Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

บทวิเคราะห์การเมืองเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น
ประชานิยมไทยรักไทย : (ตอนที่ ๑)
วิกฤตทุนนิยม รัฐ และการต่อสู้ทางชนชั้น

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ : บทวิเคราะห์การเมืองฉบับนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยผู้เขียนได้ใช้แนวคิดทฤษฎีมาร์คซิสต์ในการมองประเด็นปัญหาทางการเมือง
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 971
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)




ประชานิยมไทยรักไทย : วิกฤตทุนนิยม รัฐ และการต่อสู้ทางชนชั้น (ตอนที่ ๑)

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ : นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์, อ.สุชาย ตรีรัตน์, อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ นุ่มนวล ยัพราช
สำหรับคำแนะนำและความคิดเห็นสำหรับประเด็นนี้ในวาระต่างๆ ตลอดมา)


"The philosophers have only interpreted the world in various way; the point is to change it"
Karl Marx (1845)

บทนำ
ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้(2549)ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ถึงเกือบ 400 เสียงอย่างที่เราทุกคนคาดการณ์ไว้ นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งของการเมืองไทย ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเป็นการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 ของพรรคไทยรักไทย ที่ไม่มีพรรคการเมืองใด หรือภาคประชาชนมาขัดขวางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ความนิยมชมชอบของประชาชนต่อพรรครัฐบาลที่ส่งผลให้ไทยรักไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเป็นสมัยที่สองได้นั้น เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่นักวิชาการและบุคคลทั่วไปให้ความสนใจอย่างมาก เห็นได้จากงานเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย ประวัติชีวิตของหัวหน้าพรรค การเมืองไทยยุคทักษิณ หรือแม้กระทั่งเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ก็มีมากจนไม่สามารถอ่านได้จนหมดสิ้น และหนังสือหลายเล่มก็กลายเป็น หนังสือขายดี ตีพิมพ์หลายสิบครั้ง (1) นั่นหมายความว่า มีคนจำนวนมากสนใจหรือตื่นตัวต่อการทำความเข้าใจสภาพการเมืองปัจจุบันภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย

รูปธรรมอีกอย่างของความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ก็คือ การออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขของการเลือกตั้งปรากฏว่า มีคนกว่า 2 ล้านคน ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่ทำบัตรเสียและงดออกเสียง นั่นแสดงว่า มีคนไม่เห็นด้วยหรือมองว่าไม่มีตัวเลือกที่เหมาะสม แต่คนเหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งแสดงออกด้วยการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอยู่จำนวนมาก จากรูปธรรมดังกล่าว แสดงว่า ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือประชาชนทั่วไป ต่างให้ความสนใจต่อการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลไทยรักไทย หรือ แม้แต่ "ระบอบทักษิณ" อย่างมากเป็นประวัติการณ์

มีงานวิชาการมากมายที่วิเคราะห์หรือพยายามให้ภาพ และตอบปัญหาสำคัญเกี่ยวกับที่มา และประเมินถึงความเข้มแข็ง จุดอ่อนของรัฐบาลอยู่มากจากหลายกรอบ หลายจุดยืน และหลายประเด็น งานวิชาการส่วนมากให้ข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยรักไทยเข้มแข็งมาก หรือมากเสียจนไม่สามารถต่อสู้ได้ รัฐบาลคุมทั้งสภา คุมทั้งสื่อ และคุมทั้งองค์กรอิสระ(บางองค์กร) หรือแม้แต่กระทั่งคุมความคิดของคนทั่วไปได้อย่างเบ็ดเสร็จ หลายๆคนวิเคราะห์ว่าเป็น รัฐบาลเผด็จการ หรือที่มากไปกว่านั้น เป็นรัฐบาลที่มีลักษณะคล้ายกับ รัฐสมบูรณายาสิทธิ์

และการที่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่เอื้ออาทรแก่คนจนในสังคมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้มีนักวิชาการบางส่วนวิจารณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลประชานิยม คล้ายประชานิยมในลาตินอเมริกา ซึ่งการใช้จ่ายเงินจำนวนมากจะทำให้เสีย "วินัย" ทางการคลัง อันอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ และมีงานหลายชิ้นที่ระบุว่า รัฐบาลไทยรักไทยทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอ หรือทำให้ชุมชนและคนจนกลายเป็นผู้บริโภค หรือผู้ถูกอุปถัมภ์ที่มือไม้อ่อน ไม่มีพลัง

บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ ต้องการโต้ตอบกับการประเมินของแนวทางต่างๆ ที่มองว่าไทยรักไทยมีความเข้มแข็งมากเกินไป มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และประชาชนอ่อนแอ ถูกซื้อ จนไม่สามารถต่อสู้ได้ ผ่านการใช้กรอบทฤษฎีทางชนชั้นแนวมาร์คซิสต์ เพื่อตอบคำถามหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว

บทความชิ้นนี้ได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

ส่วนแรก จะเป็นการสำรวจงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นดังที่กล่าวไปแล้ว

ส่วนที่สอง
จะเป็นการนำเสนอกรอบการวิเคราะห์ โดยบทความนี้จะใช้การวิเคราะห์ชนชั้นแนวมาร์คซิสต์

ส่วนที่สาม
จะนำเสนอให้ภาพของรัฐบาลไทยรักไทย ทั้งในส่วนของที่มา นโยบาย และปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลชุดนี้ ผ่านกรอบการวิเคราะห์ที่นำเสนอไปในส่วนที่สอง และ

ในส่วนสุดท้าย
จะเป็นการยกตัวอย่างรูปธรรมของการมองการต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่ออธิบายลักษณะของไทยรักไทยผ่านรูปธรรมคือ การพิจารณาการเลือกตั้ง 2005 อันจะนำไปสู่การสรุปเพื่อตอบคำถามสำคัญในช่วงสุดท้ายต่อไป

1. ท่าทีของนักวิชาการไทยต่อรัฐบาลไทยรักไทย
4 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็น "ขาประจำ" ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งจากมุมมองต่างๆ กัน และในหลากหลายประเด็น ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความบกพร่องและมีปัญหาของรัฐบาลชุดนี้มาโดยตลอด ข้อวิจารณ์ต่างๆ เหล่านั้นที่ได้รับการพูดถึงทั่วไป อาจแบ่งได้เป็น 4 แนว (2) คือ

1.1 รัฐบาลชุดนี้เป็น ระบอบเผด็จการ หรือเป็นสมบูรณายาสิทธิ์ของทุน
1.2 พรรคอุปถัมภ์ ทำให้ประชาชนช่วยตัวเองไม่ได้ และกลายเป็นผู้บริโภคนโยบาย
1.3 พรรคนายทุน และเป็นรัฐนายทุนที่เอื้อผลประโยชน์กับการสร้างเครือข่ายและการสะสมทุนของกลุ่มทุน
1.4 รัฐบาลประชานิยม ขาดวินัยทางการคลัง และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ

1.1 ระบอบเผด็จการ หรือเป็นสมบูรณายาสิทธิ์ของทุน
ภาพต่างๆ ที่เราจะเห็นได้จากความเป็นเผด็จการของไทยรักไทย สะท้อนออกมาใน 2 ส่วนหลักๆ คือ

ส่วนแรก รัฐบาลชุดนี้ใช้ความรุนแรงของตำรวจและทหาร ในการปราบปรามประชาชน คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เช่น กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ กรณีกรือเซะ และตากใบ กรณีการสลายชุมนุมของชาวบ้านบ่อนอก จะนะ และที่อื่นๆ รวมไปถึงการเข้าจับกุมชาวเขาอย่างพลการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามปราบปรามยาเสพติด ด้วยการฆ่าตัดตอนผู้บริสุทธิ์โดยไม่มีการไต่สวน

ส่วนที่สอง รัฐบาลชุดนี้สามารถคุมรัฐสภา ผ่านการเป็นเผด็จการพรรคเดียว โดยไม่เปิดให้ฝ่ายค้านตรวจสอบและอภิปรายได้ มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังคุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภา เพื่อให้ตัดสินใจตามที่รัฐบาลต้องการ รัฐบาลยังสามารถคุมองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งมาเพื่อความเป็น "กลาง" ในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ และการที่รัฐบาลสามารถคุกคามสื่อ และควบคุมสื่อ รวมไปถึงเป็นเจ้าของสื่อโดยรัฐบาลและคนในรัฐบาลเอง

ผลงานที่สำคัญที่พัฒนาการวิเคราะห์รัฐบาลไทยรักไทย ในฐานะที่เป็นระบอบเผด็จการ คือ งานของ เกษียร เตชะพีระ(3) ที่มองว่า ระบอบทักษิณมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐ โดยที่ฝ่ายบริหารสามารถผูกขาดการใช้ความรุนแรงและบริหารจัดการกับส่วนต่างๆ ของสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนถึงกับเรียกว่า "ระบอบสมบูรณายาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง" (Elected Capitalist Absolutism)

ในการเลือกตั้งเราจะเห็นการซื้อนักการเมือง และพรรคการเมืองจากพรรคต่างๆ เข้ามาในพรรคไทยรักไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะสะท้อนความมีลักษณะพิเศษ ที่ใช้เงินในการเมืองมากกว่าปกติ หรือที่ Pasuk and Baker (4) กล่าวว่า การเมืองไทยเปลี่ยนจาก Money politics เป็น Big money politics เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น มีการเสนอโดยนักวิชาการและแกนนำภาคประชาชนบางส่วนว่า รัฐบาลชุดนี้ หรือนายกรัฐมนตรีเป็นเผด็จการ ที่ดูคล้ายคลึงกับ สมัยจอมพลสฤษดิ์ (5) ไม่มีลักษณะของประชาธิปไตย หรือทำให้ประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันปรากฏผลเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นถอยหลังเข้าคลอง รวมไปถึงมีการทำลายภาคประชาชนไทยโดยรัฐ ทั้งการใช้กำลังและจากนโยบาย ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ภาพของรัฐบาลไทยรักไทยจึงดูเข้มแข็งมากเมื่อมองจากแง่นี้ ซึ่งอาจจะเข้มแข็งมากจนไม่อาจต่อสู้ หรือเปิดให้ต่อสู้ต่อรองได้เลยจากภาคประชาชนและคนกลุ่มอื่นๆ ความหดหู่ของภาคประชาชนและนักวิชาการ สะท้อนผ่านคำกล่าวของ อัมมาร สยามวาลา ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2005 ที่ว่า "อยากให้ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า 400 เสียง เพื่อจะได้เกิดการไม่พอใจ ลุกฮือของประชาชนคนชั้นกลางเพื่อล้มรัฐบาลอีกครั้ง (คล้ายกับพฤษภาทมิฬ)"(6)

การมองว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นเผด็จการและเข้มแข็งเกินไป ครอบคลุมทุกส่วนของสังคม และเรากำลังอยู่ในอาณาจักรความกลัว (7) นั้น ดูเหมือนจะไม่เข้าใจข้อแตกต่างระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ซึ่งก็คือ รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ครองอำนาจผ่านกระบอกปืนแบบในอดีต แต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศ ตราบใดที่ประชาชนยังสนับสนุนรัฐบาลก็ยังอยู่ได้ แต่เมื่อใดที่ประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาล ก็จะไม่เลือกพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งคราวหน้า

และการกล่าวว่า รัฐบาลไทยรักไทยเป็นเผด็จการแบบสมัยจอมพลสฤษดิ์เท่ากับมองว่า การต่อสู้ของประชาชน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ นั้นไม่มีผลให้เกิดการพัฒนาของการเมืองไทยในลักษณะก้าวหน้า หรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในลักษณะที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียง มีเสรีภาพมากขึ้นเลย และมากไปกว่านั้น เท่ากับมองว่าเสียงของประชาชนที่ออกมาเลือกตั้งนั้นไม่มีความสำคัญ และในหลายๆ ครั้งดูเหมือนว่า ประชาชนไม่มีทางต่อสู้ต่อรองกับรัฐได้ ซึ่งได้นำไปสู่ความหดหู่สิ้นหวังในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มุมมองแบบนี้ไม่สามารถช่วยให้เข้าใจได้ว่า สิ่งทีเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ทำงานอย่างไร มีที่มาอย่างไร นอกเหนือไปจากการจัดประเภทว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย (8) และไม่เข้าใจว่าการทำงานของ "ระบอบทักษิณ" นั้นสะท้อนการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะขาดมิติการพิจารณาปัญหาจากมุมมองทางชนชั้น และบริบทการเกิดขึ้นของรัฐบาลชุดนี้

1.2 พรรคอุปถัมภ์
มีการเสนอว่า รัฐบาลชุดนี้สร้างระบบอุปถัมภ์ผ่านนโยบายเอื้ออาทรที่เอาใจประชาชน ผ่านการให้เงิน และสวัสดิการแก่คนยากจนทุกระดับ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค, นโยบาย SME, SML, นโยบายกองทุนหมู่บ้านละล้าน, และการแจกเงินผ่านทัวร์นกขมิ้น เป็นต้น โดยตัดตอนสถาบันหรือคนกลางที่มีอยู่เดิมคือ นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าพ่อ เอ็นจีโอ และปัญญาชน ที่เชื่อมโยงผ่านการสังคมสงเคราะห์ชาวบ้าน ไปสู่การที่รัฐกลายเป็นเจ้าพ่อ และทำหน้าที่อุปถัมภ์เสียเอง (10)

ยิ่งไปกว่านั้นมีการมองว่า ประชาชนในชนบทถูกทำให้อ่อนแอต้องพึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลือ และในช่วงที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่เสนอว่า คนชนบทที่ได้รับผลจากนโยบายอุปถัมภ์ของรัฐนั้น เป็นหนี้นอกระบบมากขึ้น เพราะต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อจ่ายหนี้ให้แก่กองทุนหมู่บ้านที่กู้ยืมไป รวมไปถึงเงินที่รัฐบาลนำไปแจกจ่ายนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการผลิตจริง แต่เงินเหล่านั้นกลับไปกระตุ้นการบริโภคมากกว่า

การมองว่า ประชาชนถูกอุปถัมภ์จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ต้องทุ่มคะแนนให้พรรคไทยรักไทยนั้น เป็นมุมมองที่มีปัญหาเนื่องจากสมมติฐานของแนววิจารณ์แบบนี้มองว่า คนชั้นล่าง หรือคนยากจน หรือแม้แต่คนไทยและสังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่เชื่อในความเสมอภาค (11) คนส่วนมากมีลักษณะเป็น "ไพร่" หรือ "โง่" ที่ถูกหลอก เป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว หรือถูกซื้อได้ด้วยเงินที่รัฐบาลแจกให้

มากยิ่งไปกว่านั้น เวลาอธิบายถึงสาเหตุที่นำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของไทยรักไทย ก็จะมองว่า ประชาชนไม่ได้เลือกไทยรักไทยด้วยการเข้าใจนโยบาย ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ หรือข้อเสนอของภาคประชาชนอย่างไร มุมมองแบบนี้จึงเป็นการมองว่า คนชั้นล่างถูกหลอก หรือ โง่ โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่า นโยบายประชานิยมอยู่บนฐานของการต่อรอง การเลือก และการวางแผนทางยุทธศาสตร์อย่างไร ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

1.3 พรรคนายทุน และรัฐนายทุน
มุมมองนี้เป็นการวิพากษ์รัฐบาล และพรรคไทยรักไทย ในฐานะที่เป็นพรรคนายทุน หรือรัฐนายทุน โดยมองว่า ไทยรักไทยเป็นการรวมตัวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่หลายกลุ่ม ที่เข้ามายึดอำนาจรัฐเพื่อใช้อำนาจรัฐให้เอื้อต่อการสะสมทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ งานวิชาการประเภทนี้ส่วนมากเป็นของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ ที่ให้ภาพรายละเอียดของกลุ่มทุนต่างๆ ผู้เป็นสมาชิกพรรค ผู้ที่อยู่บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้ง และผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรค ว่ามาจากกลุ่มทุนกลุ่มไหน มีสายสัมพันธ์กันอย่างไร (12) และนำไปสู่การอธิบายว่า กลุ่มทุนต่างๆ มีนโยบาย หรือวิธีการต่างๆ ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตนอย่างไร ผ่านการอธิบายด้วยแนวคิด ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย (13)

งานของกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเปิดโปงมากกว่าอธิบายวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของนโยบาย และยุทธวิธีการบริหารจัดการของรัฐบาลไทยรักไทย ในลักษณะภาพกว้าง แต่ทำความเข้าใจไทยรักไทยในลักษณะที่นายทุนกลุ่มต่างๆ ต้องการได้อำนาจรัฐ และต้องการผลประโยชน์จากการออกนโยบาย เพื่อการสะสมทุนของพวกตนในระยะสั้นและระยะยาว งานโดยมากจึงจำกัดที่ "การนับหัวนายทุน" ทั้งในรัฐบาลและรัฐสภา รวมไปถึงการพยายามอธิบายว่า รัฐบาลไทยรักไทย หรือตัวทักษิณเองจัดสรรพรรคพวกของตนเองเข้าไปในกลไกลรัฐและควบคุมสื่อ และส่วนต่างๆ ของสังคมมากน้อยเพียงไหน

เช่น งานของ McCargo and Ukrist (14) พยายามอธิบายว่า ทักษิณ ได้ครอบคลุมขยายอิทธิพลของตนเองและกลุ่มพวกตนเอง เข้าไปในส่วนต่างๆ ของกลไกรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ และการพยายามสร้างพรรคการเมืองพรรคเดียวที่เข้มแข็ง รวมไปถึงการคุมสื่อ และการขยายอิทธิพลอำนาจไปสู่วงการธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ข้อสรุปของงานประเภทนี้นำไปสู่การมองว่า ไทยรักไทย หรือระบอบทักษิณนั้นครอบงำ หรือควบคุมสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และดูเหมือนจะไม่มีทางออกที่จะต่อสู้ต่อรองกับลักษณะของ "รัฐนายทุน" แบบนี้ได้ มากไปกว่าเปิดโปงว่ากลุ่มทุนกลุ่มใดบ้างได้ประโยชน์จากนโยบายของพรรค ปัญหาของแนวทางแบบนี้ เนื่องมาจากการให้ความสำคัญกับการสะสมทุนในการอธิบายปรากฏการณ์มากเกินไป โดยขาดการมองมิติของการต่อสู้ทางชนชั้น และละเลยการวิเคราะห์การเมืองภาคประชาชน ในฐานะตัวแสดงหนึ่งของการเมืองไทยที่มีส่วนกำหนดที่มา และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ รวมไปถึงนโยบายของไทยรักไทย

สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านข้อสรุปที่แสนหดหู่ของ McCargo and Ukrist (15) ที่มองว่า ทางเลือกภายใต้รัฐนายทุนนี้มีแค่ 4 ทางที่ทั้ง 4 ทางไม่มีช่องว่างให้กับการต่อสู้ต่อรองกับไทยรักไทยผ่านการสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน นอกจากจะรอให้เกิดเหตุการณ์คล้าย พฤษภาทมิฬ หรือไม่ก็รอคอยการเกิดวิกฤต ทั้งที่เกิดจากตัวทักษิณและพรรคไทยรักไทยเอง หรือความล้มเหลวอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ถึงจะสามารถเอาชนะรัฐบาลได้

1.4 รัฐบาลประชานิยม
มีการเสนอว่า รัฐบาลไทยรักไทยใช้งบประมาณอย่างไร้เหตุผล และมีการกลัวว่า ประเทศไทยจะกลับไปเผชิญกับปัญหาวิกฤตทางการคลังอีก ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ เช่นที่เคยเกิดขึ้นที่ลาตินอเมริกา (16) รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายของพรรคไทยรักไทยเป็น นโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์เชียน (Keyensian Economics) เป็นการวิจารณ์จากกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม(ใหม่) (17) ที่เน้นกลไกลตลาด และไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด หรือพูดง่ายๆก็คือ ปล่อยให้ระบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ทำงานอย่างอิสระ เท่ากับว่า รัฐไม่ควรจัดสวัสดิการให้ประชาชน เนื่องจากละเมิดวินัยการคลังของประเทศ

ยิ่งกว่านั้นมีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลชุดนี้ขาดจริยธรรม เนื่องจากสร้างระบบผูกขาดสัมปทานรัฐ และระบบผูกขาดในระบบตลาด (18) ทำให้ตลาดไม่เป็นตลาดของการแข่งขันที่ "ยุติธรรม" เห็นได้จากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยรักไทยล่าสุด โดย ธีรยุทธ บุญมี (19) เสนอว่า

" ... นักนโยบายของเรากำหนดนโยบายเพื่อการทับซ้อน นักการเมืองชอบคิดอย่างทับซ้อนมากกว่าซับซ้อน เป็นต้นตอสำคัญของการบิดเบือนกลไกตลาด .. "(เน้นโดยผู้เขียน)

คำถามก็คือ จริงหรือที่ตลาดเสรีหรือกลไกตลาดสามารถสร้างความยุติธรรม มีจริยธรรม และ ไม่นำไปสู่การผูกขาดได้จริง หรือว่า แท้จริงแล้วกลไกตลาดเสรีของแนวเสรีนิยมนี้เองที่นำไปสู่การผูกขาดที่ "ปลาใหญ่(ย่อม)กินปลาเล็ก"

และเราจะพบว่า นโยบายของรัฐบาลนั้นในแง่หนึ่งที่สำคัญมากคือ ได้นำเสนอผลประโยชน์ให้กับคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จริงๆ เช่น การเข้าถึงระบบสาธารณสุขในราคาถูก การให้เงินโดยตรงแก่คนยากจนทั้ง กองทุนหมู่บ้าน SME SML คนจนได้ประโยชน์จริงในแง่ของการบริโภค หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้จะเป็นระยะสั้นก็ตาม แต่สิ่งที่เราน่าจะวิจารณ์รัฐบาลนั้น น่าจะเป็นประเด็นที่รัฐควรจะให้บริการประชาชนมากกว่านี้ โดยไม่ควรมีข้ออ้างว่ารัฐไม่มีเงิน ซึ่งแก้ได้โดยการเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการเต็มตัว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในประเทศที่การต่อสู้ของภาคประชาชนมีอาวุธทางความคิดที่ก้าวหน้า เช่น ในยุโรปบางประเทศ เป็นต้น

ปัญหาของแนวคิดเสรีนิยม จึงอยู่ที่ว่า แนวคิดเสรีนิยมไม่ได้มีจุดยืนอยู่ที่การมองผลประโยชน์ทางชนชั้น โดยไม่สามารถเข้าใจได้ว่า นโยบายต่างๆ ให้ผลประโยชน์กับประชาชนคนชั้นล่างจริง (21) และที่แย่ไปกว่านั้นคือเท่ากับว่า เอากรอบแบบเสรีนิยมเป็นอาวุธในการต่อสู้กับรัฐบาลที่ผลักดันแนวเสรีนิยมเอง ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ นโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทยรักไทย หรือ ทักษิณใจดีและเป็นเพื่อนประชาชน หรือว่า รัฐบาลชุดนี้โง่ที่ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจจะพาให้เกิดปัญหาวิกฤตการคลังอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักใช้วิจารณ์รัฐบาล ถ้าเราพิจารณาภาพความไม่พอใจต่อแนวทางเสรีนิยมซึ่งในที่สุดก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และกระแสการปฏิรูปการเมืองในช่วงนั้น เราจะพบว่า นโยบายเหล่านี้มีที่มาที่ไป และไม่ใช่ว่ารัฐบาลไทยรักไทยไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

จุดร่วมของข้อวิจารณ์ทั้ง 4 แนว คือ การมองว่าไทยรักไทยมีความเข้มแข็งมาก มีวิธีการจัดการกับประชาชน และคนกลุ่มต่างๆ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บางคนถึงกับกล่าวว่า ทักษิณ สามารถครอบงำสังคมไทย สร้างเครือข่ายทั้งในรัฐและเครือข่ายทางธุรกิจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และงานเกือบทั้งหมดเป็นการรอคอยการล่มสลายของไทยรักไทย อันเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายและการบริหารจัดการของตัวเอง มากไปกว่าเปิดช่องให้กับต่อสู้ของภาคประชาชน

เนื่องมาจากกรอบการวิเคราะห์ของงานต่างๆ เหล่านี้ ขาดการมองมิติของการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะกระจัดกระจาย รวมไปถึงขาดการมอง "อำนาจ" ในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์ (22) แต่มองอำนาจในลักษณะที่ตายตัวและกระจุกตัว ทั้งที่อำนาจนั้นมีลักษณะสัมพัทธ์ มากเสียกว่ากระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ใครจะสามารถแย่งชิง หรือครอบงำได้เบ็ดเสร็จโดยไม่กระทบต่อส่วนอื่นๆ การมองแบบนี้ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าใจว่า ความเข้มแข็งของไทยรักไทยมีที่มา หรือสะท้อนการต่อสู้ แย่งชิง และมีความเปราะบาง รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถต่อสู้ ต่อรองได้อย่างไร ซึ่งจะกล่าวต่อไป

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

เชิงอรรถ

(1) ดูรายชื่อหนังสือที่เกี่ยวกับ ระบอบทักษิณ และไทยรักไทยได้ใน Achara Deboonme "Thaksinomics a massive feed for curiosity" in The Nation, 6 September 2004.

(2) การแบ่งดังกล่าวเป็นการปรับจากงานของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ "เส้นทางประชาธิปไตย และการปรับตัวของรัฐไทยในระบอบทักษิณ" ใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2547, น. 67.

(3) เกษียร เตชะพีระ, บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ : กรุงเทพฯ, 2547), น. 133-8.

(4) " The Only Good Populist is a Rich Populist : Thaksin Shinawatra and Thailand's Democracy" Working Papers Series No.36 (Southeast Asia Research Centre: Hong Kong), p. 13

(5) เช่นคำกล่าวของ พิภพ ธงไชย ผู้นำอาวุโสของขบวนการเอ็นจีโอ ในงาน สภาประชาชน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 ที่หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

(6) "400-seat govt could lead to public revolt, scholars warn" in Bangkok Post, 10 August 2004, p. 1

(7) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "อาณาจักรแห่ง 'ความกลัว'" ใน มติชนรายวัน ,6 กันยายน 2547, น. 6.

(8) Thitinan Pongsudhirak "Thailand : Populism, Democracy and Authoritarianism" paper presented for the Third Annual Thai-Korean Political Science Associations Conference, Silom Hotel, Huahin, Thailand, 26-27 July 2003. และดูข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจได้ใน Pitch Pongsawat "Thaksinism as Hegemonic Project (again)" in Toxinomics (openbooks: Bangkok, 2004),p. 189.

(9) ธีรยุทธ บุญมี "การเมืองระบอบทักษิณ (Thaksinocracy)" ใน.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, รู้ทันทักษิณ (สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน : กรุงเทพฯ, 2547), น. 44-6.

(10) เวียงรัฐ เนติโพธิ์ "เจ้าพ่ออุปถัมภ์กับรัฐอุปถัมภ์" ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ , 50, 1 (30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2546), น. 14-7. และ "รัฐคือผู้อุปถัมภ์รายใหม่แทนเจ้าพ่อ" ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ , 11, 572(2546), น. 92-3.

(11) อคิน รพีพัฒน์ "ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองไทย สมัยคิดใหม่ทำใหม่" ใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อ้างแล้ว, น.33-9. ข้อสังเกตคือ การอุปถัมภ์ และ การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่มีการคิดคำนวณและต่อรอง ต่างกันอย่างไร ซึ่งอาจทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ ที่เชื่อในความเป็นไพร่ และความจงรักภักดีระหว่างผู้อุปถัมภ์ และผู้ถูกอุปถัมภ์ ยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย โดยเฉพาะการเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างไร

(12) ดู รัตพงษ์ สอนสุภาพ และประจักษ์ น้ำประสายไทย, Thaksino's Model ปฏิรูปความมั่นคั่งสู่ฐานอำนาจใหม่ (บริษัท ยู เอ๊กซ์ เพรส: กรุงเทพฯ, 2546). ; Ukrist Pathmanand "Big Four Telecoms, Thaksin Regime and democracy in Thailand" paper presented at Korean-Thai Political Scientists Dialogues on the Theme of "Governance and Security Issues of Concern to Korea and Thailand" on July 25-28,2003 at the Sailom Hotel, Hua Hin Beach Resort Thailand

(13) สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ "คอร์รัปชั่นนโยบาย" ใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อ้างแล้ว, น. 59-66.

(14) McCargo, Duncan and Ukrist Pathamanand, The Thaksinization of Thailand (NAIS Press: Denmark, 2005)

(15) Ibid, p. 248-53.

(16) ไสว บุญมา, ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย? (Nation Books: กรุงเทพฯ, 2546)

(17) อัมมาร สยามวาลา "ทักษิโณมิคส์" มติชนรายวัน 25 ธันวาคม 2545

(18) ธีรยุทธ บุญมี "Road Map ประเทศไทย" ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ , 12, 593, 13 ตุลาคม 2546, น. 22-4.

(19) ธีรยุทธ บุญมี "ธีรยุทธ วิพากษ์…สมภารทักษิณ บรรลุ!เอื้ออาทร เอื้ออาธรรม์" ใน โพสทูเดย์, 28 กุมภาพันธ์ 2548, น. A6.

(20) อัมมาร สยามวาลา "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของวิกฤติเศรษฐกิจและทางออกของเศรษฐกิจไทย" ใน OCTOBER no.2 Political Economy & International Relation, เมษายน 2546, น. 166-87. ; อเนก เหล่าธรรมทัศน์ "ประชานิยม" เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 491, 29 ตุลาคม- 4 พฤศจิกายน 2544, หน้า 16. ; ธีรยุทธ บุญมี ,อ้างแล้ว.

(21) ดูข้อวิจารณ์ในลักษณะนี้ได้จาก กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน "นโยบายแก้ไขความยากจนของรัฐบาลไทยรักไทย" ใน ประชาธิปไตยแรงงาน, ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547, น. 1-4.

(22) Poulantzas, N., State, Power, Socialism, translated by Patrick Camiller (Verso: London, 1980),p. 146-53.

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



130749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทวิเคราะห์การเมืองเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น
บทความลำดับที่ ๙๗๑ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
อันเนื่องมาจาก พรรคไทยรักไทยเข้าใจสถานการณ์ที่ วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดตัวอยู่ที่เศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตของรัฐและระบบทุนนิยมด้วยพร้อมๆ กัน ดังนั้นการก่อตัวขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่มาพร้อมกับนโยบายประชานิยม จึงอยู่บนฐานของการพยายามรักษาความชอบธรรมทางการเมือง และผ่อนแรงต้านของประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐ อันเกิดจากการต่อสู้ทางชนชั้นที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

นโยบายประชานิยมจึงเป็น "ยุทธศาสตร์" ของการต่อสู้ทางชนชั้น ทั้งภายในชนชั้นนายทุนด้วยกันเอง และเพื่อซื้อความสงบทางชนชั้น ไม่ให้ชนชั้นล่างขึ้นมาต่อสู้ และสร้างความรู้สึกว่า เท่าเทียมกัน ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองปัจจัยการผลิตแม้แต่น้อย ในแง่นี้นโยบายประชานิยมที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นความจำเป็นเชิงโครงสร้าง ที่รัฐบาลหรือชนชั้นนายทุนที่สถาปนาเป็นกลุ่มก้อนทางอำนาจเพื่อยึดอำนาจรัฐมี "ความจำเป็น" ต้องให้แก่ประชาชน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านข้อสรุปที่แสนหดหู่ของ McCargo and Ukrist ที่มองว่า ทางเลือกภายใต้รัฐนายทุนนี้มีแค่ 4 ทางที่ทั้ง 4 ทางไม่มีช่องว่างให้กับการต่อสู้ต่อรองกับไทยรักไทยผ่านการสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน นอกจากจะรอให้เกิดเหตุการณ์คล้าย พฤษภาทมิฬ หรือไม่ก็รอคอยการเกิดวิกฤต ทั้งที่เกิดจากตัวทักษิณและพรรคไทยรักไทยเอง หรือความล้มเหลวอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ถึงจะสามารถเอาชนะรัฐบาลได้

the midnightuniv website 2006