มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
ในวันเปิดบ้าน ทำบุญมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 43 ที่ผ่านมา, ช่วงบ่ายๆได้จัดให้มีการเสวนากันเรื่อง"วัฒนธรรมฮาเฮ"ขึ้นที่บ้านใหม่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในซอยวัดอุโมงค์ เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ทำการบันทึกเทปการเสวนาดังกล่าว และได้ถอดเทปออกมาแล้ว ดังมีเนื้อหาสาระดังต่อไปนี้ วงสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 เวลา 13.30 น. ณ บ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซ.วัดอุโมงค์ จ. เชียงใหม่ เนื่องในวันเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สนทนาในหัวข้อเรื่อง วัฒนธรรมฮาเฮ สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ : วันนี้เราจะเปิดวงสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลังจากห่างหายไปครึ่งค่อนปี และมีหลายๆคนถามถึง. ช่วงที่ผ่านมา บรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีภารกิจวสัญจรไปต่างจังหวัดหลายครั้งหลายคราว ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านกรูด หรือที่ปากมูล จึงทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการสนทนาให้ต่อเนื่องได้ แต่สำหรับวันนี้เป็นฤกษ์ดีที่เรามีบ้านใหม่ ก็ร่มรื่นพอสมควร ทำให้เราเริ่มวงสนทนากันได้ ซึ่งวันนี้เป็นวันเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงอยากจะนำเสนอเรื่องที่จะสนทนากันในหัวข้อวัฒนธรรมฮาเฮหรืออารมณ์ขัน 101 . สำหรับหัวข้อนี้ เราตั้งใจจะพูดคุยกัน สำหรับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯด้วยนะคะ ซึ่งอยากจะให้เป็นหัวข้อพื้นๆที่พวกเราสามารถจะแสดงความคิดเห็นกันได้. และอาจจะเป็นเรื่องแปลกที่วันนี้เรามีภารโรงคนใหม่คือ คุณวัลลภ แม่นยำ นักเขียนการ์ตูน ซึ่งจะเป็นคนนำสนทนาในเรื่องอารมณ์ขัน 101. ตามกติกาเดิมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคือ คนนำวงสนทนามีสิทธิพูดได้ประมาณ 15 นาที โดยไปทำการบ้านมา แล้วนำมาเปิดประเด็นเป็นการปูพื้นในหัวข้อเกี่ยวกับประเด็นที่เราตั้งไว้คร่าวๆ และหลังจากนั้นก็ขอเชิญให้ทุกท่านร่วมวง แลกเปลี่ยนสนทนากัน โดยจะออกไปนอกหัวข้อหรือนอกประเด็นที่ผู้นำการสนทนานี้พูดไว้ก็ได้นะคะ เพราะปรัชญาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็คือว่า ช่วยกันเรียนรู้และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับใคร สำคัญที่สุดก็คือให้ทุกคนตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน. ขอเชิญเข้าสู่วงสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเลยนะคะ ขอเชิญ อ. วัลลภ คะ วัลลภ แม่นยำ : มาร์ก ทเวน บอกว่า ไม่มีความขบขันบนสวรรค์. ผมขอเปิดประเด็นเรื่องวัฒนธรรมฮาเฮ หรือ อารมณ์ขัน 101เลยนะครับ. อันที่จริงหัวข้อที่เราจะคุยกันวันนี้ มีผู้ทักท้วงว่ามันคงไม่เป็นเรื่องในเชิงวิชาการ หรือทางด้านสติปัญญา มันอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นตลกคาเฟ่เฮฮา หรือเรื่องบ้าๆบอๆ. ในทุกวันนี้เรามักจะได้ยินข่าวว่าบ้านเมืองเรากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม. เราควรจะมาคุยกันในเรื่องวาระแห่งชาติ หรือเราควรจะมาคุยกันเรื่องความไม่เป็นไทของคนไทย, หรือเศรษฐกิจพอเพียง, หรือการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง, หรืออะไรเหล่านี้เพื่อให้คนไทยตระหนักว่า ต่อไปนี้ห้ามหัวเราะนะ. ผมในฐานะที่มีอาชีพเป็นคนวาดรูปให้คนหัวเราะ บางครั้งก็ไร้สาระบ้าง บางครั้งก็ไม่มีสาระ และไม่ค่อยจะมีมิติทางสังคมมากนัก. พรรคพวกที่มากันวันนี้ เป็นคนที่ชอบเฮฮาไร้สาระอย่างผมก็มี. ผมเองจะเป็นคนนำประเด็นในเรื่องวัฒนธรรมฮาเฮในเชิงวิชาการ เพราะผมไปค้นคว้ามาพอสมควร. ขอขึ้นต้นด้วยคำถามในเชิงวิชาการว่า ทำไมคนเราจึงหัวเราะ ?, คนเราหัวเราะกันทำไมวะ ? ด้วยเหตุที่เราไม่รู้ชัดว่าทำไมคนเราจึงหัวเราะ อันนี้เป็นปัญหาของมนุษย์นะครับ ไม่ใช่ปัญหาของสัตว์. ซิกมันด์ ฟรอยด์ อธิบายอย่างคลุมเครือว่า อารมณ์ขันเป็นวิธีการหาหนทางหลีกเลี่ยงความทุกข์. เมื่อสถานการณ์ไม่ดี เราทำตลก เหมือนกับโลกนี้ไม่มีความหมาย มันเป็นเพียงแต่เกมส์, หรือเป็นเพียงการปฏิเสธความจริงเท่านั้น. การหัวเราะนั้นเป็น catharsis (การระบายถ่ายท้อง / แนวคิดของอริสโตเติลที่ว่า การที่เราดูเรื่องโศก หรือเรื่องตลก เป็นการปลดปล่อยตัวเราเองออกมาให้ผ่อนคลายภาวะนั้นๆ) เป็นการผ่อนคลาย บรรเทา. การที่คนเราหัวเราะก็เพราะคิด เป็น comedy, ในขณะที่คนเราเศร้าก็เพราะรู้สึก เป็น tragedy. อันที่จริงอารมณ์ขันเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญในจิตใจของมนุษย์ แต่ถูกละเลยที่จะกล่าวถึงในแง่ปรัชญา จิตวิทยา และในทฤษฎีต่างๆ. ด้วยเหตุดังนั้น อารมณ์ขันจึงสำคัญทีเดียวที่เกี่ยวข้องกับ information system acting. แต่ข้อมูลข่าวสารทั่วไป มักจะเป็นไปในลักษณะ passive information. อ.นิธิ พูดถึงอารมณ์ขันว่า มีอยู่ 2 ระดับคือ, ระดับการทำลาย อันนี้หมายถึงการทำลายชนชั้นของอำนาจ เกียรติยศ อภิสิทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์ก็หมดไป. เรียกว่าหัวเราะครั้งหนึ่ง เราทุกคนก็เท่าเทียมกันหมด. ส่วนอารมณ์ขันอีกระดับหนึ่งก็คือ ระดับการสร้างสรรค์ เป็นการสร้างบรรยากาศการคุยกันระหว่างพวกเรา โดยเอาความสนุกเป็นหลักนั้น ไม่ต้องเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก อันนี้น่าจะทำให้เราคิดอะไรได้มากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น. แม้แต่ฟริดจ๊อป คาปร้า ยังเขียนถึงอารมณ์ขันในTao of Physic ว่า การรับรู้ในลักษณะสหัชญาน(intuition)แบบไร้ตรรกะนั้น เป็นเรื่องของ joke หรือ ตลกขบขัน. ในเสี้ยววินาทีหนึ่งที่คุณเข้าใจ joke นั้น คุณมีประสบการณ์ที่เรียกว่า enlightenment เลย. ในเรื่องของเซน มีเรื่องเล่าที่เป็น anecdote หรือ เกร็ดเล็กๆน้อยที่น่าสนใจซึ่งเป็นเรื่องตลกขบขันทั้งนั้น. และในเต๋าเต๋อจิงคัมภีร์เต๋า มีคำกล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าไม่มีการหัวเราะ ก็ไม่มีความเป็นเต๋า. มาร์วิน วินสกี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ MIT ได้พูดถึงเรื่องของอารมณ์ขันว่า อารมณ์ขันนั้น มีบทบาทหน้าที่ของมันอย่างมีแก่นสารในการเรียนรู้. ถ้าเรามีการเรียนรู้อย่างมีบริบทเคร่งเครียด(serious context) ผลลัพธ์ที่ได้มาคือความเปลี่ยนแปลงธรรมดา, แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้อย่างมีบริบทขบขัน(humor context)นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ธรรมดา. ทั้งหมดที่ผมนำเสนอมานี้ มาจากหนังสือของ นอร์แมน ฮอลแลนด์ อาจารย์มหาวิทยาลัยคอร์แนล จากหนังสือเรื่อง Laughing : a psychology of humor และจากหนังสือเรื่อง The Society of Mind เล่มนี้เป็นของ มาร์วิน วินสกี้ อาจารย์จากสถาบัน MIT. และจาก The Tao of Physic ของ ฟริดจ๊อป คาปร้า. ผมคิดว่าผมได้นำเสนอครบ 15 นาทีแล้วครับ. ขอให้คนช่วยต่อผมด้วยครับ สมเกียรติ ตั้งนโม : อันที่จริง เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมฮาเฮ ถ้าเรารู้สึกว่ามันไร้สาระ, จริงๆแล้วก็คือว่า ความรู้สึกที่ว่าเรื่องตลกเป็นเรื่องที่ไร้สาระนี่ อาจจะเป็นเพราะว่าเราถูกครอบงำความคิดนี้มาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16. หรืออันที่จริงก่อนหน้านั้นเสียอีก. ทั้งนี้เพราะสมัยอารยธรรมกรีก เรื่องโศกนาฏกรรมและหัสนาฏกรรม เป็นของคู่กันมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากงานของอริสโตเติลซึ่งเขียนเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Poetics ได้กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้. แต่พอมาถึงสมัยกลาง เมื่อคริสเตียนเรืองอำนาจ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องตลกกลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เป็นเรื่องต้องห้าม. เรื่องตลกกลายเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกับเรื่องเซ็กซ์ในสมัยกลาง. ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดก็คือ อย่างเช่นในงานวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์กลายๆ ซึ่งเพิ่งแปลเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้เล่มหนึ่งชื่อว่าสมัญญยาแห่งดอกกุหลาย(the name of the Rose) ถ้าใครได้อ่านงานวรรณกรรมเรื่องนี้ของ Umberto Eco. เรื่องนี้ทั้งเรื่องได้รับการประพันธ์ขึ้นมาโดยความคิดเกี่ยวกับงานปรัชญาของอริสโตเติลในเรื่อง Poetics นั่นเอง. วรรณกรรมเรื่องนี้เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว. สำหรับวรรณกรรมหรือนวนิยายเรื่องนี้ ทั้งหมดของเนื้อหาผูกประเด็นอยู่ที่การพยายามที่ซ่อนหนังสือเรื่อง Poetics เอาไว้ในห้องสมุดที่สำคัญแห่งวัดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในอิตาลี เพราะหนังสือเล่มดังกล่าวได้พูดถึงเรื่องตลกเอาไว้. ทั้งนี้เพราะมีพระผู้ใหญ่ที่ชราภาพองค์หนึ่งไม่ต้องการให้ใครได้อ่านเรื่องดังกล่าว เพราะเกรงว่าผู้ได้อ่านหนังสือเรื่องนั้น จะไปยกย่องสรรเสริญเรื่องของอารมณ์ขัน และทำให้ออกนอกรีตนอกรอย การเก็บซ่อนหรือการรักษาเอาไว้ให้มันเป็นความลับ เป็นที่มาของการตายอันลึกลับที่เกิดขึ้น ณ ศาสนสถานแห่งนี้ จนต้องมีกาส่งพระนักสืบมาค้นหาร่องรอยเกี่ยวกับการฆาตกรรมดังกล่าว. จะเห็นว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นการแสดงนัยะสำคัญถึงเรื่องตลกว่าเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมสมัยนั้น และแนวคิดนี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใช้อีกในคริสตศตวรรษที่ 16. อันที่จริงเรื่องตลกนั้นเป็นเรื่องที่ดี เราจะเห็นว่า แนวคิดใหม่ๆในทางการแพทย์. ใครก็ตามที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Patch Adam ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหมอที่รักษาคนไข้ด้วยการหัวเราะ(ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง), เรื่องนี้ผู้แสดงเป็นหมอคนนั้นก็คือ โรบิน วิลเลียม. สำหรับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับวงการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา คือการรักษาโรคด้วยการหัวเราะ อันที่จริงอย่างที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี เคยกล่าวเอาไว้ในเชิงคำถามว่า รักษาโรคหรือรักษาคน ถ้ารักษาโรคก็จะมีวิธีปฏิบัติกับคนไข้อย่างหนึ่ง แต่หากว่ารักษาคนก็จะมีการปฏิบัติกับคนไข้อีกอย่างหนึ่ง. สำหรับการรักษาโรคด้วยการหัวเราะนี้ ผู้สนใจให้หาอ่านหนังสือเรื่องมิติใหม่แห่งความเข้าใจชีวิตและสุขภาพซึ่งเป็นหนังสือแปล โดย คนที่ใช้นามปากกาว่าวเนช หมอประเวศ เป็นผู้เขียนคำนำ. เนื้อหาในหนังสือกล่าวว่า, ใครก็ตามที่ป่วยอยู่ในบ้านของเรา คนป่วยไม่เพียงป่วยคนเดียวเท่านั้น แต่คนป่วยได้พาให้ครอบครัวทั้งหมดป่วยตามกันไปหมดด้วยความห่วงใย และเป็นทุกข์ บรรยากาศทั้งบ้านที่เคยมีความสุขก็กลับโศกเศร้า เพราะเกิดมาจากคนป่วยเพียงคนเดียว. ฉนั้นทางออกสำหรับปัญหานี้ หากเราทำให้คนป่วยหัวเราะได้ ก็จะทำให้บรรยากาศแห่งความเครียด ความเศร้า และความทุกข์ร้อนคืนกลับมาสู่ความเป็นปกติ จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งของคนป่วยและไม่ป่วยในบ้าน. จากแนวคิดดังกล่าว จึงได้มีการพยายามที่จะคิดค้นในการบำบัดสุขภาพจิตของคนป่วยให้มีความสุขมากขึ้น ให้มีคุณภาพดีขึ้น อันนี้เรียกว่าการรักษาโรคด้วยการหัวเราะ. วิธีการก็คือ อาจจะไปยืมหนังสือมาจากห้องสมุด ไปยืมวิดีโอมาให้คนป่วยดู เพื่อให้คนป่วยมีสุขภาพจิตดี ร่าเริงขึ้น และมองชีวิตเป็นเรื่องที่ขบขันทดแทนความเศร้า อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของเรื่องตลกที่อยากจะยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ นักข่าวชาวต่างประเทศคนหนึ่งเคยเรียนถามท่านทะไลลามะว่า ท่านได้ประสบกับมรสุมชีวิตอันทุกข์ยากหนักหน่วงมากมาตั้งแต่วัยหนุ่มเพราะเหตุทางการเมืองของธิเบต และต้องลี้ภัยมาอยู่ ณ ธรรมศาลา แต่ทำไมท่านจึงยิ้มและร่าเริงอยู่ได้ ทำไมท่านจึงยังหัวเราะอยู่ได้ตลอดเวลา ? องค์ทะไลลามะตอบว่า การที่ท่านยังหัวเราะได้ก็เพราะ เรื่องของการหัวเราะเป็นเรื่องของความสุข และเมื่อไรก็ตามที่คุณทำให้คนอื่นหัวเราะได้ คุณจะทำให้สารเอนโดฟินหลั่ง. และทุกครั้งในที่ประชุม องค์ทะไลลามะจะทำให้บรรยากาศของการประชุมเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ทำให้สารเอนโดฟินของแต่ละคนหลั่งออกมา เพื่อจะได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมมี 2 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นเชิงคำถามมากกว่า ไม่ใช่เป็นการประกาศสัจจธรรมว่ามันใช่นะครับ. สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้คือว่ามันใช่หรือไม่ใช่นะครับ. ประเด็นที่หนึ่งผมเข้าใจว่า สัตว์นั้นมันหัวเราะไม่ได้ ผมคิดว่าเด็กแดงๆก็หัวเราะไม่ได้ หัวเราะในความหมายที่ว่ารู้สึกขัน. เด็กเล็กๆหัวเราะได้ แต่ขันไม่ได้. เอามือไปจี้เด็กแดงๆ เด็กอาจจะหัวเราะแต่ไม่ใช่การขบขัน. เพราะการที่คนเราจะขันเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง เราจะต้องมีความเข้าใจอะไรหลายๆอย่างมาก เช่นเป็นต้นว่า เข้าใจตรรกะ ถึงจะพบว่าสิ่งที่เขาพูดมาหรือสิ่งที่เขากระทำนั้นมันขัดกับตัวตรรกะหรือมันไม่ลงรอยกับตัวตรรกะ ไม่เป็นไปตามความคาดหมายของตรรกะ เราถึงจะเห็นว่ามันน่าขบขัน. คุณจะต้องมีความเข้าใจในระเบียบประเพณีที่คุณอยู่ คุณถึงจะรู้สึกว่าการเดินแก้ผ้าไปรับปริญญานั้นมันน่าขันดี เพราะต้องเริ่มต้นก่อนว่า คนที่เดินไปรับปริญญานั้นไม่ควรจะแก้ผ้า อะไรเหล่านี้เป็นต้น. เพราะฉนั้นผมคิดว่า ความขบขันนั้นเป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างมันขึ้นมา ด้วยเหตุใดอย่างที่ อ.วัลลภพูดถึง หรืออย่างที่นักจิตวิทยาพูดถึง อันนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์สร้างมันขึ้นมาต่างหาก เป็นเหมือนกับวัฒนธรรม เป็นเหมือนๆกับศาสนาหรือสิ่งอื่นๆที่มนุษย์สร้างขึ้น. ประเด็นที่หนึ่งของผมเป็นอย่างนี้ ประเด็นที่สองก็คือ เรามักจะพูดถึงอารมณ์ขันประหนึ่งว่ามันเป็นสากล เป็นมนุษย์ที่ไหนๆก็มีอารมณ์ขัน ซึ่งก็จริง. แต่เนื่องจากเหตุผลข้อที่หนึ่งซึ่งพูดไปแล้วเมื่อกี้ ผมคิดว่าอารมณ์ขันในแต่ละวัฒนธรรมนั้นไม่เหมือนกัน เพราะว่าตรรกะในแต่ละวัฒนธรรม ระเบียบประเพณีในแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน อะไรที่ถือว่างาม อะไรที่ถือว่าไม่งามก็ไม่เหมือนกัน ฉนั้นอารมณ์ขันในแต่ละวัฒนธรรมจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง. ผมพูดถึงเรื่องนี้เพราะเหตุว่าในสมัยที่ผมเป็นหนุ่มกว่านี้นี่ พวกนักเรียนนอกชอบพูดว่าคนไทยไม่มีอารมณ์ขัน ซึ่งผมรู้สึกอึดอัดมากเลยว่า ผมก็ไม่เห็นว่าฝรั่งมันหัวเราะมากกว่าเราตรงไหน. มันเป็นการไม่ยอมรับการสร้างอารมณ์ขันแบบไทย แล้วก็มองว่าคนไทยไม่มีอารมณ์ขัน. เพราะฉนั้นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องอารมณ์ขัน เราจะต้องคิดถึงว่าเรากำลังพูดถึงอารมณ์ขันของวัฒนธรรมอะไรด้วย. ทั้งสองอันนี้ไม่ใช่สัจธรรมอย่างที่พูดเอาไว้แล้ว แต่เป็นประหนึ่งคำถามด้วยนะครับ สมเกียรติ ตั้งนโม : สิ่งซึ่งท่านอาจารย์นิธิ พูดไว้นี้, Dr.Richard F. Trafinger เคยได้สรุปเอาไว้ว่า มีเงื่อนไขอยู่ 6 ประการที่จะทำให้เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องตลกได้ อย่างเช่น บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งหากเราบิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ยอมรับกันอยู่ ก็จะทำให้เป็นเรื่องตลกได้. หรือการทำให้เกิดการพลิกกลับไปในทางตรรกะ ก็จะทำให้เป็นเรื่องตลกได้. แต่ว่าก็มีเรื่องตลกอีกอย่างนะครับ ซึ่งเป็นการดูถูกเรื่องทางเพศ ซึ่งสมัยหนึ่งอาจเป็นเรื่องตลก แต่อีกสมัยหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่สมควรไป. อันนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรม. หรืออย่างเช่น บางสมัย ผู้หญิงซึ่งใส่เสื้อผ้าของผู้ชาย อาจเป็นเรื่องน่าขัน แต่ในสมัยนี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา ตลกอย่างนี้จะไม่ร่วมสมัย (ใครที่สนใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เป็นเรื่องตลก ดูใน web site นี้ ไปที่ index หัวข้อ article & knowledge จะพบเรื่องดังกล่าว). สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : ขอตั้งคำถามต่อจากอาจารย์นิธิซึ่งพูดถึงว่า ไม่เห็นว่าฝรั่งมันขำมากไปกว่าคนไทย ก็เลยเกิดคำถามว่าฝรั่งกับคนไทยมันขำต่างกันอย่างไร ? ในบริบทอะไรที่ทำให้ขำต่างกัน เช่น มีคนบอกว่า คนไทยจะรู้สึกขำหรือรู้สึกตลกเมื่อมีการตีหัว หรือขำที่กริยาอาการ, แต่ฝรั่งจะขำกันที่สำนวนหรือคำพูด. อันนี้จริงไหมค่ะ หรืออาจารย์ว่ามันต่างกันอย่างไร ? นิธิ เอียวศรีวงศ์ : จริงๆผมไม่ทราบว่าฝรั่งขันอย่างไร ? เป็นแต่เพียงว่า ฝรั่งกับผมที่ขันไม่เหมือนกัน เช่น เป็นต้นว่า เวลาดูในหนัง เห็นคนแก้ผ้าวิ่งประท้วงกันในเมือง แล้วคนบนถนนก็จะหัวเราะกันใหญ่เมื่อเห็นคนแก้ผ้า ผมรู้สึกว่าถ้าผมอยู่ตรงนั้น ผมจะหัวเราะไหม ? ผมคิดว่าผมไม่หัวเราะ แต่ผมจะดูว่า, ถ้าคนนั้นเป็นผู้ชายก็คงจะไม่สนใจเท่าไหร่ ? แต่ถ้าเป็นผู้หญิงผมคงจะดูและคิดถึงเรื่องอย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องขัน. อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไร ? อาจารย์คำรณ : ผมคิดว่าอารมณ์ขันนั้นเป็นลักษณะร่วมกันหมด อย่างเช่นถ้าเผื่อเราดูหนังของ ชาลี แชปปลิน แม้ว่าเราจะไม่ได้เติบโตในวัฒนธรรมแบบนั้น เราก็ยังสามารถขำได้. และอารมณ์ขันบางอย่าง มันต้องอาศัยชุดของตรรกะบางอย่าง มันก็ขึ้นอยู่กับสภาพทางสังคมวัฒนธรรม อย่างสมมุติว่าเราดูหนังของ woody allan ยังไงเราก็ไม่ขำ แต่ถ้าเผื่อเป็นคนที่อยู่นิวยอร์คแล้วล่ะก็จะรู้สึกขำ. แต่ที่ผมสนใจก็คือว่า ตอนต้นที่เราพูดถึงเรื่องการหัวเราะ กับอันที่สองเรากำลังพูดถึง humor หรืออารมณ์ขัน. ซึ่งเราควรที่จะแยกกันสักนิดหนึ่ง. และผมก็สนใจที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่า การหัวเราะมันดี ทำให้เอนโดฟินหลั่ง ผมก็อยากถามว่ามันต้องหัวเราะระดับไหน ? เอ็นโดฟินถึงจะหลั่ง. ไอหัวเราะน่ะ แค่ไหนจึงจะเรียกว่าเป็นการหัวเราะ อย่างเช่น ยิ้มแฮะๆ อย่างนี้ถือว่าหัวเราะไหม ? มันมีการหัวเราะหลายอย่างนะครับ เช่นการแค่นหัวเราะ หัวเราะงอหาย อันนี้ต้องดูด้วยว่ามันระดับไหน ? หรืออย่างที่เราภาคภูมิใจว่ายิ้มสยามนี่ มันเป็นการหัวเราะอย่างหนึ่งหรือเปล่า. อาจารย์นก : เมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ไปสอนภาษาไทยที่ต่างประเทศ ในกลุ่มนักศึกษาที่เรียน เขาได้เอาหนังเวียดนามมาฉาย ซึ่งเป็นตอนที่เราคงเคยเห็นกันบ่อยๆเป็นภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม มีรูปเด็กผู้หญิงวิ่งแก้ผ้าซึ่งไฟไหม้ทั้งตัว นักศึกษาได้นำเอาภาพตอนนี้มาฉาย. แล้วก็มีการสัมภาษณ์ผู้หญิงคนนั้นตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วนะคะ. ขณะที่เจ้าตัวกำลังพูด เล่าถึงประสบการณ์ เธอหัวเราะไปด้วย พูดไปหัวเราะไป. ดิฉันจำได้ว่าพวกเพื่อนๆและนักศึกษาที่นั่งอยู่ ที่เป็นฝรั่งนี่ไม่มีใครเข้าใจเลยว่า เธอหัวเราะได้อย่างไร ขณะที่กำลังพูดถึงประสบการณ์อันเป็นเรื่องของความเจ็บปวด เป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตที่รุนแรงมาก. ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะคะว่า มันเป็นความแตกต่างกันในทางวัฒนธรรม และก็เริ่มสังเกตุเห็นว่า เวลาที่เรานั่งดูทีวีหรือชาวบ้านให้สัมภาษณ์ บางทีเป็นการเล่าถึงเรื่องของความเจ็บปวด เขาหัวเราะไปด้วย แต่เขาไม่ได้ขำนะคะ. นักจิตวิทยาอาจเรียกว่ามันเป็น defence mechanism หรืออะไรต่างๆก็ได้ เพราะในภาวะนั้นการพูดถึงเรื่องความเจ็บปวดแล้วหัวเราะ มันเป็นความพยายามที่จะจัดการคลี่คลายปัญหาของเขาเองหรือเปล่า คือมันไม่ใช่เป็นอารมณ์ขัน แต่มันเป็นกลไกที่จะช่วยพยุงชีวิตให้มันพอที่จะดำรงอยู่ได้ อันนี้ใช่หรือเปล่า ? อาจารย์คำรณ : ผมขอต่ออีกหน่อยนะครับ คือว่า ลักษณะของสังคมไทย เราจะไปดูถุกว่าสังคมไทยเป็นอารมณ์ขันแบบเหยียบเปลือกกล้วยแล้วหกล้ม อันนี้จึงจะทำให้หัวเราะ. เพราะว่าในสังคมไทยที่มีเรื่องเล่า ซึ่งเป็นมุขปาฐะมาก หรือ oral literature จะเห็นว่า ไม่ว่าลำตัดหรืออะไรนี่ เป็นการเล่นคำ หรือเป็นเรื่องตลกซึ่งอยู่ในถ้อยคำ เราเรียกว่าเป็น verbal wit ในถ้อยคำ. อันนี้ของเราใช้กันมาก แล้วก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหัวเราะกับเรื่องที่เป็นเรื่องต้องห้าม อย่างเช่น เรื่องเซ็กซ์หรือพวกเด็กๆเรียกว่าไอ้ไข่ดำ ล้อเล่นกันเป็นเรื่องธรรมดา เกี่ยวกับการนำเอาอวัยวะเพศมาล้อเล่นกันจนเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการใช้ถ้อยคำมาสร้างอารมณ์ขัน สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : อยากจะเล่าเรื่องขันซึ่งไปอ่านมา เป็นเรื่องของตลกฟิลิปปินส์นะคะ เป็นเรื่องของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า. บางคนก็บอกว่า หน้าตาบุคลิกคล้ายคลึงท้วม ทระนง แค่เห็นออกทีวีก็ขำแล้ว. แต่ที่อ่านมาได้ทำให้เกิดขำถามขึ้นมาว่า บางทีคนเรามีอารมณ์ขัน บนพื้นฐานที่เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งต่ำต้อยกว่า หรือไม่เหมือนกับตัวเรา มันก็เลยกลายเป็นความตลกขบขัน. ที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า ซึ่งคนฟิลิปปินส์ทั้งหลายเรียกเขาว่าอีแล็ป ซึ่งอาจจะเป็นชื่อเล่นของเขาหรืออะไรไม่ทราบ. แล้วก็มีหนังสือเกี่ยวกับความน่าตลกขบขันของอีแล็ปชื่อว่าอีแล็ปชั่น. หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงในวันที่ประธานาธิบดีเอสตราด้าขึ้นดำรงตำแหน่ง ความที่ท่านเป็นคนที่ภาษาอังกฤษแย่มาก ซึ่งก็คงเหมือนกับพวกเราชาวเอเชียทั้งหลายซึ่งมได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่. วันที่อีแล็ปของเราชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จากการไล่แจกยาสีฟัน ในวันที่จะต้องขึ้นปราศรับเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนกลาง park ใหญ่ คนสนิทก็เขียนโพยให้ว่าจะต้องพูดยังไงๆ ในข้อความนั้นเขียนเอาไว้ว่า เขาน่ะไม่ใช่เป็นอันดับหนึ่งหรอก ที่ได้เป็นประธานาธิบดีนี่ ไม่ได้ถือว่าเป็นอันดับหนึ่ง ประชาชนต่างหากล่ะที่เป็นอันดับหนึ่ง. คนสนิทคู่ใจได้เขียนโพยเป็นตัวย่อว่า People is No.(number) One. แต่เอสตร้าด้าได้เอาไปอ่านว่า People is no one. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ที่พูดว่าเราหัวเราะเพราะความต่ำต้อยกว่า ผมไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนระหว่างการหัวเราะให้แก่ความต่ำต้อยกว่า หรือเราต้องการให้เขาต่ำต้อยกว่า เราจึงหัวเราะ. เพราะผมขอย้ำในสิ่งที่ อ.วัลลภ พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า, ที่ผมเคยเขียนเอาไว้คือ การทำให้คนอื่นกลายเป็นตัวตลกเพื่อทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเขา. ผมจำได้ว่า เมื่อตอนที่ รสช.ยึดอำนาจ แล้วตัวหัวหน้าของ รสช. มาออกทีวีแล้วก็พูดออกมาว่าเฮ้ย เดี๋ยวเอาใหม่. ผมว่ามันเจ๊งตั้งแต่นาทีนั่นแล้ว เพราะว่าถ้าคุณยึดอำนาจบ้านเมือง แล้วมาบอกว่าเอาใหม่ มันตลกสิ้นดี เพราะคนไทยไม่สามารถรับผู้ปกครองที่ตลกได้. อาจารย์คำรณ : ในทางละครได้บอกว่าเอาไว้ว่า บางทีการหัวเราะนี่ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องใช้ตรรกะ แต่การหัวเราะนี่อาจจะเป็นโรคติดต่อกันได้. เคยไม่ครับว่าเวลาที่เรานั่งล้อมวง แล้วมีการเริ่มหัวเราะ คนในวงก็จะหัวเราะตามๆกันไปหมด โดยไม่ต้องคิดอะไรปล่อยให้มันเป็นโรคติดต่อ แต่หมายความว่า ถ้าเผื่อว่าจะเป็นการหัวเราะอย่างนั้น เราต้องปล่อยตัวเราเอง เราต้องถอดหัวโขน ถอดหน้ากาก แล้วก็วาง แล้วก็ปล่อยมันไป. แล้วหลังจากทำอย่างนั้นได้ เราหัวเราะเราจะรู้สึกสบายใจ โล่งใจ. วัลลภ แม่นยำ : มีคำถามที่ว่า อารมณ์ขันนั้นมีเพศไหมครับ ? คือผมสังเกตุว่า คนที่พูดตลกหรือมีอารมณ์ขันนั้น ส่วนมากมักจะเป็นผู้ชาย. ผมถามว่าผู้หญิงมีอารมณ์ขันไหมครับ ? วานิช จรุงกิจอนันต์ : (หลังจากเงียบกันไปพักหนึ่ง คุณวานิชก็หยิบไมค์ฯ ขึ้นมาร้องเพลง) เดี๋ยวนี้เธอเป็นเบอร์หนึ่ง ไม่นานก็ถึงเบอร์สี่ คนนั้นจูบทีคนนี้จูบที อีกไม่กี่ปีก็บ๊วย พอเสียทรงหมดสาว ก็เหมือนเสื้อเก่าขึ้นคาน ต้องติดร้านขายค้าอยู่ที่หน้าโรงหวย แล้วหล่อนก็ต้องคอยเปิดตุ่ม ให้ผู้ชายเขาจุ่มกระบวย. ผู้เข้าร่วมสนทนา : คำถามที่ว่า ผู้หญิงมีอารมณ์ขันไหม ? คำถามนี้ไม่น่าจะตั้งขึ้นมา เพราะว่าผู้ชายก็คน ผู้หญิงก็คนเหมือนกัน. อย่างที่ทำงานผู้หญิงเยอะ เพราะเป็นครูด้วยกัน เราก็มีการเล่าเรื่องขำๆกัน แต่ที่คิดว่าผู้หญิงต้องมีอารมณ์ขันที่สุดก็คือเรื่องในครอบครัว เพราะว่าถ้าผู้หญิงไม่มีอารมณ์ขัน โลกนี้ต้องวิบัติไปแล้วล่ะ. เพราะว่าคนในครอบครัวของเราจะสร้างแรงกดดันต่างๆขึ้นมา ทำให้เครียดได้หลายๆอย่าง การที่สังคมยังอยู่ดี อาศัยอารมณ์ขันของผู้หญิงช่วยเยอะ เรื่องที่จะกลายเป็นความรุนแรง เราก็ใช้เรื่องอารมณ์ขันเป็นการช่วยผ่อนคลายไปซะ มองในแง่มุมซึ่งเบาบางลง อาจจะหัวเราะให้กันได้ ตลกใส่กันได้. คิดว่าการที่สังคมเป็นอย่างนี้ อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ ผาสุกกันแบบนี้ อาศัยอารมณ์ขันของผู้หญิง. คิดว่าไม่ต้องลงรายละเอียดนะคะ เพราะใครที่มีครอบครัวก็น่าจะต้องรับรู้ ว่าตรงนี้คืออะไร. หลังจากนั้นก็มีการตั้งข้อสังเกตุกันต่างๆหลายหลาก เช่น สังคมต้องการอารมณ์ขันเพราะเครียดใช่ไหม ? หรือเดี๋ยวนี้ อารมณ์ขันต้องเสียเงินไปซื้อหามากันแล้ว เช่นติดตามรายการ talk show ต่างๆที่ตลกๆ เหล่านี้เป็นต้น มีการพูดถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่มีอารมณ์ขัน เป็นอารมณ์ขันทางภาษาต่างๆ อย่างเช่นของพ่อเพลงแม่เพลงเก่าๆ ซึ่งก็ไม่ได้แบ่งเพศว่าต้องเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เรื่องขำๆส่วนใหญ่เป็นเรื่องใต้สะดือ การที่ผู้หญิงไม่กล้าไปร่วมวงด้วยก็เพราะกลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตนเป็นพวกที่เชี่ยวชาญ จึงทำให้แกล้งทำเป็นไม่ค่อยเข้าใจ หรืออย่างตลกคำผวนที่สัปดน ก็ทำเป็นไม่รู้เรื่อง อันนี้อาจเป็นแนวป้องกันทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ผู้เข้าร่วมสนทนา : จะขอเล่าเจี้ย(เรื่องตลกในภาษาเหนือ)ให้ฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นเจี้ยที่มาจากคนกรุงเทพฯเน้อ หมู่เฮาบางคนอาจจะได้ฟังมาจากคนกรุงเทพฯกันแล้ว เจี้ยมีว่า, มีฝรั่งซึ่งมีอายุหน่อย ไปนอนโฮงยา เปิ้นไม่สบายนะ เปิ้นเป็นคนมีสตางค์ได้จ้างพยาบาลมาดูแล พยาบาลมาดูแลนี่เวลาตอนเย็นๆก็จะมีการเช็ดเนื้อเช็ดตัว ฝรั่งนี้เปิดหมดครับ เปิดหมดทั้งตัว บ้านเฮาเรียกว่าเปิดควอย เหมือนกับละอ่อนเวลาเล่นน้ำเปิดควอยหมด เล่นน้ำม่วนครับ. พยาบาลที่มาเช็ดตัวที่เฒ่าหน่อย หลังจากเช็ดเสร็จก็มาเล่ารือว่า ไอ้ฝรั่งคนป่วยนี้มันสักครับ เปิ้นสักที่ไอ้ตัวสำคัญ มีข้อความว่า เดวิด. อันนี้เล่ารือกันไปทั่วโรงพยาบาลฯ ว่า ฝรั่งนอนป่วยนี่สักคำว่าเดวิด. ที่นี้พยาบาลสาวๆก็อย่างหัน(อยากเห็น)ว่าฝรั่งนี้มักนสักแต๊เหรอ. พยาบาลสาวๆก็ขออาสาไปเช็ดตัวบ้าง บอกว่าอีป้าฉันขอไปเช็ดตัวให้ฝรั่งนี่เน้อ พยาบาลนี้อายุสักประมาณซาวปายครับ(ยี่สิบกว่าๆ). พยาบาลสาวก็ไปเช็ด เช็ดเสร็จแล้วก็ปิ๊กออกมา. พยาบาลทั้งหลายก็รีบมาถามว่า มันสักเดวิดอย่างที่ป้าว่าก่อ. อีน้อยพยาบาลสาวออกมาก็บอกว่า ไม่ใช้อีป้า มันบ่ได้สักว่าเดวิดน่ะ, มันสักว่า แด่เธอด้วยชีวิต. .. หลังจากนั้น ได้มีการขั้นรายการ โดยมีพี่น้องชนเผ่ามาร่วมอวยพรอาจารย์นิธิ และแสดงความยินดีกับงานเปิดบ้านของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย จากนั้น วงสนทนาวัฒนธรรมฮาเฮก็เปลี่ยนบรรยากาศไป แล้วก็ล่มลงในที่สุด. เพราะบรรยากาศโดยรวมของวันเปิดบ้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ หลังจากเสร็จจากพิธีกรรมในช่วงเช้าแล้ว มีการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน จากนั้นก็มีการพูดคุยกันเป็นส่วนใหญ่สำหรับคนที่นานๆจะพบเจอกันมากหน้าหลายตาในโอกาสที่ดีๆเช่นนี้
|