ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




15-05-2551 (1560)

อย่าตกเป็นเหยื่อยุทธศาสตร์ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง
๒๑ วันอันตราย: ปาก(กา)ฆ่าความสงบ สงครามชิงพื้นที่ความจงรักภักดี (๓)
สมเกียรติ ตั้งนโม: รวบรวมและคำนำ
ข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ร้อน ระวังรวันดาในประเทศไทย

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
บทความต่อไปนี้รวบรวมมาจากข้อมูลหลายแหล่ง ทั้งจดหมายอิเล็กทรอนิก
ข้อมูลจากสื่ออินเตอร์เน็ท หนังสือพิมพ์ บทสัมภาษณ์ และกระดานข่าว ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการศึกษาสถานการณ์ร้อนของประเทศไทยในรอบ ๒๑ วันที่ผ่านมา
(ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายน - ๑๕ พฤษภาคม ๕๑)นับจากกรณีนายโชติศักดิ์และเพื่อน ไม่ยืนใน
โรงภาพยนตร์ จนกระทั่งถึงเรื่องการยั่วยุ ปลุกปั่น ของสื่อมวลชนบางค่ายให้มีการทำร้ายร่างกาย
ตลอดรวมถึงการผูกโยงเป็นทฤษฎีสมคบคิด และแถลงการณ์จากนักวิชาการ และองค์กรสื่อมวลชน
ที่เตือนให้เฝ้าระวังเหตุการณ์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นดั่งโศกนาฏกรรมของประเทศรวันดา ที่มีเหยื่อ
ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาต้องเสียชีวิตถึง ๕ แสนคน ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดีเกี่ยวกับ
ความร้ายกาจของ"สื่อเพื่อความตาย"ต่อหน้าสังคมโลก กรณีประเทศรวันดาสื่อดังกล่าว
ถูกขานนามว่า "วิทยุแห่งความตาย"

เนื่องจากต้นฉบับของบทความนี้มีความยาวกว่า ๘๔ หน้ากระดาษ A4 จึงได้แบ่งการนำเสนอ
บนเว็บเพจออกเป็น ๔ ตอน โดยเรียงลำดับได้ถึง ๒๒ หัวข้อเรื่อง ตามวันเวลาเหตุการณ์เหล่านี้
เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับสถานการณ์ร้อนที่ผ่านมาได้ปรากฎอยู่ทั่วไป
บนสื่อหลายชนิด หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งมาที่ email address ข้างล่างนี้
midnightuniv(at)gmail.com
หมายเหตุ: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอสงวนสิทธิ์ในการตรวจข้อมูลความจริงที่ได้รับ
โดยนักกฎหมายของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก่อนทุกครั้งที่จะมีการนำสเนอเพิ่มเติม


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๖๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อย่าตกเป็นเหยื่อยุทธศาสตร์ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง
๒๑ วันอันตราย: ปาก(กา)ฆ่าความสงบ สงครามชิงพื้นที่ความจงรักภักดี (๓)
สมเกียรติ ตั้งนโม: รวบรวมและคำนำ
ข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ร้อน ระวังรวันดาในประเทศไทย

๑๖. นักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา และนักวิชาการ
กว่า 130 คนลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกประณามพฤติกรรมของสื่อ ผู้จัดการ

(email: จดหมายเวียนส่งถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

บุคคลที่ลงชื่อประณามสื่อ "ผู้จัดการ" มีนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงคณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้มีอดีต ส.ว. กรุงเทพฯ จอน อึ๊งภากรณ์, เรวดี ประเสริฐเจริญสุข (ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน), อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ผู้นำสหภาพแรงงานในภาคสิ่งทอและยานยนต์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ร.ศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ / ผู้ประสานงานจดหมายเปิดผนึก

เราขอประณามพฤติกรรมของสื่อในเครือข่าย ผู้จัดการกรณีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เรา ผู้ลงชื่อท้ายจดหมายนี้ ขอประณามพฤติกรรมของสื่อ ผู้จัดการ ในการยุให้เกิดความรุนแรงกับผู้ที่มองต่างมุม กรณีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในรายการ Metro Life ของวิทยุผู้จัดการ มีการส่งเสริมยุให้ประชาชนเข้าไปทำร้ายร่างกายของผู้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก่อนหน้านั้นสื่อ ผู้จัดการ ได้เปิดเวปไซท์ให้ผู้ที่ส่งเสริมการทำร้ายร่างกายของบุคคลที่ไม่ยอมยืนในโรงภาพยนตร์ และผู้ที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นในการแสดงออกอีกด้วย มีการโฆษณาทั้ง ชื่อ ที่อยู่ และแนะนำให้คนร้ายไปรอดักทำร้ายร่างกาย

การส่งเสริมความรุนแรงต่อผู้ที่มองต่างมุม ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย และเป็นพฤติกรรมคล้ายกับการกระทำของพวกฝ่ายขวาจัดที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙. เราขอเรียกร้องให้ทุกคนที่รักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ร่วมกันบอยคอตสื่อทุกชนิดในเครือข่ายผู้จัดการ. ขอเรียกร้องให้ สมศักดิ์ โกศัยสุข, พิภพ ธงไชย, และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ออกมาประณามการกระทำของสื่อนี้ด้วย

ผู้ร่วมลงชื่อประณามพฤติกรรมของสื่อ ผู้จัดการ
ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก, บังอร แสงงาม รองเลขาธิการสภาแรงงานศูนย์กลางฯ, สิทธิ์ จันทาเทศ ประธานสหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก, ศุกาญตา สุขไผ่ตา ประธานกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิต และใกล้เคียง, วิเชษฐ์ เชยนิ่ม ประธานกลุ่มเยาวชนคนงานแห่งประเทศไทย, ศรีไพร นนทรีย์ นักเคลื่อนไหวแรงงานย่านรังสิต, ไพริน ผ่อนจรุง ประธาน สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมของเด็กเล่น, จะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิเพื่อนหญิง, จรรยา ยิ้มประเสริฐ โคงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.), จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ, ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลดนัย ลินจงรัตน์ นักเคลื่อนไหวสิทธิคนรักเพศเดียวกัน, จันทวิภา อภิสุข นักเคลื่อนไหวสิทธิบริการ Empower, จุมพล อภิสุข ศิลปิน, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุชาดา จักรพิสุทธิ์, ศิริชัย สิงห์ทิศ ผู้ประสานงาน สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ, ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา อาจารย์สายแรงงาน,

มาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิภา ดาวมณี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมเกียรติ ตั้งนโม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา, เจษฎา โชติกิจภิวาท กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ, บาหยัน อิ่มสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, สุชาย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อนุสรณ์ ลิ้มมณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วีระ สมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ทิพย์อักษร มันปาติ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาธรรม, ประสิทธิ์ ค่ายกนกวงศ์ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นิสิตปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชุมพล อุนพัฒนาศิลป์ นิสิตปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ณัฎฐณิชา นันตา นิสิตปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทิพสุดา ญาณาภิรัตน์ นิสิตปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สมสมัย นิมา กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, บุญรอด สายวงค์ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, วิภา มัจฉาชาติ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, รติพร จันทรตรี ประธานสตรีสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าผลิตภัณฑ์หนังฯ, บุญเสริม คำรส กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, ศรุดา ดอนกระโทก กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, วิภร ขวัญศร กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, วาสนา คงหินตั้ง กรรมการสตรีสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าผลิตภัณฑ์หนังฯ, จินตรา ขวานทอง กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, พรมมา ภูมิพันธ์ ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าผลิตภัณฑ์หนังฯ, เซีย จำปาทอง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าผลิตภัณฑ์หนังฯ, อินชวน ขันคำ เลขาธิการกรรมกรปฎิรูป, บรรจง เจริญผล กรรมกรปฎิรูป, สุนทร บุญยอด กรรมกรปฎิรูป, วันชัย แหลมทองหลาง กรรมการสหภาพแรงงานสิ่งทอไทย(พิพัฒน์สัมพันธ์), วสุ แดงสูงเนิน สมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทย(พิพัฒน์สัมพันธ์), รัชดากร คงภักดี สมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทย(พิพัฒน์สัมพันธ์), พรทิพย์ ดีพร้อม สมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทย(พิพัฒน์สัมพันธ์)

มิ่งขวัญ ศรีเลิศ กรรมการสหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก, เสณีย์ พูลสระน้อย เจ้าหน้าที่สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มฯ, ประยงค์ เอมโอด ประธานสหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มฯ, ธนวัฒน์ ปูพบุญ ประธานสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, วิโรจน์ ใกลชิต กรรมการสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, ชุน บุญเชิญ กรรมการสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, นิกร เพ็งมาก กรรมการสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, เพรชรุ่ง พุฒบ้านหลุม กรรมการสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, รัตนา ขันสัมฤทธิ์ กรรมการสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, ชญาดา ศรีวิเสฐ กรรมการสหภาพแรงงานแอมคอร์ประเทศไทย, ประสิทธิ์ ยอดโค้น เลขาธิการสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์, ประวร มาดี กรรมการสหภาพแรงงานไทยอคิริคไฟเบอร์, ชุมพล ภูมิพันธ์ กรรมการสหภาพแรงงานไทยอคิริคไฟเบอร์, นายภูมิวัฒน์ นุกิจ นักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม, ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน, นุ่มนวล ยัพราช โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, เปรมใจ ใจกล้า โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, สุริยา โพธิ์ชัยเลิศ นักสหภาพแรงงาน,

เอกรินทร์ ต่วนศิริ เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิสิตปโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ชารีป สะอิ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดปัตตานี, ซูลกิฟลี ปูต๊ะ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา, อาฟันดี เด็ง สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา, รอมซี ดอฆอ สหพันธ์นิสิตนักศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, อนุธีร์ เดชเทวพร กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุทธิพงษ์ พูนกล้า มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิริภาส ยมจินดา นักศึกษา ป.โท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศัษยา บุรณษถิตย์พร นักศึกษา ป.โท Imperial College, University of London, ศุษม อรรถวิภาคไพศาลย์ พนักงานบริษัท, วิทยา อาภรณ์ นักกิจกรรมภาคประชาชน, พรพรรณ แก้วมุงคุณ, ดำรงพล แสงมณี,ปิยวีร์ รื่นจินดา, อานนท์ ชวาลาวัณย์ นิสิตปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กานต์ ยืนยง, ขวัญระวี หวังอุดม, บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, อดิศร เกิดมงคล, โอภาส ภาสบุตร เครือข่ายพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วม, จริยา พงศ์วิวัฒน์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, วรดุลย์ ตุลารักษ์, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาวสิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์, สายสัมพันธ์ รัตนปรีดากร นักศึกษา interior design, พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์, ปรัชญา สุรกำจรโรจน์, สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี4, นรสิงห์ ศรีโรจน์, พรทิพย์ ธรรมศรีใจ, เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,

ปริณดา มีฉลาด นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, กุสุมา โกศล นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ธัญลักษณ์ จีนแก้วเปี่ยม นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ฤทธิวัฒน์ ทั่งกลาง นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ชโลธร สายทัด นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ฉกาจ ลอยทอง นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ชยา อุทยานิก นักศึกษาปริญญาโท คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ณัฐพร อาจหาญ นักศึกษาปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นที วลัญชพฤษ์ นักศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เอกรินทร์ ต่วนศิริ เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิสิตปโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, สุธัมมะ ธรรมศักดิ์ อดีตนักศึกษานิด้าเพื่อประชาธิปไตย, ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร อดีตนักศึกษานิด้าเพื่อประชาธิปไตย, สันต์ ดอนศรี อดีตนักศึกษานิด้าเพื่อประชาธิปไตย, อารยะ มังกรานนท์ชัย อดีตนักศึกษานิด้าเพื่อประชาธิปไตย, ประกอบ สุทธิกาโมทย์, กานต์ ธงไชย, ขุนกลาง ขุขันชิน, คณิศร ทับทัม, สุภาพร ชัยฤกษ์, จารุวรรณ สาทลาสัย คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ภรทิพย์ มั่นคง กลุ่ม Food Not Bomb, โยฮัน สาตออุมา อดีตนักกิจกรรม มอ.ปัตตานี, นูรุดดี โตะตาหยง อดีตนักกิจกรรม มอ.ปัตตานี

10 พฤษภาคม 2551
พรรคแนวร่วมภาคประชาชน
ตู้ ป.ณ.2049 ป.ณ.ฝ.จุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ 10332

๑๗. สัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งนโม: 3 แนวทางดับวิกฤติ พุ่งเป้าที่ 'ตำรวจ-สื่อ-สถาบันอุดมศึกษา'
โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร / กรุงเทพธุรกิจ
บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ 'กรุงเทพธุรกิจ บิซวีค'และ 'ประชาไท' ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ต่อ
(ชื่อเดิม: รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ห่วงใยจาก ม.เที่ยงคืน กับ 3 แนวทางดับวิกฤติ!)

ไม่แปลกหากจะมีนักวิชาการสักคนออกมาบอกว่า เมืองไทยกำลังจะเกิดวิกฤติถึงขั้น 'นองเลือด' ในเร็ววันนี้ เพราะใครๆ ก็ดูจะมองเห็นและคาดการณ์ไปในทิศทางนั้นทั้งสิ้น แต่หากนักวิชาการคนหนึ่งชี้ว่าวิกฤตการณ์ของสยามประเทศครั้งนี้ยังพอมีทางออก...นั่นย่อมเป็นความเห็นที่น่าสนใจ และจะยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก หากเขาคนนั้นวิเคราะห์ว่า วิกฤติที่ฝุ่นตลบอยู่ ณ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งคือการปั่นสถานการณ์!

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีและผู้ก่อตั้งเวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชำแหละปมน่าคิดดังว่านี้. "สถานการณ์ในช่วงนี้ค่อนข้างซับซ้อน ผมมองว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติไม่น่าจะมี เพราะมีการไกล่เกลี่ยเรื่องผลประโยชน์ของฝ่ายทุนทั้งสองฝ่ายค่อนข้างชัดเจน แต่ที่เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งผมอยากเรียกว่า 'กลุ่มผู้จัดการ' มากกว่า คือกลุ่มนี้พยายามสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง"

รศ.สมเกียรติ วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ที่เป็นเงื่อนไขและจะนำไปสู่การปะทะกันจริงๆ คือการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ว่าเป็นกลุ่มจัดตั้ง ฉะนั้นแนวโน้มการปะทะจึงอาจเกิดขึ้นได้ หากตำรวจซึ่งรับผิดชอบการรักษาความสงบเรียบร้อยยังเพิกเฉยที่จะทำหน้าที่. "คนที่มาชุมนุมกันมันไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ถ้าการชุมนุมเริ่มมีปฏิกิริยารุนแรงซึ่งเริ่มจะผิดกฎหมาย ตำรวจต้องอย่าเอามือไพล่หลัง กรณีแบบนี้ถ้าเราจัดการไปตามกฎหมาย และช่วยกันสืบหน่อยว่าใครอยู่เบื้องหลังการจัดตั้ง แล้วจัดการไปตามกฎหมาย ผมคิดว่าจะบรรเทาลงไปได้ในระดับหนึ่ง" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ระบุ

นอกจากบทบาทของตำรวจในฐานะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองแล้ว องค์กรวิชาชีพสื่อก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่ รศ.สมเกียรติ เรียกร้องให้แสดงบทบาทเสียที. "เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็ตรงกับที่หลายๆ คนขนานนามผู้จัดการว่าเป็นดาวสยามยุคใหม่ (หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ถูกระบุว่าเป็นผู้จุดประกายความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ผมเข้าใจว่าวิธีการทางกฎหมายค่อนข้างจะจัดการได้ยากกับการเขียนยั่วยุ ฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่สื่อหรือองค์กรวิชาชีพสื่อควรจะต้องออกมา อาจจะออกแถลงการณ์บางอย่าง เพื่อปรามสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการปรามโดยกลุ่มสื่อด้วยกันเอง ไม่ใช่ปล่อยให้มีนักเลงโตจากค่ายใดค่ายหนึ่งใช้ช่องทางสื่อยั่วยุ แล้วทำให้สังคมเกิดความไม่แน่นอน พร้อมจะก้าวไปสู่ความรุนแรงในอนาคต"

อีกด้านหนึ่งคือสถาบันอุดมศึกษาซึ่ง รศ.สมเกียรติ ก็ตั้งความหวังไว้ไม่น้อยเช่นกัน. "ผมอยากเน้นไปถึงสถาบันอุดมศึกษาที่สอนทางด้านสื่อสารมวลชน สถาบันเหล่านี้จะอยู่เฉยไม่ได้กับการที่สื่อกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อกระแสความรุนแรงในอนาคต เพราะผมมองว่านี่คือความขัดแย้งส่วนตัว อาจจะระหว่างคุณสนธิ (สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) กับคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือจะใครก็ตามแต่ ฉะนั้นสถานการณ์แบบนี้จึงสามารถคลี่คลายได้"

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สรุปว่า หนทางที่จะก้าวพ้นวิกฤติในความเห็นของเขามีอยู่ 3 แนวทาง คือ

1. ตำรวจอย่าเอามือไพล่หลัง
2. องค์กรสื่อด้วยกันต้องมีแถลงการณ์ปรามบทบาทของกลุ่มผู้จัดการ และ
3. สถาบันอุดมศึกษาที่สอนทางด้านสื่อต้องขับเคลื่อน เพื่อไม่ให้สื่อสารมวลชนถูกใช้ไปในทางที่จะสร้างความหวาดกลัวในอนาคต

กับเงื่อนไขความรุนแรงในอีกมิติหนึ่ง ว่าด้วยการดึงเอาสถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือในการป้ายสีกัน และถูกนำเสนออย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่จงรักภักดี, กรณีธงชาติปักชื่อ THAKSIN, คดีของ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง, รวมถึงการนำเสนอสกู๊ปข่าวที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์) นั้น รศ.สมเกียรติ มองว่า ทั้งหมดเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory). "เขากำลังใช้เงื่อนไขที่เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน แต่นำมาถูกผูกโยงให้เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นทฤษฎีสมคบคิด ฉะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีวิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสาร ต้องวิพากษ์วิจารณ์ และต้องรู้เท่าทัน"

"ถ้าไปดูเวบไซต์บางเวบ เช่น พันทิป หรือประชาไท จะเห็นว่าเวลาพันธมิตรออกมาบนท้องถนน ธงชาติเป็นอย่างไร ตรงนั้นหายไปไหน เรื่องนี้จึงชัดเจนว่าเป็นการหยิบเอาปรากฏการณ์บางอย่างมาเสนอ แล้วเก็บปรากฏการณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ จริงๆ มันก็คือวิธีการสร้างเรื่องให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายที่สร้างเรื่องนั่นเอง" รศ.สมเกียรติ ย้ำ

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิชาการผู้นี้ เห็นว่าเงื่อนไขที่แท้จริงซึ่งไม่ได้ถูกปลุกปั่นหรือสร้างขึ้นมา และน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในห้วงเวลานี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากปล่อยให้พรรคพลังประชาชนเป็นผู้ยกร่างแก้ไขทั้งฉบับ จะนำไปสู่ปัญหาแบบไม่รู้จบ เขาเสนอว่า รัฐบาลควร 'ถอดสลัก' รัฐธรรมนูญ ด้วยการเปิดใจกว้างให้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 ชุด เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะกรรมการอิสระที่ว่านี้จะต้องไม่ฝักใฝ่หรืออิงแอบผลประโยชน์ทั้งด้านการเมือง ธุรกิจ หรือเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมา

"สิ่งที่ผมคาดหวังก็คือว่า กลไกการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จภายใน 1 ปีครึ่งข้างหน้า จากนั้นก็นำมาลงประชามติ โดยก่อนลงประชามติต้องมีบรรยากาศของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน แล้วกลับไปแก้ไขอีกรอบหนึ่ง จากนั้นจึงส่งให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่าง"

แม้ข้อเสนอของ รศ.สมเกียรติ ดูจะเป็นไปได้ยากยิ่งในรัฐบาลที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้า แต่เขาก็ชี้ชวนให้มองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อสังคมกดดันให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปการเมืองขึ้นมา และนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ได้ในที่สุด. "จริงๆ คุณบรรหารก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเลย แต่เป็นเพราะกระแสธงเขียวเกิดขึ้นทั่วประเทศ ฉะนั้นเงื่อนไขจึงอยู่ที่กระแสของประชาชน ถ้าปล่อยให้พรรคพลังประชาชนแก้รัฐธรรมนูญไปฝ่ายเดียว ในอนาคตย่อมเกิดการแก้กันไปมาไม่รู้จบ กระทั่งรัฐธรรมนูญขาดโครงสร้างที่เป็นหนึ่งเดียว และจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับขาดวิ่น"

"ผมอยากให้เกิดบรรยากาศแบบปี 2539 ที่ธงเขียวชูทั่วประเทศ ถ้าวันนี้จะมีกลุ่มที่รื้อฟื้นกรณีแบบธงเขียวขึ้นมา แล้วเริ่มโบกธงกัน ก็จะส่งสัญญาณให้รัฐบาลรู้ว่าคุณไปต่อไม่ได้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ฉะนั้นประชาชนต้องออกมาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้น ผมไม่เคยสิ้นหวังกับเรื่องเหล่านี้ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องระยะยาว เราต้องต่อสู้เพื่อให้เขยิบก้าวไปสู่ประชาธิปไตยทีละก้าว และเราก็ทนรอไหว"

ส่วนคำอธิบายของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ว่ารัฐบาลคือตัวแทนประชาชนคนไทย จึงมีสิทธิแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รศ.สมเกียรติ แย้งว่า ข้ออ้างนี้เป็นความจริงแค่ไหน รัฐบาลตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่ เช่น พรรคพลังประชาชนมีตัวแทนจากภาคใต้กี่คน ส.ส.คนไหนที่เป็นตัวแทนกลุ่มเกย์ เป็นตัวแทนคนชรา หรือเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิงในประเทศไทย ฉะนั้นความเป็นตัวแทนที่รัฐบาลอ้างเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชี้ด้วยว่า เงื่อนไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขที่น่าห่วงใยที่สุด เพราะการผ่านรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่โดยรัฐสภา จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกกฎหมายไปเลย ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อยากให้มีการลอดช่องกฎหมายเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยถูกกฎหมายซึ่งไม่ใช่ฉบับประชาชนที่แท้จริง

"หากมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะถอดสลักได้ทั้งความรุนแรงและความไม่ชอบธรรมได้ พลังที่จะมาเสี้ยมเขาให้ชนกันก็จะยุติลง เพราะหลังจากลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว ย่อมไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะมาอ้างเพื่อชุมนุมต่อ ผมคิดว่าเงื่อนไขมันจะจบ" และนั่นจะเป็นตอนจบของวิกฤติที่น่าจะเป็นความคาดหวังของคนไทยส่วนใหญ่เช่นกัน!

๑๘. แถลงการณ์สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ
เรื่อง ขออภัยต่อกรณีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการจัดรายการ
(รับมาจากอีเมล์นักข่าว และเผยแพร่ต่อบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 8068)
http://midnightuniv.tumrai.com/forum/index.php/topic,8068.0.html

ตามที่มีการกล่าวหาว่า รายการ Metro Life ของวิทยุผู้จัดการ มีการส่งเสริมยุให้ประชาชนเข้าไปทำร้ายร่างกายของผู้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ จึงขอแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนต่อกรณีที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ประการแรก จากการตรวจสอบของสถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ พบว่า ข้อความตามที่ถูกกล่าวหานั้น มีมูลความจริง และเป็นคำพูดจากผู้ดำเนินรายการคนหนึ่งในรายการ Metro Life

ประการที่สอง สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ ขอปฏิเสธว่า คำพูดดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นนโยบายของทางสถานี และไม่ได้เป็นการดำเนินการที่เป็นขบวนการ หากแต่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยปัจเจกบุคคล ในฐานะผู้ดำเนินรายการเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายสื่อในเครือผู้จัดการ หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตามที่มีความพยายามหยิบยกประเด็นดังกล่าวเพื่อขยายผลทางการเมืองแต่ประการใด

ประการที่สาม สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ มีความเชื่อบนพื้นฐานของข้อมูลโดยบริสุทธิ์ใจว่า การกระทำที่จาบจ้วง และคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้เกิดขึ้นเป็น "ขบวนการ" ต่างกรรมต่างวาระอย่างชัดเจน ทั้งปรากฏในรูปการนำเสนอผ่าน เว็บไซต์, ใบปลิว, การกระทำผ่านสื่อสารมวลชน, แผ่นซีดี, นิตยสาร ฯลฯ ที่ปราศจากการแก้ไขและดำเนินการใดๆ จากภาครัฐ

นอกจากนี้ "ขบวนการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" กลับอำพรางแฝงเร้นตัวเองอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนักสื่อสารมวลชน นักวิชาการ และนักการเมือง ที่ไม่กล้าแสดงตัวชัดเจน เพราะทราบดีอยู่แก่ใจว่า ตัวเองนั้นเป็นคนส่วนน้อยในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มีความเคารพ รัก และเทิดทูนสถาบันนพระมหากษัตริย์ อย่างหาที่สุดมิได้

สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ จึงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชนชาวไทย และผู้ดำเนินรายการทุกคนที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จะปกป้อง พิทักษ์รักษา สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พ้นจากภัยคุกคามในครั้งนี้ภายใต้กรอบของกฎหมาย และเรายอมรับว่า การดำเนินการของผู้ดำเนินรายการ Metro Life ที่กระทำไปเพราะรู้ไม่เท่าถึงการณ์และเกินกรอบของกฎหมายไปนั้น เป็นความผิดพลาด แต่ก็ได้กระทำไปด้วยเจตนาแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

ประการที่สี่ สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ ขอแสดงความเสียใจและขออภัยจากคำพูดที่ไม่เหมาะสมในรายการ Metro Life ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ และผู้ดำเนินรายการคนดังกล่าว ต่างเห็นชอบพร้อมใจกันที่จะแสดงความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยุติการจัดรายการ Metro Life ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2551 และเพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสเพื่อทำลายการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่บริสุทธิ์ในช่วงระยะเวลาที่อ่อนไหวเช่นนี้

ประการที่ห้า สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ ขอประกาศว่า จะยืนอยู่ฝ่ายที่ต่อต้านขบวนการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกรูปแบบตามรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และประชาชนโดยทั่วไป ได้ช่วยกันตรวจสอบขบวนการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง ตลอดจนแสดงความกล้าหาญในการที่จะประกาศจุดยืนต่อสถานการณ์ดังกล่าวให้มีความชัดเจน

ประการที่หก สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ ขอเรียกร้องให้กลุ่มนักวิชาการทั้งหลายที่ได้ตรวจสอบสถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ นั้นอย่าได้ละเลยการตรวจสอบสื่อสารมวลชนในระบอบทักษิณ เช่น สถานีวิทยุชุมชน คนแท็กซี่ 92.75 MHZ และวิทยุชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีพฤติกรรมในการยุยง คุกคาม ให้ทำร้ายร่างกายประชาชนที่สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเช่นเดียวกัน

ขอแสดงความนับถือ
สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ

๑๙. สัมภาษณ์ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล / รายการเช้าทันโลก FM 96.5 MHz
http://radio.mcot.net/fm965/__programView.php?cliptype=40
7-8 พฤษภาคม 2551

ชื่อของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถานอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏขึ้นคู่กับชื่อของ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวาศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแถลงการณ์สั้นๆ ฉบับหนึ่งที่ระบุถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของสื่อมวลชนหากแต่ไม่ได้เอ่ยนามใด เป็นแถลงการณ์ที่ออกมาในช่วงเวลาที่แหลมคมพอสมควร เพื่อเตือนสติถึงการทำหน้าที่สื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่พร้อมจะนำพาทุกอย่างไปสู่ความรุนแรงได้ไม่ยาก (ชัยวัฒน์- อุบลรัตน์ ส่ง จม.เปิดผนึกถึงสื่อ- องค์กรสื่อ หยุดคุกคามความคิดที่แตกต่างhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/12078)

แถลงการณ์ฉบับนั้นอาจไม่ใช่ข่าวเด่นดังอะไรมากมาย แต่สั่นสะเทือนวงการสื่อได้อย่างสำคัญ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการเช้าทันโลก ได้สัมภาษณ์อาจารย์ชัยวัฒน์ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม เพื่อขยายความวิธีคิด วิธีมองสื่อและสถานการณ์ปัจจุบันของอาจารย์ท่านนี้ว่ามีปัญหาและความล่อแหลมอย่างไร

กรรณิการ์ : พูดถึงสื่อมวลชนกับความรุนแรง สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างไรกับความรุนแรง กระตุ้นหรือทำให้ความรุนแรงลดน้อยลง ?

รศ. ชัยวัฒน์ : เล่านิดหนึ่งเพราะเห็นเกริ่นเรื่องจดหมาย ผมสอนวิชาความรุนแรงกับสันติวิธีที่ธรรมศาสตร์ และทำงานกับอาจารย์อุบลรัตน์เรื่องสื่อเพื่อสันติภาพมานานมากแล้ว ในภาคการศึกษาที่ผ่านมาก็สอนวิชาเกี่ยวกับความขัดแย้งความรุนแรงในระดับนานาชาติ และอ่านเอกสาร หนังสือใหม่ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงที่เขาพิมพ์กันในระยะหลัง ที่น่าสนใจคือ คำถามเขาเปลี่ยนไป เขาถามว่าในประเทศต่างๆ ที่เกิดความรุนแรงแบบสุดๆ ไปเลย คนทำเป็นอย่างไร

แต่เดิมเราไปสนใจตัวเหยื่อ แต่ตอนนี้เขาเริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า perpetrator หรือตัวคนทำ และยังถามต่อไปว่าอะไรเป็นสาเหตุให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงแบบที่นึกไม่ถึง โจทย์ที่เขาถามนั้นถามถึงคนธรรมดาๆ ที่มีเงื่อนไขอะไรทำให้อยู่ดีๆ ลุกขึ้นมาเป็นฆาตกรฆ่าคนอื่นได้ เห็นเพื่อนบ้านซึ่งอยู่กันมาแต่เล็กแต่น้อยเป็นคนอื่น แล้วกระทำความรุนแรงได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศรวันดาเมื่อปี 1994 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

พอตอบเรื่องสื่อ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่า ในรวันดาปี 2003 ศาลอาญาระหว่างประเทศของรวันดา ตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้ตัดสินลงโทษคน 3 คน ซึ่งเป็นผู้ประกาศสถานีวิทยุ 2 คน และเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ 1 คน ข้อหาคือ มีความผิดฐานยุยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็เลยเกิดคำถามว่า ตกลงสื่อทำอะไร คำถามนี้น่าสนใจ เพราะสื่อในการศึกษาแม้แต่ในประเทศรวันดาเอง ถ้าใครบอกว่าสื่อเท่านั้นทำให้เกิดความรุนแรง อันนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ตรงกับหลักทฤษฎี แต่ถ้าบอกว่าสื่อมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงระดับนั้น อันนี้เป็นไปได้

สื่ออาจจะไม่ใช้ตัวแกนหลัก แต่เป็นตัวเร่งให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น พูดอย่างนี้ได้ไหม ?

อาจจะบอกไม่ได้ว่าเป็นตัวแกนหรือไม่ แต่พูดได้ว่าสื่อไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิด ทีนี้เขาไปสัมภาษณ์ในรวันดา ต้องเล่าก่อนว่าในรวันดาตอนนั้น ภายในเวลา 2 เดือนเกิดการฆ่ากันอย่างขนานใหญ่ ระหว่างคนฮูตูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กับชาวตุ๊ดซี่ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจปกครอง มีประมาณ 15% ของประชากร ภายใน 2 เดือนชาวฮูตูลุกมาฆ่าคนตุ๊ดซี่ตายไปครึ่งล้าน อาวุธที่ใช้น่าสนใจมาก บางอันเป็นมีดพร้าสั่งมาจากเมืองจีน นั่นหมายความว่า อาวุธเหล่านี้มันไปอยู่ในมือของชาวบ้านธรรมดาแล้วเปลี่ยนคนเหล่านั้นให้เป็นฆาตกร

เขามีการไปสัมภาษณ์คนทำว่า สถานีวิทยุทำให้คุณจับอาวุธไปฆ่าคนอื่นหรือเปล่า คนทำประมาณ 15% บอกว่าใช่ 85% บอกไม่ใช่ ที่น่าสนใจคือ สื่อมันมีส่วนแน่ ระดับหนึ่ง แล้วก็ยังมีคำถามประเภทว่า ตอนที่ทำคิดว่ากำลังทำเพื่อชาติหรือเปล่า ไอ้การที่จับอาวุธไปไล่ฆ่าเพื่อนบ้าน คำตอบ 42.5% บอกว่าใช่ ทำเพื่อชาติ

แล้วเขารู้ได้ยังไงว่าทำเพื่อชาติ สื่อบอกเขาอย่างนั้นหรือ ?

ก็ต้องเข้าไปดูว่าตกลงสื่อเขาพูดอะไร ผมจะอ่านบันทึกของสถานีวิทยุบางแห่งให้ฟัง สถานีวิทยุพูดไว้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1994 พูดว่า "พวกท่านจะต้องยืนหยัดให้มั่นคง จะต้องต่อสู้กับศัตรูเหล่านี้ ต้องทำลายให้สิ้นซาก พูดง่ายๆ ต้องป้องกันตัวเอง"

"ทหารนักรบชาวรวันดาทั้งหลายต้องต่อสู้กับศัตรูร่วม ศัตรูร่วมของเราคือคนคนเดียวกันนี่แหละ คนที่พยายามทำ...." ผมขอไม่พูดบางอันเพราะไม่เหมาะสม "กระทรวงกลาโหมของรวันดาขอให้ชาวรวันดาในสิ่งต่อไปนี้ พลเมืองทุกคนต้องทำงานร่วมกัน คอยดูแลสอดส่องพื้นที่ และต่อต้านต่อสู้กับศัตรูของเรา"

อันนี้ออกมาชัดเจนว่าเรียกร้องให้ทำอะไร แล้วก็พูดต่อไปในสถานีวิทยุเดือนพฤษภาคม "ใครก็ตามที่ไม่มีบัตรประจำตัว ควรจะถูกจับและอาจจะตัดหัวที่ตรงนั้น". "เราจะต้องมีบัตรประจำตัวของเขา บอกว่าเขาเป็นชาวรวันดา บอกว่าเขาเป็นลูกของเกษตรกร และไม่ใช่ศัตรู และไม่ใช่ผู้สมรู้ร่วมคิดกับศัตรู และไม่ใช่ อิงโคตัน ก็คือ อีกฝ่ายหนึ่ง"

ในการศึกษาเรื่องความรุนแรง หนังสือซึ่ง Allan Thompson เป็นบรรณาธิการเมื่อปีที่ผ่านมา อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แกวิจารณ์งานนี้ไว้น่าสนใจมาก โดยสรุปก็ถามว่าสื่อได้ทำหน้าที่อะไร อย่างหนึ่งคือ สื่อทำหน้าที่จงใจแพร่กระจายความเกลียดชัง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด จนสถานีวิทยุนี้ถูกเรียกในรวันดาว่า วิทยุแห่งความตาย

อันนี้คือคนที่เป็นตุ๊ดซี่ใช่ไหม ?

คนที่เป็นฮูตู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ใช้สถานีวิทยุนี้เป็นเครื่องมือแล้วตั้งเป้าไปที่คนส่วนน้อย ถ้าคุณจำหนัง "โฮเตล รวันดา" ได้ จะเรียกอีกพวกหนึ่งว่าเป็น "แมลงสาป" คือ วาดภาพอีกฝ่ายให้น่าเกลียด เวลาเราเรียกอีกฝ่ายว่าเป็นแมลงสาป คนทรยศ คนไม่รักชาติ หรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้คนเหล่านี้น่ารังเกียจ ไม่ใช่มนุษย์ อีกส่วนหนึ่งที่ทำคือ สถานีวิทยุจะคอยรายงานว่าพวกตุ๊ดซี่จะสังหารหมู่ชาวฮูตูแล้ว จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว วาดภาพอีกฝ่ายให้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว นี่คือสิ่งหนึ่งที่สื่อทำ

สิ่งที่สองคือ สื่อทำหน้าที่ประสานงานความรุนแรงระหว่างนักการเมืองสุดโต่งบางพวก กับเครือข่ายของเขา เขาไม่ได้ทำหน้าที่รายงาน แต่เป็นศูนย์บัญชาการในเวลาเกิดเหตุ ส่วนการเรียกแมลงสาปอะไรนั่นทำมาเป็นเวลานาน แล้วพอถึงวันจริงเปิดสถานีนี้ก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ที่สำคัญ สื่อทำหน้าที่ชี้ให้สาธารณชนเห็นว่าความรุนแรงเป็นทางออก แล้วไปจำกัดทางเลือกแบบอื่น โดยเฉพาะทางเลือกสันติวิธี ให้เห็นว่าทางเลือกกลายเป็น ถ้าพูดในภาษาที่รายงานวิจัยนี้เสนอก็คือ ต้องฆ่าหรือต้องถูกฆ่า ฉะนั้น คนก็ไม่มีทางเลือก

ที่น่าสนใจ คือสิ่งที่ผมเล่าไม่ได้เกิดในรวันดาอย่างเดียว ในโลกนี้เกิดอะไรแบบนี้มากในหลายที่ ยกตัวอย่างเมื่อปี 1966 ก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในในไนจีเรีย เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอีโบ แล้วคนภาคเหนือก็พูดถึงชาวอีโบเป็นไส้เดือน กิ้งกือ เป็นอาชญากร เป็นคนขูดรีดทางการเงิน เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะไม่รักไนจีเรีย ไม่มีวัฒนธรรม อะไรต่อมิอะไร ข้ามไปสมัยก่อน ฮิตเลอร์ก็ทำแบบนี้ เขาเขียนอย่างนี้เลย นี่เราพูดถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นะ เขาบอกว่า "ชาวยิว ดูจากภายนอกก็รู้แล้วว่าไม่ชอบน้ำ แล้วปิดตาก็รู้เลย เวลาได้กลิ่นคนพวกนี้ ฉันรู้สึกปั่นป่วนมวนในท้อง" ในกรณีฮิตเลอร์กับยิวแตกต่างกันในชาติพันธุ์เห็นได้ชัด แต่กรณีอื่นๆ ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น ดูหน้าตาแทบบอกไม่ได้ว่าฝ่ายไหน

ฉะนั้นแปลว่า มนุษย์สามารถถูกกระตุ้นให้เกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งได้มากขนาดถึงขั้นจะใช้ความรุนแรง ในกระบวนการนี้ที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์ น่าสะพรึงกลัว สื่อมีบทบาทแน่

อาจารย์เห็นอะไรในสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทย อาจารย์ถึงเขียนจดหมายฉบับนี้ ?

ผมเห็น 2 อย่าง
1. อันที่จริงใครๆ ก็เห็นว่าเวลานี้มีลักษณะแบ่งขั้วมากขึ้น การแบ่งขั้วหรือความแตกต่างทางความคิดอันเป็นลักษณะสามัญ แต่การแบ่งขั้วแล้วทำให้ฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกับเราเป็นฝ่ายชั่วร้ายมันเริ่มจะเป็นปัญหา และมันปรากฏให้เห็นในหลายๆ ที่ และทำกันหลายฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บางฝ่ายอาจทำมากกว่าบางฝ่าย

2. ในงานวิจัยที่ผมทำเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยตลอดมา และในฐานะเมธีวิจัยอาวุโสของ สกว.ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมไทยในปีที่ 2 สิ่งที่อยากนำเสนอคือ อยากจะเตือนให้สังคมไทยคิดว่า สังคมเราไม่ได้ต่างจากสังคมมนุษย์ที่อื่น บางทีเราชอบคิดว่าสังคมไทยไม่มีวันเกิดเหตุแบบนี้ เราชอบคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้ดีหรือเลวกว่าคนอื่น หมายความว่า ในแง่ของความรุนแรง เราก็มีร่องรอยในทางสังคมวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความรุนแรงและเอื้อต่อสันติวิธีเหมือนกัน ปัญหามันจึงอยู่ที่ว่า ร่องรอยหรือรากฐานเหล่านี้มันถูกกระตุ้นเร้าหรือไม่ ถ้ามันไปผลักอันหนึ่ง กดอีกอันหนึ่ง อย่างที่ผมว่า ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่ลดทอนทางเลือกของสังคมไทย บอกว่าไม่มีทางเลือกแล้วอย่างที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ หรือเคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในสังคมของเราเองในอดีต มันก็จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงให้ง่ายขึ้น

อาจารย์เห็นว่าสื่อกำลังลดทอนทางเลือกในสังคมไทยอยู่ ยังไงบ้าง ?

ถามว่าสื่อที่จะเอื้อให้เกิดความรุนแรงทำอะไรบ้าง ผมคิดว่า สื่อที่เอื้อต่อแนวทางความรุนแรง และลดทอนแนวทางสันติวิธี ทำอยู่ 3-4 อย่าง คือ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นปีศาจ สังคมมันมีความขัดแย้งอยู่แล้ว ทั้งความขัดแย้งใหญ่และความขัดแย้งย่อย ในบ้านเมืองของเราหลายปีที่ผ่านมาความขัดแย้งมันเป็นความขัดแย้งใหญ่ในทางการเมือง และสั่นสะเทือนคำถามสำคัญๆ หลายเรื่องในบ้านเมืองของเรา รวมทั้งขณะนี้เรื่องจะแก้กติกาหรือไม่แก้ การแก้ไม่แก้มันมีความหมายอื่นด้วย มันมีปัญหาความชอบธรรมของหลายสิ่ง มันผูกพันเราทุกคน แต่ในความขัดแย้งนี้เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง สื่อบางอันทำหน้าที่เปลี่ยนคู่ตรงข้ามให้เป็นศัตรู แล้วทำให้ศัตรูกลายเป็นอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์

อีกอย่างหนึ่งที่สื่อทำ คือ พอทำแบบนี้มันไปซ่อนปัญหาหรือความอยุติธรรมในเชิงโครงสร้างไว้เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ หมายความว่า ปัญหาจริงๆ ในบ้านเมืองอาจไม่ได้มาจากคนซึ่งก่อเรื่องแบบนี้ แต่มันมาจากปัญหาจริงๆ ซึ่งมีอยู่ สื่อก็ทำหน้าที่บดบังสิ่งเหล่านี้ สมมติบอกว่า ฝ่ายตรงข้ามมันเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นตัวก่อเรื่อง แต่ปัญหาจริงๆ มันอาจจะมาจากอย่างอื่นก็ได้ คนชนบทอาจจะคิดอีกอย่าง หรือมันอาจจะต้องการการดูแลแก้ไขปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็ได้ แล้วก็มองเห็นว่ามีคนบางคนกุมปัญหาชักใยอยู่ ผมไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนพวกนั้น แต่ที่สำคัญคือ คนพวกนั้นไม่รู้จะชักใยได้จริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาจริงๆ ในบ้านเมือง

ตอนนี้สิ่งที่อาจารย์เห็น สื่อมวลชนไทยกำลังทำอะไร ทำให้อาจารย์คิดว่ามันอาจนำไปสู่ความรุนแรง ?

ผมคิดว่าคงต้องประเมินสถานการณ์ของสังคมไทยหน่อยว่า ตอนนี้อยู่ตรงไหนของปัญหาต่างๆ บางทีเวลาผมสอนหรืออธิบายที่อื่น ก็อธิบายว่า มันมีความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงหลักอยู่หลายเรื่องในประเทศนี้ ยกตัวอย่าง เรื่องภัยธรรมชาติซึ่งก็เป็นปัญหา เวลาสื่อมวลชนทำงานเรื่องภัยธรรมชาติก็เป็นแบบหนึ่ง เวลาเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง คำถามก็คือสื่อมวลชนควรทำหน้าที่อย่างไรในเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง มันคล้ายกับ ในสงครามอิรักที่ผ่านมา นักข่าวของสหรัฐอเมริกา เข้าไปทำข่าวสงครามในลักษณะที่เรียกว่า ฝังตัว แต่คำถามง่ายๆ ของผมก็คือ ฝังอยู่ข้างไหน ซึ่งในแง่ความปลอดภัย และความที่เป็นนักข่าวฝรั่งก็ต้องฝังตัวอยู่ข้างกองทัพอเมริกัน เมื่อฝังตัวอยู่ข้างนั้น อะไรคือภาพที่นักข่าวเห็น

ก็จะเป็นภาพที่กลุ่มก่อการร้ายสร้างความวุ่นวาย แล้วรัฐบาลอเมริกันก็ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือ

คือมันจะเห็นภาพสงครามอิรักในด้านหนึ่ง เวลารายงานข่าวมันก็เป็นข้อความจริงบางอย่างที่ออกมาจากสถานการณ์สงคราม ฉะนั้น รายงานส่วนใหญ่ที่จะเห็นก็คือ ฝั่งทหารอเมริกันถูกยิง แต่ประเด็นของมันคือ พออยู่แนวหน้าเห็นละเอียด อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ข้อเท็จความจริงที่เห็นจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยที่สื่อพยายามจะรายงานสิ่งต่างๆ อย่างที่เห็นมันยังมีคุณภาพในแง่นี้เลย คือ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความจริง ยิ่งกว่านั้น ถ้าสื่ออยู่ในสภาพที่เป็นฝักฝ่ายของการต่อสู้ครั้งนี้ในสงครามนี้ สิ่งที่จะเห็นยิ่งเป็นภาพเดียวหนักเข้าไปใหญ่ ฉะนั้น ถ้าพูดถึงรูปธรรมที่สุดอย่างจำนวนคนเจ็บ ก็จะเห็นแต่จำนวนของทหารอเมริกัน แต่ลูกเล็กเด็กแดงในอิรักที่ตายเป็นแสนมันไม่ได้ปรากฏเท่าไหร่ อันนี้คือสภาพคล้ายๆ กัน

สมมติสังคมไทยเรายังไม่ได้อยู่ในภาพสงคราม เป็นเพียงสภาพความขัดแย้ง แต่ก็เป็นความขัดแย้งสำคัญๆ หลายเรื่อง เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าเราบอกว่าความขัดแย้งทางการเมืองนี้ได้แบ่งคนในสังคมไทยออกเป็นฝักฝ่ายพอสมควร อย่างน้อยก็ซึมมาเป็นเวลาสี่ห้าปี คำถามของผมก็คือ สื่อในสภาพของการแบ่งแยกฝักฝ่ายควรทำหน้าที่อย่างไร ส่งเสริมการแบ่งแยกฝักฝ่ายนี้ หรือพยายามจะทำหน้าที่ในอีกลักษณะหนึ่ง

แล้วตอนนี้สื่อทำอะไรอยู่ ?

อันนี้ผมตั้งข้อสังเกต คนในสังคมไทยคงต้องถามว่า สื่อทำหน้าที่อย่างไรอยู่ในสถานการณ์นี้ มันอาจจะตอบง่ายๆ ก็ได้ คล้ายๆ บอกว่าไม่ควรเป็นฝ่ายที่เลือกข้าง ถ้าย้อนไปในการศึกษาที่พูดถึงในช่วงต้น เวลาที่บอกว่าสื่อมีผลต่อความรุนแรง เราไม่ได้หมายความว่าสื่อเป็นเหตุของความรุนแรง แต่ถามว่าสื่อมีส่วนไหม คำตอบคือ มี. มีเท่าไหร่ ในบางกรณี อย่างในรวันดาที่มีการสัมภาษณ์กันระบุว่า 15% เชื่อสื่อ อีก 40% เชื่อว่าตนเองทำในสิ่งที่ถูก ซึ่งก็น่าจะมาจากการฟังสื่อมากๆ เหมือนกัน คำถามคือ แล้วสื่อที่ก่อให้เกิดความรุนแรงทำอะไรบ้าง เพื่อจะมาดูว่าในสังคมไทยสื่อเป็นแบบนั้นไหม ผมอยากชวนให้ท่านผู้ฟังตรวจสอบเอง คือ

1. สื่อแพร่กระจายความเกลียดชังอย่างตั้งใจหรือไม่
2. สื่อเป็นตัวประสานให้ใช้ความรุนแรง ระหว่างนักการเมืองกับเครือข่ายของตัวหรือเปล่า อันนี้จะเป็นสถานการณ์ในระหว่างที่เกิด ตีกัน สู้กันแล้ว คนไม่รู้จะหันไปไหนก็เปิดวิทยุฟัง ย้อนไป 30 ปี ก็มีสถานีวิทยุบางแห่งทำแบบนี้
3. สื่อทำให้สังคมไทยหมดทางเลือกหรือเปล่า

เราก็รู้กัน ว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรายงานความจริง หรือข้อเท็จจริงในสังคม อาจารย์บุญรักษ์ บุญเขตมาลา นักวิชาการสื่อสารมวลชนคนสำคัญเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ระหว่างกระจกกับตะเกียง" การใช้คำว่า "ระหว่าง" ก็ถูกแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง มันเป็นทั้งคู่ แต่เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เป็นคำถามที่ประชาชนต้องคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น สื่อที่เราดูหรือฟังหรืออ่านทำให้เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นยักษ์เป็นมาร ใจทมิฬหรือเปล่า เราต้องตั้งข้อสงสัยก่อนล่ะ หรือสื่อนั้นทำให้เราเห็นว่าในที่สุด สังคมการเมืองไทยไม่มีทางเลือกเลย ต้องฆ่ากันอย่างเดียว สังคมควรจะตรวจสอบด้วยตัวเอง

แต่ว่าวันนี้อยากชวนอาจารย์ตรวจสอบด้วย หลังจากอธิบาย 3 ข้อนี้แล้วว่า สื่อไทยกำลังทำแบบนั้นหรือเปล่า ?

3 ข้อนี้ ข้อสองเป็นสถานการณ์ที่ต้องขัดแย้งกันในตอนนี้ถึงจะเห็น เช่นตีกันอยู่แล้วเปิดสถานีนี้แล้วจะเห็น แต่อันที่หนึ่งกำลังทำอยู่ไหม ก็น่าสนใจ อาจจะมีสื่อบางส่วนเป็นไปในลักษณะนั้น หมายความว่า เงื่อนไขที่น่าจะดูว่าไปหรือไม่ไป ก็คือ ในความขัดแย้งนี้ได้เปลี่ยนคู่ขัดแย้งเป็นศัตรูไหม เมื่อทำแล้ววางสถานะของศัตรูไว้อย่างไร ทำให้ศัตรูเป็นคนหลงผิด เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นปีศาจร้าย แก้ไขไม่ได้ เป็นคนทรยศหรือเปล่า มันมีปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรอยู่ เอาเรื่องนั้นไปไว้เบื้องหลังศัตรูหรือเปล่า ให้ความชอบธรรมเนื้อหาของฝ่ายเรามากเหลือเกินหรือเปล่า โดยไม่ได้สงสัยเลยว่าข้อมูลที่ส่งออกไปถูกต้องหรือไม่ ผิดพลาดอย่างไร

ถ้าบางคนบอกว่ามันอาจเป็นเพียงส่วนน้อยของสื่อมวลชนในเมืองไทย ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ เราควรวางเฉยได้ไหม หรือจะทำยังไงดี ?

มันมีภาพเขียนโบราณที่เมืองปาโดวา เรื่องความอยุติธรรม ข้างล่างเป็นภาพคนถูกข่มขืน ถูกลักขโมย ถูกความอยุติธรรมต่างๆ นานา แล้วมีผู้พิพากษาใส่หมวกกลับด้านหรืออะไรก็แล้วแต่ ดูแล้วเป็นภาพของความอยุติธรรม แต่ในนั้นมันมีภาพตำรวจหรือทหารสองคนยืนอยู่แล้วหันหน้าไปทางอื่นเวลาที่คนถูกรังแกหรือถูกทำร้าย ถ้าภาพนี้มันบอกอะไรเรา มันก็จะตอบคำถามคุณได้ 2-3 อย่างคือ

1. ส่วนน้อยมันขยายตัวได้

2. ส่วนน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมีน้อยตามส่วนนั้นไปด้วย เราก็ทราบดีว่าในสังคมไทยสัดส่วนการตลาดในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นน่าสนใจมาก ลองพิจารณาดูสิ่งเหล่านี้แล้วจะเห็นว่าที่เรียกว่า "ส่วนน้อย" มันอาจจะมีนัยยะสำคัญเหลือเกิน

3. ปัญหามันอาจจะอยู่ที่ว่า แล้วส่วนใหญ่คิดยังไงกับสิ่งที่ส่วนน้อยทำอยู่ ถ้าส่วนใหญ่คิดว่า เราก็ทำหน้าที่ของเราไป เขาอยากจะทำอะไรก็เรื่องของเขามันก็เหมือนภาพที่ผมว่าไง คือสองคนที่หันหน้าอีกทางก็ทำหน้าที่ของตัวไป คือ เฝ้าประตู แล้วก็ปล่อยให้สิ่งร้ายๆ เกิดขึ้น ในที่สุดจะไม่มีประตูให้เฝ้า

แต่ต้องมีคนอย่างนี้แน่ว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่แค่เสนอข่าว แต่ไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหา อาจารย์คิดยังไงกับประเด็นนี้ ?

ในทางกลับกันมันเลยยิ่งน่าสนใจ ผมพยายามนั่งคิดเรื่องนี้เหมือนกันว่า ตกลงตัวอย่างต่างประเทศที่เราดูกันนั้น มันเป็นเพราะสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่หรือ สิ่งที่เราไล่มาคือสื่อคิดไปเองว่า ตัวเองเป็น "อาวุธ" และต้องต่อสู้ในการต่อสู้ครั้งนี้ พอคิดแบบนี้มันเลยยุ่ง สื่ออเมริกันที่ทำหน้าที่ในสงคราม ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ถ่ายทอด แต่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการทำหน้าที่หรือเปล่า มันเลยเป็นข้อที่อันตราย สมมติว่ามีปืน 3 กระบอก กับสถานีวิทยุ ปืน 3 กระบอกก็สามารถยิงได้เท่าที่กระสุนอนุญาต แต่สถานีวิทยุมันทำให้คนไปจับไม้จับมีดอีกมหาศาล ฉะนั้น ในฐานะอาวุธมันต่างกันเยอะเลยในฐานะของอำนาจ

แล้วสื่อมวลชนควรทำยังไงในสถานการณ์ปัจจุบัน ?

ในสังคมมันก็มี ระหว่างความถูกกับความผิด ฉะนั้น ข้อเสนอมองจากมุมสันติวิธี คือ ทำยังไงถึงจะทำให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เรากำลังเผชิญอยู่ มีทางออกอื่นนอกจากการใช้ความรุนแรง ทำไมเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องกันไม่ให้สื่อเป็น "อาวุธ" แต่เป็นอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน มันคนละแบบกันนะ. อันที่สองที่ค่อนข้างสำคัญคือ สื่อทำหน้าที่ทำให้เห็นความถูกความผิด ใช่, ทำให้เห็นเหตุของปัญหา ใช่, ทำให้เห็นเหตุของควาอยุติธรรม ความฉ้อฉล คดโกง ใช่, แต่ต้องทำอันนั้นโดยไม่สร้างความเกลียดชัง

สมมติว่ามีคดีฆาตกรรมข่มขืนเกิดขึ้น โทรทัศน์บอกว่าไอ้หมอนี่เป็นคนชั่วร้ายเลวทราม แล้วบอกว่าทุกคนควรจะไปดูแผนประทุษกรรม หรือสื่อควรจะบอกว่าทำยังไงถึงจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีก และไอ้คนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ พูดให้ชัดเจน ผมไม่ได้บอกว่าสื่อไม่ควรทำหน้าที่พิทักษ์ความถูกต้อง แต่ทำยังไงที่จะไม่พิทักษ์ความถูกต้องไป สร้างความเกลียดชังไป ตั้งเป้าไปที่ตัวบุคคลตัวกลุ่มจนเกินไป เพราะการทำแบบนั้นเราเห็นจากตัวอย่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศเราเองด้วยว่า มันนำพาประเทศไปสู่ความรุนแรง

ในฐานะปัจเจกชน คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เป็นคนรับสื่อ เราควรจะต้องทำยังไงในสถานการณ์แบบนี้?

ผมพูดแทนคนอื่นไม่ได้นะ สำหรับผม ผมเห็นว่าสื่อเป็นอาวุธที่ทรงพลังมาก มันก็เหมือนกับที่เราเห็นบุหรี่มีอันตราย ก็ควรมีโฆษณาข้างๆ เสพสื่อมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่าน สาธารณชนควรจะตระหนักสิ่งเหล่านี้ และควรตระหนักว่าในสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเราอยากให้สื่อทำหน้าที่อะไร และสื่อกำลังทำหน้าที่เช่นนั้นหรือไม่

ในฐานะนักสันติวิธี อาจารย์มีไกด์ไลน์สำหรับคนที่เผชิญภาวะแบบนี้ คือ เราไม่อยากอยู่เฉยๆ หลายคนพูดว่า ตอนนี้เป็นไปได้ที่สองข้างจะปะทะกัน หนังสือพิมพ์ก็บอกว่ากลิ่นรัฐประหารหึ่ง บางคนอาจบอกว่า หรือเรารอเช็ดเลือดดีไหม ?

เช็ดเลือดมันหลังเหตุการณ์ และความสูญเสียก็เกิดขึ้นแล้ว อย่างนั้นที่สูญเสียมันเป็นตัวบุคคลจริงๆ เหตุการณ์พฤษภาก็ต้องเช็ดกันไปแล้ว ผมอยากจะเตือนว่ามันไม่ใช่แค่คนตาย มันมีคนถูกยิงเป็นอัมพาต ลูกหลานเขาก็ลำบากตลอดมา เยอะแยะไปหมด ด้วยเหตุนี้ถึงต้องพูดเรื่องนี้ เพราะเราเห็นว่าอาวุธที่เราพูดถึงมันเป็นอาวุธที่มีพลัง อาวุธอย่างสื่อทำอย่างไรให้สังคมควบคุมมัน ไม่ใช่รัฐบาลนะ เพราะรัฐบาลผมก็ไม่ค่อยเชื่อ บางทีก็ใช้พวกนี้เป็นประโยชน์

ดังนั้น ปัจเจกชนทำอะไรได้บ้าง ในแง่ของตัวเองเวลาฟังสิ่งต่างๆ ก็ควรจะมีแนวคิดในทางวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง อย่าเชื่อเสียหมด เพราะนี่กำลังเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง โบราณเขาบอกว่า ในสถานการณ์สงคราม ความจริงกลายเป็นเหยื่อรายแรก ผมคิดว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งก็เหมือนกัน ความจริงก็เป็นเหยื่อ สิ่งที่เราเห็นมันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง การตรวจสอบก็จำเป็น และผมยังอยากเสนอว่า ดูให้ดีว่า อันไหนจะพาให้เราเกลียดชังอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายไม่เป็นผู้เป็นคน ชวนเราให้ไปทำร้ายอีกฝ่าย อันนี้ผิดแล้ว



๒๐. คลื่นแห่งความเกลียดชัง: สื่อกับความรุนแรง

ประจักษ์ ก้องกีรติ / คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://www.prachatai.com/05web/th/home/12048

ในชิ้นที่แล้ว ผมรีวิวหนังสือว่าด้วยกำเนิดและวิวัฒนาการของคาร์บอมบ์ ในฐานะที่มันเป็นศาสตราของความรุนแรงที่สำคัญของโลกสมัยใหม่ มาชิ้นนี้ผมอยากจะรีวิวหนังสือเกี่ยวกับอาวุธอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งดูผิวเผินไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับความรุนแรง แต่หากพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจังแล้ว จะพบความจริงอันน่าตกใจว่า มันถูกใช้เป็นเครื่องมือของการประหัตประหารหลายครั้งหลายคราวในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และเมืองไทยเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ไม่ว่าจะนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อปี 2519 หรือที่กำลังเกิดขึ้น ณ วินาทีนี้

ผมกำลังจะพูดถึงสื่อมวลชนครับ หนังสือที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน หากสนใจว่าสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างไรคือ หนังสือชื่อว่า "สื่อมวลชนกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา" (The Media and the Rwanda Genocide, Pluto Press, 2007) มี Allan Thompson นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนเป็นบรรณาธิการ รวบรวมบทความทั้งสิ้น 35 ชิ้นจากนักวิชาการชั้นนำ บวกกับสารจากโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

ทำไมรวันดา?
ในปี ค.ศ. 1994 เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นในรวันดา ประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ภายในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ชาวทุตซี่ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา (15 % ของประชากร) ถูกฆ่าตายไปทั้งสิ้น 500,000 คน (มากกว่า 80% ของประชากรทุตซี่) นับเป็นการสังหารหมู่ที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นักสังเกตการณ์หลายคนเรียกมันว่า โฮโลคอสต์ ภาค 2 (Holocaust คือ ชื่อเรียกการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวโดยระบอบนาซีในช่วงสงครามโกลครั้งที่สอง)

แน่นอนว่าบทบาทของสื่อมวลชนในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงนั้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่รวันดาเป็นกรณีที่สะเทือนขวัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เพราะสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อวิทยุทำงานอย่างจริงจัง อย่างจงใจ และเป็นระบบในการก่อให้เกิดการสังหารหมู่ เรียกว่ามีสำนึกรับผิดชอบอย่างสุดกำลังในการก่อความรุนแรง! มันจึงกลายเป็นกรณีที่เป็นประจักษ์พยานหลักฐานอันเด่นชัดที่เผยให้เห็นโฉมหน้าอันน่าสะพรึงกลัว และน่ารังเกียจของสื่อมวลชนในห้วงยามของความขัดแย้งทางการเมือง

ณ ปัจจุบัน รวันดากลายเป็นหมุดหมายอันสำคัญของประวัติศาสตร์ กลายเป็นกรณีศึกษาของนักวิชาการจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านสื่อสารมวลชน จิตวิทยา มนุษยวิทยา นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่ต้องการทำความเข้าใจศักยภาพและบทบาทของสื่อมวลชนกับความรุนแรงในโลกสมัยใหม่ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นอีก. หนังสือเล่มนี้คือความพยายามอย่างเป็นระบบในการระดมเอนจีโอ นักการทูต และนักวิชาการจากหลายสาขามาขบคิดเกี่ยวกับปัญหานี้

หนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก ว่าด้วยบทบาทของสื่อในรวันดา กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ส่วนที่สอง ว่าด้วยบทบาททั้งโดยตรงและโดยอ้อมของสื่อต่างประเทศ กับโศกนาฏกรรมในรวันดา ซึ่งทั้งเพิกเฉยไม่แยแสกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อันเนื่องมาจากอคติทางเชื้อชาติ กับอคติทางการเมือง ไม่เห็นว่าชีวิตของชาวแอฟริกันเผ่าหนึ่ง ในประเทศที่ไม่มีความสำคัญอะไรในเกมการเมืองระหว่างประเทศ มีค่าควรแก่การ "เป็นข่าว". การเพิกเฉยต่อการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ในรวันดา กลายเป็นตราบาปของสื่อต่างประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนที่สาม เกี่ยวกับมุมมองและขอถกเถียงทางกฎหมาย ว่าด้วยกรณีความรับผิดชอบของสื่อมวลชนในฐานะผู้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง และ

ส่วนที่สี่ ว่าด้วยการปฏิรูปสื่อเพื่อนำไปสู่บทบาทอันสร้างสรรค์ในการระงับความขัดแย้งและความรุนแรง

ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ผมจะไม่เล่ารายละเอียดว่าแต่ละบทความเสนอข้อถกเถียงอะไรบ้าง ที่อยากจะทำคือ นำเสนอเฉพาะข้อถกเถียงและข้อสรุปที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญให้เรานำมาขบคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนี้. ข้อถกเถียงที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือ คำถามใหญ่ที่ว่า "สื่อมีบทบาทในการก่อให้เกิดความรุนแรงจริงหรือไม่, เราประเมินบทบาทของสื่อสูงเกินจริงไปหรือเปล่า?" บทความหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้เห็นค่อนข้างสอดคล้องกันว่า ลำพังการโฆษณาชวนเชื่อของสื่ออย่างเดียว ไม่อาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรวันดา อย่างไรก็ตาม สื่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง 3 ประการในการทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

1. สื่อแพร่กระจายความเกลียดชังอย่างตั้งใจ ผ่านคำพูด เพลงปลุกระดม คำขวัญ และถ้อยคำหยาบคายที่จงใจทำให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่มีความคิดเห็นหรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างกลายเป็นศัตรูที่ต้องถูกกำจัดหรือกวาดล้าง กระบวนการสร้างความเกลียดชังทำในสองรูปแบบหลักคือ

หนึ่ง ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม ในกรณีนี้ดีเจสถานีวิทยุ Radio-Television Libre des Milles Collines (RTLM) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุเอกชน ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของผู้นำฮูตูขวาจัด และมีบทบาทหลักในการยุยงปลุกปั่นความเกลียดชัง จนได้ฉายาอันอื้อฉาวว่า "วิทยุแห่งความตาย" จงใจเรียกชาวตุดซี่ว่าเป็นแมลงสาบตลอดเวลา เพื่อชี้ว่าชาวทุตซี่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อหรือจิตวิญญาณเหมือนชาวฮูตู เป็นขยะของสังคมที่ควรจะถูกกวาดล้างเพื่อทำให้สังคมบริสุทธิ์ เหมือนกำจัดแมลงสาบออกไปจากที่พักอาศัย (ฆ่าแมลงสาบไม่บาป) นอกจากเทคนิคที่กดให้ฝ่ายตรงข้ามต่ำกว่าตนแล้ว เทคนิคอีกประการหนึ่งคือ

สอง วาดภาพให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นยักษ์เป็นมารไปเสีย ซึ่งก็เป็นการทำให้พวกเขาไม่ใช่มนุษย์มนาไปอีกแบบหนึ่ง คือ ดูน่ากลัวเสียจนฝ่าย "พวกเรา" ต้องสามัคคีกันเพื่อกำจัด มีการปลุกระดมผ่านสถานีวิทยุ RTLM ว่าชาวทุตซี่มีแผนการจะสังหารหมู่ชาวฮุตูให้สิ้นซากไปจากประเทศ และแปลงรวันดาให้กลายเป็นดินแดนของชาวทุตซี่แต่ลำพัง เทคนิคประการที่สองนี้ มุ่งสร้างให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนกเสริมเข้าไปกับความเกลียดชัง

2. สื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานในการลงมือก่อความรุนแรงระหว่างนักการเมืองหัวรุนแรงกับเครือข่ายของพวกเขา มีหลักฐานมากมายว่าสถานีวิทยุ RTLM ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างที่ควรจะทำในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง แต่แปลงร่างตัวเองเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเชื้อชาตินิยมขวาจัด ในการโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม (รวมทั้งชาวฮูตูด้วยกัน ที่ไม่เห็นสอดคล้องกับแผนการณ์ของตน) ที่น่ากลัวคือ ผู้ประกาศข่าวและเจ้าหน้าที่ของสถานีนี้ ไม่เพียงแต่บิดเบือนข้อเท็จจริง โกหกมดเท็จ และปั้นนำเป็นตัวเท่านั้น แต่ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการของการสังหารหมู่เลยทีเดียว มีการประกาศรายชื่อชาวตุ๊ดซี่ที่เป็นเป้าหมายของการสังหารออกอากาศสด

นอกจากชื่อเสียงเรียงนาม ดีเจประจำสถานียังให้ข้อมูลที่อยู่เสร็จสรรพ ว่าจะไปตามฆ่าคนเหล่านี้ได้ที่ไหน รวมทั้งมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ชาวตุดซี่ไปชุมนุมหรือหลบซ่อนอยู่ ข้อมูลจากองค์กรนานาชาติและนักวิจัยพบว่า รายชื่อบุคคลที่สถานีวิทยุ RTLM ประกาศออกอากาศ ทุกรายถูกฆ่าตาย ให้หลังเวลาการออกอากาศไม่นาน และสถานที่หลบภัยทั้งหลายถูกเผาทำลายและโจมตีอย่างแม่นยำหลังจากมีการประกาศผ่านสถานีวิทยุ เนื่องจากความแพร่หลายของสื่อวิทยุ ซึ่งเป็นสื่อราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายที่สุดในสังคมรวันดา ทำให้การประสานงานในการฆ่าดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพในขอบเขตทั่วประเทศ

3. สื่อทำหน้าที่ชี้นำสาธารณะให้เห็นว่า ความรุนแรงเป็นทางออกและจำกัดทางเลือกของการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี บทบาทของสื่อในข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สื่อวิทยุบางสถานีและหนังสือพิมพ์บางฉบับในรวันดาจงใจชี้นำสาธารณะว่า ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่าง "พวกเรา-คนส่วนใหญ่" กับ "พวกเขา-คนส่วนน้อย" เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว และตอกย้ำว่าความรุนแรงเท่านั้นที่เป็นทางออกจากความขัดแย้งนี้. คำขวัญที่ถูกอ่านออกอากาศซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงนั้นคือ เลือกเอาว่าคุณ "จะฆ่าหรือจะเป็นฝ่ายถูกฆ่า" (to kill or to be killed) โดยการชี้นำเช่นนี้ สื่อทำหน้าที่อันเลวร้ายสองอย่าง

หนึ่ง ไม่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าใจความประเด็นทางการเมืองในแบบอื่นๆ เลย นอกจากการเมืองของสีขาวกับสีดำ เทพกับมาร. การตีกรอบปัญหาทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้สังคมขาดวุฒิปัญญา และไม่พร้อมต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน

สอง สื่อทำหน้าที่เป็นโฆษกของความรุนแรง และโหมกระพือความแตกแยกในสังคมแทนที่จะเป็นสติให้กับสาธารณชน

บทเรียนจากรวันดา
บทเรียนจากรวันดาคือ สื่อในสังคมไหนๆ ก็สามารถเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในการก่อความรุนแรงได้ เมื่อใดก็ตามที่มันยุติการทำหน้าที่ของการเป็นผู้รายงานข้อเท็จจริง และนำเสนอความเห็นอันรอบด้านแก่สาธารณะ และแปลงตัวเองไปเล่นบทกระบอกเสียงของความเกลียดชัง
เราควรเข้าใจว่าในสังคมประชาธิปไตยใดก็ตาม ความเห็นต่างทางการเมือง ความแตกต่างของอัตลักษณ์ กระทั่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นเรื่องปกติของชีวิตทางสังคม ข้อดีของสังคมประชาธิปไตยคือ การอนุญาตให้เราถกเถียงกัน เห็นต่างกันได้อย่างสันติ โดยไม่ตีหัวกันหรือฆ่ากันเพื่อเอาชนะทางการเมือง เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้จากกันและกัน เและคารพซึ่งกันและกัน ไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นยักษ์มาร ผีสาง หรือแมลงสาบ

สื่อมวลชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตย
สื่อมวลชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตยคือ สื่อที่ทำหน้าที่จรรโลงบรรยากาศและคุณค่าประชาธิปไตยเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ ฉะนั้น สื่อต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่วางยาพิษให้กับสังคมด้วยการแพร่กระจายสารของความเกลียดชัง ปฏิเสธการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง และไม่ชี้นำให้เกิดความรุนแรงเสียเอง น่าเสียดายและน่าเสียใจว่าสื่อรวันดาทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับบทบาทที่สื่อที่ดีควรจะทำ ราคาของมันคือ ชีวิตของคนบริสุทธิ์ 500, 000 คน ที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ บวกกับความโกรธ ความเกลียด และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างชาว"ทุตซี่"กับชาว"ฮูตู" ที่ดำรงอยู่ในสังคมรวันดาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

หากจะมีข่าวดีอย่างน้อยเพียงอย่างเดียวจากกรณีนี้คือ ในปี ค.ศ. 2003 ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda : ICTR) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้ตัดสินให้ผู้ประกาศสองคนของสถานีวิทยุ RTLM และนักข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นับเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง (นับจากศาลนูเรมเบิร์ก ที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาการสังหารหมู่ชาวยิว) ว่า แม้สื่อมวลชนไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้ลงมือฆ่าโดยตรง หากทำหน้าที่ยุยงปลุกปั่นและชี้นำให้มีการใช้ความรุนแรง ก็ต้องรับผิดตามกฎหมายต่ออาชญกรรมที่เกิดขึ้นด้วย

ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีกในสังคมไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบใดหรือระดับใดก็ตาม เรามีบทเรียนมามากพอแล้ว ทั้งที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นและในสังคมเราเอง ผมเชื่อด้วยว่า ไม่มีใครอยากเห็นสื่อมวลชนไทยคนใดต้องตกอยู่ในฐานะอาชญากรอันเนื่องมาจากการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง แต่หากสังคมไทยโชคร้ายพอ ที่มีสื่อมวลชนบางคน และสถานีวิทยุบางแห่งต้องการทำหน้าที่เป็น คลื่นเสียงของความเกลียดชัง สังคมไทยควรต้องช่วยกันวิพากษ์และหยุดยั้ง ก่อนที่เราจะเดินไปบนหนทางของโศกนาฎกรรม

คลิกไปอ่านต่อบทความต่อเนื่องตอนที่ ๓

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 15 May 2008 : Copyleft by MNU.
สื่อมวลชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตยคือ สื่อที่ทำหน้าที่เพื่อจรรโลงบรรยากาศและคุณค่าประชาธิปไตยเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ ฉะนั้น สื่อต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่วางยาพิษให้กับสังคมด้วยการแพร่กระจายสารเกี่ยวกับความเกลียดชัง ปฏิเสธการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงและไม่ชี้นำให้เกิดความรุนแรงเสียเอง น่าเสีย ดายและน่าเสียใจว่าสื่อรวันดาทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับบทบาทที่สื่อที่ดีควรจะทำ ราคาของมันคือ ชีวิตของคนบริสุทธิ์ 500, 000 คน ที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ บวกกับความโกรธ ความเกลียด และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างชาว"ทุตซี่"กับชาว"ฮูตู" ที่ดำรงอยู่ในสังคมรวันดาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
(คลื่นแห่งความเกลียดชัง: สื่อกับความรุนแรง / ประจักษ์ ก้องกีรติ)
H
บทเรียนจากรวันดา
เกี่ยวกับบทเรียนจากประเทศรวันดาคือ สื่อในสังคมไหนๆ ก็สามารถเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในการก่อความรุนแรงได้ เมื่อใดก็ตามที่มันยุติการทำหน้าที่ของการเป็นผู้รายงานข้อเท็จจริง และนำเสนอความเห็นอันรอบด้านแก่สาธารณะ และแปลงตัวเองไปเล่นบทกระบอกเสียงของความเกลียดชัง

เราควรเข้าใจว่าในสังคมประชาธิปไตยใดก็ตาม ความเห็นต่างทางการเมือง ความแตกต่างของอัตลักษณ์ กระทั่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นเรื่องปกติของชีวิตทางสังคม ข้อดีของสังคมประชาธิปไตยคือ การอนุญาตให้เราถกเถียงกัน เห็นต่างกันได้อย่างสันติ โดยไม่ตีหัวกันหรือฆ่ากันเพื่อเอาชนะทางการเมือง เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้จากกันและกัน เและคารพซึ่งกันและกัน ไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นยักษ์มาร ผีสาง หรือแมลงสาบ

THE MEDIA AND THE RWANDA GENOCIDE
Edited by Allan Thompson

The news media played a crucial role in the 1994 Rwanda genocide: local media fuelled the killings, while the international media either ignored or seriously misconstrued what was happening.

This is the first book to explore both sides of that media equation. The book examines how local radio and print media were used as a tool of hate, encouraging neighbours to turn against each other.
It also presents a critique of international media coverage of the cataclysmic events in Rwanda. Bringing together local reporters and commentators from Rwanda, high-profile Western journalists, and leading media theorists, this is the only book to identify and probe the extent of the media’s accountability. It also examines deliberations by the International Criminal Tribunal for Rwanda on the role of the media in the genocide.
This book is a startling record of the dangerous influence that the media can have when used as a political tool or when news organizations and journalists fail to live up to their responsibilities. The authors put forward suggestions for the future by outlining how we can avoid censorship and propaganda, and by arguing for a new responsibility in media reporting. The book includes an opening statement from Kofi Annan and an introduction by Senator Romeo Dallaire.