Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
รำลึกประวัติศาสตร์
๓๐ ปี ๖ ตุลา ๒๕๑๙
บ้านเมืองของเราลงแดง:
(๒)
แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม
เบเนดิก
แอนเดอร์สัน : เขียน
แปลโดย
: เกษียร เตชะพีระ,ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
บทความนี้นำมาจาก
: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บ.ก.),
จาก 14 ถึง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,
2541) หน้า 97-162
เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุปัจจัยในเชิงประวัติศาสตร์ก่อนเกิดเหตุการณ์
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
โดยย้อนกับไปพิจารณาถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในประเทศไทย
พลวัตรทางเศรษฐกิจ
กรณีสงครามเวียดนามและความสัมพันธ์กับอเมริกัน
รวมไปถึงการก่อเกิดชนชั้นใหม่และกลุ่มสังคมต่างๆ
อันเป็นผลพวงของการพัฒนา และการปะทะกัน
ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์วิกฤตของสังคมและการฆ่านักศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 985
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
22 หน้ากระดาษ A4)
บ้านเมืองของเราลงแดง
: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม
(ตอนที่ ๒)
เขียนโดย เบเนดิก แอนเดอร์สัน
แปลโดย เกษียร เตชะพีระ
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
กลุ่มกระทิงแดง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงอื้อฉาวที่สุดไม่เพียงแต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม
2519 แต่รวมทั้งสองปีก่อนหน้านั้น ได้แก่พวกกระทิงแดง นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการได้ชี้ตัวพวกนี้ออกมาง่าย
ๆ ว่าเป็นนักเรียนอาชีวะ ซึ่งเป็นการสร้างภาพอันธพาลเหล่านี้ให้ดูน่านับถือในทางกึ่งสังคมวิทยา
(อย่างที่ผมคิดว่าค่อนข้างผิดพลาด)
ข้อถกเถียงทำนองนี้บอกว่า เนื่องจากนักเรียนอาชีวะแบกรับการปราบปรามของตำรวจเมื่อตุลาคม 2516 มากกว่านักศึกษามหาวิทยาลัย จึงฟังขึ้นที่จะตีความการที่พวกกระทิงแดงโจมตีทำร้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า เป็นการแสดงออกซึ่งความเจ็บแค้นประสาซื่อของนักเรียนอาชีวะ ผู้รู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้าทนทุกขเวทนามานมนานต่อ "เด็กมหาวิทยาลัย" ผู้มีฐานะสูงเย่อหยิ่ง จองหองและขี้ขลาดตาขาว(53)
ผู้คนมากหลายคงยิ่งปักใจเชื่อแน่นแฟ้นขึ้นว่า กระทิงแดงคือนักเรียนอาชีวะจากกรณีนักเรียนวัยรุ่นโรงเรียนอาชีวะคู่แข่งต่าง ๆ ก่อเหตุตีกันอย่างรุนแรงต่อกันหลายครั้ง (แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีนัยทางการเมือง) ตอนปลายปี 2517 และ 2518 (54) เนื่องจากนักเรียนเหล่านั้นต่างใช้ปืนและระเบิดขวดในการตีกัน โดยที่อาวุธดังกล่าวเป็นที่โปรดปรานของพวกกระทิงแดง จึงง่ายที่จะสรุปว่าเช่นนั้นแล้วพวกกระทิงแดงก็เป็นตัวแทนในทางการเมืองของนักเรียนอาชีวะนั่นเอง ภาพของกระทิงแดงที่ซับซ้อนกว่านี้ก็มีเหมือนกัน เห็นได้จากข้อความข้างล่างนี้ ซึ่งมาจากบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่เป็นอนุรักษ์นิยม :
คนที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งคือตุ่ย
เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (ของกระทิงแดง) เป็นกองกำลังที่สามารถย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว
ตุ่ยไว้ผมยาวเหมือนฮิบปี้และมีแผลเป็นขนาดใหญ่บนใบหน้า เขาบอกว่ามีลูกน้องใต้บังคับบัญชาอยู่
50 คน ส่วนใหญ่ พวกนี้เป็นทหารรับจ้างที่อยู่ในจังหวัดเลย เพื่อเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยสำหรับการสร้างถนนในบริเวณนั้น
ผมเคยเป็นทหารมาก่อน แต่ตอนหลังไปเป็นทหารรับจ้าง ผมชอบเครื่องแบบ แต่ผมไม่ชอบการมีระเบียบวินัยกฎเกณฑ์มากมายในกองทัพ
ผมชอบเสรีภาพตามใจของผมเอง ไว้ผมยาวหรือแต่งชุดอะไรที่ผมอยากแต่ง(55)
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดข้อมูลในกรุงเทพฯยืนยันว่า ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นตัวหลักหลายคนของกระทิงแดงเป็นอดีตทหารพรานรับจ้าง
และเป็นพวกที่ถูกปลดจากกองทัพเนื่องจากการละเมิดระเบียบวินัย ในขณะที่บรรดาพลพรรคของพวกเขานั้นส่วนใหญ่มาจากพวกนักเรียนจบอาชีวะที่ว่างงาน
พวกตกชั้นมัธยมตอนปลาย วัยรุ่นข้างถนนที่ว่างงาน และพวกหัวไม้จากสลัม เป็นต้น(56)
กลุ่มต่าง ๆ ที่จ้างพวกกระทิงแดงมีทั้งกลุ่มในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความชำนาญในด้านการรักษาความสงบและงานการข่าว(57) แต่พวกนั้นไม่ได้จัดตั้งกระทิงแดงขึ้นมาบนพื้นฐานของความผูกพันทางอุดมการณ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการให้สัญญาว่าจะให้เงินสูง มีเหล้าฟรีให้อย่างเหลือเฟือ และได้อภิสิทธิ์ในการเที่ยวซ่องรวมทั้งคำป้อยอว่าจะมีชื่อเสียงในสังคมด้วย น่าสังเกตว่าบรรดารางวัลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง อภิสิทธิ์ที่บรรดานักศึกษาผู้ประสพความสำเร็จคาดหวังว่าจะได้เป็นข้าราชการ (เงิน เกียรติยศ เที่ยวไนท์คลับและโรงอาบอบนวดฟรี เพราะมีคนอื่นจ่ายให้) เป็นความคาดหวังล่วงหน้าได้ อย่างน้อยสำหรับพวกกระทิงแดงที่มาจากสภาพแวดล้อมของชนชั้นนายทุนน้อยที่ใฝ่ฝันถึงอนาคต(58)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง บทบาททางการเมืองของบรรดาอันธพาลเหล่านี้มีฐานรองรับทางสังคมวิทยาด้วย บรรดาเยาวชนของชนชั้นกระฎุมพีน้อยใหม่และที่ยังอ่อนอยู่ ตกอยู่ในสภาพไร้งานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง (59) ล้มเหลวในการหางานราชการทำ แต่ก็ดูถูกงานในโรงงาน พวกเขาเป็นเหยื่ออย่างดีสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านนักศึกษา (ที่ไม่ประสพความสำเร็จ) และการโฆษณาที่ต่อต้านกรรมกร
กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน
กลุ่มที่สองซึ่งมีส่วนร่วมไม่น้อยเหมือนกัน ในการใช้ความรุนแรงของฝ่ายขวาในปี
2517 - 1960(60) แต่มีภาพลักษณ์ในสังคมที่น่านับถือกว่า ได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน
กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2514 ภายใต้การอำนวยการร่วมของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
และกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ตอนนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ลูกเสือชาวบ้านถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นเหมือนหน่วยกึ่งทหาร
เป็นองค์กรรักษาความปลอดภัยในชนบทที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์(61)
อย่างไรก็ตามในช่วงที่การเมืองยังเปิดเสรีอยู่ ลูกเสือชาวบ้านก็พัฒนาองค์ประกอบด้านที่เป็นกิจกรรมชาวเมืองขึ้นมาอย่างมาก และมีบทบาทในการปลุกระดมที่สำคัญให้กำลังต่าง ๆ ของพวกฝ่ายขวา ถ้ามองว่าก่อนเดือนตุลาคม 2516 มีการแข่งขันกันอย่างเงียบ ๆ เหนือพลังฝ่ายขวา ระหว่างพลเอกประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นนายทหารผู้ทรงอำนาจและเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยด้วย กับราชวงศ์ซึ่งมีอิทธิพลอยู่มากใน ตชด. ก็กล่าวได้ว่าภายหลังการพังทลายของพวกเผด็จการ ลูกเสือชาวบ้านก็จะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมืออย่างเปิดเผยมากขึ้น ในการใช้สร้างกลุ่มผู้สนับสนุนที่เป็นนักปฏิบัติให้กับการเมืองของฝ่ายนิยมเจ้า
แม้จะอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ ทางราชวงศ์ซึ่งได้พยายามอย่างหนักที่จะเป็นศูนย์กลางของผลพวงความเจริญทั้งหลายของการบูม (ทางเศรษฐกิจ) ด้วยเทคนิควิธีการประชาสัมพันธ์อันหลากหลาย(62) ประสบการณ์นี้มีประโยชน์อย่างมาก เมื่อลูกเสือชาวบ้านขยายตัวภายหลังเดือนตุลาคม 2516 ผู้นำลูกเสือชาวบ้านส่วนใหญ่มาจากคนวัยกลางคนที่มีฐานะดี เป็นข้าราชการต่างจังหวัด คนมีชื่อเสียงในชนบท และพวกคนรวยใหม่ในเมือง(63) คนเหล่านั้นไม่เพียงแต่มีแนวอุดมการณ์ที่รับสอดคล้องตามทางการในการรับบทบาทนั้น หากยังมีแหล่งที่มาทางเศรษฐกิจส่วนตัวที่ช่วยทำให้องค์กรพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว และเป็นอิสระในระดับที่มากพอสมควรจากระบบราชการของรัฐด้วย (64)
"โครงการอบรม" ที่ศูนย์บัญชาการ ตชด. ร่วมดำเนินการด้วย โดยสาระสำคัญแล้วมีลักษณะของการเมือง กล่าวคือมีการบรรยายโดยพระฝ่ายขวา มีการเดินพาเหรด ทำพิธีสาบานตัว การทำความเคารพ มีการประกวดนางงามและการเต้นรำ การเยี่ยมชมที่ตั้งทางการทหารต่าง ๆ พิธีกรรมบริจาคเงินให้ (โครงการ) หลวง และการร้องเพลง(65)
จากมุมมองของฝ่ายขวา ความงดงามของลูกเสือชาวบ้านคือการที่องค์การนี้ดำเนินการไปในลักษณะของการพึ่งพาแลกเปลี่ยนกันดังนี้ กล่าวคือ ทางราชวงศ์เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเมืองแบบถึงลูกถึงคนอย่างต่อเนื่อง และปรากฏต่อสาธารณชนแก่กลุ่มคน นอกเหนือจากคนชั้นสูงในกรุงเทพฯแล้ว ยังได้แก่บรรดา "ผู้มีฐานะตำแหน่ง" ในหัวเมืองใหญ่ ในเมืองเล็กและกระทั่งในบางหมู่บ้าน
(คำว่า "ชาวบ้าน" ในชื่อของกลุ่มนี้ ให้ภาพของความมั่นใจอีกครั้ง แม้จะเป็นภาพลวงตาก็ตามของชุมชนบทในอดีตอันสวยงาม ที่ผูกพันกันด้วยการจัดตั้ง ทว่าเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อน คือมันเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่เป็นรูปธรรมของความสัมพันธ์อันเป็นธรรมชาติระหว่างชาติกับกษัตริย์)
ในอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้นำลูกเสือชาวบ้าน การได้รับราชูปถัมภ์ทำให้สะดวกในการทำให้การปราบปรามการประท้วงของชาวนาและนักศึกษา ที่เป็นการกระทำส่วนตัว และเป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่นเป็นสิ่งถูกต้อง คือเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาชาติ - ศาสนา - กษัตริย์ไป
กลุ่มตัวแทนความรุนแรงฝ่ายขวาอื่นๆ
นอกเหนือจากกลุ่มกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านแล้ว ก็ยังมีตัวแทนของความรุนแรงของฝ่ายขวาอีก
แต่มีการจัดตั้งและชี้นำที่ไม่ดีเท่า ซึ่งก็เป็นผลผลิตทำนองเดียวกันของเศรษฐกิจที่บูมและผลพวงที่ไม่รู้ว่าคืออะไร
กล่าวอย่างเป็นแบบฉบับ คนเหล่านี้มาจากส่วนชายขอบหรือหน่วยงานที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาในระบบราชการที่มั่นคง
เจ้าหน้าที่ตำรวจในชนบทและบุคลากรที่ทำหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเห็นงบประมาณ
กำลังพล และโอกาสของการเลื่อนขั้นลดลง อันสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ
และจากการที่สหรัฐอเมริกาถอนออกไปในทางยุทธศาสตร์ เจ้าหน้าที่ถูกแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นทางตันในภาคใต้
(ไม่ว่าด้วยเหตุที่ขาดเส้นสายที่ดีพอ หรือจากการปฏิบัติงานที่เลวมาจากที่อื่นก็ตาม)
และบรรดายามรักษาความปลอดภัยที่มีอายุมากในฐานทัพสหรัฐฯ(66)
คนเหล่านี้พบว่าชีวิตในช่วงที่การเมืองเปิดเสรีนั้นคับข้องใจยิ่ง และน่าห่วงในเกือบจะทุกเรื่อง คนเหล่านี้เคยมีชีวิตที่คุ้นเคยกับการเคารพนบนอบอย่างไม่ผิดพลาด เคยใช้อำนาจในระดับท้องถิ่นตามอำเภอใจบ่อย ๆ ยิ่งกว่านั้นในทางปฏิบัติ ยังปลอดจากอำนาจกฎหมายและคำวิพากษ์วิจารณ์(67) คนเหล่านี้จึงโกรธแค้นอย่างมากต่อสื่อมวลชนที่ได้อิสระภายหลังเดือนตุลาคม 2516 ซึ่งทำตัวอย่างไม่น่านับถือและวิพากษ์วิจารณ์เปิดโปงสถาบันต่าง ๆ อย่างหนัก คนเหล่านั้นเป็นพนักงานกินเงินเดือนถูกกระทบกระเทือนจากภาวะเงินเฟ้อและจากการถดถอยอย่างมากในโอกาสที่จะหาลำไพ่และจากการข่มขู่ พวกเขาได้โอกาสในการเข้ารับราชการเมื่อมีการขยายตัวอย่างใหญ่โตของระบบราชการในทศวรรษ 2500
บัดนี้พวกเขาต้องเผชิญสภาพในอนาคตเยี่ยงกลุ่มคนที่ไม่ใช่ข้าราชการที่เป็นชนชั้นกลางใหม่และพวกนายทุนน้อย นั่นคือการหยุดชะงักอยู่กับที่ ถ้าหากว่ายังไม่เลื่อนถอยลง ไม่น่าประหลาดใจเลยว่าสิ่งที่ตามมาจากความคับข้องใจและความไม่พอใจคือ การหวนรำลึกถึงวันอันรุ่งโรจน์ในอดีตของเผด็จการ และความรู้สึกโกรธแค้นอย่างรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามที่อวดโอหังและไม่เรียบร้อยเลย
ความปั่นป่วนทางอุดมการณ์
วิธีหนึ่งที่ช่วยให้รู้สึกถึงความตื้นลึกของวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม ที่เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้กล่าวไว้ข้างบนนี้
คือการเริ่มพิจารณาที่ความแตกต่างอย่างแหลมคมประการหนึ่งระหว่างสยามกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้
ต้องขอบคุณส่วนหนึ่งให้กับอดีตที่เป็นอาณานิคมของพวกเขา บรรดาประเทศเกือบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับมรดกศัพท์
และวาทะทางการเมืองหนึ่ง ซึ่งโดยสำคัญแล้วถ้าไม่ใช่ฝ่ายซ้ายก็เป็นแบบราดิคัล-ป็อปปูลิสต์
เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะหาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่มีความมั่นใจในตัวเองและสุขุมในประเทศไหนก็ตาม อาจยกเว้นในฟิลิปปินส์ ว่าไปแล้วนับแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา วัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมถูกทำให้ช็อกในทางความรู้ และตกอยู่ในฝ่ายรับทางการเมืองความน่าเชื่อถือในทางชาตินิยมถูกสงสัยอย่างมาก ในสยามกระทั่งถึงเร็ว ๆ นี้ที่สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้ามเกือบหมด ที่สำคัญเพราะสยามเองหลบหลีกจากการตกเป็นอาณานิคมโดยตรงได้(68)
วีรบุรุษในหนังสือเรียนของนักเรียนทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นนักหนังสือพิมพ์ ผู้นำสหภาพแรงงาน ครูและนักการเมืองผู้ใช้ชีวิตนานหลายปีในคุกของอาณานิคม แต่กลับเป็น "พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่" แห่งราชวงศ์ที่ปกครอง ในความเป็นจริงแล้วกระทั่งถึงปี 2516 เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะจินตนาการถึงวีรบุรุษสักคนของเด็กนักเรียนที่เคยติดคุกมาก่อน วาทศิลป์ที่ครอบงำมาจึงหนีไม่พ้นที่จะเป็นแบบฉบับของอนุรักษ์นิยม การเชื่อฟังและนิยมเจ้า ตรงกันข้ามมีแต่ฝ่ายซ้ายที่มักตกเป็นฝ่ายรับ กระตือรือร้นที่จะปกป้องหลักฐานการเป็นชาตินิยมของพวกเขา ต่อการกล่าวหาว่าเป็น "เจ๊กจีน" "ญวน" "ไม่ใช่ไทย" และ "ต่อต้านกษัตริย์" (อันสุดท้าย เป็นสัญญาณอันแจ่มชัดถึงความสำเร็จในการทำให้สัญลักษณ์ของกษัตริย์ของชาติเป็นอันเดียวกัน) อาจกล่าวได้ระดับหนึ่งว่า จนถึงการปราบปรามกรณี 6 ตุลาคม ข้อห้ามในการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ในฐานะของสถาบันหรือในฐานะบุคคล เป็นสิ่งที่ยอมรับกันแม้ในหมู่คนที่อยู่ในฝ่ายซ้ายด้วย(69)
แน่นอนว่ากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถในพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ในความหมายหนึ่งก็ได้ทรง "ช่วย" ให้สยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมและการถูกยึดครอง ด้วยการยอมอย่างชาญฉลาดแก่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมยุโรป และก็ดำเนินกุศโลบายใช้พวกนั้นด้วย แต่จะต้องไม่ลืมอีกด้านหนึ่งของเหรียญนี้ กล่าวคือ การ "ช่วย" สยามนี้ในเวลาเดียวกันก็ได้ทำให้ผู้ปกครองนี้มีอำนาจมากที่สุด และเป็นกษัตริย์ที่ต้องพึ่งพา (dependent) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เพราะในช่วงประวัติศาสตร์ของพุทธศตวรรษที่ 25 แม้ยุโรปได้ข่มขู่สยาม นับจากพม่า เขมร เวียดนามและมลายู กองทัพไทยไม่ต้องต่อสู้กับศัตรูชาติไหนอย่างจริงจังอีกเกือบร้อยปี (อย่างคร่าว ๆ ระหว่างปี 2383 - 2483)(70) บรรดาศัตรูเก่าในประวัติศาสตร์อ่อนแอเกินไป ทว่าศัตรูใหม่ก็แข็งแรงเกินไป การได้รับและรักษาความมั่นคงจากปัจจัยที่สร้างจากภายนอก ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถรวมศูนย์อย่างมั่นคงในการรวบรวมอำนาจภายในประเทศเข้ามาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อย่างไรก็ตาม ในการรวมศูนย์อำนาจนี้ กษัตริย์เองก็จำต้องอาศัยความช่วยเหลือไม่น้อยจากที่ปรึกษา เทคนิควิทยา ทุนและอาวุธของชาวยุโรป(71)
ราชวงศ์สามารถใช้ประโยชน์จากความมั่นคงจากภายนอกที่สร้างขึ้นมา และเช่นเดียวกับทรัพยากรภายนอกที่ระดมขึ้นมาในการเสริมสร้างอำนาจการควบคุมภายในประเทศได้อย่างสูงสุด อันนี้เป็นแบบแผนที่ต่อมาจะเป็นแบบจำลองให้กับ "ระบบสมบูรณาญาสิทธิ์" ของสฤษดิ์ "สมบูรณาญาสิทธิ์" ของไทยปรากฏใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดก็ในสมัยที่สยาม ตกอยู่ภายใต้ความเห็นอกเห็นใจของชาวยุโรปมากที่สุดเช่นกัน(72)
ในปี 2475 ระบบราชการทั้งพลเรือนและทหารซึ่งได้ขยายใหญ่โตอย่างมากใน "แบบตะวันตก" และเป็นเครื่องมืออันสำคัญให้กับพระราชอำนาจของกษัตริย์ หันมาเป็นปฏิปักษ์กับนายของตนเอง บรรดาผู้นำของการรัฐประหาร 2475 ยุติอำนาจการเมืองทั้งทางตรงและในทางปฏิบัติของกษัตริย์ลงไปโดยสิ้นเชิง ทว่าพวกเขาไม่ได้พยายามอย่างจริงจังหรือถาวร ในอันที่จะทำลายความสำคัญทางวัฒนธรรมและเกียรติภูมิใน "ชาตินิยม" ของระบบกษัตริย์ลงไปแต่อย่างใด "ประเทศไทย" ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเปลี่ยนให้เป็นชื่อของประเทศในที่สุด ยังคงถูกนิยามว่าเป็นระบอบกษัตริย์ (ภายใต้รัฐธรรมนูญ)
เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในปี 2477 หลังการเกี่ยวข้องอย่างลึกซื้งในความขัดแย้งทางการเมืองในปลายพุทธทศวรรษ 2460 และต้นพุทธศตวรรษ 2470 ทางฝ่ายผู้นำคณะราษฎรก็ไม่รีรอที่จะมอบราชสมบัติให้กับ พระราชนัดดาองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงเป็นตำนานของพระผู้รักษาชาติไป โชคดีที่เชื้อพระวงศ์องค์นั้นยังทรงพระเยาว์อยู่(73) การที่พระองค์ยังคงอยู่ในโรงเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ตลอดเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีส่วนช่วยในการรักษาให้สถาบันกษัตริย์ปลอดจากข้อครหาใด ๆ ที่จะเกิดจากการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายลัทธิทหารของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ยังพอมีความรู้สึกอยู่บ้างที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม - อุดมการณ์ในสยาม ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามในปลายพุทธทศวรรษ 2470 กับต้นพุทธทศวรรษ 2480 จอมพลผู้เผด็จการต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตัวด้วยการโฆษณาปลุกระดมลัทธิชาตินิยม เขาสามารถทำให้ระบบราชการ ที่สำคัญคือกองทัพซึ่งเป็นฐานอำนาจที่แท้จริงของเขา ปรากฏออกมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติให้กับส่วนรวม (หรือประชาชน) ตอนนี้จะเห็นภาพที่กระจ่างชัดกว่าที่ผ่านมา นั่นคือ"ชาติ"กับ"พระมหากษัตริย์" กลายเป็นสองความคิดที่แยกออกจากกันได้ในทางภูมิปัญญา โดยที่ รัฐ (ที่สำคัญก็คือกองทัพ) เป็นตัวแทนของชาติ และในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้พิทักษ์พระมหากษัตริย์(74) พัฒนาการนี้ที่สำคัญคือช่วยทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกันเทวาลัยอันมีค่ายิ่งของชาติไป(75)
แม้จะได้ทำอะไรไปอย่างมากแล้วก็ตาม แต่การที่จอมพล ป. พิบูลสงครามมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับการยึดอำนาจปี 2475 และในการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นการต่อต้านการปฏิวัติของฝ่ายนิยมเจ้าในปี 2476 ทำให้ฝ่ายพระราชวงศ์ยังมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังนั้นในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง (2491-2500) เขาจึงไม่สามารถใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประโยชน์ตามที่เขาได้ตั้งความหวังไว้ในเวลานั้น(76) อาจด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เขาหันไปใช้สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยเพื่อช่วยกู้สถานการณ์เมื่อเขารู้สึกในปี 2499 ว่าอำนาจของเขากำลังลดลง(77)
คนที่ช่วยทำให้ยุคแรกของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่เป็นลัทธิทหารมีลักษณะแบบ "โชกุน" และจากนั้นก็เปลี่ยนบรรยากาศทั้งหมดของการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาเป็นผลิตผลในประเทศของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ตอนปฏิวัติ 2475 ก็ยังมียศน้อยเกินกว่าที่จะมีบทบาทสำคัญอะไร ทั้งในตอนยึดอำนาจและเหตุการณ์หลังจากนั้นมา และต่างจากพิบูลสงครามที่สฤษดิ์ไม่เคยแม้กระทั่งเสแสร้งที่จะสนใจในระบอบรัฐธรรมนูญ หรือมโนทัศน์ทั้งหลายของประชาธิปไตย ดังนั้น สำหรับเขาจึงไม่มีอุปสรรคยากเย็นอะไร ในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีกันใหม่กับทางวังอย่างรวดเร็ว
ไม่นานนักภายหลังการยึดอำนาจจากพิบูล สฤษดิ์ก็เริ่มการรณรงค์อย่างเป็นระบบที่จะ "บูรณะ" สถาบันกษัตริย์เสียใหม่ และในการให้เกียรติภูมิใหม่แก่สถาบัน ก็สร้างความมั่นคงให้กับฐานะของสฤษดิ์ไปด้วย ในสมัยของพิบูลสงคราม พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่ใคร่ได้เสด็จไปไหนนอกเมืองหลวงนัก บัดนี้ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ยาวนาน เพื่อเยี่ยมเยียนปฏิสันถารกับประมุขแห่งรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดากษัตริย์ในยุโรป จากนั้นรัฐบาลก็จัดให้มีการเยี่ยมตอบรับจากราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรป(78)
พระราชพิธีต่าง ๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหลังจากการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ บัดนี้ก็มีการรื้อฟื้นนำมาปฏิบัติใหม่(79) พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีนอกจากจะมีความสัมพันธ์ติดต่อใกล้ชิดกับราษฎรไทยบ่อยครั้งมากขึ้น ก็ยังเสด็จออกไปช่วย "บูรณาการ" ชนกลุ่มน้อยชาวเขาต่าง ๆ ด้วยการพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ ให้ด้วยพระเมตตา เกือบจะกล่าวได้ว่าภายใต้สฤษดิ์ เกิดการสับเปลี่ยนในบทบาทตามประเพณีขึ้น กล่าวคือ ท่านจอมพลแสดงบทของผู้ปกครอง (ที่เป็นผู้ลงโทษอาชญากรรม(80) เก็บภาษี ออกคำสั่งแก่กองทัพ และเป็นหัวหน้าทางการเมืองโดยทั่วไป) กับแสดงบทของผู้ปกครองที่มีบทบาทของผู้นำตามลำดับชั้นในพุทธศาสนา (เป็นผู้ให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่อำนาจปกครอง และเป็นตัวแทนของคุณธรรมที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัว) จึงไม่ต้องประหลาดใจที่สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่ง "ศักดิ์สิทธิ์" มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ระบบเผด็จการก็เข้มแข็งมั่นคงมากขึ้นด้วย
สฤษดิ์ไม่เพียงแต่พึ่งพิงสถาบันกษัตริย์เท่านั้น หากยังใช้ประโยชน์จากพุทธศาสนาอีกด้วย ในปี 2505 ได้ยกเลิกองค์กรคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นระบบที่กระจายอำนาจและเป็นประชาธิปไตย แล้วแทนที่ด้วยระบบรวมศูนย์แบบอำนาจนิยมภายใต้การควบคุมของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นพระที่อยู่ในโอวาททั้งนั้น(81) ในสมัยนั้นพระชั้นผู้ใหญ่สองรูป เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นพระหัวเสรีนิยม ถูกจับถอดออกจากสมณรูป และดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นมา (คดีหนึ่งคือเป็นผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ อีกคดีเป็นเรื่องการเสพย์เมถุน) ทั้งนี้โดยการแนะนำของพระสังฆราช(82)
ในที่สุดส่วนต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ทั้งหมดก็ถูกปลุกระดมเพื่อไปเป็น "นักบูรณาการ" (กับพวกชาวเขาที่ไม่ใช่พุทธ) และร่วมโครงการต่อต้านผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะในภาคที่มีปัญหาเช่นภาคเหนือและอีสาน(83) สัญลักษณ์และสถาบันของพุทธศาสนาจึงถูกนำไปใช้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในการสร้างและให้ความชอบธรรมแก่ระบอบการปกครอง (84) ในสมัยสฤษดิ์นี้เองที่กลอนชาติ - ศาสนา - กษัตริย์ ถูกเปลี่ยนจากคติที่สงบ มาเป็นคำขวัญที่สู้รบ และเป็นที่เข้าใจแบบหลังนี้มากขึ้นเรื่อย(85)
อย่างไรก็ตาม จะเป็นความผิดพลาดที่จะทึกทักจากข้อความข้างต้นว่า เกียรติภูมิของสถาบันกษัตริย์และคณะสงฆ์ ถูกกระทบกระเทือนด้วยระบบเผด็จการและการบูมทางเศรษฐกิจ ดังที่เราได้เห็นมาแล้วว่า มีสาเหตุที่ทำให้น่าเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ ได้พัฒนาสถานะของตนเองขึ้นมาใหม่ "การรื้อฟื้นองค์ราชันย์" ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจบูม และสำหรับคนไทยที่ร่ำรวยขึ้นมาใหม่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนี้ ดูไม่น่าจะเป็นเหตุบังเอิญแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการตอบสนองซึ่งกันและกัน
การพัฒนาตอกย้ำและยืนยันความชอบธรรมของราชบัลลังก์ และราชบังลังก์ก็ประทานความสง่างามความชอบธรรมให้กับการพัฒนา ในอีกด้านหนึ่ง ดูจะเป็นที่เด่นชัดที่อิทธิพลของระบบทุนนิยมทางโลกอันทรงพลัง ได้กัดกร่อนพลังอำนาจของพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการของกระฎุมพีระดับสูงกับบรรดาผู้ลากมากดีเก่าทั้งหลาย ชายฉกรรจ์จากชนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะบวชเป็นพระน้อยลง ๆ ทุกที แม้จะชั่วเวลาเพียงสั้น ๆ ก็ตาม ทั้งนี้โดยไม่ต้องพูดถึงการที่จะอุทิศตนให้กับพระศาสนาตลอดอายุขัย ในปัจจุบันพระสงฆ์หนุ่ม ๆ มักจะมาจากชนชั้นล่างและมีภูมิหลังจากชนบท ผลที่คาดได้ก็คือมีความขัดแย้งทางด้านศาสนาและการเมืองอย่างเด่นชัดในคณะสงฆ์เอง(86)
พระหนุ่มจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากภาคอีสานที่ยากจน จะโน้มเอียงไปในทางมีพฤติกรรมเพื่อสังคม(87) และในทางการตีความลัทธิความเชื่อทางศาสนาแบบฝ่ายซ้าย(88) ส่วนพระอื่น ๆ เช่น กิตติวุฒโฑ ผู้อื้อฉาว ก็ผนวกพุทธศาสนาเข้ากับอุดมการณ์ขวาจัดอย่างเปิดเผยเสียเลย(89) ทั้งหมดนี้ก็ทำให้คณะสงฆ์ถูกนำเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมือง
เท่าที่ผ่านมาเราได้พิจารณาความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มต่าง ๆ ในประเพณีวัฒนธรรมของชนชั้นนำ แต่ดังที่อาจารย์ ฟลัดได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในประเพณีของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาและปัญญาชน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามเวียดนาม ความกล้าหาญ และทรหดอดทนที่คนเวียดนามต่อต้านอภิมหายักษ์อเมริกันนั้น กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความชื่นชม นักศึกษาเก่ง ๆ จำนวนมากได้ไปเรียนต่อในยุโรป และสหรัฐฯในตอนปลายพุทธทศวรรษ 2500 ได้รับทั้งอิทธิพลและทั้งเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านสงคราม
ในประเทศจีนเองการปฏิวัติวัฒนธรรมก็กำลังดำเนินอยู่อย่างสุดเหวี่ยง และเกียรติภูมิในระดับสากลของเหมาเจ๋อตุง ในฐานะที่ต่อต้านความคิดแบบราชการก็ขึ้นถึงจุดสูงสุด ในประเทศไทยเองการที่มีฐานทัพอเมริกันมหึมา ทำให้เกิดปัญหาสังคมรุนแรง การค้าประเวณีเฟื่องฟู เด็กลูกครึ่งไม่มีพ่อ ยาเสพย์ติด มลภาวะ และทำให้ชีวิตไทยหลายด้านกลายเป็นการค้าพาณิชย์ชนิดเลว ๆ ดังนั้นในตอนต้นพุทธทศวรรษ 2510 ชาตินิยมต่อต้านอเมริกัน (และต่อต้านญี่ปุ่น) อย่างรุนแรงก็เพิ่มขึ้นให้เห็นจากสัญลักษณ์ของชื่อหนังสือที่พิมพ์ในปี 2514 คือ ภัยขาว(90) ในปี 2515 นักศึกษาประสพความสำเร็จในการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ(91)
อย่างไรก็ตาม การเซ็นเซอร์ของเผด็จการ (ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยถนอมอ่อนกว่าสมัยสฤษดิ์) ได้ปิดบังซ่อนเร้นซึ่งการก่อตัวทางปัญญาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงนั้น ภายหลัง 14 ตุลาคม 2516 การเซ็นเซอร์หายไปเพียงข้ามคืน และก็น่าประหลาดใจไปทั่วว่า กระแสคลื่นมหึมาของบทกวีวิพากย์ เพลง ละคร บทความ นิยาย และหนังสือจะท่วมท้นทั่วเมืองหลวงในตอนต้น และแพร่ออกไปในต่างจังหวัดในเวลาต่อมา ผลงานเหล่านี้เขียนหรือแต่งขึ้นในสมัยเผด็จการ แต่ก็ไม่เคยได้รับการเผยแพร่(92) งานเขียนอื่น ๆ เกิดขึ้นโดยผลพวงของเดือนตุลาเอง และก็สร้างจิตสำนึกทางการเมืองให้กับบรรดานิสิตนักศึกษาในบรรยากาศที่เสรี
ผลพวงทางด้านวัฒนธรรมและอุดมการณ์ของตุลา 2516 เกิดปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกันสองด้าน ทางด้านปีกซ้าย เป็นเรื่องของความรู้สึกอันน่าฉงนสนเท่ห์ ตื่นเต้นบันดาลใจ ปลดปล่อย และสร้างสรรค์ เป็นห้วงเวลาที่ดูเหมือนว่าใคร ๆ จะพูด จะร้องรำ หรือทำอะไรได้เกือบจะทุกอย่าง. ส่วนทางปีกขวา มายาคติเริ่มจะฝังรากอย่างรวดเร็วว่ารัฐบาลเสรีนิยมที่มีขึ้นใหม่นั้น กลายเป็นสาเหตุของโรคร้ายและแนวความคิดที่บ่อนทำลายอย่างฉับพลัน ประชาธิปไตยกลับถูกประณามแทนผลพวงของระบบเผด็จการ และการเข้าไปพัวพันกับทุนนิยมของอเมริกันกับญี่ปุ่น
ดังที่คาดการณ์ได้ ประเด็นดังกล่าวมาก็ถูกผนวกเข้ากับกลไกทางอุดมการณ์ที่สร้างฐานให้กับระบอบอัตตาธิปไตยของสฤษดิ์ คือ ชาติ - ศาสน์ - กษัตริย์ ทั้งหมดนี้ ศาสนาดูจะสำคัญน้อยสุด และในตอนแรกๆ ก็มิได้สร้างความร้อนแรง แต่ในประเด็นของชาติ ฝ่ายซ้ายกลับเป็นฝ่ายรุกอย่างรวดเร็ว โดยแสดงให้เห็นเป็นกรณีเด่นชัดว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ร่วมมือกับญี่ปุ่น ส่วนสฤษดิ์และลูกน้องได้ทรยศประเทศโดยเข้ากับอเมริกัน ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยที่มีทหารต่างด้าวเกือบ 5 หมื่นคน ตั้งทัพอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ยอมให้เศรษฐกิจอยู่ในมือต่างด้าวมหาศาล
เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์แห่งชาติ พวกเผด็จการกลับหลงระเริงปล่อยให้มีการปู้ยี่ปู้ยำสังคมและวัฒนธรรม รัฐบาลเก่าตกเป็นทาสตามหลังอเมริกา ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเกิดประสาทหลอนว่าจีนจะแผ่ขยายอำนาจเสียจนถูกปล่อยให้เป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ในเมื่อนิกสัน - คิสซิงเจอร์ปรับนโยบายแบบแมคเคียเวลลี เข้าหาปักกิ่ง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ นโยบายของฝ่ายขวาไม่เพียงจะพิสูจน์ว่าฉ้อฉลและฉกฉวยโอกาสเท่านั้น แต่ยังสายตาสั้นและล้มละลายในบั้นปลายด้วย
ในระยะยาวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่า มีสัญญาณอย่างชัดเจนของการปรับเปลี่ยนแบบกฎของโคเปอร์นิคัส (คือดวงอาทิตย์ ไม่ใช่โลก ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล) ปรับเปลี่ยนทัศนะที่เป็นแกนของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไทย นั่นคือสถาบันกษัตริย์ในฐานะของความชอบธรรมของความเป็นชาติ และเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์ การแพร่หลายของโฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ให้เห็นอาการเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้งานชิ้นนี้ ถกและเถียงเรื่องของสยามก่อนพุทธศตวรรษที่ 25 (ซึ่งก็คือก่อนสมัยจักรวรรดินิยมยุโรป) ตีความเส้นทางเดินของประวัติศาสตร์ ในความหมายของความขัดแย้งขั้นพื้นฐานระหว่าง "ผู้ปกครองที่กดขี่"กับ"ผู้ถูกปกครองที่ต้องดิ้นรนต่อสู้"
อย่างไรก็ตาม หนังสือของจิตรก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขบวนการงานเขียนทางวิชาการ และสื่อหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏออกมาหลัง 2516 ที่สืบสาวอดีตไทยอย่างเป็นกระบวนการ ที่มีนัยปฏิเสธ หรือไม่ก็ทำให้ตำนานความเชื่อว่าด้วยบทบาทนักชาตินิยมของกษัตริย์ตามประเพณีนั้น กลายเป็นเรื่องชายขอบรอบ ๆ ริม ๆ ไป อาจจะเป็นประโยชน์ที่จะลองวาดภาพทางสังคมในชีวิตประจำวันของพัฒนาการทางวัฒนธรรม - อุดมการณ์ในตอนนี้ดู
ลองนึกดูว่านักศึกษาไทยถกเถียงกันต่อหน้าพ่อแม่ ถึงสยามสมัยพุทธศตวรรษที่ 25 โดยไม่อยู่ในนัยของมหาราชรัชกาลที่ 5 แต่ในความหมายของการทำเกษตรเป็นการค้าพาณิชย์ ถึงความโอฬารพันลึกของระบบราชการ ฯลฯ เพียงแต่การใช้ศัพท์แสงที่แสดงถึงกระบวนการทางสังคมและพลังทางเศรษฐกิจ ก็เป็นการปฏิเสธความเป็นแกนกลางของกษัตริย์ ในฐานะวีรบุรุษหรือองค์รวมแห่งประวัติศาสตร์ชาติ
ที่จริงแล้วการมองข้ามลำดับสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามจารีตแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนหนุ่มสาวกระทำขึ้นแบบไม่แคร์ ประเภทไร้เดียงสา หรือไม่ก็อย่างดูหมิ่นดูแคลนเงียบ ๆ ซึ่งอาจจะดูเป็นการคุกคามเสียยิ่งกว่าการปฏิเสธพระเกียรติยศและพระราชอำนาจโดยตรงเสียอีก(93) (พลังของความเป็นปฏิปักษ์กันของคนต่างรุ่นที่กระตุ้นโดยอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่ควรประเมินค่าต่ำ)(94)
ถึงตรงนี้ก็คงเป็นที่เข้าใจได้ชัดขึ้นว่า เพียงไม่นานหลังจากมีการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เริ่มขึ้น(95) ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้ปกครองโกรธแค้นนักศึกษานักพูดหัวรุนแรงเท่านั้น แต่เป็นเพราะกระบวนการอันต่อเนื่องของวิกฤตสังคมไทยทั้งหมด เริ่มตกผลึกรอบ ๆ สัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ การสิ้นสุดของเศรษฐกิจบูมที่มีมายาว ความหงุดหงิดอย่างคาดไม่ถึงที่เกิดจากการขยายการศึกษาอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งระหว่างวัย(96) และความวิตกที่เกิดการถอนตัวทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา รวมทั้งผู้นำทหารที่หมดความน่าเชื่อถือ
วิกฤตต่าง ๆ ที่ผูกโยงกันอยู่นี้เป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วง สำหรับพวกกระฎุมพีใหม่ พวกชนชั้นใหม่นี้นั้นถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นทั้งหลักชัยและเกราะคุ้มกันทางจิตใจ รากลึกทางประวัติศาสตร์และความมั่นคงของสถาบัน ดูจะเป็นของขลังกั้นยันความไร้ระเบียบและความพินาศให้ และไม่ว่าจะมีความเลวร้ายของชีวิต หรือต้องการที่พึ่งพิงทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชาวต่างชาติจะเป็นเช่นไรก็ตาม สมาชิกของชนชั้นนี้ก็รู้สึกว่าความเป็นชาตินิยมของตัวตนนั้น ประกันได้ด้วยความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์รวมของมรดกชาติ ดังนั้น การโจมตีใด ๆ ต่อสิทธิอันชอบธรรมของราชบัลลังก์ ไม่ว่าจะเป็นโดยอ้อมก็ตาม จะเป็นที่รู้สึกได้เลยว่าคุกคามต่อเกราะคุ้มกันนั้น
ความรู้สึกอันหดหู่แห่งปี 2517 ซึ่งเริ่มด้วยการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นครั้งแรกนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอินโดจีนอย่างสุดที่จะประเมินได้ ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในฤดูใบไม้ผลิ 2518 เวียงจันท์ พนมเปญ และไซง่อน ก็ถูกพิชิตโดยกองกำลังคอมมิวนิสต์หมด ในระยะสั้นมีผลหลักอยู่ที่การตื่นตระหนกเงินทุนไหลออก ในระยะค่อนข้างยาวมีความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งต่อบทบาทของราชบัลลังก์ในทางปฏิบัติ แทนที่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ เพราะดูไม่น่าจะสงสัยเลยว่าการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ลาวในเดือนธันวาคม (การสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์เขมรด้วยน้ำมือของฝ่ายขวาเมื่อ 5 ปีก่อน แท้จริงได้รับการปรบมือด้วยซ้ำไป)(97) ได้สร้างความหวั่นวิตกว่ารัชกาลที่ 9 อาจเป็นองค์สุดท้ายของราชวงศ์ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งมีราชกระแสต่อสาธารณชน ในแนวอนุรักษ์นิยมต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหนักแน่นยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เห็นได้ชัดจากการรวมตัวของฝ่ายขวาทั้งขบวน ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้ออกไปรุกด้วยความรุนแรง
ต้องขอบใจต่อสถานะอันมั่นคงขององค์กรฝ่ายขวาในหมู่สื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุและโทรทัศน์(98) การรุกครั้งนี้เริ่มในฤดูใบไม้ร่วงปี 2518 และก็พุ่งขึ้นสูงในฤดูใบไม้ผลิปี 2519 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการรณรงค์เลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนเมษายน ตัวอย่างเช่น พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีมีอำนาจคุมสื่อมวลชนที่ควบคุมโดยรัฐ โฆษณาคำขวัญ "ขวาพิฆาตซ้าย" ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจไม่กล้าที่จะทำในหนึ่งปีก่อนหน้านี้(99)
สถานีวิทยุที่คุมโดยฝ่ายขวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุยานเกราะที่สุดขั้ว ออกรายการและเล่นเพลงที่ใช้ความรุนแรง เช่น "หนักแผ่นดิน" หรือ "รกแผ่นดิน" คติพจน์ของกิตติวุฒโฑที่ว่าพุทธศาสนาให้การรับรองการฆ่าคอมมิวนิสต์นั้น ได้รับการเผยแพร่เป็นประจำทั่วไป แน่นอนการใช้ความรุนแรงนี้ก็มิใช่เป็นเพียงคำพูด ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 2519 เราได้เห็นกระบวนการความรุนแรงสุด ๆ ต่อชีวิตและร่างกาย
ประเด็นหลักก็คือว่า การรุกของฝ่ายขวาทั้งหมดโคจรรอบแกนกลางที่สถาบันกษัตริย์ ซึ่งถูกนิยามให้เข้าร่วมและอยู่ภายใต้อิทธิพลของศัตรูของระบอบเสรีนิยมมากขึ้น ๆ ฉะนั้นก็เห็นได้ชัดว่าจุดระเบิดของการล้มรัฐบาลเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ก็จะเป็นเรื่องของการสร้างกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 24 กันยายน คนงาน 2 คนที่นครปฐมออกไปปิดโปสเตอร์ประท้วงอดีตเผด็จการถนอมที่กลับเข้ามาประเทศในผ้ากาสาวพัสตร์ คนงานถูกตำรวจท้องที่ตีจนตายแล้วนำศพไปแขวนคอ(100) สองวันก่อนหน้าการรัฐประหาร คณะแสดงของนักศึกษาหัวรุนแรง ได้แสดงละครล้อเลียนการฆาตกรรมนั้นที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ขับไล่ถนอมในระดับชาติ(101)
หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฝ่ายขวาที่บ้าคลั่ง นำรูปภาพของการแสดงไปแต่งจนดูคล้ายกับว่าผู้แสดงที่ "ถูกแขวนคอ" นั้นดูคล้ายกับมกุฎราชกุมาร(102) ในการปฏิบัติการร่วมกันนี้ สถานีวิทยุยานเกราะก็ออกรายการกระจายข่าว ยุยงให้ประชาชนซื้อหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และเรียกร้องให้มีการลงโทษต่อการ "โจมตีอย่างเลวร้าย" ต่อพระราชวงศ์(103) จากจุดนี้ก็เกิดม็อบแขวนคอขึ้น ปูพื้นให้ทหารเข้ายึดอำนาจ
ควรเน้นว่าการสร้างเรื่อง และการร่วมรณรงค์อย่างพร้อมเพรียงของสื่อมวลชนแบบนี้ เป็นเรื่องใหม่ในการเมืองไทย เมื่อสฤษดิ์สร้างเรื่องใส่ความพระพิมลธรรมและพระศาสนโสภณ หรือเมื่อเผ่าสังหาร ส.ส. ฝ่ายตรงข้าม ต่างก็ทำอาชญากรรมในเชิงบริหาร คือปิดประตูลับ สื่อมวลชนสมัยพุทธทศวรรษ 2500 ได้เคยขู่ไว้เสมอว่า รัฐบาลอาจจัดการอย่างรุนแรงกับคอมมิวนิสต์และพวกบ่อนทำลาย แต่ในปี 2519 การสร้างเรื่องกระทำอย่างเปิดเผย และสาธารณชน ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแก้แค้นต่อการบ่อนทำลายด้วย
เหตุผลของเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มผู้ปกครองเก่าถูกทำให้อ่อนแอจากการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกประเทศ พยายามหาพันธมิตรภายในใหม่ และก็พบได้จากกลุ่มกระฎุมพีน้อยกับกระฎุมพีกลาง ที่เกิดขึ้นภายใต้เผด็จการเก่า กระฎุมพีเหล่านี้กำลังเคียดแค้น ตื่นตระหนกและงงงวย สูตร ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ที่ถูกนำมาขยายความและใช้การ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงอาการของการยอมรับโดยทั่วไปว่า ไม่สามารถจะครองอำนาจได้อย่างแท้จริงอีกต่อไป และทั้งชี้ให้เห็นถึงความหวั่นวิตกและความเกลียดชังอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของพุทธทศวรรษ 2510(104)
โดยสรุป ผลพวงของ 6 ตุลาคม ชี้ไปใน 2 ทิศทางที่แตกต่างแต่เชื่อมโยงกัน ในด้านหนึ่ง การรัฐประหารครั้งนี้เร่งเครื่องให้เห็นชัดว่า การเมืองไทยมิใช่เรื่องลี้ลับต่อไป การโจมตีโดยตรงและเปิดเผยต่อสถาบันกษัตริย์ปรากฏขึ้นอย่างหนัก(105) กลุ่มใหญ่ ๆ ทั้งเสรีนิยมและหัวรุนแรง เริ่มเข้าใจว่าตนไม่มีที่ไม่มีทางในระบบของกรุงเทพฯ และดังนั้นคนจำนวนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็หลบออกไปลี้ภัยหรือไม่ก็เข้าร่วมในขบวนการต่อสู้
ในอีกประการหนึ่ง แนวความคิดและสัญลักษณ์ทางการเมืองของฝ่ายขวาที่ครองอำนาจอยู่ ได้กลายเป็นคำขวัญที่มีจิตสำนึกเพื่อตนเอง และยิ่งกลายเป็นคำขวัญที่มีฐานเฉพาะเจาะจงในสังคม ในช่วงพุทธทศวรรษ 2490 และ 2500 เป็นไปได้ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยจำนวนมาก จะมองฝ่ายซ้ายไทยอย่างสนิทใจว่าเป็นคนต่างด้าวกลุ่มน้อย (เป็นญวน เป็นเจ๊กจีน หรืออะไรก็ตาม) และการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็เป็นขบวนการระดับชาติอันสูงส่ง ถึงตอนนี้ ความคิดแบบนั้นดูจะเป็นไปได้น้อยลง ๆ ทุกที แม้แต่ต่อฝ่ายขวาเอง
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ได้กลายเป็นตัวเร่งขบวนการที่ฝ่ายขวาต้องยอมรับ ทั้งนี้โดยอาจจะไม่ตระหนักด้วยซ้ำไปว่า กำลังเข้ารบในสงครามกลางเมือง ในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นเครื่องตัดสินที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ยกเว้นในกรณีของพรรคบอลเชวิคของเลนิน ได้แสดงเด่นชัดว่าไม่มีขบวนการปฏิวัติใดจะประสบชัยชนะได้ หากมิได้พิชิตหรือได้รับพรประทานของความเป็นนักชาตินิยม(106)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
จบตอนที่ ๒ กลับไปอ่านทบทวนตอนที่ ๑
เชิงอรรถ
(53) ดูตัวอย่างใน Somporn Sangchai, "Thailand: Rising of the Rightist Phoenix" (sic), in Souteast Asian Affairs 1976 (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1976), pp. 361 - 2
(54)"ตำรวจระบุว่านักเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายราว 360 คน ซึ่งติดระเบิด ไม้กระบอง ปืนและสิ่งอื่นเป็นอาวุธ ได้ยกขบวนไปยังโรงเรียนช่างกลปทุมวันราว 300 คน" (The Nation, June 17, 1975) กรณีเผชิญหน้ากันก่อนหน้าและหลังเหตุการณ์ครั้งนี้มีอาทิเช่น
(1) วันที่ 29 ตุลาคม 2517 เด็กเล็กคนหนึ่งถึงแก่ความตายและคน 14 คนได้รับบาดเจ็บ เมื่อมีผู้ขว้างระเบิด ขณะเกิดเหตุปะทะกันระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนช่างก่อสร้างสวนดุสิต โรงเรียนช่างกล นนทบุรี และโรงเรียนช่างกลบางซ่อน (Bangkok Post, Dec 9 , 1975)
(2) วันที่ 26 ธันวาคม 2517 นักเรียนคนหนึ่งตายและอีกหลายคนบาดเจ็บในการต่อสู้กันด้วยระเบิดและปืนลูกซอง ระหว่างเด็กนักเรียนจากโรงเรียนช่างกลบางซ่อนกับโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ (The Nation , Dec 27, 1974)
(3) นักเรียนสามคนถูกแทงและยิงบาดเจ็บสาหัส หลังจากแก๊งนักเรียนจากโรงเรียนช่างก่อสร้างสวนดุสิต วิวาทกับโรงเรียนอาชีวศิลป์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2517 (Bangkok Post, Dec 28 1974) ศึกระเบิดขวด ปืนเล็กยาวและระเบิดมือ ระหว่างนักเรียนช่างกลบางซ่อนกับนักเรียนช่างกลพระนครเหนือเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2518 ส่งผลให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์คนหนึ่งถึงแก่ความตาย (Bangkok Post, Jan 23 and 24, 1975)
(4) วันที่ 12 มิถุนายน นักเรียนถึงแก่ความตาย 2 คนในการตะลุมบอนกันด้วยระเบิดขวดและระเบิดพลาสติกหลายครั้ง ระหว่างเด็กนักเรียนจากโรงเรียนช่างกลพระรามหก ช่างกลบางซ่อน ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ช่างกลนนทบุรี ช่างกลปทุมวัน และโรงเรียนอาชีวะแห่งอื่น ๆ (The Nation, June 13, 1975) (5) วันที่ 18 มิถุนายน หลังจากนักเรียนอาชีวศิลป์ทะเลาะกับคนงานก่อสร้างและพนักงานรถเมล์ นักเรียนพวกนี้ก็ขว้างระเบิดเพลิงใส่รถเมล์บางคัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสหลายคน (The Nation, June 19, 1975) ในบรรดาโรงเรียนเหล่านี้ มีแต่ช่างกลพระรามหกเท่านั้นที่ค่อนข้างขึ้นชื่อว่าสนใจ (เอียงซ้าย) ทางการเมือง
(55) Bangkok Post, June 1, 1975 การเน้นเป็นของผู้เขียน
(56) จากการสนทนาส่วนตัว โปรดดูเปรียบเทียบเชิงอรรถที่ 50 เพื่อดูอัตราการว่างงานในหมู่นักเรียนที่จบจากอาชีวศึกษา
(57) ผู้นำที่รู้จักกันดีของกระทิงแดงสองกลุ่ม เกี่ยวโยงโดยตรงกับ กอ.รมน. คนหนึ่งคือ ประพันธ์ วงศ์คำ ถูกระบุว่าเป็น "ลูกจ้างวัย 27 ปีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน" อีกคนคือ สืบสาย หัสดิน ลูกชายของพันเอก (พิเศษ) สุตสาย หัสดิน ก่อนหน้านี้เคยรับผิดชอบแผนกชาวเขาของ กอ.รมน. Bangkok Post, June 25, 1975 และดู Norman Peagam, "Rumblings from the Right," Far Eastern Economic Review, July 25, 1975 . เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มกระทิงแดงอื่น ๆ อีกอยู่ภายใต้การควบคุมของพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตหัวหน้ากองทหารไทยรับจ้างจากซี.ไอ.เอ.ในลาว , และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ น้องเขยของอดีตพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เขาเป็นคนสำคัญในพรรคชาติไทยและเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (มี.ค 2518 - เม.ย 2519)
ควรจะระบุไว้ด้วยว่า กอ.รมน. ได้แทรกซึมเข้าไปอย่างมากในกระทรวงศึกษาธิการในส่วนที่รับผิดชอบโรงเรียนอาชีวศึกษา และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินอย่างลับ ๆ รวมทั้งเป็นผู้บงการด้วย แก่ ศนอท. (ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย) อันเป็นกลุ่มฝ่ายขวาเล็ก ๆ ที่ก้าวร้าวและเป็นปฏิปักษ์กับองค์กรที่ใหญ่กว่าคือ ศนท. (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นกองหน้าของกิจกรรมในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายในระยะที่เปิดเสรี
(58) ในขณะที่ส่วนใหญ่ของกระทิงแดงน่าจะมาจากครอบครัวกระฎุมพีน้อย (ชนชั้นกรรมกรไทย ยากที่จะส่งให้ลูกเรียนสูงถึงมัธยมตอนปลายหรืออาชีวศึกษา) แต่เป็นไปได้ที่มีกระทิงแดงบางคนมาจากคนชั้นล่าง ด้วยการรับมาจากประชากรที่มาจากคนอพยพที่ว่างงานดังได้พูดถึงไว้แล้ว
(59) นายกรัฐมนตรีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าวในคำแถลงทางวิทยุในวันที่ 17 ตุลาคม 2519 ว่า "อีกกลุ่มที่พบปัญหาความยากจนคือกรรมกรตามฤดูกาล แรงงาน พวกที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา และคนทีว่างงานอื่น ๆ ขณะนี้คนว่างงานมีสูงถึงกว่า 1 ล้านคน" FBIS (Foreign Broadcast Information Service) Daily Report, October 18 , 1976.
(60) ความรุนแรงเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญในการข่มขู่ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2519 ในการขับไล่นักศึกษากิจกรรมซึ่งพยายามจัดตั้งชาวนาและสหพันธ์ชาวนาเช่าขึ้นมาในหมู่บ้านต่าง ๆ ในการเรียกร้องให้สามรัฐมนตรีฝ่ายก้าวหน้าในรัฐบาลเสนีย์ ปราโมชลาออก (สุรินทร์ มาศดิตถ์, ชวน หลีกภัย และดำรง ลัทธพิพัฒน์) ก่อนหน้าการรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 และในความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคมเอง โปรดดู สาริภา เกริกชัย "อย่าทำให้ลูกเสือชาวบ้านเสื่อมเสีย" ใน ประชาชาติรายสัปดาห์ 23 (6 เมษายน 2519) หน้า 14 - 15
(61) ข้อมูลส่วนมากเกี่ยวกับลูกเสือชาวบ้านที่ใช้ในข้อความต่อไปนี้ นำมาจากบทความที่ละเอียดและดีมากของ Natee Pisalchai, "Village Scouts" ใน Thai Information Resource (Australia) No. 1 (May 1977). หน้า 34 - 37
(62) Thak, "The Sarit Regime," หน้า 414 - 425 ให้ข้อมูลความรู้ในสามเทคนิคดังกล่าว ประการแรก การเพิ่มจำนวนของพิธีแต่งงานภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์อย่างมากทั้งแบบสัมบูรณ์และแบบสัมพัทธ์ของคู่บ่าวสาวที่เป็นกระฎุมพี เมื่อเทียบกับคู่ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนางหรือทหาร. ประการที่สอง ด้วยการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้เพิ่มจำนวนของเงินโดยเสด็จพระราชกุศลขึ้นอย่างมาก จากกลุ่มชนกระฎุมพีใหม่ (และหลังปี 2509 เป็นการบริจาคเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย) อย่างไรก็ตามการบริจาคนี้ยังได้รับแม้กระทั่งจากคนขับรถแท็กซี่ผู้ยากจน ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ของการสร้างภาพลักษณ์ "ปอปปูลิสต์" ประการที่สาม ทรงมีความสัมพันธ์ติดต่ออย่างเป็นทางการส่วนพระองค์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกับกลุ่มคนนอกราชการ
Frequency of the King's Contacts with Non - Official Groups
Private Sector.............. Citizen/Group.............. Meeting with.............. Meeting with
Year ..........................Function ......................Audience....................... Students...................... Subjects
1956 ...............................17...................................... 1....................................... -...................................... -
1961 ...............................35.................................... 45...................................... 3...................................... -
1966 ...............................71.................................. 116 ......................................9..................................... 5
1971 ............................ 121.................................. 191 ...................................10 ...................................31
ตารางนี้ดัดแปลงมาจาก "The Sarit Regime," หน้า 422 ทักษ์กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า กิจกรรมทั้งหมดนี้ "แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงสร้างความเกี่ยวเนื่องกับส่วนของชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตขึ้นมา"
(63) Natee ให้ข้อสังเกตว่าจากจำนวนผู้สมัครเป็นลูกเสือชาวบ้านสาขาในนครปฐมในเดือนกันยายน 2519 จำนวน 496 คน ร้อยละ 70 มีอายุระหว่าง 35 - 42 มีเพียงร้อยละ 2 - 5 เท่านั้นที่เป็นคนหนุ่มสาว และที่เหลือนอกนั้นเป็นคนในวัย 60 และ 70 เขากล่าวอีกว่า "ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นคนค่อนข้างมีฐานะดี" ดู "Village Scouts," หน้า 34 -35 นี่ย่อมเป็นความจริงแน่ ๆ เพราะผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องซื้อเครื่องหมายกลุ่ม และการถ่ายภาพหมู่สีที่แพงมาก จะต้องบริจาค 40 -50 บาทต่อวันสำหรับค่าอาหาร บริจาคเงินเพื่อการศาสนากุศล และจ่ายค่าเครื่องแต่งตัวอันวิจิตรที่ใช้ในการประกวดการเต้นรำและประกวดนางงามต่าง ๆ (อ้างแล้ว หน้า 34 - 35 )
(64) แม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดโดยธรรมเนียมแล้วต้องเป็นประธานของกลุ่มลูกเสือชาวบ้านในจังหวัดนั้น ๆ ทว่าด้านการเงินจะถูกผลักให้เป็นภาระของคนมีฐานะที่อยากมีชื่อเสียง และเกียรติยศในจังหวัดเป็นผู้รับไป (อ้างแล้ว หน้า 34 - 35)
(65) ดูการบรรยายที่ดีใน อ้างแล้ว , หน้า 34 และ 37 กลุ่มของ Natee ถูกนำไปชมค่ายฝึกของทหารพลร่มนเรศวรที่หัวหิน ซึ่งใกล้พระราชวังไกลกังวล (พวกทหารพลร่มเหล่านี้ปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ในการใช้ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519) แนวคิดในวิธีการฝึกอบรมจะเห็นได้จากเพลงที่พวกลูกเสือชาวบ้านต้องหัดร้องให้ได้ เช่น "ตื่นเถิดชาวไทย" "สดุดีพระบรมราชชนนี" "สดุดีมหาราชา" "พระองค์ทรงเป็นพ่อหลวงและแม่หลวงของพวกเรา" "การตรงต่อเวลา" และ "งานใด ๆ" แนวของบทละครที่แสดงกันมีฉากของพวกคอมมิวนิสต์ถูกทรมานอยู่ในนรก
(66) ในเดือนมิถุนายน 2518 มีการสไตรค์ที่น่าสนใจมากของ "พนักงานรักษาความปลอดภัย" จำนวน 2,000 คน ในฐานทัพสหรัฐฯต่าง ๆ พวกเขาไม่แต่เรียกร้องให้รัฐบาลประกันอาชีพการงานในอนาคตของพวกเขา หากยังกล่าวหากองบัญชาการทหารสูงสุด ว่ายักยอกเงินกว่า 8 พันล้านบาทที่สหรัฐฯจ่ายให้เป็นเงินชดเชยการออกจากงาน พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการ บก.สูงสุด รีบออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวทันที (The Nation , June 19 and 21 , 1975) ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างแข็งขัน และประหลาดที่สร้างความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพนักงานบางคนขึ้นมา
(67) อาจจินตนาการถึงประสบการณ์ที่ช็อกของคนเหล่านั้นในเหตการณ์ เช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 2518 เมื่อจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช (นายคล้าย จิตพิทักษ์) ถูกเผาราบด้วยฝูงชนที่โกรธแค้นราว 3 พันคน ผู้ว่าราชการถูกสงสัยว่าคอรัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพ ในการจัดการเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องแอบหนีลับ ๆ กลับเข้ากรุงเทพฯ (Bangkok Post, January 23 and 24, 1975.)
(68) ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ แม้ว่าข้อมูลที่รวมอยู่ในงานอันประณีตของ Flood เรื่อง "Thai Left Wing" แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในฝ่ายซ้ายไทยอยู่ก็ตาม แต่พวกนั้นถูกกดขี่และไม่มีความสำคัญอะไรมากนักกระทั่งเร็ว ๆ นี้
(69) ข้อนี้ใช้ได้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ดำเนินการต่อสู้ในเขตป่าเขา เช่นเดียวกับฝ่ายซ้ายกลุ่มที่พยายามเข้าร่วมการเมืองแบบรัฐสภา เป็นความจริงที่ว่าในทศวรรษ 2470 สถาบันกษัตริย์ตกอยู่ในภาวะลำบากยิ่ง กระทั่งรัชกาลที่ 7 ต้องทรงลี้ภัยการเมืองด้วยตนเองในอังกฤษ แต่ก็ไม่มีความต้องการที่แท้จริงในการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เพียงแต่นำให้เข้ามาอยู่ในกรอบมาตรฐานที่รับได้ของระบอบรัฐธรรมนูญในทางสากล
(70) กระทรวงกลาโหมในแบบสมัยใหม่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2437
(71) ข้อเท็จจริงของการพึ่งพานี้เป็นเรื่องธรรมดาในประวัติศาสตร์นิพนธ์สยามสมัยใหม่ว่าไปแล้วนักประวัติสาสตร์กลับตีความ ว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียอีก ว่าเป็นเครื่องหมายของ "ความทันสมัย" และ "ความก้าวหน้า" ของผู้ปกครอง งานที่ให้ภาพชัดเจนว่าอีสานตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5, 6 และ 7 อย่างไร ได้แก่ Keyes, Isan, chapter III (The Consolidation of Thai (sic) Control) ผู้เขียนย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพจากภายนอก, การขยายทางรถไฟ, ระบบถนน ,โทรศัพท์ , และโทรเลข รวมทั้งระบบการศึกษา "สมัยใหม่" ภายใต้การควบคุมของรัฐ
(72) ผลของลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรปที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอีกสองอย่างที่สำคัญคือ
ประการแรก เปลี่ยนระบบการสืบทอดราชบัลลังก์ จากระบบเดิมที่อาศัยความสามารถทางการเมืองและอาวุโส มาเป็นระบบการสืบสันตติวงศ์กึ่งอาศัยพระราชโอรสองค์โตเป็นหลัก (quasi-primogeniture) เห็นได้ว่าเป็นระบบก่อนจักรวรรดินิยม รัชกาลที่ 6 และ 7 จะมีโอกาสน้อยมากในการได้รับราชสมบัติเนื่องจากขาดกำลังทางการเมืองและทหารของพระองค์เอง
ประการที่สอง ยุติความเป็นไปได้ที่จะมีราชวงศ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก
การตระหนักถึงความจริงข้อนี้คงเกิดขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 บุคลิกผู้นำที่สามารถและเด็ดขาดรุนแรงเช่น
พิบูลสงครามและสฤษดิ์ ในหลาย ๆ กรณีคล้ายคลึงกับแบบของรัชกาลที่ 1 ไม่อาจจะสถาปนาราชวงศ์ใหม่ได้
ในนโยบายขยายอำนาจและเรียกร้องดินแดนคืนของพิบูล ในต้นพุทธทศวรรษ 2480 จะมองเห็นอย่างชัดเจนถึงลักษณะเด่นที่เป็นแบบราชวงศ์
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กระทำเหมือนอย่างที่กษัตริย์ไทยแต่ก่อนเคยกระทำมา นั่นคือการสร้างอาณาจักรสยามที่เคยเป็นมา
(ส่วนหนึ่งของพม่า กัมพูชา ลาว และมลายู) ดังที่พระเจ้าตากสินและรัชกาล 1 เคยปฏิบัติมาก่อนแล้ว
(73)73 ดู Wilson, Politics in Thailand, p. 18
(74) จอมพล ป. พิบูลสงครามอาจสังเกตเห็นความใกล้เคียงกันอย่างน่าทึ่ง ในความสัมพันธ์ระหว่างโชกุนกับพระมหาจักรพรรดิ์ในญี่ปุ่นสมัยโตกุกาวา
(75) ในการสงครามแย่งชิงอำนาจกันระหว่างลาวกับสยามโบราณ รางวัลที่สำคัญอันหนึ่งในของมีค่าทั้งหลายได้แก ่วัตถุมงคลและศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งหลาย (เช่นพระพุทธรูป) สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้นักประวัติศาสตร์ตะวันตกที่ศึกษาเรื่องไทยเรียกว่า palladia หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายหลังปี 2475 พบว่ามีความสนใจมากขึ้นในการควบคุมกษัตริย์ที่เป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แนวโน้มดังกล่าวอาจเกิดจากสภาพการณ์ในประเทศของครอบครัวพระมหากษัตริย์เองในปลายพุทธทศวรรษ 2470 และในตอนต้นพุทธทศวรรษ 2480 รัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนต่างประเทศ (ผลก็คือในประเทศเกือบจะไม่มีการดำรงอยู่ในทางกายภาพของสถาบันกษัตริย์)
ไม่นานนักภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับทว่าก็สวรรคตในเวลาไม่นานหลังจากนั้น เมื่อต้องกระสุนปืน เรื่องราวทั้งหมดยังคงเป็นความลึกลับ พระราชอนุชาทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อไปเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เมื่อครองราชย์ยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นจึงไม่อาจมีบทบาททางการเมืองที่เป็นอิสระได้
กระบวนการทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Palladiumization) บรรลุระดับไคลแมกซ์ในปี 2514 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ปรากฏในจอโทรทัศน์ภายหลังทำการยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง และทำพิธีเปิดหนังสือพระบรมราชโองการต่อหน้าผู้ดู เป็นหนังสือพระบรมราชโองการที่แสดงว่า เขาได้รับความเห็นชอบจากเทวาลัยศักดิ์สิทธิ์ (Palladium) โดยถูกวางมาในถาดทองคำ
(76) จอมพลได้พยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเขาเอง โดยอาศัยพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่คับขัน ตัวอย่างเช่นในปี 2499 ในขณะที่รัฐบาลของเขาใกล้จะถึงอวสาน พิบูลสงครามใช้งบประมาณรัฐบาลเพื่อช่วยบูรณะวัดต่าง ๆ ถึง 1,239 แห่ง (ในปี 2498 มีเพียง 413 วัดเท่านั้น และในปี 2497 ยิ่งน้อยใหญ่คือมีวัดเพียง 164 แห่งเท่านั้นที่ได้งบบูรณะจากรัฐบาล) ดู Thak, "The Sarit Rigime" P, 128 จอมพล ป. พิบูลสงครามยังใช้เงินจำนวนมากในการจัดงานฉลองกึ่งพุทธกาล 2500 และพยายามกีดกันไม่ให้ทางสถาบันกษัตริย์เข้ามาแบ่งรับส่วนในเกียรติภูมิของงานนี้ด้วย ผลก็คือทางวังตอบโต้ด้วยการแยกตัวเองออกไปจากพิธีของงานนี้อย่างเด่นชัด, อ้างแล้ว ,หน้า 129 - 30
(77) ดูรายละเอียดของ "การฟื้นฟูประชาธิปไตย" โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนำไปสู่จุดสุดยอดในการเลือกตั้งสกปรกปี 2500 ใน Wilson, Politics in Thailand, pp 29 -31 เรื่องที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ทั้งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเดินขบวนใหญ่ในกรณี 14 ตุลาคม 2516 และของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวการเมืองหลังจากนั้น ถูกสร้างขึ้นโดยเผด็จการที่มีอายุยาวที่สุดของสยาม
(78) ดูการวิเคราะห์การที่สฤษดิ์ใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ของเก่าได้ใน Thak, "The Sarit Regime" pp. 397 - 402 ในปลายปี 2502 และต้นปี 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ เสด็จออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อไปเยือนไซ่ง่อน จาการ์ตา และย่างกุ้ง ระหว่างมิถุนายน 2503 และมกราคม 2504 ทรงเยือนสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก ปอร์ตุเกส สเปน สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส ลักเซมเบอร์ก และเนเธอร์แลนด์ (สังเกตว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเหล่านี้ยังมีระบบกษัตริย์อย่างหนึ่งอย่างใดอยู่) ก่อนการอสัญกรรมของสฤษดิ์ในปี 2506 ทรงเยือนประเทศต่าง ๆ อีกคือ มาเลเซีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ "การรับรอง" สถาบันกษัตริย์ไทยจากทางสากลตามมาด้วยการเยี่ยมของกษัตริย์จากมาเลเซียและสหราชอาณาจักร
(79) ดูรายละเอียดใน อ้างแล้ว, หน้า 410 - 25 Thak ยังระบุถึงการมีส่วนร่วมโดยตรงและในการจัดตั้งของฝ่ายราชวงศ์ ในการรณรงค์การโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์และต้านการก่อการร้ายต่าง ๆ
(80) ความตั้งใจของสฤษดิ์ในการรับผิดชอบแต่ผู้เดียว (โดยส่วนตัว) ในการประหารชีวิตและในการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล สอดคล้องกันอย่างดีกับสไตล์ของกษัตริย์ไทยสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 25
(81) ดูข้อความเต็มและกฎระเบียบใหม่ของฉบับปี 2505 ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์ (กรุงเทพ ฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2506) ในระบบปกครองคณะสงฆ์ปี 2584 แบ่งเป็นสามส่วน โดยที่อำนาจปกครองแบ่งกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ระบบปี 2505 สร้างระบบอำนาจเดียวที่เป็นทั้งตุลาการ อาจารย์โยเนโอะ อิชิอิ กล่าวไว้ถูกต้องว่า ระเบียบใหม่ "ทำลายความคิดของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวใจของกฎอันเก่าลงไปอย่างสิ้นเชิง" (ดูงานของเขา "Church and State in Thailand" Asian Survey, 8:10 (October 1968), p . 869) เข้าใจว่าเป็นครั้งแรกด้วยกระมัง ที่ยอมให้มีการจับพระภิกษุโดยอำนาจฝ่ายรัฐ (ตำรวจ) โดยไม่ต้องปรึกษากับฝ่ายคณะสงฆ์ก่อน
(82) ในกรณีนี้ดู Somporn , "Rightist Phoenix", p . 384 และ S. J. Tambiah, World Conqueror and World Renouncer (Cambridge: Cambridge Universety Press, 1976 ) pp. 257 - 60 แม้พระพิมลธรรมกับพระศาสนโสภณ จะได้รับการพิพากษาว่าบริสุทธิ์จากศาลแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายนำของคณะสงฆ์ที่ยังขลาด ฉ้อฉล หรือริษยา ก็ไม่ยอมคืนตำแหน่งสมณศักดิ์ให้แก่พระทั้งสอง หลังเหตุการณ์ตุลาคม 2516 มีการเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ เพื่อเรียกร้องการคืนสมณศักดิ์ แต่ก็พับไป ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม 2518 บรรดายุวสงฆ์ทำการอดอาหารประท้วงที่วัดมหาธาตุในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ จนกว่าสมเด็จพระสังฆราชจะยอมพิจารณาเรื่องนี้เสียใหม่ (The Nation, Jan 13, 1975) การสไตรค์สร้างความฮือฮา และในวันที่ 17 มกราคม พระสังฆราชทรงยอมตามข้อเรียกร้องสัญญาว่าจะคืนสมณศักดิ์ให้ภายในหนึ่งเดือน (Bangkok Post, January 18 ,1975) ในที่สุดในวันที่ 30 มกราคม คณะกรรมการสงฆ์พิเศษทำการชำระเรื่องทำให้พระทั้งสองบริสุทธิ์ (Bangkok Post, February 23 , 1976)
พระสังฆราชที่ร่วมกับสฤษดิ์ในการสร้างเรื่องแต่แรก คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สิ้นพระชนม์อย่างน่าเศร้าสลดในอุบัติเหตุรถยนต์ในวันที่ 18 ธันวาคม 2514 คนไทยหลายคนเชื่อว่าอุบัติเหตุนี้เป็นการชดใช้กรรมเก่าที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
(83) ดู Charles F. Keyes, "Buddhism and National Integration in Thailand," Journal of Asian Studies, 30:3 (May 1971) , pp . 551 - 67 , โดยเฉพาะ pp . 559 - 65 : และดู Ishii, "Church and State," pp . 864 - 71
(84) เมื่อสฤษดิ์ผู้สนับสนุนพุทธศาสนาถึงแก่อสัญกรรม เรื่องถึงแดงออกมาว่าเขากอบโกยเงินจาการคอรัปชั่นไว้ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอนุภรรยากว่า 80 คน ดู Thak. "The Sarit Regime," pp . 427 - 30 ซึ่งอ้างแหล่งข้อมูลจากในประเทศของเรื่องนี้มากมาย
(85) ความเข้าใจนี้เห็นได้จากการบรรยายอย่างไม่เข้าใจในบทว่าด้วย "Education and Society" ใน Smith et al., Area Handbook, pp . 175 - 77
(86) ดูบทความของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง "Protests divide the monkhood" Bangkok Post , Febuary 23, 1975 ดู Kaufman, Bangkhuad, หน้า 224 - 6 ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในด้านสภาพของชุมชนท้องถิ่น ดูเหมือนว่าคำวิจารณ์แดกดันพฤติกรรมเลวร้ายของพระผู้ใหญ่ จะเป็นที่ได้ยินทั่วไปในหมู่ประชามหาชนประมาณกลางปี 2514 ดูได้จากตัวอย่าง เช่น พระมหาเสถียรพงษ์ ปุณณวัณโณ "พระสงฆ์ไทยในรอบ 25 ปี" ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ 9:6 (ธันวาคม 2514),หน้า 28 สำหรับข้อความดังกล่าวนี้ ผมเป็นหนี้ต่อบทความที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ "The Buddhist Monkhood in Thai Politics" โดย สมบูรณ์ สุขสำราญ ในระหว่างช่วงของการประท้วงและเดินขบวนที่นำไปสู่การล้มถนอมและประภาสนั้น พระสงฆ์เข้าร่วมมากขึ้น ๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่มีความเห็นอกเห็นใจนักศึกษา
(87) เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2517 พระจำนวน 100 รูปผนึกแขนกันร่วมเป็นแนวหน้าในการเดินขบวนครั้งใหญ่ร่วมกับชาวไร่ชาวนา ซึ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ 11 วันก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน ดู สมบูรณ์ สุขสำราญ "The Buddhist Monkhood" หน้า 6 คงจะคาดเดาได้ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาและ "ฝ่ายเป็นกลาง" ทั้งหลายที่เฝ้ายืนยันอย่างหน้าตาเฉยว่า คณะสงฆ์อยู่เหนือการเมืองมาตลอด และควรเป็นไปเช่นนั้น
ในวันที่ 9 ธันวาคม พระมหาจัด คงสุข พระ "หัวรุนแรง" ได้ประกาศจัดตั้งสหพันธ์ชาวพุทธไทย เพื่อสนับสนุนการทำให้คณะสงฆ์เป็นประชาธิปไตย และจัดการศึกษาพุทธศาสนาให้เป็นไปเพื่อบริการสังคม (ประชาธิปไตย 9 ธันวาคม 2517 และดู Bangkok Post, December 10-12 , 1974) การประท้วงอดอาหารที่กล่าวถึงในเชิงอรรถ 82 ข้างต้นซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2518 นั้น ก็จัดโดยกลุ่มที่เรียกว่า "ยุวสงฆ์" ซึ่งเรียนรู้การจัดตั้งทางการเมืองอย่างดีจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2517
(88) ดูตัวอย่างเช่น คำกล่าวของพระมหาจัด คงสุขในการสัมมนา "ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธอย่างแท้จริงหรือ" พิมพ์ใน ผ่าตัดพุทธศาสนา (กรุงเทพฯ: ภาพสุวรรณการพิมพ์, 2517) หน้า 48 - 9 อ้างใน สมบูรณ์ สุขสำราญ "The Buddhist Monkhood" หน้า 22
(89) ข้อมูลที่ดีที่สุดเกี่ยวกับบทบาทและความคิดทางการเมืองของกิตติวุฒโฑ คืองานของ Charles F. Keyes "Political Crisis and Militant Buddhism in Contemporary Thailand," ใน Bordwell Smith, ed., Religion and Legitimation of Power in Thailand, Burma, and Laos, (Chambersburg, Pa: Wilson, 1977) บทความนี้มีข้อวิเคราะห์เยี่ยมเกี่ยวกับคำกล่าวแสนดังของกิตติวุฒโฑ ปี 2519 ที่ว่า
"ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" อาจารย์คายส์ อ้างถึงคำกล่าวนี้ว่า "การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจเราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน .....เหมือนเราฆ่าปลา แกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า" ข้อความนี้มาจากของกิตติวุฒโฑเอง คือ ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป (กรุงเทพฯ: มูลนิธิอภิธรรม วัดมหาธาตุ, 2519) แม้ว่าหนังสือพิมพ์ฝ่ายเสรีนิยม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ และกลุ่มอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าแอนตี้พุทธ ตามคำกล่าวนี้จะประท้วงอย่างรุนแรง ตลอดทั้งการที่กิตติวุฒโฑเป็นสมาชิกในองค์กรลับ ๆ ฝ่ายขวาจัด คือ นวพล (ดูเชิงอรรถที่ 94) ก็ตาม มหาเถรสมาคม องค์กรชั้นสูงของคณะสงฆ์ ก็ปฏิเสธที่จะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีแม้แต่คำปราม ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการไล่พระมหาจัด คงสุข และพระรูปอื่น ๆ ออกจากวัดในฐานที่ "มีกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ"
(90) โปรดดู ธเนศ "ความเคลื่อนไหว"หน้า 30
(91) โปรดดู Naher, "Stability" หน้า 1101
(92) ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือผลงานอันหลากหลายของจิตร ภูมิศักดิ์ นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ที่ปราดเปรื่อง ผู้เป็นทั้งกวี นักภาษาศาสตร์ นักเขียน และนักวิจารณ์สังคม จิตรถูกสังหารโดยตัวแทนของเผด็จการเมื่ออายุเพียง 36 ปี งานเขียนส่วนใหญ่ของจิตรถูกสั่งเก็บ และทำลายหลังจากพิมพ์ออกมาได้ไม่นาน บางส่วนก็ยังเป็นต้นฉบับที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์จนกระทั่งปี 2517 ที่จริงแล้วชื่อของจิตรนั้นต้องห้ามในสมัยถนอม - ประภาส อย่างไรก็ตามระหว่าง 2517-18 หนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตรก็ได้รับการตีพิมพ์ถึงสามครั้ง และกลายเป็นคัมภีร์ของคนหนุ่มสาวหัวรุนแรงรุ่นนั้น
(93) อาการที่สำแดงออกมาชัดคือ ข้อความที่โกรธขึ้งดังต่อไปนี้ของกรมประชาสัมพันธ์ สมัยรัฐบาลธานินทร์ เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2519 ว่า "วัฒนธรรมของเรา รักษามาได้ด้วยบรรพบุรุษและประเพณี กลับถูกละเลย ถูกหาว่าล้าสมัยว่าเป็นไดโนเสาร์เต่าพันปี หรือไม่ก็เป็นสัตว์ที่สูญหายไปแล้ว บางคนถึงกับไม่เคารพบิดามารดา นักเรียนไม่เคารพครูบาอาจารย์ กลับไปรับอุดมการณ์ต่างด้าวโดยไม่รู้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อวัฒนธรรมของเรา ทั้งยังไม่ฟังคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์นั้นเป็นอย่างดี ความมั่นคงของชาติถูกคุกคามมาตลอด 3 ปี ใครก็ตามที่แสดงความห่วงใยต่อความมั่นคงของชาติก็ถูกเยาะเย้ย และหาว่าเป็นซากเดนของระบบราชการโดยคนที่เรียกตนเองว่ามีหัวก้าวหน้า ..." FBIS Daily Report, November 8 , 1976
(94) น่าสนใจที่ว่าสมาชิกขององค์กรขวาจัด นวพล ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 (ซึ่งเชื่อกันว่า นายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นสมาชิกด้วยนั้น) ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสูงอายุหรือไม่ก็กลางคนแล้ว ส่วนใหญ่อาจารย์เหล่านี้ได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศระดับรอง และก็มีประวัติเชลียร์เผด็จการมานาน และก็โกรธแค้นนักที่ถูกวิจารณ์ต่าง ๆ ถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนที่อายุอ่อนกว่า (ซึ่งมักจะมีปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นดี และก็ได้รับอิทธิพลและอุดมคติจากขบวนการต่อต้านสงคราม) ในกรณีสำคัญ ๆ หลายกรณี อาจารย์มหาวิทยาลัยอาวุโสถูกขับไล่เพราะคอรัปชั่น เกียจคร้านเหลือหลาย ไร้ประสิทธิภาพ และก็คอยสปายนิสิตนักศึกษาให้กับราชการ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับนวพล โปรดดู Keyes, "Political Crisis" หน้า 8 -12
(95) คดีแรกคือนักศึกษากิจกรรมฝ่ายซ้ายชื่อ ประเดิม ดำรงค์เจริญ ถูกกล่าวหาว่าโจมตีกษัตริย์ในบทกวีที่เขียนให้กับนิตยสารนักศึกษาฉบับหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก ประเดิมโชคดีที่ถูกปล่อยตัวพ้นข้อหาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2518 (ดูรายละเอียดใน The Nation, March 1, 1975)
ส่วนคดีที่สองเป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อ เสนีย์ สูงนาท ถูกข้อหาว่าหมิ่นสมเด็จพระราชินีโดยวิพากษ์วิจารณ์พระราชเสาวนีย์ลงในหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา ดาวสยาม เสนีย์ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2519 (ดู ประชาชาติรายสัปดาห์ เล่ม 15 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2519 หน้า 36) การลงโทษนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวานี้เป็นการชี้อย่างชัดเจนว่าการดำเนินการเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มิใช่เป็นการกระทำของฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่มาจากความตื่นกลัวทางด้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
(96) Kaufman , Bangkhuad, หน้า 229 -31 งานนี้ดีเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งในบรรยากาศของชุมชนท้องถิ่น
(97) รัฐบาลถนอม - ประภาสรีบเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับพนมเปญทันที และในฤดูร้อนของปี 2513 ก็เกือบจะส่งทหารเข้าไปกัมพูชาเพื่อสนับสนุนระบอบลอนนอล และการ "รุกเข้าไป (ในกัมพูชา)" ของอเมริกา - เวียดนามใต้ แม้ในต้นพุทธทศวรรษ 2490 เมื่อกษัตริย์เขมร นโรดม สีหนุ เสด็จมากรุงเทพฯในขบวนการ "ราชภารกิจกู้ชาติ" และเอกราชกัมพูชา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ปฏิบัติต่อพระองค์อย่างไม่สมพระเกียรติโดยไม่ค่อยจะปิดบังนัก โปรดดู Roger M. Smith, Cambodia's Foreign Policy (Ithaca, NY: Cornell University Press, 1975) หน้า 48
อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชาก็ไม่ได้ถูกปล่อยไว้โดยที่ไม่มีการฉวยประโยชน์จากชายแดนด้านนี้ ตัวอย่างเช่น กิตติวุฒโฑ ก็ให้คำอรรถาธิบายว่า ที่มาของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของตน ก็เพราะคอมมิวนิสต์ฆ่าเขมรในตอนปลายของสงครามกลางเมืองในกัมพูชา
(98) ในช่วงนั้น ทางการทหารเพียงกลุ่มเดียวมีสถานีวิทยุมากกว่าครึ่งทั่วประเทศ และเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงสถานีเดียว ทั้งนี้จากข้อมูลของ National Anti-Fascism Front of Thailand, " Three Years of Thai Democracy" ใน Thailand Information Resource, NO. 1 (May 1977) หน้า 3
(99) พลตรีประมาณ มีชื่อเสียงเป็นหุ้นส่วนกับธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่น เป็นคู่เขยกับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ผู้ฉาวโฉ่ ซึ่งความทารุณโหดร้ายในตอนปลายพุทธทศวรรษ 2480 และต้นพุทธทศวรรษ 2490 มีรายละเอียดตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว
(100) นที "Village Scouts" p. 35 อ้างว่าหลายชั่วโมงก่อนการสังหารหมู่ ค่ายฝึกลูกเสือชาวบ้านที่นครปฐมได้จัดแสดงการฆ่าและแขวนคอ "นักศึกษาชั่ว" และยังยืนยันว่าฆาตกรตัวจริงบางคนมาจากค่ายนี้
(101) ลานโพธิ์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ระดับชาติของการต่อต้านเผด็จการ จากลานโพธิ์นี้เองที่การประท้วงเริ่มขึ้นและล้มถนอม-ประภาสเมื่อเดือนตุลาคม 2516
(102) ควรสังเกตด้วยว่า ดาวสยาม ตั้งขึ้นโดยตัวแทนตามแบบฉบับของเศรษฐีใหม่ และก็มีคอลัมน์กิจกรรมลูกเสือชาวบ้านประจำ ผู้บริจาครวย ๆ และกลุ่มกิจกรรมอาจจะเห็นชื่อของตนได้รับการตีพิมพ์ หรือแม้แต่ได้ใกล้ชิดกับราชวงศ์ ตลอดจนได้ร่วมวงกับผู้ลากมากดี ข้าราชการชั้นสูง หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงเหมาะสมสำหรับใช้จุดรณรงค์รวมพลลูกเสือชาวบ้านได้เร็วและโหด
(103) บุคคลสำคัญของสถานีวิทยุยานเกราะ คือ พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นพระญาติพระวงศ์ ดู Far Eastern Economic Review February 11 , 1977 บทบาทสำคัญของเขาในการเสสร้างเรื่อง 5 -6 ตุลาคม นี้ เป็นเครื่องชี้ถึงความเกี่ยวพันของ... กับการล้มรัฐบาลที่มาโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญและรัฐสภา นักสร้างความเกลียดชังอีกคนหนึ่ง คือ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ และเป็นนายกชมรมวิทยุเสรี
(104) ประหลาดแต่ก็เป็นบุคลิกปกติ ที่สัญญาณของความตื่นตระหนกว่า จักรวาลจะถล่มทลายนี้เกี่ยวพันกับการที่รัฐบาลธานินทร์สั่งแบนการสอนทฤษฎีการเมืองของวงการศึกษาทั้งหมด (รวมทั้งของฝ่ายขวาด้วย) โปรดดู New York Times, October 21, 1975 และ Far Eastern Economic Review, Nov 5, 1976
(105) เรื่องนี้เห็นชัดจากการกระจายเสียงวิทยุของขบวนการต่อสู้ในป่า และจากใบปลิวที่แจกทั่วไปในกรุงเทพฯ น่าสนใจที่มีเครื่องชี้ว่า มีกลุ่มฝ่ายขวาเองที่ไม่พอใจและก็วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ใช่ในเรื่องสถาบันแต่ก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล
(106) ในการวิเคราะห์ที่เสนอในบทความนี้ ผมได้ตั้งใจเน้นปัจจัยใหม่ ในวงโคจรของการเมืองไทย แน่นอนผมไม่ได้หมายความที่จะเสนอว่าชั้นชนกระฎุมพีใหม่ เป็นมากไปกว่าปัจจัยระดับรองในโครงสร้างอำนาจในกรุงเทพฯ พวกนี้ดูจะเป็นปัจจัยรองที่ไม่น่าเชื่อถือได้จากทัศนะของกลุ่มชนชั้นปกครองด้วยซ้ำไป
ภายหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม เห็นได้ชัดว่าคณะทหารพยายามกลับคืนสู่รูปแบบเก่าของการปราบปราม "เชิงบริหาร" ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได ้กระทิงแดงถ้าไม่ถูกทำให้เงียบลงก็ถูกส่งไปรบในเขตเหนือ อีสาน และปักษ์ใต้ (ซึ่งมีรายงานว่าบาดเจ็บสาหัส) นวพลก็ได้รับการสนับสนุนให้เงียบหายไป
ส่วนพันโทอุทาร ถูกย้ายออกจากการควบคุมรายการสถานีวิทยุยานเกราะ บรรดานายพลระดับสูงที่มีความเป็น "กลางๆ" ทั้งหมดดูอยากจะบริหารรัฐบาลในแบบของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสเสียมากกว่า แต่น่าสงสัยว่าคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว กระฎุมพีใหม่ได้ออกมาอยู่ทั่ว ทั้งเจ้าที่ดินต่างจังหวัดใหม่ๆ ก็ออกมาแล้วเช่นกัน พันธมิตรเก่าที่ว่านี้จะโยนทิ้งก็ไม่ได้ จะทำไม่รู้ไม่ชี้ก็ไม่ได้ และปัญหาของชนชั้นใหม่นี้ก็อาจจะแก้ไม่ได้โดยบรรดาท่านนายพล การบูมก็คงจะไม่กลับมาอย่างทรงพลังแบบเก่า
อุดมการณ์ที่ปราศจากรอยแยกที่มีมาในอดีตก็คงจะเอากลับคืนมาไม่ได้
คนว่างงานเพิ่ม ระบบราชการโตจนตีบตัน มหาวิทยาลัยขัดกันในตัวเองอย่างแก้ไม่ตก
กลุ่มฝ่ายขวาได้มีประสบการณ์การเข้าร่วม และก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกถีบออกไป
ยักษ์ใหญ่ได้ถูกปล่อยออกมาจากขวดเสียแล้ว และก็จะเป็นการยากยิ่งที่คณะทหารหรือใครก็ตามที่สืบทอดอำนาจ
จะจับมันกลับใส่เข้าไปในขวดได้อีกครั้งตลอดไป
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
หลังจากครองอำนาจได้ 5 ปี สฤษดิ์ก็ป่วยเป็นโรคตับแข็งตาย แต่ถนอมกับประภาสผู้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจยังคงดำเนินนโยบายตามแนวของเขาต่อไป
ทั้งสองขึ้นครองอำนาจเกือบพอดีกับจังหวะที่ลินดอน จอห์นสัน ยกระดับสงครามเวียดนามให้รุนแรงขึ้น
และพวกเขาก็เข้าฉวยโอกาสที่ปรากฏขึ้นด้วยเหตุนั้นอย่างฉับไว
วอชิงตันถูกยุยงให้ถือสยามเสมือนหนึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์ที่จอดนิ่งอยู่กับที่
ดังปรากฏว่าใน 2511 อันเป็นปีสุดยอดนั้น มีทหารสหรัฐฯเกือบ 50,000 คนอยู่บนผืนแผ่นดินไทย
และอเมริกาได้รับอนุญาตให้สร้างและใช้งานฐานทัพใหญ่ 8 แห่ง รวมทั้งที่ตั้งทางทหารย่อยอีกหลายสิบ
ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองไทยจะได้บำเหน็จรางวัลในรูปความช่วยเหลือทางทหารเท่านั้น
แต่การที่อเมริกันแห่กันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยขนานใหญ่เช่นนี้ ยังส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคก่อสร้างและบริการ
ถ้าจะว่าตัวเศรษฐกิจบูมเองถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุนและใช้จ่ายของอเมริกา
(และญี่ปุ่น) แต่ลักษณะวิธีการที่ไทยเข้าไปร่วมเสพรับดอกผลของมันนั้น ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลนโยบายของระบอบปกครองไทยเองอย่างมีนัยสำคัญ
ในบรรดานโยบายเหล่านี้ นโยบายหนึ่งซึ่งสำคัญขั้นชี้ขาดที่สุดได้แก่คำสั่งยุคต้นของสฤษดิ์ให้ยกเลิกเพดานจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน
50 ไร่ที่เคยใช้อยู่ทิ้งเสีย26(26) คำสั่งฉบับนี้ปูพื้นฐานทางกฎหมายให้แก่การเก็งกำไรที่ดินขนานใหญ่
ซึ่งยังคงเร่งทำกันสืบไปตราบเท่าที่เศรษฐกิจยังบูมอยู่ และกระแสคลื่นการเก็งกำไรนี้ก็หาได้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯไม่