นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

วิพากษ์กระบวนการยุติธรรมร่วมสมัย
พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนญ (๓)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ช่วงถามตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ดำเนินรายการ

บทความวิชาการถอดเทปชิ้นนี้ เป็นกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘
ซึ่งจัดให้มีการอภิปรายในหัวข้อ พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ
ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๗.๐๐ น.
(เนื่องจากบทความถอดเทปนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ต่อเนื่องกัน)
บทความลำดับที่ 816-817-818

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 818
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)




พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ (๓)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผู้ร่วมการอภิปราย ประกอบด้วย
- ศ.ดร.คณิต ณ นคร คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- ไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สมชาย หอมลออ สภาทนายความ
- ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


อ.ชัยพันธ์ ประภาสวัต : อ.สมชายพาดพิงเกี่ยวข้องกับผมนิดหนึ่ง คดีที่ อ.สมชายบอกว่าชาวบ้านตัดไม้เผอิญคนที่ช่วยชาวบ้านคือผมเอง คนถูกจับคือพะตีมงคล เป็นกะเหรี่ยงอยู่แม่วาง เหตุการณ์นี้อันที่จริงเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ปี 42 หลังจากที่ได้รัฐธรรมนูญ มันมีเรื่องของป่าชุมชน แกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งที่ทำเรื่องป่าชุมชนมาเป็นนับเป็นสิบปี คือก็ใช้ไม้อยู่กับป่าชุมชนมา ถามว่าจะเอาไม้ที่ไหน ก็เอาจากป่า แต่วิธีการก็คือต้องทำอย่างโปร่งใส

มีกติกาว่าถ้าจะใช้ไม้ก็ต้องทำตามกติกา นายอำเภอก็รู้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็รู้ และไม้ที่ตัดก็เป็นไม้สน ซึ่งทิ้งไว้แค่ 1 ปี และอีกปีไปเลื่อยเพราะว่าหลานจะออกเรือนใหม่ ธรรมเนียมก็คือจะต้องเอาไม้ไปช่วยสร้างบ้าน ปรากฏว่า ผู้ว่าหมั่นไส้ออกมาประท้วงกับสมัชชาคนจนที่ทำเนียบ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็คอยดักไว้เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเข้าไปขนไม้แน่ เหตุเพราะมันมาขอไว้เมื่อปีที่แล้ว พอปีนี้ไปเลื่อยปั๊บ จับเลย

ชาวบ้านก็บอกว่าอย่างนี้มันผิดกติกา วันที่ไปจับประมาณทุ่มหนึ่ง โทรมาบอกผมว่าพะตีมงคลโดนจับ ช่วยที ผมก็ไปที่แม่วาง ปรากฏว่าชาวบ้านที่เป็นกะเหรี่ยงมากัน 2-3 พันคนล้อมโรงพักแม่วาง จนนายอำเภอ ตำรวจต้องออกมาเจรจา ก็เจรจาว่าคดีนิดเดียวให้ยอมเหอะ พรุ่งนี้ส่งฟ้องศาลแล้วสตางค์ค่าปรับพวกเขาจะออกเอง

ผมก็เอ๊ะ รัฐธรรมนูญมันบอกแล้ว ม. 46 ชุมชนดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในการจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องสู้แล้ว ผมพยายามพูดให้เขาเข้าใจ แล้วก็มีการประกันตัววออกมา ผลที่สุดศาลตัดสิน 2 ปี ต่อมาเราต้องหาสตางค์ไปจ่ายค่ารถให้แก เพราะโดนยึดรถด้วย เป็นรถเก่า ๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ในรายของคุณจินตนาก็เหมือนกัน ที่สู้นี่ก็ใช้เรื่องสิทธิชุมชน ปัญหาก็คือพอไปถึงแล้วไม่ว่ากระบวนการตรงไหนที่ชาวบ้านทำ ตีความไม่ออกว่าสิทธิชุมชนมันคืออะไร ผมก็ตีความแบบ อ.บรรเจิดว่า สิทธิที่เรามีก็คือสิทธิที่เป็นปัจเจกอย่างแรก อย่างที่สองก็คือสิทธิของชุมชนซึ่งมันมีอยู่ดั้งเดิม ซึ่งจะมีรัฐธรรมนูญหรือไม่มี เราก็สู้มาก่อน คนบ้านครัวสู้มา คนบางกระเจ้าสู้มา คือไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ มีการออกกฤษฎีกาให้เวรคืน แต่เราไม่ไป เราไม่ออกไป มีบัตรประจำตัวเป็นคนไทยบอกว่าเราอยู่ที่นี่ สมัย รสช.ยังทำไม่ได้เลย นั่นคือสิทธิชุมชน ฉะนั้นเราก็รวบรวมทั้งหมดมาเป็นรัฐธรรมนูญ

แต่พอมารวมเป็นรัฐธรรมนูญแล้วสิ่งสำคัญก็คือผู้พิพากษาไม่เข้าใจเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เลยประมาณ 99% ไม่เข้าใจ ตั้งแต่ศาลธรรมดาจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เองคือสิ่งที่เป็นปัญหา แล้วเราแทบจะสู้ไม่ไหว สู้ไปสู้มาวันนี้สมัชชาคนจน 200 กว่าคดี พี่น้องที่ลำพูนอีกล่ะ ล้วนแล้วแต่มีคดี รวมทั้งล่าสุดสิ่งที่เขาขับไล่พวกเราก็คือ กีดขวางทางเดินบนฟุตบาท ต้องให้เทศกิจมากวาดไปทั้งหมด

ปัญหาเรามีนักกฎหมายแบบนี้ผิดตั้งแต่เริ่มเรียนแล้ว อันนี้เห็นด้วยเลย ตั้งใจจะเป็นนักกฎหมาย สอบเสร็จ สอบเนติบัณฑิต สอบอัยการ สอบผู้พิพากษา ไม่เคยเห็นหัวชาวบ้านเลย ไม่เคยลงไปสัมผัสกับความทุกข์ของผู้คน ไม่เคยรับรู้ปัญหาที่เป็นจริง เมื่อวานผมได้ดูเรื่องเกี่ยวกับ อ.ป๋วย ท่านต้องลากนักศึกษาลงไปดูสังคม

ผมว่าผู้พิพากษาทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ทำตัวเป็นเทวดา จะกินเหล้าก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสังคมก็เลยคับแคบ เวลาตัดสินก็เอาแต่เรื่องของตัวเองที่ดูมาจากทีวี ฟังมาจากวิทยุ วันนี้บอกได้เลยว่าถึงเวลาต้องวิจารณ์ผู้พิพากษา ระบบศาลด้วย เพราะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านบอก ในหลวงก็เป็นคน พอคนทำผิดต้องวิจารณ์ได้ ดังนั้นผู้พิพากษาแค่ใช้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดันบอกว่าห้ามวิจารณ์

วันก่อนบ้านกรูดไปขึ้นศาล เขาไปด่าหน้าศาลเลย มีคนไปบอกว่าหมิ่นศาล คุณกระรอก(ภรรยาของคุณเจริญ วัดอักษร)บอกว่าคุณฟังดี ๆ ซิ เขาไม่ได้หมิ่นศาลนะ เขาด่าศาลเลย จับไปเลยสองสามร้อยคน ทุกวันนี้ถ้ากระบวนยุติธรรมยังเดินตามไม่ทัน ชาวบ้านเขาไปถึงไหนแล้ว ผมว่าเรื่องเหล่านี้ยังมีอีก ยังไม่จบเพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดคนที่เข้าไปติดคุก หลายคนไม่ได้ทำผิด แต่ถูกพิพากษาตัดสินลงโทษ ดังนั้นผู้พิพากษาเองอย่างที่บอก ถ้าผู้พิพากษาวิจารณ์ไม่ได้ก็เป็นเทวดา ในหลวงยังบอกเลย คนเนี่ยต้องผิด วิจารณ์ได้ ถ้าผู้พิพากษาวิจารณ์ไม่ได้ ผู้พิพากษาก็คงไม่ใช่คน เหมือนอย่างที่เราตีความหมายตรงนี้

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ :
กรณีของหาดมาหยาที่เจอมา เนื่องจากว่าคุณปลอดประสพตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ร่วมมือกับบริษัทเซ็นจูรี่ฟอกซ์ เข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงชายหาดของอ่าวมาหยาเป็นฉากในหนังเรื่องเดอะบีช ตอนนั้นทาง อบต. ท้องที่ และนักสิ่งแวดล้อมรวมตัวกันยื่นฟ้องศาล ศาลไหนก็ไม่รับฟ้อง มีแต่ศาลแพ่งเท่านั้น

ปรากฏว่าทางทนายขอให้มีการเผชิญสืบเพื่อลงไปดูข้อเท็จจริงเหล่านั้น เพื่อสั่งให้มีการคุ้มครอง ไม่ให้ทำการรื้อเอาต้นไม้หรือหาดทรายออก ปรากฏว่าศาลขึ้นบัลลังก์แล้วบอกว่า ไม่รับการเผชิญสืบ คือไม่ลงไปดูข้อเท็จจริงแต่จะรับพิจารณาคดีเรื่องนี้อีก 6 เดือนข้างหน้า นั่นหมายความว่าอีก 6 เดือนเขาก็ทำไปเรียบร้อยแล้ว

กรณีที่สองก็คือชาวบ้านเขื่อนสิรินธรเดินขบวน เดินเท้าประมาณ 200-300 คน จะไปร่วมกับชาวบ้านปากมูลที่สันเขื่อน ปรากฏว่าตำรวจปิดหัว-ท้ายแล้วสลายการชุมนุม สลายการเดินเท้าไม่ใช่สลายการชุมนุมเพราะยังไม่ได้มีการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และแกนนำถูกจับไปประมาณ เกือบ 20 คน ถูกค้านไม่ให้มีการประกันตัว กว่าจะได้ประกันตัวก็เกือบครึ่งเดือน. 10 ปีผ่านไป เนื่องจากการตั้งข้อหาค่อนข้างหนัก เช่นอั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุม บุกรุก ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ทีนี้เนื่องมาจากว่ามีการตัดสินออกมา ข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่สามารถที่จะหาความผิดได้ ศาลก็ลงว่ามีความผิดข้อหาผิดกฎจราจร ปรับคนละ 200 บาท

อีกกรณีของการออกหมายจับ อันนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในกระบวนการของศาล แต่ขณะนี้ปัจจุบันศาลให้ความร่วมมือด้วย การออกหมายจับเป็นกรณีที่ใช้ควบคุมบรรดาคนที่ภาครัฐหรือฝ่ายราชการไม่ชอบ วิธีการออกหมายจับในสมัยก่อนตำรวจเป็นคนออกหมาย หมายก็จะไปบล็อกอยู่ทั่วทุกพื้นที่ กระทรวงต่างประเทศก็ไปบล็อกไว้ คนที่ถูกออกหมายจับจะไม่มีสิทธิเดินทางออกนอกประเทศเพราะไม่สามารถทำพาสสปอร์ตได้

โอเค ตอนนั้นยังไม่เกี่ยวกับศาล แต่ช่วงหลังพอกฎหมายใหม่ออกมาว่า การออกหมายจับต้องออกโดยศาล ปรากฏว่าเราก็พยายามที่ใช้ช่องนี้เข้าไปดูว่า อย่างน้อยศาลน่าจะมีความยุติธรรม การออกหมายจับก็ควรจะมีการพิจารณาก่อน ปรากฏว่าเวลาตำรวจยื่นไปแล้วศาลก็ออกหมายจับตามตำรวจขอมาหมดเลย และขณะที่เรากับตำรวจอยู่ด้วยกันตลอด แล้วตำรวจไม่ยอมจับ เพราะในการชุมนุมตำรวจก็ต้องมาดูแลก็ไม่มีการจับ แต่ว่าหมายจับต้องออกบนศาล ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากรณีแบบนี้จะถือว่ามีความยุติธรรมยังไง

สุดท้ายกรณีศาลแรงงาน ถึงแม้ลูกจ้างจะชนะคดี แต่ว่าไม่สามารถบังคับนายจ้างได้ทุกคดี ในขณะที่กว่าจะชนะคดีแทบหืดขึ้นคอ กรณีของศาลแรงงาน อีกเรื่องคือระบบการตัดสินซึ่งอย่างที่หลายท่านว่าไว้คือ นั่งทางในรึเปล่า เพราะคน ๆ เดียวตัดสินอะไรก็ขึ้นกับพยาน และการนำสืบของฝ่ายโจทก์และจำเลย แน่นอนคนจนต่างตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ จะหาพยานหลักฐานไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เงินทอง ความกล้า และฝ่ายโจทก์มักเป็นผู้มีอิทธิพล การพิจารณาแบบนี้เป็นเรื่องล้าสมัยรึเปล่า ในต่างประเทศเขามีระบบลูกขุน มันทันสมัยกว่าหรือเปล่า อย่างนี้เราน่าจะมีการเรียกร้องหรือไม่ว่า การตัดสินบนบัลลังก์มันค่อนข้างเหมือนกับการนั่งทางใน

ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ :
มีประเด็นเสริมที่ อ.สมชายพูดถึงประเด็นเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุม… ซึ่งท้ายสุดมันมีประเด็นว่ามันผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดของบ้านเมือง ไปผิด พ.ร.บ.ห้ามใช้เสียงต่าง ๆ เหล่านี้ ตรงนี้เองถ้าเราดูตั้งแต่ต้นเราก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า สิ่งที่เขากระทำผิดกับเสรีภาพมันเป็นเรื่องใหญ่มาก มันไม่ได้ดุลกันเลย อันนี้คุณจะไปออกคำสั่งห้ามเขาว่าผิดกฎหมายมันไม่ได้ เพราะต้องชั่งสัดส่วนกันก่อน

เมื่อคุณไม่ได้ดูเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ไปดู พ.ร.บ. คุณก็สั่งเลยว่าอันนี้ผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, ผิด พ.ร.บ.การใช้เสียง, อย่างนี้เป็นปัญหาเพราะเราใช้กฎหมาย โดยเราไปดู พ.ร.บ.เป็นหลัก แต่ถ้าเราดูสิทธิเสรีภาพรัฐธรรมนูญก่อน สิทธิเสรีภาพมันเป็นเรื่องใหญ่ มันผิดเรื่องใช้เสียง ผิดเรื่อง พ.ร.บ.ความสะอาด ผิดเรื่องการจราจร มันเป็นเรื่องเล็ก มันไปลบล้างสิทธิเสรีภาพไม่ได้ นี่คือหลักการใช้ แต่เราไม่ได้ใช้อย่างนั้น เราดู ตัวพ.ร.บ.เป็นหลัก ตรงนี้เป็นปัญหาในการใช้การตีความ เราต้องสร้างทัศนะในการใช้ใหม่ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ในรัฐธรรมนูญ เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะใช้ตราบเท่าที่เราใช้อยู่ในกรอบ…

ศ.ดร.คณิต ณ นคร :
(ช่วงต่อเทป)… กฎหมายที่เราพยามยามทำอาจจะมีข้อบกพร่องบ้าง เช่น ของเราปัจจุบันนั้นจากตำรวจไปสู่ศาลเลย แต่ต่างประเทศเขามีการกรองอีกอย่างน้อยต้องสืบมาที่อัยการ ให้อัยการดูว่ามันมีเหตุผลสมควรจับหรือไม่ ปัญหาของเราผมเชื่อว่ากฎหมายของเราไม่ได้เลวร้ายกว่ากฎหมายใด ๆ ในโลก แต่ว่าคุณภาพของคน ความคิดของคนมันมีความเป็นอำนาจนิยม ผมคิดว่ามันต้องสร้างกันอีกนาน กระบวนการในการศึกษามันเป็นภาระใหญ่

ถาม (ญ) : อยากถามถึงเรื่องเกี่ยวกับกรณีวิทยุชุมชน ตอน 2545 ปลายปี ซึ่งก่อนหน้าที่จะจับคนที่ทำวิทยุชุมชน ได้มีมติ ครม. ออกมาว่า หากจะห้ามไม่ให้ทำวิทยุชุมชน ก็อาจจะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ชาวบ้านอีกจำนวนมากก็คิดว่าอย่างนี้ อำนาจตามมาตรา 40 หรือ พ.ร.บ. ปี 43 ซึ่งก็ระบุออกมาแล้วว่าต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าไปใช้ได้ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และหากประชาชนไม่พร้อม ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน

ซึ่งบทเฉพาะการของกฎหมายมันเขียนเอาไว้ว่า กสช. จะต้องมีการสรรหาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากกฎหมายประกาศใช้ หมายถึงวันประชุมสภา ในมาตรา 40 เอง บทเฉพาะการที่เกี่ยวข้องได้บอกว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งจริง ๆ มี 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ปี 43 และกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ต้องอนุมัติให้แล้วเสร็จใน 3 ปี พอดูปุ๊บชาวบ้าน ดูเจตนาว่าจะสามารถทำได้และเตรียมการได้ ประกอบกับว่าพอเริ่มทดลองออกอากาศไปแล้วก็มีการสั่งระงับการจับ จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคือกรมประชาสัมพันธ์ และมีมติ ครม.ออกมาว่า ถ้าเกิดห้ามก็จะขัดกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายระหว่างการเจรจาก็เกิดการจับกุมก่อน

คือถ้ามองในส่วนตัวคือ เป็นความตั้งใจเลยที่ว่าล้มโต๊ะเจรจา จับซะก่อนที่ผลจะออก เพราะไม่รู้ว่าผลจะออกมาหัวหรือก้อย และกรณีนี้ยังคงค้างอยู่ในศาล ตอนนี้ประชาชนชาวบ้านไม่รู้หรอกว่ามันยังไง แต่ว่าใช้แล้วเขาก็ต้องรับผล ไม่ว่าจะเป็นการขัดกันของอำนาจฝ่ายบริหาร มติ ครม.บอกว่าห้ามไม่ได้ชาวบ้านทำได้ แต่สุดท้ายก็ไปจับชาวบ้าน

ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ :
ประเด็นแรกถามว่าสถานะของสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เขียนไว้ใน ม. 27 บอกว่ายังมีผลผูกพันโดยตรง แต่ว่าอะไรผูกพัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เองเราจะเห็นว่าในกฎหมาย รัฐธรรมนูญหลายมาตราบอกว่าทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ประเด็นแรกก็คือว่าตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมายและสิทธิที่ถูกก่อตั้งขึ้นมานั้น มันมีผลแล้วหรือไม่

ประเด็นแรก ตามที่ผมได้เรียนในเบื้องต้นว่าขอบเขตในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมันมีขอบเขต เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่ยังไม่มีการออกกฎหมาย ที่บอกว่าทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ถามว่าตัวสิทธินี้มีแล้วหรือไม่ เกิดขึ้นมาแล้วหรือไม่ ต้องบอกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญมันเขียนไว้ชัดเจนว่ามันผูกพันโดยตรงแสดงว่ามันมีผลมาจากรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว

ถ้าเราบอกว่าสิทธิเสรีภาพจะมีผลต่อเมื่อมีการตรากฎหมาย แสดงว่าเรากำลังให้องค์กรนิติบัญญัติที่รับอำนาจไปจากรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือตัวรัฐธรรมนูญ เพราะว่าท้ายที่สุดสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่องค์กรรัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้นจะไม่มีผล จะมีผลต่อเมื่อองค์กรนิติบัญญัติไปตราใช่ไหมครับ แสดงว่าคุณก็ไปตราจำกัดไม่ให้มีก็ได้ เพราฉะนั้นนี่คือประการที่หนึ่งคือ มันต้องมีผลโดยตรง

แต่ประเด็นที่สอง จะใช้สิทธิอย่างไร ถ้ายังไม่มีกฎหมายมาบัญญัติมัน ใช้ตามกระบวนการตามปกติของมันครับ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญบอกว่าประชากร 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนนักการเมือง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ถามว่าถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติ ประชาชนไม่มีสิทธิเข้าชื่อใช่ไหม? คำตอบคือ ไม่ใช่ … ประชาชนต้องมีสิทธิเข้าชื่อเพียงแต่ว่าจะเข้าชื่ออย่างไร จะตรวจสอบอย่างไรเป็นไปตามกระบวนการปกติ ว่าเข้าจริงหรือไม่เท่านั้น ถ้าเราบอกว่าตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายเราไม่มีสิทธิเข้าชื่อ และถ้านักการเมืองไม่อยากออกกฎหมาย สิทธิจะมีไหม ก็ไม่มีใช่ไหมครับต้องตีความว่าสิทธิมันมีแต่มันจะใช้อย่างไร ใช้ตามกระบวนการปกติ ถ้าไม่มีกฎหมายไปบัญญัติกระบวนการ

เรื่องของสิทธิเรื่องวิทยุชุมชน ตรงนี้มันเกิดปัญหาว่าเมื่อยังไม่มีกฎหมายไปกำหนด ยังไม่มีองค์กรเข้าไปจัดสรร ถามว่าเขาผิดเลยหรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องดูมาตรา 40 ว่าจริงแล้วว่ากฎหมายมันก่อตั้งสิทธิตรงนี้อย่างไร เรื่องนี้ความจริงไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะว่าประเด็นของเรื่องตรงนี้ สิทธิตรงนี้มันเป็นสิทธิที่จะเกิดต่อเมื่อมันมีการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างบทของการเปลี่ยนผ่าน สีเทา ๆ มันจะอย่างไร

ซึ่งเรื่องนี้ถ้ามันเป็นสิทธิก่อตั้งโดยตรงมันไม่มีปัญหา อย่างเช่นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ตรงนี้ไม่มีปัญหาเลย ต้องบอกว่ามันมีอยู่และสามารถทำได้ แต่เนื่องจากตรงนี้มันเป็นสิทธิที่ให้กับชุมชนโดยเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข แต่จะอย่างไรก็ตามเมื่อมันโยงไปสู่เรื่องของความผิดในทางอาญา ตรงนี้เองที่ผมคิดว่า การที่จะตีความซึ่งโยงไปสู่ความผิดในทางอาญาบนพื้นฐานของความคลุมเครือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่ไม่มีการจัดสรรให้ ผมเองคิดว่าถ้าจะเอาความผิดในทางอาญามันควรต้องตีความอย่างแคบ

เพราะในทางอาญา การที่จะมีความผิดมันต้องมีความแน่นอน ชัดเจน ในเรื่องของการกระทำความผิด ซึ่งในสภาพการที่เป็นความบกพร่องของภาครัฐด้วย เนื่องจากรัฐไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนในส่วนนี้ได้ การตีความตรงนี้ การที่จะเอาผิด ต้องเป็นการตีความอย่างแคบจริงๆ ถ้าจะไปเอาผิด เพราะว่า การที่มันจะมีกฎหมายขึ้นมาได้ การที่มันจะไปจัดสรรได้หรือไม่ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการริเริ่มในส่วนของประชาชน มันเป็นการริเริ่มในส่วนของภาครัฐ ถ้าประชาชนเขามีส่วนทำเองแล้วทำไม่เสร็จ ตรงนี้ซิครับ ตรงนี้เองจะว่าเขาผิดตรงนี้ ทำได้

แต่อันที่จริงแล้วประชาชนไม่ได้มีส่วนในการริเริ่มดำเนินการดังกล่าว ว่าโดยสรุป ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ ไม่ควรจะตีความเป็นการเอาผิดในทางอาญา เพราะว่าสภาพการณ์ในทางกฎหมายยังไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิในส่วนนี้ ถ้าชุมชนจะมีสิทธิ ผมคิดว่ามันควรจะมีเงื่อนเวลาเข้ามาดูแล เพื่อที่จะวางกติกา เพราะว่ามันเกิดการกระทบสิทธิกันหลายเรื่อง ตรงนี้เองที่ควรจะต้องเข้ามาจัดระเบียบ แต่ไม่ใช่ประเด็นในทางอาญา ควรจะเข้ามาจัดระเบียบในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ควรจะเป็นเรื่องทางอาญา

ถาม (ญ) : ถ้าเกิดว่าอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติกับอำนาจของฝ่ายบริหารมันขัดกัน ในส่วนของมติ ครม. มีมติ ครม.ออกมาในทางที่เหมือนกัน คือว่าชาวบ้านสามารถทำได้(หมายถึงจัดให้มีสถานีวิทยุชุมชน) ถึงเวลาขึ้นศาล ศาลบอกว่ามติ ครม.มันไม่ใช่กฎหมาย อย่างนี้ชาวบ้านไม่มีทางรู้ได้เลยในเรื่องของกระบวนการหรือกลไกเหล่านี้ แล้วอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ :
เอาโดยหลักก่อน มติ ครม.มันจะขัดกฎหมายไม่ได้ ถ้าเราบอกว่ามติ ครม.ไปขัดกับกฎหมายได้ ส่วนการปกครองก็เป็นการปกครองโดยมติ ครม. เพราะฉะนั้นมีหลายเรื่องที่ศาลพิพากษาว่ามติ ครม. เช่น ครม.มีมติว่าเรื่องการถ่ายโอนโรงเรียนไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครม. เคยมีมติหรือไม่ว่าให้ระงับไปเถอะ ในที่สุดเรื่องนี้ไปฟ้องที่ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลบอกว่ามติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย จะมาเหนือกฎหมายไม่ได้

อันนี้ถูกต้อง มติ ครม.จะไปขัดกับกฎหมายไม่ได้ เพราะถ้าเราบอกว่ามติ ครม.ไปขัดกับกฎหมายเท่ากับให้มติ ครม.ไปยกเลิกสิ่งที่ผ่านการพิจารณาของสภา ทำให้สภาไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นหลักที่ถูกต้องคือมติ ครม.ไปขัดไม่ได้ แต่ประเด็นนี้อย่างที่เรียนว่ามันเป็นประเด็นของสภาพการณ์ในทางกฎหมายที่คลุมเครือ ความจริงถ้าทุกอย่างมันเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ปัญหามันจบ ถ้ามันมี กสท.เกิดขึ้นมาตามเงื่อนไขของกฎหมาย ปัญหามันก็จบ แต่ทีนี้เนื่องจากตัว กสช. ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าอีก 2 ปี มันจะเกิดรึเปล่าในสภาพการณ์แบบนี้

เพราะฉะนั้นในสภาพการณ์ที่มันยังไม่ชัดเจน มันก็คงต้องมีการไปวางกลไก สร้างระเบียบในเรื่องดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้มันดำเนินไปได้ในสภาพที่มันเป็นเปลี่ยนผ่าน แต่ในสภาพเปลี่ยนผ่านไม่ควรจะใช้กฎหมายอาญาเข้ามาจัดการ เพราะว่ามันไม่ชัดเจนในเรื่องอะไรต่างๆ สรุปว่า มติ ครม.มันไปยกเลิกกฎหมายไม่ได้ แต่สภาพการณ์ของการเปลี่ยนผ่านควรจะเข้าไปมีการจัดระเบียบ แต่ไม่ควรจะใช้กฎหมายออกมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ

สมชาย หอมลออ :
คือเรื่องนี้ ถ้าพูดถึงมติ ครม.แล้ว ผมคิดว่ามันเป็นปัญหากับกลไกรัฐ ซึ่งจริง ๆ แล้วกลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมไปรษณีย์ จะเป็นตำรวจ หรืออัยการก็ดี ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ถ้าตระหนักตั้งแต่แรกก็คือ อย่างเหตุผลที่อาจารย์ว่ามันเป็นช่วงคลุมเครือ ช่วงผ่าน ก็คือยังไม่ควรดำเนินคดี ไม่ควรสั่งฟ้องด้วยซ้ำไป ในส่วนของอัยการสามารถหาเหตุผลได้ในการที่จะสั่งไม่ฟ้อง

พ่อทองเจริญ ศรีหาธรรม :
วันนี้ผมได้มาฟังท่านอภิปรายเรื่องกฎหมาย เรื่องผู้พิพากษา เรื่องรัฐธรรมนูญ ความจริงผมมากรุงเทพครั้งนี้รู้สึกภูมิใจมาก ตอนเช้าก็ได้เข้าไปฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน มานี่ก็มีอาจารย์นักกฎหมาย,kเล่าเรื่องศาล เรื่องรัฐธรรมนูญให้เราฟัง รู้สึกว่ามีกำไรชีวิตที่ได้ฟัง แต่ยังไม่มีความเห็นมากว่าอันไหนผิดอันไหนถูก

สำหรับความรู้สึกที่ได้ฟัง 2 เวทีนี้ ผมยืนยันว่าศาลยุติธรรม ไม่ถูกต้อง คนไม่เป็นธรรมเลย ความจริงผมถูกลิดรอนสิทธิตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึง 63 ปี ยังถูกลิดรอน ยังถูกศาลละเมิดสิทธิ ฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่าถ้าผมมาคุยทางกฎหมายมันมีแพ้มีชนะ อันนี้ความรู้สึกของผมเป็นชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมาย ตั้งแต่เกิดพ่อแม่บ่มเพาะเรื่องศีล 5 ว่า เกิดมาอย่าไปลัก, อย่าไปฆ่า, อย่าไปขโมย, อย่าไปโกหก, อย่าไปดื่มสุรามึนเมาเกเรนะลูก, นี่พ่อแม่บรรพบุรุษของผมบ่มเพาะมาอย่างนี้ แล้วนอกจากนั้นให้ลูกมีความรัก มีความเมตตา มีอุเบกขา เอื้ออาทรต่อสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดมาร่วมชาติ ร่วมโลก ร่วมอนิจจังกันนี้ พ่อแม่ผมได้บ่มเพาะมาอย่างนี้

ในเมื่อเราถูกลิดรอนมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ถึง 63 ปี ยังถูกลิดรอน ก็เลยมานั่งฟังว่ารัฐธรรมนูญนี่มันคืออะไรหนอ ก็ฟังอาจารย์หลายคนพูด กฎหมายนั้นคืออะไรหนอ กฎหมายมาตรานั้นมาตรานี้ เราไม่ค่อยเข้าใจ ก็มานั่งคิดอยู่คนเดียวว่าหากเราจะเอากฎหมายมาตัดสิน ไปขึ้นศาลก็มีแพ้ มีชนะ โลกนี้ถ้ามีแพ้ชนะ ไม่มีความสุขเลย

ถ้าหากเราเอาศีล 5 มาใช้กันในสังคม ผมคิดว่าในสังคมจะมีความสุข จะมีความร่มเย็นมาก จะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และจะไม่ลิดรอนมนุษย์และสรรพสิ่งและธรรมชาติด้วย ถ้ามันเป็นอย่างนี้ผมก็เลยไม่แสดงว่าดี ไม่ดี แต่ผมนี้ถูกลิดรอนสิทธิมา ดำเนินคดีทางกฎหมายมาตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึง 63 ปี เดี๋ยวนี้ยังดำเนินคดีอยู่ ยังถูกริดลอนอยู่

ถ้าเราไปหาทนาย ๆ ก็ช่วยเรา แต่เมื่อศาลตัดสินมามันก็อยู่กับศาลเป็นคนตัดสิน ไม่ใช่ทนายตัดสิน เราก็แพ้ ๆ ตลอด แต่โชคดีที่ช่วงหนึ่งเรามาชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่เขามาสร้างเขื่อนปากมูล สร้างไปทำไม น้ำท่วมที่นา ที่อยู่อาศัย ชุมชนของเราก็จะแตกแยก ก็เลยถูกจับดำเนินคดีมาไม่รู้ว่ากี่ปี ก็ยังโชคดีหน่อยที่ช่วงนั้นเรามีกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชนเข้ามา เมื่อก่อนยังไม่มี หรือมีก็ยังไม่ปรากฏตัว ในตอนนั้นกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา จนกระทั่งทุกวันนี้ผมก็ยังขอบคุณมากกับองค์กรสิทธิมนุษยชนที่สามารถช่วยเราได้

ก่อนจะมีสิทธิมนุษยชนขึ้นมามัน ก็เนื่องจากเราเป็นตัวผลักรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ชุมนุมอยู่หน้าธรรมเนียบรัฐบาล 99 วัน ตายไป 12 คน ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ขึ้นมา แต่ใช้ยังไม่เต็มร้อย ที่ใช้ไม่เต็มร้อยผมเข้าใจอยู่ว่า พี่น้องมอบอำนาจให้คนอื่นเขาใช้มากกว่า แทนที่เราเป็นคนสร้างและจะเป็นคนใช้เอง แต่ตอนนี้เรายังมอบให้ผู้แทนอยู่ เรายังมอบให้คนอื่นอยู่ ความจริงเรื่องทุกอย่างผมเชื่อว่า ถ้าหากเราเป็นคนใช้ เป็นคนปฏิบัติ มันจะมีผลมากกว่าไปมอบให้ใครคนใดคนหนึ่งไปปฏิบัติ ขอบคุณครับ

ถาม (ช) : ผมได้ฟังมาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ ปรากฏว่าสังคมไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ คือในความเห็นผม ถ้าเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญ เมื่อเราตรารัฐธรรมนูญออกมา ผมคิดว่าต้องให้สถาบันทั้ง 3 องค์กร คือไม่ว่าบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการก็แล้วแต่ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วจะต้องให้ทั้ง 3 สถาบัน ไปตรวจสอบดู ว่ามีกฎหมายใดในสถาบันนั้นที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปรับแก้ให้ตรงกับรัฐธรรมนูญที่เขากำหนด ไม่ใช่ว่าเรามีบทบัญญัติของเราอยู่แล้วเราก็ใช้ของเราไป รัฐธรรมนูญจะอย่างไรไม่สนใจ แล้วอย่างนี้จะถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดได้อย่างไร

ฝ่ายบริหารจะต้องแจ้งไปให้ทุกกระทรวงให้มีการตรวจสอบ ดูว่าแต่ละกระทรวงมีข้อกฎหมาย หรือบทบัญญัติอันไหนที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ให้เอาออกมา ให้แจ้งมา แล้วแก้ไขเสีย และผมอยากให้มีองค์กรที่ว่าทำหน้าที่กำกับให้แต่ละหน่วยงานไปปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เมื่อแต่ละองค์กรบอกว่าได้แก้กฎหมายมาแล้ว ก็ตรวจสอบดูว่าแก้ไขตรงไหมกับที่รัฐธรรมนูญตราหรือบัญญัติไว้ เพราะบางที่อาจจะมีการหมกเม็ด มีอะไรซ่อนไว้ หรือแก้แบบหลบ ๆ เลี่ยงๆ มันต้องมีหน่วยตรวจสอบอีก เพื่อไม่ให้มีการกระทำแบบศรีธนนชัย

ข้อสำคัญก็คือว่าเราจะถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่สูงสุดแล้ว ต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ทุกระดับว่า กฎหมายใดที่มันแย้ง เราต้องยึดถือรัฐธรรมนูญก่อน ไม่ใช่ไปยึดถือกฎหมายของคุณ มันไม่ถูก เพราะกฎหมายที่คุณยึดถือนั้นศักดิ์มันต่ำกว่า อันนี้ก็ต้องอบรมด้วย. อัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ และหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ให้รับรู้ด้วย ไม่ทราบว่าต่างประเทศแรก ๆ ที่ออกกฎหมายรัฐธรรมนูญมา เขามาลักษณะแบบนี้รึเปล่าอยากเรียนถาม อ.คณิต และ อ.บรรเจิด ให้ช่วยอธิบายขยายความหน่อยครับ

อ. ชาญกิจ คันฉ่อง :
การที่มีการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. จำได้ว่าเหมือนมีการเสนอว่า รัฐธรรมนูญควรร่างให้สอดคล้องกับกฎหมายย่อย ๆ ที่มีอยู่แล้ว เพราะถ้าร่างออกมาขัดแย้งจะทำให้เราต้องแก้กฎหมายย่อย ๆ ที่เรามีอยู่เป็นจำนวนมาก

อ.บรรเจิด ได้เสนอตรงนี้ว่าจริงแล้วเกี่ยวกับเรื่องของการตีความ ต้องจัดระดับความสำคัญของรัฐธรรมนูญก่อน อย่างเช่นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ผมทราบมาว่าเวลาศาลตัดสินจะตัดสินด้วยการเทียบเคียงคำตัดสินของศาลฎีกา เพื่อที่จะได้ save คือ save ตัวของผู้พิพากษาด้วย ดังนั้นจึงจะไปค้นหาคำตัดสินในคดีที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

ที่นี้ปรากฏว่าเราเปลี่ยน concept โดยไปตัดสินตามกรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ ผมคิดว่าอันนี้จะต้องยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติด้วย ตรงนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่และน่าสนใจ

สมชาย หอมลออ :
คิดว่าในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คงไม่ต้องรออะไรทั้งสิ้นไม่ว่าจะบอกว่าทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ผมคิดว่าในประวัติศาสตร์มันจะเป็นความจริงได้เมื่อเราได้ลงมือทำ สิ่งนี้ผมคิดว่าต้องยอมรับว่า ประชาชนในระดับรากหญ้าได้มีคุณูปการอย่างมาก ในการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นจริงที่เราเรียกว่า "ภาคประชาชน" ถึงแม้จะต้องเสี่ยงคุกตาราง ถึงขั้นเสี่ยงชีวิตและเสียชีวิตไปก็ตาม ตอนนี้ก็ 20 กว่าคนแล้ว คนเหล่านี้คือคนที่สร้างรัฐธรรมนูญจริง ๆ ได้สร้างตัวบทกฎหมายจริงๆ

ผมเองคิดว่าในส่วนนี้อย่าพึ่งไปหวังอะไรมาก อย่างเช่นในส่วนที่เป็นกลไกอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เพราะว่าทั้งนี้แม้แต่ชาวบ้านที่มาปรึกษาว่า เรื่องนี้จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ ผมก็ตอบว่าถ้าเราไม่มีความพร้อม คือไม่ใช่เรื่องความพร้อมในด้านกฎหมาย แต่ความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งความพร้อมในเรื่องบรรยากาศทางการเมือง ความพร้อมในเรื่องบรรยากาศในทางสังคม ต้องยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหามากในปัจจุบัน หรือแม้แต่ศาลปกครองเองซึ่งได้รับการประเมินจากสาธารณชน จากสื่อมวลชนว่าเป็นองค์กรในด้านความยุติธรรมที่อาจจะดีที่สุดก็ได้

ในหลายกรณีผมก็ยังแนะนำว่า อย่าพึ่งด่วนที่จะฟ้อง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วหากเกิดเป็นบรรทัดฐานในทางที่ไม่ดีขึ้นมา ก็จะเป็นปัญหา อย่างเช่นกรณีไนท์ซาฟารี ต้องคิดให้มากเหมือนกันว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องศาลปกครอง ผมคิดว่าความพร้อมและจุดหลักไม่ควรเน้นเรื่องของคำพิพากษาหรือคำตัดสิน หรือตัวบทกฎหมายว่ามีกฎหมายลูกหรือไม่

เรื่องกฎหมายลูกยกตัวอย่างเรื่องป่าชุมชน ซึ่งผมคิดว่า ประชาชนก็ดี ชุมชนก็ดี ได้พยายามผลักดันโดยใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อ เสนอร่างกฎหมายและใช้ความมานะพยายามอย่างมาก ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกระบวนการในการปลุกความรับรู้และการเรียนรู้ของประชาชน แต่เราอาจจะผิดหวังถ้าเกิดว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านวุฒิสภาไปแล้ว กฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเป็นกฎหมายลูกนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นกฎหมาย ไม่ใช่มารับรองการใช้สิทธิ แต่มาลิดรอนหรือจำกัดการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป แม้กฎหมายการเข้าชื่อ 50,000 ชื่อก็ตาม ผมว่ามุมมองต้องเน้นในส่วนนี้เป็นหลัก

ประเด็นที่ 2 คิดว่า กระบวนการยุติธรรมต้องมีการปรับปรุง เห็นด้วยว่าควรจะเริ่มในแง่กฎหมาย ก็ต้องเริ่มจากมหาวิทยาลัยเป็นต้นไป ส่วนสำหรับศาล อย่างที่ผมเรียนให้ทราบแล้วว่า การประเมินขององค์กรสิทธิมนุษยชนยังให้คะแนนด้านบวกมากกว่า เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น แน่นอนเราไม่ได้ให้คะแนน 100 % แต่เรามีคดี มีคำพิพากษา และบรรทัดฐานหรือคำสั่งของศาลในหลายกรณี ที่คิดว่ามีแนวโน้มไปในทางที่ดี

ยกตัวอย่างคดีที่เกิดเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วนี่เอง ที่อัยการจะทำการสืบพยานไว้ก่อนในคดีตันหยงลิมอ โดยอ้างว่าไม่สามารถให้ความปลอดภัยได้ ไม่เคยมีการส่งฟ้องเลย แต่มีการสืบพยานไว้ก่อนเสมอ ซึ่งเราเองก็คัดค้านในส่วนนี้ไป ซึ่งในการคัดค้านนั้นก็คงต้องพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่รุนแรง สถานการณ์ทางภาคใต้นั้นไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่ปัญหาคือประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมประชาชนไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ดังนั้นเขาต้องการความยุติธรรม ต้องการสันติภาพ ต้องการความสงบ ซึ่งต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

อันนี้เป็นประเด็นเดียวกับที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ชี้ให้รัฐบาลเห็น โดยเหตุโดยผล โดยสถานการณ์ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ศาลก็ไม่อนุญาตให้มีการสืบ ผมคิดว่าการทำงานในแต่ละจุดในกระบวนการนี้ ฐานะที่เป็นรัฐบาลทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ในฐานะประชาชนผู้ทรงสิทธิ ในฐานะนักวิชาการ ก็จะมีความเชื่อว่าถ้าเราได้การทำงานอย่างนี้ โดยหลักการที่ถูกต้องและโดยความประณีต ผมคิดว่าจะมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้น

ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ :
ที่เมื่อสักครู่มีผู้ถามว่ามีตัวอย่างประเทศใดในโลก ผมเรียนว่ารัฐธรรมนูญของไทย มาตรา 27, 28, 29, ก็เอามาจากรัฐธรรมนูญเยอรมัน ถอดแบบมาเลยครับเกิดขึ้นในสังคมไทย กับสิทธิเสรีภาพเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญเยอรมัน เขาใช้รัฐธรรมนูญ 1919 แล้วมาช่วงฮิตเลอร์ ปัญหาของเยอรมันเหมือนกับของไทยก่อนที่เราจะมีรัฐธรรมนูญปี 40 คือสิทธิเสรีภาพเป็นเพียงถ้อยคำที่สวยหรูในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
(มาตรา 27 : สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภาพ คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง)

(มาตรา 28 : บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน…)

(มาตรา 29 : การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศํยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นมิได้…)

พอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เยอรมันเอาเรื่องศักดิ์ศรีความมนุษย์มาเป็นมาตราแรก เพราะอะไรครับ เพราะฮิตเลอร์นั้นได้ไปทำลายล้างคนยิว 6 ล้านคน เขาต้องการเขียนว่า อำนาจรัฐของเยอรมันต่อไปนี้นั้น เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในมาตรา 3 ก็คือมาตราที่ 27 ของไทย ที่เขาเขียนอย่างนี้ก็เพื่อให้มันผูกพันโดยตรง เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยกับประวัติศาสตร์เยอรมันเรื่องสิทธิเหมือนกันครับ ดังนั้น ประเด็น ม. 27 ของเราก็คือมาตรา 1 กับ 2 ของเยอรมัน เพื่อต้องการให้สิทธิเสรีภาพมันมีผลโดยตรง นี่คือประวัติความเป็นมาของมาตรา 27 อันนี้คือประเด็นที่ 1

ประเด็นที่ 2 ท่านต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างนี้ สิทธิเสรีภาพเป็นเพียงปัจจัยแรกที่เราประสบความสำเร็จในเชิงของตัวบทกฎหมาย แต่ทั้งหลายทั้งปวงจะประสบผลสำเร็จต้องมีอีก 2 ปัจจัย ปัจจัยที่ 2 คือเรื่องทัศนะคติของผู้ใช้กฎหมาย ปัจจัยที่ 3 คือวัฒนธรรมในการใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีเพียงปัจจัยแรกเท่านั้น มีตัวบทเข้ามา

แต่เรายังต้องสู้ต่อไปในแง่ของการสร้างทัศนคติในเรื่องสิทธิเสรีภาพและวัฒนธรรมในทางกฎหมาย ซึ่งตรงนี้เองอยู่ระหว่างกระบวนการที่ต้องสร้างตรงนี้ และพี่น้องประชาชนเองมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมกฎหมายเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้ขึ้นไปสู่องค์กรการใช้กฎหมาย ซึ่งไม่มีทัศนคติมุมมองเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผมคิดว่าเรามี 1 คือตัวบทกฎหมายแล้ว แต่เรายังต้องสร้าง 2 กับ 3 ซึ่งต้องใช้เวลานานแค่ไหน

ผมคิดว่าทุกคนต้องมีส่วนในการที่จะสร้างทัศนคติและวัฒนธรรมในทางกฎหมายในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ซึ่งเราก็ทำหน้าที่ในฐานะเป็นนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาล เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในทางกฎหมาย ผมว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา บอกไม่ได้ว่านอกเหนือจากเวลาแล้ว อาจจะชีวิตผู้คนอีกมากน้อยแค่ไหน

ศ.ดร. คณิต ณ นคร :
อ.บรรเจิดก็พูดชัดเจนว่าต้องใช้เวลา นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่เราจะได้มาฟรีๆ ดังนั้น การที่เราจะได้อะไรมาจึงต้องมีการเรียกร้อง ต่อสู้. การที่เราจะได้อะไรมาก็ต้องมีการเรียกร้องต่อสู้ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพผมก็เปรียบเทียบว่ามันไม่ใช่มารถรางเที่ยวสุดท้ายแต่มันตกรถราง แล้วเราก็ต้องไปกระตุ้นมัน มีอีกเยอะในสิ่งที่ไม่เคยทำและเพิ่งทำ แม้กระทั่งในกฎหมายที่เป็นอยู่ ผู้ใช้กฎหมายยังใช้ไม่ถูกก็มี

สมมุติท่านถูกศาลพิพากษาปรับ ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ ศาลก็จะสั่งขังทันทีแทนค่าปรับ ทั้ง ๆ ที่คดียังไม่สิ้นสุด ผมว่าเราไปดูในกระบวนกฎหมายอาญาในมาตรา 29 ว่าผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ปรับถ้าไม่ชำระภายใน 1 เดือน ให้ยึดทรัพย์สินหรือกักขังแทนค่าปรับ กฎหมายที่เป็นอยู่ยังปฏิบัติไม่ถูกเลย และสิ่งที่มันเกิดใหม่ ก็คงนำมาซึ่งปัญหามากมาย …. ของมันดีนะ แต่คนมันไม่เข้าใจ ใช้ไม่ถูก ทัศนคติค่านิยมต่างๆอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นเวทีอย่างนี้ผมว่ามันน่าจะต้องมีบ่อยๆ

อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล :
อย่างที่ อ.คณิตพูดถึงก็คือ จะต้องมีเวทีอภิปรายเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพิ่มความถี่ ความบ่อย เพิ่มความเข้มข้นมากกว่านี้ ในท้ายที่สุดของวันนี้ ในนามของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องขอบพระคุณท่านวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างสูง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายในบ่าสยวันนี้จะได้รับการนำไปขยายผลต่อ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหวังว่าเป็นอย่างนั้น และก็จะนำไปสู่การก่อให้เกิดปัญญา โดยการใช้ความรู้นำการใช้อำนาจ

(คลิกกลับไปอ่าน"พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ(1)"ได้จากที่นี่)


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
300149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ถ้าเราจะบอกว่าศาลนั้นมี 2 อย่าง ได้แก่ "ศาลพิจารณา"กับ"ศาลทบทวน" ทบทวนนั้นคือทบทวนข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายที่ถูกทบทวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงสุดของต่างประเทศจะไม่เป็นศาลพิจารณาสืบพยาน แต่เป็นการตัดสินข้อกฎหมาย
ศาลสูงสุดก็จะเป็นศาลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ บางประเทศก็จะเป็นระบบเปิด ท่านก็คงทราบว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีแค่ 9 คน และเขาจะหยิบคนที่เก่งขึ้นมาเรียกว่าระดับศาสตราจารย์มาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด และศาลสูงสุดของท่านก็มีหน้าที่ชี้ข้อกฎหมาย. ผมคิดว่า ศาลสูงสุดของทุกประเทศ หน้าที่หลักของท่านก็คือมีหน้าที่ต้องอ่านหนังสือ ต้องครองตัวเองให้ฉลาด เพื่อจะไปพิพากษาข้อกฎหมายได้ (ศ.ดร.คณิต ณ นคร)