มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
เก็บความจากเทปบันทึกเสียง เรื่อง ศิลปะศิลปินในทัศนะของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ บันทึกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ที่ฟาร์ม ๖๖(บ้านพักเชียงดาว ชม. ของพี่ปุ๋ง) งานปัจฉิมนิเทศ กระบวนวิชาศิลปวิจารณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะวิจิตรศิลป์ มช.ปีการศึกษา ๒๕๔๒ ศิลปะศิลปินในทัศนะของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (การบันทึกเทปช่วงแรกไม่สมบูรณ์) แล้วมาพบว่า ฝรั่งได้ทำนายถึงความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเอาไว้ถึง แหล่งที่จะมีความเจริญหรือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในศตวรรษหน้านั้น จะมาเจริญทางด้านเอเชีย ริมขอบแปซิฟิค โดยได้หยิบเอาตัวเลขมาชี้ให้เห็นถึงภายในสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้านั้น จะเป็นเท่าไหร่ ฉนั้นศูนย์กลางความเจริญของโลกวัตถุจะเปลี่ยนจากตะวันตกมาอยู่ทางบ้านเราแทน แต่ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า เศรษฐกิจของเรากำลังมีปัญหา คำทำนายที่กล่าวเอาไว้ดูเหมือนว่ามันจะไม่เป็นจริง. ความผิดพลาดของการทำนายอนาคต คิดว่าเกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ทำนายอนาคตได้จับเอาแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจ จับเอาแต่สถิติการผลิต สถิติของเงินที่เพิ่มขึ้นต่างๆมาใช้ ซึ่งจะพบว่าไม่เป็นจริงตามนั้น. แต่มันมีการทำนายอีกอันหนึ่งซึ่งควบคู่กันก็คือ การทำนายถึงความเปลี่ยนแปลงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวิถีการผลิต ซึ่งตรงนี้ยังมีความหมายอยู่. อันนี้ประกอบด้วย ๓ อย่าง ๑. ข่าวสารข้อมูล ซึ่งเรากำลังเข้ามาอยู่ในยุคนี้มากขึ้น ๒. การผลิตในโลกทุกวันนี้ เราเห็นแนวโน้มค่อนข้างชัดว่า มันเป็นการผลิตที่กระจายการผลิต การกระจายการบริหาร โดยอาศัยตัวเชื่อมใหม่ๆ. หมายความว่า การผลิตแบบที่เอาคนงานไปรวมกันเป็นหมื่นๆคนในโรงงานนั้นมันกำลังหมดไป แต่ได้มีการผลิตแบบการกระจายตัวออกไปมาแทนที่ ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็เท่าเดิม แต่การผลิตไปอยู่ในที่ต่างๆทั่วๆไป แล้วก็เชื่อมโยงให้การผลิตอันนั้นเป็นสินค้าอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างเช่นจะผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งสมัยก่อนจะนำเอาคนเป็นหมื่นๆคนมารวมอยู่ในโรงงานในเมืองดีทรอยด์ แล้วทำการผลิตตั้งแต่น๊อตตัวแรกไปจนกระทั่งประ กอบกันขึ้นมาเป็นรถยนต์ทั้งคัน. แต่บัดนี้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว. การผลิตปัจจุบันได้มีการกระจายการผลิตออกไป โดยมีตัวเชื่อมอันใหม่ที่เป็นผู้ประสานเอาผลผลิตที่ได้ในแต่ละส่วนมาต่อๆกันจนกลายเป็นรถยนต์ขึ้นมา ลักษณะการกระจายการผลิตอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วๆไป โดยอาจจะมีเจ้าของหรือผู้บริหารกลุ่มเดียว โดยการกระจายการผลิตไปทั่วทั้งโลก เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์ในทุกวันนี้ ถ้าเราแกะเครื่องคอมพิวเตอร์ออกมาดู อาจจะพบว่าชิ้นส่วนในของคอมพิวเตอร์ต่างๆนั้นอาจจะผลิตมาจาก ๕ ประเทศ หรืออาจจะมากกว่า ๑๐ ประเทศในบางเครื่องเป็นต้น โดยที่มีเจ้าของอยู่ในทวีปยุโรปหรืออเมริกาก็ตามแต่ ๓. เกิดบริษัทเล็กๆขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั่วโลก. ซึ่งผลิตสินค้าส่งออกถึง ๔๐% ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆนั้นผลิตสินค้าเพียง ๔% เท่านั้น. ซึ่งอันนี้ได้แสดงให้เห็นว่า บริษัทใหญ่ๆที่เคยรุ่งเรืองในอดีตมันกำลังเริ่มตายลง. ผู้ที่ทำเงินเป็นจำนวนมากในปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ผลิตระดับกลางและระดับเล็ก. ในอเมริกา มีการจ้างแรงงานโดยบริษัทเล็กๆและบริษัทขนาดกลางประมาณ ๖๐% ส่วนบริษัท ใหญ่มีการจากงงานเพียง ๒๐% เท่านั้น. เพราะฉนั้นจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆกำลังจะหมดไป การผลิตระดับใหญ่ เขาบอกว่ามันเป็นวิธีการผลิตที่กินหางตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทใหญ่ๆที่ต้องการจะจ้างงานให้น้อยลง ก็จะต้องเอาเทคโนโลยีมาแทนที่ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนสูงมากทางด้านเทคโนโลยีมาแทนกำลังคน เพื่อผลิตให้ได้มากที่สุด และในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. เพราะ ฉนั้น เวลาไม่นานเท่าไหร่ก็จะพบว่าได้ทำให้สินค้าในตลาดมันชุ่ม ซึ่งในภาษาฝรั่งเขาใช้คำว่า saturate ซึ่งหมายความว่าได้ทำให้ตลาดอิ่มตัวเร็วเกินไป เพราะมีการผลิตสินค้าออกไปเป็นจำนวนมาก และในเวลาเดียวกันราคาสินค้าก็ถูกลงๆตามลำดับ ทำให้ตลาดหมดความต้องการของสินค้านั้น. ฉะนั้น จึงต้องหันมาทุ่มในเรื่องของการโฆษณา หันมาทุ่มในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตโดยตรง อย่างเช่น นาฬิกาที่เราใส่กันในทุกวันนี้, ที่สุดของนาฬิกา หมายถึงนาฬิกาประเภทเครื่องกล มันได้บรรลุถึงจุดสุดยอดเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันถ้าจะผลิตนาฬิกากลไกให้ดีกว่าเมื่อร้อยปีมาแล้ว ทำอย่างไรๆก็ทำไม่ได้ เพราะฉนั้นที่เหลือจะทำอะไรต่อไป ก็คือ เอาเพชรไปฝังบนนาฬิกาบ้าง หรือทำอะไรก็แล้วแต่บ้าๆบอๆเพื่อจะให้คนซื้อนาฬิกาเรือนที่สอง. นาฬิกาควอทที่ไปลงทุนซื้อมา ๕๐๐๐ บาท กับที่ซื้อมาร้อยกว่าบาทมันทำงานเหมือนกันเลย เพราะมันใช้ชิปอย่างเดียวกัน จะแตกต่างกันก็ตรงที่มันได้ถูกใส่ลงไปในตัวเรือนที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันหรือยี่ห้อต่างๆกันเท่านั้น. เพราะฉนั้นจะเห็นได้ว่า มันกินหางตัวเอง ความสามารถในการผลิตก็ไม่เพิ่มขึ้น มีแรงกดดัน และการแข่งขันก็สูงมาก โดยสรุปก็คือว่า ในระยะยาวแล้วการผลิตที่เป็น mass production หรือการผลิตขนาดใหญ่อย่างนั้นมันอยู่ไม่ได้ และโลกเราได้สิ้นสุดยุคสมัยของอุตสาหกรรมโรงงานแล้ว เรากำลังก้าวมาสู่อีกยุคหนึ่ง ซึ่งหัวใจการผลิตจะมาอยู่กับบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดกลางแทน ผมอยากจะยกตัวอย่างกรณีเมืองไทยให้ดูว่า ท่ามกลางการล่มสลายของการผลิตขนาดใหญ่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำตอนนี้ของเรา กลับมีบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งทำเงินได้ดี ส่งสินค้าออกได้มากอยู่ ๒-๓ กรณีด้วยกัน อันแรกก็คือ อินทรา-เซอรามิค ที่ลำปางซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางที่หลายคนคงรู้จัก. บริษัทนี้มี order จากต่างประเทศในท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำ ๖ เดือนล่วงหน้า แปลว่าบริษัทแห่งนี้ไม่ต้องปลดคนงานของตนออกไป มีแต่ข้อน่าวิตกเพียงอย่างเดียวว่าจะทำให้เขาทันหรือเปล่าก็ไม่รู้. สำหรับคู่แข่งของ อินทรา-เซอรามิค นั้น มีบริษัทเซอรามิคในประเทศจีนเป็นคู่แข่งเหมือนกันซึ่งพยายามจะทำแข่ง ผลที่สุดก็แพ้. ทำไมช่างจีนถึงแพ้ช่างไทย มีคำอธิบายอันหนึ่งที่น่าสนใจบอกว่า (อันนี้จะจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) จีนมีอารยธรรมที่ลึกซึ้งเกินไปและยาวนานมาถึง ๕๐๐๐ ปี การไปบอกให้ช่างจีนเขียนไก่ ซึ่งเป็นไก่ในสไตล์ที่ฝรั่งชอบ ไม่ใช่ไก่ที่จีนชอบ ปรากฏว่าทำไม่ได้เพราะเขียนออกมาทีไรเป็นไก่ในสไตล์แบบจีน อารยธรรมของจีนนั้นแข็งเกินไป ส่วนอารยธรรมไทยไม่แข็งขนาดนั้น จะให้เขียนไก่ไทยหรือไก่ฝรั่งสามารถเขียนได้ทั้งนั้น ดังนั้นจึงออกมาในแบบที่ฝรั่งชอบ เพราะฉนั้น อินทรา-เซอรามิค ที่ถูกจีนเข้ามาแข่งขัน แต่ก็สู้ไทยไม่ได้ อันที่สอง แถวหนองคาย ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีคนผลิตแป้งปอเปี๊ยะที่ส่งไปปารีสได้ดีมาก เพราะว่ามีทั้งคนญวนและคนลาวอพยพไปอยู่ในฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีนักธุรกิจผู้หญิงไปรับซื้อแป้งปอเปี๊ยะเหล่านี้ส่งไปขายตามสเปคของฝรั่งที่ต้องการ คือว่า เวลาที่จะสั่งซื้อแป้งดังกล่าวนี้จะมีการบอกขนาดมาเลยว่า เป็นสี่เหลี่ยม ต้องกว้างเท่าไหร่ยาวเท่าไหร่. (ถ้าคุณเป็นคนอีสานแถวมุกดาหาร แถวริมฝั่งแม่น้ำโขงจะเห็นคนนำแป้งอันนี้มาผึ่งแดด) เขารู้แม้กระทั่งว่าจะต้องใช้ข้าวพันธุ์อะไรถึงจะทำแป้งปอเปี๊ยะนี้ได้ดี แล้วเขาก็เป็นคนจัดหาวัตถุดิบพวกนี้ให้ แล้วผลิตสินค้านี้ไปขายต่างๆประเทศได้ปีหนึ่งๆหลายสิบล้านบาท. ประเทศเวียดนามก็ทำส่งไปขายด้วยเช่นกันแต่ก็ทำสู้ของไทยไม่ได้ และอันนี้ก็มี order ตลอดเวลา จึงไม่ต้องปลดคนงานของตนออกไป อีกรายหนึ่ง คนทำมีดอรัญญิกแถวอยุธยาได้ดัดแปลงความสามารถเดิมจากการทำมีดอรัญ- ญิกของพื้นบ้านมาทำสินค้าเครื่องโต๊ะ โดยการเปลี่ยนวัสดุจากเหล็กแหนบมาเป็นทองเหลือง แล้วต่อมาจากทองเหลืองมาเป็นสเตนเลสส์ ซึ่งเป็นดีไซน์ฝรั่งอีกเหมือนกันและขายได้เป็นจำนวนมาก. เวลาที่หนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์เขานั้น เขาบอกว่า อย่าไปคิดอะไรมาก ลายที่ขายได้ดีที่สุดเป็นลายคลาสสิค, ช้อนที่ลวดลายแปลกๆนั้นขายไม่ค่อยได้มากเพราะมีความนิยมกันเป็นพักๆ ส่วนลายคลาสสิคที่เรียบๆง่ายขายได้ตลอดเวลา. แต่ก็ไม่ใช่ง่ายๆแค่นั้น เพราะยังมีเรื่องของน้ำหนักด้วยซึ่งต้องพอดีกับน้ำหนักมือในการใช้ด้วย เมื่อคืนนี้ผมดูข่าวทีวี พบว่ามีการทำน้ำพริกแกงโดยนำเอาดอกของกระเพรามาป่น ใส่ลงไปในน้ำพริกแกงทำให้น้ำพริกแกงของเจ้านี้มีกลิ่นพิเศษ ก็ได้ส่งขายกันมากมาย แต่ยังไม่ได้ส่งไปขายไปต่างประเทศ ซึ่งทำรายได้ให้กับท้องถิ่นได้จำนวนมากเช่นกัน. หรืออย่างร้านยินดี สงขลา ซึ่งขายกุ้งแห้ง ข้าวเกรียบมาตั้งแต่สมัยที่คุณยังไม่เกิด ปัจจุบันได้ขยายกิจการไปจนกระทั่งใหญ่โต แต่ยังไม่ได้ขยายไปถึงตลาดต่างประเทศ ฉนั้นปัญหาในเรื่องการบรรจุของเขาจึงยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางซึ่งเขาไม่เดือดร้อนไปกับเศรษฐกิจตกต่ำเท่าไหร่นัก ทั้งหมดนี้ถามว่า ต้องใช้เทคโนโลยีไหม ? คำตอบคือ ต้องใช้เทคโนโลยี แต่ต้องเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับขนาดการผลิตของเขา โดยเริ่มต้นต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการที่จะแก้ปัญหาอะไร ? ปัญหานั้นพึงแกได้ด้วยเทคโนโลยีอะไร ? ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมมะขามแก้ว หรือมะขามสามรส ซึ่งฝรั่งชอบกินกันมาก. การที่จะส่งไปขายยังต่างประเทศจะมีปัญหาอยู่ ๒ ปัญหา อันที่หนึ่งก็คือจะ pack อย่างไร ? เขาพบจากความรู้ของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตร บางเขน ว่า การที่จะ pack มะขามนี้โดยการห่อแน่นเลยนั้นจะต้องมีการอัดโอโซนเข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้มะขามมีความสดอยู่ตลอดเวลาในการส่งไปขาย. อีกข้อหนึ่งก็คือ ฝรั่งกินมะขามอย่างเราไม่เป็น คือ เราจะแกะออกมาแล้วใส่ปากเข้าไปเลย มือเราก็จะไม่เปื้อน, แต่ฝรั่งนั้นจะต้องหยิบมะขามมาใส่มือก่อน ซึ่งจะทำให้มือเหนียว อันนี้เขาก็ไม่ชอบ. การจะแก้ปัญหาอันนี้ทำได้ยากมาก เพราะจะต้องทำอย่างไรให้มะขามละลายในปากแต่ไม่ละลายในมือได้. อันนี้เขาก็ไปถามอาจารย์ที่คณะเกษตรอีก ซึ่งอาจารย์ที่คณะเกษตรก็บอกให้ว่า มันต้องเคลือบน้ำตาลแต่จะต้องบางมากในระดับไมครอน ซึ่งนับว่าบางมาก และต้องพอดีด้วย เพราะว่าถ้าบางกว่านั้นตัวมะขามจะละลายออกมา หนากว่านั้นตัวน้ำตาลก็จะละลาย. วิธีการก็คือ เขาใช้เลเซอร์ยิงมะขามทุกเม็ดที่เคลือบแล้วเพื่อให้มันได้บางตามที่กำหนด เครื่องเลเซอร์นี้ก็ไม่แพงซึ่งต้องไปซื้อมาจากยุโรป เครื่องอัดโอโซนนี้ก็ต้องไปซื้อมาแต่ราคาก็ไม่สูงจนเกินไปนัก แล้วใช้คนคอยดูตารางว่า มันยิงเท่านั้นตามความหนาในระดับไมครอนที่กำหนดหรือไม่. สำหรับตลาดใหญ่ของมะขามสามรสนี้อยู่ที่เยอรมัน และมี order มากมายเช่นเดียวกัน การที่ผมนำเรื่องนี้มาพูดทำไม ? ทั้งนี้ก็เพื่อจะบอกว่า เทคโนโลยีของฝรั่งนี้นั้น ถามว่ามีความจำเป็นไหม ? ตอบว่ามี, แต่มันมีต่อเมื่อคุณต้องการใช้มัน ไม่ใช่ว่ามันมีขึ้นมาโดยอัตโนมัติ. เวลานี้เราก็กำลังบ้าตามเทคโนโลยีฝรั่ง มีการกล่าวกันว่า เราไปไม่รอดหรอก, สกว. TDRI, บอกว่า เราเรียนหนังสือน้อยไป ต้องเรียนหนังสือให้มาก เพื่อว่าเราจะได้มีเทคโนโลยีที่ดี. อันนี้จะมีไปทำห่าอะไร ยังไม่ได้บอกเลย แต่ว่าต้องมีไว้ก่อน. ใช่ เราต้องมีเทคโนโลยีแน่ๆ แต่เราต้องมีเพื่อตอบปัญหาของเรา และเพื่อตอบปัญหาของเรามันจะต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจสำคัญ. คุณจะต้องหาเทคโนโลยีและต้องเป็นเทคโนโลยีที้เหมาะสมก็คือว่า เทคโนโลยีที่สามารถตอบปัญหาของเราได้ ปัญหาของเราคืออะไรค่อยไปศึกษาเทคโนโลยีที่มาตอบปัญหานั้น ไม่ใช่เสือกไปหาเทคโนโลยีเสียก่อน โดยที่ยังไม่มีปัญหาเลยว่า ปัญหาของตัวคืออะไร ? นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าโลกาภิวัตน์ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของโลกาภิวัตน์ทั้งหมดที่ผ่านมาแล้วนั้น ผมคิดว่าเราไปเน้นค่อนข้างมากเกี่ยวกับการไหลของทุน เราไม่ค่อยคิดถึงการไปเชื่อมต่อกับโลกข้างนอกเพื่อจะไปดึงเอา skill หรือความรู้ความสามารถบางอย่างที่มาตอบปัญหาชีวิตของเราได้กลับเข้ามา. เวลาเราพูดถึงการท่องเที่ยวซึ่งก็คือโลกาภิวัตน์ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด เราจะคิดไปถึงการเอาเงินดอลล่าร์ของฝรั่งมาใส่กระเป๋าของเราได้อย่างไร ? จะเอาเงินเยนของญี่ปุ่นมาใส่กระเป๋าของเราได้อย่างไร ? เราไม่คิดถึงว่าเราจะมีโอกาสให้คนไทยได้พบกับคนญี่ปุ่นหรือฝรั่ง ได้คุยกันเพื่อความรู้บางอย่างเพื่อที่จะมาตอบปัญหาชีวิตของเราได้ และในทางกลับกัน ฝรั่งได้คุยกับคนไทยแล้วก็ได้ความรู้บางอย่างกลับไปตอบปัญหาชีวิตของเขาได้เช่นกัน เวลาเราพูดถึงโลกกาภิวัตน์ เราไม่นึกถึงว่าคนต่อคนจะมาต่อกัน เราไปนึกถึงทุนต่อทุนมาต่อกัน เราไปนึกถึงตลาดต่อตลาดมาต่อกัน เราไม่นึกถึงคนเลยซึ่งอันนี้ผมถือว่าเป็นหัวใจอีกจุดหนึ่ง ซึ่งคนกับคนจะมาต่อกันแล้วจะทำให้เกิดความงอกงามอย่างไรบ้าง. ทั้งหมดที่ผมพูดถึงตรงนี้ มันจะไปเกี่ยวข้องกับศิลปินและศิลปะอย่างไร ? ผมว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยการประกาศสัจธรรมที่ว่า ศิลปะนั้นมีความสำคัญ เพราะมันเป็นพลังอย่างยิ่งของชีวิต ของการผลิต ของทุกอย่างไปหมด. เพราะฉนั้นศิลปะมีความจำเป็น. แต่ในทางตรงกันข้ามศิลปินไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าศิลปะ ผมพูดอย่างนี้เพื่อเป็นการท้าทายเล่นๆเอาไว้. คือศิลปินที่ผมพูดถึงตรงนี้ หมายถึงศิลปินที่มหาวิทยาลัยศิลปากรหรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผลิตกันอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตศิลปะบริสุทธิ์. ศิลปินที่มุ่งผลิตศิลปะบริสุทธิ์ ถามว่า มันมีประโยชน์ไหม ? คำตอบก็คือว่า มันมี เพราะว่าศิลปะบริสุทธิ์ทั้งหลายนี่ ที่มันอยู่บนผืนผ้าใบ มันเป็นคลังของทรัพย์สมบัติของมนุษยชาติ ที่ใครๆก็สามารถไปดึงเอามันมาใช้ได้ แต่คนที่สามารถผลิตศิลปะบริสุทธิ์เหล่านี้น่ะ (สามารถในที่นี้หมายถึง สามารถในเนื้อสมอง สามารถโดยมือ สามารถโดยสถานะในชีวิตของเขาก็ตามแต่) มีอยู่น้อยมากในโลก และวิธีที่เราจะผลิตศิลปินประเภทเหล่านี้ออกมาแต่ละคน มันยากมาก. เราอาจจะต้องสังเวยชีวิตของคนสักร้อยคน เพื่อที่จะได้ศิลปินที่จะสามารถสร้างอะไรบางอย่างไปเก็บเอาไว้ในคลังของโลกได้คนหนึ่ง, อีก ๙๙ คนอดตาย. เพราะฉนั้นผมอาจจะพูดได้เลยว่า คนที่นั่งอยู่ที่นี้ทั้งหมดนี้ไม่มีโอกาสเป็น อันนี้หมายถึง คนที่เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างอะไรลงไปเก็บเป็นคลังของศิลปะ. ในขณะที่เราเรียนเพื่อที่จะสร้างงานศิลปะบริสุทธิ์ ซึ่งก็ดีไม่แปลกอะไร แต่ก็จะต้องรู้ด้วยว่า ในชีวิตจริงของเรา เราไม่ได้ไปเป็นโกแกง เราเป็นคนธรรมดานี่แหละ. ศิลปะที่ใช้ในคนจริงๆนั่นน่ะเป็นศิลปประยุกต์ทั้งนั้น ถามว่า ถ้าการผลิตมันจะเป็นการผลิตระดับกลางและระดับเล็ก ผมคิดว่าศิลปะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะว่าคนที่ซื้อสินค้าในทุกวันนี้มิได้ซื้อแต่เฉพาะตัวสินค้าอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาต้องการความเป็นมนุษย์, มีความเป็นมนุษย์อยู่ในสินค้าอันนั้น. (ผมออกนอกเรื่องนิดหน่อยนะ) ว่าในทางปรัชญา จริงๆแล้วเราซื้อสินค้าต่างๆทั้งหลาย โดยเฉพาะสินค้าทางวัฒนธรรม จริงๆเราซื้อประวัติศาสตร์ของมัน. สมมุติว่า มีภาพเขียนของ Picasso ชิ้นหนึ่ง ที่คนเขาซื้อไปหรือหลายคนที่ซื้อไปดูงานของ Picasso ไม่เป็น แต่ซื้อเพราะว่ามันเป็น Picasso แล้วเก็บเอาไว้เพราะรู้ว่าวันหนึ่งราคาของมันจะสูงขึ้น เพราะฉนั้นถามว่า งานของ Picasso, คุณค่าของมันอยู่ตรงไหน ? อยู่ตรงประวัติศาสตร์ไง ตรงที่มันมีลายเซ็นตัว P เอียงๆตรงนั้นไง. ใครมาแตะรูปเขียนอันนี้ นั่นไง Picasso เคยมาแตะตรงนั้นมาแล้ว. ประวัติศาสตร์ทั้งนั้นเลย. จริงๆแล้ว เวลาเราซื้อสินค้า เราซื้อประวัติศาสตร์ เราซื้อความเป็นมนุษย์. ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์. ด้วยเหตุดังนั้น ศิลปะมันมีบทบาทมากขึ้นในโลกที่การผลิตกลายเป็นการผลิตระดับกลางและระดับเล็ก เพราะว่าตรงนี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่จะออกไปขาย อย่างที่ทุกคนทราบอยู่ว่าคนซื้อเซอรามิคไทยก็เพราะว่า มันจะมีการเขียนเอาไว้ข้างใต้เซอรามิคว่า Hand painted in Thailand. นั่นคือมีคนเข้าไปทำอะไรบางอย่างกับจานใบนั้น หรือชามใบนั้น. เพราะฉนั้นผมคิดว่า การที่จะเตรียมตัวไปสู่โลกข้างนอก ในการจะเลี้ยงชีพต่อไปภายหน้า ผมคิดว่า ถ้าลูกผมเรียนศิลปะ ผมจะบอกลูกผมว่า เรียนในสิ่งที่อาจารย์อุทิศบอกให้เต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ แต่อย่าคิดเป็นอย่างอาจารย์อุทิศนะ อาจารย์อุทิศอยู่ได้เพราะราษฎรเลี้ยงเขาอยู่ แต่ว่าคนทั่วๆไปไม่ใช่. เพราะการที่คุณออกไปข้างนอก โอกาสที่คนจะจ้างงานคุณนั้นน้อยมาก เนื่องจากโลกข้างหน้าเป็นอย่างนั้น. คุณจำเป็นที่จะต้องออกไปเป็นลูกจ้าง เป็นลูกจ้างของอุตสาหกรรมขนาดกลางและระดับเล็ก ซึ่งมันไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทใหญ่ๆที่มีเครื่องแบบใส่ หรือมิฉนั้นคุณก็ต้องสร้างงานให้ตัวเอง. ถ้าคุณรู้แต่เฉพาะงานศิลปะเพียงอย่างเดียวแบบที่อาจารย์อุทิศรู้ ผมคิดว่าคุณไปไม่รอดในชีวิตจริง. คุณจำเป็นต้องมีความรอบด้านมากขึ้น คุณจำเป็นต้องมีความสามารถอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าอาจารย์อุทิศคงไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ คือ มีความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทุกๆเรื่อง. สักวันหนึ่งคุณอาจจะพบว่า คุณหาหนทางที่จะแข่งกับ อินทรา-เซอรามิค ได้, หรือพบช่องโหว่ที่ อินทรา-เซอรามิค ยังไม่ได้เข้าไปจับจอง. การรู้แต่เรื่องของศิลปะนั้นมันยังไม่พอ คุณจะต้องรู้ว่า การเผาเซอรามิคนั้น เขาเผากันอย่างไร ? รู้เรื่องการเคลือบ รู้ว่าจะติดต่อกับแรงงานที่ไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อนเลยอย่างไร จะสอนเขาให้ปั้น ให้เขียนลายอย่างไร ? เพราะฉนั้นคุณจะต้องมีความสามารถรอบด้าน ทุกๆคนจะต้องมีความสามารถรอบด้าน. โลกอุตสาหกรรมโรงงานยุติลงไปแล้ว การที่มันสิ้นสุดลงไปแล้ว ทำให้การรู้อะไรแล้วก็ดิ่งลึกลงไปในโลกแคบๆเพียงอย่างเดียวมันหมดสมัยไปแล้ว การรู้อะไรแคบๆเพียงอย่างเดียวมันเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้จ้างงานรายใหญ่ แล้วสามารถเชื่อมโยงความรู้ของคนนั้นซึ่งลึกด้านนั้น คนนี้ลึกด้านนี้ ซึ่งไม่มีประโยชน์เลยเอามาต่อกัน ถึงจะสามารถสร้างประโยชน์ขึ้นมาได้ อันนี้ต้องอยู่ภายใต้ใครสักคนหนึ่งซึ่งมันใหญ่ๆและมีเงินมากๆ. แต่โลกอย่างนั้นมันหมดไปแล้ว ดังนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรอบด้านของตัวเองมากขึ้น. สมเกียรติ ตั้งนโม : ถอดเทป [ข้อมูลเก็บไว้ใน 586-k6.400 mgh (teaching / nithi1)]
|