ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



01-04-2551 (1518)

ความรุนแรงต่อสตรีเริ่มขึ้นก่อนพวกเธอเกิด
ร่างกายของสตรี: ความรุนแรง ความมั่นคง และศักยภาพ
สฤณี อาชวานันทกุล : เรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(หมายเหตุ: หัวข้อย่อยสีส้ม เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ)

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความนี้เขียนโดย Martha Nussbaum จากต้นฉบับชื่อ "Women's Bodies: Violence, Security, Capabilities"
ตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ใน University of Chicago Law School http://uchicagolaw.typepad.com/faculty/2005/11/womens_bodies_v.html

โครงเรื่อง "ร่างกายของสตรี: ความรุนแรง ความมั่นคง และศักยภาพ"
- ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง
- ความรุนแรงต่อสตรี : ข้อมูล
- ความรุนแรงและศักยภาพของสตรี
- ทำไมจึงต้องมองศักยภาพ?
- วิธีมองศักยภาพ
- การปรับปรุงวิธีมองศักยภาพให้ดีกว่าเดิม
- กลยุทธ์ในการสร้างพลังให้กับสตรี ๓ ข้อ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๑๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความรุนแรงต่อสตรีเริ่มขึ้นก่อนพวกเธอเกิด
ร่างกายของสตรี: ความรุนแรง ความมั่นคง และศักยภาพ
สฤณี อาชวานันทกุล : เรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(หมายเหตุ: หัวข้อย่อยสีส้ม เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ)

ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง
ไม่มีสตรีใดในโลกที่ปลอดภัยแน่นอนจากความรุนแรง ทั่วทุกมุมโลก ร่างกายของผู้หญิงเปราะบางต่อวิธีการทำร้ายที่หลากหลาย นับตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว การถูกสามีข่มขืน การถูกคนรู้จักหรือคนที่ออกเดทด้วยข่มขืน การถูกคนแปลกหน้าข่มขืน การถูกข่มขืนในสงครามและความขัดแย้งในชุมชน การถูกฆ่าสังเวยเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัว (*) การถูกลักพาตัวและบังคับให้เป็นโสเภณี การถูกล่วงละเมิดทางเพศตอนเด็ก การฆ่าทารกเพศหญิง การตัดอวัยวะเพศหญิง และการเลือกทำแท้งเฉพาะเพศ ยังไม่นับพฤติกรรมอื่นๆ ที่ความรุนแรงไม่ปรากฏชัดเจน ซึ่งล้วนมีส่วนสร้างบรรยากาศคุกคามที่ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การถูกสะกดรอยตาม คำขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง การลิดรอนเสรีภาพทางร่างกาย หรือปัญหาเด็กผู้หญิงขาดโภชนาการ

(*)"honor killing" ในภาษาอังกฤษ หมายถึงประเพณีอิสลามสมัยโบราณที่ผู้ชายจะฆ่าญาติผู้หญิงที่ทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ปัจจุบันยังพบเห็นประเพณีนี้ได้ในบางประเทศ

"ปฏิญญาว่าด้วยการกำจัดความรุนแรงต่อสตรี" ของสหประชาชาติ (1994) ให้นิยามความรุนแรงต่อสตรีว่าเป็น "การกระทำที่มีพื้นฐานทางเพศใดๆ ก็ตาม ที่นำไปสู่หรือมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางจิตใจของผู้หญิง รวมทั้งความเสี่ยงว่าจะเกิดการกระทำดังกล่าว การบังคับขู่เข็ญ หรือการลิดรอนเสรีภาพ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในมิติของชีวิตสาธารณะหรือชีวิตส่วนบุคคล" ดังนั้นจะเห็นว่าพฤติกรรมหลายอย่างที่ดูไม่รุนแรง ก็ถูกนับเป็นรูปแบบของความรุนแรงด้วย ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ลิดรอนศักยภาพของผู้หญิงไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกายที่เห็นชัด

ถึงแม้ว่าผู้หญิงบางคนจะเปราะบางต่อความรุนแรงมากกว่าคนอื่น เนื่องจากความแตกต่างของประเทศ ท้องถิ่น วัฒนธรรม ฐานะ และสภาพแวดล้อมล้วนทำให้เกิดความแตกต่างจริงๆ ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือ สตรีผู้มีเหตุผลทุกคนไม่มีใครมีอิสรภาพสมบูรณ์แบบจากความกลัวว่าจะเกิดความรุนแรง ไม่ว่าเธอจะเคยประสบกับความรุนแรงด้วยตัวเองหรือไม่ก็ตาม ความกลัวเช่นนี้ ซึ่งในตัวมันเองก็นับเป็นความรุนแรงทางจิตใจชนิดหนึ่ง เป็นภาระในการใช้ชีวิตของผู้หญิงทุกคน ถ้าหัวข้อของเราคือ "ความมั่นคงของมนุษย์" เราก็ควรจะเริ่มจากการยอมรับว่าไม่มีสตรีใด ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จวบจนวัยชรา ผู้มีความมั่นคงนี้จริงๆ

ธรรมเนียมในวงวิชาการด้านสิทธิสตรีบอกว่า ผู้บรรยายหรือผู้เขียนควรจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอกับหัวข้อให้ชัดเจนก่อน ผู้ฟังหรือผู้อ่านจะได้มองเห็นอคติที่อาจซ่อนเร้นอยู่ เพื่อทำตามธรรมเนียมนี้ ฉันขอเปิดเผยว่า ฉันเป็นผู้หญิงที่เป็นอภิสิทธิ์ชน และคนคงจะคิดว่าฉันได้รับการคุ้มครองอย่างดีที่สุดเท่าที่ผู้หญิงจะมีได้ ฉันมีพ่อแม่ผู้มีฐานะและเปี่ยมความรักที่คอยปกป้องฉัน เลี้ยงดูฉัน และให้การศึกษาเพื่อให้ฉันพึ่งพาตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องไปประกอบอาชีพที่เสื่อมเสียต่อร่างกายหรืออาชีพอันตราย

ฉันเป็นคนค่อนข้างแข็งแรงและฟิต ถึงแม้ว่าจะไม่เคยเรียนศิลปะการป้องกันตัว ฉันก็สามารถปัดป้องการโจมตีบางชนิด และฉันก็เคยทำแบบนั้นมาแล้ว ฉันเคยได้รับการแนะนำให้ออกเดทกับผู้ชายสามคนที่ร่างกายแข็งแรงพอที่จะป้องกันการโจมตีของคนร้ายได้ ฉันอาศัยอยู่ในตึกที่มียามเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง อาศัยอยู่ในประเทศที่มองการข่มขืนว่าเป็นอาชญากรรมรุนแรง อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา รณรงค์ต่อต้านการซื้อขายมนุษย์ และอย่างน้อยก็พยายามทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทั้งหมดทำให้ฉันมองตัวเองว่าเป็น "หลักฐานแบบไม่มีข้อแม้" กล่าวคือ ถ้าความรุนแรงเกิดขึ้นกับฉันได้ ก็แปลว่ามันสามารถเกิดขึ้นซ้ำซ้อนกับผู้หญิงที่ไร้มาตรการป้องกันแบบที่ฉันมี

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ฉันได้ประสบความรุนแรงเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ อีกจำนวนมากในประเทศอันเจริญรุ่งเรืองของฉัน ฉันเคยถูกข่มขืนโดยคู่เดทหนึ่งครั้ง ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงที่ทิ้งแผลเป็นหนึ่งครั้ง และถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ทางวาจา อีกนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงความพยายามข่มขืนหนึ่งครั้ง (ดู Nussbaum, 2003a) (ฉันไม่เคยแจ้งความต่อตำรวจ เพราะสมัยนั้นฉันรู้ดีว่าตำรวจจะมีแต่หัวเราะใส่เท่านั้น) นั่นคือเหตุการณ์หลักๆ ที่ฉันประสบ

ทว่าการตระหนักรู้ถึงความรุนแรงที่ฉันไม่เคยประสบแต่มีแนวโน้มที่จะประสบ ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน คืนหนึ่งในฟินแลนด์ ระหว่างที่ฉันทำงานที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนา (World Institute for Development Economics Research หรือ WIDER) ฉันตัดสินใจออกไปเดินเล่นกลางป่าในเวลาตีหนึ่ง เพราะฉันไม่เคยมีโอกาสเช่นนั้นมาก่อน และฉันก็บอกตัวเองว่า จะมีที่ไหนอีกในโลกที่ฉันจะทำแบบนี้ได้ นอกเหนือจากในฟินแลนด์? หลังจากที่ฉันใช้เวลาเดินเล่นเพียงสิบนาทีในป่าอันสวยงาม ฉันก็สรุปว่าความกลัวจะไม่หายไป และฉันจะไม่มีวันมีความสุขกับการเดินเล่นยามวิกาลไปตลอดชีวิตของฉัน ผู้หญิงจำนวนมากประสบเรื่องราวที่น่ากลัวกว่านี้ สิ่งที่ฉันอยากจะเน้นก็คือ แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจากความรุนแรงตรงๆ ก็ยังเดือดร้อนโดยตรงจากความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ซึ่งข้อเท็จจริงข้อนี้ลิดรอนศักยภาพที่มีคุณค่าหลายประการ

แต่ตอนนี้ฉันขอย้ายไปพูดเรื่องข้อถกเถียงทางทฤษฎีของฉันก่อน หลังจากที่แสดงข้อมูลบางประการเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงแล้ว ฉันจะแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อศักยภาพข้อหลักๆ ในรายการของฉันอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น ฉันจะแสดงให้เห็นว่าเราต้องใช้วิธีมองศักยภาพ (capabilities approach) ถ้าเราอยากอธิบายความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด และเสนอวิธีการแก้ไขที่เป็นประโยชน์สูงสุด ฉันจะเสนอต่อไปภายใต้กรอบปรัชญาว่า วิธีมองศักยภาพจะเป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อมันพัฒนาไปในบางทิศทางเท่านั้น ซึ่งฉันจะพยายามอธิบายลักษณะของทิศทางเหล่านี้ ท้ายที่สุด ฉันจะอธิบายแนวปฏิบัติของวิธีมองศักยภาพในด้านนี้

ความรุนแรงต่อสตรี : ข้อมูล
สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ชัดเกี่ยวกับข้อมูลอะไรก็ตามเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงคือ ข้อมูลเหล่านั้นย่อมไม่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากผลกระทบประการสำคัญของความรุนแรงเหล่านั้นคือ ทำให้ผู้หญิงลังเลที่จะรายงานว่าถูกทำร้าย และในบางกรณี ผู้หญิงหลายคนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลกรรมที่ผู้หญิงต้องก้มหน้ารับ ไม่ใช่อาชญากรรม เมื่อคำนึงถึงจุดนี้ เราก็สามารถพูดถึงเสี้ยวเล็กๆ ของข้อมูลที่มีผู้เก็บรวบรวม

จากรายงานการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Report) ประจำปี 2000 ระบุว่า ผู้หญิงระหว่างร้อยละ 10 ถึง 47 (ใน 9 ประเทศที่ทำการศึกษา) ถูกทำร้ายร่างกายโดยคนใกล้ชิด (โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ, 2000, หน้า 36) ผู้หญิงจำนวนกว่า 500,000 คนต่อปีถูกลักพาตัวจากทวีปยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ในเอเชียสถิตินี้อยู่ที่ 250,000 คนต่อปี รวมผู้หญิงและเด็ก ในขณะเดียวกัน มีสาววัยรุ่นและผู้หญิง 85-115 ล้านคนที่เคยถูกกระทำชำเราอวัยวะเพศมาแล้ว และเด็กผู้หญิงอีก 2 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหา ในปากีสถานเพียงประเทศเดียว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโลก (Human Rights Commission) รายงานว่า มีผู้หญิงถูกฆ่าสังเวย (honor killing) กว่า 1,000 คนในหนึ่งปี เห็นชัดว่ารายงานการพัฒนามนุษย์มีข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขืนไม่เพียงพอ เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่รายงานเลย และสถิติที่รายงานนั้นก็ต่ำและผันผวนเสียจนไม่น่าเชื่อถือเลยแม้แต่น้อย (ด้วยเหตุนี้ จึงดูไม่น่าจะเป็นไปได้ที่แคนาดาจะมีอัตราการข่มขืนสูงเป็นสามเท่าของสหรัฐอเมริกา, อัตราการข่มขืนในเอสโทเนียจะสูงเป็นสี่เท่าของสหรัฐฯ, อัตราการข่มขืนต่อหน่วยประชากรในแคนาดา จะสูงกว่าอัตราของญี่ปุ่นถึง 90 เท่า และสูงกว่าอัตราของอิตาลีกว่า 80 เท่า, อัตราการข่มขืนในเอสโทเนียจะสูงที่สุดในโลก สูงกว่าแคนาดา ประเทศที่มาเป็นอันดับสอง เกือบสองเท่า ฯลฯ)

ความรุนแรงทางเพศในสหรัฐอเมริกา
ถ้าเราจะหาข้อมูลด้านสังคมศาสตร์ที่ละเอียดและเชื่อถือได้มากกว่านี้ เราต้องหันไปหางานวิจัยระดับชาติและภูมิภาคที่ละเอียด ในแง่นี้ ฉันจะยกตัวอย่าง 2 กรณีศึกษาจากสองประเทศที่มีความแตกต่างกันมาก คือสหรัฐอเมริกา และอินเดีย. ในอเมริกา ข้อมูลของศูนย์สถิติยุติธรรม (Bureau of Justice Statistics) ระบุว่า ความรุนแรงที่กระทำโดยคนใกล้ชิดมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของอาชญากรรมรุนแรงไม่ถึงชีวิตที่ผู้หญิงประสบในปี 2001 รายงานผลการสำรวจระดับชาติเรื่อง "ความรุนแรงต่อผู้หญิง" ที่โพสบนเว็บไซต์ของศูนย์สถิติยุติธรรม (http://www.ojp.usdoj.gov.bjs) ระบุว่า ร้อยละ 52 ของผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเธอเคยถูกทำร้ายร่างกายสมัยเป็นเด็กโดยผู้ดูแลที่เป็นผู้ใหญ่ หรือไม่ก็เคยถูกทำร้ายร่างกายตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว (นิยามของ "การทำร้ายร่างกาย" ในแบบสำรวจนี้ค่อนข้างกว้าง รวมตั้งแต่การตบตี ไปจนถึงการใช้อาวุธปืน)

ผู้หญิงร้อยละ 18 ตอบแบบสำรวจว่าพวกเธอเคยประสบการข่มขืนหรือความพยายามที่จะข่มขืน (นิยามของ "ข่มขืน" ครอบคลุมการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก และทางทวารหนัก) หญิงสาวและเด็กผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด กล่าวคือ ในบรรดาผู้หญิงทั้งหมดที่บอกว่าเคยถูกข่มขืนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ร้อยละ 22 มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และอีกร้อยละ 32 มีอายุระหว่าง 12-17 ปี เมื่อพวกเธอถูกข่มขืนเป็นครั้งแรก และถึงแม้ว่าผู้ชายจะประสบกับความรุนแรงจากคนใกล้ชิดเช่นเดียวกัน สถิติก็น้อยกว่าของผู้หญิงมาก กล่าวคือ ผู้หญิงร้อยละ 25 เทียบกับผู้ชายร้อยละ 8 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่าเคยถูกข่มขืนหรือทำร้ายร่างกายโดยคู่สมรสคนปัจจุบันหรือในอดีต คู่นอน หรือคู่เดท (Tjaden และ Thoennes, 1998)

ความรุนแรงทางเพศในอินเดีย
ฉันไม่ทราบว่ามีการศึกษาวิจัยระดับชาติเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดียหรือไม่ แต่ฉันรู้จักงานวิจัยระดับภูมิภาคชิ้นเยี่ยมหลายชิ้น หนึ่งในจำนวนนั้นที่ฉันชื่นชมและเชื่อถือมากเป็นงานวิจัยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวในมลรัฐเคราลา โดย บินา อาการ์วาล (Bina Agarwal) และ พรีดีพ แพนดา (Predeep Panda) (2003) ถึงแม้ว่างานชิ้นนี้จะไม่ครอบคลุมความรุนแรงทุกรูปแบบ ก็ยังน่าสนใจมาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า เป็นที่รู้กันดีว่าเคราลามีสถิติด้านสุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมกันระหว่างเพศค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับมลรัฐอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวชี้วัดการพัฒนามนุษย์เหล่านี้จะค่อนข้างดี สถิติความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจในเคราลาก็อยู่ในอัตราสูงมาก ดังสรุปของผู้เขียนต่อไปนี้:

ผู้หญิงร้อยละ 36 (ร้อยละ 41 ในเขตชนบท และร้อยละ 27 ในเขตเมือง) ตอบว่าเคยถูกทำร้ายร่างกายหลังแต่งงานแล้ว ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ถูกทำร้ายมากกว่าหนึ่งรูปแบบ กล่าวคือ ร้อยละ 61 ของผู้หญิงจำนวน 179 คนที่บอกว่าเคยถูกต่อย เตะ ตบ หรือทุบตีโดยสามีของพวกเธอ เคยถูกทำร้ายทั้งสี่แบบ และร้อยละ 90 บอกว่าเคยถูกทำร้ายอย่างน้อยสามรูปแบบในจำนวนนี้. ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเคยถูกทำร้ายสามครั้งหรือมากกว่า นอกจากนี้ สถิติการทำร้ายจิตใจก็สูงกว่าการทำร้ายร่างกายอีก - ร้อยละ 65 บอกว่าเคยถูกทำร้ายจิตใจ และร้อยละ 68 บอกว่าเคยถูกทำร้ายจิตใจสามครั้งหรือมากกว่า ในทำนองเดียวกัน ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีก่อนหน้าปีที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ ผู้หญิงร้อยละ 29 ถูกทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 49 ถูกทำร้ายจิตใจ สถิติที่น่าเป็นห่วงมากคือความรุนแรงขณะตั้งครรภ์ - ผู้หญิงร้อยละ 36 บอกว่าถูกตบ เตะ ต่อย หรือทุบตีระหว่างตั้งครรภ์ (Agarwal และ Panda, 2003, หน้า 9)

ความรุนแรงต่อสตรีเริ่มขึ้นก่อนพวกเธอเกิด (การฆ่าทารกเพศหญิง)
นอกจากนี้ ยอน เดรซี (Jean Dreze) และอมาตยา เซน (Amartya Sen) ก็ได้ชี้ให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า ความรุนแรงต่อสตรีในอินเดียนั้นเริ่มขึ้นก่อนพวกเธอเกิดเสียอีก (Dreze และ Sen, 2002, หน้า 257- 262) อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรขาดสมดุลทางเพศ (unbalanced sex ratio หมายถึงกรณีที่อัตราส่วนระหว่างประชากรหญิง:ชาย ต่างจาก 50:50 อย่างมีนัยยะสำคัญ) ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางโภชนาการและสุขอนามัยของเด็กผู้หญิง ตลอดจนพฤติกรรมฆ่าเด็กทารกที่เป็นเพศหญิงตั้งแต่เกิด หลังจากที่โลกมีเทคโนโลยีที่ช่วยดูเพศของตัวอ่อนในครรภ์ ช่องว่างระหว่างเพศก็ขยายตัวห่างขึ้นกว่าเดิม

ในกลุ่มทารกอายุระหว่าง 0-6 ปี ระหว่างปี 1991-2001 อัตราส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายลดลงจาก 94.5/100 เป็น 92.7/100 หรือถ้าเราจะมองข้อมูลจากอีกมุมหนึ่ง - อัตราการเกิดตามธรรมชาติอยู่ที่ประมาณเด็กผู้หญิง 95 คน ต่อเด็กผู้ชาย 100 คน ในอินเดีย อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 92 ต่อ 100 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ยอน เดรซี และอมาตยา เซน ก็ย้ำว่าตัวเลขดังกล่าวของอินเดียเป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ในความเป็นจริง เราอาจแบ่งอินเดียออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ซึ่งมีอัตราการเกิดแตกต่างกันมาก กล่าวคือ ภาคเหนือและตะวันตกแสดงปัญหาขาดสมดุลทางเพศอย่างรุนแรง แต่ภาคใต้และภาคตะวันออกไม่เป็น (โปรดสังเกตว่ามลรัฐเคราลาอยู่ในส่วนที่ขาดสมดุล). ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของอินเดียเท่านั้น อัตราส่วนของทารกแรกเกิดในประเทศจีนและเกาหลีใต้แย่กว่าของอินเดียอีก และอัตราส่วนในสิงคโปร์และไต้หวันก็ใกล้เคียงกับตัวเลขของอินเดีย (Dre`ze และ Sen, 2002, หน้า 257-262)

นี่คือสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะเห็นความคืบหน้าในบางพื้นที่ สถานการณ์โดยรวมก็ดูค่อนข้างน่าหดหู่. ราติกา กุมาราสวามี (Radhika Coomaraswamy) อดีตผู้ประสานงานพิเศษด้านความรุนแรงต่อสตรี ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ความรุนแรงต่อสตรีอาจเป็น "หนึ่งในความท้าทายสูงสุดที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญหน้าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า" (Coomaraswamy, 2002). หนึ่งปีให้หลัง ยาสมิน เออร์เติร์ก (Yasmin Erturk) ผู้ประสานงานพิเศษที่รับตำแหน่งต่อจากเธอ ก็รายงานว่า "แม้ว่าจะมีความคืบหน้าอยู่บ้าง โดยทั่วไป รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำลังล้มเหลวในการทำตามภาระหน้าที่ที่ผูกพันตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในการป้องกัน สืบสวน และเอาผิดผู้กระทำความรุนแรงต่อสตรี" (2003) เธอเรียกความรุนแรงทางเพศว่าเป็น "พรมแดนสุดท้ายของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี"

ความรุนแรงและศักยภาพของสตรี
ลองพิจารณาผลกระทบของความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ และความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงเหล่านี้ ที่มีต่อศักยภาพของผู้หญิง เนื่องจากฉันเคยอธิบายรายการศักยภาพด้านต่างๆ ที่ฉันเชื่อว่าควรเป็นรากฐานในการนิยามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ควรบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของทุกประเทศ (Nussbaum, 2000, หน้า 78-80) เราลองมาดูกันว่าความรุนแรงส่งผลกระทบใดบ้างต่อศักยภาพเหล่านี้

เสรีภาพในการดำรงชีวิต
เสรีภาพในการดำรงชีวิตเป็นข้อง่าย - ผู้หญิงหลายคนถูกฆาตกรรมระหว่างประสบความรุนแรงทางเพศ ระหว่างช่วงสงครามและความขัดแย้งในชุมชน ฆาตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ฉันเคยประเมินว่า ในบรรดาชาวมุสลิม 2,000 คนที่ถูกฆาตกรรมในเมืองคุชราช อินเดีย กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ทรมาน และเผาทั้งเป็น (Nussbaum, 2004a) กรณีทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ รวมทั้งบอสเนีย เซียร์ราลีโอน รวันดา และโคลัมเบีย นอกจากนี้ ผู้หญิงหลายคนก็จบชีวิตลงด้วยน้ำมือของคู่ครองหรือคู่นอน. ในปี 2000 เพียงปีเดียวในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงจำนวน 1,247 ถูกฆาตกรรมโดยคนใกล้ชิด (ศูนย์สถิติยุติธรรม, 1993-2001)

การส่งผ่านเชื้อเอชไอวีระหว่างการร่วมเพศ ส่วนใหญ่โดยไม่เปิดเผยและไม่ได้รับความยินยอมจากฝ่ายหญิง เป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจถึงแก่ชีวิต แพร่หลายมากในทวีปแอฟริกา การลักพาตัวและบังคับให้เป็นโสเภณี มักนำไปสู่ความตายจากการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และแน่นอน การเลือกทำแท้งและฆ่าทารกเฉพาะกรณีที่เป็นเพศหญิง รวมถึงปัญหาการขาดสารอาหารในหมู่เด็กหญิง ก็ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการตายของผู้หญิงทั่วโลก นอกจากนี้ การฆ่าสังเวยผู้หญิงเพื่อรักษาเกียรติ (honor killing) และฆาตกรรมที่เกี่ยวโยงกับสินสอด ก็ยังเกิดขึ้นอย่างน่าหดหู่ในบางพื้นที่

ประเด็นสุขภาพ
เมื่อเราหันจากประเด็นเสรีภาพในการดำรงชีวิต มามองประเด็นสุขภาพ เราจะเห็นว่ารูปแบบเดียวกันของความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบมหาศาลต่อสุขภาพของผู้หญิง แม้ในกรณีที่ความรุนแรงไม่ถึงแก่ชีวิต ทุกคนรู้ดีว่าการข่มขืนนั้นส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้หญิงตลอดชีวิตที่เหลืออย่างไร แม้ในกรณีที่เธอไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผิด และได้รับการดูแลอย่างเต็มที่จากระบบการรักษาพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่กรณีทั่วไป สิ่งที่เราพบเห็นได้ง่ายกว่าแม้กระทั่งในปัจจุบัน คือกรณีที่ผู้หญิงปกปิดประสบการณ์ข่มขืน หรือไม่ก็ถูกทำให้รู้สึกผิดและตำหนิตัวเองอย่างรุนแรงในกรณีที่เธอเปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าว การถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของผู้หญิงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ในทางที่เพิ่งจะได้รับการบันทึกอย่างเพียงพอเมื่อไม่นานมานี้เอง

ถ้าเราจะดูผลกระทบอันรุนแรงของการร่วมเพศโดยผู้ชายที่ไม่เปิดเผยว่าเป็นโรคติดต่อ หรือการถูกข่มขืนในชีวิตแต่งงาน เราก็เพียงแต่ต้องดูสัดส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเกิดขึ้นอย่างน่าเศร้าเป็นปกติในทุกประเทศ ในตัวมันเองก็ส่งผลกระทบในระยะยาว หญิงโสเภณีที่อายุยังน้อยมักมีอายุสั้นและต้องทนทุกข์ทรมาน การกระทำชำเราอวัยวะเพศหญิงมักทำให้ผู้หญิงมีลูกไม่ได้ตลอดชีวิต (ดู องค์การอนามัยโลก, 2002)

ประเด็นศักดิ์ศรีของร่างกาย
ศักยภาพด้านศักดิ์ศรีของร่างกาย (bodily integrity) เกี่ยวโยงกับความรุนแรงโดยตรงจนอาจดูราวกับว่าเราไม่ต้องพิจารณารายละเอียดใดๆ อีก แต่ในนิยามของฉัน ฉันคิดว่าควรกล่าวว่าศักดิ์ศรีของร่างกายนั้นรวมถึง "เสรีภาพในการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยเสรี" ด้วย และไม่มีผู้หญิงคนใดที่จะมีศักยภาพข้อนี้ทัดเทียมกับผู้ชาย ดังที่ประสบการณ์ในฟินแลนด์ของฉันแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ในแง่นี้ ความเสี่ยงไม่เสื่อมคลายที่จะเกิดความรุนแรง ส่งผลลิดรอนศักยภาพของมนุษย์พอๆ กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ศักดิ์ศรีของร่างกายยังแปลว่า "การมีโอกาสที่จะได้รับความพึงพอใจทางเพศและมีทางเลือกในประเด็นการสืบพันธุ์" ในประเด็นนี้ จุดยืนของฉันสะท้อนบทสรุปของการประชุมสุดยอดในประเด็นสังคม (Social Summit) ปี 1995 ที่กรุงไคโร ซึ่งระบุว่า "มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตทางเพศที่ปลอดภัยและได้รับความพึงพอใจ" ความรุนแรงทางเพศหลายรูปแบบทำลายศักยภาพข้อนี้ลง

ศักยภาพด้านอารมณ์ จินตนาการ และความคิด
สำหรับศักยภาพด้านอารมณ์ จินตนาการ และความคิด เราสามารถใช้เวลามากมายอธิบายว่า ความรุนแรงทางเพศและความกลัวจะเกิดความรุนแรงนี้ ส่งผลลิดรอนจินตนาการ ความคิด และความเพลิดเพลินของประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างไร และกีดกันการเข้าถึงการศึกษา เสรีภาพในการแสดงออก และการสร้างสรรค์ทางศิลปะอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของศักยภาพข้อนี้. ในนิยามของฉัน ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงทางร่างกาย เป็นสิ่งที่กดทับเสียงของผู้หญิงนานหลายร้อยปี กีดกันไม่ให้พวกเธอใช้ความคิดและจินตนาการในการสร้างพื้นที่ของตัวเองในโลก แคเธอรีน แมคคินนอน (Catharine MacKinnon) เคยวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่อง 'เสียงของผู้หญิงที่แตกต่าง' ของแครอล จิลลิแกน (Carol Gilligan) ไว้ว่า "ยกเท้าของพวกคุณออกจากคอของพวกเราสิ แล้วพวกคุณจะได้ยินว่าผู้หญิงพูดภาษาอะไร" (1987, หน้า 45)

ความโกรธเป็นพลังสร้างสรรค์ของสตรี
ฉันพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกมาตั้งแต่เริ่มการบรรยายในครั้งนี้ แต่ฉันก็ยังมีเรื่องจะต้องพูดอีก ประการแรก เราต้องเข้าใจความกลัวที่ทำให้ชีวิตของผู้หญิงพิกลพิการอย่างถึงแก่น "ศักยภาพในการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์โดยไม่ถูกบั่นทอนด้วยความกลัวและความกังวล" ฉันเขียนในรายการศักยภาพของมนุษย์ (Nussbaum, 2000, หน้า 79) ตอนนั้นฉันคิดถึงเพลงที่ฉันเคยได้ยินกลุ่มแม่บ้านร้องในมลรัฐอันตระประเทศ (Andhra Pradesh ในอินเดีย) เพลงนั้นขึ้นต้นว่า 'ทุกบ้านมีความกลัว เรามากำจัดความกลัวนี้กันเถิด มาร่วมกันสร้างองค์กรของสตรี' ฉันจะกลับมาสู่คำแนะนำที่มีประโยชน์ข้อนี้ในภายหลัง แต่ฉันอยากจะต่อท้ายคำแนะนำเกี่ยวกับความกลัวข้อนี้ ด้วยประเด็นว่า ความโกรธมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นพลังสร้างสรรค์ชนิดหนึ่งในชีวิตของผู้หญิง บ่อยครั้ง ผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดของความรุนแรงต่อสตรี คือการตะล่อมให้พวกเธอกลายเป็นพวกเดียวกัน แทนที่จะรู้สึกโกรธและลุกขึ้นต่อต้าน ผู้หญิงกลับรู้สึกผิดและรู้สึกว่าเป็นกรรมเก่า บทบาทหลักข้อหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี มักจะเป็นการปลูกฝังความโกรธชนิดสร้างสรรค์

พ่อค้า มาเฟีย และผู้หญิง
เหตุผลเชิงปฏิบัติในประเด็นนี้คือ ผู้หญิงที่ถูก "ใช้" อย่างรุนแรง หรือหวาดกลัวความรุนแรง จะไม่สามารถ "สร้างแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตที่ "ดี" และพินิจพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการวางแผนชีวิต" (Nussbaum, 2000, หน้า 79) ได้ดีเท่าที่ควร และถึงแม้ว่าเธอจะคิดได้ เธอก็ยังต้องคิดด้วยว่าจะหาทางคุ้มครองตัวเองอย่างไร พ่อค้าที่ต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้กับมาเฟียไม่มีเสรีภาพที่จะทำธุรกิจอย่างที่ใจปรารถนา ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกก็เหมือนกับพ่อค้าคนนั้น พวกเธอต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้กับแก๊งค์มาเฟียผู้ชาย หมายถึงการยอมร่วมเพศ ทำงานบ้าน และเลี้ยงลูก เป็นค่าตอบแทนที่จะมีผู้ชายแข็งแรงมาปกป้องพวกเธอให้รอดพ้นจากการโจมตี (แต่อาจจะไม่ปลอดภัยจากผู้ชายคนนั้น) แม้ในกรณีที่ตำรวจพยายามปกป้องผู้หญิงอย่างยิ่งยวด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็ทำให้อุ่นใจที่รู้สึกว่าคนที่เดินด้วยกันสามารถต่อสู้กับคนร้ายได้ แต่ถ้าผู้หญิงไม่ต้องพึ่งพาการคุ้มครองชนิดนี้ (ซึ่งบางครั้งก็ไม่มีราคาที่ต้องจ่าย) เธอก็จะอุ่นใจกว่า และมีเสรีภาพมากกว่า

ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ไปจำกัดเสรีภาพการรวมกลุ่มของผู้หญิง
ชัดเจนว่าความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงที่อยู่ทุกหนแห่งนั้น จำกัดประเภทของการรวมกลุ่มที่ผู้หญิงมีเสรีภาพที่จะทำได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวทำให้ความรักในชีวิตคู่บิดเบี้ยวผิดรูปไป และบิดเบือนความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงกับพ่อแม่ และกับโลกที่แวดล้อมตัวเธอ ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงบิดเบือนการรวมกลุ่มในหลายแง่มุม ทั้งใหญ่และเล็ก ในสังคมโดยรวม ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองหลายรูปแบบ การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ และการได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าทัดเทียมกันกับผู้อื่น

ยกตัวอย่างเช่น การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) ได้รับการยอมรับในกฎหมายอเมริกัน ว่าเป็นอาชญากรรมเกี่ยวกับความลำเอียงทางเพศที่ตั้งอยู่บนฐานอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ในหลายประเทศ เช่น อินเดียและญี่ปุ่น อาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศได้รับการยอมรับว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อินเดียเข้าใจว่าการข่มขืนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญของอินเดียเอง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ดู Chairman, Railway Board v. Mrs. Chandrima Das, AIR 2000 S. Ct. 988)

ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้หญิงในการมีความสัมพันธ์ที่เปี่ยมความหมายกับโลกธรรมชาติ เพราะมันมีผลต่อเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและความเป็นอิสระ นอกจากนี้ มันยังลิดรอนความสามารถของผู้หญิงในการเพลิดเพลินกับช่วงเวลาพักผ่อน การหัวเราะ และการละเล่น ถึงแม้ว่าศักยภาพดังกล่าว (ข้อเก้าในรายการของฉัน, ดู Nussbaum, 2000, หน้า 79) อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ฉันคิดว่าไม่มีอะไรน่าเศร้ากว่าการได้เห็นเสียงหัวเราะลบเลือนไปจากแววตาของเด็กสาวหรือผู้หญิงที่ผ่านความรุนแรงทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำซ้อน หรือความกลัวที่ไม่จางหายไป

การควบคุมสิ่งแวดล้อมของตัวเอง
สำหรับศักยภาพของมนุษย์ข้อสุดท้ายคือ การควบคุมสิ่งแวดล้อมของตัวเอง (Nussbaum, 2000, หน้า 80) ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมีอิทธิพลสูงมากต่อความสามารถของผู้หญิงที่จะมีส่วนร่วมในการเมือง หางานและมีชีวิตการทำงานที่คุ้มค่า และอำนาจควบคุมทั้งที่ดินและทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ ในหลายประเทศทั่วโลก กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำเรื่องเหล่านี้หลายเรื่องโดยปราศจาก 'ผู้คุ้มครอง' เพศชาย และสถานการณ์นี้ก็ดำเนินต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง แม้ในประเทศที่กฎหมายยอมรับความเท่าเทียมกันของผู้หญิง คำขู่จากญาติๆ การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงก็มักจะปิดกั้นไม่ให้พวกเธอมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล

กล่าวโดยสรุป ดูเหมือนจะไม่มีประเด็นใดเลยที่เกี่ยวโยงกับเสรีภาพของผู้หญิงในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเธอ ที่ไม่ถูกกระทบด้วยความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ที่ผ่านมา ฉันได้เน้นศักยภาพของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หรือความกลัวว่าพวกเธออาจตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง แต่ปัญหานี้ยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง กล่าวคือ ผลกระทบของความรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิตต่อศักยภาพของผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายผู้มีสถานภาพทางสังคมต่ำ (low-status males) ในสังคมที่การฆ่าทารกเพศหญิง การทำแท้งแบบเลือกเพศ และเทคนิคที่ร้ายแรงอื่นๆ ทำให้ประชากรขาดสมดุลทางเพศอย่างมีนัยยะสำคัญ

กิ่งไม้ที่เปลือยเปล่า
ในหนังสือเรื่อง กิ่งไร้ใบ - นัยยะด้านความมั่นคงของสถานการณ์ประชากรชายล้นในเอเชีย (Bare Branches: The Security Implications of Asia's Surplus Male Population) ผู้เขียนทั้งสองคือ วาเลอรี ฮัดสัน (Valerie Hudson) และ แอนดรูว์ เด็น โบเออร์ (Andrew den Boer) เชื่อว่า การขาดสมดุลทางเพศดังกล่าวเป็นอันตรายต่อความมั่นคงระดับประเทศและระดับนานาชาติ ในแง่ที่สถานการณ์นี้สร้างผู้ชายไร้รากที่มีสถานภาพทางสังคมต่ำ กลุ่มที่ประเทศจีนเรียกว่า 'กิ่งไร้ใบ' คนเหล่านี้ไม่มีความผูกพันทางสังคม จึงอาจถูกตะล่อมให้รวมตัวกันทำเรื่องรุนแรงได้ง่าย ถึงแม้ว่าประเด็นนี้จะไม่ใช่โฟกัสของฉันในการบรรยายครั้งนี้ มันก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับประเด็น "ศักยภาพและความมั่นคง" (Hudson และ den Boer, 2004) ของมนุษย์

ทำไมจึงต้องมองศักยภาพ?
เราอาจจะยอมรับทั้งข้อเท็จจริงเหล่านี้และความสำคัญของมัน แต่ไม่ยอมรับว่ามีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้วิธีมองศักยภาพ ในการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อความก้าวหน้าในประเด็นนี้ ดังนั้น ลองมาวิเคราะห์กันสักนิดว่า เหตุใดเราจึงต้องมองศักยภาพ? ถ้าเราเปรียบเทียบวิธีการนี้กับวิธีการอื่นๆ ที่ใช้กับการพัฒนามนุษย์ที่ผ่านมา คำตอบดูจะชัดเจนมาก เพราะการมอง "การพัฒนา" ว่าเท่ากับอัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross National Product หรือ จีเอ็นพี) ต่อหัวเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าไม่ถึงปัญหาเหล่านี้ แต่ยังหันเหความสนใจของเราออกจากมันอีกด้วย (ดู Nussbaum, 2003b)

การเติมเต็มความพึงพอใจของมนุษย์
วิธีการที่มองเป้าหมายของการพัฒนาว่า เป็นการ "เติมเต็มความพึงพอใจของมนุษย์" ล้วนเป็นวิธีการที่ดีกว่า เพราะความรุนแรงและความกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงนั้น ก่อให้เกิดความทุกข์และความเจ็บปวดมหาศาล แต่วิธีการเช่นนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ด้วยเหตุผลห้าประการได้แก่

ประการแรก เพราะวิธีการเช่นนี้รวบรวมปัจจัยอันหลากหลายที่ประกอบกันเป็น "ความชอบ" ของมนุษย์แต่ละคน และดังนั้นจึงไม่สามารถดึงความสำคัญของประเด็นความรุนแรงออกมาเป็นการเฉพาะ และไม่สามารถทำให้คนเห็นว่าความรุนแรงนั้นส่งผลต่อองค์ประกอบต่างๆ ที่มากมายและหลากหลายในชีวิตของผู้หญิงอย่างไร

ประการที่สอง เนื่องจากวิธีการเช่นนี้สรุปรวมสถิติแบบข้ามกลุ่มด้วย มันจึงไม่สามารถให้ความสำคัญกับความเปราะบางเป็นพิเศษที่คนบางกลุ่มและบางชาติพันธุ์ต้องเผชิญ เพียงเพราะพวกเขาเกิดมาเป็นสมาชิก เท่ากับลดทอนให้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสูตรการคำนวณความพอใจและความไม่พอใจของมนุษย์เท่านั้น

ประการที่สาม ถ้าวิธีการที่ตั้งอยู่บนความชอบของมนุษย์ไม่นำปัจจัยด้านศีลธรรมใดๆ มาใช้เป็นกรอบคิด มันก็ไม่มีทางแยกแยะความพึงพอใจและผลกำไรที่ผู้ชายได้รับจากการกระทำความรุนแรงต่อสตรี ออกจากสูตรคำนวณทางสังคม ความเจ็บปวดที่ผู้ชายได้รับหลังมีการประกาศใช้กฎหมายห้ามการข่มขืนโดยคู่ครอง การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขืนโดยคู่เดท เป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงดังสะท้อนจากวิวาทะเรื่องนี้ในหลายๆ ประเทศ ที่เข้มข้นมาก นักอรรถประโยชน์นิยม (utilitarian) ที่แท้จริงจะต้องนับความเจ็บปวดดังกล่าวด้วย (ดู Nussbaum, 2000, บทที่ 2) (ความล้มเหลวของ จอห์น สจวต มิลล์ (John Stuart Mill บิดาแห่งแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งเชื่อว่าการกระทำหรือนโยบายที่ดีที่สุดคือสิ่งใดก็ตามที่ "ทำให้คนจำนวนมากที่สุดที่เป็นไปได้ มีความสุขสูงสุดที่เป็นไปได้") ในปี 1869 ที่จะพูดถึงปัจจัยนี้ในบทที่ว่าด้วยการเอาเปรียบผู้หญิง เป็นสัญญาณที่ดีที่สุดที่บ่งชี้ว่าเขาไม่ศรัทธาในอรรถประโยชน์นิยมแบบเบนแธม (Jeremy Bentham นักคิดอรรถประโยชน์นิยมคนแรก) ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงประเด็นนี้)

ประการที่สี่ ทั้งจอห์น สจวต มิลล์ และอมาตยา เซน ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมักจะแสดง "ความชอบที่ปรับได้" (adaptive preferences) ที่ปรับตามสถานภาพ "พลเมืองชั้นสอง" ของพวกเธอ (Mill, 1869; Sen, 1995; และในบทความจำนวนมาก) ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะประสบความเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายร่างกาย พวกเธอก็อาจไม่รู้สึกเจ็บปวดทางใจเพราะไม่คิดว่าสิทธิของพวกเธอถูกละเมิด นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ถูกสอนให้เชื่อว่าความรุนแรงบางรูปแบบ เช่นการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นชะตากรรมที่ผู้หญิงทุกคนต้องก้มหน้ารับ ก็อาจไม่รู้สึกว่าความรุนแรงดังกล่าวเป็น "ความรุนแรง" ด้วยซ้ำไป

ประการที่ห้า เหตุผลประการสุดท้ายคือ วิธีการใดก็ตามที่มองเป้าหมายของการพัฒนาว่าเท่ากับความพอใจของมนุษย์ ย่อมกดทับประเด็นเรื่อง "พลังของการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง" (agency) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการวิเคราะห์ว่าความรุนแรงทำร้ายผู้หญิงอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การข่มขืนเป็นความชั่ว ไม่ใช่เพราะมันก่อให้เกิดความเจ็บปวดและความทุกข์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมันทำให้ศักยภาพในการใช้เหตุผลและเลือกทางเดินชีวิตกระเจิดกระเจิงไป บังคับให้ผู้หญิงต้อง "สร้างตัวตนขึ้นมาใหม่". ในคำพูดของนักปรัชญา ซูซาน บริสัน (Susan Brison) ในหนังสือเรื่อง ควันหลง (Aftermath) เมื่อเธออธิบายประสบการณ์การถูกข่มขืนของตัวเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น (Brison, 2002)

วิธีมองศักยภาพ
เราได้เห็นแล้วว่าวิถีการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความพอใจของมนุษย์นั้นไม่เพียงพออย่างไร แต่วิธีการที่มองสิทธิมนุษยชนเป็นหลักล่ะ? วิธีการแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ทั่วโลกในการอธิบายและต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงต่อสตรี "วิธีมองศักยภาพ" (capabilities approach) ที่ฉันพัฒนาขึ้น ก็จัดว่าเป็นวิธีมองสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับวิธีมองสิทธิมนุษยชนประเภทอื่นๆ คือ มันมองว่าสิทธิทั้งหลายที่ให้นิยาม ล้วนมีความสำคัญในตัวเอง และมองว่าสิทธิเหล่านั้นมีหลายประการ มีความหลากหลาย ไม่สามารถทดแทนได้ และเป็นแก่นสารของความยุติธรรมขั้นพื้นฐาน (basic justice) แต่มีผลพวงบางประการของการมองสิทธิว่าเป็นศักยภาพ ที่ทำให้แนวคิดนี้มีประโยชน์

ประการแรก วิธีมองศักยภาพทำให้เป็นเรื่องชัดเจนว่า ก่อนที่เราจะมอบสิทธิใดๆ ก็ตามให้กับใครบางคน เราจะต้องทำให้ผู้รับมีความสามารถที่จะใช้สิทธินั้นจริงๆ เสียก่อน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงใช้ศักยภาพของเธออย่างเต็มที่ และศึกษาผลกระทบของความเชื่อมโยงระหว่างศักยภาพด้านต่างๆ การวิเคราะห์ที่ฉันนำเสนอในก่อนหน้านี้ ชี้ให้เราเห็นว่า ประเทศใดก็ตามที่มอบสิทธิในการแสดงออกให้กับผู้หญิง หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ไม่ทำอะไรกับปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ก็เท่ากับว่าประเทศนั้นล้มเหลวในการมอบสิทธิดังกล่าวให้กับผู้หญิง จากมุมมองของศักยภาพ วิธีการมองสิทธิมนุษยชนบางวิธีมองสิทธิต่างๆ แบบแยกส่วน หรือไม่ก็ไม่สนับสนุนให้เราศึกษาวิเคราะห์ปัญหานี้ในรายละเอียด

ประการที่สอง ประเด็นที่เกี่ยวโยงกันคือ เนื่องจากวิธีมองศักยภาพนั้นตั้งอยู่บนความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์ที่จะกระทำหรือเป็นอะไรสักอย่าง วิธีนี้จึงทำให้เรามองเห็นอย่างชัดเจนว่า สิทธิมนุษยชนทุกข้อมีองค์ประกอบทางเศรษฐกิจและที่เป็นรูปธรรม วิธีนี้จึงตั้งข้อสงสัยต่อความแตกต่างระหว่าง "สิทธิรุ่นแรก" และ "สิทธิรุ่นที่สอง" ที่นักสิทธิมนุษยชนนิยมใช้ เรามองว่าเสรีภาพทางการเมืองเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางวัตถุและทางร่างกาย โดยเฉพาะความปลอดภัยจากความรุนแรง และเราก็มองทั้งสองประเด็นนี้ว่าเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับ "พลังในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ" (economic empowerment) (ตรงนี้เราอาจนึกย้อนไปถึงเรื่องราวของวสันติ (Vasanti) (Nussbaum, 2000, บทนำ) ผู้สามารถแยกทางกับสามีที่ทำร้ายร่างกายของเธอไม่หยุดหย่อน ก็ต่อเมื่อเธอได้รับเงินกู้จากองค์กรสตรีผู้ประกอบการ (Self-Employed Women's Association หรือ SEWA) ซึ่งทำให้เธอสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันหลังจากนั้นได้)

ประการที่สาม วิธีมองสิทธิมนุษยชนบางวิธีช่วยตอกย้ำความแตกต่างระหว่าง "ชีวิตส่วนตัว" และ "ชีวิตสาธารณะ" ฉันมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ วาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนมีจุดกำเนิดในสังคมตะวันตกที่พึ่งพิงความแตกต่างระหว่างส่วนตัวกับสาธารณะ "สิทธิ" ทั้งหมดถูกมองว่าเป็นเรื่องสาธารณะ และครอบครัวถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ใช้วาทกรรมเรื่องสิทธิไม่ได้ ว่ากันตามจริง วิธีมองสิทธิแบบนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่กีดขวางไม่ให้หลายคนมองสิทธิสตรีว่าเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง วิธีมองศักยภาพไม่มีภาระทางความคิดแบบนี้ และไอเดียว่าเรามีความสามารถที่จะทำอะไรหรือเป็นอะไรนั้น ย่อมใช้ได้ทั้งในครอบครัวและนอกบ้าน ตั้งแต่แรก งานพื้นฐานของอมาตยา เซน เรื่องเพศและความขัดแย้งแบบร่วมมือกัน (cooperative conflicts) พุ่งเป้าไปที่การวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกันที่ผู้หญิงประสบภายในครอบครัว

ประการที่สี่ ท้ายที่สุด วิธีมองศักยภาพไม่ตั้งอยู่บนความแตกต่างระหว่างการกระทำของรัฐ กับการไม่ทำอะไรของรัฐ [การนิ่งเฉยของรัฐ] (state inaction) ที่เป็นความแตกต่างดั้งเดิมในวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน ฉันเคยตั้งข้อสังเกต (Nussbaum, 2003b) ว่า แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นถูกพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดเรื่อง "อิสรภาพทางลบ" (negative liberty) ซึ่งหมายถึงเสรีภาพที่ไม่ถูกรัฐกำกับดูแล หมายความว่า รัฐที่ไม่ทำอะไร แปลว่ายอมมอบสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน และสิทธิมนุษยชนก็เป็นป้อมปราการต้านเฉพาะรัฐบาลกลางที่กดขี่และแทรกแซงประชาชนเท่านั้น

สิ่งกีดขวางต่างๆ ที่ตลาด รัฐบาลท้องถิ่น หรือปัจเจกชนเป็นผู้ก่อ ไม่ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่นี้ การันตีเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา ฯลฯ ที่รัฐธรรมนูญระบุ ล้วนเขียนในมุมมองว่ารัฐธรรมนูญห้ามรัฐบาลกลางทำอะไรบ้าง ก่อนสงครามกลางเมือง (Civil War). ในอเมริกา กฎหมายไม่ห้ามการละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยรัฐบาลระดับมลรัฐ และในความเป็นจริง รัฐบาลท้องถิ่นบางมลรัฐถึงกับมีโบสถ์ประจำรัฐ หลังจากมีการเพิ่มเติมคำแปรญัตติมาตราที่ 14 (Fourteenth Amendment) ก็มีการผนวกรวม "บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง" (Bill of Rights) เข้าไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าใจกันว่ามีผลบังคับใช้กับมลรัฐต่างๆ ด้วย แต่การผนวกรวมเป็นกระบวนการที่เชื่องช้าและค่อยเป็นค่อยไป และไม่รวมการกระทำของปัจเจกชน ยกตัวอย่างเช่น การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะการออกกฎหมายของสภา ไม่ใช่เพราะมันผิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

อิสรภาพทางลบ" (negative liberty)
วิธีมองศักยภาพปฏิเสธแนวคิดเรื่อง "อิสรภาพทางลบ" อย่างสิ้นเชิง เพราะมันทำให้หลายคนเข้าใจผิด ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีใคร โดยเฉพาะผู้หญิง มีเสรีภาพจริงๆ เพียงเพราะถูกทิ้งให้อยู่เฉยๆ โดยรัฐที่เกียจคร้าน นอกจากนี้ วิธีมองศักยภาพยังปฏิเสธความแตกต่างระหว่างการกระทำและการไม่ทำอะไร รัฐที่ไม่ทำอะไรได้เลือกที่จะทำเช่นนั้น และแน่นอนว่าการคุ้มครองแม้กระทั่งเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดที่เพื่อนๆ ของฉันที่เป็นนักเสรีนิยมหัวรุนแรงที่สุด (radically libertarian) ยอมรับ ก็ยังต้องใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องทรัพย์สินส่วนบุคคล

ระบบสัญญาระหว่างเอกชน และนิติรัฐ (rule of law) วิธีมองศักยภาพยืนกรานว่า สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ จำเป็นและสมควรต้องใช้อำนาจรัฐในการคุ้มครอง และสิทธิเหล่านี้ก็ต้องได้รับการค้ำจุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานบังเกิด. มาตรฐานที่เราควรใช้ไม่ใช่ภาวะที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ หากเป็นศักยภาพที่แท้จริง - ผู้คนจะต้องอยู่ในสถานะที่ทำให้พวกเขา 'ทำ' หรือ 'เป็น' อะไรก็ตามได้จริงๆ

ความรุนแรงเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงไร้เสรีภาพ
ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีทำให้ประเด็นนี้เด่นชัดขึ้นมาก เพราะดังที่ฉันได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ความรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไร้เสรีภาพ และส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านอื่นๆ ของพวกเธอด้วย ความรุนแรงนี้มีส่วนน้อยมากๆ ที่รัฐเป็นผู้กระทำโดยตรง รัฐจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและแทรกแซง เพื่อยืนยันว่าการข่มขืน รวมทั้งการข่มขืนภายในครอบครัว เป็นอาชญากรรมรุนแรง เพื่อบีบบังคับให้ตำรวจดำเนินคดีเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัวอย่างจริงจัง เพื่อมอบค่าชดเชยให้กับผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อหยุดการลักพาตัวและบังคับให้ผู้หญิงขายตัว และเพื่อหยุดปัญหาการทำแท้งแบบเลือกเพศ

นอกจากนี้ ปัญหาในรัฐคุชราชก็แสดงให้เห็นว่า รัฐต้องลงมือเพื่อหยุดการทรมานและข่มขืนผู้หญิงที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เพราะปัญหาในคุชราชเป็นอาชญากรรมจากความไม่แยแสของรัฐ ไม่ใช่จากการกดขี่ของรัฐ ความคืบหน้าที่ระบุในรายงานพัฒนามนุษย์ประจำปี 2000 และจากปากของผู้ประสานงานพิเศษเรื่องความรุนแรงต่อสตรี ล้วนเป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนให้รัฐแทรกแซง "เรื่องส่วนตัว" มากขึ้น เช่น การออกกฎหมายห้ามการข่มขืนที่รุนแรงกว่าเดิม กฎหมายห้ามการล่วงละเมิดทางเพศ ให้ตำรวจแทรกแซงเรื่องครอบครัวมากกว่าเดิม และมาตรการปราบปรามการลักพาตัวที่เข้มข้น

ฉันไม่ได้กำลังเสนอว่า วิธีมองสิทธิมนุษยชนที่พัฒนาโดยโครงการพัฒนาของสหประชาชาติและซากิโกะ ฟูกูดะ-พาร์ (Sakiko Fukuda-Parr) และใช้ในรายงานพัฒนามนุษย์ปี 2000 มีข้อบกพร่องที่ฉันพูดถึง (United Nations Development Programme, 2000) ในความเป็นจริง รายงานดังกล่าวไม่ได้มีข้อบกพร่องเหล่านั้น แต่ในเมื่อวิธีมอง "อิสรภาพทางลบ" แบบอเมริกัน และการแยกแยะระหว่าง "เรื่องส่วนตัว" และ "เรื่องสาธารณะ" ที่ติดมากับวิธีมองแบบนี้ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในโลก และเมื่อคำนึงถึงความเชื่อมโยงในประวัติศาสตร์ระหว่างวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและแนวคิดอันตรายดังกล่าว ฉันคิดว่าเราควรจะต่อเติม (ไม่ใช่ทดแทน) ภาษาของสิทธิมนุษยชนด้วยภาษาของศักยภาพ เพื่อขับเน้นประเด็นสำคัญๆ ออกมา และแจกแจงรูปร่างหน้าตาของรัฐที่แตกต่างไปจากเวอร์ชั่นในเอกสารสมัยศตวรรษที่สิบแปดบางฉบับ ที่ยังทรงอิทธิพลอย่างสูงในปัจจุบัน

การปรับปรุงวิธีมองศักยภาพให้ดีกว่าเดิม
เราได้เห็นแล้วว่าวิธีมองศักยภาพนั้นมีประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อสตรีอย่างไรบ้าง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ เพราะในแนวคิดของเซนและของฉัน เราต่างคนต่างพัฒนาวิธีนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้หญิงเป็นสำคัญ และมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเป็นเป้าหมายหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฉันจะแสดงให้เห็นว่า วิธีนี้จะต้องมีการต่อยอดทางปรัชญาอย่างไรบ้าง ถ้ามันจะจัดการปัญหาได้อย่างชัดเจนและเป็นประโยชน์จริงๆ ฉันมองเห็นการต่อยอดแนวคิดนี้สามข้อ

ความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่กระทำต่อผู้หญิง

(1).
การต่อยอดประการแรกกำลังดำเนินไป ทั้งในงานของเซนและของฉัน แต่มันต้องมีโฟกัสและการถกเถียงทางวิชาการมากกว่าเดิม นั่นคือประเด็นที่ว่า วิธีมองศักยภาพจะต้องมีคำตอบให้กับแนวคิดเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม (cultural relativism) และแนวคิดประเพณีนิยม (traditionalism) ซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการต่อต้านผู้หญิงที่เรียกร้องให้กำจัดความรุนแรงต่อพวกเธอ โดยเฉพาะความรุนแรงภายในครอบครัว. ยาสมิน เออร์เติร์ก (Yasmin Erturk) เขียนว่า "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการเรียกร้องสิทธิสตรี คือลัทธิว่าด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม" (2003) ในทำนองเดียวกัน ราติกา กุมาราสวามี (Radhika Coomaraswamy) เขียนว่ารูปแบบของความรุนแรงที่เชื่อมโยงกับ "แนวคิดเรื่องวัฒนธรรม" เป็นความรุนแรงที่ "ฝังลึกและกำจัดยากมาก" (2002) เธอเชื่อมโยงข้อสังเกตดังกล่าวเข้ากับหลักการที่ฟังดูน่าเชื่อถือว่า "พิธีกรรมทางวัฒนธรรมหลายพิธีที่ทำความรุนแรงต่อผู้หญิง มีรากมาจากความต้องการที่จะควบคุมเพศสภาพและชีวิตทางอารมณ์ของผู้หญิง

ในสังคมบางแห่ง การแสดงออกทางอารมณ์และทางเพศของผู้หญิงถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อเสถียรภาพของสังคม และท้าทายระเบียบสังคม ...ความเป็นอิสระทางเพศของผู้หญิงจะต้องได้รับการยอมรับและเคารพ ก่อนพิธีกรรมที่ทำร้ายผู้หญิงจะสามารถถูกกำจัดได้" (Coomaraswamy, 2002) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เซนและฉันได้ต่อต้านแนวคิดเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสนับสนุนมุมมองที่ว่า ศักยภาพของมนุษย์มีความสำคัญในตัวมันเอง (Nussbaum และ Sen, 1993; Nussbaum และ Glover, 1995; Sen, 1995) อย่างไรก็ดี เราจะต้องตอกย้ำจุดยืนนี้ต่อไป และแสวงหาคำอธิบายที่ดีที่สุด

คำอธิบายที่มีน้ำหนักที่สุดคืออะไร?

ข้อแรก เราต้องเริ่มต้นจากการวิพากษ์แนวคิดที่มองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งโบราณที่มีเนื้อเดียวกัน (homogeneous monoliths) มีปทัสถาน (norm) เพียงชุดเดียว ในความเป็นจริง วัฒนธรรมล้วนเป็นเวทีของการถกเถียงและการปะทะช่วงชิง วัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมมีหลายเสียง และเสียงที่ได้ยินง่ายที่สุดย่อมเป็นเสียงของกลุ่มผู้มีอำนาจ ด้วยเหตุนั้น การอิงแอบวัฒนธรรม ถ้ามันไม่แสวงหาเสียงของกลุ่มคนที่ไร้อำนาจหรือกลัวที่จะพูด ก็เป็นเพียงการอิงแอบอำนาจเดิมเท่านั้น ข้ออ้างทำนองนี้จะมีความชอบธรรมทางศีลธรรมได้อย่างไร? ถ้าการหยิบยกวัฒนธรรมเป็นข้ออ้าง มองไม่เห็นความหลากหลายของมนุษย์และการปะทะช่วงชิงกัน การกระทำเช่นนั้นก็ไม่ได้มอบคำตอบใดๆ ให้กับเรา ทำได้เพียงตั้งคำถามเท่านั้น (Nussbaum, 2000, บทที่ 1)

ข้อสอง เราควรพินิจพิเคราะห์ข้อถกเถียงของคนที่ชอบอ้างความแตกต่างทางวัฒนธรรม (relativism) คนแบบนี้เชื่ออะไรกันแน่? มันต้องเป็นหัวข้อที่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (descriptive thesis) หรือไม่ก็อธิบายกฎเกณฑ์ที่ควรจะเป็น (normative thesis) ถ้าประเด็นของเขาเป็นกรณีแรก นั่นคือ ถ้าเขาเชื่อว่าคนเราตัดสินใจทางศีลธรรมในทางที่สอดคล้องกับประเพณีท้องถิ่น คำอธิบายนี้ก็ผิดอย่างชัดเจน เพราะคนเราต่อสู้กับประเพณีตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้หญิง และถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนบางคนจะทำตามประเพณี ก็ไม่ได้แปลว่าเรามีเหตุผลที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่ทำตามประเพณี แต่ถ้าคนที่ชอบอ้างความแตกต่างทางวัฒนธรรมอ้างถึงสิ่งที่ควรจะเป็น ด้วยการกล่าวว่าคนเราควรจะตัดสินใจในทางที่สอดคล้องกับประเพณีท้องถิ่น คำพูดดังกล่าวก็ไม่มีเหตุผลดังที่ฉันได้อธิบายไปแล้ว (เนื่องจากวัฒนธรรมมีความหลากหลาย และวัฒนธรรมย่อยในนั้นก็ปะทะสังสรรค์กันตลอดเวลา) และกลับจะกระตุ้นให้เราถามกลับว่า "ทำไม?" ทำไมผู้หญิงจึงควรทำตามประเพณี? ไม่มีใครเคยให้เหตุผลที่ฟังขึ้น

สมมติว่าคนที่ชอบอ้างความแตกต่างทางวัฒนธรรมเปลี่ยนมาบอกว่า เราทุกคนควรทำตามประเพณีท้องถิ่นเพื่อแสดงความนับถือต่อความแตกต่างและความหลากหลายของมนุษย์ ก่อนอื่น ความนับถือแตกต่างจากการมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาก เพราะการแสดงความนับถือความแตกต่างที่แท้จริง คือการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมกลุ่ม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และปัจจัยทางวัตถุที่ส่งเสริมคุณค่าเหล่านี้ อย่างไม่มีข้อแม้และไม่อิงแอบข้ออ้างเรื่องวัฒนธรรม ปทัสถานเหล่านี้ไม่เคยได้รับการยืนยันว่า "ดี" จากประเพณีต่างๆ ในโลก ดังนั้นจึงไม่อยู่ใต้ขอบเขตของการมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย (Nussbaum, 2003b)

(2). ประการต่อมา ไม่ใช่ว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมทุกอย่างมีค่าควรแก่การอนุรักษ์เอาไว้ เราอาจนับถือคนที่อนุรักษ์ภาษา หรือหัตถกรรมพื้นบ้าน แต่ความรุนแรงในครอบครัวล่ะ? ประเพณีใดก็ตามที่สร้างความเจ็บปวดและความเดือดร้อนควรต้องถูกกำจัด (Nussbaum, 2000, บทที่ 1)

ตอนนี้ก็มาถึงประเด็นใหญ่ทางปรัชญาประเด็นที่สองของฉัน ฉันเชื่อว่าการปฏิเสธแนวคิดที่ว่าเราควรอนุรักษ์ทุกวัฒนธรรมเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ (relativism) เป็นหลัก ซึ่งทั้งเซนและฉันเห็นด้วย เกี่ยวพันตามธรรมชาติกับอีกประเด็นหนึ่งที่เขาและฉันมีความเห็นไม่ตรงกัน นั่นคือ ความสำคัญของการแจกแจงศักยภาพต่างๆ ออกมาเป็นรายชื่อ เพื่อใช้เป็นเป้าหมายของประชาคมโลก (Nussbaum, 2003b) ฉันเชื่อว่าการรณรงค์ในเรื่องนี้จะต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจน เหมือนกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก

ฉันเสนอว่าเราควรใช้รายการศักยภาพในด้านต่างๆ เป็นตัววัดระดับ "ความยุติธรรมทางสังคม" (social justice) ขั้นพื้นฐาน และรายการนี้ก็จะต้องได้รับการยอมรับและคุ้มครองโดยกฎหมาย เช่น โดยรัฐธรรมนูญของทุกประเทศ นี่คือกระบวนการเดียวกันกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องการแจกแจงสิทธิข้อต่างๆ ออกมาเป็นรายการ แล้วผลักดันให้ทุกประเทศคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นในกฎหมายภายในประเทศ ด้วยการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศ

แน่นอนว่าเครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนบางอย่างหรือรายการศักยภาพของฉันอาจจะมีข้อผิดพลาดในรายละเอียด และนั่นคือสาเหตุที่ฉันยืนยันว่ารายการนั้นเป็นเพียงข้อเสนอ เพื่อกระตุ้นการถกเถียงอภิปรายต่อไป ไม่ใช่ข้อเสนอตายตัว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรตกลงกันเรื่องเนื้อหาเลย ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นผลลัพธ์ของการถกเถียงในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ. แน่นอน ในแง่ของการผลักดันขั้นตอนปฏิบัติและรายละเอียด ฉันคิดว่าเราควรตกลงกันเรื่องเนื้อหา ไม่มีประเทศไหนหรอกที่จะถูกบุกรุกเพราะกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงของคู่สมรสไม่เพียงพอ (Nussbaum, 2003b) (ถึงแม้ฉันจะตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเราดูจำนวนผู้หญิงที่ถูกฆ่าเพราะเป็นผู้หญิง เราควรจะคิดถึงนิยามของ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" (genocide) แล้วสงสัยว่าเหตุใดประชาคมโลกจึงไม่เคยคิดถึงการฆ่าผู้หญิงอย่างเป็นระบบว่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนกัน) [การฆ่าล้างเผ่าเพศ]

ฉันคิดว่า จุดยืนของอมาตยา เซนที่ต่อต้านการปกป้องธรรมเนียมที่ทำร้ายผู้หญิงนั้น ดูจะไม่สอดคล้องกันกับข้อเรียกร้องของเขาที่ให้มองศักยภาพทั้งมวลว่าเป็นเสรีภาพมนุษย์ (Sen, 1999) เซนไม่ยอมพูดว่า เสรีภาพบางอย่างเป็นเสรีภาพที่ดี เสรีภาพบางอย่างเป็นเสรีภาพที่ไม่ดี เสรีภาพบางอย่างเป็นเสรีภาพที่สำคัญ และเสรีภาพบางอย่างก็เป็นเสรีภาพที่ไม่สำคัญ

เวลาเราคิดถึงความรุนแรงต่อสตรี เราเห็นชัดเจนว่าการถกเถียงอภิปรายแบบประชาธิปไตยนั้นไม่เคยช่วยแก้ปัญหานี้เลย ถ้ามันจะมีอะไรที่เราเรียกได้ว่า "ความก้าวหน้า" ในด้านนี้ มันก็เป็นผลพวงจากการผลักดันของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในระดับนานาชาติ ทั้งในเอกสารทางการ แถลงการณ์ ในงานของผู้ประสานงานพิเศษ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ปกป้องสิทธิสตรีที่แจกแจกเป็นข้อๆ ทั้งสิ้น ฉันมองว่างานเกี่ยวกับรายการศักยภาพของฉันเป็นพันธมิตรกับความพยายามของพวกเขา และฉันก็สงสัยว่าเหตุใดจึงมีคนมองว่าความชัดเจนเกี่ยวกับเนื้อหาด้านนี้ในระดับโลก จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการอภิปรายแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่การท้าทายระบอบประชาธิปไตยในโลกให้ทำหน้าที่ของพวกเขาให้ดีกว่าเดิม

แน่นอนว่าการอ้างเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น เพราะถ้าจะให้ผู้หญิงปลอดภัยจากความรุนแรงจริงๆ เราก็จำเป็นจะต้องจำกัดเสรีภาพหลายประการที่เรามองว่ามีคุณค่า และเราก็ต้องพร้อมที่จะจัดการกับเสรีภาพในการข่มขืนภรรยา เสรีภาพในการล่วงเกินทางเพศในที่ทำงาน เหล่านี้ไม่ใช่เสรีภาพที่ดี มันไม่ใช่เสรีภาพที่ควรอยู่ในรายการสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมที่ยุติธรรม และถ้าเราต้องการปกป้องกฎหมายห้ามการล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืนระหว่างคู่ครอง ฯลฯ เราก็ต้องพูดว่า เสรีภาพที่เรากำลังปกป้องในกรณีเหล่านั้นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม เป็นสิทธิเสรีภาพที่ผู้หญิงยังไม่มี

(3). ประเด็นที่สามซึ่งเป็นประเด็นสุดท้ายที่ฉันอยากจะพูดเกี่ยวกับพัฒนาการในอนาคตของวิธีมองศักยภาพคือ วิธีการนี้ต้องมองจากระดับประเทศน้อยลงกว่าที่ผ่านมา ไปยึดโยงกับวิวาทะระดับโลกและสิ่งที่ประเทศร่ำรวยเป็นหนี้บุญคุณของประเทศยากจนมากกว่าเดิม (Nussbaum, 2005) เวทีสาธารณะระดับโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา และปัญหาความปลอดภัยของผู้หญิงล้วนต้องอาศัยการเคลื่อนไหวระดับโลกที่ประสานงานร่วมกัน ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งต้องแก้ด้วยการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจเสียใหม่ เพราะฉันกำลังจะอธิบายว่าเหตุใดการสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิง (economic empowerment) จึงเป็นหนึ่งในวิธีการต่อสู้กับความรุนแรงต่อสตรีที่ดีที่สุด และวิธีการนี้ก็ต้องอาศัยเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

โดยทั่วไป การส่งเสริมศักยภาพพื้นฐานของพลเมืองโลกทั้งมวลจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ และข้อเท็จจริงทั่วไปทั้งสองข้อนี้ก็เป็นจริงสำหรับผู้หญิงด้วย เพราะโอกาสในการมีงานทำของพวกเธอมักจะถูกจำกัดโดยปัญหาเรื้อรังในประเทศ และธรรมเนียมปฏิบัติแย่ๆ ที่แก้ไขได้ง่าย (ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงในเคราลามีการศึกษาก็จริง แต่พวกเธอมักจะหางานทำไม่ได้ ทำให้หลายคนลงเอยด้วยการเป็นโสเภณีในกรุงเดลี)

กลยุทธ์ในการสร้างพลังให้กับสตรี ๓ ข้อ
เราจะคืบหน้าในการกำจัดความรุนแรงทุกชนิดที่ฉันอธิบายได้อย่างไร? นี่เป็นหัวข้อที่กว้างมาก แต่ฉันคิดว่าเราสามารถใช้กรอบทางทฤษฎีที่ฉันเพิ่งอธิบายในบทความนี้ ส่องทางให้แคบลงได้ นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านการปฏิรูปกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งมากขึ้นแล้ว วิธีมองศักยภาพยังผลักดันให้เราคิดว่า เราจะกระตุ้นให้ศักยภาพหนึ่งไปช่วยเหลือศักยภาพอื่นได้อย่างไรบ้าง ถ้าการวิเคราะห์ของฉันในส่วนที่สองของบทความนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งร้ายๆ มักจะอยู่ด้วยกัน ก็เป็นเรื่องจริงเช่นเดียวกันที่การสนับสนุนศักยภาพบางประการช่วยกระตุ้นศักยภาพอื่นๆ ด้วย บางครั้ง ในประเด็นที่เต็มไปด้วยการปะทะคัดง้างทางวัฒนธรรมเช่นนี้ วิธีการทางอ้อมผ่านศักยภาพอื่นอาจเป็นวิธีการที่ดีที่สุด องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีที่เก่งๆ ปกติไม่ได้เดินเข้าไปในหมู่บ้านแล้วประกาศว่า "เรามาที่นี่เพื่อเปลี่ยนบทบาททางเพศและหยุดไม่ให้ผู้ชายตบตีภรรยาอีกต่อไป" ถึงแม้ว่าความรุนแรงจะเป็นวาระข้อใหญ่ของพวกเขา ปกติองค์กรเหล่านี้ก็จะใช้กลยุทธ์ทางอ้อมกว่า กลยุทธ์ที่เพิ่มพลังในการต่อรองและทางออกให้กับผู้หญิง ผ่านการสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้กับพวกเธอ

1. การสร้างพลังทางเศรษฐกิจ
งานวิจัยของอาการ์วาลแสดงให้เห็นว่า การสร้างพลังทางวัตถุเป็นเรื่องสำคัญ ผู้วิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่เป็นเจ้าของที่ดินประสบความรุนแรงน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง อันที่จริง การเป็นเจ้าของที่ดินเป็นตัวแปรที่มีพลังสูงสุดในการอธิบายความแตกต่างของอัตราความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบ การเป็นเจ้าของที่ดินช่วยให้ผู้หญิงบางคนออกจากภาวะการแต่งงานที่ถูกทารุณกรรมได้ และช่วยให้ผู้หญิงบางคนมีพลังในการต่อรองในครอบครัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บทสรุปของอาการ์วาลที่ว่าการปฏิรูปกฎหมายทรัพย์สินเป็นปัจจัยหลักในการต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงนั้น เป็นบทสรุปที่มีเหตุผลข้อมูลสนับสนุนดีมาก เราควรใช้วิธีนี้ในประเทศใดก็ตามที่กฎหมายทรัพย์สินระบุความเป็นเจ้าของที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ (Agarwal, 1994; Agarwal และ Panda, 2003)

ในทำนองเดียวกัน การเข้าถึงเงินกู้ก็มีประวัติที่ดีในการช่วยเหลือให้ผู้หญิงสามารถต่อสู้กับความรุนแรง ถึงแม้ว่าจะยังเป็นที่ถกเถียงกันมากกว่า[ความเป็นเจ้าของที่ดิน] อาจมีบางกรณีที่การได้รับเงินกู้ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง แต่โดยทั่วไป เงินกู้ก็เหมือนกับที่ดินตรงที่มันมอบทางออกให้กับผู้หญิง และเพิ่มพลังในการต่อรองของเธอ การมีงานทำนอกบ้านก็ช่วยในลักษณะเดียวกัน เพราะทำให้คนมองว่าผู้หญิงมีส่วนสร้างสวัสดิการของครอบครัว และเป็นทางเลือกให้ผู้หญิงสามารถแยกทางจากสามีที่ตบตีเธอโดยไม่ต้องไปประกอบอาชีพอันตรายหรือต่ำต้อย

แน่นอน การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาในหลายๆ ทาง ทั้งในแง่ที่เป็นแหล่งปลูกจิตสำนึก และแหล่งทางเลือกต่างๆ (Nussbaum, 2004b) ในงานวิจัยของอาการ์วาลเรื่องรัฐเคราลา การศึกษาไม่ใช่ตัวแปรหลัก แต่นั่นน่าจะเป็นเพราะการศึกษาในเคราลาค่อนข้างจะครอบคลุมแล้ว และการศึกษาก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโอกาสในการมีงานทำ ผู้หญิงหลายคนจากเคราลาที่มีการศึกษากลายเป็นโสเภณีในกรุงเดลีหลังจากแยกทางกับสามีแล้ว

2. การมีส่วนร่วมทางการเมือง
ศักยภาพอีกประการหนึ่งที่สามารถใช้ต่อกรกับความรุนแรงได้อย่างดีคือการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในหลายๆ ประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงได้รับการแก้ไขให้เข้มงวดกว่าเดิมด้วยการเคลื่อนไหวของผู้หญิงเรื่องสิทธิสตรี ในประเทศอินเดีย การกันโควตาหนึ่งในสามให้ผู้หญิงใน ปัญชญาติ (สภาหมู่บ้านที่มาจากการเลือกตั้ง - ผู้แปล) ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระดับท้องถิ่น พุ่งเป้าความสนใจไปที่ประเด็นซึ่งมีความสำคัญต่อผู้หญิงและเด็ก

3. เหตุผลเชิงปฏิบัติ และการรวมกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดฉันอยากจะเน้นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของศักยภาพสองประการที่เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด และเป็นศักยภาพที่ฉันมองว่าเป็น "โครงสร้างทางสถาปัตยกรรม" เพราะมันช่วยจัดระบบและแทรกซึมเข้าไปในศักยภาพอื่นๆ ทุกข้อ ศักยภาพสองประการที่ว่าคือ เหตุผลเชิงปฏิบัติ (practical reason) และการรวมกลุ่ม (affiliation) องค์กรด้านสิทธิสตรีที่ทำงานเก่งใช้ศักยภาพสองข้อนี้เป็นกุญแจในทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาทำ นำผู้หญิงมารวมตัวกัน สร้างสัมพันธภาพใหม่แห่งความเท่าเทียมและภราดรภาพ กระตุ้นให้พวกเธอใคร่ครวญถึงสถานการณ์อันยากลำบากที่ประสบเหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น อาดิธี (Adithi) องค์กรพัฒนาเอกชนในบิฮาร์ ประเทศอินเดีย จะขอให้ผู้หญิงวาดแผนที่หลายแผนที่เพื่อแสดงสถานการณ์ในหมู่บ้าน กล่าวคือ แผนที่ทางภูมิศาสตร์ แผนที่ทางประวัติศาสตร์ และแผนที่อำนาจ ซึ่งเป็นแผนที่ที่สำคัญที่สุด ผู้หญิงในหมู่บ้านพูดคุยกันถึงวิธีการแทรกแซงที่พวกเธออาจจะเลือกใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในหมู่บ้าน (โครงการนี้มีชื่อว่า "ใคร่ครวญ" หรือ Reflect) ในขณะเดียวกัน พวกเธอก็รวมตัวกันสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ก่อนหน้านี้พวกเธอมักจะอยู่แบบต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตัวเอง แต่ตอนนี้เมื่อมารวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เน้นการแลกเปลี่ยนและความเท่าเทียมกัน พวกเธอร่วมกันร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความมุ่งมั่นที่จะเอาโชคชะตากลับคืนมาในมือของเธอเอง และเปลี่ยนแปลงชะตานั้นๆ ในชนบทของเมืองบิฮาร์ ในอำเภอสิธามารฮี ฉันนั่งบนพื้นดินร่วมกับกลุ่มผู้หญิงยากจนข้นแค้น ได้ยินและร่วมร้องเพลงที่ฉันเอ่ยถึงเมื่อก่อนหน้านี้ - 'ทุกบ้านมีความกลัว เรามากำจัดความกลัวนี้กันเถิด มาร่วมกันสร้างองค์กรของสตรี'

เพลงอีกเพลงหนึ่งก็ตรงประเด็นเหมือนกัน เพลงนี้เป็นเวอร์ชั่นที่นำเพลงโบราณที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงที่โอดครวญชะตากรรมอันเลวร้ายของชีวิตผู้หญิง มาแต่งเนื้อร้องใหม่ เวอร์ชั่นเดิมบอกว่า "เธอเอ๋ย เธอคร่ำครวญอยู่ทำไม" แล้วผู้หญิงก็จะแจกแจงเรื่องร้ายต่างๆ นานาที่เธอประสบ แต่ในเวอร์ชั่นใหม่ของเพลงนี้ คำถามไม่ใช่คำขอข้อมูล หากเป็นคำวิพากษ์ทางการเมือง โดยบอกว่า "เธอเอ๋ย เธอคร่ำครวญอยู่ทำไม น้ำตาของเธอควรกลายเป็นความคิด" ในเพลงนี้ เราเห็นเหตุผลเชิงปฏิบัติและการรวมกลุ่มทำงานด้วยกัน ทุกที่ที่ฉันไปเยี่ยมเยือนในอินเดีย ผู้หญิงรู้จักเพลง "เราจะเอาชนะ" (We Shall Overcome) ในภาษาเบงกอล เตลูกู หรือภาษาท้องถิ่นอะไรก็ตาม

ฉันเชื่อว่าศักยภาพสองประการนี้เป็นระดับที่ลึกที่สุดที่ประชาคมโลกจะต้องไปให้ถึง ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และฉันเชื่อว่าความทุ่มเทดังกล่าวหมายถึงการส่งเสริมการอภิปรายและการรวมกลุ่มในรูปแบบใหม่ๆ เราอาจมองข้ามไอเดียนี้ไปถ้าเรามองปัญหานี้ว่าเป็นประเด็นเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับอย่างอื่น แทนที่จะมองมันจากปริซึมของศักยภาพมนุษย์ที่มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน วิธีมองศักยภาพแสดงให้เราเห็นความสัมพันธ์หลายมิติในศักยภาพของผู้หญิง จุดหลายจุดที่เราจะแทรกแซงได้ และกลยุทธ์มากมายในการสร้างพลังให้กับผู้หญิง ผ่านเหตุผลเชิงปฏิบัติและการรวมกลุ่มกัน และในการทำเช่นนั้น วิธีมองศักยภาพก็ช่วยแผ้วถางหนทางสู่การแก้ไขหนึ่งในปัญหาที่เลวร้ายและเรื้อรังที่สุดในชีวิตมนุษย์.

เกี่ยวกับผู้เขียน
Martha Nussbaum (born Martha Craven on May 6, 1947) is an American philosopher
with a particular interest in ancient Greek and Roman philosophy, political philosophy and ethics.

Nussbaum is currently Ernst Freund Distinguished Service Professor of Law and Ethics at the
University of Chicago, a chair that includes appointments in the Philosophy Department, the Law School,
and the Divinity School. She also holds Associate appointments in Classics and Political Science, is a
member of the Committee on Southern Asian Studies, and a Board Member of the Human Rights Program.
She previously taught at Harvard and Brown where she held the rank of university professor.

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 1 April 2008 : Copyleft by MNU.
ยอน เดรซี และอมาตยา เซน ก็ได้ชี้ให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า ความรุนแรงต่อสตรีในอินเดียนั้นเริ่มขึ้นก่อนพวกเธอเกิดเสียอีก อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรขาดสมดุลทางเพศ (unbalanced sex ratio) ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางโภชนาการและสุขอนามัยของเด็กผู้หญิง ตลอดจนพฤติกรรมฆ่าเด็กทารกที่เป็นเพศหญิงตั้งแต่เกิด หลังจากที่โลกมีเทคโนโลยีที่ช่วยดูเพศของตัวอ่อนในครรภ์ ช่องว่างระหว่างเพศนั้นก็ได้ขยายตัวห่างขึ้นกว่าเดิม.
สำหรับ แคเธอรีน แมคคินนอน (Catharine MacKinnon) เคยวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่อง 'เสียงของผู้หญิงที่แตกต่าง' ของแครอล จิลลิแกน (Carol Gilligan) ไว้ว่า "ยกเท้าของพวกคุณออกจากคอของพวกเราสิ แล้วพวกคุณจะได้ยินว่าผู้หญิงพูดภาษาอะไร"
H