นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ความล้มเหลวและการกอบกู้เศรษฐกิจ
จุดเปลี่ยนของความคิด การกอบกู้โรงงานในอาร์เจนตินา
ภัควดี วีระภาสพงษ : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ แปลและเรียบเรียงจาก
The Work of Changing Mind
Recovered Factories in Argentina
By Esteban Magnani
(บทแปลภาษาอังกฤษโดย Dina Khorasanee)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้แปล
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 881
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)



จุดเปลี่ยนของความคิด การกอบกู้โรงงานในอาร์เจนตินา
โดย เอสเตบัน มักญานี : (ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล)

ในระยะสองสามปีมานี้ อาร์เจนตินาตกเป็นข่าวในสื่อมวลชนกระแสหลัก มีประชาชนเฝ้าดูจากทั่วทุกมุมโลก ก่อนหน้านั้น คนส่วนใหญ่รู้จักอาร์เจนตินาแค่เป็นประเทศบ้านเกิดของตำนานนักฟุตบอลชื่อดังอย่างดีเอโก้ มาราโดนา แต่ในปลายปี ค.ศ. 2001 ภาพธงชาติอาร์เจนตินาไม่ได้เด่นหราอยู่บนอกเสื้อนักฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังโบกสะบัดอยู่เหนือกองไฟตามท้องถนนในอาร์เจนตินา ในมือของฝูงชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางกระฎุมพี กำลังกลุ้มรุมทุบตู้เอทีเอ็มด้วยหม้อกับกระทะ นี่คือภาพที่ซีเอ็นเอ็นฉายให้ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จักจบสิ้น

สำหรับคนอื่น ๆ ทั่วโลก อาร์เจนตินาคือนครเมกกะสำหรับการค้นหาว่า พ้นจากโตรกผาของลัทธิเสรีนิยมใหม่ไปแล้ว ยังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง เหตุผลก็คือ ท่ามกลางซากปรักหักพังของระบบ ซากความพินาศที่มีซากศพประชาชนรวมอยู่ด้วย เริ่มมีแนวคิดแปลกใหม่สร้างสรรค์งอกงามขึ้นมา พร้อมกับที่ชนชั้นกระฎุมพีเริ่มตระหนักว่า แค่ส่งเสียงแสดงความไม่พอใจยังไม่เพียงพอ (ส่วนชนชั้นอื่น ๆ ในสังคมเขาต่อสู้อย่างหนักมาก่อนหน้านี้แล้ว) ถึงเวลาที่มือเราต้องคลุกดินคลุกทรายจากงานหนัก ยิ่งกว่านั้น หากเราปล่อยให้มัมมี่หน้าเดิมมาตัดสินอนาคตของเราอีก ผลลัพธ์จะลงเอยด้วยความหายนะแบบเดียวกับที่เราเอาแต่บ่นบ้ากันมานาน

ปลายปี 2001 เป็นช่วงเวลาพิสดาร ปรกติเราจะเห็นแต่ "คนอื่น" หมายถึงคนจน ออกมาแสดงความไม่พอใจตามท้องถนนทั่วประเทศ แต่คราวนี้กลับกลายเป็นชนชั้นกลางกับเสียงร้องโวยวายไม่จบสิ้น คนพวกนี้เองที่เคยอวดโอ่ความร่ำรวยด้วยพาหนะสี่ล้อ ตอนนี้กลับขว้างปาไข่ใส่ประตูธนาคาร ขณะที่ตำรวจยืนเงียบสงบอยู่ตรงหน้า

จากความปั่นป่วนวุ่นวายและความเสียหายยับเยิน ท่ามกลางสภาพที่ทุกอย่างมีแต่คำถาม การจัดตั้งรูปแบบใหม่ค่อย ๆ เติบโตขึ้น คนแต่ละคนพยายามทำในสิ่งที่เขาหรือเธอรู้ดีที่สุด ก่อนที่นักการเมืองจะเข้ามาทำให้แทน ชนชั้นกลางออกมาชุมนุมกันตามหัวมุมถนนเพื่อพูดคุยถึงการเมือง คนว่างงานออกมาประท้วงทั่วทุกหัวระแหงเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐ และคนงาน...ใช่แล้ว คนงานบางส่วนเริ่มก้าวพ้นจากความเคยชินและตัดสินใจว่า งานไม่ใช่สิ่งที่ต้องร้องขอ แต่ต้องสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง

ผลลัพธ์ประการสุดท้ายนี้เริ่มขยายตัวมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2001 แต่พร้อมกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังแรงของขบวนการคนงานก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีความชอบธรรมทางสังคมคอยหนุนหลัง ไม่กี่เดือนก่อน คนงานกลุ่มใดที่คิดว่าพวกเขาสามารถร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทที่ล้มละลาย คงถูกมองเป็นกลุ่มโจรตัวอันตรายต่อกรรมสิทธิ์เอกชนอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากเหตุจลาจลเมื่อเดือนธันวาคม เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่คุ้นเคยตลอดมาเหลือแต่ความมืดมนและเลื่อนลอย คนงานกลุ่มเดียวกันนี้เองกลับกลายเป็นหุ้นส่วนและเพื่อนบ้านที่ช่วยกันต่อสู้เพื่อสิ่งที่ชอบธรรม นั่นคือ"งาน"และ"ศักดิ์ศรี" แน่นอน พวกเขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่ถูกล้างสมอง แต่เป็นแค่ประชาชนที่มองเห็นกลไกอันผุกร่อนของโรงงานร้าง และสุขภาพที่ย่ำแย่ลงของลูกหลาน

มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
จารีตการประกอบธุรกิจในอาร์เจนตินาเป็นเรื่องน่าเศร้าทีเดียว เช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ในโลก เป้าหมายของนายทุนคือกอบโกยผลกำไรให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ลักษณะเฉพาะของชาวอาร์เจนตินา (อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกในโลกที่สาม) ก็คือไม่มีการควบคุมจากรัฐ และผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจคือผู้กุมอำนาจทางการเมือง จึงแทบไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ เหลืออยู่

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ระหว่างช่วงทศวรรษ 1990 อุดมการณ์ที่ครอบงำประเทศก็คือ อะไรก็ตามที่เอื้อให้กระเป๋าของนายทุนหนักขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมส่วนรวมด้วย ทุกอย่างจึงถูกกรุยทางให้ราบรื่นสำหรับนักธุรกิจ นักธุรกิจส่วนใหญ่ฉวยโอกาสจากบรรยากาศในช่วงทศวรรษ 1990 โดยขอเงินอุดหนุนจากรัฐ "เพื่อจ้างคนงานมากขึ้น" ขอสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งเบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ภาษีหรือแหล่งวัตถุดิบ

สุดปลายถนนการลงทุนคือ "การล้มละลาย" และ "การขายทอดตลาด" ที่เปิดทางให้ "เพื่อนของผู้ประกอบการ/ลูกสาว/ทนายความ" เข้ามาซื้อโรงงานของเขาหรือเธอในราคาถูกมากและปลอดหนี้ ระบบแบบนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น มีการประท้วงและการฟ้องร้องที่ไร้ประโยชน์เพียงประปราย กฎหมายล้มละลาย เปิดช่องให้พวกนักธุรกิจทำแบบนี้ได้โดยไม่ถูกลงโทษ

ในเดือนมกราคม 2001 หลังจากต่อสู้มายาวนาน คนงานกลุ่มหนึ่งที่ต้องลำบากยากแค้นเพราะระบบทุนนิยมแบบนี้ ร่วมกันก่อตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ในชื่อว่า Uni?n y Fuerza (สหภาพและความเข้มแข็ง) พวกเขาได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้อดีตคนงานของบริษัทที่ล้มละลาย ขอเวนคืนโรงงานได้เป็นครั้งแรก การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้คนงานกลายเป็นเจ้าของโรงงานแห่งนั้นเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี

คำว่า "เวนคืน" (expropriation) หมายถึงอะไรกันแน่? ระบบนี้เข้าใจไม่ง่าย แต่หลักการขั้นพื้นฐานมีดังนี้คือ: หลังจากบริษัทเข้าสู่ภาวะล้มละลาย คนงานก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีสถานะเป็นนิติบุคคล หลังจากนั้น คนงานก็ขอให้ศาลยุติการเปิดขายทอดตลาด

ระหว่างนั้น คนงานก็นำเสนอโครงการแก่อำนาจกฎหมายในเขตการปกครองของตน เพื่อขอคำสั่งประกาศให้โรงงานเป็นสมบัติส่วนรวมและขอเวนคืน ตามรัฐธรรมนูญประจำชาติอาร์เจนตินา การเวนคืนเป็นมาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว ที่จำกัดการถือครองทรัพย์สินเอกชนได้ รัฐต้องจ่ายเงินชดเชยภายในสองปีเพื่อแลกกับการเวนคืน โดยศาลจะยึดเงินชดเชยจำนวนนั้นมาจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของผู้ล้มละลาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว คนงานก็อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ด้วย

เนื่องจากรัฐอาร์เจนตินาอยู่ในภาวะถังแตก มันจึงไม่มีปัญญาจ่ายเงินอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น กลุ่มคนงานจึงต้องหาเงินมาจ่ายให้แก่รัฐ รัฐก็จ่ายให้ศาล ศาลก็นำไปจ่ายให้แก่เจ้าหนี้อีกทีหนึ่งเท่าที่พอจะจ่ายได้ หากคนงานสามารถหาเงินที่ว่านี้มาได้ภายในสองปี การเวนคืนก็จะยืดไปได้อีกสองปี ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า "การต่ออายุ" นี้เกิดขึ้นเพียงสองบริษัทเท่านั้น

แน่นอน กระบวนการจริง ๆ มีความซับซ้อนกว่านี้และมีช่องทางเบี่ยงเบนออกไปได้มากมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกในการกอบกู้โรงงานโดยไม่ต้องอาศัยการเวนคืน ยกตัวอย่างเช่น คนงานสามารถขออนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการต่อและใช้กำไรมาซื้อบริษัท ไม่นานมานี้เอง มีคดีหนึ่งซึ่งศาลยอมรับหนี้ของฝ่ายที่ "ล้มละลาย" เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่จะใช้ซื้อบริษัท ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมาก เพราะโดยปรกติแล้ว คนงานมักเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทที่ล้มละลาย การใช้หนี้มาซื้อบริษัทจึงช่วยได้มาก

Praxis ใหม่
มีประเด็นทางกฎหมายมากมายที่ต้องอธิบายและคำถามมากมายที่ต้องตอบ รวมทั้งคำถามว่าการรวมตัวของคนงานที่จัดตั้งกันเอง สามารถสร้างประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าเมื่อก่อนได้อย่างไร หรือการประหยัดค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่ฝ่ายจัดการบริหารโรงงาน (ซึ่งมักหนีหน้าตามเจ้าของไปด้วย) ช่วยให้คนงานลงทุนได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง แต่ผู้เขียนอยากเน้นไปที่ประเด็นเชิงคุณภาพมากกว่า อันเป็นประเด็นที่เข้าใจและวิเคราะห์ค่อนข้างยาก แต่เป็นประเด็นที่อาจนำความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว่ามาสู่สังคมโดยรวม นั่นคือ การที่คนงานจัดตั้งรวมตัวกันในวิถีทางใหม่ มันเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และชีวทัศน์ของพวกเขาอย่างไร

เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ เราจำเป็นต้องคุ้ยหาในกล่องเครื่องมือทางทฤษฎีและล้วงเอาแนวความคิดพื้นฐานประการหนึ่งออกมาใช้ นั่นคือ praxis วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์สอนเราว่า ความเป็นจริงคือสิ่งที่กำหนดจิตสำนึก ไม่ใช่จิตสำนึกกำหนดความเป็นจริง "เราก้าวจากดินขึ้นสู่สวรรค์ ไม่ใช่สวรรค์ลงมาสู่ดิน" แนวความคิดที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกแต่มีความลึกซึ้งนี้บอกเราว่า ชีวิตประจำวันต่างหาก -สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรากิน วิธีที่เราเดินทาง คนที่เราพูดด้วย การงานของเรา ฯลฯ กล่าวคือ "praxis" ของเรา- คือสิ่งที่กำหนดวิธีการคิดของเรามากที่สุด

คนงานชาวอาร์เจนตินามักมาจาก praxis ในชีวิตประจำวันที่สร้างขึ้นมาจากการถูกควบคุมและเชื่อฟังคำสั่ง ใครก็ตามที่ไม่ทำตามย่อมถูกไล่ออกจากงานได้ง่าย ๆ บทบาทของเขาหรือเธอคือการเชื่อฟังและพยายามโกงเจ้านายให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ในความสัมพันธ์ของการครอบงำทุกรูปแบบ มันต้องมีความสมมาตรบางอย่าง คนงานจึงไม่ต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจอะไรทั้งนั้น และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาหรือเธอย่อมมีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนเสมอ ถ้าไม่ได้รับ อย่างน้อยที่สุด เขาหรือเธอย่อมมีสิทธิ์ร้องเรียน

เมื่อโรงงานปิด คนงานมักประท้วงเพื่อขอเงินชดเชยมากที่สุดเท่าที่จะเรียกร้องได้ ซึ่งมักได้ไม่คุ้มเสีย (คนงานมักอยู่ท้ายตารางของรายการเจ้าหนี้ ที่ศาลจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้) หลังจากชุมนุมประท้วง คนงานก็มักแยกย้ายกันกลับบ้านและตั้งต้นออกหางานใหม่ ในระหว่างช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงต้นศตวรรษใหม่ การคิดหางานทำไม่ใช่แค่เรื่องงี่เง่า แต่ยังไร้ประโยชน์ เพราะอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 20% เกือบตลอดเวลา

จากความหิวโหยและสิ้นหวัง จากความแน่ชัดว่าไม่มีทางหางานใหม่ คนงานเริ่มตระหนักว่าพวกเขาจำต้องหาทางอื่นเสียแล้ว นั่นคือ สร้างงานขึ้นมาแทนที่จะออกไปหางานทำ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น นี่ผิดไปจากความคุ้นเคยเดิม ๆ ทั้งหมดที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงนี้หมายถึงราคาทางจิตใจและสัญลักษณ์ที่คนงานต้องจ่าย พวกเขาต้องเข้าไปพูดคุยโต้เถียงกับศาล ต่อสู้กับตำรวจ และดำรงชีพจากเงินเดือนของสามีหรือภรรยาเพียงฝ่ายเดียว การต่อสู้กินเวลาที่มีอยู่ไปเกือบหมด ซึ่งมักลงเอยด้วยการหย่าร้าง

ยกตัวอย่างเช่น ในโรงงานซานอง หนึ่งในโรงงานที่ใหญ่ที่สุด คนงานต้องขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา สหภาพส่วนใหญ่บอกให้คนงานยอมแพ้ ยอมรับเงินชดเชยน้อยนิดและออกไปตั้งร้านค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ แข่งกับเพื่อนบ้านที่ตกงานอีกเป็นพัน ๆ คนซึ่งออกมาค้าขายเหมือนกัน นี่คือเหตุผลว่ามักจะมีแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่กัดฟันสู้จนถึงหยดสุดท้าย พวกเขารู้ดีว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่เหลืออยู่ เพราะไม่มีใครยอมจ้างงานพวกเขาอีกแล้ว มีแต่คนที่เข้าตาจนเท่านั้นที่อดทนต่อสู้จนลุล่วง

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ความสิ้นหวัง ยังมีความหวังมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อคนงานเริ่มกอบกู้โรงงานเหล็กและแก้วเจียระไน โรงพิมพ์ โรงเรียน โรงงานต่อเรือ คลินิก ฯลฯ คนงานอื่น ๆ เริ่มตระหนักว่ามันเป็นไปได้ นี่มีส่วนช่วยอย่างมากสำหรับคนที่มองไม่เห็นทางออกทางอื่น และเริ่มยึดเกาะความหวังนี้ไว้ ราวกับคนเรือแตกยึดเกาะไม้กระดานสักแผ่น

สหกรณ์คนงานกลายเป็นการคุกคามอันน่าประหวั่นสำหรับเจ้าของกิจการ รอบโรงงานที่ถูกกอบกู้ เจ้าของมักจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างตรงเวลามากขึ้น อันที่จริง บางครั้งการก่อตั้งสหกรณ์เป็นเพียงแค่การหาวิธีกดดันเจ้าของโรงงานเท่านั้นเอง ทันทีที่คนงานเริ่มเย้ายวนใจไปกับความคิดของการลุกขึ้นเป็นผู้ประกอบการเสียเอง เป็นนายตัวเองและตัดสินเงินเดือนของตัวเอง พวกเขาก็เดินมาถึงจุดที่ไม่มีทางหวนกลับ ทันทีที่คนงานรับรู้ถึงความรู้สึกในการเป็นฝ่ายควบคุมและความแน่นอนว่าตนเองไม่มีทางถูกไล่ออกจากงานอีก แค่รับเงินเดือนตรงเวลาไม่ใช่เรื่องน่าพอใจอีกต่อไปแล้ว

ระหว่างการต่อสู้มีแต่ความโหดร้าย คนงานต้องผ่านความหิวโหย กลายเป็นผีดิบสิงสู่อยู่ตามเฉลียงหน้าโรงศาลและสถานที่ราชการ คนงานถูกสั่งให้เสนอแผนการผลิต รายชื่อลูกค้าประจำ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยเวลาและความอดทนมหาศาล เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการรอคอยเฉย ๆ ในโรงงานที่ถูกปิด เพื่อรอให้ขั้นตอนทางกฎหมายขั้นต่อไปบังเกิดผลเสียก่อน บางครั้งก็พบว่าต้องเริ่มต้นใหม่หมดอีกครั้ง

คนงานมักไม่มีไฟฟ้าหรือแก๊สใช้ หนาวเหน็บ ยังชีพด้วยอาหารที่คนงานคนอื่นหรือเพื่อนบ้านจุนเจือมาให้ และนั่นหมายถึงถ้าพวกเขาโชคดีด้วย มันอาจยืดเยื้อเป็นเดือน ๆ บางครั้งเป็นปี บางครั้งนานยิ่งกว่านั้น ระหว่างห้วงเวลาของการรอคอยนี้ กิจกรรมหลักของคนงานคือการประชุม ซึ่งเป็นที่ที่คนงานตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป จะต่อสู้ต่อไปอย่างไรและจะจัดตั้งต่อไปอย่างไร การประชุมคือกิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญ นี่คือสถานที่ที่พวกเขาฝึกฝนประชาธิปไตย ซึ่งต่อไปจะช่วยให้คนงานบริหารบริษัทได้ด้วยตัวเอง

ขอให้เรางัดเครื่องมือเล็ก ๆ ของลัทธิมาร์กซิสต์มาใช้อีกครั้งเพื่อเตือนความจำว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนงานเหล่านี้เป็นแค่ฟันเฟืองชิ้นหนึ่งในระบบบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ความคิดเห็นของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแม้แต่น้อย ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ตัวเองของคนงาน คนงานถูกกรอกหูมาตลอดว่าไม่ต้องคิด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์คิดว่า คนงานไม่มีทางบริหารบริษัทได้ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานคัดง้างอยู่ทนโท่ที่บ่งชี้ในทางตรงกันข้าม

จู่ ๆ คนงานก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาทำได้ พิสูจน์ว่าความคิดเห็นของตนมีค่าและมีสิทธิ์มีเสียง นี่เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ยากที่จะข้ามพ้น นักจัดตั้งคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือคนงานในโรงงานเหล็กถามผู้เขียนว่า "คุณจะทำอย่างไรถึงจะจัดการให้ทุกคนเลิกขานว่า "ครับ" เมื่อนายเก่าในแผนกคนหนึ่งพูดอะไรออกมา? ในเมื่อนั่นเป็นความเคยชินของคนงานไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี" แต่แม้ยากเย็นแสนเข็ญ เมื่อมีช่องว่างให้สำหรับความคิดเห็น คนงานบางคนเริ่มเติมคำลงในช่องว่างนั้นและสำเหนียกว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน แต่พวกเขารู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อมอบการตัดสินใจให้แก่คนอื่น

แม้จะผิดไปจากความคุ้นเคยทุกอย่างที่มี ผิดไปจาก praxis ที่เคยชินมาตลอดชีวิต praxis ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเขา คนงานบางคนก็เริ่มตื่นขึ้น และเมื่อพวกเขาตื่นขึ้น พวกเขาก็เริ่มปฏิบัติตัวเป็นอุทาหรณ์แก่เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านและคนงานอื่น ๆ บางทีนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงและลึกซึ้งกว่าครั้งไหน ๆ

หลังจากต่อสู้ได้ไม่กี่เดือน คนงานก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้ ความรู้สึกนี้ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเมื่อพวกเขาเริ่มผลิต คนงานรู้ว่าความผิดพลาดใด ๆ ก็ตามคือต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่ายเหมือนกับความผิดพลาดในอดีต พวกเขาจึงมีความรับผิดชอบมากขึ้นและรู้จักแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดความรับผิดชอบ มันย่อมส่งผลทันทีต่อประสิทธิภาพการผลิตของบริษัท ไม่มีเจ้านายให้โกงอีกแล้ว

แต่...แค่นี้เองหรือ? แค่กลุ่มประชาธิปไตยรากหญ้าต่อสู้ในตลาดอันป่าเถื่อน ไม่มีอย่างอื่นที่เปลี่ยนแปลงได้อีกหรือ? มีคำตอบมากมายต่อคำถามนี้ คนงานบางคนหยุดอยู่แค่จุดนั้น พวกเขารู้ว่าต้องสมานสามัคคีกันไว้ เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันและความชั่วร้ายข้างนอกนั่น แต่ยังมีคนงานอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ยอมหยุดเมื่อเริ่มออกวิ่งไปแล้ว คนประเภทหลังนี้ออกไปช่วยคนงานที่กำลังต่อสู้ในโรงงานอื่น ๆ ให้ยืมเงิน เปิดศูนย์วัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ของเพื่อนบ้านในชุมชน เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในกรอบกฎหมาย เพื่อให้คนงานของบริษัทที่ล้มละลายสามารถเข้ามาบริหารจัดการโรงงานได้โดยอัตโนมัติ

ระหว่างการสัมภาษณ์เอดัวร์โด มูรูอา ผู้นำคนหนึ่งของขบวนการกอบกู้โรงงานแห่งชาติ ผู้เขียนถามเขาถึงการอุทิศตัวของคนงานที่พอมองเห็นในโรงงานที่กอบกู้ขึ้นมา เขาไม่ถึงกับมองโลกในแง่ดีมากนัก มีคนงานไม่กี่คนที่กลายเป็นนักเคลื่อนไหวในแต่ละโรงงาน "เท่าที่เราขอร้องได้คือขอให้พวกเขาช่วยคนอื่น ๆ แต่ถ้าพวกเขาไม่ยอมช่วย มันก็เป็นการตัดสินใจของพวกเขาและเราทำอะไรไม่ได้" มูรูอารู้ว่าวิธีเดียวที่จะสร้างแรงสนับสนุนที่แท้จริงขึ้นมาคือ การปฏิบัติเป็นตัวอย่าง โรงงานเหล่านี้มีความเป็นอิสระไม่มากก็น้อย และพวกเขาทะนุถนอมความเป็นอิสระนี้ไว้ราวกับไข่ในหิน คนงานที่ส่งมอบอำนาจให้คนอื่นหลังการต่อสู้ มักต้องจ่ายราคาสูงลิบลิ่ว

พวกเขาจะไปได้ไกลขนาดไหน?
ค่อนข้างยากที่จะตอบคำถามนี้ บ้างก็ก้าวหน้าไปไกลทีเดียว บ้างก็เป็นแค่ผู้ประกอบการรายย่อยที่พยายามแสวงหากำไรสูงสุด ฟุ้งฝันถึงความใฝ่ฝันของสังคมบริโภคที่การโฆษณาชวนเชื่อยัดเยียดใส่หัวพวกเขาอย่างแนบเนียน บ้างก็ตกเป็นเครื่องมือของผู้นำทางการเมืองบางคน

คนงานกำลังเปิดโรงงานกันเกือบทุกสัปดาห์ มีโรงงานที่ถูกกอบกู้ประมาณ 200 โรงงาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจไม่มีความสำคัญมากนัก แต่คุณค่าทางสัญลักษณ์นั้นประเมินค่ามิได้ พรรคการเมืองบางพรรคกำลังพยายามเปิดโรงงานด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่โรงงานที่กอบกู้เกือบทั้งหมดเป็นผลลัพธ์ที่เกิดมาจากทางเลือกอันริบหรี่และความหวังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงงานที่ถูกกอบกู้มาก่อน

ในอีกด้านหนึ่ง กระแสสังคมกำลังเปลี่ยนไป ความรู้สึกสามัคคีในชุมชนที่เราเคยมีกันอย่างแรงกล้าเมื่อสองปีก่อน ดูเหมือนกำลังเหือดหายไปจากสังคมชาวอาร์เจนตินาเสียแล้ว ชนชั้นกลางเริ่มแสดงความไม่พอใจอีกครั้ง เพราะผู้ชุมนุมประท้วงทำสวนสาธารณะเลอะเทอะและปิดถนนที่ต้องใช้เพื่อไปทำงาน ประธานาธิบดีคนใหม่ยึดธงส่วนใหญ่ที่โบกสะบัดระหว่างการลุกฮือทางสังคมไว้ในกำมือได้เกือบหมดแล้ว ถึงแม้ว่าบรรยากาศจะดีกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนก็ตาม ก็ยังยากที่จะคาดเดาว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า บริษัทที่ล้มละลายดูน่าสนใจขึ้นนับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

ภายในบริบทนี้เองที่คลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกที่สองจะต้องเกิดขึ้น คลื่นลูกแรกคือการกอบกู้โรงงานภายใต้การควบคุมของคนงาน และพอจะติดป้ายระบุได้ว่ามันประสบความสำเร็จพอสมควรถ้ายังเดินหน้าต่อไป ในคลื่นลูกที่สอง คนงานจะต้องตัดสินใจระหว่างการเป็นส่วนหนึ่งของระบบเดิมที่จะโละพวกเขาทิ้งทันทีที่เผชิญกับสถานการณ์วิบาก หรือรักษาวิญญาณของการต่อสู้ให้มีชีวิตชีวาต่อไป และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อการต่อสู้ในวันพรุ่ง

คนงานสามารถพิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีเจ้านาย วันนี้พวกเขาเปลี่ยน praxis ได้แล้ว ตอนนี้เหลือแต่เพียงแสดงให้คนอื่นเห็นว่ามันเป็นไปได้ การเผยให้เห็นว่าทางสองแพร่งนี้มีอยู่จริง เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ แต่เราก็อดที่จะแอบมีความหวังเล็ก ๆ ไม่ได้ว่า คนงานจะเป็นกลุ่มที่แสดงให้สังคมส่วนที่เหลือทั้งหมดตระหนักถึงความเป็นไปได้

17 ธันวาคม 2003

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

คำอธิบายศัพท์
Praxis (Oxford Dictionary of Philosophy) เป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล praxis เป็นหนึ่งในกิจกรรมพื้นฐานสามประการของมนุษย์ (อีกสองประการคือ theoria หรือทฤษฎี และ poisis หรือการผลิตด้วยความชำนาญ) praxis ในความหมายของอริสโตเติลครอบคลุมถึงการกระทำโดยสมัครใจหรือมีเป้าหมาย แม้ว่าบางครั้งยังรวมถึงเงื่อนไขที่การกระทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในตัวมันเอง

ในความหมายของค้านท์ praxis คือการประยุกต์ทฤษฎีเพื่อใช้กับกรณีต่าง ๆ ที่เผชิญในประสบการณ์จริง แต่ยังเป็นความคิดที่มีความสำคัญทางจริยธรรมหรือเหตุผลเพื่อปฏิบัติ (practical reason) กล่าวคือ การใช้เหตุผลเพื่อค้นหาสิ่งที่สมควรซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ การที่ค้านท์ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติเหนือทฤษฎี มีอิทธิพลต่อนักปรัชญารุ่นหลังอย่างเช่น ฟิคเต้, เชลลิง และเฮเกล

แต่จวบจนมาถึงมาร์กซ์ แนวความคิดนี้จึงกลายเป็นแกนกลางของอุดมคติทางปรัชญาแนวใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกโดยอาศัยการปฏิวัติ การที่ทฤษฎีมีความสำคัญเป็นรองจากการปฏิบัติ เกี่ยวพันกับการที่เหตุผลไร้ความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้ง สิ่งที่จะมาแทนที่เหตุผลในการขจัดความขัดแย้งคือ ความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ตามหลักวิภาษวิธี praxis ยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอันแท้จริง ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความสำนึกในตัวเองและเป็นอิสระอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับการใช้แรงงานอย่างผิดแปลกสภาวะภายใต้ระบบทุนนิยม

แต่คำว่า praxis ที่ใช้ในบทความนี้น่าจะหมายความง่าย ๆ ถึง "แบบแผนการปฏิบัติ"


 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
040449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ เราจำเป็นต้องคุ้ยหาในกล่องเครื่องมือทางทฤษฎีและล้วงเอาแนวความคิดพื้นฐานประการหนึ่งออกมาใช้ นั่นคือ praxis วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์สอนเราว่า ความเป็นจริงคือสิ่งที่กำหนดจิตสำนึก ไม่ใช่จิตสำนึกกำหนดความเป็นจริง "เราก้าวจากดินขึ้นสู่สวรรค์ ไม่ใช่สวรรค์ลงมาสู่ดิน" แนวความคิดที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกแต่มีความลึกซึ้งนี้บอกเราว่า ชีวิตประจำวันต่างหาก -สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรากิน วิธีที่เราเดินทาง คนที่เราพูดด้วย การงานของเรา ฯลฯ กล่าวคือ "praxis" ของเรา- คือสิ่งที่กำหนดวิธีการคิดของเรามากที่สุด

The Midnightuniv website 2006