มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
ชัชวาล ปุญปัน : ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯที่เคารพ : เขื่อนไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องราษฎรที่บุกรุก ยึดฝายราษีไศล เรียกร้องให้แก้ปัญหาฝายราษีไศล ตีพิมพ์ในมติชน เมื่อ 14 มิถุนายน 2543 โดยระบุข้อหาที่ร้ายแรงว่า สิ่งที่ราษฎรกระทำอยู่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะได้ดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมืองต่อไป อ่านแล้วทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในยุโรป ยุคกลาง ที่ศาสนจักร มีอำนาจล้นฟ้า ครอบงำและตรวจสอบ ความศรัทธาของราษฎรอย่างเข้มข้น ถึงกับตั้งศาลไต่สวนศรัทธา ( Inquisition ) ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1231 ใครมีความเห็นแตกต่างจากองค์ความรู้ในขณะนั้น จะถูกสอบสวนลงโทษด้วยการทรมาน ต่างๆ ไปจนถึงการประหารชีวิต ความรู้และอำนาจในยุคนั้นตั้งอยู่บนฐานของกระบวนทรรศน์ที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของระบบจักรวาล ( Geocentric system) แต่โคเปอร์นิคัส พบว่าไม่ใช่ เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนที่วกกลับของดาวเคราะห์ได้ เขาพิสูจน์ว่าถ้าให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ( Heliocentric system ) จึงจะอธิบายได้ แต่ความรู้ใหม่ของเขาเป็นอันตรายต่อศรัทธาและโครงสร้างอำนาจ ที่อิงอยู่กับความรู้เดิมอย่างรุนแรง โชคดีที่โคเปอร์นิคัสตายก่อน ผู้เห็นจริงตามโคเปอร์นิคัสคนหนึ่งคือบรูโน ได้พยายามเผยแพร่ความคิดดังกล่าว ถูกศาลไต่สวนศรัทธาจับเผาทั้งเป็นเมื่อปี ค.ศ.1600 ส่วนอีกคนที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ กาลิเลโอ โดนจับหลายครั้ง ถูกลงโทษ จำขัง และห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆอีกตลอดชีวิต นี่คือการเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ตะวันตก ที่ต้องต่อสู้และแลกมาด้วยเลือดและชีวิต ของผู้คนจำนวนมากมาย เพื่อแลกกับอิสรภาพและเสรีภาพในการแสวงหาความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งระบบกดขี่ข่มเหงหมดพลังอำนาจลงไป วิทยาศาสตร์ที่ยืนอยู่ข้างความจริงก็ได้รับการยอมรับ ระยะเวลาที่ผ่านมาสามศตวรรษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตะวันตก ก็กลับกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจ แผ่ไปครอบงำวิถีชีวิตของคนทั่วโลก เวลานี้ ใครไม่เชื่อวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อวิธีการพัฒนาแบบทันสมัย กลายเป็นพวกนอกรีต ใครเรียกร้องให้คืนวิถีชีวิตและธรรมชาติกลับสู่ชุมชน เป็นพวกนอกรีต ใครไม่ศรัทธาในเขื่อน และพิสูจน์ได้ว่าเขื่อนไม่ใช่ศูนย์กลางของการพัฒนา แถมยัง เรียกร้องให้รื้อเขื่อน จะต้องถูกไต่สวนศรัทธา ใครที่ถูกบุกรุกแผ่นดินทำกินมาหลายชั่วอายุคน และมาร้องเรียนบนแผ่นดินของตัว จะต้องถูกดำเนินคดี ว่าเป็นผู้บุกรุกสถานที่ราชการอันศักดิ์สิทธิ์ เวลานี้ดูเหมือนว่า ชาวบ้านราษีไศล , ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืน ฯลฯ กำลังจะกลายเป็นกาลิเลโอ ( หรือที่จริงนั้นจะได้ถูกบรูโนไปแล้วเท่าไร ก็ไม่ทราบได้ ) ในขณะที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯบ้าง กฟผ.บ้างได้สถาปนาตนเองเป็นศาลไต่สวนศรัทธา มีรัฐบาลเป็นศาสนจักรหนุนหลัง ผลักดันให้สังคมมุ่งไปสู่ความรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง หากยังมีจิตวิญญาณของความเป็นวิทยาศาสตร์หลงเหลืออยู่บ้าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ ควรใช้วิธีการทางปัญญา มีจิตใจวิทยาศาสตร์ เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นกลางว่าข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลดีกว่าหรือไม่ เอามาเปิดเผยตรวจสอบกัน เช่นข้อมูลที่ฝ่ายชาวบ้านราษีไศลยกมาว่า " กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ว่าจ้างให้บริษัท รีซอสส์ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด จัดทำขึ้นเมื่อปี2537 ชี้ให้เห็นว่า การกักเก็บน้ำ จะทำให้การละลายของชั้นเกลือ ซึ่งทำให้ความเค็มของอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น และทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม " เรื่องนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ไม่ตระหนักรู้เลยหรือ หรือว่าทำทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจ การทดลองในห้องทดลองเมื่อผิดพลาด เรายังรื้อทิ้งแก้ใหม่ได้ แต่ทำกับชีวิตจริง ธรรมชาติจริง นั้น มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน วัฒนธรรมชุมชนล่มสลาย ระบบนิเวศถูกทำลาย แล้วมาว่าจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆไปวิจัยนั้น มันคุ้มไหม? มันถูกต้องไหม? จ่ายเงินฟาดหัวอย่างเดียวเท่านั้นหรือ หาอาชีพใหม่เท่านั้นหรือ ที่คิดได้ ชีวิตและธรรมชาติมีแค่มิติเดียวเท่านั้นหรือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณค่าของการเรียกร้องเอาธรรมชาติกลับคืนมา มันไม่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นวิทยาศาสตร์ตรงไหน ? หรือวิทยาศาสตร์ที่เป็นอยู่ ได้ขายตัวให้กับเทคโนโลยีไปหมดแล้ว อย่าลืมว่าสิ่งที่ ชาวราษีไศล ก็ดี แม่มูนมั่นยืนก็ดี กำลังเสนอต่อสังคมนี้ เป็นความจริงระดับกระบวนทรรศน์ จึงต้องพิสูจน์จากมิติอื่นๆที่กว้างและลึกกว่าสิ่งที่เคยใช้มาอย่างมักง่าย ด้วยเหตุนี้เสนาบดีและขุนนางกระทรวงวิทยาศาสตร์ จะได้พูดกับชาวบ้านด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เสมอกันได้หรือไม่ เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างเอามาเสนอต่อสังคม ก็ย่อมจะได้ประโยชน์ การใช้อำนาจบาตรใหญ่นั้น นอกจากจะเป็นการฟ้องว่า คุณหมดเหตุผลแล้ว ยังเป็นเรื่องที่น่าละอายมาก ที่กระทรวงชื่อว่า วิทยาศาสตร์ เลือกใช้วิธีการที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เสียเอง ไม่เห็นแก่ราษฎร คนไทยด้วยกัน ก็ขอให้เห็นแก่ กาลิเลโอ บ้างได้ไหม? คอลัมน์วัฒนธรรมรัฐของเกษียรสำหรับเนชั่นสุดสัปดาห์จันทร์ที่ ๑๒ มิ.ย. มูนไม่มีเมืองก็ร้างไปทั้งเมือง โดย เกษียร เตชะพีระ เนชั่นสุดสัปดาห์ ,๘ : ๔๑๙ (๑๒-๑๘ มิ.ย. ๒๕๔๓) กวีมักมีเสาอากาศสูงและไวกว่าผู้คนทั่วไปในการจับกระแสความรู้สึกของสังคม... จึงในท่ามกลางเสียงป่าวร้องโพนทะนาตอกย้ำซ้ำซากดังอึงคนึงของผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และทางราชการจังหวัดอุบลราชธานีว่า การที่กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูลมานานนับสิบปีเข้าปิดยึดบริเวณที่ทำการสันเขื่อนดังกล่าวมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมศกนี้จะทำให้จังหวัดอุบลราชธานีและอีก ๔-๕ จังหวัดภาคอีสาน น้ำท่วม-ไฟดับ ขู่ปิดเครื่องปั่นไฟ อีสานกระทบแน่ นั้น คุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ กวีไพร่เจ๊กปนลาวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็จับประเด็นฟันธงออกมาคมชัดฉับไวว่า คนเมืองอยู่เมืองเรืองจำรูญ คนมูนอยู่มูนจำรูญศรี แม้นเมืองไม่รักมูนสูญไมตรี มูนไม่มีเมืองก็ร้างไปทั้งเมือง (มติชนรายวัน, ๔ มิ.ย. ๒๕๔๓, น. ๒) สอดคล้องโดยบริบทกับเทศนาตอนหนึ่งของหลวงตามหาบัว พระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี หลังฉัน เช้าที่วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี วันที่ ๓ มิ.ย. ศกนี้ว่า ไม่ว่าส่วนย่อยส่วนใหญ่ ส่วนไหน ใหญ่เท่าไหร่อยู่บ้านนอกไม่มี ความเดือดร้อนของบ้านนอกจึงไม่ มีเหมือนในเมืองนะ แล้วสุดท้ายก็ในเมืองใหญ่ ๆ นั่นแหละมันก่อไฟเผาออกมา เข้าถึงตาสีตาสา อยู่ตามท้องนาก็ ร้อนกันไปหมด ตาสีตาสาไม่ได้ไปก่อไฟเผาใคร กองใหญ่ ๆ นั้นล่ะ กองเมืองเทวดานี้แหละ เป็นเมืองเปรต เมืองผี เมืองความโลภไม่พอ ตะกละตะกลาม มันกลืนไปหมด กลืนไปหมด นี่แหละ เรื่องไม่มีศาสนาในใจ มี แต่ฟืนแต่ไฟ หวังแต่จะร่ำรวยจะสวยจะงาม จะดีจะเด่น ไม่ทราบจะเอาอะไรมาดีมาเด่น ก็สร้างตั้งแต่ความชั่ว ทั้งวันทั้งคืน มันเอาความดีความเด่นมาจากไหนก็มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวอกตัวเองแล้ว ยังไม่แล้วเผาคนอื่นอีก ก็ มีเท่านั้นนะเรื่องความชั่ว อย่าเข้าใจว่ามันจะเอาความดิบความดี ความสุขความเจริญ สงบสุขร่มเย็นมาสู่บ้านสู่ เมืองนะ ไม่มี มีแต่ฟืนแต่ไฟทั้งนั้น (มติชนรายวัน, ๕ มิ.ย. ๒๕๔๓, น. ๒๓) ประเด็น:- มันเป็นเรื่องของ ชนบทกับเมือง อีกนั่นแหละนับเป็นอีกครั้งหนึ่งในการเมืองวัฒนธรรมไทยที่รัฐราชการไทยปลุก ชาติเมือง ขึ้นมาเหยียบย่ำชนบท เพื่อกลบเสียงคนชนบทในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ประท้วงการใช้อำนาจรัฐริบและผันทรัพยากรซึ่งเป็นฐาน เศรษฐกิจพอเพียงของพวกเขา - ไม่ว่าที่ดิน ป่าไม้ หรือแม่น้ำทั้งสายในกรณีนี้ - ให้กลายมาเป็นทรัพยากรพลังงาน หรือวัตถุดิบสำหรับเศรษฐกิจการค้าเพื่อผลิตสินค้าสนองอำนาจซื้อและการบริโภคของคนเมืองและตลาดโลก รัฐก็ปลุกผีเปรต ไฟดับ บ้าง ถนนถูกปิด รถติดแหง็ก บ้าง ขึ้นมาขู่คนเมืองให้กลัว กลัวไฟดับ กลัวรถติด กลัวไม่ได้รับความสะดวกสบายที่คุ้นชินตามประสาชีวิตชาวเมือง ฯลฯ มากพอ ที่คนเมืองจะสมยอมมอบฉันทานุมัติโดยนัยหรือโดยเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่รัฐลุยเข้าไปปราบเหยียบและปิดปากการประท้วงทัดทานในชนบทนั้นเสีย ความเงียบสงบราบคาบและสะดวกสบายก็จะฟื้นคืนกลับมาและคงมีแก่ ชาติเมือง ต่อไป และชาติไทยเราก็อยู่อย่างสงบราบคาบ สะดวกสบาย แต่ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม และไม่เคารพศักดิ์ ศรีความเป็นมนุษย์กัน ภายใต้การปลุกปั่นฉวยใช้และครอบงำของรัฐราชการอย่างนี้มานานหลายสิบปี ชาวเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำคันฉู เขื่อนห้วยละห้า ฝายราษีไศล ฝายหัวนา อ่างเก็บน้ำโป่ง ขุนเพชร เขื่อนลำโดมใหญ่ อุทยานผาแต้ม อุทยานแก่งตะนะ ป่าสงวนดงภูโหลน ป่าสงวนภูลังกา ที่สาธารณะ บ้านวังใหม่ ที่สาธารณะบ้านตุงลุง ป่ากุดชุมภู ด่านช่องเม็ก เป็นเพียงเหยื่อชนบทที่ถูกรัฐย่ำยีในนามของ ชาติ เมือง รายล่าสุดในบัญชีซากชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงยาวเหยียดที่รวมเหมืองแม่เมาะ ดอยเต่า และป่ากาญจนบุรี ในอดีตและที่กำลังจะรวมบ้านหินกรูดและบ้านด่านในอนาคต ถ้าเราเอา ผลประโยชน์ ของคนชนบทตัวเล็ก ๆ กลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ไปตั้งประจัญกับ ผลประโยชน์ ของ ชาติ (เมือง) ที่ฟังดูใหญ่โตมโหฬารและเป็น คนส่วนใหญ่-เสียงข้างมาก ตามที่รัฐราชการปลุกปั่นให้ มองแล้ว แน่นอน ข้อสรุปที่ไม่ต้องอ้าปากก็หลับตาเห็นลิ้นไก่ได้โดยอัตโนมัติก็คือ บุคคลพึงเสียสละให้ส่วนรวม คนส่วนน้อยพีงเสียสละให้คนส่วนใหญ่ ท้องถิ่นพึงเสียสละแก่ชาติ แต่หยุดคิดทบทวนดูสักหน่อยก่อนเถิด ก่อนจะสวมวิญญาณและแว่นของรัฐราชการมามองเพื่อนคน ไทยร่วมชาติด้วยกัน ผลประโยชน์ ของคนชนบทตัวเล็ก ๆ กลุ่มเล็ก ๆ ในกรณีนี้หมายถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ศักดิ์ศรีของเขา ปิดกั้นแม่มูลก็ขาดปลา ความรู้ชื่อปลา พันธุ์ปลา นิสัยปลา วิธีและอุปกรณ์จับปลาพื้นบ้านย่อมหมด ประโยชน์ความหมาย เขาก็ต้องเลิกเป็นชาวประมงหาเลี้ยงชีพ อพยพเข้าเมืองมาอยู่สลัม คุ้ยเศษขยะ เร่ขายพวง มาลัยตามสี่แยก หรือลอบขายยาบ้า พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่าตายาย จะแตกกระจัดพลัดกระจายแยกย้ายกันไปอยู่ทางไหน ? ลูกร้องไห้ใครจะอุ้ม ? แม่ป่วยไข้ใครจะดูแล ? พ่อใหญ่แม่ใหญ่สิ้นใจใครจะเก็บศพ ?นี่คือเดิมพันชีวิตเบื้องหลังคำง่าย ๆ แต่เลือดเย็นว่า ผลประโยชน์ ของเขา แต่กับ ผลประโยชน์ ของชาติเมืองชาวเมือง เรากำลังพูดถึงไฟฟ้า ถนน ภาพลักษณ์ บรรยากาศการ ลงทุน ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ค่าเงินบาท ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทัวริสต์เข้าประเทศ ฯลฯ ของเหล่านี้เป็นของดี อำนวยความสุขสนุกสนานสะดวกสบายฟุ้งเฟ้อสำราญแก่ชีวิต แต่มีมากไปมีไม่รู้จักพอก็เป็นโทษ ดังที่วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อสามปีก่อนเพิ่งสอนเราหมาด ๆ และก็ยอมรับกันตรง ๆเถอะว่าถึงขาดเหลือไปบ้างก็ใช่จะเป็นจะตาย มีพอสมควรอย่างรู้จักพอจึงจะเป็นสุข ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตสินค้าเพื่อสนองความอยากมีอยากได้ซึ่งสามารถเตลิดพล่านไปไกลตามกิเลสวิสัย อย่างไร้ขอบเขต เหล่านี้ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล สร้างมลภาวะมากมาย ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติใน ระบบนิเวศน์ของโลกเรามีจำกัด เป็นของขวัญที่มนุษยชาติเราได้มาครั้งเดียว มิอาจขอใหม่จากเทวดาที่ไหนอย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด ผลประโยชน์ ของชาติเมืองชาวเมืองจึงสูงค่าน่าเคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่มีอันตรายแอบแฝง ต้องรู้จัก เหนี่ยวรั้งจำกัดควบคุม ชักนำไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดอย่างยั่งยืนของคนทั้งชาติไม่ว่าเมืองหรือชนบทรวมทั้งโลกและมนุษย์ หากมองไกลให้ลึกซึ้งอย่างมีวิสัยทัศน์ โจทย์จึงไม่ใช่การคิดสั้นมองสั้นแค่เอา ผลประโยชน์ เล็ก ๆ ของชาวชนบทแต่ละท้องถิ่นมาแบ่งข้างแยกส่วนตั้งเป็นปฏิปักษ์ปะทะชนกับ ผลประโยชน์ ใหญ่ ๆ ของชาติ เมืองชาวเมือง แล้วบอกให้เลือกเอาสิ ! แบบที่หน่วยงานราชการไม่ว่ากฟผ. ทางราชการจังหวัดอุบลฯ หรือคณะร่างแถลงการณ์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมถนัดสันทัด (ดูมติชนรายวัน, ๖ มิ.ย. ๒๕๔๓, น. ๒๑) โดยเนื้อแท้แล้ว นี่เป็นวิธีคิดท่วงทำนองเดียวกับเนื้อเพลง หนักแผ่นดิน สมัย ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ ท่อนที่ว่า ..... ปลุกระดมมวลชน ให้สับสนวุ่นวาย ให้คนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง ๒๔ ปีผ่านไป รัฐราชการไทยก็ยังคิดกับคนในชาติเหมือนเดิม ... เฮ้อออออ แต่หากคิดใหม่ คิดให้ใจกว้าง เอื้อเฟ้อและรอบด้าน มันเป็นเรื่องของน้ำหนักคุณค่าล้ำลึกต่อชีวิตชุมชน วัฒนธรรมและธรรมชาติที่ตื้นลึกหนาบางต่างกัน ขอบเขตแนวโน้มและภยันตรายที่แฝงฝังอยู่ภายในต่างกันของ ผลประโยชน์ ทั้งสองอย่างดังกล่าว ทำอย่างไรจึงจะจัดวางน้ำหนัก ถ่วงดุลและประสานให้ผลประโยชน์ที่ต่างกันของคนในชาติเอื้ออวย อาศัยซึ่งกันและกัน เสียสละแก่กันและกัน เพื่อความอยู่รอดยั่งยืนร่วมกันของทั้งหมด ? กล่าวคือ ของทั้งเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐกิจการค้า ในระบบรวมทางเศรษฐกิจที่พหุนิยมและหลาก หลาย อย่างเสมอภาค เป็นธรรม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในชาติ ชาติไทยที่มีความยุติธรรมให้แก่คนชนบทแต่ละท้องถิ่น ให้พวกเขามีทางเลือกและสิทธิที่จะเลือก ที่รู้จักใช้พลังอนุรักษ์ของเศรษฐกิจพอเพียงมาจำกัดเหนี่ยวรั้งถ่วงดุลศักยภาพที่จะทำลายตัวเองของ เศรษฐกิจการค้า จะได้สามารถเก็บรับประโยชน์จากพลังพลวัตพัฒนาของเศรษฐกิจการค้าอย่างมั่นคงยั่งยืน
|