มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
หน้าบทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ ประกอบด้วยบทความ 2 เรื่อง ซึ่งเขียนโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ / เรื่องที่หนึ่งคือ "วัฒนธรรมการอ่าน", และเรื่องที่ 2 คือ "อันตรายของคุณชวน หลีกภัย" วัฒนธรรมการอ่าน บริษัทผลิตสื่อระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง จ้างให้สำรวจสิ่งที่เด็กและวัยรุ่น ในเอเซียชอบหรือไม่ชอบในนครใหญ่ 29 นครใน 14 ประเทศของเอเชีย-แปซิฟิกพบว่าวัยรุ่นของ กรุงเทพฯ นั้นมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสื่อทีเดียว ชอบเล่นอินเตอร์เน็ต, ชอบมีมือถือ, ชอบดูทีวี, ชอบฟัง วิทยุ, ชอบดูกีฬา, ชอบอ่านการ์ตูน, ชอบเล่นเกมทางจอ, ชอบงานศิลปะ ส่วนใหญ่ชอบใช้เวลาอยู่คน เดียวมากกว่าสุงสิงกับใคร เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต วัยรุ่นกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการศึกษา และคะแนน สอบคือสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตแต่เขากลับอ่านหนังสือน้อยมาก แม้แต่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ก็อ่านน้อยมาก ข้อนี้ตรงกับการสำรวจของยูเนสโกซึ่งพบว่า คนไทยบริโภคกระดาษเพียง 13.1 ตันต่อปีต่อ 1,000 คนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนสิงคโปร์หรือฮ่องกงแล้ว พวกนั้นว่าเข้าไปถึง 98 ตันต่อปีต่อ 1,000 คนก็รู้ๆ กันอยู่นะครับว่า เมื่อเปรียบเทียบคนในสังคมอื่นๆ อีกหลายสังคม (โดยเฉพาะ นอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คนไทยอ่านหนังสือน้อย แม้แต่ในหมู่วัยรุ่นที่ให้ความสำคัญแก่ การศึกษาไว้สูงสุดก็ตาม อย่างไรก็ตาม เราอาจเถียงว่า ไม่ควรติดอยู่แค่รูปแบบของสื่อที่ส่งสารถึง ผู้รับ วัยรุ่นไทยอาจไม่ได้อ่านหนังสือมาก แต่เขาก็รับสารจากแหล่งอื่นๆ เช่น อินเตอร์เน็ต, การ์ตูน, หนัง, ทีวี และการสนทนากันในร้านไก่ทอดก็ได้ ก็จริงหรอกครับที่สื่อในรูปแบบอะไรก็สามารถส่งสารได้ทั้งนั้น แต่สื่อแต่ละชนิดนั้นมีข้อจำกัด หรือไวยากรณ์ในตัวของมันเอง มันจึงสามารถสื่อสารบางชนิดได้ดี และบางชนิดได้ไม่ดีหรือ ไม่ได้เอาเลย ผมขอยกตัวอย่างสุดโต่งของสื่อสองอย่างคือ ระหว่างข้อเขียนกับคำสนทนาเวลาเราคุยกัน มีการสื่อความหมายที่ไม่ใช้คำพูดมากมาย อาจจะเกินครึ่งของสารที่สื่อกันก็ได้ เช่น "สบายดีหรือ" ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แต่ความหมายที่แท้จริงที่ไม่ได้เปล่งออกมาเป็นคำพูด ก็คือ "ความสัมพันธ์ระหว่างเรายังปกติราบรื่นดีนะ ไม่ห่างขึ้นและไม่ชิดขึ้นทั้งสองอย่าง ฉันจึง ใคร่แสดงระดับความสัมพันธ์เดิมระหว่างเราไว้ให้ปรากฏแก่เธอ" นอกจากนี้ เพราะต่างรู้จักกันจึงเว้นสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วเอาไว้โดยไม่ต้องอ้างถึงเป็น คำพูดได้อีกมากมาย ไม่รู้เรื่องก็ซักถามเพิ่มเติมได้ ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ใช้ไม่ได้เลยในข้อเขียน ซึ่งส่งสารไปโดยไม่รู้ว่าอ้ายหมอไหนที่จะเป็นคนรับสาร จะต้องคิดเรียงลำดับความให้เข้าใจได้ เพราะหมอนั่นถามผู้เขียนเพิ่มเติมไม่ได้ ถ้าอยาก สร้างอารมณ์ก็ตีหน้าบูดเบี้ยวไม่ได้ต้องเลือกใช้คำและความอย่างไรให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วม จะต้องแสดงเหตุผลหรือลำดับความคิดที่ผู้อ่านติดตามได้ และเห็นคล้อยตามได้ ฯลฯ สารที่จะ ส่งผ่านข้อเขียนกับที่จะส่งผ่านการคุยกันจึงต่างกันอย่างมาก เพราะตัวสื่อบังคับให้ต่าง ตัวอย่างที่ผมยกนี้สุดโต่งเกินไปนะครับ เพราะในชีวิตจริงเรามีข้อเขียนที่มีลักษณะเป็นการ สนทนาอยู่มากมาย เช่น จดหมายส่วนตัว เป็นต้น แต่ผมคิดว่าสื่อข้อเขียน ถ้าใช้มันไปจนสุด ความสามารถของมันแล้ว มันนำสารที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ซึ่งสื่อชนิดอื่นไม่สามารถ ส่งผ่านได้ เช่น สื่อข้อเขียนย่อมแสดงตรรกะได้ชัดเจนที่สุด และซับซ้อนที่สุด เหตุดังนั้น สื่อข้อเขียนจึงสามารถนำไปสู่ความคิดทางนามธรรมซับซ้อนได้มาก เช่น เป็นความคิดที่ ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล, ไม่เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้รับสาร และไม่เกี่ยวกับกรณีเฉพาะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ การรับสารจากสื่อข้อเขียนจึงต้องใช้จินตนาการให้กว้าง ขึ้น เดี๋ยวต้องลองนึกจากมุมนี้ เดี๋ยวก็ต้องลองนึกจากมุมโน้น ไม่หยุดนิ่งอยู่ที่บุคคลใดหรือ มุมใดมุมหนึ่งเพียงจุดเดียว เขาเรียกการรับสารอย่างนี้ว่าการอ่านครับ อ่านในภาษาไทยนั้นแปลว่าถอดรหัสที่เป็นตัวยึกยือ ออกมาเป็นภาษาก็ได้ และแปลว่าตีความจนเข้าถึงแก่นของความหมายก็ได้ (เช่น อ่านเกมออก) สารที่ได้มาจากการอ่าน และสารที่ได้จากการฟังจึงไม่เหมือนกันครับ ในแง่นี้แหละครับที่ผมออกจะสงสัยว่า การอ่านนั้นไม่ได้มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิมแล้ว ผมไม่ได้หมายความถึงการถอดรหัสยึกยือซึ่งว่ากันว่าพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ขึ้นนะครับ อันนั้นคนไทยอ่านออกมานมนานเต็มทีแล้ว แต่ผมหมายถึงการอ่านแบบตีความจนเข้าถึง แก่นของความหมาย หรือการพัฒนาสื่อตัวหนังสือไปจนถึงสุดแดนความสามารถของมัน ก็อาจยังไม่ได้ทำในวัฒนธรรมไทย ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แต่เราก็มีงานเขียนมาเก่าแก่แล้วจะอ่านหนังสือไม่แตกได้อย่างไร ขอให้สังเกตเถิดครับว่า งานเขียนโบราณของเราจำนวนมากนั้นมีไว้อ่านดังๆ เช่น ใช้ขับ หรือใช้สวดหรือใช้ประกอบบทนาฏศิลป์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีไว้ฟังครับ ไม่ได้มีไว้อ่าน เนื้อความจึงมีลักษณะเป็นการ "เล่า" ไม่ใช่การวิเคราะห์หรือการเสนอความคิดนามธรรมที่ สลับซับซ้อน ในวรรณกรรมโบราณของไทยนั้น ถ้าไม่ "เล่า" ก็จะเล่นเสียงสัมผัสสระสัมผัสอักษรกันนัวเนีย ซึ่งจะได้รสชาติก็ต้อง "ฟัง" ไม่ใช่ "อ่าน" แม้แต่ภาษาความเรียงรุ่นแรกๆ ก็ยังเป็นการ "เล่า" มากกว่าฟังอยู่นั่นเอง เช่น ที่เราอาจพบในพระราชพงศาวดาร, ตำนานและสามก๊ก เป็นต้น ล้วน "เล่า" ทั้งนั้น(จนถึงทุกวันนี้ หนังสือไทยที่ขายดีๆ ก็ยังพยายามลอกเลียนสื่อประเภทฟัง เช่น ทำข้อเขียนให้เหมือนมีคนมานั่งคุยกับผู้อ่าน เป็นต้น) ข้อนี้ ไม่ใช่จุดด้อยในวรรณกรรมไทยหรอกนะครับ วรรณกรรมชาติอื่นๆ รวมทั้งฝรั่ง ก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน จนเข้ามาถึงยุคใหม่แล้ว วรรณกรรมตัวเขียนจึงสร้างกันขึ้น เพื่ออ่านมากกว่าฟัง ผมคิดว่า เป็นไปได้ที่ส่วนใหญ่ของคนไทยก็ยังอยู่ในวัฒนธรรม การฟังมากกว่าการอ่าน และที่คนไทยอ่าน หนังสือน้อยก็เพราะเราไม่คุ้นกับการรับสารผ่าน สื่อประเภทนี้นั่นเอง ตามการสำรวจเขาบอกว่า แม้แต่อินเตอร์เน็ตที่วัยรุ่นไทยชอบท่องเล่นนั้น ก็นิยมเข้าไป ในห้องสนทนาเพื่อคุยกับสมาชิกที่ไม่เคยเห็นหน้าในห้องนั้นมากกว่าอย่างอื่น... ตกเป็นอันรับสื่อผ่านการพูดคุยหรือ "ฟัง" นั่นเอง สังคมในเอเชียที่มีสถิติการอ่านสูง ล้วนเป็นสังคมที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมจีนทั้งนั้น เพราะ จีนเป็นวัฒนธรรมที่มีประเพณีการอ่านมาแข็งแกร่งยาวนานที่สุดผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่า การรับข้อมูลจากการอ่านนี้เหนือกว่ารับผ่านสื่ออื่นๆ สื่อทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียในตัวเอง ตลาดซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่สำคัญในสมัยหนึ่งนั้นทำให้คนได้ข่าวสารข้อมูล กว้างขวางมาก รวมทั้งได้ท่าทีและความเห็นที่พึงมีต่อข่าวมาพร้อมเสร็จสรรพ เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยทุกวันนี้เป๊ะเลย แต่ข่าวและความเห็นนั้นก็มีมาหลายกระแส บางเรื่อง ก็ต้องซุบซิบเล่ากันซึ่งยิ่งทำให้น่าเชื่อถือ คนแต่ก่อนจึงอาจมีความเป็นอิสระในการเลือกรับข่าว ดีกว่าคนปัจจุบันที่ได้ดูแต่ทีวีช่องรัฐบาลก็เป็นได้ ข่าวสารข้อมูลที่ได้จากการฟังก็ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ เพียงแต่เมื่อเป็นสื่อประเภทเดียว ก็ทำให้จำกัดประเภทของข่าวสารไปด้วยในตัวอย่างที่บอกแล้ว ฉะนั้น ข่าวสารที่ได้จาก การอ่านจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์แน่ๆ แต่จะให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เพียงยั่วยุกันให้ เข้มข้นขึ้นคงไม่สำเร็จ เพราะคนไม่อ่านหนังสือก็เพราะไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งมาก่อน จะทำให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้นจึงต้องคิดไปถึงการเปลี่ยนกระบวนการรับข่าวสารในวัฒนธรรมไทยด้วย เช่น เปลี่ยนจากคำอธิบายบนกระดานดำเป็นบทต่างๆ ในหนังสือแทน เป็นต้น หนังสือไม่ใช่ อ่านประกอบ แต่กระดานดำต่างหากที่เป็นตัวประกอบ ท่านนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าการศึกษาของทางราชการ แสดงว่า เขื่อนปากมูลไม่ได้กีดขวางปลาที่จะว่ายขึ้นมาวางไข่เหนือน้ำ รายงานสรุปของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งตั้งขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก, เอดีบี, องค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับองค์กรทั้งเอกชนและของรัฐจาก 34 ประเทศ กล่าวถึงเรื่องปลาในลำน้ำมูล หลังสร้างเขื่อนปากมูลว่า 1) อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนซึ่งคาดว่าจะผลิตปลาได้ถึง 220 ก.ก.ต่อแฮกเตอร์ต่อปี ปรากฏในความเป็นจริงว่าผลิตได้เพียง 10 ก.ก.เท่านั้น ในบริเวณท้ายเขื่อนกลับให้ผลผลิตปลามากกว่า 2) แม่น้ำมูลเคยมีพันธุ์ปลาอยู่ 265 ชนิด แต่หลังจากสร้างเขื่อนแล้ว เหลือพันธุ์ปลาอยู่เพียง 96 ชนิด หายสาบสูญชนิดที่ไม่เคยมีใครจับได้ในแม่น้ำมูลอีก 56 ชนิด 3) โครงการปล่อยกุ้งก้ามกรามเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนไม่ได้ เพราะกุ้งก้ามกรามวางไข่ในน้ำเค็ม จึงต้องปล่อยกุ้งตลอดไป แม้กระนั้นก็ทำให้ได้ผลผลิตกุ้งเพียงปีละ 6-15 ตัน จำนวนนี้รวมถึงกุ้งอื่นๆ ที่เติบโตตามธรรมชาติในแม่น้ำมูลด้วย ควรกล่าวด้วยว่าระบบลุ่มน้ำมูลมีพื้นที่ 117,000 ตารางกิโลเมตร ถูกปิดตายด้วยเขื่อนปากมูล เพื่อแลกกับกุ้งปีละไม่เกิน 15 ตัน !!! นี่ว่าเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรประมงเรื่องเดียว แต่คุณชวน หลีกภัย เลือกที่จะเชื่อการศึกษาของทางราชการมากกว่า รายงานการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก ตรงนี้แหละที่ทำให้คุณชวนในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอันตราย ระบบราชการไทยนั้นเป็นทายาทของระบบราชการที่เคยกุมอำนาจรัฐสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ วิธีการสำคัญที่ทำให้ระบบราชการคุมอำนาจได้อย่างสืบเนื่องมานาน ก็คือการสถาปนาความจริงเทียมขึ้นครอบงำความรับรู้ของสังคม ความจริงเทียมนี้อาจสถาปนาขึ้นเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของระบบราชการเอง หรือเพื่อรับใช้นายพลขุนศึกซึ่งเป็นหัวหน้าของระบบราชการเพราะทำรัฐประหารยึดบ้านเมืองไปครอบครองได้ก็ตาม วิธีการอย่างที่สองระบบราชการจะกุมอำนาจรัฐเอาไว้ได้ คือการสร้างวัฒนธรรมให้ผู้คนยอมรับว่า ข้อมูลของราชการคือความจริง วัฒนธรรมชนิดนี้สร้างขึ้นผ่านระบบการศึกษาและสื่อสาธารณะที่ราชการคุมไว้ได้ การประทุษร้ายต่อความจริงนี่แหละ - ทั้งโดยการสถาปนาความเท็จให้กลายเป็นความจริง และโดยการทำให้ผู้คนสยบยอมต่อความเท็จที่มีตราครุฑประทับรับรอง-คือที่มาของความรุนแรงนานาชนิดของสังคมไทย เป็นความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐเอง, โดยความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังระบบความเท็จ, และโดยเอกชนซึ่งสามารถหลบหลีกกระบวนการยุติธรรมอยู่เบื้องหลังระบบความเท็จได้ด้วยความอำนาจเงิน พูดให้ชัดก็คือ รัฐไทยนั้นสร้างขึ้นอยู่บนโครงสร้างแห่งความรุนแรง มีคนทุกข์ยากเดือดร้อนโดยไม่จำเป็นอยู่มากมาย เกิดวงจรอุบาทว์ของการทำลายความจริงซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่สิ้นสุด ทั้งนี้รวมถึงการปิดหนทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการใช้ความรุนแรง ประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่ 2490 มาจนถึงปัจจุบันเต็มไปด้วยเลือดที่ถูกความจริงตราครุฑปกปิดบิดเบือนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสังหารทางการเมือง, การขังลืมศัตรูทางการเมือง, การรักษาและขยายผลประโยชน์ด้วยการยิงทิ้ง, การผลักคนทั้งหมู่บ้านเข้าป่าไปจับปืนต่อสู้กับรัฐ, การยัดถังแดงเผาหรือการถีบคนลงจาก ฮ., การสังหารหมู่กลางเมืองหลายครั้งหลายหน, และถึงที่สุดการกระชากชามข้าวจากปากคนจนๆ ทั่วประเทศ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้มีฐานมาจากการดูเบาความจริง ด้วยการมอบอาญาสิทธิ์ในการตราความจริงขึ้นตามใจชอบด้วยตราครุฑ โชคดีที่สังคมไทยค่อยๆ เติบโตขึ้นจนไม่ยอมรับอาญาสิทธิ์เถื่อนนี้เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษมาแล้ว นำมาซึ่งการเมืองในระบอบเปิดอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้ได้ ในขณะเดียวกัน การเมืองในระบบเปิดนั้น "เปิด" อยู่ได้ ก็ไม่ใช่เพราะมีการเลือกตั้งเป็นประจำ แต่เปิดอยู่ได้เพราะอำนาจการผูกขาดความจริงของราชการถูกท้าทายโดยสังคมต่างหาก มีข้อมูลข่าวสารซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยประชาชนในระดับต่างๆ ขึ้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของทางราชการ เช่น อีไอเอของหลายโครงการยักษ์ถูกประชาชนในพื้นที่บ้าง, เอ็นจีโอบ้าง, นักวิชาการอิสระบ้าง แฉให้เห็นความเท็จหรือการบิดเบือนความจริงได้อย่างจะจะ ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่อก๊าซที่เมืองกาญจน์, ท่อก๊าซที่จะนะ, มลภาวะในอากาศที่แม่เมาะ, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะประจวบฯ (ปะการังกองเบ้อเริ่ม มึงยังไม่เห็น จะไปเห็นฝุ่นละอองถ่านหินในอากาศได้อย่างไร"- ตามป้ายประท้วงของชาวบ้าน), กรรมสิทธิ์ที่ดินของทหารที่จังหวัดสุรินทร์ ฯลฯ อีกด้านหนึ่งของการผลิตข้อมูลได้มาจากการเปิดเสรีให้แก่ข้อมูลข่าวสารจากโลกข้างนอก ทั้งสื่อมวลชนและองค์กรภาครัฐและเอกชนภายนอก ทำให้ข้อมูลของราชการหมดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปโดยสิ้นเชิง น่าเสียดายที่คุณชวน หลีกภัย ไม่เข้าใจประเด็นนี้ จึงวางใจไว้กับการศึกษาของทางราชการตลอดมา ทั้งๆ ที่สังคมไทยได้ตั้งข้อสงสัยกับข้อมูลราชการมานานและกว้างขวางมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่คุณชวนก็เรียกข้อสงสัยแคลงใจนี้เสียว่า "กระแส" ซึ่งมีนัยะว่า ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลจริงในขณะที่ข้อมูลและข้อเสนอของราชการกลับเป็นจริงอย่างไม่มีข้อสงสัย ถ้ายอมรับความจริงที่ราชการสถาปนาขึ้นตามใจชอบอย่างนี้เสียแล้ว คุณชวนจะใช้ระบบราชการเป็นเครื่องมือในการสร้างความไพบูลย์และความเป็นธรรมขึ้นในสังคมได้อย่างไร เพราะการปั้นแต่งความเท็จให้เป็นความจริงมีนัยะแฝงการปฏิบัติการไว้ด้วย คุณชวนจะมีทางเลือกเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มต้นตรวจสอบข้อมูลที่ราชการป้อนให้อย่างจริงจัง และดังที่กล่าวแล้วว่า ระบบราชการซึ่งมีฐานอยู่บนความเท็จนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโครงสร้างแห่งความรุนแรง ฉะนั้น แม้ตัวคุณชวนเองอาจเป็นคนใฝ่สันติและเปี่ยมเมตตาธรรม แต่การสยบยอมต่อโครงสร้างแห่งความรุนแรง โดยไม่ลุกขึ้นมาตรวจสอบถ่วงดุลเลยแล้ว คุณชวนกลับต้องเป็นผู้สนับสนุนความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เช่นตราบเท่าที่คุณชวนไม่สั่งการให้สอบสวนและเปิดเผยปฏิบัติการปราบโจรกะเหรี่ยงที่โรงพยาบาลราชบุรี อย่างจริงจัง คุณชวนก็กำลังสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธของระบบราชการฆ่าทิ้งผู้ขัดขืนอำนาจตัวได้ตามใจชอบ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับพฤษภาทมิฬใน พ.ศ.2535 ซึ่งความจริงก็ถูกระบบราชการกลบเกลื่อนมาจนถึงทุกวันนี้ คุณชวนและรัฐบาลของคุณชวน พูดถึงการปฏิรูประบบราชการอยู่บ่อยๆ ตลอดจนตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ระบบราชการไทยจะไม่มีวันได้รับการปฏิรูปได้จริง (นอกจากลดภาระรายจ่ายประจำในงบประมาณลง) ตราบเท่าที่ผู้บริหารระดับสูง ไม่ยอมปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากการศึกษาของทางราชการ หรือการปั้นแต่งความเท็จของราชการขึ้นเป็นความจริง คุณชวนในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงมีอันตราย ไม่ใช่อันตรายที่ตัวคุณชวนซึ่งเป็นคนดีที่น่านับถือคนหนึ่ง แต่อันตรายเพราะคุณชวนไม่เข้าใจโครงสร้างแห่งความรุนแรง อันมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการไทย คุณชวนกลับเอาความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง และความดีของคุณชวนเอง ไปสนับสนุนโครงสร้างแห่งความรุนแรงนี้ ด้วยการปิดหูตัวเองไม่ยอมฟังข้อมูลจากแหล่งอื่น นอกจากราชการ น่าประหลาดด้วยว่า คุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาที่สังคมไทยสิ้นศรัทธา และเลิกเชื่อถือข้อมูลราชการไปตั้งนานแล้ว ทั้งหมดนี้ยังไม่พูดถึงโครงสร้างแห่งความรุนแรงอีกด้านหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากระบบทุน และคุณชวนก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนโครงสร้างส่วนนี้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะมองซ้ายหรือมองขวา คนรักสงบอย่างคุณชวนจึงกลายเป็นคนหฤโหดไปโดยไม่รู้ตัวได้ด้วยประการฉะนี้ |