นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



กระบวนวิชา : มลายูศึกษา - มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม (ตอนที่ ๒)

ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความถอดเทปที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ มาจากกระบวนวิชามลายูศึกษา
บรรยายที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่
วันที่ 21 มกราคม 2549 : เวลา 13.30 น.-16.30 น.
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 889
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)



กระบวนวิชา : มลายูศึกษา
หัวข้อบรรยาย : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม (ตอนที่ ๒)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ / ๑๓.๐๐ น.- ๑๖.๓๐ น.


ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :
…สยามรอดจากการเป็นอาณานิคมโดยตรง เพราะรัฐบาลปฏิรูปและดำเนินนโยบายของการเป็นอาณานิคมในประเทศ นี่คือคำอธิบายที่พูดถึงฐานะและการดำรงอยู่ของสยามในช่วงที่มีการล่าอาณานิคม ก็คือจริงๆแล้ว มันเหมือนกับมีการจัดลำดับเจ้าอาณานิคมแบบตะวันตกล้วนๆ กับแบบตัวแทนหรือแบบกึ่งอาณานิคม เพราะฉะนั้นถ้าดูประวัติศาสตร์ในช่วงนี้จากจีนลงมา ญี่ปุ่น อินเดีย มาถึงสยาม ประเทศอุษาคเนย์ต่างๆ ไปเรื่อยก็จะพบว่า มีความหลากหลายของการปฏิสัมพันธ์กับลัทธิอาณานิคมมาก แล้วในแต่ละช่วงแต่ละส่วนก็มีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองในภูมิภาค และในท้องถิ่นของตัวเองขึ้นมา

กรณีของสยาม คิดว่าปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้ คนมลายูมุสลิมก็เป็นผลิตผลอันหนึ่งของยุคอาณานิคม กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ indirect (ทางอ้อม)แบบสยาม ถ้าเราจะดูในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ บริเวณคาบสมุทรมลายูโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะกลายเป็นตัวเชื่อม หรืออาจจะเป็นกันชนระหว่างคาบสมุทรมลายูซึ่งตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกหมด ทั้งดัชท์, อังกฤษ, โปรตุเกสเป็นหลัก กับสยามซึ่งรอด แล้วตรงนี้ก็จะเป็นเวทีซึ่งจะไปทางไหน จะอยู่อย่างไร?

สำหรับการเคลื่อนไหวซึ่งมีลักษณะต่อต้าน ถ้าหากว่าดูจากเมื่อสักครู่นี้ที่บอกว่าจุดที่เป็นปัญหา คือเรื่องการศึกษา โรงเรียนปอเนาะ บ้าน มัสยิด ก็จะเห็นชัดว่าการเปลี่ยนแปลงซึ่งเข้ามาสู่เมืองไทย มีการปฏิวัติประชาธิปไตยไปแล้ว ระบบการเมืองเปิด แต่ว่าปัญหาในการปกครองข้างล่างนั้น มันยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันยังไม่ได้เปลี่ยน และจริงๆแล้วไม่มีใครสามารถที่จะลงไปดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอันนั้นได้

โครงสร้างการเมืองอันใหม่ ซึ่งทำท่าจะดึงให้ผู้นำการปกครอง ผู้นำชุมชนตามจารีตของมุสลิมเข้าสู่อำนาจส่วนกลาง รัฐสภา พอผ่านไปสมัยเดียวก็พบว่า มันไม่มีความสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือทำให้การปกครองเช่นนั้นดำเนินไปได้ อันนี้เป็นปัญหาทั้งประเทศ ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา ตัวรัฐบาลกลางเองก็มีปัญหานับตั้งแต่ปี 2476 เรื่อยๆ มา

ในช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อจากพระยาพหลฯ เข้าใจว่าจะเป็นช่วงที่รัฐบาลคณะราษฎร์ รู้สึกว่ากุมอำนาจได้มากที่สุด สามารถที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ และตอนนั้นนโยบายการสร้างชาติไทย, nation building แบบตะวันตกก็เข้ามาเป็นนโยบายหลัก ประกอบกับสถานการณ์ทั้งข้างนอกด้วย และตรงนี้ก็คือการใช้นโยบายรัฐนิยมที่จะสร้างความเป็นเอกภาพของชาติและวัฒนธรรมขึ้นมา ซึ่งอันนี้ชัดเจนว่า ได้ไปปะทะอย่างรุนแรงกับความเป็นจริง ของความเคลื่อนไหว กับความต้องการของคนมลายูมุสลิม

สำหรับการเคลื่อนไหวที่นำโดยหะยีสุหรงกับผู้นำคนอื่นๆ คิดว่าในตอนนั้นจะมีผู้นำท้องถิ่นหลายคน ไม่ใช่มีเพียงหะยีสุหรงคนเดียว แต่ว่าโดยเงื่อนไขของเรื่องราวที่ต่อๆมา ทำให้ภาพของหะยีสุหรงเด่นมาก แล้วก็ดูเหมือนกลายเป็นผู้นำ คือความจริงถ้าดูตามประวัติศาสตร์ แกก็ค่อนข้างจะเด่นตั้งแต่กลับมาจากเมกกะ แล้วก็มาเริ่มเคลื่อนไหวสร้างปอเนาะ สร้างอะไรต่างๆ และสามารถผสานความคิดใหม่, ซึ่งผมพยายามเลี่ยงคำว่าสมัยใหม่ หรือ modern

เนื่องจากจะมีคนวิจารณ์ว่า เพราะในที่สุดแล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองหรือการต่อสู้ก็จะกลับไปสู่ความเป็นอิสลามมาก อาจจะมากกว่าก่อนนี้เสียด้วย ดังนั้นบางคนก็จะเรียกยุคนี้ว่าเป็นพวกมุสลิมชาตินิยม(Malay nationalism) ซึ่งศัพท์คำนี้ในตัวของมันเอง มันหาแรงดึงดูด หรือพลังที่จะรณรงค์หรือสร้างความประทับใจต่างๆ ในหมู่ชาวมลายูได้น้อยกว่า เพราะฉะนั้นก็เลยเข้าใจได้ว่าทำไม พอคนส่วนนี้เริ่มเคลื่อนไหว อุดมการณ์ที่เป็นอิสลาม เรื่องศาสนาจะขึ้นมาเป็นปัญหา พูดง่ายๆ คือ เป็นจุดหรือประเด็นในการต่อสู้ มากกว่าชาตินิยมในทางโลกเพียงอย่างเดียว

เท่าที่ผมเขียนมาเกี่ยวกับเรื่องของหะยีสุหรง ผมค่อนข้างจะสรุปลงไปว่า จากในกลุ่มนี้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องแยก ซึ่งยังไม่รู้ว่าคำๆนี้กินความขนาดไหน แต่เอาตามที่เราเข้าใจว่าแยกดินแดน เป็นรัฐอิสระอะไรต่างๆ เข้าใจว่าอันนี้ยังไม่ใช่เป็นจุดหมาย คงไม่ได้คิดถึงตรงนั้นด้วย บางคนบอกว่าอาจจะแยกไปรวมกับมาเลย์ ซึ่งอันนั้นถ้าจะเป็นไปได้ก็คือว่า ตนกูมะหะยีดินซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องของอับดุลห์การ์เด อดีตเจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย ถ้าแกทำและใช้ฐานะอะไรต่างๆ ก็เป็นไปได้เพราะแกอยู่กลันตัน และเป็นเจ้าหน้าที่ของมาเลย์ ผมพยายามดูหลักฐานว่ามีไหม ที่แกพยายามจะเสนอความคิดอันนั้น แต่ก็ยังหาไม่เจอ

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนที่ต่อต้านญี่ปุ่นแล้วแกก็ไปรบ ตอนนั้นมาเลย์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพราะฉะนั้นแกเป็นคนของมาเลย์ก็เลยไปรบให้อังกฤษ ผมก็เลยเรียกว่า"เสรีมลายู"(Free Malaya) แต่ไม่มีนะครับ ตรงนั้นนั่นเองที่มีข่าวบอกว่า แกมีการไปติดต่อกับอังกฤษ อังกฤษสัญญาว่าถ้ามาช่วยแล้วจะหาทางให้สยามยอมให้ปัตตานีเป็นอิสระ แต่ว่าจะไปเป็นอย่างไร หรือจะไปรวมอะไรต่างๆ ตรงนี้มันไม่ชัด มันไม่มี เพราะว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของมาเลย์เอง เขาก็ไม่รู้ว่ามันจะออกมาในรูปไหน รวมไปถึงอินโดฯไหม? ก็มีคนพูดอยู่เหมือนกันในการรวมอินโดฯ, มาลายา, และปัตตานี ให้เป็น Greater… อะไรต่างๆ แต่ทั้งหมดนั้นไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

เพียงแต่ว่าถ้ามองที่ความปรารถนาหรือความเชื่อ เป็นไปได้ไหม? ถ้ามองเช่นนี้ผมคิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเขาเชื่อว่าจุดหมายของ Islamic State ซึ่งแนวคิดนี้มาทีหลัง ตอนนั้นยังไม่ได้เรียกแบบนี้ แต่โดยอนุโลมในคำสอนของอิสลาม โลกควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐควรจะเป็นรัฐสันติ เป็นดารุสลาม และตรงภูมิภาคส่วนนี้เป็นส่วนซึ่งใหญ่ที่สุด ควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเคยอยู่ด้วยกันมาหรืออาจจะเคยเป็นกลุ่มเดียวกันมาก่อน เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสที่จะทำภายใต้ระบบรัฐอันใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก็น่าจะทำ อันนี้ในแง่ของความเชื่อ แต่ในความเป็นจริงมันคนละเรื่อง พอการเมืองลงมา การเจรจาต่างๆต้องผ่านมหาอำนาจทั้งนั้น ไม่มีทางทำได้ ถึงแม้ว่าอาจจะเคยเป็นความคิด แต่ในที่สุดก็ต้องปล่อยไป เข้าสู่ความเป็นจริงว่าจะเป็นไปได้อย่างไร?

ดังนั้นในบทความของผมจึงมองทางออกว่า ถ้ามะฮีย์ดินเชื่อว่าแกไปมาเลย์ แกก็อยู่มาเลย์ เพราะฉะนั้นแกก็มองไปทางมาเลย์ แต่ผมคิดว่าหะยีสุหรงแกอยู่ปัตตานี แกก็เคลื่อนไหวหลังจากที่กลับมา ก็เคลื่อนไหวในบริเวณ 3 จังหวัดจนกระทั่งได้รับการยอมรับนับถือ แล้วก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำทางการเมืองในภาคใต้ และจนถึงกรุงเทพด้วยก็คืออาจารย์ปรีดี และพระยาพหลฯ ท่านก็ไปงานเปิดโรงเรียนของแก มีการสร้างโรงเรียนโดยได้เงินมาจากผู้นำไทย ก็คิดว่าคงจะรู้จักแล้วก็มีความเข้าใจกันในระดับหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงสรุปว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว หะยีสุหรงน่าจะมองขึ้นไปที่กรุงเทพ มองเหนือขึ้นไปแทนที่จะมองลงใต้ ในทางการเมืองคงจะต้องหาทางอยู่กับสยาม คือความเชื่อนี้ผมพิจารณาจากช่วงนั้น นั่นคือมีการตั้งกรรมการเจรจาปัญหาภาคใต้กับรัฐบาลกรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลตอนนั้นคือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ คือพอจอมพล ป. ขึ้นมาแล้วแกแพ้ในรัฐสภา แกก็ต้องลาออก อันนี้คือช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วตอนนี้ที่ฝ่ายเสรีไทย ฝ่ายของอาจารย์ปรีดีขึ้นมามีอำนาจ เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ไปย่ำยีมลายูจึงถูกยกเลิก แล้วรัฐบาลกรุงเทพก็ออก พรบ.ศาสนูปถัมภ์อิสลาม ซึ่งเวลาที่ผมมองกลับไปและมองกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ ผมก็มองว่ามันเหมือนกับ version ของอาจารย์ปรีดีเคยกระทำมาแล้ว คือพยายามจะอุปถัมภ์อิสลามใหม่

ซึ่งถ้ามองภาพรวมทั้งหมดผมคิดว่า อันนี้ก็เป็นความฝันแบบสยามอีกว่า ในการแก้ปัญหาของมุสลิมก็คือ เราก็ใช้ท่าทีการทำดีเพื่อที่จะให้เขายอม แต่ไม่ได้ไปแก้ความขัดแย้ง ดังนั้นความขัดแย้งจึงยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำไม่ถูก เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็ทำให้ถูกเสีย แล้วเขาก็ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้รัฐไทย อันนี้คือปัญหาซึ่งเป็นความฝันของรัฐบาลไทยทุกสมัยเหมือนกัน ที่คิดว่าปัญหาอยู่ตรงนั้น คือเรื่องของหะยีสุหรงมันมาก เพราะผมมีข้อมูลในส่วนนี้มากนั่นเอง

และผมคิดว่าว่าเผลอๆ จะเป็นช่วงเดียวกันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การเจรจากับรัฐไทยกระทำขึ้นในช่วงนั้น คือในปี พ.ศ. 2484 กว่าๆไปจนไปถึง 2490 แล้วยุติลงด้วยรัฐประหาร 8 พย.2490 อันจะเปลี่ยนปัญหาอันนี้ไปอีกอย่างเลวร้ายมาก การเจรจานี้คิดว่าจริงๆแล้วเป็นช่วงที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงการเคลื่อนไหวของหะยีสุหรง ตอนหลังผมจึงไม่อยากจะเน้นเรื่องการต่อสู้มากนัก แต่สนใจในประเด็นว่ามันมีโอกาสหรือความเป็นไปได้ของการเจรจากัน และมีความพยายามทำความเข้าใจ จนถึงขั้นที่ทางฝ่ายกรรมการของหะยีสุหรงเสนอข้อเรียกร้อง ซึ่งความจริงไม่ใช่ข้อเรียกร้อง อันนี้เป็นการพูดผิด เพราะว่าถ้าเป็นข้อเรียกร้อง เรารับไม่ได้ 7 ข้อนี่ ซึ่งตอนนั้นมันไม่ใช่ข้อเรียกร้อง เป็นเพียงข้อตกลงว่า ก็คุยกันแล้ว ว่าคุณจะเอาอะไร ทางนี้เขามี 7 ข้อ คุณก็เอาไปว่ากันว่าได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง ตอนหลัง 7 ข้อนนี้กลายเป็นข้อกล่าวหาไปเลย

เพราะว่าใน 7 ข้อนี้, ข้อ1 บอกว่าขอให้แต่งตั้งคนมลายู 4 จังหวัดขึ้นไปเป็นผู้ปกครองสูงสุดในบริเวณนี้ คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากมุสลิม แต่ว่าให้รัฐบาลไทยแต่งตั้ง อันนี้ก็คืออันที่ทุกคนอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน จะมีการปกครองกันเอง ซึ่งตอนนั้นเขาคิดจะให้อับดุล มะฮีย์ดินมาเป็นผู้ปกครองปัตตานี อันนี้ผมว่าตีความมากเกินไป หลักฐานไม่ได้ให้ข้อมูลขนาดนั้น หลักฐานผมยังสงสัยถึงขนาดว่า ต้นฉบับจริงๆของ 7 ข้อนี้ใครเคยเห็นบ้าง เพราะว่าหะยีสุหรงพูดและเขียนไทยไม่ได้ ดังนั้น version ของแกก็ต้องเป็น version ภาษามลายู ผมก็อยากให้คนมลายูทางใต้หาหลักฐานนี้ออกมา แล้วแปลออกมาอ่านกัน

เพราะข้อความในฉบับภาษาไทยลองไปอ่านดู ที่ผมหาได้สองสามชิ้น ซึ่งมีทั้งฉบับที่กลางๆ จนกระทั่งถึงฉบับที่อ่านแล้วก็คือว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน คือเอาคนมลายูมุสลิมมาเป็นผู้ปกครองสูงสุด ไม่ขึ้นกับใคร จบ. คนละเรื่องเลยครับ อันนี้ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นตอนที่ผมแปลจึงใช้ฉบับที่คิดว่าใกล้เคียงที่สุด ฉบับที่นักข่าวผู้หญิงชาวอังกฤษชื่อว่า บาบาร่า วิสติงฮัมโจนส์ แกไปพบหะยีสุหรง ไปดูเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเขียนบทความนี้ลงในหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ ในบทความดังกล่าวมี 7 ข้อนี้ด้วย ซึ่งผมแปลจากอันนี้และคิดว่าน่าจะเป็น 7 ข้อที่ใกล้ที่สุด

และ 7 ข้อที่ผมแปลมา อ่านแล้วไม่แรงเท่ากับ 7 ข้อที่คนอื่นเขาใช้ โดยเฉพาอย่างยิ่งข้อ 1 เพราะข้ออื่นไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ แต่ก็หวาดเสียวๆทั้งนั้นเลย เช่นใช้ภาษามลายู ไม่ใช้ภาษาไทย ภาษีที่เก็บจะต้องเอามาใช้ที่นี่ทั้งหมด มันหวาดเสียวทั้งนั้น อ่านแล้วตีความได้ว่าแบ่งแยกดินแดนเด็ดขาดเลยแบบนี้ แต่ถ้าเราอ่านในบริบทที่ทำความเข้าใจกัน เพื่อดูว่ามูลเหตุของปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งจะลงไปแก้ไขมัน อันนี้ก็จะนำไปสู่ทางออก

อย่าลืมว่านี่เป็นการเจรจา มันไม่ได้เป็น draft ซึ่งแบบที่เรา decoration คือ 2 ฝ่ายต้องมาดูกันว่า version สุดท้ายจะเอาไหม เพื่อที่จะประกาศอย่างเป็นทางการ อันนั้นมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ว่า version ของใคร อันนี้ก็เลยตั้งขอสังเกตเอาไว้ว่า ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ได้ถูกทำให้กลายเป็นการต่อสู้ไปแล้ว ซึ่งในความจริง ผมคิดว่าช่วงหะยีสุหรง น่าจะเป็นช่วงของการเจรจา การสมานฉันท์ ถ้าพูดถึงสมานฉันท์ผมเห็นว่ามันเริ่มตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

และจุดจบของสมานฉันท์คืออะไร? ก็คือการที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ลงไปจับแก ซึ่งตอนที่เขาจับ ไม่ได้ไปจับด้วยเรื่องข้อเรียกร้อง 7 ข้อนี้ ตอนที่จับมันมีหลายอย่าง ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2491 จะมีการเลือกตั้ง เพราะว่ารัฐบาลยึดอำนาจแล้ว เขาก็ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่ว่า 7 ข้อนี้ หรือข้อเสนอทั้งหมดที่เจรจากันมาได้ถูกล้มเลิกไป แต่ก่อนจะล้มทางฝ่ายรัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้แสดงเจตจำนงออกมาแล้วว่า บางข้อรับได้ เห็นด้วยอะไรต่างๆ เรื่องการศึกษาก็จะให้ไม่มีปัญหา เรื่องการปกครองนั้น อันนี้เขาใช้คำว่า ฟังดูแล้วดูเหมือนกลับไปสู่ระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 คือนำเอารูปแบบการปกครองมณฑลปัตตานีกลับมา โดยมีเจ้ามณฑล ผู้ปกครองมณฑล เขาบอกว่าอันนี้มันผ่านไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลับไป อันนี้ไม่เอา

แต่ตอนนั้นรัฐบาลก็ไม่ได้บอกว่าพวกนี้จะแบ่งแยกดินแดน เขามองในแง่ว่า คือไม่ใช่เป็นอิสระ แต่ว่ามันกลับไปสู่ระบบการปกครองแบบมณฑลก็คือแบบอิสระ นึกออกก็เข้าใจ ก็แสดงว่าตอนนั้นกรุงเทพฯกับปัตตานีก็ยังมีโลกทัศน์ใกล้เคียงกัน ยังมองกันรู้เรื่อง อย่างนี้ผมคิดว่ามันคุยกันได้ แต่พออีก 4-5 เดือนต่อมา ขึ้นมาถึงเดือนมกราคม ข่าวที่ออกไปคือว่า ทางฝ่ายปัตตานีเขาจะคว่ำบาตรการเลือกตั้ง แล้วจะมีการชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องให้การเจรจากันเป็นผลขึ้นมาให้ได้

คุณควง อภัยวงศ์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล 3-4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แล้วแกก็ตั้งรัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่ขึ้นมา คือหลวงเสนาโยธารักษ์ แล้วกำชับว่าต้องสร้างความสงบ เนื่องจากว่าตอนนั้นมันค่อนข้างวุ่นวายไปหมดนั่นเอง อย่าลืมว่าตอนนั้นเป็นช่วงหลังสงครามด้วย เศรษฐกิจย่ำแย่ทั้งประเทศ แล้วยุคนั้นทั่วประเทศไทยเป็นยุคที่มีโจรห้าร้อย ไอเสือทั้งหลาย เสือมเหศักดิ์ สุพรรณก็เต็มไปด้วยโจรทั้งนั้น ภาคใต้ก็มีโจรเหมือนกับ อันนี้กระจายเกลื่อนทั่วไปหมด

แล้วทางฝ่าย จคม.พวกพรรคคอมมิวนิสท์มาลายาก็ช่วยเสริมเข้ามา เพราะตอนนั้นเริ่มถอยร่นมาจากเขตแดนมลายู เข้ามายังเขตแดนไทย เพราะฉะนั้นก็มาปะทะกัน ชาวบ้านก็ถูกพวกนี้แย่งค้าข้าวบ้าง มาปล้นชิงทรัพย์สินบ้าง ที่พวกชาวบ้านดุซงยอ ซึ่งบอกว่ามีการรวมกลุ่มกัน มีอาวุธอะไรต่างๆ ป้องกันตัว เขาจะป้องกันพวก จคม. ผมว่าน่าจะจริง ใกล้เคียงมาก

และในบันทึกความทรงจำของเฉินผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสท์ เขาก็บอกว่าในช่วงนั้นค่อนข้างขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นเขาจึงต้องเข้ามายังชายแดนไทย เพื่อค้าข้าวเถื่อนเป็นการหาเงิน เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาต่างๆ มีการต่อสู้กัน ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ทางภาคใต้ในช่วงดังกล่าวจึงวุ่นวายมากจริงๆ มันไม่ใช่ง่าย จะเอาใครไปทำอะไรมันบอกไม่ได้ เพราะฉะนั้นทางกรุงเทพฯ จึงมองว่าจะต้องปราบปรามเพื่อยุติความรุนแรงต่างๆ รายงานที่ได้ก็ประหลาด บอกว่าคนที่เป็นหัวโจกของความวุ่นวายทั้งหลายคือผู้นำคนนี้ หะยีสุหรง โดยเขาระบุชื่อด้วย อันนี้ตลกมาก

แต่พอหลังจากที่ไปดูรายละเอียดแล้ว ผมคิดว่าอาจจะมีปมเงื่อนมาจากผู้ว่าฯปัตตานี คือผู้ว่าเก่า พระยารัตนภักดี แกถูกปลดหลังจากที่คณะราษฎร์ยึดอำนาจได้ เพราะว่าผู้ว่าฯคนนี้ไม่ดำเนินนโยบายตามคณะราษฎร์ เนื่องจากแกเป็นฝ่ายเจ้า อันนี้ผมตั้งข้อสันนิษฐานเอง เสร็จแล้วแกก็ถูกแป็กก็เลยลาออก กลับมาอยู่กรุงเทพฯ พอคุณควงได้เป็นนายกฯ ก็ไปหาคนที่จะไปแก้ปัญหาภาคใต้ การจะไปแก้ปัญหาก็ต้องหาคนที่รู้เรื่องภาคใต้ดี ก็ไปเอาพระยารัตนภักดี ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับหะยีสุหรงตั้งแต่ยุคแรก แกจะจับหะยีสุหรงตั้งแต่ตอนโน้นแล้ว ตอนที่เริ่มเปิดปอเนาะ เนื่องจากมีผู้คนมาบ้านแกมาก ก็เลยคิดว่าคนนี้ต้องต่อต้านรัฐบาลแน่ เพราะมีคนเข้าหามากขนาดนี้จะได้อย่างไร อันนี้ปีนเกลียวกันมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2475 แล้ว เพราะฉะนั้นพระยารัตนภักดี พอได้กลับไปเป็นผู้ว่าฯปัตตานีใหม่ จึงรายงานมาถึงมหาดไทยเลยว่า รู้แล้วว่าใครเป็นหัวโจกของปัญหาภาคใต้ คือหะยีสุหรงนั่นเอง อันนี้ตลกมากเลย

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็ไปได้ข้อมูลมาบอกว่า กับผู้ว่าฯคนนี้ร้ายมาก ทุกอย่างที่หะยีสุหรงไปรายงาน ถูกบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อมัดตัวแกหมด อันนี้ก็คือจุดระเบิดของการต่อสู้ที่ จากการเจรจา จากการที่มีช่องทางติดต่อกันได้ระหว่างรัฐไทยกับผู้นำและชุมชนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา อันนี้หมดไปเลย เป็นการสร้าง pattern หรือแบบแผนอันใหม่ขึ้นมา แล้วเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนก็ได้รับการชูขึ้น ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492-93

ในตอนแรกทางราชการก็เรียกว่าผู้ก่อความไม่สงบ ไปจนถึงโจรจีนคอมมิวนิสท์ จนในที่สุดรัฐบาลได้ออกประกาศให้เรียกคำเดียวคือ ขบวนการก่อความไม่สงบอะไรทำนองนี้ แต่ว่าไม่ได้ใช้คำว่าแบ่งแยกดินแดน คำว่าแบ่งแยกดินแดนเขามาใช้ตอนไหน? ก็คือหลังจากที่จับ สส.อีสาน นึกออกไหมประมาณปี 2493-94 ที่มีการยิง สส.อีสานตายที่บางเขน คุณถวิล อุดล คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์อะไรต่างๆ คือไม่ใช่ปัญหาการเมืองกรุงเทพฯ ไม่ใช่ปัญหาการเมืองภาคใต้ มันไม่เกี่ยวกัน

ผมจึงเริ่มเห็นความเกี่ยวโยงคือ เราก็สงสัยมานานแล้วว่า สส.อีสานถูกยิงตาย ทางการเขาบอกว่าเพราะมีโจรมลายูมาแย่ง แล้วก็มีการยิงพวกโจรมลายู ส่วนโจรมลายูหนีไปหมด ไม่มีโจรถูกยิงสักคน ไม่มีลอยเลือด แต่ปรากฏว่า สส.จำนวน 4 คนตายในรถทั้งหมด ตำรวจก็ไม่ถูกยิง แต่ภายหลังเราก็รู้กันว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยตำรวจของจอมพลเผ่า แต่สิ่งที่ไม่มีใครตอบก็คือว่า ทำไมตอนนั้นเขาถึงเอาเรื่องของโจรจีนมลายูเข้ามาเกี่ยว มันเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร?

ผมคิดว่ามันมาต่อตรงที่คดีหะยีสุหรง ตรงที่เขาประโคมข่าว ดุซงยอ หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวเป็นการจลาจลยึดหมู่บ้าน ซึ่งอ่านแล้วน่ากลัว มันเหมือนกับเป็นการก่อกบฎใหญ่แบบที่ดูในหนังฮอล์ลีวูดอย่างไรอย่างนั้น แต่สุดท้ายก็ยอมรับเองว่าทั้งหมดนั้นมันไม่จริง เขาบอกว่ามันไม่มีอะไรเลย มีแต่มีด ไม้ และขวานต่างๆ ส่วนปืนมีอยู่เพียงกระบอกสองกระบอก ไอ้ที่พูดมาแต่แรกมันไม่มี

คนก็แปลกตรงที่ไม่อยากรู้ความจริง คนอยู่กรุงเทพฯอยากจะรู้ไปทำไม เมื่อบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ก็จบกันไป แต่ว่าสิ่งที่ได้รับการบอกแต่แรกมันฝังหัว เพราะฉะนั้นพอเขาจับ เขายิงพวก สส.ต่างๆ แล้วโยงกับพวกมลายู คนก็เชื่อว่ามันต้องทำได้อย่างแน่นอน มันต้องมีขบวนการอะไรสักอย่างที่จะต้องการยึดบ้านยึดเมือง ก่อความรุนแรง เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์หรือความเชื่ออันนี้ มันถูกฉีดเข้าไปในการเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ใช่การเมืองก็ได้ การเคลื่อนไหวของมุสลิมทั้งหลาย เป็นอย่างนั้นไปหมดแล้ว

ผมถึงบอกว่า เวลาพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง พอใส่การเมืองก็คือการประท้วง เป็นการเคลื่อนไหวที่ประท้วง ต่อต้าน และกบฎอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลย ไม่มีการเมืองแบบสมานฉันท์ หรือแบบเจรจากันได้ แล้วทัศนะที่ถูกทำให้มองเห็นว่า การเคลื่อนไหวที่เป็นขบวนการขึ้นมาของมลายู มันต้องเป็นการเมืองและเป็นความรุนแรง ทำให้ตอนหลังรัฐไทยใช้ท่าทีแบบปฏิเสธมาโดยตลอด คือลงไปก็เพื่อที่จะไปทำลายหรือหยุดยั้ง หรือทำให้หมดไป แต่ไม่ได้ไปคลี่คลาย การคลี่คลายไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วมันคลี่คลายไม่ได้ด้วย

และนี่เองคือวิธีการที่ตอนนี้ มันกำลังกลายเป็น mentality แบบเกือบจะกลายเป็น natural คือหมายความว่ามันต้องเป็นอย่างนี้แหละว่า รัฐบาลไทยไม่มีหน้าที่ที่จะเจรจากับผู้นำขบวนการต่างๆ ของมลายูมุสลิมอะไรทั้งสิ้น ล่าสุดก็คือประธานเบอซาตู ดร.อับดุลการ์เด เจ๊ะมาน ที่พยายามจะมาเสนอเรื่องการเจรจา เขาไม่รู้ว่าใครทำอะไรต่างๆ แต่ว่าในฐานะที่เขาเคลื่อนไหวอยู่ในพวกนั้น ก็น่าจะพูดจากันได้

ปฏิกริยาจากฝ่ายรัฐไทย โดยเฉพาะอาจจะเป็นจากทางฝ่ายทหารบอกว่า ไม่ได้มันคนละเรื่อง การเจรจาทำให้เราเสียสถานะ คืออันนี้เป็นการมองในอีกระนาบหนึ่งแล้ว แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาภายใน เป็นเรื่องของการเมืองซึ่งพูดง่ายๆ ว่า มันมีทั้งจุดที่ผิดพลาดทั้ง 2 ฝ่าย มีทั้งจุดที่เปิดโอกาสในการที่จะเข้าใจ ในการที่จะแก้ปัญหาร่วมกันได้ อันนี้เราปิดหมด ผมคิดว่าทางฝ่ายรัฐปิด และเข้าใจว่าท่าทีเช่นนี้คงจะต้องใช้ไปอีกนาน

ด้วยสถานการณ์ของสงครามก่อการร้ายทั่วโลก, anti-terrorism ที่อเมริกาทำอยู่ตอนนี้ จะทำให้ท่าทีแข็งกร้าว ท่าทีที่มองการเคลื่อนไหวอะไรก็ตามของมลายูว่า เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการก่อการร้าย ถ้าการวิเคราะห์อย่างนี้เป็นจริง ซึ่งผมไม่อยากให้มันเป็นจริง แต่ถ้ามันเป็นเราก็จะอยู่กับฝันร้ายอีกพักใหญ่ๆ อันนี้คือยุคที่ 2 ของการเมืองแบบอิสลามเริ่มถูกนำเข้ามาใช้ภายใต้การปกครองของรัฐไทย

ความจริงเรื่องที่ผมนำเสนอในที่นี้ แบ่งออกเป็น 4 ยุค ก็ไม่แน่ใจว่าถูกต้องทั้งหมดไหม อันที่จริงก็แบ่งตามเหตุการณ์ ตามข่าวที่เรารับรู้กันซึ่งได้รับการแบ่งเป็นช่วงๆ ดังกล่าว แต่ว่าถ้าเรากลับไปอ่านดูจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าความเป็นจริงของความรุนแรง หรือความขัดแย้งอะไรต่างๆ ในระดับท้องถิ่น มันไม่ได้ถูกตัดเป็นช่วงๆ ผมสังเกตว่าค่อนข้างจะมีความต่อเนื่องกันสูงมาก จากปี พ.ศ.2495-96 หะยีสุหรงออกมาแล้วถูกจับถ่วงน้ำ แล้วก็เงียบไป

ประมาณปี พ.ศ.2501 ลูกชายของแกก็ถูกจับอีก แต่ศาลยกฟ้อง แล้วการก่อการร้าย การจับก็คงจะมีมาเรื่อยๆ แต่ไม่มีข่าวออกมามากมายเท่าไหร่ จนกระทั่งช่วงที่รัฐบาลจอมพลถนอมปราบคอมมิวนิสท์มากขึ้น ประมาณปี พ.ศ.2510-12 คือช่วงที่เกิดกรณีถังแดงที่พัทลุง ข่าวภาคใต้รุนแรงก็จะเกิดขึ้นมา และคนก็มองกันว่าเป็นความร่วมมือของพรรคคอมมิวนิสท์ไทย กับขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน ไปจนถึงพรรคคอมมิวนิสท์มาลายา อันนี้เรียกว่า จคม. ขจก. ฯลฯ อะไรต่างๆ

คือถ้ามองในแง่ความเคลื่อนไหวของมลายู บางทีภาพโครงสร้างนี้จะเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง ดังนั้นการที่ผมแบ่งยุคที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงของหะยีสุหรงต่างๆ ก็คือดูจากตัวขบวนการ ดูจากความเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ บางคนอาจจะเรียกว่าเป็นช่วงที่ผู้นำทางการเมืองย้ายจากรุ่นเก่า คือพวกพระยาฯ เจ้าเมืองรุ่นเก่า มาสู่ผู้นำทางศาสนา เช่น อุรามะห์ ก็คือหะยีสุหรงพวกนี้ แล้วก็เริ่มความคิดเรื่องชาตินิยมของมลายู, Malay Nationalism ก็เกิดขึ้น

ซึ่งอันนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทางฝั่งไทยมันจะมีพลังมากกว่าทางฝั่งมาเลย์ เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะสร้างรัฐไทยที่เป็นเอกราช เพราะฉะนั้นคำว่ามาเลย์มันไม่มีพื้นที่รองรับของมัน ผมเคยเห็นที่ทางการสันติบาลเข้าจับได้ พวกใบปลิว ใบปลิวจับได้ทางฝั่งไทย แต่ว่าเรียกร้องให้คนมลายูไปช่วยกันประท้วงต่อต้านอังกฤษ ช่วยเหลือเอกราชของคนมลายู ก็คือฝั่งโน้น เพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกว่า เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลย์ในช่วงนั้น มันไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ และจริงๆแล้วตอนนี้ก็อาจไม่ชัดเหมือนกัน

นี่คือปัญหาที่ว่าทำไมเขาจึงต้องมี 2 สัญชาติ 2 พาสสปอร์ท นอกจากเหตุผลทางการเมือง นอกจากความสะดวกในด้านการประกอบอาชีพอะไรต่างๆ ก็จริงๆในวิถีชีวิตคือว่า พวกเขามีญาติพี่น้องทั้ง 2 ฝั่ง กลันตันกับทางฝั่งไทยก็ไม่ได้ไกลจากกัน และจริงๆ มันใกล้กว่ามากรุงเทพฯ มาทางนี้ก็ไม่รู้จะไปหาใคร ที่หนองจอก, มีนบุรี, คงไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นหลักการแบ่งของผมก็คือ เอาตามจากมุมมองกรุงเทพฯ

ในยุคที่ 2 นี้ ผู้นำเป็นอุรามะห์อะไรต่างๆ ความคิดชาตินิยมอิสลาม แล้วก็เริ่มใช้ศาสนาเข้ามาช่วยเพื่อสร้างความชอบธรรม ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เป็นการใช้คือ ถ้าต่อสู้ในวิถีชีวิตของมุสลิม ในช่วงแรกที่เราพูดถึงกฎหมายอิสลามกับการศึกษาอิสลาม ที่ถูกทำให้หายไป เพราะฉะนั้นอันนี้ก็จะถูกนำกลับเข้ามาอีก. ช่วงหะยีสุหรง, จอมพล ป.ได้เลิกกฎหมายอิสลามไป ด้วยเหตุผลที่สมัยใหม่มาก เพราะรัฐบาลประกาศใช้ พรบ.แพ่งและพาณิชย์ หมวดบับ 5-6 ซึ่งครอบคลุมเรื่องครอบครัว และ 3 จังหวัดภาคใต้เนื่องจากเป็นจังหวัดของรัฐไทย ก็ต้องใช้ พรบ.นี้ด้วย

อันนี้ไม่ค่อยเข้าใจจึงอยากถามนักกฎหมายว่า ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นถ้านักกฎหมายไปศึกษาจะอธิบายความสับซับซ้อนตรงนี้ได้ไหม เช่นไม่รู้หรือว่ามันมีกฎหมายอิสลามอยู่ แล้วถ้าอันนี้ถูกนำมาใช้ อันนั้นถูกยกเลิกไปจะมีปัญหาไหม? แล้วจะแก้ไขอย่างไร? หรือว่าเขาคิดว่าไม่มีปัญหา ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ อันนี้คิดว่านักกฎหมายคงจะรู้ เพราะว่าเขามีกรรมการแปลกฎหมายอิสลามด้วยตอนนั้น แล้วกรรมการฯนี้ก็หายไปจนบัดนี้ แสดงว่ามันมีความเคลื่อนไหว หรือทำอะไรต่างๆเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม กฎหมายไทยอยู่ระดับหนึ่ง แต่ทำไมอยู่ๆ จอมพล ป.ประกาศ แล้วก็ใช้แบบ absolute เลย

เพราะอันนี้พอคณะราษฎร์ขึ้นมายึดอำนาจเสร็จ แล้วประกาศใช้กฎหมายอะไรเรียบร้อย เขาก็จะต้องมี พรบ.ฉบับหนึ่งยกเว้น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2476 จะมีอันนี้ออกมา จึงใช้กฎหมายอิสลามได้ และจอมพล ป.ก็ยกเลิก พรบ.ปี 2476 ดังกล่าว ทำให้ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเดียวกัน พออาจารย์ปรีดีขึ้นก็ออก พรบ.อิสลามอุปถัมภ์ ก็เอาอันนี้กลับเข้ามาอีก แต่เรื่องที่ไม่ได้นำกลับมาก็คือ เรื่องการแต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรม แล้วอันนี้ได้ทำให้หะยีสุหรงกลายมาเป็นเป้าของการต่อสู้ เพราะแกเป็นคนรณรงค์ให้ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นอิสระจากศาลไทย ไม่ต้องมานั่งในศาลไทย

เพราะ พรบ.อันหลังนี้ คือกฎหมาย พรบ.อุปถัมภ์อิสลาม ถ้าเราดูอย่างผิวเผิน มันก็ดี เหมือนกับแนวคิดสมานฉันท์ของคุณอานันท์ อะไรต่างๆ แต่ถ้าไปอ่านรายละเอียดแล้ว มันก็ยังอยู่ภายใต้รัฐไทย และพอจอมพล ป.ขึ้น ก็ยิ่งเปลี่ยนให้ชัดเลย ให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาด้วย และการตั้งจุฬาราชมนตรีต่างๆ นั้น ซึ่งแต่ก่อนนั้น จริงๆแล้วให้เป็นตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ก็คือหลุดจากรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อันนี้จอมพล ป.ก็แก้ใหม่ให้เป็นเหมือนกับราชการ แล้วรวมไปถึงตำแหน่งพวกดาโต๊ะต่างๆ ทั้งหลายก็กลายเป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมไป อันนี้ระบุให้เป็นเลย

เพราะฉะนั้น พวกผู้นำของอิสลามก็ต่อสู้เพื่อจะให้เป็นอิสระ คือว่า ไม่ได้เพราะไปขัดกับความเชื่อและการปฏิบัติของอิสลาม ดังนั้นเรื่องกฎหมายอิสลามเป็นเรื่องใหญ่มากในช่วงหะยีสุหรง แต่พอพ้นยุคนี้ไปแล้วก็หมด คือไม่มีใครที่จะเอาขึ้นมาได้

ยุคต่อมา นับจากสมัยจอมพลสฤษดิ์ คือช่วงที่การต่อสู้ยกระดับขึ้นมาเป็นขบวนการก่อการร้าย นั่นคือพวกนี้ติดอาวุธหมดแล้ว ไม่มีการเจรจา ส่วนเรื่องของการเผาโรงเรียนก็ดำเนินการกันต่อไป ซึ่งมหัศจรรย์มาก ผมคิดว่าการเผาโรงเรียนเริ่มมาตั้งแต่จอมพล ป.ยุคแรก แล้วก็มีการเผากันต่อมา เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เพราะโรงเรียนเป็นของรัฐบาล ดังนั้นอันนี้จึงเป็นการส่งสัญญานว่ารับไม่ได้ ก็คงเข้าข่ายนี้ ทุกครั้งจึงต้องไปเผาโรงเรียน

ยุคที่ 3 คือยุคที่ใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธ ก็จะมีกลุ่มชัดเจน เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงมีผู้นำ ในยุคก่อนหน้านี้จะเป็นอุรามะห์ เป็นโต๊ะครู ก็จะเปลี่ยนรูปไปมาสู่พวกที่เป็นผู้นำซึ่งมีการศึกษาระดับสูง และส่วนใหญ่อย่างเช่นพูโล ก็จบจากเมืองนอก คือไปเรียนที่สถาบันอิสลามจากนอกประเทศทั้งนั้น แล้วก่อตั้งขบวนการ

สำหรับรูปแบบของการต่อสู้ ในช่วงนั้นก็คล้ายๆกันหมด คือใช้อาวุธในการต่อสู้ทั้งนั้น ขบวนการคอมมิวนิสท์ ขบวนการอะไรต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาคือแนวคิดที่มีจุดหมายทางการเมือง จากอุดมการณ์อิสลามเพียงอย่างเดียว มันก็มีอุดมการณ์ที่เป็นการเมืองซึ่งเป็น secular politics ชัดๆเลย เช่นขบวนการสังคมนิยม อย่างเช่นพวก BRN กลุ่มหนึ่ง BRN กลุ่มแรกที่ตนกู ยาลานาแซ อันนั้นก็ยังเป็นแนวคิดแบบรุ่นแรก แต่พวกต่อมาจะใช้อุดมการณ์แบบสังคมนิยม ส่วนพูโลไม่ใช่ เพราะจะใช้อุดมการณ์แบบอาณาจักรปัตตานี แต่ก็ไม่ใช่ดารุสลาม

เพราะฉะนั้น อุดมการณ์แบบ Islamic State จึงยังไม่ถูกใช้อย่างชัดเจนเท่าไหร่ ผมคิดว่าการต่อสู้จนถึงจุดสูงสุดทางการเมืองของมลายูมุสลิม ก็ยังมีเป้าหมายจัดการความสัมพันธ์กับรัฐไทยให้รับได้ คือสูงสุดก็เป็น autonomous state นั่นคือรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง ส่วนจะเป็นอิสระแล้วแยกออกไป หรือเป็นอย่างอื่น น่าจะยังไม่มีจินตนาการอันนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเท่าใดนัก ดังนั้นช่วงนี้กลุ่มผู้นำเปลี่ยนไป แล้วมันเกิดในช่วงที่น่าสนใจคือว่า สถาบันอิสลามที่มีอยู่ จากดั้งเดิมก็คือปอเนาะกับมัสยิด ได้เริ่มถูกทำให้เป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้รัฐไทย คือจากปอเนาะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม คือมีการยอมรับนโยบายตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์มาก็คือใช้หลักสูตรไทย แล้วก็สอนเรื่องอย่างอื่น เช่นภาษาไทยมากขึ้น แล้วก็ได้เงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาฯ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นปอเนาะแบบนี้ก็จะกลายเป็นปอเนาะที่อยู่ภายใต้รัฐไทย

ดังนั้นพวกผู้นำส่วนนี้ผมเข้าใจว่าน่าจะถูกลดระดับความเชื่อถือ พูดง่ายๆคือว่า ไม่สามารถที่จะนำการเมืองกับคนมลายูมุสลิมได้ และนั่นคือเหตุที่ผมสันนิษฐานว่า ทำไมผู้นำในรุ่นต่อมาจึงกลายเป็นผู้นำที่ไปจบจากเมืองนอกหมด คือไปเรียนเรื่องศาสนาอิสลาจากสถาบันนอกประเทศแล้วก็กลับมาเมืองไทย คือไม่ต้องเสียเวลากับการต่อต้านกับพวกนี้ หะยีสุหรงแกเคลื่อนไหวในชุมชนมลายู ดังนั้นแกต้องสู้กับผู้นำรุ่นเก่า ผู้นำแบบหัวเก่า ปอเนาะ โต๊ะครูแบบเก่าต่างๆ เหล่านั้น แต่ในช่วงที่ 3 ไม่มีความพยายามที่จะมาสร้างปอเนาะแบบใหม่ คล้ายๆ กับว่ามันไม่มีพื้นที่แล้ว ไม่มีความเป็นไปได้แล้ว และแหล่งสนับสนุนต่างๆ ก็มาจากข้างนอก เข้าใจว่าการ supply ทั้งหลายก็ดีขึ้น เพราะฉะนั้นก็คือการใช้ระบบกึ่งจรยุทธ์ กึ่งก่อการร้ายในเมืองผสมผสานกันอยู่ต่างๆ

เรื่องของสถาบันอิสลามก็น่าสนใจอยู่ คือหลักๆ มีมัสยิดกับปอเนาะ มัสยิดในยุคแรกจะมีลักษณะเป็นทางการ เป็น formal institution ก็คือตั้งแต่ยุคราชา ยุคผู้ปกครองต่างๆ โต๊ะครูรุ่นเก่าเขาจะเป็นคนสร้างขึ้นมา มีการสนับสนุนและพัฒนาต่อมา แต่พอหลังจากยุคอาณานิคม ในกรณีไทยก็คือยุคที่รัฐบาลไทยเข้าไปยึดครองหมดแล้ว ก็เริ่มทำให้มัสยิดและปอเนาะพวกนี้อยู่ภายใต้การดูแลจัดสรรของรัฐไทย เช่นรัฐบาลไทยได้ไปสร้างมัสยิดบางแห่งให้ ซึ่งความจริงแล้วมันขัดกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติของมุสลิม คือมัสยิดต้องสร้างโดยคนมุสลิม ไม่ใช่คนอื่นไปสร้างให้

รู้สึกว่าในบทความของอาจารย์ชัยวัฒน์ เรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้ แกบอกว่าได้ไปคุยกับผู้นำอิสลามในยะลา ก็มีการบ่นให้ฟังว่า ดูซิมัสยิดที่รัฐบาลสร้าง ยอดโดมดูเหมือนกับดอกบัวเลย แล้วเขาบอกว่าดอกบัวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา มันไม่ใช่สัญลักษณ์ของอิสลาม คือไม่น่าเชื่อว่าเขาจงใจขนาดนั้นหรือเปล่า หรือว่าเป็นความบังเอิญ แต่ว่าก็เป็นความบังเอิญซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า เป็นความไร้เดียงสาทางการเมืองของฝ่ายไทย

ปอเนาะก็เหมือนกัน พอรัฐบาลต้องการที่จะให้การศึกษาเป็นแบบไทยให้ได้ ก็เกิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นมา ซึ่งได้แยกพัฒนาการไป เพราะฉะนั้นผู้นำแบบจารีตหรือแบบเก่าต่างๆซึ่งเคยมาจากส่วนนี้ ในตอนหลังเข้าใจว่าจะลดลงไป ซึ่งอันนี้ไม่รู้ว่าสัมพันธ์หรือเปล่ากับการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ในการต่อสู้ทั้งหลาย

คือถ้าหากว่าคิดอย่าง common sense คุณอยู่ในชุมชนและเป็นผู้นำ การเคลื่อนไหวนั้นถ้าคุณใช้ความรุนแรง แน่นอนรัฐก็ต้องตอบโต้ อันนี้ก่อให้เกิดความลำบากกันทั้งหมู่บ้าน แต่ถ้าหากว่าคุณไม่ได้อยู่ที่นั่น ไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบในชุมชนนั้น ก็แน่นอนว่าโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมาย โดยที่ว่าช่างมัน จะลำบากหน่อยก็ต้องยอม อันนี้ก็ง่ายขึ้น ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวนั้นสัมพันธ์กับความเปลี่ยนไปของลักษณะการขึ้นมาของผู้นำในชุมชนนั้นๆ ด้วย ใช่หรือไม่? คือช่วงนี้จะกินเวลามาถึง อย่างน้อยๆ ก็ 14 ตุลา 16 แต่ความจริงมันต้องต่อมาถึงหมดยุคพรรคคอมมิวนิสท์แห่งประเทศไทย

คือพูดง่ายๆว่า ความรุนแรงทั้งหลายในบริเวณภาคใต้หมดไป ก็จะพบว่าระดับความรุนแรงของการเคลื่อนไหวของมุสลิมได้ลดระดับลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่า ที่ทางกองทัพภาค 4 บอกว่า นโยบายใต้ร่มเย็นของพลเอกหาญ ลีลานนท์ ประสบความสำเร็จต่างๆ ซึ่งผมคิดว่า 40-60% เพราะว่ามันมีสถานการณ์อย่างอื่นอีก 60-70% ที่มันทำให้ยุติความรุนแรงนั้นได้ พออันนั้นมันหมดไป พคท.ยุติ ต่อมาก็พรรคคอมมิวนิสท์มาลายาก็เริ่มลดระดับความรุนแรงลง แล้วกลุ่มเคลื่อนไหวมลายูก็ลดระดับลงเช่นกัน

ตอนที่ผมอยู่ที่เขตสงขลา เคยไปเจอเหมือนกันกับฝ่ายมุสลิม แต่ไม่รู้ว่ากลุ่มไหน? BRN หรือพูโล ก็คือมันมีความสัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติ ในเขตที่ พคท.เคลื่อนไหว เราก็ต้องส่งสัญญานบอกว่า ห้าม ขจก.เข้ามา เพราะวิธีการ ขจก.นั้น อยู่ๆ แกก็มาไปปิดถนนปล้นรถยนต์ 20 คัน พอเย็นนั้นทหารก็ใช้เฮลิคอปเตอร์บินมายิง ก็ต้องวิ่งกันป่าราบ เพราะฉะนั้นก็ต้องรีบส่งคนไปเจรจาแบ่งเขตกัน ห้ามเข้ามาเด็ดขาด ถ้าไม่ได้ก็ต้องยิงกัน และพอเจรจาเสร็จเขาก็ยอม ฝ่ายมลายูก็ตกลงแบ่งพื้นที่กันแล้วเขาก็ไม่เข้ามา อันนี้ถ้ามีอะไรก็เจรจากันได้

พวกมลายูบอกว่ารอมานานแล้ว เมื่อไหร่พวกคุณจะมากันสักที อยู่นี่มันเหงา คือเขาทำงานไม่ได้ ทำได้เฉพาะกับพวกคนจีน คนมลายูกลุ่มเล็กๆที่ใกล้ชายเขตแดน บริเวณเขตที่เขายึดครองเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะไปถึงการสถาปนาชัยชนะทางการเมืองนั้น มันไม่มี ทำไม่ได้ หลังจาก 6 ตุลา 19 เขาบอกว่าฟ้าสีทองแน่ๆ คราวนี้ คือยิ่งเห็นพวกนักศึกษามากันมากมายด้วย เขาบอกว่าเข้ามาเลย เขาจะหาที่อยู่ให้ด้วย เพราะฉะนั้นสถานการณ์ทั้งหมดจึงผูกโยงกัน และเมื่อลดระดับลงก็ลดลงกันหมด

แต่ถ้ามองว่าขบวนการมุสลิมประสบความสำเร็จทางการเมืองไหม? ค่อนข้างจะน้อยเท่าที่ผมดู คือไม่สามารถจะเปลี่ยนนโยบายทางการศึกษา หรือยกระดับเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ ได้ การเคลื่อนไหวทั้งหมดที่ผ่านมาสังเกตไหมว่า เป้าหมายทางเศรษฐกิจเกือบจะไม่ถูกใช้เลย ไม่ได้อยู่ในการต่อรองอะไรต่างๆ มันเป็นการเมืองจริงๆ ในระดับบน คือว่าสู้กับอำนาจรัฐ เอาตรงนี้ให้กระจ่างกันไปเลย เพราะฉะนั้น 30 ปีก็แล้ว 50 ปีก็แล้ว สภาวะพื้นฐานของชาวบ้านมุสลิมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ที่ได้รับก็จะมาจากการช่วยเหลือเพียงหยาดหยดจากฝ่ายไทยเท่านั้น ซึ่งก็เนื่องมาจากการต่อสู้กันนั่นเอง เพื่อที่จะต่อสู้ลึกเข้าไปปราบปรามก็ต้องสร้างถนนลาดยาง จะได้ส่งกำลังเข้าไปเท่านั้นเอง หลังจากนั้นชาวบ้านก็รู้สึกดี จะได้มีรถใช้วิ่งเข้าวิ่งออกได้ รัฐบาลมีการมาแจกของต่างๆ

การต่อสู้ที่ผ่านมาตรงนี้ของมลายู ถ้าจะมองในแง่ของการสร้างความมั่นคงในชุมชนต่างๆ อาจจะมีปัญหา ซึ่งตัวนี้อาจทำให้หนทางหรือแนวทางการเคลื่อนไหว จนมาถึงปัจจุบันของคนมลายู ค่อนข้างจะจำกัด เพราะไม่ได้สนใจในเรื่องของการพัฒนาที่จะยกระดับชีวิต แล้วขยับจากตรงนี้ไปสู่การเมืองอื่นๆ ซึ่งเข้าใจว่าอันนี้น่าจะเป็นลักษณะพิเศษของชุมชนมลายูมุสลิมภาคใต้ด้วย

โดยการที่ทั้งพื้นที่ความเป็นอยู่ ทั้งวัฒนธรรม ทั้งความเป็นจริงทั้งหมดก็เป็นมลายูอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าคนนอกเอาออกไป แล้วเขาอยู่กันเอง ถึงจะดีจะชั่วอย่างไรพวกเขาก็ไม่อดตาย ทรัพยากรพอรองรับได้ ทำให้สามารถเอาตัวรอดได้ แต่ไม่รวยเพราะเขาไม่ต้องการความร่ำรวย ไม่ได้มีความต้องการที่จะพัฒนาไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจแบบนั้น จริงๆ แล้วคิดว่า เผลอๆเศรษฐกิจมลายูคือเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

อันนี้ทำให้การต่อสู้ดูเหมือนว่ามีแต่การเมืองจริงๆ แม้แต่ว่าการต่อสู้อื่นๆ ปัจจัยที่ทำให้การต่อสู้อื่นๆ ที่จะไปสู่การเมือง ยังไม่ได้เป็นการเมืองเลย ก็เป็นไปแล้ว พอเพียงแค่อ้าปากจะพูดเรื่องการศึกษา เรื่องกฎหมาย เรื่องครอบครัวอะไรต่างๆ ก็ถูกตอบโต้ด้วยข้อกล่าวหาว่าอยากแบ่งแยกดินแดน อยากจะเป็นอิสระแล้ว อันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กๆ เพราะทุกอย่างถูกตีความเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งหมด

ผมขอผ่านมาถึงช่วงที่ 4 คือช่วงปัจจุบัน นับจากอุบัติการที่เป็นตัวแบ่งของช่วงยุคนี้ก็คือเหตุการณ์ 4 มกราคม เรื่องการปล้นปืน พูดง่ายๆก็คือใช้วิธีการก่อการร้ายจริงๆ จากนั้นมานับถึงตอนนี้ถ้าจะวิเคราะห์จากประวัติอันนี้ก็คือช่วงที่ 4 ตรงนี้แหละที่รูปแบบเปลี่ยนไป จากการอาศัยมวลชน หรือมีการเคลื่อนไหวในระดับที่ยังเลือกเป้าทางการเมือง เลือกเป้าที่แตกต่าง ตอนนี้ไม่มีแล้ว คือเรียกว่าเป็นการตอบโต้ซึ่งทำทุกจุดเป็นแบบดาวกระจาย

อาจารย์ศรีสมภพ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้ข้อมูล 3-4 ปีที่ผ่านมา แล้วทำจุดของความรุนแรง 3 จังหวัดว่า ความรุนแรงอยู่ตรงไหนบ้าง คือเมื่อทราบว่าความรุนแรงอยู่ตรงไหนมันพออธิบายได้ว่าเพราะอะไร แต่พอแกดูจุดต่างๆทั้งหมดแล้วบอกว่า มันทุกจุด ไม่ใช่เฉพาะในเขตเมือง ไม่ใช่พุทธหรือมุสลิม แต่มันเกิดขึ้นทุกแห่ง ทั้งระเบิด มีการจับ มีการยิง ตกลงนักวิชาการก็ยอมแพ้ตรงที่ไม่มีคำอธิบาย อธิบายไม่ได้ว่าทำเพื่อที่จะเล่นงานคนนี้ หรือเพื่อที่จะทำให้เกิดอะไร อันนี้อาจจะเป็นลักษณะพิเศษของช่วงนี้ก็ได้

แต่ปัญหาอาจจะมาจากการที่เราใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนไทยด้วย โดยเฉพาะจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเขารายงานเหตุการณ์ที่คงจะต้องได้มาจากทางการ คือทหารกับตำรวจ เข้าใจว่าอาจจะมีรายละเอียดหรือบางเหตุการณ์ซึ่งไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดถูกรายงานในระดับที่เท่ากันต่างๆ ซึ่งถ้าแบ่งตรงนี้ได้ ผมยังเชื่อว่าน่าจะมี pattern หรือแบบแผนบางอย่างของมัน เช่นว่าเป้าที่ถูกทำลาย จะเป็นทางการ ทหาร-ตำรวจ และบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ต่างๆ แยกกันออกมาแล้วลงมาถึงชาวบ้าน ไทยพุทธ-มุสลิม รวมถึงผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย ระดับน่าจะไม่เท่ากันทั้งหมด แล้วก็พื้นที่ก็น่าจะบอกถึงทิศทางของการเข้าการออกเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในระดับต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้กำลังมากในการไปรวบรวม ผมก็หวังว่าจะมีใครทำแล้วจะได้ไปดูข้อมูล

โดยรวมๆ ถ้าหากเราวิเคราะห์จากวิธีการที่เรามองมาจากข้างต้น ก็คือกลุ่มผู้นำก็น่าจะเปลี่ยนเหมือนกัน อย่างตอนนี้คล้ายๆ กับว่า, ไม่รู้เชื่อได้หรือเปล่า, บรรดาโต๊ะครู บรรดาฮุสตาสต่างๆ ฝ่ายที่แม่ทัพและกองทัพภาคเขาจับไป แต่ส่วนใหญ่หลายคดีหลุดและต้องปล่อยตัว เพราะฉะนั้นก็เลยมีปัญหาว่าเชื่อได้หรือไม่? เพราะถ้าหากว่าคนที่เรียกว่าอยู่ในฐานะนำของขบวนการ หรือปฏิบัติการการก่อการร้ายในเมือง มาจากบรรดาสถาบันปอเนาะต่างๆ กลุ่มการศึกษาทั้งหลาย แล้วก็มีโต๊ะครูบางส่วน ก็แสดงว่ามันเริ่มย้อนกลับ เริ่มมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มหาทางออก แล้วก็ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง และใช้เครื่องมือเพื่อไปบรรลุเป้าหมาย

แต่ถ้าถามว่าคำตอบคืออะไร? นำไปสู่อะไรต่างๆ คือบรรดาผู้เคลื่อนไหวในยุค พคท. ก็ต้องบอกว่าไม่มีการเมือง เพราะว่าคุณทำลายทั้งศัตรูและมวลชน คือเป้าหมายถูกทำลายไปพร้อมกัน มันก็ไม่มีอะไรจะไปช่วงชิง ไม่มีอะไรที่จะไปชนะ ตกลงแล้วคุณจะเอาอะไร จะเรียกร้องเรื่องอะไร ตอนนี้ไม่รู้ว่าเรียกร้องอะไรและให้ใคร? เพราะว่าชาวบ้านก็ถูกเล่นงานจากทั้งสองฝ่าย ทั้งจากฝ่ายก่อการร้ายและเจ้าหน้าที่รัฐ มีอะไรชาวบ้านก็ถูกแซนวิชหมด เพราะฉะนั้นจะเอาอะไรตรงนี้ คำตอบหรือเป้าหมายมันไม่มี เรานึกไม่ออกว่าใครคือคนที่ต้องการ ใครคือคนที่จะเอาตรงนี้ อันนี้คือความยากลำบากของปริศนาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคที่ 4

ผมจะปิดลงตรงที่ การหวนกลับมายังการเมืองอิสลาม ซึ่งแนวคิดเรื่อง Islamic State ซึ่งได้รับการพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน จากอิหร่านมาถึงมาเลเซีย มาเลเซียก็เถียงกัน เพราะพรรคพาส เขาก็ยืนยันว่าเขาจะสร้าง Islamic State แต่ว่านากยกฯมหาเธย์ตอนที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ บอกว่า ไม่ต้องหรอก ทำเสร็จแล้ว พรรคอัมโนบอกว่าทำเสร็จไปแล้ว นี่ล่ะ มาเลเซียคือ Islamic State สำหรับพวกที่เป็นอิสลามจริงๆ เขารับไม่ได้ บอกว่าไม่ใช่ มันคงเหมือนกับที่ อ.ไพสิฐ ว่า ที่เขาก็ใช้กฎหมายฝรั่งเศส 3 ส่วนเข้ามาใช้ในชาลีอะห์ แล้วประกาศว่าเมื่อรัฐนั้นประกาศใช้กฎหมายชาลีอะห์ ก็ถือว่าเป็นรัฐอิสลามได้แล้ว อันนี้ได้ไหม?

สำหรับพวกที่เชื่อใน Islamic State ในช่วงใหม่มองคือ เขามองว่ารัฐชาติที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นผลิตผลของการพัฒนาแบบตะวันตก เพราะฉะนั้นต้องปฏิเสธอันนี้ด้วย คือจะต้องสลายรัฐชาติ พอไม่มีรัฐชาติมันก็ไปสู่ดารุสลามของอิสลาม คือรัฐที่เป็นสันติทั่วทั้งโลก ปัญหาคือว่าคนที่เชื่อแบบนี้อยู่ในขบวนการปฏิบัติการใน 3 จังหวัดหรือเปล่า เพราะถ้าเขามีความเชื่อเช่นนี้ มันก็ตอบคำถามสุดท้ายเมื่อสักครู่ คือตกลงคุณทำลายทั้งหมด ทำไปเพื่ออะไร? เพราะว่ามันไม่มีทางที่จะสร้างรัฐอะไรได้ด้วยการที่ทำลาย 3 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด แต่ถ้าเขาตอบว่าเขาจะสร้างรัฐทั้งโลกนี้ให้เป็นอิสลาม ที่ไม่มีรัฐชาติเหลืออยู่ ก็เป็นไปได้ ก็เชื่อได้และก็ทำต่อไป สิ่งที่เขาทำคือต้องการบรรลุอันนั้น อุดมการณ์สูงสุดของ Islamic State


คลิกกลับไปอ่านตอนที่ ๑

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
120449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

อาจารย์ศรีสมภพ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้ข้อมูล 3-4 ปีที่ผ่านมา แล้วทำจุดของความรุนแรง 3 จังหวัดว่า ความรุนแรงอยู่ตรงไหนบ้าง คือเมื่อทราบว่าความรุนแรงอยู่ตรงไหนมันพออธิบายได้ว่าเพราะอะไร แต่พอแกดูจุดต่างๆทั้งหมดแล้วบอกว่า มันทุกจุด ไม่ใช่เฉพาะในเขตเมือง ไม่ใช่พุทธหรือมุสลิม แต่มันเกิดขึ้นทุกแห่ง ทั้งระเบิด มีการจับ มีการยิง ตกลงนักวิชาการก็ยอมแพ้ตรงที่ไม่มีคำอธิบาย อธิบายไม่ได้ว่าทำเพื่อที่จะเล่นงานคนนี้ หรือเพื่อที่จะทำให้เกิดอะไร อันนี้อาจจะเป็นลักษณะพิเศษของช่วงนี้ก็ได้

The Midnightuniv website 2006