มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
Midnight's Special : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดหน้าใหม่นี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่บทความซึ่งมีเนื้อหาชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยที่ผู้เขียนเหล่านี้ มิได้สังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนๆโดยตรง แต่อาจได้ทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคมร่วมกัน และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า การเผยแพร่ผลงานดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เมื่อวันที่ 20-21 เมษายนที่ผ่านมา โดยการนำของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ องค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายองค์กร ได้ร่วมกันจัดสัมนาเรื่องคนจนขึ้น ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ณ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เช้าวันที่ 20 เมษายน ได้มีการอภิปรายกันถึงเรื่อง "คนจนกับทางออกของสังคมไทย" ซึ่งการอภิปรายนี้ ศ.นายแพทย์ประเสศ วะสี ได้เตรียมเอกสารชุดหนึ่งมานำเสนอ ในชื่อเรื่อง "นโยบายเพื่อคนจน". มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า เอกสารชุดนี้มีสาระประโยชน์ต่อสังคม ทั้งต่อวงวิชาการเกี่ยวกับคนจน และการเข้าใจปัญหาของสังคมไทย จึงขอนำเสนอเป็นผลงานบทความพิเศษของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน "ความรวยและความจนก็เหมือนกับความสุขและความทุกข์ ถึงจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คือถ้าสุขมากก็ทุกข์น้อย ถ้าทุกข์มากก็สุขน้อย ก็จริง แต่ยุทธศาสตร์สร้างสุขกับยุทธศาสตร์แก้ทุกข์ มีความหมายต่างกันเยอะ พระพุทธศาสนาเลือกข้างแก้ทุกข์ แต่ฝรั่งเลือกข้างสร้างสุข หรือการพัฒนาแบบสร้างความร่ำรวย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ยุทธศาสตร์แก้ความยากจน ก็เหมือนมรรควิธีทางพุทธที่เลือกทางแก้ทุกข์ นั้นแล ถ้าทุกข์หมดก็สุข แต่พอสร้างสุข มันเกิดการแย่งชิงกันขนานใหญ"่ [ประเวศ วะสี] ถ้าแก้ปัญหาคนจนไม่ได้ ประเทศเจริญไม่ได้ ความยากจนเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประสิทธิภาพและทิศทางการพัฒนาประเทศ ความยุติธรรม และศีลธรรมพื้นฐานของสังคม ถ้าแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ประเทศจะจมปลักติดขลุกขลักพัลวัน ไม่สามารถหลุดไปสู่ความเจริญได้ ถ้าคนจนหายจนจะมีกำลังซื้อมาก ก็จะซื้อวิทยุ พัดลม ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ทำให้เศรษฐกิจข้างบนมั่นคง เพราะตั้งอยู่บนฐานที่แข็งแรง ที่แล้วมาเราพัฒนาทำให้คนข้างบนมั่งคั่ง ด้วยคิดว่าความมั่งคั่งจากข้างบนจะกระเด็นลงข้างล่าง(trickle down) ซึ่งพิสูจน์กันมาแล้วว่าไม่จริง เพราะช่องทางระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างมากขึ้นๆ ไม่มีแคบลงเลย ฉะนั้นจึงควรเปลี่ยนแปลงแนวทางการกัฒนาเสียใหม่ จากการมุ่งสร้างความร่ำรวยไปสู่การมุ่งแก้ความยากจน การสร้างความร่ำรวยทำให้ไปเอาของคนส่วนใหญ่มาให้คนส่วนน้อย ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสังคม ทำลายวัฒนธรรม และสร้างความอยุติธรรมในสังคม ทำให้สังคมทั้งหมดวิกฤติ การแก้ความยากจนมุ่งแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจของคนส่วนน้อยมั่นคง ต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของสังคม การใช้วัฒนธรรมเป็นฐานของการพัฒนา การสร้างความยุติธรรมในสังคม ทำให้สังคมทั้งหมดมั่นคง ความรวยและความจนก็เหมือนกับความสุขและความทุกข์ ถึงจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คือถ้าสุขมากก็ทุกข์น้อย ถ้าทุกข์มากก็สุขน้อย ก็จริง แต่ยุทธศาสตร์สร้างสุขกับยุทธศาสตร์แก้ทุกข์มีความหมายต่างกันเยอะ พระพุทธศาสนาเลือกข้างแก้ทุกข์ แต่ฝรั่งเลือกข้างสร้างสุข หรือการพัฒนาแบบสร้างความร่ำรวยซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ยุทธศาสตร์แก้ความยากจนก็เหมือนมรรควิธีทางพุทธที่เลือกทางแก้ทุกข์ นั้นแล ถ้าทุกข์หมดก็สุข แต่พอสร้างสุข มันเกิดการแย่งชิงกันขนานใหญ่ การแก้ทุกข์นำไปสู่การร่วมมือกัน การสร้างสุขนำไปสู่การแย่งชิงกัน ฉะนั้นควรทำความเข้าใจว่า ยุทธศาสตร์การสร้างความร่ำรวยกับยุทธศาสตร์การแก้ความยากจนนั้น แตกต่างกันมาก ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ก็เท่ากับแก้ปัญหาทั้งหมดของประเทศได้เบ็ดเสร็จ ยุทธศาสตร์แก้ความยากจนจึงควรเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาประเทศ ปัญหาเชิงโครงสร้าง 10 ประการ ที่ทำให้คนจน จน การจะทำอะไรให้ได้ผลต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฐิหรือความเห็นถูก ถ้าเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ สิ่งที่ตามมาคือสัมมาปฎิบัติ แต่ถ้าเริ่มต้นเป็นมิจฉาทิฐิหรือความเห็นผิด สิ่งที่ตามมาก็คือมิจฉาปฏิบัติ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ประเทศไทยสั่งสมความเห็นผิดเกี่ยวกับคนจนมานาน ว่าเกิดมาเป็นคนจน เพราะเวรกรรมที่ทำไม่ดีไว้แต่ชาติปางก่อน หรือเป็นคนไม่ดี เป็นคนทำบาปกรรมไว้ เมื่อคิดอย่างนั้น วิธีแก้ปัญหาก็คือมุ่งสั่งสอนให้คนจนทำตนเป็นคนดี โดยไม่คิดแก้ไขโครงสร้างหรือกลไกในสังคมที่เอาเปรียบคนจน หรือทำให้คนจนจน ในสังคมไทยมีโครงสร้างที่ใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่าที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจน ถ้าไม่เข้าใจและแก้ไขโครงสร้างที่ว่ามานี้ จะแก้ไขความยากจนหรือแก้ไขปัญหาของคนจนไม่ได้ โครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เกิดความยากจนมีอย่างน้อย 10 ประการดังนี้ 1. ทรรศนะเกี่ยวกับคนจน ทรรศนะหรือทิฐิของสังคมเป็นโครงสร้างของสังคมที่ลึกที่สุด สังคมไทยถูกหล่อหลอมกันมาให้เป็นสังคมที่เกลียดคนจน ลองดูสำนวนและคำอวยพรต่อไปนี้ "รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา" "ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน" "ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน" ในความเป็นจริง การหามเสาหรือการทำงานหนักไม่ใช่ความชั่ว แต่เป็นความดี การนั่งกินนอนกินไม่ดี เป็นการเอาเปรียบคนอื่น คนเราต้องทำงานเพื่อให้พึ่งตนเองได้และช่วยเหลือผู้อื่นจึงจะดี สังคมไทยเป็นสังคมที่คนข้างบนเอาเปรียบคนข้างล่าง และพยายามสร้างความชอบธรรม ให้แก่การกระทำนั้น ซึ่งหล่อหลอมมาเป็นการดูถูกเหยียดหยามคนจน ลูกคนจนที่เคยช่วยพ่อแม่หาบกระบุงตระกร้า พอเข้าโรงเรียนไปสักพักหนึ่ง ก็อายที่จะเดินกับพ่อแม่ซึ่งยากจนกระรุ่งกระริ่ง แสดงว่าโรงเรียน จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เป็นที่หล่อหลอมให้รังเกียจความยากจน คนจนจะต้องทำงานต่ำ มีรายได้น้อย เสี่ยงภัยสูง ถ้าทำผิดจะถูกลงโทษรุนแรงกว่าคนรวย ฯลฯ ความเกลียดคนจนในสังคมไทยยังนำไปสู่ปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมาย และอื่นๆอีกมากมาย ลองจับประเด็นและลองทำ"แผนที่ความคิด"ต่อๆไป จะเห็นอะไรต่อมิอะไรตามมามากมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องศีลธรรมพื้นฐาน ศีลธรรมพื้นฐานคือการเคารพคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทุกคน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ถ้าปราศจากศีลธรรมพื้นฐาน ประเทศเจริญไม่ได้ สังคมไทยขาดศีลธรรมพื้นฐานนี้ และนี่เป็นโครงสร้างทางสังคมที่ลึกที่สุด ที่ต้องการการแก้ไข ถ้าจะแก้ปัญหาคนจนให้ได้ 2. โครงสร้างทางกฎหมาย กฎหมายทำให้คนจนเสียเปรียบ ให้อำนาจต่อคนรวยและรัฐที่จะทำกับคนจนมากกว่า กฎหมายเป็นโครงสร้างที่มีอำนาจและรุนแรงมาก จำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อคนจน 3. โครงสร้างการใช้ทรัพยากร ชาวบ้านต้องมีที่ดินทำมาหากิน มีป่าไม้ มีแหล่งน้ำ รัฐไปรวบเอาสิทธิในทรัพยากรของชุมชนซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์มาเป็นของรัฐ และจัดสรรการใช้ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมากกว่าคนจน การปฏิรูปการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม จึงเป็นเรื่องใหญ่ในการแก้ปัญหาของคนจน 4. ระบบการศึกษา ระบบการศึกษาเป็นการเอาเงินของคนทั้งประเทศ ไปสร้างระบบการศึกษาที่ต้อนคนทั้งหมดเข้าไปรับใช้รัฐ รับใช้ธุรกิจ และรับใช้ต่างประเทศที่เอาเปรียบไทย ไม่ทำให้คนยากจนแข็งแรง พึ่งตนเองได้ ระบบการศึกษาแบบนี้มีส่วนซ้ำเติมคนยากคนจน และแก้ปัญหาไม่ได้ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน 5. ระบบการธนาคาร ระบบการธนาคารไปเอาเงินของคนทั่วทั้งประเทศมาให้คนส่วนน้อย ซึ่งอาจเป็นญาติ เป็นพรรคพวก เป็นผู้มิอิทธิพล ใช้เพื่อทำกิจการแบบที่เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจจริง ทำให้การเงินและเศรษฐกิจพัง แล้วก็ต้องเอาเงินของประชาชนไปค้ำจุนอีก นี้เป็นโครงสร้างใหญ่อีกโครงสร้างหนึ่งที่ทำให้คนจนไม่หายจน ควรจะมีระบบการเงิน ที่เอื้อต่อคนจนและชุมชน 6. ระบบการสื่อสาร การสื่อสารใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ล้างสมองให้คนเกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม มากกว่าที่จะทำให้เกิดปัญญาพึ่งตนเองได้ โดยมีผู้ได้กำไรอย่างมโหฬารจากระบบสื่อสารแบบนี้ เป็นโครงสร้างที่เอาเปรียบและทำลายสังคมอย่างรุนแรง ควรมีการปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม 7. ระบบราชการ ระบบราชการเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ มีความตั้งใจน้อย มีความรู้น้อย มีการใช้อำนาจมาก มีคอรัปชั่นมาก แก้ปัญหาของคนยากจนไม่ได้ แต่ซ้ำเติมให้คนจนต้องย่ำแย่ลงไปอีก ความจริง ราชการมีกำลังเหลือเฟือ เกินพอที่จะแก้ปัญหาคนจนทั้งประเทศ แต่ต้องการการปฏิรูประบบ โดยเฉพาะระบบการงบประมาณ 8. การกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ นโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ เป็นโครงสร้างใหญ่ที่กระทบหมดทุกคน ที่แล้วมา นโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ กำหนดโดยคนที่มีอำนาจ คนมีเงิน และคนขาดความเข้าในแผ่นดินไทย ทำให้เกิดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ไปเอาของคนส่วนใหญ่ และทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเงินหรือความร่ำรวยของคนส่วนน้อย เป็นยุทธศาสตร์การสร้างความร่ำรวย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การแก้ความยากจน ดังกล่าวแล้ว ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างมากขึ้น จำเป็นต้องตั้งทิศทางการพัฒนาประเทศใหม ่เพื่อแก้ความยากจน 9. ระบบการเมือง เมื่อโครงสร้างของสังคมทั้งหมดเป็นไปตามข้อ 1 ถึง 8 ข้างต้น โครงสร้างนั้นก็คลอดหรือให้กำเนิดระบบการเมืองที่เป็นตัวแทนของผู้เอาเปรียบสังคม มีการใช้เงินซื้ออำนาจ แล้วเอาอำนาจนั้นไปหาเงินอย่างมโหฬาร ระบบการเมืองอย่างนี้ แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการเมือง แม้มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ออกมาแล้ว สังคมก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการเมืองต่อไป 10. สังคมอ่อนแอ โครงสร้างทั้ง 9 ประการข้างต้นเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่งสุดประมาณ ที่จะทำให้คนจนไม่หายจน มีสิ่งเดียวที่จะปรับโครงสร้างนั้นได้คือสังคมเข้มแข็ง อันได้แก่การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำให้มีพลังเข้าใจปัญหา สื่อสารปัญหา รู้วิธีแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แล้วมารัฐพยายามทำให้สังคมอ่อนแอ ไม่ส่งเสริมการรวมกลุ่ม ดูถูกการรวมกลุ่ม มีการเรียกว่าม๊อบบ้าง แก๊งข้างถนนบ้าง ไม่ยอมรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดความยากลำบากในการสร้างองค์กรและการเงินชุมชน รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเริมสังคมเข้มแข็ง อันเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้าง โครงสร้างทั้ง 10 ประการที่กล่าวมาแล้ว เป็นโครงสร้างอันทะมึนที่กำหนดให้คนจนต้องจน และไม่หายจน สังคมไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง หรือมีสัมมาทิฐิว่าความยากจนนั้น เกิดเพราะโครงสร้างของสังคมกระทำ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม ต้องการการแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม จึงจะแก้ปัญหาของคนจนได้ วิธีทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ในเมื่อปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่และลึกมาก จึงเป็นเรื่องยากสุดในการแก้ไข แก้ไม่ได้ด้วยวาทะและเกมทางการเมือง ทุกฝ่ายควรจะเข้ามาทำความเข้าใจ และหาทางแก้ปัญหาที่ยากนี้ ขอเสนอทางแก้ดังต่อไปนี้ 1. รณรงค์สร้างความเข้าใจในสังคมให้มากที่สุดว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม 10 ประการ ด้งกล่าวข้างต้น และจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 2. ประชาชนรวมตัวร่วมคิดร่วมทำให้มากที่สุดในทุกระดับและทุกเรื่อง เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและผลักดันนโยบายเพื่อคนจน การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกระดับชุมชนสร้างเศรษฐกิจชุมชน จะทำให้หายจน คนอีสานทั้งประเทศควรรวมตัวกันแก้ปัญหาของคนอีสาน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมพร้อมกัน ถ้าอีสานหายจน ประเทศจะหายจน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็ดี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแผนที่ 8 และที่ 9 ก็ดี แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็ดี แนวทางคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ดี ล้วนส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของชุมชนท้องถิ่น ประชาชนควรรวมตัวกันมากขึ้น และรัฐควรส่งเสริมการรวมตัวของประชาชนให้มากขึ้น การรวมตัวนี้ควรผลักดันนโยบายเพื่อคนจนด้วย 3. ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจากยุทธศาสตร์การสร้างความร่ำรวย มาเป็นยุทธศาสตร์การแก้ความยากจน 4. ส่งเสริมการวิจัยเรื่องโครงสร้างของความยากจน และสร้างความรู้ในการแก้ไขโครงสร้างให้ชัดเจนโดยรวดเร็ว รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ก้อนใหญ่ เพื่อเปิดแผนงานการวิจัยเรื่องความยากจน 5. มีองค์กรที่จะผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างแก้ความยากจนไปสู่ความสำเร็จ ควรมีกรรมาธิการเรื่องความยากจนทั้งของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ภาคเอกชนควรจัดตั้งสภาเพื่อคนจน แต่ก็ไม่เพียงพอเพราะ การที่จะแก้ไขโครงสร้างของสังคมเพื่อแก้ปัญหาความยากจนนี้ยากสุดกำลัง เกือบทำไม่ได้ในยามปกติ ฝ่ายการเมืองเองก็ทำไม่ได้ ควรมีการออก พรบ. ตั้งสภานโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนทำนองเดียวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเคลื่อนไหวในการปฏิรูปโครงสร้างที่ทำให้คนจนจน 6.ทำให้"นโยบายเพื่อคนจน"เป็นประเด็นทางการเมือง ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง สส. ครั้งต่อไป ควรมีการถามพรรคการเมืองว่า " 1. พรรคของท่านมีนโยบายเพื่อคนจนหรือไม่ 2. พรรคของท่านมีเจตจำนงในการปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม 10 ประการ ตามที่กล่าวในบทความนี้หรือไม่ 3. พรรคของท่านจะผลักดันออก พรบ. จัดตั้ง "สภานโยบายเพื่อแก้ปัหาความยากจน"หรือไม่ ถ้ามีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งตอบรับ สื่อมวลชนควรถามพรรคอื่นๆต่อไป จน"นโยบายเพื่อคนจน"กลายเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อเป็นประเด็นทางการเมืองแล้วก็จะหยุดไม่ได้ กระบวนการทางสังคม และการเมือง จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เดินหน้าต่อไป ทำนองเดียวกันกับการขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง จนกว่าจะบรรลุความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน เพื่อนคนไทยครับ ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาทางศีลธรรมพื้นฐานของประเทศ ที่ถ้าไม่แก้ไข ประเทศจะเจริญไม่ได้ คนไทยควรจะทำความเข้าใจว่าความยากจนไม่ได้เกิดจากเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน แต่เกิดจากโครงสร้างที่อยุติธรรมในสังคม ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างนี้และช่วยกันปฏิรูปโครงสร้างที่ทำให้คนจนจน ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ ก็เท่ากับแก้ปัญหาได้หมดทุกเรื่อง ประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริง
|