The Midnight University
กระบวนวิชา : มลายูศึกษา
- มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม (ตอนที่ ๑)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความถอดเทปที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
มาจากกระบวนวิชามลายูศึกษา
บรรยายที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่
วันที่ 21 มกราคม
2549 : เวลา 13.30 น.-16.30 น.
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 888
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
11.5 หน้ากระดาษ A4)
กระบวนวิชา
: มลายูศึกษา
หัวข้อบรรยาย : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม
(ตอนที่ ๑)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ / ๑๓.๐๐ น.- ๑๖.๓๐ น.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ :
วันนี้เป็นการคุยกันถึงเรื่องมลายูศึกษากันเป็นครั้งที่ 5 ผู้ที่จะนำการสนทนาในวันนี้ก็คือ
อ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์จะคุยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐไทยในรูปต่างๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นในรูปความรุนแรงอย่างเดียว
จริงๆใช้คำว่าต่อต้านรัฐไทยอาจไม่ชัดเท่าใดนัก หมายความว่าความเคลื่อนไหวที่จะประกาศความเป็นตัวของตัวเองก็แล้วกัน
รวมทั้งการต่อต้านของรัฐไทยด้วย จึงขอเชิญอาจารย์ธเนศ เริ่มต้นได้เลยครับ
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
:
เรียนอาจารย์และนักศึกษา ม.เที่ยงคืนทุกท่าน ผมยินดีที่ได้มีโอกาสมาพูดคุยในบรรยากาศแห่งนี้
คือเป็นแฟนของ ม.เที่ยงคืนมานาน จริงๆ ก็รู้จักคุ้นเคยและได้คุยกันนอกรอบเสมอ
แต่ไม่เคยมาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ คืออันที่จริงเคยมานานแล้ว ตั้งแต่ยังใช้สถานที่บริเวณ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ ประเด็นที่ผมได้รับมอบหมายคือ
เรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายู และเมื่อดูเค้าโครงในหลักสูตรมลายูศึกษาของ
ม.เที่ยงคืน ก็จะมีเรื่องของการเคลื่อนไหวในระบบ รวมไปถึงประชาชนทั่วไป เช่น
การสมัครเป็นทหาร ตำรวจ เป็นทนายความ ในระบบราชการของสังคมไทย ซึ่งเป็นในระบบที่สัมพันธ์กับสังคมตามจารีต
และนอกระบบที่สัมพันธ์กับประชาชนต่างๆ แล้วก็การตอบโต้ของรัฐไทย ไปถึงชะตากรรมของประชาชนในสถานการณ์สงคราม
อันนี้คือโครงร่างในส่วนของผมเกี่ยวกับเค้าโครงใหญ่
ในนี้หลายเรื่องผมได้นำมาย่อย และบางส่วนของข้อมูลของผมมีไม่มากพอที่จะพูดถึงเฉพาะเรื่องนั้นได้ เช่น คนมลายูมุสลิมเป็นทหาร ตำรวจกี่เปอร์เซ็นต์ ในรอบ 5-10 ปีอะไรต่างๆ อันนี้ยังหาไม่ทัน ก็คงได้เท่าที่สัมภาษณ์นิดหน่อยซึ่งเอามาประกอบได้ และการเคลื่อนไหวในส่วนของชนชั้นนำตามสังคมจารีต จะมีตัวอย่างต่างๆ เพราะฉะนั้น ผมจึงใช้วิธีการแบบนี้คือว่า ปัญหาที่น่าจะทำความเข้าใจก่อน โดยเฉพาะในส่วนของคนนอก ที่เราไม่ค่อยเข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรมในแบบมลายูมุสลิม ก็คือ นิยามความหมายของการเมือง
จริงๆ แล้ว ผมเขียนเรื่องประวัติของการเคลื่อนไหวของมลายูมุสลิมในสมัยหะยีสุหรง ก็คิดว่ามองด้วยกรอบของการเมืองไทยก็น่าจะใช้ได้ แต่หลังจากมาทำการบ้านให้กับการบรรยายครั้งนี้ ก็พบว่า สงสัยจะใช้ไม่ได้คือ ดูจากทัศนะของคนมลายูมุสลิมเอง ทั้งใน 3 จังหวัดและในที่อื่น คือนักวิชาการที่เขาพูดถึง แล้วก็ดูจากพัฒนาการของการเคลื่อนไหวของโลกมุสลิม ทั้งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และที่อื่นๆ ซึ่งก็คือตะวันออกกลางเป็นหลัก ผมเองก็ชักเริ่มสงสัยว่า นิยามการเมืองในแบบที่เราเข้าใจและใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ สงสัยว่าจะมีข้อจำกัดอยู่มาก
ข้อจำกัดจริงๆ แล้ว ถ้าจะพูดแบบแรงๆ ก็คือมันมีอคติ อคติซึ่งมาจากการรับรู้ปฏิบัติของการเมืองในรอบอย่างน้อยที่สุด 100 ปีที่ผ่านมา หรือคริสตศตวรรษที่ 20 ทั้งหมด เป็นการเมืองที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบซึ่ง มหาอำนาจตะวันตกเป็นผู้กำหนดสิ่งที่เรียกว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง, สถาบันทางการเมือง, ไปจนกระทั่งถึงจุดหมายทางการเมือง
ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมง่ายๆ ก็คือ ในรอบ 100 ปีนี้ การเมืองที่ถูกนำเอาไปใช้ในการเคลื่อนไหวในการต่อสู้ ในการสร้างความชอบอธรรมอะไรต่างๆ ก็คือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบที่ตะวันตกเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ทำให้มันเป็นระบอบที่มีความหมายจริงๆ ใช้ได้ตามนั้น และมันได้แผ่ขยายไปทั่วโลก
ในยุคหนึ่งก่อนที่ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะกลายเป็นระบอบที่ถูกใช้ทั่วโลกนั้น มันได้ถูกนำพาผ่านระบอบการล่าอาณานิคม ซึ่งเข้าไปยึดครองภูมิภาคต่างๆ เรียกว่าทั้งโลกก็ได้ ตรงนี้ก็คือความเข้าใจในคำว่าการเมืองอย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แม้กระทั่งการเกิดระบอบการเมืองแบบใหม่ของไทยก็ตาม เราก็รับอิทธิพลทางความคิดจากการเมืองแบบตะวันตกก็คือประชาธิปไตย
การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็คือจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความคิดใหญ่ก็คือมีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งอันนี้ในด้านหนึ่งคือความเป็นจริง แล้วก็ดำรงอยู่นานมากเกือบศตวรรษ ถึงมันจะมีการต่อต้านจากระบอบอื่น เช่น ระบอบสังคมนิยมที่ชัดเจนมากที่สุดก็ตาม แต่ก็กระทำไม่สำเร็จ แล้วอันที่จริงเมื่อดูถึงรากเหง้าทฤษฎีของสังคมนิยม ทฤษฎีดังกล่าวก็กำเนิดขึ้นมาในบริบทของปรัชญาหรือภูมิปัญญาแสงสว่าง (the Enlightenment) ซึ่งก็จะมีความเชื่อที่คล้ายๆกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นถึงที่สุดแล้ว ก็จะไม่ได้เปลี่ยนแปลอะไรอย่างแท้จริง
โลกอิสลามในช่วงที่อารยธรรมตะวันตกเข้าไปครอบงำอยู่ อิสลามก็ยอมรับในความเหนือกว่าของจุดหมาย กระบวนการ สถาบันทางการเมืองแบบสมัยใหม่ของตะวันตก เพียงแต่ว่าระบอบประชาธิปไตยมันไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นคำถามที่ต้องตอบกันอีกยกหนึ่ง แล้วที่ผ่านมามันมีความน่าสนใจว่า ทำไม, ยกเว้นแอฟริกาแล้ว, ก็จะมีกลุ่มประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จเลยในการใช้ และสร้างสถาบันประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ปฏิวัติมาแล้วก็ตาม อาณาจักรออตโตมาน สร้างตุรกี สร้างอะไรต่างๆขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถจะมีประชาธิปไตยที่พูดง่ายๆ ว่าได้คะแนน A หรือ B ถ้าผ่านแบบตะวันตกได้ ทุกคน C กับ F หมดเลย จนกระทั่งกลายเป็นชะนักติดหลังว่า คล้ายๆ กับว่าโลกสังคมมุสลิมที่มีความเชื่อแบบอิสลาม ลึกๆแล้วเป็นปฏิปักษ์กับความเป็นประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ถ้าความเป็นประชาธิปไตย เป็นความทันสมัย เป็นการเปิดกว้างต่างๆ อะไรที่เป็นมุสลิมก็คือด้านตรงข้าม นั่นคือเป็นสังคมก็ปิด โลกที่คับแคบ ล้าหลัง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่อะไรต่างๆ กลับมาสู่การทำให้มีความเป็นตัวของตัวเอง อัตลักษณ์ของความเป็นอิสลาม ความเป็นมุสลิมในศตวรรษที่ 20 ไม่เคยเป็นประเด็นใหญ่ที่คนยอมรับได้เลย ถึงแม้ว่าจะมีการพูดถึงในบางที่บางแห่งก็ตาม แต่มันไม่ได้เกิดขึ้น ประเด็นอันนี้เพิ่งจะมาถูกชู อันนี้คิดว่าหลังเหตุการณ์ 11 กันยา (9/11) ที่เปิดประเด็นนี้ใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้ามองในกรอบใหญ่ ผมคิดว่าทำให้มีการเริ่มมองถึงความหมายของการเมือง อาจจะต้องเริ่มมาคล้ายๆ กับว่านิยามกันใหม่ แล้วทำความเข้าใจกันใหม่ต่างๆ
ควบคู่กับความคิดอันใหม่ในเรื่องการเมือง ก็จะมาถึงการเข้าใจและยอมรับสิ่งที่เรียกว่าสถาบันของการเมืองแบบใหม่ด้วย เพราะว่าการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ซึ่งมันก็ควบคู่กับเศรษฐกิจทุนนิยม และรูปแบบของรัฐที่เรียกว่ารัฐประชาชาติ(nation state) ก็ต้องเป็นหน่วยของการปกครองของการทำความเข้าใจ ของการทำความสัมพันธ์ต่างๆ ในระบบโลกทั้งชุด และตรงนี้ที่ผมเริ่มสังเกตว่า ถ้าหากว่าเรามองความหมายการเมืองต่างไปจากตะวันตกแบบสมัยใหม่ ซึ่งตอนนี้มันก็ไม่ใช่แค่ตะวันตกเท่านั้น คำๆว่าระบอบรัฐชาติก็ดี ระบอบประชาธิปไตยก็ดี มันพ้นไปจากความเป็นตะวันตกไปมากพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงไม่อยากให้โยงแค่ว่า อันนี้เป็นการต่อต้านตะวันตก หรือการไม่ยอมรับอะไรต่างๆ เพราะรู้สึกว่าจะแคบไปนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ผมจึงเริ่มด้วยการทำความเข้าใจ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจับมันถูกไหม? ว่า สิ่งที่เรียกว่าการเมืองของอิสลาม ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Political Islam อันนี้มีความหมายที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองอันนี้ไหม? ผมเอาแนวคิดนี้มาจากบทความของอาจารย์ Samson A.B. เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย ชื่อเรื่อง Embedded Islam บทความจะพูดถึง modulate political Islam กับการปกครองในโลกมลายู
ประเด็นที่แกให้คำอธิบาย ซึ่งทำให้ผมได้ข้อคิดเหมือนกัน โดยมักจะลืมไปว่า โลกมลายูนี่, เรามักจะนึกถึงแต่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่รวมสตูล ถึงแม้จะเป็นคนส่วนใหญ่ในภาคใต้ คือมีประชากรราว 70% ก็ตาม แต่ก็เป็นชนส่วนน้อยในประเทศไทย จนลืมไปว่าพื้นที่ 3 จังหวัด เมื่อดูจริงๆ แล้ว ทางด้านภูมิสังคมที่แท้จริงของพวกเขา, 3 จังหวัดนั้นอยู่ในคาบสมุทรมลายูที่เรียกว่า The Malay World โลกในคาบสมุทรมลายูซึ่งมีอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, ภาคใต้ไทย, ภาคใต้ฟิลิปปินส์, ภาคใต้กัมพูชา, ทั้งหมดนั้นพูดภาษามลายูเป็นภาษาหลัก และประชากรทั้งหมดรวมกันแล้วมากกว่า 250 ล้านคน
เพราะฉะนั้นคนที่พูดมลายู จะเป็นมลายูมุสลิมด้วยนั้น มีอยู่อย่างน้อย 200 ล้านคน คนที่พูดภาษาไทยในโลกนี้มีไม่ถึง 100 ล้านคน, 60 ล้านคือในประเทศไทย แล้วอีก 1 แสนคนที่ LA.(ลอสแองเจลิส) ก็คือ 60 ล้านกับ 1 แสนคน แล้วเราพยายามที่จะบังคับให้คน 200 ล้านคนพูดภาษาไทย เพราะบังเอิญว่าหน่วยทางการเมืองมันอยู่ใน 3 จังหวัด เราอยากให้ทิ้งภาษามลายูแล้วมาเรียนภาษาไทยให้ได้ โดยไม่ต้องพูดถึงการเมือง. ตรงนี้ก็ตลกแล้ว อันนี้เป็นไปไม่ได้ หรือมันอาจเป็นไปได้ก็ได้ อย่างเพิ่งสรุปเพราะเรื่องมันซับซ้อนกว่านั้น
ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการมองและจัดระเบียบทางด้านภูมิศาสตร์ใหม่ ไม่ได้เริ่มต้นจากรัฐชาติไทยเท่านั้นที่มีปัญหากับ 3 จังหวัดชายแดน คือถ้าลบเส้นเขตแดนที่แบ่งประเทศต่างๆ ได้ ซึ่งความจริงมันช่วยได้มากในเรื่อง 3 จังหวัด ต้องลบเส้นเขตแดน ถ้าไม่ลบเราจะพูดกันไม่รู้เรื่องไปอีกนาน แล้วอีกสักครู่ก็จะมีเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอิสลามด้วย เรื่องเส้นแบ่งเขตแดนนี้
ในบทความซึ่งอ้างถึง เขาจะเล่าให้เห็นถึงพัฒนาการของความเป็นอิสลามที่เข้ามาในอุษาคเนย์ มันจะผ่านกระบวนการซึ่งเขาใช้ศัพท์คำว่า embeddization ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะใช้คำแปลอะไรในภาษาไทย. (ครั้งแรกคำนี้ที่ผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ ที่อเมริกันบุกอิรัก แล้วก็ออกกฎในการทำข่าว ผู้สื่อข่าวทั้งหมดจะต้องไปรายงานตัวกับกองทัพของอเมริกัน แล้วก็ถูกจัดตั้งให้เดินตามหลังทหาร แล้วถ่ายภาพตามที่ทหารให้ถ่าย ก็เลยมีศัพท์คำว่า embedded journalist ในอิรัก และรายงานข่าวที่ได้ก็เหมือนกันไปหมด ซึ่งอันนี้ผมอยากจะบอกพวกนั้นว่า คุณมาทำข่าวที่เมืองไทยดีกว่า เราทำแบบนี้มานานแล้ว เรามีความเชี่ยวชาญมากอะไรต่างๆเหล่านี้)
แต่ในอันนี้ ความหมายที่เขาพูดถึง เขาจะพูดเหมือนกับที่อาจารย์เคยบรรยายเรื่องวัฒนธรรมใน Southeast Asia ในไทยเหมือนกัน มันไม่อาจที่เป็นหนึ่งหรือเอกภาพอันเดียวได้ เพราะว่ามันมีพื้นฐานเดิม แล้วก็มีวัฒนธรรมใหม่เข้ามา พื้นฐานเดิม บรรพบุรุษ เชื่อผีเชื่ออะไรต่างๆ ฮินดูเข้ามา ก็อยู่กันต่อไป ทับซ้อนเข้าไป พุทธเข้ามาก็ทับซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง อิสลามเข้าก็อีกชั้นหนึ่ง คริสต์เตียนเข้าอีกชั้นหนึ่ง อะไรเข้ามาก็จะทับซ้อนกันอยู่ตรงนี้ มันไม่มีอะไรที่หายไป ไม่มีอะไรที่มันหมดไป จึงทำให้เกิดเป็นความหลากหลายหรือมีลักษณะเฉพาะอะไรต่างๆ ของอุษาคเนย์ขึ้นมา. อันนี้เขาใช้ในความหมายของ embeddization นั้น เพราะฉะนั้นใครช่วยคิดคำแปลอันนี้ แล้วผมจะยืมไปใช้ต่อๆไป เขาบอกว่าอิสลามในอุษาคเนย์เป็น embedded Islam ไม่ได้เป็น Pure Islam เหมือนกับในอาหรับ
เสร็จแล้วจะมีช่วงหลักๆ อย่างยุคแรกมีการ embedded กับพุทธและฮินดูต่างๆ ได้แล้ว ก็จะมีรัฐเกิดขึ้น ตอนนี้แหละที่คติเรื่องรัฐต่างๆ ของอิสลามยุคแรก ก็จะมีลักษณะแบบท้องถิ่น ซึ่งเขาใช้คำว่า pseudo polity (รูปแบบการปกครองที่ไม่แท้) ก็คือยุคที่มีราชาปกครอง ดังนั้นโลกทัศน์ต่างๆ ก็จะเป็นแบบชนชั้นเจ้าที่ดิน ก็คือเป็นแบบศักดินาอิสลามอะไรแบบนั้น และบทบาทก็เป็นไปอย่างผู้นำมีอำนาจไล่เลียงลงมา มีการอุปถัมภ์การเลี้ยงดูอะไรต่างๆ แต่เขาก็จะใช้ศาสนาอิสลามเป็นแกนหลัก
คือเขายอมรับอย่างหนึ่งว่า ความเป็นอิสลาม นอกจากหลักใหญ่ 5 อย่างแล้ว ที่เหลือจะเป็นการผสานกับความเป็นจริงของท้องถิ่นทั้งนั้น ตรงนี้ก็จะหลากหลายไปตามแต่ละที่ สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไปทางหนึ่ง ลงไปถึงมาเลย์ก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง อินโดนีเซียก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เขาจึงมองว่าอิสลามในอุษาคเนย์ ตามทัศนะของผู้เขียนบอกว่า ยากที่จะเป็นแบบ radical อย่างที่รัฐบาลอเมริกันกลัวอยู่ตอนนี้ เพราะเนื่องจากว่าฐานที่ได้รับการสร้างขึ้นมา และที่โตมานั้น ไม่ได้มีเอกภาพหนึ่งเดียว แต่ตั้งอยู่บนความหลากหลายอันนี้
แล้วโดยส่วนตัว ผมค่อนข้างจะเชื่อตามทฤษฎีนี้ว่า ไม่มีทางที่จะเป็นแบบอิรักหรือเปอร์เซ็นต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ไปได้ อย่างที่โคไมนี(ผู้นำในการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน)สร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่มีความพยายาม หรือรับอิทธิพลอะไรต่างๆ จริงๆ แล้วผมคิดว่าคาบสมุทรมลายู เผลอๆจะได้รับหรือมีการติดต่อกับโลกภายนอก นอกจากในภูมิภาคนี้แล้ว ก็มีการติดต่อกับโลกภายนอกสูงมาก และนี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้การปฏิสัมพันธ์กับรัฐในท้องถิ่นเอง เกิดมีปัญหาได้มากกว่ากลุ่มชนอื่นๆ หรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ขึ้นมา
จากช่วงแรกที่เป็นโลกทัศน์แบบเชิงศักดินา ก็นำมาถึงช่วงที่ 2 ซึ่ง หลังจากลัทธิอาณานิคมเข้ามา ตอนนั้นที่แนวความคิดเรื่องการเมืองต่างๆ จะถูกท้าทายและก็ถูกแทนที่ เพราะว่าเจ้าอาณานิคมจะเข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบอบโครงสร้างการปกครอง ทัศนคติอะไรต่างๆก็จะถูกเปลี่ยนไป แนวคิดหลักๆ ที่เป็นตัวอย่างก็คือว่า เช่นโครงสร้างของความเชื่ออิสลามในยุคแรก คือว่า "รัฐ"กับ"ศาสนา"ไม่ได้แยกออกจากกัน ภาษาอังกฤษใช้ว่า Church กับ State จะเป็นเอกภาพอันเดียวกัน
กรณีของอุษาคเนย์ ถึงแม้อิสลามจะขึ้นมาเป็นรัฐแล้วก็ตาม แต่ว่าก็ไม่เคยเป็นศาสนาเดียวจริงๆ ที่ครอบงำหมด ซึ่งอันนี้ตรงข้ามกับยุโรป นั่นคือยุโรปในยุค Feudal ตอนที่คริสเตียนขึ้นมามีอำนาจเป็นหลักนั้น มันเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ หรือเป็นเอกภาพ ศาสนาอื่นได้ถูกทำลายไปหมด
ในช่วงที่ 2 ซึ่งลัทธิอาณานิคมได้แผ่ขยายเข้ามา ทำให้แนวคิดและวิถีปฏิบัติเดิมได้ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ก็คือเรื่องศาสนากับรัฐ เพราะว่าประสบการณ์และพูดง่ายๆ ว่า การเมืองแบบตะวันตกที่สร้างขึ้นมา คือเขาต้องแยก"รัฐ"ออกจาก"ศาสนา", separation of Church and State คือเป็นกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ และหลังจากนั้นก็สร้างรัฐประชาชาติที่มีพรมแดน มี Territory อะไรต่างๆ ขึ้นมา คือตอนนี้คนมุสลิมถูกแยกออกจากศาสนา อันนี้ก็คือสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงอาณานิคม และก็ได้กลายเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งก็จะต้องดึงเอาประเพณีและวัฒนธรรมแบบอิสลามกลับเข้ามาฟื้นฟู
เพราะฉะนั้น ตรงนี้ถ้ามองจากความเคลื่อนไหวหรือปัญหาต่างๆ ที่ 3 จังหวัดภาคใต้กับรัฐบาลไทย กับสังคมไทย ที่เราเผชิญ จะพบว่าการเคลื่อนไหวของ 3 จังหวัด ส่วนใหญ่จะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหรือเป็นเป้าหมายต่างๆ การกระทบกระทั่งจะอยู่ในปริมณฑลเกี่ยวกับศาสนาสูงมาก อันนี้ก็เป็นความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ช่วงแรกที่เขาได้ถูกทำลายไป
อีกปริมณฑลหนึ่งก็คือเรื่องของการศึกษา ระบบการศึกษาแบบใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่แบบเก่า ซึ่งในวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบมุสลิม โรงเรียนปอเนาะกับมัสยิด กับชีวิตในบ้าน มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การศึกษาแบบใหม่ของสังคมตะวันตก การศึกษาถูกทำให้เป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของโรงเรียน เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้อีกชุดหนึ่งซึ่งแยกจากครอบครัว สังคม ชีวิต ดังนั้นภาพอันนี้จะพบว่า จุดที่เป็นการปะทะกันของคนมลายูมุสลิมกับรัฐไทย คิดว่าบริเวณที่มีการกระทบกระทั่งกันสูงมากก็คือตรงนี้ บ้าน, โรงเรียนปอเนาะ, มัสยิด, ก็หมดแล้วทั้งชุมชน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจหรืออะไรต่างๆ ยังไปไม่ถึง จะวนเวียนอยู่ตรงหัวใจของชีวิตชุมชน
ทีนี้ถ้าดูการเมืองที่มาจากการเข้ามาของอิสลาม แล้วการปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ แล้วก็สร้างเป็นอิสลามที่มีลักษณะเด่นของชีวิตสังคมการเมือง ในยุคแรกถ้าหากว่ารัฐนั้นปกครองโดยมุสลิมเอง โดยราชาที่เป็นอิสลามก็ไม่มีปัญหา เพราะเขาก็สร้างรูปการณ์โครงสร้างชุมชน ดังนั้นบ้าน โรงเรียน มัสยิด ก็จำลองสิ่งเหล่านั้นลงมา
และอุดมการณ์ของอิสลามนั้นมีไหม? อันนี้ก็คือปัญหา เพราะว่าถ้าเราดูจากการโต้แย้งกันในปัจจุบัน จะมีการพูดถึง Islamic State หรือรัฐอิสลามกันมาก ตั้งแต่โคไมนีปฏิวัติอิหร่าน ศัพท์อันนี้ถูกโยนเข้ามาในการรับรู้ของคนทั่วโลก และแน่นอนว่าปฏิกริยาของโลกตะวันตก หรือโลกที่รับความเจริญและประชาธิปไตยแบบตะวันตก ก็ต้องมองว่าอันนี้เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะว่าก็เหมือนกับมีคนบอกว่า จะสร้าง Christian State หรือ Christian Kingdom แบบโบราณ ก่อนยุค the Enlightenment ในยุโรป(เกิดขึ้นประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ 18) คนก็จะรู้สึกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะมันไม่มีแล้วสำหรับรัฐแบบนั้น
เพราะฉะนั้น ศัพท์คำนี้หรือแนวคิดนี้ (หมายถึง Islamic State) ที่ผมสงสัยคือว่า ตั้งแต่ในยุคอาณานิคมมีไหม เขาพูดถึงกันไหม? อันนี้ยังไม่มีเวลาไปค้นได้ทั้งหมด แต่ว่าถ้าดูจากพัฒนาการของความคิดทางการเมือง แม้กระทั่งในตะวันตกก็ตาม การเขียนทฤษฎีทางการเมืองที่แยกออกมาจากรัฐหรืออะไรต่างๆ ก็เริ่มขึ้นหลังแมคเคียอาเวลี คริสตศตวรรษที่ 16-17 มาแล้ว แสดงว่าการปกครองก่อนยุคโมเดิร์น ไม่ว่าที่ไหนในโลก มันไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองล้วนๆ ที่แยกจากศาสนา ความเชื่อประเพณี และวัฒนธรรมได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วผมสันนิษฐานว่าในโลกอิสลามก็คงจะไม่มี Islamic State แบบที่เราพูดกันในปัจจุบัน
แต่ว่าจะมีคำซึ่งได้พบอยู่บ่อยแต่ไม่ได้ตั้งข้อสังเกต จนกระทั่งมานั่งคิดถึงประเด็นนี้ แล้วก็เลยมานึกได้คือ เราคงได้ยินเวลาที่พูดถึงประวัติศาสตร์ปัตตานียุคเก่า แล้วก็จะมีคนเรียกอาณาจักรปัตตานีว่า "ปัตตานีดารุสลาม" อันนี้ตามรูปศัพท์ก็คือ อาณาจักรปัตตานีแห่งสันติ คือเป็นมหาอาณาจักรซึ่งตอนนี้ได้ถูกนำมาใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกับ Islamic State
ถ้าเราฟังข่าวจากคนที่วิจารณ์การเคลื่อนไหวของฝ่าย militant ของมุสลิม อันหนึ่งที่จะถูกวิจารณ์ก็คือว่า พวกนี้ต้องการที่จะสร้างรัฐอิสลามต่างๆขึ้นมา แล้วก็จะใช้ชื่อ"ดารุสลาม" ก็คือทำให้ทั่วทั้งโลกกลายเป็นยุคพระศรีอาริยเมตไตย ความเชื่อแบบไทยๆ หรือยูโธเปีย และดารุสลามก็จะเป็นคำทำนองนี้ ซึ่งเข้าใจว่าคำดังกล่าวน่าจะมีในปัตตานียุคอาณาจักร อันนี้ก็คงเป็นไปได้ที่มันน่าจะเหมือนกันกับอาณาจักรโบราณต่างๆ ของรัฐไทยตะวันออก จีนก็มีคำว่า"ต้าถุง"ซึ่งก็แปลว่ายุคพระศรีอาริยเมตไตยเหมือนกัน ก็คล้ายๆ กันคือเป็นอาณาจักรที่สันติยิ่งใหญ่
ดังนั้น "ดารุสลาม" ก็คงเป็นความเชื่อแบบยุคก่อนเท่านั้น แต่คงไม่ใช่ในความหมายที่มีการนำมาใช้ในแบบ Islamic State ในปัจจุบันนี้ เพราะมิฉะนั้นคนที่อ่านประวัติศาสตร์ปัตตานีเก่า ซึ่งตอนหลังนี้มีคนเขียนกันมากขึ้น แล้วก็จะลงเอยด้วยการเรียกอาณาจักรปัตตานีดารุสลาม ซึ่งคนหลายๆ คนจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว คือแทนที่จะเกิดความเข้าใจ ผมเกรงว่าความเหลื่อมล้ำกันในด้านความหมายในอดีตกับปัจจุบัน จะสร้างความมีอคติต่อกันมากขึ้นไปกว่าปรกติ
หลังจากลัทธิอาณานิคมเข้ามาแล้ว ตอนนี้ที่ผมคิดว่าปัญญาชนของมุสลิมที่เริ่มการต่อสู้เคลื่อนไหวต่างๆ พูดง่ายๆ คือ ด้านหนึ่งก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ แต่อีกด้านหนึ่ง คือในทางการเมือง มันยากที่จะไปบรรลุเป้าหมายในการสร้างรัฐประชาธิปไตย รัฐที่อยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เนื่องมาจากพื้นฐานทางด้านอื่นๆ ยังไม่อาจรองรับแนวคิดนี้ได้ คือผมคิดถึงตัวอย่างหะยีสุหรง ตรงนี้จะลงมาถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเราผ่านตั้งแต่ยุคแรกคือยุครัชกาลที่ 5 - 6 ความจริงเรื่องนี้สำคัญเพราะจะอธิบายถึง การผสานการเมืองแบบอิสลามเข้ากับรัฐท้องถิ่นที่พวกเขาต้องอยู่ภายใต้การปกครอง เช่นรัฐไทย ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ผมขอถอยกลับไปนิดหนึ่ง คือประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า ถ้าหากการเมืองก็คือการเคลื่อนไหวที่เขาต้องการที่จะประสานความเชื่ออุดมการณ์ ในแบบอิสลามให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มันก็เข้าข่ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นได้ ซึ่งก็กว้างดีเพราะมันคลุมๆ เกือบทุกอย่าง ก็จะพบว่าตั้งแต่ถูกรัฐสยามเข้ามารวมศูนย์แล้ว การเคลื่อนไหวในลักษณะการประท้วงต่อต้านต่างๆ เกือบจะเป็นด้านหลักเลยทีเดียว มันไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรที่มันจะไม่นำไปสู่การสร้างความไม่พอใจ หรือแสดงออกซึ่งความไม่พอใจจากรัฐบาลกลาง
เพราะโดยอัตโนมัติเลยคือ สิ่งที่รัฐบาลกรุงเทพฯ กระทำมณฑลปัตตานี ในตอนนั้นซึ่งรวม 3 จังหวัดเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะแยกออกไปเป็นคนละจังหวัด ก็คือการเปลี่ยนระบบการศึกษา แล้วก็แยกรัฐออกจากการปกครองในแบบของเขา เพื่อที่จะให้ทุกอย่างมาอยู่ภายใต้โครงสร้างของการปกครองแบบสยาม ไปจนถึงระบบการจัดเก็บภาษีต่างๆ เพราะภาษีก็เป็นวิถีชีวิตแบบอิสลามเหมือนกัน ดังนั้นการศึกษาปอเนาะ มัสยิด ก็จะเป็นจุดที่มีการตอบโต้
รัชกาลที่ 5 ที่อับดุลการ์เดห์เขาประท้วง และถูกกระทำอะไรต่างๆนั้น อาจมองว่าเป็นการต่อสู้ระดับผู้นำ อันนั้นอาจจะผ่านไปก็ได้ เพราะชุมชนไม่ได้เห็นด้วย แต่โดยโครงสร้างแบบศักดินา เพราะฉะนั้น การต่อสู้ดังกล่าวชาวบ้านก็จะต้องเข้าร่วม หรือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความชอบธรรมกับราชาของปัตตานี แต่หลังจากช่วงของรัชกาลที่ 6 มา จะเป็นลักษณะที่เรียกว่า"กบฎชาวนา" ก็คือการที่ชาวบ้านเขาลุกฮือขึ้นประท้วงเอง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษา เพื่อที่จะให้มีการศึกษาแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ
ถ้าเรามองจากกรุงเทพฯ มองจากจังหวัดอื่นๆ ทุกๆคนก็มองว่าดี มันจะมีปัญหาอะไร การศึกษาซึ่งแต่ก่อนมันไม่มี ก็ให้มีการศึกษา แล้วไปประท้วงกันทำไม อันนี้ถ้าเราไม่เข้าใจว่า คำว่า"การศึกษา"ในวิธีปฏิบัติของชุมชนมุสลิม เขามีสถานศึกษาอยู่แล้ว มีวิถีปฏิบัติเฉพาะแบบของเขา มีครู มีอะไรต่างๆ อยู่ก่อน แล้วเมื่อระบบโรงเรียนเข้ามา คุณก็ย้ายเขาออกมา หรือย้ายครูโดยเอาครูของเขาไปเป็นครูของกระทรวงศึกษาอะไรเหล่านี้ ทำให้เขาต้องไปเปลี่ยนความเชื่ออะไรทั้งหมด
และในสุดท้าย ตัวที่ไปจุดชนวนชาวบ้านให้ลุกฮือขึ้นก็คือเรื่องของภาษี คือการไม่ยอมเสียภาษี จำได้ไหมครับว่า พรบ.การศึกษานี้พอออกมาแล้ว รัฐบาลไม่มีเงิน รัฐบาลต้องใช้วิธีการคือ ชาวบ้านต้องจ่ายภาษี เพื่อสนับสนุนการศึกษาระดับประถมของท้องถิ่นต่างๆ ที่อื่นเขาก็ทำเพราะเห็นดีด้วย แต่ทางภาคใต้นี้ชาวบ้านได้กระทำอยู่พักหนึ่ง คือเขาจ่ายแต่ไม่ส่งลูกไปเรียน ไม่มีใครส่งลูกเข้าโรงเรียน เพราะเด็กๆ เรียนที่ปอเนาะ พอหลายๆ วันเข้า ก็บอกว่า เราก็ไม่ได้ไปใช้โรงเรียน แล้วทำไมต้องเสียภาษีด้วย เพราะฉะนั้นโดยเหตุผลของความชอบธรรมก็คือว่า ก็เราไม่ได้ใช้บริการเขา เราก็ไม่ควรจะเสียถูกไหม? ดังนั้นเมื่อถูกทางการเล่นงาน เขาก็ต้องสู้
ในการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานที่ออกมาทางกรุงเทพฯ จะบอกว่าชาวบ้านกบฎทุกทีไป ดุซงยอเห็นได้ชัดเลย แต่พอไปเอาข้อมูลพื้นฐานออกมา ก็จะเป็นว่าชาวบ้านเขาก็ทำของเขา แต่ทางการพยายามไปบีบคั้นพวกเขา พอไม่ได้ก็ไปกระทุ้งเขา พอไปกระทุ้งพวกเขาก็จึงตอบโต้ ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น อีสานก็ทำ ทางเหนือก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นกบฎก็คือการตอบโต้ของชาวบ้าน แต่ว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำก่อน ทุกกรณีที่ผ่านมา แม้แต่กรณี 4 มกรา กรณีเกี่ยวกับการปล้นปืน ผมยังสงสัยอยู่ว่า ชาวบ้านท้องถิ่นเขาทำหรือว่าเขาตอบโต้ คนทำคือคนอื่นหรือว่าไม่ใช่ มันจะเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด
ดังนั้นถ้ามองจากตัวความขัดแย้ง ก็จะออกมาในรูปเดียวคือประท้วง เพราะฉะนั้นการพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ในยุคตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ลงมาจนถึงยุคปัจจุบัน มันจึงมีอยู่ภาพเดียวคือ ภาพของการต่อต้านประท้วง แล้วเลยไปจนกระทั่งถึงการกบฎ และรูปสุดท้ายคือก่อการร้าย ซึ่งมันก็คืออันเดียว อันอื่นไม่มี การเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่นในรูปของการรับความช่วยเหลือ หรือจะร่วมมือกับรัฐไม่มีเลยในส่วนนั้น จะเป็นการเมืองซึ่งแปลกมา ที่ไม่ค่อยเหมือนภาคอื่นๆ ของประเทศไทย
ทั้งหมดนี้ผมจึงคิดว่าต้องทำความเข้าใจความหมายของการเมืองที่เราใช้กัน คิดว่าการเมืองของคนมลายูมุสลิม เขาก็จะมองอย่างที่ผมว่าไปแล้วก็คือ สัมพันธ์กับความเชื่อ, ชีวิต, ศาสนา, และชุมชนด้วย เพราะถ้าเรามองเพียงแค่เขาเป็นคนส่วนน้อย ดังนั้นคนส่วนใหญ่ก็ทำได้ เป็นรัฐไทยได้ ทุกคนก็เป็นไทยได้ ทำไมคน 3 จังหวัดเป็นไม่ได้ มันต่างกันอย่างไรหรือ? ถ้ามองอย่างนี้แล้ว รับรองว่าพูดกันไม่รู้เรื่องแน่ ต้องฆ่ากันตายจนหมด
เพราะว่าโดยภูมิสังคม มันไม่เอื้อต่อความเป็นไทยแบบที่ไทยทำตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบาลต่อๆ มาก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะมีวิธีการนิดหน่อย แต่ว่ามันจะใช้ท่าที นโยบาย ทัศนคติอันเดียวกันหมด ครั้งแรกที่จอมพลสฤษดิ์ ไปเยี่ยมภาคใต้แล้วกลับมา แกบอกว่าพวกนั้นไม่พูดภาษาไทย แกเพิ่งรู้ แล้วก็บอกกระทรวงศึกษาต้องจัดการให้การศึกษากับพวกเขาให้พูดภาษาไทยให้ได้ คุณทักษิณกลับมาจากภาคใต้ก็เหมือนกัน ต้องไปจัดการเรื่องปอเนาะ ทำไมไม่พูดภาษาไทย
คือมันก็จริง ภาษาก็บอกอะไรได้ แล้วเราก็เน้นความเป็นไทยตรงที่ภาษากันมาก จนกระทั่งลืมไปว่าปัจจัยอื่นก็สามารถแสดงออกซึ่งความเป็นไทยได้ ไม่ใช่ภาษาพูดอย่างเดียว ความแน่นเหนียวของการใช้ภาษามลายู ทำให้คนไทยโดยเฉพาะผู้นำตกใจ เพราะเขานึกว่า 30-50 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมาแล้วอะไรต่างๆ ก็คงจะต้องเปลี่ยนไป โรงเรียนปอเนาะก็เปลี่ยนแล้ว ใช่ไหม! มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอะไรต่างๆ กระทรวงศึกษาก็ใช้เงินไปหลายรอยล้าน ทุกคนก็ได้ดิบได้ดีไปหมดแล้ว ปรากฏว่าจนบัดนี้ในหมู่บ้าน ผู้นำทางศาสนาที่เป็นโต๊ะครูทั้งหลาย ที่พูดภาษาไทย มีไม่ถึงครึ่ง
รายงานที่ผมอ่านจากกระทรวงมหาดไทยซึ่งหลายปีมาแล้ว เขาทำมาก็น่าสนใจดีว่า ในการสำรวจถึงระดับการศึกษาของกรรมการอิสลาม 4 จังหวัดรวมสตูลด้วย พบว่าผู้ที่มีการศึกษาจนถึงขั้นสูง คือส่วนใหญ่จะจบชั้นประถม แล้วลดหลั่นลงไป มีน้อยมากที่จบชั้นมัธยม ในระดับปริญญาตรียิ่งน้อยใหญ่ แต่เวลาที่เขาเทียบกับการศึกษาจากสถาบันอิสลาม ก็จะมีอีกชุดหนึ่ง ส่วนใหญ่จบ เทียบแล้วระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนกระทั่งถึงปริญญาตรีของระบบการศึกษาไทย เพราะฉะนั้นตัวเลขก็บอกแล้วว่า คนมลายูมุสลิมและโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ไม่ได้มีการศึกษาน้อย ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงๆ ทั้งนั้น แต่ว่าพอมาวัดแบบโรงเรียนไทย ปรากฏว่ามีการศึกษาน้อยทั้งหมดเลย และผมก็เชื่อว่าคงจะน้อยไปอีกหลายปี ตรงนี้ที่ทำให้การตอบโต้ หรือการจัดการกับปัญหาของรัฐบาลไทยไม่มีทางที่จะลงไปสู่เป้าหมาย หรือความสำเร็จได้เลย ซึ่งอีกสักครู่เราจะพูดถึงปัญหานี้ต่อไปก็ได้
กลับมาดูที่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่จะไปประสานกับอุดมการณ์การเมืองของอิสลาม อย่างในยุคแรกๆ ของการเคลื่อนไหว คือถ้าจะเอาแบบการเคลื่อนไหวการต่อสู้ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบชนชั้นผู้ปกครองเก่า ซึ่งเป็นเจ้าเมือง เป็นราชา หรือรายาอะไรต่างๆนั้น อุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นอิสลามจริงๆ มีน้อย ซึ่งก็อย่างที่เราพูดมาแล้วว่า ตอนที่ตั้งรัฐอิสลามอย่างปัตตานี พอเป็นอิสลามก็แน่นอนว่าก็เพียงแต่ใช้ความเชื่อแบบอิสลาม การประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ผู้นำลงมา นอกจากนั้นแล้ว เขาไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปสร้างแนวคิดอะไร
คือ อุดมการณ์ทางการเมืองมันจะมีพลัง ผมว่ามันมาจากการต่อต้าน การใช้ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ถ้าต้องใช้อุดมการณ์นั้นเพื่อต่อต้าน การสร้างความลุ่มลึกหรือการสร้างความหมายต่างๆ จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะฉะนั้นในปัตตานียุคแรก อุดมการณ์ทางการเมืองแบบอิสลามนั้น ปรกติไม่มีอะไร ดังนั้นผู้นำเขาก็จะสร้างมัสยิดให้ สร้างปอเนาะให้ แล้วคนก็เข้าสู่ระบบและศึกษาไปตามนั้น
รูปแบบการเคลื่อนไหว มาถึงรัชกาลที่ 6 ก็จะเป็นอย่างที่อาจารย์นิธิเขียน เกี่ยวกับเรื่อง"กบฎชาวนา" ก็คือว่า มันไม่แน่ว่าจะมีใบสั่งหรือเป็นการเคลื่อนไหวตามเจตนารมณ์ของผู้นำคนหนึ่งคนใด แต่จะเกิดขึ้นแบบ spontaneous (เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ) ก็ได้ หมายความว่ามันจะต้องมีพื้นฐานของความไม่พอใจ หรือมีความขัดแย้งกันอยู่ และพอหลังจากที่รัฐไทยเข้าไปแล้ว เริ่มมีการไปเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และความเชื่อต่างๆ คือรัชกาลที่ 5 ไป ก็ได้ไปยกเลิกสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายอิสลาม "ชาลิอะห์" ตัวนี้
ซึ่งเวลาที่เราอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ภาคใต้ โดยเฉพาะที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ไทย ตรงนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องที่เบาบางมาก ผมเองก็ไม่นึกว่ามันมีความสำคัญมากเท่าไหร่ เพราะว่ารัชกาลที่ 5 จะออกกฎหมายข้อหนึ่งเรียกว่า ข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณ 7 หัวเมืองภาคใต้ ซึ่งในนั้นก็จะบอกว่าให้พวกเขาลดศาสนา ต้องทำตามผู้นำ ต้องทำตามประเพณี แล้วอะไรต่างๆ ยอมๆหมด เราก็นึกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องประท้วงกัน ไม่ต้องมีปัญหาอะไรกัน แต่เราลืมไปว่าคำสั่งอันนั้นที่ออกมา มันหมายความว่าระบบกฎหมายอิสลามซึ่งใช้มาก่อนหน้านี้ถูกยกเลิก ถูกแทนที่ด้วยคำสั่งของกฎหมายจากกรุงเทพฯ คำสั่งใหม่อันนี้บอกว่าให้คุณทำตามนี้ แต่ให้ผู้พิพากษาฟังหรือปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามด้วยเท่านั้นเอง
สำหรับในความเชื่อ ความรู้สึก หรือความเข้าใจของคนมุสลิมเอง แน่นอนเขาไม่ได้มองว่ามันเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ ผมว่าคงไม่มีใครคิดแบบนั้น ความรู้สึกก็คือว่า มันหมดแล้ว คุณถูกทำให้อยู่ภายใต้การปกครองของคนที่ไม่ใช่มุสลิม ที่เขาเรียกว่ากาเฟห์ ผมก็ไม่นึกว่ามันจะมีความหมายอะไร? และตอนหลังยิ่งดูแล้วรู้สึกว่า มันจริง หมายความว่าชาวมุสลิมหากตกอยู่ภายใต้การปกครองของคนที่ไม่ใช่มุสลิม คุณมีสิทธิ์ในการปฏิวัติ และสามารถใช้วิธีการได้ทุกรูปแบบด้วย พออ่านแล้วผมยังเสียวเลย คือยอมรับว่านี่มันแรงยิ่งกว่าทฤษฎีของจอห์น ล็อคอีก ตอนที่อเมริกันปฏิวัติก็อ้างจอห์น ล็อค ว่า สิทธิธรรมชาติบอกว่า ถ้าผู้ปกครองไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นล้มได้ ปฏิวัติได้ แต่ก็เท่านั้นเองซึ่งไม่ได้มีอะไรมากมาย
แต่ถ้าคุณไปอ่านในที่เขายกมา
จากคัมภีร์อัลกุรอ่าน ว่า ถ้าอิสลามอยู่ภายใต้รัฐผู้ปกครองที่ไม่ใช่อิสลาม
ซึ่งเป็นกาเฟห์หรือคนนอกศาสนา จะรุนแรงมาก คิดว่าประเด็นพวกนี้ในประวัติศาสตร์มันถูกทำให้กระจ่างขึ้นแล้ว
เพราะว่าการเขียนประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดที่มีความสัมพันธ์กับรัฐไทยเรา เผลอๆต้องเขียนใหม่หมดเลย
ปัญหาคือว่า version อันใหม่นี้ ผมว่าคนไทยรับไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะเขียนได้หรือเปล่า
(จบการบันทึกเทปหน้าที่หนึ่ง, ม้วนที่หนึ่ง)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ความเป็นอิสลาม นอกจากหลักใหญ่ ๕ อย่างแล้ว ที่เหลือจะเป็นการผสานกับความเป็นจริงของท้องถิ่นทั้งนั้น ตรงนี้ก็จะหลากหลายไปตามแต่ละที่ สำหรับ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไปทางหนึ่ง ลงไปถึงมาเลย์ก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง อินโดนีเซียก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เขาจึงมองว่าอิสลามในอุษาคเนย์ ตามทัศนะของผู้เขียนบอกว่า ยากที่จะเป็นแบบ radical อย่างที่รัฐบาลอเมริกันกลัวอยู่ตอนนี้ เพราะเนื่องจากว่าฐานที่ได้รับการสร้างขึ้นมา และที่โตมานั้น ไม่ได้มีเอกภาพหนึ่งเดียว แต่ตั้งอยู่บนความหลากหลายอันนี้