นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทวิเคราะห์วรรณกรรมไทยร่วมสมัย
แผ่นดินอื่น: บริบท ยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลง

กำพล จำปาพันธ์ : เขียน

นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


หมายเหตุผู้เขียน
บทความนี้เขียนเสร็จ ๑ เดือนก่อนหน้าที่กนกพงศ์จะเสียชีวิตกะทันหัน
และผู้เขียนอยู่ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว จึงทราบข่าวคราวดังกล่าวล่าช้าไปมาก
เดิมทีบทความนี้ตั้งใจจะปรับปรุงและเผยแพร่อีก ๔- ๕ เดือนนับจากเมษายน ๒๕๔๙ นี้
แต่เนื่องจากข่าวความเป็นไปดังกล่าวกระทบความรู้สึกจึงคิดเผยแพร่เร็วกว่าที่เคยตั้งใจไว้
คุณความดีที่หากพอมีอยู่บ้าง ผู้เขียนขอร่วมไว้อาลัยแด่นักเขียนนาม
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 890
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20.5 หน้ากระดาษ A4)



แผ่นดินอื่น: บริบท ยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลง
กำพล จำปาพันธ์ : นักวิชาการอิสระ

อารัมภบท
สืบเนื่องจากการตีพิมพ์ครั้งที่ ๑๒ ของ "แผ่นดินอื่น"(1) หลังจากที่เหมือนจะเงียบหายไปบ้าง รางวัลซีไรต์ปี ๒๕๓๙ ยังคงเป็นจุดการันตีคุณภาพ แน่นอนกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ฉลากยี่ห้อรางวัล (โดยเฉพาะซีไรต์) ที่ประทับหน้าปกไว้หราจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรใช้พิจารณา รางวัลเป็นแต่เพียงเครื่องการันตีคุณภาพเนื้อหาที่มีอยู่ในงานชิ้นนั้นก่อนแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงสำหรับการพิมพ์ใหม่ไม่ได้ผิดแปลกไปจากเดิมมากนัก คำนำของสำนักพิมพ์โดยเจน สงสมพันธุ์ เช่น ถ้อยความที่สรุปเนื้อหาที่ว่า "รู้ใจฟ้ารู้ใจดิน" ยังคงชวนให้หนังสือดูมีอะไรน่าอ่าน ทั้งยังน่าจะเป็นการสรุปประเด็นปมเงื่อนสำคัญ ๆ ที่งานประพันธ์ได้สร้างสมและสะท้อนถ่ายเอาไว้เป็นอย่างดีนั่นเอง ภาพปกดูจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากสุด จากภาพงานศิลป์ที่ยากแก่การเข้าใจโดยง่าย กลายเป็นภาพเข็มขัดต่างสีรัดรึงกันเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และเฉพาะที่มีการเพิ่มเติมคำโปรยปก เช่นว่า "แผ่นดินอื่น" เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตผู้คนในสังคมที่ต่างวัฒนธรรมแต่อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งที่จริงก็คือส่วนหนึ่งของคำประกาศยกย่องจากคณะกรรมการซีไรต์ปี ๒๕๓๙ นั่นเอง

มีความสอดคล้องกันระหว่างภาพปกกับคำโปรยอย่างไม่ต้องสงสัย ความเป็นพื้นถิ่นอย่างเอกอุ มีกลิ่นอายของเรื่องราวทางปักษ์ใต้ การเป็นนักเขียนสังกัดกลุ่มนาคร ซึ่งชัดเจนในความเป็นภูมิภาคนิยมแบบใต้ ๆ (2) ความรู้สึกผิดแปลกปะทะประสานกับความเป็นอื่น กอปรกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ปัจจุบัน ทำให้ฉุกคิดถึงประเด็น "บริบท" ของการพิมพ์งานวรรณกรรมขึ้นมา

เพื่อความเข้าใจภายในฯ
คล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์แต่คลุมเครือกว่า (ในกรณีของวรรณกรรม)(3) "บริบท" จัดเป็นหน่วยวิเคราะห์และแบบวิธีการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ในการทำความเข้าใจ สร้างความหมาย รูปลักษณ์ของอดีต ซึ่งคงความเฉพาะในแบบฉบับของแต่ละยุคสมัยภายใต้กรอบของกาลเวลา สถานที่ และตัวละครผู้กระทำ - ถูกกระทำ เป็นที่ยอมรับกันว่าเพียงแค่หลักฐานชั้นต้นโดยตัวมันเองไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับอดีต หากยังต้องอาศัยการตีความ การชี้ให้เห็น การยืนยันและการสร้างความน่าเชื่อถือของนักประวัติศาสตร์ กล่าวนัยหนึ่งก็คือการที่ความเข้าใจต่อตัวบทความสำคัญของหลักฐานจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นที่อยู่นอกเหนือตัวหลักฐาน บริบทจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีในงานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังจะเป็นประวัติศาสตร์อยู่ในตัวมันเองด้วย เมื่อประกอบเข้าเป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งชิ้นใดขึ้นมา

แต่สำหรับวรรณกรรมที่ต้องอาศัยรูปแบบบันเทิงคดี "บริบท" จะดำรงอยู่แยกออกไปจากตัวเนื้อหา เราจะเห็นบริบทในวรรณกรรมได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะในการดำเนินเรื่อง ฉาก ตัวละคร จะแสดงตัวมันเองแก่ผู้อ่านโดยตรง นักเขียนไม่จำเป็นต้องบอกหรืออธิบายนัยยะของเหตุการณ์ การกระทำที่ตัวละครตัวหนึ่งตัวใดมีขึ้น หากตัวละครจะมีชีวิตโลดแล่นของมันเองอย่างสมเหตุสมผลตั้งแต่เริ่มเรื่องไปจนจบ (แม้บางครั้งจะมีความไม่สมเหตุสมผลก็ตาม) ตรงข้ามผู้ที่มีบทบาทในการแสดงบริบทอาจจะได้แก่ นักวิจารณ์ และคำนำสำนักพิมพ์เป็นส่วนใหญ่

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีบริบทในงานวรรณกรรม เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย กาพย์กลอน ตรงข้ามมีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะปรับประยุกต์แบบวิธีการทางประวัติศาสตร์สำหรับการวิเคราะห์วรรณกรรมในบางกรณี แม้ว่าบริบทสำหรับวรรณกรรมแล้วจะเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็นจากตัวเนื้อหาโดยตรง ด้วยคุณลักษณะที่ต้องอาศัยรูปแบบบันเทิงคดีกระตุ้นเร้าอารมณ์ความนึกคิดควบคู่กับการสอดแทรกเนื้อหา ความหมาย ความคิด ย่อมหรสพลงไว้ในรูปลายลักษณ์อักษร นักเขียนจำเป็นต้องสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับตัวละคร ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับประวัติศาสตร์ที่ตัวละครจะต้องถูกกำกับภายใต้หลักฐาน และหลักฐานก็ไม่สามารถกระทำการกระโดดโลดเต้นออกมาแสดงตัวมันเอง (4) หากจำเป็นต้องอาศัยการขยายความและสอดใส่บริบท จะว่าไปหากจะกล่าวว่าบริบทคือเครื่องช่วยหายใจของประวัติศาสตร์ก็เห็นจะไม่ผิดนัก แต่ในเมื่อบริบทไม่ใช่เนื้อหาหรือหลักฐานโดยตัวมันเอง ทั้งยังเป็นอีกสิ่งที่มีความลื่นไหลไม่น้อย ปัญหาจึงตกอยู่ที่ว่าแล้วอย่างไหนบ้างถึงเรียกเป็นบริบทกัน ?

เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกแต่ก็สำคัญและช่วยเหลือหลักฐาน เนื้อหา สาร ตลอดจนแสดงนัยความหมายต่าง ๆ ออกมา ในแง่นี้นั้น "บริบท" ดูจะมีนิยามที่กว้างขวางใหญ่โต จนอะไรต่อมิอะไรก็สามารถถูกจับมาจัดวางให้เป็นบริบทได้ทั้งนั้น ที่สำคัญอีกคำถามคือบริบทใช้ประโยชน์ในทางการคิดเขียนพูดเท่านั้นหรือ ? อาจใช่ และไม่ใช่ได้เท่า ๆ กัน

จากเกณฑ์การจัดแบ่งของ Ben - Ami Scharfstein ใน The Dilemma of Context บริบท ( Context ) แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่

๑. Microcontext
๒. Correlative context
๓. Macrocontext
๔. Metacontext และ
๕.Universal หรือ Meta - metacontext เป็นต้น (5)

โดยที่การจัดแบ่งเช่นนี้เป็นไปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เคร่งครัดไปเสียทั้งหมด ซึ่งมีประเด็นให้พิจารณาต่อไปดังนี้

๑. Microcontext หมายถึง บริบทในระดับย่อยที่สุด คือการพิจารณาในประเด็นลักษณะสำนวนถ้อยคำ - ภาษา ขอบข่ายที่ใช้นั้นครอบคลุมถึงรายละเอียดส่วนตัวของตัวผู้เขียนด้วยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "Personal context" (6) บริบทในส่วนนี้จะยอมรับอิทธิพลจากความเป็นปัจเจกบุคคลของนักเขียนค่อนข้างสูง ถือว่านักเขียนแต่ละคนมีสไตล์เป็นของตนเองทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถลอกเลียนใครได้อย่างแท้จริง

Microcontext หรือ Personal context นี้ค่อนข้างมีประโยชน์สำหรับการศึกษาผลงานของนักเขียนท่านใดท่านหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นวิธีการที่ต้องสืบค้นดูพัฒนาการที่มาที่ไปของงานเขียนชิ้นนั้น ๆ จากงานเขียนชิ้นอื่น ๆ ของนักเขียนคนเดียวกันที่มีมาก่อนหน้านั้นด้วย เป็นต้นว่า ในกรณี "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ Personal context ก็เห็นจะได้แก่ งานเช่น "ป่าน้ำค้าง" (7) "สะพานขาด" (8) และ "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" (9)

เนื่องจากเป็นงานกนกพงศ์ที่มีมาก่อนหน้า "แผ่นดินอื่น" บริบทในข้อนี้จะช่วยให้เราได้เห็นพัฒนาการความเป็นมาของงานเขียนและของผู้ประพันธ์เอง มีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยสำหรับการศึกษาที่ยึดถือบริบทนี้ ชีวประวัติ ผลงาน ตลอดจนลักษณะการใช้ถ้อยคำ - ภาษา จึงถูกตีค่าเสมือนเป็นสมบัติเฉพาะของผู้ประพันธ์แต่ละคน การลอกเลียนแบบหรืออิทธิพลเบื้องหลังก่อนหน้า อุดมคติ เป้าหมาย เจตจำนงค์ต้องการต่าง ๆ ดูจะเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่ผู้ศึกษาจะล่วงรู้ เข้าถึง หรือทำความเข้าใจ นอกจากที่ให้ความสำคัญกับผู้ประพันธ์อย่างยิ่งยวดแล้ว ลักษณะพิเศษเฉพาะของงานแต่ละชิ้นจะถูกแยกขาดจากกันไปโดยปริยาย

๒. Correlative context หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวพันกับข้อมูลหรืองานที่เราต้องการศึกษา เป็นบริบทที่เกิดจากการตีความศึกษาซ้อนหลั่นกัน หรือถ้าจะเปรียบกับงานประวัติศาสตร์ Correlative context ก็หมายถึงบริบทของงานชั้นสอง ( Secondary sources ) นั่นเอง เช่น ถ้าเราจะศึกษางานของศรีบูรพา - กุหลาบ สายประดิษฐ์ งานอันเป็นบริบทที่เราจะละเลยไม่ได้ก็ได้แก่ งานของรุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (10) เป็นต้น

แม้ความมุ่งหมายของเราจะอยู่ที่การศึกษาศรีบูรพาก็จริง แต่หากเราเริ่มจากรุ่งวิทย์ และใช้รุ่งวิทย์เป็นฐานเบื้องต้นสำหรับทำความเข้าใจงานศรีบูรพา ( แม้อาจจะโดยคร่าว ๆ ก็ตาม ) เราก็ไม่พึงเพิกเฉยไม่พิจารณาว่า มโนทัศน์การตีความของรุ่งวิทย์นั้นมีผลต่อเราอย่างไร จุดนี้มีความสำคัญเพราะนอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจทั้งรุ่งวิทย์และศรีบูรพามากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นวิธีการสำคัญที่จะตรวจสอบและประเมินข้อเท็จจริงต่าง ๆ

ผลของกระบวนการนี้เราอาจกล่าวได้ว่าจะเกิดการปะทะประสานกันระหว่างสองบริบท คือบริบทของรุ่งวิทย์และศรีบูรพา ก่อนที่สุดท้ายเราผู้ศึกษาในชั้นหลังจะสร้างอีกบริบทหนึ่งต่อยอดขึ้นมาหรืออาจจะไม่ไปไกลถึงขั้นนั้นเลยก็ได้ เพราะไม่แน่ว่าบริบทของเราอาจซ้อนทับกับบริบทการตีความก่อนหน้าก็ได้ ในเมื่อไม่เกิดความงอกงามใหม่ ๆ ที่ผิดแปลกไปจากก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญประการใด

ใน Correlative context นี้ความแตกต่างระหว่างสองยุคขึ้นไปเป็นสิ่งสำคัญ คือยุคของผู้ที่เราต้องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นยุคศรีบูรพา (ระหว่างทศวรรษ ๒๔๗๐ - ๒๕๑๐) กนกพงศ์ (พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๔๘) บริบทของยุคผู้ศึกษาก่อนหน้าเรา และของเราเอง ฯลฯ

๓. Macrocontext ตรงข้ามกับ Microcontext ที่ให้ความสำคัญกับ Personal หรือ Subpersonal เพราะ Macrocontext เป็นบริบทที่มีความหมายกว้างขวาง ครอบคลุม มีลักษณะ Impersonal ได้แก่ สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมทั้งการถกเถียงกันระหว่างสำนักคิด (Schools of thought) ด้วย การณ์นี้จึงจำเป็นต้องอาศัยกรอบการวิเคราะห์เชิงโครงสร้างมาขยายให้เห็นบทบาทอิทธิพลของสังคมเศรษฐกิจฯ ที่มีต่องานชิ้นนั้น ๆ พร้อมกันนั้นก็เป็นการแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ของงานชิ้นนั้นในโครงสร้างทางสังคมนั้นด้วย

ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ของอุดม สีสุวรรณ (ในนามปากกา บรรจง บรรเจิดศิลป์) (11) ที่เสนอว่างานศรีบูรพาสองชิ้นคือ "ข้างหลังภาพ" และ "จนกว่าเราจะพบกันอีก" มีความสำคัญในแง่ที่สะท้อนสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ชนชั้นสูงของระบบศักดินา กำลังเผชิญความตกต่ำและแตกสลาย ขณะที่ชนชั้นนายทุนกระฎุมพีกำลังเติบโตและมีอำนาจมากขึ้นทุกขณะ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ความรักทั้งใน "ข้างหลังภาพ" กับ "จนกว่าเราจะพบกันอีก" จึงเป็นความรักที่ตัวละครอยู่คนละฝักฝ่ายและเป็นตัวแทนทางความคิดที่แตกต่างกันจนไม่อาจประนีประนอมหรือบรรจบพบรักกันได้โดยง่าย ดังที่นวนิยายแนวโรมานซ์มักสะท้อนไว้

การถกเถียงกันระหว่างสำนักคิดก็ต้องพิจารณาเป็น Macrocontext ด้วยดังที่กล่าวตอนต้น เพราะ "รูปลักษณ์ของความรู้" ที่เกิดขึ้นหลังการถกเถียงระหว่างสำนักคิดครั้งสำคัญ ๆ มักมีผลต่อการผลิตงานและกระแสความนิยม - ไม่นิยมของวรรณกรรมชิ้นนั้น ๆ ด้วย สำหรับ Macrocontext แล้ว รูปแบบความรู้ถือเป็นเรื่องที่อยู่แยกออกไปจากตัวผู้ประพันธ์ในทาง Personal รูปแบบความรู้ ตลอดจนบรรยากาศการถกเถียง (Debate) เกี่ยวพันถึงบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ไม่เฉพาะเจาะจงไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง และสองคนที่ว่าก็ยังหมายถึงความเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่แยกออกไปจากตัวผู้ประพันธ์

กรณีกนกพงศ์ เมื่อคราวให้สัมภาษณ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในวันแถลงข่าวที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ว่า เขาคือ "นักเขียนในแนว "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" รุ่นสุดท้าย" (12) ดูจะสะท้อนให้เห็นร่องรอยของการถกเถียงที่มีผลทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตต้องตกกระแสไปบ้าง เมื่อโลกวรรณกรรมได้รับอิทธิพลจากกระแสทางความคิดที่ตั้งคำถามกับสัจจะในแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต ข้อสรุปที่เกิดขึ้นใหม่เช่นว่า สัจจะนั้นมีหลากหลายและกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมศูนย์รอคอยการค้นพบ การปฏิวัติหรือยกระดับมวลชนผู้ยากไร้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายของวรรณกรรมอีกต่อไป แม้ว่าวรรณกรรมจะยังคงเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เช่นเดิมก็ตาม

๔. Metacontext บริบทนี้อาจจะยุ่งยากไปสักหน่อย แต่เข้าใจโดยย่นย่อได้เพียงว่า เป็นบริบทของการพิจารณาถึงวิธีการตั้งคำถาม การมองปัญหา เรียกว่า "อภิบริบท" อภิบริบทยังหมายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา การตอบคำถามและ/หรือแนวทางการแสวงคำตอบของปัญญาชนในอดีต พูดง่าย ๆ คือ เป็นบริบทของอิทธิพลจากนักประพันธ์รุ่นก่อนหน้าทั้งหมด

แตกต่างจากกรณี Correlative context ตรงที่ Correlative context จะเป็นการพิจารณาจากวรรณกรรมก่อนหน้าว่ามีอิทธิพลถึงยุคหลัง ๆ อย่างไร แต่ Metacontext เป็นการพิจารณาดูว่าวรรณกรรม ชิ้นโน้นชิ้นนี้มีอิทธิพลจากวรรณกรรมก่อนหน้าแฝงมาอย่างไร กล่าวคือขณะที่ Correlative context เป็นการพิจารณาจากอดีตสู่ปัจจุบัน แต่ Metacontext จะพิจารณาจากปัจจุบันแล้วย้อนกลับไปสืบสาแหรกในอดีต

ด้วยเหตุนี้ Metacontext จึงเป็นบริบทที่มีลักษณะสำคัญอีกอย่างคือ กว้างขวางครอบคลุมกว่า Macrocontext เพราะนอกจากแต่ละบริบทที่ซ้อนกันอยู่ระหว่างช่วงต่อของอดีตกับปัจจุบันแล้ว Metacontext ยังผนวกรวมเอาข้อพินิจในมิติเกี่ยวกับสถานที่และเวลาจากปัจจุบันถึงอดีตไว้ด้วย

๕. Meta - metacontext คือบริบทที่มีลักษณะเป็นสากล (Universal context) เป็นผลรวมของความพยายามที่จะนำเอาบริบททั้งหมดที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว เข้ามารวมกันในงานแต่ละชิ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้มีลักษณะคงความเป็นสากลทางความคิดไว้อย่างสูง นับเป็นเรื่องยากที่ใครจะสามารถผลิตงานได้ถึงขั้นนั้น แต่ก็เป็นความใฝ่ฝันของปัญญาชนนักวิชาการจำนวนมากมาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว เพราะด้วยบริบทที่มีลักษณะเป็นสากลนี้เชื่อว่า จะทำให้ปัญญาชนนักวิชาการและผลงานที่บรรลุถึงจุดสูงสุดอย่างนั้น กลายเป็นผลงานคลาสสิคที่อยู่เหนือกาลเวลา เหนือยุคสมัย เหนือขอบเขตระหว่างชาติ - เผ่าพันธุ์ เป็นสากลที่ครองความนิยมอย่างยาวนาน บรรจุเนื้อหาคำอธิบายครอบคลุมหลากหลายปริมณฑลสาขาวิชานั่นเอง

อันที่จริงจะว่าไปแล้วความเป็นไปได้ของบริบทสากลนี้เป็นเพียงอุดมคติและความใฝ่ฝันของปัญญาชนนักวิชาการเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ที่พยายามสร้างบริบทสากลในงานตัวเองได้ใกล้เคียงที่สุดก็มีเช่น Durkheim, Marx, Weber, Alfred Kroeber, Oswald Spengler (13) และในระดับที่เป็นนามธรรมสูงสำหรับการมองแบบบริบทสากลที่ออกมาในรูปอภิปรัชญา ก็ได้แก่ Hegel ซึ่งได้สร้างรูปแบบบริบทที่มีความเป็นสากลไว้ได้มากกว่าคนอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ (14)

ไม่มีหลักเกณฑ์สำหรับการกำหนดให้แน่ชัดว่า บริบทกับงาน สัมพันธ์กันมากน้อยเพียงไหน จำเป็นจริง ๆ ที่ต้องมีบริบทหรือชี้ให้เห็นบริบทในงานชิ้นนั้น ๆ หรือไม่ แม้อาจช่วยให้เข้าใจงานได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าบริบทเป็นส่วนหนึ่งของงานโดยตัวมันเอง การเสริมหรือก่อความเข้าใจเรื่องราว เหตุการณ์ ฉาก ตัวละคร ยังสำคัญตราบที่เนื้อหาภายในงานไม่อาจพูดอะไรออกมาเองได้เสียทั้งหมด ทั้งยังเป็นไปได้ยากที่จะมีงานที่คงความสมบูรณ์ถึงเพียงนั้น

การแยกบริบทออกเป็น ๕ ประเภทข้างต้น เป็นไปเพื่อก่อความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น แท้จริงจะเห็นได้ว่าแต่ละบริบทไม่สามารถแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ จะเข้าใจ Correlative context ได้ก็ต้องเข้าใจ Macrocontext ด้วย ความเชื่อมโยงกันของแต่ละบริบทแสดงถึงความกว้างของประเด็น อุดมคติซึ่งแฝงฝังอยู่ในงาน (ซึ่งเป็นของผู้ประพันธ์ด้วย) ว่ามีผิดแผกหรือไปไกลกว่าสำนึกร่วมของสาธารณชนสักกี่มากน้อย

ขณะเดียวกันบริบทก็หาใช่สิ่งเดียวกับความหมาย หากผู้ประพันธ์ไม่ได้ชี้ให้เห็นไว้ในงานหรืออาจชี้แต่ไม่ชัดเจนก็ตาม บริบทจะเป็นเรื่องของการประกอบสร้าง การเสริมใส่จากผู้อื่นเสียมากกว่า อาจเป็นนักวิจารณ์ นักศึกษาวรรณกรรม หรือแม้แต่ในความเข้าใจของผู้อ่านเอง ตรงนี้เองที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะงานแต่ละชิ้นมีบริบทของมันเองแยกออกไปต่างหาก การเสริมใส่หรือชี้ให้เห็นอย่างคาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจึงไม่ควรเกิดขึ้น เพราะแทนที่จะสร้างความเข้าใจก็อาจกลายเป็นเพียงความสับสน บิดเบือน และขาดความยุติธรรมอย่างยิ่งสำหรับการวิจารณ์หรือประเมินคุณค่างาน

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงบริบทจะหมายถึง Macrocontext เสียส่วนใหญ่ เช่น บริบททางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่มักกล่าวถึงกัน ข้อจำกัดของบริบทดังกล่าวก็ดังที่เสนอไว้บ้างแล้วคือ มีอาณาบริเวณกว้างขวางครอบคลุมมากเกินไป เหมือนกำปั้นทุบดินหรือถ่มน้ำลายรดฟ้า คือทำอย่างไรก็ดูจะถูกต้องไปเสียหมด โอกาสผิดพลาดนั้นไม่มีเลย ถ้ายึดถือบริบทนี้มากไปวิชาการบางประเภทจะจืดชืดและตายสนิทในที่สุด ไม่ช่วยให้ไปถึงไหน เพราะสุดท้ายเปรียบได้เพียงแค่การขว้างก้อนหินลงไปในแม่น้ำ

ทำไมนักวิชาการผู้ซึ่งมักอวดอ้างความรู้ความฉลาด จึงต้องทำอะไรที่ดูโง่เขลาและชวนขันจนน่าเศร้าเช่นนั้น? แต่เมื่อจำเป็นต้องสร้างความชัดเจน การปฏิเสธ Macrocontext คือให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยของข้อมูลเท่านั้น การปฏิเสธ Macrocontext ไม่ได้หมายความเท่ากับปฏิเสธบริบท หากแต่เป็นการใช้บริบทหนึ่งล้มล้างอีกบริบทเท่านั้น

ในเมื่อบริบทแต่ละประเภทสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ปัญหาว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน หรือควรเลือกให้ความสำคัญกับบริบทใดจึงมีความสำคัญตามมานั้นด้วย ปกตินักวิจารณ์วรรณกรรมมักให้ความสำคัญกับ Microconext เช่น ถ้อยคำ ภาษา สำนวน ฯลฯ มีบ้างเหมือนกันที่ใช้ Macrocontext ส่วนบริบทอื่น ๆ มักไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากความยากในการเสาะหาข้อมูลที่จะใช้สนับสนุน อีกทั้งบริบทก็ยังเป็นปัญหาในแง่การตีความ กำหนดนิยาม ขอบข่าย และประโยชน์การใช้ ยิ่งกรณี Meta - metacontext ด้วยแล้ว ดังที่กล่าวคือเป็นเพียงความใฝ่ฝันของปัญญาชนนักวิชาการเท่านั้น

บริบทของ "แผ่นดินอื่น"
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ปัจจุบัน มีผลสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกหนังสือในปัจจุบัน ความพยายามที่จะประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีกรือเซะ ตากใบ ฆ่ารายวัน ปาดคอพระ ฆาตรกรรมเจ้าหน้าที่ ลอบวางระเบิด ฯลฯ มีขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ทั้งจากนักวิชาการ ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว NGOs. ด้านวรรณกรรมมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน การพิมพ์ "แผ่นดินอื่น" อีกครั้ง มีวาระที่ต้องพิจารณาในกระแสนี้

จริงอยู่แม้ว่า "แผ่นดินอื่น" จะถือกำเนิดในบรรณพิภพ ก่อนที่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้จะรุนแรงขึ้นเช่นปัจจุบัน แต่ "แผ่นดินอื่น" ก็มีความสำคัญเพราะเป็นวรรณกรรมภูมิภาคนิยม (Regionalism) ที่มีกลิ่นอายของปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวเฉพาะปัญหาการก่อความไม่สงบถึงขั้นมีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐไทย ขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาก่อนที่จะสงบลงช่วงหลังทศวรรษ ๒๕๓๐ จากนั้นจึงมาปะทุขึ้นอีกในยุครัฐบาลทักษิณนี้เอง

"แมวแห่งบูเต๊ะกรือซอ" คือชื่อเรื่องสั้นขนาดยาวที่มีความโดดเด่น ในจำนวนเรื่องสั้นที่รวมไว้ใน "แผ่นดินอื่น" ต่อชุมชนมุสลิม, การปฏิบัติของผู้มาเยือนใหม่ ๆ ซึ่งเมื่อมองจากคนในชุมชนแล้วพวกเขาคือ "คนนอกศาสนา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกำลังทหารที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้ปัญหาความแตกต่าง กลายเป็นอคติแสดงออกในเชิงดูหมิ่นดูแคลนต่อกัน (ซึ่งมักเป็นปัญหาตั้งต้นของความรุนแรง ความอยุติธรรม การใช้อำนาจ และความไม่เท่าเทียมกัน) และกระทั่งการใช้ความรุนแรงโดยปราศจากเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอ

กนกพงศ์เปรียบเรื่องนี้ด้วยมุมมองของผู้ชายที่พึงต้องปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมต่อแมวและผู้หญิง แมวที่บังเอิญเกาะมาในกระเป๋าสะพายของฮาราน และใครต่อใครในหน่วยรบต่างคิดว่าภรรยาเขาแอบเอาใส่ไว้ในกระเป๋าให้เพื่อหวังเป็นตัวแทนความรัก และการปฏิบัติด้วยทะนุถนอม ไม่ให้หมกมุ่นต่อการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังความรุนแรง การตัดสินด้วยอคติ ความชัง ความริษยา อาฆาต ฯลฯ และทั้งฟาริดา ครูสาวชาวมุสลิมในพื้นที่ที่ทหารหนุ่ม ๆ ต่างหลงใหลในรูปโฉม คงจะเป็นตัวแทนนามธรรมของความคิดที่เตือนย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้

"แผ่นดินอื่น" เล่าถึงความรู้สึกผิดแปลกที่เกิดขึ้นกับทหารที่เข้ามาปฏิบัติงานคุ้มครองครูและนักเรียนให้ปลอดพ้นจากการคุกคามของกองโจรเรียกค่าไถ่ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่รู้จักกันในนามกลุ่มอับดุลกาเดร์ โดยที่คณะครูและโรงเรียนไม่ได้เรียกร้องให้มีกำลังทหารชุดคุ้มครอง เพียงแต่กองทัพถูกร้องขอจากสมาพันธ์ครู ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ไกลออกไป

สำนึกในความเป็นชาติ อาณาเขตประเทศ และสมมตินามอันพยายามหลอมเอกภาพให้เกิดขึ้นในรัฐ บางครั้งสร้างความขัดแย้งมากกว่าจะเป็นกาวประสานขจัดความขัดแย้ง การรวมศูนย์อำนาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาความไม่สงบ ในแง่นี้ความไม่สงบจึงมีรากเหง้ามาจากบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปในสำนึกทรงจำสาธารณะ ภาษาและความหมาย ไวยากรณ์ของอำนาจที่รวมศูนย์จึงไม่อาจเป็นทางแก้ไขปัญหา เหตุผลนั้นก็แสนจะง่ายคือ ไวยากรณ์ของอำนาจสร้างปัญหาโดยตัวมันเองนั่นเอง

"เรา (ทหารชุดคุ้มครองครู - ผู้เขียนบทความ) คุยกับเด็ก ๆ ด้วยภาษามลายูท้องถิ่น ไม่มีพวกเขาคนไหนพูดภาษาไทยได้คล่องสักคน แม้ในชั้นเรียนพวกเขาจะถูกบังคับให้พูดก็ตาม ผมไม่ได้ถามพวกเขาว่าเข้าใจความหมายของ 'ประเทศไทย' มากน้อยแค่ไหน พี่ชายผมมีเรื่องตลกเคยเล่าให้ฟัง ตอนเขาไปเป็นครูฝึกสอนที่เบตง นักเรียนคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นมาบอกว่าเพื่อนของเขาชนประเทศไทยหัวแตก พี่ชายผมสงสัยเลยตามไปดู ก็เห็นเด็กอีกคนยืนเกาะเสาธงร้องไห้จ้า หน้าผากโชกด้วยเลือด... แต่นั่นเป็นเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ถึงทุกวันนี้สถานการณ์คงเปลี่ยนแปลง...
เด็ก ๆ บอกว่าพวกเราสู้อับดุลกาเดร์ไม่ได้หรอก" (หน้า ๑๒๕)

มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์พอสมควรสำหรับสภาพการณ์ดังกล่าว ความเป็นจริงก็คือรัฐสยาม/ไทย ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ผนวกรวมเอารัฐชายขอบ เช่น ปาตานี และอื่น ๆ เข้ามาเป็นอาณานิคมภายใน "ประเทศไทย" เองก็เป็นสมมตินามที่ถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ปาตานีไม่ได้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มาแต่ครั้งโบร่ำโบราณดังที่มีการเรียนการสอนกันในประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ แง่หนึ่งจึงไม่แปลกที่ความทรงจำสาธารณะระหว่างรัฐไทยกับปาตานีเดิมจะมีความแตกต่างขัดแย้งกันจนยากจะลงรอย แม้ปาตานีเดิมจะไม่ใช่รัฐมุสลิมก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญนั้นคือความเป็นรัฐที่มีเอกราช เคยรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเมืองการปกครองที่สำคัญในอดีต (15)

แนวโน้มที่ฝ่ายผู้ก่อการจะได้รับการสนับสนุนจากรประชาชนในพื้นที่จึงมีได้มาก แต่ประชาชนก็หาใช่ศัตรูของรัฐไม่ ปัญหาจึงมีความละเอียดอ่อนตรงจุดนี้ เพราะการกระทบกระทั่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายจากการโจมตีหรือเข้าไปยุ่มย่ามของฝ่ายรัฐ หากขาดความรอบระวังอย่างเพียงพอ ประชาชนในพื้นที่จะหันไปสนับสนุนฝ่ายก่อการได้ง่าย การณ์จะกลายเป็นรัฐต้องต่อสู้กับประชาชนไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกเท่านั้น

การส่งทหารเข้าไปปฏิบัติงาน หรือการปฏิบัติภายใต้กรอบคิดอันคร่ำครึของฝ่ายความมั่นคง ที่เน้นการกดปราบด้วยวิธีรุนแรง มีความขัดแย้งที่ง่ายต่อการตั้งคำถามถึงความชอบธรรม เท่ากับยื่นโจทก์สำคัญไปให้กับฝ่ายผู้ก่อการ สร้างเงื่อนไขทำให้สิ่งที่พวกเขาคิด เชื่อ และเห็นกันอยู่ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น ที่สำคัญโจทก์ที่ว่าตกอยู่ที่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งกำลังทหารที่รุกล้ำเข้าไปด้วย เช่นที่ตัวเอกของกนกพงศ์แสดงไว้ ในคราวที่เขารำพึงรำพันถึงการสนทนาระหว่างเขากับฟาริดาที่ว่า :

"ครั้งหนึ่งผมเคยเย้าขึ้นว่า ไม่กลัวอับดุลกาเดร์จะจับตัวไปหรือ? เธอไม่เชื่อว่าเขาจะทำเช่นนั้น, เธอกล่าวว่าเขาอาจเป็นศัตรูกับบ้านเมือง แต่เธอไม่เชื่อว่าเขาจะเป็นศัตรูกับพวกเธอด้วย ผมหวั่นไหวและหงุดหงิด ตัดพ้อน้อยใจที่เธอทำคล้ายไม่รู้ว่า เราเสี่ยงชีวิตมาอยู่นี่ก็เพื่อคุ้มครองพวกเธอ ฟาริดาหัวเราะ เธอหัวเราะด้วยท่าทางสนุก ทว่าผมรู้สึกเหมือนเธอหัวเราะเยาะใส่หน้า

เป็นความจริงที่เธอกล่าวว่า ครูทุกคนแห่งบูเต๊ะกรือซอไม่มีใครเรียกร้องให้พวกเรามา ทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องของสมาพันธ์ครู เธอบอกว่าไม่มีใครกลัวอับดุลกาเดร์ถึงขนาดต้องเรียกร้องอำนาจรัฐเข้ามาช่วย นั่นไม่ได้หมายถึงว่าอับดุลกาเดร์อ่อนแอถึงขั้นทำอะไรพวกเธอไม่ได้ เพียงแต่เขาไม่มีวันทำอะไรเช่นนั้น แน่ละ... เธอรู้ดีเกินไปว่า ข่าวใหญ่เกี่ยวกับการจับครูเรียกค่าไถ่เป็นฝีมือกลุ่มโจรธรรมดา ผมเลยจนกับคำถามของเธอที่ว่า หากเราคิดจะคุ้มครองครูกันจริง ๆ แล้ว ทำไมถึงไม่ปฏิบัติต่อครูทั้งประเทศ ในเมื่อโจรผู้ร้ายไม่ได้เลือกมีเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้?!…

ผมบอกว่าถ้าเช่นนั้นพวกเราจะกลับละ ป่วยการที่จะอยู่คุ้มครองในเมื่อไม่มีใครเห็นความดีเยี่ยงนี้ ฟาริดาหัวเราะอีก แล้วบอกว่านั่นเป็นความคิดที่ดีที่สุดเท่าที่เห็นในตัวผม เธอบอกว่าเธอเหนื่อยที่จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ แห่งบูเต๊ะกรือซอเดินไปในหนทางที่ถูกต้อง เธอจะสอนให้พวกเขารักสันติได้อย่างไร? ในเมื่อเพียงหันหน้าออกนอกห้องเรียน พวกเขาก็เห็นผู้ใหญ่ถือปืนอยู่เต็มสนาม

เธอเคยจนต่อคำถามของเด็ก ๆ เมื่อพยายามปลูกฝังให้พวกเขารักผืนแผ่นดินไทย ด้วยการพยายามอธิบายความหมายเนื้อเพลงชาติให้ฟัง เธอจะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจได้อย่างไรว่า "ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี" ขณะเด็ก ๆ ถามว่าทหารไทยมาทำไม? จะให้เธอตอบว่ามาเพื่อสู้กับอับดุลกาเดร์กระนั้นหรือ? นั่นเป็นป๊ะของเด็กบางคนที่นี่ เป็นสูเป็นหวาของเด็กแห่งบูเต๊ะกรือซอ จะให้เธออธิบายให้พวกเขาเข้าใจและยอมรับได้อย่างไรว่า เป็นสิ่งถูกต้องแล้วที่ทหารไทยต้องฆ่าอับดุลกาเดร์?!…

นั่นเป็นครั้งเดียวที่ฟาริดาปะทุอารมณ์ให้ผมเห็น แม้ว่าเธอพยายามซ่อนมันไว้เบื้องหลังความสดใสก็ตาม" (หน้า ๑๒๕ - ๑๒๗)


ความตายของแมวและฟาริดา จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์เตือนถึงความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่กำลังอุบัติขึ้น นั่นคือการปะทะกันระหว่างกำลังทหารชุดคุ้มกันกับพลพรรคอับดุลกาเดร์ ก่อนที่กองพันทหารจากค่ายสิรินธรจะเข้ายึดบูเต๊ะกรือซอ และปิดล้อมทางขึ้นยอดเขาโต๊ะโมะทุกด้านไว้ ทำให้อับดุลกาเดร์ต้องเคลื่อนพลหนีลึกเข้าไปในเขตป่ามาเลเซีย ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงชัยชนะของฝ่ายไทย หากทั้งสองฝ่ายต่างพบความสูญเสียจนไม่รู้ว่าชัยชนะหรือพ่ายแพ้นั้น ท้ายสุดต่างกันไฉน เบื้องหลังสำคัญนั้นคือบูเต๊ะกรือซอในฐานะพื้นที่ถูกยึดครองต้องพบความสูญเสียอย่างยากประเมินค่า ไม่ใช่แค่แมวกับครูหญิงคนหนึ่ง แต่ทั้งสองคือตัวแทนทางสัญลักษณ์บางอย่างที่ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายทำลายไปเอง

เท่ากับเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาด้วยกำลังทหาร เนื่องจากเป็นนักประพันธ์ที่เริ่มผลิตงานในระยะหัวเลี้ยวของทศวรรษ ๒๕๓๐ บทบาททหารกำลังถูกตั้งคำถามอีกครั้งนับแต่หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก่อนที่หลายสิ่งหลายอย่างจะคลี่คลายและมาบรรจบลงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ' ๓๕

นอกจาก "แมวแห่งบูเต๊ะกรือซอ" แล้ว "สะพานขาด" กนกพงศ์เคยตั้งปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีนัยสำคัญพอสมควร ความสับสนของตัวเอกของเรื่อง (ซึ่งเป็นทหารรัฐบาล) ว่าจะทำอย่างไรดี เมื่อสะพานที่ต้องขับรถลำเลียงพลข้ามไปสู่สมรภูมิเกิดทรุดไป จนต้องหันเลี้ยวรถ (ยี เอ็ม ซี.) ตรงไปยังผืนที่นาของชาวบ้าน แต่ปรากฏว่ามีหญิงชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่นาผืนนั้นมายืนกางแขนขวางรถไว้ไม่ยอมให้รถทหารเหยียบย่ำทำลายที่นาของตน ทหารมาเพื่อคุ้มครองและสู้รบเพื่อประชาชน ความจริงเพียงเผินๆก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงที่ทหารของเรื่อง "สะพานขาด" และ "แมวแห่งบูเต๊ะกรือซอ" ได้พบเห็นด้วยตนเองกลับเป็นตรงกันข้าม

รวมทั้งการที่ทหารปราบคอมมิวนิสต์จากเรื่อง "บ้านเกิด" (หน้า ๔๗ - ๑๐๘) บันดาลโทสะกราดยิงชาวบ้านที่มาร่วมงานแต่งงานจนบาดเจ็บล้มตายเสียหลายคน แบบลักษณ์ของการเป็นผู้กระทำการมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองกระทำ ไม่มีความจริงที่สามารถปกปิดได้ตลอด ยิ่งความจริงนั้นทำร้ายหรือคร่าชีวิตใครไปอย่างอยุติธรรม ชายซึ่งย่ำยีหญิงในเรื่อง "ผีอยู่ในบ้าน" และ "บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น" จึงต้องเผชิญชะตากรรมอันเป็นผลจากการกระทำของตนอีกด้วย

แต่แตกต่างจากตรรกะแบบพุทธที่เรียกว่า กงกรรมกำเกวียน เพราะผลจากการกระทำที่ว่าไม่มีมิติของชาติภพ ผลของการกระทำไม่ต้องรอชาติหน้า แต่เป็นชาตินี้ และเป็น "ผล" ที่เชื่อมกับ "เหตุ" แนบแน่นกว่ามาก ความเสื่อมโทรมทางด้านคุณธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ สำหรับกนกพงศ์แล้วดูเหมือนจะง่ายไปถ้าบอกเป็นเพราะโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ตรงข้ามมนุษย์ในฐานะที่มีอิสระบ้างและเป็นตัวของตัวเองพอ จักต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้โครงสร้างสังคมจะมีส่วนกำหนดอยู่ก็ตาม (16)

คำถามต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ในฐานะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเก่า ชุมชนมุสลิมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย แต่จะง่ายเกินไปทั้งไม่แน่ว่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ถ้าจะบอกว่าปัญหาความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจาก "คนนอก" หรือ "คนนอกศาสนา" เท่านั้น กนกพงศ์ได้เตือนให้เห็นว่า ภายในสังคมมุสลิมเองมีกลุ่มคนชั้นนำที่ได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้ที่ท้ายสุดได้ทำลายชุมชนมุสลิมด้วยกันเองอย่างร้ายกาจ

เพื่อขยายเครือข่ายการประกอบการธุรกิจ อานนท์ตัวเอกของเรื่อง "แพะในกุโบร์" เป็นผู้เติบโตมาในความอบรมเลี้ยงดูจากชุมชนมุสลิม แต่กลับเป็นผู้ทำลายกุโบร์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ด้วยจักแปรรูปที่ดินไปสร้างศูนย์การค้า โดยไม่ใส่ใจต่อญาติพี่น้องที่นอนหลับใหลอยู่ใต้ผืนดินแห่งนั้น เป็นเรื่องที่ชวนหดหู่และเจ็บปวดอย่างหนึ่ง เพราะญาติพี่น้องเหล่านั้นต่างเป็นผู้ที่เคยเลี้ยงดูอานนท์เมื่อครั้งอานนท์ยังเป็นเด็กน้อยอยู่

แต่ใช่จะเป็นเฉพาะอานนท์คนเดียวที่อกตัญญูเช่นนั้น ก่อหรุน อดีตนักรบเดนตายในสงครามแบ่งแยกดินแดนก็สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ว่า ชาวมุสลิมในงานวรรณกรรมชิ้นนี้จึงไม่ใช่มุสลิมที่มีเอกภาพทางความคิด แต่เป็นมุสลิมที่เต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในที่ยากแก่การแก้ไข สาเหตุก็เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา เน้นการพัฒนาสู่ความทันสมัย ให้ความสำคัญกับการสะสมทุนต่อยอดอัตรากำไร และการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ละเลยศีลธรรมทางศาสนาและค่านิยมดั้งเดิม สังคมสมัยใหม่จึงมาพร้อมกับกลไกการทำลายของระบบทุนนิยม :

"...ไม่มีคำตอบสมบูรณ์ให้แก่การกระทำใด ๆ ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับการดำเนินชีวิต ในเมื่อคุณค่าซึ่งสังคมใหม่ยึดถือกลับเดินสวนทางกับคุณค่าเก่า แน่ละ นี่คือช่วงเวลาระหว่างรอยต่อของการเปลี่ยนยุค นี่คือยุคแห่งความเงียบอันแท้จริง!

คุณค่าใหม่ของยุคใหม่คือความจำเป็นซึ่งเขาต้องเดินเข้าไปหา ขณะมีคุณค่าเก่าของยุคก่อนคอยกล่าวประณาม ทุกการกระทำตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ ด้วยเหตุผลของการก้าวไปข้างหน้า และจำเป็นที่ต้องดึงความรู้สึกให้ล่วงพ้นความเชื่อเรื่องบาปกรรม เขารู้ว่านี่เป็นเรื่องยากลำบาก อานนท์รู้ตัวดีว่ากำลังตกอยู่ในวังวนอันเลวร้ายดังกล่าว ซึ่งคุกรุ่นอยู่ในห้วงคิดของเขานี่เอง เขาอยากจะเชื่อว่ายุคสมัยกำลังต้อนเขาเข้าสู่มุมอับ จะหลีกหน้าไปทางไหนไม่ได้ นอกจากยอมปล่อยตัวให้มันหิ้วปีกเขาไป

ใช่สิ... เขาคือสัตว์ซึ่งถูกตีโซ่พันธนาการเพื่อนำไปสู่พิธีบูชายัญ เพียงแต่เทพเจ้าองค์ใดเล่าที่เขาต้องพลีชีวิตสังเวย? คำตอบช่างแจ่มชัดเหลือเกิน ทุกสรรพเสียงยืนยันกับเขาด้วยคำตอบเดียว คุณค่าของยุคสมัยถ่วงดุลไว้ด้วยมาตรวัดแห่งเงินตรา! น่าประหลาดเหลือเกินที่สิ่งสมมุติเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยนแต่อดีตก ลับกลายมามีอิทธิพลเหนือชีวิตมนุษย์ ทั้งนับวันมันยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่ากำลังมีอิทธิพลอยู่เหนือความดีงาม

แน่ละ เบื้องหลังของเงินตราคือความฉ้อฉลร้อยแปด เป็นความโสโครกซึ่งไม่ควรเฉียดใกล้ แต่จะให้ทำเช่นไร? มีวิถีใดเหลือไว้ให้เลือกอีก? ดูนั่นสิ - ดูชายผู้กำลังลงจากเก๋งคันใหญ่นั่น แม้เราจะรู้ว่าทั้งเนื้อทั้งตัวและจิตใจเขาเต็มด้วยความอัปลักษณ์ ทว่าเราก็ต้องค้อมหัวให้ - - ค้อมให้ด้วยจิตใจศิโรราบต่อตัวเลขบัญชีในธนาคารของเขา ดุจเดียวกับจิตใจศิโรราบเมื่อก้มกราบสมณะผู้เต็มด้วยจริยวัตรงดงาม!

นี่เป็นหลักตรรกะชนิดใดกันแน่? อานนท์คิด ทำไมการก้าวไปสู่สิ่งที่เรียกขานกันว่า 'คุณค่า' ของยุคสมัยจึงต้องอาศัยทางเดินอันแสนโสมม?" (หน้า ๓๑๘ - ๓๑๙)

ด้วยการตั้งคำถามท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยนี้เอง ทางสองแพร่งจึงเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นคำตอบในใจของผู้ประพันธ์ คือความโหยหาอาลัยในสังคมเก่าที่ไม่อาจเรียกฟื้นกลับคืนมา และ/หรือทวงถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ละเลยคุณค่าของยุคเก่า ดูเหมือนส่วนใหญ่จะเลือกอย่างหลังกันมาก แม้ "ไม่มีคำตอบสมบูรณ์" สำหรับแนวทางการผสมผสานความเปลี่ยนแปลงที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ท้ายสุดจะไม่มีใครได้ผลประโยชน์จากการทำลายสังคมเก่าอย่างแท้จริง เพียงแต่ที่ได้รับในชั้นแรก ๆ นั้นไม่มีอะไรยั่งยืน เพราะสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานการละเลยคุณค่าเก่านั้น ตัวมันเองก็จะถูกทำลายด้วยในท้ายสุด ขาดมิติของตัวตนและจิตวิญญาณ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงยากแก่การประเมินค่า หากว่า ;

"ชีวิตปัจจุบัน ไม่มีผลกรรมที่จะต้องชดใช้ในโลกหน้า และไม่มีความลี้ลับใด ๆ คอยตามเล่นงานเราในโลกนี้ ตีนตะขาบของแบคโฮซึ่งบดลงไปบนบัวบรรจุกระดูกนั่นคือคำตอบอันชัดแจ้ง ไม่มีเสียงร้องใด ๆ อยู่ในบัวเหล่านั้น นอกเสียจากฝุ่นผงอันเกิดจากกระดูกผุพัง เขานึกเห็นภาพแบคโฮตะลุยทำงานทั้งกลางวันกลางคืน จนงานอาจชะงักบ้างเมื่อขุดเจอซากวัด แต่ไม่กี่อึดใจต่อมาพวกเขาก็กลับโหมขุดอย่างบ้าคลั่ง เพื่อเจอสิ่งของมีค่าอันเป็นกำไรนอกเหนือค่าแรง

เขา (อานนท์ - ผู้เขียนบทความ) นึกอยากให้ก่อหรุนมานั่งอยู่ตรงหน้า จะได้ชี้ให้ดูข่าวนี้และบอกว่า : ดูสิ พวกเขากำลังทำอะไร? ช่างวิเศษอะไรเช่นนี้! กล้าหาญอะไรเช่นนี้! พวกเขาขุดวัดทั้งวัดขึ้นมาโดยไม่เกรงกลัวใด ๆ เลย นี่กระมังสิ่งที่เราเรียกขานกันว่ารุ่งอรุณของยุคใหม่?

ก่อหรุนเคยพูดเรื่องยุคใหม่ไว้น่าฟัง ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และทุนนิยมต่างห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อช่วงชิงการนำพาผู้คนไปสู่ยุคใหม่ ทั้ง ๆ ที่สารัตถะสำคัญของทั้งสองลัทธิต่างเหมือนกัน คอมมิวนิสต์มุ่งล้มล้างศรัทธาความเชื่อเก่า ๆ ลง ปลดคนออกจากพันธนาการงมงาย นับแต่เรื่องผีสางนางไม้ ไปกระทั่งกำเนิดอันเหลื่อมล้ำของชาติพันธุ์ชนชั้นหรือแม้แต่หลักคิดแห่งศาสนา ขณะทุนนิยมพยายามปลูกฝังระบบคิดทางวิทยาศาสตร์นำพาผู้คนออกจากความเชื่อเรื่องวัฏฏะว่ายวนแห่งชีวิต เพื่อให้กล้าก้าวไปข้างหน้าโดยไม่พะวักพะวน แน่ละ ผลสะท้อนกลับของมันคือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอันยืนยง

ก่อหรุนบอกว่าเป็นสิ่งถูกต้องแล้วที่โลกสมัยใหม่ทำลายความเชื่อเหลวไหลลง ทว่ากลับเป็นก่อหรุนอีกเช่นกันที่หัวเราะเยาะพลางบอกว่าน่าเสียดายที่ผีโดนทำลายลงไปพร้อมความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ เมื่อไม่มีผีก็ไม่มีนรกสวรรค์ ไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใดอีก คนเราจะคิดทำอะไรก็ได้ เพียงเพื่อตอบสนองตัวเอง

อานนท์วางแก้วเบียร์ลง เอนหลังพิงพนักเก้าอี้ มองต่ำอยู่ที่ปลายเท้า ความตายของผีคือความตายของศาสนากระนั้นหรือ?" (หน้า ๓๑๔ - ๓๑๕)

"แพะในกุโบร์" นอกจากจะหมายถึงแพะที่มีตัวตนและอาศัยอยู่ในกุโบร์ที่กำลังจะถูกทำลายแล้ว "แพะ" ในที่นั้นยังอาจหมายถึงกลุ่มคนในสังคมชุมชนมุสลิมอีกเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับความเจ็บปวดและสะเทือนใจจากการที่ผืนดินฝังร่างบรรพชน ต้องถูกทำลายกลายเป็นศูนย์การค้า แพะไม่มีเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์เช่นที่ดินก็จริง แต่ แพะ คน และทั้ง "ชีวิต" ทั้งหมดตามมุมมองมุสลิมล้วนแล้วเป็นของพระเจ้า คำเตือนด้วยความเศร้าของวะกอเส็มต่ออานนท์หลานของเขาจึงเป็นคำเตือนที่บ่งนัยว่า ที่เขาทำลายไปนั้นคือพื้นที่ที่เป็นของพระเจ้าตามสำนึกชาวมุสลิม ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนธรรมดา ๆ ตามระบบทุน

ฤาจักเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์แบบไทย?
ผี นั้นอยู่คู่กับความเชื่อดั้งเดิม ตำนานพื้นบ้านของไทยมักใช้ "ผี" เป็นสื่อกลางสำหรับสะท้อนความสำคัญของประเด็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่อื่นไกลหากแต่ในชีวิตจริงในปัจจุบัน ผีมีความเหลื่อมล้ำระหว่างความจริงปัจจุบันกับความจริงในอดีต แต่ผีพันผูกกับยุคเก่ามากกว่า แนวการประพันธ์ที่เรียกว่า "สัจนิยมหัศจรรย์" (Magical Realism) เล่นกับตำนานความเชื่อและอุดมคติดั้งเดิมค่อนข้างมาก เราจะเห็นอิทธิพลในแบบฉบับของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ พอสมควร สังคมที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนการปะทะประสานระหว่างคุณค่าเก่ากับคุณค่าใหม่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ความทันสมัย ซึ่งเท่ากับการเมืองต้องเป็นเสรีนิยม ระบบเศรษฐกิจต้องเป็นแบบทุนนิยม - เงินตรา ควรถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นว่า จะยังประโยชน์สุขแก่ผู้คนในสังคมจริงหรือไม่ วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างยิ่งยวด

บทบาทแม่ เช่น แม่ตัวเอกของเรื่อง "บ้านเกิด" ชวนให้นึกถึงบทบาทอูร์ซูล่าใน "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (17) แม่มดใน "บนถนนโคลีเซียม" และแม่เฒ่าหมาใน "แม่มดแห่งหุบเขา" ก็ชวนให้นึกถึงพวกยิปซีกับตัวละครหญิงบางตัวในเมืองมาคอนโด (18) การใช้กลวิธีทำให้ผู้อ่านรู้สึกเศร้าสลด เจ็บปวด บาดลึก เปลี่ยวเหงาโดดเดี่ยวทีละน้อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดจบของตัวละคร รวมทั้งเรื่องที่เขา/เธอแสดง ซึ่งหมายถึงจุดจบของยุคสมัยที่ไม่อาจเรียกฟื้นคืนมาดังเดิม ก็คล้าย "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" มาเควซดูจะมีอิทธิพลต่อกนกพงศ์ไม่น้อยเลย

แต่ไม่ได้หมายถึงว่านั่นจะลดทอนคุณค่าในงานสร้างสรรค์แต่อย่างใด นั่นอาจเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจและอภิบริบทอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อต้องปรับประยุกต์เข้ากับขนบวรรณกรรมไทย แนวทางที่ดูเหมือนจะเป็นของลาตินอเมริกา (แต่เดิมก็เรียกได้ว่า ไม่ใช่ของลาตินอเมริกาแต่ดั้งเดิมเช่นกัน) กลายเป็นมีกลิ่นอายในแบบวรรณกรรมไทย ๆ ไป "ผี" ใน "ผีอยู่ในบ้าน" เป็นผีแบบไทย ๆ ตามขนบนวนิยายสยองขวัญ ผี ซึ่งเป็นครูของโนราห์นักแสดงใน "น้ำตก" ก็เป็นผีครูในนิยายเดิมเกี่ยวกับความเชื่อในสังคมไทย

เนื่องจากผีเป็นส่วนหนึ่งที่ธำรงค่านิยมของสังคมเก่า ผีจึงมีด้านที่เป็นจริงในความรู้สึกนึกคิดก่อนที่เหตุผลจะเป็นใหญ่ ผีเป็นตัวสร้างความกลัว ความกลัวป้องกันการละเมิดในสัจจะสิ่งลี้ลับอีกต่อหนึ่ง ไม่ใช่ผีในแบบที่จะมาแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกหลอนคน แต่ผีคือผู้ปกปักรักษาความเป็นจริงในแบบเก่าเอาไว้ จากเดิมที่สัจนิยมมหัศจรรย์จะไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าอะไรจริง อะไรลวง แต่ผีใน "แผ่นดินอื่น" ดูจะเป็นผีที่พยายามกู่ร้องถึงการมีอยู่จริงของตนเอง การให้ผีเป็นผู้บอกว่า "ผีไม่มีหรอก! ผีเป็นเรื่องเหลวไหล!" (หน้า ๒๔๔) เท่ากับบอกว่าผีมีอยู่จริงและไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เพียงแต่ผีอยู่ในห้วงสำนึกและมีนิยามที่หลากหลาย ผี หมายถึงสิ่งที่ตายจากไป นัยหนึ่งคือสิ่งที่เคยมีอยู่หรือเป็นอยู่ในอดีตนั่นเอง

ในแง่นี้ผีจึงมีความเป็นประวัติศาสตร์โดยตัวมันเอง อีกทั้งยังหลากหลายและกำกวมเกินกว่าจะหมายเพียงคนตายที่ลุกขึ้นมาหักคอคน เช่น แม่นาคพระโขนง เป็นต้น หากผีถูกใช้ในรูปวรรณกรรมการเล่า ให้เป็นตัวแทนของอดีตที่ยังคงตามหลอกหลอนอยู่ในปัจจุบัน ความเฮี้ยนจึงเท่ากับสภาพที่อดีตหรือตัวตนของยุคเก่าเข้าหลอนหลอกปัจจุบัน ยิ้มเยาะหยันและปลุกปั่นยุคใหม่ด้วยฤทธิ์ของความกลัว แต่อนิจจา! ผีจะทรงพลังก็ต่อเมื่อความตายได้มาเยือนอย่างเป็นจริงแล้วเท่านั้น ขณะที่ผีอาจจะไม่สามารถฟื้นอดีตได้จริง มันเพียงแต่คอยหลอกหลอนเท่านั้น

แตกต่างจากสังคมตะวันตก ผีสำคัญ เช่น แดกคูล่า และ/หรือแฟรงเคนสไตน์ จะเป็นความพยายามเพื่อได้มาซึ่งชีวิตอมตะในวิถีทางที่แย้งย้อนต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ในมุมมองของชาวคริสต์ ผี (รวมทั้งแม่มด) เป็นผู้ละเมิดศีลธรรม คุณค่า ความดี และความงาม นั่นเป็นเพราะผีในสังคมตะวันตกมีความเก่าแก่กว่ายุคกลาง อันเป็นยุคที่ค่านิยมดั้งเดิมแต่ครั้งสมัยทาสถูกแทนที่ด้วยคติความเชื่อในแบบคริสเตียน พระเจ้าจึงเป็นตัวแทนของยุคไม่ใช่ผี

แต่ใช่ว่าผีที่เป็นตัวแทนความจริงแบบหนึ่งนี้จะเป็นผีที่เป็นตัวแทนอดีตทุกกรณี มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าจะมีผีที่เป็นตัวแทนความเป็นจริงในปัจจุบัน ผีที่เป็นที่มาของอำนาจ ลาภยศเงินทอง และความเชื่อถือแก่คนทรง เป็นผีในแบบดังกล่าว แต่ผีชนิดนี้ไม่ใช่ผีที่จะทรงพลานุภาพโดยตัวมันเอง ผีชนิดนี้จะขาดคนทรงหรือ body ไม่ได้ คนทรงต่างหากที่เป็นผู้ควบคุมกำกับผี ไม่ใช่ผีควบคุมหรือหลอกหลอนคนเช่นผีกรณีแรก (ผีตัวแทนอดีต) ในแง่นี้ผี (ที่เป็นตัวแทนปัจจุบัน) จึงไม่มีอยู่จริง ที่ดูเหมือนมีอยู่ก็เพียงแต่ในความหลอกลวงเท่านั้น เนื่องจากผีดังกล่าวไม่มีตัวตนแยกออกไปจากกายคน หากแต่เป็นคนสมอ้างเป็นผีหรือเข้าถึงผีติดต่อกับผีได้เพียงผู้เดียว (19)

ส่งท้าย
"บริบท" เป็นเรื่องของการมองให้เห็นมองให้เชื่อมโยง เป็นการตัดต่อ เสริมแต่ง แปลงลักษณ์ โดยนัยนี้แล้วตัวผู้ชี้ให้เห็นบริบทจึงสำคัญเทียบเท่ากับผู้ประพันธ์ หรือกล่าวอีกนัยคือผู้สร้างบริบทโดยเฉพาะขั้นอภิบริบทและบริบทสากลนั้น เป็นผู้ประพันธ์อีกคนหนึ่งแยกออกไปจากงานนั้น ๆ แม้จะไม่เด็ดขาดสมบูรณ์นัก แต่ก็กล่าวได้ว่าบริบทเป็นอีกสิ่งซึ่งอยู่ล้อมรอบสิ่งที่เป็นเนื้อหางาน จากการที่อยู่ "ล้อมรอบ" นี้เองที่สามารถยืนยันได้ว่าบริบทไม่ใช่เนื้อหา บริบทมีความสำคัญในแง่รูปแบบการนำเสนอ การสร้างความเข้าใจ การตีความความหมาย และการเข้าถึงสัจจะ

จากบริบทที่เป็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ "แผ่นดินอื่น" ตอบรับเป็นวรรณกรรมที่คงคุณค่าสำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาลึก ๆ แง่คิด ความขัดแย้ง ปมปัญหา มีการอภิปรายอย่างละมุนม่อมลุ่มลึกในแบบวรรณกรรม ซึ่งงานวิชาการ สารคดี ฯลฯ ที่พยายามบอกเล่าเรื่องเดียวกันนี้ และมีอยู่มากมายตามแผงหนังสือปัจจุบัน อาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป บทสนทนามีคำพูด เสียงเล่า มุมมองของชาวมุสลิมเอง วรรณกรรมชิ้นนี้จึงเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปจากงานประพันธ์ อันเป็นความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมทางปัญญาล่าสุดในสังคมไทย

ด้วยความละเอียดอ่อน ลุ่มลึก ซึ่งเกี่ยวพันถึงลักษณะปัญหาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งยากแก่การแก้ไขอย่างเหมาะสมลงตัว ไม่ใช่ความสามารถทางการประพันธ์เสียทีเดียวนัก บางครั้ง บางช่วง ชวนให้รู้สึกน่าเบื่ออยู่มาก เยิ่นเย้อยืดยาดก็ปานนั้น แต่ด้วยความอุตสาหะ ความละเอียดของปัญหา ผนวกกับที่ต้องอาศัยรูปแบบบันเทิงคดีจึงเป็นสิ่งที่อภัยกันได้ การจบของเรื่องมักทิ้งเงื่อนปมบางอย่างแก่ผู้อ่าน น่าจะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกคุ้มที่ต้องตลุยอ่านจากหน้าแรกยันหน้าสุดท้ายของแต่ละเรื่อง ซึ่งเรื่องสั้นของกนกพงศ์นั้นจะมีจำนวนหน้ามากเป็นพิเศษ

แต่จากความละเอียดอ่อนนั้นเอง "แผ่นดินอื่น" จึงเป็นหนังสือดีที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้สนใจปัญหาภาคใต้ควรอ่าน!

++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. แผ่นดินอื่น. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๔๘.

(2) กนกพงศ์มักถูกกล่าวขานในฐานะตัวแทนนักเขียนพื้นถิ่นทางใต้ ขณะที่นักเขียนยุคเดียวกันเช่น ชาติ กอบจิตติ เป็นตัวแทนภาคกลาง ปราโมทย์ เป็นตัวแทนอีสาน และสร้อยแก้ว คำมาลา เป็นตัวแทนภาคเหนือ โปรดดูรายละเอียดใน ไพฑูรย์ ธัญญา. "วรรณกรรมอยู่บ้านไหน." นอกเหนือจินตนาการ. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ไรเตอร์, ๒๕๔๐) หน้า ๑๒๗ - ๑๓๕.

(3) แน่นอนว่า สำหรับประวัติศาสตร์แล้ว วรรณกรรมมีความสำคัญและขึ้นต่อกันอย่างแยกขาดได้ยาก ข้อคิดต่าง ๆ จากการศึกษาอดีต (ผ่านข้อมูลหลักฐาน) ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถทางการประพันธ์สำหรับถ่ายทอด ปราศจากการเขียน ประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจแสดงตัวมันเองออกมาได้ ชั้นเชิงศิลปะในการนำเสนอจึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ควรให้ความสำคัญ ดังที่มีผู้กล่าวไว้นานแล้วว่าวรรณกรรมมีคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์เองก็มีคูณูปการต่อการศึกษาวรรณกรรม สำหรับขอบเขตความหมายของ "วรรณกรรม" ในที่นี้นั้นหมายถึง วรรณกรรมที่ใช้รูปแบบบันเทิงคดีเป็นพาหนะของการนำเสนอเป็นหลัก ยังไม่ครอบคลุมถึงวรรณกรรมทางวิชาการ หรืองานเขียนที่อยู่ในรูปอื่น ๆ

(4) การวิพากษ์จากนักประวัติศาสตร์ เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุพจน์ ด่านตระกูล ที่เคยเกรียวกราวต่อกรณี "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ของวินทร์ เลียววาริณ สะท้อนประเด็นดังกล่าว เพราะมองจากมาตรฐานความถูกต้องทางวิชาการขณะนั้นแล้ว วินทร์ได้ละเมิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างอุกอาจ ด้วยการทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็นตัวละครหนึ่งซึ่งต้องมีชีวิตจิตใจของตนเองแยกขาดจากข้อเท็จจริงจากหลักฐานและความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ขณะนั้น จนกล่าวได้ว่าวินทร์ได้ "ก้าวล้ำ" (หรือนัยหนึ่งจะว่า "ล้ำเส้น" ก็ได้) ด้วยการใช้ขนบวรรณกรรมรุกเข้าไปดัดแปลงประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นวรรณกรรม จอมพล ป. กับพวก ก็เลยกลายเป็นตัวละครที่แสดงตัวเองต่อผู้อ่านโดยไม่ต้องมีการอธิบายควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัด ทั้งจากหลักฐานและมาตรวัดทางวิชาการที่ยังเป็นเรื่องคับแคบตายตัวอยู่มาก เพราะวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องอวดอ้างสรรพคุณว่าเข้าถึงสัจจะของอดีต วรรณกรรมจึงก้าวข้ามไปสู่ ณ ที่ซึ่งกระบวนวิธีการสร้างความแจ่มชัดในมโนทัศน์ความเข้าใจต่ออดีตได้เกิดขึ้นระดับหนึ่งแล้ว ความแตกต่างในนิยาม "ประชาธิปไตย" ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้ว ยากแก่การบรรจบพบกัน หรือสร้างความสมานฉันท์ปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในสำนึกทรงจำร่วมสมัยอยู่ก่อนแล้ว สุดท้ายความสำเร็จของวินทร์จึงเกิดขึ้นได้ ตราบที่การทรงจำที่ว่านั้นยังคงทรงอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจอดีต ภายใต้อาณัติของห้วงเวลาปัจจุบันนั่นเอง.

(5) Ben - Ami Scharfstein. The Dilemma of Context [New York : U. Press, 1989] อ้างถึงใน ไชยันต์ ไชยพร. "ประวัติศาสตร์: วิถีแห่งความพยายามของมนุษย์ต่อความรู้ของเทพเจ้า." วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒ (๒๕๓๖) หน้า ๖๘.

(6) เพิ่งอ้าง, แต่ความเข้าใจต่อจากนี้ถัดไปเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน.

(7) กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. ป่าน้ำค้าง. ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๓๑.

(8) กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. สะพานขาด. ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๓๙.

(9) กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. คนใบเลี้ยงเดี่ยว. ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร, ๒๕๓๙.

(10) รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: พาสิโก, ๒๕๒๒.

(11) บรรจง บรรเจิดศิลป์. ชีวิตกับความใฝ่ฝัน. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๒๑ ; บรรจง บรรเจิดศิลป์. ศิลปวรรณคดีกับชีวิต. กรุงเทพฯ: สายทิพย์, ๒๕๒๔.

(12) เจน สงสมพันธุ์. "บันทึกสำนักพิมพ์." ใน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. สะพานขาด, หน้า ๑๔ ; เจน สงสมพันธุ์. "บันทึกสำนักพิมพ์." ใน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. คนใบเลี้ยงเดี่ยว, หน้า ๑๒.

(13) อ้างถึงใน ไชยันต์ ไชยพร. "ประวัติศาสตร์: วิถีแห่งความพยายามของมนุษย์ต่อความรู้ของเทพเจ้า." หน้า ๖๙.

(14) เพิ่งอ้าง.

(15) โปรดดู ครองชัย หัตถา. ปัตตานี: การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต. ปัตตานี: โครงการปัตตานีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, ๒๕๔๑.
(16) ความก้าวไกลในประเด็นนี้สำหรับโลกวรรณกรรมนั้นมีงานจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะของบูคาวสกี้ ที่เปิดประเด็นท้าทายการทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง งานเฮมมิงเวย์และสไตเบ็คที่มักชวนคนอ่านให้คล้อยตามว่า มนุษย์ช่างเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ยิ่งนัก จึงถูกเสียดสีจากบูคาวสกี้ด้วยตัวละครที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอ พิกลพิการ และสุดแสนจะโง่เขลา (ในนามของความฉลาดและความรู้ที่สูงส่ง) โปรดดูรายละเอียดใน สรายุทธ์ ธรรมโชโต. "ชาร์ลส์ บูคาวสกี้ หลุมดำแห่งโมเดิร์น" Politics. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ( ๑๖ - ๓๑ มกราคม ๒๕๔๘ ).

(17) กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ. หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว. แปลโดย ปณิธาน - ร. จันเสน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วลี, ๒๕๒๙.

(18) เพิ่งอ้าง.

(19) งานวิจัยด้านมานุษยวิทยา เช่น ฉลาดชาย ลมิตานนท์. ผีเจ้านาย. ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, ๒๕๒๗ ถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิดรู้สึกจะศึกษาผีในแง่นี้ สำหรับวงวรรณกรรมงานเขียนที่เรียกตัวเองว่า "ทุนนิยมมายา" (Megical Capitalism) เช่น วิมล ไทรนิ่มนวล. จ้าวแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สยามประเทศ, ๒๕๔๕. กล่าวถึงผีปัจจุบันกังกล่าวเช่นกัน จะถือว่าทุนนิยมมายาเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่แตกแขนงออกมาจากสัจนิยมมหัศจรรย์ก็ไม่ผิดนัก เพราะให้ความสำคัญกับตำนานความเชื่อเช่นกัน เพียงแต่ว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เกี่ยวพันถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การปะทะประสานต่อรองกันระหว่างความจริงจากอดีตกับความจริงปัจจุบัน ส่วนทุนนิยมมายาจะให้ความสำคัญกับการวิพากษ์วิจารณ์ความจริงปัจจุบันที่สมอ้างอดีตหรืออ้างเข้าถึงอดีตและสิ่งลี้ลับแต่เพียงผู้เดียว.

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
130449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

กนกพงศ์เปรียบเรื่องนี้ด้วยมุมมองของผู้ชายที่พึงต้องปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมต่อแมวและผู้หญิง แมวที่บังเอิญเกาะมาในกระเป๋าสะพายของฮาราน และใครต่อใครในหน่วยรบต่างคิดว่าภรรยาเขาแอบเอาใส่ไว้ในกระเป๋าให้เพื่อหวังเป็นตัวแทนความรัก และการปฏิบัติด้วยทะนุถนอม ไม่ให้หมกมุ่นต่อการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังความรุนแรง การตัดสินด้วยอคติ ความชัง ความริษยา อาฆาต ฯลฯ และทั้งฟาริดา ครูสาวชาวมุสลิมในพื้นที่ที่ทหารหนุ่ม ๆ ต่างหลงใหลในรูปโฉม คงจะเป็นตัวแทนนามธรรมของความคิดที่เตือนย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้