wbfish.gif (2301 bytes)

SacadeR.jpg (29139 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์

ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ ในเวลาเดียวกันนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่ง ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ ”นักวิชาการเครื่องซักผ้า”.
นักวิชาการเครื่องซักผ้า คือคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่คราบของนักวิชาการที่คอยทำหน้าที่ฟอกโครงการขนาดใหญ่ หรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม อันไม่น่าไว้วางใจให้สะอาด บริสุทธิ์ โดยเป็นที่น่าสงสัยต่อจริยธรรมทางวิชาการ.
ความจริงแล้ว ศาสตร์ทุกศาสตร์ วิชาการทุกสาขา ควรเป็นไปเพื่อชีวิตที่งดงามและชีวิตที่มีสุขของมนุษย์และธรรมชาติ มิใช่หรือ ?

สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35

 

introduction

1.TV.Program

2.Questionnaire

3. Information

4. Article and Knowledge  

5. Discussion

6. Schedule

7. Member

8. History

9. Alternative School

10. answer & Letter

11. art & movie

12. Webboard

13. midnight's report

14. midnight's special

15. psychology

16.link

17. criticism

18. creativity

19.art link

HOME

WEBBOARD

reporter

 

articlelogo.jpg (11227 bytes)

บทความเรื่องต่อไปข้างล่างนี้ ได้รับการเตรียมขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของ การพูดนำเป็นคนที่ สอง ในวันทำบุญเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ในหัวข้อ"วัฒนธรรมฮาเฮ" เนื้อหาส่วนใหญ่ เรียบเรียงขึ้นมาจากข้อมูลหลายๆชิ้นมารวมกันไว้ และให้ชื่อใหม่ว่า...

humorlogo.jpg (11112 bytes)

คำว่า humour หรือ humor มาจากภาษาลาตินคำว่า Liquid หรือคำว่า fluid (ซึ่งแปลว่าของเหลว ของไหล), ตามทฤษฎีปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า มีของเหลวอยู่สี่ชนิดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายคนเรานั้น และได้รับการคิดว่าของเหลวเหล่านี้ ได้มีส่วนในการกำหนดอารมณ์ความรู้สึกและลักษณะท่าทีของคนเรา.

ในทฤษฎีทางปรัชญาโบราณ ซึ่งแพร่หลายมาจนกระทั่งช่วงยุคกลางของยุโรป, เชื่อว่าอารมณ์ของมนุษย์ที่สำคัญสี่ประการนั้น อันได้แก่ อารมณ์ดีหรือขบขันมาจากเลือดแดง ความเฉื่อยชา และอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายมาจากน้ำเหลือง และความรู้สึกหดหู่มาจากเลือดดำ การผสมกันปรวนแปรของอารมณ์หรือของเหลวเหล่านี้จะมีส่วนกำหนดคนขึ้นมาให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน และยังมีส่วนในการกำหนดคุณลักษณะต่างๆของบุคคล หรืออารมณ์ความรู้สึก คุณภาพด้านร่างกายและจิตใจ และความโน้มเอียงต่างๆของคนเรา

คนเรานั้น ในเชิงความคิด ได้รับการเชื่อว่ามีส่วนผสมเกี่ยวกับของเหลวสี่อย่างนี้ และของเหลวใดก็ตามที่มาครอบงำของเหลวชนิดอื่นๆ จะมีส่วนในการทำให้คนเรา เป็นคนที่มีอารมณ์และบุคลิกผิดแผกแตกต่างกันไป เช่น เป็นคนร่าเริง หรือตามที่ฝรั่งเรียกว่า sanguine (ซึ่งมาจากภาษาลาติคำว่า sanguis แปลว่า”เลือด”นั่นเอง), หรือเป็นคนที่เฉื่อยชา, อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย, หรือเป็นคนที่อารมณ์หดหู่เป็นประจำ. คุณลักษณะพวกนี้ได้มีส่วนกำหนดบุคลิกภาพของแต่ละคน

คนซึ่งมีบุคลิกแต่ละอย่างนั้น ยังมีลักษณะที่เด่นของตนเองเป็นแบบฉบับบางอย่าง เช่น คนที่ฉุนเฉียวง่าย(choleric man) จะเป็นคนที่ขี้มักโกรธ หรืออารมณ์บูดอยู่บ่อยๆ ใบหน้าจะออกเหลือง, รูปร่างผอม, ผมดก, มีความภาคภูมิใจในตนเอง, มีความทะเยอทะยาน, มีจิตใจผูกพยาบาทและต้องการแก้แค้น, แต่เป็นคนที่หลักแหลม.

เรื่องที่ควรจะเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในที่นี้ก็คือ เรื่องของ”ความขบขัน” ในราวคริสตศตวรรษที่ 16 ถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งภาวะที่ขาดดุลยภาพทางจิตใจ, มีอารมณ์ที่ปราศ จากเหตุผล ทำอะไรตามอำเภอใจและเป็นพวกที่ไม่มีความแน่นอน หรือเป็นคนโง่และเลวทราม. หากใครก็ตามที่ยังมีความเชื่อว่าความตลกขบขันหรือความสนุกสนาน เป็นเรื่องของความไร้สาระ เหลวไหล ไม่น่าเชื่อถือ บางทีเราอาจจะยังคงเป็นคนหลงยุคในคริสตศตวรรษที่ 16 อยู่ก็ได้

ทฤษฎีของเรื่องตลก(Theory of Comedy)

Dr. Richard F. Taflinger กล่าวว่า “เรื่องตลกคือสิ่งที่ทำให้เราหัวเราะออกมาได้”. ฟังดูไม่เห็นว่าจะลึกซึ้งอะไรเลย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาซึ่งน่าสนใจกว่าก็คือ เขาได้ทำการศึกษาถึงพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องตลกที่ทำให้คนเราหัวเราะออกมา และได้สรุปออกมาเป็นข้อๆเรียกว่า แก่นแท้ 6 ประการ สำหรับการทำให้บางสิ่งเป็นเรื่องที่ขบขัน คือ

  1. มันจะต้องเป็นสิ่งที่เรียกร้องการใช้ความคิดสติปัญญามากกว่าการใช้อารมณ์ความรู้สึก

  2. มันจะต้องเป็นเรื่องกลไกปฏิกริยาอัตโนมัติ

  3. มันต้องเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด โดยที่สามารถที่จะเตือนเราให้ระลึกถึงเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ได้

  4. มันจะต้องเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ยอมรับกันชุดหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านมีความคุ้นเคย, ไม่ว่าจะโดยผ่านชีวิตประจำวัน หรือการตระเตรียมขึ้นมาโดยของนักเขียนในเนื้อหาที่แสดง ออกมาก็ได้ และบรรทัดฐานเหล่านั้นได้ถูกฝ่าฝืน

  5. มันจะต้องเป็นสถานการณ์และองค์ประกอบต่างๆ(ท่าทีของพฤติกรรม และคำพูด)ที่ไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือไม่สัมพันธ์กันกับบริบทนั้นๆ

  6. มันจะต้องถูกรับรู้โดยผู้สังเกตุการณ์ในฐานะที่ไม่เป็นภัยอันตรายใดๆหรือสร้างความเจ็บปวดต่อผู้มีส่วนร่วม.

เมื่อบรรทัดฐานเหล่านี้ถูกค้นพบ, ผู้คนจะหัวเราะออกมา. ถ้าเผื่อว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดหายไป ความพยายามอันนั้นต่อเรื่องความขบขันก็จะหายไปด้วย

เมื่อลงรายละเอียดกันดูในแต่ละข้อ, Richard F. Taflinger ให้คำอธิบายว่าอย่างไรบ้าง

ข้อแรก เรื่องการเรียกร้องให้ใช้ความคิดสติปัญญามากกว่าอารมณ์ อันนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อเป็นเรื่องของความขบขันที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย อย่างเช่นเรื่องของ ชาวโปลิช ชาวไอริช หรือคนขาว, พวกชาวเกย์ และองค์กรหรือสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมสตรี เป็นต้น ฯลฯ)

ต่อชนกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันเกี่ยวกับความเสียๆหายๆของพวกเขา ซึ่งที่จริงแล้ว ชนกลุ่มต่างๆที่ต้องประสบกับเรื่องเหล่านี้โดยตรงจะไม่รู้สึกสนุกสนานไปด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาอาจถูกดูถูก อาจถูกสบประมาท และถูกกระทำอย่างไม่สุภาพ.

โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนทั้งหลานยจะขานรับต่อการดูถูกเหยียดหยาม และความไม่สุภาพในลักษณะที่เป็นอัตวิสัยหรือเป็นส่วนตัวเอามากๆ, เช่นด้วยการก้าวร้าว หรือด้วยความโกรธแค้น, ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก. ส่วนผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นคนที่ไม่ได้ถูกสบประมาท หรือผู้ที่บังเอิญไปได้ยิน คนพวกนี้จะขานรับต่อเรื่องดังกล่าวในลักษณะที่เป็นวัตถุวิสัยมากกว่า และจะมีมุมมองทางด้านสติปัญญาเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และสามารถโต้ตอบกับมันได้หากว่าเขาต้องเผชิญหน้ากับมัน.

Lenny Bruce เป็นคนที่เชื่อมั่นในเรื่องพื้นฐานของสติปัญญาเกี่ยวกับเรื่องตลก มีอยู่คราวหนึ่งที่เขาต้องลุกขึ้นพูดกับแขกที่มาในงาน เขาเริ่มต้นด้วยการจำแนกเชื้อชาติแขกทั้งหมด และชนกลุ่มน้อยทั้งหลายในหมู่ผู้ฟังของเขาด้วยลักษณะของการสบประมาท: “ผมเห็นว่าเรามีพวกนิเกอร์อยู่สามคนอยู่ตรงนั้น. และตรงโน้น ผมเห็นชาวตะวันออกกลางสองคน, และนั่นก็สแปนนิชอเมริกันห้าคน, ตรงนู๊นก็คนยิว” และนั่นก็คนจีน ฯลฯ… ขณะที่เขาเริ่มต้นด้วยลักษณะท่าทีเช่นนี้ มันได้ทำให้เกิดอาการหายใจหายคอไม่ค่อยออกหรืออึดอัดขึ้นมาในหมู่ผู้ฟัง และผู้ฟังบางคนรู้สึกโกรธขึ้นมาตะหงิดๆ: บรรดาผู้ชมไม่เชื่อว่า Bruce จะเป็นคนที่ชอบดูถูกและสบประมาทผู้คนเช่นนี้ และช่าวเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์อ่อนไหวเอาเสียเลย แต่ขณะที่ Bruce พูดต่อไปและรายชื่อต่างๆได้ถูกเอ่ยพูดออกมาเรื่อยๆ จนนานมากพอทีเดียว, มันก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าเขากำลังรายงานสภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเห็นและคิดถึงนั่นเอง, คำพูดต่างๆของเขาได้เริ่มสูญเสียความหมายของมันลงไป, นั่นคือความหมายทางอารมณ์ที่เป็นการดูถูกหรือสบประมาท และได้เปลี่ยนไปเป็นเสียงที่ดังออกมาอย่างไร้ความหมายที่จริงจังใดๆเท่านั้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกมันได้สูญเสียเนื้อหาสาระทางอารมณ์และกลับกลายเป็นเรื่องภายนอกบริบทหรือสภาพแวดล้อมไป. ณ จุดนี้ บรรดาผู้ชมทั้งหลาย ที่ครั้งแรกรู้สึกหายใจหายคอไม่ทั่วท้องและรู้สึกโกรธขึ้นมากับคำพูดเหล่านั้น เริ่มที่จะหัวเราะออกมาได้: เพราะผู้ชมตอนนี้ กำลังโต้ตอบกับเรื่องของสติปัญญา, มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก.

ธาตุแท้ของเรื่องตลกในข้อที่สอง ที่บอกว่าเป็นเรื่องกลไกอัตโนมัติ และข้อที่สามที่กล่าวถึงความเป็นมนุษย์โดยกำเนิด ได้รับการแยกแยะโดย Henri Bergson ในความเรียงของเขาเรื่อง”Laughter”. ทฤษฎีของเขาได้พัฒนาขึ้นมาบนความจริงในตัวมันเองอันหนึ่ง ที่ว่า แก่นแท้ที่ทำให้คนเราหัวเราะออกมาได้นั้น สร้างขึ้นมาโดยกลไกอัตโนมัติที่ไม่รู้จักยืดหยุ่น ในเรื่องที่เราคาดหวังว่าจะปรับตัวได้และยืดหยุ่นได้.

มันเป็นเรื่องที่ตลกเมื่อใครคนหนึ่งกระทำการในลักษณะหรือท่าทีที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์หรือสิ่งเร้าหนึ่งๆ เช่นดั่งในละครตลกที่ไม่ค่อยเป็นสัปะรดทั้งหลาย อย่างพวกตลกที่ใช้ไม้มาตีกันแรงๆให้คนดูตลกเป็นต้น. มันเป็นเรื่องสนุกเมื่อเก้าอี้ถูกดึงออกมาจากก้นของคนที่กำลังจะนั่งลงมาพอดี ทั้งนี้เพราะ เขาไม่สามารถที่จะปรับตัวในสถานการณ์นั้นได้นั่นเอง และยังคงนั่งลงไปด้วยกลไกอัตโนมัติ ผลก็คือ ก้นจ้ำเบ้าลงไปบนพื้นนั่นเอง.

หรืออย่างเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง, ในเรื่อง Much Ado About Nothing ของ Shakespeare, มันเป็นเรื่องที่สนุกสนานก็เพราะว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวยังคงไม่เข้าท่าเข้าทางและไม่รู้ตัว ด้วยการคิดว่า เขาในฐานะตำรวจยังคงต้องมีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบต่อสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใดอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่จริงๆแล้ว เขาไม่มีไอเดียหรือความรู้อะไรเลยว่า ได้เกิดอะไรขึ้นมาในสถานการณ์นั้นๆ และจะต้องแก้ปัญหากับมันอย่างไร.

Lucy ในเรื่อง I Love Lucy เป็นเรื่องที่สนุกเพราะว่า เธอมีปฏิกริยาอัตโนมัติต่อเหตุการณ์ทั้งหลายโดยไม่ได้คิดเลยว่า เหตุการณ์นั้นๆมันได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไปแล้ว.

ขยายความเกี่ยวกับทฤษฎีของ Bergson ก็คือ ไอเดียของเขานั้นที่ว่า เรื่องตลกเป็นเรื่องของมนุษย์มาแต่กำเนิด มันมีบางสิ่งซึ่งเป็นที่สนุกสนานเพียงเพราะมันได้เตือนผู้ดูทั้งหลายเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์นั่นเอง. ผู้ชมอาจหัวเราะออกมาเพราะ การกระทำอันแปลกวิตถารของสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง, อย่างเช่น ลิงชิมแปนซี หรือม้า หรือหมี, เพียงเพราะพฤติกรรมของสัตว์พวกนั้น มันได้มาเตือนความทรงจำของเราเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์บางอย่างนั่นเอง. ดังนั้น, สัตว์ต่างๆอย่างเช่น ชิมแปนซีและอุรังอุตัง บ่อยครั้ง มันแต่งตัวในเสื้อผ้าอย่างมนุษย์เพื่อเพิ่มเติมความทรงจำของเรา และม้า อย่างเช่น Mr.En และล่อที่ชื่อ Francis ซึ่งพูดได้, สามารถที่จะคิดได้เหนือกว่ามนุษย์ที่อยู่รายรอบ เป็นต้น.

จุดที่สำคัญอันหนึ่งที่เด่นชัดเมื่อเราตรวจสอบเรื่องตลกต่างๆก็คือ มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ลงรอยหรือสอดคล้องกันนั่นเอง ความไม่คาดฝันในสิ่งที่เราคาดหวัง, ความไม่ปกติในความเป็นปกติ ความผิดแผกไปหรือไม่สามารถปรับตัวได้ในสิ่งซึ่งได้รับการยอมรับแล้วในฐานะบรรทัดฐานทางสังคม

สำหรับการที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ลงรอยกันนั้น จะต้องเป็นบางอย่างที่มันไม่เข้ากัน. ด้วยเหตุนี้ สำหรับเรื่องตลกที่มันเข้าท่าเข้าทางหรือทำงานนั้น มันจะต้องเป็นเรื่องของบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์และสังคม ขนบธรรมเนียม ศัพท์แสลง หรือสำนวน คำศัพท์ ในลักษณะสวนทาง ซึ่งการไม่ลงรอยกันจะถูกพบเสมอ. บรรทัดฐานต่างๆอันนั้นอาจเป็นเรื่องภายในหรือเรื่องภายนอกก็ได้. บรรทัดฐานภายในคือสิ่งต่างๆที่ผู้เขียนได้ตระเตรียมขึ้นมาในต้นฉบับ. ส่วนบรรทัดฐานภายนอกก็คือสิ่งที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งต้นฉบับได้เขียนถึง.

ปัญหาสำคัญคือว่า บรรทัดฐานอะไรที่มีอยู่ และอะไรที่ล้าสมัยไปแล้วบ้าง หลายครั้งผู้คนที่ได้ยินเรื่องตลก ไม่สามารถรู้สึกตลกไปด้วยได้ ทังนี้เพราะพวกเขาไม่รู้หรือเข้าใจบรรทัดฐานทางสังคมนั่นเอง อันนี้จะเห็นได้ชัดเกี่ยวกับตลกฝรั่ง ซึ่งคนไทยมักจะฟังไม่รู้เรื่องหรือไม่ขำ ก็เพราะเราไม่ทราบว่า โจ๊กหรือเรื่องตลกนั้น มันได้ไปละเมิดต่อบรรทัดฐานทางสังคมของฝรั่งอย่างไรนั่นเอง

อันนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราจึงไม่สามารถอธิบายได้ถึงเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง การที่เราสามารถจะอธิบายมันได้ แรกสุดเลยนั้น เราจะต้องชี้แจงถึงบรรทัดฐานทางสังคมนั้นได้ ต่อจากนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามันได้ถูกฝ่าฝืนกฎอย่างไร. การอธิบายนั้นจะยักย้ายความไม่ลงรอยกันออกไปโดยแสดงให้เห็นภาพว่า มันทำงานภายในบรรทัดฐานต่างๆ

เกี่ยวกับบรรทัดฐานต่างๆ ยังอธิบายด้วยว่า ทำไมเรื่องขบขันบางเรื่องมันจึงพ้นความเข้าใจไปแล้ว. ละครตลกและเรื่องโจ๊กอาจจะล้าสมัยไปได้. ละครตลกต้นๆของ Neil Simon หลายๆครั้งขึ้นอยู่อย่างมาก กับทัศนคติทางสังคมของยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง. อย่างไรก็ตาม บทบาทและท่าทีในเรื่องเซ็กซ์ได้แปรเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก นับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา และในเรื่อง Come Blow Your Horn และเรื่องขบขันในตัวละคร Alan Baker ค่อนข้างจะเป็นไปในลักษณะมีอคติทางเพศต่อผู้หญิงและเรื่องเซ็กซ์. ปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวมันกลายเป็นปลุกเร้าปฏิกริยาทางอารมณ์ของคนเราไป, ถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้รสนิยม มากกว่าเรื่องที่จะทำให้คนหัวเราะออกมาได้.

แต่อย่างไรก็ตาม ละครตลกบางเรื่องยังคงสามารถเตือนความสนุกสนานได้ แม้ว่าบรรทัดฐานต่างๆจะเปลี่ยนไปก็ตาม. ตลกกางเกงขี่ม้าของผู้ชาย Shakespeare อย่าง Viola ในเรื่อง Twelfth Night หรือ Rosalind ใน As You Like It ได้ปลุกเร้าผู้ดูในสมัย Elizabethan ให้หัวเราะออกมาได้ก็เพราะ บรรทัดฐานทางสังคมของยุคสมัยนั้นถือว่า ผู้หญิงไม่ควรใส่เสื้อผ้าของผู้ชาย และภาพที่เห็นเกี่ยวกับ Viola และ Rosalind ในเครื่องแต่งตัวแบบผู้ชายเป็นเรื่องที่ดูไม่ได้หรือไม่เหมาะสม. ทุกวันนี้ ผู้หญิงต่างก็สวมเสื้อผ้าแบบผู้ชายซึ่งถือเป็นเรื่องมาตรฐานธรรมดา และด้วยเหตุนี้ การเห็น Viola ในชุดกางเกงขี่ม้าของผู้ชายจึงไม่ใช่เรื่องตลก.

มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างในบทละครของ Shakespeare ที่เป็นเรื่องไม่เหมาะสมหรือถูกกาละเทศะสำหรับบรรทัดฐานในทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุใดเรื่องตลกหรือหัสนาฏกรรมของเขาจึงยังคงให้ความสนุกสนานอย่างต่อเนื่องอีกสี่ร้อยปีภายหลังได้ ทำไมเรายังคงหัวเราะกับเรื่องเหล่านั้นได้ ซึ่งบางที อาจจะไม่ใช้ในเหตุผลเดียวกันกับผู้ดูในสมัย Elizabethan เข้าใจ, แต่ละครตลกเหล่านั้นมันยังสร้างความขบขันต่อมาได้ก็เพราะ เขาได้เข้าถึงความตลกขบขันจากความเป็นมนุษย์มากกว่าเป็นเรื่องบรรทัดฐานของสังคมนั่นเอง.

แง่มุมที่น่าสนใจในที่นี้ 3 ประการเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับกาละเทศะ คือ 1 เรื่องตามตัวอักษร(literalization) 2 เรื่องการพลิกกลับ(reversal) และ 3 ความมากจนเกินไป(exaggeration).

ในเรื่องตลกตามตัวอักษร เรื่องโจ๊กมาจาก การเป็นตัวแทนภาพอันหนึ่งของคำพูด และกระทำการในลักษณะตามตัวอักษร. ตัวอย่างเช่น เมื่อ Max Smart (GET SMART)ขอเจ้าหุ่นยนต์ Hymie ว่า “give me a hand”, Hymie ก็ดึงแขนข้างหนึ่งของมันออกมาแล้วส่งให้ อันนี้เป็นการตีความเชิงตรรกตามตัวอักษรตรงๆของหุ่นยนต์ Hymie.

การพลิกกลับ ก็คือการพลิกผวนไปจากธรรมดานั่นเอง นั่นคือ อะไรที่เป็นธรรมดาและเป็นที่คาดหวัง กลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปในทางตรงกันข้าม อันนี้อย่างเช่น ตอนที่ Retief, ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ Keith Laumer ในเรื่อง Retief and the Warlords, ได้ถูกควบคุมตัว เขาคิดไปว่าผู้จับกุมเขาคงจะนำตัวเขาไปทรมานอย่างแสนสาหัส แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เขาได้ถูกทำร้ายด้วยงานศิลปะสมัยใหม่ และภาพที่มีกลิ่นเกี่ยวกับความเหน็ดเหนื่อยที่ทุรนทุราย, ขนมปังปิ้งไหม้ๆ, ก๋วยเตี๋ยวผัดราดหน้า, เนยแข็งที่มีกลิ่นเหม็น และชื่อเสียงอันเลวร้ายที่จะได้รับจากผู้คน.

ในเรื่องของการเกินเลยไปจากความเป็นจริงที่เข้ามาทดแทนความเป็นปกติธรรมดา อันนี้จะเห็นได้จากตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น ซึ่งบรรดาตัวละครทั้งหลายต่างมีปฏิกริยาเหนือไปจากความสัมพันธ์ที่เหมาะสมทั้งหมด: เช่น ภูเขาทั้งลูกหลุดไปจากเนินดินที่มันก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆกัน หรือการค้นพบของภรรยาขี้หึงคนหนึ่ง เกี่ยวกับเส้นผมสีทองบนเสื้อคลุมของสามีได้นำเธอไปสู่ฉากที่คิดขึ้นมาเองในใจ ของการนัดพบบ้าๆระหว่างสามีของตนและชู้รัก, การเดินทางไปสู่ Riveria, และพล็อทเรื่องการฆาตกรรมที่จะมีต่อเธอ, จนกระทั่งเขาชี้ไปที่สุนัขตัวหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ที่ใกล้เท้าของเธอ. การให้ภาพเกินความเป็นจริงไปเป็นมาตรฐานอันหนึ่งของเรื่องตลก

ความไม่เหมาะสมหรือถูกกาละเทศะที่สุดก็คือการละเมิดเกี่ยวกับข้อห้ามต่างๆทางสังคมนั่นเอง. การฝ่าฝืนนี้สามารถปลุกให้คนหัวเราะได้มากที่สุด. Richard F. Taflinger ได้ยกตัวอย่าง เช่น ในสังคมอเมริกัน ข้อห้ามสุดๆที่ผู้คนระมัดระวังก็คือ การสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ ความตาย และหน้าที่ทางชีววิทยา สิ่งเหล่านี้เป็นหัวข้อที่สังคมประกาศิตไว้ว่า ควรพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างรอบคอบสุขุม และอย่างสุภาพ ถ้าเผื่อว่าจะคุยกันถึงเรื่องราวเหล่านี้. จากข้อห้ามดังกล่าว เรื่องตลกต่างๆได้พลิกแพลงนำมาใช้กันมากเลยทีเดียว.

ธาตุแท้ข้อที่ 6 สำหรับความตลกขบขันคือ ดังที่ Aristotle ได้กล่าวเอาไว้ว่า “…ซึ่งจะต้องไม่เป็นเหตุให้เจ็บปวดหรือทำลายล้าง…มันอาจจะบีบคั้นแต่จะไม่มีความเจ็บปวด”. อันนี้มีตัวอย่างเช่น ภาพการ์ตูนต่างๆได้ถูกรับรู้โดยผู้ดู ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งมีส่วนร่วม แต่จะต้องไม่เป็นอันตรายใดๆขึ้นมาจริงๆ: ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสุข ผู้ดูอาจจะถูกขึงพืด ถูกบิดเบือน หรือถูกขยี้, แต่พวกเขาจะกู้ภาวะอารมณ์นั้นคืนกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และในท้ายที่สุดพวกเขาจะได้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติอีกครั้งเหมือนดังเดิม.

ตัวอย่างที่นิยมยกกันมาก็คือ Road Runner ตัวการ์ตูนของ Wanner Brother ซึ่ง Wile E. Coyote (หมาป่า)ได้ถูกทิ้งลงมา, ถูกบดขยี้, ถูกตี, ถูกหมุน, ถูกบีบ ถูกอัด, หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกทำโทษในความพยายามของมันที่จะจ้องจับ Road Runner, แต่ต่อมา มันก็ได้รับการนำกลับมาปะติดปะต่อกันใหม่เพื่อรอที่จะถูกฉีกขาดอีกครั้งในตอนต่อไป

จะเห็นได้ว่า เจ้าหมาป่านี้ไม่เคยที่จะถูกทำลายลงอย่างถาวร ไม่ว่ามันจะล่วงลงมาจากหน้าผาสูง หรือมีหินก้อนใหญ่กลิ้งมาทับมันก็ตาม.

บรรทัดฐานอันนี้ ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงด้วย. กล่าวคือ มันเป็นเรื่องที่สร้างความสนุกสนานเมื่อมีใครลื่นไหลจากพื้นน้ำแข็งและหกล้ม: ผู้คนจะหัวเราะออกมาดังลั่น – แต่หากว่าพวกเขารู้ว่าชายคนที่ลื่นหกล้มบนลานน้ำแข็งต้องขาหักหรือพิการ. เหตุการณ์นั้นจะทำให้ผู้ชมหัวเราะไม่ออกเอาเลย.

เกณฑ์ 6 ประการที่กล่าวมานี้ ได้ถูกนำเสนอเพื่อพยายามที่จะทำให้ความตลกขบขันประสบความสำเร็จ: ถ้าหากว่ามีอันหนึ่งอันใดได้ขาดหายไป ความตลกขบขันก็จะล้มเหลว. ตราบเท่าที่ผู้ชมทราบถึงบรรทัดฐานต่างๆและสามารถเห็นถึงความไม่เหมาะสมหรือถูกกาละเทศะดังกล่าว คนที่มีส่วนร่วมกระทำในลักษณะที่ขาดความยืดหยุ่น แต่มีความเป็นมนุษย์โดยกำเนิด และไม่มีใครต้องเจ็บตัว และผู้ชมไม่ได้ยึดถือมันว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หากเป็นเช่นว่านี้ ความพยายามของเรื่องตลกอันนั้นจะประสบความสำเร็จสร้างความสนุกสนานขึ้นมาได้.

backarticle.jpg (3945 bytes)

HOST@THAIIS