นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ชีวิต กฎหมาย และอินเทอร์เน็ต
นิติปรัชญาว่าด้วยกฎหมายมีชีวิต กฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร (๒)
โดย เดวิด อาร์. จอห์นสัน (David R. Johnson)
ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง : แปล

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นการเปรียบเทียบระบบกฎหมายกับระบบของสิ่งมีชีวิต
อันเป็นแนวคิดใหม่ที่แตกต่างจากแนวคิดที่เห็นว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกทางสังคม
อันเป็นแง่มุมที่ช่วยส่งเสริมให้เรามองระบบกฎหมายด้วยความเข้า
ใจ
และให้ความสำคัญกับภาพรวมของระบบกฎหมาย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 851
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)




นิติปรัชญา ว่าด้วยกฎหมายมีชีวิต กฎหมายไม่ใช่เครื่องจักร (๒)
ชีวิต กฎหมาย และอินเทอร์เน็ต
โดย เดวิด อาร์ จอห์นสัน (David R. Johnson)
แปลโดย ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง


4. ความเป็นพลเมืองที่ยังไม่มีเพียงพอ?

โรสเซนได้สอนเราเกี่ยวกับโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในสิ่งมีชีวิต ที่มีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองอย่างต่อเนื่อง และดำรงตัวเองอยู่ได้ด้วยกระบวนการเผาผลาญ รวมถึงความจริงที่ว่าการทำงานของระบบภายในสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ผลที่เกิดจากปัจจัยภายนอก และรู้ว่านักสังคมวิทยาหรือนักชีววิทยา อาจหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้มากมายจากการศึกษาแบบแยกส่วน แต่ก็จะไม่สามารถสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมาได้เลย เพราะสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาได้จากพัฒนาการทีละเล็กละน้อย แต่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า สหรัฐอเมริกาไม่สามารถบังคับให้อิรักมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ การเกิดขึ้นของระบบกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องเกิดในสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมอย่างสมบูรณ์อันได้แก่ ความมีส่วนร่วมของประชาชน คุณค่าที่ประชาชนยึดถือร่วมกัน และการทำหน้าที่ต่างๆที่ส่งเสริมร่วมกันให้เกิดรัฐบาล

อย่างไรก็ตามยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่าง "บทบาทความสัมพันธ์ตามกฎหมาย" กับ "บทบาทการคอร์รัปชั่นทางการเมือง" เช่นในกรณีที่สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาขายเสียงของตัวเอง ก็เท่ากับว่าได้ก้าวออกนอกบทบาทอันชอบธรรมที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน และเป็นเหตุให้เกิดแต่ความเสียหายตามมา ซึ่งนับเป็นความชั่วร้ายอย่างร้ายกาจ

ระบบสังคมที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำเป็นต้องได้รับความยินยอมและเห็นคุณค่าของทางสังคมร่วมกันฉันใด หลักกฎหมายอาญาก็จำเป็นต้องกำหนดฐานความผิดอาญาบนพื้นฐานคุณค่าทางสังคมที่มีร่วมกันฉันนั้น และย่อมไม่ใช่จากคะแนนเสียงที่สามารถซื้อหาได้ จึงมีแต่ทรราชเท่านั้นที่จะอ้างการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่ขัดแย้งกับความต้องการของประชาชน และหากมีใครที่อ้างความชอบธรรมของตนฝ่ายเดียว เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายบังคับแก่สังคมโดยรวม ก็มีแต่จะทำร้ายสิ่งมีชีวิตของระบบสังคมเท่านั้น

การคอร์รัปชั่นและการเห็นแก่ตัวที่ขาดคุณธรรม นับเป็นเรื่องเก่าที่มีมาช้านาน กระนั้น กระบวนการของระบบกฎหมายที่มีชีวิตก็มีความสามารถซ่อมแซมบาดแผลเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดีตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คุณลักษณะของแต่ละสังคมถูกกำหนดขึ้นตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก ประเด็นใหม่ของระบบกฎหมายจึงมีว่า ระบบกฎหมายแต่ละประเทศอาจจะต้องพบปัญหา เมื่อจะต้องรวมเอาคุณค่าทางสังคมของแต่ละประเทศมาไว้ด้วยกัน เรื่องนี้นับได้ว่าเป็นการเผชิญกับภัยอันตรายที่ร้ายแรงของระบบกฎหมาย (บางคนอาจเห็นว่าเป็นความหวังอันรุ่งโรจน์ ที่จะได้มีกฎหมายของโลก แล้วแต่มุมมอง) กล่าวคือ อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความชอบธรรมตามหลักกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งภัยอันตรายที่ว่านี้เห็นได้ชัดเจนจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ที่เชื่อมโยงเอาประชาชนจากที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการล้มล้างนิยามเดิมของคำว่า "พลเมือง" (citizen) อย่างเราทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยในประเทศ เพราะอินเทอร์เน็ตสามารถส่งผลกระทบแก่ผู้อื่นในที่ต่างๆได้ในทันที จึงย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อใช้บังคับแก่พฤติกรรมออนไลน์เช่นนี้ แต่จะปรับใช้กฎหมายของประเทศใดได้หรือไม่นั้นยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะคุณค่าทางกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นย่อมไม่เหมือนกันทั้งโลก และเราก็ยังไม่มีคุณค่าทางสังคมพลเมืองโลกมาใช้แก้ปัญหานี้ (ทั้งโดยความหมายโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านตัวแทนด้วยโครงสร้างของรัฐบาล) ความมีชีวิตของระบบกฎหมายจึงกำลังถูกคุกคาม ถ้าหากว่าระบบกฎหมายเป็นสิ่งมีชีวิตแล้ว ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ก็อาจจะต้องตายไปก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราอาจอาศัยช่องทางของอินเทอร์เน็ตนี้ เพื่อเป็นทางออกแก่ระบบกฎหมายที่ดีกว่าได้

5. การเกิดขึ้นของพลเมืองเน็ต (Netizenship)
เราอาจซ่อมแซมระบบกฎหมายที่มีชีวิตได้ด้วยการสร้างหลักกฎหมายใหม่ แล้วร่างเป็นกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้ซ่อมแซมกระบวนการใช้กฎหมายให้ดีขึ้น แต่เมื่อคุณค่าทางสังคมยังคงมีความแตกต่างกันไปทั่วโลก ตามแต่ประชากรในที่ต่างๆที่ใช้อินเทอร์เน็ต จึงไม่ง่ายนักที่จะสร้างเพียงแค่ หลักกฎหมายใหม่ และองค์กรทางกฎหมายใหม่ขึ้นมาแก้ปัญหาเท่านั้น กระนั้น เราก็ได้เห็นโอกาสของพัฒนาการที่ดี กล่าวคือ

ถ้าหากเราปฏิบัติต่อประชาชนด้วยระบบกฎหมายในที่หนึ่งๆ บนอินเทอร์เน็ตแบบเดียวกับพลเมืองที่ยินยอมผูกพันต่อระบบกฎหมายนั้นๆ ย่อมทำให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริงขึ้นระหว่างระบบกฎหมายต่างๆบนอินเทอร์เน็ต และตรงนี้นี่เองที่จะทำให้แรงขับดันของพัฒนาการสิ่งมีชีวิต ช่วยทำให้เกิดการแข่งขันของระบบกฎหมายที่มีชีวิต และนำไปสู่ระบบกฎหมายที่มีความชอบธรรมและความซับซ้อนที่เหมาะสมที่สุดในการอยู่รอด ระบบกฎหมายที่แข็งกระด้างมากเกินไปก็จะไม่ได้รับการสนับสนุน ระบบที่ไร้กฎหมายก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนเช่นกัน ระบบที่ส่งผลร้ายกระทบต่อกลุ่มคนอื่นๆก็จะต้องล้มเลิกไป ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นระบบกฎหมายที่เกิดขึ้นมาเอง โดยประกอบขึ้นมาจากส่วนต่างๆ ที่มีเป้าหมายสนับสนุนคุณค่าที่เห็นชอบร่วมกัน โดยไม่มีการบังคับใช้ระบบเดียวกันนี้กับคนอื่นๆที่ไม่เห็นด้วย

ตามแนวคิดเสรีภาพแบบเดิมอาจเห็นว่า พัฒนาการที่มีระบบกฎหมายหลายระบบเป็นสิ่งเลวร้าย เพราะกลัวว่าจะต้องสูญเสียความเห็นชอบในคุณค่าทางสังคมร่วมกันในการปกครอง เช่นเดียวกับที่มีระบบกฎหมายเพียงระบบเดียวในประเทศหนึ่งๆ แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซ้ายจัดหรือฝ่ายทหารสายเหยี่ยวก็มองว่า การมีหลายระบบเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกัน ทั้งระบบเสรีนิยมแบบเดิมหรืออนุรักษ์นิยมซ้ายจัด จึงไม่สามารถนำไปสู่การจัดตั้งระบบรัฐแห่งโลกได้เลย และไม่สามารถอธิบายได้ด้วยว่า ทำไมพฤติกรรมของประชาชนบนอินเทอร์เน็ต ที่ยินยอมต่อระบบกฎหมายหนึ่งๆบนอินเทอร์เน็ตนั้น มีความชอบธรรมอันเนื่องมาจากประชาชนน้อยกว่าการเลือกตั้งผู้แทนในประเทศอย่างไร เราย่อมสามารถสร้างระบบกฎหมายได้จากการแข่งขันของระบบทั้งหลาย และดีกว่าจะลงคะแนนเสียงให้ระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียว

แนวความคิดของโรสเซนจึงช่วยไขปัญหาที่ค้างคาใจหลายประการ เกี่ยวกับเขตอำนาจและบ่อเกิดของกฎหมายแก่พฤติกรรมออนไลน์ทั่วโลก

ประการแรก การล็อกอินเข้าไปในระบบหนึ่งในอินเทอร์เน็ต และตกลงยอมรับหลักเกณฑ์ของระบบ ก็ถือได้ว่ามีค่าทางกฎหมายเท่ากับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เราเคยเข้าไปมีส่วนร่วม) ด้วยวิธีการทดลองระบบกฎหมายหลายๆระบบเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและปรับปรุงระบบกฎหมายไปพร้อมๆกัน แตกต่างจากระบบกฎหมายเดียวอย่างที่เคยเป็นมา

และด้วยขอบเขตที่กว้างขวางของสังคมออนไลน์ ก็จะทำให้เราสามารถกำหนดนิยามของสังคมออนไลน์ที่ประกอบขึ้นด้วยพลเมือง และระบบกฎหมายในรูปแบบใหม่ และเพราะว่ามีการแข่งขันเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มสังคมออนไลน์แต่ละกลุ่ม จึงมีความเป็นไปได้ที่ระบบกฎหมายของกลุ่มสังคมที่อยู่รอด จะมีความเข้มแข็งมากกว่าระบบกฎหมายในอดีต และกลุ่มสังคมเหล่านั้นก็อาจหาหนทางที่จะประสานร่วมมือกันเกิดเป็นระบบของสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ประกอบด้วยสังคมหลากหลายไม่เหมือนกับสังคมโลกเช่นที่ผ่านมา โดยระบบสังคมใหม่จะมีเป้าหมายของสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบด้วยระบบกฎหมายที่หลากหลายมากขึ้น (เพื่อปรับให้เข้ากับเป้าหมายร่วมกันของสมาชิก) และสร้างสรรค์หลักกฎหมายใหม่ๆที่น่าสนใจมากขึ้น

ส่วนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดประการหนึ่งของระบบกฎหมายเดิม คือ การแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเอกชนกับมหาชน ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม แต่ระบบกฎหมายใหม่ของอินเทอร์เน็ตจะล้มเลิกแนวคิดเช่นนี้ เพราะไม่อาจมีประชากรออนไลน์ที่จะให้อำนาจแก่รัฐบาลออนไลน์ เพื่อการบริหารและใช้อำนาจอันชอบธรรมได้ พลเมืองเน็ตเพียงแค่ตกลงยินยอมผูกพันตามกฎหมายของระบบ เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในระบบขณะใดขณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกล่าวในที่สุดแล้วระบบกฎหมายใหม่ของอินเทอร์เน็ตนี้ จะไม่ใช่ระบบที่มีอำนาจในลักษณะเดียวกับรัฐบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กลุ่มพลเมืองเน็ตอาจสามารถสร้างสังคมเน็ตใหม่ ระบบกฎหมายใหม่ เวลาใดก็ได้ตามที่ต้องการ และเมื่ออยู่ในสังคมเน็ตนั้นแล้ว การกระทำใดๆที่เกิดขึ้นตามหลักการความเห็นชอบร่วมกัน ย่อมนับได้ว่าเป็นการกระทำในลักษณะของการปกครองตนเอง ไม่ใช่การกระทำของเอกชนในความหมายเดิม

ประการที่สอง ส่วนที่ได้รับการยอมรับอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายเดิมก็คือ แนวความคิดที่กำหนดให้ องค์กร หน่วยงาน บริษัท โรงเรียน พรรคการเมือง และสหภาพต่างๆ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายที่ขึ้นอยู่กับรัฐ อันเป็นหลักการที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการ แนวทางนี้จึงมองว่านิติบุคคลเป็นเพียงเครื่องมือทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นและแยกส่วนได้ แต่ตามมุมมองของโรสเซนแล้วองค์กรเหล่านี้มีชีวิตของมันเอง ในลักษณะเดียวกันกับระบบกฎหมายทั้งหมดในภาพรวม ที่พัฒนาขึ้นมาตามวงจรชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซ่อมแซมโครงสร้างภายในเพื่อการดำรงชีวิตเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และปรับสภาพให้สามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอกได้ (พร้อมๆกันกับที่กระบวนการเผาผลาญภายในได้ทำงานไป) จึงไม่มีความแตกต่างเชิงโครงสร้างระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน เพราะสิ่งมีชีวิตมีระบบภายในที่กำหนดบทบาทของส่วนต่างๆกัน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสิ่งมีชีวิต ในแบบเดียวกันกับการยอมรับผูกพันต่อระบบกฎหมายของพลเมืองในระบบ

เมื่อระบบกฎหมายที่แบ่งแยกตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในปัจจุบันไม่สามารถทำงานได้ เราก็จะได้เห็นระบบสังคมใหม่เกิดขึ้น และจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เราต้องการองค์กรแบบใหม่เพื่อส่งเสริมเป้าหมายและวัตถุประสงค์ร่วมกันทั่วโลก ที่ไม่ใช่เพียงแค่การแบ่งแยกระหว่างองค์กรเอกชนที่หากำไรกับองค์กรมหาชนที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ปัจจุบันเราทุกคนอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ ที่จะได้เห็นพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทางกฎหมาย(8) เราจึงควรเปิดโอกาสให้การปกครองตนเอง และความร่วมมือต่อเป้าหมายรูปแบบใหม่ๆร่วมกันได้เกิดขึ้น แม้เราไม่สามารถออกแบบระบบกฎหมายจากภายนอกได้ แต่เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อพัฒนาการ และการเกิดขึ้นของระบบที่สามารถรับใช้คุณค่าร่วมกันของสังคมได้ดีที่สุด และเป็นอันตรายแก่คนภายนอกน้อยที่สุดได้

ระบบกฎหมายอาจประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายภายใน โดยที่เราก็จะสามารถปรับใช้หลักความสัมพันธ์ระหว่างระบบกฎหมายต่างๆที่เอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เราสามารถช่วยให้ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์ได้ โดยล้มเลิกแนวความคิดที่กำหนดให้มีระบบกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวในเขตแดนหนึ่งๆ และล้มเลิกความพยายามที่จะบังคับใช้ระบบกฎหมายของเราให้แก่ผู้อื่น เราสามารถยืนยันในความสอดคล้องต้องกัน (ของความต้องการ) ได้ดีกว่าที่จะยืนกรานการบังคับใช้อำนาจ (อธิปไตย)

6. ตัวอย่างบางประการ
โลกเสมือนจริงบางแห่งเสนอประโยชน์หลายประการแก่ผู้ใช้บริการ เช่น คะแนนสะสม วัตถุทางดิจิตอลต่างๆ และ เงินเสมือนจริง เป็นต้น เกมออนไลน์บางแห่งพยายามห้ามไม่ให้มีการซื้อขายวัตถุเสมือนดังกล่าว เพื่อรักษากติกาการเล่นเกมอย่างยุติธรรมเอาไว้ แต่ผู้ประกอบการหลายรายในประเทศโรมาเนียได้เริ่มหันมาทำธุรกิจนี้แล้วโดย ให้บริการเพิ่มความสามารถในการเล่นเกมให้กับลูกค้าเกมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา

ถ้าหากว่าจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว หน้าที่นี้ควรเป็นของใคร ของรัฐบาลสหรัฐฯ? หรือ ของรัฐบาลโรมาเนีย? ของผู้สร้างเกมออนไลน์? หรือ ของผู้เล่นเกมออนไลน์เอง? ล้วนยากที่จะตอบได้ อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ก็ยังมีผลบังคับน้อยมาก และยากที่จะให้บริษัทเจ้าของเกมออนไลน์บังคับใช้กฎหมายห้ามพฤติกรรมในเรื่องนี้ ในขณะที่ที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยและสนับสนุนพฤติกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เราอาจมองว่าปัญหานี้ไม่มีความสลักสำคัญอะไร และไม่ใช่ประเด็นสำคัญของสังคม แต่ปัญหาที่ว่าควรจะมีกฎหมายป้องกันพฤติกรรมออนไลน์หรือไม่นั้น เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับปัญหาอื่นๆที่นักวิชาการทางกฎหมายได้สร้างหลักการเพื่อแก้ปัญหา และเป็นที่ชัดเจนว่าคำตอบแก่คำถามดังกล่าว เกี่ยวกับคุณค่าร่วมกันทางสังคมออนไลน์ไม่อาจหาคำตอบได้จากการวิเคราะห์เชิงกฎหมายที่แบ่งแยกตามภูมิศาสตร์ หรือโดยผู้ที่ควบคุมซอฟท์แวร์นั้นๆ โลกเสมือนจริงจึงเป็นพื้นที่ให้ความเป็นพลเมืองแบบใหม่ของสังคมออนไลน์ได้พัฒนาขึ้น ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างกลุ่มสังคมต่างๆ จะเอื้อให้กฎหมายและบทบาทใหม่ๆได้เกิดขึ้นเพื่อสร้างระเบียบสังคมแบบใหม่

การซื้อขายสินค้าและบริการผ่าน eBay ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้บริการมีความเข้าใจต่อความจำเป็นของกฎหมาย เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและการระงับข้อพิพาท และมีน้อยครั้งมากที่ผู้ใช้บริการเหล่านั้น จะพึ่งศาลยุติธรรมของท้องถิ่นเพื่อระงับข้อพิพาทดังกล่าว ในทางตรงข้ามผู้ใช้บริการเหล่านั้นกลับไว้วางใจต่อระบบค้นหาผู้กระทำผิด และกระบวนการขับไล่ผู้กระทำความผิดออกจากระบบ รวมถึงการใช้กลไกระงับข้อพิพาทออนไลน์(9) ในการแก้ปัญหากันเอง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณลักษณะของสินค้า ซึ่งในทางปฏิบัติก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้บริโภคของท้องถิ่นใดๆ กับการตลาดซื้อขายออนไลน์นั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็นเลย เพราะได้มีระเบียบกฎหมายออนไลน์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว

ระบบชื่อโดเมนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่น่าสนใจใหม่ๆทางกฎหมาย เช่นกรณีที่ต้องจดทะเบียนกับเวปไซต์ .com เป็นต้น เมื่อต้องการโอนชื่อโดเมนให้แก่บุคคลอื่น ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลที่เพียงพอแก่ผู้รับจดทะเบียน แม้ว่าจะได้มีความพยายามของรัฐบาลท้องถิ่นที่จะสร้างหลักเกณฑ์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่หลักเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเกือบทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆจากหลายๆฝ่าย ซึ่งหลักการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ที่สำคัญก็คือการกำหนดหลักเกณฑ์แยกแยะตามชื่อโดเมนเป็นหลัก ไม่ได้กำหนดแยกแยะตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แต่อย่างใด

ชื่อโดเมนจึงอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานจดทะเบียนของแต่ละชื่อโดเมน ไม่ใช่เพราะอาศัยอยู่ในขอบเขตพื้นที่ใด และก็ยังมีหลากหลายหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมทั่วโลก กระนั้น ขั้นตอนตามเงื่อนไขที่จำเป็นดังกล่าว ก็อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนระบบชื่อโดเมนของผู้ใช้บริการไปสู่ระบบอื่น ที่มีการกำกับดูแลน้อยกว่าแข่งขันกันอยู่ทั่วโลก ซึ่งล้วนใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่แตกต่างกันเป็นข้อจูงใจในการแข่งขัน

แม้จะยังไม่มีตัวอย่างใดที่แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิต และความตายของระบบกฎหมายและเป้าหมายร่วมกันของระบบสังคม แต่ระบบกฎหมายแบบเดิมเกือบทั้งหมด ก็ไม่มีลักษณะเกี่ยวกับความมีชีวิตและความตายให้เห็นเช่นเดียวกัน เมื่อระบบกฎหมายตามภูมิศาสตร์กำหนดให้เราสามารถจัดตั้งนิติบุคคลได้ แต่องค์กรและกลุ่มธุรกิจในโลกเสมือนจริง ก็สามารถหากำไรในระบบการเงินของโลกเสมือนจริง แล้วเปลี่ยนเป็นเงินในโลกความจริงได้ (จากหลายๆช่องทางด้วยกัน เช่น ระบบนิติกรรมสัญญาที่ทำกับหน่วยงานเสมือนจริง และบังคับใช้ผ่านกระบวนการศาลยุติธรรมออนไลน์ เป็นต้น)

เมื่อระบบกฎหมายตามภูมิศาสตร์ได้กำหนดฐานความผิดและบทลงโทษ แต่กฎหมายออนไลน์ก็ทำให้เกิดระบบของความน่าเชื่อถือ ที่จะตามหาผู้กระทำความผิดแล้วลงโทษ. เมื่อระบบกฎหมายตามภูมิศาสตร์กำหนดวิธีการเยียวยาความเสียหายจากการละเมิด การหมิ่นประมาท และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่กฎหมายออนไลน์ของพลเมืองเน็ตก็กำหนดกรอบกฎเกณฑ์ใหม่ ที่ยอมให้มีการสร้างบุคคลออนไลน์ (avatar)(10) ขึ้นมามากมาย และสังคมออนไลน์อีกเช่นกันที่ยืนยันให้งานสร้างสรรค์ต่างๆในโลกความจริง จะต้องเผยแพร่ได้อย่างเสรีเพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อยอดไปอย่างไม่สิ้นสุด ถึงขนาดที่บางคนยังเสนอให้มีระบบชื่อโดเมนที่ปลอดจากเครื่องหมายการค้าอีกด้วย(11)

คำถามว่ารัฐบาลในปัจจุบันจะสนับสนุนระบบกฎหมายใหม่นี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่ดีกว่าได้หรือไม่ ด้านหนึ่งต้องได้รับการยอมรับอย่างเต็มใจจากพลเมืองที่มีส่วนร่วม อีกด้านหนึ่งต้องไม่ส่งผลร้ายกระทบต่อบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นพลเมืองด้วยในระบบ ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์ที่ดีจะต้องตอบคำถามในทั้งสองด้านนี้

อีกคำถามหนึ่งก็คือ ทำไมพลเมืองเน็ตถึงไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของรัฐบาลท้องถิ่น? ก็เพราะว่า กฎหมายตามภูมิศาสตร์ ไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตนับจากนี้ไป จนกว่ากฎหมายตามภูมิศาสตร์จะทำให้เกิดระเบียบทางสังคม ที่มีความชอบธรรมตามกฎหมายมากกว่าที่กฎหมายออนไลน์จะให้ได้ และถ้ากฎหมายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซ่อมแซมตัวเองได้แล้ว ก็น่าจะคาดหมายได้ว่า ระบบกฎหมายของสังคมจะมีพัฒนาการก้าวหน้าได้สำเร็จ หากว่าเรามีสถาบันทางกฎหมายที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการใช้กฎหมายที่ดี หากว่าเรามีผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมายที่ดี และหากว่าเรามีการซ่อมแซมกฎหมายด้วยความยินยอมของส่วนต่างๆ ได้ด้วยดี

7. ระบบกฎหมายจงเจริญ
บางครั้งสิ่งมีชีวิตที่ไม่สบายก็ต้องตายไปอย่างทรมาน และมีแนวโน้มว่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆตายตามไปด้วย โดยเราเห็นได้จากความพยายามมากมายของรัฐบาล หรือแม้แต่นักวิชาการที่จะอธิบายว่าทำไมจึงมีความจำเป็นที่องค์อธิปัตย์ตามภูมิศาสตร์ (และสถาบันทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) ควรจะได้เป็นผู้กำกับดูแลอินเทอร์เน็ตซะเอง

ประเทศจีนก็พยายามที่จะกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์บนอินเทอร์เน็ตอีกชั้นหนึ่ง แต่ความพยายามและประเด็นปัญหาทั้งหมดไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ เพราะพวกเขาไม่ตระหนักถึงความยั่งยืนของระบบกฎหมายในระยะยาว กล่าวคือ ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดระบบสังคม เพราะระบบกฎหมายที่ซับซ้อนจะดำรงอยู่ได้ด้วยการซ่อมแซมตัวเอง (สร้างบทบาทที่ขาดไป ทบทวนหลักกฎหมายที่ใช้ไม่ได้) โดยเชื่อมโยงกับหลักกฎหมายของสังคมที่เกิดจากคุณค่าทางสังคมร่วมกัน เป้าหมายความสำเร็จของระบบกฎหมาย จึงต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจโดยส่วนต่างๆของระบบ เพราะระบบกฎหมายย่อมเกิดจากการร่วมเห็นคุณค่าทางสังคมเดียวกัน เมื่อไรที่หยุดการทำงานของส่วนต่างๆภายใน ระบบกฎหมายก็เป็นได้แค่การใช้อำนาจ และระเบียบสังคมของทรราช และทางออกเดียวที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือ สงคราม

ระบบสิ่งมีชีวิตจึงไม่สามารถซ่อมแซมได้จากภายนอก สังคมออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก พลเมืองเน็ตย่อมต้องหาหนทางในการกำกับดูแลสังคมออนไลน์กันเอง ความพยายามที่จะออกแบบอินเทอร์เน็ตราวกับว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือกลไกชนิดหนึ่งย่อมไม่ชอบธรรมโดยพื้นฐานตามกฎหมาย และจะต้องเสื่อมไปตามธรรมชาติ เพราะไม่ตระหนักถึงความจริงที่โรสเซนกล่าวไว้ว่า "ระเบียบในระบบที่ซับซ้อนเท่านั้น ที่จะสร้างระบบตนเองได้"

ระบบกฎหมายตามภูมิศาสตร์ในปัจจุบันยังคงใช้ได้ดีกับวัตถุสิ่งของทางกายภาพ และคุ้มครองเราทุกคนจากภัยอันตรายในความเป็นจริงได้ และเช่นเดียวกัน กฎหมายตามภูมิศาสตร์นี้ก็จะยังคงดำรงอยู่ในบริบทเฉพาะที่เหมาะสมของมันเอง แต่เราก็อาจดำรงรักษาระบบกฎหมายให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติต่อระบบกฎหมายเสมือนสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง และมองระบบกฎหมายและความซับซ้อนในภาพรวม ดีกว่าที่เราจะเห็นระบบกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือกลไกชิ้นหนึ่ง อีกทั้งเราจะต้องไม่ยอมให้มีความพยายามที่จะแก้ไขหรือออกแบบระบบจากภายนอกและไม่ให้ความเชื่อถือต่อแนวทางการวิเคราะห์กฎหมายแบบแยกส่วนอีกต่อไป

นับจากนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะนำระบบกฎหมายในปัจจุบันไปปลูกถ่ายอยู่บนอินเทอร์เน็ต เพราะพฤติกรรมออนไลน์นั้นย่อมส่งผลกระทบได้ทั่วทั้งโลก เราจึงต้องสร้างความเป็นพลเมืองแบบใหม่เป็น พลเมืองเน็ต ที่จำเป็นต้องสร้างหลักกฎหมายของตัวเอง วงจรของระบบสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นในระดับโลกนี้ จะสร้างให้เกิดระเบียบสังคมในรูปแบบใหม่ที่เกิดจาก กระบวนการเผาผลาญแบบใหม่ กระบวนการซ่อมแซมแบบใหม่ รวมถึงเป้าหมายและความชอบธรรมทางกฎหมายแบบใหม่

หลักการเดิมที่ประชาชนให้ความยินยอมรับเอาสัญญาประชาคม อันเป็นพื้นฐานอำนาจให้กับรัฐบาลตามภูมิศาสตร์ย่อมใช้ไม่ได้กับบริบทใหม่นี้ กระบวนการซ่อมแซมใหม่ ระบบซับซ้อนใหม่ และระเบียบสังคมใหม่จึงเกิดขึ้น สิ่งนี้จะดำเนินไปในครรลองของความสอดคล้องต้องกันอย่างสมัครใจ ไม่ใช่ครรลองของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกต่อไป ระบบใหม่นี้จะได้รับการยอมรับจากระบบกฎหมายท้องถิ่นแบบเดิม เพราะระบบใหม่สามารถสร้างระเบียบของสังคมออนไลน์ที่ดีกว่า ดังนั้นผมจึงขออวยพรให้กับระบบกฎหมายอินเทอร์เน็ตที่มีชีวิตเทอญ

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติผู้แต่ง
เดวิด จอห์นสัน สำเร็จการศึกษาจาก Yale College (B.A. 1967, summa cum laude) และ Yale Law School (J.D. 1972) จบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก University College, Oxford (1968) ภายหลังจากที่จบจากโรงเรียนกฎหมาย เขาทำงานให้กับผู้พิพากษา มัลคอล์ม อาร์ วิลคีย์ แห่งศาลอุทธรณ์ รัฐโคลัมเบีย

เดวิด จอห์นสัน เข้าทำงานกับ Wilmer, Cutler & Pickering ในปี 1973 และเป็นหุ้นส่วนของบริษัทในปี 1980 ปัจจุบันเขาเกษียณอยู่ในฐานะหุ้นส่วนของ WCP และอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการพัฒนาซอฟท์แวร์ประเภท graphical groupware งานทางกฎหมายของเขาก่อนหน้านี้มุ่งสนใจเกี่ยวกับ e-commerce รวมถึงการให้คำปรึกษาในเรื่อง ความเป็นส่วนตัว (privacy) ชื่อโดเมน (domain names) รวมถึงเรื่อง การกำกับดูแลบนอินเทอร์เน็ต เขตอำนาจ ลิขสิทธิ์ ภาษี สัญญาอิเลคทรอนิกส์ การเข้ารหัส การหมิ่นประมาท ความรับผิดของ ISP และ OSP และประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

เดวิด จอห์นสัน เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมาย Electronic Communication Privacy Act
และมีส่วนร่วมในการเสวนาเกี่ยวกับกรอบกฎเกณฑ์โลกว่าด้วย e-commerce

ปัจจุบันเป็น Visiting Professor สอนวิชา Cyberlaw ที่ New York Law School

ประวัติผู้แปล : ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาโทรคมนาคม, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
- นิติศาสตรบัณฑิต (นบ.), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นิติศาสตรมหาบัณฑิต (นม.) สาขากฎหมายระหว่างประเทศ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


(คลิกกลับไปอ่านตอนที่ 1)

++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(8) ผู้แต่งเปรียบเทียบว่าเป็น Cambrian period ที่สิ่งมีชีวิตต่างๆมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ๆตามมา

(9) ตัวอย่างของ eBay ได้แก่ กลไกที่ชื่อ square trade seal ที่เป็นช่องทางให้ผู้ขายยืนยันว่าสินค้ามีคุณภาพสูงและได้รับประกันจากบุคคลที่สาม

(10) avatar บางครั้งย่อเป็น av หมายถึง สัญลักษณ์ หรือตัวแทน บุคคลในโลกเสมือนจริง กล่าวคือ คนคนหนึ่งอาจสร้างตัวตนในโลกเสมือนจริงได้มากมาย (มาจากคำเดียวกันที่หมายถึง "การอวตาร" ของเทพ ในศาสนาฮินดู)

(11) กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะกรณีเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้า จะไม่สามารถนำชื่อนั้นไปจดทะเบียนเป็นชื่อโดเมนของตนได้ เช่น Microsoft, IBM, HP เป็นต้น แต่ระบบโดเมนที่ปลอดเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จะทำให้บุคคลสามารถใช้ชื่อดังกล่าวได้ เช่น IBM.people เป็นต้น จดเป็นชื่อโดเมนของตนเอง เพราะ .people ไม่ใช่ระบบโดเมนสำหรับนิติบุคคลทางการ

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
040349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ความมีชีวิตมีความแตกต่างอย่างมากกับความไม่มีชีวิต เมื่อเครื่องยนต์กลไกมีสนิมและแตกหักไป การซ่อมแซมย่อมต้องมาจากการกระทำจากภายนอก แต่สิ่งมีชีวิตมีวิธีการที่เหนือกว่า กล่าวคือ ตราบเท่าที่กระบวนการเผาผลาญ (metabolism) สามารถหาวัตถุดิบและพลังงาน และตราบเท่าที่ไม่ได้รับบาดเจ็บจากภายนอก วงจรความสัมพันธ์ภายในจะทำการซ่อมแซมโดยจะสามารถจำและตัดสินใจได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นต้องการเป็นอย่างไร วงจรเหล่านั้นประกอบด้วยส่วนต่างๆมากมายที่ไม่มีทางเข้าใจได้โดยสมบูรณ์

The Midnightuniv website 2006