Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

กำเนิดระบอบและอาณานิคมตัวตนสยาม-ไทย
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กับการอธิบายเรื่องนามประเทศ

กำพล จำปาพันธุ์
นักวิชาการอิสระ สาขาประวัติศาสตร์ไทย

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับการอธิบายเรื่องนามประเทศ
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙:
กำเนิดระบอบและอาณานิคมตัวตนสยาม-ไทย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 974
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 24.5 หน้ากระดาษ A4)




สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับการอธิบายเรื่องนามประเทศ
กำพล จำปาพันธ์ : นักวิชาการอิสระ สาขาประวัติศาสตร์ไทย

ความย่อ
บทความนี้ต้องการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างและนิยามอัตลักษณ์แห่งชาติ ผ่านพระนิพนธ์อธิบายเรื่องนามประเทศสยามของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้งบางประเด็นในพระนิพนธ์ชิ้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน พบว่าอัตลักษณ์แห่งชาตินอกจากจะมีที่มาจากการพยายามสร้างความแตกต่างและเป็นอื่น โดยเปรียบเทียบกับตัวตนของชนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์กันแล้ว ยังเป็นการสร้างความแตกต่าง เป็นอื่น และเฉพาะเจาะจง โดยเปรียบเทียบกับชนเชื้อชาติเดียวกันด้วย "ไทยสยาม" (ที่ศูนย์กลาง) กับชนชาติไทยในที่อื่น ๆ จึงไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างจริงแท้อีกต่อไป

๑.ปัญหาเบื้องต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว :
"กรุงสยามอันนี้ไม่ปรากฏในเรื่องใดเล่าได้เป็นชาติยืนยาว มีเจ้าแผ่นดินปกครองมาเกิน ๑,๓๐๐ ปี… ที่ได้ความว่ามีชื่อกรุงสยามขึ้น ตั้งแต่พงศาวดารเหนือเป็นอย่างช้า แต่ในพงศาวดารเหนือนั้นกล่าวกำหนดสร้างเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นราชธานีมหานครใหญ่ในกรุงสยามฝ่ายเหนือ มีกำหนดพุทธศักราชและจุลศักราชเลอะเทอะจะมีสอบสวนอย่างไรก็ไม่ได้ความ จะรับเอาเป็นแน่แท้จริงก็ไม่ได้ ด้วยเรื่องราวนั้นก็มีแต่เหาะเหิรเดินอากาศ ทำฤทธิเดช และอัศจรรย์ต่าง ๆ มากไปจนเกินไม่ควรเชื่อ" (1)

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ :
"ที่ฉันใช้คำเรียกท่านทั้งหลายแต่ว่า 'ชาวสยาม' เรียกโดยตั้งใจด้วยเห็นว่า เราทั้งหลายที่มานั่งอยู่ด้วยกันในเวลานี้ถึงว่ามีที่เกิดในตระกูลชั้นต่าง ๆ กัน เป็นเจ้าบ้าง เป็นคุณบ้าง เป็นนายบ้างก็ตาม แต่ข้อนั้นไม่สำคัญเท่ากับข้อที่เป็นชาวสยาม" (2)

หลวงวิจิตรวาทการ :
"ปัญหามีอยู่ข้อเดียว คือ ตัวเลขศักราช ที่ นายเลออง เดอ รอสนี เขียนไว้นั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะความเจริญของไทยอย่างที่อธิบายในเอกสารฉบับนี้ดูเป็นของใหม่ขนาดสมัยอยุธยา ตัวเลขศักราช ที่ นายเลออง เดอ รอสนี เขียนไว้ว่าตรงกับ ค.ศ. ๖๐๗ ( คือ พ.ศ. ๑๑๕๐ นั้น ) เป็นเวลาก่อนตั้งราชอาณาจักรน่านเจ้าเสียด้วยซ้ำ ประเทศ "สยาม" ยังไม่เกิดแน่" (3)

๒.อรรถาธิบายและกล่าวนำฯ
ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งในสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ หลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งการเมืองในราชสำนักไม่เป็นที่น่าไว้ใจ เนื่องจากไม่เป็นที่โปรดปรานดังเช่นในรัชกาลก่อน ระหว่างนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (4) ทรงมีงานพระนิพนธ์ออกมาหลายชิ้นด้วยกัน ควบคู่กับการรวบรวมประชุมพงศาวดารที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนั้น รวมทั้งที่ทรงสามารถเข้าถึงหรือค้นพบเพิ่มเติม พระองค์มักทรงเขียนคำอธิบายแทรกลงไว้ด้วย บางครั้งเขียนแยกไว้ต่างหาก บางครั้งเป็นการตัดต่อ แก้ไข เสริมความ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าคำอธิบายของพระองค์นั้นมีประโยชน์ต่อผู้อ่านสมัยหลังเป็นอย่างยิ่ง หลายคนยืนกรานตามคำอธิบายนั้นอย่างซื่อตรง ควบคู่กับที่ความจงรักภักดีทางวิชาการในหมู่นักศึกษาประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นสม่ำเสมอมาแล้ว ก่อนหน้า (นับหลายปีทีเดียว) ที่ "ประวัติศาสตร์" ก็จักกลายเป็นเช่นเดียวกับความรู้แขนงอื่น ๆ คือถูกทำให้เป็นเพียงเครื่องมือทำกินของนักวิชาการอาชีพ ความเชี่ยวชาญเฉพาะที่รับรองสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศ

ที่ว่าคำอธิบายของพระองค์มีประโยชน์นั้นหาใช่แค่ในแง่การอ่าน หรือการทำความเข้าใจพงศาวดารที่ทรงรวบรวมขึ้น หากแต่ยังมีประโยชน์ในแง่ที่อาจช่วยให้เราเห็นถึงร่องรอยเบื้องหลัง แรงบันดาลใจ และเป้าหมายที่ทรงมีอยู่ในการนิพนธ์นั้น ๆ ด้วย พระนิพนธ์คำนำของพระองค์ใน "พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา" นอกจากเราจะได้เห็นท่าทีที่น่าประทับใจ ความอ่อนน้อมของพระองค์ที่มีต่อความรู้เกี่ยวกับอดีตแล้ว แน่นอนว่าเรายังอาจจะได้เห็นถึงข้อจำกัดของยุคสมัยที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการทำงานของพระองค์ ตลอดจนเบื้องหลังพระดำริที่จะประพันธ์ "พงศาวดารสยาม" ขึ้นเพื่อหวังให้ใช้เป็นงานพงศาวดารที่ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับพงศาวดารของต่างประเทศ แต่ก็ช้าเกินกาลที่จะกล่าวถึงหรือให้ภาพวิธีการนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ของพระองค์ ชั้นหลังนี้อาจต้องก้าวไปอีกขั้นด้วยการลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่ทรงนิพนธ์เป็นการเฉพาะ (5)

ในจำนวนคำอธิบายที่ทรงมีอยู่มากชิ้นด้วยกันนั้น คำอธิบายเรื่องนามประเทศสยามมีความสำคัญ เบื้องต้นนั่นสะท้อนว่า คำอธิบายของพระองค์ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเบ็ดเตล็ดตามที่มักปรากฏในพงศาวดารที่ทรงรวบรวมขึ้นเท่านั้น หากเป็นอธิบายที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องที่เฉพาะเจาะจงเกินกว่าที่พงศาวดารเก่าได้ให้ไว้ และเป็นเหมือนสรุปย่อความเข้าใจของพระองค์ที่มีต่อพงศาวดารหลากหลาย ปะปนกัน เพราะฉะนั้นการจะพิจารณาคำอธิบายนี้ของพระองค์จึงต้องคำดูอธิบายอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าพระองค์ประสบความสำเร็จพอสมควรในการชี้ให้เห็นอดีตอันยาวนานของประเทศ ( สยาม ) สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ก็ทรงฐานะเยี่ยง "บุรุษพิเศษ" ที่อยู่คู่ประเทศ ( สยาม ) มาโดยตลอด (6) แง่นี้มิพักต้องกล่าวถึงว่าไม่มี "สตรีพิเศษ" ในคำอธิบายของพระองค์ "ไทยรบพม่า" จะมีก็แต่วีรสตรีหรือนางแก้ว เช่น พระสุริโยทัย ราษฎรสามัญชนยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมีแต่ไพร่ราบพลเลวที่ขึ้นต่อเจ้านายและส่วนกลาง ชาวบ้านบางระจันก็ถูกมาอยู่ในบริบทนี้

ส่วนแง่มุมที่ต่างออกไป เช่น การเป็นอิสระในการรวมกลุ่มกันต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันนั้น อยู่นอกเหนืออำนาจบงการของระบบไพร่อยุธยา ไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร ภาวะตัวตนทางเพศ และสถานะความแตกต่างระหว่าง "ชั้น" เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างตัวตนระดับชาติ (7) แม้แต่กรณีขุนนางที่มีอำนาจซึ่งดูจะไม่เข้ากับกรอบนี้เลย บางครั้งก็กลับถูกทำให้ต้องอ่อนด้อยเมื่อเทียบกับพระมหากษัตริย์ของพระองค์ (8) แต่เราจะแสดงอาการฉงนสนเท่ห์ต่อพระองค์อย่างไรได้ในเมื่อทรงยึดถือเรื่องนี้จริงจังทีเดียว เช่นที่ทรงเคยกล่าวไว้ที่หนึ่งว่า :

"บรรดาคนทั้งหลายถึงจะต่างโดยฐานันดรศักดิ์สูงต่ำเพียงใด นอกจากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวแล้ว ก็ย่อมนับเป็นข้าแผ่นดินด้วยกันทุกคน มีหน้าที่ในส่วนที่เป็นข้าแผ่นดินเป็นอย่างเดียวกันทุกคน" (9)

ในแง่นี้แล้วสิทธิความเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งตรงกันข้ามและขัดกันอยู่โดยนัย ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกลายเป็นปกติวิสัยที่ต้องใช้เป็นมาตรฐานของความเท่าเทียมกัน การปรากฏขึ้นของนิพนธ์คำ "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม" เป็นไปอย่างเงียบงันจนแทบไม่มีใครให้ความสำคัญ

แม้มีงานถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาชื่อประเทศและตัวตนความเป็นชาติระหว่างสยามและไทย ได้มีออกมามากมายหลายชิ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับจากที่หลวงพิบูลสงครามกับพรรคพวกร่วมกันทำให้ "ไทย" ได้เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ และกระทั่งมีงานคลาสสิคออกมา เช่น "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" โดยนักวิชาการอิสระนาม จิตร ภูมิศักดิ์ จนถึงงานสำคัญโดยปราชญ์ชั้นครูอย่าง "สยามประเทศ" ของศรีศักร วัลลิโภดม เป็นต้น

ทั้งนี้อาจเพราะทรงนิพนธ์ไว้นานแล้ว คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พิมพ์ซ้ำอีกครั้งก็ใน ๒๕๑๙ ล่วงมาแล้ว ทั้งการพิมพ์ก็เป็นลักษณะผนวกไว้ราวกับเป็นหัวข้อซึ่งไม่มีความสลักสำคัญอันใด ไม่ใช่เนื้อหาของเรื่องหลัก ๆ แต่ในการพิมพ์ครั้งแรกอธิบายดังกล่าวจะอยู่ในหน้าแรก ๆ ส่วนข้อเรื่องหลังจากนั้นเป็นส่วนที่หนุนเสริมคำอธิบายดังกล่าวด้วยซ้ำ ทั้งนี้แม้ว่าเรื่องชื่อประเทศเมื่อครั้งก่อนปี ๒๔๘๒ ยังไม่เป็นประเด็นปัญหามากเท่าสมัยหลัง ก่อนนั้นดูเหมือนพระนามกษัตริย์และบุญญาธิการของพระองค์จะสำคัญกว่ามาก อาจฟังดูเป็นเรื่องเปราะบางและหยุมหยิม เราอาจดูเบาหรือล้อเลียนเช่นว่า ชื่อนั้นสำคัญไฉน ? ชื่อนั้นใช่กำหนดตัวตนอย่างแท้จริง ?

แน่นอนว่า นั่นมีส่วนถูกอยู่บ้างแต่ก็ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะชื่อประเทศนั้นครอบคลุมถึงคนจำนวนมาก หรือแม้แต่ชื่อรองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวหรือชื่อใคร ชื่ออะไรก็ตาม ก็เป็นส่วนย่อยที่สะท้อนส่วนรวม รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและอุดมการณ์บางอันที่สังคมมีอยู่ การวิเคราะห์เรื่องชื่อ ตัวตน ความหมาย ความรู้ และความทรงจำ จึงเป็นทางผ่านสู่การวิเคราะห์อำนาจและความขัดแย้งในทางประวัติศาสตร์

๓.สาระสำคัญ, ความหมาย และความลักลั่น: สยามและเมืองไทย
เรื่องคำอธิบายเกี่ยวกับนามประเทศ ( สยาม ) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า "ไทยเราพึ่งมาใช้คำสยามเป็นนามของประเทศในทางราชการ ต่อในรัชกาลที่ ๔" (10) ก่อนหน้านั้นตามแบบธรรมเนียมพระราชอาณาจักร ( ไม่ใช่ประเทศ ) ชื่อเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลาง เช่น กรุงศรีอยุธยา จะถูกใช้เรียกในลักษณะที่อาจเทียบเคียงความสำคัญได้เท่ากันนี้ ซึ่งแม้ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น กรุงศรีอยุธยาก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้ พระเจ้าแผ่นดินก็จะถูกเรียกพระนาม เช่นว่า "พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา"

ความแตกต่างระหว่างรูปแบบรัฐอันมีนัยสำคัญ ปรากฏเห็นร่องรอยก็ต่อเมื่อช่วงสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำเนินโยบายเปิดประเทศทำสนธิสัญญากับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงพระราชดำริในองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเห็นว่า ที่ใช้คำว่า กรุงศรีอยุธยา นั้นไม่เหมาะ เพราะ "เป็นแต่นามราชธานีเก่า" (11) อีกทั้งต่างประเทศยังนิยมเรียกเป็นอย่างอื่นไปอีก

ทั้งนี้เหตุผลที่ทรงโปรดให้เลือกใช้ "ประเทศสยาม" กลับสะท้อนให้เห็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ อิทธิพลจาก "นานาประเทศ" เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเลือกใช้คำว่า "สยาม" ก็เนื่องจากทรงเห็นว่า "นานาประเทศเรียกนามอยู่ว่า ประเทศสยามทั่วกันแล้ว จะใช้นามอื่นหาเหมาะไม่" (12)

เบื้องต้นตรงนี้อาจทำให้หลายคนเห็นว่า ไม่มีแง่มุมทางประวัติศาสตร์ในการพิจารณา "สยาม" ไม่เป็นชื่อที่มีความสำคัญของมันเอง ทั้งเป็นคำที่ต่างประเทศใช้เรียกอีก ทั้งนี้ที่จริงข้อดีของการเลือกใช้ชื่อที่เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศขณะนั้นคือ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะประกาศตัวออกจากความเป็นชาติ "ป่าเถื่อน" ( อย่างน้อยคือในสายตาฝรั่งต่างด้าว )

เหตุฉะนั้นการที่ "สยาม" เข้าสู่ยุคศิวิไลซ์ ที่จริงสิ่งสะท้อนโดยนัยจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นประวัติที่มาของคำ "สยาม" นั้นเอง เส้นแบ่งระหว่าง "สยามใหม่" กับ "สยามเก่า" จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะชี้ชัดจริง ๆ เท่าไรนัก เนื่องจาก "สยาม" ในฐานะชื่อประเทศ ( ไม่ใช่ราชอาณาจักร ) นั้นเป็นคำใหม่แม้ในขณะนั้น หากยึดตามแนวอธิบายนี้เราคงต้องหาคำอื่นสำหรับเรียกยุคสมัยก่อนหน้านั้นเสียแล้ว "สยามเก่า" เป็นคำที่ไม่อาจใช้ได้อย่างสมเหตุสมผลอีกต่อไป

เมื่อพูดถึง "สยาม" คำที่มักใช้ปนเปกันเสมอเห็นจะได้แก่ คำว่า "เมืองไทย" แต่คำทั้งสองนี้ ( สยาม - เมืองไทย ) มีความหมายแตกต่างกันอยู่ เพราะ "คำว่าเมืองไทยนั้น ตามภาษาหมายความว่าเป็นที่อยู่ของชนชาติไทย เมืองใดชาวเมืองเป็นชนชาติไทย ก็เรียกเมืองนั้นได้ว่าเมืองไทย" (13) ส่วน "สยาม" หมายความเฉพาะดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ และด้วยเหตุเดียวกันนี้ "เมืองไทย" ในทัศนะกรมพระยาดำรงฯ ก็จึงไม่ใช่คำที่สามารถนิยามเรียกชาวเราในอดีตได้อย่างลงตัวแต่ประการใด คนไทยอาจหมายรวมถึงคน "ไท" ในประเทศอื่นด้วย เมืองหรือประเทศดังกล่าวก็อาจถือเป็น "เมืองไทย" ตามนัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน สำนึกเรื่องอาณาเขตดินแดนเห็นจะยังไม่มีความสำคัญมากเท่าเรื่องคนเรื่องชนชาติ สำหรับการสร้างตัวตนและความเป็นอื่นนี้ กรมพระยาดำรงฯ ทรงมีความเห็นต่อไปว่า :

"ก็ชนชาติไทยมีหลายพวกหลายเหล่าด้วยกัน เช่น พวกไทยใหญ่ ( เงี้ยว ) พวกลื้อ พวกเขิน พวกพวน พวกผู้ไทย และพวกโท้ทางแดนตังเกี๋ย และในแดนจีนข้างฝ่ายใต้ก็ยังเป็นถิ่นสถานของชนชาติไทย เมืองของไทยพวกนั้น ๆ ก็นับว่าเป็นเมืองไทย เพราะฉะนั้นถ้าว่าโดยทางภาษา เมืองไทยมีมากมายหลายแห่ง หาเฉพาะแต่ประเทศของเราเท่านี้ไม่" (14)

ทั้งนี้การยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไทยในลักษณะดังกล่าวหา ได้เป็นไปโดยปราศจากเงื่อนไขไม่ เพราะในความเห็นของพระองค์นั้นยังมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นมากอยู่ คือความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความหลากหลายที่ยอมรับกันว่ามีอยู่จริงในพระดำริของพระองค์นั้น เป็นความหลากหลายที่ต้องถูกกดทับไว้ใต้เบื้องพระยุคลบาท กล่าวคือแม้ชนชาติไทยจะมีอยู่มากมายหลายแห่ง แต่ที่สำคัญที่พระองค์จะทรงเน้นย้ำเสมอได้แก่ ชนชาติไทยที่ขึ้นต่อบรมโพธิสมภารในองค์กษัตริย์ไทย "คนไทย" จึงมีความหมายแฝงความเป็นพสกนิกรหรือไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ในทางกลับกันก็ทรงเป็น "เจ้าอยู่หัว" "เจ้าแผ่นดิน" และ "เจ้าชีวิต" ของ "คนไทย" นั่นเอง พูดง่าย ๆ คือความจงรักภักดี มีส่วนกำหนดอย่างมีนัยสำคัญต่อความเป็นตัวตนของคนไทยด้วยนั่นเอง

แน่นอนว่านอกจาก "ไทย" แล้วยังมีชนชาติอื่นอีกที่ประกอบรวมกันเป็นประเทศชาติบ้านเมือง "สยาม" เอง พระนิพนธ์กรมพระยาดำรงฯ ยังให้ข้อมูลตรงไปตรงมาตามที่พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่า ( สยาม ) เคยตกเป็นของชนชาติอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น มอญ ขอม และละว้า ( ลาว ) การที่ชนชาติไทยเป็นใหญ่หรือ ได้มีอำนาจเหนือชนชาติอื่นในแดน "สยาม" นี้จึงเป็นประเด็นน่าพิจารณาในพระนิพนธ์อีกชิ้นหนึ่ง (15) ดังทรงอธิบายว่า

เหตุที่ชนชาติไทยได้เป็นใหญ่ในสยามประเทศนั้น "เป็นเพราะมีกำลังมากกว่าชนชาติอื่นซึ่งปกครองอยู่ก่อนนั้น" การสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยก่อนไม่ได้เป็นไปโดยสงบราบรื่น หากแต่มีนัยถึงการรุกรานมากกว่าปกป้อง สิทธิเหนืออาณาบริเวณสยามจึงเป็นสิทธิของการมีอำนาจเป็นเจ้าเข้าครอบครอง เสรีภาพเหนือที่ดินทำกินของราษฎรอาจไม่เป็นเสรีภาพในความหมายที่เป็นความจริงแท้ เพราะถูกกดทับโดย "สิทธิ" และ/หรือ "อำนาจ" อีกชนิดหนึ่ง (17)

จากจุดดังกล่าวนี้ ผลก็คือการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการผลิต ทั้งในรูปของภาษีอากร และอื่น ๆ ดูจะมีความชอบธรรมและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ดินจะถูกถือเป็นของพระมหากษัตริย์ ราษฎรหามีกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริงไม่ พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็น พระ "เจ้าแผ่นดิน" ควบคู่กับที่ทรงเป็น "เจ้าชีวิต"

ชั้นต้นความหมายของคำ "สยาม" ถูกนิยามไปในแง่บวก "สยาม" อาจหมายถึงประเทศที่อุดมด้วยทองคำและเป็นที่อยู่ของชนชาวจำพวกผิวคล้าม (หรือ คล้ำ) อาศัยที่ทรงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนา การเข้ามาของพระโสณเถระกับพระอุตรเถระ ครั้งเมื่อพระเจ้าอโศกปรารถนาจะเป็นมหาธรรมมิกราช จัดเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังเขตแคว้นต่าง ๆ การแพร่หลายของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ รวมทั้งเรื่องราวการประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ไปยังลังกาทวีป ฯลฯ ล้วนแต่ถูกผนวกรวมเข้ากับอดีตอันยิ่งใหญ่ของ "สยาม" ผลสำเร็จก็คือ "สยาม" ในพระนิพนธ์พระองค์ท่านเป็นมากกว่าชื่อประเทศ เพราะการผนวก "สยาม" เข้ากับประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอันล้ำค่าอย่างหนึ่งของงานนิพนธ์ของพระองค์

เพราะนอกจากจะสามารถชี้ให้เห็นอดีตอันรุ่งโรจน์และสร้างความต่อเนื่องยาวนานให้กับ "ประเทศสยาม" แล้ว "ประเทศสยาม" ยังจะได้เป็นศูนย์กลางของพุทธภูมิอีกด้วย แม้ว่ามาตรฐานความยิ่งใหญ่ที่ทรงมีนี้ไม่อาจไปไกลถึงขั้นทำ "สยามประเทศ" ให้เทียบเท่ากับที่พุทธภูมิเดิม เช่น ชมพูทวีป เคยเป็นมาก่อน เพราะไม่ว่าอย่างไร "สยามประเทศ" ก็ไม่อาจตั้งอยู่หรือมีมาแต่ครั้งพุทธกาล การจะนิพนธ์ให้องค์พระศาสดาเจ้าและเหล่าสาวกของพระองค์กระทำอิทธิปาฏิหาริย์เหาะเหินเดินอากาศมายังอาณาบริเวณสยามนี้ เช่นที่จารีตการเขียนพงศาวดารตำนานเก่าเคยทำกัน ก็ดูจะเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่อยู่ในวิสัยที่นักประวัติศาสตร์รุ่นกรมพระยาดำรงฯ จะทรงกระทำหรือเห็นคุณค่าในทางนั้น

แต่ในกรณีลังกาทวีป ศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งนี้ไม่เหมือนกัน เนื่องจากพบความเสื่อมโทรมในภายหลัง จนต้องส่งสมณฑูตมาทูลขอพระสงฆ์สยามวงศ์จากพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปให้อุปสมบทแก่ชาวสิงหล ลังกาประเทศ เกียรติประวัติ ซึ่งเดิมเป็นของกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแต่ถูกละเลยโดยกล่าวไว้ใน พระ "ราช" พงศาวดาร "ย่อนัก" ก็กลับได้รับการอรรถาธิบายเสริมต่อมาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ และถือเป็นพระเกียรติคุณอันเป็นที่ประจักษ์ของพระมหากษัตริย์ราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ ๑, รัชกาลที่ ๒, รัชกาลที่ ๓, รัชกาลที่ ๔ ล้วนทรงกระทำพระราชกรณียกิจสำคัญนี้เป็นประเพณีสืบต่อกัน กล่าวคือทรงนิยมส่งสมณฑูตเป็นตัวแทนไปทะนุบำรุงบวรพุทธศาสนาในลังกาทวีป จาก "มาตรฐานความยิ่งใหญ่" ก็ผสมผสานกับ "มาตรฐานความดีงาม" ตามแบบฉบับขององค์มหาธรรมราชา

พระนิพนธ์ชิ้นสำคัญหนึ่ง แต่งไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๕๙ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า :

"การที่พระอุบาลีออกไปให้อุปสมบทแก่ชาวสิงหฬครั้งนั้นเป็นการสำคัญ ทั้งในส่วนสนองคุณที่ชาวลังกาได้มีแก่ไทยเรามาในเรื่องการพระศาสนา แลเป็นการสำคัญที่ไทยเราได้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรอยู่ในโลกนี้ด้วย เมื่อว่าโดยย่อ ที่พระสงฆ์ยังมีอยู่ในลังกาทวีปจนวันนี้ เพราะไทยเราเองเป็นผู้ไปตั้งกลับให้มีขึ้น"

จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม การที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของกรมพระยาดำรงฯ เน้นเรื่องราวแวดล้อมอยู่ที่ "รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม" กล่าวคือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของปัญญาชนชั้นนำยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ต้องการสถาปนาความเป็นองค์อธิปัตย์ให้กับพระมหากษัตริย์ อดีตที่มีขึ้นด้วยอคติ ความรัก ความชัง และแรงปรารถนาทางการเมืองในลักษณ์ดังกล่าว จึงเป็นอดีตที่มีความเป็นจริงอยู่เพียงบางด้านเท่านั้น การจะเข้าใจที่มาของตัวตนของเราจึงเป็นเรื่องที่ยังเหนื่อยยากอยู่พอสมควร เช่นเดียวกับข้อผิดพลาดที่ตกทอดมาสู่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังที่ยึดถือพระมติของพระองค์ (19) และที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ เป็นข้อผิดพลาดลักษณะเดียวกับที่เกิดแก่นักประวัติศาสตร์ยุโรปร่วมสมัยอย่างรังเก ( Ranke ) และมอมเซน ( Mommsen ) ด้วย (20)

อย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ การกลับปรากฏว่า สาระเนื้อหาของประวัติศาสตร์บางฉบับถูกลดทอนลงเหลือเพียงด้านการเมืองในหมู่ชนชั้นนำ การแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน การทำสงคราม การฑูต การเผยแผ่พระเกียรติและพระธรรม การพระราชพิธี ฯลฯ กลายเป็นสารัตถะของประวัติศาสตร์อย่างไม่น่าจะเป็น ไม่ต้องพูดถึงโอกาสและลมหายใจของประวัติศาสตร์สามัญชน ซึ่งเกิดในระยะใกล้เคียงกัน ควบคู่กับกระแสความเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ ๒๔๗๐ จะงอกงามและเติบใหญ่อีกครั้งก็ในยุคของขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย สรุปคือล่าช้าเสียจนเกือบเสื่อมสูญ ไม่นับกับสภาพการณ์ที่กระแสการเมืองที่รองรับประวัติศาสตร์ดังกล่าว ยังต้องเผชิญการกีดกันและการทำลายล้างจากฝ่ายชนชั้นนำทางอำนาจอยู่เนือง ๆ

ประวัติศาสตร์การเมืองที่ว่าทรงเน้นเป็นพิเศษนั้น อันที่จริงจำกัดอยู่เพียงในรั้ววังและเรื่องราวของชนสูงศักดิ์ผู้ทรงอำนาจจากในนั้น ประวัติศาสตร์การเมืองของพระองค์จึงยังไม่ใช่ประวัติศาสตร์การเมืองในความหมายแบบสมัยใหม่ ที่เน้นความมีส่วนร่วมของประชาชนและความเป็นองค์อธิปัตย์ในฐานะพลเมือง หากแต่ยังมีคุณลักษณะบางอย่างยังเป็น "ประวัติศาสตร์การปกครอง" ( ของกษัตริย์ ) เสียส่วนมาก

เบื้องต้นนั่น อาจหมายถึงสภาพที่ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างราษฎรกับฝ่ายอำนาจนำที่ศูนย์กลาง มิติเรื่องความเท่าเทียมกันนั้นก็อย่างที่กล่าวในตอนต้น คือจะบรรลุถึงได้ก็แต่ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน ในแง่นี้ชื่อประเทศ ประชาชน และผู้ปกครอง แสดงออกผ่านถ้อยคำ ๆ เดียวกัน ประเทศถูกเรียกขานในนาม "ประเทศสยาม" ( หรือ "กรุงสยาม" ) ประชาชนก็เป็น "ชาวสยาม" หรือ "ชาติสยาม" ( ในบางกรณี ) (21) และพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองก็จึงทรงเป็น "พระสยามินทร์" ( ผู้เป็นใหญ่ในดินแดนสยาม ) (22) "สยาม" เป็นคำที่มีนัยความหมายเกี่ยวข้องกับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตรงจุดนี้ และกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงผลิตงานออกมาได้สมกับพระราชทินนามของพระองค์ (23) ส่วนความหมายในด้านที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น เช่น พุทธศาสนา กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายต่อไปดังนี้ :

"...คำว่า "สยาม" นั้น เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลนัยหนึ่งว่า "คล้าม" หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่า "ทอง" เมื่อใช้เรียกเป็นนามประเทศว่า "สยามประเทศ" จึงหมายความว่า เป็นประเทศที่อยู่ของมนุษย์จำพวกผิวคล้าม หรือมิฉะนั้นหมายความว่าเป็นประเทศที่เกิดทองคำ ความอย่างหลังสมด้วยเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา ซึ่งแต่งในภาษามคธกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชให้พระโสณกับอุตรเชิญพระศาสนามาประดิษฐานใน "สุวรรณภูมิ" ประเทศ คือ ประเทศ "อู่ทอง"

คำที่เรียกว่าสยามประเทศจะหมายความว่ากระไรก็ตาม แต่เป็นคำภาษาสันสกฤต ข้อนี้เป็นหลักฐานว่า เป็นนามที่ชาวมัชฌิมประเทศเรียกก่อนจะเป็นพวกที่อยู่ในอินเดีย หรือพวกที่มาได้เป็นใหญ่อยู่ในเมืองขอมเรียกก่อนก็ได้ทั้งสองสถาน พิเคราะห์ดูเห็นมีเค้าเงื่อนว่า พวกชาวมัชฌิมประเทศที่มาเป็นใหญ่ในเมืองขอมจะบัญญัติขึ้น ด้วยมีอักษรจารึกไว้ที่รูปภาพในพระนครวัดแห่งหนึ่งว่า "รูปชาวสยาม" ดังนี้" (24)

๔.สุวรรณภูมิ, เสียมกุก, เสียมหลอก๊ก และ "สยาม"
สำหรับผู้ที่พอจะคุ้นเคยกับพระนิพนธ์กรมพระยาดำรงฯ มาบ้าง ก็อาจนึกถึง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" (25) การให้อรรถาธิบายความเป็นมาของคำ "สยาม" เกี่ยวโยงถึงความสำคัญในพระนิพนธ์ชิ้นนั้น กล่าวคือ เป็นการบันทึกย่อความคิดเห็นและความเข้าใจของพระองค์ที่มีอยู่ในพระนิพนธ์ชิ้นนั้น มิพักต้องสงสัยแง่หนึ่งว่า การแปล "สยาม" ว่า "คล้าม" หรือ "ทอง" นั้นยากแก่การพิสูจน์หรือสร้างความน่าเชื่อถืออันใด การที่ทรงระบุถึงประวัติที่มาของคำนั่นต่างหากที่สามารถชี้ชวนให้เห็นความสำคัญ

เพราะภาษาและคำต่างก็มีอดีตเป็นของตนเอง เพียงแต่ว่าอดีตของคำและความหมายนั้น อาจมีหลักฐานที่แตกต่างออกไปจากอดีตของเรื่องอื่น ๆ บ้าง แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะเอาอดีตมาสื่อสารกับคนปัจจุบันด้วยคำและภาษา แต่นั่นก็ใช่ว่าอดีตจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาให้เห็นกัน ณ ปัจจุบันได้ ด้วย ภาษา คำ และความหมายโดยตัวมันเองก็วิวัฒน์มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเวลาเช่นกัน คำและความหมายในปัจจุบันจึงมีข้อจำกัดในการนำพาผู้คนซึมซาบหรือเข้าถึงกับอดีต ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าคำในอดีต ซึ่งเราอาจพบเห็นจากหลักฐานชั้นต้น จะช่วยให้เราเข้าใจอดีตตามที่เป็นจริงแต่อย่างใด

เพราะว่า ความหมาย และ/หรือ ความเข้าใจของเราในปัจจุบัน มักจะต่างจากความหมายที่มีในอดีต แม้เป็นคำเดียวกันก็ตาม ในทางกลับกันหากพบว่าคำและความหมายนั้น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงผิดไปจากในอดีต นั่นย่อมเท่ากับว่าคำและความหมายนั้น ๆ ได้ตายจากไปแล้ว ( หรืออาจกำลังจะตายในเร็ววันนี้ ) เหตุผลนั้นง่ายนิดเดียวเพราะมีแต่สิ่งที่ตายไปแล้วเท่านั้นที่จะหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ตรงข้ามหากคำใดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของความหมายและบริบทการใช้ นั่นย่อมสะท้อนความมีชีวิตชีวาและความเป็นประวัติศาสตร์ของคำนั้นโดยตัวมันเอง ประวัติศาสตร์จริง ๆ คือสิ่งที่ยังไม่ดับสูญ ความเป็นประวัติศาสตร์แท้จริงก็คือการทำให้เรื่องนั้น ๆ ได้มีชีวิต มีการรับรู้ และมีพื้นที่ความทรงจำกันต่อไป

ด้วยเหตุฉะนั้น การที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงให้ความสำคัญกับคำ "สยาม" แต่พิจารณาคำนี้ในลักษณะที่ค่อนข้างจะดูหยุดนิ่ง ทั้งในแง่ของความหมายและบริบทการใช้ จึงมีผลทำให้คำ ๆ หนึ่งแทนที่จะมีความสำคัญดังที่ทรงตั้งความหวังไว้ กลับต้องพบกับความตายในที่สุด "เสียมกุก" ที่ปราสาทหินนครวัดที่แม้พระองค์จะทรงเคยตั้งข้อสงสัยว่าอาจไม่ใช่คนไทย ในพระนิพนธ์เรื่อง "นิราศนครวัด" กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงการ เสด็จทอดพระเนตรปราสาทหินนครวัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ตอนหนึ่งทรงเล่าว่า :

"ส่วนกองทัพหลวงของพระเจ้าแผ่นดินนั้น เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑมีอยู่ทัพเดียว กระบวนแห่ข้างตอนหน้ามีอักษรจารึกบอกไว้ว่า "ชาวสยาม" ตอนหนึ่ง "ชาวละโว้" ตอนหนึ่ง รูปชาวละโว้แต่งตัวเหมือนกับขอม แต่รูปชาวสยามนั้นแต่งตัวแปลกไปอย่างหนึ่ง จะพึงเห็นได้ในสมุดรูปนครวัดที่เขาพิมพ์ใหม่ แต่ที่เรียกว่าชาวสยามครั้งนั้นจะเป็นไทยหรือมิใช่ไทย ข้อนี้สงสัยอยู่" (26)

แต่ก็กลับทรงหยิบยกเอา "รูปชาวสยาม" ดังกล่าวมาอธิบายปะปนกับศัพท์ "เมืองไทย" เช่นว่า สยาม "เป็นประเทศที่เราผู้เป็นชนชาติไทยครอบครอง จะเรียกว่าเมืองไทยก็ถูกเหมือนกัน" (27) ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กรมพระยาดำรงฯ จะทรงเริ่มจาก "สยาม" และมีการกลับหัวเป็นท้ายกันเกิดขึ้น กล่าวคืออธิบาย "สยาม" ว่าเป็นคำดั้งเดิม ไม่ใช่คำที่เพิ่งเกิด หรือมีรากมาจากคำอื่น เช่น คำว่า "เสียม"

ตรงข้าม "สยาม" กลับเป็นรากของ "เสียม" ดังที่ทรงอธิบายไว้ในที่หนึ่งที่ว่า "ประเทศที่จีนเรียกว่า "เสียม" มาจากคำ "สยาม" หมายความว่า ราชอาณาจักรสุโขทัยเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย" (28) ปกติการอธิบายอดีตด้วยคำปัจจุบันมักมีข้อจำกัด ซ้ำยังสร้างปัญหามากกว่าจะสร้างความเข้าใจอะไรในอดีตที่เป็นจริง ( ซึ่งหมายถึงหรือสื่อถึงอะไรก็ตามแต่ ) กรณีกรมพระยาดำรงฯ ทรงแทนที่คำในอดีตด้วยมาตรฐานคำปัจจุบันเลยทีเดียว ผิดกับที่ทรงให้เหตุผลไว้ที่อื่นในภายหลัง เช่น กรณีที่ทรงนิยมใช้คำ "พงศาวดาร" มากกว่า "ประวัติศาสตร์" (29)

เช่นเดียวกัน แต่แตกต่างในรายละเอียด "เสียมก๊ก" ตามจดหมายเหตุจีนที่ทรงกล่าวโดยเชื่อมโยงคำ "สยาม" ทั้งที่ "เสียมหลอก๊ก" ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับรัตนโกสินทร์ทศวรรษ ๒๔๓๐ ถึง ๒๔๗๐ แต่ดูเหมือนความแตกต่างที่ว่านี้ไม่ได้รับความสนพระทัยแต่อย่างใด สงครามระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับสุโขทัยที่จบลงด้วยการที่ฝ่ายหลังยอมอ่อนน้อมต่อฝ่ายแรก พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ต้อง "ออกมาถวายบังคม" ต่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช ( พงั่ว ) ที่เมืองกำแพงเพชร ราวปี พ.ศ. ๑๙๒๒ (30) กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของสองราชอาณาจักร และเกิดประเทศสยามแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ดังที่ทรงแสดงอรรถาธิบายไว้อีกที่หนึ่ง เช่น :

"เมืองไทยฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้จึงรวมเป็นประเทศเดียวกันแต่นั้นมา ตรงตามจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า เสียมก๊ก กับ หลอฮกก๊ก รวมกันเป็น "เสียมหลอฮกก๊ก" ประเทศอื่นก็เรียกประเทศที่รวมกันว่า "ประเทศสยาม" " (31)

ทั้งที่การรวมศูนย์อำนาจแท้จริงเกิดขึ้นก็เมื่อมีการยกเลิกหัวเมืองประเทศราช จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นในทศวรรษ ๒๔๓๐ และผู้มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้นเอง การที่ทรงอธิบายกำเนิดของประเทศโดยนับย้อนกลับไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จึงเป็นการอำพรางรากกำเนิดที่แท้จริงของ "สยาม" และยังเป็นการปิดเร้นต่อการกระทำของฝ่ายนำทางอำนาจร่วมสมัย การรวบอำนาจดังกล่าวสร้างอาณานิคมภายในจากท้องถิ่นต่าง ๆ ขึ้นมาด้วย จักรพรรดิราชแห่งกรุงศรีอยุธยากลายเป็นมหากษัตริย์ผู้สร้างสยามประเทศไป ทั้งที่ข้อมูลหลักฐานไม่เอื้อแก่การตีความเช่นนั้น เพราะจักรพรรดิราชนั้นสถานะคือกษัตริย์ของกษัตริย์ ไม่ใช่กษัตริย์ของราษฎรเช่นสมัยหลัง และ "ประเทศ" สำหรับรัฐจารีตจักรวรรดิแล้วความหมายเทียบเพียงแว่นแคว้นที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง กรมพระยาดำรงฯ เสนอข้อมูลซึ่งขัดกันเองไว้ในที่ใกล้เคียงกันอย่างน่าฉงน เพียงแต่ทรงรอมชอมว่า :

"แม้รวมอาณาเขตกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศเดียวกันแล้ว การปกครองภายในบ้านเมืองยังเป็น ๒ อาณาเขต ต่างมีพระเจ้าแผ่นดินด้วยกันต่อมาอีกช้านาน" (32)

ขณะที่การปกครองประเทศตามระบอบรัฐรวมศูนย์นั้น "กษัตริยานุภาพ" ในช่วงเวลาหนึ่งจะมีได้เพียงหนึ่งองค์เท่านั้น เพียงเพื่อสร้างอดีตให้กับการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง กรมพระยาดำรงฯ ทรงยอมรับข้อมูลชั้นสองจาก "จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยาม" (33) ที่พระเจนจีนอักษร ( สุดใจ ตัณฑากาศ ) เจ้าหน้าที่หอพระสมุดวชิรญาณ แปลจากหนังสือจีน ๕ เรื่อง ได้แก่ ๑. เรื่องหวงเฉียวบุ๋นเหียนทงเค้า ๒. คิมเตี่ยซกทงจี่ ๓. ยั่บสีซื้อ ตอนเหม็งซืองั่วก๊กเลียดต้วน ๔. คิมเตี่ยซกทงเตี้ยน และ ๕. กึงตังทงจี่ โดยเลือกแปลเฉพาะบางตอนที่กล่าวถึงประเทศสยามเท่านั้น จากนั้นเรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาเจ้าพระยายมราชได้พิมพ์เผยแพร่ในงานฌาปนกิจศพพระยารัษานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ( คอมซิมบี้ ณ ระนอง ) เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ (34)

หนังสือจีน ๕ เรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือหลวงที่พระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์ไต้เชง แผ่นดินเขียนหลง ให้กรรมการข้าราชการตรวจจดหมายเหตุเก่าว่าด้วยเมืองต่างประเทศที่เคยมีไมตรี ( ในรูปการค้าและจิ้มก้อง ) แก่ "กรุงจีน" แล้วทำการชำระรวบรวมขึ้นใหม่ในปีที่ ๔๒ ตงอัว ตรงกับปีระกา จุลศักราช ๑๑๓๙ ปี พ.ศ. ๒๓๒๐ รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี คิมเตี้ยซกทงจี่ เป็นปีที่ ๓๒ เตงหาย ตรงกับปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ ปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง (35) หวงเฉียวบุ๋นเหียนทงเค้า กล่าวถึง "เสียมหลอก๊ก" ก่อนปี พ.ศ. ๑๙๒๒ ด้วยซ้ำไป ดูเหมือนการวิพากษ์หลักฐานจะถูกเพิกเฉยไปชั่วขณะนั้นเอง...

๕.นามประเทศ, เพศ และอัตลักษณ์แห่งชาติ
นามประเทศมีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่าง "สยาม" และ "ไทย" ทั้งในแง่การนิยามความหมายและบริบทการใช้ เป็นผลจากสำนึกทางประวัติศาสตร์และโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่อีกต่อหนึ่ง ด้วยคุณลักษณ์ที่เป็นนามธรรมอย่างสูง "สยาม" และ "ไทย" จึงปรากฏโฉมจริง ๆ ก็เพียงในคราบภาษาและไวยากรณ์ที่กำกับอยู่ โดยเหตุที่เป็นการนิยามจากศูนย์กลางอำนาจ ชายขอบออกไปจึงถูกกระทบกระทำในระดับตัวตนนั้นด้วย เราจะเห็นการกดปราบหรือการพยายามทำให้เป็นสยาม และเป็นไทย ยกเลิกรากความเป็นตัวตนที่แตกต่างออกไปจากศูนย์กลาง...

ก่อนที่ภาวะทางเพศและการผสมผสานข้ามชาติพันธุ์ - ข้ามวัฒนธรรมจะเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์นิพนธ์ทั้งไทยและเทศในศตวรรษที่ ๒๐ เพราะโครงร่างความเป็นตัวเป็นตนในช่วงแรกเริ่มของกระบวนการสร้างขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ภาวะทางเพศและปัญหาการนิยามตัวตนระหว่างชาติพันธุ์ อันเกิดจากการแต่งงานข้ามชาติและการสืบสายเลือดจากบิดาและมารดาที่แตกต่างกันทางชาติพันธุ์ แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะเริ่มปรากฏโฉมขึ้นตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารท ทรงขาดคุณสมบัติในการขึ้นครองราชย เนื่องจากทรงอภิเษกสมรสกับหญิงชาวรัสเซียผู้หนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ แม้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จะทรงเป็นพระราชโอรสที่มีอาวุโสสูงก็ตาม อย่างไรก็ตามก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการแต่งงานต้องห้ามข้ามชาติพันธุ์นี้เป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติมากกว่า เพราะในระยะใกล้เคียงกันนั้น ก็มักปรากฏเสมอว่าบรรดาเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ ในดินแดนทางแถบภาคกลางของประเทศได้แต่งงานข้ามชาติพันธุ์กับลาว เขมร และจีนมานานหลายศตวรรษแล้ว (36)

แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงนิยมสมรสกับเจ้าต่างนครจากหัวเมืองต่าง ๆ โดยมักถือว่ายิ่งราชจักรีวงศ์สามารถแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ได้มากเพียงใด ก็ยิ่งจะแสดงให้เห็นอำนาจบารมีและความสำเร็จของการปกครองมากขึ้นเท่านั้น ในแง่นี้การแต่งงานในความหมายที่เป็นการอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ เป็นเครื่องแสดงออกซึ่งความใคร่ที่มาพร้อมกับอำนาจ การสร้างอาณานิคม การป้องกันการขัดขืน (หรือก็คือการข่มขืนอย่างเป็นระบบนั่นเอง) สร้างความยอมรับ เชื่อฟัง และจงรักภักดีแบบผัวกับเมียและเครือญาติขึ้นมา เพราะไม่มีรูปแบบความสัมพันธ์ใดจะให้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จมากเท่าการยัดเยียดความเป็นผัว/เมียไปให้ "ชีวิตเจ้า" แท้จริงจึงเป็นชีวิตที่ตกอยู่ในวังวนของอำนาจ กามารมณ์ ความรักจอมปลอม ความลวง และการกดขี่บีบคั้นที่สุด

แต่ในกรณีการแต่งงานข้ามเชื้อชาติไปที่ฟากฝั่งตะวันตก แม้ตะวันตกจะเป็นผู้หญิง เช่น กรณีชายาเจ้านายบางพระองค์ ก็ตาม แต่ด้วยความที่เป็นเชื้อสายตะวันตกนั้นมาพร้อมกับอำนาจ วัฒนธรรม ความรู้ ที่ดูเหนือกว่า บางครั้งชนชั้นนำสยามจึงรู้สึกได้ถึงการเป็นผู้เสียเปรียบมากกว่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ ความระแวงและระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้บ่อยครั้งนำมาซึ่งความตึงเครียด เพราะเคยชินแต่กับการเป็นชายที่กอบโกยประโยชน์จากฝ่ายหญิง เป็นผู้เหนือกว่า และการแต่งงานข้ามเชื้อชาติอย่างนั้น ยังอาจเสี่ยงต่อการนำมาซึ่งมิติความเท่าเทียมและรู้เท่าทัน มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบเจ้ากับไพร่ในครัวเรือนเช่นดังก่อน

ขณะเดียวกันจากความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจนี้เอง ทำให้เกิดการพยายามปรับตัวเปลี่ยนแปลง โดยลอกเลียนรูปแบบความสัมพันธ์ที่ชายผู้เป็นใหญ่ชาวตะวันตกมักกระทำต่อหญิงพื้นเมือง หรือชายในการปกครองที่ถูกกระทำเยี่ยงสตรีในบงการ รวมถึงอาณัติสัญญาต่าง ๆ ความเท่าเทียมกันแบบจอมปลอมภายใต้ฉลากของประเทศชาติบ้านเมือง และพระมหากษัตริย์ที่ทรงอำนาจรวมศูนย์ ความรักความศรัทธาอย่างสูงจึงเกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความใคร่และอารมณ์ปรารถนา พร้อมกันนั้นความแตกต่างหลากหลายก็ถูกสยบจบลงเมื่อเผชิญกับอีกสิ่งหนึ่งที่ทรงอำนาจเหนือกว่า และอยู่สูงเกินกว่าจะเอื้อมถึง ความจง "รัก" ภักดีที่ประชาชนชาวสยามมีต่อพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์เป็นความจง "รัก" ภักดีที่ไม่อาจเอื้อมถึงหรืออยู่สูงเกินไป ไม่อาจเป็นจริงได้ แต่ก็เป็นที่ตราตรึง โหยหา และชวนฝัน

กระนั้นก็ตาม ความเท่าเทียมบางด้านได้เกิดขึ้นในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือในการสำราญพระราชหฤทัยกับกิจการกองเสือป่าของพระองค์ งานเขียนหลายชิ้นทั้งจากแวดวงวิชาการและสารคดี มักสะท้อนว่าสามัญชนมีสิทธิได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ และทรงวางพระองค์อย่างเป็นกันเองกับพระสหายเพศเดียวกันเหล่านั้น แต่ปรากฏว่าพระสหายที่ว่า ก็มักจะใช้โอกาสที่ได้ใกล้ชิดพระองค์เป็นบันไดก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญในระบบราชการ (37) ในแง่นี้ความเท่าเทียมบางอย่างสามารถเป็นที่มาของความเหนือกว่าหรือความไม่เท่าเทียมกันก็ได้

สำหรับรัชกาลต่อมา ขณะเดียวกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีโอกาสกลับเข้ามารับตำแหน่งงานสำคัญในอภิรัฐมนตรีสภา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ความเคารพนับถือ รองลงจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์หลังนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคารพถึงขนาดถือว่าทรงเป็นพระบิดาของพระองค์ แม้จะพระชนมายุห่างกันเพียง ๑๕ ปีก็ตาม และงานนิพนธ์ตลอดพระชนม์ชีพกล่าวได้ว่า ล้วนแต่บรรจุเนื้อหาตัวบทที่สนองตอบต่อพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะงานด้านการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและพระมหากษัตริย์สยาม สร้างความชอบธรรมด้วยการให้คำอธิบายต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุผล ความถูกต้องเหมาะสมสำหรับการรวมศูนย์อำนาจ โดยที่ความสัมพันธ์ที่กำหนดนั้นคือความผูกพันธ์ทางสายเลือดและความรู้สึกทางใจที่มีให้แก่ชายผู้เป็นที่รักและเคารพ ( พระบิดา ? )

กรณีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงครองราชย์ในสถานการณ์ที่ง่อนแง่นพอสมควร ความช่วยเหลือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะเชื้อพระวงศ์ชั้นอาวุโสและอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่งทางการ เป็นไปในลักษณะญาติผู้ใหญ่ที่ต้องคอยให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ (38) ระยะนี้เองที่ความคิดที่จะหวนคืนสู่สมัยปฏิรูปแบบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่กล่าวขาน เห็นเป็นทางออกสำหรับยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็สายเกินกาล ทั้งไม่เข้ากับกรอบของยุคสมัยเสียแล้ว หลายอย่างไม่อาจหวนกลับเป็นดังเดิมอีกต่อไป รูปแบบการจัดการที่ละม้ายคล้ายคลึงกับวิธีการจัดการภายในครัวเรือนซึ่งเคยใช้ได้ผลกลับทำให้ประสบปัญหาอย่างยิ่งสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน การฟื้นบทบาทเจ้าขนานใหญ่ในรัชสมัยสุดท้าย นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดแหลมคมจากเหล่าบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ

ขณะที่ข้อดีเพียงเล็กน้อย เช่น ภายในโครงสร้างอำนาจที่ฝ่ายราชวงศ์ธำรงสถานะเป็นกลุ่มชนชั้นนำ ความแตกต่างหลากหลายสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากความจงรักภักดีที่มีต่อพระมหากษัตริย์ "สยาม" จึงเป็นที่รวมของชนหลายหมู่เหล่าที่แตกต่างกันทั้งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ภาวะตัวตนทางเพศ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นเงี้ยว แขก ลาว มอญ กะเหรี่ยง ข่า ขมุ ฯลฯ ต่างสามารถมีพื้นที่และความเป็นตัวตนของตนเองอยู่ได้บ้าง เพียงแต่เงื่อนไขคือต้องขึ้นต่อ "สยาม" และ "เมืองไทย" ทั้งในแง่ภาษาและทางการเมือง ฯลฯ ถูกนำไปใช้ได้ผลจริงก็เพียงในบทพระนิพนธ์ที่ยังตกทอดมาถึงปัจจุบันเท่านั้น

แต่จากอิทธิพลของพระนิพนธ์เหล่านั้นก็ทำให้เป็นที่รับรู้กันต่อมาว่า "สยาม" เน้นอาณาเขตดินแดน แม้จะมีนิยามอื่นที่มุ่งหมายถึงผู้คนอยู่บ้าง เช่นที่เรียก "ชาวสยาม" แต่จุดสำคัญนั้นอยู่ที่อาณาเขตฯ และความจงรักภักดี เหตุฉะนั้นระดับท้องถิ่นจึงมีความหละหลวมและผ่อนคลายอยู่พอสมควรสำหรับการเป็นอื่น อาศัยที่ "สยาม" เองเป็นชื่อที่ดูเป็นกลางให้ความหมายครอบคลุมอาณาบริเวณทั้งศูนย์กลางและชายขอบออกไป ด้านหนึ่งจึงดูเป็นการบดบังสถานะนำของศูนย์กลางเองด้วย คือไม่ใช้ชื่อศูนย์กลาง เช่น อยุธยา หรือ กรุงเทพฯ สำหรับเป็นชื่อเรียกอาณาเขตที่หมายครอบรวมทั้งหมด แต่ใช้อีกชื่อหนึ่ง เช่น "ราชอาณาจักรสยาม" และ/หรือ "สยามประเทศ" เป็นต้น (39)

หรือเมื่อจะใช้ "ไทย" ซึ่งมีนัยเปี่ยมด้วยคติทางประชาชาติ ความมุ่งหมายก็ดุจกัน สงครามระหว่างอุยุธยากับหงสาวดีและอังวะ อยุธยากับละแวก ก็จึงกลายเป็นสงครามไทยรบพม่า และไทยรบเขมร ไปอย่างไม่ควรจะเป็นไปได้ ในแง่นี้ความเท่าเทียมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะถูกนิยามโดยสัมพัทธ์กับสิ่งอื่น รวมทั้งชื่อ และความเป็นตัวตนอย่างอื่น จะถูกยกถูกเชิดไว้ให้มีสถานะนำ เหนือกว่า สูงส่งกว่า ไปโดยปริยาย ไม่ใช่ความเท่าเทียมโดยตัวมันเอง อยุธยาและกรุงเทพฯ จึงมีสถานะนำต่อส่วนอื่น ๆ ซึ่งก่อตัวเป็นรัฐหรือเป็นประเทศในภายหลัง ด้วยวิธีการสร้างตัวตนอย่างอื่นขึ้นมาครอบรวม ให้ดูเสมือนตัวเองก็ตกอยู่ในสถานะถูกชี้นำถูกยึดโยงไม่ต่างไปกว่ากัน อยุธยา และ กรุงเทพฯ กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามไม่ต่างจากพิษณุโลก เชียงใหม่ สงขลา ปัตตานี ฯลฯ

สิ่งนี้เป็นฐานรากสำคัญสำหรับการเกิดขึ้นของรูปแบบรัฐประชาชาติในเวลาต่อมา และทั้งตัวตนทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดเอาจากการจัดทำแผนที่แสดงอาณาเขตประเทศ ก็เกิดจากฐานรากนี้เป็นสำคัญ นอกเหนือจากผลกระทบและแรงกดดันจากภายนอกเช่น วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ การอธิบายตนเองในรูปวรรณกรรมและพิธีกรรมบางอย่าง เกิดขึ้นก่อนที่แผนที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นเวลานาน เพราะฐานคติเดิม "ตัวตน" จะผูกติดกับ "จิต" และ "วิญญาณ" อย่างแยกกันได้ยาก นั่นเป็นอิทธิพลของวรรณกรรมทางศาสนา ที่มีมาก่อนหมอบลัดเลย์จะนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสมัยใหม่เข้ามา "ไตรภูมิพระร่วง" กับ "การถือน้ำ" เคยสำคัญกว่าพิกัดบนพื้นผิวโลกจนเกินจะเปรียบเทียบกันได้ และทั้งการอธิบายตนเองในรูปวรรณกรรมและพิธีกรรมนี้ถูกปรับใช้ให้เข้ากับกรอบสมัยใหม่ด้วย เช่นที่เนื้อหาตัวบทใน "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (40) ได้เป็นตัวแบบสำคัญในส่วนนี้

จารีตดังกล่าวมีปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์กรมพระยาดำรงฯ แต่เป็นในแง่ที่ทรงใช้จารีตนั้นสำหรับเป็นพลังในการอธิบายตัวตน สร้างความชอบธรรมแก่การรวมศูนย์อำนาจที่ทรงมีบทบาทอย่างยิ่ง (41) ตัดต่อและลดทอนส่วนที่ดูไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่เข้ากับกรอบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันทันสมัย จากนั้นก็กลับหัวเป็นท้ายอธิบายความด้วยหลักการและเหตุผลเน้นหนักในทางโลกย์ ในจำนวนนั้นก็มีตัวตนทางภูมิศาสตร์รวมอยู่ด้วย ที่ต้องการการอธิบายขยายความหรือนำเสนอเพิ่มเติมไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งวรรณกรรมจะมีบทบาทเป็นลำดับแรก ๆ ในเรื่องนี้ ลำพังแผนที่ ชื่อ หรือวัตถุอื่นใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งสมมติที่ไม่อาจจะแสดงความสำคัญในตัวเองออกมาได้ง่าย ๆ หมายความเท่ากับว่า การอธิบายในรูปวรรณกรรมได้เป็นส่วนสำคัญที่ทั้งช่วยสร้าง และช่วยธำรงรักษาสถานะความหมายของตัวตนที่ว่านั้น ๆ

กรณีชื่อ เช่น "ไทย" เนื่องจากอำนาจตกอยู่แก่กลุ่มผู้นำ ที่มีความตึงเครียดจากการต่อสู้ทางการเมืองที่ต้องขับเคี่ยวอยู่กับฝ่ายราชวงศ์ รัฐบาลคณะราษฎร ในการนำของหลวงพิบูลสงครามจึงเข้มงวดกับการเปลี่ยนย้ายตัวตนที่โยงกับตัวตนในแบบฉบับของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการเน้นเชื้อชาติ "ไทย" ให้ลุแก่อำนาจเหนือชนชาติอื่น ๆ ซึ่งเป็นสยามเดิม ควบคู่กับการรวมศูนย์อันเป็นมรดกชิ้นเยี่ยมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ถูกฉวยใช้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เกิดการปะทะปรับเปลี่ยนกันอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากที่การเมืองมีการเปลี่ยนย้ายโครงสร้างอำนาจรัฐาธิปัตย์จากกษัตริย์เป็นราษฎร รัฐประชาชาติจึงมีรากกำเนิดจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญนั้นด้วย ทั้งยังเหมือนเป็นปัจจัยชี้ขาดขั้นสุดท้าย สำหรับการเปลี่ยนแปลงระหว่างทศวรรษ ๒๔๓๐ ถึง ๒๔๘๐

แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและการสร้างรัฐประชาชาติไม่ได้เป็น "สาเหตุ" ของการเปลี่ยนแปลงเพียงด้านเดียว หากแต่ยังเป็น "ผล" ของการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านั้นด้วย ในกรณีนี้ปัจจัยสำคัญนั้นคือการพยายามกำหนดอัตลักษณ์ความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นแต่ครั้งสมัยสมบูรณาฯ หนึ่งในปัญญาชนที่มีบทบาทก็อย่างเช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวรเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ไม่นับกับคุณูปการที่ปราชญ์สามัญชน เช่น เทียนวรรณ วรรณโภ, ก.ศ.ร. กุหลาบ, นรินทร์ กลึง และกลุ่มผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐ ได้สร้างทำเอาไว้

ในที่นี้กรณีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น อัตลักษณ์แห่งชาตินอกจากนิยามจากการสร้างความเป็นอื่นโดยเปรียบเทียบกับชนชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ตะวันตก/ตะวันออก แล้ว ยังเป็นการสร้างตัวตนและความเป็นอื่นจากชนเชื้อชาติเดียวกันอีกด้วย และนั่นเป็นประเด็นสำคัญที่ชี้ขาดถึงความสำเร็จสูงสุดของการสร้างความเป็นตัวตน แง่นี้ "ไทยสยาม" จึงเป็นชนอีกชาติหนึ่งแยกต่างไปจากชนชาติไทยในที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นที่จีนใต้ ที่เชียงตุงหรือรัฐฉาน ที่อีกฝั่งฟากแม่น้ำโขงทั้งในลาว และเขมร ที่รัฐอัสสัม เป็นต้น (42)

วิธีการสำคัญก็คือการตัดต่อ ลดทอน และจำแนกตัวตนต่าง ๆ จากนั้นจึงเลือกสรรตัวตนที่คิดว่าเหมาะและเป็นประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด แน่นอนตัวตนที่เป็นไทยสยามย่อมเป็นตัวตนที่ถูกเลือกในการนี้ ผลคือ "ระบอบตัวตน" ดังกล่าวทำให้การลืมรากเหง้าเกิดขึ้นอย่างไม่ควรจะเป็น เพราะตัวตนที่ถูกตัดถูกขจัดออกไปนั้น ก็เอารากเหง้าแบบเดิมที่เคยเป็นตัวเราเองออกไปด้วย ตัวตนระดับชาติปัจจุบันซึ่งเชื่อมโยงกับการเลือกสรรครั้งนั้น จึงเป็นตัวตนที่พิกลพิการ ผิดรูป ผิดส่วนอย่างมาก ไม่ใช่ตัวตนที่มีความสมบูรณ์แต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังหลวงวิจิตรวาทการยังทำให้อัตลักษณ์แห่งชาติพิการมากขึ้นไปอีก เพราะหลงคิดว่าปัญหาความแตกต่างหลากหลายของชนชาติไทย แก้ไขได้ด้วยการทำสงครามเพื่อยึดครอง ลัทธิแผนรวมเผ่าไทยไม่ใช่การควานหาชิ้นส่วนตัวตนที่ขาดหายไปที่ถูกต้องแต่อย่างใด เพราะชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะเชื่อมต่อกลับเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ดังเดิมอีกต่อไป การเลือกสรรนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายสูงอยู่พอสมควร และสังคมไทยได้จ่ายไปแล้วเรียบร้อย

ขณะที่ความแตกต่างทางภายในของภายใน เช่นที่มีอยู่ในตัวตนที่ถูกเลือก มีอธิบายผนวกเพิ่มเติมด้วยการลบเลือนความแตกต่างที่ว่านั้น อดีตของตัวตนที่ต่างกันระหว่างไทยทางเหนือที่มีสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง กับไทยใต้ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวมทั้งระหว่างกรุงเทพฯ กับศูนย์กลางอื่น ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปัตตานี ) จึงถูกทำให้เกือบสาปสูญไป "อาณานิคมเชิงซ้อนของความเป็นตัวตน" จากสภาพการณ์ดังกล่าว มีผลทำให้ศูนย์กลางสามารถผูกขาดอำนาจเหนือท้องถิ่นเสมอมา นอกจากพิกลพิการแล้วอัตลักษณ์แห่งชาติไทยสยามจึงมีลักษณะขาด ๆ เกิน ๆ ด้วย ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ที่เห็นและเป็นอยู่นั้นเป็นการหลอกลวง และการหลอกลวงนี้ถูกทำให้เป็นจริงเสียยิ่งกว่าความจริงที่แท้ ทั้งแนบเนียน ทั้งอุดมอำนาจ และทั้งขลาดเขลา?

อาจฟังดูรุนแรงและชวนหดหู่อยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ตามใช่ว่าเราจะไม่มีทางออกสำหรับขจัดความพิกลพิการ และขาด ๆ เกิน ๆ ดังกล่าว หากแต่ว่าการเชื่อมต่อสำคัญ ๆ ที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปนั้น ได้เปลี่ยนย้ายพื้นที่จากความเป็นตัวตนทางกายภาพเป็นตัวตนด้านจิตวิญาณ กล่าวคืออาศัยการสร้างความรู้ชุดใหม่ ที่จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไประหว่างกัน ไม่ซ้ำข้อผิดพลาดเดิม อำนาจกดบีบในรูปต่าง ๆ กำลังความรุนแรง ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งไม่จำเป็นที่รังแต่จะก่อปัญหามากขึ้นเท่านั้น

++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องพระราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช. อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายพงษ์เจริญ ส่งศิริ ณ วัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ ( พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๑๖ ) น. ๑.

(2) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กระแสพระราชดำรัสตอบคำถวายพระพรของนักเรียนไทยที่กรุงลอนดอน. เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ( พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๙๒) น. ๒.

(3) หลวงวิจิตรวาทการ. งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. ( พระนคร : โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, ๒๕๑๒ ) น. ๙๓.

(4) ลำดับพระยศของพระองค์มีดังนี้: ราวปี พ.ศ.๒๔๒๙ - กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ, ๒๔๔๒ - กรมหลวงดำรงราชานุภาพ, ๒๔๕๔ - กรมพระดำรงราชานุภาพ, ๒๔๗๒ - กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้พระยศปี ๒๔๗๒ ซึ่งเป็นพระยศที่คาบเกี่ยวช่วงเวลาหลังจากนั้นอีกหลายปี กระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ แม้ว่าพระนิพนธ์บางชิ้นที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไปนั้นจะทรงนิพนธ์ขึ้นก่อนหน้าที่จะดำรงพระยศเรียกเป็น "กรมพระยาฯ" แต่ขอให้เข้าใจว่านั่นเป็นไปโดยการอนุโลม ใช้ตามความนิยมเรียกขานพระนามพระองค์ในปัจจุบันนี้เท่านั้น

(5) งานที่พอจะเป็นตัวอย่างในแง่นี้ก็อย่างเช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์. เรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. ( กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป, ๒๕๒๕ ) ; พรชัย คุ้มทวีพร. แบบการอธิบายในพระนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การวิเคราะห์ปรัชญา. วิทยานิพนธ์ ( อ. ม. ) ภาควิชาปรัชญา จุฬาฯ, ๒๕๒๙ ; สายชล สัตยานุรักษ์. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. ( กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖ ) แต่งานซึ่งจะว่าไปก็อาจเพียงบันทึกการอ่านและการทดลองศึกษาของผู้เขียนในที่นี้มีข้อแตกต่างจากกรณีสุลักษณ์ พรชัย และสายชล อยู่พอควร ซึ่งผู้อ่านคงจะได้เห็นในชั้นถัดไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่างานดังกล่าวของทั้งสามท่านนั้นมีประโยชน์อยู่มาก

(6) โปรดดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ. พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. ( พระนคร : แพร่พิทยา, ๒๕๑๔) แม้ว่า "บุรุษพิเศษ" ที่กล่าวถึงพระองค์จะเน้นกษัตริย์พม่าเช่น พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ บุเรงนองกยอดินนรธา และอลองพญา ก็ตาม แต่ทว่าแง่มุมต่ออดีตกษัตริย์เช่นนี้จะเห็นว่าครอบคลุมถึงพระนเรศวร พระเจ้าตาก และพระพุทธยอดฟ้า ด้วยเช่นกัน กรณีพระนเรศวรนั้นทรงเน้นออกมาต่างหาก นอกจาก "พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า" แล้ว ก็ทรงนิพนธ์เรื่อง "พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช." (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๗) โดยเฉพาะเนื้อหาในภาค ๓ ที่ว่าด้วยการแผ่อาณาเขตของสมเด็จพระนเรศวร เป็นต้น; ภายหลังพระนิพนธ์ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์พร้อมเสนอหลักฐานจากแง่มุมฝ่ายพม่าเปรียบเทียบไทย โดยสุเนตร ชุตินธรานนท์ โปรดดูบางเล่ม เช่น สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย: ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า. ( กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๗ ) ; สุเนตร ชุตินธรานนท์. บุเรงนองกะยอดินนรา: กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย. ( กรุงเทพฯ อัมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙ ) ; สุเนตร ชุตินธรานนท์. "ขัตติยนารีแห่งราชอาณาจักรสยามและพุกามประเทศ: สถานะ บทบาท และความสำคัญ." รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑ ( ๒๕๔๕ ), น. ๑ - ๒๘ ; ภาษาอังกฤษของคนเดียวกันขอให้ดู Su nait Chutintaranond. "The Image of the Burmese Enemy in Thai Perceptions and Historical Writings." Journal of the Siam Society. 80:[1], pp. 89-103.

(7) Craig J. Reynolds. "Gendering of Nationalist and Post - Nationalist Selves in Twentieth - Century Thailand." In Peter A. Jackson and Nerida M. Cook. [Eds.]. Gender and Sexualities in Modern Thailand. [Chiang Mai: Silkworm Books, 1999] pp. 261 - 274.

(8) ดูถ้อยคำปรามาสที่ทรงมีต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๕. ( พระนคร : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, ๒๕๑๔ ) เป็นต้น

(9) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "โอวาทเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. ๑๒๑." ประทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ใน ประชุมพระนิพนธ์ ( บางเรื่อง ). ( พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกุลกิจ, ๒๕๑๙ ) น. ๕.

(10) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม." ประชุมพระนิพนธ์บางเรื่อง. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายนารถ มนตเสวี ( พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกุลกิจ, ๒๕๑๙) น. ๑๑๕ อนึ่งคำนำในเล่ม (โดยอธิบดีกรมศิลปากร) ได้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม." นี้ไม่เคยพิมพ์รวมอยู่ในชุด "ชุมนุมพระนิพนธ์" ( บางเรื่อง ) ทั้งภาค ๑ และภาค ๒ กล่าวคือภาค ๑ นั้นมีพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ดรวมทั้งสิ้น ๓๓ เรื่องด้วยกัน ภาค ๒ มีอยู่ ๒๒ เรื่อง แต่ทั้ง ๕๕ เรื่องที่คุณรังสฤษดิ์ เชาวน์ศิริ (อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น) เอ่ยอ้างถึงไม่มี "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม." แต่อย่างใด สอบค้นดูในงานรวมพระนิพนธ์สำคัญ ๆ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชุมนุมพระนิพนธ์. ( พระนคร: คลังวิทยา, ๒๔๙๔ ) และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชุมนุมพระนิพนธ์ ภาค ๒. ( พระนคร: คลังวิทยา, ๒๔๙๔ ) ก็ไม่ปรากฏมีคำอธิบายนี้ คราวพิมพ์รวมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชุมนุมพระนิพนธ์. พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพคุณหญิงถนอม บรรหารภูมิสถิตย์ ณ วัดมงกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ( พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, ๒๔๙๘ ) ก็ไม่มีเช่นกัน คราวที่มีพิมพ์ก่อนปี ๒๕๑๙ จริง ๆ นั้น คือ ฉบับปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม. พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณ ทจ. รัตน จปร. ต. ( พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาการ, ๒๔๖๙ ) นับเป็นเวลาห่างกันมากถึง ๕๐ ปีเศษสำหรับการพิมพ์ทั้งสองครั้งดังกล่าว.

(11) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม." น. ๑๑๕.

(12) เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน.

(13) เพิ่งอ้าง, น. ๑๑๒.

(14) เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน และเน้นบางคำโดยผู้เขียนบทความ.

(15) เป็นต้นว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ." ปาฐกถาแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ใน ประชุมพระนิพนธ์ ( บางเรื่อง ). อ้างแล้ว, น. ๑๗ - ๕๒.

(16) เพิ่งอ้าง, น. ๑๗.

(17) แต่อย่างไรก็ตาม ในงานรวมบทความสำคัญของศรีศักร วัลลิโภดม เช่น ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๒๔) ได้เสนอว่าประเด็นอาณาเขต สยามประเทศแต่เดิมเป็นของมอญ ขอม นั้นที่เป็นมายาคติหรือ "ข้อขัดแย้ง" หนึ่งในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยก่อน ๒๕๐๐ นอกเหนือจากข้อขัดแย้งอื่นซึ่งไม่น่าเชื่อถือพอกัน เช่น การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชนชาติไทย น่านเจ้าเป็นอาณาจักรคนไทย และประวัติศาสตร์เส้นตรง สุโขทัย - อยุธยา - ธนบุรี - กรุงเทพฯ ทำให้อยุธยาเป็นราชอาณาจักรที่ไร้พลวัตรอยู่ก่อนนั้น พร้อมกับที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกละเลย ไม่มีบทบาทความสำคัญที่อิสระและเป็นตัวของตัวเอง

(18) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป. อนุสรณ์งานพระเมรุพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ( พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๐๓ )

(19) นักประวัติศาสตร์กลุ่มที่ว่านี้ต่อมาถูกเรียก "สกุลดำรงราชานุภาพ" โปรดดู กอบเกื้อ สุวรรณทัต - เพียร. "การศึกษาประวัติศาสตร์ของสกุลดำรงราชานุภาพ." ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ไทย. ( กรุงเทพฯ: กองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์, ๒๕๑๙ ) น. ๒๗ - ๖๑ ; นิธิ เอียวศรีวงศ์. "อันเนื่องมาจากฉบับกรมพระยาดำรงฯ การศึกษาประวัติศาสตร์: อดีตและอนาคต." โลกหนังสือ. ๓ : ๑๐ ( กรกฎาคม ๒๕๒๓ ), น. ๓๒ - ๔๖ ; จวบจนถึงการเปิดมุมมองและวิธีการศึกษาแบบใหม่จากธงชัย วินิจจะกูล ด้วยข้อเสนอ "ราชาชาตินิยม" ( Royal - Nationalism) ของเขาใน ธงชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม." ศิลปวัฒนธรรม. ๒๓ : ๑ ( พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ) น. ๕๖ - ๖๕ ; อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการบางท่านเห็นต่างออกไปว่า ปัญหาประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยปัจจุบันนั้นไม่ได้สืบทอดหรือต่อเนื่องจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้งปัญญาชนชั้นนำยุคเดียวกับพระองค์ เนื่องจากทรงมีพระนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบถึงปัจจุบันอย่างมาก เช่น ๒๔๗๕ น้อยมาก ขณะที่สำหรับหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ๒๔๗๕ กลับเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในโครงเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเขา โปรดศึกษารายละเอียดใน เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส. "โครงเรื่องของประวัติศาสตร์ไทย: ทฤษฎีและการปฏิบัติ." ไทยคดีศึกษา : รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิตแก่อาจารย์ พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๓๓) น. ๑๐๓ - ๑๒๒.

(20) ข้อสังเกตนี้เป็นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานชื่อ "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาโนลด์ ทอยน์บี." ใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี และชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บก.). ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ไทย. อ้างแล้ว, น. ๒๐๘ - ๒๔๔.

(21) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. "พงศาวดารสยาม." ใน ประมวลพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส: ประวัติศาสตร์ - โบราณคดี. ( พระนคร: ศิวพร, ๒๕๑๔ ) น. ๔ เป็นที่น่าสังเกตว่า "ชาติสยาม" หรือ "ชนชาติสยาม" ที่กรมพระยาวชิรญาณฯ ทรงกล่าวถึงในพระนิพนธ์ชิ้นดังกล่าวนี้ จะหมายครอบคลุมถึง "พวกน้อย ๆ " อื่นด้วย เช่น "กะเหรี่ยง, ข่า, ละว้า, และเงี้ยว เป็นต้น" พระองค์ไม่ได้เน้นที่ชนชาติไทยเพียงหนึ่งเดียวอย่างกรณีกรมพระยาดำรงฯ เรื่อยมาจนถึงหลวงวิจิตรวาทการ สำหรับกรมพระยาวชิรญาณฯ ดูเหมือน "สยาม" จะเป็นชื่อเขตแดนที่ครอบรวมชนเชื้อชาติต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันภายใต้พระบารมีอย่างดียิ่ง

(22) จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๔๐) น. ๒๓๑.

(23) กล่าวกันว่า "ดำรงราชานุภาพ" หมายความว่า "เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแห่งกษัตริย์" โปรดดู เตช บุนนาค. การปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435 - 2458: กระทรวงมหาดไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ. แปลโดย ภรณี กาญจนัษฐิติ และคนอื่น ๆ ( กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒ ) น. ๑๑.

(24) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม." น. ๑๑๓.

(25) โปรดดู พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. ( พระนคร: คลังวิทยา, ๒๕๑๖) น. ๔๐ - ๕๕.

(26) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิราศนครวัด. ( พระนคร: คลังปัญญา, มปพ. ) น. ๖๘ เน้นบางคำโดยผู้เขียนบทความ.

(27) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม." น. ๑๑๒ เน้นบางคำโดยผู้เขียนบทความ.

(28) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร." ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑, อ้างแล้ว, น. ๘๗.

(29) ลายพระหัตถ์ที่ทรงมีไปถึงสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ทรงแสดงความคิดเห็นว่า "ศัพท์ "พงศาวดาร" นั้นใช้มาแต่รั้งกรุงศรีอยุธยา มีในหนังสือเก่า... ประหลาดอยู่ที่เรื่องพงศาวดารของฝรั่งที่แต่งแต่ก่อน ก็เหมือนกับพงศาวดารของไทย คือเอาพระเจ้าแผ่นดินปันความตามรัชกาลเป็นกำหนด พงศาวดารอย่างที่แต่งเป็นเรื่องของชาติหรือประเทศเป็นของเกิดใหม่ ตามความเห็นของหม่อมฉันยังรักให้ใช้เรียก History ว่าพงศาวดารอยู่ตามเดิม ถ้าจะเปลี่ยนเป็นคำอื่น เห็นควรจะใช้ "ประวัติ" อนุโลมตามคำ ประวัติศาสตร์" โปรดดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๔. ( พระนคร: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๔ ) น. ๒๔๖.

(30) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่องพระร่วง. อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนางวิภาพร ภูมิจิตร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ( พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๐๙ ) น. ๒๙.

(31) เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน.

(32) เพิ่งอ้าง, น. ๒๙ - ๓๐.

(33) ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒. ( พระนคร: ก้าวหน้า, ๒๕๐๗ ) น. ๓๔๗ - ๔๐๗.

(34) เพิ่งอ้าง, น. ๓๔๗ แม้ข้อมูลตรงกันแต่ตัวเลขปี พ.ศ. ที่พระเจนจีนอักษรนำเอกสารขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ( ๒๔๕๒ ) และปีพิมพ์ครั้งแรก ( ๒๔๕๖ ) ที่จริงไม่มีระบุในประชุมพงศาวดารทั้ง ภาค ๓, ๔, ๕ ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ตัวเลขที่เป็นข้อมูลสำคัญนี้ปรากฏอยู่แห่งหนึ่งในการพิมพ์อีกคราว คือ พระเจนจีนอักษร ( สุดใจ ตัณฑากาศ ). จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน. อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนางสุดใจ ยงค์ตระกูล ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ ( พระนคร: โรงพิมพ์ดำรงธรรม, ๒๕๑๑ ) ดูคำนำ น. ก - ค ผู้เขียนยึดถือตัวเลขตามเอกสารชิ้นหลังนี้

(35) ประชุมพงศาวดารฯ, น. ๓๕๘.

(36) Craig J. Reynolds. "Gendering of Nationalist and Post - Nationalist Selves in Twentieth - Century Thailand." In Peter A. Jackson and Nerida M. Cook. [Eds.], Ibid.

(37) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต. (กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, ๒๕๑๔) น. ๔๕๙- ๔๖๐, ๕๘๕.

(38) สุลักษณ์ ศิวรักษ์. เรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์, อ้างแล้ว.

(39) ศรีศักร วัลลิโภดม. สยามประเทศ: ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๔.

(40) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๖.

(41) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เทศาภิบาล. กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ - ชูโต) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ (พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, ๒๕๐๙); จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกระทรวงมหาดไทย. พระนคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๐๖; เตช บุนนาค. การปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435 - 2458, อ้างแล้ว.; วุฒิชัย มูลศิลป์ และ สมโชติ อ่องสกุล. มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ. (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๔).

(42) ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ. ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๔; อีกที่ใน ศรีศักร วัลลิโภดม. ประวัติศาสตร์โบราณคดีของล้านนาประเทศ. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๕) น. ๑๕ - ๓๑.

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



160749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
กำเนิดระบอบและอาณานิคมตัวตนสยาม-ไทย
บทความลำดับที่ ๙๗๔ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
สิ่งนี้เป็นฐานรากสำคัญสำหรับการเกิดขึ้นของรูปแบบรัฐประชาชาติในเวลาต่อมา และทั้งตัวตนทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดเอาจากการจัดทำแผนที่แสดงอาณาเขตประเทศ ก็เกิดจากฐานรากนี้เป็นสำคัญ นอกเหนือจากผลกระทบและแรงกดดันจากภายนอกเช่น วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ การอธิบายตนเองในรูปวรรณกรรมและพิธีกรรมบางอย่าง เกิดขึ้นก่อนที่แผนที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นเวลานาน เพราะฐานคติเดิม "ตัวตน" จะผูกติดกับ "จิต" และ "วิญญาณ" อย่างแยกกันได้ยาก นั่นเป็นอิทธิพลของวรรณกรรมทางศาสนา ที่มีมาก่อนหมอบลัดเลย์จะนำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสมัยใหม่เข้ามา

"ไตรภูมิพระร่วง" กับ "การถือน้ำ" เคยสำคัญกว่าพิกัดบนพื้นผิวโลกจนเกินจะเปรียบเทียบกันได้ และทั้งการอธิบายตนเองในรูปวรรณกรรมและพิธีกรรมนี้ถูกปรับใช้ให้เข้ากับกรอบสมัยใหม่ด้วย เช่นที่เนื้อหาตัวบทใน "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นตัวแบบสำคัญในส่วนนี้

เรื่องคำอธิบายเกี่ยวกับนามประเทศ ( สยาม ) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า "ไทยเราพึ่งมาใช้คำสยามเป็นนามของประเทศในทางราชการ ต่อในรัชกาลที่ ๔" ก่อนหน้านั้นตามแบบธรรมเนียมพระราชอาณาจักร ( ไม่ใช่ประเทศ ) ชื่อเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลาง เช่น กรุงศรีอยุธยา จะถูกใช้เรียกในลักษณะที่อาจเทียบเคียงความสำคัญได้เท่ากันนี้ ซึ่งแม้ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น กรุงศรีอยุธยาก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้ พระเจ้าแผ่นดินก็จะถูกเรียกพระนาม เช่นว่า "พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา"