นำอเมริกันในเรื่องนี้อย่างไร
แต่ผมก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะว่า เป็นช่วงที่อเมริกันกำลังจะปรับนโยบายใหม่ และได้เปิดรับฟังความคิดมากขึ้น การสูญเสียของเอมริกันที่มากในแต่ละเดือนนับเป็นจำนวนหลายพันล้านเหรียญต่อเดือน รวมทั้งอัฟกานิสถานพันกว่าล้าน ในอิรัก ๖ - ๗ พันล้านเหรียญต่อเดือน ทำให้อเมริกันต้องตื่นขึ้นมาพบกับความจริงว่า ถึงแม้ว่าตนเองเข้มแข็งที่สุดก็คงไม่พอที่จะทำการตามลำพัง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ความสูญเสียของทหารอเมริกันมีตัวเลขตามที่เปิดเผยก็เกือบ ๒,๐๐๐ นาย ซึ่งตัวเลขจริงอาจสูงกว่านั้นขึ้นอยู่กับวิธีนับ จึงทำให้อเมริกันตื่นขึ้นมาพบกับความจริงว่า ถ้าไม่ร่วมมือกับพวกเราก็คงจะเป็นจักรวรรดิที่ทำการใหญ่เกินตัว และในที่สุดแล้วก็อาจเข้าสู่หายนะได้อย่างง่ายดาย
พวงทอง ภวัครพันธุ์
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ดำเนินรายการ)
อาจารย์ปณิธาน ชี้ให้เราเห็นว่า
Age of a new war นั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งในด้านต่างๆ สาเหตุของความขัดแย้งไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวเหมือนยุคสงครามเย็น
ที่ระหว่างโลกคอมมิวนิสต์กับโลกทุนนิยมอีกต่อไป แต่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจจะมาในหลายๆ
ด้านด้วยกันไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้เป็นต้น
ท่านชี้ให้เห็นว่า วิธีการแก้ปัญหาของประเทศสหรัฐอเมริกาเวลาที่เจอกับการก่อการร้ายเกิดความรุนแรง เราจะเห็นว่าการฆ่าตัดตอนนั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะในเมืองไทยนั้น อเมริกันก็ใช้เหมือนกัน หรือที่เรียกในภาษาการทูตว่า Preemption หลังจากที่สามารถทำให้หน่วยก่อการร้ายทั้งหลายอ่อนกำลังลงได้ อเมริกันก็ริเริ่มเปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์การป้องกันโดยทุ่มเงินในด้านการพัฒนาด้วย ขณะเดียวกันทางด้านการทหารก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอยู่ อาจารย์คงมีประเด็นหลายประเด็นที่คงจะมีโอกาสที่พูดอีกครั้งในรอบที่สอง
ตอนนี้เรามีผู้ร่วมสัมมนามาเพิ่มอีก 2 ท่าน ท่านแรกอยู่ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ คือท่าน ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ส่วนท่านที่สอง อยู่ภาควิชาประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ท่านมีความสนใจในเรื่องของอเมริกาด้วย คืออาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ต่อไปเราจะรับฟังในแง่มุมของการเมืองการก่อการร้าย จุดยืนของประเทศเล็ก ๆ
ศุภมิตร ปิติพัฒน์
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
2. การเมืองการก่อการร้าย การวางตัวของประเทศเล็กๆ
เรื่องท่าทีบทบาทของประเทศเล็กๆ ต่อปัญหาการเมืองโลกเกี่ยวกับการก่อการร้าย ซึ่งมีตัวแสดงหลากหลาย
ขณะนี้ผู้ที่ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่เป็นหัวหอกหลักคือประเทศสหรัฐอเมริกา
หลายคนมีความกังวลใจต่อบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามการก่อการร้ายครั้งนี้
และเริ่มพูดกันว่าประเทศเล็กๆ ควรแสดงท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ นับเป็นโจทย์ที่ตอบได้ยากที่จะหาเอกภาพของท่าทีของประเทศเล็กๆ
ต่อประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี หรือต่อการก่อการร้ายก็ดี เพราะปัญหาการก่อการร้ายไม่ใช่ปัญหาที่มีลักษณะของแหล่งที่มาแบบเดียว
หรือว่ามันมีจุดกำเนิดจุดเดียว
การก่อการร้ายในรัสเซีย การก่อการร้ายที่ศรีลังกา การก่อการร้ายในอินเดีย การก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ มันมีจุดกำเนิดซึ่งแตกต่างกัน แต่อาจกำลังถูกทำให้เชื่อมโยงกลายเป็นเรื่องเดียวกันจากเหตุการณ์ ๙/๑๑ ซึ่งทำให้ปัญหาการก่อการร้ายกลายมาเป็นปัญหาความมั่นคงในระดับโลก เพราะว่าผู้พิทักษ์ความมั่นคงระดับโลกกำลังรู้สึกไม่มั่นคงเสียเอง ทำให้เขาลุกขึ้นมาดำเนินการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และรวบเอาการก่อการร้ายกลายมาเป็น ๓ เรื่องร่วมกันคือ
- การก่อการร้าย
- การครอบครองอาวุธที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง และ
- รัฐอันธพาลหรือประเทศแกนของความชั่วร้าย
โดยรวบเรื่องทั้งหมดเหล่านี้เข้ามาเป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงระดับโลก ซึ่งเรียกร้องให้นานาประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต้องร่วมมือกับเขาในการรับมือ
เมื่อผู้ที่เป็นใหญ่กระทำการอย่างนี้แล้ว เราในฐานะผู้ตามซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม หากถามว่าผู้ตามทำอะไรได้บ้าง ผู้ตามมีสิทธิ์อยู่ ๒ อย่างที่มีความสำคัญ
- อย่างแรกคือมีสิทธิ์ในการให้ความชอบธรรม
- อย่างที่สองมีสิทธิ์ในการที่จะบอกว่าการกระทำใด ๆ ของท่านผู้นำนั้นอาจจะไม่ชอบธรรม
การเป็นผู้ตามนั้นมีบทบาทสำคัญตรงนี้คือหน้าที่ในการให้ความชอบธรรมหรือไม่ให้ความชอบธรรมต่อบทบาทของประเทศที่เป็นผู้นำ หากถามว่าประเทศเล็กๆ จะเล่นบทบาทนี้ได้มากน้อยแค่ไหนและอย่างไร มันเป็นการยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะบอกว่าให้ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มประเทศใดกลุ่มประเทศหนึ่ง มีท่าทีที่ตรงกันเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความชอบธรรม ในการดำเนินบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องสงครามการก่อการร้าย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้มันตั้งคำถามต่อระบบคุณค่า ระบบความเชื่อทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องความชอบธรรม
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการใช้กำลัง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหลักการอธิปไตย ในเรื่องของการแทรกแซง ทั้งหมดเหล่านี้มันถูกเผชิญด้วยโจทย์หรือปัญหาใหม่ๆ ที่อาจารย์ปณิธานพูดถึง Age of a New War สงครามประเภทใหม่หรือสถานการณ์ใหม่ๆ ประเทศสหรัฐอเมริกาถามเราว่าถ้ามีรัฐอันธพาลซึ่งคอยสนับสนุนการก่อการร้าย และถ้าการก่อการร้ายนั้นได้อาวุธซึ่งมีอานุภาพร้ายแรง ที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง เราจะมัวรอที่จะต้องเดินตามกฎขั้นตอนกติกาต่างๆ ที่เป็นกรอบเดิมอยู่อีกหรือไม่ เป็นต้น
การใช้กำลังมีความจำเป็นที่ต้องชิงลงมือก่อน เพื่อที่จะไม่ให้ฝ่ายที่เป็นรัฐอันธพาลมีขีดความสามารถที่จะแบล็คเมล์เราได้ภายหลัง ถ้าเรารอจนถึงขณะนั้นแล้ว เราอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาเองถือว่าอำนาจในการป้องกันตนเอง เป็นอำนาจของรัฐอธิปไตยซึ่งควรจะรักษาไว้อย่างดีที่สุด ไม่ควรจะปล่อยให้อำนาจนี้ตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะสามารถมาแบล็คเมล์ตนเองได้ภายหลัง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตั้งคำถามนี้กลับคืนมายังประชาคมระหว่างประเทศเหมือนกัน คำถามที่ว่าถ้ากลุ่ม Terrorist ได้ Weapons of Mass Destrution ขึ้นมา เราจะจัดการกับกลุ่มนี้อย่างไร ภายใต้กรอบของรัฐอธิปไตยซึ่งเป็นข้อจำกัดการใช้กำลังอยู่ในขณะนี้
คำถามของประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือ ยังเป็นคำถามซึ่งแม้ว่าอิรักจะได้ทำลายความชอบธรรมของคำถามนี้ไป แต่ผมก็คิดว่าคำถามนี้จะยังคงอยู่กับเราว่ากฎเกณฑ์กติกาชุดเดิมจะยังคงใช้ได้ หรือจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนต่อไป ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำถามใหญ่ที่ผมอยากจะฝากไว้ ประเด็นคือว่าในโลกปัจจุบันนี่หลักการหลายอย่างค่อยๆ เคลื่อนจากสภาวะเดิมไปสู่สภาวะใหม่อยู่แล้วในตัวของมันเอง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการใช้กำลังอย่างที่พูดมาสักครู่
ดูกรณีตัวอย่างเรื่องหลักการอำนาจอธิปไตยและการแทรกแซง หลักการอำนาจอธิปไตยหรือหลักการไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายใน เดิมเคยถือว่าเป็นหลักการอันศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งอย่างที่เรารู้จักกัน แต่ว่าในระยะหลัง ไม่ว่าก่อนเหตุการณ์ ๙/๑๑ หรือก่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะลุกขึ้นมากลายเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หลักการอธิปไตยก็ดี หรือหลักการไม่แทรกแซงก็ดีมันเริ่มค่อยๆ คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปว่า ไม่ใช่หลักการศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ถ้าเกิดรัฐใดรัฐหนึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นต้น ก็เป็นความชอบธรรมที่นานาประเทศจะต้องร่วมมือกันในทางใดทางหนึ่งที่จะต้องเข้าแทรกแซงเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันนั้น อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นโลกในขณะนี้มันกำลังเต็มไปด้วยหลักการใหม่ๆ ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เต็มไปด้วยโจทย์ของปัญหาใหม่ๆ ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก การจะหาจุดยืนที่เหมาะสมของรัฐเล็กๆ ก็เป็นเรื่องซึ่งยังลำบาก ความยากลำบากหรือความสลับซับซ้อนขึ้นอยู่กับความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐเล็กๆ นั้นด้วย เพราะว่าสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาพที่ตั้งหรือสภาพของแต่ละภูมิภาคของรัฐเล็กๆ นั้นก็มีปัญหาซึ่งแตกต่างกันอยู่ในตัว ปัญหาทางด้านความมั่นคงที่แตกต่างกัน
หากจะถามว่ารัฐอย่างเกาหลีใต้ รัฐอย่างศรีลังกา รัฐอย่างอิหร่าน หรือรัฐอย่างเวเนซุเอลา จะมีท่าทีที่ตรงกันไหม ในการรับมือกับโจทย์ปัญหาที่พูดมาสักครู่นี้ ก็อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะว่าเกาหลีใต้อาจจะมีความจำเป็นบางอย่างเกี่ยวกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออก ซึ่งจำเป็นที่จะยังคงอาศัยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้หลักประกันในเรื่องเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ประเทศอิหร่านอาจจะมีหน้าต่างของโอกาสที่จะท้าทายประเทศสหรัฐอเมริกาได้บ้าง โดยหวังว่าถ้าตนเองสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา ก็อาจจะเป็นอำนาจต่อรองได้อย่างหนึ่งเป็นต้น
เพราะฉะนั้นพลวัตรของแต่ละภูมิภาคซึ่งมีโจทย์ปัญหาทางด้านความมั่นคงภายในซึ่งแตกต่างกันไปนี้ ก็อาจจะทำให้ประเทศเล็กๆ นั้นมีท่าทีที่แตกต่างกันและไม่เป็นเอกภาพที่จะพัฒนาระบบคุณค่าใหม่ๆ ขึ้นมา หรือว่าร่วมกันในการที่จะรับมือกับปัญหาความชอบธรรมหรือความไม่ชอบธรรมของผู้นำ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เรื่องท่าทีของประเทศเล็กๆ คำถามคือว่าประเทศเล็กๆ นี้ความจริงแล้วก็มีความไม่เหมือนกันทีเดียวในระดับชนชั้นนำ และในระดับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หากถามว่าประเทศไทยมีท่าทีตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อไปถามภาคประชาชนก็จะได้รับคำตอบอย่างหนึ่ง เมื่อถามรัฐบาลทักษิณก็จะได้รับคำตอบอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นกระบวนการซึ่งเครือข่ายของภาคประชาสังคมในระดับประเทศที่จะเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมระดับโลกในการที่จะกลายเป็น Movement ใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะทัดทานกับการใช้อำนาจหรือการคลี่คลายของสถานการณ์ไปในทางใดทางหนึ่ง มันก็ยังถูกจำกัดในกรอบของ Representation คำถามคือว่าการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนที่เป็นเครือข่าย (Network) ระดับภูมิภาคภายในประเทศ และระดับโลก Represent ใคร และกระบวนการ Representation นี้ได้รับการยอมรับแค่ไหนที่จะเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลง นี่เป็นคำถามใหญ่เช่นกัน
พวงทอง ภวัครพันธุ์
สิ่งที่อาจารย์ศุภมิตรพูดมาเป็นประเด็นที่สำคัญมากในการเมืองระหว่างประเทศ คำถามว่าต่อไปนี้ภายใต้สถานการณ์ที่มหาอำนาจมีเพียงหนึ่งเดียวนี้
ประเทศเล็กๆ จะยังคง Self - determination ได้มากน้อยเพียงไรในการที่จะกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศเล็กๆ นั้นยังไม่มีเอกภาพอย่างเพียงพอ ท่านอาจารย์ยังได้ทิ้งคำถามไว้ว่า
อะไรคือระบบคุณค่าที่ประเทศเล็กๆ น่าจะผลักดันร่วมกันเพื่อที่จะต่อรองและทำให้มหาอำนาจนั้นยอมรับคุณค่าใหม่ๆ
ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าทำตาม Agenda ที่มหาอำนาจเป็นผู้ที่จัดวางไว้เท่านั้น ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์อุกฤษฎ์
ปัทมานันท์ ซึ่งท่านจะพูดถึงมหาอำนาจกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ
อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. มหาอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ
ผมได้รับมอบหมายจากผู้จัดงานเสวนาให้พูดใน ๒ ประเด็นคือ
เรื่องที่หนึ่ง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของมหาอำนาจคืออะไร
เรื่องที่สอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับมหาอำนาจ การก่อการร้าย และเรื่องภาคใต้ของประเทศไทย
สำหรับผมมีวิธีดูอยู่ ๒ อย่างคือดูในภาพกว้าง (Macro) ดูแบบยุทธศาสตร์ ทั้งอาจารย์ศุภมิตรและอาจารย์ปณิธานต่างก็พูดถึง Key ที่สำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา เราลองมองย้อนกลับไปจะพบว่า มหาอำนาจกับการก่อการร้ายที่แท้จริงซึ่งเป็นมหาอำนาจหลักก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ๙/๑๑ เราจะพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหลักที่กำหนดนโยบายหลักของโลกเรื่องนโยบายก่อการร้าย แต่ผมอยากให้ดูเป็นยุทธศาสตร์ว่า นอกจากนี้ควรเฝ้าดูมหาอำนาจอื่นอะไรอีกบ้าง เช่น ประเทศออสเตรเลีย
ถ้าเราจะบอกว่าประเทศออสเตรเลียไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองการก่อการร้าย การต่อต้านการก่อการร้ายย่อมไม่ได้ เพราะว่าประเทศออสเตรเลียเป็นพันธมิตรกับประเทศสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามอิรัก และประเทศออสเตรเลียเองก็ได้ผลกระทบจากการต่อต้านการก่อการร้าย ชาวออสเตรเลียเสียชีวิต โรงแรมถูกระเบิด สถานทูตถูกวางระเบิด แม้กระทั่งประเทศสิงคโปร์ก็เกี่ยวข้องด้วย เพราะนอกจากมีแนวนโยบายที่สอดคล้องกับรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ผลประโยชน์ของสิงคโปร์อยู่บริเวณในอาณาบริเวณทางใต้ของประเทศไทยพอดี
ถ้าเรามองในแง่ยุทธศาสตร์อย่างนี้ เราจะพบว่ามันค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดประเด็นเรื่องการก่อการร้าย และการกำหนดประเด็นการก่อการร้ายเป็นการมองในลักษณะของยุทธศาสตร์ คือไม่ได้มองเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว ไม่ใช่มองเฉพาะปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มองทั้ง Area ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศออสเตรเลีย และในประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นการมองแบบยุทธศาสตร์
สิ่งหนึ่งซึ่งน่าที่จะคิดถึงในภาพกว้าง เป็นอย่างที่อาจารย์ปณิธานพูดไว้คือ เขามีแนวทางหลายอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาในการที่จะต่อต้านการก่อการร้าย แต่ประเด็นที่ว่าถึงเรื่องของการมองในภาพกว้าง ประเด็นที่เราควรจะคิดก็คือ เราคิดว่าประเด็นการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมันเป็นของชาติมหาอำนาจเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ในแง่ของประเทศไทยเกี่ยวข้องกันอย่างไร? ผมคิดว่าในระยะ ๒ ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์การปล้นปืน ผมคิดว่าระบบคิดเรื่องเกี่ยวกับการก่อการร้าย เรามีแนวโน้มเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา เราเห็นพ้องต้องกันกับการแก้ปัญหาการต่อต้านการก่อการร้าย
Major
Non NATO Alliance
ประเด็นต่อมา เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดในเรื่องของการมองยุทธศาสตร์ในแง่ของการต่อต้านการก่อการร้าย
เราจะเห็นว่าระบบพันธมิตรทางด้านการทหารมีความสำคัญมากขึ้น เพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่เป็น
Major Non NATO Alliance ประเทศไทยยอมรับในเงื่อนไขของข้อตกลง Major Non NATO
Alliance ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ในช่วงประชุม APEC ที่ผ่านมา ด้วยระบบพันธมิตรนี้ทำให้การใช้เครื่องมือทางด้านการทหารเกิดขึ้น
มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีการฝึกกองกำลังต่าง ๆ เกิดขึ้น แล้วสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองที่แต่ละประเทศได้รับ
จากข้อสังเกตของผม เมื่อมีความคิดในด้านต่อต้านการก่อการร้าย เรื่องอาวุธจึงมีความสำคัญ อาวุธมีแหล่งที่มาจากไหนบ้าง ผมอ่านจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ที่กล่าวถึงว่ามีการเสนอการซื้อขายอาวุธคือเครื่องบินให้กับกองทัพอากาศไทย มีการเปลี่ยนระบบการซื้ออาวุธในแบบ Barter Trade การขายสินค้าเกษตรแลกกับอาวุธ จะเห็นได้ว่า เมื่อแนวคิดของการต่อต้านการก่อการร้ายเกิดขึ้น ผลประโยชน์ในเรื่องของการค้าขายอาวุธก็เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ลองมองย้อนกลับไปสักประมาณ ๖ เดือนย้อนหลัง เราจะเห็นข้อผิดสังเกตว่า ในช่วงนั้นสภาวะประเทศไทยภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีนักแต่มีข้อเสนอของกระทรวง เช่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บอกว่ามีงบประมาณประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท กระทรวงคมนาคมบอกว่ามีงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กว่าล้านบาทเพื่อทำ Mega project ผมได้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ว่า กระทรวงกลาโหมก็เสนอการซื้ออาวุธเพื่อการพัฒนากองทัพเป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท มันจึงดูเหมือนกับว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายมีการซื้ออาวุธเพื่อใช้ในการปฏิบัติการทางการทหาร ดังนั้นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นแง่มุมของการค้าอาวุธ ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
อยากจะชี้ประเด็นอีกอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผมมองว่าถ้าเราดูบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกากับเอเชียย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ เราลืมไปว่าเราอยู่ในกระบวนการของ อิทธิพลของ Washington Consensus เราได้รับข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ มีข้อเสนอเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางด้านการเงิน มีข้อเสนอเกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ประเด็นความคิดเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศมหาอำนาจหรือไม่
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้นผมคิดว่า นักลงทุนอเมริกันมากว้านซื้อสินทรัพย์บางอันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้วขาย การค้าการลงทุนเปลี่ยนไป มีข้อเสนอในการจัดระเบียบเศรษฐกิจในประเทศไทย นโยบายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบของ Washington Consensus ผมคิดว่าธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้คือธุรกิจพลังงาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารคมนาคม ธุรกิจเรานี้เป็นแหล่งผลประโยชน์ใหม่ของนักลงทุนขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศ การลงทุนเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องการตอบรับกับเงื่อนไขของการพยายามจะอยู่ในยุทธศาสตร์ของการต่อต้านการก่อการร้าย
ในประเด็นสุดท้ายอยากชี้ให้เห็นว่า
ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์เราจะมองทางด้านเดียวจากทางประเทศสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้
เราต้องมองประเด็นการเข้ามาของประเทศจีน ซึ่งมีความสำคัญในทางด้านยุทธศาสตร์ด้วย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทางรัฐบาลไทยได้เซ็นสัญญา ๑๒ ข้อตกลงกับทางรัฐบาลจีนในเรื่องของการค้าการลงทุน
ผมคิดว่าการลงทุนของประเทศจีนมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ จีนเป็นประเทศที่ให้ความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย
ในข้อตกลงนั้นเป็นข้อตกลงที่ประเทศจีนพยายามจะบอกว่า เป็นข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศจีน
อาเซียน และ กลุ่ม GMS ประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (Grest Mekong Subregion) หรือถ้ามองในแง่ภาพใหญ่
เราจะมองเห็นว่า ประเทศจีนเข้ามามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจตรงนี้ เหมือนกับเป็นการสร้างสมดุลกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา
เพราะฉะนั้นเวลามีการแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจ การต่อต้านการก่อการร้ายมันมีประเด็นของการซื้ออาวุธเข้ามา และขณะเดียวกันก็มีประเด็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลงทุนทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย การลงทุนหลายๆ อย่างของจีนเป็นลักษณะของการลงทุนซึ่งดูอิทธิพลในแถบนี้ เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ในภาพกว้าง เพราะฉะนั้นในแง่มุมของผม จึงมองว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเราน่าจะมองได้ในลักษณะที่เป็น Macro ในเรื่องการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจซึ่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถเข้ามาลงทุนทางด้านธุรกิจพลังงาน ธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม และมีการแข่งขันในเชิงธุรกิจระหว่างบรรษัทของประเทศสหรัฐอเมริกา
ฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีโดยสมบูรณ์ ๑๐๐ % มีการวิจัยหลายอย่าง มีข้อเสนอจากทางคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง พยายามค้านข้อเสนอในการเปิดเสรีโดยตรง หมายความว่า ทุนภายในประเทศเห็นว่าการแข่งขันครั้งนี้ เป็นการแข่งขันซึ่งประเทศมหาอำนาจซึ่งมีความสามารถมากกว่า ทั้งทางแง่ของเทคโนโลยีและเงินทุนขนาดใหญ่ สามารถโถมเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นการแข่งขันในเชิงธุรกิจในภูมิภาคนี้ด้วย
ผมอยากจะทิ้งท้ายว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งปัญหาในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตที่เป็น ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ซึ่งกลับเข้ามาอยู่ในช่วงของการแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือช่วงการเกิดเหตุการณ์ ๙/๑๑
พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์อุกฤษฏ์ชี้ให้เห็นถึงการที่ระบบคิดในการต่อต้านการก่อการร้ายที่เปลี่ยนไป
มันได้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อเรื่องการลงทุน อาจารย์ใช้คำว่า เป็นการลงทุนทางด้านยุทธศาสตร์
การลงทุนในปริมณฑลของพลังงาน การลงทุนทางด้านโทรคมนาคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังมีการแข่งขันสูงยิ่งขึ้นของมหาอำนาจ
ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เราต้องจับตามอง ประเทศจีนก็เป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันในมิติทางด้านการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจเหล่านี้
ต่อไปขอเรียนเชิญอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ท่านจะมาพูดเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. การเมืองการก่อการร้ายในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผมขอพูดในหลายมิติ เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ประเด็นจริงๆ
ของเรื่องนี้จะเป็นสากลมากกว่าเป็นเฉพาะเรื่องภูมิภาคเดียว วิธีการมอง ขอมองในแง่ประวัติศาสตร์
คือพัฒนาการความเป็นมาที่ค่อนข้างยาวนาน มากกว่าที่จะมองเป็นช่วงปีที่แล้ว หรือเดือนที่แล้ว
ผมดูในแง่มิติของเวลาทางประวัติศาสตร์ แล้วอีกด้านหนึ่งที่สนใจคือเรื่อง สังคม ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมืองในมิติด้านการก่อการร้าย ผมลองตั้งคำถามในแง่ประวัติศาสตร์ดูว่า สิ่งที่เราพูดถึงกระบวนการก่อการร้าย มันเป็นเรื่องใหม่หรือไม่ เพิ่งเกิดเมื่อเหตุการณ์ ๙/๑๑ ใช่หรือไม่? ในแง่หนึ่งมันก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะตามประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่เคยมีกำลังนอกประเทศใดเข้าไปทำการเช่นนี้ได้ ยกเว้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๑๒ ( Eighteen-Twelve War ) ซึ่งเป็นสงครามที่ทำกับประเทศอังกฤษซึ่งบุกเข้าไปโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ตอนนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็เพิ่งเกิดมาได้ไม่นานคือประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ.๑๗๗๖ หลังจากสงครามครั้งนี้ยังไม่เคยมีกองกำลังประเทศใดสามารถเข้าไปโจมตีถึงภายในดินแดนประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลย แล้วยังถึงขนาดไปทำลายให้คนตายอย่างมากมายและก่อความสูญเสียอย่างมากแบบนี้ยังไม่เคยมี
ดังนั้นเหตุการณ์ ๙/๑๑ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฉีกหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา จนต้องถกเถียงกันว่ามันทำได้อย่างไรและเกิดขึ้นได้อย่างไรต่างๆ นานา หากมองในแง่ประวัติศาสตร์การก่อการร้ายและขบวนการเคลื่อนไหวการก่อการร้าย สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยมีสิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้ายเกิดขึ้นในระดับภูมิภาค หรือในระดับโลกยุคสมัยศตวรรษประมาณช่วง ๑๘ - ๑๙ มันเป็นโลกที่แคบกว่ายุคปัจจุบันนี้ เพราะด้วยเครื่องมือในการสื่อสารต่างๆ ที่มีอย่างจำกัด แต่ปริมณฑลระดับโลกมันเกิดขึ้นแล้ว ผมคิดถึงประวัติศาสตร์บางเรื่อง และมีเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเข้าข่ายของสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการก่อการร้ายที่เกิดในโลกตะวันตกเมื่อศตวรรษที่ ๑๙
ผมขอนิยามว่า "ขบวนการก่อการร้าย" ที่ผมพูดถึงในที่นี้คือ ขบวนการที่ต้องใช้กำลัง และทำการโจมตีอำนาจรัฐและกองกำลังของรัฐ และหมายรวมถึงผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่ใช่เป็นการรบอย่างเต็มรูปแบบซึ่งเป็นสภาวะสงคราม น่าจะมองว่าเป็นรูปแบบก่อการร้ายสมัยใหม่ ต่างจากการก่อการร้ายสมัยเก่าก็คือ มันเป็นเรื่องของการยึดอำนาจรัฐ ซึ่งเรารู้ตัวว่าใครเป็นใคร ใครต้องการโค่นอำนาจใคร แต่การก่อการร้ายสมัยใหม่เป็นการกระทำซึ่งค่อนข้างกว้างไปกว่านั้น มันครอบคลุมเข้าทำลายทั้งผู้ที่เป็นศัตรูและไม่ใช่ศัตรูต่างๆ
แน่นอนว่าอำนาจรัฐต้องกระทบกระเทือนอย่างแน่นอน แต่จุดมุ่งหมายของการก่อการร้ายนั้นมันไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การยึดอำนาจรัฐเป็นหัวใจ มีการโจมตีอำนาจรัฐ แต่ไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ ดูจากวิธีการและผลที่จะไปสู่จะเห็นว่า จุดหลักก็คือการทำลายอำนาจรัฐมากกว่ายึดอำนาจรัฐ หากเราดูจากตรงนี้ เราจะพบว่ามันมีรัฐ และอุดมการณ์ของรัฐทางการเมืองที่ค่อนข้างกว้างพอสมควร
รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ( Absolute State) เป็นรัฐที่มีอาณาจักรเหมือนเป็นสมบัติส่วนตัวของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครอง การเมืองการก่อการร้ายจึงเป็นเรื่องที่โค่นอำนาจรัฐหรือผู้ปกครอง แต่หลังจากมีรัฐประชาชาติ หรือ Nation State เกิดขึ้น อุดมการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย จุดหมายของการเมืองมันกว้างขึ้น แล้วมันมีลักษณะเป็นสากล คือมันครอบคลุมไปถึงคนจำนวนมากที่ต้องการอำนาจประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง โอกาสของการปะทะตอบโต้กับสิ่งที่ไม่ใช่เป็นรูปธรรมมันย่อมเกิดขึ้นได้
ขบวนการต่อต้านทาส จุดเริ่มต้นการก่อการร้าย
ผมขอยกตัวอย่างขบวนการก่อการร้ายสมัยศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งมันดูเหมือนคล้ายคลึงกัน
มันเริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นศตวรรษที่ ๑๙ คือตั้งแต่ก่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับเอกราช
จนถึงช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชแล้ว ปี ค.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา มันจะเกิดขบวนการซึ่งคลุม
๒ ทวีปแอตแลนติค คือยุโรปกับอเมริกา ขบวนการที่ว่านี้คือขบวนการต่อต้านทาส ในยุโรปเรียกว่า
Anti Slave movement ในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Abortionist Movement ความหมายคือทำลายระบบทาส
ในศตวรรษที่ ๑๙ ทวีปยุโรปไม่มีทาส มีแต่อยู่ในประเทศอาณานิคมที่อยู่นอกทวีป อย่างของประเทศอังกฤษก็อยู่ใน British the West Indies ทำให้มีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่มีทาสอยู่ในประเทศของตนเอง และทาสทั้งหลายก็คือทาสนิโกรที่มาจากอาฟริกา ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗-๑๘ จนถึงตอนนั้นคิดเป็นประชากรประมาณ ๔ ล้านคนซึ่งนับว่าเยอะมาก ในบางรัฐพลเมืองครึ่งหนึ่งเป็นประชากรทาส
ต่อมาก็เกิดขบวนการล้มระบบทาสในประเทศสหรัฐอเมริกาเองโดยมี William Roue Garrison ก่อตั้ง ขบวนการ Abortionist Movement ขึ้นมาดำเนินการจริงๆ แล้วโดยตัวขบวนการเองไม่ได้มุ่งในการก่อการร้าย เพราะผู้ก่อตั้งก็เป็นคนดีที่ยอมตายเพื่อความเชื่อ ความศรัทธาในอุดมการณ์ต่างๆ แต่สิ่งที่ใกล้เคียงกันคือ เมื่อถึงจุดหนึ่งของการต่อสู้ที่ได้ผลพอควร กล่าวคือในประเทศอาณานิคมของอังกฤษก็ยอมประกาศเลิกทาสทั้งหมด ทุกอาณานิคมของประเทศอังกฤษเองในปี ค.ศ.๑๘๓๐ ดังนั้นขบวนการ Anti Slave Movement ในยุโรปก็ถือว่าได้รับชัยชนะ
แต่ขบวนการนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกามันเพิ่งเริ่มในปี ค.ศ.๑๘๓๐ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นผูกกับระบบทาส อย่างรัฐภาคใต้ทั้งภาคอยู่ได้ด้วยระบบทาส แล้วรายได้ส่วนเกินจากการค้าทาส ค้าแรงงานทั้งหมดนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการสะสมทุนที่ให้ประเทศสหรัฐอเมริกาปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคหลังสงครามการเมือง เพราะฉะนั้นบทบาทของทาส แรงงานทาส ผลประโยชน์ของทาสนั้นใหญ่มหาศาลไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ดังนั้นการเมืองอเมริกันจึงไม่ยอมเลิกทาส
สรุปก็คือทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างรัฐเหนือกับรัฐใต้ ขบวนการต่อต้านชาติพึ่งอำนาจรัฐไม่ได้ เล่นตามกฎหมายไม่ได้จึงต้องต่อสู้ทุกรูปแบบ ตรงนี้ที่ผมมองว่า ขบวนการต่อต้านทาสก็คือบรรพบุรุษของขบวนการก่อการร้ายทางการเมืองปัจจุบัน อันนี้มองเป็นความคล้ายคลึงทางประวิติศาสตร์ซึ่งไม่ได้บอกว่าเหมือนกัน ผมกำลังต้องการเปรียบเทียบว่า ขบวนการที่เราปั่นป่วนกับมันมากคือขบวนการ Terrorist Movement ที่อยู่ในปัจจุบันนี้เพราะว่า อุดมการณ์ที่เขาต่อสู้มันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มันอยู่ในหัวใจ มันอยู่ในความเชื่อของคนที่เข้าร่วมขบวนการต่างๆ
ตัวอย่างจากยุคสมัยต่อต้านทาสของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เรามองเห็นว่ามันเป็นบทเรียนด้านกลับ ทำให้เขาเห็นได้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วอำนาจรัฐก็จัดการอะไรไม่ได้ ขบวนการต่อต้านทาสก็ขยายตัวต่อไป แล้วเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้รัฐภาคเหนือกับรัฐภาคใต้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงขึ้น จนปะทุออกมาเป็นสงครามกลางเมือง แล้วก็จะมีวีรบุรุษเกิดขึ้น อย่าง John Brown ซึ่งได้ถูกสร้างเป็นตำนานของอเมริกา แต่ในตอนนั้นแม้ John Brown จะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านทาส แต่เขาไปไกลกว่าพวก Abortionist เพราะ Abortionist ยังต้องเล่นตามกฎและแหกกฎบ้าง
อย่าง Garrison เวลาเขาประท้วง เขาฉีกรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาทันที เขาบอกว่ารัฐธรรมนูญมันใช้ไม่ได้ เพราะไม่สามารถลงไปจัดการเรื่องทาสได้ มันเป็นเรื่องของการเมืองและผลประโยชน์ ดังนั้นกฎหมายจึงช่วยเขาไม่ได้ เขาจึงทำลายโดยฉีกกฎหมายทิ้ง จนต้องถูกจับ แต่ John Brown บอกว่ามันมีทางเดียวเท่านั้นคือเราต้องเลิกพูดแต่ปฏิบัติการเลย แล้ว John Brown ก็พาพรรคพวกรวมทั้งลูกๆ อีก ๑๐ คนติดอาวุธมาเล่นงานพวกที่เป็นนายทาส ภารกิจสุดท้ายที่ทำคือ ๑ ปีก่อนสงครามกลางเมืองก็คือการติดอาวุธแล้วบุกปล้นปืนที่ Harbor Ferry ที่ รัฐ Virginia เพื่อหวังที่จะติดอาวุธให้กับทาสนิโกร นำไปปฏิวัติยึดอเมริกา ในที่สุด John Brown ก็ถูกจับได้และถูกแขวนคอในที่สุด
ตั้งแต่นั้นมา John Brown ได้กลายมาเป็นวีรบุรุษของชาวนิโกรตลอดทั้งรัฐภาคเหนือจรดรัฐภาคใต้ ตัวอย่างอันนี้จะเห็นว่าเป็นสงครามอุดมการณ์ แล้วเป็นอุดมการณ์ที่ผนวกความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อทางมนุษยธรรม ผมคิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ ที่ทำให้กระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นซึ่งเรียกว่า fundamentalists น่ากลัว เพราะว่ามันเอา Humanities มาเป็นฐานของอุดมการณ์ ความเป็นคน นักต่อต้านทาสก็ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทาสทุกคนให้กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์
แล้วตรงนี้คือจุดที่ผมคิดว่า อำนาจรัฐที่ว่ามีระบบประชาธิปไตยดีขนาดไหนก็ตาม ก็จัดการตรงนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันจะมีช่องโหว่ของความไม่ยุติธรรมอยู่ตลอดเวลาในระบอบของการปกครอง เมื่อไรที่นำความรุนแรงมาปราบ ขบวนการเหล่านี้ก็ยิ่งเปิดโปงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้น แท้จริงแล้วมันปากว่าตาขยิบ มันเป็นการใช้ความรุนแรงกับผู้คนและประชาชนบริสุทธิ์ อันนี้คือสารซึ่งตั้งแต่ ๑๐๐ ปีที่แล้วจนปัจจุบันนี้มันไม่ต่างกันเท่าไรนัก
วิธีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดการกับเหตุการณ์ ๙/๑๑ ก็คือการใช้วิธีการเดียวกับการจัดการกับขบวนการคอมมิวนิสต์พรรคคอมมิวนิสต์ และประเทศคอมมิวนิสต์ก็คือ มองว่าขบวนการนี้เป็นการสู้กับรัฐ (State) ก็เช่นเดียวกับที่เขาจัดการกับประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิรัก ก็คือเขามองว่าพวกนี้ก็คือรัฐที่เป็นหัวหอกของขบวนการก่อการร้าย หากบินลาเดนอยู่จริงๆ เขาก็อยู่ในส่วนของเขา บางคนยังเสนอว่า เราควรแยกกันให้ออกระหว่างลัทธิ Binladinlism กับ ลัทธิ Islamic Nationalism ซึ่งทั้ง ๒ เรื่องอาจอยู่ในที่เดียวกันแต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
เหล่านี้ที่เล่ามาเป็นประวัติศาสตร์สั้นๆ นั้น อยากแสดงให้เห็นว่าน้ำหนักของเรื่องมันร้ายแรงขนาดนั้นไหม เพื่อความเข้าใจก่อนที่เราจะบริโภคข่าวหรือสื่อต่างๆ ที่ออกมา กว่าที่เราจะรู้อะไรนั้น ความเป็นจริงอันใหม่จะเกิดขึ้น ถึงตอนนั้นมันก็สายเกินไป คือต่อให้รู้ว่ามูลเหตุของเรื่องนี้มันคืออะไร อย่างเรื่องเลิกทาส กว่าจะเห็นควรเลิกได้ก็ถกเถียงกันต่างๆ นานา เถียงกันเรื่องสิทธิของรัฐทางภาคใต้ รัฐทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกเรื่อง มันไม่ได้เป็นเรื่องที่แก้ได้ง่ายๆ มันมีส่วนได้ส่วนเสียและมีราคาที่ต้องจ่ายให้กับมัน
ดังนั้นการเปิดเรื่องราว เปิดข้อมูล เพื่อการรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ให้ได้ความกระจ่างมากที่สุด ก่อนที่จะปิดฉากด้วยการใช้มาตรการเด็ดขาดสุดท้ายคือการปราบ ในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขบวนการ Terrorist ทั้งหลายที่เราดูมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงปัจจุบันมันพิสูจน์ว่าการปราบอย่างเดียวมันไม่ยุติ ความสูญเสียมันต้องมีแน่นอน
พวงทอง ภวัครพันธุ์
สิ่งที่อาจารย์ธเนศชี้ให้เห็นถึงความปากว่าตาขยิบของระบบกฎหมายแบบทุนนิยมกฎุมพีนั้น
ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในศตวรรษที่ 19 ในประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
แต่ถ้าเราดูกฎหมายระหว่างประเทศที่อเมริกาใช้ในการจัดการกับปัญหาการก่อการร้าย
ก็อยู่ในลักษณะทำนองเดียวกัน
ช่วงคำถามคำตอบ
ปราณี เหล่าพานิช
อยากเรียนถามท่านอาจารย์อุกฤษฎ์ กรณีประธานาธิบดีบุชที่เคยพูดในเวลาที่ปราศรัยบอกว่า
เขาจะปกป้องประเทศของเขาให้พ้นจากผู้ก่อการร้ายนอกประเทศ แล้วก็จะทำให้ประเทศของเขาปลอดภัย
โดยที่เขาจะเปิดประเด็นอย่างนี้ไปทั่วโลกเพื่อให้เขาปลอดภัย ดิฉันอยากขอคำอธิบายจากท่านอาจารย์ด้วยค่ะ
อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์
เท่าที่ผมตีความท่านประธานาธิบดีบุชพูด ท่านบอกว่าจะไปทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนอกประเทศ
แล้วจะได้ช่วยป้องกันประเทศชาติของท่านเอง ประเด็นก็คือว่าการต่อต้านการก่อการร้ายนอกประเทศ
หากมองการกระทำกับอัฟกานิสถานอาจยังพอเข้าใจ แต่กับประเทศอิรัก เหตุผลในการทิ้งระเบิดอิรักคือการคิดว่ามีอาวุธทำลายล้างสูง
ปัจจุบันก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว้ามีอาวุธเช่นนั้นจริง
ผมยกประเด็นนี้เพราะว่า ถ้าเราดูบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การหยิบยกเหตุผลหลายอย่างที่เข้ามาใช้ในการดำเนินการทางการเมืองการทหารมักจะถูกอ้างอยู่บ่อยๆ แล้วยิ่งในระยะหลังอย่างที่เป็นที่ทราบกันดีในบรรดานักวิชาการนักรัฐศาสตร์ก็คือ การเป็นมหาอำนาจเดี่ยว ผมคิดว่าในเรื่องนี้ เสียงจากประเทศเล็กๆ ชุมชนหรือคนต่างๆ คงต้องพยายามพูดออกไปมากๆ เพราะว่าการที่ท่านคิดเช่นนั้นแล้วถ้าเฉพาะเจาะจงว่ามีผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคิดว่ามันก็คล้ายๆ กัน คือบอกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นด่านหน้าที่สองในการต่อต้านการก่อการร้าย จึงทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคนี้ มีการใช้กำลังทหารรูปแบบต่างๆ
แต่ว่ามันน่าเศร้ามากตรงที่ คนที่ตายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก อันเนื่องมาจากนโยบายนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ใช่คนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในทางกลับกันหากประเทศไทยเกิดจะใช้นโยบายต่อต้านการก่อการร้ายแล้วทำเช่นนี้กับประเทศฟิลิปปินส์ เราก็อาจถูกวิจารณ์ได้เพราะมี UN มีระเบียบระหว่างประเทศ มีกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในกรณีมหาอำนาจนั้น ทั้งๆ ที่มันชัดเจนว่ามีการฝ่าฝืนกฎระเบียบระหว่างประเทศ จะด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อการป้องกันหรือการแข่งขันกันในเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศมหาอำนาจ ผมคิดว่าเราได้รับผลกระทบอันนี้มากเหมือนกับสงครามเวียดนามก็ตายกันมากมาย เมื่อสงครามเลิก อเมริกันกลับประเทศแต่ผลเสียที่เกิดบริเวณแถบนี้ก็มีมากเช่นกัน น่าจะเป็นประเด็นที่อธิบายได้
ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์
อยากเรียนถามว่าขณะนี้ปัญหาของ 3 จังหวัดในภาคใต้ก็เหมือนกับว่ามันมีปัญหาในบ้านของเรา
ซึ่งเราต้องพยายามที่จะต้องแก้กันเอง จึงเกิดความห่วงใยว่า ทำอย่างไรจะได้ไม่มีการชักศึกเข้าบ้าน
ในกรณีนี้ เวทีนี้จะช่วยกันคิดเพื่อรู้เท่าทันระแวดระวังและช่วยกันป้องกันอย่างไรบ้าง
ปณิธาน วัฒนายากร
ในฐานะที่ผมเกิดที่ภาคใต้ในพื้นที่เกิดความขัดแย้งกันตลอดเวลา และครอบครัวก็สูญเสียไปมาก
ผมได้ใช้เวลาดูเรื่องนี้มา ๒๐ ปี สอนหนังสือที่จุฬาฯมา ๑๒ ปี ทำเรื่องปัญหาความขัดแย้งความรุนแรงเรื่องเดียวมาโดยตลอด
คำตอบที่พวกเราต้องเริ่มต้นคิดก็คือ เราควรต้องมียุทธศาสตร์ของเราเองในการแก้ปัญหาภาคใต้
จริงๆ แล้วเรามีความสำเร็จค่อนข้างมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาภาคใต้
แต่เราลืมความสำเร็จตรงนั้นไป ลืมคนที่ทำงานและประสบความสำเร็จไปหลายคน ลืมแนวความคิดที่ดีไปหลายแนวทาง
ผมจึงคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของเรา
เท่าที่ผ่านมารู้สึกว่าเราใช้ยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจต่างประเทศมากเกินไป ในการแก้ปัญหาความมั่นคงซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะว่าเขาก็คิดมาเป็นระบบเหมือนกัน ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า มหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) ซึ่ง John Luis ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Yale นักประวัติศาสตร์ท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มา บอกว่าอเมริกันใช้ยุทธศาสตร์ Grand Strategy ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงจิตวิทยาที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงชัดเจนว่าใครเป็นศัตรู เช่น สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศสในอดีต กลุ่มก่อการร้าย เป็นต้น
มันเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงจิตวิทยาซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ ๔ องค์ประกอบ ซึ่งคิดว่ามันคล้ายคลึงกันโดยเราโอนมันมาใช้กับเราเอง อเมริกันคิดว่ามันเป็น Age of a New War มันเป็นยุคของสงครามใหม่ หลายๆ สงครามโดยเฉพาะสงครามในโลกมุสลิม และแม้เราเองก็คิดว่ามันเป็น Age of a New Conflict มันเป็นยุคของความขัดแย้ง ดังนั้นกรอบวิธีการคิดใกล้เคียงกัน อเมริกันคิดว่าเมื่อเป็นยุคของสงครามใหม่ เขาก็จะต้องกระทำการ
๑. เขย่าและถล่มโครงสร้างเก่า คือ Shock and Awe คือเข้าไปถล่มโครงสร้างเก่าหรือศัตรูเก่า เป้าหมายเก่าหรือเป้าหมายใหม่ ศัตรูใหม่ ซึ่งก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก
๒. คือการแก้แค้นต่างตอบแทน เมื่อเขาโจมตีมาเราก็โจมตีกลับ เมื่อเขาถล่มมาเราก็ถล่มตอบแทนไป เช่นการถล่มอัฟกานิสถาน ถล่มอิรัก อเมริกันต้องการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเขาไม่ยอมแพ้ เราก็ต้องการส่งสัญญาณชัดเจนต่อคนในภาคใต้เช่นกัน อเมริกันส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ถอนกองกำลังออกจากอิรัก เราก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ถอนกำลังออกภาคใต้เช่นกัน มันใกล้เคียงกัน
๓. คือการตัดตอน และ
๔. คือการล้มล้าง คือล้มล้างระบบ. Preemption และ Roughen change ของเราก็ตัดตอน ล้มล้างระบบเหมือนกัน เราเขย่า ถล่มภาคใต้ด้วยการเอาหน่วยงานพิเศษลงไปเยอะในรอบหลายปีที่ผ่านมา การอุ้มหายก็มี โครงสร้างเก่าๆ ถล่มลงมา การบริหารการจัดการต่างๆ ถล่มลงมาหมด
นี่คือ Shock and Awe เมื่อเกิดระเบิดขึ้นวันที่ ๗ เมษายน ที่สถานีรถไฟที่หาดใหญ่ ไม่กี่วัน รัฐบาลชุดที่แล้วก็ประกาศว่า จะต้องจัดการกับภาคใต้ให้สงบให้ได้ภายใน ๓ เดือน แล้วก็มีหน่วยงานต่างๆ ลงไปเยอะ ทั้งหน่วยงานตำรวจต่อต้านยาเสพติด และชุดต่างๆ ก็ลงไป ปฏิบัติการแก้แค้นต่างตอบแทน และตัดตอนล้มล้างระบบเก่า คือ Preemption และ Roughen change สุดท้ายก็คือ Prevention ที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ ที่จริง Preemption กับ Prevention ก็ใกล้เคียงกัน Prevention ก็คือเอาประชาธิปไตยเข้าไป เอาการบริหารจัดการที่ดีเข้าไป ของเราก็คล้ายๆ กันคือป้องกัน
จริงๆ แล้วมหายุทธศาสตร์ของเราก็มีอยู่แล้วคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เราไม่นิยมเขย่าและถล่ม เราไม่นิยมแก้แค้นต่างตอบแทน เขาระเบิดมา เราก็เฉย เราไม่ต้องการเขย่าใครให้มันวุ่นวาย เราไม่ต้องการตัดตอนล้มล้างระบบใดทั้งสิ้น เราต้องการอยู่กันอย่างสยามที่สงบ ชุมชนหลากหลายอยู่กันมาเป็นร้อยเป็นพันปีก็อยู่ได้ โดยไม่ต้องไปเขย่าหรือถล่มใคร. เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มันชัดเจนว่าเป็นมหายุทธศาสตร์ไทย Thai Grand Strategy ซึ่งเราไม่ทำ
การท้าทายอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยการเอาระเบิดไปวางที่จังหวัดยะลาเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อตอนที่ท่านเสด็จไป ก็ไม่มีการปฏิบัติการเขย่าถล่มตอบแทนแต่ประการใด ลักษณะแบบนี้เรามีอยู่แล้ว แต่ว่าเนื่องจากโครงสร้างใหญ่ของสงครามเย็นทำให้เราต้องยอมรับ Grand Strategy ของมหาอำนาจ เรื่องของทุนนิยม เรื่องของการช่วยเหลือทางการทหารซึ่งมันเป็นการง่าย ไม่ต้องคิดมาก อเมริกามันก็คงไม่ผิดมากเท่าไหร่ จะคิดอะไรมากกว่านี้ เราก็ใช้โครงสร้างเขาตามนั้นไป
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างมหาอำนาจกับในพื้นที่ เราหยิบยืมยุทธศาสตร์นี้มานาน ในช่วงที่ยุคอุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อุดมการณ์ประชาธิปไตยมันชัดเจน เห็นศัตรูเห็นมิตรมันชัดเจน มันไม่ยากและไม่ได้ผิดเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ Age of A new Conflict ซึ่งเป็นยุคของความขัดแย้งที่หลากหลาย ยุคของสงครามใหม่ที่หลากหลาย เราจะไปยืมยุทธศาสตร์คนอื่นมาใช้ไม่ได้ เราต้องใช้ยุทธศาสตร์ของเราเอง ซึ่งก็คงจะต้องเป็นยุทธศาสตร์ไทย แบบพี่น้อง แบบสังคม แบบครอบครัว มีอะไรก็ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา อาจจะมีความขัดแย้งความรุนแรงบ้าง แต่ก็อะลุ้มอล่วยกันไป เราไม่มีเป้าหมายคือศัตรูที่ชัดเจน
สังคมไทยในภาคใต้นั้นหลากหลายมาก มีไทยพุทธ ไทยอิสลาม ขนาดไทยอิสลามยังมีหลายชุมชนมากและไม่เหมือนกันเลย ปัตตานีมี ๗ อาณาจักรย่อยๆ อยู่ข้างใน พวกเขาไม่เหมือนกันเลย เขาก็อยู่กันมาได้ ไทยจีน ไทยมาเลย์ รวมทั้งคนมาเลย์ในภาคใต้ ต่างก็อยู่มาเป็นพันๆ ปี ไม่เคยได้เผชิญหน้ากันอย่างทุกวันนี้ ยุทธศาสตร์มหายุทธศาสตร์แบบอเมริกัน ก็คือต้องการสร้างศัตรู-มิตรให้ชัดเจน ต้องมีการเขย่า ถล่ม แก้แค้นต่างตอบแทน ต้องตัดตอน ต้องล้มล้าง ทั้งหมดเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ของคนที่เข้มแข็งมาก
อเมริกันไม่เคยประสบความล้มเหลวเลยในการใช้กำลังทหารหลังจากสงครามเวียดนาม ยกเว้นอิรัก ในสงครามอ่าวครั้งแรก อเมริกันก็รบชนะ ในสงครามบอสเนียก็ชนะ ในสงครามกับโคโซโวก็ชนะ อัฟกานิสถานก็ชนะ แต่ของเราไม่เคยรบเลย ถึงรบส่วนใหญ่ก็แพ้ รบกับเพื่อนบ้านก็แพ้ รบกับพม่าก็แพ้ เขายิงเครื่องบินเราตก จับคนของเราไป แล้วเราไม่รบเลย หากจะใช้ยุทธศาสตร์เข้มแข็งแบบอเมริกาก็ต้องเข้มแข็งจริง ก็ต้องสร้างเสริมจริง ต้องทุ่มเงิน ทุ่มคนจริง
แต่ผมว่าการหยิบยืมแบบนี้มันอันตราย ผมไม่อยากพูดว่ารัฐบาลนี้เป็นฝรั่งมากกว่าฝรั่ง ไม่ชอบฝรั่งแต่ตนเองเหมือนฝรั่งมาก คำตอบสั้นๆ ของผมก็คือ เราต้องกลับไปหาความเข้มแข็งของเราเอง ชุมชนไทย มุสลิม ไทยมาเลย์ ไทยปาทาน ไทยจีน ไทยชีอะห์ ไทยสุหนี่ สารพัด เราจะเห็นว่าชุมชนเหล่านั้นเข้มแข็งมาก มีความต้องการที่จะพัฒนาท้องถิ่นของภาคใต้อย่างอะลุ่มอล่วย อย่างสร้างสรรค์ ถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นพันปี แต่ตอนนี้มันอยู่ในขอบที่หมิ่นเหม่เต็มที ถ้าเรายังหยิบยืมยุทธศาสตร์ต่างประเทศเข้ามาแบบนี้อีก เป็นเวลา ๓ - ๔ ปีแล้วที่ยุทธศาสตร์ไทยภาคใต้ยังไม่ออกมาเลย เคยมียุทธศาสตร์ภาคใต้ที่ สมช. ซึ่งยังไม่ลงตัวและไม่ยอมรับกัน เราคงต้องเอาใจช่วยผู้ปฏิบัติงานว่าให้หันกลับมาใช้ยุทธศาสตร์ของเราเอง แล้วยุทธศาสตร์ไทยที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่จะตามมา อาจนำมาสู่ความยั่งยืนอย่างถาวรต่อไป
คุณณรงค์ ไชยารักษ์
ผมมาจากบริษัท ปตท. สำรวจปิโตรเลียม ผมดูแลเรื่อง Security ของบริษัทโดยตรง ที่มาวันนี้เพื่อต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ในด้านของ
Security เนื่องจากว่าบริษัทมีแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่กลางอ่าวไทย ผมขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้ช่วยวิเคราะห์ให้ทราบว่า
โอกาสที่ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ จะขยายออกมาสู่ส่วนต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อทางบริษัทจะได้หาวิธีรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์
ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คิดว่ามันซับซ้อนสับสน เพราะหากว่าถ้าเราอ่านหนังสือพิมพ์จะพบว่า
การที่ท่านอดีตนายกอานันท์ให้สัมภาษณ์ออกมา มันดูขัดกับรัฐบาล ไม่เหมือนกับของรัฐบาล
มันเหมือนกับว่าเรามียุทธศาสตร์ทางภาคใต้เพื่อจะไม่ให้มีการขยายตัว เพื่อไม่ให้ขยายไปถึงแท่นเจาะของ
ปตท. แต่ผมเป็นห่วงว่าการที่คณะทำงาน กอส.ตั้ง ๕๐ คนช่วยกันคิด ล้วนมีข้อมูลพื้นฐาน
มีคณะทำงานพื้นที่ตั้งมากมาย แต่ไม่เคยพูดอะไรตรงกับรัฐบาลเลย รัฐบาลก็พูดอะไรไม่ตรงกันเลย
คนหนึ่งก็พูดทุกวันเสาร์โดยการสื่อสารทางเดียวไม่มีการถาม/ตอบ ส่วนคณะทำงาน กอส.อีก
๕๐ คนก็ทำงานไป สิ่งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด มันเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่มี กอส.ขึ้นมา
ผมสงสัยเหมือนกันว่ายุทธศาสตร์จะเป็นเช่นไร คำถามคือว่ายุทธศาสตร์มันขัดกันหรือไม่
ปณิธาน วัฒนายากร
บริษัท ปตท. มีแท่นเจาะเป็นพันล้าน จึงมีความกังวลค่อนข้างเยอะ ผมอยู่ในคณะทำงานเรื่องโจรสลัดในช่องแคบมะละกาและที่สามเหลี่ยมซุลูที่ทะเลจีนใต้
เมื่อเร็วๆ นี้มีการยึดเรือในช่องแคบมะละกาของกลุ่มไม่ปรากฏสัญชาติขับออกไปนอกช่องแคบ
สร้างความตกใจให้กับหลายประเทศเป็นอย่างมาก และหลายประเทศก็ประชุมร่วมมือกัน
ในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเอเชียแปซิฟิกปีนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ตกลงกันที่จะสร้างระบบใหม่ขึ้นมาในการดูแลช่องแคบในทะเลจีนใต้
เพราะเข้าใจกันว่ามีกลุ่มหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มอาบูซายาบ กลุ่มเจไอ ได้ลงทะเลไปบางส่วนในรอบหลายปีที่ผ่านมา
เป้าหมายเป็นอะไรไม่แน่ชัด แต่มันเกิดขึ้นจริง แล้วโจรสลัดที่เกิดขึ้นในช่องแคบและเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้และที่สามเหลี่ยมซูลูมากกว่าทุกพื้นที่ในโลก
ช่องแคบมะละกา มีเรือ ๕๐,๐๐๐ กว่าลำเรือ คิดเป็น ๒ ใน ๓ ของการค้าโลก ครึ่งหนึ่งของน้ำมันจะผ่านตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเป้าที่ใหญ่มาก ตรงนั้นถ้าสามารถปิดได้ จี้ได้ ทำลายได้ ทุนนิยมโลกคงรวนหมดแน่ คนที่เดือดร้อนมากที่สุดน่าจะเป็นคนอเมริกัน ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้รวมทั้งไทยด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีการเสนอให้จัดกองกำลังลาดตระเวนในช่องแคบและที่ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะที่ช่องแคบโดยมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง ๓ ประเทศที่มีศักยภาพในการทำได้ เพราะมีงบประมาณคือสิงคโปร์ แต่อีก ๒ ประเทศทำไม่ได้ อเมริกันจึงเสนอว่าจะเข้าไปช่วยเมื่อ ๒ ปีก่อนโดยผ่านทางสภาคองเกรส
แต่ก็มีการต่อต้านอย่างรุนแรง จึงต้องถอนตัวออกไป ปีนี้สถานการณ์มันผกผันเพราะมีการยึดเรือ มาเลเซียเองเริ่มยอมรับความเป็นจริง และอนุญาตให้มีการร่วมมือกันโดยเชิญไทยเข้ามาร่วมมือในช่องแคบมากขึ้น และอนุมัติตั้ง Eye in The Sky โดยมีความพยายามที่จะหาทางลาดตระเวนร่วมกัน โดยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของอเมริกัน ของญี่ปุ่น และของอีกหลายประเทศ หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ในระหว่างนั้นก็มีการจัดกองกำลังไม่ปรากฏสัญชาติของเรือเดินทะเล และของเรือบรรทุกกัมมันตภาพรังสีบางส่วนที่อาจจะเข้ามาตรงนี้แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าตรงนี้ ส่วนใหญ่ไปที่ช่องแคบลอมบอก และที่ช่องแคบซุนดา ได้มีหน่วยรบพิเศษไม่บอกสัญชาติอยู่บนเรือสินค้าและเรือยุทธศาสตร์สำคัญ เมื่อมีเรือต้องสงสัยเข้าไปจึงเกิดการยิงกันปะทะกันตกลงทะเลลอยไปโดยไม่ปรากฏสัญชาติ ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นค่อนข้างวิกฤตพอสมควร ดังนั้นในอนาคตบริษัทก็คงต้องเข้าไปร่วมมือกับกองทัพเรือ และร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรายละเอียดต่างๆ มีมากกว่าที่กล่าวมา
ในส่วนที่อาจารย์อุกฤษณ์ท่านเสนอมา ในข้อแรกท่านบอกว่ามันไม่มียุทธศาสตร์นั้นถูกต้อง ที่ผมอธิบายถึงยุทธศาสตร์หมายถึงการที่เราไปยืมยุทธศาสตร์คนอื่นมา ไปยืมยุทธศาสตร์ของต่างประเทศมา ซึ่งก็เหมือนกับว่าเราไม่มียุทธศาสตร์ของเราเอง อันนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมา ส่วนในข้อที่สองของท่านอาจารย์อุกฤษณ์ผมว่ามันซับซ้อนจริงๆ มีงานของผมทางหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงนี้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพุธเรื่องภาคใต้ กล่าวถึงโครงสร้างที่ซับซ้อน เรามีคณะกรรมการสร้างเสริมสันติสุขของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีคณะรัฐมนตรี มีกรรมการระดับชาติ มีสำนักงานยุทธศาสตร์ มีสำนักงานเลขานุการร่วมที่กรุงเทพ ฯ รวมไปถึงกองกำลัง กอส. ส่วนหน้า มีกองกำลังตำรวจ มีศูนย์ข่าวกรอง มีอนุกรรมการ และมีจังหวัดลงไปอีก มี กสส. จังหวัดอีก
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่อำเภอระแงะ พื้นที่จริง ๆ ก็เป็นพื้นที่ของ กสส. จังหวัดนราธิวาส แต่ว่ากองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าต้องจัดกำลังคุ้มครอง จึงทำงานร่วมกันลำบากเพราะพื้นที่ของนายอำเภอ แต่กองกำลังเป็นของทหาร แถมยังมีกองกำลังตำรวจที่เข้าไปร่วมผสม จะต้องมีหน่วยคุมทางยุทธการอีก ทั้งหมดเหล่านี้เป็นนับสิบหน่วยนับตั้งแต่ DSI. กระทรวงยุติธรรม มีอีกหลายสิบหน่วย ซึ่งโครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างของมหาอำนาจ เป็นโครงสร้างของการจัดการภาคใต้ที่ซับซ้อน ซึ่งมันอาจจะดีก็ได้ ในระยะยาวมันอาจจะดีกว่า ศอ.บต แต่วันนี้มันไม่ทำงานเท่าไหร่ เพราะมันซับซ้อนและไม่ยืดหยุ่น และมันก็ขัดแย้งกันเอง และเราก็ไม่แน่ใจเรื่องงบประมาณและกำลังคน จะสั่งการได้หรือไม่
พื้นที่ที่ต้องดูแลเป็นของจังหวัด กำลังเป็นของทหาร แต่คนที่ถูกจับเป็นของนาวิกโยธิน ซึ่งนาวิกโยธิน ก็ไม่ใช่ทหารที่อยู่ในกองกำลังปกติ ๓๐๑๐ แล้วยังมีกองกำลังตำรวจ มีฝ่ายการเมือง และยังมีทั้งที่กรุงเทพฯ ที่ปัตตานี ค่อนข้างยุ่ง การทำงานจึงล่าช้ามากกว่าที่ควรจะเป็น โครงสร้างนี้มาจากการคิดอย่างมีเหตุมีผล การคิดเป็นวิทยาศาสตร์ การคิดแบบตะวันตก การคิดแบบคนมีเงิน สรุปก็คือผมเสริมในความเห็นของอาจารย์อุกฤษฎ์
เสาวนีย์ จิตต์หมวด
ตามที่ท่านอาจารย์อุกฤษฎ์ท่านกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลแบบหนึ่ง นโยบายของท่านอดีตนายกอานันท์ก็อีกแบบหนึ่ง
เราได้คุยกันในแง่ของคณะทำงานสื่อทางด้านสันติวิธี เราเกิดความสับสนเหมือนกันว่า
ขณะที่รายการสื่อที่เป็นเหมือนกับว่าให้ประชาชนได้รับรู้ถึงข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องถูกปิดไป
แต่รัฐบาลกลับให้สื่ออีกประเภทหนึ่งสามารถดำเนินการได้ในส่วนของรัฐ ซึ่งสิ่งนั้นอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
และข้อมูลบางอย่างไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับท่านอดีตนายกอานันท์เองยังถูกบิดเบือนไปด้วย
สิ่งที่เราตั้งคำถามคือ ถ้าหากเราปล่อยให้สื่อเป็นไปในสถานการณ์ตรงนี้แล้ว จึงมีคนตั้งคำถามว่า
ในอนาคตอันไม่ไกลนี้อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบ ๖ ตุลาขึ้นอีกหรือไม่
ศุภมิตร ปิติพัฒน์
ผมมีประเด็นต่อจากท่านอาจารย์ปณิธานในเรื่องยุทธศาสตร์ ประเทศไทยค่อนข้างโชคดีในเรื่องความมั่นคงอย่างยาวนานจนกระทั่งถึงปีที่แล้วนี้เอง
ผมไม่แน่ใจว่าวิธีการเดิมๆ ที่เราเคยใช้ รวมทั้งเรื่องการเมืองนำการทหาร จะยังคงเป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงแบบใหม่นี้ได้มากน้อยแค่ไหน
การเมืองนำการทหารที่เราเคยใช้ แต่เดิมในยุทธศาสตร์ที่เราเคยใช้กับ พคท. ทั้งฝ่ายปกครองกับฝ่าย
พคท. อาจมีความแตกต่างกันมากแต่เขาก็มีจุดร่วมกัน ก็คือลักษณะหรือภาพเกี่ยวกับลักษณะของสมาชิกหรือความเป็นชุมชน
ซึ่งมีภาพอันเดียวกันคือภาพความเป็นชุมชนไทย
แต่โจทย์ใหม่ครั้งนี้ทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกชุมชนการเมือง สมาชิกคือใคร อัตลักษณ์ของคนที่เป็นสมาชิกควรจะเป็นอย่างไร การแบ่งแยก การกีดกัน การผนึกสมาน ใครบ้างซึ่งควรอยู่ในวงนี้ ใครบ้างที่ควรถูกกันออกไป ใครบ้างที่เป็นอื่นไปจากเรา นี้เป็นโจทย์ซึ่งคนไทยที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ เขาอ้างหลักความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง อันเป็นสิ่งที่ยากที่รัฐไทยซึ่งเป็นพุทธจะเข้าไปแทรกแซงและกล่อมเกลาให้คลายไปได้
ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของการก่อการร้ายในโลกปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมันเป็นปัญหาภายในของโลกมุสลิมเหมือนกันซึ่งขาด authority ที่ชัดเจนที่สามารถจะบอกได้ว่า การใช้กำลังความรุนแรงอย่างใดที่ไม่ชอบธรรม การแตกกระจายของ authority ในทางการตีความอย่างนี้ทำให้แม้แต่ประเทศมุสลิมทั้งหลายเอง ก็ประสบปัญหาในการรับมือกับผู้ที่ไหลไปสู่ความรุนแรงเหล่านี้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงรัฐไทยซึ่งไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้มาก่อน และไม่ได้ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ด้วยซ้ำ อาจจะยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะจัดการกับเรื่องที่เป็นต้นตอของเรื่องนี้ เพราะว่าเราถูกกันเป็นคนนอกตั้งแต่แรกเสียแล้ว ผมจึงไม่แน่ใจนักว่าโจทย์ใหม่กับวิธีการที่เรายังไม่ชัดเจนนัก มันจะพาเราไปสู่ตรงไหน ที่กล่าวมีแต่ประเด็นปัญหา ผมไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนี้
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ตั้งแต่แรก ผมตั้งใจจะเกริ่นเกี่ยวกับเรื่องภูมิภาคกับอุษาคเนย์นิดหนึ่งเกี่ยวกับด้านประวัติศาสตร์
ในเรื่องการขยายเผยแพร่ของอิสลามเข้ามาในภูมิภาคนี้ หากนับตั้งแต่ชุมชนมุสลิมเริ่มเข้ามาเป็นชุมชนเล็กๆ
เป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อทำการค้าและการแลกเปลี่ยนนั้น น่าจะเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่
๙ แต่ถ้านับเริ่มในการ Convert รัฐมุสลิม น่าจะเริ่มราวๆ ศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา
แต่จุดเปลี่ยนน่าจะอยู่ในช่วงที่ยุโรปเข้ามาขยายอาณานิคมของการค้า นับตั้งแต่ศตวรรษที่
๑๖ นับแต่นั้น เมื่อโปรตุเกสมายึดมะละกาได้เมื่อปี ค.ศ. ๑๕๑๑ นับเป็นการเริ่มเปิดมิติใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบริบทของโลกสมัยใหม่
แล้วการขับเคี่ยวกันระหว่างความเชื่อใหม่ ศาสนา และพิธีการต่างๆ เริ่มเข้ามาตั้งแต่ตอนนั้น
หากเรามองในแง่ของการใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือ ตามการตีความของนักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งกล่าวว่า เหตุที่คาบสมุทรมาลายูส่วนหนึ่งตั้งแต่มาเลเซียถึงอินโดนีเซียกลายเป็นรัฐอิสลาม ก็เพราะว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการผนึกกำลังของเจ้าผู้นำแคว้นและประชาชนท้องถิ่นในรัฐต่างๆ เหล่านั้น เพื่อที่จะสู้กับศาสนาคริสเตียนซึ่งตะวันตกนำเข้ามา
เพราะว่าความเชื่อดั้งเดิมของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ตั้งแต่ลัทธิถือผี (animism ) แล้วก็มาถึงฮินดู พุทธ ในแง่ของการต่อสู้ทางการเมืองกับตะวันตกในตอนนั้น เข้าใจว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ไม่มีแรงจูงใจในแง่โครงสร้างของการจัดตั้ง หากถ้าเราสังเกตดูจะพบว่า ศาสนาอิสลามจะมีโครงสร้างการจัดตั้งที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ในศาสนาอิสลามไม่มีลำดับชั้นของพระหรือผู้นำที่จะกลายมาเป็นจ้าวศักดินาแบบศาสนาอื่นๆ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้น่าจะเป็นพลังที่สามารถจะเคลื่อนชุมชนสังคมในการเข้าสู่มิติใหม่ในยุคสมัยใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเอเชียอาคเนย์พัฒนามาควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งอัตลักษณ์ก็เปลี่ยนไปด้วย
เพราะฉะนั้นคนมาลายูเริ่ม Identify ตนเองกับค่านิยมของศาสนาอิสลาม ดังนั้นชาวมุสลิมจึงเป็นอีกบริบทหนึ่ง เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง หากมองในแง่ขอบเขตทั่วโลกประชากรมุสลิมที่มีมากที่สุดในโลกจะอยู่ในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าความขัดแย้งในความเชื่อของชาวตะวันตกตามทฤษฎีของ Huntington (The Clash of Civilization) จะเห็นว่ามีการดึงเอาภูมิภาคนี้เข้าไป เนื่องจากว่ากลุ่มมุสลิมจำนวนมหาศาลอยู่ที่นี่ ด้วยเหตุนี้ Impact หรือผลกระทบต่างๆ การที่จะปะลองจึงต้องผ่านส่วนนี้
มีงานเขียนซึ่งพยายามศึกษาประวัติชีวิตของบินลาเดน เขากล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ Huntington และประเทศสหรัฐอเมริกาพยายามเอามาใช้ เพื่อโฆษณาความชอบธรรมในการทำสงครามก่อการร้ายของเขาก็คือ การพุ่งเป้าไปที่รัฐอิสลาม หากได้มีโอกาสถามบินลาเดนว่า เขาเชื่อในทฤษฎีของ Huntington ไหม เรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งตอนนี้ก็น่าจะหมายถึงอารยธรรมอิสลามกับอารยธรรมตะวันตก เป็นที่แน่นอนว่าบินลาเดนต้องตอบว่า Absolutely แน่นอนคือเขาเห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์ เพราะบินลาดินก็ต้องการประกาศให้รู้กันทั่วโลกอยู่แล้วว่า อเมริกันพุ่งเป้าโจมตีไปที่ชาวมุสลิมทั่วโลก เป็น Massage หรือสารของการลุกขึ้นสู้มันต้องถูกถ่ายทอดสู่กลุ่มคนให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นชาวมุสลิม
ในเรื่อง ๓ จังหวัดภาคใต้ เราอาจมองปัญหาของมุสลิมเป็นเรื่องความล้าหลัง การไม่มีการศึกษา แต่ถ้าเรามองในบริบททั่วโลก เราจะเห็นว่าประชากรมุสลิมล้วนอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับความล้าหลัง เพราะฉะนั้นในมิติที่มหาอำนาจแบบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทำคือ มันเป็นบริบทที่กว้างใหญ่คลุมไปทั่วโลก มีปัญหามากกว่าที่เราคาดคิด
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I
สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ขบวนการก่อการร้ายสมัยศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ซึ่งมันดูเหมือนคล้ายคลึงกัน มันเริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่
๑๘ ถึงต้นศตวรรษที่ ๑๙ คือตั้งแต่ก่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับเอกราช จนถึงช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชแล้ว
ปี ค.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา มันจะเกิดขบวนการซึ่งคลุม ๒ ทวีปแอตแลนติค คือยุโรปกับอเมริกา
ขบวนการที่ว่านี้คือขบวนการต่อต้านทาส ในยุโรปเรียกว่า Anti Slave movement ในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า
Abortionist Movement ความหมายคือทำลายระบบทาส
ในศตวรรษที่ ๑๙ ทวีปยุโรปไม่มีทาส มีแต่อยู่ในประเทศอาณานิคมที่อยู่นอกทวีป อย่างของประเทศอังกฤษก็อยู่ใน British the West Indies ทำให้มีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่มีทาสอยู่ในประเทศของตนเอง และทาสทั้งหลายก็คือทาสนิโกรที่มาจากอาฟริกา ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗-๑๘ จนถึงตอนนั้นคิดเป็นประชากรประมาณ ๔ ล้านคนซึ่งนับว่าเยอะมาก ในบางรัฐพลเมืองครึ่งหนึ่งเป็นประชากรทาส
ยุคสงครามใหม่ มันเป็นสงครามที่อาจจะไม่ได้ประกาศ
อาจเป็นสงครามที่ผสมอุดมการณ์ ผสมความเป็นชาตินิยม ผสมความขัดแย้งที่มาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด
และขยายตัวลุกลามเป็นความขัดแย้งอย่างกว้างขวางจนถึงในระดับที่ก่อให้เกิดสงครามย่อยๆ
ระหว่างกลุ่มต่างๆ ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ระหว่างรัฐกับรัฐ
เหล่านี้เป็น Age of a New War. ในส่วนของมหาอำนาจได้ให้ความสนใจกับประเด็นปัญหานี้มาก
ที่เขาสนใจเพราะคิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของความขัดแย้งหรือการก่อการร้าย
โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรต่างก็รู้สึกว่าตนเองตกเป็นเป้าหมายอย่างรุนแรง