Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

วิจารณ์ภาพยนตร์เอเชียตะวันออกไกล
มิติวิจารณ์ภาพยนตร์เอเชียไกล ตามแนวทางฟอร์มอลิสท์ (๒)
จักริน วิภาสวัชรโยธิน
นักวิชาการศึกษา สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(โครงการแปลตามอำเภอใจ)

บทวิเคราะห์-วิจารณ์ภาพยนตร์บนหน้าเว็บเพจนี้เดิมชื่อ
โหวเสี่ยวเสียน กับ 4 เซียนผู้กำกับเอเชียตะวันออก
เป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของเอเชียตะวันออกไกล ๔ ชาติ คือ
จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยทั้งหมดนี้ต่างมีพื้นเพทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
แต่ก็มีความเหมือนในการนำเสนอภาพ มุมกล้อง การลำดับภาพ และการจัดองค์ประกอบที่เปรียบเทียบกันได้
ในส่วนของการวิเคราะห์-วิจารณ์ ได้ให้น้ำหนักเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบและเทคนิค
มากกว่าเนื้อหาสาระและเรื่องราวของภาพยนตร์
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 997
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)




โหว เสี่ยว เสียน กับ 4 เซียนผู้กำกับเอเชียตะวันออก (๒)
จักริน วิภาสวัชรโยธิน : นักวิชาการศึกษา สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(3) เมฆเรืองรองจะลอยล่องสู่หนใด:
พัฒนาการชั้นหลังในวงไพบูลย์อัตลักษณ์ภาพยนตร์แห่งเอเชียบูรพา

โหว เสี่ยว เสียน(Hou Hsiao-Hsien) ไฉ่ มิ่ง เหลียง(Tsai Ming-liang) และ ฮอง ซาง ซู(Hong Sang-soo) รั้งตำแหน่งสามขุนพลแก้วจากเอเชียในโลกภาพยนตร์ ในรอบหลายปีหลังมานี้ไว้ได้ด้วยฝีไม้ลายมือด้านภาพอันมีเอกลักษณ์ตื่นตาตื่นใจเอกอุ

ยิ่งฝีภาพยาวมากเท่าไหร่ กล้องยิ่งต้องเคลื่อนตัวมากเป็นเงาตามตัว อาจนับเป็นคาถาอมตะเพียงข้อเดียวของการถ่ายหนัง ในความเป็นจริงในหนังทั่วไปมักจะมีฝีภาพยาวจากการเคลื่อนกล้องตามไล่เก็บอยู่สองในสามหรือมากกว่านั้นของจำนวนฝีภาพทั้งหมด กระนั้นปรมาจารย์ด้านฝีภาพยาวอย่างแยนโช่(Jancso) หรือ แองเจโลปูลอส(Angelopoulos) ก็อาจจี้สกัดจุดกล้องให้ตั้งอยู่นิ่ง ๆ คอยเก็บภาพมาใส่หนังรวดเดียวทั้งเรื่องเลยก็ได้

แต่ในชั่วสองทศวรรษหลังมานี้ หนังจากเอเชียกลับแหกขนบข้างต้นกันเป็นล่ำเป็นสัน ไล่ตั้งแต่ผลงานของโหว เสี่ยว เสียน จากไต้หวันในช่วง ค.ศ. 1984 - 1993 ฝีภาพในงานของโหว ตลอดห้วงเวลานั้นกินเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ย เช่นเดียวกับความเสถียรของกล้อง ใน Boys from Fengkui หนังยาวตามมาตรฐานเรื่องแรกของโหวใน ค.ศ. 1984 อันถือเป็นหนึ่งในกลุ่มหนังรุ่นใหม่ของไต้หวัน(Taiwanese New Cinema)ด้วยนั้น ความยาวฝีภาพเฉลี่ยตกประมาณ 19 วินาที และครึ่งหนึ่งของฝีภาพทั้งหมดในหนังเป็นภาพจากการเคลื่อนกล้องตามเก็บ

แต่พอมาถึง The Puppet Master งานใน ค.ศ. 1993 ความยาวฝีภาพเฉลี่ยขยับขึ้นไปเป็น 83 วินาที และมีฝีภาพจากการเคลื่อนกล้องตามเก็บในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 30 ในจำนวนนี้เป็นการเบนหน้ากล้องเพียงเล็กน้อยเพื่อย้อนรอยกรอบภาพเสียเกือบครึ่ง หรือไม่ก็เป็นการจงใจตวัดหน้ากล้องเพื่อโยกหนังเข้าสู่ฝีภาพยาวจากกล้องนิ่งถัดไป

แต่หลัง ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา กล่าวคือเรื่มตั้งแต่ในงานเรื่อง Good Men, Good Woman โหวกลับหันหลังให้กระบวนภาพดังกล่าวเอาดื้อ ๆ กระนั้นก็ยังมีสานุศิษย์ผู้กำกับเอเชียบูรพาจำพวกครูพักลักจำ ซึ่งเฝ้าติดตามงานของโหวเรื่อยมาจน ค.ศ. 1993 น้อมนำไปสานต่อ

- รายแรกคือ ฮิโรสุกะ โคเร-เอดะ(Hirokazu Kore-eda) ผู้กำกับญี่ปุ่นใน Maborosi ผลงานเมื่อ ค.ศ. 1995 กับความยาวฝีภาพเฉลี่ย 25 วินาที โดยมีภาพจากการเคลื่อนกล้องอยู่ในหนังเพียงร้อยละ 6

- รายถัดมาเป็น ลี กวาง มู(Lee Kwang-mo)ผู้กำกับเกาหลีใต้ในงานชื่อ Springtime in My Hometown เมื่อปี 1999 ด้วยความยาวเฉลี่ยร่วม ๆ 50 วินาทีต่อหนึ่งฝีภาพ พร้อมกับมีภาพจากการเคลื่อนกล้องในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอยู่ในหนังเพียงร้อยละ 2

- แต่ที่มาเหนือเมฆในการร่ายฝีภาพยาวผิดมนุษย์มนา ก็ต้องยกให้ผู้กำกับชาวไต้หวันพื้นเพมาเลเซีย คือ ไฉ่ มิ่ง เหลียง และผู้กำกับเกาหลีใต้อีกคน คือ ฮอง ซาง ซู สองรายนี้เคยไว้ลายด้วยการผูกหนังทั้งเรื่องจากฝีภาพยาว ๆ ที่ได้จากการไม่เคลื่อนกล้องแม้สักกระเบียดมาแล้ว

ใน Power of Kangwon Province งาน ค.ศ.1998 ของฮองไม่เพียงมีแต่ภาพจากการตรึงกล้องไว้นิ่ง ๆ หนำซ้ำเวลาเฉลี่ยต่อหนึ่งฝีภาพยังยาว 33 วินาทีขึ้นไปทั้งสิ้น ส่วนใน What Time Is It There? งานจาก ค.ศ.2001 ของไฉ่ นั้น เวลาเฉลี่ยในฝีภาพเลยหนึ่งนาที และทุกภาพล้วนได้จากกล้องนิ่งสนิท

ไม่มียุคใด และไม่มีส่วนอื่น ๆ ของโลกนอกเอเชียบูรพาที่ผู้กำกับจะหมกมุ่นกับการวาดลวดลายตามคติน้อยนิ่งเนียน ผ่านฝีภาพลากยาวเฟื้อยถึงขนาดนี้อีกแล้ว โหว ไฉ่ และ ฮอง จึงกลายเป็นหัวหอกของวงไพบูลย์แบบแผนภาพแห่งเอเชีย(pan-Asia style) กระนั้นยังเป็นที่ข้อสงสัยกันอยู่ว่า เบื้องหลังความแพร่หลายของแบบแผนภาพ มีนัยยะเชิงวัฒนธรรมสำรับใหญ่บงการอยู่หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงความฟุ้งเฟ้อทางสุนทรียศาสตร์ และยังตั้งแง่ต่อไปได้อีกถึงข้อจำกัด และแบบแผนภาพดังกล่าวจะยืนระยะได้อีกสักกี่น้ำ

งานชั้นหลัง ๆ จากสามเจ้าเคล็ดวิชาภาพขั้นสุดยอด ได้แก่ Cafe Lumiere งาน ค.ศ.2003 ของโหว The Wayward Cloud ใน ค.ศ. 2004 ของไฉ่ และ Woman is the Future of Man งานใน ค.ศ. 2004 ของฮอง คงพอจะให้เบาะแสคำตอบต่อข้อสงสัยต่าง ๆ ข้างต้น และแนวโน้มการขยับขยายตัวของวงไพบูลย์ด้านภาพของเอเชียได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การเจาะลึกถึงรากเหง้าของพลวัตร และเงื่อนงำพันลึกย่อมจับทางงานภาพยนตร์เอเชียได้แม่นยำยิ่งกว่าศึกษาเพียงแง่ใดแง่หนึ่ง

พลานุภาพของวงไพบูลย์ภาพเอเชีย
อีท่าไหนผู้กำกับเอเชียถึงได้หันมาเอาดีกับแบบแผนภาพพิเรนท์ ๆ และเหตุใดจึงขึ้นชื่อลือชาขึ้นมา วัฒนธรรมอาจเป็นตกจำเลยอันดับต้น แต่เอะอะก็จะตีขลุมเป็นเรื่องวัฒนธรรมคงจะไม่ได้ หากในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม ก็แกะรอยหาอิทธิพลของวัฒนธรรมแต่เก่าก่อนต่อการใช้ฝีภาพยาว และภาพจากกล้องนิ่งได้ยากเต็มที ผลจากการตะล่อมหาเอกลักษณ์การใช้กล้องชี้ว่า เอเชียบูรพาแต่เก่าก่อนก็นิยมเคลื่อนกล้อง หาใช่ตั้งกล้องไว้นิ่ง ๆ กล่าวเฉพาะกรณีไต้หวันเชื่อกันมาว่า ด้วยสภาพการผลิตงานหนังไม่เอื้ออำนวย จึงวาดลวดลายใส่ลูกเล่นกันได้จำกัด

ถึงการถือกำเนิดในไต้หวันจะดูเป็นการจับพลัดจับผลู ทว่าแบบแผนภาพดังกล่าวก็แผ่อิทธิพลเข้าครอบงำบรรดาผู้กำกับเอเชีย ถึงขั้นระเบิดความเลื่อมใสออกมาให้เห็นผ่านตัวงานตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษหลังสุด ก็ถือเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งในภาพรวมปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของเอเชียบูรพา ถึงไม่นับการรุกทะลวงเข้ามาของฮอลลิวูด แม็คโดนัลด์ และสตาร์บัคส์ ก็ยังมีอีกหลายสัญญาณบ่งบอกทั้งการเข้าสู่ภาวะร่วมสมัยของเอเชียบูรพา และถูกโฉลกกับเอเชียมากขึ้น โดยมีวัฒนธรรมป๊อบเป็นตัวชูโรง

ทั้งที่แนวโน้มและรูปแบบสมัยนิยมด้านการแต่งกาย เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสภาพความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์การเมืองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้งที่ ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันยังกรุ่นอยู่ แต่งานเพลงตามกระแสนิยมของไต้หวัน ก็ยังยกพลขึ้นบกไปยึดหัวหาดตลาดผู้ฟังชาวจีนแผ่นดินใหญ่เสียราบคาบ ขณะเดียวกันผู้ชมชาวไต้หวันจำนวนมาก ก็ติดละครชีวิตขนาดยาวจากจีนงอมแงม ชนชาติร่วมทวีปเอเชียอาจเดียดฉันท์ความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็ไม่แคล้วตกเป็นทาสทั้งเพลงตามกระแสนิยม การแต่งตัว และการ์ตูนของญี่ปุ่นกันทั่วทุกหัวระแหง ล่าสุด กระแสเกาหลีทั้งในรูปหนัง ละครโทรทัศน์ และดนตรีก็ระบาดความนิยมไปทั่วเอเชีย เหล่านี้ล้วนนับเป็นหลักฐานยืนยันตัวตนวัฒนธรรมร่วมสมัยของเอเชีย

ทุกวันนี้ เอเชียหันมาเสพบริโภคแบบงูกินหางกันภายในทวีป มากกว่าจะเล่นของจากวัฒนธรรมตะวันตก ผลลัพธ์ในระยะยาวต่อภาคการเมืองและอุดมการณ์ยังคงเอาแน่ไม่ได้ การใช้ฝีภาพยาวผสมโรงกับการตั้งกล้องนิ่งแม้จะจุติอยู่นอกกระแสนิยม แต่ก็ถือเป็นสายหนึ่งของคลื่นวงไพบูลย์เอเชีย ไปแล้ว กระนั้น แบบแผนภาพดังกล่าวก็มีปมปัญหาอยู่ในตัวเอง

ข้อจำกัดของแบบแผนแห่งอัตลักษณ์ร่วมของเอเชีย
พะยี่ห้อว่าเป็นนักทำหนังสกุล น้อยนิ่งเนียนแบบเอเชีย(Asian Minimalism)ไม่เพียงให้ภาพเลา ๆ ว่าย่อมต้องมุ่งเอาดีกับการวาดลวดลายตามแนวทาง แต่ยังบอกถึงอัตราเสี่ยงจะเป็นการตัดช่องน้อยปิดหนทางอื่น ๆ อันผู้กำกับรายหนึ่ง ๆ พึงมี ไหนจะตัดต่อแต่น้อยครั้งแล้ว ยังต้องเลี่ยงการเคลื่อนตำแหน่งกล้องอีก ข้อจำกัดดังกล่าวตีกรอบผู้กำกับที่ถือหางแบบแผนภาพดังกล่าวจนถึงกับจนมุมให้เห็นกันตำตา แล้วอย่างนี้แบบแผนภาพจะยืนหยัดไปได้นานแค่ไหน

ด้วยเหตุดังนี้ จึงมีผู้กำกับจำนวนนับนิ้วมือเท่านั้น ยังรักษามาตรฐานแห่งแบบแผนผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ หลังจากโดนข้อหา"วัดรอยเท้าโหว" จากผลงาน Mabarosi โคเร-เอดะก็เข็ดเข้ากระดูกดำกับการใช้กล้องนิ่งเก็บฝีภาพยาว ๆ ไปนาน. เจี่ย ฉาง เค่อ(Jia Zhangke) ผู้กำกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็เคยยอมรับหน้าชื่นตาบานว่าโหวเป็นครูพักลักจำของตน เจี่ยอัดฝีภาพยาว ระยะไกล จากกล้องนิ่งไว้แน่น Platform งานใน ค.ศ. 2001 ของเขา แต่พอมาในค.ศ. 2002 กับงานเรื่องถัดมาคือ Unknow Pleasure กล้องของเจี่ยกลับแทบอยู่ไม่ติดที่และอยู่ไม่เคยสุข อย่าว่าแต่ในงานของสานุศิษย์ แม้แต่ในงานของสามเจ้าของสุดยอดเคล็ดวิชาภาพเองก็ยังมีร่องรอยของการเสียศูนย์

โหว เสี่ยว เสียน ไม่เคยประกาศตน หรือ มีพฤติกรรมส่อแววว่าเป็นพวกบูชาฝีภาพยาวกล้องนิ่ง เพราะเขาแยกทางกันเดินกับแบบแผนภาพดังกล่าวไปตั้งแต่ต้นค.ศ. 1995 ดังนั้น ความเป็นไปใน Caf? Lumiere จึงถือเป็นเรื่องหวานอมขมกลืนยิ่งของโหว หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลโอสุ มีบริษัทโชชิกุเป็นโต้โผเพื่อเป็นเครื่องคารวะ ด้วยเหตุที่ใครต่อใครมักหลับหูหลับตาจับโหวถวายพานให้เป็นตัวตายตัวแทนของยาสึจิโร โอสุ(Yasijuro Ozu) ทั้งที่ เขากับโอสุมีลีลาต่างกันโดยสิ้นเชิง (ยกตัวอย่าง เช่น โอสุ ฝากผีฝากไข้หนังของตนไว้กับการตัดต่อ-ลำดับภาพด้วยน้ำหนักค่อนข้างมาก)

อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับโอสุเอง ยิ่งทำงานหนังนานวันเข้า เขาก็ยิ่งเคลื่อนกล้องน้อยลง ดังนั้น ในการแสดงกตเวทิตาคุณต่อโอสุให้ถึงแก่น โหวจึงต้องปัดฝุ่นสุนทรียลักษณ์ตามแบบแผนเก่า เก็บรวมทั้งเคล็ดวิชากล้องนิ่งสะกดวิญญาณของเขากลับมาใช้อีกครั้ง แต่ก็ใช่ทีจริงของโหว แม้ว่าความยาวเฉลี่ยต่อหนึ่งฝีภาพที่ 66 วินาทีจะน้อยกว่าหนังชั้นหลัง ๆ ของเขา แต่ก็มีภาพจากการเคลื่อนกล้องมากถึงกว่า 3 ใน 4 ส่วนของฝีภาพเหล่านั้น

ผิดกับไฉ่ มิ่ง เหลียง ที่ดูจะรักษามาตรฐานไว้ได้เหนี่ยวแน่นกว่าเพื่อน ดังได้กล่าวไปแล้วในกรณีของ What Time Is It There? แม้มีความยาวเฉลี่ยต่อเฉลี่ยหนึ่งฝีภาพพอฟัดพอเหวี่ยงกับ Caf? Lumiere แต่กลับไม่มีการเคลื่อนกล้องเพื่อบันทึกภาพของหนังนับแต่ต้นจนจบ แม้ว่าความยาวเฉลี่ยต่อหนึ่งฝีภาพจะหดลงเหลือ 55 วินาทีในหนังเรื่องใน ค.ศ. ต่อมาคือ Goodbye, Dragon Inn ค.ศ.2003 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดผลงานของไฉ่ ทั้งนี้ ในจำนวนนี้เป็นภาพจากการเคลื่อนกล้องเสียร้อยละ 10 เศษ ๆ

ใน Wayward Cloud หนังเรื่องต่อมามีความยาวเฉลี่ยต่อหนึ่งฝีภาพลดลงเหลือเพียงครึ่งนาทีเศษ และในจำนวนนี้เป็นภาพจากการเคลื่อนกล้องถึงเกือบหนึ่งในสี่ส่วน ความเป็นไปในหนังเหล่านี้ดังกล่าวจึงนับเป็นสัญญาณความถดถอยของแนวทางน้อยนิ่งเนียนเมื่อเทียบกับช่วงค.ศ.2001

ผลงานในชั้นหลัง ๆ ของฮอง ซาง ซู ฟ้องว่าเจ้าตัวเลิกใช้กล้องนิ่งเช่นเดียวกับโหวเมื่อทศวรรษก่อน ความยาวเฉลี่ยต่อหนึ่งฝีภาพใน On the Occasion of Remembering the Turning Gate ผลงานจาก ค.ศ. 2002 อยู่ที่เกือบ ๆ หนึ่งนาที และมีภาพจากการเคลื่อนกล้องไม่ถึงหนึ่งในสี่ส่วน แต่พอมาใน ค.ศ. 2004 กับ Woman is the Future of Man ความยาวเฉลี่ยหนึ่งฝีภาพเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ไปอยู่ที่ 100 วินาทีกว่าต้น ๆ แต่กลับเป็นภาพจากการเคลื่อนกล้องในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 กว่าสองในสามของจำนวนนี้เป็นการบ่ายตวัดอย่างมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่แค่การเลื่อนกรอบภาพกลับไปกลับมา สถิติเหล่านี้ชี้ถึงการก่อตัวของลมหายใจห้วงท้าย ๆ ของแบบแผนแห่งอัตลักษณ์ร่วมเอเชีย และผู้กำกับสกุลนี้สูญเสียส่วนเสี้ยวอันเป็นหน้าเป็นตาของพวกตนและวงการหนังเอเชียบูรพาไปทีละเล็กละน้อย

แต่ตัวเลขก็คือตัวเลข สถิติบอกเล่าได้เพียงบางส่วน แต่ไม่อาจบอกเล่าทุกสิ่ง อย่างดีก็วัดได้เพียงคร่าว ๆ มีประโยชน์ในฐานะเงื่อนงำเพื่อค้นลึกถึงเส้นสนกลนัยกว่าหนังจะมีรูปโฉมอย่างในปัจจุบัน อันเป็นภารกิจที่ต้องค้นคว้าด้านอื่น ๆ อีกมากนอกเหนือไปจากเฝ้าจับตาพฤติกรรมของกล้องกับการบันทึกภาพสืบเนื่องเป็นเวลานาน ๆ สถิติพิลึกพิลั่นเหล่านี้เอาเข้าจริงอาจยังประโยชน์เพียงช่วยตอกย้ำอัตลักษณ์ร่วมของแบบแผนการใช้ภาพ อันเป็นก้าวย่างครั้งชิมลางการทำหนังของผู้กำกับเหล่านี้ก็เท่านั้น

ในราย ไฉ่ มิ่ง เหลียง กับงาน Wayward Cloud เขารักษามาตรฐานความนิ่งของกล้องในการเก็บฝีภาพยาวไว้ได้อย่างเหนียวแน่นน่าอัศจรรย์ งานด้านภาพของไฉ่คงเส้นคงวากว่าของโหว และ ฮอง เพราะเขาเน้นแต่น้อยเสียจนอยู่ในสายเลือด ดังจะเห็นได้จากทั้งการตัดต่อ การเคลื่อนกล้อง บทเจรจา แม้แต่พัฒนาการของตัวละคร จะว่าไปบรรดาตัวละครของไฉ่เหมือนจะเป็นเพียงนักโทษทางวิญญาณในจักรวาลพิเรนท์ ๆ จากฝีมือการเนรมิตของไฉ่ ตัวละครเหล่านี้แทบจะร้อยทั้งร้อยต้องเวียนว่ายอยู่กับการย้ำคิดย้ำทำ หมกมุ่นกับพฤติกรรมอันมีสาแหรกสืบย้อนไปถึงฟันเฟืองขับเคลื่อนหนัง โดยที่ก็มักได้แก่น้ำในสารรูปต่าง ๆ เพื่อเป็นรูปตัวแทนของโลกีย์วิสัย และราคะจริตในตัวมนุษย์ (หนังของไฉ่จึงต้องเล่าถึงเหตุการณ์ในห้องน้ำอยู่แทบทุกเรื่อง) โดยมีเฟืองย่อยอื่น ๆ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาค้ำเข่น

อาทิเช่น ใน The River งานใน ค.ศ.1997 หลังจากแสร้งเป็นศพเพื่อถ่ายหนัง กัง เช็ง ก็สลัดความผูกพันต่อแม่น้ำไม่พ้น คอเริ่มยอก โคลงหัวโยกคอเท่าไหร่ก็ไม่หาย มีแต่ทรุดลง ตามติดมาด้วยห่วงโซ่เหตุการณ์อันนำไปสู่การพลั้งมือผิดผีในโรงอาบน้ำ ใน What Time Is It There? กังเช็งวุ่นอยู่กับการปรับเข็มนาฬิกาทุกเรือนทุกแบบให้เป็นเวลาปารีส จนกระทั่งได้เผชิญหน้าคนแปลกหน้าในห้องน้ำตอน 2 ยาม

อีกด้านหนึ่งหญิงสาวที่เขามีใจด้วยก็ถลำตัวไปกับความสัมพันธ์ฉันท์รักร่วมเพศ กับหญิงสาวที่เจอกันโดยบังเอิญในห้องน้ำ และหาน้ำให้เธอดื่มบรรเทาอาการเมากาแฟ หนังของไฉ่หนีน้ำไม่เคยพ้น ต่อให้มีลูกล่อลูกชนอื่นผ่านเข้ามาผสมโรง อาจกล่าวได้ว่าท้องเรื่องในหนังของไฉ่ คือด้านชวนหัวของโลกอันไร้ทางออกแบบคาฟค่า ยิ่งไฉ่เคลื่อนกล้องและตัดต่อหนังน้อยเท่าไหร่ ภาวะจมปลักดักดานดังกล่าวยิ่งปกคลุมหนาทึบ

พลังสั่งสมยังติดพันถาโถมมาถึง The Wayward Cloud คราวนี้ น้ำเหือดหายไปจากหนังดื้อ ๆ และกลับเป็นแตงโมกับน้ำขวดที่มีบทบาทสูงยิ่ง ในการประกอบกิจกรรมทางเพศของเหล่าตัวละคร ดังจะเห็นได้จากฉากสัปดน ๆ ทั้งหลายในหนัง ไฉ่ใช้ภาพจากมุมลัคนามหาวินาศในการเก็บภาพเหตุการณ์สัปดน หนังเปิดเรื่อง ณ ทางแยกอันมีทางม้าลาย 2 สายมาบรรจบกันด้วยภาพจากการเปิดหน้ากล้องติดเลนส์หน้ากว้างเป็นพิเศษไว้นิ่ง ๆ คอยเก็บภาพความเป็นไปจากภูมิทัศน์อันบิดเบี้ยวนั้นรวดเดียวหนึ่งนาทีครึ่ง นอกจากนั้นแล้วในเหตุการณ์ที่เหลือทั้งหมดของหนังก็มีการเขยื้อนกล้องน้อยมาก ชี้ว่าความสอดรับระหว่างเรื่องราวในหนังกับลีลาของหนังถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับไฉ่

เหตุการณ์ยังเกิดขึ้นโดยมีเสียงดนตรีไร้แหล่งกำเนิดคลอเคล้าเสมอ เฉกเช่นที่เคยอุบัติมาแล้วใน The Hole งานในค.ศ.1998 ของไฉ่ The Hole เป็นงานดัดแปลงจากงานเขียนเพียงเรื่องเดียวของไฉ่ จากที่เคยเป็นเพียงฉากหลังไกล ๆ ในหนังเรื่องก่อน ๆ ของไฉ่ ในงานชิ้นนี้สภาพการณ์เปลี่ยนสู่ความทันสมัยของสังคมไต้หวันกลับพลิกบทมาเป็นตัวเอก ภาพตัวแทนวัฒนธรรมประจำชาติได้โอกาสโลดแล่นสลอน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอนุสาวรีย์เจียง ไค เช็คปักหลักรับท่าเต้นวิตถาร หรือการจับตัวละครเอกไปทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หากตัดองค์ประกอบอ้างอิงดังกล่าวออก The Hole ก็แทบไม่ต่างจากผลงานที่แล้ว ๆ มาของไฉ่

ในบรรดาผลงานจากผู้กำกับทั้งสามงานของโหวเสี่ยวเสียนซับซ้อนกว่าใครเพื่อน งานด้านภาพก็ลุ่มลึกกินขาด หนึ่งในเหตุผลที่โหวละทิ้งแม่ไม้ฝีภาพยาวก็เพราะเขาไม่ยึดติดกับท่วงลีลา ขอเพียงเกื้อหนุนต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ต่างกรรมต่างวาระได้เป็นพอ โหวเคยลั่นวาจาว่าอยากให้หนังเอเชียมีลีลาเฉพาะตัว แต่เขาหาได้หมายความตื้น ๆ ตามตัวอักษร ถึงจะต้องดูมากกว่าหนึ่งรอบถึงจะพอเข้าใจ

แต่ City of Sadness งานจาก ค.ศ.1989 ถือเป็นนิมิตรหมายแห่งพัฒนาการของหนังเอเชีย กระนั้นหนังอันเป็นเสมือนอนุสรณ์ประกาศความสำเร็จของเขาเรื่องนี้ กลับหาได้เป็นยอดหนังในดวงใจของเจ้าตัวผู้กำกับ ด้วยเหตุผลที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าหนังตรงไปตรงมาเกินงาม ด้วยปณิธานในการจรรโลงผลงานตามแนวกวีนิยมและเปี่ยมชั้นเชิงการเล่า โหวจึงทุ่มตัวให้กับกระบวนท่ากล้องนิ่งฝีภาพยาวอยู่หลายปีดีดัก การตัดต่อและการเคลื่อนกล้องส่งผลในทางชี้นำคนดูฉันใด ก็ต้องแก้ลำด้วยการตั้งกล้องนิ่ง ๆ ฉันนั้น แต่ครั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมากเข้าโหวก็ตาสว่าง เพราะยังมีกลวิธีอีกมากหลายไม่ว่าจะเป็นการวางโครงสร้างการเล่า การจราจรของตัวแสดง แม้แต่การจัดแสงเพื่อสลักเสลาแฉกเชิงแก่หนัง นานวันเข้าฝีภาพยาวจึงไร้ประโยชน์แก่โหวลงไปทุกที

Cafe Lumierre นับเป็นประจักษ์พยานความสำเร็จของการปรับกระบวนท่าสร้างความยอกย้อนของโหว การดูเพียงรอบเดียวคงไม่อาจซึมซาบความประทับใจจากหนังเรื่องนี้ได้มากเท่าที่ควร เชิงชั้นความรู้สึกและความหมายทั้งหลายที่หลงหูหลงตาไปในการรับชมรอบแรก จะลอยตัวขึ้นสู่พื้นผิวให้ช้อนเก็บในการดูซ้ำ โหวกระหยิ่มกับการปล่อยให้เรื่องราวลอยชาย ไม่เลี้ยวเข้าแพร่งใดแพร่งหนึ่งง่าย ๆ และยึดมั่นกับการวางตัวหนังไว้นอกรัศมีทำการ ของเงื่อนปมหลักในระยะไกลพอควรแก่การสร้างความละเหี่ยในการจับทาง

โดยทั่วไประยะห่างดังกล่าวก็คือพื้นที่รกร้างในห้วงประวัติศาสตร์ โหวถูกโฉลกกับการเล่าเรื่องราวจากอดีตมากกว่าเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ Cafe Lumierre อาจถือเป็นการเล่าเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ให้ความรู้สึกดุจเดียวกับการมองย้อนไปในอดีต เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหมดของหนังซึ่งเกิดขึ้นในญี่ปุ่นนั้น สร้างความเหินห่างทางภูมิ-วัฒนธรรมขึ้นมาทดแทน หากสลัดแอกอิทธิพลตัวเลขที่ร่ายไปแล้ว คอหนังโหวหลายรายคงอดรู้สึกไม่ได้ว่ามีการเคลื่อนกล้องใน Cafe Lumierre น้อยกว่าในผลงานเรื่องก่อน ๆ ของโหวเสียด้วยซ้ำ เพราะภาพอันคมชัดมาดึงความสนใจไปจากจำนวนครั้งกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงของกล้อง ทั้งที่หนังมีภาพจากการเคลื่อนกล้องอยู่มากกว่าสามในสี่ส่วนของภาพทั้งหมด

หนำซ้ำในจำนวนนี้มีการขยับกล้องหลังผ่านครึ่งทางของฝีภาพนั้น ๆ อยู่ร้อยละยี่สิบ แต่มีฝีภาพที่มีการตวัดหน้ากล้องหนีจากกรอบภาพหนึ่งไปยังกรอบอื่นก่อนจะถึงครึ่งทางของฝีภาพอยู่มากกว่าถึงหนึ่งเท่าตัว อีกร้อยละ 20 ต้น ๆ เป็นการชม้ายหน้ากล้องเพื่อย้อนรอยระหว่างสองกรอบภาพ ทั้งหมดชี้ว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงในแม่บทการใช้ภาพ

นอกจากนี้ความสืบเนื่องในการเลื้อยกล้องก็ไม่มากเท่ากับในงานเมื่อ ค.ศ.1997 อย่าง Goodbye South, Goodbye และ Flowers of Shanghai งานใน ค.ศ.1997 และ 1998 ตามลำดับ พฤติกรรมของกล้องใน Cafe Lumierre จึงไม่ถึงขั้นวิปลาศลังการอย่างกล้องของแองเจโลปูลอส หรือมิลอส แยนสโช่ กระนั้น Cafe Lumierre ก็มีบทสรุปการเล่าที่เปิดกว้างมากที่สุดในงานชั้นหลังของโหว จากการผู้และคลี่คลายเรื่องราว 3 เหตุการณ์พร้อม ๆ กันไป และปราศจากการฟันธงข้อสรุป ไม่มีการฟื้นฝอยหาตะเข็บในตัวเรื่องแต่ปล่อยให้หนังลอยเลื่อนไปตามกระแสสิ่งละอันพันละน้อย และการโอภาปราศรัยในชีวิตประจำวัน

หนังกันคนดูอยู่เพียงวงนอก คอยเลียบเคียงความเป็นไปอันแหว่งวิ่นในชีวิตคนอื่น และต้องปะติดปะต่อส่วนที่ขาดเอาเองตามแบบฉบับการเล่าของโหว คนดูไม่อาจหยั่งรู้สภาพจิตใจของโยโกะ ตอนพบว่าตนเองตั้งท้องกับแฟนหนุ่มชาวไต้หวัน เพราะเธอหันหลังให้กล้องตลอดเวลา ในฉากปัดกวาดสุสานบรรพบุรุษก็เป็นการตั้งกล้องจับภาพจากระยะค่อนข้างไกลเสียอีก ส่งผลให้มีเบาะแสปฏิกิริยาจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นผู้กระเซ็นกระสายมาถึงคนดูน้อยมาก

ต่อมาในฉากสามคนพ่อ ลูกสาว แม่เลี้ยงล้อมวงกินบะหมี่กันพร้อมหน้าในสภาพหันหลังใส่กล้อง หมดหนทางจะล่วงรู้ถึงทุกข์สุขในใจของเหล่าตัวละคร ต้องรอจนในฉากพ่อกับแม่เลี้ยงอยู่กันตามลำพัง ถึงจะจับท่าทีของคนทั้งสองและสถานการณ์ของคนเป็นพ่อ ฝ่ายแม่เลี้ยงตัดพ้อสามีว่าเอาแต่วางเฉยกับเรื่องคอขาดบาดตายตรงหน้า พ่อก็เฉยชาอยู่ต่อไป สักพักหลังจากนั้นหนังจึงค่อยหยอดเป็นนัยว่าพ่อแม่พอจะทำใจยอมรับสภาพของลูกได้แล้วจากเหตุการณ์สองคน ทั้งสองเดินทางมาเยี่ยมลูกสาวถึงอพาร์ตเมนต์ในโตเกียว

โยโกะอธิบายถึงเหตุที่ไม่ได้แต่งงานกับชายชาวไต้หวันคนนั้นไปพลาง พ่อก็ง่วนกับการกินบะหมี่ไปพลาง เหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่นานหลังจากนั้นเรื่องราวสิ้นสุดลงโดยไม่มีการขยายความที่มาที่ไปของลูกในท้อง ความเป็นไปของโยโกะในอีก 2 ระนาบเคียงขนานที่เหลือก็เป็นการเล่าโดยไร้การฟันธงอีกเช่นกัน หลืบหนึ่งเป็นการฉายภาพปฏิบัติการแกะรอยตัวตน และชีวิตคีตกรชาวไต้หวันชื่อ เจียง เวิง เย่ แต่ก็นับเป็นการทำวิจัยเอ้อระเหย จับเศษเสี้ยวเรื่องราวแต่หนหลังของเป้าหมายการศึกษากับเกร็ดความรู้ปลีกย่อยมาคลุกเคล้ากัน ส่งผลเป็นความเลื่อนลอยไม่ผิดกับส่วนเสี้ยวตัวตนของโยโกะในห้วงคำนึงคนดู

อีกหลืบระนาบกล่าวถึงความรู้สึกขาดวิ่นต่ออดีตและปัจจุบันอันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน มีเจ้าของร้านหนังสือผู้ไม่ประสีประสากับปูมหลังของคีตกรชาวไต้หวันเป็นตัวยืน ร่วมกับร้านกาแฟร้านประจำของคีตกร ปัจจุบันร้านนี้มีอาคารสำนักงานรูปทรงเกร่อ ๆ ปลูกทับ ทั้งที่ก็ไม่รู้แน่ว่าสัมพันธ์ภาพของเขากับโยโกะเป็นฉันท์ใด แต่ฮาจิเมะเจ้าของร้านหนังสือผู้นี้ก็คอยเกื้อกูลโยโกะในหลาย ๆ เรื่อง จะด้วยเหตุผลกลใด หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของงานสำรวจค้นคว้า ฮาจิเมะตระเวณบันทึกเสียงจิปาถะจากรถไฟขบวนต่าง ๆ ทั่วโตเกียว

ข้อสรุปต่อสัมพันธภาพปริศนาของคนทั้งสอง พอจะสรุปได้จากภาพสุดแสนประดิดประดอยในฉากรถไฟสองขบวนแล่นสวนกัน กล้องบนรถไฟขบวนหนึ่งบ่ายหน้าทางซ้ายสู่เบื้องนอกผ่านสู่หน้าต่างของขบวนแล่นสวนในรางข้าง ๆ และเก็บภาพฮาจิเมะเหม่อลอยอยู่กับการบันทึกเสียงบนขบวนนั้นเอาไว้จวบจนลับตาไป จากนั้นผินหน้ากล้องเยื้องกลับมาทางขวา กวาดมุมกว่าในการตีกรอบหนแรก จนภาพโยโกะยืนอยู่ข้างหน้าต่างในรถขบวนเดียวกับกล้องเลื่อนเข้ามาในกรอบ แต่เธอไม่ทันสังเกตเห็นฮาจิเมะเคลื่อนสวนทางไป

หนังบอกคนดูอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ไม่ว่าจะมีเยื่อใยเร้นลับเชื่อมคนทั้งสองอยู่หรือไม่ก็ตาม สุดท้ายโชคชะตาย่อมลิขิตให้มีอันต้องพลัดพรากกันอยู่ดี โลกของโหวแม้แสนเงียบงัน แต่ก็พลุกพล่าน และแปรปรวนยิ่ง

อย่างไรก็ดี ในแง่ความเร้าใจในลีลาการกำกับแล้ว ก็ต้องยกให้ ฮอง ซาง ซู เป็นเต้ย ฮองคิดค้นลูกเล่นการปั้นแต่งโครงสร้างการเล่าแปลกใหม่มาอวดอยู่เสมอ อาทิ เช่น การเล่าเหตุการณ์เดียวกันจากมุมมองของฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย ใน Bride Stripped Bare by Her Bachelors งานจาก ค.ศ.2000 ฮองยังพิศมัยการแฉลำหักลำโค่นในการเล่นชู้ของหญิงชาย อันเป็นการแหกขนบหนังรักวัยหนุ่มสาวที่มีเกลื่อนโลก งานของฮองผูกคำถามชวนขบคิดว่า ค่านิยมเปิดบริสุทธิ์มีอยู่เฉพาะในหมู่ชายเกาหลี หรือว่าก็เป็นกันทั้งโลก และฝ่ายผู้หญิงเองเล็งผลเลิศอย่างไรจากเดิมพันเดียวกัน

ฮองเสี้ยมประเด็นเหล่านี้จนแหลมคมไว้ใน Woman is the Future of Man อันมีการโคจรมาพบกันของสองเพื่อนเก่าเป็นท้องเรื่อง หลังจากห่างหายกันไปหลายปี มุนโฮ ศาสตราจารย์ด้านศิลปะตะวันตก และ ฮันจูน ผู้กำกับจบนอก ตั้งวงถกถึงสภาวะจมปลักกับเรื่องใต้สะดือ หาสาระทางวัฒนธรรมไม่ได้ของวงการหนังเกาหลี เอาเข้าจริงพฤติกรรมในลำดับถัดมาก็ฟ้องว่า คนทั้งสองเป็นพวกว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

ชะตาชีวิตอันพลิกผันพันตูในโลกใบแคบ ๆ ของตัวละครไม่เพียงบันดาลความสนุกในงานของฮอง ทั้งยังเปิดช่องให้เขาวาดลวดลายการเล่าได้ออกรสดังใจหมาย การเคลื่อนกล้องแต่ละครั้งใน WFM ล้วนรัดกุมและสื่อความหมายชะงัด เห็นได้จากสองฝีภาพยาวในตอนมุนโฮและฮันจูนกินดื่มพูดคุยกันในร้าน ตลอดความยาวทั้งหมดกว่า 6 นาทีของฝีภาพยาวระลอกแรกนี้ เป็นภาพอากัปกิริยาสองหนุ่มระหว่างสนทนาจากการตั้งกล้องนิ่ง ๆ เก็บเหตุการ์ผ่านกรอบหน้าต่างร้านเสีย 5 นาทีครึ่ง กล้องออกอาการว่อกแว่ก 3 ครั้ง แว่บแรกบ่ายหน้าจากเขตพนักงานไปทางซ้าย เพื่อตามติดหญิงสาวผ้าพันคอสีม่วงขณะก้าวออกจากร้าน เรื่อยมาหยุดตรงภาพสองหนุ่มนั่งติดกับหน้าต่าง

ต่อมาจะเห็นฮันจูอยู่ที่โตะเพียงลำพัง เขาหันไปสอบถามบริการสาวว่าสนใจรับเล่นหนังของตนหรือไม่ บริกรหญิงปฏิเสธและเดินกลับเข้าประจำในเขตพนักงาน ในจังหวะนี้กล้องเบนตามเธอไปทางขวา ก่อนบ่ายหน้ากลับมาทางซ้าย และภาพผู้หญิงผ้าพันคอม่วงยืนรอรถอยู่อีกฟากของถนนก็เข้ามาในกรอบ ฮันจูนเปลี่ยนเป้าความสนใจเหลือบเห็นเธอเข้าพอดี

หนังวกกลับเข้าสู่ฝีภาพยาวอีกคำรบหลังกลับไปยังอดีตอยู่พักใหญ่ ในระลอกนี้จะเป็นการล้อรอยกับฝีภาพยาวระลอกแรก จาก 5 นาทีของความยาวฝีภาพ จะเป็นภาพจากการแช่กล้องเก็บพฤติกรรมสองหนุ่มขณะนั่งอยู่ข้างหน้าต่าง ในกรอบพิกัดเดิมเสีย 4 นาทีครึ่ง ผิดก็แต่คราวนี้เป็นการเล่าถึงมุนโฮเพียงลำพังไปจนสิ้นสุดฝีภาพ เขาถามบริกรรายเดิมว่าสนใจจะเป็นนางแบบเปลือยให้เขาถ่าย เธอปฏิเสธด้วยคำพูดเดียวกับที่บอกปัดฮันจูน กล้องชะแง้ไปทางขวาตามเก็บภาพขณะบริการหญิงเดินกลับเข้าหลังส่วนเตรียมอาหาร พอกล้องบ่ายหน้ามาจับภาพมุนโฮอีกครั้ง ก็กวาดกลืนสาวผ้าพันคอม่วงจากถนนฟากตรงข้ามเข้ามาในกรอบภาพอีกครั้ง คราวนี้มุนโฮกับหญิงสาวต่างได้จังหวะสบตากันและกัน จนกระทั่งรถแล่นมาเทียบ กล้องของฮองอาจโฉ่งฉ่างไปบ้างในการไล่เก็บภาพเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของการเล่นซ่อนแอบแบบคลื่นใต้น้ำ แต่ก็ไม่ถึงกับเสียกระบวนการเล่าในทำนองน้ำนิ่งไหลลึก

ถึงจะปรากฏร่องรอยการปรับกระบวนท่าในอัตลักษณ์ร่วมด้านภาพของผลงานภาพยนตร์จากเอเชียบูรพาในงานชั้นหลัง ๆ ของโหว ฮอง และ ไฉ่ ดังได้กล่าวมา ทว่าก็ไม่ควรด่วนเอามาเป็นนิยาย เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความอยู่ยงคงกระพันของเคล็ดวิชาฝีภาพยาว-กล้องนิ่ง ก็เป็นเพียงรากหนึ่งในสายวิวัฒนาการอันซับซ้อน และน่าตื่นตา

ผลงานล่าสุดของผู้กำกับทั้งสามยังคงลุ่มลึก และหนักแน่นเป็นอันดับต้น ๆ และสร้างชีวิตชีวาแก่วงการภาพยนตร์โลกอยู่ไม่สร่าง ผลงานภาพยนตร์สามเรื่องที่กล่าวมาอาจตกที่นั่งเป็นฟางเส้นท้าย ๆ โถมทับยุทธลีลาหนังอันพิลึกพิลั่น แต่ในอีกมุมก็สะท้อนถึงศักยภาพในการพลิกแพลงกระบวนท่าใหม่ ๆ ได้เช่นกัน

แปลจาก The Future of a Luminescent Cloud: Recent Developments in a Pan-Asian Style
โดย James Udden 333333333
ใน http://www.synoptique.ca/core/en/articles/udden_cloud/

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑ จากที่นี่

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



060849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
วิจารณ์ภาพยนตร์ตามแนวฟอร์มอลิสท์
บทความลำดับที่ ๙๙๗ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ปลายทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นเริ่มบ่ายหน้าหนีวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะของอเมริกัน และรื้อฟื้นความเป็นเอเชีย ไม่มีการละล้าละลังกับการเป็นเบี้ยของสหรัฐอีกแล้ว ญี่ปุ่นเบนเข็มกลับมาเร่งสืบสานความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมประจำชาติ โดยมีชาติเพื่อนบ้านเอเชียด้วยกันเป็นพันธมิตรทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ขณะที่ชนรุ่นเก่ายังคงผูกพันอยู่กับค่านิยมประจำยุคสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง ซามิเซ็น คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่กลับหันไปให้คุณค่ากับกับจิตใจแบบใหม่ สำนึกต่อวงไพบูลย์รอบใหม่ของเอเชียดังกล่าวเข้มแข็งขึ้นมา ในจังหวะประจวบเหมาะกับขาขึ้นของวัฏจักรบริโภคนิยมหลังสมัยใหม่ ความแตกต่างไม่เป็นที่รังเกียจรังงอนอีกต่อไป เพราะได้กระบวนการทำให้เป็นสินค้า การเสพ และการกดทับอย่างแยบคายเป็นคาถาสร้างคุณค่าและมูลค่าแก่ความแตกต่างขึ้นมาได้

ในการเติมเต็มความกระสันจะเป็นสากลานุวัตร หน่วยธุรกิจของญี่ปุ่นกว้านซื้อวัตถุธาตุนานาชนิด(รวมถึงหนัง)จากทั่วทุกมุมโลกและลำเลียงสู่ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน

วัฒนธรรมเกาะ(ไต้หวัน) และวัฒนธรรมแผ่นดินใหญ่(จีน) ต่างทำหน้าที่ขัดเกลาปลูกฝังคุณลักษณะของคนทั้งสองจนกลายเป็นความแตกต่างที่รู้สึกได้จากตัวงาน วัฒนธรรมเกาะนั้นย่อมเป็นเรื่องของความแปลกแยก ถูกตัดขาดและโดดเดี่ยว ส่วนวัฒนธรรมแผ่นดินใหญ่ก็ย่อมให้ความสำคัญกับการรอมชอม ผสมผสานหรืออย่างน้อยก็มุ่งให้คนจากหลากหลายที่มาและจิตใจที่ต่างกัน ได้ปรับตัวเข้าหากันเพื่อความสมานฉันท์

midnigh-criticism