1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗ และคำอธิบายกฎหมายลิขสิทธิ์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์
และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย (๒)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความเพื่อสิทธิทางการศึกษา
พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และคำอธิบายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ต่อไปนี้
ได้รวบรวมขึ้นมาจากฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อวัตถุประสงค์ในการ
เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายไทยให้กับนักวิชาการ ครู อาจารย์ นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง
กรณีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ การถือครองลิขสิทธิ์ การโอนลิขสิทธิ์ และข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์
ตามมาตรา ๓๒ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตัวอย่างเช่น กรณีการทำเพื่อการวิจัย การเรียน
การสอน และประโยชน์การศึกษาต่อสาธารณะ อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
เนื่องจากบทความนี้มีขนาดยาวกว่า ๔๐ หน้า จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอนดังนี้
๑. พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ (บทความลำดับที่ ๑๕๓๙)
๒. สรุปกฎหมายลิขสิทธิ์ ปี ๒๕๔๓ (บทความลำดับที่ ๑๕๔๐)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๔๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๒ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๗ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗ และคำอธิบายกฎหมายลิขสิทธิ์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์
และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย (๒)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สรุปกฎหมายลิขสิทธิ์ ปี ๒๕๔๓ (1)
ไมตรี สุเทพากุล (2)
อาจารย์ทบทวนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
คำนำ
ลักษณะรูปแบบของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่างจากสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าในสาระสำคัญ
คือ ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการสร้างสรรค์งานขึ้นโดยไม่มีพิธีการต้องจดทะเบียน
ส่วนสิทธิบัตรใช้ระบบจดทะเบียนและตรวจสอบ เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการมีทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน
ฉะนั้นที่มีผู้เข้าใจผิดว่า เมื่อสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ขึ้นมาแล้วต้องจดทะเบียนจึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดแจ้งผลงานลิขสิทธิ์ที่ผู้สร้างสรรค์สร้างขึ้น
กรณีนี้มิใช่การจดแจ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ แต่เป็นการจดแจ้งเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานหากมีคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นๆ
เท่านั้น
นอกจากลิขสิทธิ์ ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์แล้ว
กฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองแก่นักแสดงตามมาตรา 44 -53
ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิข้างเคียง (neighboring right)
เนื้อหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ อาจแบ่งแยกออกได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
บทที่หนึ่ง ลักษณะทั่วไปของลิขสิทธิ์
บทที่สอง งานมีลิขสิทธิ์หรือไม่และใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
บทที่สาม การกระทำเป็นละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
บทที่สี่ การกระทำต้องด้วยข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
บทที่ 1 ลักษณะทั่วไปของลิขสิทธิ์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ให้สิทธิที่สำคัญไว้
2 ประการ คือ
สิทธิทางเศรษฐกิจ (economic right) เป็นสิทธิที่ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยมุ่งให้ความคุ้มครองในด้านเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของค่าแห่งลิขสิทธิ์ (royalty) ที่จะได้จากการที่บุคคลอื่นขอใช้งานลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15(5) และมาตรา 16
ข้อที่น่าสังเกตคือสิทธิทางศีลธรรมให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้สร้างสรรค์งาน และสิทธิดังกล่าวยังคงอยู่กับผู้สร้างสรรค์ตลอดไป แม้ว่าผู้สร้างสรรค์จะได้โอนลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ผู้สร้างสรรค์งานก็ยังได้รับความคุ้มครองในสิทธิทางศีลธรรม แม้ว่าขณะนั้นจะไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์จึงไม่ได้รับโอนสิทธิทางศีลธรรมไปด้วย เพราะผู้รับโอนลิขสิทธิ์ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์งาน
สิทธิทางศีลธรรม ตามมาตรา 18 มีอยู่ 2 ประการ คือ
1.สิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานโดยการระบุชื่อหรือลายเซ็นของผู้สร้างสรรค์ไว้ที่สำนักงาน สิทธินี้ได้ขยายรวมถึงสิทธิที่จะปฎิเสธไม่ให้บุคคลอื่นใช้ชื่อของผู้สร้างสรรค์กับงานที่ตนมิได้เป็นผู้สร้างสรรค์หรือเป็นผู้ทำขึ้น
2.สิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือทำโดยประการอื่นแก่งานจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์
โดยสรุปแล้วผู้สร้างสรรค์
คือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ ผู้สร้างสรรค์อาจเป็นบุคคลเดียวกับเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้
เช่น มาตรา 9 ผู้สร้างสรรค์งานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ลิขสิทธิ์ในงานเป็นของผู้สร้างสรรค์
แต่อาจมีกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ทำขึ้นเช่น มาตรา
10 งานที่ผู้สร้างสรรค์โดยรับจ้างบุคคลอื่น ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงาน
ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive right)
ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์แตกต่างจากทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์
เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิไม่มีรูปร่าง กล่าวคือเป็นสิทธิหวงกันของเจ้าของที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
เป็นสิทธิที่จะห้ามไม่ให้ผู้อื่นนำงานของเจ้าของไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นมิให้ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามมาตรา
15
ลิขสิทธิ์แตกต่างจากกรรมสิทธิ์
ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิเด็ดขาดของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 15 ซึ่งมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นอำนาจหวงกันมิให้ผู้อื่นมาใช้สิทธิที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่ผู้เดียว
ส่วนกรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิ์ซึ่งมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นตัวทรัพย์และกรรมสิทธิ์จะติดไปกับตัวทรัพย์เสมอ
ฉะนั้นลิขสิทธิ์ และกรรมสิทธิ์จึงอาจแยกกันได้ เช่น
ตัวอย่างแรก ฎีกาที่ 2219/2531 โจทก์ร่วมขายภาพสีน้ำมันอันเป็นจิตรกรรมซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมราคา 300 บาท ให้แก่จำเลย เป็นการขายภาพดังกล่าวเป็นภาพๆ ไป โดยมิได้ขายลิขสิทธิ์ในภาพไปด้วย จำเลยนำภาพดังกล่าวไปอัดทำโปสการ์ดขาย เป็นการทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตเพราะจำเลยเป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในภาพ มิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพ
ตัวอย่างที่ 2 นักศึกษา ก หลงรักนักศึกษา ข แต่ไม่กล้าบอกรักด้วยตนเอง จึงได้เขียนเป็นจดหมายรักพรรณาความรู้สึกของตนและส่งจดหมายรักดังกล่าวให้นักศึกษา ข. นักศึกษา ข อ่านแล้วรู้สึกโกรธและไม่พอใจนักศึกษา ก ที่มาหลงรักตน จึงนำจดหมายดังกล่าวไปถ่ายเอกสารแจกจ่ายให้เพื่อนๆ อ่าน. การกระทำของนักศึกษา ข มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากจดหมายรักที่นักศึกษา ก มอบให้นักศึกษา ข มอบให้เฉพาะกรรมสิทธิ์ในกระดาษจดหมายรัก มิได้มอบลิขสิทธิ์ในข้อความซึ่งเป็นงานวรรณกรรมในจดหมายรักให้นักศึกษา ข ด้วย สิทธิในการทำซ้ำในงานลิขสิทธิ์ดังกล่าวยังเป็นของนักศึกษา ก อยู่. อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษา ข กระทำการอย่างอื่น เช่น นำจดหมายดังกล่าวไปฉีกทิ้ง หรือเผาไป นักศึกษา ข ก็ไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพราะการเผาไฟ หรือฉีกกระดาษจดหมาย มิใช่การกระทำใดๆ ตามมาตรา 15 และการฉีกกระดาษจดหมายก็เป็นดพียงการทำลายทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
ลิขสิทธิ์สหสิทธิ ( multiple rights ) ตามที่ได้กล่าวว่าสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์บัญญัติไว้ในมาตรา 15 ซึ่งมีสิทธิต่างๆ หลายประการ เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน เป็นต้น ฉะนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง จึงอาจหาประโยชน์จากงานชิ้นเดียวด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือเล่มหนึ่ง อาจอนุญาตให้โรงพิมพ์ทำซ้ำหนังสือ และอาจอนุญาตให้อีกบุคคลหนึ่งทำการแปลหนังสือเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการดัดแปลงงาน เป็นต้น
บทที่ 2 งานมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ
2.1
งานมิลิชสิทธิ์หรือไม่
เงื่อนไขของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์อาจแยกได้เป็น 3 กรณี ดังนี้
2.1.1 เงื่อนไขทั่วไป ตาม มาตรา 6 และมาตรา 7
2.1.2 เงื่อนไข ตามมาตรา 8
2.1.3 เงื่อนไขที่สร้างขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล2.1.1 เงื่อนไขทั่วไปของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
ก. ต้องเป็นการสร้างสรรค์โดยตนเอง (originality) หมายถึง ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยการริเริ่มของตนเอง (creativity) โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต (non- copying) การริเริ่มขึ้นเองแตกต่างจากความคิดริเริ่มของตนเอง เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองความคิด ฉะนั้นผู้สร้างสรรค์งานอาจใช้ความคิดของผู้อื่นมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานของตนเองก็ได้ กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถในระดับหนึ่งในการสร้างสรรค์งานขึ้นมา แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ไต้องการถึงขนาดว่า ผู้สร้างสรรค์ต้องสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยปรากฎพบเห็นมาก่อน ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งให้ความคุ้มครองกับการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ฉะนั้นงานอันมีลิขสิทธิ์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นงานใหม่ (novelty)
ตัวอย่าง นาย ก ถ่ายภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม นาย ข เห็นภาพถ่ายของนาย ก สวยดี จึงนำกล้องตัวเองไปถ่ายภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมบ้าง ดังนี้ ทั้งนาย ก และนาย ข ต่างได้ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของตนเองเพราะต่างคนต่างได้ใช้ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเอง นาย ข เพียงเอาแต่ความคิดของ นาย ก มาโดยมิลอกเลียนงานของนาย ก ด้วยการนำภาพที่นาย ก ถ่ายมาแล้วไปทำซ้ำ หรือดัดแปลง นาย ข จึงไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของนาย ก ฉะนั้น ฎีกาที่ 6182/2533 ที่วินิจฉัยว่ารูปหล่อทองเหลืองรูปคนและสัตว์ของโจทก์ไม่มีลิขสิทธิ์เพราะเกิดจากการถอดรูปแบบจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนความคิดริเริ่มของผู้อื่นบ้าง มิใช่ความคิดริเริ่มของโจทก์เอง ฎีกานี้จึงถือเป็นหลักไม่ได้อีกต่อไป เพราะการลอกเลียนความคิดของผู้อื่นหรือการดูจากธรรมชาติ มิใช่ลอกเลียนการแสดงออกของผู้อื่น เป็นเพียงการเอาความคิดของผู้อื่นมาเท่านั้น ฉะนั้น หากผู้สร้างสรรค์ได้ทุ่มเทกำลังสติปัญญาสร้างงานดังกล่าวด้วยตนเอง แม้จะเอาความคดมาจากผู้อื่น ผู้สร้างสรรค์ย่อมได้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นนอกจากนี้มีฎีกาสำคัญ คือ ฎีกาที่ 2750/2537 วินิจฉัยว่า การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้นโดยบุคคลผู้นั้นมิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ แม้การจัดทำพจนานุกรม จะมีวิธีจัดทำแบบเดียวกับวิธีที่ใช้มาแต่โบราณ โจทก์ก็อาจเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมนั้นได้ หากการจัดทำพจนานุกรมของโจทก์ เป็นงานที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ด้วยการให้บทนิยามหรือความหมายของคำพร้อมภาพประกอบความหมายของคำ โดยการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มตามลีลาของโจทก์เอง มิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ข. ต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด (expression of idea) เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองสิ่งที่แสดงออก (expression of idea) เท่านั้น ไม่คุ้มครองความคิด (idea) แนวคิด (concept) และแนวเรื่อง(plot/theme) ตามมาตรา 6 วรรคท้าย
ดังเช่นตัวอย่างที่ นาย ก ถ่ายภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วนาย ข เห็นภาพดังกล่าวนำแนวคิดมาถ่ายภาพด้วยตนเอง นาย ข มิได้ลอกเลียนงานหรือสิ่งที่แสดงออกซึ่งความคิดของ นาย ก นาย ข จึงไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปัญหาที่ยากแก่การพิจารณาคือ อะไรคือความคิด อะไรคือการแสดงออก จึงเกิดทฤษฎีเส้นแบ่งแยกระหว่างความคิดและการแสดงออก (The idea-expression dichotomy) ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างที่จะยกต่อไป
ตัวอย่าง นักประพันธ์ชาวไทยเขียนนวนิยายโดยอาศัยแนวเรื่อง(plot) ของนวนิยายต่างประเทศ หากข้อเท็จจรองฟังได้ว่า นักประพันธ์ชาวไทยได้ลอกเลียนไปถึงรายละเอียด (detail) ของละคร เช่น ลำดับเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ สถานที่เกิดของแต่ละเหตุการณ์ รวมถึงตัวละครในนวนิยายนั้นแล้ว รายละเอียดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด (expression of idea ) การลอกเลียนของนักประพันธ์ชาวไทยดังกล่าวจึงมิใช่เพียงแต่ลอกเลียนเอาแนวเรื่อง(plot) แต่ได้ลอกเลียนเนื้อหาสาระสำคัญของสิ่งที่แสดงออกซึ่งความคิด จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ฉะนั้นการวินิจฉัยว่าการกระทำขนาดใดที่เกินเลยไปจาการใช้ความคิดของผู้อื่นถึงขนาดเป็นการลอกเลียนเนื่อหาของงาน คงต้องเปรียบเทียบงานทั้งสองชิ้นเพื่อดูว่ามีส่วนสาระสำคัญใดที่พ้องกันเพียงใดหรือไม่ปัญหาที่ต้องพิจารณาในเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิดอีกประการหนึ่งคือ จำเป็นหรือไม่ที่การแสดงออกซึ่งความคิดต้องมีรูปร่าง เช่นจำเป็นหรือไม่ต้องมีการบันทึก (fixation) ลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเขียนตำรา การบันทึกเสียงเพลงที่ร้องลงในสิ่งบันทึกเสียง ในประเด็นนี้ในมาตรา 6 วรรคแรกตอนท้ายได้ บัญญัติไว้ว่า " ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด" ซึ่งอาจตีความได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการบันทึกให้ปรากฏรูปร่างให้เห็น การแสดงออกโดยปากเปล่า เช่น ว่ากลอนสด ลำตัด แม้จะไม่มีการบันทึกลงในสิ่งบันทึกเสียง ก็ถือว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดแล้ว
ค. ต้องเป็นงานที่กฎหมายยอมรับ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคแรก ได้แก่งานประเภทต่างๆดังนี้
1. งานวรรณกรรม นอกจากหมายถึงงานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่นหนังสือ สุนทรพจน์ แล้วมาตรา 4 ให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
2. งานนาฏกรรม เป็นงานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การแสดง โดยวิธีใบ้ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว แต่มิได้หมายถึงการแสดงละครหรือการแสดงภาพยนตร์
3. งานศิลปกรรม เป็นงานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย งานภาพประกอบ แผนที่ ฯลฯ งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ การนำงานต่างๆ ข้างต้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของงาน เช่น นำงานจิตรกรรม ภาพวาด มาพิมพ์ลงบนเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้จำพวกถาด ถ้วยแก้ว. ฎีกาที่ 6379/2537 งานออกแบบปากกาลูกลื่น 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลอง งานอิเล็คโทรด หรือแท่งทองแดง งานแม่พิมพ์ งานรูปทรงและลวดลายปากกาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้า จึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ข้อสังเกต ฎีกานี้ไม่มีปัญหาว่างานออกแบบปากกาลูกลื่นเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามแบบสิทธิบัตรหรือไม่
4. งานดนตรีกรรม หมายถึงงานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้อง หรือมีทำนองอย่างเดียวและให้หมายรวมถึงโน๊ตเพลง ส่วนคำร้องอย่างเดียวเป็นงานวรรณกรรม
5. งานโสตทัศนวัสดุ หมายถึง งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุ ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใดอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก และให้รวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย เช่น วีดีโอเทป
6. ภาพยนตร์ หมายถึง โสตทัศน์วัสดุประกอบด้วยลำดับของภาพซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่นเพื่อนำออกฉายได้อย่างต่อเนื่องและให้รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ด้วย7. สิ่งบันทึกเสียง หมายถึงงานที่ประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดงหรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใดๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก เช่น แผ่นเสียง เทปคาสเซต แผ่นซีดีเป็นต้น
8. งานแพร่เสียแพร่ภาพ หมายถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ได้แก่ ผู้ทำการแพร่เสียแพร่ภาพ ซึ่งอาจเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์หรือองค์กรแพร่ภาพแพร่เสียง ตัวอย่าง ฎีกาที่ 6640/2542 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของยูบีซี ได้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันเป็นลิขสิทธิ์ของยูบีซีไปจัดให้ประชาชนผู้อาศัยในอาคารชุด 150 ห้อง ได้ฟังและชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหาย โดยจำเลยเรียกเก็บเงินค่าบริการรายเดือน เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 มาตรา 29(3), 69 วรรคสอง
9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ หมายถึงงานสร้างสรรค์อื่นที่ไม่อาจจัดเข้าอยู่ในงานประเภทใดประเภทหนึ่งได้ ซึ่งงานดังกล่าวน่าจะต้องมีลักษณะทำนองเดียวกันกับงาน 8 ประเภทที่กล่าวมา
ง. ต้องไม่เป็นงานที่กฎหมายกำหนดไม่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 7 เช่นข่าวประจำวัน กฎหมาย คำพิพากษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามการสร้างสรรค์งานสืบเนื่องจากสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์ งานสืบเนื่องอาจเป็นงานมีลิขสิทธิ์ได้ เพราะผู้สร้างสรรค์ได้สร้างขึ้นด้วยตนเอง ตามนับคำพิพากษาฎีกาที่ 508/2508 ผู้เสียหายได้แปลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1669 เป็นภาษาอังกฤษแล้วตีพิมพ์จำหน่าย คำแปลดังกล่าวเป็นวรรณกรรม ผู้เสียหายได้ลิขสิทธิ์ในงานแปล และข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาปี 2541 ย่อข้อกฎหมายจากคำพิพากษาฎีกามิใช่ตัวคำพิพากษาของศาลจึงเป็นงานวรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์ได้
2.1.2 เงื่อนไขเฉพาะของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
แม้ว่าการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ขึ้นโดยไม่ต้องมีพิธีการใดๆ เช่น ไปจดทะเบียน แต่ในมาตรา 8 ได้กำหนดจุดเกาะเกี่ยวที่นำมากำหนดการได้มาซึ่งลิขสิทธิซึ่งอาจแบ่งแยกเป็น 2 หลักใหญ่ๆ คือหลักสัญชาติ และหลักดินแดนหลักสัญชาติ ตามมาตรา 8(1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเป็นผู้มีสัญชาติประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากผู้สร้างสรรค์มิได้มีสัญชาติไทยหรือมิได้มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์งาน
หลักดินแดน ตามมาตรา 8(2) ในกรณีที่มีการโฆษณางานแล้ว (1) การโฆษณางานในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคี (2) กรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคี หากต่อมาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกนอกราชอาณาจักร ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคี หรือ (3) ไม่ว่าจะโฆษณาครั้งแรกที่ใดหากผู้สร้างสรรค์มีสัญชาติไทย หรืออยู่ในราชอาณาจักรไทย หรือมีสัญชาติ หรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีตลอดระยะเวลา หรือส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้นในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรก
การโฆษณางาน ตามมาตรา 8 แตกต่างจาก การเผยแพรต่อสาธารณชนตามมาตรา 15 (2) เนื่องจากการโฆษณา หมายถึง เฉพาะแต่เพียงการนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูปหรือลักษณะอย่างใด เช่น นำก๊อปปี้ฟิลม์ภาพยนตร์ออกจำหน่ายในจำนวนมากพอสมควร ฉะนั้นการนำดนตรีไปเล่นให้ผู้ชมฟังเป็นครั้งแรก หรือการนำภาพยนตร์ไปฉายรอบปฐมทัศน์ ยังไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา ยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ตามนัยฎีกาที่ 896/2534 แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ส่วนการเผยแพรต่อสาธารณชน หมายความว่า ทำให้ปรากฎต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย
2.1.3 เงื่อนไขที่สร้างขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล เช่น ฎีกาที่ 3705/2530 วางหลักไว้ว่า ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลางที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายอันเป็นภาพลามก งานดังกล่าวมิใช่งานสร้างสรรค์ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์
2.2
ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
วิธีการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์อาจแยกได้เป็น 2 วิธี คือ
2.2.1 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการสร้างสรรค์งาน
2.2.2 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการรับโอนลิขสิทธิ์2.2.1 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการสร้างสรรค์งาน
1. การสร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานโดยไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาจ้างหรือการควบคุมมอบหมายใดๆ จากบุคคลอื่น ผู้สร้างสรรค์ย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คนแรกในงานนั้นตามมาตรา 8 วรรคแรก
2. การสร้างสรรค์ในฐานะลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน
หากผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานขึ้นในฐานะลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน มาตรา 9 บัญญัติให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น เว้นแต่จะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นมีข้อสังเกตว่ามาตรานี้ให้สิทธินายจ้างเฉพาะการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่านั้น แต่มิได้ให้สิทธินายจ้างทำซ้ำหรือดัดแปลงงาน
3. การสร้างสรรค์ในฐานะผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ
มาตรา 10 บัญญัติให้งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่นให้ผู้ว่าจ้างเป็นผูมีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น สัญญาจ้างตามมาตรา 10 คือสัญญาจ้างทำของตามประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 อนึ่งข้อยกเว้นตามมาตรานี้ไม่ต้องทำเป็นหนังสืออย่างมาตรา 9 จึงอาจตกลงกันด้วยวาจาได้4. การสร้างสรรค์งานภายใต้การจ้างหรือตามคำสั่งของหน่วยงานของรัฐ
มาตรา 14 ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใด ของรัฐมีลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร5. การสร้างสรรค์โดยการดัดแปลงงานอื่น
มาตรา 11 บัญญัติให้การดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ผู้ที่ดัดแปลงมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ถูกดัดแปลง โดยปกติผู้ดัดแปลงต้องจ่ายยค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และต้องลงแรงใช้กำลังสติปัญญา ความรู้ความชำนาญจากประสบการณ์ในการดัดแปลงงานให้เป็นงานที่แสดงออกอีกรูปแบบหนึ่งหรือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์อีกประเภทหนึ่งตัวอย่างเช่น ก ได้รับอนุญาตให้แปลบทความภาษาไทยของ ข เป็นภาษาอังกฤษ ก ย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความภาษาอังกฤษ ส่วน ข ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความภาษาไทยอยู่. อย่างไรก็ตาม หาก ก แปลบทความของ ข โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจาก ก จะไม่ได้ลิขสิทธิ์ในบทความภาษาอังกฤษที่เป็นงานแปลแล้ว การกระทำของ ก ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานของ ข ด้วย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจาก ข ในการดัดแปลงงาน
6. การสร้างสรรค์งานโดยการรวบรวม
มาตรา 12 บัญญัติให้การนำงานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้ากันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่านหรือถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใด ซึ่งงานส่วนนี้อาจจะไม่มีลิขสิทธิ์ หากการรวบรวมหรือประกอบเข้ากันได้กระทำในลักษณะที่เป็นการสร้างสรรค์งาน โดยการคัดเลือกหรือจัดลำดับ โดยมิได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น ให้ผู้รวบรวมมีลิขสิทธิ์ที่รวบรวม หรือประกอบเข้ากัน แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวม2.2.2 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการรับโอนลิขสิทธิ์
มาตรา 17 กำหนดให้การโอนลิขสิทธิ์ทำได้ 2 ทาง คือการโอนโดยทางนิติกรรม และการโอนโดยทางมรดก การโอนโดยทางนิติกรรมต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือผู้โอนและผู้รับโอน และหากไม่กำหนดเวลาโอนไว้ ให้ถือว่ามีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 17 วรรคสาม
ส่วนการโอนทางมรดก เนื่องจากลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในทางทรัพย์สินอย่างหนึ่งซึ่งสามารถตกทอดไปยังทายาทได้ตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ผู้ที่ได้รับโอนลิขสิทธิ์มาในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้จนกว่าลิขสิทธิ์จะหมดอายการคุ้มครอง
บทที่ 3 การกระทำเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
เนื่องจากลิขสิทธิ์เป็นสิทธิ์แต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะกระทำการใดๆ
ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 ฉะนั้นบุคคลอื่นที่ไปกระทำการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
15 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
3.1 การละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น (primary infringement) มาตรา 27-30
3.2 การละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง (secondary infringement) มาตรา 31
ก่อนที่จะอธิบายความหมายของการละเมิดขั้นต้น และการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง ขอให้ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ตำราบางเล่มใช้คำว่า "การละเมิดโดยตรง" แทนการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น และใช้คำว่า "การละเมิดโดยอ้อม" แทนการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง หากพบคำทั้ง 2 คำดังกล่าวขอให้เข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจให้มีความหมายเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามหากไปพบตำราบางเล่ม เช่นคำอธิบายกฎหมายลิขสิทธิ์ของอาจารย์ธัชชัย ศุภผลศิริ อธิบายเรื่องการทำซ้ำ โดยใช้คำว่าการลอกเลียโดยตรง (direct copying) และการลอกเลียนโดยทางอ้อม (indirect copying) ทั้ง 2 คำนี้มีความหมายต่างจากการละเมิดโดยตรงและการละเมิดโดยอ้อมดังกล่าวมาข้างต้น เนื่องจากทั้งการลอกเลียนโดยทางตรงและการลอกเลียนโดยทางอ้อม ต่างอยู่ในความหมายของการทำซ้ำซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นตามมาตรา 15
ตัวอย่างการลอกเลียนงานลิขสิทธิ์โดยทางตรง และการลอกเลียนงานลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม เช่น นาย ก เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในนวนิยาย นาย ข ได้สร้างภาพยนตร์จากนวนิยายของ นาย ก โดยได้รับอนุญาต นาย ค copy film ภาพยนตร์ของนาย ข โดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของนาย ค เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นโดยการทำซ้ำตามมาตรา 15(1) แต่การทำซ้ำดังกล่าวมีผู้ได้รับความเสียหาย 2 คน คือนาย ก และนาย ข นาย ข เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ การที่นาย ค ทำซ้ำ ฟิล์มภาพยนตร์ของนาย ข โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการลอกเลียนโดยทางตรง และเนื่องจากเนื้อหาในภาพยนตร์มาจากนวนิยายซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของนาย ก การทำซ้ำของนาย ค จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในนวนิยายซึ่งเป็นงานวรรณกรรมของนาย ก โดยเป็นการลอกเลียนโดยทางอ้อม
3.1 การละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น (primary infringement) มาตรา 27 -30
การละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น คือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 15 โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
ความหมายของการทำซ้ำ ดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชนมีบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรค 13 วรรค 14 และวรรค 15มาตรา 27 ได้บัญญัติการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นในงานทั่วไป นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังได้บัญญัติให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น โดยเฉพาะเจาะจงแก่งานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง ตามมาตรา 28 งานแพร่เสียงแพร่ภาพตามมาตรา 29 และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 30
ข้อแตกต่างที่สำคัญมาอีกประการหนึ่งของการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นและการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง คือ การละเมิดขั้นต้นเมื่อผู้กระทำความผิดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 -มาตรา 30 แล้วให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การละเมิดขั้นรอง กฎหมายได้กำหนดภาระการพิสูจน์แก่โจทก์ว่า ต้องสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการกระทำการต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 31(1) -(4) เป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยรู้หรือมีเหตุควรรู้ว่างานดังกล่าวเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด
การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นหรือไม่ จำเป็นต้องทำความเข้าใจสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตา 15 ดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือการดัดแปลง ทำซ้ำ มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ1. มีการลอกเลียนงานลิขสิทธิ์(copying) โดยคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพจากต้นฉบับ หรือสำเนา
2. มีการลอกเลียนในส่วนสาระสำคัญ (substantiality) หมายถึง ส่วนของงานที่ลอกเลียนเป็นสาระสำคัญของงาน แม้ว่าส่วนที่ลอกเลียนจะไม่ใช่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของงาน หรืออาจกล่าวได้ว่า ปริมาณที่ลอกเลียนไม่ได้เป็นเครื่องชี้ขาดว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงเสมอไป แต่ต้องพิจารณาในเนื้อหาที่ถูกลอกเลียนว่าเป็นสาระสำคัญของงานหรือไม่ (quality not quantity)ตัวอย่างการลอกเลียนในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ เช่น ฎีกาที่ 2750/2537 จำเลยทำซ้ำคำและบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์ ในลักษณะลอกมาทุกตัวอักษรประมาณ 14,000 คำและดัดแปลงโดยสลับที่บทนิยามบ้าง เปลี่ยนตัวอย่างใหม่หรือตัดออกบ้าง เพิ่มเติมหรือตัดข้อความในบทนิยามของโจทก์ออกบ้างประมาณ 19,000 คำ ทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพประกอบบทนิยาม 130 ภาพ ลอกเลียนแบบการจัดทำรูปเล่มและการพิมพ์ข้อความที่ปกนอก และปกใน ถือว่าเป็นการทำซ้ำ หรือดัดแปลงในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ
นอกจากนี้การลอกเลียนในแนวคิด (idea) โดยมิได้ลอกเลียนสิ่งที่เป็นการแสดงออกซึ่งความคิด(expression of idea) ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในหัวข้อการแสดงออกซึ่งความคิด ย่อมไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ดัดแปลง หมายถึง ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ดัดแปลงงานวรรณกรรม เช่น แปลวรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรม (เปลี่ยนจากบทประพันธ์เป็นบทภาพยนตร์) หรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่ เป็นต้น
(2) เผยแพรต่อสาธารณชน หมายถึง การทำให้ปรากฏด้วยวิธีต่างๆ ต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย เช่น การขับร้องเพลงที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการเปิดเพลงที่มีลิขสิทธิ์จากเครื่องบันทึกเสียงให้พนักงานในบริษัทฟัง ก็เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเช่นกัน ปัญหามีข้อพิจารณาว่าความหมายของคำว่า สาธารณชนมีขอบเขตเพียงใด ศาลอังกฤษได้เคยวางหลักไว้ว่าการเปิดเพลงจากเครื่องเล่นจานเสียงให้คนงานกว่า 600 คน ในโรงงานฟัง ถือว่าเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว
ปัญหาที่น่าพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งคือคำว่า "การจำหน่าย" ซึ่งอยู่ในความหมายของการเผยแพร่ต่อสาธาณชนในมาตรา 15(2)นี้ ต่างจากคำว่า "ขาย" ในมาตรา 31(1) อย่างไร ความแตกต่างที่สำคัญคือ การจำหน่ายในมาตรา 15(2) เป็นการจำหน่ายงานที่มีลิขสิทธิ์ขั้นต้น (primary infringement) แต่การขายในมาตรา 31(1)เป็นการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ชั้นรอง (secondary infringement)
ปัญหามีต่อไปว่า การจำหน่ายตาม มาตรา 15(2) นี้หมายถึงการจำหน่ายเมื่อใด ตัวอย่าง เช่น นาย ก ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือกฎหมายลิขสิทธิ์ ได้พิมพ์หนังสือดังกล่าวออกจำหน่าย นาย ข นักศึกษากฎหมายได้ซื้อหนังสือดังกล่าวมาใช้เตรียมตัวสอบ หลังจากสอบผ่านแล้ว นาย ข ได้ขายหนังสือกฎหมายลิขสิทธิ์เล่มดังกล่าวให้นาย ค นักศึกษารุ่นน้อง ปัญหาว่า นาย ข มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์นาย ก หรือไม่ จากตัวอย่างดังกล่าวอธิบายได้ว่า คำว่า การจำหน่าย ตาม มาตรา 15(2) หมายถึงการจำหน่ายโดยเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น โรงพิมพ์ ซึ่งหมายถึงเฉพาะการจำหน่ายครั้งแรก (first sale) เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงการจำหน่ายในครั้งต่อๆ ไป
เพราะตามหลักการสูญสิ้นไปซึ่งสิทธิ (exhaustion of rights) ซึ่งวางหลักไว้ว่า เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ได้จำหน่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนไปแล้ว สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ในตัวงานหรือสำเนางานที่ถูกจำหน่ายไปย่อมหมดสิ้นไป เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิไปควบคุมการใช้ประโยชน์ของผู้ซื้องานดังกล่าว ดังนั้นการที่ นาย ข ซื้อหนังสือจากนาย ก แล้ว สิทธิในการควบคุมการใช้สอยประโยชน์ของ นาย ก ในหนังสือที่ขายไปย่อมหมดสิ้นไปตามหลัก exhaustion of rights นาย ข จึงมีสิทธิขายหนังสือที่ใช้แล้วให้ นาย ค ซึ่งถือเป็นสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั่วๆ ไปที่จะขายทรัพย์สินของตน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง สิทธิในข้อนี้เป็นการขยายความคุ้มครองให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง และงานโสตทัศนวัสดุมากกว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าวตามกฎหมายเดิม หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นข้อยกเว้นหลักการสูญสิ้นไปซึ่งสิทธิ (exhaustion of right) การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานตามมาตรา 15(3) นี้เป็นการให้เช่างานที่ซื้อมาโดยถูกต้องและเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้น แต่การให้เช่าตามมาตรา 31(1) เป็นการให้เช่างานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง ซึ่งหากพิจารณาตามหลัก exhaustion of rights แล้ว ผู้ใดซื้องานลิขสิทธิ์มาโดยถูกต้อง เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมหมดสิทธิควบคุมการใช้ประโยชน์จากตัวงานดังกล่าว
แต่กฎหมายมาตรานี้กลับให้สิทธิแก่เจ้าของงานลิขสิทธิ์มากขึ้น และยกเว้นหลักทั่วไป โดยให้สามารถควบคุมการให้เช่าในงาน 4 ประเภทดังกล่าวได้ ฉะนั้นฎีกา 954/2536 ที่วินิจฉัยว่า คดีไม่ได้หมายความว่าม้วนเทปของกลางถูกทำซ้ำหรือดัดแปลง แม้จำเลยจะมีม้วนเทปของกลางให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยก็ไม่มีความผิด ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ 2521 มาตรา 27 ฎีกานี้เป็นการวินิจฉัยตามกฎหมายเดิม ซึ่งไม่อาจถือเป็นหลักได้อีกต่อไป
ขอให้สังเกตว่าสิทธิให้เช่าตามมาตร 15(3)นี้ ระบุไว้เฉพาะงาน 4 ประเภทนี้เท่านั้น ฉะนั้นหากงานที่ให้เช่าเป็นหนังสือที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ผู้ให้เช่าก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ อย่างไรก็ตามหากหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว การให้เช่าหนังสือดังกล่าวอาจมีความผิดซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองตามมาตรา 31(1) ได้
ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น เช่น เจ้าของจิตรกรรมอนุญาตให้สถาบันศิลปกรรมนำภาพเขียนของตนออกแสดงให้ประชาชนโดยเก็บค่าเข้าชม แต่ค่าเข้าชมครึ่งหนึ่งต้องมอบให้องค์การสาธารณกุศล ดังนี้เป็นการให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่องค์การสาธารณกุศล
อนุญาตให้ผู้อื่นนำงานอันมีลิขสิทธิ์ไปทำซ้ำหรือดัดแปลง เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์และสิ่งบันทึกเสียง โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่จำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
มาตรา 16 ได้กล่าวถึง สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อได้อนุญาตให้ผู้ใดใช้สิทธิตามมาตรา 15(5) แล้วย่อมไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ เว้นแต่หนังสืออนุญาตระบุข้อห้ามไว้ ลักษณะของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ไม่เด็ดขาด (non-exclusive copyright licensing agreement) เป็นสัญญาที่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของตนได้โดยไม่จำกัดครั้งและจำนวนบุคคล รวมทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิดังกล่าวอยู่
2. สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว(sole copyright licensing agreement) เป็นสัญญาที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ผู้ใดผู้หนึ่งใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เองก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้งานของตน
3. สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เด็ดขาด (exclusive copyright licensing agreement) เป็นสัญญาที่กำหนดให้ผู้รับอนุญาตแต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เองก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้งานของตนในระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
3.2 การละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรอง (secondary infringement) มาตรา 31
การละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองเป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิ์ขั้นต้น โดยมีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์มีการแพร่หลายออกไปด้วยการกระทำการต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 (1)-(4) เช่น ขาย มีไว้เพื่อขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นต้นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองมีหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ความรู้หรือควรรู้ของผู้กระทำว่างานใดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
2. ความมุ่งหมายเพื่อหากำไรจากกระทำนั้น
บทที่ 4 ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
(มาตรา 32 - มาตรา 43)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความพยายามสร้างดุลแห่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้งานลิขสิทธิ์
โดยให้บุคคลอื่นสามารถใช้งานลิขสิทธิ์ได้ตามความเหมาะสมโดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
เป็นการจำกัดสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ลงภายใต้เงื่อนไขบางประการ เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด
บัญญัติไว้ในมาตรา 32 วรรคแรก ดังนี้
1. การกระทำต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์
2. การกระทำนั้นไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
ข้อยกเว้นทั่วไป มีบัญญัติไว้ในมาตรา 32 วรรคสอง ที่บัญญัติให้การกระทำบางอย่างเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตั้งแต่ข้อยกเว้น (1)-(8) เช่น (1) วิจัยหรือศึกษางาน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
นอกจากข้อยกเว้นทั่วไปตามมาตรา 32 วรรคสองแล้ว ยังมีข้อยกเว้นเฉพาะซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 33 กรณีคัดลอกโดยมีการอ้างอิง เป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงาน ไม่ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ยังมีข้อยกเว้นอื่นๆ เช่น ข้อยกเว้นสำหรับการกระทำของบรรณารักษ์ห้องสมุดตามมาตรา 34 ข้อยกเว้นสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 35 ข้อยกเว้นสำหรับการแสดงงานนาฎกรรมหรือดนตรีกรรมตามมาตรา 36 ข้อยกเว้นสำหรับงานศิลปกรรมตามมาตรา 37, , ,39,40 ข้อยกเว้นสำหรับงานสถาปัตยกรรมตามมาตรา 38,41 ข้อยกเว้นสำหรับงานลิขสิทธิ์ต่างๆ ในภาพยนตร์ ตามมาตรา 42 และข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติราชการตามมาตรา 43
ตัวอย่างข้อยกเว้นตามมาตรา 35(1) หากผู้วิจัยหรือศึกษาได้ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นจนเกิดโปรแกรมใหม่ขึ้นจากการวิจัยหรือศึกษาดังกล่าว ผลที่ได้รับก็เพียงว่าการดัดแปลงนั้นไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่หาทำให้ผู้วิจัยหรือศึกษาดังกล่าวได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ดัดแปลงนั้นไม่ เพราะผู้ดัดแปลงจะได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ดัดแปลงก็เฉพาะแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 11 เท่านั้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปตรวจทาน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี ๒๕๔๓
(1) บทความนี้สรุปจากหนังสือคำอธิบายกฎหมายลิขสิทธิ์ของรองศาสตราจารญ์ธัชชัย
ศุภผลศิริ และคำอธิบายวิชากฎหมายทรัพย์ในทางปัญญาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแก่งแนติบัณฑิตยสภาและบางส่วนจากความเห็นของผู้เขียน
(2) นบ.(จุฬา), นบท.,LLM.(London),
Postgraduate Diploma in Intellectual Property Law (London)
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญา
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ขอขอบคุณเว็บไซต์ http://www.pub-law.net/library/act_copyright.html
และเว็บไซต์ http://www.lawonline.co.th/Document/d017.doc
ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งอ้างอิงทางกฎหมายที่ดีเสมอมา
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com